Johann Pachelbel: Canon in D
หนึ่งในเพลงคลาสสิกที่มีความมหัศจรรย์ ทั้งจากตัวโน้ต ท่วงทำนอง วิธีการเล่น แนวคิดและอิทธิพล ที่แม้จะถูกแต่งขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ปัจจุบัน (ศตวรรษที่ 21) ก็ยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย
นี่เป็นบทเพลงที่ผมไม่รู้จะเขียนอะไรดีนะครับ เพราะถ้าค้นในอินเตอร์เน็ตว่า “ประวัติ Canon in D” จะพบเว็บไทยเป็นล้านที่พูดถึงเพลงนี้ ซึ่งในส่วนประวัติผมจะขอก็อปจากเว็บอื่นมาเลยแล้วกัน แล้วเพิ่มเติมในส่วนแสดงความเห็นนิดหน่อย
Canon หรือ Kanon (สะกดตามต้นฉบับเดิม) เป็นผลงานการประพันธ์ของ Johann Pachelbel คีตกวีและนักออร์แกนสัญชาติ Germany ในยุค Baroque (1600-1750) ที่ถือเป็นช่วงเวลาของความตื่นตัวทางภูมิปัญญาและการใช้เหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ ยุคของการล่าอาณานิคมและแสวงหาแหล่งวัตถุดิบสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในต่างแดน
เกร็ด: กาลิเลโอ (Galileo) เกิดในยุคนี้นะครับ (1564 – 1642) เป็นผู้ค้นพบว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลมิใช่โลกตามที่เคยเชื่อกันมา
ดนตรียุคนี้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนเป็นอย่างมาก (Renaissance, ฟื้นฟูศิลปวิทยาการ) เพลงบรรเลงเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายเช่นเดียวกับเพลงร้อง ผู้ประพันธ์เพลงคิดค้นวิธีการประพันธ์เพลงแบบใหม่ๆ มีการพัฒนาเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายและคีย์บอร์ดให้ได้มาตรฐาน สถานที่แสดงอุปรากร (opera) เกิดขึ้นในอิตาลีเป็นแห่งแรกในปี 1637 และได้รับความนิยมแพร่หลายไปยังฝรั่งเศส เยอรมัน และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ทั้งในราชสำนักและในหมู่สามัญชน ผู้ชมเริ่มอยากชมอุปรากรที่แต่งเนื้อร้องขึ้นมาใหม่หรือสะท้อนภาพชีวิตจริงมากกว่าอุปรากร ที่นำเนื้อเรื่องมาจากเทพนิยายหรือตำนานกรีกโรมัน
การประพันธ์เพลงในยุคนี้นิยมประพันธ์ 2 ทำนองขึ้นไปในเวลาเดียวกัน เรียกว่า Polyphony โดยมีการประพันธ์ในลักษณะทำนองเสียงสูง แล้วอาจเล่นซ้ำอีกครั้งด้วยเสียงต่ำ หรือทำนองเสียงต่ำแล้วสลับไปเล่นทำนองเดิมอีกครั้ง นี่เรียกว่าการสอดประสานทำนอง (Contrapuntal) นอกจากนี้ยังนิยมประพันธ์ให้เกิดลูกล้อลูกขัด เรียกว่า แคนนอน (Kanon) ซึ่งหมายถึงการเล่นไล่กันของ 2 ทำนองที่เหมือนกันแต่บรรเลงในเวลาต่างกัน
อีกลักษณะเ่นของดนตรียุคนี้ คือการทำให้เสียงต่ำหรือเสียงเบส (bass) เคลื่อนที่ตลอดเวลาเรียกว่า Basso Continuo เครื่องดนตรีที่นิยมใช้เล่นเสียงต่ำ อาทิ ฮาร์พซิคอร์ด (harpsichord) ฯ
เกร็ด: ในยุค Baroque เริ่มใช้บันไดเสียงเมเจอร์ (major) และไมเนอร์ (monor) แทนบันไดเสียงแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าโมด (mode) และมีการกำหนดอัตราจังหวะความเร็วชัดเจน เช่น เร็ว (allegro) เร็วปานกลาง (moderato) หรือช้าปกติ (andante) เป็นต้น
เกร็ด: มีเครื่องดนตรี 2 ชิ้นที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้ คือไวโอลินมาตรฐาน สร้างขึ้นในปี 1715 เรียกว่า Stradivarius สร้างโดย Niccolo Amati ชาวอิตาเลี่ยน, เครื่องดนตรีอีกชิ้นคือ เปียโน สร้างโดยชาวอิตาลีเช่นกัน Bartolomeo Cristofori ชื่อเดิมของเปียโนคือ Pianoforte ซึ่งมาจาก piano (แปลว่าเบา) และ forte (แปลว่าดัง) เพราะเครื่องดนตรีดังกล่าวสามารถควบคุมการเล่นให้เบาและดังได้จากน้ำหนักที่กดลงไปบนลิ่มนิ้ว (keyboard)
Johann Pachelbel (1653-1706) เกิดในเมือง Nuremberg ประเทศ Germany, ครอบครัวเป็นคนชนชั้นกลาง ได้รับการหัดเล่นดนตรีจาก Heinrich Schwemmer (บางแหล่งข้อมูลก็ว่า Pachelbel เรียนดนตรีจาก Georg Caspar Wecker) ที่เป็นนักดนตรีและนักร้องใน St. Sebaldus Church, Pachelbe มีความสามารถทางดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ปี 1669 เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Altdorf และได้รับแต่งตั้งให้เป็นคนเล่นออร์แกนในโบสถ์ St. Lorenz แต่ปัญหาทางการเงินของเขา ทำให้ต้องออกจากมหาวิทยาลัย (น่าจะไม่มีทุนการศึกษา) ต่อมาได้กลายเป็นลูกศิษย์ของ Kaspar (Caspar) Prentz ที่เป็นนักดนตรีชาวอิตาเลี่ยน นั่นทำให้ Pachelbel เริ่มความสนใจในดนตรีอิตาลีร่วมสมัย พร้อมๆไปกับการแต่งเพลงที่ใช้เล่นในโบสถ์
ปี 1677 Pachelbel ได้ไปเป็นนักออร์แกนประจำราชสำนักของ Eisenach และได้พบ Johann Ambrosius (ผู้เป็นพ่อของ Johan Sebastian Bach) และกลายเป็นครูสอนดนตรีให้กับลูกๆของ Ambrosius อีกด้วย
Kanon und Gigue für 3 Violinen mit Generalbaß หรือที่รู้จักกันในชื่อของ Pachelbel’s Canon หรือ Canon in D major (PWC 37, T. 337, PC 358) เป็นผลงานประพันธ์ดนตรี ที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Johann Pachelbel ดั้งเดิมแต่งขึ้นสำหรับบรรเลงแบบ Kanon ด้วยไวโอลินสามตัว โดยมีการเดินเสียงเบสด้วยเครื่องดนตรี เช่น Cello, Double Bass หรือ Bassoon จับคู่กับจังหวะแบบ Gigue ในระดับเสียงเดียวกัน ไวโอลินทั้งสามตัวเล่นด้วยโน้ตและจังหวะเดียวกัน แต่เริ่มต้นบรรเลงไม่พร้อมกัน โดยห่างกัน 4 ห้องเสียงไล่ตามกันไป และประสานออกมาเป็นเพลง
ว่ากันว่า ต้นฉบับผลงานชิ้นนี้สูญหายไปหลายปี เช่นเดียวกับผลงานชิ้นอื่นๆ ของ Pachelbel และศิลปินในศตวรรษที่ 17 เพิ่งได้รับการถูกค้นพบในศตวรรษที่ 20 และเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 1919 โดย Gustav Beckmann นักเรียนทุนที่ได้ค้นพบเจอ sheet ของเพลงนี้ และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ใหม่ครั้งแรกเมื่อปี 1929, ได้รับการบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในปี 1940 จากการบรรเลงโดย Boston Pops Orchestra กำกับวงเพลงโดย Arthur Fiedler
นักประวัติศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า ผลงานชิ้นนี้อาจจะแต่งขึ้นสำหรับใช้บรรเลงในงานแต่งงานของ Johann Christoph Bach พี่ชายคนโตของ Johan Sebastian Bach เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 1694
ปี 1968 Jean-François Paillard ได้ทำการเรียบเรียง ดัดแปลงเพลง Canon เสียใหม่ ให้มีความ Romantic style มากขึ้น ลดความเร็วในบางท่อนลง และเพิ่มเครื่องดนตรีที่ใช้เล่น ซึ่งหลังจากได้บันทึกเสียงโดย Stuttgart Chamber Orchestra วางขายในปี 1974 ในชื่อ Pachelbel Kanon: the Record That Made it Famous and other Baroque Favorites. อัลบัมนี้ทำยอดขายสูงสุดของเพลงคลาสสิกในปี 1976, นี่คือเวอร์ชั่นที่เชื่อว่าใครๆคงจะคุ้นหูเป็นอย่างดี เพราะเป็นเวอร์ชั่นประกอบ Ordinary People (1980), My Sassy Girl (2001) และ The Classic (2003)
หนังเรื่อง Ordinary People (1980)ในปี 1980 ได้มีการดัดแปลงเพิ่มเติมเนื้อร้องให้กับเพลง กลายเป็นบทเพลงสรรเสริญพระเจ้า (Alleluia) ซึ่งเพลงนี้สามารถไต่อันดับ Billboard Classical Albums ถึงอันดับ 1 ในเดือนมกราคม 1982 คงที่ต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม
ในปี 1982 นักเปียโน George Winston ได้ดัดแปลง Canon อีกครั้งให้กลายเป็น Solo Piano โดยตั้งชื่อว่า Variations on the Kanon by Johann Pachelbel ในเดือนธันวาคมปีนั้น สามารถทำยอดขายได้ถึง 3 ล้านแผ่น, หนึ่งในท่อนที่ Winston ดัดแปลงคือ Canon in C เป็นเวอร์ชั่นที่นางเอกเล่น ในฉากนั้นของ My Sassy Girl (2001) ไปฟังตัวจริงเล่นเลยนะครับ
Canon เป็นเพลงที่น่าจะเรียกว่าได้รับการ Cover มากที่สุดในโลก ด้วยความที่ทำนอง วิธีการเล่นไม่ได้ยากมากอะไร แต่ความท้าทายคือการดัดแปลงที่เข้ากับยุคสมัยและรสนิยมของผู้เล่น, เชื่อว่าคงมีหลายคนทันยุคของ Youtube กับบทเพลง Canon Rock มี 2 ซุปเปอร์สตาร์ที่โคตรโด่งดังคือ 1) JerryC (Jerry Chang) นักกีตาร์ชาว Taiwanese 2) Jeong-Hyun Lim หรือ Funtwo นักกีตาร์ชาวเกาหลีใต้, ทั้งสองได้เล่น Cover เพลง Canon ปี 2005 ในรูปแบบกีตาร์ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า Canon Rock, สื่อต่างๆทั้งหนังสือพิมพ์, New York Times, บล็อก, โทรทัศน์, รายการโชว์ วิทยุทั่วโลกต่างนำคลิปของสองสุดยอดการ cover ครั้งนี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนนับร้อยนับพัน หัดเล่นกีตาร์แล้วโชว์ความสามารถการแสดงของตนอัพขึ้น Youtube, น่าเสียดายที่คลิปต้นฉบับแท้ๆของทั้ง JerryC และ Funtwo ถูกลบไปแล้ว (คงเพราะเรื่องลิขสิทธิ์) มี reference หนึ่งบอกว่า Canon Rock ของ JerryC มีผู้ชมสูงถึง 64 ล้านครั้ง (คิดว่าตอนก่อนถูกลบน่าจะเยอะกว่านี้อีกนะครับ), ทั้งสองคลิปนี้ปัจจุบันยังมีอยู่นะครับ แต่ไม่ใช่ Original แท้ๆ ผมเลือกของ JerryC มาให้ฟัง ถ้าอยากดูของ Funtwo ค้นหาดูจาก Youtube นะครับ
reference:
– http://www.romanceclassic.com/caonon-in-d-history-johann-pachelbel/
– https://musicnun.wordpress.com/2012/02/24/ประวัติดนตรีตะวันตกยุค/
– http://knowyourmeme.com/memes/canon-rock
กับคนที่ได้ยินเพลงนี้ แบบไม่เคยรู้ประวัติมาก่อน จะรู้สึกว่ามีความหวานแหวว หอมกรุ่น ด้วยท่วงทำนองที่เรียบง่ายฟังสบาย เคลิบเคลิ้ม เพลิดเพลิน ล่องลอย ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ ฟังหลายสิบรอบก็ไม่เบื่อ (แต่อาจเริ่มเลี่ยน), ถึงคนที่รู้ประวัติของเพลงมาบ้าง อ่านจากบทความนี้หรือจากที่ไหน เชื่อว่าก็ยังอาจไม่รู้สึกตราตรึง ประทับใจ แล้วเข้าใจความสวยงามอันลึกซึ้งของเพลงนี้ จนกว่าคุณจะได้ดูหนังเรื่อง My Sassy Girl (2001), ในบรรดาหนัง 3 เรื่องที่ผมรู้จัก และใช้เพลงนี้ประกอบ Ordinary People (1980), My Sassy Girl (2001) และ The Classic (2003) มีเพียง My Sassy Girl เท่านั้นที่สามารถใช้เพลงนี้ ประกอบช่วงเวลาที่สำคัญและสวยงามที่สุดของหนัง ทำให้คุณ ‘ตระหนัก’ ขึ้นมาทันทีถึงความมหัศจรรย์ที่ทรงคุณค่า บทเพลงที่กลายมามีอิทธิพลต่อความต้องการ ต่อชีวิต ทั้งความหมายของเพลง ความหมายของการใช้เพลง และความหมายที่สื่อออกมาจากเพลง, หนังเรื่อง My Sassy Girl เท่านั้นจะทำให้คุณเห็นความสวยงามที่สุดของเพลงนี้
สมัยวัยรุ่น ผมมีความฝันหนึ่ง หลังจากได้ดูหนังเรื่อง My Sassy Girl (2001) ว่าอยากเล่นโชว์เปียโนเพลง Canon ในงานแต่งงานของตนเอง แต่สงสัยชาตินี้คงไม่มีโอกาสแล้วกระมัง ถ้าใครมีความฝันคล้ายๆกันกับผม อย่าท้อนะครับ เชื่อว่าคงมีหลายคนที่สามารถทำฝันนี้ให้เป็นจริงได้ คิดแล้วมันคงโรแมนติกไม่น้อยเลยละ
Leave a Reply