Umimachi Diary

Our Little Sister (2015) Japanese : Hirokazu Kore-eda ♥♥♥♡

‘ไม่มีผู้ชายเราก็อยู่ได้’ นี่คือโลกทัศนคติของผู้หญิงที่โหยหาอิสรภาพความเท่าเทียมมาหลายทศวรรษ แต่ที่ญี่ปุ่นยังถือว่าเป็นของใหม่เพราะวิถีสังคมบุรุษคือช้างเท้าหน้า การรับน้องสาวต่างมารดามาอาศัยอยู่ร่วมชายคาถือเป็นความกล้าบ้าบิ่น ถึงกระนั้นไม่ลองก็ไม่รู้ อาจพบเจอความสุขรูปแบบใหม่ๆที่แตกต่างจากเดิมก็เป็นได้

Umimachi Diary, เพราะเราเป็นพี่น้องกัน คือภาพยนตร์ที่จะทำให้คุณอิ่มสุขไปกับวิถีชีวิตประจำวัน Slice-of-Life ของสาวๆทั้งสี่ผู้มีโลกทัศน์อันแตกต่าง อาศัยอยู่ร่วมชายคาเพราะสายสัมพันธ์พี่น้องยึดเกี่ยว ช่วยเหลือเกื้อกูลพึ่งพาอย่างกลมเกลียว ขณะที่ผู้ชายของพวกเธอมีก็ได้ไม่มีก็ช่าง แค่นี้ชีวิตก็เป็นสุขสบายดี ‘Slow Life’ หาต้องดิ้นรนเหน็ดเหนื่อยไปตามวิถีสังคมโลกหมุน

ความตั้งใจของผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda และ Akimi Yoshida ผู้เขียนมังงะ Umimachi Diary คงต้องการปลูกฝังแนวคิด เปิดโลกทัศนคติใหม่ๆให้กับเด็กหญิงสาว (Josei) เริ่มต้นมีความกล้าที่จะคิด-พูด-แสดงออก รู้จักความรับผิดชอบ เป็นตัวของตนเอง ไม่ใช่ก้มหน้าก้มหัวยึดถือมั่นในขนบวิถีสังคมดั้งเดิมที่เคยมีมา อะไรดีๆเรียนรู้แล้วว่าก่อประโยชน์ก็ธำรงรักษาไว้ ความผิดพลาดคือครูผู้สอนให้สามารถก้าวเดินข้ามผ่าน

สิ่งน่าทึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการเคลื่อนไหลภาพที่แทบจะทุกช็อตฉาก น้อยครั้งจะแน่นิ่งตั้งวางทิ้งไว้เฉยๆ (สงสัยกลัวตากล้องทำงานไม่คุ้มค่าจ้าง!) เห็นว่าตอนแรก Kore-eda ตั้งใจหวนกลับไปใช้ ‘สไตล์ Ozu’ ตั้งกล้องวางมุม Tatami Shot แบบผลงานช่วงแรกๆ แต่ล้มเลิกความตั้งใจเพราะไดเรคชั่นนั้นมีความเป็น ‘ทางการ’ ดูเคร่งขรึมจริงจังเกินไปเสียหน่อย ขยับเคลื่อนทีละเล็กน้อยสร้างสัมผัสชีวิตดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ‘Slow-Life’ แต่มีความมั่นคงอย่างที่สุด

แต่หนังมีปัญหาหนึ่งอันเกิดจากเส้นทิศทางของเรื่องราว เพราะผู้ชมถูกโน้มน้าวให้รู้สึกว่า Suzu ควรเป็นศูนย์กลางการปรับตัวสู่บ้านหลังใหม่ แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งกลับเบี่ยนเบนไปมุ่งเน้นความสัมพันธ์ร่วมกับพี่ๆทั้งสาม ทำให้ประเด็นปัญหาดังกล่าวตกหล่นหมดความสำคัญไป (เมื่อเทียบความวุ่นวายกับชีวิตของพี่ๆ) นี่ก็เป็นสิ่งแตกต่างจากต้นฉบับมังงะ ที่มุ่งเน้นนำเสนอพัฒนาการเติบโต/ปรับตัว Coming-of-Age ของ Suzu เป็นหลัก

Hirokazu Kore-eda (เกิดปี 1962) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ตอนเด็กอาศัยอยู่กับแม่ (ไม่มีพ่อ) มีพี่สาวสองคน ตอนหกขวบพบเห็นปู่เสียชีวิตด้วยอัลไซเมอร์เป็นอะไรที่ฝังใจมากๆ โตขึ้นวาดฝันเป็นนักเขียนนิยาย เข้าเรียนสาขาวรรณกรรมจาก Waseda University แต่ออกมาเลือกทำงานเป็นผู้ช่วยกำกับสารคดีโทรทัศน์อยู่ถึง 3 ปี ฉายเดี่ยวเรื่องแรก Lessons from a Calf (1991), แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Maborosi (1995) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ารางวัล Golden Osella ได้รับการจับตามองจากทั่วโลกโดยทันที

สไตล์ของ Kore-eda มีคำเรียก ‘Cine-Poems’ เรื่องราวสะท้อนความสัมพันธ์เข้ากับชุมชน/เมือง/ป่าเขาธรรมชาติ รับอิทธิพลจาก Yasujirō Ozu, Hou Hsiao-hsien ในความเชื่องช้า นุ่มนวล ลุ่มลึกซึ้ง ชอบสร้างสถานการณ์ข้อจำกัด ตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต ครอบครัว การมีตัวตน/สูญหาย และมุ่งค้นหาหนทางออกดีสุดของปัญหาที่ไม่มีคำตอบ, ผลงานเด่นๆ อาทิ After Life (1998), Nobody Knows (2004), Still Walking (2008), Like Father, Like Son (2013), Our Little Sister (2015), The Third Murder (2017), Shoplifters (2018) ฯ

เมื่อ Kore-eda มีโอกาสได้อ่านมังงะ Umimachi Diary (2007 – 2018) ขณะตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายเดือน Flowers สำหรับผู้หญิง (Josei) เกิดความสนใจดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์อย่างยิ่ง แต่เมื่อติดต่อผู้เขียน Yoshida พบว่าลิขสิทธิ์ดัดแปลงถูกซื้อไปแล้ว เลยหันไปสร้าง I Wish (2011) ตามด้วยระหว่างกำกับ Like Father, Like Son (2013) ได้รับติดต่อกลับมาว่าฝั่งนั้นล้มเลิกความตั้งใจ ยังมีความสนใจอยู่อีกหรือเปล่า?

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงผู้แต่งมังงะ Akimi Yoshida (เกิดปี 1956) หลังเรียนจบ Musashino Art University ก็เริ่มอาชีพเขียนการ์ตูนที่เหมาะสำหรับผู้หญิง แม้แต่ Banana Fish (1985-94) เบื้องหน้าคืออาชญากรรม แต่ลึกๆแล้วคือแนว Y ชายรักชาย, เคยคว้ารางวัล Shogakukan Manga Awards ถึงสามครั้งกับ Kisshō Tennyo (1983 – 84), Yasha (1996 – 2002) และล่าสุดเมื่อปี 2016 กับ Umimachi Diary (อาจเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งให้ด้วยกระมัง)

ฉบับมังงะของ Umimachi Diary (แปลว่า Seaside Town Diary, บันทึกหมู่บ้านริมทะเล) ชื่อไทยวันที่เสียงจักจั่นซา นำเสนอวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในหมู่บ้านริมทะเล Kamakura โดยมีศูนย์กลางคือครอบครัว Kōda ที่เพิ่งรับน้องสาวต่างมารดามาอาศัยอยู่ด้วยกัน ซึ่งการตีพิมพ์รายเดือนทำให้เรื่องราวเกิดขึ้นจบสิ้นสุดลงในตอนของมันเอง

เพราะความเป็นแฟนของมังงะ Kore-eda พยายามจะเขียนบทดัดแปลงให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นฉบับ แต่ก็พบว่าไม่สามารถร้อยเรียงแต่ละตอนให้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งได้ เลยตัดสินใจโฟกัสเรื่องราวแค่สี่พี่น้องและบ้านไม้หลังเก่าของครอบครัวเป็นจุดหมุน ได้รับคำอำนวยอวยพรอย่างดีจากผู้เขียน มอบอิสระในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆอย่างเต็มที่

สามพี่น้อง Kōda อาศัยอยู่ในบ้านไม้หลังเก่าที่เมือง Kamakura หลังจากถูกพ่อ-แม่ ทอดทิ้งหนีหายหน้าไม่เคยหวนกลับมา วันหนึ่งได้รับจดหมายแจ้งให้เข้าร่วมงานศพพ่อ ออกเดินทางไปพบเจอน้องสาวต่างมารดา Suzu Asano ชักชวนให้มาอาศัยอยู่ร่วมกัน จะเลี้ยงดูแลปูเสื่อให้เป็นอย่างดี ซึ่งเธอก็ตอบตกลงแทบจะโดยทันที ชีวิตวุ่นๆของสี่พี่น้องใบเถาในบ้านชายคาหลังนี้จึงเริ่มต้นขึ้น

ด้วยสไตล์การทำงานของ Kore-eda เขียนบทคร่าวๆไว้ประมาณนี้แล้วเริ่มต้นคัดเลือกหานักแสดง โดยคาดหวังให้พวกเธอช่วยสร้างเรื่องราวที่มีความเฉพาะตัว แตกต่างจากต้นฉบับมังงะ และได้ภาพยนตร์ความขาว 2 ชั่วโมง

“We decided on the casting from the second draft of the script. I imagined how these women would move around inside the house and started to think about scenes that weren’t in the original (manga) and how to change the dialogue, until I finally had a two-hour movie.”

Haruka Ayase (เกิดปี 1985) นักแสดงและนางแบบสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hiroshima สมัยเด็กเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลตัวโรงเรียน ตอนอายุ 14 ได้รับการ Audition จาก Horipro Talent Scout Caravan เริ่มต้นจากเป็น Gravure Idol สมทบซีรีย์จนมีชื่อเสียงโด่งดังกับ Crying Out Love in the Center of the World (2001), JIN (2009) ฯ  ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องเด่นๆ อาทิ Cyborg She (2008), Oppai Volleyball (2009), Our Little Sister (2015) ฯ

รับบทพี่สาวคนโต Sachi Kōda อายุ 29 ปี หลังจากแม่หายตัวออกจากบ้าน ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัว เลี้ยงดูแลพึ่งพิงพาให้กับน้องๆ ทำงานพยาบาลดูแลผู้ป่วย (พูดง่ายๆก็คือ ชอบให้การช่วยเหลือผู้อื่น) มากด้วยศักยภาพผู้นำจนได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ดูแลวอร์ดใหม่ สามารถมองตาอ่านตัวตนจิตใจคนออกได้โดยง่าย แต่ทั้งนั้นกลับยังมืดบอดในความรัก ดูไม่ออกว่าแฟนที่จีบอยู่แต่งงานมีภรรยาแล้ว ซึ่งเมื่อเขาชักชวนไปอยู่อเมริกาจึงได้รับรู้ความจริง ปฏิเสธเสียงแข็งเพราะไม่อยากซ้ำรอยเหมือนพ่อแม่ตนเอง

ผู้ชายในสเปคเธอ ดูเป็นผู้ใหญ่สูงวัยกว่า อาชีพการงานมั่นคงอนาคตก้าวไกล พูดไม่เยอะแต่มองตาสื่อสารเข้าใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นนั่นคือช่องว่างระหว่าง อะไรหลายๆอย่างไม่เคยรับรู้ สุดท้ายก็ต้องแยกจากเพราะคนแบบนี้ส่วนใหญ่แต่งงานมีครอบครัวอยู่แล้ว แต่ยังคงเพ้อฝันทะเยอทะยานไขว่คว้า อยากที่จะก้าวข้ามน้ำข้ามทะเลค้นหาเป้าหมายปลายทางของชีวิต (ได้ทุนไปร่ำเรียนต่อยังอเมริกา) ร่ำลาจากครั้งนี้ต่างนั่งอยู่ริมชายหาด เหม่อมองสุดขอบปลายฟ้าไปด้วยกัน

เมื่อได้พบเจอกับ Suzu สามารถรับรู้ได้ทันทีว่าเธอคือผู้ดูแลช่วยเหลือพ่ออย่างใกล้ชิดตอนอยู่โรงพยาบาล ตัดสินใจชักชวนมาอาศัยอยู่ร่วมกันที่บ้าน มอบความรักความอบอุ่นเป็นทั้งแม่ พี่สาว และที่ปรึกษา ค่อยๆให้เวลาเธอปรับตัวจนพร้อมระบายความรู้สึกอัดอั้นเต็มอกออกมา รับฟังและก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาร้ายๆไปด้วยกัน

ปมของ Sachi คือความผิดหวังในตัวแม่แท้ๆของตนเองอย่างรุนแรง เมื่อเธอหนีหายตัวจากไป สะสมความเก็บกดอัดอั้นไม่พึงพอใจ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำครอบครัวเพราะต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ลูกผู้หญิงก็สามารถเป็นผู้นำครอบครัวที่ดีได้, การหวนกลับมาหาในรอบกว่าสิบปีของแม่ สร้างความร้าวฉานให้ทั้งคู่ในทีแรกจนมองหน้าแทบไม่ติด แต่เพราะนั่นคงทำให้เธอครุ่นคิดถึงตนเอง (ที่กับแฟนก็ดันกำลังจะซ้ำรอยเดิม ไปเป็นชู้ให้ครอบครัวอื่นแตกแยก) สุดท้ายเลยยอมลดทิฐิลงมา เพราะแม่ก็คือแม่เพียงคนเดียววันยังค่ำ

เห็นว่าปกติแล้ว Ayase มักแสดงเป็นตัวละครมีความร่าเริงสดใส ยิ้มแย้มเบิกบาน จนได้รับฉายา ‘นางฟ้าแห่งวงการบันเทิงญี่ปุ่น’ แต่เมื่อพบเจอ Kore-eda มองเห็นศักยภาพในการแสดงที่แตกต่าง เรียกเธอว่า ‘Woman of Showa Period (1926-89)’ คุณภาพเหมือน Setsuko Hara ภายนอกสง่างาม ภายในเข้มแข็งแกร่งด้วยศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิง รับบทบาทนี้ผู้ชมกว่าครึ่งจะหน้านิ่วคิ้วขมวด แต่รู้สึกเลยว่าเป็นคนหนักแน่นมั่นคงพึ่งพาอาศัยได้ อยู่ด้วยแล้วสุขกายสบายใจ แถมยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระอะไรๆได้มากมาย

Masami Nagasawa (เกิดปี 1987) นักแสด โมเดลลิ่งสัญชาติญี่ปุ่น เข้าสู่วงการจากชนะการประกวด Toho Cinderella เริ่มจากบทบาทสมทบ Crossfire (2000), Godzilla: Tokyo SOS (2003), Godzilla: Final Wars (2004), ดังพลุแตกกับ Crying Out Love in the Center of the World (2004) คว้ารางวัล Japan Academy Prize: Best Supporting Actress, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Touch (2005), Rough (2006), Nada Sōsō (2006), Moteki (2011), Our Little Sister (2015), Before We Vanish (2017) ฯ

เกร็ด: อาจมีคนสงสัยเกี่ยวกับ Crying Out Love in the Center of the World คือมันมีสองฉบับ และทั้งคู่รับบทตัวละครเดียวกัน
– ละครซีรีย์ปี 2001 นำแสดงโดย Haruka Ayase
– ฉบับภาพยนตร์ 2004 นำแสดงโดย Masami Nagasawa

รับบทพี่สาวคนรอง Yoshino Kōda อายุ 22 ปี ทำงานพนักงานธนาคาร สเป็คผู้ชายทึ่มๆทื่อๆเด็กกว่าตนสามารถเป็นคนเลี้ยงดูแล (สายเปย์นะเนี่ย!) แต่ส่วนใหญ่ก็มักแค่หวังเงินฟันแล้วทิ้ง พบเจอความผิดหวังร่ำไปในชีวิต ร่ำสุราจนเมามายขาดสติ จนกระทั่งได้เลื่อนตำแหน่งงาน ให้ความช่วยเหลือหลายๆคนที่ประสบปัญหาการเงินด้วยการปล่อยกู้ ซึ่งนั่นได้ทำให้เธอพบเจอความจริงบางอย่าง ชีวิตไม่มีที่ไหนสวยงามเหมือนดั่งความฝัน

Yoshino เป็นผู้หญิงที่ค่อนข้างเรื่องมากเอาแต่ใจ ไม่ค่อยชอบรับฟังใคร มีเรื่องทะเลาะขัดแย้งไม่ลงรอยกับพี่สาว Sachi บ่อยครั้งร่ำไป แต่กับน้องๆทั้งสองถือว่ารักใคร่กลมเกลียวกันดี แทบไม่เคยเห็นมีปัญหาปากเสียง กับ Suzu ไม่ได้มีสัมพันธภาพอะไรมากเป็นพิเศษ

ถึงตอนจบของหนัง Yoshino จะยังเป็นโสดอยู่ แต่ก็มีแว่วแววกับเพื่อนร่วมงานคนนี้ ที่ตามติดไปไหนมาไหนด้วยกัน คงอีกสักพักถึงจะเริ่มเห็นอะไรๆตรงกัน นั่งอยู่ริมสะพานช็อตนี้เหม่อมมองไปยังเป้าหมายปลายฝน อยากจะทำอะไรบางอย่างเพื่อผู้อื่นบ้างไม่ใช่แค่เห็นแก่ตัวเอง

สิ่งน่าทึ่งในการแสดงของ Nagasawa คือความไม่หวาดกลัวเกรงจะเป็นตัวของตนเอง ‘สาวมั่น’ โลกต้องหมุนรอบฉัน ไม่หวั่นแม้วันมากมาย, ซึ่งตัวละครของเธอขณะนี้อยู่กึ่งกลางระหว่างพึ่งพาได้ไม่ได้ กำลังมองหาเป้าหมายชีวิตตนเอง (และแฟนใหม่) ชอบขัดแย้งกับพี่เพราะไม่อยากกลายเป็นแบบนั้น แต่สุดท้ายแล้วก็เดินตามรอยกันมาติดๆ

ถ้าบอกว่า Ayase คือเจ้าแม่แห่งวงการซีรีย์ญี่ปุ่น Nagasawa ก็คือเจ้าแม่แห่งวงการภาพยนตร์ในยุคปัจจุบัน อายุห่างกันไม่มากเท่าไหร่ โด่งดังก็ตามก้นมาติดๆ น่าจะเป็นเพื่อนสนิทกันมั้งด้วยนะ เรื่องนี้ร่วมงานครั้งแรกกลายเป็นพี่น้อง เข้าขากัดกันได้อย่างมัวเมามันสุดๆเลย

Kaho Indō (เกิดปี 1991) นักแสดง โมเดลลิ่งสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถมก็ถูกค้นพบโดยแมวมองของ Omotesandō ชักชวนให้ถ่ายแบบลงนิตยสารวัยรุ่น สมทบในซีรีย์หลายเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องแรก Gamera the Brave (2006), พลุแตกกับ A Gentle Breeze in the Village (2007), Tokyo Girl (2008), Sing, Salmon, Sing! (2008), Our Little Sister (2015) ฯ

รับบท Chika Kōda อายุ 19 ปี ไม่แน่ใจยังเรียนอยู่หรือเปล่า แต่เห็นทำงานในร้านขายอุปกรณ์กีฬา ร่วมกับแฟนหนุ่มเซอร์ๆหัวใจสป็อต ขณะนี้กำลังใคร่สนใจอยากทดลองตกปลา โยนคันเบ็ดถามทางเป้าหมายยังไม่พบเจอสักเท่าไหร่ ชีวิตยังเต็มไปด้วยความร่าเริงสดใส แต่เหมือนจะมากเกินไปจนดูป้ำๆเป๋อๆ โก๊ะๆ ยังเด็กอยู่พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่

คงเพราะวัยไม่ห่างกันมาก ทำให้ Chika สนิทสนมกับ Suzu พอสมควร พูดคุยสนุกสนานแกล้งเล่นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังให้ความช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนด้านกีฬา อยู่เป็นกองเชียร์ให้กำลังใจอยู่ข้างสนาม

ก็ไม่รู้ตัวตนจริงๆของ Kaho เป็นแบบในหนังหรือเปล่า แต่ต้องชมการแต่งหน้าทำผม สร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวละครมีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่นชัด ย้ำคิดย้ำทำยังมีอะไรต้องเรียนรู้อีกเยอะในชีวิต ขณะที่เรื่องความรักสเป็คผู้ชายก็แบบว่า ยกให้เธอไปเถอะคนนี้ เกิดมาเข้าคู่เป็นของกันและกันเสียจริงๆ

Suzu Hirose (เกิดปี 1998) นักแสดง โมเดลลิ่งสัญชาติญี่ปุ่น น้องสาวของ Alice Hirose เกิดที่ Shimizu-ku, ก่อนหน้านี้มีบทสมทบเล็กๆใน The Apology King (2013), Crows Explode (2014), ซึ่งก็ได้แจ้งเกิดเต็มตัวกับ Our Little Sister (2015), ตามด้วยไตรภาค Chihayafuru,Your Lie in April (2016), The Third Murder (2018) ฯ

รับบท Suzu Asano ในมังงะอายุ 13 ปี ยังเรียนอยู่มัธยมต้น เพราะความที่แม่พึ่งพาอะไรไม่ได้เลยชอบอาศัยอยู่ติดพ่อ แต่เมื่อเขาเสียชีวิตจากไปก็หมดสิ้นที่หวังพึ่งพิงทางใจ ได้รับคำชักชวนจากพี่สาวต่างมารดา แม้เป็นคนแปลกหน้าแต่ก็รีบไขว่คว้าโอกาสนี้ไว้ คงเพราะรู้สึกอุ่นใจกว่าเมื่อได้อยู่ใกล้คนที่เข้าใจตนเองจริงๆ

Suzu เป็นนักกีฬาฟุตบอล มีความสามารถเลี้ยวล็อคหลบผู้เล่นได้ทั้งสองเท้า นั่นสะท้อนถึงวิธีการเอาตัวรอดของเธอขณะอาศัยอยู่กับแม่ แสดงออกให้เห็นว่ามีความรับผิดชอบเป็นที่พึ่งพิงพาได้ แต่นั่นถือว่าเกินเลยวัยไปเยอะ เด็กอายุ 13-14 สมควรต้องได้วิ่งเล่นเพลิดเพลินสนุกสนาน ยังไม่ใช่เวลาจะกลายเป็นผู้นำครอบครัวที่มีผู้ใหญ่เดินตามตูดข้างหลัง

โลกใบใหม่นี้ของ Suzu ทำให้เธอค่อยๆเรียนรู้จักความสนุกสนาน รอยยิ้มแป้น มิตรภาพอันงดงามของผองเพื่อน (ที่ก็ไม่รู้จะแปรสภาพกลายเป็นแฟน/คนรักหรือเปล่านะ), ความน่าสนใจของฉากนี้คือคำถามสงสัยของเด็กหญิง ไม่รู้ว่าตนเองเหมาะสมกับสถานที่แห่งนี้หรือเปล่า? กิ๊กหนุ่มของเธอดันตอบคำถามเชิงปรัชญา เล่าถึงฉันเป็นลูกชายคนเล็กที่พ่อแม่ไม่ค่อยอยากได้เท่าไหร่ พวกเขาเลยไม่ยอมถ่ายรูปตนตอนเด็กเก็บไว้เท่าไหร่ … คงเป็นการจะบอกว่า ฉันไม่ต่างจากเธอหรอก เป็นคนนอกคอกไม่มีใครต้องการเหมือนกัน แต่ชีวิตก็ยังมีสุขอยู่ได้ ไร้ซึ่งความวิตกกังวลใดๆ

Hirose ถือเป็นสาวน้อยมหัศจรรย์ สายตาอันเปล่งประกายมีทั้งสุข-ทุกข์ ปะปนเปหลบซ่อนอยู่ภายใน ตอนได้รับบทบาทนี้ผู้กำกับ Kore-eda สอบถามอยากท่องจำบทหรือแสดงอย่างเป็นธรรมชาติ เธอเลือกอย่างหลังเพราะคิดว่านี่อาจเป็นโอกาสเดียวในชีวิต ความเก้ๆกังๆขาดความมั่นใจในตนเองสะท้อนความรู้สึกสับสนว้าวุ่นวายใจของตัวละครได้เป็นอย่างดี และรอยยิ้มอันบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ก็นึกว่าเด็กอายุ 13-14 จริงๆนะเนี่ย

เกร็ด: ตอนเรียนมัธยมต้น Hirose เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลตัวโรงเรียน (เฉกเช่นเดียวกับ Ayase ไม่ผิดเพี้ยน) แต่เพราะตัวละครนี้ในมังงะเตะฟุตบอล เธอจึงไปเข้าคอร์สเรียนเล่นอยู่เกือบปี จนเชี่ยวชำนาญสามารถวิ่งล็อคหลบผู้ชายหัวทิ่ม ก็ไม่รู้กี่เทคกว่าจะยิงเข้าประตูมั่นเหมาะ (เพราะมันเป็น Long-Take ด้วยไง) จริงๆผู้กำกับพึงพอใจนานแล้ว แต่เจ้าตัวบอกยังไม่เต็มศักยภาพตนเองขอต่อ สงสัยจะได้กลายเป็น Perfectionist แล้วกระมัง

ก่อนที่โปรดักชั่นหนังจะเริ่มต้นขึ้น สาวๆทั้งสี่ใช้เวลาหลายวันทีเดียวอาศัยหลับนอนค้างแรมอยู่บ้านเก่าหลังนี้ที่ Kamakura เพื่อสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยต่อกันและสถานที่ ปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาด ตัดถางหญ้าจนโล่งเตียน กลายเป็นว่าพอทีมงานมาถึงก็ไม่ต้องจัดแต่งอะไรเพิ่มเติม สามารถเริ่มต้นถ่ายทำดั้นสดกันได้เลยไม่มีการท่องบท (สไตล์กำกับของ Kore-eda มักแค่ให้คำแนะนำเบื้องต้น ที่เหลือปล่อยให้นักแสดงใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ)

ถ่ายภาพโดย Mikiya Takimoto จากช่างภาพนิ่งในกองถ่ายของ Kore-eda เลื่อนขั้นมาเป็นผู้กำกับภาพ Like Father, Like Son (2013), Our Little Sister (2015), The Third Murder (2017) ฯ

นอกจากการเคลื่อนไหลของกล้องที่แทบทุกช็อตฉากแล้ว สิ่งโดดเด่นของหนังคือการใช้โทนสีออกไปทางขาว-ฟ้า-ชมพู (ซากูระ) ให้สัมผัสของเมืองริมทะเล (แบบชื่อหนัง Umimachi Diary) ได้บรรยากาศสบายๆผ่อนคลายเรื่อยเปื่อย และมีครบอรรถรสฤดู ร้อน-หนาว (หิมะ)-ใบไม้ร่วง-ฝนตก ใช้เวลาถ่ายทำยาวนานถึง 9 เดือนเต็ม (เมษายน – ธันวาคม)

ภาพแรงของหนัง พี่สาวคนรอง Yoshino หลับนอนกับกิ๊กหนุ่ม ตื่นเช้ามารีบเร่งแต่งตัวกลับบ้าน, มันมีนัยยะของการเคลื่อนไหลกล้องจากเท้า (จุดต่ำสุดของมนุษย์) ผ่านลำตัวไปถึงศีรษะใบหน้า (จุดสูงสุด) ถ้าเทียบแล้วย่อมแทนได้ด้วยชีวิตของน้องสาวคนเล็ก Suzu พบเจอครั้งแรกตอนพ่อตาย (จิตใจตกต่ำสุดขีด) ชักชวนมาอยู่ด้วยที่บ้านพี่ๆ ค่อยเรียนรู้จักปรับตัว อะไรๆตอนจบก็ดีขึ้นมาก (จิตใจโป่งพองเอ่อล้นด้วยความสุขสูงสุด)

ลีลาของผู้กำกับ Kore-eda เมื่อสาวๆเดินขึ้นไปบนยอดเขา ก็จะถ่ายให้เห็นภาพใบหน้าทั้งสี่ พูดชื่นชมความสวยงามของทัศนียภาพ เรียกน้ำย่อยให้กับผู้ชมเกิดความใคร่อยากรู้เห็นเสียจริงว่าเป็นยังไง จนกว่าจะถึงสุดท้ายของฉากจึงจะมีโอกาสได้เห็น แต่ก็แค่เสี้ยววินาทีหนึ่งเท่านั้น เผลอกระพริบตาก็อดเลยละ!

นำสองช็อตนี้มาเปรียบเทียบให้เห็นกันไปเลยว่ามีความคล้ายคลึงกันแค่ไหน … แต่ก็ไม่เห็นมันจะคล้ายเท่าไหร่นะ บางทีอาจต้องมองด้วยใจไม่ใช่ตาเปล่า ถึงสามารถสัมผัสได้ถึงความคล้ายคลึง

อดีตมันเคยเป็นแค่ภาพนิ่ง Tatami Shot ในสไตล์ผู้กำกับ Ozu แต่เมื่อกาลเวลาผันแปรเปลี่ยนไป Kore-eda ที่ได้ชื่อว่าเป็นทายาทรุ่นถัดมา ทำการปรับปรุงเทคนิคเล็กน้อยด้วยการให้กล้องเคลื่อนไหลไปด้านข้าง แต่ระยะระดับภาพยังคงต่ำกว่าสายตาเล็กน้อยคงเดิม นี่คงเรียกได้ประมาณว่า Slide-Tatami Shot (คือมันแค่ขยับเล็กน้อย ไม่ถึงขั้น Tracking-Tatami Shot)

ใครมีโอกาสไปเที่ยว Kamakura อย่าลืมไปลิ้มลองอาหารกลางวันเลื่องชื่อของเมือง ข้าวราดปลาชิราสึ (Shirasu Donburi) หรือปลาข้าวสาร ตัวมันจะเล็กๆสีขาวนำไปต้มตากแห้งทานกับเครื่องเคียงแซลมอน ทูน่า ปลาย่าง ฯ บนข้าวสวยหอมฉุย

จริงๆผมก็ไม่รู้นะว่าปลาชิราสึจะสื่อได้ถึงอะไรหรือเปล่า แต่ดูจากลักษณะของมันที่เหมือนข้าว และความสำคัญต่อ Suzu ที่พ่อชอบทำให้กิน น่าจะสามารถหมายถึงสัญลักษณ์แทนการมีชีวิต อิ่มอกอิ่มใจทุกครั้งที่ได้รับประทาน

ลายเซ็นต์ที่ขาดไม่ได้ของ Kore-eda คือรถไฟ แต่กับเรื่องนี้มันจะไม่มีซิ่งเร็วแบบชินคันเซ็น พบเห็นอยู่ 3-4 ครั้งคือรถรางเคลื่อนได้อย่าง Slow-Life เป็นอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งกับช็อตสวยงามมากๆของหนัง คือเด็กๆหลังจากช่วยงานบ้านเพื่อนได้ของฝากเป็นปลาชิราสึ ปั่นจักรยานกลับสวนทางกับรถไฟที่แล่นมาอย่างเชื่องช้าขบวนนี้

รถไฟคือสัญลักษณ์ของการเดินทางไปข้างหน้า แข็งขันเพื่อพุ่งสู่เป้าหมายชีวิต แต่คันนี้มันเชื่องช้าโหลยโท่ยที่โหล่ และเด็กๆต่างปั่นจักรยานสวนทางกลับ สื่อได้ถึงความเรื่อยเปื่อยไร้แก่นสาน ไม่ได้จำเป็นต้องรีบเร่งตามกระแสใครในโลกทุนนิยม ใช้ชีวิตอยู่ในจังหวะ ‘pace’ ของตนเอง ก็พบเจอความสุขได้ในชีวิต

ใครมีโอกาสรับชม Drone Shot ในโรงภาพยนตร์ เชื่อว่าคงเป็นประสบการณ์เอ่อล้นทะลักด้วยความสุขล้นพ้นอย่างแน่นอน เปรียบเทียบดอกซากูระขึ้นเต็มสองฟากฝั่งราวกับอุโมงค์ ชีวิตไม่ได้มีแค่จะพุ่งไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว หันมองรอบข้างเสียบ้างก็จะพบเห็นความสวยงามที่ผ่านตาอยู่ทุกวี่วัน

ช็อตนี้มันโคตรเจ๋งตอน Close-Up ใบหน้าของ Suzu แล้วมีซากูระดอกหนึ่งร่วมหล่นลงมาแซมผมพอดี ดูแล้วน่าจะเป็นความบังเอิญมากกว่าตั้งใจ แต่นั่นสะท้อนถึงชีวิตก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ปัจจุบันกอบโกยตักตวงเอาความสุขสำราญที่มีอยู่ ใช้ให้เต็มที่คุ้มค่าสร้างสรรค์ แก่ตัวไปมองย้อนกลับมาจะได้ไม่เสียใจในสิ่งที่เคยทำไป

ผมละอยากเห็นดอกไม้ไฟเหลือเกิน แต่ก็โดนต้มตุ๋นหลอกตากับ CG และช็อตนี้ที่ถ่ายมุมก้มมองเห็นแค่เงาแสงสะท้อนลงบนผืนน้ำ พูดกันตรงๆคือไม่มีงบประมาณที่จะเจียดมาทำพลุ ไม่ใช่ช่วงเทศกาลแถมต้องขออนุญาตทางการอีกวุ่นวาย อย่างเซ็งสุดๆ!

มโนความหมายให้กับการถ่ายทำฉากนี้ การมองเห็นภายนอกแค่ภาพสะท้อนผืนแผ่นน้ำ สะท้อนความสุขที่อยู่ภายในจิตใจเป็นสิ่งที่เราต้องครุ่นคิดจินตนาการขึ้นเอง

แซว: ผมเพิ่งมาเอะใจว่า ช็อตนี้อาจจะแค่โมเดลเรือจำลองถ่ายทำในแท้งค์น้ำแล้วใช้หลอดไฟสีๆเล่นหลอกตา ไม่น่าใช่ออกเรือจริงๆแล้วใช้โดรนบินขึ้นถ่ายทำ

มันคือธรรมเนียมปฏิบัติที่มังงะ/อนิเมะ แทบทุกเรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่น มักต้องมีงานประจำปี สวมยูกาตะ และเล่นดอกไม้ไฟ นอกจากเป็นการรักษาขนบประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น ยังเสี้ยมสอนให้(ชาวญี่ปุ่น)เกิดความสุขพึงพอใจในสิ่งเล็กๆนี้ จับจ้องมองแสงสว่างที่เป็นประกาย ดูมันค่อยๆมอดไหม้จดหมดสิ้น รอยยิ้ม ชีวิตก็เช่นกัน

ไอ้เด็กนี่กล้าแหะ! เปิดพัดลมเป่าหอย เผยเอาทุกสิ่งอย่างภายในของลับของหวงของตนเองปลดปล่อยออกสู่อิสรภาพธรรมชาติ, ณ จุดนี้ของหนัง ถือได้ว่า Suzu ปรับเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคนแล้ว ความกล้าบ้าบิ่นเกิดจากอิทธิพลเพี้ยนๆของพี่สาวทั้งหลาย อยู่บ้านหลังนี้ไม่มีอะไรต้องหวาดวิตกกังวลอีกต่อไป สามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ให้สมวัยของตนเอง

อิจฉาพัดลม มันคือสัญลักษณ์ของการเผชิญหน้า ต่อสู้กับแรงลมที่โหมกระหน่ำใส่เรา ต่อสู้ต้านทานไว้แล้วก้าวเดินสวนไปข้าง ซึ่งฉากนี้ยังมีอีกนัยยะตรงเป่าหอย ผมว่ามันคือการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของเพศหญิง ประจำเดือนมาถึงแล้วกระมัง (เกี่ยวรึเปล่าเนี่ย!)

ภาพท้องทะเลในหนังของ Kore-eda มักสื่อถึงความเวิ้งว้างว่างเปล่า ไร้ซึ่งเป้าหมายปลายทางของชีวิต สายตาที่เหม่อลอยออกไปคือการเฝ้าจับจ้องค้นหา (เป้าหมายชีวิต) แต่ฉากนี้สาวๆทั้งสี่เดินลัดเลาะเรียบชายหาด คงประมาณว่าพวกฉันมิได้สนใจสิ่งอยู่ไกลเกินเอื้อมเหล่านั้น แค่ต้องการใช้ชีวิตไร้แก่นสานไปเรื่อยเปื่อยวันๆ ก็พบเจอความสุขได้ไม่ต้องดิ้นรนวุนวายอะไร

ตัดต่อโดย Hirokazu Kore-eda, ใช้บ้านหลังเก่าที่ Kamakura เป็นจุดหมุน นำเสนอ Slice-of-Life ชีวิตประจำของสาวๆสี่พี่น้อง พยายามไกล่เกลี่ยเรื่องราวให้ถัวเฉลี่ยใกล้เคียง แต่สุดท้ายแล้วพี่สาวคนโต Sachi และน้องสาวคนเล็ก Suzu ถือว่าเป็นตัวละครหลักของหนังอยู่ดี (ถ้าในมังงะ Suzu คือหัวใจหลักเลยละ)

การแบ่งหนังออกเป็นองก์ๆคงไม่ใช่สิ่งถูกต้องสักเท่าไหร่ ควรจะแยกเรื่องราวตามมุมมองของตัวละครยังพอทำความเข้าใจได้มากกว่า
– เรื่องราวของ Sachi ทำงานพยาบาล, ขัดแย้งแม่, คบแฟนหมอ-เลิกรา
– Yoshino ทำงานธนาคาร, แฟนหนุ่มกิ๊กก๊อก
– Chika มักเห็นแต่เร่รอนไปกับ Suzu วันๆอยู่ติดบ้าน
– Suzu ไปโรงเรียน เตะบอล เที่ยวเล่นกับเพื่อน

จริงๆหนังจบลงตั้งแต่ตอนที่ Sachi สวมกอด Suzu แล้วภาพ Fade-to-Black แต่กลับกลายเป็นว่าเทคนิคนี้ก่อให้เกิดการกระโดดข้ามเวลา (Time Skip) ไปเป็น Epilogue เพื่อสะท้อนจุดเริ่มต้นจากความตาย-สิ้นสุดลงด้วยความตาย(ของอีกคน)เช่นกัน

เพลงประกอบโดย Yoko Kanno ตำนานนักแต่งเพลงอนิเมะ อาทิ Macross Plus (1994), Cowboy Bebop (1998), Turn A Gundam (1999), Ghost in the Shell ฉบับอนิเมะซีรีย์ ฯ

Kanno จัดเต็มให้กับ Orchestra (ที่ยังหาฟังไม่ได้ใน Youtube) ด้วยสัมผัสที่คลุกเคล้าด้วยสุขทุกข์ หวานขม นุ่มนวล เพราะพริ้ง เต็มเปี่ยมด้วยประกายแสงแห่งความหวัง มักเพื่อเติมเต็มอารมณ์เริ่มต้น/ทิ้งท้ายของฉาก สัมผัสจากความรู้สึกแทนเสียงพูดสนทนา (นี่เป็นไดเรคชั่นที่ Kore-eda รับจาก Ozu มาเต็มๆเลย)

ไฮไลท์ของเพลงประกอบคงหนีไม่พ้นฉากปั่นจักรยานชมดอกซากูระ เริ่มจากเปียโนตามด้วยเสียงขลุ่ยและประสาน Orchestra ค่อยๆไต่เต้าสัมผัสทางอารมณ์เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ สะท้อนถึงความสุขเป็นสิ่งที่ค่อยๆสะสมเพิ่มพูน จับจ้องมองสิ่งรอบข้างย่อมสำคัญกว่าเป้าหมายปลายทางที่ก็ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า

ปัญหาครอบครัวแทบทั้งนั้นเกิดจากความเบื่อหน่าย หมดสิ้นรัก ทำให้ฝ่ายใดหนึ่งคบชู้นอกใจ กล้าๆหน่อยก็บอกเลิกราแล้วย้ายไปอยู่กับคนใหม่ ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างที่เคยสร้างร่วมมา ให้กลายเป็นปัญหาภาระของผู้ยังอยู่เบื้องหลัง

หนังไม่พยายามชี้เป้าปัญหาว่าเกิดจากผู้ชายเป็นหลักที่ทอดทิ้งภรรยาและลูกๆไว้เบื้องหลัง แต่ยังเหมารวมถึงผู้หญิงที่บางครั้งก็เสแสร้ง (แบบแม่ของ Suzu) หรือมิอาจอดกลั้นต่อความเงี่ยนเหงาต้องการ (แบบแม่ของสามพี่น้อง) พวกเธอมักครุ่นคิดว่า ฉันผิดอะไรที่อยากแสวงหาความสุขสำราญให้กับตนเอง?

สามพี่น้อง Kōda ถือว่าโชคดีมากๆที่หลังจากพ่อและแม่ทอดทิ้งไป มีพี่คนโต Sachi สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำครอบครัวแทน แม้นั่นจะทำให้เธอสูญเสียความเป็นเด็กไปโดยสิ้นเชิง แต่ก็ได้รับการตอบสนองอันดีจากน้องๆ ยอบรับนับถือเข้าใจหัวอก สุขทุกข์ก็ก้าวเดินพร้อมกันอย่างสมานฉันท์กลมเกลียว

การที่ Sachi ชักชวนน้อง Suzu ให้มาอยู่ด้วยกัน สามารถมองได้หลายเหตุผล
– เพื่อเก็บตกสิ่งที่พ่อทอดทิ้งไว้แล้วไม่มีใครให้ความสนใจดูแล
– ตอบแทนคุณที่น้องช่วยดูแลพ่อยามตกยาก
– พบเห็นความคล้ายคลึงกับตนเองที่ต้องแบกรับภาระหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัวก่อนวัยอันควร
– สำคัญสุดคงเป็นความต้องการพิสูจน์ตนเองเหนือกว่าแม่ของตน (ที่ทอดทิ้งพวกเธอไป เพราะคิดว่าคงเลี้ยงดูลูกๆทั้งสามไม่ได้) ผู้หญิงอย่างฉันสามารถสร้างครอบครัวที่เอ่อล้นด้วยความสุขได้ (โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย)

แนวคิดที่ว่า ‘ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง’ คงมีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล นั่นเพราะสรีระเรือนร่างกายมีความแตกต่างตรงกันข้าม ขณะที่บุรุษใช้พละกำลังแรงงานเลี้ยงชีพดูแลครอบครัว อิสตรีจึงคอยให้การช่วยเหลือสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่เมื่อโลกยุคสมัยนี้ที่อะไรๆพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมาก เส้นแบ่งบางๆระหว่างชาย-หญิง เริ่มเจือจางหายไปแล้ว (ทั้งร่างกายและจิตใจ) สำนวนเปรียบเทียบนี้จึงเริ่มตกยุคล้าสมัย กลายเป็น ‘ไม่ว่าชายหญิง ก็สามารถเป็นช้างเท้าหน้าได้เหมือนกัน’

ผมคิดว่าโลกเราเพิ่งเดินทางมาถึงศตวรรษเปลี่ยนผ่าน ที่ชาย-หญิงสามารถเป็นอะไรก็ได้ดั่งใจ ความเสมอภาคเท่าเทียมได้รับการยอมรับในสังคมวงกว้าง แต่ยังมีอีกมากที่มนุษย์ครุ่นคิดไปไม่ถึง จนกว่าได้รับการชี้ชักนำแนวคิดแบบมังงะ/ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้หญิงหลายคนอาจยังคิดว่าไม่ใช่เรื่องหน้าที่ที่ตนจะต้องไปรับผิดชอบน้องสาวต่างมารดา หลังจากนี้ใครก็ตามที่บังเอิญตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆกัน ย่อมกล้าที่จะแสดงความเป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรี นั่นคือสิ่งมีมนุษย์ธรรมน่าชื่นชมแท้จริง

ใครเคยรับชมผลงานก่อนหน้านี้ของผู้กำกับ Kore-eda อาจคิดเพ้อเจ้อไปเล่นๆแบบผมว่า นี่ราวกับภาคต่อของ Nobody Knows (2004) เพราะเด็กๆที่ถูกแม่ทอดทิ้งในหนังเรื่องนั้น คงค่อยๆเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ในหนังเรื่องนี้ (ถ้านับปีก็แทบจะพอดิบพอดีเลยนะ) และยังได้สานต่อเรื่องราว พบเจอสถานการณ์ใหม่ที่คล้ายๆ Like Father, Like Son (2013) ใครที่ไหนก็ไม่รู้อยู่ดีๆปรากฎตัวขึ้นมา สัมพันธ์ด้วยเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน จะให้ทอดทิ้งปิดตาไม่รับรู้สนใจ คนมีจิตสำนึกอันดีย่อมมิอาจกระทำเช่นนั้นได้ลงคออย่างแน่นอน

หนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับการยืนปรบมือนานเกือบๆสิบนาที แต่กลับไม่คว้ารางวัลอะไรติดไม้ติดมือกลับมา ขณะที่ในญี่ปุ่นทำเงินได้ ¥1.55 พันล้านเยน (=$12.6 ล้านเหรียญ) เข้าชิง Japan Academy Prize 13 สาขา คว้ามา 5 รางวัล
– Best Film ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actress (Haruka Ayase)
– Best Supporting Actress (Kaho)
– Best Supporting Actress (Masami Nagasawa)
– Newcomer of Year (Suzu Hirose) ** คว้ารางวัล
– Best Screenplay
– Best Cinematography ** คว้ารางวัล
– Best Lighting ** คว้ารางวัล
– Best Art Direction
– Best Editing
– Best Sound
– Best Music Score

ตอนที่หนังได้หลายรางวัลใหญ่ของ JAP ถือว่าสร้างความประหลาดใจอย่างมากทีเดียว ไม่ใช่ตัวเต็งหนึ่ง แถมพลาดรางวัลใหญ่จากทุกสำนัก (Blue Ribbon, Kinema Junpo, Mainichi Award, Hochi Awardฯ) แต่เป็นปีที่คาดเดาอะไรไม่ได้เลยสักนิด

สิ่งที่ส่วนตัวชื่นชอบสุดในหนังเรื่องนี้ คือไดเรคชั่นถ่ายภาพที่ค่อยๆเคลื่อนไหลอย่างนุ่มนวลเชื่องช้า และความสัมพันธ์ของสี่พี่น้อง โดยเฉพาะพี่สาวคนโต Haruka Ayase ทั้งภาพลักษณ์และ Charisma มีความคล้ายคลึง Setsuko Hara อยู่พอสมควรเลยละ

แนะนำคอหนัง Slice-of-Life ดราม่าครอบครัว, วัยรุ่นสาวๆที่กำลังขาดกำลังใจในชีวิต, เคยอ่านมังงะ Umimachi Diary, หลงใหลถ่ายภาพสวยๆ เมือง Kamakura, แฟนๆผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda และสี่นักแสดงนำ Haruka Ayase, Masami Nagasawa, Kaho, Suzu Hirose ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG ในความเอาแต่ใจและเรื่องใต้กระโปรงของสาวๆ

TAGLINE | “Our Little Sister ของผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda พยายามเปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ให้กับสาวๆ แต่เหมือนยังไปได้ไม่ถึงสุดขอบฟ้า”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

2
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
1 Thread replies
2 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ณ.คอน ลับแลR.N.K. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
R.N.K.
Guest
R.N.K.

พี่คนโตนี่รู้สึกว่าจะรู้อยู่แล้วว่าผู้ชายที่ตัวเองคบอยู่มีแฟนแล้วนะ มีบอกไว้หลายตอนอย่าง
– ผู้ชายบอกยกเลิกพาไปเที่ยวอควอร์เรียม (หรือที่ไหนซักที่) เพราะติดธุระอะไรซักอย่างกับเมียตัวจริงเนี่ยแหละ
– ตอนโทรคุยปรึกษากันเรื่องแม่ของฝ่ายหญิงจะลงมา แล้วฝ่ายชายบอกว่า “สายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกย่อมเหนียวแน่นกว่าระหว่างสามีภรรยาอยู่แล้ว” แล้วฝ่ายหญิงบอกว่า “สายสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาก็ใช่ว่าจะขาดกันได้ง่ายๆนะ” แล้วก็เงียบไปทั้งคู่ แล้วผู้หญิงก็บอกขอโทษ คงเพราะสายสัมพันธ์ของฝ่ายชายกับเมียตัวจริงหมดไปแล้ว
– ฝ่ายชายเคยพูดเรื่องเมียตัวจริงอยู่
– บรรยากาศที่ทั้งคู่อยู่ที่อพาร์ตเม้นต์
อันนี้คือเท่าที่จำได้ ที่นิ่งไปตอนผู้ชายบอกจะไปต่างประเทศ และจะหย่า หลักๆน่าจะนิ่งไปเพราะถึงเวลาต้องตัดสินใจชี้ขาดแบบกะทันหันมากกว่า (ร่วมกับเหตุผลอื่นๆ เช่น ไม่อยากจากบ้าน ไม่อยากทิ้งน้อง ไม่อยากทำลายครอบครัวอย่างเป็นทางการ)

%d bloggers like this: