Out of Africa

Out of Africa (1985) hollywood : Sydney Pollack ♥♥♥♡

แม้ถูกจัดเป็นหนึ่งใน Worse Oscar: Best Picture แต่ความงดงามผืนแผ่นดิน East Africa การแสดงชั้นเลิศของ Meryl Streep และเพลงประกอบสุดฟินโดย John Barry จักทำให้คุณอิ่มหนำสุขสำราญ แม้ด้วยความอืดอาดเชื่องช้า 161 นาที

ถึงผมไม่มีปัญหากับความยาวเกือบๆสามชั่วโมงของหนัง แต่รู้สึกได้ว่าต้องสร้างปัญหาให้ผู้ชมรุ่นใหม่ที่บริโภคความรวดเร็วฉาบฉวย เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Out of Africa จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน Worse Oscar: Best Picture แต่ถ้าคุณสามารถผ่านจุดเบื่อหน่ายนั้นไปได้ จักพบเห็นความงดงามอลังการของผืนธรรมชาติ หารับชมแทบไม่ได้แล้วแล้วในยุคปัจจุบัน

สิ่งควรทำควบคู่ไปด้วยกับการอ่านบทความนี้ คือรับฟัง Main Theme แต่งโดย John Barry ไพเราะงดงามราวกับบทกวี พรรณาถึงผืนธรรมชาติแอฟริกันอันกว้างใหญ่ไพศาล จินตนาการเห็นยีราฟ ม้าลาย ควายป่า ฯ สรรพสัตว์มากหลากหลายอาศัยอยู่ร่วม และมนุษย์ตัวเล็กๆ อ่อนแอสุดกลับสามารถต่อสู้เอาชนะได้ทุกสิ่งอย่าง

Sydney Irwin Pollack (1934 – 2008) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Lafayette, Indiana ในครอบครัว Russian-Jewish ตอนเด็กวาดฝันอยากเป็นหมอ (พ่อเป็นเภสัชกรขายยา) แต่เปลี่ยนใจมาเรียนการแสดงที่ Neighborhood Playhouse School of the Theatre ได้อาจารย์ Sanford Meisner หลังกลับจากรับใช้ชาติ ทำงานเป็นผู้ช่วยกำกับบทของ John Frankenheimer, จากนั้นกำกับซีรีย์เป็นตอนๆ อาทิ The Twilight Zone (1961), The Fugitive, The Alfred Hitchcock Hour, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Slender Thread (1965), แจ้งเกิด They Shoot Horses, Don’t They? (1969), ประสบความสำเร็จสูงสุด Tootsie (1982) และ Out of Africa (1985)

ต้นฉบับ Out of Africa (1937) คือบันทึกความทรงจำ/ชีวประวัติ Baroness Karen Christenze von Blixen-Finecke (1885 – 1962) นักเขียนหญิงสัญชาติ Danish ใช้นามปากกา Isak Dinesen

ชีวิตวัยเด็กของ Karen สนิทสนมกับบิดา Wilhelm Dinesen เป็นนักเขียนนิยาย เลี้ยงดูแบบชอบพาไปท่องเที่ยวผจญภัย ศึกษาธรรมชาติ ต้นไม้ สังเกตพฤติกรรมสัตว์ ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่เด็กเลยมีนิสัยแก่นแก้ว เอาแต่ใจ แทบไม่ต่างอะไรกับผู้ชาย แต่พอเธออายุ 10 ขวบ พ่อกลับฆ่าตัวตายเพราะป่วยโรคซิฟิลิสกลัวอาการวิกลจริต จากนั้นอาศัยอยู่กับแม่ โตขึ้นได้ฝึกงานที่ Oxford หมั้นหมายกับ Baron Bror von Blixen-Finecke และอพยพย้ายสู่ประเทศเคนย่า ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1913-34

มีความพยายามดัดแปลงชีวประวัติของ Baroness Karen von Blixen เป็นภาพยนตร์มาแสนนาน ผู้กำกับดังๆให้ความสนใจ อาทิ Orson Welles, David Lean, Nicolas Roeg จนแล้วจนรอดไม่ประสบความสำเร็จสักที เพราะหนังสือ Out of Africa แทบไม่มีเนื้อหาอะไรจับต้องได้ จนกระทั่งการมาถึงของ Sydney Pollack หลังเสร็จจาก Tootsie (1982) ใช้เวลาเกือบๆสองปีร่วมกับนักเขียนขาประจำ Kurt Luedtke พัฒนาบทโดยคลุกเคล้าเข้ากับ
– Shadows on the Grass (1961) หนังสืออีกเล่มของ Isak Dinesen รวบรวมเรื่องสั้น ชีวิตประจำวันในประเทศ Kenya
– หนังสือชีวประวัติ Isak Dinesen: The Life of a Story Teller แต่งโดย Judith Thurman
– และชีวประวัติอีกเล่ม Silence Will Speak ของ Errol Trzebinski

Karen Dinesen (รับบทโดย Meryl Streep) ติดตามว่าที่สามี Baron Bror von Blixen (รับบทโดย Klaus Maria Brandauer) อพยพย้ายสู่ Nairobi, British East Africa เมื่อปี 1913 ตอนแรกตั้งใจทำฟาร์มปศุสัตว์ แต่พอพบเห็นสถานที่เลยเปลี่ยนมาปลูกไร่กาแฟ ระหว่างนั้นมีโอกาสพบเจอผู้ดีชาวอังกฤษ Denys Finch Hatton (รับบทโดย Robert Redford) แม้ไปๆมาๆไม่ค่อยหยุดอยู่นิ่งกับที่ กลับค่อยๆตกหลุมรักหลงใหล กระทั่งวันหนึ่งเธอติดโรคซิฟิลิส ไม่ต้องสืบความสามีก็ล่วงรับรู้ความจริงได้ ฉะนั้นเลยไม่ผิดอะไรถ้าฉันจะคบชู้นอกใจ!


นำแสดงโดย Mary Louise ‘Meryl’ Streep (เกิดปี 1949) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา ได้รับการยกย่องว่า ‘Best Actress of her Generation’ เกิดที่ Summit, New Jersey พ่อมีเชื้อสาย German, Swiss ตอนเด็กเป็นเชียร์ลีดเดอร์, แสดงละครเวทีโรงเรียน แต่ไม่คิดจริงจังจนกระทั้งนำแสดงเรื่อง Miss Julie สร้างความตกตะลึงสมจริงให้กับทุกคน เลยตัดสินใจเข้าเรียนต่อ Yale School of Drama จบออกมาเริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที Broadway จนประสบความสำเร็จคว้า Tony Award: Best Actress เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากความประทับใจ Robert De Niro เรื่อง Taxi Driver (1976), ผลงานเรื่องแรก Julia (1977), โด่งดังพลุแตกกับ The Deer Hunter (1978) [ได้ร่วมงานกับ Idol ของตนเอง], ปีเดียวกันแสดง mini-Series เรื่อง Holocaust (1978), บทเล็กๆใน Manhattan (1979), และคว้า Oscar: Best Supporting Actress จากเรื่อง Kramer vs. Kramer (1979)

รับบท Baroness Karen von Blixen หญิงสาวผู้มีความแก่นแก้ว เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ แถมยังมั่นใจในตนเองสูง ไม่สนกฎระเบียบขนบวิถีทางสังคม อยากได้อะไรต้องได้ในวิถีทางของฉัน โลกทั้งใบต้องหมุนรอบตนเอง, การแต่งงานกับ Baron Bror von Blixen เริ่มต้นด้วยผลประโยชน์ ขณะกำลังพัฒนาสู่ความรักกลับติดโรคซิฟิลิสทำให้สูญเสียความมั่นใจ หวนกลับมาใหม่ลุ่มหลงใหล Denys Finch Hatton ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเขา แต่ผู้ชายแบบนี้ก็เหมือนเสือ ต่อให้เลี้ยงดูอย่างดีในกรงขังก็ไม่มีวันเชื่องความสัมพันธ์

Streep ไม่ใช่นักแสดงที่อยู่ในความสนใจของผู้กำกับ Pollack ด้วยเหตุผลว่า เธอไร้ซึ่ง ‘Sex Appeal’ รู้ถึงเจ้าตัวมาทดสอบหน้ากล้องสวมใส่ Low-Cut Blouse กับ Push-Up Bra (เป็นยังไงก็ไม่รู้เหมือนกันนะ!)

การแสดงของ Streep ต้องเรียกว่า ‘never better!’ อยู่ในช่วงกำลังท็อปฟอร์ม แต่คำนี้สองแง่สองง่าม มองได้สองความหมายคือ ยอดเยี่ยมไร้ตำหนิ และที่สุดก็เท่านี้แหละ ไม่ดีเลิศไปกว่านี้! สิ่งโดดเด่นเป็นพิเศษรู้สึกจะทรงผมอันกระเซอะกระเซิง และริมฝีปากมักเปิดอ้าเล็กๆขณะกำลังพยายามทำความเข้าใจบางสิ่งอย่าง แต่มีครั้งหนึ่งตอนเสือกระโจนเข้าหา ขบกัดจนเป็นแผลเลือดออก นั่นสะท้อนความเครียดกดดันสะสมอัดอั้นอยู่ภายในจิตใจตัวละคร

ปัญหาเดียวในชีวิตของ Streep คือเธอขาด Sex Appeal แบบที่ผู้กำกับ Pollack ว่านะแหละ เรื่องฝีมือนั้นไร้ข้อกังขา แต่ภาพลักษณ์ดูธรรมดาสามัญไปหน่อย คือถ้าหนังได้นักแสดงอย่าง Greta Garbo หรือ Katharine Hepburn (ช่วยวัยกลางๆคน)มารับบทนี้ละก็ เชื่อว่ามีความโดดเด่นน่าหลงใหลกว่ากันมาก


Charles Robert Redford Jr. (เกิดปี 1936) นักแสดง ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Santa Monica, California สมัยเด็กชื่นชอบศิลปะและกีฬา โตขึ้นเข้าเรียน University of Colorado ไม่ทันจบหนีไปเที่ยวยุโรป ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี กลับมาเรียนวาดรูปที่ Pratt Institute, Brooklyn ตามด้วยการแสดงที่ American Academy of Dramatic Arts, New York City เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadways ตามด้วยแสดงซีรีย์โทรทัศน์ จนได้เข้าชิง Emmy Award: Best Supporting Actor, ภาพยนตร์เรื่องแรก Tall Story (1960) เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Chase (1966), Barefoot in the Park (1967), โด่งดังกับ Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), Downhill Racer (1969), The Sting (1973), All the President’s Men (1976) ฯ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Ordinary People (1980) คว้า Oscar: Best Director

รับบท Denys Finch Hatton ผู้ดีชาวอังกฤษที่ชอบเร่ร่อนพเนจรไปทั่ว East Africa เปรียบได้กับเสือ/ราชสีห์ ไม่สามารถเลี้ยงดูปูเสื่อ สอนให้เชื่องแล้วจะไม่ย้อนแย้งกัด ทุกๆหลายวันต้องออกท่องโลกกว้าง ก็ไม่รู้ทำอะไรแต่นั่นคืออิสรภาพแห่งชีวิต หยุดอยู่นิ่งปักหลักกับที่ไม่ได้ เหมือนจะขาดใจตายทั้งเป็น

แม้ภาพลักษณ์ของ Redford จะดูเหมาะสมกับตัวละครเถื่อนๆ ดูเหมือนสัตว์ป่า ไม่สามารถสอนให้เชื่อง/ขังอยู่ในกรง แต่การแสดงของเขากลับมีท่าทีเหน็ดเหนื่อยหน่าย เบื่ออ่อนล้าต่อโลกเสียเหลือเกิน, เห็นว่าตอนแรกอยากให้ตัวละครมีความเป็นสุภาพบุรุษแท้ๆ พูดสำเนียงอังกฤษหนาเตอะ (ตัวจริงของ Hatton คือผู้ดีอังกฤษจริงๆ) แต่ผู้กำกับมองว่านั่นจะเบี่ยงเบียนความสนใจผู้ชมเกินไป เลยขอให้ปรับเปลี่ยนเป็นตัวของตนเอง และมีการพากย์เสียงทับใหม่หลังการถ่ายทำ ผลลัพท์แกว่งไปแกว่งมา เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้สักอย่าง

คือมันก็ไม่ถึงขั้น Miscast แต่ผมว่าไดเรคชั่นของ Pollack ทำให้ Redford ขาด Passion ในการรับบทบาท แถมเคมีกับ Streep ดูไม่ค่อยอินเลิฟกันเท่าที่ควร แสดงออกเหมือนถูกรักข้างเดียวมากกว่าเติมเต็มกันและกัน


Klaus Maria Brandauer (เกิดปี 1943) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติ Austrian เกิดที่ Bad Aussee, Styria โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Salzburg Connection (1972), มีชื่อเสียงโด่งดังกับ Mephisto (1981), ตามด้วยรับบทตัวร้าย Maximillian Largo เรื่อง Never Say Never Again (1983), ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor เรื่อง Out of Africa (1985)

รับบท Baron Bror von Blixen แม้ต้นตระกูลสูงส่งแต่ตกหลุมรักกับคนรับใช้ ยินยอมแต่งงานกับ Karen Dinesen เพื่อหวังเงินจากครอบครัว แล้วอพยพย้ายไปปักหลักอาศัย ดิ้นรนเอาตัวรอดยังทวีปแอฟริกา ลึกๆคงมีความรักมอบให้เธอบ้าง แต่นิสัยเพลย์บอยปล่อยตัวปล่อยใจ ติดโรคซิฟิลิสแต่กลับไม่เป็นอะไร ทำเอาภรรยาป่วยหนักต้องกลับไปพักรักษาตัวยังบ้านเกิด หวนกลับมาก็ไม่มีทางที่อะไรๆจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

เกร็ด: Brandauer รับบท Baron Hans von Blixen พี่ชายของ Bror ด้วยนะ

Brandauer เป็นตัวเลือกแรกเดียวของผู้กำกับ Pollack ภาพลักษณ์นี่ใช่เลย มีความอ่อนแอปวกเปียกเหมือนคนขี้โรค พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ แต่เกียรติศักดิ์ศรีลูกผู้ชายค้ำคอ ทำอะไรกล้ายินยอมรับ พร้อมเผชิญหน้าอดีตภรรยาในห้วงเวลาสำคัญๆ ผู้ชมจะรู้สึกสงสารเห็นใจ ขณะเดียวกันก็สมเพศเวทนา สมควรอย่างมากจะได้เข้าชิงรางวัลมากมายปลายปี


ถ่ายภาพโดย David Watkin (1925 – 2008) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ บุคคลแรกที่ใช้เทคนิค Bounce Light ให้เกิดแสงนุ่มๆ (Soft Light) ผลงานเด่นๆ อาทิ The Knack …and How to Get It (1965), Chariots of Fire (1981), Yentl (1983), Out of Africa (1985) ฯ

ประมาณ 70% ของหนังถ่ายทำยังประเทศเคนย่า ไม่ห่างไกลเท่าไหร่จากบ้านของ Baroness Karen แต่ต้องปลูกสร้างเลียนแบบของจริงขึ้นมาใหม่ทั้งหลัง เพราะขณะนั้นกลายเป็นสถานรับเลี้ยงดูเด็ก มันคงยุ่งยากวุ่นวายเกินจะไปขอใช้สถานที่

ส่วนฉากภายในถ่ายทำยังสตูดิโอ Shepperton Studios, ประเทศอังกฤษ

ความน่าเสียดายของหนัง คือถ่ายทำด้วยฟีล์ม 35mm อัตราส่วน 1.85:1 แทนที่จะเป็น 70mm แบบ Anamorphic Widescreen, ผู้กำกับ Pollack ให้เหตุผลต้องการให้ฉายโทรทัศน์ได้แบบไม่ต้องตัดทอนอะไร!

ด้วยวิสัยทัศน์อันคับแคบดังกล่าว ทำให้การจะเปรียบเทียบความงดงามอลังการของหนังกับ Lawrence of Arabia (1962) ยังถือว่าห่างชั้นกันอยู่มาก แม้จะมีช็อตเคารพคารวะ(ตั้งแต่ภาพแรกของหนัง พระอาทิตย์กำลังขึ้นจากสุดปลายขอบฟ้า) แต่ก็ใช้การตัดต่อแบบเร็วๆสร้างไดเรคชั่นดำเนินเรื่องที่แตกต่างออกไป

ฉากที่โดยส่วนตัวมองว่ามีความงดงามในศิลป์มากสุด คือขณะ Baroness Karen กำลังเล่านิทานก่อนนอนให้สองหนุ่ม ภาพแพนจากหน้าเธอไปที่เทียนไข เสียงพูดเงียบสงัดลง จากนั้นซ้อนภาพ Cross-Cutting พบเห็นใบหน้าของ Denys Finch Hatton จับจ้องมองอย่างใคร่สนใจ และเปลวเพลิงอันร้อนแรงจากเตากระพรือคุกรุ่น

เศษเสี้ยววินาทีเล็กๆนี้ สะท้อนเปลวเพลิงราคะ ความใคร่สนใจในตัว Baroness Karen ของ Denys Finch Hatton เริ่มจากก็แค่หญิงสาวแต่งงานแล้วคนหนึ่ง เรื่องเล่าดังกล่าวเปรียบได้กับเปลวเทียน ตอนจบแปรสภาพเป็นกองไฟ ตกหลุมหลงใหลคลั่งไคล้

เข็มทิศ สิ่งสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายทั้งรูปธรรม-นามธรรม ใช้นำทางสู่เป้าหมายค่ายทหารของสามี ขณะเดียวกันย่อมหมายถึงการเดินทางของชีวิต ค้นพบความปรารถนาต้องการของตัวตนเอง!

ขณะที่ครึ่งหลัง Denys Finch Hatton ขับเครื่องบิน นอกจากเพื่อโชว์อ๊อฟภาพถ่ายสวยๆจากมุม Bird Eye View ยังคือสัญลักษณ์ของอิสรภาพ กางปีกโบยบิน สะท้อนรสนิยมตัวตนของทั้งสอง ไม่ต้องการยึดติดอยู่กับสิ่งอื่นใด

ผมไปอ่านเจอเกร็ดหนังฉากนี้ที่น่าสะพรึง: Streep ได้รับคำยืนกรานจากทีมงาน ว่ามีการล่ามเชือก/โซ่ไว้กับเสือ ไม่มีทางที่มันจะกระโจนเข้าทำร้าย แต่ตอนเข้าฉากจริงๆไม่รู้ลืมหรืออย่างไรมิได้มีการผูกล่ามไว้ พอเธอฟาดแส้ไปอย่างเต็มแรง สีหน้าเต็มไปด้วยอาการหวาดสะพรึงกลัว เกือบตาย!

เสือ/ราชสีห์ สัตว์สัญลักษณ์เจ้าป่า ใช้ชีวิตด้วยสันชาติญาณ หิวโหยถึงออกหาอาหาร เมื่ออิ่มหนำก็มักแค่หยอกล้อแกล้งเล่น ซึ่งหนังเปรียบเทียบตรงๆกับ Denys Finch Hatton ไม่มีใครสามารถเลี้ยงดูแล้วทำให้มันเชื่องในกรงขังได้

Days of Heaven (1978), Tess (1979) ฯ ต่างเป็นภาพยนตร์ที่ร้อยเรียงภาพการทำกสิกรรม สะท้อน/เปรียบเทียบเข้ากับเรื่องราวของตัวละครที่กำลังประสบพบเจอในชีวิต Out of Africa (1985) ก็เฉกเช่นกัน

เนื่องจากผมขี้เกียจไล่เปรียบเทียบตั้งแต่ต้น จึงขอสรุปคร่าวๆเลยแล้วกันว่า ตลอดช่วงเวลาที่ Baroness Karen มาอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา จะมีการเล่าเรื่องคู่ขนานสลับไปมาระหว่างการปลูกไร่กาแฟ กับเหตุการณ์ต่างๆประสบพบเจอในชีวิต อาทิ
– เมื่อเริ่มเดินทางมาถึง = ออกเดินทางสำรวจพื้นที่ ตัดสินใจเปลี่ยนมาทำไร่กาแฟ
– ชีวิตดำเนินไป = ต้นกาแฟค่อยๆเติบโต
– เมื่อสูญเสียคนรัก บอกเลิกร้างรากับ Denys Finch Hatton = เกิดอุบัติเหตุไฟมอดไหม้ สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง
ฯลฯ

อีกหนึ่งฉากสวยๆก่อนการจากไปชั่วนิรันดร์ของ Denys Finch Hatton สังเกตว่าพวกเขาค่อยๆเต้นรำจากฝั่งที่มีแสงไฟ สู่ด้านแห่งความมืดมิด … นี่เป็นการพยากรณ์ความตายของตัวละครได้เลยนะเนี่ย!

เป็นอีกฉากที่ผมค่อนข้างชื่นชอบทีเดียว Baroness Karen รับทราบข่าวการเสียชีวิตจากไปของ Denys Finch Hatton สถานที่ก็คือภายในบ้านที่กำลังขนของเคลื่อนย้าย รอบข้างรายล้อมด้วยของเครื่องใช้ (ของ Hatton) และกองหนังสือ (สัญลักษณ์ของเรื่องราว/ความทรงจำ) … นั่นคือสิ่งทุกอย่างที่เธอหลงเหลือให้กับเขา

ด้วยฟุตเทจปริมาณมหาศาล จำต้องใช้บริการทีมงานตัดต่อถึงสี่คน ประกอบด้วย Fredric Steinkamp, William Steinkamp, Pembroke Herring และ Sheldon Kahn

ความเชื่องช้าของหนังเกิดจากการร้อยเรียงภาพ Montage ระหว่างเสียงบรรยาย/อ่านบันทึกของ Baroness Karen von Blixen ประกอบด้วยทิวทัศนียภาพ ผืนธรรมชาติ สัตว์ป่า การทำงานไร่กาแฟ ฯ มีลักษณะเหมือนคำพรรณาของบทกวี สร้างสัมผัสเนื่องระหว่างวรรค/บท ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด

หนังดำเนินเรื่องโดยหาได้สนระยะเวลาดำเนินไปกว่า 20 ปี (1913 – 34) ไม่มีการขึ้นบอกหรือกล่าวถึง แต่บางครั้งสามารถคาดเดา สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี 1914-18


เพลงประกอบโดย John Barry (1933 – 2011) นักแต่งเพลงระดับตำนานสัญชาติอังกฤษ หลายคนคงจดจำผลงานชิ้นเอก James Bond Theme ลำดับถัดมาคือ Out of Africa (1985) และ Dances with Wolves (1990)

เกร็ด: Out of Africa ติดอันดับ 15 ชาร์ท AFI’s 100 Years of Film Scores

การเลือกใช้วง Symphony Orchestra แทนเครื่องดนตรีพื้นบ้านแอฟริกา แฝงนัยยะถึงยุคสมัยอาณานิคม British East Africa อันทำให้ชาวเคนย่าค่อยๆสูญเสียอัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนเอง แต่ก็ถือเป็นตัวเลือกเหมาะสมกับหนังนะครับ เพราะตัวละครหลักๆคือคนผิวขาว ปักหลักอาศัยในประเทศโลกที่สาม

บทเพลงมีการใช้ Clarinet ค่อนข้างเยอะ เสียงผิวอันนุ่มนวลมอบสัมผัสราวกับสายลมแห่งธรรมชาติ พัดพาจิตวิญญาณให้ฟูฟ่องลอยละล่อง อิ่มเอิบสุขสำราญกายใจ พักผ่อนคลาย ‘ฟิน’ ไม่หาย เปิดก่อนนอนคงหลับสบายฝันหวานอย่างแน่นอน

สำหรับเพลงคลาสสิกที่ได้ยินในหนัง/เครื่องเล่น ประกอบด้วย
– Mozart: Clarinet Concerto in A major, K.622 (1791)
– Mozart: Piano Sonata No. 11 in A major, K. 331 – III. Rondò alla Turca (1778)
– Mozart: Sinfonia Concertante for Violin & Viola in E flat major (1779) ** เปิดให้ลิงฟัง
– Mozart: Three Divertimenti (1772)
ฯลฯ

Baroness Karen von Blixen หญิงสาวจอมแก่น พยายามทำทุกสิ่งอย่างสนองความปรารถนาต้องการของตนเอง แต่กลับหลงลืมไปว่าสัตว์ป่าไม่มีทางอาศัยอยู่ในกรงขัง ยุคสมัยบุรุษเป็นใหญ่ไม่มีวันก้มหัวให้อิสตรี ก็เหมือนตัวเธอเองไม่ได้ต้องการยึดติดกฎกรอบวิถีสังคม แล้วจะไปคาดหวังให้ทั้ง Baron Bror von Blixen และ Denys Finch Hatton อยู่ภายใต้อาณัติได้อย่างไร

เฉกเช่นเดียวกับ British East Africa ในอดีตสหราชอาณาจักรแผ่ขยายอิทธิพล เข้าครอบครองเป็นเจ้าของอาณานิคมทั่วพื้นพิภพทวีป จนได้รับฉายา ‘Sun never sets on British Empire’ แต่ปีที่สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แทบทุกประเทศในแอฟริกาได้รับการปลดแอก หลุดพ้นจากสถานะประเทศอาณานิคมเรียบร้อยแล้ว

“We’re not owners here. We’re just passing through.”

เกร็ด: ประเทศเคนย่า ได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร 12 ธันวาคม ค.ศ. 1963

ราคาของอิสภาพนั้นสูงส่ง เพราะสิ่งที่ต้องแลกมาสำหรับ Baroness Karen von Blixen คือการมิได้ครองคู่แต่งงานกับชายในฝันที่ตนตกหลุมรักจริง และเมื่อเขาจากไป ทุกสิ่งอย่างเคยปลูกสร้างมา(ไร่กาแฟ)ก็มอดไหม้พังทลายย่อยยับเยิน

ก็ไม่เชิงเป็นข้อคิด แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามชี้ชักนำว่า ‘ไม่มีอะไรในโลกที่ได้มาฟรีๆ’ ทุกสิ่งอย่างต้องมีข้อแลกเปลี่ยนอันเท่าเทียม สมเหตุสมผล และสิ่งใดมิใช่ของตนเอง ก็ไม่มีวันที่เราจะได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ … อยากมากก็แค่ชั่วครั้งคราว ถ้าต้องการยาวๆสักวันย่อมพบความสูญเสีย

Racism เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พบเห็น ไม่ใช่แค่การดูถูกเหยียดหยามชนพื้นเมือง คนรับใช้ ชาวผิวสี แต่เรื่องนี้เหมารวมถึงเพศหญิง โดยเฉพาะ Men Club ห้ามผู้หญิงเข้า! ปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่นะครับ มองมุมหนึ่งเพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัวทางเพศ (Women Club ยังมีเลย!) ขณะเดียวกันคือการกีดกัน แบ่งฝักฝ่าย เล่นพรรคเล่นพวก สร้างความแตกแยกให้บังเกิดขึ้น

แน่นอนว่าเมื่ออิสตรีสามารถกระทำบางสิ่งอย่างได้ด้วยความคิดอ่านของตนเอง ประเด็น Feminist จึงโดดเด่นชัดขึ้นมา กล้าบ้าเดินทางไปส่งเสบียงยังหน่วยรบแนวหน้า ท้ายที่สุดได้รับการยอมรับจากเหล่าบุรุษ ครั้งแรกครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ East Africa ผู้หญิงเข้าไปใน Men Club ดื่มให้กับความคิดไม่ถึงของชีวิต!

อีกสิ่งหนึ่งที่หนังไม่ค่อยเด่นชัดเท่าไหร่ นั่นคือการล่าสัตว์ (=ล่าอาณานิคม) งานอดิเรกของคนผิวขาว เพื่อความบันเทิงและเป็นมื้ออาหาร ไร้ซึ่งจิตสำนึกมโนธรรมประจำใจ อิ่มหนำสุขสำราญแล้วจากไป … ศาสนาฝั่งตะวันตกเสี้ยมสอนไว้ มนุษย์สูงส่งกว่าสัตว์ จริงๆนะหรือ!

ประเทศผู้ล่าอาณานิคมก็เฉกเช่นเดียวกัน มองชาวพื้นเมืองผิวสีด้วยสายตาดูถูกดูแคลน ต่ำต้อยด้อยคุณค่า กอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ หมดสิ้นแล้วสะบัดตูดหนีเหมือนหมา นี่นะหรืออารยะ พฤติกรรมไม่แตกต่างจากเดรัจฉาน

Sydney Pollack ถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับ ‘Woman Film’ มักสร้างภาพยนตร์ที่มีผู้หญิง (หรือกระเทย) นำแสดง ซึ่งมักสอดแทรกสาระ Feminist ปลูกฝังทัศนคติเสมอภาคเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเรื่องนี้มากกว่าแค่ชาย-หญิง ก้าวไปสู่ความแตกต่างทางเชื้อชาติ (และสรรพสัตว์) ยิ่งใหญ่อลังการระดับโลกเลยทีเดียว


ด้วยทุนสร้าง $28 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $87 ล้านเหรียญ ราวทั่วโลก $227.5 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จล้นหลามถล่มทลาย

เข้าชิง Oscar 11 สาขา คว้ามา 7 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actress (Meryl Streep)
– Best Supporting Actor (Klaus Maria Brandauer)
– Best Adapted Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Art Direction-Set Decoration ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design
– Best Sound ** คว้ารางวัล
– Best Original Score ** คว้ารางวัล

เป็นปีที่การแข่งขันค่อนข้างจืดชืด คู่แข่งสำคัญของ Out of Africa มีเพียง The Color Purple (1985) ของ Steven Spielberg ด้วยเหตุนี้เลยคือตัวเต็งหนึ่ง ไม่เกินความคาดหมายใดๆ

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ หลงใหลในภาพและบทเพลง แต่งเติมเต็มด้วยการแสดงของ Meryl Streep แต่ก็แอบเสียดายไดเรคชั่น Sydney Pollack น่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้

แนะนำคอหนังรักโรแมนติก ประกอบทิวทัศน์พื้นหลังสวยๆทวีป East Africa, ชื่นชอบนวนิยายของ Isak Dinesen, แฟนๆผู้กำกับ Sydney Pollack, นำแสดงนำ Robert Redford, Meryl Streep ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความหยามเหยียด คบชู้ ติดโรค

คำโปรย | Out of Africa แม้มีความไพเราะงดงามอลังการ แต่ก็ทำให้ผู้ชมหมดเรี่ยวแรงไปมาก
คุณภาพ | งดงามอลังการ
ส่วนตัว | ค่อนข้างชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: