Beauty and the Beast

Beauty and the Beast (1978) hollywood : Juraj Herz ♥♥♥

ดัดแปลงจากเทพนิยายสุดคลาสสิก Beauty and the Beast ทำออกมาในแบบฉบับ Dark Fantasy & Gothic Horror ด้วยบรรยากาศหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก สั่นสะท้านทรวงใน รูปร่างหน้าตาเจ้าชายอสูรอัปลักษณ์เกินทนไหว

หลังจากรับชม The Cremator (1969) โคตรภาพยนตร์ Horror สัญชาติ Czechoslovakia ของผกก. Juraj Herz ผมก็เต็มไปด้วยความคาดหวังสูงลิบลิ่วกับ Beauty and the Beast (1978) แต่หลังจากดูได้ประมาณ 4-5 นาทีก็เริ่มรู้สึกผิดหวังนิดๆ เพราะมันแทบไม่มีลูกเล่น เทคนิคแพรวพราว แค่เพียงบรรยากาศเย็นๆ ตามแบบหนังสยองขวัญทั่วๆไป สิ่งน่าประทับใจคือโปรดักชั่นงานสร้าง เพลงประกอบหลอนๆ และเจ้าชายอสูรแต่งหน้าออกมาได้น่าขยะแขยงสุดๆ

ในยุคสมัยที่หน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจสอบ แทรกแซง เซนเซอร์ภาพยนตร์ ไม่ให้ขัดต่ออุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (และสหภาพโซเวียต) มันจึงเป็นเรื่องยากที่พัฒนาบทหนังวิพากย์การเมืองตรงๆ หรือนำเสนอเรื่องราวสะท้อนปัญหาสังคม (ไม่ได้รับการอนุมัติอย่างแน่นอน) วิธีการของผกก. Herz คือดัดแปลงเทพนิยายแฟนตาซี ใครจะไปคาดคิดว่านิทานกล่อมเด็กเข้านอน จะสามารถซุกซ่อนนัยยะซ่อนเร้นไว้มากมาย

ผมครุ่นคิดว่า Beauty and the Beast (1978) คือภาพสะท้อนบรรยากาศทางการเมืองของ Czechoslovakia เจ้าชายอสูรมีความอัปลักษณ์ (ผิดจากเรื่องอื่นๆที่นิยมใช้รูปลักษณ์ราชสีห์ผสมกับสัตว์อื่นๆ หน้าตาเหมือนนกอินทรี=ตราแผ่นดินของรัสเซีย) ทำให้ผู้คนละแวกนั้นใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวง อันตราย รู้สึกไม่ปลอดภัย (แบบเดียวกับที่ใครต่อใครหวาดกลัวเจ้าชายอสูร) เพียงตอนจบเมื่อถึงคราตาย (สหภาพโซเวียตล่มสลาย) เราสองถึงได้ครองรักกัน


Juraj Herz (1934-2018) ผู้กำกับสัญชาติ Slovak เกิดที่ Kežmarok, Czechoslovakia (ปัจจุบันคือประเทศ Slovakia) ในครอบครัวเชื้อสาย Jews ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองถูกส่งไปค่ายกักกัน Ravensbrück สมาชิกครอบครัวส่วนใหญ่เสียชีวิตจาก Holocaust, พอเติบใหญ่ค้นพบความสนใจด้านการถ่ายรูป เข้าเรียนต่อ University of Applied Arts ตามด้วยสาขากำกับหุ่นเชิด Theatre Faculty of the Academy of Performing Arts in Prague (DAMU) รุ่นเดียวกับ Jan Švankmajer จากนั้นทำงานเป็นนักเชิดหุ่นอยู่ยัง Semafor Theatre ก่อนย้ายมา Barrandov Studios

ความที่ Barrandov Studios คือสตูดิโอภาพยนตร์ Herz จึงต้องปรับตัว สังเกต ฝึกฝน ศึกษาเรียนรู้จักการกำกับด้วยตนเอง เริ่มจากเป็นผู้กำกับกองสอง Transport from Paradise (1962) และ The Shop on Main Street (1965), สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก The Junk Shop (1965) ทีแรกจะรวมอยู่ในภาพยนตร์ Pearls of the Deep (1966) แต่ความยาวเกินไปเลยถูกตัดออก, ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Sign of the Cancer (1967)

เกร็ด: Juraj Herz ถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับรุ่น Czechoslovak New Wave แต่ไม่ค่อยได้สุงสิงกับ Miloš Forman, Jiří Menzel, Věra Chytilová เพราะไม่ได้ร่ำเรียนภาพยนตร์จาก Film and TV School of the Academy of Performing Arts in Prague (FAMU) และมาจากสายหุ่นเชิด/อนิเมเตอร์ (ยุคสมัยนั้นยังไม่มีการแบ่งแยกสัญชาติ Czech กับ Slovak แต่ปัจจุบันจะถือว่า Herz มาจากฟากฝั่ง Slovak film)

โฉมงามกับเจ้าชายอสูร เป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านปากต่อปาก (Oral Tradition) ที่พบเจอได้จากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก แต่ครั้งแรกที่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร คือฉบับเทพนิยาย La Belle et la Bête (1740) ประพันธ์โดย Gabrielle-Suzanne de Villeneuve (1685-1755) นักเขียนหญิงชาวฝรั่งเศส ตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ La Jeune Américaine et les contes marins (แปลว่า The Young American and Marine Tales)

ผกก. Herz มอบหมายให้ Ota Hofman และ František Hrubín ร่วมกันดัดแปลงเทพนิยาย La Belle et la Bête โดยพยายามทำออกมาให้มีความใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุด (ผิดจากฉบับอื่นๆที่มีการปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่นไปพอสมควร)

เกร็ด: Panna a netvor ชื่อหนังภาษา Czech แปลตรงตัวว่า The Virgin and the Monster ฟังดูรุนแรง เหี้ยมโหดร้าย อันตรายกว่า Beauty and the Beast หลายเท่าตัวเลยนะครับ


ในตระกูลพ่อค้า บิดาทำธุรกิจล้มละลาย ระหว่างเดินทางไปขายรูปวาดมารดา พานผ่านปราสาทปรักหักพังแห่งหนึ่งในย่าน Haunted Wood ทำสัญญาซื้อขายกับสัตว์ประหลาด/เจ้าชายอสูร ได้รับเงินทอง เพชรพลอย เครื่องประดับมากมาย แต่ระหว่างทางกลับดันไปเด็ดดอกกุหลาบงาม สร้างความไม่พึงพอใจให้อีกฝ่าย ขู่จะฆ่าเอาชีวิต หรือแลกมาด้วยบุตรสาวเป็นตัวประกัน

Julie (รับบทโดย Zdena Studenková) บุตรสาวคนเล็กในตระกูลพ่อค้า ยินยอมเสียสละตนเองแทนบิดา เดินทางไปปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในปราสาทหลังนั้น แต่ถูกสั่งห้ามหันมามองหน้าสบตา ด้วยน้ำเสียงหล่อเหลาจึงจินตนาการเพ้อฝันเจ้าชายรูปงาม กระทั่งแอบเห็นภาพสะท้อนในกระจก ดูอัปลักษณ์น่ารังเกียจเกินเยียวยา ในตอนแรกก็มิอาจยินยอมรับสภาพความจริง ก่อนค้นพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดหาใช่รูปลักษณ์ภายนอก เกิดเป็นความรักบริสุทธิ์ และทำให้เขาคลายคำสาปได้สำเร็จ


Zdena Studenková (เกิดปี 1954) นักแสดงสัญชาติ Slovak เกิดที่ Bratislava, Czechoslovakia (ปัจจุบันคือประเทศ Slovakia) เมื่อตอนอายุ 9 ขวบ บิดาถูกจับกุมเนื่องจากเคยเข้าร่วมหน่วยพิเศษเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (ติดคุกนาน 8 ปี) ระหว่างนั้นอาศัยอยู่กับมารดา โดนตีตราว่าเป็นบุตรคนทรยศขายชาติ ทีแรกว่าจะอพยพย้ายไปอยู่ Vienna แต่สามารถสอบเข้าโรงเรียนสอนศิลปะ/ถ่ายภาพ Strednú umelecko priemyselnú školu (ŠUPka) ต่อด้วยสถาบันการแสดง Academy of Performing Arts in Bratislava (VŠMU) จบออกมาเข้าร่วม Slovak National Theater มีผลงานละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ บทบาทได้รับการจดจำสูงสุดคือภาพยนตร์ Beauty and the Beast (1978)

รับบท Julie บุตรสาวคนเล็กในตระกูลพ่อค้า มีละอ่อนเยาว์วัย ไม่ลุ่มหลงในเงินๆทองๆ สิ่งข้าวของนอกกายเหมือนพี่สาวทั้งสอง ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อบิดา เดินทางไปเป็นตัวประกันในปราสาทหลังนั้น เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ประทับใจน้ำเสียงของเจ้าชาย จึงพยายามหาโอกาสแอบมองเขาให้จงได้ แม้สุดท้ายจะผิดหวังในรูปลักษณ์ แต่ก็สามารถบังเกิดความรักอันบริสุทธิ์จากใจ

บทบาทโฉมงาม แน่นอนว่าต้องเลือกนักแสดงจากรูปร่างหน้าตาเป็นหลัก Studenková ดูละอ่อนวัย บริสุทธิ์ใส สายตาเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา ท่าทางระริกระรี้ เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ไร้ซึ่งความหวาดกลัวเกรง นั่นทำให้ผู้ชม(และเจ้าชายอสูร)รักและเอ็นดู คอยเป็นกำลังใจให้ห่างๆ ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ตอม สวยแบบนี้จะเข่นฆ่าลงได้อย่างไร

แซว: การแสดงของ Studenková ไม่ได้ทำให้ผมนึกโฉมงามจาก The Beauty and the Beast เรื่องอื่นๆ แต่กลับคือเจ้าหญิงลา Catherine Deneuve ภาพยนตร์ Donkey Skin (1970) ดูละม้ายคล้ายคลึงกันมากกว่า


ถ่ายภาพโดย Jiří Macháně (1940-2023) ตากล้องสัญชาติ Czech เกิดที่กรุง Pargue สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายรูปจาก Film and TV School of the Academy of Performing Arts in Prague (FAMU) แล้วทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้องให้กับ Czechoslovak Army Film, ได้รับเครดิตภาพยนตร์เรื่องแรก The Lanfier Colony (1969), ก่อนกลายเป็นขาประจำผกก. Juraj Herz ตั้งแต่ Day for My Love (1977), Beauty and the Beast (1978), The Ninth Heart (1979) ฯ

งานภาพของหนังอาจไม่ได้มีลูกเล่น เทคนิคแพรวพราวเหมือน The Cremator (1969) แต่มุ่งเน้นรายละเอียด โปรดักชั่นงานสร้าง สำหรับสร้างบรรยากาศหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก สั่นสะท้านทรวงใน สัมผัสอันตราย ดินแดนชั่วร้าย สถานที่ที่โฉมงามไม่ควรยุ่งย่ามกรายเข้ามา

ผมค่อนข้างแปลกใจเล็กๆที่หนังเลือกใช้อัตราส่วนภาพ 1.66:1 (หรือ 5:3) แต่มันคือ European Widescreen Standard ในช่วงทศวรรษนั้นอยู่แล้ว ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับการฉายทางโทรทัศน์ นั่นน่าจะเป็นความตั้งใจของผกก. Herz เพราะทำการดัดแปลงเทพนิยายที่มีชื่อเสียงโด่งดัง น่าจะสามารถเข้าถึงผู้ชมวงกว้างได้ง่ายกว่าสื่อภาพยนตร์!

แต่การใช้อัตราส่วนภาพดังกล่าว ผมมองเป็นข้อเสียอย่างใหญ่หลวง เพราะทำให้หนังสูญเสียความ ‘cinematic’ ถึงพยายามใส่รายละเอียด ปรับแต่งโทนสีสันให้หนาวเหน็บ หวาดสะพรึงกลัวสักเพียงไหน แต่มันกลับดูจำกัด คับแคบ ผู้ชมไม่รู้สึกเอ่อล้น ซึมซับบรรยากาศเหล่านั้นเข้าสู่ตนเอง … เวลารับชมหนังในโรงภาพยนตร์ ยิ่งจอใหญ่ๆ IMAX มันจะมีความเอ่อล้น ท่วมท้น ภาพขนาดมหึมาสามารถส่งผลกระทบต่อตัวเรา ผิดกับจอภาพขนาดเล็กๆ ในมือถือ จอโทรทัศน์ ย่อมไม่รับรู้อารมณ์ร่วมสักเท่าไหร่

ขณะที่ฉากภายในปราสาทเจ้าชายอสูร ก่อสร้างขึ้นใหม่หมดยังสตูดิโอ Barrandov Studios ฉากภายนอกตระเวนไปถ่ายทำยังสถานที่ต่างๆ เท่าที่ผมพอค้นหาข้อมูลได้ อาทิ

  • น้ำตก Velký Štolpich Waterfall ตั้งอยู่ทางตอนใต้เมือง Hejnice, Liberec
  • บ้านพักของพ่อค้า ถ่ายทำยังชุมชนเมือง Hejnice, Liberec 
  • ฉากภายนอกปราสาทเจ้าชายอสูร ณ อุทยาน Gröbovka Park สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1871-88 ในสไตล์ Italian Renaissance เป็นส่วนหนึ่งของ Grobov Villa ทศวรรษนั้นเห็นว่าถูกทอดทิ้งขว้าง หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงบูรณะ กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อยใจย่านชานเมือง Pargue

แซว: ด้วยความที่ผกก. Herz สร้างฉากภายในปราสาทขึ้นมาทั้งหลัง (ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 3 เดือน) ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณไปเยอะมากๆ สตูดิโอ Barrandov Studios จึงต่อรองขอให้ถ่ายทำภาพยนตร์อีกเรื่องเพื่อลดค่าใช้จ่าย กลายมาเป็น The Ninth Heart (1979)


ตัดต่อโดย Jaromír Janáček, หนังใช้โครงสร้างดำเนินเรื่องแบบสามองก์ทั่วๆไป (Three-Act Structure) เริ่มจากการปูเรื่อง (Setup) เผชิญหน้า (Confrontation) และแก้ปัญหา (Resolution) ประกอบด้วย

  • ความวุ่นๆวายๆของตระกูลพ่อค้า
    • คาราวานขนส่งสินค้า ประสบอุบัติเหตุระหว่างพานผ่าน Haunted Wood ทำให้สินค้าได้รับความเสียหายย่อยยับ
    • ด้วยความที่บิดาไปดูหนี้ยืมสินเพื่อทำธุรกิจแล้วคาราวานมาไม่ถึง ทำให้ตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์สินหมดสิ้น
    • บิดาจึงตัดสินใจนำรูปวาดภรรยาออกขาย ระหว่างเดินทางมาถึงปราสาทเจ้าชายอสูรใน Haunted Wood
    • ทำสัญญาซื้อขายกับเจ้าชายอสูร ได้เงินทองมากมาย แต่ก่อนจากดันไปเด็ดดอกกุหลาบ เลยถูกขู่จะฆ่าเอาชีวิต หรือแลกมาด้วยบุตรสาวเป็นตัวประกัน
    • กลับมาบ้านด้วยความร่ำรวยเงินทอง ตั้งใจจะร่ำลาบุตรสาวทั้งสาม แต่แล้ว Julie กลับยินยอมเสียสละเดินทางไปเป็นตัวประกัน
  • Julie และเจ้าชายอสูร
    • Julie เดินทางมาถึงปราสาทเจ้าชายอสูร แต่กลับไม่พบเจอใคร ได้ยินเพียงเสียงหล่อๆ และเหมือนสิ่งต่างๆปรากฎขึ้นมาราวกับมีเวทย์มนต์
    • เจ้าชายอสูรสั่งห้ามไม่ให้ Julie หันมามองหน้าตน แต่เธอก็เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ออกสำรวจปราสาทไปรอบๆ
    • เจ้าชายอสูรเต็มไปด้วยความขัดย้อนแย้งในตนเอง ตอนแรกตั้งใจจะเข่นฆ่ามนุษย์ตามเสียงกระตุ้นที่ได้ยิน แต่เพราะความสวยสาว ไร้เดียงสา จึงเกิดอาการโล้เล้ลังเลใจ
    • วันหนึ่ง Julie ครุ่นคิดถึงบิดาและพี่สาว เจ้าชายอสูรจึงอนุญาตให้เธอพบเห็นภาพเหตุการณ์บังเกิดขึ้นกับพวกเขา (แต่ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ)
  • การเผชิญหน้าระหว่าง Julie และเจ้าชายอสูร
    • ด้วยความไม่ได้ตั้งใจ Julie พบเห็นใบหน้าอัปลักษณ์ของเจ้าชายอสูร ในตอนแรกก็ยินยอมรับความจริงไม่ได้
    • นั่นทำให้เจ้าชายอสูรตกอยู่ในความสิ้นหวังอย่างรุนแรง
    • Julie หลบหนีออกจากปราสาทเจ้าชายอสูร หวนกลับไปเยี่ยมเยียนบิดาและพี่สาว
    • ก่อนเธอตัดสินใจหวนกลับมาหาเจ้าชายอสูรที่กำลังจะตรอมใจตาย แต่สุดท้ายก็สามารถคลายคำสาป หวนกลับมาเป็นมนุษย์ได้อีกครั้ง

การดำเนินเรื่องก็เป็นไปตามสูตรสำเร็จของ Beauty and the Beast หรือหนังแนวสัตว์ประหลาดทั่วๆไป องก์แรกจะยังไม่มีการเปิดเผยใบหน้าเจ้าชายอสูร เพียงเห็นด้านหลังแวบๆ ยั่วน้ำจิ้ม ให้ผู้ชมเกิดความกระตือรือล้น เฝ้ารอคอยเวลาจะได้พบเห็นรูปลักษณ์แท้จริงช่วงกลางองก์สอง หรือประมาณครึ่งทางของหนัง … เอาจริงๆหนังทำในส่วนนี้ออกมาได้ลงตัวกลมกล่อม แต่เพราะมันไม่มีอะไรแปลกใหม่ หรือสิ่งที่ดูแล้วสร้างความน่าสนใจกว่านี้ ผมเลยรู้สึกเฉยๆชาๆ ขาดความกระตือรือล้นพอสมควร


เพลงประกอบโดย Petr Hapka (1944-2014) นักแต่งเพลงสัญชาติ Czech เกิดที่ Prague, ในครอบครัวศิลปิน มารดาเป็นนักร้องโอเปร่า แถมมีญาติห่างๆ Franz Lehár เลยสามารถเล่นเปียโนตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่งเพลงแรกตอนอายุ 4 ขวบ, โตขึ้นสำเร็จการศึกษาจาก Prague Conservatory, ทำงานเป็นนักเปียโนในโรงละคร, ทำเพลงประกอบละครเวที, วาทยากร Otomor Krejča Gate Theater, ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Day for My Love (1977), Beauty and the Beast (1978), The Ninth Heart (1979) ฯ

งานเพลงถือเป็นอีกไฮไลท์ของหนัง (ถัดจากงานสร้างและรูปลักษณ์เจ้าชายอสูร) บางครั้งใช้เสียงออร์แกน สร้างความหลอกหลอน (เหมือนเพลงงานศพในโบสถ์) บางครั้งบรรเลงด้วยเปียโน ฮาร์ปซิคอร์ด ฟังแล้วรู้สึกเศร้าหมอง (ในความโดดเดี่ยวอ้างว้าง) คละคลุ้งด้วยบรรยากาศหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก สั่นสะท้านทรวงใน จิตใจกระวนกระวาย ท้องไส้ปั่นป่วน เหมือนมีบางสิ่งอย่างชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้าหา

น่าเสียดายผมหาคลิป Opening Credit มาให้รับชมไม่ได้ พื้นหลังคือภาพวาดรับอิทธิพลจาก Czech Art Nouveau มีลายเส้นที่ชวนให้ผมนึกถึง Angel’s Egg (1985) ด้วยสัมผัส Dark Fantasy & Gothic Horror อารัมบทความงดงาม หลอกหลอน และสัมผัสความตาย

จะมีอยู่สองสามครั้งที่ Julie นั่งเล่นบทเพลงของตนเอง (Character Song) ท่วงทำนองฟังดูเศร้าๆ เหงาๆ แต่สามารถสะท้อนห้วงอารมณ์ ความอ่อนไหว จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของเธอ

  • ตอนยังอยู่กับครอบครัวเล่นเพลงบนเปียโน มีเสียงนุ่มนวล อ่อนไหว จิตใจอันบริสุทธิ์
  • แต่ครึ่งหลังขณะอาศัยอยู่ปราสาทเจ้าชายอสูร บรรเลงบนฮาร์ปซิคอร์ด ซึ่งมีเสียงแหลม หยาบกระด้าง สร้างสัมผัสแห้งเหี่ยว เวิ้งว้าง โดดเดี่ยวลำพัง จิตวิญญาณเต็มไปด้วยความทุกข์เศร้าโศก

โดยปกติแล้วเทพนิยาย La Belle et la Bête หรือ Beauty and the Beast มักแฝงข้อคิดเกี่ยวกับความงดงามของมนุษย์ ไม่ได้อยู่ที่เปลือกภายนอก รูปร่างหน้าตา สวย-รวย-ผู้ดีมีสกุล แต่คือจิตวิญญาณภายใน การแสดงออกที่มีความบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์จริงใจ ต่อให้ภายนอกดูอัปลักษณ์ พิกลพิการ ฐานะยากจน ชนชั้นทางสังคมต้อยต่ำ ไม่แน่ว่าอาจมีคุณธรรม ศีลธรรม ความเป็นมนุษย์สูงส่งกว่าด้วยซ้ำ!

มองผิวเผิน Panna a netvor (1978) หรือ The Virgin and the Monster ก็แฝงข้อคิดคล้ายๆกันเกี่ยวกับการตัดสินคนที่รูปโฉมภายนอก แต่ความอัปลักษณ์ของเจ้าชายอสูร มันเกินกว่าที่ผู้ชมส่วนใหญ่จะสามารถอดรนทนรับไหว อีกทั้งการออกแบบรูปร่างหน้าตา อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าทำออกมามีลักษณะคล้ายๆตราแผ่นดินรัสเซีย (จริงๆแล้วสหภาพโซเวียตมีการเปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นค้อนเคียว ลูกโลก และแสงอาทิตย์ แต่คนส่วนใหญ่ยังคงมีภาพจำนกอินทรีคือตัวแทนรัสเซีย) ซึ่งสามารถสื่อถึงสิ่งชั่วร้ายหลบซ่อนในเงามืด มีความเผด็จการ ไม่ยอมให้ใครบุกเข้ามารุกราน พร้อมโต้ตอบกลับศัตรูแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

(อีกเหตุผลของการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์เจ้าชายอสูร ที่ส่วนใหญ่นิยมใช้ใบหน้าราชสีห์ อาจเพราะความละม้ายคล้ายตราแผ่นดิน Czechoslovakia มันจึงดูไม่ค่อยเหมาะสมสักเท่าไหร่ มั้งนะ!)

โฉมงาม/Beauty/The Virgin มองมุมหนึ่งสามารถเทียบแทนประชาชนชาว Czechoslovakia อาศัยใช้ชีวิตอยู่ในปราสาทปรักหักพัง (หรือก็คือสภาพของ Czechoslovakia ยุคสมัยนั้น) อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง แม้ไม่ได้ถูกบีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น (นอกจากห้ามหันมองหลัง) แต่กลับไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไร ดิ้นหลบหนีไปไหน ราวกับนกในกรง ไร้ซึ่งอิสระ เสรีภาพ

การห้ามหันมองด้านหลัง เพราะไม่ต้องการให้โฉมงามพบเห็นความอัปลักษณ์ของตนเอง ย่อมสื่อถึงความพยายามปกปิดบังสันดาน ธาตุแท้จริง ความคอรัปชั่นของรัฐบาล/พรรคคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต สร้างหน่วยงานเซนเซอร์ขึ้นมาตรวจสอบ กีดกัน เพื่อไม่ให้สิ่งที่พยายามปกปิดซุกซ่อนเร้นนั้น เปิดเผยออกมาสู่สาธารณะ

ตอนจบของหนังมันอาจฟังดูขัดย้อนแย้งในการเปรียบเทียบกับสหภาพโซเวียต แต่เพราะมันคือตอนจบเทพนิยาย ‘Happy Ending’ ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงได้ (ผมว่าผกก. Herz ไม่หาญกล้าพอเสียมากกว่า กลัวจะถูกกองเซนเซอร์จับไต๋ได้) ถึงอย่างนั้นเรายังสามารถมองในแง่มุม อาการผิดปกติทางจิต Stockholm Syndrome … กล่าวคือสักวันในอนาคตถ้า Czechoslovakia ยังอยู่ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ หุ่นเชิดชักสหภาพโซเวียต อาจกลายเป็นแบบ North Korea ที่ประชาชนยินยอมก้มหัวศิโรราบต่อท่านผู้นำ เห็นผิดเป็นชอบ กงจักรเป็นดอกบัว รับรู้ตัวว่าไม่มีทางดิ้นหลุดพ้น ก็เลยตอบรับรัก เจ้าชายอสูรจากเคยอัปลักษณ์ คลายคำสาปกลายเป็นเจ้าชายรูปงาม

เกร็ด: Stockholm Syndrome เป็นอาการของคนที่ตกเป็นเชลยหรือตัวประกัน ใช้เวลาอยู่ด้วยกันระยะหนึ่งแล้วเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนร้าย และอาจจะลงเอยด้วยการปกป้อง ยินยอมรับเป็นพวกเดียวกัน

การวิเคราะห์ทั้งหมดนี้อาจฟังดูเพ้อเจ้อ (ผมก็รู้สึกค่อนข้างจะไร้สาระ) เอาว่ามันคือแง่มุมของความเป็นไปได้ ใช่หรือไม่ใช่ เรื่องพรรค์นี้ไม่มีถูกไม่มีผิด ไม่จำต้องไปซีเรียสกับมันนะครับ บริหารสมอง ครุ่นคิดเพลินๆ อ่านแล้วได้เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆ


เมื่อตอนออกฉาย หนังได้เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เพราะผู้ชมยุคสมัยนั้นส่วนใหญ่ยังติดภาพจำเทพนิยายเหมาะสมกับเด็กๆ จึงพาลูกๆหลานๆเข้าไปในโรงภาพยนตร์ ไม่นานต่างร้องไห้งอแงง เรียกร้องอยากกลับบ้าน … แต่นั่นก็สร้างชื่อเสียๆหายๆให้ผกก. Herz ไม่น้อยเลยละ

ฉบับที่ผมรับชมเป็น Bluray ของค่าย Second Run วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2021 ยังไม่ได้รับการบูรณะ แต่มีการแสกน HD จากฟีล์มต้นฉบับ Czech National Film Archive พบเห็นริ้วรอยขีดข่วนบ้างประปราย คุณภาพพอรับได้

ในบรรดาเทพนิยาย Beauty and the Beast ฉบับของผกก. Herz อาจไร้มนต์เสน่ห์แบบ La Belle et la Bête (1946), ขาดรสสัมผัสโรแมนติกสไตล์ Walt Disney, เพียงบรรยากาศหลอกหลอน เพลงประกอบขนลุกขนพอง และความอัปลักษณ์ของเจ้าชายอสูรที่พอคุ้มค่าแก่การเสียเวลา

แต่เอาจริงๆอย่าเชื่อผมมากนะครับ มันอยู่ที่รสนิยม ความชื่นชอบส่วนบุคคลเป็นหลัก ใครหลงใหลแนว Dark Fantasy & Gothic Horror หรือคลั่งไคล้เทพนิยาย Beauty and the Beast อยากแนะนำให้ลองหามารับชม แล้วตัดสินด้วยตนเองจะดีกว่า

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศเย็นๆ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ เจ้าชายอสูรอัปลักษณ์เกินทนไหว

คำโปรย | Beauty and the Beast แม้พยายามทำให้เจ้าชายอสูรอัปลักษณ์เกินทนไหว แต่ก็แค่เพียงฝันร้ายของเด็กๆ บรรยากาศเย็นๆสำหรับผู้ใหญ่
คุณภาพ | ฝันร้ายแค่ชั่วคืน
ส่วนตัว | เพียงบรรยากาศเย็นๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: