Almanac of Fall (1984) : Béla Tarr ♥♥♥♡
ดำเนินเรื่องเพียงในอพาร์ทเม้นท์ที่มีสภาพเสื่อมโทรมทราม ไร้ผู้ดูแลทำความสะอาด สมาชิกทั้งห้าต่างมีความเห็นแก่ตัว เอาแต่ผลประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง การสนทนาเลยมักแค่สองต่อสอง แทบไม่เคยอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า และกระทำสิ่งต่างๆโดยไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น
แม้มันน่าหงุดหงิดกับคุณภาพ DVD (ยังไม่มีค่ายไหนทำ Blu-Ray) ที่ทั้งเบลอๆ เต็มไปด้วยริ้วรอย และอาจมีเฉดสีผิดเพี้ยน แต่ก็ต้องยอมรับว่าตำหนิเหล่านั้นช่วยเสริมสร้างบรรยากาศเสื่อมโทรมในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ ทำให้ผู้ชมรู้สึกหมดสิ้นหวังในการรับชม … นั่นคือจิตวิญญาณหนังของ Béla Tarr เลยนะ!
Öszi almanach (1984) หรือ Autumn Almanac หรือ Almanac of Fall เป็นผลงานที่แฟนๆหนัง Béla Tarr อาจไม่ค่อยรับรู้จักกันมากนัก เพราะครุ่นคิดว่ายังไม่ใช่ลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ ที่มักถ่ายทำแบบ Long Take เคลื่อนเลื่อนกล้องช้าๆ ปล่อยให้ภาพเล่าเรื่องแทนการพูดคุยสนทนา (หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยการสนทนาน้ำไหลไฟดับ) แต่ก่อนที่ผกก. Tarr จะครุ่นค้นพบวิธีการนำเสนอดังกล่าว ก็เคยสรรค์สร้างภาพยนตร์แบบทั่วๆไป
ภาพยนตร์สามเรื่องแรก Family Nest (1979), The Outsider (1981), The Prefab People (1982) มีลักษณะ Social Realism แฝงการวิพากย์วิจารณ์การเมือง นำเสนอสภาพความจริงของประเทศฮังการียุคสมัยนั้น จนกระทั่งมาถึง Almanac of Fall (1984) ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อผู้กำกับ Tarr บอกช่างแม้งแล้ว! ทำอะไรไปก็ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ หันมาสรรค์สร้างผลงานที่สะท้อนความรู้สึกหมดสิ้นหวัง บนสังคมเสื่อมโทรมทราม ไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศ
เมื่อตอนผมเขียนถึง The Bitter Tears of Petra von Kant (1972) ของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ที่มีลักษณะ Chamber Drama ดำเนินเรื่องเพียงในอพาร์ทเม้นท์หลังหนึ่ง พร้อมนักแสดง 4-5 คน ทำให้มีโอกาสรู้จักอีกหลายๆผลงานที่ใช้สถานที่แห่งเดียว และพบเจอ Almanac of Fall (1984) กลายเป็นอีกเรื่องที่ตั้งใจจะหามารับชมให้จงได้! … ผมได้ยินว่าผู้กำกับ Tarr เคยเอ่ยปากชื่นชม Fassbinder อย่างออกนอกหน้า! ใครช่างสังเกตก็น่าจะพบเห็นอิทธิพลแทรกอยู่ในหลายๆผลงาน ค่อนข้างชัดเจนเลยละ
คุณภาพของ Almanac of Fall (1984) เต็มไปด้วยแนวคิด ทดลองผิดลองถูก ร่องรอยพัฒนาการสู่สไตล์ลายเซ็นต์อันเป็นเอกลักษณ์, สิ่งที่ต้องชมคือการถ่ายภาพ แสงสีสันจัดจ้านมากๆ (เป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวของผกก. Tarr ที่ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี) เลือกมุมกล้องประหลาดๆ (แฝงนัยยะถึงทิศทางของสังคม ที่ไม่รู้จะดำเนินต่อไปยังไง) ก่อนทุกสิ่งอย่างเวียนวงกลม หวนกลับมาบรรจบ เหมือนไม่เคยมีอะไร/บังเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ
Béla Tarr (เกิดปี 1955) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Pécs แล้วมาเติบโตยัง Budapest, บิดาเป็นนักออกแบบฉากพื้นหลัง มารดาทำงานนักบอกบท (Prompter) ในโรงละครเดียวกัน ทำให้ตั้งแต่เด็กมีโอกาสวิ่งเล่น รับรู้จักโปรดักชั่นละครเวที ตอนอายุ 10 ขวบ ได้รับเลือกแสดงภาพยนตร์โทรทัศน์ ก่อนค้นพบว่าตนเองไม่มีความชื่นชอบ(ด้านการแสดง)สักเท่าไหร่ ตั้งใจอยากเป็นนักปรัชญา แต่เมื่ออายุ 16 หลังจากสรรค์สร้างสารคดีสั้น 8mm ไปเข้าตาสตูดิโอ Béla Balázs Studios ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ฮังการี สั่งห้ามเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพื่อบีบบังคับให้เขาเลือกสายอาชีพผู้กำกับ (ตอนนั้นก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร เพราะภาพยนตร์คือสิ่งที่ตนเองชื่นชอบหลงใหลอยู่แล้ว)
ผลงานช่วงแรกๆของผู้กำกับ Tarr ยึดถือตามแบบอย่าง ‘Budapest School’ มักเป็นแนวสารคดี บันทึกสภาพความจริง วิถีชีวิตคนงาน สภาพเสื่อมโทรมย่านชานเมือง นำเสนอในลักษณะ ‘social realism’ นักวิจารณ์ทำการเปรียบเทียบ John Cassavetes แต่เจ้าตัวบอกไม่รับรู้จักใครคนนี้ด้วยซ้ำ
ความสิ้นหวังต่อสถานการณ์ทางการเมือง ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ Hungarian People’s Republic ทำให้ผู้กำกับ Tarr ตัดสินใจละทอดทิ้งแนวทาง ‘social realism’ หันมาสรรค์สร้างผลงานที่เป็นการสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมา เพื่อนำเสนอความท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ไม่ต่างไปจากวันสิ้นโลกาวินาศ เริ่มตั้งแต่ Almanac of Fall (1984), แล้วพัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ Damnation (1988), กลายเป็นผลงานมาสเตอร์พีซ Sátántangó (1994), Werckmeister Harmonies (2000), The Man from London (2007) และ The Turin Horse (2011)
ลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ มักแช่ค้างภาพไว้นานๆ Long Take ระยะ Long Shot (แต่เวลาตัวละครสนทนาอย่างออกรสจะใช้ระยะภาพ Close-Up) มีการขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องชักช้า ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดที่ถูกปกปิดซ่อนเร้นไว้ สลับสับเปลี่ยนมุมมอง บางครั้งก็หมุนเวียนวงกลม 360 องศา ซึ่งพอเหตุการณ์ในซีนนั้นๆจบลงจะปล่อยทิ้งภาพสักระยะ (สร้างความรู้สึกเหมือนจะมีอะไรต่อ แต่ก็ไม่เคยเห็นมีอะไร) โดยเนื้อหาสาระมักเกี่ยวกับการสูญเสีย ท้อแท้สิ้นหวัง ต้องการออกไปจากสถานที่แห่งนี้ (หรือคือประเทศฮังการี) แต่กลับมีบางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้ง สร้างบรรยากาศสังคมเสื่อมโทรมทราม ราวกับวันสิ้นโลกาวินาศ ชีวิตไม่หลงเหลืออะไรต่อจากนี้ (ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ทุกสิ่งอย่างจักเวียนมาบรรจบเหมือนไม่มีเคยสิ่งใดๆบังเกิดขึ้น)
เรื่องราวทั้งหมดของ Almanac of Fall เกิดขึ้นในอพาร์ทเม้นท์ของเศรษฐีนีสูงวัย Hédi (รับบทโดย Hédi Temessy) แรกเริ่มอาศัยอยู่กับบุตรชาย János (รับบทโดย János Derzsi) วันๆไม่เห็นทำอะไรนอกจากแบมือขอเงินไปเที่ยวเล่น สนเพียงกองมรดก จักได้ครอบครองทุกสิ่งอย่างหลังมารดาตกตายจากไป
Hédi ล้มป่วยโรคอะไรก็ไม่รู้ ทำให้ต้องว่าจ้างนางพยาบาล Anna (รับบทโดย Erika Bodnár) ซึ่งนำพาชายคนรัก Miklos (รับบทโดย Miklós B. Székely) มาพักอาศัยอยู่ร่วมกัน และยังมีครูสอนดนตรี Tibor (รับบทโดย Pál Hetényi) ที่แสดงออกว่าชื่นชอบ Hédi แต่ดันไปมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับ Anna สร้างความไม่พึงพอใจแก่ Miklos โน้มน้าวชักจูง János ให้ใช้กำลังข่มขืนเธอข้างตู้เย็น
เหตุการณ์ยิ่งทวีความวุ่นวายเมื่อ Tibor แอบลักขโมยเครื่องเพชรของ Hédi เพื่อนำเงินไปชดใช้หนี้สิน กลับถูกพบเห็นโดย János เลยใช้กำลังข่มขู่ แบล็กเมล์ จนสามารถทวงคืนใบจำนำ ครุ่นคิดแผนการหลบหนีไปกับ Anna แต่ความไปเข้าหู Miklos ให้คำแนะนำ Hédi โทรศัพท์แจ้งตำรวจจับ Tibor ผลลัพท์ทำให้ไม่มีใครอื่น (นอกจาก Tibor ที่ถูกตำรวจจับกุม) สามารถออกไปจากอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้
โดยฉากสุดท้ายพิธีหมั้นหมาย/แต่งงานระหว่าง János กับ Anna แต่เขากับมารดากลับมีสีหน้านิ่วคิ้วขมวด ร่ำร้องไห้ออกมา ผิดกับ(ว่าที่)ภรรยาและจอมวางแผน Miklos กำลังโอบกอดเต้นระบำอย่างสุขเกษมกระสันต์ ราวกับพวกเขาได้เป็นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ไปเสียแล้ว!
Hédi Temessy ชื่อจริง Hedvig Temesi (1925 – 2001) นักแสดงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest มารดาเป็นชาวเยอรมัน ส่วนบิดาเป็นชาวฝรั่งเศส (เธอเลยสื่อสารได้ทั้งสองภาษา), ตอนแรกตั้งใจจะเป็นครู แต่หลังสำเร็จการศึกษาเข้าเรียนต่อด้านการแสดงยัง Színház- és Filmművészeti Egyetem (SZFE) จากนั้นกลายเป็นสมาชิก Youth Theater ตามด้วย Petőfi Theater พร้อมๆรับงานภาพยนตร์เรื่องแรก Strange Marriage (1951), ผลงานเด่นๆ อาทิ A pénzcsináló (1964), A Strange Role (1976), The Vulture (1982), The Revolt of Job (1983), Almanac of Fall (1984), Damnation (1988), Film… (2000) ฯลฯ
รับบท Hédi มารดาผู้มีความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจบุตรชายที่วันๆเอาแต่แบมือของเงิน เคยขนาดท้าทายให้เข่นฆ่าตนเองเพื่อกองมรดก แต่เขาก็มิอาจกระทำได้ลง! ผิดกับใครอื่นที่เธอแสดงอัธยาศัยดีงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ทุกคนล้วนหน้าไหว้หลังหลอก สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ หวังแก่งแย่งชิง/ครอบครองอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ไม่ต่างกัน
ในบรรดาทีมนักแสดงชุดนี้ Temessy มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่หลากหลาย เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวอ่อนโยน-เดี๋ยวเกรี้ยวกราด ใบหน้าเต็มไปด้วยริ้วรอยแสดงถึงความดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ เย่อหยิ่งทะนงตน แต่กลับไม่รู้ทันคน ไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่นโดยง่าย ทำให้ถูกลวงล่อหลอก มารู้ตัวอีกทีก็แทบสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่างไป
ถ้าเราเปรียบอพาร์ทเม้นท์หลังนี้คือฮังการี ตัวละครมารดา(เจ้าของอพาร์ทเม้นท์)ก็คือชนชั้นผู้นำ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ถือว่าเป็นของประเทศ(ขณะนั้น) ชอบใช้อำนาจในการออกกฎหมาย ควบคุมครอบงำ กดขี่ข่มเหงประชาชน กระทำสิ่งต่างเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง แต่โดยไม่รู้ตัวภายในเต็มไปด้วยหนอนบ่อนไส้ ที่พร้อมกัดกร่อน บ่อนทำลาย จนสุดท้ายมาตุภูมิแห่งนี้ (Motherland) แห่งนี้คงแทบไม่หลงเหลืออะไร
Erika Bodnár (เกิดปี 1948) นักแสดงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest ผลงานเด่นๆ อาทิ Voyage with Jacob (1972), Harminckét nevem volt (1972), Almanac of Fall (1984), Love, Mother (1987), Before the Bat’s Flight Is Done (1989) ฯลฯ
รับบทนางพยาบาล Anna ที่ได้รับคำชักชวนจาก Hédi ให้มาพักอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ แรกๆก็แสดงอัธยาศัยดีงาม เพียงขอให้ชายคนรัก Miklos มาพักอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ไม่นานวันก็หลงคารม/ร่วมรักกับ Tibor เลยถูก János ข่มขืนกระทำชำเรา (เป็นการเอาคืนของ Miklos ด้วยการโน้มน้าวล่อหลอก János) ถึงปากจะว่าร้าย สุดท้ายกลับยินยอมแต่งงานกับเขา โดยจุดประสงค์แท้จริงคือต้องการครอบครองเป็นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้
ตัวละครของ Bodnár ถือว่าเต็มไปด้วยเสน่ห์ เล่ห์กล มารยาหญิง ระริกระรี้แรดร่าน เอาได้หมดถ้าสดชื่น (แม้แต่ Hédi ก็อาจไม่ยกเว้น) ใครก็ตามสามารถตอบสนองตัณหา/ความต้องการของร่างกาย-จิตใจ ค้นพบสถานที่สำหรับพักอยู่อาศัย ได้ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง
ตอนจบของหนังแม้ว่า Anna จักหมั้นหมาย/แต่งงาน János แต่เธอกลับโอบกอด/ระบำอย่างดื่มด่ำกับ Miklos นั่นแสดงถึงธาตุแท้ตัวตน เอาจริงๆไม่ได้ใคร่สนใจ Hédi และบุตรชายไปมากกว่าการได้ครอบครองเป็นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ (การแต่งงานทำให้เธอได้รับสิทธิ์นั้นโดยปริยาย) และอาศัยอยู่กับชายคนรักที่แท้จริง (สามารถเปิดเผยโดยที่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้)
Miklós B. Székely (เกิดปี 1948) สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest มีผลงานทั้งละครเวทีและภาพยนตร์ หนึ่งในนักแสดงขาประจำผู้กำกับ Béla Tarr ตั้งแต่ Almanac of the Fall (1984), Damnation (1987), Sátántangó (1994) ฯลฯ
รับบท Miklós ชายคนรักของ Anna เป็นคนนิ่งๆ เงียบๆ ชอบแอบฟังคำสนทนา สอดรู้สอดเห็นเรื่องของผู้อื่น เรียกว่ารับรู้แทบทุกสิ่งต่างๆที่บังเกิดขึ้นในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ นั่นรวมถึงตอนเธอร่วมรักหลับนอนกับ Tibor สร้างความหงุดหงิดไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง! เลยวางแผนโน้มน้าวให้ János ข่มขืนกระทำชำเรา
Miklós มีความสนิทสนมกับ Hédi มักนำข่าวคาวมาซุบซิบ จนสร้างความเชื่อมั่น กลายเป็นที่ปรึกษายามมีปัญหาค้างคาใจ ไม่นานเลยสามารถโน้มน้าว ชักจูงจมูก ให้กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการแท้จริงของตนเอง
ทั้งภาพลักษณ์และการแสดงของ Székely เต็มไปด้วยความลึกลับลมคมใน ใบหน้านิ่งๆ คำพูดเหมือนจะจริงใจ ทำให้หลายคนมักมอกว่าเขาคือผู้มีประสบการณ์ พานผ่านอะไรๆมามาก ดูมีความน่าเชื่ออย่างยิ่ง! แต่พฤติกรรมหลายๆอย่างล้วนสร้างข้อกังขา บ่อยครั้งมักเป็นบุคคลที่สามหลบซ่อนอยู่หลังประตู-กำแพง แอบรับฟังคำสนทนา รับรู้เห็นพฤติกรรมของผู้อื่น (สังเกตจากวิธีการถ่ายภาพก็ยังได้ เมื่อไหร่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังแอบถ้ำมอง นั่นน่าจะเพราะอยู่ในสายตาของ Miklós ก็เป็นได้!)
ไม่ผิดอะไรจะเรียกตัวละครนี้ว่าปลิง/แมงดา (นี่คือคำเรียกของ Anna นำพาเขามาจากข้างถนน) คอยเกาะแก่งผู้อื่นเพื่อเอาชีพรอด ในตอนแรกคือ Anna แต่เมื่อถูกเธอสลัดทิ้งจึงต้องใช้ทางเลือกสำรองนั่นคือ Hédi พูดโน้มน้าวจนสามารถล้วงความลับสถานะทางการเงิน กลายเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ จึงมิอาจถูกขับไล่ออกไปจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้
János Derzsi (เกิดปี 1954) สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Nyírábrány หนึ่งในนักแสดงขาประจำผู้กำกับ Béla Tarr ตั้งแต่ Almanac of the Fall (1984), Sátántangó (1994), Werckmeister Harmonies (2000), The Man from London (2007) และ The Turin Horse (2011) ฯลฯ
รับบท János บุตรชายที่พึ่งพาไม่ค่อยได้ของ Hédi ชอบใช้ชีวิตอย่างเตร็ดเตร่ สำมะเลเทเมา เมื่อไม่พึงพอใจอะไรใครก็พร้อมใช้กำลัง ความรุนแรง เคยทั้งข่มขืน ข่มขู่ แบล็กเมล์ผู้อื่น เพื่อให้ได้ในสิ่งตอบสนองความต้องการ แต่ถึงแม้เต็มไปด้วยความขัดแย้งต่อมารดา กลับไม่เคยหาญกล้ากระทำอะไรร้ายแรงต่อบุพการี
ตัวละครของ Derzsi คือตัวแทนคนรุ่นใหม่(ของประเทศฮังการี) เติบโตขึ้นในสังคมที่ถูกควบคุมครอบงำ มารดามักออกคำสั่งห้ามโน่นนี่นั่น ทำให้เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น สะสมอารมณ์โกรธเกรี้ยวกราดไว้ภายใน เลยกลายเป็นคนโหยหาอิสรภาพ อยากกระทำสิ่งต่างๆตามใจ เลยมักใช้กำลังความรุนแรง โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว เพื่อตอบสนองตัณหาราคะ เติมเต็มความต้องการของหัวใจ
การร่ำร้องไห้ช่วงท้ายของ János คงเพราะตระหนักถึงความโง่เขลาของตนเอง กับมารดาที่เคยโต้เถียง มีเรื่องขัดแย้งมากมาย แต่ก็ไม่เคยตัดแม่ตัดลูก อนาคตหลังเธอจากไปก็ยังคงได้รับมรดกก้อนใหญ่ แต่การตัดสินใจแต่งงานกับ Anna เพราะถูกลวงล่อหลอกโดย Miklós นั่นคือหายนะครั้งใหญ่ เพราะค้นพบว่านอกจากเธอไม่ได้มีความรัก ยังเหมือนสูญเสียทุกสิ่งอย่างในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ไป
Pál Hetényi (1935-94) นักพากย์/นักแสดง สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest ได้รับการฝึกฝนด้านการแสดงจาก NFI Stúdió เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยแสดงซีรีย์/ภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ Time Stands Still (1982), Almanac of the Fall (1984) ฯลฯ
รับบทครูสอนดนตรีหนวดดก Tibor ดูเป็นคนทึ่มๆทื่อๆ แสดงความซื่อสัตย์จริงใจ พยายามเสี้ยมสอนสิ่งถูกต้องต่อ János พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าชื่นชอบตกหลุมรัก Hédi แต่กลับไปมีเพศสัมพันธ์กับ Anna นั่นเพราะจุดประสงค์แท้จริงสนเพียงเงินๆทองๆ ต้องการทำทุกสิ่งอย่างเพื่อชดใช้หนี้สิน เมื่อทำไม่สำเร็จเลยลักขโมยเครื่องประดับ พอถูกจับได้เลยต้องชดใช้ผลกรรม
ภาพลักษณ์ของ Hetényi เหมาะสำหรับเป็นนักแสดงตลกอย่างยิ่ง! แม้มีความสามารถด้านการเล่นดนตรี (ความบันเทิงของชนชั้นสูง) แต่อะไรอย่างอื่นล้วนดูต่ำต้อยด้อยค่า พยายามสร้างภาพว่าเป็นคนซื่อสัตย์จริงใจ แต่กลับปากว่าตาขยิบ ขมิบคำพูดออกมาไม่เคยตรงกับภายใน เมื่อถูกจับได้ก็ยังคงแก้ต่าง หาข้ออ้างฟังไม่ขึ้น ด้วยเหตุนี้ช่วงท้ายเลยกลายเป็น ‘แพะรับบาป’ ทั้งๆอาจถือว่ามีความผิดน้อยสุดในบรรดาสมาชิกอพาร์ทเม้นท์หลังนี้
นั่นเพราะตัวละครอื่นๆสามารถสร้างภาพ เล่นละคอนตบตา ปกปิดซุกซ่อนเร้นสันดานธาตุแท้จริงไว้ภายใน มีเพียง Tibor ที่ดูต่ำต้อยด้อยค่า ไร้ราคาจากการถูกจับได้คาหนังคาเขา เลยกลายเป็นแพะที่ต้องโดนกำจัดจุดอ่อน เพื่อนำพาความสงบสันติสุขบังเกิดขึ้นในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้
ถ่ายภาพโดย Buda Gulyás, Sándor Kardos, Ferenc Pap
แม้ว่าหนังจะถ่ายทำเพียงในอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งที่มีสภาพรกๆ ดูเสื่อมโทรม ไร้คนทำความสะอาด แต่ผู้ชมกลับไม่สามารถจินตนาการพิมพ์เขียวของสถานที่แห่งนี้ (แค่พอแยกแยะได้ว่ามีห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ ฯ) เพราะมุมกล้องนั้นถือว่ามีความแปลกประหลาดระดับพิศดาร ชอบที่จะเคลื่อนเลื่อนเวียนวนไปวนมา ซูมเข้าซูมออก หลายครั้งถ่ายแบบแอบๆซ่อนๆจากอีกห้องหับ (ให้ความรู้สึกเหมือนมีใครกำลังแอบถ้ำมอง) แล้วจู่ๆถ่ายลงมาจากบนเพดาน และอีกครั้งถ่ายจากพื้นเงยขึ้นไป ยังไงหว่า?? … ความหลากหลายของมุมกล้อง สามารถสื่อถึงความไม่แน่นอน ไร้ทิศทางดำเนินไปของใครต่อใครในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ มีเพียงจุดศูนย์กลางคือ Hédi เมื่อไหร่ยัยแก่นี่จะตกตาย ฉันจะได้ครอบครองมรดกทุกสิ่งอย่าง!
วิธีการดำเนินเรื่องของหนัง ส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักแสดงเพียงสองคนกำลังพูดคุยสนทนา หรือกระทำอะไรบางอย่างระหว่างกัน (ชกต่อย ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ) นานๆครั้งถึงพบเห็นบุคคลที่สาม-สี่ แต่มักในลักษณะถ้ำมอง แอบจับจ้อง ดั่งสำนวน ‘กำแพงมีหู ประตูมีช่อง’ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการสนทนาใดๆ และเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่สมาชิกทั้งห้าอยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน (แต่เป็นช็อตที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในความเพ้อฝันเสียมากกว่า!)
ส่วนการจัดแสงนั้นเต็มไปด้วยสีสัน บ่อยครั้งสาดเฉดตรงกันข้าม (น้ำเงิน-ส้ม) อาบฉาบตัวละคร เพื่อแสดงถึงความขัดแย้ง/ครุ่นคิดเห็นแตกต่างระหว่างทั้งสอง เมื่อสามารถพูดคุยปรับความเข้าใจถึงค่อยเคลื่อนเลื่อนกล้องให้เห็นอีกฝากฝั่งอาบแสงขาว (หรือตัวละครขยับเคลื่อนเลื่อนตำแหน่ง ให้ใบหน้าอาบฉาบเฉดสีเดียวกัน) แต่ถ้าปกคลุมด้วยความมืดมิด หรือพบเห็นพื้นหลังแสงสีเขียว นั่นคือสัญลักษณ์ของความโฉดชั่วร้าย ลับลมคมใน มีบางสิ่งอย่างไม่ถูกต้องบังเกิดขึ้น
สำหรับคนที่ช่างสังเกตน่าจะพบเห็นว่า ไดเรคชั่นการถ่ายภาพของ Almanac of the Fall (1984) ล้วนเต็มไปด้วยลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ แต่เพียงเพราะสถานที่ดำเนินเรื่องมีเพียงภายในอพาร์ทเม้นท์แห่งเดียว มันจึงถูกห้อมล้อมด้วยผนังกำแพง (ไม่เห็นหน้าต่างสักบาน) เท่านั้นเองนะครับ!
Even if you lead me,
Alexander Pushkin
this land is unknown.
The devil is probably leading,
going round and round in circles.
เริ่มต้นด้วยบทกวีของ Alexander Pushkin (1799-1837) นักเขียนนวนิยาย/คีตกวีได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของชาวรัสเซีย! ซึ่งใจความเป็นการบอกใบ้ทิศทางของหนัง และถือเป็นหนึ่งในลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ ที่เริ่มต้น-สิ้นสุด รวมถึงหลายๆครั้งกล้องมักเคลื่อนหมุนวน 360 องศา … เอาไว้ผมอธิบายที่ฉากสุดท้ายทีเดียวแล้วกันว่า เรื่องราวของหนังมันมีทิศทางเวียนวน เริ่มต้น-สิ้นสุด หวนกลับมาบรรจบกันได้อย่างไร
ผมคงไม่ลงรายละเอียดทุกครั้งเมื่อพบเห็นระหว่างการพูดคุยสนทนา มีแสงคนละเฉดสีอาบฉาบตัวละคร (ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำเงิน-ส้ม) เพราะนัยยะชัดเจนอยู่แล้วว่าคือความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่าง แต่ไม่ได้แปลว่าต้องมีการกระทบกระทั่ง ปะทะคารมอะไรกันนะครับ แค่เพียงมุมมองในเรื่องที่พวกเขากำลังสนทนา เข้าใจไม่ตรงกันก็เท่านั้น
มันเป็นความบ้าระห่ำอย่างแท้จริงของผู้กำกับ Tarr การจัดแสงลักษณะนี้มันไม่ง่ายเลยนะ! (ก็ว่าใช้ตากล้องตั้งสามคน) ช็อตนี้มันยังง่ายๆเพราะแสงคนละสีอาบฉาบตัวละคร ความท้าทายจะเกิดขึ้นเมื่อมีการซ้อนทับ หรืออีกด้านหนึ่งสาดแสงขาว และยังมีพื้นหลังสีเขียว … ขนาดว่านักวิจารณ์ต่างประเทศเปรียบเทียบการใช้สีสันของหนังเหมือนกล้องสลับลาย (Kaleidoscope)
หนึ่งในลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ คือระหว่างการสนทนาที่กำลังออกรสชาติเข้มข้น กล้องจะค่อยๆซูมเข้าหาใบหน้าตัวละครจนถึงระยะ Close-Up นี่เป็นวิธีการที่คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยรู้ตัว ไม่ทันสังเกตเห็น แต่เทคนิคดึงดูดความสนใจ เหมือนต้องการเน้นย้ำว่านี่คือเนื้อหาสาระสำคัญบางอย่าง
ช่วงระหว่างที่มารดา Hédi ทะเลาะขึ้นกับเสียงกับบุตรชาย János มุมกล้องมีลักษณะเหมือนการแอบถ่ายจากอีกห้องหนึ่ง เคลื่อนเลื่อนเวียนวนไปมา และปรับเปลี่ยนระยะใกล้-ไกล Medium Shot vs. Long Shot (ขณะกล้องเคลื่อนเลื่อนผ่านผนังกำแพงที่มีความมืดมิด จะมีการตัดต่อสลับสับเปลี่ยนระยะภาพใกล้-ไกล)
แม้เราจะไม่พบเห็นบุคคลที่สามในฉากนี้ แต่ลักษณะการถ่ายทำเหมือนมีใครบางคนแอบจับจ้อง ถ้ำมองดู สอดรู้สอดเห็น ให้ความรู้สึกเหมือนสำนวน ‘กำแพงมีหู ประตูมีช่อง’ พบเห็นอยู่บ่อยครั้งทีเดียว พอคาดเดากันได้ไหมเอ่ยว่าน่าจะเป็นใคร?
หนึ่งในฉากที่ผมรู้สึกว่าเป็นการบอกใบ้พอสมควรก็คือ Miklós นั่งอ่านหนังสืออยู่ภายนอก กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนเข้าไปในห้องอาบน้ำ พบเห็น Hédi กำลังพูดคุยอยู่กับ Anna และเตรียมที่จะฉีดยา! นี่อาจไม่ใช่การแอบฟัง เพราะหญิงสาวทั้งสองน่าจะรับรู้ว่าเขานั่งอยู่นอกห้อง หัวข้อสนทนาก็ไม่ใช่ความลับอะไร แต่กลับให้ความรู้สึกที่ไม่เป็นส่วนตัวสักเท่าไหร่
ระหว่างที่ Hédi กำลังสนทนากับ Tibor ผมรู้สึกโคตรรำคาญเมื่อมีอะไรก็ไม่รู้เบลอๆวางอยู่เบื้องหน้าตัวละคร แถมกล้องก็เคลื่อนไปเคลื่อนมา ดึงดูดสายตาให้มิอาจปล่อยละวาง ซึ่งพอถ่ายภาพมุมกว้างถึงสังเกตเห็นว่ามันคือขวดเหล้า/ขวดไวน์ เป็นการแสดงให้เห็นอิทธิพล ความมึนเมา พูดเล่าระบายความอัดอัดอั้นภายใน … แต่เขาคือคนแปลกหน้าไม่ใช่หรือ (เพิ่งย้ายเข้ามาอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ได้ไม่นาน) แต่เธอกลับทำตัวไม่สนสำนวน ‘ไฟในอย่านำออกไฟนอกอย่านำเข้า’
ระหว่างที่ Anna กำลังตัดแต่งทรงผมให้ Miklós เธอก็พยายามโน้มน้าวให้เขาเข้าไปตีสนิท Tibor เรียกว่าเป็นการจัดแจง (เหมือนการตัดแต่งทรงผม) ต้องการให้ชายคนรักทำในสิ่งที่ตนเองคาดหวัง แต่เขากลับพูดในทำนองว่าฉันคือคนตัดสินใจด้วยตนเองที่จะเข้าไปพูดคุยกับสมาชิกคนใหม่ (คือไม่ต้องการถูกเธอควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วสั่งให้ทำโน่นนี่นั่น)
ถือเป็นฉากชัดเจนที่สุดในหนังถึงพฤติกรรมของ Miklós กำลังแอบรับฟังโทรศัพท์ของ Tibor ทำให้พอคาดเดาได้ว่าชายคนนี้มีลับลมคมในอะไร แต่สิ่งน่าประทับใจโคตรๆของฉากนี้คือลีลาการถ่ายภาพ
- เริ่มจากจับจ้องใบหน้าของ Tibor กำลังพูดคุยโทรศัพท์
- เมื่อเสียงเพลงดังขึ้น กล้องจะเคลื่อนเลื่อนมาจับภาพ Miklós ที่แอบหลบซ่อนตัวอยู่อีกห้อง
- จากนั้นกล้องดำเนินมายังอีกห้องของ Miklós นี่ถือเป็นการสลับสับเปลี่ยนมุมมองมองตัวละคร
- จากนั้นถ่ายภาพ Tibor ลอดผ่านมุมมองของ Miklós
- และจบที่กล้องถ่ายภาพใบหน้าของ Miklós
ผมขออธิบายสองช็อตนี้ในคราเดียวกัน เพราะมันเป็นมุมกล้องที่แปลกประหลาดพิศดาร แต่มีทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม คือถ่ายจากเบื้องบนเพดานลงมา และเงยขึ้นจากพื้น (กระจกขนาดใหญ่)
การถ่ายมุมก้มจากเบื้องบนให้ความรู้สึกเหมือน Miklós กำลังกุมชะตาชีวิตของ Tibor (เพราะแอบรับรู้ความลับของอีกฝ่าย) เช่นกันกับการถือมีดโกนหนวดโกนเครา (ที่สามารถเชือดคออีกฝั่งได้โดยง่าย) และเฉดสีแดงที่สามารถสื่อถึงความรุนแรง
สำหรับมุมเงยขึ้นจากพื้น เกิดขึ้นหลังจาก Miklós ไม่พึงพอใจพฤติกรรมของ Tibor (ที่ร่วมรักหลับนอนกับแฟนสาว Anna) จึงกระทำการเหยียบย่ำยี ใช้ความรุนแรงกระทำร้ายร่างกาย เหมือนต้องการให้อีกฝ่ายถูกธรณีสูบจมสู่ก้นผืนปฐพี แต่หญิงสาวทั้งสองก็ตรงรี่เข้ามาหักห้ามปรามได้ทัน
การแอบเข้ามาในห้องนอนของ Hédi นี่ก็เป็นอีกลับลมคมในของ Miklós แถมใบหน้าเริ่มจากอาบฉาบแสงสีแดง แล้วพอยืนขึ้นก็ปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท หมอนี่ครุ่นคิดชั่วร้ายอะไรกัน?
ผมครุ่นคิดว่าหัวขโมยเครื่องประทับ แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ Tibor แต่คือฉากนี้แหละที่ Miklós แอบเข้ามาในห้องนอนของ Hédi แล้วกระทำการโจรกรรมกำไลข้อมือ จากนั้นนำไปส่งมอบหรือทำอะไรบางอย่างล่อตาล่อใจ เพื่อให้อีกฝ่ายหยิบไปจำนำชดใช้หนี้สิน กลายเป็นแพะรับบาปโดยไม่ทันรู้ตัว … ถือเป็นจอมวางแผนโดยแท้!
มุมกล้องเอียงๆ แสงสว่างสีเขียว ในห้องรกๆ เต็มไปด้วยสิ่งข้าวของกระจัดกระจาย ล้วนสื่อถึงความเสื่อมโทรมของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ (=ประเทศฮังการี) ไม่มีใครดูแลรักษา เก็บกวาด ทำความสะอาด จัดข้าวของเข้าที่เข้าทาง แม้มีสมาชิกอยู่ถึงห้าคน แต่พวกเขาต่างบ่ายเบี่ยง ปฏิเสธความรับผิดชอบ หาใช่ภาระหน้าที่ของตนเองในการทำสถานที่แห่งนี้ให้น่าอยู่อาศัย … แสดงถึงความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่ใคร่สนผู้อื่นแต่อย่างใด
เปียโน ในบริบทนี้ถือเป็นตัวแทนอารยะธรรมของมนุษย์ แม้ยังสามารถบรรเลงเล่นเพลง แต่อยู่ท่ามกลางเศษกระดาษ ขยะเต็มพื้นเกลื่อนกลาด สถานที่ที่มีความเสื่อมโทรมทราม ช่างเป็นสิ่งขัดย้อนแย้งกันสิ้นดี!
กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลจากอ่างล้างจานพานผ่านประตูห้องไปจนถึงเตาอบ (มั้งนะ) ให้ความรู้สึกเหมือนใครบางคนกำลังเดินผ่าน (จะมีใครเสียอีกละ!) แล้วแอบพบเห็น Anna ก้มศีรษะกำลังทำ ‘blowjob’ ให้กับ Tibor แน่นอนว่าพวกเขาคงต้องต่อด้วยการมีเพศสัมพันธ์
เหตุผลที่ Anna ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับ Tibor น่าจะเพราะความสงสารเห็นใจล้วนๆ ฝ่ายชายเหมือนถ้วยชาม/แก้วน้ำที่ถูกทอดทิ้งไว้ในอ่าง (ไม่มีใครเหลียวแล รับผิดชอบล้างจาน) เช่นเดียวกับเก้าอี้ที่ว่างเปล่า และเตาอบที่ไม่มีอะไรอยู่ข้างใน … จริงๆเตาอบยังสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงอารมณ์(ทางเพศ)อันลุ่มร้อนของ Anna ก็ได้กระมัง (เพื่อล้อกับตอนถูกข่มขืนข้างตู้เย็น)
หลังจาก Anna มีเพศสัมพันธ์กับ Tibor นำความมาอ้างอวดกับ Hédi เห็นตอนแรกก็ยังดูยิ้มแย้ม บอกว่ายินยอมรับได้ นั่นไม่ใช่เรื่องของฉัน แต่เมื่อเธอพร่ำเพ้อไม่ยอมหยุดสักที ปฏิกิริยาสีหน้าของ Hédi ก็เริ่มแสดงอาการหงุดหงิด ไม่พึงพอใจ อิจฉาริษยาร่วมด้วยกระมัง
คือถ้า Anna ไปมีความสัมพันธ์กับใครอื่น Hédi ก็คงยังแสดงปฏิกิริยาอย่างนี้ ไม่ยี่หร่า ไม่สนใจ ไม่ใช่เรื่องของฉัน แต่เมื่อเธอสานสัมพันธ์(ถูกข่มขืน)บุตรชาย János นั่นเป็นสิ่งยินยอมรับไม่ได้อย่างเด็ดขาด! แบบนี้เรียกมนุษย์ป้าก็ได้กระมัง
โดยปกติแล้ว Miklós จะเป็นที่ปรึกษา รับฟังปัญหาของ Hédi แต่หลังจากถูก Anna ทรยศหักหลัง มีเพศสัมพันธ์กับ Tibor อะไรๆก็เริ่มพลิกกลับตารปัตร!
ปฏิกิริยาท่าทางของ Miklós เต็มไปด้วยความรุกรี้รุกรน ชัดเจนว่าไม่พึงพอใจต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้น (ก่อนฉากถัดๆไปจะเข้าไปชกต่อย Tibor จนลงไปนอนกองกับพื้น) พูดคุยในเชิงขอคำแนะนำ Hédi ระหว่างกำลังเล่นไพ่ (สื่อถึงการเล่นเกมอะไรบางอย่าง) นั่นทำให้เธอรู้สึกเหมือนเป็นบุคคลสำคัญให้เขาพึ่งพักพิง (สังเกตว่าเธอนั่งบนโซฟา ส่วนเขานั่งลงกับพื้น) นี่น่าจะคือเหตุผลหนึ่งกระมังที่ทำให้ Hédi บังเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อ Miklós
Miklós วางแผนแก้ล้างแค้นด้วยการพูดคุยโน้มน้าว János ให้พยายามเข้าหา Anna แม้ไม่เชิงชี้ชักนำเรื่องการข่มขืน แต่มันคือจุดเริ่มต้นของการเอาคืนอีกฝั่งฝ่าย! ถ่ายช็อตนี้พบเห็นภาพสะท้อนในกระจกเงา ซึ่งจะไปล้อกับตอนที่ Hédi โทรศัพท์หาตำรวจแจ้งจับ Tibor ล้วนสะท้อนถึงสภาวะทางจิตใจของตัวละคร มีความเคียดแค้นภายใน กำลังกระทำสิ่งชั่วร้ายคืนตอบสนอง (กระจกสะท้อน กรรมสนองกรรม)
ทั้งๆเมื่อแรกพบเคยพูดคุยสนทนาน้ำไหลไฟดับ แสดงความสนิทสนมชิดเชื้อ เหมือนจะอ่อยเหยื่ออีกฝั่งฝ่าย แต่หลังจากรับรู้ว่า Tibor มีเพศสัมพันธ์กับ Anna ปฏิกิริยาของ Hédi แสดงสีหน้ารังเกียจขยะแขยง ไม่สามารถยินยอมรับพฤติกรรมดังกล่าว เพียงขณะนี้ยังมองว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เลยแค่ตำหนิต่อว่าอย่าให้เกิดขึ้นซ้ำสองเด็ดขาด!
ทั้งฉากนี้ถ่ายจากอีกห้องหับ (ให้ความรู้สึกเหมือนการแอบถ่าย/ใครบางคนถ้ำมอง) สังเกตว่ามุมกล้องพยายามทำให้บางสิ่งอย่างกีดกั้นขวางตรงกลางระหว่างทั้งสอง และเมื่อ Hédi เดินออกจากห้องนี้ไป ทางฝั่ง Tibor ถูกห้อมล้อมด้วยกรอบแลดูคล้ายกรงขัง นั่งลงแล้วกำลังสวมใส่รองเท้า (คือการกระทำที่สื่อถึงสภาพจิตใจตกต่ำ)
นี่เป็นช็อตเดียวของหนังที่ทั้งห้าตัวละครอยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน แต่สังเกตว่าทั้งหมดแทบไม่ขยับเคลื่อนไหวติง (ยกเว้น Anna ที่นั่งลงฉีดยาให้ Hédi) อยู่ท่ามกลางความมืดมิด และทิศทางของพวกเขาไม่มีใครหันหน้าเข้าหากัน
- Hédi นั่งอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางแสดงถึงความเป็นจุดสนใจของทุกคน (เพราะใครๆต่างต้องการกองมรดก/อพาร์ทเม้นท์หลังนี้)
- Anna ทำตามหน้าที่รับผิดชอบ คือฉีดยาให้กับ Hédi
- บุตรชาย János แม้ลำตัวหันเข้าหามารดา แต่ใบหน้ากลับเบือนหนี (ร่างกายยังคงอยู่ในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ แต่จิตใจต้องการออกไปให้ไกล)
- Miklós และ Tibor ต่างหันข้างให้ Hédi และใบหน้าสายตาเหม่อมองทิศทางอื่น สามารถสื่อถึงการมีลับลมคม
- แต่ Tibor ยืนอยู่เบื้องหน้า คือบุคคลที่ต้องเผชิญหน้ารับเคราะห์กรรม
- Miklós หลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง คือบุคคลผู้คอยชักใยสิ่งต่างๆแบบไม่เปิดเผยตัวตนเอง
เอาจริงๆมันไม่มีเหตุผลที่ต้องให้ทั้งห้ามาโพสท่า อยู่ร่วมฉากเดียวกันนี้ เลยทำให้ผมรู้สึกเหมือนภาพในความเพ้อฝัน เพื่อเป็นจุดหมุน การเปลี่ยนแปลงที่จะกลับตารปัตรตรงกันข้ามกับครึ่งแรก (ช็อตนี้ถือว่าอยู่เกือบๆกึ่งกลางหนังพอดิบดี)
แซว: ช็อตนี้ทำให้ผมระลึกถึง Veronika Voss (1982) ของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ที่จะมีการยืนโพสท่ารายล้อมรอบตัวละคร ลักษณะคล้ายๆกัน
ระหว่างที่ János สนทนากับ Tibor ให้ช่วยโน้มน้าวขอเงินมารดา Hédi แต่เขากลับพยายามสั่งสอนวิธีการเป็นบุตรที่ดี ควรต้องทำอย่างโน้น ควรต้องทำอย่างนี้ ขณะพร่ำเพ้อไปก็รับประทานอาหารเข้าปากไป เหมือนเป็นการกล้ำกลืนในสิ่งที่กำลังพูดถึง … ตรงกับสำนวน ‘ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง’
เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง János ก็มิอาจอดรนทนฟังอีกต่อไป ฉุดกระชาก Tibor ขึ้นมาขู่กรรโชก แล้วทุบขวดแก้วมาจี้คออีกฝ่าย (ตรงกับคำภาษาอังกฤษ ‘bottom line’ แปลว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ สิ่งที่ไม่ควรก้าวข้าม หรือคือคำพูดของ Tibor สะกิดต่อมลูกหมากของ János)
หลังจากที่ผมขบครุ่นคิดอยู่นานมากๆ ว่าทำไม János ถึงข่มขืน Anna บนหลังตู้เย็น? ก็พบว่ามันคือสัญลักษณ์แทนสภาวะทางอารมณ์/สภาพจิตใจตัวละคร มีความหนาวเหน็บ เยือกเย็นชา หญิงสาวไม่บังเกิดอารมณ์ร่วมกับชายหนุ่ม ตรงกันข้ามกับตอนที่เธอมีเพศสัมพันธ์กับ Tibor แล้วกล้องเคลื่อนมายังเตาอบ ซึ่งสื่อถึงความลุ่มร้อน ร่านราคะ เกิดความต้องการ(มีเพศสัมพันธ์)อย่างแท้จริง!
แต่ให้ตายเถอะพระเจ้าจอร์จ! น่าจะเรียกได้ว่ามาโซคิสม์ได้กระมัง แม้ถูกข่มขืนกระทำชำเรา พูดคำด่าท่ออีกฝั่งฝ่าย แต่หลังจากถูกขับไล่จาก Miklós เธอก็หวนกลับมาเกี้ยวพาราสี ร่วมรักหลับนอน János ยินยอมศิโรราบกับเขา ซะงั้น!
János นำตั๋วจำนำที่ได้จาก Tibor มาอวดอ้างกับ Anna เพื่อโน้มน้าวชักชวนเธอให้หลบหนีออกไปจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้สำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่ มุมกล้องช็อตนี้ถ่ายจากใต้เรือนเปียโน เพื่อสื่อถึงพฤติกรรม(คอรัปชั่น)ใต้โต๊ะ การกระทำลับๆล่อๆ ผิดกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งถูกต้อง (เหมือนพวกทหาร/ตำรวจรับสินบนใต้โต๊ะ)
นี่เป็นอีกช็อตน่าทึ่งของหนัง เพราะเมื่อถ่ายใบหน้าตัวละครซีกหนึ่ง พบเห็นอาบฉาบด้วยแสงสีตรงกันข้าม (น้ำเงิน-ส้ม) แต่เมื่อกล้องเคลื่อนเลื่อนผ่านด้านหลังศีรษะ Hédi อีกฟากฝั่งของพวกเขากลับอาบฉาบด้วยแสงขาวเหมือนกัน ทำได้ยังไง??
นัยยะฉากนี้นอกจากการสลับสับเปลี่ยนมุมมอง (Miklós จากเคยเป็นที่ปรึกษา Hédi ครานี้เขากลับขอคำแนะนำจากเธอ) สีสันที่เคยแตกต่าง (แสดงถึงความขัดแย้ง/ไม่เข้าใจกัน) เมื่อต่างอาบด้วยแสงขาว สามารถสื่อถึงการยินยอมรับ เข้าใจกันและกัน … นี่คือฉากที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวละคร มาถึงจุดที่ Hédi มีความไว้เนื้อเชื่อใจ Miklós จนภายหลังสามารถพูดบอกทุกสิ่งอย่างออกไป
ครั้งหนึ่ง Miklós (อาบแสงสีแดง) เคยพยายามขับไล่ Anna ให้ออกไปจากห้องแห่งนี้ (เพราะรับไม่ได้กับความสำส่อน เอากับผู้ชายไม่เลือกหน้า) แต่หลังจากหญิงสาวได้ครอบครองรักจาก János ทำให้สามารถรักษาพื้นที่มั่นของตนเอง ทุกสิ่งอย่างจึงพลิกกลับตารปัตร เธอใช้คำพูดด่าทอ และขับไล่อดีตแมงดาให้ออกไปจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ … ทิศทางมุมกล้องก็เฉกเช่นเดียวกัน!
เฟอร์นิเจอร์ของฉากนี้ก็น่าสนใจทีเดียว
- เตียงนอนในตอนแรกมีผ้าคลุมสีขาวก่อนถูกดึงออกมา เพื่อเปิดเผยลวดลายที่แท้จริง
- ด้านหลังของ Anna พบเห็นอีกห้องที่มีโต๊ะวางกับพื้น และเก้าอี้ลอยกลับหัวกลับหาง (น่าจะสื่อถึงความกลับตารปัตรของโลกใบนี้)
- รูปปั้นอยู่ข้างๆ Miklós ถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติก คือต้องปกปิดคำพูด ซุกซ่อนปฏิกิริยาความรู้สึกไว้ภายใน
ความขัดแย้งที่มาถึงจุดแตกหักระหว่าง Hédi กับ Anna ก็นำเสนอในลักษณะเวียนวนกลับสู่จุดเริ่มต้น
- เริ่มจากระยะภาพ Long Shot เมื่อเริ่มใช้ความรุนแรง Anna สามารถผลักดัน Hédi ให้ลงนอนบนเตียง
- ระหว่างพักรบ พูดคุยสนทนา ระยะภาพจะประชิดใกล้ตัวละคร (Close-Up)
- เมื่อการต่อสู้กลับมาอีกครั้ง Hédi สามารถผลักดัน Anna ล้มลงบนเตียง ระยะภาพ Long Shot
ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ Hédi ต้องขอคำปรึกษาหาทางออกจาก Miklós แต่นี่กลายเป็นโอกาสของเขาที่จะล้วงเอาความลับ เลยพยายามโน้มน้าวให้เธอพูดบอกที่มาที่ไป เบื้องหน้าเบื้องหลัง สถานะการเงิน เพื่อตนเองจักกลายเป็นบุคคลสำคัญของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ และไม่มีใครสามารถขับไล่ออกไปไหนได้อีก
ซึ่งระหว่างที่ Miklós กำลังพูดโน้มน้าวให้เปิดเผยสิ่งต่างๆ พอดิบพอดีกำลังเคี้ยวรับประทานอาหาร นี่ก็ล้อกับตอน Tibor พยายามเสี้ยมสอนสั่ง János กล้ำกลืนกินในสิ่งที่พูดเอ่ยถึง แตกต่างที่คราวนี้ Hédi ไม่สามารถรู้เท่าทันโจร ดูแล้วคงยินยอมเปิดเผยทุกสิ่งอย่าง (แซว: ผมแอบนึกถึงแก๊งค์ Call Center ขึ้นมาทันใด)
ก่อนหน้าที่ Tibor จะถูกตำรวจควบคุมตัว János เต้นระบำกับมารดา Hédi ส่วนเจ้าสาว Anna นั่งสูบบุหรี่อย่างเซ็งๆ แล้วเริ้มเกี้ยวพาราสี Miklós … สามารถสื่อถึงเมื่อตอนเริ่มต้นมีเพียงแม่-ลูก คือเจ้าของ-ทายาทอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ ใครอื่นล้วนแค่บุคคลภายนอก
แต่หลังจาก Tibor ถูกตำรวจจับกุมตัวไป กล้องเคลื่อนจากภายนอกเข้ามาในห้องนี้ (นัยยะถึงการถูกบุกรุกราน) พบเห็น Hédi กำลังปลอบประโลม János นั่งร่ำร้องไห้ ขณะที่ Miklós เต้นเริงระบำกับ Anna … สามารถสื่อถึงสถานการณ์ตอนจบ แม้สองแม่-ลูกยังคงคือเจ้าของตัวจริง แต่คนนอกทั้งสองได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่ง รับรู้เบื้องหน้าเบื้องหลัง ถือว่ามีกรรมสิทธิ์ในอพาร์ทเมนท์เช่นเดียวกัน!
- Anna คือว่าที่เจ้าสาว/ภรรยาของ János
- Miklós กลายเป็นผู้ล่วงรับรู้สถานะทางการเงิน ลับลมคมในทุกสิ่งอย่างของ Hédi
ถึงอย่างนั้นไม่ว่าก่อนหรือหลัง สถานการณ์ในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ล้วนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในทิศทางที่ดีขึ้น ดูเหมือนจะสร้างปัญหามากกว่าเก่าด้วยซ้ำ! ซึ่งล้อกับบทกวีตอนต้นเรื่อง ปีศาจ(Miklós กับ Anna)ชักนำทางให้มนุษย์เดินเวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น … การเคลื่อนเลื่อนกล้องก็เช่นเดียวกันนะ เดินเข้ามาวนรอบแล้วก็หวนกลับออกไป
เกร็ด: โทนสีของฉากนี้ออกขาวๆซีดๆ (ดูยากมากๆว่าควรเป็นโทนสีอะไร) ให้ความรู้สึกมวลรวมแห่งความชั้วร้าย (แสงขาวเกิดจากการผสมของทุกแสงสี)
ตัดต่อโดย Ágnes Hranitzky (เกิดปี 1945) ภรรยาของผู้กำกับ Béla Tarr ซึ่งไม่ใช่แค่ทำงานตัดต่อ หลายๆครั้งยังดูแลบทหนัง ออกแบบงานสร้าง (Production Design) ช่วยกำกับกองสอง เหมือนจะรับรู้จักกันมาตั้งแต่ The Outsider (1981) จนถึงปัจจุบัน
หนังใช้อพาร์ทเม้นท์หลังหนึ่ง (ไม่ได้ระบุว่าตั้งอยู่แห่งหนไหน) คือจุดหมุน/ศูนย์กลางของหนัง โดยทิศทางของเรื่องราวต้องสังเกตจากเหตุการณ์บังเกิดขึ้น หรือหัวข้อที่ตัวละครพูดคุยสนทนา จะมีบางสิ่งอย่างสามารถเชื่อมโยงจากฉากหนึ่งไปสู่อีกฉากหนึ่ง (ไม่จำเป็นว่าต้องมีใครคนหนึ่งกลายเป็นคู่สนทนาของฉากถัดไป) และทั้งๆไม่เคยพบเห็นบุคคลที่สาม แต่สถานที่แห่งนี้ราวกับว่า ‘กำแพงมีหู ประตูมีช่อง’ ไม่มีอะไรเป็นความลับสักสิ่งอย่าง!
การจะแบ่งหนังออกเป็นองก์ๆ ผมรู้สึกว่าทำได้ยากมากๆ เพราะเมื่อฉากเปลี่ยน คู่สนทนาเปลี่ยน มันก็แทบกลายเป็นอีกคนละเรื่องราว ไม่สามารถจัดเข้ารวมกลุ่มเดียวกัน แต่ถ้าเรามองคร่าวๆถึงเหตุการณ์หลังๆที่เกิดขึ้นกับ Tibor น่าจะพอแยกออกได้เป็น
- แนะนำตัวละคร ความวุ่นวายในอพาร์ทเม้นท์หลังนี้
- นำเสนอความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง Hédi, Anna และ Miklós
- János ทะเลาะเบาะแว้งกับมารดา Hédi
- การมาถึงของครูสอนดนตรี Tibor
- Tibor พยายามสานสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆ
- ระหว่างกำลังมึนเมา János ใช้กำลังรุนแรงกับ Tibor
- Anna รู้สึกสงสารเห็นใจ Tibor เลยยินยอมร่วมรักหลับนอน นำความไปอวดอ้างกับ Hédi
- ความขัดแย้ง/การเอาคืนของ Miklós
- Miklós ไม่พึงพอใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เลยใช้ความรุนแรงกับ Tibor แล้วโน้มน้าว János ให้ข่มขืน Anna
- János พยายามข่มขู่ แบล็กเมล์ Tibor จนต้องยินยอมจำนนต่อหลักฐาน
- János ข่มขืนกระทำชำเรา Anna ในตอนแรกเธอแสดงอาการรังเกียจต่อต้าน แต่ไปๆมาๆกลับมองเห็นเป็นโอกาส
- Anna วางอำนาจบาดใหญ่ต่อ Miklós และใช้ความรุนแรงกับ Hédi (เพราะเหมือนว่าได้ János หนุนหลัง)
- การตัดสินใจของ Hédi ต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
- Miklós พูดบอกเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ Hédi พร้อมให้คำแนะนำวิธีแก้ปัญหา
- หลังจาก Tibor ถูกตำรวจจับกุมตัว สมาชิกที่เหลือทั้งสี่ต่างอยู่กันพร้อมหน้า กำลังเลี้ยงฉลองงานหมั้นหมาย/แต่งงานระหว่าง János กับ Anna
แนวทางของผู้กำกับ Tarr มีคำเรียกว่ารูปแบบนิยม (Formalism) ให้ความสำคัญกับรูปแบบในการนำเสนอ (Form) ที่สอดคล้องแนวคิดผู้สร้าง มากกว่าเนื้อหาสาระ (Content) สังเกตว่าการดำเนินเรื่องจะมีลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน เริ่มต้น-สิ้นสุดเวียนวน 360 องศา หลายๆฉากก็มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ทางภาษาภาพยนตร์ อาทิ เมื่อมีถ่ายลงมาจากเพดาน ก็ต้องมีภาพเงยขึ้นจากภาคพื้น, มุมกล้องเคลื่อนจากซีกซ้ายใบหน้าไปยังอีกฟากฝั่งขวา, แสงสีน้ำเงิน-ส้ม คือขั้วตรงข้ามของแม่สี ฯลฯ
เพลงประกอบโดย Mihály Víg (เกิดปี 1957) นักแต่งเพลงสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest ในครอบครัวนักดนตรี ถือว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พอโตขึ้นร่วมก่อตั้งวงใต้ดิน Trabant (1980–1986) ตามด้วย Balaton (1979-ปัจจุบัน) กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Béla Tarr ร่วมงานกันตั้งแต่ Almanac of Fall (1984) จนถึงผลงานสุดท้าย
งานเพลงของ Víg ต้องชมเลยว่ามีความหลอกหลอน วาบหวิวทรวงใน สร้างบรรยากาศเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้สิ้นหวัง โดยมักใช้การบรรเลงเปียโน กีตาร์ไฟฟ้า หรือเครื่องสังเคราะห์เสียง ด้วยท่วงทำนองง่ายๆแต่สามารถถ่ายทอดความครุ่นคิดอันสลับซับซ้อน ดังขึ้นในช่วงเวลาที่กล้องกำลังเคลื่อนเลื่อนไหล จิตวิญญาณล่องลอยไป ทำไมโลกใบนี้มันช่างเหี้ยมโหดร้ายเหลือเกิน
ขอเริ่มที่ Főcím (แปลว่า Main Title) ได้ยินเสียงบรรเลงเปียโนเกรด 1-2 (คนที่เพิ่งหัดเล่นไม่นานก็น่าจะพอเล่นได้) ท่วงทำนองเนิบๆช้าๆ ฟังแล้วรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เหมือนว่าชีวิตพานผ่านอะไรๆมามาก แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสมหวังดั่งใจ เลยเกิดอาการท้อแท้หมดไฟ จากนี้คงทำได้เพียงเฝ้ารอคอยความตาย
Lukin คือเพลงโปรดของผมในอัลบัมเลยก็ว่าได้ ไม่ใช่แค่การเหยียบ Damper Pedal ขณะบรรเลงเปียโน แต่ยังปรับแต่งเสียงให้มีความบิดเบี้ยว ฟังแล้วรู้สึกหลอกหลอก สั่นสยิวกาย ซึ่งสามารถสื่อถึงความอัปลักษณ์ทางจิตใจของมนุษย์ พร้อมคิดคดทรยศหักหลังผู้อื่น สนเพียงกระทำสิ่งต่างๆตอบสนองความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น
หลายคนน่ารับรู้จักบทเพลง Que Sera, Sera (Whatever Will Be, Will Be) แต่งโดย Jay Livingston และ Ray Evans โด่งดังจากการขับร้องของ Doris Day ประกอบภาพยนตร์ The Man Who Knew Too Much (1956) เคยไต่ถึงอันดับสอง Billboard Hot 100
แต่ฉบับที่ใช้ในหนังถูกแปลเป็นภาษาฮังกาเรียนโดย G. Dénes György ชื่อว่า Ahogy lesz, ugy lesz ขับร้องโดย Hollós Ilona (1920-93) … คลิปที่นำมาคุณภาพยอดเยี่ยมสุดเท่าที่หาได้แล้วนะครับ
การเลือกใช้บทเพลงนี้ช่วงท้ายของหนัง ไม่ใช่แค่สื่อถึงอาการท้อแท้สิ้นหวังของตัวละครเท่านั้น ยังคือคำรำพันผู้กำกับ Tarr เกิดความเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย ต่อทุกสรรพสิ่งอย่างในชีวิต (และสถานการณ์การเมืองในฮังการี) อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด ฉันไม่สนห่าเหวมันอีกต่อไปแล้ว!
Almanac of Fall ทำการจำลองประเทศฮังการีให้เหลือเพียงระดับจุลภาค ในอพาร์ทเม้นท์ที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่ได้รับการเหลียวดูแล เจ้าของคือ Hédi ตัวแทนชนชั้นผู้นำ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ชื่นชอบใช้อำนาจเผด็จการควบคุมครอบงำ ขณะที่ประชาชน/คนรุ่นใหม่/บุตรชาย János กลับพยายามต่อต้านขัดขืน ไม่ยินยอมก้มหัวปฏิบัติตามคำสั่ง โหยหาอิสรภาพ ต้องการออกไปจากสถานที่แห่งนี้, ส่วนตัวละครอื่นๆสามารถมองได้ทั้งบุคคลภายนอก หรือชาวฮังกาเรียนเองก็ยังได้ ที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากดินแดนมาตุภูมิแห่งนี้
ที่ผมอธิบายมานี้ สังเกตว่าเป็นเพียงภาพรวมแบบคร่าวๆที่สามารถจับใจความจากหนัง โดยไม่ได้อ้างอิงถึงประเด็นการเมือง หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของฮังการีโดยตรง นั่นเพราะผู้กำกับ Tarr หมดสูญสิ้นความสนใจต่อสถานการณ์ภายในประเทศขณะนั้นๆ สิ่งต้องการนำเสนอก็คือสภาพเสื่อมโทรมที่สามารถพบเห็นจากภายนอก/รูปธรรม (อพาร์ทเม้นท์ที่ไม่ได้รับการเหลียวดูแล) และสภาวะทางจิตใจผู้อาศัย/นามธรรม (สมาชิกทั้งหลายต่างเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว)
อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ สามารถเรียกเต็มปากเต็มคำว่าคือดินแดน ‘dystopian’ ไม่ใช่แค่สถานที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรมทราม แต่ยังสมาชิกผู้อยู่อาศัยล้วนเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ สนเพียงตนเอง ไม่ใคร่คำนึงถึงผู้อื่นใด พร้อมคิดคดทรยศหักหลัง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อผลประโยชน์ ตอบสนองตัณหาราคะ บรรลุเป้าหมายความต้องการส่วนบุคคลเท่านั้น!
นั่นคือมุมมองของผู้กำกับ Tarr ต่อวิถีชีวิต ผู้คน สภาพสังคม ประเทศฮังการียุคสมัยนั้น (ที่อยู่ภายใต้การปกครองรัฐบาลคอมมิวนิสต์) แต่โดยไม่รู้ตัวเรายังสามารถเปรียบเทียบระดับมหภาค ถึงโลกยุคสมัยปัจจุบันนี้-นั้น ที่ถูกควบคุมครอบงำด้วยแนวคิดระบอบทุนนิยม มันอาจแตกต่างตรงลักษณะกายภาพ ตึกรามบ้านช่องสูงใหญ่ สิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มองผิวเผินมันคือความเจริญก้าวหน้า(ทางวัตถุ) แต่ถ้าจับจ้องลึกลงไปภายในจิตใจ จักพบเห็นความคอรัปชั่นของมนุษย์ที่ไม่แตกต่างกันเลยสักนิด!
นับตั้งแต่ Almanac of Fall (1984) เนื้อหาสาระในผลงานของผู้กำกับ Tarr มักนำเสนอสภาพเสื่อมโทรมของสังคม จิตใจผู้คนเต็มไปด้วยความอัปลักษณ์พิศดาร ตัวละคร(หรือคือผู้กำกับ Tarr)เหมือนต้องการหลบหนีออกจากอพาร์ทเม้นท์ ชุมชนบท หรือก็คือประเทศฮังการี แต่ส่วนใหญ่มักทำไม่สำเร็จ หรือมีบางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้งให้ต้องหวนกลับมา … เพราะไม่มีใครสามารถหลบหนีตัวตนเอง ชาติกำเนิด หรือดินแดนมาตุภูมิได้สำเร็จ
ภาพยนตร์ยุคแรกๆของผู้กำกับ Tarr ต้องบอกเลยว่าหายากมากๆ (ผมยังหาสามผลงานแรกไม่ได้เลยนะครับ!) คงเพราะผู้ชมส่วนใหญ่มักให้ความสนใจแต่ผลงานยุคหลังๆ ที่โดดเด่นในสไตล์ลายเซ็นต์ มีความท้าทายในการรับชม เอาจริงๆ Almanac of Fall (1984) ก็เป็นเรื่องที่ดูค่อนข้างยาก ต้องใช้ความอดรนทนค่อนข้างสูง แล้วยังต้องขบครุ่นคิดวิเคราะห์ กว่าจะสามารถทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ
อย่างที่บอกไปว่าจนปัจจุบัน Almanac of Fall (1984) ยังมีจัดจำหน่ายแค่ DVD คุณภาพตามมีตามเกิด แต่ก็เชื่อว่าสักวันน่าจะมีสักค่ายหนัง นำผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Tarr มาปรับปรุงบูรณะ เป็นคอลเลคชั่นที่น่าสะสมทีเดียว!
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนัง ทั้งลูกเล่นลีลา (มันอาจยังไม่ใช่ลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Tarr’ แต่จักพบเห็นร่องรอยพัฒนาการเยอะทีเดียว) หัวข้อการสนทนาที่เต็มไปด้วยลับลมคมใน แฝงมีอะไรๆให้ขบครุ่นคิดมากมาย เมื่อไหร่หนังได้รับการบูรณะ ผมจะเป็นคนแรกๆที่รีบหวนกลับมาหารับชมดูแน่ๆ
แนะนำคอหนังดราม่า บรรยากาศวันสิ้นโลก, นักเขียน/นวนิยาย ผู้กำกับ/นักแสดงฝั่งละครเวที ชื่นชอบการนำเสนอแบบ Chamber Drama (ใช้เพียงสถานที่แห่งเดียว), ตากล้อง ช่างภาพ โดยเฉพาะแผนกจัดแสงสีสัน ลองสังเกตศึกษาความน่าอัศจรรย์ และแฟนๆผู้กำกับ Béla Tarr ไม่ควรพลาดผลงานยุคแรกๆนะครับ
จัดเรต 18+ กับความเสื่อมโทรมภายในอพาร์ทเม้นท์ และสภาพจิตใจของผู้คนที่ต่างสนเพียงตนเอง
Leave a Reply