Only Yesterday (1991)
: Isao Takahata ♥♥♥♥
ขณะที่ Hayao Miyazaki มุ่งสู่ความแฟนตาซีล้ำจินตนาการ Isao Takahata เลือกหันเข้าหาความสมจริง (Realist) นำเสนอภาพวาดศิลปะในรูปแบบภาษาภาพยนตร์, Only Yesterday คืออนิเมชั่นที่จะทำให้คุณหวนระลึกถึงความทรงจำวัยเด็ก ขณะเดียวกันยังชักชวนให้ตัดสินใจเลือกทำอะไรบางอย่างกับอนาคต, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
แม้จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli แต่วิสัยทัศน์ ความสนใจ และไดเรคชั่นในการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Hayao Miyazaki และ Isao Takahata ถือว่าแตกต่างตรงกันข้ามสุดขั้ว เทียบได้กับสองอัจฉริยะแห่งยุคสมัย อาทิ Charlie Chaplin กับ Buster Keaton, François Truffaut กับ Jean-Luc Godard, Akira Kurosawa กับ Yasujirō Ozu ฯ
ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะ Takahata ไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นศิลปินนักวาดภาพ ตอนเข้าเรียน University of Tokyo เลือกสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศส แค่ว่าระหว่างนั้นมีโอกาสรับชมอนิเมชั่นเรื่อง Le Roi et l’Oiseau (The King and the Mockingbird) ของผู้กำกับ Paul Grimault ทำให้เกิดความหลงใหลสนใจด้านนี้ขึ้นทันที ขณะที่ Miyazaki คลั่งไคล้การวาดภาพ โตขึ้นอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น ก่อนมาเริ่มหลงใหลอนิเมชั่นจริงจังจากการรับชม Panda and the Magic Serpent (1958) แต่กลับเรียนจบ Gakushuin University สาขารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ … ทั้งสองพบเจอร่วมงานกันครั้งแรกขณะทำงานที่สตูดิโอ Toei Animation
Miyazaki ถือว่าเป็นคนเดินตามหลัง Takahata เพราะเขามาจากสายนักวาด อนิเมเตอร์ ไม่ใช่ผู้กำกับคุมงานสร้างมาก่อน หลังลาออกจากสตูดิโอ Toei Animation ทำงานร่วมกันอยู่พักใหญ่ๆ เรียนรู้แลกเปลี่ยนรับอิทธิพลต่อกันและกัน ต่อสู้ดิ้นรนฟันฝ่าไปเรื่อยๆ ซึ่งความสำเร็จแรกเริ่มต้นที่ Miyazaki เรื่อง The Castle of Cagliostro (1979) จากนั้น Takahata โด่งดังกับ Gauche the Cellist (1982) และหลังจาก Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) พวกเขาจึงร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli
‘ถ้าไม่มี Isao Takahata ก็อาจไม่มี Hayao Miyazaki’ คำกล่าวนี้ไม่ผิดเลยนะ
สิ่งผิวเผินที่คนส่วนใหญ่มองเห็นความแตกต่างของสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการอนิเมชั่นฝั่งญี่ปุ่น คือ Takahata มักทำอนิเมชั่นแนวจริงจัง ตึงเครียด หดหู่เกินไป เหมาะสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น ขณะที่ Miyazaki เด็กๆดูได้สาระ มีความสวยงามมหัศจรรย์ มอบความอิ่มเอิบ สุขสำราญกายใจ … มองแบบนี้ Miyazaki เลยมักได้รับการพูดถึง จดจำ ประสบความสำเร็จ กลายเป็นตำนานที่รู้จักในวงกว้างมากกว่า
ในเบื้องลึก ความแตกต่างของทั้งสองเริ่มเห็นได้ชัดหลังจากร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli คือ Takahata เลือกเดินเข้าหาความสมจริง (Realist) นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตใกล้ตัว จับต้องได้ มีความธรรมดา เรียบง่าย ยกตัวอย่าง Only Yesterday ว่าไปสามารถสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดง Live-Action ก็ยังได้ (ทุนสร้างไม่สูงด้วย) แต่พอทำเป็นอนิเมชั่น ก่อให้เกิดสัมผัสความรู้สึกที่แตกต่างออกไป, ขณะที่ Miyazaki เลือกผลักดันจินตนาการของตนเองให้ก้าวล้ำออกไป สู่ความเพ้อฝันแฟนตาซีไร้ขอบเขต แม้มิได้โดดเด่นล้ำกับลีลาการเล่าเรื่องมากนัก แต่มีความสวยงามตื่นตระการตาสุดมหัศจรรย์เกินพรรณา
สิ่งที่เป็นคำถามค้างคาใจของผมระหว่างรับชม Only Yesterday เพราะเหตุใด ทำไม Takahata ถึงเลือกดัดแปลงสร้างในรูปแบบภาพยนตร์อนิเมชั่น? ก็มากระจ่างเอาตอนจบเลยละ เมื่อพบเห็นนางเอกตัดสินใจ ‘เลือก’ ทำอะไรบางอย่างกับอนาคตตนเอง … ก็นั่นแหละคือการเลือกของ Takahata ทุกสิ่งอย่างในชีวิตที่เป็นประสบการณ์สะสมผ่านมา ได้แปรสภาพกลายเป็นตัวตนเองในปัจจุบัน การตัดสินใจทำในสิ่งขัดแย้ง หัวขบถต่อบริบทของสังคม ก็อนิเมชั่นเรื่องนี้แหละ นำไปสร้างเป็น Live-Action คนแสดงง่ายกว่ามาก แต่ฉันอยากทำเป็นอนิเมชั่น ใครจะทำไม หึ!
เรื่องราวอ้างอิงส่วนหนึ่งมาจากหนังสือการ์ตูน Omoide Poro Poro (1982) [คือชื่อภาษาญี่ปุ่นของอนิเมะด้วยนะ] แต่งโดย Hotaru Okamoto กับ Yuko Tone ความยาว 3 เล่ม เรื่องราวชีวิตประจำวันเรื่อยเปื่อย Slice-Of-Life ของเด็กหญิง Taeko อายุ 11 ขวบ ไม่มีพล็อตอะไรเป็นพิเศษ แค่รวบรวมบรรยากาศ Nostalgic ของคนเคยมีชีวิตผ่านทศวรรษ 60s เกี่ยวกับเพลง หนัง รายการโทรทัศน์ ไอดอล แฟชั่น ฯ
เกร็ด: Omohide Poro Poro แปลว่า Memories come tumbling down.
เนื่องจากมังงะมีเรื่องราวเฉพาะช่วงวัยเด็กของ Taeko ซึ่งพอไปเข้าตา Takahata เกิดความสนใจอยากเห็นอนาคตของเด็กหญิงสาว โตขึ้นคงสวยสะพรั่ง จะเลือกตัดสินใจดำเนินใช้ชีวิตต่อไปเช่นไร แต่การเล่าเรื่องจากอดีตไปอนาคตมันช่างคลาสสิกเฉิ่มเฉยไปเสียหน่อย เลยทำการย้อนกลับ เริ่มต้นจาก Taeko โตเป็นสาวทำงานแล้ว หวนระลึกความทรงจำสมัยวัยเด็กแทน (คือตอนครุ่นคิดเรื่องราวดำเนินไปข้างหน้า แต่พอเขียนบทกลายเป็นอนิเมชั่นกลับเล่าย้อนถึงอดีต)
ปี 1982, Taeko Okajima (ฉบับญี่ปุ่น พากย์เสียงโดย Miki Imai, ฉบับอังกฤษ พากย์เสียงโดย Daisy Ridley) หญิงสาวชาวญี่ปุ่นวัย 27 ปี ลาพักร้อนออกเดินทางจาก Tokyo ไปใช้ชีวิตเกษตรกร เก็บดอกคำฝอย (Safflower) อยู่ที่จังหวัด Yamagata ช่วงเวลานี้เองที่ความทรงจำเมื่อครั้งสมัยอยู่ชั้นประถม ได้ผุดขึ้นมาหวนระลึกอย่างต่อเนื่อง
ปี 1966, เด็กหญิง Taeko วัย 10-11 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.5 ใกล้ถึงวัยมีประจำเดือน จึงเกิดความหวาดหวั่นวิตกกลัวตามประสาผู้หญิง ทำให้มีนิสัยขี้งอแง ชอบเรียกร้องโน่นนี่นั่น อยากทำอะไรตามใจฉัน แต่เมื่อครอบครัวไม่อนุญาตเกิดเป็นความเก็บกดสะสม แม้ตอนนั้นจะยังไม่แสดงออก พอโตขึ้นเป็นอิสระไร้พันธนาการเมื่อไหร่ ใครจะพูดจาโน้มน้าวชักจูงก็ไม่สนอะไรทั้งนั้น
ต้องถือว่าโลกทัศน์ของ Taeko มีความแตกต่างจากเด็กทั่วไปในสังคมเมืองพอสมควร
– เริ่มจากความอิจฉาเพื่อนๆที่มีครอบครัวชนบท พอวันหยุดปิดเทอมก็มีโอกาสได้ไปพักร้อนตากอากาศ ขณะที่ญาติๆของตนเองปักหลักอาศัยอยู่ Tokyo โดยพร้อมหน้า ไม่ได้ไปไหนทั้งนั้น
– นี่สะท้อนเข้ากับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่เธอไม่เก่งคำนวณเอาเสียเลย นัยยะจุดนี้น่าจะคือการไม่ชอบอะไรที่ซับซ้อน สังคมเมืองมันวุ่นวาย ตรงกันข้ามกับชนบทที่เรียบง่าย
– ก็ด้วยเหตุนี้พอเติบโตขึ้นทำงาน อย่างที่นายจ้างถามถึง ก็คิดว่าหยุดหลายวันคงไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ในมุมมอง ‘ต่างประเทศ’ ของเธอ ก็คือหมู่บ้านชนบทนี่แหละ
– เสื้อที่ใส่ตอนโต ลายขวางแนวนอน … ก็นั่นสินะ กลายเป็นคนขวางโลกไปแล้ว, ส่วนกางเกง … สมัยนั้นต้องทอมบอยเท่านั้นกระมังถึงนิยมใส่กางเกง แต่รู้สึกว่าตอนโตจะไม่เห็นใส่กระโปรงสักครั้งเลยนะ
ก่อนหน้าเริ่มโปรดักชั่น ผู้กำกับ Takahata นำพาทีมงานออกทริปยังเขต Yamagata เพื่อสำรวจ เก็บภาพ พูดคุยกับชาวนาชื่อ Inoue ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับธุรกิจดอกคำฝอย ซึ่งก็มีทีมงานคนหนึ่งได้ร่ำเรียนเทคนิคการเก็บเกี่ยวด้วยมือเปล่าแบบตัวต่อตัว ว่ากันว่าตลอดโปรดักชั่นเกือบๆสองปี เขาก็ไม่ได้วาดอะไรอื่นเลยนอกจากเจ้าดอกไม้ชนิดนี้ สวยงามมากๆเลยะนะ (อย่างช็อตนี้ เห็นเหมือนดอกคำฝอยสะท้อนแสง แต่ถ้าสังเกตดีๆคือการแต้มสีขาวเข้าไป)
ปกติแล้วอนิเมะทางฝั่งญี่ปุ่น มักใช้การพากย์เสียงภายหลังทำอนิเมชั่นเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่เรื่องนี้ใช้การบันทึกเสียงขึ้นก่อน (น่าจะเรื่องแรกของสตูดิโอ Ghibli เลยกระมัง) ซึ่งจะช่วยให้ทีมงานสามารถวาดภาพการขยับปาก กล้ามเนื้อ ขณะสนทนา มีความสมจริงมากขึ้น แต่นั่นเฉพาะกับ Taeko ตอนโตเท่านั้นนะ ฉากที่เป็นตอนเด็กยังคงใช้วิธีเดิม บันทึกเสียงหลังโปรดักชั่นเสร็จสิ้นแล้ว
แต่มันก็มีข้อเสียที่ร้ายแรงมากๆประการหนึ่ง ที่ส่วนไม่ประทับใจเสียเลย นั่นคือเส้นตรงแก้ม เวลาตัวละครยิ้มแย้ม หรือทำสีหน้ามีเลศนัยบางอย่าง เจ้าเส้นนี้จะปรากฎขึ้นมา จริงอยู่มันอาจช่วยเพิ่มรายละเอียดการแสดงออก Expression ของใบหน้า แต่กลับดูฝืนธรรมชาติยังไงชอบกล
ใครเคยรับชมผลงานของปรมาจารย์ผู้กำกับ Yasujirō Ozu น่าจะหวนระลึกถึงฉาก Opening Credit ที่นิยมใช้ผ้ากระสอบเป็นพื้นหลัง ซึ่งอนิเมะเรื่องนี้คัทลอกเลียนแบบมาเปะๆเลย คงด้วยต้องการสื่อนัยยะถึงความธรรมดา เรื่องราวมีใจความบ้านๆ เกี่ยวกับชีวิตและครอบครัว
(จริงๆถือว่าเป็นอิทธิพล/ค่านิยมหนึ่งของภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นในยุคหลัง Ozu ที่ถ้าเรื่องไหนขึ้น Opening Credit ด้วยพื้นหลังผ้ากระสอบนี้ละก็ ต้องมีใจความสามัญเกี่ยวกับครอบครัวอย่างแน่นอน)
เกร็ด: Only Yesterday คืออนิเมชั่นเรื่องแรกของสตูดิโอ Ghibli ที่ใช้โลโก้ Totoro
ความทรงจำถือเป็นสิ่งเลือนลาง ไม่มีทางที่ใครสักคนจะสามารถหวนระลึกจดจำได้ทุกรายละเอียดรอบข้าง นอกเสียจากบางสิ่งมีความสำคัญมากๆต่อจิตใจขณะนั้น มันจะเป็นสิ่งไม่รู้ลืม, วิธีการที่ผู้กำกับ Takahata นำเสนอออกมา ทุกฉากที่เป็นการย้อนอดีต จะมีลักษณะเหมือนภาพวาดเก่าๆ โทนสีอ่อนๆ ตัวละครมีเส้นขอบจางๆ ขอบข้างเบลอๆเฟดหายไป
ตรงกันข้ามกับช่วงเวลาปัจจุบัน ที่ทุกอย่างมีความเข้มข้น สีสันสวยสด ดูสมจริงไปเสียหมด แม้แต่ภาพสะท้อนตึกสำนักงาน (น่าจะคือบริษัทที่ทำงานของ Taeko) ภาพกำลังเลื่อนขึ้น ก้อนเมฆเคลื่อนไปทางซ้าย ตึกกลับค่อยๆต่ำลง คงต้องใช้การซ้อน Layer หลายชั้นทีเดียว
เดี๋ยวนะ… ชีวิตกำลังเคลื่อนขึ้น ก้อนเมฆเลื่อนไปฝั่งซ้ายขวาคือเวลาที่ดำเนินไป แต่ภาพตึกที่ค่อยๆตกต่ำลง นี่อาจเป็นการวิพากย์สังคมเมืองของผู้กำกับ Takahata บอกว่าเป็นสิ่งทำให้คุณภาพชีวิต/คุณค่าทางจิตใจของคน ตกต่ำลงเรื่อยๆ (แม้ตึกมันจะสูงขึ้นเสียดฟ้าก็เถอะ)
ไม่ใช่แค่ภาพของอดีตกับปัจจุบัน แต่หลายครั้งแทรกใส่จินตนาการเพ้อฝันของ Taeko เข้ามาด้วย นี่ปรากฎพบเจอได้ทั้งตอนกำลังย้อนอดีตและเหตุการณ์ในปัจจุบัน วิธีสังเกตอาจยากสักหน่อย เพราะต้องดูการกระทำของตัวละคร ในสิ่งไม่น่าเป็นไปได้ถึงจะเข้ากรณีของแฟนตาซีโดยทันที
อย่างช็อตนี้กำลังวิ่งๆอยู่แล้วอยู่ดีๆลอยขึ้นฟ้าเสียอย่างนั้น ก็น่าจะแยกออกกันได้นะครับว่าคือกำลังมุ่งสู่ความเพ้อฝันของ Taeko ซึ่งล้วนเป็นการแสดง Expression ปฏิกิริยาของหญิงสาวต่อเหตุการณ์นั้นๆ
หนึ่งใน Expression ที่ผมชอบมากๆ คือดวงตาอันใสวิ้งเป็นประกายของ Taeko (เหมือนแมลงสาบยังไงชอบกล) ขณะกำลังเพ้อฝันหวาน แตกต่างจากตอนปกติที่ดวงตาของเธอจะมีเพียงสีขาวกลมๆเล็กๆ ซึ่งเมื่อไหร่กลายเป็นแบบนี้นะ ความโลกสวยมันจะบังเกิดขึ้นโดยทันที
ตอนโตคุ้นๆว่าจะไม่เห็นตาแบบนี้แล้วละ แต่กลายเป็นรอยยิ้มและเส้นตรงแก้ม ที่ดูแก่นแก้วมากกว่าผู้หญิงปกติทั่วไป
มีครั้งหนึ่งกับช็อตนี้ ชวนให้นึกถึงภาพวาด The Creation of Adam (1510) บนเพดานโบสถ์น้อย Sistine Chapel ของ Michelangelo Buonarroti เป็นขณะที่สองสาวทำสัญญาอะไรบางอย่างต่อกัน แต่แทนที่จะเกี่ยวก้อยก็เป็นนิ้วชี้แตะกัน แล้วเกิดเป็นประกายแสงขึ้นมา ถือเป็น Expression ที่เว่อวังอลังการมากๆ แถมด้วยดวงดาวระยิบระยับเป็นพื้นหลัง
นั่นไงอีกากำลังโบยบินจากไป ซึ่งสิ่งที่ Taeko แสดงออกมาหลังจากนี้คือการโบกมือบ้ายบาย นัยยะของฉากนี้เสมือนการบอกลาความเป็นเด็ก เติบโตขึ้นกลายเป็นสาว (ถึงอนิเมะไม่ได้บอกกล่าวไว้ แต่สามารถสื่อได้ว่า ประจำเดือนครั้งแรกคงมาถึงแล้วละ)
แต่ความเป็นสาวของ Taeko แลกมากับการเป็นดั่งนกในกรง ตุ๊กตาในขวดแก้ว (ตั้งอยู่บนโทรทัศน์), ช็อตนี้ใช้โทนสีน้ำเงิน เพื่อสะท้อนอารมณ์อันหดหู่ ผิดหวัง ให้สัมผัสที่เย็นยะเยือก เจ็บปวดรวดร้าว ด้วยความไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อถึงไม่อนุญาต ด้วยเหตุนี้จึงเก็บกดความรู้สึกของตนเอง แปรสภาพกลายเป็นคนหัวขบถขัดแย้ง ขึ้นมัธยมปลายเมื่อไหร่ ตรงไปลงชื่อสมัครชมรมการแสดงก่อนเลย
เกร็ด: รายการ Puppet Show ที่ Taeko รับชมอยู่นี้คือ Hyokkori Hyotanjima (1966) เห็นว่าได้รับความนิยมมากกับเด็กๆสมัยนั้น มีเพลงฮิตติดหูที่ให้กำลังใจได้ดีทีเดียว
“We don’t want to cry, so let’s laugh. Go ahead!”
เรื่องราวความทรงจำแทบทั้งหมดของ Taeko มักตัดไปยังอดีตขณะเล่าเรื่อง เว้นเพียงเรื่องสุดท้าย ที่เริ่มต้นจากการเล่าด้วยคำพูด ปรากฎเห็นภาพเด็กชายปริศนาที่ราวกับภาพหลอน/ภาพวิญญาณ เดินอยู่ท่ามกลางสายฝน ก่อนค่อยๆเฟดเปลี่ยนเป็นฉากย้อนอดีต, นี่เป็นการสะท้อนถึงเหตุการณ์ที่แปรสภาพจากความทรงจำกลายเป็นตัวตนใหม่ของเธอ เห็นเขาเดินกร่างๆมือล้วงกระเป๋ากางเกง ก็เลียนแบบทำตามโดยไม่รู้ตัว
ในบรรดาเรื่องเล่าย้อนอดีต นี่คือตอนที่โดยส่วนตัวชื่นชอบมากสุด เพราะการกระทำของเด็กชายคนนี้ จับมือทุกคนยกเว้น Taeko วินาทีที่ผมได้ยินก็เกิดความเข้าใจโดยทันทีว่า หมอนี่ต้องแอบชอบหญิงสาวอย่างแน่นอน แต่เธอกลับไม่รู้ตัวและคิดว่าเขาคงเกลียดตัวเองมากๆเลยไม่ยอมแม้แต่สัมผัสมือลายาก ซึ่งสิ่งไม่น่าเชื่อต่อจากนั้นคือ Toshio ที่พอฟังเรื่องเล่านี้ พูดบอกกล่าวกับเธอได้ตรงใจที่คิดไว้เปี๊ยบๆ เลยเกิดความประทับใจฉากนี้มากๆเป็นพิเศษ
จริงๆคือมันทำให้ผมหวนระลึกถึงตัวเองสมัยเรียนอ่ะนะ จีบสาวคนหนึ่งแต่เธอไม่สนใจใยดี เลยเรียกร้องความสนใจด้วยการคุกเขาจับมือแบบเจ้าชายในเทพนิยาย ก็ปรากฎว่ากลายเป็นเรื่องเล่าโจกท์จัญกันทั่วโรงเรียน เทอมถัดมาเธอย้ายโรงเรียนหนี … มันเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไงเนี่ย *-*
สิ่งน่าสนใจของช็อตแฟนตาซีเพ้อฝันของ Taeko ไม่ใช่พื้นหลังที่เธอจินตนาการเห็นตัวเองกำลังนั่งอยู่บนรถม้า กำลังเดินทางสู่เมือง/ปราสาท บนเนินเขาชนบท แต่คือระดับใบหน้าของหญิงสาวและ Toshio จัดวางตำแหน่งคู่ขนานเคียงข้าง ราวกับว่าพวกเขากำลังมองเห็นในสิ่งๆเดียวกัน พร้อมแล้วที่จะเคียงข้าง เสมอภาค
ถึง Toshio จะอ่อนกว่า Taeko แต่วินาทีนั้นหญิงสาวรู้สึกเหมือนเขาคือผู้ใหญ่ อายุไม่ใช่สิ่งสำคัญ ซึ่งการจัดวางให้ Toshio ยืนอยู่ข้างหน้า ยังสะท้อนแนวคิดผู้ชายคือช้างเท้าหน้าในสังคมญี่ปุ่นอยู่ด้วย
ภาพความเพ้อฝันของ Taeko ท้องฟ้าครามสว่างสดใส ตรงกันข้ามกับสภาพอากาศจริงในขณะนั้นที่ฝนกำลังตก เป็นอีกครั้งที่ผู้กำกับ Takahata ชอบเล่นกับสภาพดินฟ้าอากาศ สะท้อนแทนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร
– ฝนตกพายุคลั่ง คือความปั่นป่วนพลุกพร่านในจิตใจ
– ฟ้าครามสว่างสดใส ก็ยิ้มแย้มแช่มชื่นเป็นสุข
สิ่งที่ทำให้ Taeko ตัดสินใจเลือกทำอะไรบางอย่างกับอนาคตตนเองในตอนจบ ผมคิดว่าเพราะชายแก่คนนี้แหละ อยู่ดีๆก็แทรกตัวเข้ามาขึ้นรถไฟแบบลุกรี้ลุกรน ไม่สนอะไรทั้งนั้น นี่น่าจะทำให้เธอครุ่นคิดไตร่ตรอง ฉันคงไม่รอคอยให้ตนเองแก่หงำเหงือกขนาดนั้นแล้วค่อยตัดสินใจมาอยู่ชนบทหรอกนะ
จินตนาการภาพของเด็กๆทั้งหลาย ทั้งบนรถไฟที่คอยเป็นกำลังใจ หยุดเล่นไพ่ดักรอรถเมล์ ราวกับจิตวิญญาณความทรงจำที่ซ้อนทับปัจจุบัน อย่างช็อตนี้ปรากฎอยู่ด้านหลัง Toshio และ Taeko แอบทำไม้ Ai Ai Gasa เพื่อเป็นสะท้อนบอกว่า อดีตเป็นสิ่งผลักดันให้ชีวิตเติบโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้
เกร็ด: Ai Ai Gasa หรือ Love Love Umbrella/Together Umbrella ใครชมอนิเมะมาเยอะน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี คือสัญลักษณ์ที่คนญี่ปุ่นใช้เพื่อแทนความรักของชายหญิง/หนุ่มสาว ปกติใช้การเขียนชื่อของทั้งสองลงไป สามเหลี่ยมราวกับชายคา อาศัยอยู่ร่วมบ้านหลังเดียวกัน
ตัดต่อโดย Takeshi Seyama ขาประจำอนิเมะที่มีโคตรผลงานอย่าง My Neighbor Totoro (1988), Akira (1988), Princess Mononoke (1997), Tokyo Godfathers (2003), Paprika (2006) ฯ
เรื่องราวทั้งหมดเล่าในมุมมองของ Taeko จากปัจจุบันดำเนินไปข้างหน้า ระหว่างนั้นแทรกคั่นด้วยการหวนระลึกความทรงจำย้อนอดีต และหลายครั้งเพ้อฝันจินตนาการแฟนตาซีของตนเอง, ซึ่งสิ่งที่ Taeko หวนระลึกถึงอดีต ล้วนคือช่วงเวลาสำคัญๆที่ยังจดจำได้ไม่เคยลืมเลือน อาทิ มีแฟนคนแรก (แต่ไม่ยักมีตอนเลิกกัน), ประจำเดือนแรก, สอบตกคณิตศาสตร์, ถูกพ่อตบครั้งแรก(ครั้งเดียว), ได้แสดงงานโรงเรียน มีโอกาสเป็นดาราดัง, และเพื่อนคนที่ไม่ได้อยากจดจำ แต่ค้างคาใจมากสุด
คงเพราะงานภาพบอกใบ้อะไรๆให้เยอะแล้ว การตัดต่อเลยมีความเฟี้ยวฟ้าว สามารถกระโดดสลับไปมาระหว่าง อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน ได้อย่างไม่ต้องสนใจอะไรทั้งนั้น ช่วงแรกๆนี่ช็อตต่อช็อตเลยนะ หลายคนอาจยังปรับตัวไม่ทัน แต่ถ้าสังเกตครุ่นคิดตามได้ไว ไม่นานก็จะเกิดความเข้าใจไดเรคชั่นนี้โดยทันที
เพลงประกอบโดย Katz Hoshi, ถึงจะมีพื้นหลังเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น แต่กลับเลือกบทเพลงกลิ่นอายยุโรปตะวันออก Tradition Folk Song จากประเทศ Hungarian, Romanian, Bulgarian คงเพราะนั่นคือเสียงของธรรมชาติที่ผู้กำกับ Takahata ได้ยิน เมื่อจินตนาการเห็นภาพลักษณะนี้
นี่อาจเป็นส่วนที่หลายๆคนเกาหัว คือมันแปลกประหลาดที่อนิเมะจากญี่ปุ่น กลับไปใช้บทเพลงพื้นบ้านทางฝั่งยุโรป แต่นี่คือรสนิยมและ Expression ที่ผู้กำกับต้องการสะท้อนออกมาผ่านบทเพลง เชื่อว่าดนตรีของญี่ปุ่นคงไม่มีสไตล์ไหนสามารถมอบสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติได้ยอดเยี่ยมกว่านี้อย่างแน่แท้ ซึ่งสิ่งที่ผมสัมผัสได้คือความยิ่งใหญ่ระดับสากล บทเพลงที่แม้จะอยู่คนละมุมโลก แต่สามารถใช้แทนกันได้อย่างลงตัวเหมาะเจาะ
บทเพลงที่จะได้ยินบ่อยๆประกอบภาพทิวทัศน์ชนบทคือ Frunzuliță Lemn Adus Cântec De Nuntă (แปลว่า Fluttering Green Leaves Wedding Song) เป็นเพลง Folk Song สัญชาติ Romanian แต่งโดย Gheorghe Zamfir, เสียงขลุ่ยที่โหยหวนล่องลอย เปรียบได้กับการค้นพบเจอโลกใหม่ ในวันที่อะไรๆแตกต่างต่างออกไป
ผมก็แอบสงสัยคำพูดประโยคนี้อยู่นะ
“This is farmer’s music. I like it because I’m a farmer.”
เกษตรกรญี่ปุ่นฟังเพลงสไตล์นี้จริงๆนะเหรอ … ไม่ใช่แน่กับเกษตรกรไทย ที่ฟังแต่ลูกทุ่ง ลูกกรุง, สำหรับบทเพลงที่ได้ยินในรถ Teremtés (แปลว่า Creation) ดัดแปลงจากบทเพลงพื้นบ้าน Folk Song ของประเทศ Hungarian ขับร้อง/บรรเลงโดย Sebestyén Márta & Muzsikás
Ending Song บทเพลง Ai wa Hana, Kimi wa Sono Syushi แปลมาจาก The Rose (1979) แต่งโดย Amanda McBroom ขับร้องโดย Bette Midler นำต้นฉบับมาให้รับฟังแล้วกันนะ ไพเราะไม่แพ้กันเลย (แต่ผมชอบฉบับญี่ปุ่นมากกว่า)
ฉบับญี่ปุ่นแปลคำร้องโดย Isao Takahata ขับร้องโดย Harumi Miyako
Only Yesterday ความทรงจำจากอดีต ต่อให้มันยาวนานแสนไกลขนาดไหน แต่เมื่อหวนระลึกนึกถึงคราใด ก็ราวกับเสมือนว่าเพิ่งเกิดขึ้นผ่านไปแค่เพียงเมื่อวันวานนี้เท่านั้นเอง
มนุษย์ทุกคนก่อนเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ล้วนต้องเคยผ่านช่วงวัยเด็ก จากไม่เคยรับรู้เข้าใจอะไร ค่อยๆเรียนรู้ปรับตัวเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นตัวตนในปัจจุบัน ซึ่งเราสามารถสืบค้นหาเหตุผลของแนวคิด ทัศนคติ รสนิยม หรือพฤติกรรมชื่นชอบ การแสดงออก ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลที่มาที่ไป เรื่องราว/เหตุการณ์จากอดีตทั้งหมดทั้งสิ้น
ความมหัศจรรย์ของอนิเมะเรื่องนี้ คือการนำเสนอทุกสิ่งอย่างในปัจจุบันของ Taeko ล้วนเกิดขึ้นจากอิทธิพลของอดีตวันวานวัยเด็ก ที่ราวกับกระจกภาพสะท้อนตัวตน เหตุผล ที่มาที่ไป น่าจะครบถ้วนทุกสิ่งอย่าง บางครั้งอาจโดยไม่รู้ตัว เพิ่งเริ่มคิดได้ หรือใครสักคนช่วยไขกระจ่าง ซึ่งเมื่อเกิดความเข้าใจนั้นแล้ว ก็ถึงเวลาตัดสินเลือกอนาคตของตนเอง อยากเป็นในสิ่งที่ใฝ่ฝัน หรือล่องลอยตามน้ำต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะ … เมื่อไหร่กันแน่
ตอนวัยเด็ก Taeko เป็นหญิงสาวที่เต็มไปด้วยความเพ้อฝันมากมาย อยากทำโน่นนี่นั่น แต่กลับไม่ได้รับโอกาส หรือประสบความสำเร็จสมหวังดั่งใจปรารถนา พอโตขึ้นเลยเลือกที่จะหัวขบถก้าวร้าว กระทำสิ่งขัดแย้งแตกต่างจากผู้คน สังคม และครอบครัว กระนั้นหลายๆอย่างในชีวิตที่ถูกครอบงำความคิดไว้ ทำให้ยังไม่สามารถเข้าใจความปรารถนาต้องการของตนเอง กับวันหยุดพักผ่อนที่เดินทางมาเล่น/รับบทบาทเป็นเกษตรกร ก็ไม่เคยครุ่นคิดว่าตัวเองจะสามารถกลายเป็นได้จริงๆ จนกระทั่ง… เมื่อมีใครสักคนสะกิดต่อมความคิด แรกสุดก็เป็นปกติย่อมขัดขืนปฏิเสธไว้ก่อน จนกว่าจะครุ่นคิดจนเกิดความแน่แน่ว ตั้งใจพร้อม การตัดสินใจเลือกอนาคตตามความเพ้อฝันต้องการแท้จริงของตนเอง ถึงเริ่มต้นขึ้น
ผู้กำกับ Isao Takahata ในวัยประมาณ 54-55 ปี แก่พอที่จะเริ่มหวนระลึกนึกย้อนถึงอดีต ซึ่งเมื่อพิจารณาครุ่นคิดกลับไป ก็เริ่มพบเห็นเข้าใจตนเอง ที่กลายมาเป็นคนแบบนี้เพราะอะไร ความทรงจำอะไรที่เป็นอิทธิพลส่งผลมาถึง ซึ่งสิ่งน่าสนใจยิ่งของคนช่วงวัยทองนี้ คือการอยากเห็นหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ อนาคตต่อไปพวกเขาจะเติบโตเปลี่ยนแปลง กลายเป็นเช่นไร แตกต่างจากตัวเองมากน้อยแค่ไหน
แต่เพราะโลกอนาคตในมุมมองของเขาเอง สังคมเมืองมีแต่จะเสื่อมโทรมเลวร้ายลงเรื่อยๆ ชนบทต่างจังหวัด อาชีพเกษตรกรรม กลายเป็นอะไรที่ตัวเขาเกิดความใคร่สนใจ รับรู้ได้ว่าโลกใบนั้นมีความน่าอยู่เสียกระไร น่าเสียดายที่ตัวเองเลือกไปทางนั้นไม่ทันแล้ว (แก่เกินแกง) เลยสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้เพื่อแนะนำเสี้ยมสอน ให้คนรุ่นใหม่มีความกล้าที่จะเลือก ตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง อย่าไปกลัวต่ออคติความเห็นต่าง พ่อแม่ไม่เห็นด้วยแล้วไง โตแล้วเป็นผู้ใหญ่ใครจะบังคับตัดสินใจแทนเราได้
มันอาจต้องคนบ้องๆบ้าๆบอๆสักหน่อย ถึงจะสามารถเดินถอยหลังลงคลอง (แบบทัศนคติของติวเตอร์บางคน) อยู่สังคมเมืองสะดวกสบายแท้ กลับไปทนลำบากอดๆอยากๆในหมู่บ้านชนบทจนๆ แต่สำหรับคนที่มีความเข้าใจว่า สุขทางใจสำคัญกว่าเงินทอง อำนาจ ชื่อเสียง และความสำเร็จ วิถีแห่งความพอเพียงจักบังเกิด ใครมาตำหนิต่อว่าเราเช่นนั้น ก็มิจำเป็นต้องย้อนแย้งตอบโต้เถียงอะไร ให้เขาอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยภาพลวงตาต่อไป สักวันหนึ่งความจริงก็จักปรากฎขึ้นต่อหน้าเขาเอง
ในปีที่ออกฉาย อนิเมะเรื่องนี้ถือว่า Surprise Hit ทำเงินสูงสุดแห่งปีในประเทศญี่ปุ่น ¥1.87 พ้นล้านเยน (=$18.8 ล้านเหรียญ), ในอเมริกา เพิ่งได้โอกาสเข้าฉายจำกัดโรงเมื่อปี 2016 ทำเงินประมาณ $450,000 เหรียญ
ถ้าตัดเรื่องเส้นตรงแก้มออกไป ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบอนิเมะเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง หลงใหลในกลิ่นอายบรรยากาศ และไดเรคชั่นของ Isao Takahata เกิดเป็นความอิ่มเอิบสุขล้น ‘ฟิน’ ว่าไปมากกว่าผลงานของ Hayao Miyazaki เรื่องไหนๆเสียอีกนะ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เหมาะกับวัยรุ่นตอนโตในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จำต้องครุ่นคิดตัดสินใจเลือกอะไรบางอย่าง อนิเมะเรื่องนี้จะทำการเสี้ยมสั่งสอน ชี้ชักนำให้เห็นช่องทาง อิสรภาพในการตัดสินใจ อย่าให้ตนเองถูกกักขังเหนี่ยวนำจากผู้อื่นใด ทั้งจากครอบครัว เพื่อน หรือคนในสังคม
สำหรับผู้ใหญ่ ครอบครัวไหนที่พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ยังคงหัวโบราณเผด็จการ กีดกันปิดกั้น ไม่ฟังคำลูกหลาน ก็อยากให้รับรู้ว่าโลกสมัยนี้ได้หมุนเปลี่ยนเลยผ่านไปแล้วนะ นั่นเป็นแนวคิดที่เฉิ่มเฉยล้าสมัยตกยุค ทั้งยังปลูกฝังแนวคิดบางสิ่งอย่างให้กับลูกๆของพวกเขา, โตขึ้นหญิงสาวกลายเป็นคนแบบนั้น เข้าใจได้ไม่ยาก ก็อิทธิพลจากพ่อ-แม่ ผู้คนรอบตัวของเธอนะแหละ
กับชาว Slow Life ที่ชื่นชอบความพอเพียง หลงใหลในชนบท อาชีพเกษตรกรรมทั้งหลาย, ศิลปิน จิตรกร นักวาดภาพ งานศิลปะทุกแขนง,แฟนๆสตูดิโอ Ghibli และผู้กำกับ Isao Takahata ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
จัดเรต 13+ เหมาะกับเด็กโตขึ้นมาสักนิด เพราะหลายๆประเด็นค่อนข้างตึงเครียด และมีความวัยรุ่นมากทีเดียว
Leave a Reply