Paper Moon

Paper Moon (1973) hollywood : Peter Bogdanovich ♥♥♥♡

ก็ไม่รู้ว่าใช่พ่อหรือเปล่า แต่เด็กหญิงสาวเมื่อสนิทชิดเชื้อ ไว้เนื้อวางใจกับใครแล้ว เขาผู้นั้นจำต้องรับผิดชอบต่อให้ถึงที่สุด, ภาพยนตร์แนว Comedy-Drama ชักชวนให้หวนระลึกถึงยุคสมัย Depression Era และ Tatum O’Neal กลายเป็นนักแสดงอายุน้อยสุดคว้า Oscar: Best Supporting Actress

นักวิจารณ์ให้คำนิยามภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนผสมสไตล์ Hawksian (Howard Hawks) และ Fordian (John Ford) โดยแรงบันดาลใจหลักๆมาจาก Little Miss Marker (1934) นำแสดงโดย Shirley Temple มุ่งเน้นขายความสามารถของเธอโดยเฉพาะ

แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าหนังค่อนข้างจะ ‘เกินเด็ก’ ไปเสียหน่อย อายุยังน้อยแต่แสดงออกกร้านโลกขนาดนี้ แทบไม่อยากจินตนาการถึงอนาคตเมื่อเติบโตขึ้น จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ ผมเลยมอง Paper Moon เพียงความบันเทิงเริงรมณ์สำหรับผู้ใหญ่ มอบสัมผัส ‘Nostalgia’ ให้กับคนที่หลงใหลคลั่งไคล้ภาพยนตร์ยุคคลาสสิก คล้ายๆหลายผลงานก่อนหน้าของ Peter Bogdanovich อาทิ The Last Picture Show (1971), What’s Up, Doc? (1972) หวนระลึกถึงอดีตวันวาน อันหอมหวานคุกรุ่น

ต้นฉบับของ Paper Moon คือนวนิยาย Addie Pray (1971) แต่งโดย Joe David Brown (1915 – 1976) นักเขียน/นักข่าว สัญชาติอเมริกัน โดยก่อนหน้านี้มีอีกสองผลงานหนึ่งได้รับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วคือ Stars In My Crown และ Kings Go Forth

แรกสุดนั้น ผู้กำกับที่ให้ความสนใจดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้คือ John Huston ซึ่งก็ได้วางตัว Paul Newman และลูกสาวให้รับบทนำ แต่ไปๆมาเมื่อผู้กำกับถอนตัว นักแสดงนำเลยบอกปัดบทบาทด้วยอีกคน ต่อมาเป็น Peter Bogdanovich เพิ่งเสร็จสิ้นจาก What’s Up, Doc? ขณะกำลังมองหาโปรเจคใหม่ ได้รับคำแนะนำจากภรรยาขณะนั้น Polly Platt อ่านหนังสือแล้วเกิดความชื่นชอบหลงใหล ตัดสินใจเลือกสร้างเป็นผลงานลำดับต่อมา

Peter Bogdanovich (เกิดปี 1939) นักแสดง/ผู้กำกับ นักวิจารณ์ สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Kingston, New York ในครอบครัวเชื้อสาย Jews พ่อ-แม่อพยพสู่อเมริกาก่อนหน้าเขาเกิดเพียงไม่กี่เดือน โตขึ้นเรียนจบทำงานเป็นนักวิจารณ์ เขียนหนังสือยกย่อง Orson Welles, Howard Hawks, Alfred Hitchcock ฯ เดินตามรอยเท้า French New Wave ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ เริ่มจาก Targets (1968), Voyage to the Planet of Prehistoric Women (1968), สารคดี Directed by John Ford (1971), แจ้งเกิดโด่งดังกับ The Last Picture Show (1971), ผลงานเด่นตามมา อาทิ What’s Up, Doc? (1972), Paper Moon (1973), Daisy Miller (1974), Saint Jack (1979) ฯ

มอบหมายหน้าที่ดัดแปลงบทให้กับ Alvin Sargent (เกิดปี 1927) นักเขียนยอดฝีมือที่เพิ่งสร้างชื่อให้ตนเองกับ I Walk the Line (1970) ก่อนต่อมาจะสามารถคว้า Oscar ได้สองครั้งจาก Julia (1977) และ Ordinary People (1980)

เรื่องราวของหนังมีการปรับเปลี่ยนแปลงจากนิยายไปพอสมควร นำมาเพียงครึ่งแรกของหนังสือ, อายุ Addie ลดจาก 12 มา 9 ปี (ให้เหมาะสมกับ Tatum O’Neal), พื้นหลังสถานที่ถ่ายทำ Alabama สู่ Kansas และ Missouri

Addie Loggins (รับบทโดย Tatum O’Neal) ได้สูญเสียแม่ที่รักยิ่ง ชีวิตไม่เคยล่วงรู้จักใครอื่น แต่ระหว่างพิธีฝังศพ จับพลัดจับพลูถูกผลักไสให้ไปกับชายแปลกหน้า Moses Pray (รับบทโดย Ryan O’Neal) ไม่ได้ขันอาสาแต่ถูกๆกึ่งบังคับให้พาไปส่งยัง St. Joseph, Missouri

Moses Pray คือนักต้มตุ๋น ‘Con Man’ หลอกลวงผู้อื่นด้วยการขายคัมภีร์ไบเบิ้ลปลอมในราคาสูงลิบลิ่ว ทีแรกก็ไม่ได้อยากนำพา Addie ไปส่งบ้านสักเท่าไหร่ แต่ถูกเธอบีบบังคับให้ชดใช้เงิน $200 เหรียญ ข้ออ้างไร้สาระที่พี่แกดันรับปากว่าจะใช้คืน ระหว่างออกเดินทางจึงเริ่มสนิทสนมชิดเชื้อ จากใครก็ไม่รู้กลายมาเป็นพ่อ นั่นทำให้เมื่อพวกเขาตอนเดินทางถึง St. Joseph เลยไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยินยอมร่ำจากลา

Charles Patrick Ryan O’Neal (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles ครอบครัวมีเชื้อสาย Irish-English โตขึ้นเข้าเรียน University High School ฝีกต่อมวยจนได้ Gloden Gloves ขึ้นชกมวยสากลสมัครเล่น สถิติชนะ 12 แพ้ 4 ครั้ง กระทั่งว่าได้รับเลือกเป็นนักแสดงซีรีย์โทรทัศน์ เลยเลิกต่อยมวยหันมาเอาดีด้านนี้แทน ภาพยนตร์สร้างชื่อคือ Love Story (1970), What’s Up, Doc? (1972), Paper Moon (1973), Barry Lyndon (1975), A Bridge Too Far (1977) ฯ

รับบท Moses ‘Moze’ Pray เป็นผู้ชายไม่เอาอ่าว พึ่งพาอะไรไม่ได้เสียเลย อาจเพราะยุคสมัย Depression Era ทำให้เขาพยายามต่อสู้ดิ้นรน ทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรมจรรยา และหลายครั้งกลายเป็น ‘Damsel-in-Distress’ ต้องให้เด็กหญิงสาวเปิดโลกทัศน์ตาสว่าง ถึงสามารถหนีรอดพ้นจากหายนะมาได้

แม้ O’Neal จะเคยร่วมงานกับ Bogdanovich เรื่อง What’s Up, Doc? แต่เป็นลูกสาวของเขาที่ทำให้ได้รับบทนี้ เพราะพูดคุยถูกคอผู้กำกับ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถแบกรับความเหน็ดเหนื่อยยากลำบากจากการทำงานได้แน่

“I wouldn’t have done the picture without (Tatum). The whole concept was such an interesting connection for Tatum and me. No father and daughter can connect with the intensity of a movie, and in a way, the story is a parallel of our lives”.

– Ryan O’Neal

O’Neal พยายามที่จะดิ้นให้หลุดจากภาพลักษณ์ ‘Typecast’ จากการแสดงเรื่อง Love Story พยายามตอบรับหลากหลายบทบาท แต่ก็มีเพียง Comedy/Romcom ที่พอไปวัดไปวาได้ นอกนั้นไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย คงด้วยภาพลักษณ์หล่อกระชากใจสาวๆ ขนาดเป็นพ่อคนแล้วยังดูดี (เหมือน Brad Pitt) ฝีมือความทุ่มเทก็ใช้ได้ โชคชะตามากกว่าทำให้ไม่โด่งดังไปมากกว่านี้

Tatum Beatrice O’Neal (เกิดปี 1963) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles เป็นลูกของ Ryan O’Neal กับ Joanna Moore แต่ทั้งสองหย่าเมื่อปี 1967 แล้วพ่อแต่งงานใหม่กับ Leigh Taylor-Young แล้วก็หย่าปี 1973

รับบท Addie Loggins เด็กหญิงสาว นิสัยแก่นแก้ว ก้าวร้าว หัวขบถ เอาแต่ใจ จอมวางแผน ความเฉลียวฉลาดของเธอช่วยเหลือ Moze ให้เอาตัวรอดจากหายนะหลายครั้ง กลายเป็นความสนิทสนมชิดเชื้อ คู่ขาเข้ากันดี ชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรอื่นนอกจากพ่อคนนี้

ว่ากันว่าแท้จริงแล้วการแสดงของ Tatum O’Neal ที่ออกมาจัดจ้าน สมจริงจังขนาดนี้ไม่ใช่เพราะความสามารถพิเศษ แต่คือการเล่นซ้ำๆ 30-40 เทค จนกว่าจะพึงพอใจผู้กำกับ ได้ครั้งยอดเยี่ยมดีที่สุดออกมา ขนาดว่ามีซีนหนึ่งที่เธอเถียงกับพ่อบอกว่าไบเบิ้ลหมด ถ่ายทำถึง 2 วันเต็มๆ 39 เทค (เพราะเป็นฉากที่ต้องขับรถผ่านเมือง ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ต้องหวนกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่)

หลังความสำเร็จอันล้นหลามของภาพยนตร์เรื่องนี้ Tatum O’Neal ก็มีผลงานตามมาอีกปริมาณหนึ่ง เคยเล่นหนังร่วมกับพ่ออีกครั้ง Nickelodeon (1976) ของผู้กำกับ Peter Bogdanovich แต่ขาดทุนย่อยยับไม่เป็นท่า หลังจากนั้นความสัมพันธ์พ่อ-ลูก ก็จมดิ่งย่อยยับลงไป โตขึ้นออกมากล่าวหาว่าถูกลวนลาม ใช้ความรุนแรง เครียดหนักจนติดยา ขณะที่ตัวเธอเคยถูกจับในข้อหาซื้อ-ขายโคเคน

สำหรับจอมแย่งซีนคือ Madeline Gail Kahn (1942 – 1999) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Boston, Massachusetts เป็นขาประจำของ Peter Bogdanovich และ Mel Brooks อาทิ What’s Up, Doc? (1972), Young Frankenstein (1974), High Anxiety (1977), History of the World, Part I (1981), เข้าชิง Oscar สองครั้งจาก Paper Moon (1973), Blazing Saddles (1974)

รับบท Trixie Delight นักเต้น ‘Exotic Dancer’ ที่คอยจ้องจับ หาเกาะกิน ปลิงผู้ชายมีเงิน สนองชีวิตอย่างเลิศหรูหรา ‘Exquisite’ ว่าจ้างคนใช้ผิวสี แต่กลับไม่เคยจ่ายค่าแรงสักแดงเดียว, วันหนึ่งหลงในคารมของ Moze ครุ่นคิดว่าคงเป็นคนมีเงิน (แต่ก็แค่โจรกระจอก) พอได้รับข้อเสนอประหลาดๆ แค่เพียง $25 ดอลลาร์ ก็พร้อมตะครุบใครก็ตามพร้อมจ่าย

ความพิลึกพิลั่น พูดสำเนียง ภาษาอะไร ฟังไม่ได้สดับ แต่ลวดลีลาพริ้วไหว แพรวพราว ภาพลักษณ์ของ Kahn ช่างดู ‘Exotic’ บ้าบอคอแตกเสียจริง แน่นอนว่าต้องได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress (ถ้าไม่ติดว่ามี Tatum O’Neal น่าจะถือว่าเป็นตัวเต็งเลยละ), ถือเป็นบทบาทที่สร้างสีสันให้กับหนังมากๆ (ทั้งๆถ่ายทำด้วยภาพขาว-ดำ) สามารถเรียกได้ว่าตัวร้าย ต้องการพลัดพรากพ่อไปจากลูกสาว นั่นทำให้เธอต้องครุ่นคิดวางแผนจัดการเอาคืน

ถ่ายภาพโดย László Kovács (1933 – 2007) ตากล้องสัญชาติ Hungarian ผลงานเด่น อาทิ Easy Rider (1969), Five Easy Pieces (1970), Paper Moon (1973), For Pete’s Sake (1974) ฯ

Bogdanovich ได้รับคำแนะนำจาก Orson Welles ให้เลือกถ่ายทำหนังด้วยฟีล์มขาว-ดำ เพื่อแทนถึงยุคสมัย Depression Era ช่วงทศวรรษ 30s และเพิ่มฟิลเลอร์กรองแสงสีแดงออก จะช่วยภาพมีความคมเข้มชัดขึ้นกว่าปกติ ผลลัพท์ออกมาคล้ายคลึงกับ The Grapes of Wrath (1940) อยู่ไม่น้อยทีเดียว

นอกจากทิวทัศนียภาพสวยๆระหว่างทาง หนังยังมีสอดแทรกลูกเล่น ‘Gimmick’ ถ้าใครสังเกตพบเห็น น่าจะสร้างความขบขัน เรียกเสียงหัวเราะได้มาก อาทิ

ป้ายด้านหลัง ‘Dream’ ความฝันสำหรับผู้ใหญ่ราคา 15 เซนต์ ของเด็ก 10 เซนต์,

ฉากนี้อาจดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ให้สังเกตจดจำรูปภาพของชายคนหนึ่ง น่าสงสัยทีเดียวว่าคือใคร?

อีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้สังเกต ข้างๆขวดโหลใส่ลูกกวาด มีซองใหญ่ๆรูปกระทิง ข้อความข้างใต้ Bull Durham ซึ่งคือยี่ห้อของยาสูบ/บุหรี่ชื่อดัง ถ้าคนขายหยิบผิดละก็ …

เกร็ด: บุหรี่ที่ Tatum O’Neal สร้างขึ้นพิเศษสำหรับใช้ในหนัง ไร้นิโคติน แต่ถึงสูบแล้วไม่ติด ก็ทำให้เธอสูบเป็นอยู่ดี –”

นี่เป็นฉากที่ตัวละคร Addie Loggins พบเห็นชายผู้ต้องสงสัยคนหนึ่ง รับรู้ต่อมาว่าคือคนขายเหล้าเถื่อน ‘bootlegger’ ซึ่งนิตยสารที่เด็กหญิงกำลังอ่านอยู่ CLUES หรือ Detective Stories แหม! เข้ากับช่วงเวลานี้เสียจริง

พอจะเข้าใจแล้วละว่ารูปภาพวาดของชายคนนี้คือใคร ดูแล้วน่าจะมีความสัมพันธ์ฉันท์ญาติมิตรกับ เจ้าของร้านขายของ, เจ้าหน้าที่ตำรวจ และชายที่พระเอกต่อยมวยแลกรถ อย่างแน่แท้

บทเพลง Forgotten (1922) แต่งโดย Eugene Cowless คงเป็นความรู้สึกของเด็กหญิงที่ไม่อยากหลงลืมทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จมปลักอาศัยอยู่บ้านหลังนี้ที่ไม่มีใครล่วงรู้จัก ด้วยเหตุนี้เธอจึง

วิ่งกระหอบกระหืด ชวนให้นึกถึง Charlie Chaplin ขึ้นมา

และช็อตสุดท้ายของหนัง หนทางมุ่งสู่อนาคตไร้จุดสิ้นสุด ดูแล้วคงได้แรงบันดาลใจจาก My Darling Clementine (1946) ของผู้กำกับ John Ford แน่ๆ (เป็นหนึ่งในผู้กำกับคนโปรดของ Bogdanovich)

ตัดต่อโดย Verna Fields (1918 – 1982) ผลงานเด่นๆ อาทิ What’s Up, Doc? (1972), American Graffiti (1973), Paper Moon (1973), Jaws (1975) ** คว้า Oscar: Best Film Editing ฯ

หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของเด็กหญิงสาว Addie Loggins สายตาของเธอ หลายๆครั้งจับจ้องมองพฤติกรรมของพ่อ แทบทั้งนั้นไม่ค่อยชื่นชอบพึงพอใจสักเท่าไหร่ แต่เพราะข้ออ้างติดเงิน $200 เหรียญ ทั้งคู่เลยต้องเกี่ยวควง ไปไหนไปด้วยติดตัวตามกันโดยตลอด

สำหรับบทเพลงประกอบถือว่าไม่มี ทั้งหมดล้วนคือ Diegetic Music ดังขึ้นจากวิทยุ ผับบาร์ หรืองานวัด/Carnival ซึ่งล้วนเป็นบทเพลงมีชื่อดัง แห่งทศวรรษ 30s

บทเพลงที่คือชื่อหนัง It’s Only a Paper Moon (1933) แต่งโดย Harold Arlen, เนื้อร้องโดย E.Y. Harburg และ Billy Rose, ขับร้องโดย Peggy Healy ร่วมกับ Paul Whiteman and Orchestra, ดั้งเดิมนั้นตั้งชื่อว่า If You Believed in Me ตั้งใจใช้ประกอบละครเวที Broadway เรื่อง The Great Magoo (1932) พื้นหลัง Coney Island แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ พอเปลี่ยนชื่อมาเป็น It’s Only a Paper Moon บันทึกเสียงครั้งแรกปี 1933 ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

Say, its only a paper moon
Sailing over a cardboard sea
But it wouldn’t be make-believe
If you believed in me

บทเพลง Ending Song ชื่อ Sunnyside Up (1929) แต่งโดย Ray Henderson, เนื้อร้องโดย Buddy G. DeSylva และ Lew Brown, ขับร้องโดย Frank Luther ร่วมกับ Johnny Hamp’s Kentucky Serenaders, ตอนกลางเรื่องจะได้ยินขับร้อบ Cappella โดย Tatum O’Neal

ดั้งเดิมของบทเพลงนี้ ประกอบหนังเพลงเรื่อง Sunny Side Up (1929) นำแสดงโดยคู่ขวัญ Janet Gaynor และ Charles Farrell

ผู้กำกับ Bogdanovich ไม่ชอบชื่อนิยาย Addie Pray แต่ก็ลังเลใจกับ Paper Moon นำความไปปรึกษา Orson Welles แค่เพียงได้ยินชื่อก็แสดงความเห็นแบบกวนๆ

“That title is so good, you shouldn’t even make the picture, just release the title!”

ความเพ้อฝันของเด็กหญิงสาว ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าพื้นที่ความทรงจำ ใครสักคนที่รู้จักมักคุ้น สนิทสนม พึ่งพากัน และขาดกันไม่ได้ หลังจากสูญเสียแม่ จัดพลัดพลูพบเจอกับ Moze พ่อแท้ๆหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ความสัมพันธ์แบบเกื้อกูล และข้ออ้างสุดแสนโง่งี่เง่า ทำให้ทั้งคู่มิอาจพลัดพรากแยกจาก

Paper Moon, ดวงจันทร์กระดาษ คือสิ่งสะท้อนความเพ้อฝันของเด็กหญิง แม้จับต้องไม่ได้ในโลกความจริง แต่แค่เพียงฝังลึกในความทรงจำของใครสักคน เท่านั้นก็เหลือเฟือมากเกินพอแล้ว

ยุคสมัย Depression Era ก็เฉกเช่นนี้ ผลกระทบจากสงครามโลก(ครั้งที่หนึ่ง) ทำให้คนจนมีชีวิตทุกข์ยากลำบาก ข้าวของเครื่องใช้ราคาพุ่งทะยานขึ้นสูง แล้วนี่ฉันจะสรรหาเงินที่ไหนมาเอาตัวรอดประทังชีพ ก่ออาชญากรรม ต้มตุ๋นเล็กๆ จึงคือหนึ่งในวิถีทางเลือกของผู้หนีปัญหา แต่ถามจริงๆเถอะ พ่อ-ลูกคู่นี้ คิดหรือว่าจะสามารถอยู่ด้วยกันได้นาน

ผมไม่แน่ใจครึ่งหลังของนวนิยาย Addie Pray ถ้าตอนจบไม่ลงเอยด้วย Moze ถูกจับติดคุก และ Addie เข้าสถานดัดสันดาน ก็แปลว่าผู้เขียน Joe David Brown ไม่ได้มีจิตสำนึกอันดี/รับผิดชอบสังคมต่อการแต่งเรื่องนี้ แค่นำเสนอความบันเทิงสะท้อนยุคสมัย หาสาระอะไรจับต้องไม่ได้ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าก็เท่านั้นเอง

ด้วยทุนสร้าง $2.5 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $30.9 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จล้นหลามแบบคาดไม่ถึง, เข้าชิง Oscar 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Supporting Actress (Tatum O’Neal) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actress (Madeline Kahn)
– Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium
– Best Sound

แม้ Tatum O’Neal จะคือเจ้าของรางวัล Oscar สาขาการแสดง อายุน้อยที่สุดวัย 10 ขวบ แต่ทั้งนั้น Shirley Temple เคยคว้ารางวัล Honorary Award เมื่อปี 1935 ขณะอายุเพียง 6 ขวบเท่านั้น!

ด้วยความสำเร็จของหนัง เลยมีความพยายามสร้างซีรีย์ Paper Moon (1974) นำแสดงโดย Christopher Connelly และ Jodie Foster (ในบท Addie) แต่เรตติ้งไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เลยออกฉายเพียงซีซันเดียว 13 ตอน

ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ แม้การแสดงของ Tatum O’Neal จะตราตรึงสักแค่ไหน แต่ก็เกินกว่าความเป็นเด็กไปมาก หากินกับความบันเทิงลักษณะนี้ สร้างความขืนขมระทมให้กับผมมากกว่าจะเกิดความประทับใจใดๆ

แต่คุณภาพของ Paper Moon ถือว่างดงาม ตราตรึง เกือบๆจะไร้ที่ติ สะท้อนความคลั่งไคล้ ‘ยุคทองแห่งภาพยนตร์’ ของผู้กำกับ Peter Bogdanovich ได้อย่างเด่นชัดเจนมากยิ่งทีเดียว

แนะนำคอหนัง Road Movie, Comedy-Drama ชื่นชอบการผจญภัย เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ หวนระลึกถึงยุคสมัย Depression Era แฟนๆนวนิยายของ Joe David Brown และนักแสดงนำ Ryan O’Neal ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความแก่นกร้านโลกเกินไปของเด็กหญิงอายุ 9 ขวบ

คำโปรย | “Paper Moon ของผู้กำกับ Peter Bogdanovich สร้างรอยยิ้มให้กับชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก”
คุณภาพ | รึ-Nostalgia
ส่วนตัว | ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: