Paa

Paa (2009) Indian : R. Balki ♥♡

(mini Review) Amitabh Bachchan รับบทเด็กชายอายุ 12 ขวบ ป่วยเป็นโรค Progeria ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตรวดเร็วผิดปกติ ขณะนั้นมีอายุเท่ากับคนอายุ 80 ปี อาศัยอยู่กับแม่ Vidya Balan และย่า Arundhati Nag โชคชะตาจับพลัดจับพลูให้บังเอิญพบกับพ่อ Abhishek Bachchan (ลูกชายแท้ๆของ Amitabh) ทอดทิ้งไปตั้งแต่ยังไม่เกิด ความตายของเขาทำให้ครอบครัวมีโอกาสอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง

ก่อนจะด่าผมคงต้องชมก่อน หนังเรื่องนี้มีสามสิ่งที่เจ๋งมากๆ
1) ความสมจริงของการแต่งหน้าโดย Christien Tinsley นัก Prosthetic Make-up มือฉมังจาก Hollywood ผลงานเด่นคือ The Passion of the Christ (2004)
2) การแสดงของปู่ Amitabh Bachchan ยังฟิตปั๋ง มากด้วยพลัง เล่นเป็นเด็กไม่รู้สึกว่าแก่เลย (แต่ความคิดอ่านเกินวัยไปหน่อยนะ)
3) พล็อตเรื่องราวของหนัง เปรียบเทียบความเห็นแก่ตัวของพ่อที่ทอดทิ้งลูกไป กับความคอรัปชั่นของเขาที่กลายเป็นนักการเมืองเอาเปรียบประชาชน

สำหรับสิ่งน่าผิดหวังมากๆ เหมารวมคือไดเรคชั่นของผู้กำกับ R. Balki เป็นหนังที่ทำ Art Direction ได้รกรุงรังน่าผิดหวังมากๆ ส่งผลให้การถ่ายภาพเลือกใช้เลนส์ คุมโทนแสงสีอารมณ์ไม่ได้เลย และการตัดต่อโคตร Jump-Cut มันบ้าบอคอแตกอะไร ไร้ซึ่งเหตุผลความจำเป็นโดยสิ้นเชิง

สิ่งที่ผมใคร่ฉงนอย่างมากคือการกวาดรางวัลสี่จาก National Film Awards (เทียบได้กับ Oscar ของประเทศอินเดีย)
– Best Feature Film in Hindi
– Best Actor (Amitabh Bachchan)
– Best Supporting Actress (Arundathi Nag)
– Best Make-up Artist

สาขารองยังพอยอมรับได้ แต่ Best Feature Film in Hindi เป็นอะไรที่น่าคับข้องใจอย่างยิ่ง นั่นแปลว่าคณะกรรมการ/ผู้ชมชาวอินเดียทั้งหลาย มองภาพยนตร์แค่ความบันเทิงแฝงสาระ ทอดทิ้งคุณค่าทางศิลปะไปหมดสิ้นแล้วเช่นนั้นหรือ?

R. Balki ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอินเดีย หลังเรียนจบทำงานเป็นนักออกแบบแคมเปญโฆษณา เขียนบทหนังส่งให้ Amitabh Bachchan แสดงนำในผลงานแจ้งเกิด Cheeni Kum (2007),

สำหรับผลงานถัดไป Paa (2009) ได้แรงบันดาลใจจาก Sam Berns (1996-2014) เด็กชายผู้ป่วยเป็นโรคแก่ก่อนวัย (Progeria) อาการผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้อวัยวะส่วนต่างๆโดยเฉพาะหัวใจเสื่อมเร็วกว่าปกติ ประมาณการณ์ทั้งโลกมีคนป่วยโรคนี้ประมาณ 350 คน (จาก 6 พันล้าน) เนื่องจากโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่เสียชีวิตกันตอนอายุ 13 ปี เลยยังไม่มีองค์ความรู้มากพอที่จะรักษาให้หายขาด

Amitabh Bachchan เมื่อได้รับแจ้งจากผู้กำกับถึงความสนใจรับบทเด็กชายอายุ 13 ก็เกิดความลิงโลดอย่างยิ่งยวด (คิดท่าเต้นลิงนั้นขึ้นมาเองเลย) แม้ต้องเสียเวลาแต่งหน้าวันละ 5 ชั่วโมง ถือเป็นปกติเมื่อเทียบกับหนัง Hollywood ใหญ่ๆอย่าง Lord of the Ring ที่ใช้เวลานานกว่านั้นมากๆ, รับบท AURA เต็มไปด้วยความเริงร่าสนุกสนานกับเพื่อนฝูง แต่ความคิดอ่านเฉลียวฉลาดรอบรู้เกินวัย ขี้เล่นขี้งอน ลึกๆแล้วมีจิตใจดีงาม อยากที่จะมีชีวิตอยู่ให้นานๆแต่เมื่อโชคชะตาได้เพียงเท่านี้ก็พึงพอใจแล้ว

Vidya Balan จากความสำเร็จของ Lage Raho Munna Bhai (2006) ทำให้ได้รับการจับตามองจากวงกว้าง แต่ภาพลักษณ์ความเป็นแม่หญิงผู้แข็งแกร่งเริ่มต้นที่ Paa (2009) และไฮไลท์คือ Kahaani (2013), รับบทแม่ Vidya ที่ตัดสินใจเก็บลูกไว้หลังจากปล่อยตัวตั้งครรภ์ เลิกสนสามีไม่ว่าเขาจะเป็นเช่นไร รวดร้าวทรมานเมื่อทราบว่าเขาป่วยเป็น Progeria แต่ก็ยังรักเอ็นดูใกล้ชิดไม่ยอมห่างไปไหน

Abhishek Bachchan ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ Amitabh Bachchan โด่งดังจาก Dhoom Trilogy ถือเป็นบทบาทน่าสนใจไม่น้อยเพราะในชีวิตเป็นลูกของพ่อมาโดยตลอด ครานี้รับบทพ่อของพ่อ เออเว้ยเห้ยแปลกประหลาดดีแท้, รับบท Amol Arte นักการเมืองหัวใสที่ปากอ้างเพื่อประชาชน แต่ลึกๆแล้วก็เต็มไปด้วยความคอรัปชั่นคดโกงกิน เฉกเช่นเดียวกับตอนตกหลุมรัก Vidya ยังไม่ได้ต้องการมีลูกขอให้เธอไปทำแท้ง แต่ตัวเขากลับถูกแท้งเสียเอง เมื่อความจริงเรื่องลูกๆลับๆได้รับการเปิดเผย ภาพลักษณ์ของเขาก็จักค่อยๆพังทลายลง

ความตั้งใจของผู้กำกับตามที่เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า

“My main aim was not to make a film on progeria. My main motive behind making Paa was to reverse the roles of Amitabh and Abhishek. I decided to do something like this because once I was with both of them and I saw Abhishek behaving in a very matured manner. It was then that this idea struck me”.

ส่วนตัวมองว่าแค่คิดแบบนี้ก็ผิดมหันต์แล้ว ผู้กำกับดูจะยกย่องเชิดชูตระกูล Bachchan จนมองข้ามความน่าสนใจของประเด็นเนื้อหา ที่สามารถต่อยอดไปได้ไกลระดับ Taare Zameen Par (2007) คงเพราะความเป็น Superstar ในอินเดียยังคงมีอยู่ (ผิดกับเทรนด์ดาราใน Hollywood เลือนลางไปกับยุคสมัยแฟนไชร์ภาคต่อ) ทั้งยังความหน้ามืดตามัวขาดวิสัยทัศน์ คิดว่าทำแบบนี้แล้วจักประสบความสำเร็จทำกำไร แต่คุณภาพห่วยๆไร้ใจความหลักน่าสนใจ ก็แน่ละว่าล้มเหลวไม่มีใครอยากรับชม

ด้วยทุนสร้าง ₹15 Crore (=$2.2 ล้านเหรียญ) ทำเงินได้ ₹31 Crore (=$4.5 ล้านเหรียญ) สมควรแล้วละที่จะไม่ได้กำไร, ขณะที่คำวิจารณ์ในอินเดียออกไปทางยกย่องสรรเสริญ แต่ต่างประเทศกลับสับเละเป็นโจ๊กดูไม่ได้ ผมก็อีกคนหนึ่งละส่ายหัวเสียเวลารับชมอย่างรุนแรง

แนะนำเฉพาะกับแฟนๆ Amitabh Bachchan อยากเห็นการแสดงบ้าพลังของปู่ เป็นสิ่งเดียวที่ไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

จัดเรต 13+ เพราะแฝงประเด็นการเมือง คอรัปชั่น ใช้กำลังรุนแรง

TAGLINE | “Paa มีเพียงการแสดงและแต่งหน้า Amitabh Bachchan เท่านั้นที่ควรค่าน่าสนใจ”
QUALITY | UNDERESTIMATE
MY SCORE | WASTE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: