Opening Night

Opening Night (1977) hollywood : John Cassavetes ♥♥♥♥

นักแสดงละครเวทีชื่อดัง (รับบทโดย Gena Rowlands) ในค่ำคืน Opening Night พบเห็นแฟนคลับสาวแรกรุ่นถูกรถชนเสียชีวิต หมกมุ่นครุ่นยึดติดกับภาพทรงจำ ห้วงอารมณ์ความรู้สึกนั้น อันส่งผลกระทบต่อการแสดงค่อยๆปรับเปลี่ยนแปลงไป ในทางดีขึ้นหรือแย่ลงกันแน่?

เปรียบเทียบเรื่องราวใกล้เคียงสุดคงคือ All About Eve (1950) และยังสร้างแรงบันดาลใจให้ All About My Mother (1999) เรื่องราวของนักแสดงหญิงที่ตระหนักบางสิ่งอย่างขึ้นได้ อิจฉาริยาความวัยเยาว์ จึงต้องการทำบางสิ่งอย่างให้ตนเองกลายเป็นอมตะเหนือกาลเวลา

Opening Night (1977) อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ต้องใช้ความอดทนระดับ Faces (1968), Husbands (1970) หรือ A Woman Under the Influence (1974) แต่มีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน สอดแทรกแนวคิดหลายระดับชั้นยิ่ง ถ้าคุณเคยรับชมหลายๆผลงานก่อนหน้าของ John Cassavetes จะพบเห็นความต่อเนื่อง คล้ายคลึง สามารถเรียกว่าประมวลผลสรุปทุกสิ่งอย่างในชีวิตของผู้กำกับ (และศรีภรรยา Gena Rowlands)

ผู้ชมในสหรัฐอเมริกายุคสมัยนั้นคงคิดแบบเดียวกับที่ผมเกริ่นไป เพราะเริ่มรับรู้จักเข้าใจตัวตนของ John Cassavetes กี่ผลงานออกมาก็คล้ายคลึงกัน ด้วยเหตุนั้นเมื่อตอนหนังเสร็จพร้อมออกฉาย จึงไม่สามารถสรรหาผู้จัดจำหน่ายได้ แถมแทบทุกรอบทุกโรงล้วนว่างเปล่าไร้คนชม … ก็ช่างแม้ง คนอย่าง Cassavetes ไม่ใคร่สนอะไรอยู่แล้ว!


John Nicholas Cassavetes (1929 – 1989) ผู้กำกับ/นักแสดงสัญชาติ Greek-American เกิดที่ New York City พ่อเป็นชาวกรีก จนถึงอายุ 7 ขวบพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักประโยค, เนื่องจากเรียนไม่เก่งเลยตัดสินใจเป็นนักแสดง เข้าศึกษายัง American Academy of Dramatic Arts จากอาจารย์ Don Richardson จบออกมากำกับ เขียนบทละครเวที ทั้งยังสอนการแสดง Method Acting พัฒนาบทภาพยนตร์/กำกับเรื่องแรก Shadows (1959) จากทุนสร้างส่วนตัว $40,000 เหรียญ แม้ไม่ทำเงินแต่คว้ารางวัล Critics Award จากเทศกาลหนังเมือง Venice, สำหรับการแสดงเริ่มต้นจากซีรีย์โทรทัศน์เกรด B ผลงานสร้างชื่อคือ Rosemary’s Baby (1968), The Dirty Dozen (1967), The Fury (1978)  ฯ

Cassavetes ถือเป็นผู้กำกับรุ่นบุกเบิกหนังอินดี้ Art-House น่าจะเพราะความหงุดหงิดขุ่นเคืองคับข้องกับ Hollywood ที่จู้จี้จุกจิกจากผลงานเคยสร้าง Too Late Blues (1961) และ A Child Is Waiting (1963) หลังจากนั้นเลยเลิก! ตัดขาดสตูดิโอ สรรหาทุนสร้างด้วยตนเองตามมีตามเกิด นักแสดงก็วงในใบหน้าคุ้นเคย และด้วยปรัชญาการทำงาน ‘ทำหนังที่ตนต้องการ’

“I don’t give a fuck what anybody says. If you don’t have time to see it, don’t. If you don’t like it, don’t. If it doesn’t give you an answer, fuck you. I didn’t make it for you anyway”.

– John Cassavetes

ด้วยเหตุนี้ Cassavetes จึงได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในผู้กำกับทรงอิทธิพลที่สุดแห่งครึ่งหลังศตวรรษ 20 ผลงานโดดเด่น อาทิ Faces (1968), Husbands (1970), A Woman Under the Influence (1974), The Killing of a Chinese Bookie (1976), Opening Night (1977), Love Streams (1984) ฯ

ศรีภรรยา Gena Rowlands โน้มน้าวสามี Cassavetes ให้พัฒนาบทละครเวทีสำหรับตนเอง กลายมาเป็น A Woman Under the Influence แต่ถูกบ่นอุบว่า ‘ฉันจะแสดงตัวละครที่มีความเข้มข้นทางอารมณ์ขนาดนี้ซ้ำๆ 7 วันได้อย่างไร!’ หลังเสร็จจากภาพยนตร์เรื่องนั้นเลยจำต้องครุ่นคิดหาเรื่องราวอื่นให้ พักชั่วคราวด้วยการสร้าง The Killing of a Chinese Bookie และติดตามต่อด้วย Opening Night ที่เธอจะได้ทั้งแสดงภาพยนตร์และละครเวที พร้อมกันไปด้วยเลย!

เรื่องราวของ Myrtle Gordon (รับบทโดย Gena Rowlands) นักแสดงหญิงวัยกลางคนชื่อดัง ขณะนั้นกำลังซักซ้อมตระเตรียมการแสดงละครเวทีเรื่องใหม่ Second Woman ระหว่างเดินทางกลับพานพบเห็นแฟนคลับสาวแรกรุ่น ถูกรถชนเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา เก็บนำมาหมกมุ่นครุ่นยึดติด ต้องการปรับเปลี่ยนแปลงบทบาทการแสดงของตนเอง สร้างความไม่พึงพอใจต่อผู้กำกับ Manny Victor (รับบทโดย Ben Gazzara) นักเขียน Sarah Goode (รับบทโดย Joan Blondell) และนักแสดงนำ Maurice Aarons (รับบทโดย John Cassavetes) แต่จะทำอย่างไรได้เพราะใกล้ถึงค่ำคืน Opening Night รอบปฐมทัศน์ยัง Broadway, New York City


Virginia Cathryn ‘Gena’ Rowlands (เกิดปี 1930) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Madison, Wisconsin แม่เคยเป็นนักแสดงละครเวทีในชื่อ Lady Rowlands, โตขึ้นเข้าเรียน Unniversity of Wisconsin ได้เป็นสมาชิกชมรม Kappa Kappa Gamma จบออกมามุ่งสู่ New York City ศึกษาต่อ American Academy of Dramatic Arts พบเจอแต่งงานกับ Cassavetes ตั้งแต่ปี 1954 (จนเขาเสียชีวิต) เข้าสู่วงการจากละครเวที ตามด้วย Broadway ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The High Cost of Loving (1958), ขาประจำร่วมงานกับสามีทั้งหมด 10 ครั้ง ได้รับการจดจำสูงสุดคือ A Woman Under the Influence (1974), Opening Night (1977) และ Gloria (1980)

รับบท Myrtle Gordon หลังจากพานพบเห็นการเสียชีวิตของแฟนคลับสาว ทำให้เธอครุ่นคิดตระหนักถึงตนเองที่เริ่มมีวัยวุฒิ ผิวพรรณปรากฎริ้วร่องรอยเหี่ยวย่น เกิดความอิจฉาริษยาวัยเยาว์ จินตนาการเพ้อฝันถึงเธอเพราะต้องการหวนย้อนเวลากลับไป, ขณะเดียวกันบทบาทการแสดงเรื่อง Second Woman สามารถเข้าถึงจุดประสงค์ตั้งใจของผู้เขียนหญิงสูงวัย Sarah Goode ประกาศกร้าวไม่ยินยอมเล่นเป็นคนแก่ สรรหาวิธีการแสดงจักทำให้ตัวละครคงอยู่อยู่เหนือกาลเวลา

ผมมองพฤติกรรมตัวละครนี้ว่ามีลักษณะของ ‘Midlife Crisis’ เพราะวันก่อนเพิ่งรับชม Husbands (1970) ของผู้กำกับ Cassavetes เลยรู้สึกว่ามีความคล้ายคลึงอย่างมาก, วิกฤตดังกล่าวสะท้อนถึงความไม่พึงพอใจในตนเองของคนวัยกลางคน เพิ่งเริ่มครุ่นคิดตระหนักถึงตัวเลขอายุเพิ่มมากขึ้น อิจฉาริษยาวัยเยาว์ ต้องการหวนกลับไปเป็นคนหนุ่มสาวอีกครั้งหนึ่ง

การผสมผสานระหว่างชีวิตจริงและการแสดง ทำให้ผู้ชมไม่สามารถแยกแยะ เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก/สิ่งที่ตัวละครครุ่นคิดแท้จริงนอกเหนือจากการกระทำ ซึ่งต้องชมความกวัดแกว่งสุดโต่งทางอารมณ์ของ Rowlands ไม่ต่างจากพายุเฮอร์ริเคนถาโถมเข้าใส่ ยิ่งตอนท้ายเดินตุปัดตุเป๋ ท่วงท่ามึนเมามา ช่างดูน่าเชื่อถืออย่างสนิทใจ อกสั่นขวัญหาย ลุ้นระทึกจะสามารถเอาตัวรอดจากความอับอายจนเสร็จสิ้นการแสดงได้หรือเปล่า!

ในบรรดาการแสดงของ Gena Rowlands ส่วนตัวยังคงชื่นชอบอันดับหนึ่ง A Woman Under the Influence (1974)

เกร็ด: นักแสดงรับเชิญของหนังที่คุ้นๆหน้า ประกอบด้วย Peter Falk, Seymour Cassel, Peter Bogdanovich

ถ่ายภาพโดย Alan Ruban ขาประจำของผู้กำกับ Cassavetes ตั้งแต่ Faces (1968)

แม้งานภาพจะไม่สั่นไหวดูยากมากเหมือนผลงานก่อนๆหน้า แต่คงลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Cassavetes’ ถ่ายระยะ Close-Up จับจ้องใบหน้าตัวละคร เพื่อให้ผู้ชมพบเห็นอารมณ์ความรู้สึก (และริ้วรอยเหี่ยวย่น) ได้อย่างเด่นชัดเจน

เพราะหนังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการแสดงละครเวที ทำให้พบเห็นมุมกล้องถ่ายจากท่ามกลางฝูงชนบ่อยครั้ง ซึ่งบางทีก็มีติดศีรษะคนข้างหน้าบดบังจังหวะสำคัญๆ เป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้ชมภาพยนตร์ ราวกับได้นั่งอยู่ในโรงละครเวที รับชมการแสดงไปพร้อมๆกัน

รับชมผลงานของ Cassavetes มาหลายเรื่อง ก็เพิ่งเคยพบเห็นเล่นเทคนิคการซ้อนภาพครั้งแรก! หญิงสาวในท่วงท่าการแสดงค่อยๆเคลื่อนเลื่อนปรากฎขึ้นท่ามกลางผู้ชม พร้อมเสียงบรรยายประกอบจินตนาการ/ความเพ้อใฝ่ฝัน โหยหาต้องการเป็นที่รักของทุกๆคน

Nancy Stein (รับบทโดย Laura Johnson) อายุ 16 ปี เชื้อสาย Jews ตกหลุมรัก มีความต้องการเพ้อใฝ่ฝันที่จะเป็นแบบ Myrtle Gordon ครุ่นคิดว่าตนเองสามารถกระทำอะไรได้ทุกสิ่งอย่าง … แต่นั่นก็เพียงภาพจินตนาการเท่านั้นเอง

การเสียชีวิตของตัวละคร สะท้อนถึงจุดสิ้นสุดความสาวของ Myrtle Gordon ทำให้ตระหนักถึงตนเองว่าพานผ่านวัยแรกรุ่นนั้นมาแล้ว อีกไม่นานก็ใกล้แก่ชรา นั่นกลายเป็นเหมือนฉมวกปักลงกลางใจ มิอาจปลดปล่อยวางความหมกหมุ่นครุ่นยึดติดนี้ได้โดยทันที

ห้องของ Myrtle Gordon มีความโอ่งอ่าง รโหฐาน ขณะเดียวกันคือว่างเปล่า เฟอร์นิเจอร์วางกระจัดกระจาย นี่คล้ายคลึงกับ Xanadu ของ Citizen Kane (1942) สะท้อนถึงชีวิตที่แม้ประสบความสำเร็จ อยู่ตำแหน่งสูงสุดของชีวิตการงาน แต่รอบข้างกายกลับเต็มไปด้วยความเวิ้งว้างว่างเปล่า ต้องการให้ทุกคนตกหลุมรัก แต่กลับเป็นเพียงภาพมายาเพ้อฝัน

โลกความจริง-การแสดง ในภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าผสมผสานคลุกเคล้ากันอย่างลงตัว ยกตัวอย่างฉากนี้
– Manny Victor (รับบทโดย Ben Gazzara) กำลังคุยโทรศัพท์กับ Myrtle Gordon สนทนาโน่นนี่นั่น ปากบอกว่ารัก แต่สนเพียงการแสดงของเธอเท่านั้น
– ขณะที่ภรรยา Dorothy Victor (รับบทโดย Zohra Lampert) กำลังเต้นยั่วออกลีลา ทำท่าเรียกร้องความสนใจ แต่เขากลับเพิกเฉยสิ่งจับต้องได้ตรงหน้า โหยหาความสำเร็จจากบุคคลกำลังคุยโทรศัพท์อยู่

กล่าวคือ ช็อตนี้นำเสนอสิ่งคู่ขนานระหว่าง ความจริง-เพ้อฝัน จับต้องได้-ไม่ได้ สองตัวละครโหยหาในสิ่งตรงกันข้าม แสดงออกในสิ่งที่ไม่ใช่ตนเอง

ฉากการตบนี่ก็เช่นกัน ทั้งๆที่มันควรเป็นแค่การเล่นละคร แต่ Myrtle Gordon กลับหมกมุ่นครุ่นคิดว่าคือความจริง นั่นเพราะตัวละคร Maurice Aarons (รับบทโดย John Cassavetes) คือสามีในบทบาท และสามีในชีวิตจริง … นี่มันชวนให้สับสนว้าวุ่นวายความคิดยิ่ง!

เมื่อ Myrtle Gordon เริ่มครุ่นคิดถึง Nancy เธอจึงปรากฎตัวขึ้นมาในจินตนาการพร้อมเสียงเปียโนบรรเลง (หนังให้อิสระผู้ชมครุ่นคิดว่า นั่นคือสิ่งที่อยู่ในความเพ้อฝันหรือวิญญาณหญิงสาวปรากฎตัวขึ้น)

ช็อตนี้พยายามอย่างยิ่งจะถ่ายให้บดบังใบหน้า ฟุ้งๆเบลอๆชวนเพ้อฝัน ราวกับสองนักแสดงนั้นคือตัวละครเดียวกัน

Two Woman คือเรื่องราวของหญิงสาวที่พานผ่านสองสามี ชีวิตแตกต่างสุดขั้ว (มุมกล้องก็เช่นกัน)
– สามีคนแรก เป็นชายร่างสูงใหญ่แต่ทำตัวเหมือนเด็กน้อยเอาแต่ใจ นิสัยครอบงำชอบใช้ความรุนแรงไม่สนใคร อาศัยอยู่ในบ้านที่ดูอุดมคติอเมริกัน การถ่ายภาพมักไม่พบเห็นผู้ชม (ถ่ายจากบนเวทีเข้าหาฉาก)
– สามีคนสอง Maurice Aarons เป็นคนรักอิสระ เปิดกว้างไม่ปิดกั้นภรรยา ทำงานถ่ายภาพ หลงใหลในริ้วรอยเหี่ยวย่นความชราภาพ

การแสดงช่วงแรกๆ เรื่องราวของหญิงสาวจะเต็มไปด้วยความหมดสิ้นหวัง หวนกลับไปเยี่ยมเยียนสามีเก่าพบเจอหายนะ ขณะที่ผัวใหม่ก็ไม่สนอะไร ใกล้ถึงจุดแตกหักเลิกรา

ผมมีความคุ้นๆกับช็อตนี้มาก นักแสดงนั่งล้อมวงเพื่อเตรียมประกอบพิธีกรรมไล่ผี ไม่แน่ใจว่าจาก The Exorcist (1973) หรือเปล่านะ!

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในของ Myrtle Gordon ทำให้เธอและ Nancy เกิดการต่อสู้ตบตี แก่งแย่งชิงดี และจักมีเพียงผู้ชนะหนึ่งเดียวเท่านั้นจะได้ครอบครองเรือนร่างกายนี้

ช็อตนี้สังเกตว่าถ่ายจากตู้เสื้อผ้า (สัญลักษณ์ของความต้องการแท้จริงที่หลบซ่อนเร้นในจิตใจ) ปรากฎขึ้นหลังจากการต่อสู้รอบแรกในห้อง Myrtle เธอจึงหอบเสื้อผ้าผ่อน หนีไปหลบภัยยังห้องนอนของ Dorothy Victor … ประมาณว่ารับรู้ตนเองว่าไม่สามารถหวนกลับไปเป็นสาวแรกรุ่น เลยต้องขอพึ่งพาสาวแก่เพื่อให้ตระเตรียมตัวกายใจให้พร้อมเสียก่อน

การตายครั้งแรกของ Nancy คือรูปธรรมสะท้อนถึงวัยวุฒิ รูปร่างหน้าตา ไม่สามารถหวนกลับสู่ความนงเยาว์ได้อีก, ขณะที่ความตายครั้งที่สองนั้นเป็นนามธรรม อารมณ์ความรู้สึก เรียนรู้เข้าใจชีวิต ยินยอมรับว่าต้องแก่ตัวไปข้างหน้า ไม่ใช่ย้อนเวลาหวนกลับสู่อดีต

ความตายครั้งที่สองของ Nancy ทำให้ Myrtle ตกอยู่ในสภาวะมึนเมาไปกับความเวิ้งว้างว่างเปล่า ต้องคืบคลานไปข้างหน้าด้วยตนเองโดยไม่มีใครให้ความช่วยเหลือได้ จริงอยู่บางครั้งอาจมีคนพยุง แต่ท้ายสุดเธอต้องออกไปแสดง/เผชิญหน้าความจริง เพื่อให้โลกประจักษ์ถึงชัยชนะ ก้าวข้ามผ่านขอบเขตจำกัดของตนเอง

ชีวิตไม่บทหนังที่มีใครเขียนนำทางเรื่องราวไว้ ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดจากการด้นสด แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อเอาตัวรอด ก็เหมือนการแสดงครั้งสุดท้ายนี้ที่ไม่มีใครเล่นตามบท ปรับเปลี่ยนแปลง ‘Improvised’ ไปตามสถานการณ์เท่าที่ประสบการณ์สามารถไปถึง

ถ้าเป็นการแสดงครั้งก่อนๆหน้านี้ ฉากจบจะคือจุดสิ้นสุดแตกหักระหว่างสองตัวละคร แต่พอมันเปลี่ยนแปลงสู่ Improvised ผู้ชมหรือแม้แต่นักแสดงก็มิสามารถคาดเดาได้ว่าจะลงเอยเช่นไร ซึ่งการเดินสวนแตะเท้าก่อนผ้าม่านไหลปิดลง ผมว่ามันคือ Happy Ending สไตล์ Cassavetes เลยนะ!

ตัดต่อโดย Tom Cornwell, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง สายตา และจินตนาการของ Myrtle Gordon พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆทั้งเบื้องหน้า-หลัง การแสดง และชีวิตตัวละคร

ผมมีความใคร่พิศวงการลำดับเรื่องราวช่วงฉากสุดท้าย การแสดงรอบ Opening Night ซึ่งจะมีสองครั้งที่แทรกเรื่องราวของ
– ผู้กำกับ Manny Victor ออกไปหาเหล้าดื่ม เพราะไม่อยากทนเห็นความอับอายขายขี้หน้า
– โปรดิวเซอร์และนักเขียน เดินออกไปสูบบุหรี่และหาเหล้าดื่ม (Déjà Vu นะเนี่ย) อดรนทนต่อความตึงเครียดไม่ไหว

มองมุมหนึ่งเพื่อลดทอนเรื่องราวส่วนการแสดงบนเวทีลง ขณะเดียวกันสะท้อนถึงความกดดัน หวาดสะพรึงกลัวของทีมงานผู้สร้าง (ถึงผู้กำกับ Cassavetes ต่อภาพยนตร์ทุกเรื่องที่สร้างขึ้นเองด้วย) จนไม่กล้าเผชิญหน้าต่อปฏิกิริยาผู้ชมแบบเต็มๆ และช่วยลดอาการปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง (ของผู้ชมภาพยนตร์) จากความรู้สึกอับอายขายขี้หน้าแทนตัวละครอีกด้วย

เพลงประกอบโดย Bo Harwood ขาประจำของ Cassavetes ที่เริ่มต้นจากตัดต่อนิดหน่อยเรื่อง Husbands (1970), ตัดต่อเสียงอีกนิดหน่อยกับ Minnie and Moskowitz (1971), กลายมาเป็น Sound Engineer เรื่อง A Woman Under the Influence (1974), พอถึง The Killing of a Chinese Bookie (1976) ขึ้นเครดิตแต่งเพลงประกอบ

ลักษณะงานเพลง Harwood ให้คำเรียกว่า ‘Scratch Track’ คือส่วนผสมคละเคล้าของเปียโน กีตาร์ ไม่ได้เน้นแนวทางไหนเด่นพิเศษ ซึ่งก่อนหน้านี้พี่แกไม่เคยแต่งเพลง/เล่นดนตรีมากก่อน แต่ถูก Cassavetes บอกให้ไปศึกษาร่ำเรียนมาเสีย ทดลองผิดลองถูกไม่ได้ดีเด่นอะไร มีความเป็นมือสมัครเล่นแต่ถือว่าเหมาสมใช่เลยกับหนังลักษณะนี้

เสียงเปียโน สะท้อนถึงความเพ้อใฝ่ฝันของตัวละคร มักได้ยินล่องลอยมา(จากไหนก็ไม่รู้) และดังขึ้นขณะกำลังจินตนาการถึงหญิงสาววัยเยาว์ของตนเอง (โหยหาต้องการหวนกลับไป)

Opening Night ค่ำคืนการแสดงปฐมทัศน์ นำเสนอช่วงเวลาการปรับเปลี่ยนแปลงจากวัยรุ่นสู่กลางคน ซักซ้อม-เล่นจริง อ้างอิงบทละคร-ดั้นสดตามอารมณ์ หรือคือพัฒนาการเติบโตของมนุษย์

แรกสุดที่ต้องเริ่มทำความเข้าใจ ‘ชีวิตจริงและการแสดง’ สำหรับศิลปินถือว่าซ้อนทับ คือสิ่งๆเดียวกัน ซึ่งหนังไม่ได้จบแค่เบื้องหน้า-หลังละครเวที แต่ยังชีวิตจริงของ John Cassavetes และศรีภรรยา Gena Rowlands คาดว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นน่าจะสะท้อนความสัมพันธ์ชั่วขณะนั้นของทั้งคู่ด้วยละ!

ถัดมาคือ Myrtle Gordon หลังพานพบเห็นการเสียชีวิตสาววัยแรกรุ่น ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านก่อให้เกิด ‘Midlife Crisis’ วิกฤตวัยกลางคน ไม่ยินยอมรับริ้วรอยเหี่ยวย่น ตัวเลขอายุเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องการแสดงบทบาทที่มีความเฉพาะตนเอง ไม่ต้องการทำอะไรเหมือนใคร และสามารถยืนคงกระพันเหนือกาลเวลา

ซึ่งเธอก็ได้ค้นพบวิธีการดั้นสด ‘Improvised’ ปรับเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างที่เคยต้องเป็นไปตามบทแบบแผน ทำไมฉันต้องคอยแสดงอยู่อย่างนั้นซ้ำซากไปมา ถึงเมาปลิ้นไร้สติสตางค์ก็ยังสามารถดิ้นดั้นด้น ‘เป็นตัวของตนเอง’

สิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกๆการแสดงไม่ว่ายุคสมัยไหนรูปแบบใด ล้วนชอบครึ่ง-ไม่ชอบครึ่ง แล้วแต่รสนิยมความพึงพอใจของผู้ชม ผู้สร้าง/นักแสดงมีหน้าที่เพียงนำเสนอถ่ายทอด ‘ความเชื่อ’ ด้วยแนวคิด วิถีทาง ปรัชญา ผลลัพท์ออกมาเฉกเช่นไรมิได้สลักสำคัญเท่าตนเองเกิดความพึงพอใจ

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่สมัยนั้น มองปัญหาของ Myrtle Gordon เกิดจากการติดเหล้า มึนเมาไปกับ Trauma แฟนคลับสาวถูกรถชนเสียชีวิต แต่ข้อสรุปของผมคือ ‘Midlife Crisis’ วิกฤตวัยกลางคนของตัวละคร นักแสดง ผู้กำกับ Cassavetes และสะท้อนถึงวงการภาพยนตร์ Hollywood ที่ได้ก้าวผ่านยุคสมัย Classical เติบโตเป็นผู้ใหญ่สักทีหลังสิ้นสุด Hays Code (มีคำเรียกยุคสมัยดังกล่าวว่า New Hollywood)

แต่ทุกสิ่งอย่างที่ว่ามานี้นั้น แค่เพียง Opening Night ค่ำคืนแรกของการแสดงเท่านั้นนะครับ แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นผลงานท้ายๆแล้วของผู้กำกับ Cassavetes แถมถูกทอดทิ้งหลงลืมเลือน แต่กาลเวลาคือข้อพิสูจน์สัจธรรมความจริง ชีวิตคือการดั้นสด ‘Life is improvised’ ไม่มีแผนการอันใดวางไว้แล้วจะเป็นเฉกเช่นนั้น


หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Fox Wilshire Theater, Los Angeles แบบไม่มีคนชมสักเท่าไหร่ นักวิจารณ์ก็ส่ายหน้าไม่ใคร่สนใจเขียนบทความกล่าวถึง ต่อมาเข้าฉายเทศกาลหนัง Berlin คว้ามาสองรางวัล
– Interfilm Award – Otto Dibelius Film Award
– Silver Bear: Best Actress (Gena Rowlands)

ต่อจากนั้นได้เข้าชิง Golden Globes สองสาขา
– Best Actress – Drama (Gena Rowlands)
– Best Supporting Actress (Joan Blondell)

ในบรรดาผลงานของ John Cassavetes ส่วนตัวมีความชื่นชอบประทับใจ Opening Night (1977) ที่สุดแล้ว หลงใหลการผสมผสานหลากหลายแนวคิดแล้วคลุกเคล้าเข้ากันได้อย่างกลมกล่อมลงตัว จนแทบไม่สามารถคาดเดาอะไรได้สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะ Gena Rowlands สร้างความน่าอับอายขายขี้หน้าได้อย่างเสียดแทงขั้วหัวใจ

แต่ถ้าพิจารณาในแง่คุณภาพ ความสร้างสรรค์ และอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ ผลงานยอดเยี่ยมสุดของ Cassavetes ขอยกให้ A Woman Under the Influence (1974) ตามด้วย Opening Night (1977) และ Faces (1968)

เกร็ด: ผู้กำกับ Cassavetes เคยให้สัมภาษณ์บอกถึงผลงานเรื่องยอดเยี่ยมที่สุด ‘Best Film’ ก็คือ Opening Night (1977)

แนะนำคอหนัง Art House ชื่นชอบการแสดง ละครเวที ทำงานเบื้องหน้า-เบื้องหลัง, เรื่องราวสะท้อนปัญหาวิกฤตวัยกลางคน, แฟนๆผู้กำกับ John Cassavetes และนักแสดงนำ Gena Rowlands, Ben Gazzara ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความรู้สึกอับอายขายขี้หน้า มึนเมาสุรา และพฤติกรรมขาดความรับผิดชอบ

คำโปรย | Opening Night แม้เป็นค่ำคืนที่ถูกหลงลืมเลือน แต่กาลเวลาทำให้ผู้กำกับ John Cassavetes และ Gena Rowlands ค่อยๆเจิดจรัสท่ามกลางฟากฟ้านภา
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: