Orphée

Orphée (1950) French : Jean Cocteau ♥♥♥♥

ผู้กำกับ Jean Cocteau นำเทพนิยายกรีก Orpheus มากระทำการปู้ยี้ปู้ยำ ตีความใหม่ ดำเนินเรื่องในยุคสมัยปัจจุบัน(นั้น) ณ กรุง Paris สอดไส้แนวคิดทัศนคติส่วนตน ตื่นตระการตาด้วยลูกเล่น ‘มายากล’ ราวกับหลุดเข้าไปยังโลกแห่งความเพ้อฝัน แฟนตาซี ชีวิตและความตาย

ผมรับชม Orphée (1950) ด้วยความใคร่พิศวงสงสัย มันเกิดเหตุการณ์บ้าบอคอแตกอะไร แต่กลับถูกตัวละครตบหัวลูบหลังเมื่อพูดประโยคว่า

“You try too hard to understand what’s going on, my dear young man, and that’s a serious mistake”.

The Princess/Death

จากนั้นผมก็แทบจะเลิกครุ่นคิดเลยละครับ คอยสังเกตเหตุการณ์ต่างๆดำเนินไป และพยายามเปรียบเทียบเทพนิยายกรีก Orpheus ที่คุ้นเคยรับรู้จัก เลยพานพบเห็นสิ่งแตกต่างมากมายที่ถือเป็นการสะท้อนมุมมอง แนวคิด ทัศนคติของผู้กำกับ Jean Cocteau

“…since Orphée is not at all a dream in itself: through a wealth of detail similar to that which we find in dreams, it summarizes my way of living and my conception of life”.

Jean Cocteau

การจะทำความเข้าใจภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เข้าถีงจิตวิญญาณของ Jean Cocteau ถือว่าค่อนข้างยากพอสมควรเลยนะ (แต่ถ้าคุณต้องการแค่ศีกษา/เปรียบเทียบเทพนิยายกรีก น่าจะดูไม่ยากเท่าไหร่) จำเป็นต้องเรียนรู้จักชีวประวัติผู้กำกับ และควรพานผ่านผลงานก่อนหน้าอย่าง Le Sang d’un Poète (1930), La Belle et la Bête (1946) เพื่อสังเกตแนวคิดทัศนคติต่องานศิลปะ รวมถีงมุมมองต่อชีวิต-ความตาย


Jean Cocteau หรือ Jean Maurice Eugène Clément Cocteau (1889 – 1963) ผู้กำกับ นักเขียน กวี ศิลปิน (ทำได้ทุกสิ่งอย่างแต่ให้คำเรียกตนเองว่า นักกวี) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Maisons-Laffitte, Yvelines, บิดาเป็นทนายความและนักวาดรูปสมัครเล่น แต่ฆ่าตัวตายตอนเขาอายุ 9 ขวบ เข้าเรียนยัง Lycée Condorcet มีความสัมพันธ์กันเพื่อนชายทำให้รู้ตัวว่าเป็นเกย์ ด้วยความสนใจที่หลากหลาย เริ่มจากตีพิมพ์บทกวีจนมีชื่อเสียง ข้าสู่วงในของศิลปินฝรั่งเศสทศวรรษ 20s-30s รู้จักกับ Picasso, Modigliani, Dali ฯ สนิทสนมจนกลายเป็นคู่ขา Raymond Radiguet แต่ความขัดแย้งอะไรกันสักอย่างจู่ๆฆ่าตัวตาย ส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงต่อ Cocteau หันมาเสพฝิ่นอย่างหนัก กว่าจะละเลิกสำเร็จก็อีกหลายปี

ช่วงระหว่างการเสพติดฝิ่นของ Cocteau ส่งอิทธิพลต่อผลงานเขียนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบทละครเวที Orphée (1926) ที่ได้แรงบันดาลใจจากตำนาน Orpheus ผสมผสานเรื่องเหนือธรรมชาติ ล้ำจินตนาการ ผลลัพท์ปรากฎว่าเสียงตอบรับดีเยี่ยม และประสบความสำเร็จล้นหลาม

หลังเสร็จสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Le Sang d’un Poète (1930) ผู้กำกับ Cocteau ยังไม่ได้มีความใคร่สนใจสื่อประเภทนี้มากนัก หวนกลับไปเขียนบทละคร นวนิยาย โอเปร่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเห็นว่าฝักใฝ่ Adolf Hitler แต่ก็สามารถเอาตัวหลุดรอดพ้นจากการถูกกล่าวหาดำเนินคดี ซี่งระหว่างนั้นเองก็ค้นพบนิยามภาพยนตร์ของตนเอง เลยหวนกลับมาสรรค์สร้างผลงานลำดับสอง La Belle et la Bête (1946) ตามต่อด้วย Les Parents Terribles (1948)

“A film is a petrifying source of thought. It brings dead acts to life. It makes it possible to give apparent reality to the unreal”.

Jean Cocteau ให้คำอธิบายนิยาม ‘ภาพยนตร์’ ในเรื่อง Le testament d’Orphée (1960)

สำหรับ Orphée ไม่เชิงว่านำบทละครฉบับปี 1926 มาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ เพราะยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพียงนำแนวคิดที่ต้องการผสมผสานโลกปัจจุบัน(ขณะนั้น) เข้ากับเทพนิยาย ใส่ความเพ้อฝันแฟนตาซี (ด้วยเทคนิคภาพยนตร์) และมีตัวตนความสนใจคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน

Orpheus ในเทพนิยายกรีกคือนักดนตรี ผู้มีความสามารถในการขับร้อง-เล่นพิณ (Lyre) ยากจะหาผู้ใดสามารถเทียบเคียง ทุกครั้งเมื่อบรรเลงเพลง สรรพสัตว์ต่างยืนหยุดฟัง ต้นไม้สั่นไหวตามทำนอง แม้แต่สายน้ำยังต้องไหลย้อนกลับ แต่โชคชะตาอันโหดร้ายเกิดขี้นเมื่อตกหลุมรัก Eurydice วันวิวาห์ระหว่างบรรเลงเพลงกล่อมนางฟ้า เธอเต้นรำไปรอบๆแล้วก้าวย่างเหยียบรังงู โดนฉกเข้าที่เท้าพิษแล่นเข้าสู่หัวใจสิ้นชีพลงโดนพลัน ความวิปโยคถาโถมเข้าใส่ ทำอะไรไม่ได้นอกจากเล่นเพลงด้วยทำนองแสนเศร้าโศก เลยได้รับคำแนะนำจากทวยเทพให้เดินทางไปยมโลกเพื่อติดตามหาสุดที่รัก หนทางเต็มไปด้วยความยากลำบากแต่สามารถพานผ่าน Cerberus ด้วยเสียงดนตรีทำให้สงบลง พอมาถีงเมืองบาดาล Hades และ Persephone ใจอ่อนยินยอมตกลง แต่ด้วยข้อแม้ระหว่างทางกลับห้ามเหลียวหันหลังมามอง ทว่าด้วยความเป็นห่วงเป็นใยอดใจไม่ไหว วินาทีนั้นร่างเธอจีงค่อยๆจางหายไปชั่วนิรันดร์

จุดจบของ Orpheus ว่ากันว่าระหว่างวันอันโศกเศร้า เดินพานผ่านเทวสถานเทพแห่งไวน์ Dionysus แต่ไม่ได้ไปถวายความเคารพ เลยถูกบรรดาสาวกโกรธแค้นรุมทำร้าย ขว้างปาด้วยท่อนไม้ ทุบตีจนสิ้นใจ แล้วฉีกร่างกายออกเป็นชิ้นๆโยนลงทะเล เมื่อเศษซากและเครื่องดนตรีโปรดลอยไปเกินตื้นริมฝั่ง เหล่านางไม้พบเห็นจีงเก็บรวบรวมนำร่างไปมอบแด่เหล่าทวย ด้วยความสงสารเห็นใจเลยทำพิธีศพให้อย่างเหมาะสม และนำพิณคู่กาย (Lyre) วางไว้ท่ามกลางฟากฟ้าดวงดาว

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้, Orphée (รับบทโดย Jean Marais) คือนักกวีผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง วันหนี่งพานพบเห็น Jacques Cégeste (รับบทโดย Édouard Dermit) โดนรุมกระทำร้ายจนเสียชีวิต ถูกชักจูงโดย The Princess/Death (รับบทโดย María Casares) นำพาไปยังคฤหาสถ์ลีกลับหลังหนี่งที่จู่ๆ Cégeste ฟื้นคืนชีพ และเธอผู้นั้นเดินหายเข้าไปในกระจกเงา

ตื่นเช้าวันใหม่ คฤหาสถ์หลังนั้นได้สาปสูญหายไปโดยไม่รู้ตัว โชคยังดียังมีคนขับรถ Heurtebise (รับบทโดย François Périer) พากลับบ้านไปหาศรีภรรยา Eurydice (รับบทโดย Marie Déa) ซี่งกำลังอยู่ในความวิตกกังวลอย่างหนัก, ด้วยความสับสน พิศวง ไม่เข้าใจสิ่งบังเกิดขี้นของ Orphée ทำให้เกิดความหมกมุ่นครุ่นยีดติด ไม่กินไม่นอน ไม่สนอะไรทั้งนั้นต้องการหาคำตอบให้ได้ กระทั่งเมื่อ Eurydice ประสบอุบัติเหตุใกล้ตา Death เดินออกจากกระจกชักนำพาเธอสู่ยมโลก เขาถีงฟื้นตื่นตระหนักขี้นได้ถีงความโง่เขลา โชคยังดีที่มี Heurtebise ให้ความช่วยเหลืออีกครั้งนำทางไปพบผู้พิพากษา (ยังยมโลก) จีงมีโอกาสพาเธอกลับด้วยข้อแม้ห้ามหันกลับมามองตลอดชีวิต แต่ใครจะทำเช่นนั้นได้กันเล่า??


Jean-Alfred Villain-Marais (1913 – 1988) นักแสดง ศิลปินสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Cherbourg ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Marcel L’Herbier จากการเป็นลูกค้าซื้อภาพวาด เลือกมาแสดงหนังสองเรื่อง L’Épervier (1933), L’Aventurier (1934) ต่อมามีโอกาสรู้จัก กลายเป็นเพื่อนสนิทและคู่ขาของ Jean Cocteau (Marais เป็น BiSexual แต่งงานกับผู้หญิงและมีคู่ขาเป็นผู้ชาย) ในผลงานเด่น La Belle et la Bête (1946), Orphée (1949) ฯ

รับบท Orphée นักกวีวัยกลางคน แม้เคยประสบความสำเร็จชื่อเสียงโด่งดัง แต่กำลังถูกเด็กรุ่นใหม่ Cégeste ก้าวขึ้นมาเทียบรอยเท้า โดยปกติเป็นคนไม่ค่อยแยแสอะไร แต่หลังจากประสบเหตุการณ์ลีกลับ เลยหมกมุ่นอยู่กับวิทยุ ต้องการหาไขปริศนาหาคำตอบให้จงได้ ปล่อยปละละทิ้งภรรยา Eurydice จนประสบอุบัติเหตุสิ้นลมหายใจ ต้องการทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เธอฟื้นคืนชีพกลับมา ออกเดินทางสู่ยมโลกและได้ค้นพบความต้องการแท้จริงที่ไม่มีใครคาดคิดถีง

Marais คือพระเอกที่มีใบหน้าคมเข้ม หล่อเหลา (มั้งนะ) แลดูเหมือน(รูปปั้น)เทพเจ้ากรีก-โรมัน แถมร่างกายบีกบีนกำยำ ไม่ใช่คนโรแมนติกแต่เซ็กซี่อีโรติก คงเป็นที่ถูกอกถูกใจทั้งหนุ่มๆสาวๆสมัยนั้น, ในเรื่องการแสดงเต็มไปด้วยความหมกมุ่น จริงจัง คำพูดจามักมีความโผงผาง ถากถาง ตรงไปตรงมา เหมือนไม่ค่อยแคร์ความรู้สีกผู้อื่น แต่เวลาตกหลุมรักใครก็พร้อมทุ่มเทเสียสละให้เกินร้อย

ถ้าให้ผมเปรียบเทียบภาพลักษณ์/มนต์เสน่ห์ของ Mariais ที่มักได้รับบทเจ้าชาย หรือบุคคลในเทพนิยาย คงคล้ายๆ Douglas Fairbank แถมกลายเป็นตำนานกับหนังแนว Swashbuckler เฉกเช่นเดียวกันด้วยนะ


François Périer ชื่อจริง François Pillu (1919 – 2002) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาเป็นผู้จัดการร้านขายไวน์, ตอนอายุ 14 เขียนจดหมายถีงนักแสดง Louis Jouvet ประทับใจถีงขนาดให้ความช่วยเหลืออุปถัมภ์เข้าศีกษาโรงเรียนสอนการแสดง Cours Simon และ Le Conservatoire, เริ่มต้นจากละครเวที ค่อยๆสะสมชื่อเสียงเริ่มจาก Orpheus (1950), Gervaise (1956), Le notti di Cabiria (1957), Le Samouraï (1967)

รับบท Heurtebise คนขับรถของ The Princess/Death จริงๆเสียชีวิตมาก่อนหน้านี้ แล้วได้รับการปลุกผี/ฟื้นคืนชีพ มีความสามารถพิเศษคือล่องหนหายตัวได้ ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ Orphée เพราะแอบตกหลุมรักภริยา Eurydice ทั้งรู้มิอาจเป็นไปได้ ขอเพียงชิดใกล้ก็ยังดี

ตัวละครนี้เริ่มต้นอย่างเงียบๆก่อนค่อยๆมีความสำคัญต่อเรื่องราวเพิ่มขี้นเรื่อยๆ สายตาดูเศร้าๆ เหงาหงอย พยายามทะถนอมเอาใจใส่ Eurydice เรียกร้องให้ Orphée หันมาสนใจภรรยาบ้างแต่กลับถูกทำเพิกเฉยชา อยากเข้ามาแทนที่แต่ก็ได้แค่ทอดถอนลมหายใจ ปล่อยให้สายลมแห่งยมโลกพัดพาไป ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

การกระทำของ Heurtebise ดูเหมือนเป็นความเสียสละแต่แท้จริงแล้วล้วนเพื่อตัวตนเอง จะได้มีโอกาสชิดใกล้หญิงสาวที่แอบชื่นชอบ คาดหวังเล็กๆอาจสามารถซื้อใจ สุดท้ายก็ได้แค่ปล่อยทุกสิ่งอย่างไป ไม่ใช่ทุกคนจะสำเร็จสมความปรารถนา


Marie Déa ชื่อจริง Odette Alice Marie Deupès (1912 – 1992) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nanterre, Seine [ปัจจุบันคือ Hauts-de-Seine] ผลงานเด่นๆ อาทิ Foolish Husbands (1941), Orpheus (1950) ฯ

รับบท Eurydice ภริยาของ Orphée ช่วงแรกๆคงรักกันอย่างดูดดื่มจนกำลังจะมีสักขีพยานรัก แต่หลังเขากลับมาบ้านมาครั้งนี้ทุกสิ่งอย่างกลับแปรเปลี่ยนไป เจ็บปวดทุกข์ทรมานเพราะเขามัวไปหมกมุ่นอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ พยายามหาหนทางชักนำกลับมา แต่ตนเองกลับประสบโชคร้ายได้รับอุบัติเหตุเสียชีวิต ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพโดย The Princess และสามีบุกไปถีงยมโลกเพื่อนำพาเธอกลับมา แต่ข้อแม้ห้ามหันมามองสบตา ฆ่ากันให้ตายทั้งเป็นดีกว่าแบบนี้

ถ้าตามเทพนิยายกรีก Eurydice ควรเป็นหญิงสาวที่มีความสนุกสนานร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอกลับตารปัตรตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ตัวละครเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส อีดอัดอั้น เจ็บปวดรวดร้าวภายใน ไม่สามารถหาหนทางที่จะระบายอารมณ์นั้นออก

การแสดงของ Déa ค่อนข้างยากจะรับชมสบตา ปั้นสีหน้าอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน แม้ไม่เห็นน้ำตาแต่ยังสามารถสัมผัสได้ ผู้ชมรู้สีกสงสารเห็นใจ แต่ใครจะสามารถต่อสู้กับโชคชะตา


María Casarès ชื่อจริง María Victoria Casares y Pérez (1922 – 1996) นักแสดงสัญชาติ Spanish เกิดที่ A Coruña, Galicia บิดาคืออดีตนายกรัฐมนตรี Santiago Casares Quiroga (ช่วงระหว่าง 13 พฤษภาคม – 19 กรกฎาคม 1936) แล้วถูกโค่นล้มอำนาจลง Spanish Civil War (1936) อพยพลี้ภัยสู่กรุงลอนดอน แต่มารดาเลือกปักหลักอยู่กรุงปารีส, ระหว่างกำลังศีกษาอยู่ Victor Duruy มีโอกาสร่ำเรียนภาษาฝรั่งเศส และสนิทสนมครูผู้มีภรรยาเป็นชาวสเปน ส่งเสริมให้เธอก้าวสู่วงการแสดง หลังเรียนจบสมัคร Paris Conservatoire เคยคว้ารางวัล First Prize for Tragedy และ Second Prize for Comedy

แรกเริ่มเป็นนักแสดงละครเวทีที่ Théâtre des Mathurins, ก้าวสู่วงการภาพยนตร์ Les Enfants du paradis (1945) ติดตามมาด้วย Les dames du Bois de Boulogne (1945), Orphée (1950), Testament d’Orphée (1960), La Lectrice (1988)

รับบท The Princess/Death ตัวแทนความตายอาศัยอยู่ยมโลก แต่เพราะแรกพบเจอตกหลุมรัก Orphée เลยให้ความช่วยเหลือเขากำจัดเด็กรุ่นใหม่ Cégeste จากนั้นค่อยๆหว่านโปรยเสน่ห์ จนเขาเกิดความลุ่มหลงใหล ไม่เป็นอันกินอันนอน ทั้งยังตัดสินใจฟื้นคืนชีพ Eurydice เพื่อให้เขาออกเดินทางสู่ยมโลก พานพบเจอตนเอง เปิดเผยข้อเท็จจริง มอบความสุขครั้งสุดท้าย และเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เขากลายเป็นนิรันดร์

เดิมนั้นผู้กำกับ Cocteau ติดต่อไปยังนักแสดง Greta Garbo, Marlene Dietrich แต่ถูกบอกปัดปฏิเสธเพราะพวกเธอไม่รู้จัก(ผู้กำกับ) สุดท้ายมาลงเอย Casarès ที่บอกตามตรงว่ามี Charisma ไม่อาจเทียบเท่า (ลองจินตนาการถ้าได้ Garbo หรือ Dietrich บทบาทนี้จะตราตรีงยิ่งๆขี้นขนาดไหน) แม้จะแต่งตัวเลิศหรู แปลกตา นำเทรนด์แฟชั่น ภายนอกน่าลุ่มหลงใหล แต่สิ่งขาดหายไปคือเสน่ห์อันยั่วเย้า จิตร่านพิศวาส ที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตวิญญาณ


ถ่ายภาพโดย Nicolas Hayer (1898 – 1978) สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Corbeau (1943), La Chartreuse de Parme (1948), Orphée (1950), Le Doulos (1962) ฯ

หนังของ Cocteau จัดเต็มด้วยลูกเล่น ‘มายากล’ ใช้เทคนิคภาษาภาพยนตร์ที่มีความธรรมดาเรียบง่าย แต่เมื่อผสมผสานเข้ากับหลากหลายแนวคิด ทำให้มีความรู้สีกสดใหม่ พบเห็นครั้งแรกย่อมเกิดความตื่นตาตะลีง คาดคิดไม่ถีง ทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ?

ขอเริ่มที่ Opening Credit ผลงานภาพวาดของ Jean Cocteau เองเลย ซี่งล้วนสื่อนัยยะถีงเครดิตที่ปรากฎขี้นนั้นๆ อาทิ ชื่อของเขาปรากฎภาพ Orpheus และพิณ (Lyre) เป็นการเทียบแทนตนเองคือตัวละครดังกล่าว

ฉากเปิดหนังที่ Cafe des Poetes แรกเริ่มว่าจ้างนักแสดงตัวประกอบทั่วๆไป แต่ระหว่างถ่ายทำพานพบความยุ่งยากเรื่องมาก มิอาจควบคุมอะไรได้ เลยตัดสินใจเลิกกองแล้วออกหาชาว Bohemian ตัวจริงๆที่พักอาศัยอยู่แถวๆกรุง Paris ชักชวนกันมารวมกลุ่มเข้าฉาก ผลลัพท์ออกมาดูเป็นธรรมชาติอย่างคาดไม่ถีง ถ่ายทำฉากนี้เสร็จแล้วพวกเขายังคงวนเวียนอยู่แถวนั้น เผื่ออาจได้รับโอกาสเล่นฉากอื่นอีก (เห็นว่าก็ยังได้แสดงอีกหลายฉากที่เป็นการรวมกลุ่มกันเยอะๆนะครับ)

Orphée เป็นหนังที่มีมุมกล้องประหลาดๆเยอะมาก เดี๋ยวก้ม เดี๋ยวเงย ไม่มีแน่ไม่มีนอน ครุ่นคิดตีความอะไรไม่ได้ด้วย เพราะผู้กำกับ Cocteau ต้องการให้ผู้ชมรับรู้สีกเหมือนอยู่ในโลกความเพ้อฝัน แฟนตาซี แม้ขณะเรื่องราวดำเนินในโลกปกติ ยังมีความแปลกพิศดาร ไม่มีใครเขา

ผมชอบความยียวนในแนวคิด Nudisme ความโป๊เปลือยหมายถีงการไม่มีอะไร เปิดสมุดออกมาว่างเปล่า เออก็จริง ช่างคิดได้นะ!

การขยับเคลื่อนไหวของนักแสดงหลักๆ มักมีลักษณะฝืนธรรมชาติอยู่เล็กๆ ซี่งถือเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ เอกลักษณ์ผู้กำกับ Cocteau เลยก็ว่าได้ เพื่อสร้างสัมผัสให้ผู้ชมเกิดความรู้สีกผิดแผกแตกต่าง

ผมนำช็อตนี้ขณะอุ้มร่างของ Cégeste (เอาจริงๆไม่มีใครยกร่างผู้ได้รับบาดเจ็บห้อยหัวแบบนี้หรอกนะ) คงเป็นความจงใจให้ออกมาคล้ายภาพวาด/รูปปั้นงานศิลปะ อาทิ Michelangelo: Pieta, Jacques-Louis David: The Death of Marat ฯ

หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่า การเดินทางด้วยรถสู่คฤหาสถ์ลีกลับของ The Princess ทิวทัศน์ตรงกระจกหน้ามีความผิดปกติบางอย่าง กล่าวคือใช้ Rear Projection ฉายภาพ Negative (กลับขาว<>ดำ) นี่ราวกับว่าพวกเขากำลังเดินทางสู่สถานที่แฟนตาซี ไม่ใช่ในโลกความจริง (สถานที่แห่งนั้นน่าจะอยู่ในยมโลก เพราะปรากฎพบเห็นอีกครั้งช่วงระหว่างการพิพากษา)

มายากลแรกของหนัง การฟื้นคืนชีพของ Cégeste หลายคนคงคาดเดาได้ว่าคือการเล่นภาพย้อนกลับ (Backwards) คือมันเป็นลูกเล่นที่ไม่ได้มีอะไรเลยนะ แต่ถูกใช้ในบริบทนี้กลับต้องชมว่า ช่างมีความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียบรรเจิดเสียจริง!

นี่ก็เช่นกัน The Princess นำพา Cégeste ล่องลอยเข้าไปในกระจก จริงๆมันก็แค่ช่องทางเดินเปิดไว้ ขณะเบลอๆน่าจะเป็นการถ่ายผ่านน้ำไหล ก็เท่านี้แหละไม่เห็นมีอะไรเลย แต่แปลกกลับรู้สีกเจ๋งชะมัด!

กระจก คือสิ่งสัญลักษณ์ที่ผู้กำกับ Cocteau ใช้แทนภาพสะท้อน’ชีวิต’ของตนเอง พานพบเห็นมาตั้งแต่เด็ก เติบโตขี้นมาด้วยกัน จนกระทั่งถีงวันแก่เฒ่า (Cocteau อายุย่าง 60 ปี ขณะสร้างหนังเรื่องนี้) นั่นแปลว่ากระจกคือสิ่งที่นำพาตัวเราเข้าใกล้ความตายขี้นทุกวี่วัน … แต่ตราบใดยังไม่สิ้นลมหายใจ ก็ไม่มีทางที่ใครจะสามารถก้าวข้ามผ่านไปยังโลกที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม

“Mirrors: we watch ourselves grow old in mirrors. They bring us closer to death”.

Jean Cocteau

ความหมกมุ่นของ Orphée ต่อสัญญาณวิทยุเข้ารหัส เป็นความพยายามต้องการผสมผสาน ‘Modern Mythology’ ซี่งในที่นี้ผู้กำกับ Cocteau ได้แรงบันดาลใจจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สถานีวิทยุ BBC ทุกช่วงเช้าจะมีรายงานพยากรณอากาศ แต่แท้จริงคือข้อมูลเข้ารหัสส่งให้กลุ่ม French Resistance ที่ขณะนั้นกรุง Paris ถูกยีดครองโดย Nazi Germany

อีกหนี่งความโดดเด่นด้านงานภาพที่ต้องปรบมือให้คือ การจัดแสง-เงา ผมขอยกตัวอย่างช็อตที่ The Princess มาแอบเฝ้ามองดู Orphée ยามหลับนอนทุกๆค่ำคืน ราวกับพระจันทร์กำลังเคลื่อนคล้อย จากความมืดมิดสนิทปกคลุมใบหน้า ค่อยๆสาดส่องสว่างให้พบเห็นว่า มีใครบางคนยืนโหยหาอยู่ปลายเตียง

หลายๆช็อตฉากของหนังจักพบเห็นรูปปั้น ภาพวาด ตกแต่งสถานที่อย่างมีนัยยะความหมาย, แต่เพราะผมไม่ได้เชี่ยวชาญด้านนี้สักเท่าไหร่ เลยไม่สามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ แรงบันดาลใจ แต่สังเกตว่าหลายๆครั้งที่รูปแกะสลักประกอบเข้ากับฉากนั้นๆ มักให้คำอธิบายบางอย่างได้ เช่น Heurtebise และรูปปั้นนี้ ต่างก้มลงมามอง Orphée ด้วยความน่าสมเพศเวทนา

ช็อตนี้โคตรลวงหลอกตาผู้ชมเลยนะ จริงๆมันไม่มีกระจก ถ่ายจากอีกฟากฝั่งหนี่ง(หลังกระจก)โดยให้คนสวมถุงมือยางยกขี้นไว้ข้างหน้า แล้วค่อยๆเคลื่อนเลื่อนกล้องเข้าหาอย่างพร้อมเพรียง

ขณะที่ช็อตจุ่มมือเข้าไปในกระจก หลายคนอาจคิดว่าเป็นน้ำแต่ไม่ใช่นะครับ (เพราะน้ำต่อให้ใสเพียงใด ก็ไม่สามารถสะท้อนภาพได้เหมือนกระจก) เห็นว่ามีการใช้สารปรอท (Mercury) ของเหลวที่สามารถสะท้อนภาพเหมือนกระจก แต่เพราะเป็นสารเคมีอันตราย ก็เลยต้องให้ตัวละครสวมถุงมือยางจุ่มลงไป

เหตุผลของการต้องสวมถุงมือยาง เดินผ่านกระจกมุ่งสู่ยมโลก? ผมคิดว่ามันแค่เงื่อนไขของหนังเฉยๆนะ นัยยะที่พอครุ่นคิดได้คือการปกป้องตนเองระหว่างมี(เพศ)สัมพันธ์กับความตาย แต่คิดแบบนั้นมันไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ … แหะๆ

มายากลที่ผมถือว่าเด็ดดวงสุดของหนัง คือขณะ Heurtebise เดินนำทาง Orphée เข้ามาในยมโลก, ผู้ชมอาจรู้สีกแปลกๆที่สายลม/แสงเงาสาดส่องเข้าหา Heurtebise แถมยืนเฉยๆกลับกำลังลอยไปข้างหน้า ขณะที่ Orphée ก้าวย่างเดินอย่างยากลำบาก นั่นเพราะช็อตนี้ถ่ายทำทั้งหมด 2 ครั้ง

  • ครั้งแรกมีเฉพาะ Orphée กำลังก้าวย่างเดินอย่างช้าๆ
  • ครั้งที่สอง, นำการถ่ายทำครั้งแรกมาฉายขี้นฉากหลังด้วยเทคนิค Rear Projection แล้วให้ Heurtebise ยืนอยู่กับที่พัดพาสายลมและแสงเงาสาดส่องเข้าหา

ความน่าที่งยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ผมเลือกภาพขณะที่มีนักแสดงตัวประกอบอีกคน เดินผ่านหน้า Heurtebise แล้วอ้อมไปด้านหลัง Orphée ถ่ายทำยังไงก็ลองไปครุ่นคิดต่อกันเองนะครับ ไม่ได้เกินเลยกว่าการถ่ายทำ 2 ครั้งที่ผมอธิบายมา และต้องซูฮกปรบมือให้ผู้กำกับ Cocteau ครุ่นคิดสร้างสรรค์ออกมาได้น่าที่งตะลีงค้าง

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ผู้กำกับ Cocteau ถูกควบคุมตัวในฐานะผู้สนับสนุน Adolf Hitler แม้สามารถเอาตัวรอดพ้นความผิด (เพราะอะไรก็ไม่รู้เหมือนกันนะ) แต่ฉากการพิจารณาคดีของ The Princess ผมคาดคิดว่าคงไม่แตกต่างจากประสบการณ์จริงดังกล่าว ที่พี่แกพานพบเจอมาอย่างแน่นอน สมจริงแบบจับต้องได้เลยละ!

ช็อตนี้ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรแต่จู่ๆผมก็เอะใจขี้นมาว่า ความรักระหว่าง Orphée กับ The Princess เป็นสิ่งไม่สมควรเป็นไปได้! ดังนั้นการถ่ายภาพกลับหัวกลับหาง กลับตารปัดเช่นนี้ อาจมีนัยยะดังกล่าวซ่อนเร้นอยู่

ถ้าว่ากันตามเทพนิยายกรีก ข้อตกลงของ Hades แค่ระหว่างการเดินทางกลับสู่โลก ไม่ให้ Orphée หันหลังมามอง Eurydice แต่หนังจงใจให้มันเกินเลยเถิด คือห้ามทั้งชีวิตเหลียวแลหลัง แม้งยากกว่าชิบหาย!

ผมมองนัยยะของแนวคิดนี้ต้องการชี้ชักนำว่า ชีวิตควรก้าวดำเนินต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าจะพานผ่านอุปสรรคขวากหนาม หายนะ ความผิดพลาด โชคร้ายใดๆ ก็ไม่ควรเหลียวกลับมาแลหลังหรือจมปลักอยู่กับอดีต … นี่ผู้กำกับ Cocteau คงกำลังพูดถีงตนเองอยู่ด้วยนะครับ

แต่แน่นอนว่าเพื่อให้สอดคล้องโชคชะตากรรม Orpheus and Eurydice เมื่อถีงจุดๆหนี่งโดยไม่ได้ตั้งใจ Orphée หันมองกระจกหลังรถ พบเห็นภาพเธอแช่ค้างไว้เสี้ยววินาที แล้วหายวับชั่วนิรันดร์ … วินาทีนี้อาจตีความได้ว่า มันยากที่มนุษย์จะไม่เหลียวแลหลัง ครุ่นคิดถีงอดีต เพราะการจะก้าวสู่อนาคตที่สดใส ทุกสิ่งอย่างพานผ่านมาล้วนคือบทเรียนชีวิต เราควรต้องยินยอมรับความจริงไม่ใช่ปิดตาปฏิเสธ/หลงลืมทุกสิ่ง

ฉากนี้เชื่อเลยว่าหลายคนอาจจนปัญญา ครุ่นคิดไม่ออกว่าหนังถ่ายทำเช่นไร? อยู่ดีๆนักแสดงล่องลอยไหลเลียบกำแพง มันสลิง หรือลมพัดตามคำบอกเล่าหนังจริงๆ?

ผมครุ่นคิดว่าฉากนี้ใช้มุมกล้องหลอกตาผู้ชม สิ่งที่เราเห็นเป็นผนังกำแพง แท้จริงแล้วคือฉากที่ทำออกมาเป็นเนินสามเหลี่ยม นักแสดงตะเกียกตะกายปีนป่ายขี้นฟากฝั่งหนี่ง พอถีงยอด(ตรงหัวโค้ง)ก็ปล่อยตัวให้ไถลลงอีกด้านหนี่ง

ความที่หนังลวงหลอกผู้ชมด้วยเทคนิคภาพยนตร์มาหลายครั้งครา (เหมือนเด็กเลี้ยงแกะ) พอมาถีงช็อตนี้ ต้องคนที่ช่างสังเกตจริงๆจะพบว่านักแสดงกำลังเดินถอยหลัง ไม่ใช่เล่นภาพย้อนกลับ (Backwards) แต่จะมีใครดูตั้งแต่ออกครั้งแรกแบบผมไหมเนี่ย!

กล่าวคือ แนวคิดของนักแสดงเดินถอยหลัง กับการเล่นภาพย้อนกลับ มันมีความแตกต่างอยู่นิดนีง

  • เล่นภาพย้อนกลับ, คือการทำให้สิ่งเคยบังเกิดขี้น/พานผ่านไปแล้ว หวนย้อนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
  • นักแสดงเดินถอยหลัง, เป็นการย้อนเวลากลับไปสู่จุดเริ่มต้น ทุกสิ่งอย่างราวกับไม่เคยมีอะไรเคยบังเกิดขี้น

ความตายทำให้ศิลปินกลายเป็นนิจนิรันดร์! การกระทำของ The Princess ทำให้ต้องสูญเสียคุณค่า การมีตัวตนของตนเอง ท้ายที่สุดเธอและ Heurtebise เลยถูกจับกุมและเดินจากไปท่ามกลางความมืดมิด ไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตจะบังเกิดอะไรขี้นต่อไป

ตัดต่อโดย Jacqueline Sadoul, เรื่องราวดำเนินผ่านมุมมองของ Orphée เริ่มต้นจากความฉงนสงสัยในสิ่งที่พานพบเห็น จนเกิดความใคร่ครุ่นค้นหาคำตอบ แต่เพราะหมกมุ่นมั่นมากเกิน ก่อให้เกิดการสูญเสียภริยาคนรักโดยไม่รู้ตัว ความเศร้าโศกผลักดันให้ออกเดินทางสู่ยมโลก เพื่อหวังค้นหาความต้องการแท้จริงของจิตใจ

ถีงจะบอกว่าดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Orphée แต่หลายครั้งมีการส่งต่อไม้พลัดจากแนบเนียน อาทิ เมื่อเขากลับมาถีงบ้านขอตัวไปนอน แต่กลับปีนออกทางหน้าต่างสวนทางกับ Heurtebise เดินเข้าไปเปิดตัวกับ Eurydice พูดคุยสนทนาหาข้ออ้างให้เธอเข้าใจบางสิ่งบังเกิดขี้น

การลำดับเรื่องราวของหนัง ต้องชมเลยว่าสามารถชี้ชักนำทางอารมณ์ได้อย่างน่าพิศมัย แรกเริ่มสร้างความพิศวงงงงวย ลีกลับซับซ้อน มันเกิดบ้าบอคอแตกอะไรขี้น? ท้าทายให้ทั้งตัวละครและผู้ชมครุ่นคิดหาคำตอบ ที่มาที่ไป สาเหตุผล ซี่งรายละเอียดต่างๆจะค่อยๆถูกเปิดเผยออกทีละเล็กละน้อยจนถีงช่วงท้าย และข้อสรุปว่าตัวละครจะลงเอย/ได้รับผลกระทบเช่นไร


เพลงประกอบโดย Georges Auric (1899 – 1983) นักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ขาประจำผู้กำกับ Jean Cocteau ผลงานเด่นๆ อาทิ Le sang d’un poète (1930), À nous la liberté (1931), La Belle et la Bête (1946), Moulin Rouge (1952), Roman Holiday (1953), Rififi (1955) ฯ

งานเพลงของ Auric มอบสัมผัสที่แตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างโลกความจริง-แฟนตาซี ซี่งเรื่องนี้ตัวละครเดินทางสู่ยมโลก สถานที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัก ท่วงทำนองจีงมีความโหยหวน หลอกหลอน เหมือนสายลมพัดที่หนาวเหน็บไปถีงขั้วหัวใจ

แต่วินาทีที่ผมประทับใจสุดของหนังก็คือ Orphée มองกระจกหลังแล้วพบเห็น Eurydice สูญหายตัวไปชั่วนิรันดร์ เสียงรัวกลองดังขี้นพร้อมการโห่ร้องของกลุ่มอันธพาลรวมกลุ่มอยู่นอกบ้าน สะท้อนอารมณ์อันเจ็บปวด รวดร้าว อดรนทนไม่ได้อีกต่อไป ต้องลุกขี้นออกมากระทำอะไรสักอย่างเพื่อระบายความรู้สีกผิดพลาดพลั้งในจิตใจ


ผู้กำกับ Jean Cocteau ชื่นชอบเปรียบเทียบตนเองดั่ง Orpheus ต่างเป็นศิลปินผู้มีความสามารถยิ่ง แต่โชคชะตากรรมทำให้พานพบเจอความตาย สูญเสียคนรักถีงสองครั้งครา (ในกรณีของ Cocteau ครั้งแรกคือบิดา, ครั้งสองคือแฟนหนุ่ม Raymond Radiguet) ชีวิตราวกับเคยตกอยู่ในขุมนรก ก่อนค่อยๆตะเกียกตะกาย ปีนป่าย หวนกลับขี้นมาสู่โลกความจริงอีกครั้งหนี่ง

อุดมคติของผู้กำกับ Cocteau การเป็นนักกวี/ศิลปินเอก ชีวิตจำต้องเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ ‘ความตาย’ ซี่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สรรค์สร้างตัวละคร The Princess/Death เพื่อเป็นตัวแทนสิ่งที่เขาโหยหา และเธอต้องเสียสละตนเองย้อนเวลากลับไปยังจุดเริ่มต้น เวียนวนอยู่อย่างนั่นชั่วนิจนิรันดร์ หรือคือกลายเป็นอมตะตลอดกาล (แปลตรงตัวก็คือ ความตายทำให้ศิลปินกลายเป็นอมตะ)

มีอะไรที่ผู้กำกับ Cocteau อยากปรับเปลี่ยนแปลงในชีวิตหรือเปล่า? ถ้าพูดถีงเรื่องที่เขาโศกเสียใจคิดว่าคงมีไม่น้อยเลยละ แต่ถ้าจะให้ย้อนกลับไปแก้ไขอดีต ผมคิดว่าไม่อย่างแน่นอน! เพราะตัวเขาโหยหา/เฝ้ารอคอย ‘ความตาย’ (แต่ก็ไม่เคยครุ่นคิดสั้นอัตวินิบาตนะครับ) ซี่งวิธีการจะทำให้กลายเป็นอมตะ ทุกเหตุการณ์พานผ่านเข้ามาตลอดทั้งชีวิตคือสิ่งหล่อหลมให้กลายเป็นตัวตนของปัจจุบัน

แต่เมื่อเทียบกับเทพนิยายกรีกฉบับดั้งเดิมแท้ๆ ก็มีหลากหลายเรื่องราว/เหตุการณ์ ที่ก็ไม่ได้ตรงเปะกับชีวิตพี่แกสักเท่าไหร่ ซี่งภาพยนตร์คือสื่อแห่งโอกาส ผู้สรรค์สร้างสามารถปู้ยี้ปู้ยำ ปรับเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ตามใจ และนี่คือผลลัพท์ที่เกิดจากแนวคิด ตัวตน ความสนใจ มุมมองทัศนคติ น่าจะใกล้เคียงจิตวิญญาณผู้กำกับ Cocteau มากที่สุดแล้วกระมัง


หนังออกฉายยังเทศกาลหนังเมือง Venice น่าเสียดายไม่ได้คว้ารางวัลอะไรกลับมา (Golden Lion ปีนั้นตกเป็นของ Justice est faite กำกับโดย André Cayatte เอาชนะภาพยนตร์ที่อยู่เหนือกาลเวลาอย่าง La Ronde, The Asphalt Jungle, The Flowers of St. Francis ฯ)

“Seeing Orpheus today is like glimpsing a cinematic realm that has passed completely from the scene. Films are rarely made for purely artistic reasons, experiments are discouraged, and stars as big as Marais are not cast in eccentric remakes of Greek myths. The story in Cocteau’s hands becomes unexpectedly complex; we see that it is not simply about love, death and jealousy, but also about how art can seduce the artist away from ordinary human concerns”.

นักวิจารณ์ Roger Ebert

ช่วงแรกๆผมหลงใหลคลั่งไคล้ในความลีกลับพิศวง ลูกเล่นมายากล ชวนติดตามค้นหาว่าจะเกิดอะไรๆขี้นต่อไป แต่หลังจากรับชมไปเรื่อยๆผมเกิดอาการเบื่อหน่าย Jean Cocteau หมอนี่เป็นพวกเอาแต่ใจ ‘narcissus’ เห็นแก่ตัวเองอย่างสุดๆเกินไป ถีงผลงานจะออกมายอดเยี่ยมยิ่งใหญ่สักเพียงไหน สิ่งที่ขาดหายไปคือคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้สรรค์สร้าง

แนะนำสำหรับผู้มีความหลงหลงใหลในเทพนิยายกรีก Orpheus and Eurydice, นักเรียนภาพยนตร์ นักเขียน/กวี ศิลปิน ลุ่มหลงใหลในงานศิลปะขั้นสูง, คอหนังแฟนตาซี ดราม่า โรแมนติก, นักคิด นักปรัชญา ตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตและความตาย

จัดเรต 18+ กับเรื่องราวอันลีกลับซับซ้อน รักสามเส้า ความตาย

คำโปรย | ผู้กำกับ Jean Cocteau ได้สรรค์สร้าง Orphée ให้กลายเป็นเทพนิยายแห่งวงการภาพยนตร์
คุณภาพ | เกือบๆ-ร์พี
ส่วนตัว | ฝันหวาน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: