Pandora's Box

Die Büchse der Pandora (1929) German : G. W. Pabst ♥♥♥♥

Pandora’s Box คือกล่องที่ว่ากันว่าบรรจุความชั่วร้ายทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ไว้ แต่ด้วยความใสซื่อไร้เดียงสาของ Louise Brooks ทำให้มิอาจอดรนทนต่อความยั่วเย้ายวนใจ ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามที่อยู่รายล้อมเคียงข้างเธอ ต่างต้องมีอันเป็นไปอย่างคาดไม่ถึง

“The Greek gods created a woman – Pandora. She was beautiful and charming and versed in the art of flattery. But the gods also gave her a box containing all the evils of the world. The heedless woman opened the box, and all evil was loosed upon us”.

Pandora’s Box ตามตำนานเทพนิยายกรีก เมื่อ Prometheus ขโมยไฟลงมาจาก Mount Olympus ทำให้ Zeus เกรี้ยวกราดโกรธ ตัดสินใจล้างแค้นด้วยการสร้างมนุษย์เพศหญิงคนแรกชื่อ Pandora มอบให้ Epimetheus (พี่ชายของ Prometheus) พร้อมกับ Pithos (ลักษณะคล้ายไหใบใหญ่) เพื่อให้เก็บรักษาดูแลอย่างดี พร้อมย้ำนักย้ำหนาห้ามเปิดออก แต่เพราะความใคร่สงสัยอยากรู้ภายในมีอะไร กลับกลายเป็นว่าเธอได้ปลดล่อยความตาย โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งชั่วร้ายต่างๆ ไหลหลั่งลงสู่โลกมนุษย์ สิ่งเดียวเท่านั้นที่หลงเหลืออยู่ก็คือ Hope (ความหวัง)

สำหรับสำนวน ‘to open Pandora’s Box’ (เปิดกล่องแพนโดร่า) ในปัจจุบันหมายถึง การเริ่มต้นกระทำบางสิ่งบางอย่าง ที่อาจสร้างปัญหามากมายไม่รู้จบให้เกิดขึ้นตามมา

ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถเปรียบ Pandora’s Box กับ Louis Brooks และตัวละคร Lulu ที่แม้ภายนอกดูบริสุทธิ์สดใสไร้เดียงสา กระทำสิ่งต่างๆไม่คิดแฝงความชั่วร้ายประการใด แต่ทว่าใครทุกคนรอบข้างกลับตกหลุมรักเคลิบเคลิ้มหลงใหล หมายปองต้องการเป็นเจ้าค่ำเจ้าของ จนก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายใหญ่โตตามมา ความงามของเธอสามารถเข่นฆ่าคนตายได้เลยละ


Georg Wilhelm Pabst (1885 – 1967) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian เกิดที่ Bohemia, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) พ่อเป็นพนักงานรถไฟเลยวาดฝันโตขึ้นอยากเป็นวิศวกร แต่เลือกเข้าเรียนการแสดงยัง Vienna Academy of Decorative Arts จบออกมาทัวร์ยุโรปและอเมริกา ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัครเป็นทหารแต่ไม่ทันไรถูกจับเป็นนักโทษเชลยสงครามที่เมือง Brest (French Prison Camp) กลายเป็นผู้จัดการแสดง Theatre Group ของค่ายกักกันนั้น, หลังสิ้นสุดสงครามหวนคืนสู่ Vienna ได้งานผู้จัดการโรงละคร Neue Wiener Bühne เข้าตา Carl Froelich ชักชวนสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มจากเป็นผู้ช่วยและกำกับเองเรื่องแรก The Treasure (1923), โด่งดังกับ Joyless Street (1925) ทำให้ Greta Garbo กลายเป็นดาวดาราดวงใหม่ขึ้นมาทันที, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Devious Path (1928), Pandora’s Box (1929), Diary of a Lost Girl (1929), The White Hell of Pitz Palu (1929), Westfront 1918 (1930), Young Girls in Trouble Director (1939), The Comedians Director (1941) ฯ

ความสนใจในทศวรรษหนังเงียบของ Pabst มักเกี่ยวกับเพศหญิง นำเสนอสภาวะทางอารมณ์จิตใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้งเห็นต่าง ทางการเมือง เรื่องต้องห้ามของสังคม ขนบวัฒนธรรม กับความต้องการส่วนตน รสนิยมทางเพศ แฟชั่น และการแต่งตัว

สำหรับ Pandora’s Box ดัดแปลงมาจากบทละครทวิภาคของ Frank Wedekind (1864 – 1918) นักเขียนสัญชาติ German ประกอบด้วย
– Earth Spirit หรือ Erdgeist (1895)
– Pandora’s Box หรือ Die Büchse der Pandora (1904)

ก่อนหน้านี้เคยได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วครั้งหนึ่ง Pandora’s Box (1921) กำกับโดย Arzén von Cserépy นำแสดงโดย Asta Nielsen คาดว่าฟีล์มน่าจะสูญหายไปแล้ว

เรื่องราวของ Lulu (รับบทโดย Louise Brooks) หญิงสาวสวยรวยเสน่ห์ ชอบโปรยความร่านสวาทให้หนุ่มๆรอบข้างตกหลุมรักหลงใหล ขณะนั้นเป็นชู้รักเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์วัยกลางคน Dr. Ludwig Schön (รับบทโดย Fritz Kortner) ที่เพิ่งหมั้นหมายกับแฟนสาวรุ่นลูกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นัดพบเจอกันครั้งนี้เพื่อบอกเลิกความสัมพันธ์แต่เธอยินยอมเสียที่ไหน

ด้วยความชื่นชอบในการร้องเล่นเต้น รู้จักกับ Alwa Schön ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ Dr. Ludwig ที่ก็ตกหลุมรักในเสน่ห์ของ Lulu เช่นกัน ชักชวนให้มาเป็นนักแสดงนำในละครเวที ซึ่งรอบปฐมทัศน์เธอได้แสดงความเห็นแก่ตัวไม่ยอมขึ้นแสดง เพราะทนไม่ได้กับภาพบาดตาระหว่าง Ludwig กับคู่หมั้น ใช้มารยากระทำบางสิ่งอย่างจนพวกเขาต้องบอกเลิกลา และตนเองได้แต่งงานกับชู้รักคนนี้

ในค่ำคืนวันแต่งงาน เรื่องวุ่นๆก็เกิดขึ้นเมื่อ Dr. Ludwig พบเห็น Lulu เล่นหัวอยู่กับชายสูงวัยคนหนึ่งที่เธออ้างว่าเป็นพ่อ (แต่ก็ไม่รู้จริงๆหรือเปล่านะ) ถึงขนาดหยิบปืนไล่ยิงกลางงานเลี้ยง จนแขกเหรื่อต้องทะยอยหนีกลับ และเมื่อเข้าไปในห้องเห็นภาพของลูกชายนอนซบตักของหญิงสาว รับไม่ได้โดยสิ้นเชิง ต้องการปลิดชีวิตเธอแต่ยังไม่ถึงคราชะตาขาด กลับเป็นเขาที่ต้องสูญเสียหมดสิ้นลมหายใจ


Pabst ติดตามหานักแสดงที่จะมารับบท Lulu อยู่หลายเดือนทีเดียว จนมาพบกับ Louise Brooks ในหนังเรื่อง A Girl in Every Port (1926) เกิดความชื่นชอบประทับใจอย่างแรงกล้า พยายามขอยืมตัวจาก Paramount แต่ได้รับการปฏิเสธ เลยติดต่อ Marlene Dietrich กำลังจะได้จรดปากกาเซ็นสัญญาอยู่แล้ว มีโทรเลขบอกว่า Brooks อยู่ใน Berlin เลิกสัญญากับสตูดิโอเก่าเรียบร้อยแล้ว จึงรีบเดินทางไปพูดคุยต่อรองตกลงโดยทันที

Brooks อยู่ดีๆก็มีเรื่องกับ Paramount ทำให้เธอหนีไปท่องยุโรป โดยไม่รู้ตัวว่าได้รับการติดต่อให้รับบทนี้, ตัวเลือกสำรองของผู้กำกับคือ Marlene Dietrich ซึ่งตอนที่ Brooks หายตัวไป Dietrich ได้รับการติดต่อ และกำลังจะได้เซ็นสัญญาอยู่แล้ว แต่พอ Pabst ได้ยินว่า Brooks ทราบข่าวและยอมรับข้อเสนอ จึงไม่เซ็นต์สัญญากับ Dietrich (เหตุผลที่ Pabst ไม่อยากเลือก Dietrich เพราะเธอมีความแก่นกร้านโลก และอายุ 27 ดูแก่เกินไปพอสมควร)

เกร็ด: ถึง Dietrich จะไม่ได้แสดงเรื่องนี้ แต่ก็ได้ไปแจ้งเกิดในบท Lola Lola เรื่อง The Blue Angel (1930) ของผู้กำกับ Josef von Sternberg

Mary Louise Brooks (1906 – 1985) นักเต้น นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Cherryvale, Kansas วัยเด็กมีพรสวรรค์ด้านการเล่นเปียโน โตขึ้นเข้าร่วมเป็นนักเต้นกลุ่ม Denishawn ที่ Los Angeles แค่เพียงปีเดียวถูกไล่ออกจากความขัดแย้ง จากนั้นได้เพื่อนสนิทใช้เส้นสายกลายเป็นนักเต้น Broadway เรื่อง Ziegfeld Follies เข้าตา Paramount Picture จับเซ็นสัญญา 5 ปี ภาพยนตร์เรื่องแรก The Street of Forgotten Men (1925), แต่ส่วนใหญ่ได้รับบทรอง Girl-Next-Door, นักเต้นกายกรรม Cabaret ฯ

ปี 1928 ตัดสินใจหนีท่องยุโรปเพราะความขัดแย้งกับสตูดิโอหลังเซ็นสัญญาฉบับใหม่ ได้รับการติดต่อจาก G. W. Pabst แสดงนำรับบท Lulu เรื่อง Pandora’s Box (1929) เพราะความ Erotic ที่ดูเป็นธรรมชาติน่าหลงใหล แต่ภายในกลับดูใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ซึ่งหลังจากความสำเร็จล้นหลาม เลยขอให้ร่วมงานกันต่ออีกครั้งใน Diary of a Lost Girl (1929)

เกร็ดที่ไม่ต้องรู้ก็ได้: Brooks เป็นคนที่ไม่ปกปิดชีวิตรักของตนเอง ได้หมดทั้งชาย/หญิง ครั้งหนึ่งเคยกับเพื่อนนักแสดง Greta Garbo เล่าให้ฟังว่าเธอชอบที่จะนำและมีความละมุนนุ่มนวล ‘charming and tender’

รับบท Lulu อ้างตัวว่าไม่ใช่โสเภณี แต่ชอบความสำราญยั่วเย้ายวนผู้อื่นไปทั่วแบบไม่เคยครุ่นคิดจริงจังอะไร เสน่ห์อันน่าหลงใหลของเธอเป็นที่หมายปองของคนหนุ่ม-หญิงสาว กลางคน-สูงวัย แม้ไม่เคยฉกกัดทำร้ายใคร แต่ก็สามารถฆ่าคนตายได้เพราะความงาม ด้วยเหตุนี้วังวนชีวิตจึงเวียนอยู่กับด้วยมือของสังคม สุรา นารี การพนัน และความตาย

วันๆในกองถ่ายของ Brooks ทำงานเสร็จก็จะเร่ไปหาแฟนหนุ่ม George Preston Marshall ดื่มกินปาร์ตี้อย่างสุดเหวี่ยงแทบทุกคืน (ราวกับว่านั่นคืองานหลัก ส่วนการแสดงคืองานรอง) สร้างความไม่พึงพอใจให้ผู้กำกับสักเท่าไหร่ แต่พอกลับคนรักกลับอเมริกา คราวนี้ออกกฎบังคับห้ามเที่ยวเตร่อย่างเข้มเชียวละ

Brooks เป็นนักแสดงที่ไม่มี ‘Persona’ เอกลักษณ์ทางการแสดง ดูเป็นธรรมชาติ/ธรรมดาเหมือนมิได้ใช้ความสามารถพิเศษอะไร แต่รูปลักษณ์ของเธอคือ ‘Iconic’ นำเทรนด์แฟชั่นเปลี่ยนโลก ได้รับการจดจำที่ใครๆเมื่อพูดถึง Flapper หรือทรงผมบ็อบ ก็ต้อง Louise Brooks เท่านั้น

เกร็ด: ทุกชาร์ทของการจัดอันดับทรงผมเปลี่ยนโลก ต้องมี Louise Brooks ทรงบ็อบ ติดอันดับ 1 แทบทั้งนั้น

แต่ไม่ใช่ว่า Brooks เป็นคนที่ไม่มีอะไรโดดเด่นในการแสดงนะครับ เพราะความเป็นธรรมชาติลื่นไหลนั้นแหละ ถือว่าคือ Modern Acting ขณะที่นักแสดงคนอื่นร่วมสมัยแสดงเหมือนอยู่ต่อหน้ากล้อง แต่เธอกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในสถานที่/ฉากๆนั้น

ก็คงเพราะรูปลักษณ์ทรงผมนั่นกระมัง กลบเกลื่อนการแสดงทำให้ผู้ชมมักมองไม่เห็นความเป็นธรรมชาติของเธอสักเท่าไหร่ ซึ่งกว่าจะเริ่มได้รับการค้นพบก็โดย Henri Langois ผู้ก่อตั้ง Cinematheque François น่าจะเป็นคนแรกที่พูดว่า

“There is no Garbo, there is no Dietrich, there is only Louise Brooks!”

– Henri Langois

อิทธิพลต่อวงการ อาทิ
– Anna Karina เรื่อง Vivre sa vie (1962),
– Liza Minnelli เรื่อง Cabaret (1972),
– Melanie Griffith เรื่อง Something Wild (1986),
– Uma Thurman เรื่อง Pulp Fiction (1994)
– Catherine Zeta-Jones เรื่อง Chicago (2002)
ฯลฯ

ขอพูดถึงตัวละครหนึ่ง Countess Augusta Geschwitz ถ้าเป็นฉบับภาษาอังกฤษจะใช้ชื่อ Countess Anna (รับบทโดย Alice Roberts สัญชาติ Belgian) นักประวัติศาสตร์ให้ข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นตัวละครเลสเบี้ยนครั้งแรกในวงการภาพยนตร์ แต่งตัวเหมือนผู้ชาย ส่งสายตาขณะเต้นรำกับ Lulu ราวจะปลุกปล้ำกลืนกินกันและกัน, Roberts เพิ่งมารับรู้ว่าตัวละครของตนเองเป็นเลสเบี้ยนเมื่อตอนเริ่มถ่ายทำ แสดงความขัดขืนต่อผู้กำกับ Pabst แต่กลับถูกโน้มน้าวให้มองมาที่ตน จินตนาการกำลังร่วมรักกับผู้ชายเสียก็จบแล้ว

ถ่ายภาพโดย Günther Krampf ตากล้องชาว Austrian ที่ได้รับฉายา ‘phantom of film history’ กับผลงานถ่ายภาพที่ดังๆ อาทิ Nosferatu (1922), The Student of Prague (1926), Pandora’s Box (1929), The Ghoul (1933) ฯ

หนังมีลักษณะของ German Expressionism ทั้งการออกแบบและถ่ายภาพที่ค่อนข้างกลมกลืนไปกับเรื่องราวอย่างมาก แต่ก็ยังสามารถสังเกตเห็นทำความเข้าใจได้ไม่ยาก

ในห้องของ Lulu จะมีภาพวาดติดผนังขนาดใหญ่ข้างเตียง น่าจะเป็นรูปเหมือนของเธอเองไว้ผมทรงบ็อบ แต่ในชุดสวมปลอกคอ Elizabethan Collar (ได้รับความนิยม ค.ศ. 1550 -1600) และกอดรัดเครื่องสาย ที่คงสะท้อนความสนใจของเธออยากเป็นนักเต้น/ให้ความบันเทิงแก่ผู้อื่น

นอกจากนี้เฟอร์นิเจอร์ของเล่นในห้องของ Lulu เท่าที่สังเกตเห็นอาทิ
– ลูกแกะในกำมือ
– กล่องเห็นเบลอๆข้างหลัง คงตั้งใจล้อกับชื่อหนัง Pandora’s Box
– จะมีช็อตนี้เห็นเชิงเทียน 7 กิ่ง สัญลักษณ์ของชาวยิว (นี่อาจจะสื่อว่า Lulu มีเชื้อสายยิวก็เป็นได้นะ)

ในห้องที่ Lulu ลากตัว Dr. Ludwig Schön เพื่อเล่นแง่เล่นงอน เรียกร้องความสนใจ อุปกรณ์การแสดงที่อยู่ในห้องนี้มีสองสิ่งที่โดดเด่น
– หนังสัตว์ สะท้อนถึงความดิบเถื่อน สันชาตญาณของตัวละคร นี่คงหมายถึง Lulu ที่ใช้ชีวิตตามอยากของตนเอง
– รูปปั้นเทพีแบกอะไรสักอย่าง (รูปซ้ายมือสุด) นี่คงแทนด้วย Dr. Ludwig Schön ชายผู้ซึ่งแบกรับภาระของละครเวทีชุดนี้ ทำทุกอย่างเพื่อให้ Lulu ยินยอมออกไปทำการแสดง

มงกุฎของ Lulu มีลักษณะครึ่งวงกลมของพระอาทิตย์ สวยงามฟ่องฟูเจิดจรัสจร้า เหมือนเทพี Pandora อาศัยอยู่ในพระราชวังโอ่อ่า ช่างดูอลังการงานสร้างเสียเหลือเกิน

ก่อนถึงการเสียชีวิตของ Dr. Ludwig Schön จะมีช็อตหนึ่งถ่ายภาพของ Lulu คู่กับรูปปั้นที่มีลักษณะเหมือนผู้ชายเงยหน้า พยายามตะเกียกตะกายปีนป่ายอะไรบางอย่าง นี่สะท้อนถึงผู้ชายทุกคนรอบข้างตัวเธอ ต่างพยายามต้องการครอบครองจิตใจหญิงสาว แต่ผู้ชนะเช่นเขากลับไม่รู้สึกยินดีปรีดาแม้แต่น้อย ราวกับได้พบเจอซาตานนางมารร้าย ตกอยู่ในขุมนรกตายทั้งเป็น

ช็อตที่ผมมองว่าคือการเปิดกล่อง Pandora คือวินาทีการเสียชีวิตของ Dr. Ludwig เสียงปืนเสมือนเสียงไขกุญแจ เงามัวๆอาบฉาบพื้นหลัง และควันที่โพยพุ่งออกมา ก็ราวกับบางสิ่งอย่าง/ความชั่วร้าย ที่เคยเก็บซ่อนใส่ไว้ในกล่องพลันได้รับอิสรภาพเสรี ต่อจากนี้ชีวิตของ Lulu (และทุกคนข้างกายเธอ) จะค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆจนถึงขีดสุด

แฟชั่นการไว้ทุกข์ของ Lulu เลือกผ้าคุมศีรษะมีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยมตั้งขึ้น นี่เอกลักษณ์ของ German Expressionism เลยนะ (อะไรที่มันแหลมๆ สามเหลี่ยม) นัยยะถึงการบีบกดดันความรู้สึกบางอย่างของหญิงสาว

ผมไม่คิดว่า Lulu จะรู้สึกผิดอะไรกับการตายของ Dr. Ludwig หรือเปิดกล่อง Pandora เพราะนั่นคือความไร้เดียงสาใสซื่อบริสุทธิ์ของเธอ ฉากนี้มันจึงแค่แต่งตัวชุดดำตามความเหมาะสม สังคมพยายามกดดันบีบรัดตัวเธอ แต่หญิงสาวก็หาได้สนใจแคร์อะไร

ว่าไปนี่ก็เหมือนมงกุฎอันที่สองของ Lulu ที่เหมือนว่าเธอจะสวมใส่ด้วยตนเอง (อีกสองครั้งที่เหลือจะมีคนอื่นสวมใส่ให้) แต่จริงๆแล้วคือบริบทของสังคมมนุษย์ สามีตายต้องไว้ทุกข์สวมใส่ชุดสีดำหมวกคลุม เลือกได้ก็คงไม่สวมใส่มันหรอกนะ

ฟีล์มม้วนที่ 7 สู่โรงแรมโจรสลัด หลบซ่อนอยู่ในเรือลำหนึ่งคอยคอจอดเทียบสมอ (อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน) สถานที่แห่งนี้ Lulu ถูกแก่งแย่งจาก 4-5 คน
– Alwa Schön สนแค่เงินทอง เล่นพนันให้ชนะจะได้คืนทุนทุกสิ่งอย่าง
– Schigolch ชายสูงวัยที่อ้างว่าเป็นพ่อ แต่สนแค่มีเงินกินเหล้าเมามาย
– Rodrigo Quast นักเล่นกายกรรม ต้องการนำเงินไปเปิดการแสดงชุดใหม่
– Marquis Casti-Piani ต้องการขายเธอให้ชายชาวอิยิปต์ นำเงินไป… ทำอะไรก็ไม่รู้สิ
– Countess Augusta Geschwitz นำเงินมามอบให้ถึงที่ แต่หารู้ซึ้งถึงบุญคุณ แถมยังขอเธอให้ล่อลวงหลอกใครบางคน

ชีวิตช่วงนี้ของ Lulu เต็มไปด้วยร่องมรสุม ทุกคนรอบข้างที่เคยหลงใหลคลั่งไคล้ในตัวเธอกลับนำแต่ปัญหามาให้ถึงที่ วิธีเดียวเท่านั้นคือหลบหนีไปให้ไกลแสนไกล

แล้วก็มาจมปลักอยู่ในขุมนรก ห้องพักโกโรโกโสใต้หลังคา หนาวเหน็บเย็นยะเยือกในค่ำคืนคริสต์มาสอีฟ ออกแบบให้หลังคาสองด้านบีบกดดันให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่มีใครสนใจที่ไหน สามคนที่หลงเหลืออยู่ถือว่ากลายเป็นเศษสวะของสังคมโดยแท้
– Lulu สนใจแค่ความสุขเริงรมย์ของตนเอง เงินทองไม่เกี่ยว พบหน้าถูกชะตาเป็นพอ
– Schigolch ระหว่างขนมปังท้องอิ่มกับสุรา ชายสูงวัยผู้นี้สามารถต่อรอง/เลือกขโมย แต่วิสกี้ชั้นดีเท่านั้น
– Alwa Schön ชายหนุ่มที่เคยร่ำรวยประสบความสำเร็จ เงินทองไม่มีสักแดงเจ๊งหมด หมดเรี่ยวหมดแรงนอนจมปลักอยู่บนเตียงไม่คิดจะทำอะไร

แสงเทียนดวงเล็กๆ ทำให้ Lulu จับจ้องมองอย่างใคร่สนใจถวิลหา ภาพถ่ายด้วย Soft Lens เห็นใบหน้าเบลอๆเลือนลาง ราวกับว่านั่นคือ ‘ความหวัง’ ที่หลงเหลืออยู่ในชีวิตของเธอ

และจะมีช็อตถัดๆมาที่มงกุฎดอกไม้ ถือลอยอยู่เหนือศีรษะ สะท้อนกับมงกุฎทรงพระอาทิตย์ที่เคยสวมใส่ในการแสดงละครเวที นี่เช่นกันสะท้อนสิ่งที่หลงเหลืออยู่ใน Pandora หลังจากได้รับการเปิดออก สิ่งที่หลงเหลืออยู่มีเพียงความว่างเปล่า

London สถานที่สุดอันตรายในยุโรปต้นศตวรรษ 20 เพราะการมาถึงของ Jack the Ripper ฆาตกรสังหารโหดผู้กลายเป็นตำนาน ช็อตนี้อารมณ์นัวร์จัดเต็มเลย จุดเริ่มต้นก็จากกลิ่นอาย German Expressionism ช็อตคล้ายๆแบบนี้แหละ

Jack the Ripper เป็นตัวละครเชิงสัญลักษณ์ที่ฆ่าคนเพราะอารมณ์ความอยาก ว่าไปก็เหมือนกับ Lulu ที่มองหาผู้ชายสนองตัณหาความต้องการส่วนตนเท่านั้น ทั้งสองเลยเปรียบเสมือนคู่ปรับที่เติมเต็มกันและกัน แค่ว่าชะตากรรมของหญิงสาวก็เหมือนกฎแห่งกรรม เมื่อ Jack เห็นมีดวางอยู่ก็หักห้ามใจไม่ได้ เฉกเช่นกันเดียว Lulu เห็นผู้ชายหล่อก็อดใจไม่ได้เช่นกัน

ช็อตสุดท้ายของหนัง หลังจากขบวนพาเรดวันคริสต์มาสเดินผ่านใต้ทางลอดนี้ไป ทำให้ชายหนุ่ม Alwa Schön ที่หลังจากรับรู้สิ่งเกิดขึ้นกับ Lulu ตัดสินใจเดินข้ามผ่าน ไม่ขอจมปลักอยู่ในสถานที่แห่งนี้อีกต่อไป กล่าวคือ ออกเดินติดตามขบวนพาเรด เพื่อมุ่งสู่แสงสว่างรับวันขึ้นปีใหม่ของชีวิต

คริสต์มาสคือวันประสูติของพระเยซู นัยยะการออกเดินลอดอุโมงค์สู่แสงสว่างครั้งนี้ของ Alwa จึงสามารถมองว่าคือการเกิดใหม่ครั้งที่ 2 ก็ยังได้

ตัดต่อโดย Joseph Fleisler, เล่าเรื่องในมุมมองของ Lulu โดยแบ่งออกเป็น 8 องก์ ตามความยาวของม้วนฟีล์ม (ละไม่เกิน 20 นาที) แต่เพราะหนังมีหลายฉบับมาก (เนื่องจากถูกกองเซนเซอร์นำไปเล็มโน่นนี่นั่นออกมากมาย) ที่หลงเหลือถึงปัจจุบัน Criterion Version ความยาว 135 นาที ได้รับการบูรณะเสร็จสิ้นปี 2018

Lulu พบเจอกับผู้คนมากหน้าหลากหลาย เศรษฐี, มหาโจร, ขอทาน (คนที่เธออ้างว่าเป็นพ่อ), ฆาตกร แต่น่าเสียดายกลับไม่เคยพบเจอรักแท้ … คาดว่าเธอคงไม่เชื่อเรื่องความรักด้วยกระมัง

แล้ว Lulu เชื่อในอะไรกัน? วันๆของเธอโปรยเสน่ห์ให้ทุกคนรอบข้างตกหลุมรักหลงใหล ทำทุกอย่างเพื่อความพึงพอใจของตนเอง ทิ้งชายคนหนึ่งแล้วไปอยู่กับชายคนหนึ่ง ต้องการสังสรรค์ ปาร์ตี้ ร่านรัก ดื่มด่ำน้ำเมา เอามันเสียทุกสิ่งอย่าง นี่ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า เธอไม่เคยเชื่อในอะไรสักสิ่งอย่าง

มองเข้าไปในจิตใจของตัวละคร สิ่งที่เป็นแรงจูงใจไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ Sex (ก็ขนาด Jack the Ripper ตอนท้ายที่บอกว่า ฉันไม่มีเงิน เธอบอกไม่สน ฉันชอบนาย???) มันคือความเห็นแก่ตัว (selfishness) พึงพอใจส่วนตน โลกต้องหมุนรอบฉัน ศูนย์กลางจักรวาล

ในหนังสือชีวประวัติของ Brooks เรื่อง Lulu in Hollywood (1982) เล่าว่าตอนอายุ 9 ขวบ เธอเคยถูกเพื่อนบ้านใช้ความรุนแรง(น่าจะข่มขืน) นั่นกลายเป็นเหตุการณ์เปลี่ยนชีวิต ทำให้ไม่สามารถตกหลุมรักใครได้ ดื่มหนักตั้งแต่อายุ 14 คบหาได้ทั้งชาย-หญิง และความสุขในการร่วมรัก นุ่มนวลไม่เคยเพียงพอ รุนแรงเร่าร้อนเท่านั้นถึงตอบสนองกามารณ์ของตนเองได้

Louise Brooks คือ Lulu หรือ Lulu คือ Louise Brooks ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ทั้งสองคือหนึ่งเดียวที่แยกไม่ออก ทั้งรูปลักษณ์ภาพนอก บุคลิกนิสัย หรือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ ชีวิตต้องการความสุขสำราญสนองตนเอง เท่านั้นก็เพียงพอไม่คาดหวังอะไรอย่างอื่น

สิ่งที่ผู้กำกับ Pabst ต้องการสะท้อนออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือสถานะของประเทศเยอรมัน ยุคสมัยของ Weimar Republic (1919 – 1933) ที่ท้องถนนเมือง Berlin คลาคลั่งไปด้วยความตกต่ำ ทั้งมโนธรรม ศีลธรรม รวมถึง Sexual Revolution ที่กำลังเพาะบ่ม (แต่กว่าจะเบิกบานก็ทศวรรษ 60s – 80s โน่นนะ) ผู้หญิงเริ่มมีสิทธิ์เสรีในการเลือกใช้ชีวิต ทำงาน คู่ครอง หรือร่วมหลับนอนกับใคร ไม่ใช่เพียงผู้ชายเท่านั้นจะเป็นเจ้าของ ช้างเท้าหน้า หรือควบคุมครอบงำทุกสิ่งอย่าง

ในทัศนะของผู้ชายยุคสมัยนั้น (ก็อาจจะผู้กำกับ Pabst ด้วยกระมัง) Pandora’s Box อาจเปรียบเสมือนเสรีภาพของผู้หญิง ที่เมื่อได้รับการเปิดออกย่อมนำมาซึ่งหายนะมากมาย เลวร้ายสุดก็คงแบบ Lulu สวยสังหารฆ่าคนตายได้โดยไม่ต้องลงมือ นั้นถือเป็น Worse Case Scenario น่าจะเลวร้ายสุดแล้วกระมังที่อาจเกิดขึ้นได้แล้วกระมัง

ว่าไปมองหนังสะท้อนสถานภาพทางการเมืองก็ได้เช่นกัน เพราะการเกิดขึ้นของ Nazi เสมือนว่าชาวเยอรมันทั้งประเทศนั่นแหละ คือผู้ไขกุญแจเปิดกล่อง Pandora’s Box นำความชั่วเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก แพร่กระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า


ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆๆ ในความซับซ้อนของเรื่องราว, ไดเรคชั่นผู้กำกับ G. W. Pabst ถือเป็นผลงานระดับ Masterpiece ยอดเยี่ยมที่สุด(แล้วกระมัง), การแสดงอันเป็นธรรมชาติของ Louise Brooks โดยเฉพาะทรงผมบ็อบเอกลักษณ์ โดดเด่นเกินหน้าเกินตาทุกสิ่งอย่าง

แนะนำกับคอหนังเงียบ Melodrama, Erotic, นักออกแบบ แฟชั่นดีไซน์เนอร์ ผู้ชื่นชอบความงามนำแฟชั่นของ Louise Brooks, รู้จักผู้กำกับ G. W. Pabst ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะหนุ่มๆ(สาวๆ)ทั้งหลาย เรียนรู้จักทำความเข้าใจพฤติกรรมการแสดงออกของ Lulu มันไม่ผิดหรอกที่จะมีแฟน/คนรักแบบนี้ แต่แน่ใจแล้วหรือว่าเธอสนใจคุณจริงๆ หรือมองเป็นเพียงของเล่นชิ้นหนึ่ง หมดสนุกเบื่อแล้วอาจถูกทิ้งขว้างลงถังขยะแบบไร้เยื่อใยดี เตรียมใจเผื่อไว้ด้วยแล้วกันนะ

จัดเรต 15+ กับความบริสุทธิ์ยั่วเย้ายวน ความตาย และฆาตกรรม

TAGLINE | “Louise Brooks คือผู้เปิดกล่อง Pandora’s Box ของ G. W. Pabst ทำให้ทุกสิ่งอย่างตัวตนของเธอ เผยออกสู่สายตาสาธารณะชน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: