Pan's Labyrinth

Pan’s Labyrinth (2006) Spainish : Guillermo del Toro ♥♥♥♥♥

เทพนิยาย Dark Fantasy สัญชาติสเปน โดยผู้กำกับเชื้อสายเม็กซิกัน Guillermo del Toro ที่จะพาคุณจมดิ่งไปกับจินตนาการอันมืดหม่นของเด็กสาว เพื่อหลีกหนีความโหดร้ายในชีวิตจริง, นี่ไม่ใช่หนังที่เหมาะกับเด็ก ผู้ใหญ่ดูแล้วควรระลึกว่าโลกที่พวกเราสร้าง ทุกสิ่งที่เราแสดงออก มีอิทธิพลต่อจินตนาการของเด็กเสมอ

ผมมีความสนใจหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่ที่เห็นตัวอย่างหนังครั้งแรก เทพนิยายที่ไม่เหมาะกับเด็ก ภาพสวย เพลงเพราะ การออกแบบโดยเฉพาะสัตว์เทพนิยายดูหลอนน่ากลัว ราวกับอยู่ในฝันร้าย, เข้าฉายในโรงหนังปี 2006 ดูจบออกมาก็แบบว่าอิ่มมาก นี่เป็นหนังที่มีความเพลิดเพลินและสะท้อนโลกความเป็นจริงที่โหดร้าย ความเข้าใจตอนนั้น คิดว่านี่เป็นหนังแฟนตาซีจริงๆ สิ่งที่เด็กหญิงได้พบเจอคือโลกอีกใบหนึ่งที่เธอเป็นเจ้าหญิงพลัดหลงขึ้นมา และกำลังหาทางกลับไปยังโลกของเธอ, การดูหนังครั้งนี้ทำผมน้ำลายฟูมปาก อะไรกัน! สิ่งที่เคยเข้าใจมาทั้งหมดได้พังทลายล่มสลาย หนังเรื่องนี้มันไม่ใช่แฟนตาซีเลยสักนิดแต่เป็นจินตนาการ และเรื่องราวทั้งหมดคือภาพความฝันที่เกิดขึ้นในหัวของเด็กหญิงเพียงคนเดียว!

เตือนไว้ก่อนว่า หนังเรื่องนี้มันมีความรุนแรงมากๆ เชื่อว่าต้องมีคนที่ดูแล้วทนไม่ได้ ก็อย่าฝืนนะครับ จะนอนไม่หลับเปล่าๆ, เมื่อสิบปีก่อน ผมเป็นคนที่เสพย์ติดความรุนแรงมากๆ Pan’s Labyrinth เคยติด 1 ใน 10 หนังโปรดของผมด้วย นั่นก่อนที่จะได้ดู Seven Samurai, It’s a wonderful Life. ฯ เสียอีก ซึ่งตอนนั้นหนังเรื่องโปรดของผมคือ The Deer Hunter ที่ถือว่ามีความรุนแรงสุดๆ, ปัจจุบันโตขึ้น ก็เริ่มเข้าใจว่าความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่มีค่าอะไรเลย แต่ที่ผมยังคงชอบหนังเรื่องนี้อยู่ เพราะมีส่วนผสมของความแฟนตาซีที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดให้กลายเป็นความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ทำให้ความรุนแรงลดลง กระนั้นหนังก็ยังรุนแรงอยู่นะครับ อย่าเผลอเปิดให้เด็กดูเด็ดขาดเลยละ!

Guillermo del Toro ผู้กำกับสัญชาติ Mexican พูดภาษาสเปนได้ (แน่ละ Mexico พูดสเปนเป็นภาษาหลัก) มีความชื่นชอบในเรื่องราวเทพนิยาย (fairy tales), สยองขวัญ (horror) และชอบสัตว์ประหลาด (monster), ก่อนหน้าหนังเรื่องนี้ Del Toro เคยกำกับหนังที่เป็นสัญชาติสเปน The Devil’s Backbone (2001) ที่ถือว่าเป็นปฐมบทเริ่มต้นก่อนสร้างหนังเรื่องนี้, Del Toro เริ่มมีชื่อใน hollywood จาก Blade II (2002) และ Hellboy (2004) ก่อนจะมากำกับ Masterpiece เรื่องนี้

El Laberinto del Fauno ชื่อหนังภาษาสเปน แปลอังกฤษได้ว่า The Labyrinth of the Faun เขาวงกตของฟอน จริงๆชื่อนี้ใช้ฉายแปะหน้าหนังทั่วโลกนะครับ มีแค่อเมริกาและยุโรปบางประเทศเท่านั้นที่ใช้ Pan’s Labyrinth (น่าจะในไทยด้วยนะ), Pan กับ Faun ถือว่าเป็นคู่เหมือนกัน แต่มาจากต่างตำนาน, Faun คือเทพลูกครึ่งระหว่างคนกับแพะในตำนานโรมัน ส่วน Pan เป็นเซเทอร์ (Satyr) มีเขาเป็นแพะและขาเป็นมนุษย์ในตำนานกรีก, เห็นว่าเหตุที่ใช้ Pan ในบางประเทศเพราะชื่อมันสั้นกว่า เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัด แต่ที่ผู้กำกับไม่อยากใช้เพราะไม่อยากให้ผู้ชมสับสน และ Pan มีความเจ้าชู้ประตูดิน กับเด็กหญิง 8 ขวบ (ในหนังเหมือน Pan พยายามล่อลวงให้เด็กหญิงทำตามคำขอของเขา) ซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างมาก, สำหรับชื่อไทยคือ อัศจรรย์แดนฝัน มหัศจรรย์เขาวงกต

หลังจากสร้าง Hellboy เสร็จฉายในปี 2004 เขาก็เริ่มวางแผนทำหนังเรื่องต่อไป, เริ่มแรก Del Toro วางโครงเรื่องไว้เกี่ยวกับหญิงสาวท้องแก่ที่ได้พบกับ Faun ในเขาวงกต ได้ตกหลุมรักและตัดสินใจเสียสละลูกให้กับ Faun เพื่อว่าทั้งสองจะได้อยู่ด้วยกันในชาติภพถัดไป โชคดีที่ Del Toro ทิ้งแนวคิดนี้ เขาบอกว่า ‘นี่เป็นเรื่องราวที่น่าตกตะลึงมาก’ (It was a shocking tale.), Del Toro ใช้เวลาปรับปรุงบทหนังอยู่ปีครึ่ง รวบรวมแนวคิดจากไดอารี่ที่เริ่มเขียนตั้งแต่ปี 1993 หนึ่งในแรงบันดาลใจมาจากวัยเด็กที่เขาชอบตื่นขึ้นมาดู The Charlie Rose Show (ฉายตอนเที่ยงคืน) และนาฬิกาไขลานของปู่ทวด ตอนเที่ยงคืนจะมีตัว Faun ปรากฏออกมาเสมอ

พื้นหลังของหนัง ดำเนินเรื่องหลังสงครามกลางเมืองของสเปน (post-Civil War Spain) ในปี 1944 เมื่อผู้นำจอมเผด็จการ Francisco Franco ขึ้นมามีอำนาจ, วิธีการที่ Franco ปกครองประเทศคือยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ และใช้ความรุนแรงระดับตาต่อตาฟันต่อฟัน ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว ทำให้มีกลุ่มผู้ต่อต้านเกิดขึ้นมากมาย

Ivana Baquero รับบท Ofelia หรือ Princess Moanna เด็กหญิงที่เชื่อว่าตัวเองเป็นเจ้าหญิงกลับชาติมาเกิด, Del Toroให้สัมภาษณ์ว่าเขารู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการคัดเลือกนักแสดงมาก เพราะต้องหาเด็กหญิงอายุ 8-9 ปีที่สามารถพูดภาษาสเปนได้คล่องแคล่วและต้องเตรียมตัวเธอเป็นอย่างดีก่อนแสดงเพื่อไม่ให้เสียเด็ก, ตอนที่ Baquero มาคัดตัวนักแสดง เธออายุ 10 ขวบแล้ว (ตอนเริ่มถ่ายทำ Baquero อายุ 11) แม้จะเกิดอายุที่ต้องการ แต่ด้วยทรงผมม้วนหยัก (curly hair) ที่ตรงกับจินตนาการของ Del Toro และตอนที่เด็กหญิงอ่านบททดสอบ ทำให้ภรรยาของ Del Toro ตื้นตันจนร้องไห้ออกมา เขารู้เลยว่าต้องเลือกเธอนี่แหละ จึงทำการเปลี่ยนแปลงบทเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับอายุของเธอ, Baquero บอกว่า Del Toro ส่งหนังสือการ์ตูนและนิยายแฟนตาซี เทพนิยาย (Fairy Tales) ให้เธอจำนวนมาก เพื่ออ่านศึกษาทำความเข้าใจความรู้สึกของ Ofelia, ถึงหนังจะจัดเรต R แต่เธอก็สามารถเข้าไปดูหนังรอบปฐมทัศน์ได้นะครับ (ไม่เหมือน Romeo and Juliet-1968 ที่ Olivia Hussey ไม่สามารถดูหนังที่ตัวเองเล่นได้เพราะอายุไม่ถึง 17)

Sergi López นักแสดงสัญชาติสเปนรับบท Captain Vidal พ่อเลี้ยงของ Ofelia และเป็น Falange officer, Del Toro พบกับ López ใน Barcelona ก่อนที่หนังจะเริ่มถ่ายหนังปีครึ่ง และขอให้เขารับบท Vidal, ในสเปน López เป็นนักแสดง melodrama และ comedy ซึ่งโปรดิวเซอร์ขอให้ Del Toro ทบทวนการตัดสินใจ เพราะไม่คิดว่า López จะเหมาะสมกับบท แต่ Del Toro บอกเขารู้แต่ไม่แคร์, López ให้สัมภาษณ์บอกว่า ตัวละครนี้ถือว่าชั่วร้ายที่สุดตั้งแต่ที่เขาเคยเล่นมา แทบไม่มีอะไรต้องเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย บทหนังของ Del Toro ถือว่าสมบูรณ์แบบมากๆ ทำให้เขาสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างโหดเหี้ยม ชั่วร้าย ลบคำสบประมาทได้ทุกประการ, ตัวละคร Vidal จะเรียกว่าเป็นคนโรคจิต (psychopath) ก็ยังได้ เพราะเขามีแนวคิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน ไม่ประณีประณอม คิดจริงจัง เอาจริงเอาจังทุกอย่าง, มีคนวิเคราะห์ว่าความโหดร้ายและบ้าคลั่งของเขา อาจมีสาเหตุจากที่ต้องการปกปิดความอ่อนแอของตัวเอง เพราะพ่อที่เสียชีวิตอย่างไร้ค่า ทำให้เขารู้สึกอับอายขายหน้า กลายเป็นปมที่ทำให้ตัวเองต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นได้มากกว่าและยิ่งใหญ่กว่าพ่อ

ตัวละคร Ophelia มองได้ว่าเป็นตรงข้ามกับ Vidal เธอไม่อยากมีพ่อเลี้ยง และรู้สึกว่าเขาเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เธอต้องมาทนทุกข์ลำบาก จึงปฏิเสธเขาในทุกกรณี, การแสดงของ Baquero มีมิติมาก เธอเห็นเด็กหญิงที่เก็บกด อมทุกข์ ซึมเศร้า แต่เวลาที่เธออยู่ในจินตนาการความฝัน กลับเป็นเด็กหญิงที่สนุกสนานร่าเริง แก่นกล้า ว่าไปทรงผมหยักม้วนของเธอ น่าจะแสดงถึงความพิศวงของหญิงสาว ที่เปรียบได้กับคนสองโลก ตัวของเธออยู่ตรงนี้ แต่ใจของเธอไม่รู้อยู่ไหน

แม่ รับบทโดย Ariadna Gil (เธอเป็นราชินีโผล่มาตอนท้ายด้วยนะครับ) เด็กหญิงย่อมไม่เข้าใจกับความโหดร้ายของโลก, หลังจากที่เสียสามีไป ชีวิตของเธอย่อมต้องทนทุกข์ลำบาก ทำงานตัวคนเดียวเพื่อเลี้ยงลูก มันทำให้เธอท้อแท้สิ้นหวัง การได้พบรักใหม่กับชายคนที่มีฐานะ ย่อมทำให้ชีวิตของเธอและลูกดีขึ้น นี่จึงทำให้เธอตัดสินใจแต่งงาน, เราอย่าไปมองว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ไม่ดีนะครับ แม่ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกมีความสุข แต่เด็กมักไม่สนใจว่าแม่มีความสุขหรือเปล่า นี่ทำให้บางครั้งคนเป็นแม่ก็ต้องแสดงการเห็นแก่ตัวบ้าง, โลกที่พวกเธออยู่ถือว่าโชคร้ายจริงๆ ถ้าพวกเธอเกิดในโลกที่ดีกว่าดี ปัญหาต่างๆคงไม่เกิดขึ้น, ความไม่เป็นสุขของลูก ทำให้แม่เกิดความเครียดหนัก เธอโทษตัวเองกับการตัดสินใจนี้ นั่นทำให้เธอตายท้องกลม

Doug Jones ในหนังเรื่องนี้เรายังคงไม่ได้เห็นหน้าเขาเต็มๆ รับบท Faun และ Pale Man, สำหรับ Faun คือสัตว์ในโลกแฟนตาซีที่นำทาง Ofelia ให้กลับสู่โลกของเธอ, ส่วน Pale Man คือสัตว์ประหลาดที่โหดเหี้ยมทารุณ กินเด็กเป็นอาหาร, Jones ที่เพิ่มร่วมงานกับ Del Toro ใน Hellboy วันหนึ่งได้รับ email ร้องขอจาก Del Toro ให้แสดงหนังเรื่องนี้ แต่ Jones บอกว่าเขาพูดสเปนไม่ได้ ว่าจะบอกปัดแต่พอได้อ่านบทก็ตอบตกลง ซึ่งทีแรก Del Toro แนะนำจะใช้การพากย์เสียงทับ แต่ Jones ตัดสินใจเรียนภาษาสเปนและใช้เวลาขณะแต่งหน้าเพื่อท่องบท (เห็นว่าวันๆหนึ่ง Jones ใช้เวลาแต่งหน้าเข้าฉาก 5 ชั่วโมง) แต่เพราะสำเนียงไม่ได้เรียนรู้กันง่ายๆ สุดท้ายแล้ว Del Toro ก็ให้คนอื่น (Pablo Adán) พากย์เสียงแทนเขา, การให้ Jones เล่น 2 บทมีความในแฝงด้วยนะครับ (จริงๆ 3 บท รวมกบยักษ์ด้วย) เพราะ Pale Man สามารถมองได้เป็น Faun ในอีกรูปแบบหนึ่ง

Faun เป็นตัวละครที่ชี้แนะนำแนวทาง แต่ไม่ใช่คนที่ตัดสินใจ บางครั้งเสนอในสิ่งที่ดี บางครั้งเสนอในสิ่งไม่ดี ใจความสำคัญหลักของหนังคือการเลือก คนที่ตัดสินใจคือ Ofelia ‘หญิงสาวที่มีตัดสินใจแย้งกับทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้นจิตใจของเธอ’ (a girl who needs to disobey anything except her own soul.)

วิธีการวิเคราะห์ตีความของหนังเรื่องนี้ อาจจะต้องคิดเยอะสักหน่อย เพราะเป็นการสะท้อนภาพเหตุการณ์ที่ Ofelia ประสบพบเห็นในชีวิตจริง (Reality) แปรสภาพกลายเป็นจินตนาการ (Fantasy) ที่มาจากจิตใต้สำนึก (Conscience) ลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกับ Mulholland Dr. (2001) มากๆ ที่ความฝันสะท้อนมาจากโลกความจริง ถ้าคุณสามารถจับจุดสำคัญของแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกจริงได้ ก็จะสามารถเอามาเปรียบเทียบกับจุดสำคัญในช่วงแฟนตาซีที่เกิดขึ้นได้

ผมจะชี้ให้เห็นถึงการทดสอบทั้ง 3 ก่อน บทวิเคราะห์นี้นี่ผมดัดแปลง ลอกเลียนมาจาก blog ของคนไทยที่ได้วิเคราะห์หนังเรื่องไว้ดีแล้วนะครับ และทิ้ง reference ไว้ให้แล้วตอนท้ายนะครับ

  1. การทดสอบความกล้า, เอาหินสามก้อน (ที่ต้อง 3 ก้อนคงสะท้อนกับการทดสอบ 3 อย่าง) ใส่เข้าในปากคางคกยักษ์ที่อาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ และเอากุญแจทองคำออกมาจากท้องของมัน
  2. การทดสอบความยับยั้งชั่งใจ, เดินเข้าไปในห้องๆ หนึ่งที่มีปีศาจน่ากลัวอยู่ เข้าไปข้างในไขกุญแจตู้ เพื่อเอากริชทองออกมา โดยระหว่างทางต้องไม่แตะต้องหรือกินอาหารที่วางอยู่
  3. การทดสอบศีลธรรมความดีงาม และการเสียสละ, ขโมยน้องชาย ไปมอบให้ฟอนเพื่อให้ทำพิธีสังเวย จะได้กลับคืนสู่โลกของเธอ

การทดสอบทั้ง 3 นี้ ล้วนเป็นภาพแฟนตาซีที่สะท้อนเหตุการณ์จริงทั้งหมด

  1. การที่ Ofelia ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย สิ่งแรกที่จะทำให้เธออยู่รอดได้ คือความกล้า ต่อสู้กับสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย กบยักษ์=Captain Vidal, กุญแจคือสิ่งที่ไขสู่ห้องเก็บของ จะว่าคือหัวใจของการต่อสู้ เอาชีวิตรอด
  2. หลังจากเสร็จการทดสอบแรก Ofelia ถูกลงโทษโดยให้อดอาหารเย็น จิตใต้สำนึกของเธอย่อมปรารถนาที่จะกิน (Ego) แต่บางสิ่งบางอย่างหักห้ามใจไว้ (SuperEgo) ในจินตนาการจึงสร้างของกินขึ้นมา และเธอไม่สามารถห้ามใจตัวเองได้, Pale Man ในบริบทนี้จะมองเห็นเป็น SuperEgo ที่วิ่งไล่ตักเตือน Ego บอกว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
  3. เราได้ Captain Vidal พูดกับหมอว่า ‘หากการตั้งครรภ์มีปัญหา ให้เลือกให้ลูกรอดก่อนแม่’ ภารกิจนี้จึงแสดงถึงความปรารถนาลึกๆของ Ofelia ที่เป็นการต่อสู้กันภายในจิตใจ ระหว่างความปรารถนาอันรุนแรนชั่วร้าย (แทนด้วย Faun) กับศีลธรรมอันดีงามของเธอ (แทนด้วยตนเอง) ซึ่งสุดท้ายเธอเลือกทำตามศีลธรรมของตัวเอง

เกร็ด: Del Toro ให้สาเหตุที่ทุกอย่างในหนังประกอบมี 3 อย่าง เพราะเขาอ่านเจอในนิยายสักเรื่อง (ไม่รู้อาละดินหรือเปล่า ที่ขอพรได้ 3 ข้อ) ซึ่งเขาสร้างกฎของสามของเทพนิยาย (rule of three) อาทิ ประตู 3 บาท, กฎ 3 ข้อ, Faries 3 ตัว, บัลลังก์ 3 แท่นฯ

เราสามารถวิเคราะห์หนังเรื่องนี้ในแง่มุมอื่นได้ด้วยนะครับ เช่น ด้านการเมือง นี่เป็นหนังที่โจมตีระบอบเผด็จการและการกดขี่ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะ Captain Vidal ที่คือเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ, ในด้านของศาสนา ภารกิจสามประการของ Ofelia เปรียบได้กับวิถีของพระเยซู เริ่มจากการอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากและสิ่งไม่พึงปรารถนา, การอดทนต่อสิ่งยั่วยุ และการเสียสละเพื่อไถ่บาปแก่ปวงชน, นอกจากนี้ การที่ Ofelia ฝืนข้อห้ามของไปกินองุ่นของ Pale Man อาจเปรียบได้กับการที่ EVE ไม่เชื่อฟังพระเจ้า แอบกินผลไม้แห่งปัญญา กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความตกต่ำและบาปของมนุษย์ทั้งมวล

ผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu ดูหนังเรื่องนี้ พูดในทำนองที่ว่า นี่เป็นหนัง Catholic (a truly Catholic film) และ Del Toro เสริมว่า ‘คนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น Catholic ก็จะเป็น Catholic ตลอดไป’ (once a Catholic, always a Catholic) แต่เขาก็มีความไม่พอใจในการกระทำบางอย่างของ Catholic Church จึงได้สร้าง Pale Man ให้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของ Fascism ที่มีผิวสีซีดขาว (แสดงถึงชุดบาทหลวง) ทำการล้างสมอง (กินเด็ก) ด้วยการทำให้หลงเชื่อและทำตามโดยอ้างว่าเป็นประสงค์ของพระเจ้า (The Pale Man represents fascism and the church eating the children when they have a perversely abundant banquet in front of them.), ต้นแบบแรงบันดาลใจของ Pale Man มาจากภาพ Saturn Devouring His Sons วาดโดย Francisco Goya เป็นภาพจำลองเหตุการณ์ตอนที่ Cronos (หรือ Saturn ตามตำนานโรมัน) กำลังกินลูกตัวเองที่เพิ่งคลอดออกมาใหม่ๆ เพื่อป้องกันคำสาปของ Gia ที่ว่าจะโดนตนจะโดนลูกโค่นบัลลังก์ (ซึ่งภายหลัง Cronos ก็โดนโค่นบัลลังก์จริงๆ โดยลูกชายชื่อ Zeus)

reference :
– http://povolam.exteen.com/20070511/pan-s-labyrinth
– http://likejatyle.blogspot.com/2012/01/pans-labyrinth-2006.html

ถ่ายภาพโดย Guillermo Navarro, นี่เป็นเหตุผลแรกที่ผมหลงรักหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่ตอนที่ได้อยู่ตัวอย่างหนัง ไม่เคยเห็นหนังเรื่องไหนที่การถ่ายภาพทำได้ลื่นไหลขนาดนี้ แต่ไม่ใช่การถ่ายภาพนะ การตัดต่อโดย Bernat Vilaplana ยังมีลูกเล่นที่ช่วงรอยต่อ แทนที่จะใช้การตัดภาพ แต่ใช้มุมกล้องจากการเคลื่อนไหวผ่านต้นไม้ ให้อีกภาพหนึ่งเลื่อนเข้ามา (ราวกับว่ามี 2 ภาพเกิดขึ้นพร้อมกัน), การเปลี่ยนภาพ (Transition) ดูกี่ทีมันยังทำให้ผมอึ้งทึ่ง เพราะรู้สึกเหมือนภาพหนังไหลต่อเนื่องกันราวสายน้ำที่ไหลกระทบก้อนหินแล้วเปลี่ยนทิศแต่ไม่หยุดไหล, ประกอบกับเพลงของ Javier Navarrete โดยเฉพาะเสียงฮัมเพลง มีความไพเราะ โหยหวนราวกับอยู่ในโลกเวทย์มนต์

เกร็ด: subtitle ภาษาอังกฤษนั้นเป็น Del Toro แปลเองกับมือนะครับ เพราะเขาพูดอังกฤษได้ และเป็นคนเขียนบทภาษาสเปน ดังนั้นใครอ่านภาษาอังกฤษได้ รับรองว่าอรรถรสไม่เปลี่ยนแน่นอน เพราะผู้กำกับแปลเองกับมือ

Oscar ต้องยก Best Cinematography ให้ Guillermo Navarro ไปครอบครองเลยนะครับ ถ้าไม่ได้ถือว่า Oscar ใจร้ายมากๆ, กับหนังเรื่องนี้ การเซตฉากต้องถือว่าออกแบบเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวกล้องได้อย่างไหลลื่นและต่อเนื่อง, สังเกตว่า เวลาถ่าย Ofelia งานภาพจะโทนสีส้มๆ แดงอ่อน เป็นสีอบอุ่น ส่วนถ้าเป็น Captain Vidal จะมีโทนสีน้ำเงิน เข้มๆ หดหู่ เป็นสีเย็นยะเยือก

การตัดต่อ ใช้การสลับไปมา จริงๆแล้วควรมีแค่ 2 มุมมองคือ Ofelia และ Captain Vidal แต่ผมสังเกตเห็นมีอยู่ครั้งสองครั้งที่เป็นมุมมองของ Mercedes, ถ้านึกไม่ออกก็ ตอนที่เธอพาหมอไปรักษาหนึ่งในกลุ่มผู้ต่อต้าน ฉากนี้ผมไม่แน่ใจ Ofelia แอบตามเธอไปด้วยหรือเปล่า แต่การตัดขาของผู้ป่วย ในฝันของ Ofelia เปรียบได้กับตอนที่เธอถูก Pale Man จับขาขณะปีนหนีขึ้นเพดาน

สำหรับเพลงประกอบ Javier Navrrete สร้างทำนองขึ้นจาก Lullaby กลายเป็นเสียงฮัม และเป็นท่อนหลักที่จะได้ยินประกอบหนังตลอดทั้งเรื่อง เป็นทำนองที่มีความโหยหวน ปนเศร้า กับการออกแบบภาพของหนัง ถือว่าเข้ากันได้อย่างพิลึก ซากปรักหักพังของเขาวงกตที่ถูกเถาวัลย์รากไม้ขึ้นโยงรัด ความอึมครึม อึดอัด นี่ไม่ใช่เพลงกล่อมลูกน้อยเข้านอนแน่ๆ แต่เป็นเพลงของแม่ที่กำลังทนทุกข์ทรมาน อาจจะการจากไปของลูก หรือความทรมานที่เกิดจากการเลี้ยงดูลูกด้วยตัวคนเดียว ฟังแล้วหดหู่ ราวกับคนกำลังจะขาดใจ, บรรยากาศ Dark Fantasy นี่เป็นบทเพลงที่ฟังครั้งเดียวสามารถฮัมตามได้ทันที

ตอนจบ Ofelia ได้กลับไปอาณาจักรของเธอไหม? นี่เป็นคำถามที่น่าพิศวงมากๆ เพราะต้องถามก่อนว่า คุณเห็นหนังเรื่องนี้เป็นยังไง
1) ถ้าคุณเห็นหนังเป็นแฟนตาซี ใช่ครับเธอได้กลับไปในอาณาจักรของเธอ มีฉากพระราชา ราชินี (แม่) และ Faun ที่มาต้อนรับเธอ นี่เป็นโลกที่มีแต่จิตวิญญาณดีเท่านั้นถึงจะไปถึงได้ เพราะการที่เธอตัดสินใจไม่เสียสละน้องชาย ซึ่งถือเป็นการทดสอบสุดท้าย แสดงถึงจิตใจอันดีของเธอ … จบ Happy Ending
2) ถ้าคุณเห็นหนังเป็นจินตนาการของเด็กน้อย อาณาจักรที่เธอกลับไปก็คือภาพความฝันของเธอล้วนๆ ที่สะท้อนถึงคุณธรรมของตัวเองที่ยิ่งใหญ่ ต่อการไม่เสียสละน้องชาย, ในโลกจริงเธอถูกยิงเสียชีวิต นี่ถือเป็นตอนจบที่น่าเศร้า แต่เธอยิ้มก่อนตายนะครับ เพราะรู้ว่าตัวเองจะไม่ต้องทนอยู่ในโลกความจริงที่โหดร้ายนี้ต่อไปแล้ว … จบ Sad Ending

ภาพรวมหนังอาจจะไม่ได้มีข้อคิดอะไรที่ดีเลิศ แต่หนังสะท้อนภาพเหตุการณ์ของสงคราม การต่อสู้ ซึ่งกับคนที่เข้าใจประวัติศาสตร์สเปน หรือเคยอ่านที่ผมเขียนรีวิวเรื่อง The Spirit of Beehive ก็จะเห็นพื้นหลังที่ถือว่าแทบจะคือใจความเดียวกันเลย, หนังแนว Dark Fantasy ‘ที่ดี’ จักต้องตีแผ่ด้านมืดของสังคม กับภัยที่คุกคามชีวิตมนุษย์ ปัจจุบันสงคราม, Fascism, กลุ่มกบฎ ฯ เหล่านี้ถือว่าล้าสมัยแล้ว เราจึงสามารถมองเปรียบเทียบได้กับภัยต่างๆ อาทิ ความอดอยาก, ความยากจน, ยาเสพติด, การทะเลาะวิวาท, ความมั่วเมาลุ่มหลง ฯ นี่สะท้อนด้านมืดในใจของผู้กำกับด้วยนะครับ เพราะวัยเด็กเขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมลักษณะแบบนี้ ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่ชีวิตยังมีโอกาส ไม่ได้มืดหม่นระดับเดียวกับที่ตัวละครในหนังเป็น

หนังได้รับการพูดถึง เปรียบเทียบกับหนังแฟนตาซีที่ออกฉายใกล้ๆกันอย่าง The Chronicles of Narnia (เห็นว่า Disney เคยยื่นข้อเสนอให้ Del Toro กำกับด้วยนะครับ), Labyrinth (1986), Mirrormask (2005), Spirited Away (2001) และ Bridge to Terabithia (2007) เรื่องพวกนี้ส่วนใหญ่สดใสกว่าทั้งนั้นนะครับ, ถ้าในแง่ความมืดหม่น ผมแนะนำ La belle et la bête (1946) [ฺBeauty and the Beast] ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังโปรดของ Del Toro ด้วย

ตอนหนังฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับการยืนปรบมือ (Stand Ovation) มีคนจับเวลา 22 นาที นานที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Cannes เลยนะครับ, ด้านทุนสร้าง $19 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $37.6 ล้านเหรียญ และทั่วโลก $83.2, เข้าชิง 6 สาขา Oscar ได้มา 3 จาก Best Art Direction, Best Cinematography และ Best Makeup ส่วนสาขาที่พลาด Best Foreign Language Film, Best Original Screenplay และ Best Original Score

ถึงหนังมีเด็กหญิงเป็นตัวละครนำ แต่นี่ไม่ใช่หนังที่เหมาะแก่เด็กแม้แต่น้อย ผู้ใหญ่ที่เผลอเอาหนังเรื่องนี้ให้เด็กดูน่าจะต้องพิจารณาตัวเองให้มากๆนะครับ ว่าคุณเหมาะสมกับการเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ใหญ่หรือเปล่า, นี่เป็นหนังที่สะท้อนภาพของผู้ใหญ่ล้วนๆเลย บอกว่าอย่าทำให้โลกใบนี้ที่พวกเราใช้ชีวิตอยู่ ให้มีความมืดมน บัดซบ สังคมที่ชั่วร้าย จะชักนำคนรุ่นต่อๆไป ลูกหลาน ให้กลายเป็นคนที่หนีออกจากโลก โตขึ้นถ้าเขาไม่เลวร้ายไปกว่าเรา ก็จะกลายเป็นคนบ้าโรคจิต ใครกันที่จะเยียวยาพวกเขาเหล่านี้

แนะนำกับคนที่ชอบหนังแนวแฟนตาซีแบบมืดหม่น เลือดสาด, คนที่ชอบดูหนังแนวสะท้อนชีวิต สะท้อนสังคม, นักจิตวิทยา จิตวิเคราะห์ คนชอบวิเคราะห์เรื่องราว สัญลักษณ์ ฯ หนังเต็มไปด้วยเทคนิคที่สวยงามตระการตา เหมาะกับคนทำงานสายภาพยนตร์ควรต้องศึกษาเรียนรู้, ว่าไปหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นผลงานที่ดีที่สุดของ Guillermo del Toro แล้วละ

จัดเรต 18+ กับความรุนแรง เลือดสาด และการหนีโลก

TAGLINE | “Pan’s Labyrinth โดยผู้กำกับ Guillermo del Toro คือหนังเทพนิยาย แฟนตาซี ที่ดีที่สุดในโลก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORI 

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: