Padre Padrone

Padre Padrone (1977) Italian : Taviani brothers ♥♥♥♥

พ่อผู้พยายามครอบงำทำทุกสิ่งอย่าง ไม่ให้ลูกได้ร่ำเรียนหนังสือ บีบบังคับใช้แรงงานอย่างหนัก ทั้งนี้เมื่อเติบโตขึ้นจะไม่ตีตนออกห่าง เพราะในสังคมชนบทจำต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวถึงสามารถมีชีวิตเอาตัวรอด ถึงกระนั้นเมื่อเขากลายเป็นผู้ใหญ่และได้โอกาสเปิดโลกทัศน์ใหม่ พบเห็นความเป็นไปของโลกภายนอก มีหรือจะยินยอมรับการกระทำอันเห็นแก่ตัวของพ่อได้, คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ในปีที่ผู้กำกับ Roberto Rossellini เป็นประธานกรรมการตัดสินในเทศกาลหนังเมือง Cannes ดื้อดึงให้ Padre Padrone (1977) คว้ารางวัล Palme d’Or ขณะที่คณะกรรมการคนอื่นๆต่างโหวต A Special Day (1977) ของผู้กำกับ Ettore Scola น่าจะเกือบๆเอกฉันท์ แต่ความเห็นแก่ตัวนั้นเป็นสิทธิ์ขาดของ Rossellini เพราะความชื่นชอบคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก ‘this film reconciles me to the cinema.’ สัมผัสได้ถึงกลิ่นอาย Italian Neorealist ที่ตนเองเป็นผู้ริเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ Rome, Open City (1945) และ Paisan (1946) ซึ่งเรื่องหลังเป็นแรงบันดาลใจให้สองพี่น้อง Taviani ปฏิญาณกับตนเองโตขึ้นต้องกลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ด้วยไดเรคชั่นรูปแบบลักษณะนี้

สำหรับคนที่คิดหาภาพยนตร์เรื่องนี้มารับชม แนะนำให้เตรียมตัวกายใจไว้สักนิดแล้วกันนะครับ มันอาจไม่ได้โจ๋มครึ่มแบบเห็นชัดเจน แต่ถ้าคุณดูหนังเป็นและครุ่นคิดตามได้ จะพบฉากที่ตัวละครมี Sex กับสัตว์ ม้า แกะ ไก่ ช่างเป็นความบ้าคลั่งที่วิปริตดีแท้ (ครุ่นคิดวิเคราะห์หาความหมายเชิงสัญลักษณ์ตามไปด้วยนะครับ จะทำให้คุณไม่เกิดอคติมากกับหนัง)

Paolo Taviani (เกิดปี 1931) และ Vittorio Taviani (1929 – 2018) สองพี่น้อง Taviani brothers เกิดที่ San Miniato, Tuscany วัยเด็กวิ่งเล่นอยู่ท่ามกลางท้องทุ่งชนบท หลังเรียนจบจาก  University of Pisa (Paolo เรียน Liberal Arts, Vittorio เรียนกฎหมาย) เริ่มทำงานเป็นนักข่าว Journalist ตามด้วยเขียนบทละครเวทีร่วมกับ Valentino Orsini แต่ความสนใจจริงๆของพวกเขาคือการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์หลังจากมีโอกาสรับชม  Paisan (1946)

“If cinema has this strength, this power to reveal to ourselves our own truths, then we will make movies!”

ได้มีโอกาสร่วมงานกับ Joris Ivens กำกับสารคดีเรื่อง L’Italia non è un paese povero (1960) [Italy is not a poor country], ตามด้วยคำชักชวนของ Orsini สร้าง Un uomo da bruciare (1962) [A Man for the Burning], I fuorilegge del matrimonio (1963) [Outlaws Love], ฉายเดี่ยวของสองพี่น้องเรื่องแรก I sovversivi (1967) [The Subversives], โด่งดังกับ Sotto il segno dello scorpione (1969), Padre padrone (1977) ** คว้า Palme d’Or, La notte di San Lorenzo (1982), Kaos (1984), Caesar Must Die (2012) ** คว้า Golden Bear

สไตล์ลายเซ็นต์ของสองพี่น้อง Taviani นำแนวคิดอิทธิพลจาก Neorealist มาปรับใช้ให้เข้ากับสังคมชนบท/ยุคสมัยปัจจุบัน(นั้น) ชื่นชอบการภาพถ่าย Long Shot เห็นทิวทัศน์ชนบท ทุ่งหญ้า ท้องฟ้า ภูเขาไกลลิบลับ ขณะที่เรื่องราวก็มักเกี่ยวกับปัญหาสังคม ความขัดแย้งภายในครอบครัว พี่น้อง สะท้อนสถานะการเมืองของประเทศอิตาลี

การทำงานของสองพี่น้อง เห็นว่าไม่เคยโต้เถียงทะเลาะขัดแย้งเห็นต่าง เวลาถ่ายทำมักผลัดหน้าที่กันคนละฉาก ถ้า Paolo เดินกำกับนักแสดงหน้ากล้อง Vittorio จะจับจ้องมองอยู่นิ่งเฉยด้านหลังจอภาพ ไม่เข้าไปแทรกแซงยุ่งยากใดๆ รอจนเสร็จฉากก็จะสลับตำแหน่งงานกัน

สำหรับ Padre Padrone (แปลว่า Father and Master) ดัดแปลงจากหนังสือชีวประวัติ Padre padrone. L’educazione di un pastore (1975) แต่งโดย Gavino Ledda (เกิดปี 1938) นักเขียนสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Siligo, จังหวัด Sassari, บนเกาะ Sardinia ซึ่ง Gavino ได้มารับเชิญในหนังด้วยนะ (ฉากแรกกับฉากสุดท้าย)

เรื่องราวเริ่มต้นที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งที่ Siligo, เด็กชาย Gavino วัย 6 ขวบ ถูกพ่อ (รับบทโดย Omero Antonutti) พาตัวออกจากโรงเรียน เพื่อเรียนรู้จักการทำงานเป็นเด็กเลี้ยงแกะ (Shepherd) โตพอจะเป็นที่พึ่งพิงสร้างรายได้ให้กับครอบครัว เวลาผ่านไป 14 ปีอายุครบ 20 เริ่มมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง ต้องการเป็นอิสระจากพันธการของพ่อ กระนั้นด้วยไม่มีความรู้วิชาสามารถใดๆ แถมพูดได้แต่ภาษาท้องถิ่น Sardinian เลยไม่ได้รับอนุญาตหรือเดินทางหนีไปไหนได้ จนกระทั่งเมื่อพ่อส่งให้เป็นทหาร ตั้งใจร่ำเรียนวิชาจนปีกกล้าขาแข็ง คราวนี้ก็ไม่มีอะไรสามารถเหนี่ยวรั้งเขาไว้ได้อีกต่อไปแล้ว

ขณะที่นักแสดงส่วนใหญ่เป็นมือสมัครเล่น (ตามสไตล์ของ Neorealist) แต่ผู้รับบทพ่อ น่าจะเป็นคนเดียวที่สองผู้กำกับเลือกนักแสดงมีชื่อ แต่ก็ไม่ได้โด่งดังอะไรนัก, Omero Antonutti (เกิดปี 1935) นักแสดง นักพากย์ (มักเป็นผู้ให้เสียง Christopher Lee เป็นภาษาอิตาเลี่ยน) เกิดที่ Basiliano, Friuli ผลงานเด่นๆนอกจาก Padre Padrone (1977) อาทิ El Sur (1983), Kaos (1984), Good morning Babilonia (1987), El Dorado (1988) ฯ

ทำไมพ่อถึงต้องเข้มงวดกวดขันกับ Gavino มากเหลือเกิน? ผมค่อนข้างเชื่อว่า วัยเด็กคงเคยผ่านประสบการณ์จากพ่อของตนมาคล้ายคลึงแบบเดียวกัน เลยต้องการปลูกฝังเสี้ยมสั่งสอนลูกๆด้วยวิถีทางวัฒนธรรมดังกล่าว แต่ก็น่าแปลกใจพอสมควร ทั้งๆที่ตนเองก็มีโอกาสร่ำเรียนมีความรู้ ท่องสูตรคูณ อ่านหนังสือออก แต่ไฉนกลับเลือกจมปลักอยู่ ปกครองครอบครัวด้วยความเผด็จการ ร้ายแรงถึงขั้นคิดฆ่าลูกในไส้ของตนเอง นี่มันค่อนข้างจะวิปริตชั่วร้ายมากเลยทีเดียว

ถ้าไม่บังเอิญมีคนเข้ามาขัดพอดี พ่อจะฆ่า Gavino จริงๆไหม? ใจผมอยากให้ทำนะ แล้วเขาก็จะจมปลักอยู่กับตราบาปนั้นตลอดชีวิตจนวันตาย รับรู้สำนักต่อการกระทำอันโง่เขลาเบาปัญญาของตนเอง แต่เมื่อหนังไปไม่ถึงจุดนั้น วินาทีนั้นคือความพ่ายแพ้ของพ่อ แต่บทสรุปต่อมาในชีวิตของ Gavino สุดท้ายต้องหวนคืนกลับบ้านมาเขียนนิยายเล่มนี้ นี่แปลว่ากาลเวลาทำให้พ่อได้รับชัยชนะในความขัดแย้งครานี้

ถ่ายภาพโดย Mario Masini ขาประจำของ Taviani Brothers ที่ชื่นชอบการทดลอง ‘Experimental Cinema’ ในช่วงทศวรรษ 60s – 70s แต่ภายหลังผันมาเป็นครูสอนหนังสือที่กรุงโรม และกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

เดิมนั้นหนังได้รับทุนสร้างจำกัดเพื่อออกฉายในโทรทัศน์ เลยตัดสินใจถ่ายทำด้วยฟีล์ม 16mm ให้สัมผัสของความเก่าแก่ หยาบกระด้าง (Noise เยอะ) ดูโบราณคร่ำครึ พอขยายนำมาฉายกับเครื่องเล่นฟีล์ม 35mm จะมีความเบลอและแตก กระนั้นความสวยงามของ Long Shot ทัศนียภาพของ Siligo ช่างตราตรึงทรงพลังเหลือเกิน

เริ่มต้นมาด้วยคำพูดเกริ่นเข้าเรื่องของ Gavino Ledda กล่าวอ้างว่านี่คือภาพยนตร์ชีวประวัติของตนเอง ซึ่งเจ้าตัวกำลังตัดถอนกิ่งไม้แล้วยื่นส่งให้กับนักแสดงที่รับบทพ่อ (กิ่งไม้มองได้เป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง พบเห็นใช้ทุบตบตีผู้อื่น) นี่เป็นการแปรสภาพจากความจริงกลายมาเป็นภาพยนตร์เข้าเรื่องราว ซึ่งตอนจบทุกอย่างก็จะย้อนกลับตารปัตร เพื่อบอกว่าหนังกำลังจะจบสิ้นลงแล้วนะ ถึงเวลาหวนกลับคืนสู่โลกความเป็นจริงเสียที

เพื่อเป็นการตอกย้ำเตือนผู้ชมอยู่เรื่อยๆว่า สิ่งที่พบเห็นอยู่นี้คือภาพยนตร์ หลายครั้งจะได้ยินเสียงดังขึ้นจากภายในความคิดของนักแสดง/สัตว์ (ปากไม่ขยับ) กล้องจะจับจ้องที่ใบหน้า เสียงบรรยายจะอธิบายความรู้สึกนึกคิดทุกสิ่งอย่าง

จะมีไดเรคชั่นหนึ่งพบเห็นได้บ่อยในช่วงครึ่งแรกตอน Gavino ยังเป็นเด็ก กล้องจะเคลื่อนแพนออกจากตัวละครไม่ด้านซ้ายก็ขวา นี่มักขณะที่จิตใจล่องลอยไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เหม่อมองออกไปโดยรอบ ชีวิตไร้ซึ่งเป้าหมายแก่นสาน หลุดออกจากความต้องการเพ้อฝันของตนเอง

วินาทีที่พ่อตัดสินใจจะฆ่า Gavino เขายืนนั่งก้มหน้าอยู่ท่ามกลางทุ่งนาที่เพิ่งถากไถเสร็จพร้อมลาตัวหนึ่ง พอแน่แน่วเด็ดขาดก็ลุกขึ้นออกเดินอย่างรวดเร็ว กล้องจะเคลื่อนติดตามด้านข้างของตัวละคร เดินจากขวาไปซ้ายย้อนศรเส้นทางปกติ แล้วออกวิ่งด้วยความเร่งรีบร้อนรนใจ ต้องการทำให้เสร็จเร็วไวจะได้หมดภาระทุกข์เดือดร้อน

ตัดต่อโดย Roberto Perpignani สัญชาติอิตาเลี่ยน ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้ช่วยตัดต่อ The Trial (1962) ก้าวขึ้นมามีผลงานแรก Prima della rivoluzione (1964) โด่งดังกับ La notte di San Lorenzo (1982), Il Postino (1995), Marianna Ucria (1997) ฯ

เรื่องราวของหนังดำเนินไปในมุมมองของ Gavino Ledda พร้อมเสียงบรรยายที่จะได้ยินประกอบอยู่เรื่อยๆ แต่หลายครั้งแทรกใส่มุมมองของตัวละครอื่นขึ้นมา มักจะโดยย่อสั้นๆกระทัดรัดเพื่อเติมเต็มเนื้อหาในมุมมองอื่นๆ (เช่นเพื่อนคนหนึ่งที่ถึงร่ำรวยแต่ถูกฆ่าตาย ฯ)

ไดเรคชั่นของฉาก Sex Scene นำร่องด้วยความหงุดหงิดใจของเด็กชาย Gavino รีดนมจากแพะ/แกะ ไม่สำเร็จสักที แล้วอยู่ดีๆพบเห็นแกะสองตัวกำลังคลอเคลียดกัน จินตนาการได้ยินเสียงหอบหายใจ ตัดไปภาพของ เด็กคนหนึ่งเอาหินมาเรียงวางเพื่อจะจัดประตูหลังกับล่อ, กลุ่มเด็กๆไล่จับไก่มา…, พ่อ-แม่ กำลังเร่งรีบถอดเสื้อผ้าเพื่อร่วมรัก, คนใช้-คนรักหนุ่ม, และชายคนหนึ่งยื่นบุหรี่ให้หญิงสาวคาบดูด (บุหรี่มองได้เป็นสัญลักษณ์ของลึงค์/อวัยวะเพศชาย) ทั้ง Sequence นี้ สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่แบบบ้านๆชนบท ไร้ซึ่งศีลธรรมมโนธรรมจะเสี้ยมสั่งสอนจรรโลงใจ ขณะเดียวกันมองในเชิงสัญลักษณ์ ร่วมรักกับสัตว์ก็คือการกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อาจไม่ได้ต้องการแต่ขาดไม่ได้

เพลงประกอบโดย Egisto Macchi ส่วนใหญ่เป็น Tradition Song ที่แต่งเพิ่มเข้ามา นอกนั้นเป็นบทเพลงคลาสสิกมีชื่อ อาทิ
– Johann Strauss II: Overture from Die Fledermaus (ตอนเล่น Accordion/เพลงจากวิทยุและขณะผิวปาก)
– Wolfgang Amadeus Mozart: Clarinet Concerto in A major, K. 622
– German Volksmusik: Trink, trink, Brüderlein trink

Sound Effect มีความโดดเด่นอย่างมาก เพราะช่วงแรกที่พ่อสอน Gavino ให้หัดสดับฟังเสียงจากธรรมชาติ สายลม สายน้ำไหล จนเกิดความอ่อนไหวหูไว Sensitive ผู้ชมก็จะได้ยินเสียงเหล่านั้นเช่นกัน, ไฮไลท์คือครึ่งหลังในห้องน้ำ เริ่มจากเงียบเสียงมีแต่คำบรรยาย (แสดงว่ากำลังมีสมาธิอ่านหนังสืออยู่) ทันใดนั้นทุกเสียงดังขึ้นพร้อมกัน มันช่างหนวกหู น่ารำคาญ ทำให้เสียสมาธิในการจดจ่ออ่านหนังสือโดยทันที

สิ่งที่สองพี่น้อง Taviani นำเสนอถ่ายทอดออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ เต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม ดิบเถื่อน ล้าหลัง โลกอันไร้การศึกษา และศีลธรรมสำหรับเสี้ยมสั่งสอนคุณค่าของการชีวิต วันๆของพวกเขาดำเนินไปด้วยสันชาติญาณสัตว์ป่า ท้องอิ่ม สำราญกาย หลับสบายใจ ตั้งคำถามว่า แค่นี้ก็เพียงเกินพอแล้วงั้นหรือ?

แน่นอนว่าคำตอบของคนรุ่นใหม่ย่อมคือไม่พอ ก็ดั่ง Gavino เมื่อได้เปิดโลกทัศน์ มีโอกาสก็รีบตั้งใจพูดอ่านเขียนจนมีความรู้ความสามารถ ปีกกล้าขาแข็งโบยบินออกนอกกรงขังบ้านหลังนี้ ราวกับได้ต่อสู้เอาชนะเผด็จการ สันชาติญาณ ความเดรัจฉานของตนเอง สู่อารยะธรรมของสังคมมนุษย์ยุคใหม่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปกับ Gavino ด้วยเสียงบรรยายของเจ้าตัวเอง จำใจต้องหวนกลับคืนมาใช้ชีวิตจมปลักอยู่บ้านหลังเก่าเดิม มิอาจหลบหนี้พ้นสิ่งที่เรียกว่าโชคชะตา ไม่สิ! สันชาตญาณสัตว์ป่าของตนเอง นี่ราวกับเป็นการพยากรณ์ว่า ต่อให้มนุษย์โลกมีความเจริญรุดก้าวหน้าไปมากน้อยสักแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วเมื่อหมดจบสิ้นสูญวัฏจักร ก็มักย้อนกลับมาสู่วิถีของเดรัจฉานไม่ต่างจากอดีตที่เคยเป็นมา

ใจความของหนังเรื่องนี้ยังสามารถสะท้อนยุคสมัยการปกครอง Italian Fascism (1922 – 1943) ของผู้นำเผด็จการ Benito Mussolini ที่เปรียบเสมือนพ่อ ผู้พยายามครอบงำทำทุกสิ่งอย่าง กีดกันโอกาส(ไม่ให้เรียนหนังสือ) บีบบังคับใช้แรงงานอย่างหนัก ขัดขืนต่อต้านก็ตอบโต้ด้วยความรุนแรง อ้างว่าที่ทำทั้งหมดนี้เพื่อครอบครัว แต่นั่นก็ไม่ถูกต้องดีพอ สุดท้ายเลยถูกทรยศหักหลังจากลูกรักของตนเอง

หนังฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามา 2 รางวัล (เห็นว่าเป็นครั้งแรกของเทศกาลที่ภาพยนตร์คว้ารางวัลจากคณะกรรมการและนักวิจารณ์)
– Palme d’Or
– FIRPRESCI Prize

ตามด้วยฉายในเทศกาลหนังเมือง Berlin สายการประกวดรอง คว้ารางวัล
– Interfilm Grand Prix

สำหรับการส่งหนังเข้าชิง Oscar ของปีนั้น คณะกรรมการของอิตาลีตัดสินใจเลือก A Special Day (1977) ที่ก็ได้เข้าถึง 5 เรื่องรอบสุดท้าย แถมนักแสดงนำชาย Marcello Mastroianni ยังได้เข้าชิง Best Actor ถือเป็นตัวเลือกเหมาะสมกว่าเรื่องนี้เป็นไหนๆ

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ คือความสวยงามทางทัศนียภาพของชนบทประเทศอิตาลี ที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ว่างเปล่า แทบจะไม่มีอะไรเลย แต่ผู้คนพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อหาทางดิ้นรนเอาตัวรอด มีอารมณ์ทางเพศก็ลงกับสัตว์ ว๊าว! นั่นมันป่าดงดิบชัดๆ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ที่กำลังมีลูกเติบโตหรือย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น รับชมแล้วจดจำเป็นบทเรียนสอนใจ ครุ่นคิดหาคำตอบด้วยตนเองว่า ‘มันมีประโยชน์อะไรที่เราจะปกครองลูกหลานด้วยความรุนแรงเผด็จการเห็นแก่ตัว?’ จริงอยู่วันนี้อาจก้มหัวทำตาม แต่สักวันหนึ่งเมื่อปีกกล้าขาแข็ง พวกเขาจะโบยบินออกจากกรงไม่หวนกลับคืนมาอีกเลยก็เป็นได้

และกับคอหนัง Neorealist แนว Coming-of-Age, ชื่นชอบทัศนียภาพ ธรรมชาติสวยๆของประเทศอิตาลี, นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาครอบครัว ทำงานกับวัยรุ่น และเด็ก, รู้จักผู้กำกับสองพี่น้อง Taviani ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับความเผด็จการ ป่าเถื่อน และ Sex กับสัตว์

TAGLINE | “Padre Padrone คือชัยชนะและความสำเร็จของ Taviani Brothers ต่อทุกสิ่งอย่างในชีวิต”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: