Ossessione (1943) : Luchino Visconti ♥♥♥♥
ความหมกมุ่น ลุ่มหลงใหล ‘Obsession’ คือต้นกำเนิดแห่งโศกนาฎกรรม, ดัดแปลงจากนวนิยายอาชญากรรมเลื่องชื่อ The Postman Always Rings Twice กลายเป็นภาพยนตร์ที่ถือเป็นรากฐานของ Neorealist และ Giallo แต่เพราะความสมจริงเกินไป เกือบเอาตัวไม่รอดจากการถูกแบน เผาทำลายล้างโดยรัฐบาล Fascist Italian
เป็นข้อถกเถียงของนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ จะยินยอมรับให้ Ossessione (1943) คือหนัง Neorealist เรื่องแรกของโลกหรือเปล่า? บ้างก็ให้ๆไปเถอะ มีความ ‘Realism’ สมจริงมากๆขนาดนั้น บ้างบอกองค์ประกอบไม่ครบให้ไม่ได้ (เพราะไม่ได้ใช้นักแสดงสมัครเล่น) Rome, Open City (1944) ต่างหากที่ควรถือเป็นเรื่องแรก … ก็ปล่อยๆให้พวกเขาว้าวุ่นวายกันไปเองนะครับ ใช่ไม่ใช่หาใช่เรื่องสลักสำคัญใดๆไม่
ผมเองได้ยินกิตติศัพท์ของ Ossessione มาแสนนาน ตั้งแต่ค้นพบเจอชาร์ท ‘100 Italian films to be saved’ คือเรื่องลำดับที่สอง เพิ่งหาจังหวะโอกาสรับชมเสียที ต้องบอกเลยว่าอึ้งทึ่งคาดไม่ถึง อารมณ์ประมาณขณะดู Citizen Kane (1941) แพรวพราวด้วยไดเรคชั่นของผู้กำกับ Luchino Visconti ซึ่งนี่คือผลงานเรื่องแรก! (เฉกเช่นเดียวกับ Orson Welles) แสดงถึงอัจฉริยภาพในการเข้าถึงศาสตร์ภาพยนตร์ชั้นสูง แม้ด้วยข้อจำกัดแห่งยุคสมัย กลับยังสามารถโดดเด่นเหนือใคร
เอาเป็นว่า ขอยกย่องให้เลยแล้วกันว่า ‘Ossessione เปรียบได้กับ Citizen Kane แห่ง Italian Neorealist’ ในส่วนใดบ้างจะค่อยๆว่าต่อไป
Luchino Visconti (1906 – 1976) ผู้กำกับสัญชาติอิตาเลียน เกิดในครอบครัวชั้นสูง ที่เมืองมิลาน มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน บิดา Giuseppe Visconti di Modrone ตำแหน่งเป็น Duke of Grazzano Visconti และ Count of Lonate Pozzolo ชื่อเต็มๆของเขาคือ Count don Luchino Visconti di Modrone เป็นทายาทตระกูล House of Visconti
ตั้งแต่เด็กมีความสนใจในศิลปะ ดนตรี การแสดง, ร่ำเรียน Cello จากคีตกวี Lorenzo de Paolis (1890–1965) สนิทสนมกับ Giacomo Puccini, Arturo Toscanini, Gabriele D’Annunzio, ช่วงทศวรรษ 30s มีโอกาสรู้จัก Jean Renoir ผ่านการแนะนำของ Coco Chanel (ผู้ก่อตั้งแบรนด์ดัง Coco) กลายมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Toni (1935), Partie de campagne (1936) ขณะที่อีกเรื่องหนึ่ง La Tosca (1941) ไม่ทันเสร็จถูกผู้กำกับสัญชาติเยอรมัน Carl Koch ดึงไปทำต่อ (เพราะอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง)
ประสบการณ์จากทำงานผู้ช่วยนั้นมากโข ทำให้เขาใฝ่ฝันอยากสร้างภาพยนตร์เองบ้าง แต่ช่วงทศวรรษนั้นอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาล Fascist Italian ค่อนข้างเข้มงวดกวดขัน ต้องส่งบทหนังให้ตรวจก่อนถึงจะอนุมัติให้สร้างได้ ในตอนแรกสนใจดัดแปลงผลงานนวนิยายของ Giovanni Verga นักเขียนชื่อดังของอิตาลี (น่าจะเป็นหนึ่งในคนโปรดของ Visconti) แต่ไม่ผ่านกองเซนเซอร์
ตอนร่วมงานกับ Jean Renoir เคยได้รับคำแนะนำอ่านนวนิยายอาชญากรรมเรื่อง The Postman Always Rings Twice (1934) ของนักเขียนสัญชาติอเมริกัน James M. Cain (1892 – 1977) ฉบับแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส มีความน่าสนใจเลยลองส่งเสนอไป ได้รับอนุญาตผ่านกองเซนเซอร์ เพราะพวกเขาครุ่นคิดว่าเรื่องราวมิได้สลับซับซ้อน หรือมีใจความต่อต้านรัฐบาลเผด็จการแต่ประการใด
ด้วยอัจฉริยภาพของ Visconti รวบรวมสมัครพรรคพวก นักเขียนยอดฝีมือจากนิตยสารภาพยนตร์ Cinema ประกอบด้วย Mario Alicata, Gianni Puccini, Antonio Pietrangeli, Giuseppe De Santis ให้ช่วยกันขัดเกลา แทรกใส่ประเด็นการเมือง ความเป็นส่วนตัว(ของผู้กำกับ) เรียกว่ายัดสอดไส้ในกันอย่างเต็มที่ คงไว้ซึ่งโครงสร้างหลักๆของ The Postman Always Rings Twice แต่เปลี่ยนพื้นหลังเป็นชนบทประเทศอิตาลีแทน
เรื่องราวของ Gino Costa (รับบทโดย Massimo Girotti) ชายหนุ่มเร่ร่อน ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยไร้หลักปักฐาน วันหนึ่งถูกไล่ลงจากหลังรถบรรทุกที่แอบขึ้นมา ยังปั๊มน้ำมัน/ร้านค้าแห่งหนึ่งในชนบทประเทศอิตาลี ท้องหิวจึงเดินเข้าไปหลังร้านเพื่อขอข้าวกิน พบเจอหญิงสาว Giovanna Bragana (รับบทโดย Clara Calamai) ปฏิกิริยาเคมี สายตาระหว่างพวกเขา มันช่างมีเงื่อนงำอะไรบางอย่างหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน
Giovanna แม้จะแต่งงานแล้วกับ Giuseppe Bragana (รับบทโดย Juan da Landa) ชายร่างท้วมเจ้าของกิจการปั๊มน้ำมันและร้านค้า แต่มิได้เกิดจากความรักใคร่ต้องการ เพียงเพราะเขามีเงินและมอบความมั่นคงในชีวิตให้เธอได้ แต่สิ่งที่หญิงสาวต้องแลกมาคือสภาพถูกคุมขังดั่งนกในกรง อยากโบยบินเป็นอิสระเสรีแต่มิอาจกระทำได้ ซึ่งการได้พบเจอชายหนุ่มหล่อ(มั้ง) Gino วินาทีนั้นโดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักใคร่ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเขาโดยทันที
เพราะความที่ไม่มีสตางค์สักแดง Gino จึงถูก Giuseppe ขับไล่ออกจากร้าน แต่เพราะรับประทานอาหารไปแล้วเลยถูกติดตามตัวให้จ่ายเงิน กระนั้นเขากลับขออาสามีอะไรให้ช่วยซ่อมแทนค่าใช้จ่าย พูดคุยไปมาถูกคอโชคชะตา ประณีประณอมให้ความช่วยเหลือเพราะสงสารเห็นใจ แต่ระหว่างที่ Giuseppe ไปซื้ออุปกรณ์เครื่องยนต์ชิ้นหนึ่งในเมือง Gino กลับใช้เวลาดังกล่าวร่วมรักหลับนอนกับ Giovanna ทำการอ่อยเหยื่ออย่างเต็มที่ แล้วอย่างนี้จะอะไรยังไงกันต่อละเนี่ย…
Clara Calamai (1909 – 1998) นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน ประสบความสำเร็จโด่งดังมากในยุค 40s เกิดที่ Prato, Tuscany แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Pietro Micca (1938), โด่งดังเป็นที่รู้จักกับ Ossessione (1943), The Adulteress (1946) ** คนแรกที่คว้ารางวัล Nastro d’Argento: Best Actress (เทียบเท่ากับ Oscar ของประเทศอิตาลี), Deep Red (1975) ฯ
รับบท Giovanna Bragana สาวงามผู้มีความโหยหาในอิสระเสรี แต่กลับขลาดหวาดกลัวที่จะโบยบินออกนอกกรงขังด้วยตนเอง ราวกับว่าถูกโลกทัศนคติบางอย่างครอบงำไว้ ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความรวดร้าวทุกข์ทรมานแสนสาหัส การพบเจอ Gino ถือว่าเติมเต็มความใคร่ปรารถนา ได้รับคำชักชวนให้ออกหนีไปอยู่ด้วยกัน แต่เธอยังจมปลักอยู่กับความรู้สึกผิด ค่อยๆถลำตัวลงลึกอย่างขาดสติ สุดท้ายโศกนาฎกรรม/กรรมสนองกรรมจึงย้อนคืนมากลับมาหา
ถือเป็นส้มหล่นของ Calamai เพราะนักแสดงหญิงที่อยู่ในความสนใจของ Visconti ติดต่อไปก่อนคนแรกคือ Anna Magnani แต่ขณะนั้นกำลังตั้งครรภ์ เลยบอกปัดปฏิเสธ, ซึ่งความโดดเด่นของ Calamai ที่ถือว่าแตกต่างจาก Magnani คือจริตจ้านเวลาแสดงความร่านราคะออกมา ผู้ชมสามารถสัมผัสถึงเพลิงพิศวาส โหยหิวที่คลุ้มคลั่งจากภายใน (คือถ้าเป็น Magnani ประมาณว่ามีอะไรได้หมดเหมาเกลี้ยง แต่สำหรับ Calamai เพียงความหื่นเท่านั้นถ่ายทอดออกมาทางดวงตา)
Massimo Girotti (1918 – 2003) นักแสดงชื่อดังสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Mogliano, Macerata ตั้งแต่เด็กชื่นชอบเล่นกีฬาว่ายน้ำ โปโล ระหว่างกำลังเรียนวิศวกรรม เข้าตาแมวมองแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Dora Nelson (1939), เริ่มมีชื่อเสียงกับ La corona di ferro (1941), Un Pilota ritorna (1942), โดยเฉพาะ Ossessione (1943), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ In the Name of the Law (1949), Cronaca di un amore (1950), Senso (1954), The Year Long Road (1958), Teorema (1968), Medea (1969), Last Tango in Paris (1972), Passion of Love (1981), La finestra di fronte (2003) ฯ
รับบท Gino Costa หนุ่มเร่พเนจร ใช้ชีวิตวันๆอย่างเรื่อยเปื่อยไร้ความหมาย ไม่มีเงินสักแดงก็สามารถเอาตัวรอดอยู่ได้ แต่พอหลังจากพบเจอตกหลุมรัก Giovanna มิอาจอดรนทนกลั้นต่อรักสามเศร้า ชักชวนเธอหนีแต่กลับไม่ยินยอมไป ขึ้นรถไฟพบเจอชายแปลกหน้า ศิลปินชาว Spaniard (รับบทโดย Elio Marcuzzo) ให้ความช่วยเหลือออกเดินทางไปแสนไกล แต่สุดท้ายกลับยังบังเอิญหวนกลับมาพบเจอ เลยตัดสินใจกระทำการชั่วร้ายบางอย่าง อันเป็นเหตุให้เกิดความหวาดระแวงรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต พยายามลบลืมเลือนด้วยการนอกใจ สุดท้ายก็หวนกลับมาสนองกรรมที่ตนเคยก่อ
ภาพลักษณ์ของ Girotti ดูเป็นคนซื่อๆตรงไปตรงมา แต่ก็สามารถถ่ายทอดความรู้สึกว้าวุ่นวายใจ ระส่ำระส่าย ได้อย่างน่าหงุดหงิดรำคาญใจ หมอนี่ดูเป็นตุ๊ดแต๋วมากกว่าลูกผู้ชายอกสามศอก หลายๆอย่างโดยไดเรคชั่นของผู้กำกับ Visconti ก็สามารถสื่อได้ทางนั้น
Juan de Landa (1894 – 1968) นักแสดงร่างใหญ่สัญชาติสเปน เกิดที่ Motrico, Basque Country ผลงานเด่นๆ อาทิ Il peccato di Rogelia Sanchez (1940), The King’s Jester (1941), Ossessione (1943), Beat the Devil (1953) ฯ
รับบท Giuseppe Bragana สามีของ Giovanna เป็นคนร่าเริงแจ่มใส อัธยาศัยดี ยิ้มแย้มไมตรี ชอบให้ความช่วยเหลือผู้อื่น … แต่ทั้งๆนิสัยเยี่ยมขนาดนี้ กลับถูกภรรยาไม่รักไม่สนหัว เพราะเธอแต่งงานสนเพียงเงิน มิได้พิศวาสรักใคร่ นับเป็นความโชคร้ายเหลือเกินที่ถูกหญิงไม่รักดีเกาะกินแถมมุ่งหวังทำร้าย
ผู้ชมส่วนใหญ่คงรู้สึกสงสารเห็นใจไม่ Giovanna ก็ Gino แต่ผมกลับเศร้าสลดแทน Giuseppe อย่างสุดๆเลยละ หมอนี่ทำผิดอะไรแค่อ้วนแล้วมีเงิน??? ตกหลุมรักหญิงสาวขอเธอแต่งงานก็เป็นเรื่องปกติ เธอย่อมมีสิทธิ์ปฏิเสธแต่ด้วยความโลภละโมบเห็นแก่เงินเลยยอมตอบตกลง สุดท้าย … ละเหี่ยใจจริงๆ
Elio Marcuzzo (1917 – 1945) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Treviso, Veneto โตขึ้นเข้าเรียนที่ Centro sperimentale di cinematografia, Rome จบออกมากลายเป็นนักแสดง Il feroce Saladino (1937), ส่วนบทบาทได้รับการจดจำสูงสุดก็คือ Ossessione (1943) น่าเสียดายอายุสั้นไปหน่อย
รับบทตัวละครไร้นาม แต่ถูกเรียกว่าชาว Spaniard เป็นนักแสดงตามท้องถนน เมื่อพบเห็น Gino ไม่มีเงินค่าตั๋วรถไฟ อาสาจ่ายแทนพร้อมค่าปรับ หลับนอนในห้องพักเดียวกัน มีหลายๆอย่างสื่อได้อย่างชัดเจนว่าหมอนี่เป็นเกย์
แม้จะเป็นบทเล็กๆแต่ถือว่ามีสีสันอย่างมาก โดยเฉพาะภาษากาย การกระทำ ล้วนมีบางสิ่งอย่างแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ ไม่จำเป็นต้องพูดบอกออกมาตรงๆ ใครสามารถอ่านออกย่อมพบเห็นความชัดเจน
ถ่ายภาพโดยสองตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยนยอดฝีมือ
– Domenico Scala ผลงานเด่น Daniele Cortis (1947) ฯ
– Aldo Tonti ผลงานเด่น Europe ’51 (1952), Nights of Cabiria (1957), The Savage Innocents (1960) ฯ
หนังเรื่องนี้ถ่ายทำในช่วงขณะสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนหน้าอิตาลีถูกยึดครองโดย Nazi, Germany เลยยังมีสภาพสมบูรณ์ดีอยู่, ยังสถานที่จริง อาทิ Codigoro, Ferrara, Ancona, Comacchio, Boretto ถือว่าบันทึกสภาพเมือง/สังคม วิถีความเป็นอยู่ของชาวชนบท สะท้อนความเร้นแร้งแค้น อิทธิพลของสงคราม ** เหล่านี้คือสาเหตุหลักๆของฝั่งที่ยกให้หนังเรื่องนี้มีสถานะของ Italian Neorealist
เกร็ด: หลายๆสถานที่ถ่ายทำของหนัง เพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ถูกระเบิดลงจากเครื่องบินรบของ Nazi พังทำลาย สูญเสียย่อยยับเยิน!
ไดเรคชั่นการถ่ายภาพ หลายๆฉากได้สร้างภาษาใหม่ให้กับวงการยุคสมัยนั้น ซึ่งทำการสะท้อน ‘จิตวิทยา’ ของตัวละครออกมา แทบไม่แตกต่างกับ Citizen Kane (1941) แต่เรื่องนั้นผนวกกับการสร้างฉาก พื้นหลัง อลังการยิ่งใหญ่โตให้มีความสอดคล้องด้วย ขณะที่เรื่องนี้ใช้ธรรมชาติ ความจริง ‘Neorealist’
เริ่มแรกผู้ชมจะไม่พบเห็นใบหน้าพระเอก-นางเอกโดยทันที ใช้ไดเรคชั่นลีลาที่ทำให้เกิดความอยากรู้ ใคร่ฉงนสงสัย เมื่อชายคนหนึ่งถูกขับไล่ลงจากด้านหลังรถบรรทุก มือล้วงกระเป๋าคลำหาสตางค์ จากนั้นเดินเข้าร้านตรงไปด้านหลัง พบเห็นเรียวขาหญิงสาวแกว่งไกวกำลังอ่อยเหยี่ย เงาอาบฉาบตรงประตูพอดิบพอดี
ภาพแรกของ Giovanna เมื่อถูกเรียกเงยหน้าขึ้นมา ทีแรกคงตั้งใจจะแค่มองผ่านๆกำลังจะก้มลงแล้วเงยหน้าขึ้นมองอย่างเพ่งเล็งตั้งใจอีกที ก็ทำให้เกิดความอึ้งทึ่งคาดไม่ถึง ‘รักแรกพบ’ ก็ยังได้
การจัดแสงดูฟุ้งๆเหมือนฝัน พื้นหลังเบลอสนิทไม่ได้อยู่ในความใคร่สนใจ
สำหรับช็อตแรกของ Gino สมัยนั้นยังไม่มีการซูม เลยใช้การเลื่อนลากกล้องเข้าใกล้จนถึงระดับ Close-Up ใบหน้า แสงฟุ้งๆ พื้นหลังเบลอๆเช่นกัน ชายหนุ่มในฝัน หล่อระเบิด (ตรงไหน?), การเลื่อนกล้อง (สมัยนี้คือซูม) เข้าหาตัวละคร หมายถึงการเพ่งพินิจ จับจ้องมองอย่างตั้งใจ ผู้ชมรับรู้สึกถึงความสำคัญของตัวละคร และสัมผัสได้ถึงบางสิ่งอย่างสุดพิเศษ (คล้ายๆ Woman Gaze)
พูดถึงระยะของภาพ ถือว่ามีนัยยะสำคัญต่อหนังเช่นกัน ในช่วงขณะบีบคั้น ตึงเครียด ตัวละครตกอยู่ในสถานการณ์ต้องครุ่นคิดตัดสินใจอะไรบางอย่าง มักใช้การถ่ายภาพ Close-Up เพื่อสะท้อนสภาวะทางจิตใจดังกล่าวออกมา (และขายการแสดงของนักแสดงด้วย หนังเลยมีความสมจริงทรงพลังอย่างมาก!)
Giuseppe กำลังพูดพร่ำกับ Giovanna ถ้าพบเห็น Gino อย่าให้เข้ามาในห้องครัว ซึ่งพอเขาเข้ามาพบเห็นชายหนุ่ม รีบเดินเข้ากล้องช็อตนี้ กลายเป็นภาพสามเส้า สามตัวละคร จากสามทิศทาง สะท้อนสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปของหนังได้เป็นอย่างดี (รักสามเส้า)
ภาษากายที่คงไม่ต้องพร่ำบอก ใครๆคงสามารถคาดเดาได้ว่าท่าอ่อยเหยื่อเช่นนี้หมายถึงอะไร แต่ผมอยากจะชี้นำถึง Dynamic Cut ต่อจากนี้สักหน่อย เพราะช็อตถัดไปตัดเป็น Giuseppe กำลังปั่นจักรยานแข่งกับบาทหลวง ใครจะถึงเส้นชัยก่อน … มันสื่อความแบบหื่นๆ ขณะหนุ่ม-สาว กำลังมี Sex ได้เหมือนกันนะ
ตั้งใจเงี่ยหูฟังให้ดีๆ ทั้ง Sequence นี้จะได้ยินเสียงนาฬิกา ติก-ติก-ติก-ติด ราวกับเป็นการนับถอยหลังหมดเวลาที่พวกเขาจะได้อยู่ร่วมรักหลับนอน ขณะที่ความเจ๋งเป้งอีกอย่างอยู่ที่ไดเรคชั่นของตัวละคร เดี๋ยวลุกเดินไปที่หน้าต่าง กลับมากอดกันกลมบนเตียง นั่งหมดอาลัยบนเตียง ทอดถอนหายใจยังเก้าอี้ ดูแล้วคงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับรุ่น French New Wave โดยเฉพาะ Jean-Luc Godard ทำกับฉากภายใน Breathless (1960) ลีลาคล้ายๆกันนี้เลย [แตกต่างหลักๆคือ เรื่องนี้จะไม่ใช่ Long Take ยาวๆ เท่านั้นเอง]
ช็อตจบของ Sequence ด้วยภาพหนุ่ม-สาว กอดกันกลมพบเห็นเงาสะท้อนจากกระจกหน้าตู้เสื้อผ้า จากนั้นอยู่ดีๆประตูก็เปิดออก พบเห็นอาภรณ์ชุดนอนอยู่ภายใน, ตู้เสื้อผ้า (นึกถึง Narnia ภาคแรกขึ้นมา) สิ่งสัญลักษณ์หมายถึง ตัวตน/จิตวิญญาณที่อยู่ภายในของมนุษย์ เมื่อประตูเปิดออกคือได้รับการเปิดเผย นั่นคือความต้องการแท้จริงของหญิงสาว ครองคู่อยู่ร่วมพระเอก (ไม่ใช่ไอ้อ้วนผู้ร้ายในสายตาเธอ)
ระหว่างรับประทานอาหารเย็น เรื่องเล่าคนงาน (ที่ถูกนายจ้างฆ่า), แมวส่งเสียงสร้างความรำคาญ, Giuseppe หยิบปืนลูกซองไปยิง, เหล่านี้เป็นการพยากรณ์ สร้างบรรยากาศของสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปของหนัง เมื่อได้ยินเสียงปืน Giovanna ซบลงที่บ่า ความตายคงถามหาพวกเขาในอีกไม่ช้า
ไฮไลท์ของฉากนี้คือคือโคมไฟที่กวัดแกว่งไปมาเป็นพื้นหลัง สะท้อนถึงชีวิตของพวกเขาที่โคลงเคลงเหมือนอยู่บนเรือกลางทะเล ไม่รู้เมื่อไหร่จะหาหนทางขึ้นถึงฝั่งฝัน ได้ครองคู่อยู่ร่วมสมใจปองสักที
ช็อตนี้เป็นตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากสถานที่ถ่ายทำจริง สะท้อนสื่อความหมายตรงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะนั้น, เมื่อ Gino ตัดสินใจร่ำลาจากหญิงคนรัก Giovanna เพราะทนไม่ได้กับเหตุการณ์รักสามเส้า สังเกตบริเวณที่เขาดำเนินเดินไป สองข้างทางมีต้นไม้ขึ้นยาวสุดลูกหูลูกตา สะท้อนถึงการออกเดินทางอันไม่มีจุดสิ้นสุด (ตรงกันข้ามกับ Giovanna ที่หยุดเดินแล้ว)
ความเป็นเกย์ของ Spaniard ชัดเจนมากกับฉากนี้ มันอาจดูไม่มีอะไร แต่ทุกการกระทำสื่อความหมายไปถึง Sex ระหว่าง ชาย-ชาย
– อย่างแรกคือสองหนุ่มนอนร่วมเตียง
– Gino หันหลังให้ (ประตูหลัง)
– เมื่อ Spaniard ปิดไฟ จุดบุหรี่ (บุหรี่คือสัญลักษณ์ของ ลึงค์, ไฟ หมายถึง เพลิงราคะ)
– Spaniard นำไฟที่จุด เลื่อนไปส่องดู Gino ที่กำลังหลับนอน
นี่อาจอยู่ที่จินตนาการของผู้ชมด้วยกระมัง จะสามารถมองทั้ง Sequence นี้ออกหรือเปล่า ซึ่งหลายๆการกระทำของ Spaniard ให้ความช่วยเหลือชายแปลกหน้า คือมันก็ผิดปกติวิสัย นอกเสียจากลึกๆแล้วมีใจให้กัน ประมาณนั้นเลย!
การยื่นบุหรี่ จุดไฟให้กัน คือสัญลักษณ์ของการร่วมรักหลับนอน ซึ่งเมื่อชายส่งให้ชาย ย่อมสื่อถึงการรักร่วมเพศ, ความน่าสนใจของช็อตนี้คือถ่ายมุมเงย ด้านหลังติดกับโบสถ์ Cathedral of S. Ciriaco ณ Ancona ไม่รู้ว่าเป็นการลบหลู่ เสียดสีประชดประชัน หรือยังไงกันแน่? เพราะคริสตจักรสมัยนั้นยังไม่ยินยอมรับเรื่องพรรค์นี้ แล้วประมาณราวกับว่าพวกเขามี Sex กันที่สถานที่แห่งนี้
สังเกตว่าด้านหลังบนหลังคา มีคนกำลังปีนป่ายอยู่ด้วยนะครับ ส่วนตัวรู้ว่าเป็นช็อตที่มีใจความแฝงไม่ค่อยดีแน่ๆ
พบเจอบนรถไฟ แต่ร่ำลาจากบนท้องถนน นี่สะท้อนเข้ากับตอน Gino หนีจาก Giovanna เมื่อครึ่งแรก และช่วงท้ายสถานที่แห่งโศกนาฎกรรม เกิดจากการตกถนนลงสู่แม่น้ำโป (Po River)
การเลือกใช้ถนน แม่น้ำ รถไฟ เป็นสถานที่แห่งการพบเจอ/แยกจาก เพื่อกับสะท้อนกับการดำเนินไปของชีวิต ทุกสิ่งอย่าง ความเป็น-ตาย ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครคาดคิดฝันอย่างแน่นอน
นี่ก็เป็นอีกช็อตที่ใช้พื้นหลังสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก ‘จิตวิทยา’ ของตัวละครออกมาได้อย่างงดงามมากๆ, Giovanna รู้สึกท้อแท้หมดสิ้นหวัง เพราะ Gino มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกผิด (ที่ฆ่า Giuseppe) ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมรักครองคู่กับเธออีกต่อไปได้
จริงๆผมไม่เข้าใจจุดประสงค์ของปาร์ตี้นี้สักเท่าไหร่ เพื่อเป็นการหาเงิน? หรือเรียกขวัญกำลังใจให้กลับคืนมาหลังจากการสูญเสีย Giuseppe? แต่หลังจากงานเลี้ยงเลิกรา จานชาม แก้วน้ำ วางกระจัดกระจาย เรียงรายซ้อนเป็นชั้นสูงลิบ ยังไม่ถูกนำไปล้างจัดเก็บ สะท้อนสภาพจิตใจของหญิงสาวช่วงขณะนั้น ไม่มีอะไรเป็นระเบียบเรียบร้อยสักอย่าง จมปลักอยู่ท่ามกลางกองพะเนินแห่งปัญหา รับประทานอาหารอย่างหมดอาลัยตายอยาก จากนั้นก็ฟลุบหลับ กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลออก ผู้ชมเริ่มรู้สึกสงสารเห็นใจตัวละคร
นี่ราวกับช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้น/ถือกำเนิดใหม่ นอนแผ่บนหาดทราย สถานที่รอยต่อระหว่างผืนน้ำ-แผ่นดิน เกิด-ตาย หลายๆคนคงคาดคิดว่า ต่อจากนี้ชีวิตของหนุ่มสาว คงกำลังค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก่อนที่ตอนจบจะ…
บทเรียนของฉากไคลน์แม็กซ์ ‘อย่าขับตามหลังรถบรรทุก’ อนาคตบนเส้นทางสายนี้ของพวกเขา มันช่างคลุมเคลือ มืดหมองหม่น ถูกปกคลุมไปด้วยท่อไอเสีย ควันพิษ มองอะไรข้างหน้าแทบไม่เห็น อุบัติเหตุมันจึงมีแนวโน้มสามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย
ตัดต่อโดย Mario Serandrei ยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Visconti, Mario Bava ผลงานเด่นๆ อาทิ Ossessione (1943), Senso (1954), Rocco and His Brothers (1960), Black Sunday (1960), The Leopard (1963), Black Sabbath (1963) ฯ
หนังเล่าเรื่องในมุมมองของ Gino Costa หนุ่มพเนจรที่ถูกไล่ลงจากท้ายรถบรรทุก พบเจอตกหลุมรักหญิงสาว ครองคู่อยู่สักพักกลับทนไม่ได้ ออกเดินทางหนีขึ้นรถไฟ หลับนอนกับ Spaniard อยู่สักพักหนึ่ง โชคชะตาจับพลัดให้หวนกลับมาพบเจอ ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น และสิ้นสุดตรงกึ่งกลาง
ถ้าแบ่งหนังออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง จะพบการสะท้อนกันราวกับกระจก
– ครึ่งแรกเริ่มต้นที่บ้านของ Giuseppe, ครึ่งหลังเริ่มนับตอนที่ Gino หวนกลับมายังบ้านของ Giuseppe
– ช่วงขณะที่ Gino หนี Giovanna ไปครองรักกับ Spaniard, ครึ่งหลังคือโสเภณีสาว Anita (รับบทโดย Dhia Cristiani)
– Gino หนีจาก Giovanna เพราะอดรนทนไม่ได้ต่อรักสามเส้า, Gino ตกหลุมรักสาวคนใหม่ Giovanna ติดตามไปพบเห็นจึงแสดงความอิจฉาริษยาขึ้นมา
– Gino หวนกลับมาพบเจอ Giovanna ด้วยความบังเอิญ, Gino กลับไปพบ Giovanna ด้วยความตั้งใจ
– จบครึ่งแรกคือความตายของ Giuseppe ตอนกลางคืน, จบครึ่งหลังคือโศกนาฎกรรมของ … ตอนกลางวัน ณ บริเวณริมทะเลสาปเดียวกันด้วยนะ
ฯลฯ
เพลงประกอบโดย Giuseppe Rosati สัญชาติอิตาเลี่ยน, แต่ส่วนใหญ่ของหนังมีลักษณะของ Digestic ได้ยินตัวละครขับร้อง เปิดวิทยุ หรือตามร้านอาหาร ผับบาร์ ฯ ซึ่งรสนิยมของ Visconti มีความชัดเจนมาก ประกอบด้วย
– บทเพลงที่ Giovanna ขับร้องยั่ว Gino ชื่อเพลง Fiorin fiorello
– Verdi: Di Provenza il mar, il suol จากโอเปร่าเรื่อง La Traviata ในหนังขับร้องโดย Juan de Landa
– Verdi: È il sol dell’anima, la vita è amore จากโอเปร่าเรื่อง Rigoletto
– Bizet: L’amour est un oiseau rebelle จากโอเปร่าเรื่อง Carmen
– Bizet: Je crois entendre encore จากโอเปร่าเรื่อง Les pêcheurs de perles
นำบทเพลงโด่งดังก้องโลก Fiorin Fiorello (1939) [แปลว่า Darling Little Flower] แต่งทำนองโดย Vittorio Mascheroni, คำร้องโดย Giuseppe Mendes, ต้นฉบับขับร้องโดย Alfredo Clerici (1911 – 1999) นักร้องเสียงอมตะ สัญชาติอิตาเลียน ใจความพรรณาความสุขเอ่อล้นในวันนี้ ที่กำลังตกหลุมรัก คลุ้มคลั่ง หักห้ามหยุดไม่ได้ อยากขับร้องเพลงออกมา ‘Fiorin, Fiorello’
สาเหตุที่ Visconti ไม่ใช้ชื่อนวนิยาย The Postman Always Rings Twice เพราะต้องการสื่อถึงใจความแท้จริงของหนัง Ossessione หรือ Obsession ความหมกมุ่น ลุ่มหลงใหล ยึดติดในบางสิ่งอย่าง เมื่อมันมีมากเกิน เว่อวัง จักเป็นผลพลอยให้เกิดหายนะ เหตุการณ์โศกนาฏกรรม
ความหมกมุ่นในที่นี้ ไม่ได้จำเพาะเฉพาะความร่านราคะเท่านั้น แต่ทั้ง 4-5 ตัวละคร จะมีความแตกต่างออกไป
– Giovanna เธอนี้ชัดเจนว่าหมกมุ่นในกาม ตัณหา ราคะ ไม่พึงพอใจกับเรือนร่างกายสามี พบเห็น Gino ออกอาการอ่อยเหยื่อโดยทันที
– Gino หมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกของตนเอง แปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆจากความรัก อิจฉาริษยา โหยหา ต่อมารู้สึกผิด ประชดประชัน สำนึก และหมดอาลัยสิ้นสูญ
– Giuseppe ชีวิตดีพร้อมมีทุกสิ่งอย่าง จึงมัวเมาไปกับสุนทรียะ สุขสำราญกายใจ กระทำอะไรๆโดยไม่สนความรู้สึกหัวอกผู้อื่น
– Anita ทำงานโสเภณี ขายเรือนร่างกายเพื่อนำ’เงิน’มาบำเรอความสุขส่วนตนเอง
– Spaniard หลงใหลในการแสดง เรือนร่าง งานศิลปะ
โลกยุคสมัยนี้ คงเป็นเรื่องยากจะหาบุคคลผู้ไม่ ‘หมกมุ่น’ อยู่กับสิ่งใด แต่ข้อคิดคติสอนใจคือให้รู้จักความเพียงพอดี ไม่มากหรือน้อยเกิน หรือเห็นแก่ตัวเองเกินไป ครุ่นคิดถึงหัวอกผู้อื่นบ้าง ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ เมื่อครั้นผิดหวัง ร่ำลา แยกจาก จะได้ไม่ติดคั่งค้าง หรือปล่อยวางยุ่งยาก ยื้อเหนี่ยวรั้งจนเกินงาม กลายเป็นขัดแย้ง ขัดศีลธรรม หรือเลวร้ายก็คือความตาย โศกนาฎกรรม
สองสิ่งที่เป็นตัวตนของ Visconti สะท้อนลงมาในภาพยนตร์เรื่องนี้
– อย่างแรกคือความเป็น Homosexual ผ่านตัวละคร Spaniard ลุ่มหลงใหลในการแสดง เรือนร่าง งานศิลปะ นี่ย่อมแทนได้ด้วยตัวตนของเขาเองเลย
– ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าร่วมพรรค Italian Communist Party ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงกับ Fascist Italian พบเห็นจากมิตรภาพ ให้การช่วยเหลือแบบไม่หวังตอบแทน และคำสนทนา Comrade นี่ชัดเจนเลยว่าสื่อถึงความเสมอภาคเท่าเทียม (คล้องกับประเด็น Homosexual ด้วยเช่นกัน)
รับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมเกิดความเข้าใจแนวคิด เปรียบเทียบได้ว่า Communist = Homosexual เพราะต่างสะท้อนถึงความเสมอภาคเท่าเทียม
– ปรัชญาแนวคิดของ Communist ระเบียบทางสังคมตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยปราศจากชนชั้น เงินตรา และอำนาจรัฐ
– ขณะที่ Homosexual รักร่วมเพศ คือการไม่แบ่งแยกชาย-หญิง ทั้งสองเพศมีความเสมอภาคเท่าเทียม ตกหลุมร่วมรักไขว้แต่งงานได้หมด โดยปราศจากข้อจำกัดทางเพศ ชนชั้น เงินตรา และข้อกำหนดทางสังคม!
อันนี้อาจฟังดูเลยเถิด แต่ครุ่นคิดให้ดีๆก็อาจพบความสอดคล้องกับปรัชญาแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน เพราะทุกสิ่งอย่างคือสาธารณะ ‘เจ้าของร่วมกัน’ ย่อมเหมารวมถึงชาย-หญิง สามี-ภรรยา ไม่มีใครเป็นเจ้าของกันและกัน สามารถแบ่งปันให้ผู้อื่น สวิงกิ้ง Group Sex ไม่จำกัด … เพ้อเจ้อไหมละ!
เมื่อหนังสร้างเสร็จสิ้นนำออกฉายปี 1943 แค่เพียงไม่กี่รอบก็ถูกค้นพบโดย Fascist และคริสตจักร (เห็นว่าบางโรงพอหนังฉายจบ ต้องให้บาทหลวงมาทำพิธีไล่ผีสางความซวย) ถูกสั่งแบนห้ามฉายโดยทันที แถมทำลายเผาทิ้งฟีล์มทุกสิ่งอย่าง โชคยังดีที่ Visconti ลักลอบแอบเก็บ Negative ไว้ได้ชุดหนึ่งจึงยังหลงเหลือมาถึงหลังสงครามสิ้นสุด
ถึงกระนั้น Ossessione ก็ไม่สามารถนำออกฉายต่างประเทศ เพราะ Visconti มิได้ติดต่อขอลิขสิทธิ์จากผู้เขียน James M. Cain ซึ่งขณะเดียวกันนั้นสตูดิโอ MGM กลับได้รับสิทธิ์ดัดแปลงดังกล่าวไปแล้ว กลายมาเป็น The Postman Always Rings Twice (1946)
จนถึงปัจจุบัน The Postman Always Rings Twice ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ทั้งหมด 6 ครั้ง
– Le Dernier Tournant (1939) ฉบับฝรั่งเศส กำกับโดย Pierre Chenal
– Ossessione (1942) ฉบับอิตาเลี่ยน
– The Postman Always Rings Twice (1946) ฉบับอเมริกัน, นำแสดงโดย Lana Turner ประกบ John Garfield
– The Postman Always Rings Twice (1981) ฉบับอเมริกันรีเมค, นำแสดงโดย Jack Nicholson, Jessica Lange
– Szenvedély (1998) ฉบับ Hungarian
– Jerichow, (2008) ฉบับ German-Turkish
ผมเคยรับชม The Postman Always Rings Twice ฉบับปี 1946 ค่อนข้างยอดเยี่ยมคลาสสิก (แต่คนละระดับกับ Ossessione) ขณะที่ 1981 ทั้งๆได้สองดาราระดับแม่เหล็ก แต่น่าผิดหวังพอสมควร (ถ้าชื่นชอบ Nicholson กับ Lange คงไม่ผิดหวังเท่าไหร่กระมัง)
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบ Ossessione มากๆเลยก็คือ ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Visconti เรียกระดับอัจฉริยะเลยก็ว่าได้! และการแสดงของ Clara Calamai อาจทำให้หลายๆคนตกหลุมรักใคร่ พิศวาส โหยหา ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเธอ
ค่อนข้างชั่งใจมากทีเดียวจะจัดเรื่องนี้ต้องดูให้ได้ก่อนตายหรือเปล่า? แฝงข้อคิดคติสอนใจชาย-หญิงชั้นเลิศ! แต่ผมว่าไดเรคชั่นของ Visconti ดูยากซับซ้อนเกินไปเสียหน่อย เลยขอยกไปแนะนำ The Postman Always Rings Twice (1946) น่าจะย่อยง่ายกว่ากันมาก [ไว้มีโอกาสแล้วจะเขียนถึงนะครับ รอบนี้ขอข้ามไปก่อน]
แนะนำคอหนังอาชญากรรม หลงใหล Italian Neorelist แฝงนัยยะต่อต้าน Fascist สนับสนุนส่งเสริม Communist, ชื่นชอบนวนิยาย The Postman Always Rings Twice ของ James M. Cain, แฟนๆผู้กำกับ Luchino Visconti, รู้จักนักแสดงนำ Clara Calamai, Massimo Girotti ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับความหมกมุ่น ร่านราคะ จนเป็นต้นกำเนิดโศกนาฎกรรม
Leave a Reply