Paisan (1946) : Roberto Rossellini ♥♥♥♡
ผลงานเรื่องที่ 2 ใน Neorealist Trilogy ของ Roberto Rossellini กับเรื่องสั้น 6 เรื่อง โดยนักเขียน 6 คน (Federico Fellini เป็นหนึ่งในนั้น) เรื่องราวสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในอิตาลี กับพันธมิตรอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, แม้การสื่อสารภาษาจะต่างกัน พูดคุยไม่เข้าใจ แต่มีศัตรูเดียวกันคือ Nazi, Germany, นี่เป็น 1 ใน 10 หนังเรื่องโปรดของ Martin Scorsese นะครับ
หลังจากความสำเร็จอย่างล้นหลามในระดับนานาชาติของ Rome, Open City ทำให้ Roberto Rossellini ได้รับโอกาสจากนักลงทุนต่างประเทศ Arthur Mayer และ Joseph Burstyn เจ้าของ Metro-Goldwyn-Mayer (MGM) มอบทุนสร้างหนังให้กับ Rossellini ซึ่งเขาก็ตอบแทนด้วยการสร้างหนังที่มีเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวอิตาลีและทหารอเมริกา ที่ยกพลขึ้นบกในช่วงปี 1943 จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกในปี 1945 เพื่อร่วมกันขับไล่ Nazi ออกไปจากอิตาลี
หนังใช้ทั้งภาษาอิตาลีและภาษาอังกฤษ เป็นภาษาหลัก น่าจะครึ่งๆเลย, เวอร์ชั่นที่ดู ตอนพูดภาษาอังกฤษมันจะไม่มีซับขึ้นให้ ทำให้ผมได้ความรู้สึกของคนอิตาลีที่ฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องแบบในหนังเลยนะครับ, นี่ถือเป็นใจความและความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการพูดถึงความแตกต่างของมนุษย์ แต่เราก็ยังเข้าใจกันได้ (ทำไม Germany ถึงไม่ยอมเข้าใจ) เราจะเห็นคนอิตาลีและคนอเมริกาเวลาสนทนากัน อเมริกันพูดเรื่องหนึ่ง อิตาลีพูดอีกเรื่องหนึ่ง คนละเรื่องเดียวกัน ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ยิ้มๆและพยักหน้าบอกว่าเข้าใจ (ใครเคยไปต่างประเทศน่าจะเข้าใจอารมณ์นี้)
Paisan แปลว่าอะไร? ผมไปเจอคำอธิบายของผู้เชี่ยวชาญภาษาอิตาเลี่ยนมา เขาบอกว่านี่ไม่ใช่คำที่คนอิตาลีใช้พูดกันนะครับ แต่เป็นคำที่ต่างชาติมักใช้เรียกแทนชาว Italian (คล้ายๆ บ้านเรามักเรียกอิตาลีว่า มักกะโรนี), คำนี้ในภาษา Italian น่าจะมาจากคำว่า Paesano หรือ Compaesano ที่แปลว่า คนที่อาศัยอยู่ในประเทศ (who lives in my own country) ซึ่งคำว่า Paisano หรือ Paisá น่าจะเป็นคำที่เพี้ยนมาจากสำเนียง Neapolitan (ชาว Naples) ที่มีความหมายเดียวกัน
It is an informal word and is used only when traveling abroad, we never call someone a paisá in our country, anyway it is rarely used.
นักเขียน 6 คนที่ Rossellini เลือกมา ประกอบด้วย Klaus Mann, Marcello Pagliero, Sergio Amidei, Federico Fellini, Alfred Hayes, และ Vasco Pratolini ซึ่งก็น่าจะได้เขียนกันคนละเรื่อง (แต่ไม่มีบันทึกไว้ว่าใครเขียนเรื่องไหน), ตอนถ่ายจริง อารมณ์ประมาณว่า Rossellini โยนบทหนังทิ้ง แล้วให้นักแสดงทำการดั้นสด (improvised) แก้ไขปรับปรุงบทหนังใหม่ ให้เข้ากับเรื่องราว สถานการณ์ขณะนั้น, นี่แสดงถึงสไตล์ของ Neorealist ที่บทหนังไม่ได้ลงรายละเอียดเรื่องราว บทพูด การแสดง ฯ แต่มีลักษณะเป็นภาพร่างหยาบๆ เพื่อใช้เตรียมการสร้าง (pre-production) เท่านั้น
ตอนแรก: เมือง Sicily เรื่องราวเกี่ยวกับทหารอเมริกัน และหญิงสาวชาว Sicilian, ความอ้างว้างโดดเดี่ยวของทหารหนุ่ม เขาต้องการพูดกับใครสักคน ด้วยความคิดถึงบ้าน ครอบครัวและแฟนสาว ช่วงเวลาเล็กๆที่ทั้งสองอยู่ด้วยกัน แม้จะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ก็รู้สึกได้ว่าทั้งสองเข้าใจกันและกัน, ว่าไปนี่เป็นตอนที่มีอารมณ์เกิดขึ้นมากที่สุดแล้ว อบอุ่น, ขบขัน, คิดถึง, ตกใจ (ช็อค) และโกรธแค้น จบแบบนี้เพื่อให้ผู้ชมระลึกว่า นี่เป็นหนังเกี่ยวกับสงครามนะ! ไม่ใช่หนังโรแมนติก
ตอนสอง: เมือง Naples เรื่องราวเกี่ยวกับทหารผิวสีขี้เมา (GI) และเด็กไร้บ้าน Neapolitan, เพื่อความอยู่รอดของเด็กชาย เขาจึงต้องทำทุกอย่างแม้แต่ขโมยของ ทหารผิวสีโกรธที่เขาเป็นเด็กไม่ดี แต่เมื่อได้พบความจริง ผลกระทบของสงครามต่อเด็กชาย ทำให้เขารีบหนีออกไป อย่างพูดไม่ออก (speechless)
ตอนสาม: กรุง Rome เรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวชาวอิตาเลี่ยนและทหารหนุ่มชาวอเมริกา ทั้งสองพบเจอกันในช่วงสงคราม และสัญญาจะเจอกันหลังสงครามจบ, แต่พอสงครามจบแล้ว ต่างคนก็จำกันไม่ได้ เจอกันครั้งนี้ด้วยความบังเอิญ ชายหนุ่มที่กำลังเมาเล่าเรื่องนี้ขึ้น ทำให้เธอระลึกได้ ชายคนนี้คือคนที่เคยให้คำสัญญา เธอตั้งใจจะรักษาสัญญา แต่ชายหนุ่ม… ในความรู้สึกผม คิดว่าตอนนี้ Fellini เขียนนะครับ มันมีกลิ่นอายบางอย่างที่รู้สึกได้ว่าเป็นสไตล์ของเขา และเป็นตอนที่ผมชอบที่สุดด้วย
ตอนสี่: เมือง Florence ขณะที่ทหารเยอรมันยึดครอง Florence พยาบาลสาวชาวอเมริกัน และชายหนุ่มอิตาเลียนต้องการเข้าไปในเมือง Florence เพื่อตามหาชายคนรักและครอบครัว
ตอนห้า: ทางตอนเหนือของอิตาลี วิหารแห่งหนึ่งใน Appenine Range เรื่องราวของทหารอเมริกันพระ 3 คน (chaplains) กับบาทหลวงในวิหารของอิตาลี, คนหนึ่งเป็น Catholic อีกคนเป็น Protestant และคนสุดท้ายเป็น Jewish, บรรดาบาทหลวงต่างหวั่นวิตกกับ 2 คนที่ไม่ใช่ Catholic เรียกพวกเขาว่า “lost soul”
นี่อาจเป็นตอนที่ใครๆดูแล้วอาจตลกที่สุด เพราะเป็นเชิงเสียดสีล้อเลียน ขณะที่ทั่วโลกกำลังตกอยู่ในวิกฤตสงคราม แต่วิหารแห่งนี้กลับสงบสันติ, ตอนที่บาทหลวงรู้ว่ามีทหาร 2 คนที่ไม่ใช่ Catholic พวกเขาดูว้าวุ่น ลุกรี้ลุกรนกระจายข่าวไปทั่ววิหาร ตอนท้ายที่บาทหลวงไม่ยอมกินข้าวแล้วสวดมนต์ภาวนาให้กับทั้งสองเข้าถึงเส้นทางที่ถูกต้อง ฉากนี่ผมขำไม่ออกเลยนะครับ เพราะมันแสดงถึงว่า พวกเขามีความเชื่ออย่างหนักแน่นว่า Catholicism คือหนทางเดียว เป็นหนทางถูกต้อง ที่จะพาวิญญาณของพวกเขาสู่สวรรค์
ตอนหก: ทางตอนเหนือของอิตาลี ณ แม่น้ำ Po ใน Po delta ทหารอเมริกันให้การช่วยเหลือกลุุ่มผู้ต่อต้านของอิตาลีเพื่อต่อสู้กับทหารเยอรมัน, พวกเขาต่อสู้กันอย่างไม่คิดชีวิต แต่แล้วกระสุนปืนหมดจึงถูกจับเป็นตัวประกัน และ…
นี่ถือว่าเป็นตอนที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก มีคนเปรียบเทียบตอนนี้กับ Odessa Step ใน Battleship Potemkin (1925) ที่แม้เราจะไม่ได้เห็นการเดินเรียงแถวหน้ากระดานฆ่าผู้บริสุทธิ์แบบทหาร Russia แต่เห็นคนยืนเรียงเป็นหน้ากระดาน ถูกมัดมือถีบตกเรือให้จมน้ำตาย, ตอนจบของหนังเป็นผลลัพท์ที่เกิดขึ้นกับคนทั่งอิตาเลี่ยน, อเมริกาและชาวอังกฤษ ที่ถูกทหารนาซีฆ่าเหมือนกัน จากนั้นมีคำบรรยายพูดว่า “At the beginning of spring, the war was over.” จุดจบคือการเริ่มต้นและการสิ้นสุด
3 ตอนแรกของหนัง ภาษาถือเป็นข้อจำกัดในการสื่อสาร ความแตกต่างที่ทำให้ความเข้าใจระหว่างอิตาเลี่ยนกับชาวอเมริกันไม่ตรงกัน, แต่ 3 เรื่องหลัง เหมือนว่าพวกเขาจะสื่อสารกันรู้เรื่องแล้ว และได้ร่วมมือร่วมใจ สู่เป้าหมายที่เป็นสิ่งเดียวกัน
สไตล์ของ Neorealist จะใช้นักแสดงสมัครเล่นทั้งหมด ซึ่งหนังเรื่องนี้ถือว่าไม่มีนักแสดงอาชีพเลยนะครับ ทั้ง 6 ตอนก็ไม่มีนักแสดงที่เป็นที่รู้จักขณะนั้นเลย, Rossellini บอกว่า ‘หนังของเขาไม่มีนักแสดง’ (Paisan is a film without actors in the proper sense of the word), Fellini เล่าให้ฟังว่า Rossellini เคยอยากให้นักแสดงอย่าง Gregory Peck, Lana Turner และ Paul Robeson มาแสดงในหนังเรื่องนี้ แต่เพราะทุนสร้างไม่ได้เยอะขนาดนั้น และใช่ว่าคนอเมริกันจะรู้จัก Rossellini ก็เลยได้แค่ฝัน
นอกจากนักแสดงแล้ว สไตล์ Neorealist ยังนำเสนอภาพความจริง เรารู้ว่าเรื่องราวในหนังเป็น “เรื่องแต่ง” แต่พื้นหลังของหนังตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง เหตุการณ์จริงและสถานที่จริง, มีคนเปรียบเทียบภาพของ Paisan ว่าไม่เหมือน “shot” ในความหมายของภาพยนตร์ แต่คือ “fact” ส่วนของความจริงที่ถูกนำเสนอผ่านเรื่องราวที่มีส่วนจริง
ถ่ายภาพโดย Otello Martelli (La Strada-1954, La Dolce Vita-1960) ผมรู้สึกงานภาพใน Paisan จะสว่างกว่าปกติ (ตรงข้ามกับ Journey to Italy ที่มืดผิดปกติ) แม้แต่ในฉากที่ถ่ายทำตอนกลางคืนก็ดูค่อนข้างสว่าง ให้ความรู้สึกเหมือนความอ่อนล้า เบื่อหน่าย (ตรงกันข้ามกับ Journey to Italy ที่งานภาพเข้มๆ แสดงถึงความเข้มข้น จริงจัง), ตอนแรก ในฉากถ่าย long-take ระหว่างทหารอเมริกันกับหญิงสาว Sicilian นี่ถือว่าเป็นภาพที่ตราตรึงมาก ทั้งคู่เป็นนักแสดงสมัครเล่น แต่สามารถสื่อสารความรู้สึก พูดคุยกันได้สมจริง, ตอนสี่ ระหว่างที่พยาบาลสาวชาวอเมริกัน และชายหนุ่มอิตาเลียน เดินทางท่องเมือง Florence ผมชอบงานภาพมากๆ ราวกับกำลังได้ท่องเที่ยว เห็นทรรศนียภาพ ปีนกำแพงขึ้นบนหลังคา (แบบ Assassin Creed) เอาตัวรอด (Survival) ไปรอบๆเมือง
ตอน Rome, Open City ด้วยทุนจำกัด Rossellini สามารถบันทึกภาพเมืองหลังสงครามได้แค่ในกรุงโรม แต่หนังเรื่องนี้ได้ทุนสร้างมากขึ้น เขาก็ไปทั่วอิตาลีเลย 6 เรื่อง ก็ 6 เมือง ถ่ายภาพ บันทึกภาพประวัติศาสตร์ของอิตาลีไว้ทั้งหมด
มีบทสัมภาษณ์หนึ่งของ Rossellini บอกว่า “Beautiful Shots! That is the one thing that makes me sick!” ใครดูหนังของเขามาหลายเรื่องน่าจะเข้าใจประโยคนี้นะครับ, นี่เป็นความชื่นชอบส่วนตัวของ Rossellini นะครับ เขาปฏิเสธทำหนังที่มีคุณภาพเลิศหรู เพราะเขาต้องการถ่ายทอดความจริง เลยเลือกถ่ายยังสถานที่จริง ทีมงานกลุ่มเล็กๆ นักแสดงสมัครเล่น ก็เพื่อเข้าถึงความจริงที่ได้รับการปรุงแต่งน้อยที่สุด
ตัดต่อโดย Eraldo Da Roma (ไม่รู้ว่าพี่แกออกจากคุกหรือยัง หรือว่าแค่ในนามเหมือนตอน Rome, Open City) การตัดต่อในหนังเรื่องนี้ อาจไม่หวือหวาหรือมีเทคนิคอะไร แต่มีความตรงไปตรงมา ตัวละครอยู่ดีๆจะตายก็ตายเลย ไม่พูดพร่ำทำเพลง ไม่มีมุมกล้อง ไม่สร้างบรรยาศการกำลังจะตาย ความตรงไปตรงมานี้ก็คือใจความ Realist ของ Neorealist นะครับ
เพลงประกอบโดยน้องชาย Renzo Rossellini ช่วงที่พีคที่สุด สำหรับผมคือตอนที่สี่ ขณะที่ชายหญิงต่างสัญชาติ วิ่งหลบระเบิดในเมือง Florence เพลงประกอบช่วงนี้มีความระทึก ตื่นเต้น ราวกับกำลังเดินสู่สนามรบ (ก็เดินในสนามรบจริงๆนะแหละ) หลบๆซ่อนๆ แอบย่อง เพื่อแทรกตัวเข้าสู่ใจกลางเมือง พวกเขายอมเสี่ยงชีวิตเพื่อครอบครัว คนรัก ซึ่งตอนจบ…
ทั้ง 6 เรื่องมี Point-Of-View คือ ในประเทศอิตาลี, ชาวอิตาเลียน และทหารอเมริกัน ไม่ได้มีเรื่องราวต่อกัน แต่ดำเนินไล่ตามช่วงเวลา, เราไม่จำเป็นต้องมองหาความสัมพันธ์ของทั้ง 6 เรื่องนะครับ เพราะใจความของหนังไม่ใช่เพื่อเชื่อมเรื่องราวเข้าด้วยกัน แต่เป็นการนำเสนอเหตุการณ์ต่างสถานที่ ต่างเวลา ต่างเรื่องราวเท่านั้นเองนะครับ เราสามารถกระโดดข้ามไปดูตอนไหนก่อนก็ได้ไม่ต้องเรียง (แต่เชื่อว่าใครๆก็ดูเรียงกัน เพราะไม่รู้จะกระโดดข้ามทำไม) ผมเห็นใน Youtube มีการตัดคลิปเป็นตอนๆ ถ้าใครหาซื้อแผ่นหรือโหลดดูไม่ได้ ลองเช็คดูใน Youtube นะครับ
หนังได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Writing: Original Screenplay และ BAFTA Award สาขา Best Film แต่ก็ไม่ได้ทั้งคู่, นอกจากนี้ยังได้ฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice แม้จะไม่ได้ Golden Lion แต่ก็ได้รางวัล Special Mention ในแง่ความโดดเด่นในเรื่องราวและการนำเสนอ
Martin Scorsese ชื่นชอบผลงานของ Roberto Rossellini อย่างมาก ขนาดว่าในสารคดีส่วนตัว (Personal Documentary) เรื่อง My Voyage to Italy (1999) [ชื่อหนังก็ล้อกับ Journey to Italy ของ Rossellini] ที่เล่าถึงความชื่นชอบส่วนตัวต่อ Neorealist ของอิตาลี มีหนังของ Roberto Rossellini อยู่ถึง 10 เรื่อง (มากสุด) และหนึ่งในหนังเรื่องโปรด TOP 10 ก็มี Paisan เรื่องนี้ติดอันดับอยู่ด้วย
ถึงหนังเรื่องนี้จะยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่โชคร้ายสักหน่อย เพราะผมเพิ่งดู Come and See (1985) หนัง Russia ที่มีใจความต่อต้าน Nazi คล้ายๆกันมา ซึ่งหนังเรื่องนั้นทรงพลังอย่างมาก ทำเอา Paisan ชิดซ้ายสุดเลย, ทำให้ผมรู้สึก Paisan เป็นแค่หนังที่ดี แต่ไม่ที่สุด, อาจเพราะการแบ่งหนังออกเป็น 6 ตอนด้วยละ ที่ผมรู้สึกเหมือน “ถูกโกง” เพราะหนังสั้น 6 เรื่องละ 20 นาที เขียน/สร้าง ง่ายกว่าหนังยาว 1 เรื่องความยาว 2 ชั่วโมงเป็นไหนๆ, และแน่นอน Rome, Open City ยอดเยี่ยมกว่ามาก มีฉากที่บีบคั้นอารมณ์กว่า และในสภาพแวดล้อมที่จำกัด ความยอดเยี่ยมในการสร้าง คือทำอย่างไรให้ใช้ทรัพยากรที่มี ถูกใช้ออกมาได้ยอดเยี่ยมที่สุด
แนะนำกับคนที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2, พันธมิตรระหว่างอิตาลีกับอเมริกา สู้กับ Nazi เยอรมัน, คอหนังสงครามที่ชอบความจริงจัง สมจริง ดูแล้วเครียดๆ ปวดตับ, แฟนหนัง Rossellini สไตล์ Neorealist ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ เพราะฉากสงครามที่มีความรุนแรง
[…] Paisan (1946) : Roberto Rossellini ♥♥♥♡ […]