Only Angels Have Wings (1939)
: Howard Hawks ♥♥♥♡
ผู้กำกับ Howard Hawks เป็นอดีตนักขับเครื่องบิน ที่ครั้งหนึ่งได้ทิ้งเพื่อนหนีตาย กระโดดร่มลงจากเครื่องบินที่ไฟกำลังลุกท่วม ตัวเองรอด แต่เพื่อนเสียชีวิต นี่กลายเป็นตราบาปฝั่งลึกในใจของเขามาอย่างยาวนาน
ระหว่างที่ผมหาข้อมูลเพื่อเขียนถึงหนังเรื่องนี้ ได้พบกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เข้าใจโดยถ่องแท้เลยว่า Howard Hawks สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นจากความทรงจำ และตอนจบ… มันคือการไถ่โทษของตัวเอง ที่ถ้าย้อนเวลาได้ ก็คงอยากแก้ไขช่วงเวลานั้นเสียใหม่
Howard Hawks มีความสนใจเครื่องบินมาตั้งแต่เด็ก ก่อนหน้านี้เคยสร้างหนังที่เกี่ยวกับการบินมาแล้วหลายเรื่อง อาทิ The Air Circus (1928), The Dawn Patrol (1930), Ceiling Zero (1936) ฯ เริ่มต้นจากความสำเร็จของ Wings (1927) หนังรางวัล Oscar: Best Picture เรื่องแรกที่เป็นอิทธิพล และการที่เขาเป็นนักบินเองด้วย ทำให้มีความรู้ ความสนใจเป็นอย่างมาก, ในปี 1938 ได้เขียนเรื่องราวจากความทรงจำชื่อ Plane from Barraca ที่ต่อมาร่วมกับ Jules Furthman พัฒนากลายเป็นบทหนัง มีชื่อเรียก Plane No.4
Barranca (ภาษาสเปน แปลว่า canyon, หุบเขาลึก) ในหนังเรื่องนี้ถือเป็นชื่อเมืองสมมติ ตั้งอยู่ทวีปอเมริกาใต้ ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ติดกับเทือกเขาแอนดีส (Andes Mountains) ถ้าดูจากแผนที่คงอยู่ประมาณประเทศชิลี หรือเปรู พูดสเปนเป็นภาษาหลัก, แต่เมืองชื่อ Barranca มีอยู่จริงนะครับ ในหลายๆประเทศ อาทิ ชิลี, เปรู, เม็กซิโก, โคลัมเบีย, อาร์เจนติน่า, คอสตา ริก้า ฯ ในอเมริกาเองก็มี อยู่ที่ New Mexico
Geoff Carter ผู้จัดการและนักบิน สายการบิน Barranca Airways ให้บริการรับส่งจดหมาย (Airmail) ผ่านช่องเขาสูง (high pass) ต้องบินผ่านเทือกเขาแอนดีส ที่ลมแรงและหมอกลงหนาจัดตลอดทั้งปี, มีนิสัยเป็นคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ทักษะ ประสบการณ์ถือว่าชั่วโมงบินสูง เอาตัวรอดได้ทุกรูปแบบ แต่วิธีการของเขาเหมือนคนไม่มีอะไรจะเสีย ชอบความท้าทาย เสี่ยงตายโดยไม่จำเป็น
รับบทโดย Cary Grant หลังจากร่วมงานกับ Hawks ครั้งแรกใน Bringing Up Baby เมื่อปีก่อน ทั้งสองคงถูกโฉลกกันอย่างมาก จึงกลับมาร่วมงานกันอีก, บทบาทของ Grant มีส่วนคล้ายที่ปีถัดมารับบท His Girl Friday คือมีอุดมการณ์หนึ่งที่ชัดเจน ต่างกันที่ คนหนึ่งกะล่อนปลิ้นปล้อน กับอีกคนบ้าคลั่ง ไม่กลัวตาย
Bonnie Lee หญิงสาวนักร้องเล่นดนตรี (Entertainer) วันหนึ่งลงเรือสำราญที่ Barranca ออกท่องเที่ยว เดินสำรวจเมือง แล้วพบเห็นเหตุการณ์ท้าความเป็นตาย ขณะนักบินขับเครื่องผ่านเทือนเขาอันตราย เกิดความใคร่สนใจ ตัดสินใจขึ้นบก พักอาศัยอยู่เมืองแห่งนี้ แต่นั่นคือความเพ้อฝันหรือความดื้อด้าน เธอตัดสินใจถูกหรือเปล่าในการลงเรือที่นี่
Jean Arthur ได้รับบทนี้ เพราะฝีมือและชื่อเสียงจากการเล่นหนังของ Frank Capra หลายเรื่อง แต่เธอและผู้กำกับ ไม่ลงรอยกันในทิศทางของตัวละครนี้ เพราะ Hawks ต้องการเปลี่ยนเธอ ให้เป็นในแบบอุดมคติของเขา แต่ Arthur ไม่ยินยอม เชื่อมั่นในแนวทางของตนเอง ผลลัพท์เลยออกมาสะเปะสะปะ ตัวละครนี้เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ผิดที่ผิดทางไปหมด
ตอนท้ายเรื่องที่ Lee เข้าไปบอกลา Carter เธอทำตัวลุกรี้ลุกรน คงเพราะกำลังสองจิตสองใจ ยังไม่อยากจากไป (เป็น Comedy) แต่วินาทีนั้น อารมณ์ของหนังอยู่ในช่วงซึมเศร้ากับการสูญเสีย การกระทำแบบนี้ผิดที่ผิดเวลาเต็มๆเลย, มันมีวิธีการมากมาย (approach) ที่สามารถแสดงออกมาได้ เช่น เดินเข้าไปช้าๆ พูดเสียงเบาๆ ‘ฉันกำลังจะไปแล้วนะ’ หาอะไรมารั้งฉันหน่อยสิ แบบนี้จะดูเข้ากัน กลมกล่อมอย่างมาก
แต่อาจเพราะ Hawks ต้องการให้ตัวละคร Lee มีความผิดที่ผิดทางตลอดเวลาก็ได้ … จะเห็นว่าต้นเรื่อง หนังเริ่มต้นโดยใช้มุมมองของเธอ แต่พอตัดสินใจไม่กลับขึ้นเรือ กลายเป็นว่าตัวละครนี้จืดจางลงทันที (หนังทำให้เหมือนว่า เพราะการตัดสินใจผิดพลาด เลยหมดบทบาทความสำคัญไป) แต่เธอก็ยังมีตัวตนอยู่ในหนัง บางครั้งหลบซ่อนแอบอยู่หลังฉาก (มีครั้งหนึ่งที่เราจะเห็น Carter เปิดประตู เจอเธอแอบพวกเขาอยู่) ซึ่งตอนท้าย ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ เมื่อเธอตัดสินใจจะกลับขึ้นเรือ จึงถือเป็นการนำเสนอการตัดสินใจที่อาจจะผิดพลาดอีกครั้ง (เป็นครั้งสุดท้าย)
นี่สะท้อนการมีตัวตนของ Jean Arthur ในกองถ่ายด้วยนะครับ เพราะการไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นในรูปแบบที่ Hawks ต้องการ เขาจึงทำให้เธอดูผิดที่ผิดทางไปหมดในกองถ่ายหนังเรื่องนี้
เพื่อนสนิทคู่ใจของ Carter ชื่อ Kid Dabb นักบินมากประสบการณ์กว่า 22 ปี แต่เพราะความที่สายตามีปัญหา จึงถูกร้องขอไม่ให้ขับเครื่องบินอีก, รับบทโดย Thomas Mitchell ที่ในปีนั้นมีผลงานเด่นอย่าง Gone With The Wind และ Stagecoach (ได้ Oscar: Best Supporting Actor) ถือเป็นปีทองของ Mitchell เลย, ท่าทางลุกรี้ลุกรนตลอดเวลา ถือว่าเข้ากับบทบาทมาก ผู้ชมรู้สึกเห็นใจ เป็นกำลังใจ ยิ่งช่วงท้ายตอนมีปัญหา จะรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก
Richard Barthelmess อดีตนักแสดงชื่อดัง ค่าตัวสูงสุดในยุคหนังเงียบ ที่พอเปลี่ยนผ่านมายุคหนังพูด ไม่สามารถปรับตัวได้ ใกล้วันที่จะรีไทร์ออกจากวงการ, รับบท Bat MacPherson/Kilgallen นักขับเครื่องบิน ผู้มีปมหลังเรื่องทิ้งเพื่อน เคยกระโดดร่มหนีเอาตัวรอดจากเครื่องบินที่ไฟไหม้ (แบบเดียวกับ Howard Hawks ไม่มีผิด)
เราสามารถมองตัวละคร Bat MacPherson แทนด้วยผู้กำกับ Howard Hawks ได้เลยนะครับ แอบมโนนิดๆว่าตัวเองขับเครื่องบินเก่ง แก้ปัญหาได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งตอนจบการกระทำของตัวละครนี้ แสดงออกถึงสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจ Hawks ที่ถ้ามีโอกาสแก้ตัว ก็อยากที่จะกลับไปแก้ไข
การแสดงของ Barthelmess ออกไปในทางเคร่งขรึม จริงจัง ไม่เคยเห็นหัวเราะยิ้ม คงด้วยความเจ็บปวดที่เก็บกดฝังลึกอยู่ในใจ (แบบยุคสมัยการเปลี่ยนผ่านของวงการภาพยนตร์ ที่เขาไม่สามารถปรับตัวได้) นี่ทำให้เขาพร้อมทำทุกอย่าง กล้าเสี่ยงตายแบบไม่แคร์อะไรมาก ความบ้าบิ่นไม่ต่างจาก Carter เท่าไหร่
อีกหนึ่งนักแสดงที่ถือเป็นดาวรุ่งกำลังพุ่งแรง นี่ไม่ใช่หนัง debut แต่คือเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอ Rita Hayworth รับบท Judy MacPherson ภรรยาสาวของ Bat MacPherson ความสวยสะคราญของเธอ ดึงดูดทุกสายตาผู้ชายทุกคน (ทั้งในหนังและผู้ชมให้เกิดความหลงใหล) มีความเชื่อมั่นในสามีอย่างสุดหัวใจ แม้เบื้องหลังเธอจะคือแฟนหนุ่มของ Carter แต่เพราะเมื่อเลิกแล้วต่อกัน แต่งงานมีสามีใหม่ ก็ไม่เคยคิดนอกใจ (หรือเปล่า?)
แถมให้กับนักแสดงที่อยู่บนท้องฟ้า มีอยู่ 3 รุ่น 1929 Hamilton Metalplane, Ford Trimotor และ Pilgrim Model 100-B มีทั้งที่ทำเป็นโมเดลจำลอง และเครื่องจริงๆ บินผ่านช่องเขาสูง (high pass)
ถ่ายภาพโดย Joseph Walker และ Paul Mantz (ในฉากบนท้องฟ้า), แทบทุกฉากของหนังเป็นเวลากลางคืน ภายนอกมืดมิด ไม่ก็ฝนตก หมอกลง ลมแรง ก็หิมะตก ทุกสภาพอากาศเลวร้าย ต้องถือว่าถ่ายออกมาได้น่าสนเท่ห์มากๆ
ฉากภาคพื้นดินถ่ายทำที่ Columbia Studio Ranch ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนั้นกลายเป็นของ Warner Bros ไปแล้ว, การถ่ายทำเป็นแบบลำดับต่อเนื่อง (Chronological) เพราะหนังมีเรื่องราวดำเนินต่อกันในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็ว ดังคำที่หญิงสาวพูดว่า ‘Things happen awful fast around here.’
ผมพยายามสังเกตฉากบนเครื่องบิน ว่าใช้ Rear Projection หรือถ่ายจากสถานที่จริง ก็พบว่ามีทั้งสองแบบ และถ้าเป็นฉากผาดโผนเสี่ยงอันตราย หรือระเบิด จะใช้โมเดลจำลอง (miniature) เพื่อประหยัดต้นทุน
อาจมีหลายคนสงสัย มีฉากหนึ่งที่ต้องขับเครื่องบินขึ้นไปสูงกว่า 17,000 ฟุต แล้วทิ้งดิ่งลงมา เพื่ออะไร? คำตอบคือ ถ้าให้เครื่องบินผ่านช่องแคบระหว่างภูเขา หมอกที่ลงจัดและลมที่แรงมากจะทำให้มีความเสี่ยงสูง การบินให้สูงกว่าภูเขาแล้วทิ้งดิ่งลงมา เป็นเทคนิคที่เหมือนเฮลิคอปเตอร์ขึ้นลงแนวดิ่ง คือถ้าลงตำแหน่งถูกต้อง จะตรงไปที่เป้าหมายปลายทางเลย ไม่ต้องผ่านช่องแคบอีก แต่ก็ต้องวัดดวงกันพอสมควร เพราะสมัยก่อนยังไม่มีเรดาร์ ขนาดอ๊อกซิเจนก็ … ดูดจากหลอดแบบในหนังเลยนะ (ถ้าขึ้นสูงเกินสัก 6,000 ฟุต ก็ต้องใช้อ๊อกซิเจนแล้ว เพราะอากาศเบาบางมาก)
เห็นวิวัฒนาการการขับเครื่องบินสมัยก่อนแล้วต้องบอกว่า คนสมัยต้องกล้าหาญ บ้าบิ่นมากๆ โคตรอันตราย เสี่ยงตายสุดๆ, จริงๆอาชีพขับเครื่องบินในปัจจุบันถือว่าอันตรายกว่าเดิมมากนะครับ ทั้งเครื่องบิน Jet หรือโบอิ้งค์ที่ใหญ่ขึ้น ความเสี่ยงสูงขึ้น แต่อุปกรณ์ป้องกันก็พัฒนามากขึ้นเช่นกัน เลยดูเหมือนการบินปัจจุบันจะปลอดภัยกว่าในอดีตมาก
ตัดต่อโดย Viola Lawrence, ผมไม่แน่ใจหนังเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ Kubrick สร้าง Dr. Strangelove (1964) แบบนั้นหรือเปล่า, เนื่องจากหมอกลงจัด แล้วมีเครื่องบินลำหนึ่งต้องการลงจอด Carter จึงใช้การพูดนำทางผ่านวิทยุสื่อสารตอบโต้ ผู้ชมจะไม่เห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องจินตนาการตามเอง ว่าขณะนี้เครื่องบินอยู่ตรงไหน กำลังทำอะไร เต็มที่คือได้ยินเสียงไกลๆ เห็นแสงสลัวๆ และขณะเครื่องบินเข้าใกล้สถานที่ร่อนลงจอด
ผมคิดว่าหนังทั้งเรื่องใช้มุมมองของ Bonnie Lee เล่าเรื่อง แม้จะมีช่วงใหญ่ที่เธอจืดจางเหมือนว่าได้หายตัวไปแล้ว เปลี่ยนไปใช้มุมมองของ Carter เล่าเรื่องแทน แต่ผมคิดว่าเธอแอบซ่อนตัวอยู่ทุกฉาก (ที่อยู่บนภาคพื้นดิน) แอบซุ่ม ถ้ำมองอยู่ไกลๆ รับรู้ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น
เพลงประกอบโดย Dimitri Tiomkin, ตอนที่ Bonnie Lee เล่นเปียโน ผมคิดว่า 3 เพลงนั่น ไพเราะที่สุดตั้งแต่ที่เคยดูหนังของ Howard Hawks มาเลยนะครับ เพราะปกติหนังพี่แกมันจะไม่มีเพลงประกอบ คือเน้นความสมจริง หนังเรื่องนี้ก็ไม่มีเพลงประกอบ แต่ได้ยินเพราะตัวละครกำลังเล่น เลือกมาได้เข้ากับสถานที่มากๆ
ใจความของหนังเรื่องนี้คือ การไถ่บาป แก้ตัว (Redemption) ทุกตัวละครในหนังต้องมีสิ่งที่เคยทำผิดพลาด แล้วต้องการแก้ไข
– Geoff Carter ที่กลายเป็นคนแบบนี้เพราะถูก Judy สร้างตราบาปไว้ จึงไม่ต้องการให้ผู้หญิงคนไหนเข้ามาในจิตใจของเขา จนตอนจบยอมเปิดใจ…
– Bonnie Lee เริ่มต้นเธอไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่ตอนตัดสินใจว่าจะอยู่ที่นี่ เมื่อนั้นหนังทำให้เธอรู้สึกว่า ทำผิดมหันต์ และตอนจบก็ …
– Bat MacPherson คนนี้ชัดเจนสุด เคยมีการวีรกรรมในอดีตที่เจ็บปวด ตอนจบสามารถมองว่า ได้รับการให้อภัย
แต่มีตัวละครหนึ่งในหนังที่ไม่มีโอกาสได้แก้ตัว คิดเองได้หรือเปล่าเอ่ยว่าใคร? …
โลกเรามีคนตายทุกวัน แม้แต่คนใกล้ตัว เราใช้เวลาเท่าไหร่กันในการทำใจ?, นี่เป็นใจความเชิงประชดประชันของผู้กำกับนะครับ ที่ตอนแรกตบหัวคนดูแบบนุ่มๆ จากนั้นก็ย้อนกลับมาตบหัวตัวเองแบบสะเทือนแรงๆ (คือ การตายครั้งแรก หนังตั้งคำถามเรื่องการทำใจได้อย่างน่าสนเท่ห์ แต่การตายครั้งหลัง ตัวละครกลับแสดงออกในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการกระทำตอนแรกเสียอย่างงั้น)
จากประสบการณ์ส่วนตัว กับคนที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว สัก 10 นาทีไม่เกินชั่วโมง (ถ้าเป็นดาราดังๆ บุคคลที่มีชื่อเสียง ก็จะระลึกถึงเขาสักพัก) แต่ถ้าเป็นคนรู้จักเพื่อนสนิท ญาติสหาย พ่อแม่ นี่ผมทำใจเป็นวันเลย แทบจะทำอะไรต่อไม่ได้ ต้องนั่งสมาธิสำรวจจิตใจสักพัก ผ่านคืนแรกไปเมื่อไหร่ วันถัดไปความโศกเศร้าก็จะเบาลง
กับชื่อหนัง Only Angles Have Wings ไม่ได้มีความหมายแบบแปลตรงตัวว่า ถ้านางฟ้ามีปีก แต่เป็นเหมือนคำอธิษฐานของผู้กำกับ ถ้าตอนนั้นเครื่องบินไม่ตกนะ … นี่ Hawks กำลังพูดถึงตนเองอยู่นะครับ
ปี 1939 ได้รับการยกย่องว่าคือปีทอง Golden Year ของ Hollywood มีหนังอมตะอย่าง Gone With The Wind, The Wizard of Oz, Mr. Smith Goes to Washington, Stagecoach, Ninotchka, Wuthering Heights ฯ หนังดีๆ ของผู้กำกับดังๆ เกิดขึ้นพร้อมกันมากมาย ซึ่ง Only Angels Have Wings ผมว่าถ้าหนังฉายปีอื่น คงมีลุ้นที่จะได้รับยกย่องถึงความคลาสสิก แต่เพราะฉายปีที่เต็มไปด้วยความเหลืองอร่าม นี่คงดีที่สุดแล้วที่หนังจะทำได้ (แต่ก็มีนักวิจารณ์หลายคน เหมารวมหนังเรื่องนี้เข้าไปในลิสปีทองของ Hollywood ด้วย)
หนังเข้าชิง Oscar 2 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Cinematography, Black-and-White
– Best Effects, Special Effects
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ มีแนวคิดหลายอย่างที่น่าสนใจ การเล่าเรื่องมีความลงตัว (แม้จะรู้สึกหนังยาวไปนิด) ทีมนักแสดงถือว่าสุดยอดทั้งนั้น โดยเฉพาะ Cary Grant แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ Jean Arthur จริงอยู่หนังออกมาแบบนี่ อาจเป็นความจงใจของผู้กำกับ แต่ผมกลับรู้สึกไม่ประทับใจเสียเท่าไหร่, คือผมอยากเห็นสิ่งที่ Hawks พยายามทำให้ Arthur เป็น เชื่อว่านั่นอาจจะทำให้หนังมีความลงตัวมากกว่านี้ อาจถึงขั้นสมบูรณ์แบบเลยละ
แนะนำกับคนชื่นชอบหนังแนวดราม่าเครื่องบิน (Aircraft) แฝงข้อคิดการใช้ชีวิตลึกซึ้ง, แฟนหนัง Howard Hawks, Cary Grant, Jean Arthur และ Rita Hayworth ไม่ควรพลาดเลย
แนะนำต่อ กับคนชอบหนังแนวขับเครื่องบินในทศวรรษนั้น Wings (1929), Hell’s Angels (1930), Air Mail (1932), Night Flight (1933) Flight From Glory (1937) ฯ
จัดเรต PG กับเครื่องบินตก มีคนเสียชีวิต
Leave a Reply