Paprika

Paprika (2006) Japanese : Satoshi Kon ♥♥♥♥

(28/12/2018) วันๆที่แสนจืดชืด ได้ใส่ Paprika ลงไปสักนิด ชีวิตคงเพิ่มสีสัน แต่ถ้าเผลอพลาดพลั้งเททะลัก รสเผ็ดจัดหนักคงแซบซาบซ่านสั่นสะท้านทรวง

ถึงรับชมภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้แล้ว หลายคนอาจได้เกาหัวสงสัย อารัมบทดังกล่าวหมายถึงอะไร? นั่นคือเหตุผลที่ผมครุ่นคิดได้ต่อการเลือกใช้ชื่อ Paprika ร่างอวตารความฝันของนางเอก ภายนอกตัวจริงของเธอช่างมีความจืดชืด อ่อนแอ แสนธรรมดา แต่ภายในจิตใจกลับเผ็ดแซบ เซ็กซี่ เร่าร้อนแรง สามารถกางปีกโบยบิน ขี่เมฆเหินหาว ไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระเสรี

‘ความฝัน’ คือจินตนาการอันไร้ขอบเขตของมนุษย์ โดยปกติแล้วมักจะเป็นของใครของมัน ไม่มีใครเหมือนกัน แต่โลกยุคสมัยนี้ปรากฎเทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถแลกเปลี่ยน แบ่งปัน อวตารอีกตัวตนเองเข้าไป กลายเป็นสื่อสารไร้พรมแดน เรียกว่า ‘อินเตอร์เน็ต’

ความฝัน vs. อินเตอร์เน็ต มันคนละเรื่องเลยนะ! แต่สำหรับอนิเมชั่นเรื่องนี้ ถือว่านำเสนอลักษณะแนวคิดที่มีความคล้ายคลึง นั่นคือสร้างโลกแห่งความฝัน/จักรวาลคู่ขนาน ที่มนุษย์สามารถแยกกาย-จิต (ตัวตนแท้จริง-อวตารในโลกอินเตอร์เน็ต) และแบ่งปัน ‘แชร์’ องค์ความรู้ร่วมกับผู้อื่น

บทความนี้ผมจะเขียนผสมๆกันระหว่าง ความฝัน/อินเตอร์เน็ต อ่านไปเรื่อยๆก็จะเริ่มแยกไม่ออกเองแบบความจริง-ความฝัน และที่น่าทึ่งสุดคือหายนะในอนิเมะ กำลังถือกำเนิดขึ้นในโลกปัจจุบันนี้!

Satoshi Kon (1963 – 2010) ผู้กำกับ อนิเมเตอร์ นักเขียน/วาดการ์ตูน สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Sapporo, Hokkaido ตั้งแต่เด็กหลงใหลในอนิเมะเรื่อง Space Battleship Yamato (1974), Heidi, Girl of the Alps (1974), Future Boy Conan (1978), Mobile Suit Gundam (1979) ฯ โตขึ้นเข้าเรียนต่อ Graphic Design ที่ Musashino Art University มีผลงาน debut เป็นนักเขียนการ์ตูนสั้น Toriko (1984) คว้ารางวัลนักวาดการ์ตูนหน้าใหม่ Kodansha’s Young Magazine Award แต่เพราะยังไม่ใช่สิ่งแท้จริงที่ต้องการ สมัครงานเป็นนักวาดพื้นหลังและ Layout Animator เรื่อง Roujin Z (1991), Hashire Melos! (1992), Patlabor 2 (1993), กำกับอนิเมะครั้งแรก ตอนที่ 5 ของซีรีย์ Jojo’s Bizarre Adventure (1994), ร่วมงานกับสตูดิโอ Madhouse เขียนบทตอนหนึ่งของ Memories (1995), และได้รับโอกาสขึ้นมากำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรก Perfect Blue (1997)

ผู้กำกับ Kon มีความสนใจดัดแปลงนวนิยายไซไฟ Paprika (1993) แต่งโดย Yasutaka Tsutsui มาตั้งแต่หลังเสร็จจาก Perfect Blue แต่เนื่องจากสตูดิโอจัดจำหน่าย Rex Entertainment ประกาศล้มละลาย เลยต้องขึ้นหิ้งโปรเจคนี้ไว้ก่อน เอาตัวรอดด้วยการย้ายไปร่วมงานกับ Madhouse สร้าง Millennium Actress (2001), Tokyo Godfathers (2003), ซีรีย์ Paranoia Agent (2004) จนประสบความสำเร็จล้นหลาม และในที่สุด Masao Takiyama เจ้าของสตูดิโอ Madhouse จึงยินยอมไฟเขียวให้สร้างอนิเมชั่นในฝันเรื่องนี้เสียที

Yasutaka Tsutsui (เกิดปี 1934) นักเขียนนวนิยายไซไฟชื่อดัง ที่ชอบผสมผสานจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เข้ากับโลกจินตนาการ (Surrealism) ผลงานเด่นๆ อาทิ
– Toki o Kakeru Shōjo/The Girl Who Leapt Through Time (1967)
– Yumenokizaka Bunkiten/Dreamtree Hill Junction (1987) ** คว้ารางวัล Tanizaki Prize
– Asa no Gasupāru/Gaspard in the Morning (1992) ** คว้ารางวัล Nihon SF Taisho Award
– Paprika (1993)
ฯลฯ

Tsutsui เริ่มเขียนนวนิยาย Paprika ลงในนิตยสารรายเดือน Marie Claire โดยแบ่งเป็น 4 ตอน มกราคม 1991, มีนาคม 1992, สิงหาคม 1992, มิถุนายน 1993 และรวมเล่มตีพิมพ์ปลายปี 1993

Kon ร่วมงานดัดแปลงบทกับ Seishi Minakami ประทับใจจากเคยร่วมงานซีรีย์ Paranoia Agent (2004) ผลงานอื่นเดๆ อาทิ Beyblade (2001), Fullmetal Alchemist: Brotherhood (2009-10), A Certain Scientific Railgun (2009-10), Bakuman (2010) ฯ

อนาคตอันใกล้, เทคโนโลยีจิตบำบัด (Psychotherapy) ได้รับการพัฒนาให้สามารถอ่านคลื่นสมอง ปรากฎภาพความฝันของผู้ป่วย ด้วยอุปกรณ์ชื่อ DC Mini โดยมี Atsuko Chiba นักวิจัยสถาบัน Institute for Psychiatric Research ทำการถอดจิตของตนเอง ‘Alter Ego’ ตั้งชื่อว่า Paprika สามารถอวตารเข้าไปในความฝันของผู้อื่นได้

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อใครสักคนลักขโมยอุปกรณ์ DC Mini แล้วทำการขยายสัญญาณ ปรับคลื่นความถี่ให้สามารถส่งตรงสู่สมอง (โดยไม่จำเป็นต้องใช้ DC Mini อีกต่อไป) ทำให้เกิดการแชร์ความฝันร่วมกัน ลุกลามบานปลายใหญ่โตจนปรากฎเห็นสองโลกซ้อนทับ จะมีวิธีการไหนสามารถยุติหายนะที่บังเกิดขึ้นนี้ได้

Atsuko Chiba (พากย์เสียงโดย Megumi Hayashibara ผลงานเด่นๆ Ranma ½, Rei-Neon Genesis Evangelion, Faye-Cowboy Bebop, Yuki-Sword Art Online) นักวิจัยสถาบัน Institute for Psychiatric Research ภายนอกเป็นคนเยือกเย็นชา แข็งกระด้าง สวมแว่น รัดผม แต่งกายมิดชิดเรียบเรียบ ราวกับผ้าพับไว้ แต่เมื่อไหร่ถอดจิตกลายเป็น Paprika สาวผมแดงเผ็ดแซบ แต่งกายสบายๆ ชอบกระโดดโลดเต้น นิสัยขี้เล่น ร่าเริงสนุกสนาน เรียกว่าภายนอก-ภายในแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้น

Kōsaku Tokita (พากย์เสียงโดย Tōru Furuya ผลงานเด่นๆ Amuro Ray-Mobile Suit Gundam, Pegasus Seiya-Saint Seiya, Yamcha-Dragon Ball, Tuxedo Mask-Sailor Moon, Sabo-One Piece) นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ ผู้ครุ่นคิดประดิษฐ์เครื่อง DC Mini ให้ใครๆสามารถเข้าไปในความฝันคนอื่นได้ รูปร่างอ้วนท้วนบริโภคได้ทุกสิ่งอย่าง กลับมีจิตใจใสซื่อบริสุทธิ์เหมือนเด็กน้อย และในโลกความฝันอวตารเป็นหุ่นยนต์ เคลื่อนไหวราวกับโปรแกรมที่ตนเองสร้างขึ้น

Toratarō Shima (พากย์เสียงโดย Katsunosuke Hori) หัวหน้าทีมวิจัยสถาบัน Institute for Psychiatric Research เป็นคนตัวเล็กๆ สวมแว่นหน้าเตอะ นิสัยร่าเริงสนุกสนาน วิสัยทัศน์กว้างไกล แต่เหมือนจะพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่

Seijirō Inui (พากย์เสียงโดย Tōru Emori, เคยร่วมงานกับผู้กำกับ Kon เรื่อง Tokyo Godfather ในบท Gin) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Institute for Psychiatric Research คงด้วยความชราภาพเลยไม่สามารถลุกขึ้นก้าวเดินจำต้องนั่งบนรถเข็น ให้ทุนสร้างโลกแห่งความฝันแล้วยกตนเองเป็น ‘Protector of the Dreamworld’ แต่วัตถุจุดประสงค์แท้จริง ต้องการหวนกลับเป็นคนหนุ่มเดินได้อีกครั้ง ในฝันเลยรากงอกจากแขนขา

Morio Osanai (พากย์เสียงโดย Kōichi Yamadera ผลงานเด่นๆ Jūbei Kibagami-Ninja Scrol, Spike-Cowboy Bebop, Beerus-Dragon Ball Super, Togusa-Ghost in the Shell, Ryoji-Neon Genesis Evangelion) หนึ่งในทีมวิจัยที่ตกหลุมรัก Chiba เลยยินยอมเป็นลูกน้องของ Inui แลกเปลี่ยนความต้องการส่วนตัว จับเธอมาสต๊าฟผีเสื้อ คงความสวยงามชั่วนิจนิรันดร์

Detective Toshimi Konakawa (พากย์เสียงโดย Akio Ōtsuka ผลงานเด่นๆ Black Jack, Shunsui Kyouraku-Bleach, Batou-Ghost in the Shell, Blackbeard-One Piece, Rider-Fate/Zero, Wamuu-JoJo’s Bizarre Adventure) เพื่อนสนิทของ Shima ได้รับคำแนะนำให้รู้จักกับ Paprika จับพลัดพลูกลายมาเป็นนักสืบคดีหายนะของสถาบันวิจัย Institute for Psychiatric Research และสามารถเอาชนะปมฝันร้ายจากอดีตได้สำเร็จ

ในส่วนงานภาพ ถือว่าเต็มไปด้วยความท้าทายที่ก้าวข้ามผ่านผลงานอื่นๆไปไกลโขทีเดียว ความแตกต่างระหว่างโลกความจริง-ความฝัน สังเกตได้จาก
– โลกความจริง มักมีโทนสีอ่อนๆ ฟ้า-ขาว-เทา ไม่ฉูดฉาดสักเท่าไหร่
– โลกความฝัน เผ็ดแซบ หลากหลาย ฉูดฉาด บิดบูดเบี้ยว อะไรๆสามารถบังเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

เมื่อตอน Millennium Actress (2001) ผู้กำกับ Kon ได้ทดลองการเคลื่อนไหวของภาพพื้นหลังที่ปรับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แทบไม่เคยหยุดอยู่นิ่ง สำหรับ Paprika สามารถเรียกเต็มปากเต็มคำได้ว่า ‘พื้นหลังที่มีชีวิต’ ดูแล้วคงใช้ Computer Graphic (CG) เข้าช่วยด้วยพอสมควรเลยละ ไม่เช่นนั้นจะสร้างเพียงปีกว่าๆเสร็จได้อย่างไร (อนิเมะของ Hayao Miyazaki วาดมือล้วนๆเป็นแสนๆภาพ นั่นใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปีกว่าจะเสร็จนะครับ)

หนึ่งในซีนช่วง Opening Credit ที่เจ๋งมากๆ Paprika ขณะกำลังกินแฮมเบอร์เกอร์ มีเพลย์บอยเข้ามาทัก ภาพสะท้อนในกระจกแสดงอารมณ์ที่หลากหลาย เกลียดจังพวกคนแบบนี้

เรือนร่างอันใหญ่โตคับลิฟท์ของ Tokita สะท้อนลักษณะนิสัย ‘บริโภคนิยม’ เสพติดการกินทุกอย่างแบบไม่บันยะบันยัง จนบางครั้งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ถึงกระนั้นนิสัยตัวตนภายในกลับแตกต่างตรงกันข้าม(เช่นเดียวกับ Paprika) มีความใสซื่อ(บื้อ)บริสุทธิ์เหมือนเด็กน้อย นั่นคือเหตุผลให้ Chiba ตกหลุมรัก (เธอเป็นคนมองผู้อื่นจากภายใน ไม่ใช่เรือนร่างกายภายนอก)

ขบวนพาเรดแห่งความฝัน เต็มไปด้วยคน-สัตว์-สิ่งของ ที่ในโลกความจริงอาจไม่มีชีวิต ขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่ขณะนี้พวกเขา-มัน-เหล่านั้น กลับสามารถก้าวเดินไป…ที่ไหนกัน?

ใครเคยรับชม Songs from the Second Floor (2000) ของผู้กำกับ Roy Andersson น่าจะเข้าใจนัยยะของการเดินที่สะท้อนปรัชญาชีวิต มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร? ตายแล้วไปไหน? เป้าหมายการดำเนินชีวิตคืออะไร? สำหรับอนิเมะ เปลี่ยนจากชีวิตเป็น ‘ความฝัน’ จินตนาการกำลังมุ่งสู่? แล้วจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน?

ในห้องของ Kei Himuro บุคคลผู้ถูกคาดการณ์ว่าเป็นคนขโมยเครื่อง DC Mini เราจะพบเห็นเด็กสาวในชุดกิโมโนสีแดงหลบซ่อนในตู้เสื้อผ้า ซึ่งแวบๆบนชั้นวางมีนิตยสาร Hard Boys หมอนี่เป็นเกย์อย่างแน่นอน!

เกย์ ตู้เสื้อผ้า นี่ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของการหลบซ่อน ปกปิดตัวตนเอง ซึ่ง Chiba เมื่อเปิดประตูตู้เข้าไป พบเห็นช่องทางลับสู่สวนสนุก (โลกในความฝันของ Himuro) สถานที่แห่งความทรงจำ ชื่นชอบหลงใหลเป็นที่สุด (นี่ก็แฝงนัยยะถึงจิตใจของ Himuro ไม่ต่างอะไรจากเด็กน้อย หรือเด็กหญิงสวมกิโมโน)

ทำไมอวตารของ Himuro ถึงคือเด็กหญิงสวมกิโมโน? ผมค่อนข้างเชื่อว่า พ่อ-แม่คงอยากได้ลูกสาว แต่คลอดออกมาได้ผู้ชาย วัยเด็กยังไม่ประสีประสาเรื่องเพศ เลยถูกจับแต่งตัวเป็นหญิง เกิดความเข้าใจผิดๆมาแบบนั้นจนเติบโตขึ้น และคาดว่าคงตกหลุมรักกับ Tokita แล้วอิจฉาริษยา Chiba ที่ได้ครอบครองหัวใจเขา เลยตัดสินใจขโมย DC Mini เพื่อตนเองจะได้อยู่ในโลกแห่งความฝันตลอดไป

สองตัวละครบาร์เท็นเดอร์นี้ เป็นการ Cameo ของ
Jinnai, คนตัวสูง คือ Satoshi Kon ผู้กำกับอนิเมชั่นเรื่องนี้ 
– Kuga, คนตัวเตี้ย คือ Yasutaka Tsutsui ผู้แต่งนวนิยาย Paprika

หัวหน้า Toratarō Shima ด้วยความเพ้อเจ้ออะไรก็ไม่รู้ ตัดสินใจกระโดดตึก … ไม่ได้จะฆ่าตัวตาย แต่เพื่อนำพาตนเองเข้าสู่โคม่า อยากที่จะมีชีวิตในความฝันชั่วนิรันดร์ แต่ก็ถูกปลุกโดย Paprika ด้วยการเป่าให้พองโตเหมือนลูกโป่ง จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง แตกโพละ ตื่นขึ้นโดยพลัน

นัยยะชูชก แดกมากเกินไปสุดท้ายก็ท้องแตกตาย, ความฝันก็คงเฉกเช่นเดียวกัน ลุ่มหลงระเริงอยู่กับมันมากเกินไปก็หาได้เกิดประโยชน์อะไร หนำซ้ำร้ายสักวันหนึ่งอาจเกิดหายนะเข้ากับตนเอง

ในโลกความจริง อย่างที่บอกไปว่าการจัดโทนสีจะค่อนข้างจืดชืด แห้งแล้ง ดูไม่สดใสเท่าไหร่ แต่ไฮไลท์ของช็อตนี้ที่อยากให้สังเกตกันคือ เงา ด้านหนึ่งปกคลุมด้วยความมืดมิด (Osanai ยืนอยู่ฝั่งนี้) และอีกฝั่งแสงสว่างตัดกับเงามืด มีลักษณะเหมือนกรงขัง (Chiba ยืนฝั่งนี้)

แสงสว่าง-ความมืด ถือเป็นอีกตีมของหนังที่สอดคล้องกับ โลกความจริง-เพ้อฝัน ตัวละครทั้งสองต่างยืนอยู่ในตำแหน่งที่สะท้อน กาย-ใจ ของกันและกัน
– Osanai เข้าสู่ด้านมืดมิดเต็มตัว
– Chiba เดินอยู่ระหว่างความมืด-แสงสว่าง

ชะตากรรมของ Himuro เมื่อเขา (หรือเธอ?) กลายเป็นส่วนหนึ่งในโลกแห่งความฝันร่วมกับผู้อื่น นั่นคือจะสูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน กลายสภาพเป็นเปลือกนอกอันเปราะบาง (แต่ผมเห็นเหมือน Tororo ยังไงชอบกล) จิตวิญญาณของเขาคงได้ตายจากไป

เคยดู Star Trek กันไหมเอ่ย มันจะศัตรูตัวหนึ่งของสหพันธ์คือ Borg เอเลี่ยนจักรกลที่สามารถเชื่อมต่อสมองเข้าด้วยกัน (คล้ายๆโลกความฝันร่วมของอนิเมะเรื่องนี้) ผลลัพท์ก็คือพวกมันแต่ละตนจะสูญสิ้นความเป็นปัจเจกชน ต้องรอคอยรับฟังคำสั่งจาก Borg Queen และเวลาจะครุ่นคิดตัดสินใจอะไร ก็ต้องร่วมกันหาเสียงส่วนมาก แล้วปฏิบัติตามโดยไม่ขัดขืนคำสั่ง

ในมุมของการเมือง สังคมประเภทที่ทุกคนเท่าเทียมกัน (แชร์ความฝันร่วมกัน) เวลามีมติหรือข้อตกลงอะไร จักต้องปฏิบัติตามแม้ฝืนความตั้งใจ นั่นคือแนวคิดของ Marxist, Communist

ไม่ต้องบอกใครๆคงคาดเดาได้ Paprika แปลงร่างเป็น เห้งเจีย/ซุนหงอคง ขี่เมฆวิเศษ ถือกระบองยืดหดได้ บนศีรษะมีมงคล (ว่าไปลักษณะคล้ายๆ DC Mini อยู่นะ)

Paprika ทะยานเข้าสู่รูปภาพกลางเป็นสฟิงซ์ (Sphinx) ใบหน้าและทรวงอกของหญิงสาว ท่อนล่างเป็นสิงโต และมีปีกแบบนกอินทรี ด้วยความเฉลียวฉลาดชอบถามปริศนาผู้อื่นที่ผ่านไปมา แต่ถ้าตอบผิดก็จะแสดงความก้าวร้าว กระหายเลือด เข่นฆ่ากินมนุษย์เป็นอาหาร

Osanai กลายร่างเป็น Oedipus (แปลว่า เท้าบวม) ในเทพปกรณัมกรีก เมื่อแรกเกิดได้รับคำทำนายจากเทพพยากรณ์ เมื่อเติบโตขึ้นจะเป็นผู้ฆ่าบิดา สมรสกับมารดาตัวเอง นำหายนะมาสู่ครอบครัวและเมือง Thēbai จึงถูกนำไปทอดทิ้งตั้งแต่เด็ก (เลยเป็นเหตุให้ทำตามคำทายของเทพพยากรณ์) นอกจากนี้เขายังเป็นผู้แก้ปริศนาของสฟิงซ์ได้!

หลบหนีต่อ Paprika กลายร่างเป็นนางเหงือก ระหว่างแหวกว่ายทางกลามฝูงปลา ถูก Inui ในร่างปลาวาฬแต่มีใบหน้ามนุษย์ ทะยานพุ่งขึ้นเหนือน้ำ (คล้ายๆภาพวาด Birthday ของ Chagall) นั่นทำให้หญิงสาวหมุนกลิ้งกลายเป็นพินอคคิโอ (แต่จมูกแดง)

นี่เป็นแนวคิดที่ผมชื่นชอบสุดในอนิเมะแล้ว, การลอกคราบ Paprika ออกมาเป็น Chiba เพราะทั้งสองคือบุคคลเดียวกัน แค่ว่าในโลกแห่งความฝันมันกลับตาปัตรา Paprika คือเปลือกนอก และ Chiba คือตัวตนแท้จริง

ความชื่นชอบสต๊าฟผีเสื้อของ Osanai สะท้อนรสนิยมตัวตนของเขา ต้องการเก็บบางสิ่งอย่าง ครอบครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ไม่สนว่าจะเป็นหรือตาย สวยงามเท่ากัน

Inui พยายามแทรกซึม เกาะกลืนกิน ทำตัวเป็นปรสิต เพื่อหวังครอบครองเป็นเจ้าของเรือนร่างกายของ Osanai ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ เขาก็จักสามารถลุกขึ้นเดิน หวนกลับเป็นหนุ่มแน่นอีกครั้ง … แต่เรื่องอะไร Osanai จะยินยอมคล้อยตามง่ายๆ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการต่อสู้ขัดขืน

ขอใช้ช็อตนี้เพื่ออธิบายเรื่องราวของ Detective Toshimi Konakawa ก็แล้วกันนะครับ, สมัยเด็กร่วมกับเพื่อน มีความเพ้อฝันอยากเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ เคยถ่ายทำหนังสั้น ตัวเองรับบทตำรวจมีฉากไล่ล่า แต่ปรากฎว่าถ่ายทำยังไม่ทันเสร็จสิ้นกลับเลิกร้างรา ทอดทิ้งให้เพื่อนรักตะโกนถาม ‘แล้วจะทำยังไงต่อไป?’ คือเขาไม่เชื่อมั่นว่าตนเองจะสามารถเอาตัวรอดในวงการนี้ เรียนมัธยมจบเลยสอบเข้าเป็นตำรวจไต่เต้ามาจนถึงปัจจุบัน ส่วนเพื่อนรักเอนท์ติดนิเทศฯ แต่กลับล้มป่วยหนักจนเสียชีวิตจากไป เลยมิได้เติมเต็มความเพ้อฝันนั้น กลายเป็นปมขัดแย้งในใจให้ Konakawa รู้สึกผิดที่ตนเองอาจคือชนวนเหตุ และไม่ได้ทำหนังสั้นเรื่องนั้นให้เสร็จสิ้น

ในความฝันของ Konakawa จะมีฉากหนึ่งที่เขาวิ่งไล่ล่าอาชญากร แล้วไม่สามารถไปต่อ (คงเพราะหนังสั้นที่ถ่ายทำ สิ้นสุดลงตนนี้) ซึ่งวิธีก้าวข้ามผ่านปมนี้ คือการตัดสินใจแน่วแน่ เล็งแล้วยิงผู้ร้ายคนนั้น แค่นี้เองทุกสิ่งอย่างในใจก็ผ่อนคลายลง และตัดมาฉากจบสุดเท่ห์ช็อตนี้

ทิ้งท้ายกับประโยคที่ราวกับวิญญาณของเพื่อน พูดบอกกับ Konakawa ที่สามารถก้าวข้ามผ่านความเพ้อฝัน ได้กลายเป็นตำรวจในโลกความเป็นจริง

“You didn’t do anything wrong. You just lived out our movie in real life. That’s why you become a cop. It’s truth that came for fiction. Always remember that”.

ช็อตนี้คือจุดเริ่มต้น เมื่อโลกความจริง-ความฝัน เกิดการผสมผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว นำเสนอเชิงสัญลักษณ์ ‘กระจกแตกร้าว’ สะท้อนใบหน้าของ Himuro จากเด็กหญิงตัวเล็กๆขยายใหญ่โตกลายเป็นยักษ์ แถมสามารถกระโดดจากโลกปกติเข้าสู่จอโทรทัศน์ได้อย่างสบายๆ

การให้ Himuro คือตนแรกที่หลุดออกจากโลกแห่งความฝัน แล้วออกไล่ล่า Chiba/Paprika น่าจะเพราะความอิจฉาริษยาล้วนๆ (เพราะ Himuro เป็นเกย์ แอบชอบ Tokita แต่ถูกแย่งโดย Chiba เลยต้องการทำลายเธอให้หมดสิ้นซาก)

หุ่นยักษ์จิตวิญญาณของ Tokita หลังจากยิงมิสไซล์ถล่ม Himuro จนสิ้นฤทธิ์เดช ตนเองขยับเคลื่อนไหวราวกับถูกโปรแกรมมา กลืนกิน Chiba และกำลังมองหา Paprika เพื่อเติมเต็มรสชาติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกลับถูกวิญญาณของหญิงสาวโอบกอดเข้าข้างหลัง ย้อนรอยกับตอนที่ติดในลิฟท์ โดยไม่รู้ตัวเกิดความสงบสุขขึ้นในใจ ไม่ได้ต้องการการเพ้อฝันอะไรไปมากกว่านี้

เมื่อประมาณปี 2005-06 เทรนด์โทรศัพท์มือถือกำลังได้รับความนิยมก้าวกระโดด นี่เป็นการล้อเลียนที่ตรงไปตรงมามาก ผู้หญิงรุ่นใหม่ติดโทรศัพท์มือถือจนกลายเป็นใบหน้าตาของตนเอง เปิดกระโปรงโชว์ของสงวนวับๆแวมๆ ต่างอะไรกับพวก Facebook, Instagram, Bigo ฯ

ขณะที่พวกนักการเมือง ชนชั้นสูง ต่างพยายามตะเกียกตะกายปีนป่ายเพ้อฝัน ฉันต้องได้นั่งตำแหน่งสูงสุดของพระราชา!

และ Last Boss คือ Inui ผู้ถูกธรณีสูบแล้วฟื้นคืนชีพกลายเป็นวิญญาณยักษ์สีดำ ยืนอยู่กึ่งกลางกรุงโตเกียว มีพลังสามารถเผยแพร่ความมืดมิดปกคลุมไปทั่วสารทิศ เพื่อให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินเป็นไปตามประสงค์ สนองความต้องการของตัวตนเอง

ลำดับภาพโดย Takeshi Seyama ผู้ก่อตั้ง ‘Seyama Editing Room’ โด่งดังในการตัดต่ออนิเมะ ผลงานดังๆอาทิ My Neighbor Totoro (1988), Akira (1988), Princess Mononoke (1997), Tokyo Godfathers (2003), Steamboy (2004), Paprika (2006) ฯ

อนิเมะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ Atsuko Chiba และ Paprika เป็นหลัก โดยทั้งเรื่องมีเพียงสองโลกเท่านั้นคือ ความจริง-ความฝัน (และซ้อนทับกัน) นำเสนอสลับไปมาเท่านั้นเอง

ความท้าทายในการรับชมอยู่ที่ เราจะสามารถแยกโลกความจริง-ความฝัน ออกจากกันได้หรือเปล่า เพราะมันไม่มีกฎตายตัวว่า Chiba กับ Paprika จะอยู่ได้เพียงในโลกของตนเอง, และในโลกแห่งความฝัน มันมีทั้ง
– ความฝันรวม (ขบวนพาเรด)
– ฝันของ Detective Toshimi Konakawa
– ฝันของ Kei Himuro (สวนสนุก)
– ฝันของ Seijirō Inui (โรงเรือน/ในคฤหาสถ์หลังใหญ่)
– ฝันของ Toratarō Shima (ผีเสื้อสต๊าฟ)
ฯลฯ

ซึ่งสิ่งวุ่นวายที่สุดเกิดขึ้นในช่วงการซ้อนทับของความฝัน ทำให้ Chiba และ Paprika ปรากฎตัวอยู่บนโลกใบเดียวกัน! ในทางทฤษฎีคือ กาย-จิต สามารถแยกออกเป็นอิสระต่อกันโดยสมบูรณ์แบบ แต่ความรู้สึกของผู้ชมส่วนใหญ่ย่อมครุ่นคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้เลยสักนิด (ถ้าอธิบายตามหลักพุทธศาสนา จิตนั้นมีหลายดวงทำให้สามารถแยกออกจากกันได้ ยกตัวอย่าง พระอินทร์ เห็นว่าแยกได้เป็นพันๆร่าง)

เพลงประกอบโดย Susumu Hirasawa ที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับ Kon เรื่อง Millennium Actress (2001) และซีรีย์ Paranoia Agent (2004) ด้วยสไตล์ถนัดแนว Progressive Rock ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าที่ตนเองประดิษฐ์ขึ้น สร้างสรรค์ผลงานที่ราวกับความฝัน จินตนาการ มีความพิศดารหลุดโลกไปเลย

Mediational Field เป็นบทเพลง Opening Credit ที่เจ๋งเป้งมากๆ เมื่อ Paprika กระโดดโลดโผนไปมาจากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง แสดงถึงทุกสิ่งอย่างสามารถผสมผสานกลมกลืน อยู่ร่วม กลายเป็นสิ่งเดียวกัน

ขบวน Parade แห่งความฝัน ด้วยลักษณะของเพลงมาร์ช ได้ยินเสียงรัวกลองแต๊ก เป็นจังหวะก้าวออกเดินทางไปเรื่อยๆ เมื่อไหร่จะถึงเป้าหมาย แล้วปลายทางมันมีอยู่จริงหรือเปล่า??

A Drop Filled with Memories เสียงหยดน้ำแห่งความทรงจำ (คงเป็นเสียงจากเครื่องสังเคราะห์) ร่วงหล่นลงบนโลกแห่งความเพ้อฝัน จินตนาการที่จับต้องได้ กำลังเติมเต็มความปรารถนาของหัวใจ ระลึกถึงห้วงแห่งกาลเวลาล่วงเลยผ่านมาแล้ว มอบสัมผัสหวนระลึก ‘Nostalgia’ โหยหาอดีตไม่รู้ลืมเลือน

บทเพลงตอนจบ The Girl In Byakkoya (คำว่า Byakkoya แปลว่า White Tiger Field หรือกลุ่มดาวนักษัตรทั้งสี่ของจีน ‘เสือขาวแห่งประจิม’ ประจำฤดูใบไม้ร่วง) แต่ง/ขับร้อง/โซโล่โดย Susumu Hirasawa เนื้อใจความสื่อถึง Paprika หญิงสาวในโลกแห่งความเพ้อฝัน

เห็นว่าเป็นครั้งแรกในวงการภาพยนตร์/อนิเมชั่น ที่มีการใช้โปรแกรม Vocaloid สำหรับสร้างเสียงสังเคราะห์ ขับร้องของชาย/หญิง (เสียงร้องที่ไม่ใช่ Hirasawa) แทรกเข้าไปในบทเพลง … นี่มันระดับปฏิวัติวงการเลยนะ!

นอกจากนี้ช่วงกลางๆเพลง ยังมีการผสมเสียงพูดภาษาเวียดนามเข้าไปด้วย

Xin chao, cac ban.
Day la que cu cua chung toi.
Day la tuong lai cua chung toi.

แปลว่า

Welcome
Here is our capital
Here is our future

แซว: Hirasawa เมื่อตอนซีรีย์ Paranoia Agent (2004) ก็มีแอบใส่คำร้องภาษาไทยเข้าไปในเพลงประกอบด้วยนะ

เทคโนโลยีทุกชิ้นในโลกล้วนคือดาบสองคม ตั้งใจดีนำไปใช้อย่างเหมาะสมย่อมก่อเกิดคุณูประโยชน์มหาศาล ขณะเดียวกันคิดชั่วร้ายนำไปสร้างสรรค์อะไรแย่ๆย่อมส่งผลกระทบเสียหายนานับประการ

อินเตอร์เน็ตก็เฉกเช่นกัน ทุกวันนี้เราใช้ประโยชน์จากมันในการค้นหาข้อมูลความรู้ เปิดโลกทัศน์ทางความคิด ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนได้ทุกที่ทุกเวลา แต่อย่าลืมว่าด้านมืดก็มี เว็บโป๊เว็บพนันขายของเถื่อนมากมายมหาศาล ไหนจะข้อมูลความลับหลุดรั่วง่ายราวกับไม่เคยใส่รหัสป้องกัน

Paprika คืออนิเมชั่นที่นำเสนออุดมคติของปัญหาในโลกยุคไร้พรมแดน เมื่อความจริง-ความฝัน โลกมนุษย์-อินเตอร์เน็ต เกิดการเหลื่อมล้ำทับซ้อนจนกลายเป็นจักรวาลเดียวกัน มันจะเกิดหายนะอะไรขึ้นได้บ้าง?

เมื่อทศวรรษก่อนที่อนิเมชั่นเรื่องนี้ออกฉาย หลายคนคงยังจินตนาการไม่ออกว่า ความจริง-ความฝัน มันจะซ้อนทับกันได้อย่างไร? ปัจจุบันนี้เราสามารถพบเห็นแนวโน้ม เริ่มจับต้องได้แล้วว่า ชีวิตจริง-อินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟนกลายเป็นปัจจัยดำรงชีพ ไร้ไม่ได้จะขาดใจตาย! กลมกลืนแทบจะกลายเป็นจักรวาลเดียวกัน

โดยไม่รู้ตัว จินตนาการในอนิเมชั่น Paprika ได้แปรสภาพกลายเป็นสิ่งพบเห็นได้จริงเสียแล้ว ผู้คนยุคนี้เสพย์ติดความฝัน/อินเตอร์เน็ต จมปลักในโลกมายา ปฏิเสธการเผชิญหน้า หลบหนีปัญหาชีวิตจริง … แต่แปลกนะ กลับไม่มีใครพูดบอกว่าสิ่งเกิดขึ้นนี้คือหายนะ ทั้งๆที่อนิเมะพยายามนำเสนอ ความจริง-ความฝัน ควรถูกแบ่งแยกตัดขาดออกจากกัน เพราะถ้าโลกก้าวไปถึงจุดนั้นได้สำเร็จ แล้วชีวิตคนเราจะมีคุณค่าความหมายอันใด?

ตัวร้ายใน Paprika คือบุคคลผู้มีความต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ โลกแห่งความฝัน/อินเตอร์เน็ต เพื่อนำมาสนองความต้องการ ตัณหาส่วนตนเอง
– Seijirō Inui ชายสูงวัยเจ้าของบริษัท ขาพิการเดินไม่ได้ (รากงอกติดพื้น) ต้องการอวตารจิตวิญญาณตนเองสู่ร่างใหม่ หนุ่มแน่นและสามารถก้าวเดินได้
– Morio Osanai ชายหนุ่มแน่นผู้ตกหลุมรัก Atsuko Chiba ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเธอเพียงผู้เดียว จึงยินยอมก้มหัวให้ Inui โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกหลอกใช้อีกทีหนึ่ง
– Kei Himuro นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง เพื่อนสนิท/ตกหลุมรัก Kōsaku Tokita อิจฉาริษยา Chiba ต้องการไล่ล่าเข่นฆ่าทำลายล้างเธอ จากนั้นได้ครองคู่กับชายที่ตนรัก

ความล้มเหลวของสามตัวร้าย ได้สะท้อนนัยยะถึง ความฝัน/อินเตอร์เน็ต ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันคือส่วนรวมของทุกคน และผู้มีสิทธิ์ตัดสินอนาคตของโลกใบนี้ ย่อมคือจิตใจของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ตาแก่หงำเหงือกใกล้ลงโลง
– Kei Himuro เมื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งความฝัน พบเห็นเรือนร่างหลงเหลือเพียงเปือกนอก เรียกได้ว่าสูญสิ้นอัตลักษณ์ตัวตนเองไปแล้วโดยสิ้นเชิง
– Morio Osanai ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ Atsuko Chiba แต่ถูกฉุดเหนี่ยวรั้งไว้โดย Seijirō Inui เมื่อโดนยิงในโลกความฝัน ส่งผลกระทบต่อความเป็นจริง และถูกธรณีสูบลงไปสู่ความมืดมิดใต้ผืนพิภพ
– Seijirō Inui กลายร่างใหญ่โต แพร่อิทธิพลความมืด/ชั่วร้าย ปกคลุมทั่วกรุงโตเกียว แต่สุดท้ายกลับถูกทารกน้อย Paprika ค่อยดูดกลืนกิน แล้วเติบโตขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเธอ

นัยยะอีกอย่างของทารกน้อย Paprika คือการรับเอาทั้งสิ่งดีๆและชั่วร้ายเข้าสู่ตนเอง จากนั้นเลือกในสิ่งถูกต้องเหมาะสมดีงามเข้าตนเอง จากนั้นพัฒนาการเติบโตจนกลายเป็นผู้ใหญ่ ท้องฟ้ากลับมาสว่างสดใส อนาคตไม่ใครสามารถจินตนาการคาดคิดถึงได้อย่างแน่นอน

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า Inception (2010) ของผู้กำกับ Christopher Nolan ได้แรงบันดาลใจจากอนิเมชั่นเรื่องนี้ เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์เมื่อตอนออกฉาย เคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยรับชม แนวคิดของหนังเกิดจากจินตนาการของตนเองตั้งแต่อายุ 16 ปี

หลังจาก Paprika (2006) ผู้กำกับ Kon ยังมีอีกผลงานเล็กๆทิ้งท้าย อนิเมะขนาดสั้น 1 นาที ชื่อตอน Good Morning (2008) ส่วนหนึ่งของซีรีย์ Ani*Kuri15 มีทั้งหมด 15 ตอน

ความโชคร้ายของ Satoshi Kon เมื่อเดือนพฤษภาคม 2010 ระหว่างกำลังเตรียมโปรเจคถัดไป Dreaming Machine หรือ Dreaming Kids (พบเห็นโปสเตอร์ท้ายเรื่อง และ Detective Konakawa ซื้อตั๋วเข้าไปรับชม นั่นคือความคาดหวังจะคือผลงานเรื่องถัดไป) ตรวจพบเจอมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย หมอวินิจฉัยเหลือเวลาอีกครึ่งปี เขาเลยตัดสินใจพักผ่อนอยู่กับบ้าน ใช้เวลาช่วงสุดท้ายกับครอบครัว เสียชีวิตวันที่ 24 กันยายน 2010 สิริอายุ 46 ปี

สำหรับโปรเจค Dreaming Machine ผู้กำกับ Kon ได้ทิ้ง Storyboard, บทหนัง และวาด Keyframe สำคัญๆเตรียมไว้หมดแล้ว แต่เขาไม่มีเวลามากพอสำหรับกระบวนการโปรดักชั่น เริ่มทำอนิเมชั่น ซึ่งก็มีโปรดิวเซอร์เพื่อนสนิท Masao Takiyama (หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Madhouse) พยายามอยู่หลายปีแล้วจะสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้ให้จนได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่คืบหน้าไปไหน

ในบรรดาผลงานของผู้กำกับ Satoshi Kon ผมเคยชื่นชอบคลั่งไคล้ Paprika มากที่สุด แต่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปเป็น Millennium Actress (2001) เสียแล้วละ ถึงกระนั้นก็แค่หล่นมาอันดับสอง ยังคงหลงใหลในความซับซ้อนซ่อนเงื่อน นัยยะความหมายลุ่มลึกซึ้ง เพลงประกอบโคตรไพเราะ และที่สุดคือ Paprika น่ารักน่าชังสุดๆเลย

แนะนำคออนิเมะไซไฟ สืบสวนสอบสวน ผสมจิตวิทยา วิเคราะห์ความฝัน ถลำลึกสู่จินตนาการ, นักคิด นักปรัชญา นักจิตวิทยา ค้นหาเส้นแบ่งบางๆระหว่างความจริง-เพ้อฝัน, แฟนๆผู้กำกับ Satoshi Kon และเพลงประกอบแนวๆของ Susumu Hirasawa ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับเรื่องราวสะท้อนจิตวิทยา ความฝัน ด้านมืดของมนุษย์

คำโปรย | “สู่ห้วงความฝันนิรันดร์ของ Satoshi Kon ด้วยรสชาติ Paprika เผ็ดจัดจ้าน กลายเป็นตำนานไม่รู้ลืม”
คุณภาพ | ซับซ้อนซ่อนเงื่อน
ส่วนตัว | ตกหลุมรัก


Paprika

Paprika (2006)

(18/2/2016) จากผลงานของผู้กำกับ Perfect Blue, Millennium Actress และ Tokyo Godfathers อีกครั้งที่เราจะได้ปวดหัวไปกับหนังของ Satoshi Kon นี่ฉันกำลังดูหนังอะไรอยู่นี่ แนวคิดคล้ายๆกับ Inception แต่ซับซ้อนกว่าหลายเท่าตัว เรื่องราวของความฝันผสมผสานกับความจริง กลายเป็นอนิเมะฟีล์มแนวแฟนตาซีที่สวยงามอย่างเหลือเชื่อ

ผู้กำกับ Satoshi Kon หนังอนิเมะเรื่อง Paprika คือผลงานหนังเรื่องสุดท้ายของเขาก่อนที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเมื่อปี 2010 ด้วยอายุเพียง 46 เท่านั้น ถ้าเทียบเรื่องความซับซ้อน หนังอาจจะถือว่าเข้าใจยากพอสมควร แต่ก็ไม่ยากเกินกว่า Perfect Blue ถ้าเทียบเรื่องความสวยงาม อาจจะสู้ Millennium Actress ไม่ได้ แต่โดยภาพรวมแล้ว ก็ถือว่าเป็นหนังที่ยอดเยี่ยมมากๆเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะเพลงประกอบที่เพราะแบบประหลาดๆ ตอนจบที่่ผมคาดไม่ถึง

แนวคิดของหนังเรื่องนี้คล้ายๆกับ Inception คือ แนวคิดบางอย่างสามารถเปลี่ยนคนได้ โดย Paprika เป็นเหมือนร่างอวตารของนางเอก ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยในฝันให้สามารถเอาชนะปมบางอย่างที่ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปได้ จุดเหมือนคือความเป็น Thriller จุดต่างก็คือนี่ไม่ใช่หนัง Action แต่ออกไปทาง Fantasy ที่ ณ จุดๆหนึ่ง เรื่องราวที่เกิดขึ้นในฝัน ได้ออกมาสู่โลกของความจริง นี่เป็นสิ่งที่พาลให้คนดูสับสนมากๆ เพราะมักจะจับจุดไม่ได้ว่า นี่โลกความจริง หรือโลกแห่งความฝัน ผมก็เป็นนะครับเมื่อตอนดูครั้งแรกๆ เพราะไม่ได้ตั้งใจดูอย่างจริงจังนัก ผมกลับมาดูครั้งนี้ตั้งใจดูมากๆ ก็พบว่าหนังมันไม่ได้ดูยากเลย คำตอบทุกอย่างมันมีอยู่ในหนังหมดแล้ว ไม่มีฉากไหนที่จะแยกไม่ออกระหว่างฝันกับความจริง(ถ้าคุณตั้งใจดูนะ) แต่มีที่น่าตำหนิหน่อย คือ วิธีแก้ปัญหาช่วงท้ายมันง่ายไปหน่อย ไม่งั้นหนังจะยอดเยี่ยมกว่านี้อีกหลายเท่าตัว

ต้นฉบับมาจากนิยายของ Yasutaka Tsutsui เขียนเมื่อ 1993 ใช้ชื่อเดียวกัน ร่วมดัดแปลงเป็นบทหนังโดย Seishi Minakami และ Satoshi Kon ผลิตโดยสตูดิโอ Mad House หนังอนิเมะค่ายนี้การันตีอย่างหนึ่งว่างานภาพจะไม่เผามาก แต่เราจะเห็นใช้ภาพซ้ำๆอยู่หลายรอบ ก็แน่ละมันมีฉากฝัน ซึ่งฝันก็ต้องซ้ำๆเป็นธรรมดา

ความเท่ห์ที่ผมชอบมากๆของหนังเรื่องนี้ คือในความฝัน ตัวละครจะกระโดดจากฝันหนึ่งไปอีกฝันหนึ่งได้ บางครั้งผ่านรูปที่มีในความฝันหนึ่ง แล้วหนังซูมเข้าไปในรูป เกิดเป็นความฝันในเหตุการณ์ของรูปนั้น เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจอะไรเลยในช่วงที่มีฉากพวกนี้นะครับ เพราะมันคือ chasing scene ธรรมดานี่แหละ แต่แค่ว่าแทนที่จะวิ่งไล่กันบนถนน กลายเป็นวิ่งไล่กันในความฝัน กระโดดจากฝันหนึ่งไปอีกฝันหนึ่ง ผมเชื่อว่าแต่ละเรื่องราวในความฝันที่วิ่งไปมีความหมายบางอย่างแน่นอนนะครับ แต่ผมก็ไม่คิดให้มันเสียเวลาหรอก ใช้แค่ความรู้สึกรับเรื่องราวมันมาก็พอ ฉาก opening credit นี่สวยมากๆ ใช้แนวคิดเดียวกัน คือกระโดดข้ามฝัน ไม่สปอยครับ คลิกดูได้เลย

สีสัน การออกแบบฉาก ตัวละคร ผมหาเครดิตไม่เจอนะครับว่าใครออกแบบบ้าง แต่จะบอกว่าสดเว่อ สีจากโปสเตอร์คือสีส้มและแดง คงเพราะ Paprika แปลว่า พริกขี้หนู นะครับ โทนสีมันเลยออกไปทางนั้น ฉากที่อยู่บนโลกจริง กับโลกความฝัน จะใช้โทนสีต่างกันนิดหน่อย โลกจริงจะเน้นโทนเข้ม ออกหม่นๆหน่อย ส่วนโลกความฝันจะสีสว่างๆ สดใส ร่างอวตารของแต่ละตัวละครในความฝัน ผมคิดว่ามันต้องมีความหมายสื่อถึงจิตใจของคนๆนั้นจริงๆแน่ๆ ผมสังเกตอย่าง Tokita อัจฉริยะอ้วน (ในโลกจริง) เมื่ออยู่ในความฝัน ร่างของเขาคือหุ่น เปรียบได้กับชีวิตที่ทำงานตามคำสั่งคนอื่น ไม่มีความต้องการของตัวเอง หรือ Himuro ที่ในฝันเป็นตุ๊กตาเด็กที่เหมือนผู้หญิง ตัวจริงเขาอาจเป็นอีกอย่าง แต่ในความฝัน ในจิตใต้สำนึก เขายังเป็นเหมือนตุ๊กตาเด็กที่เขาเคยได้รับเมื่อตอนเป็นเด็ก การเคลื่อนไหวของตัวละครใน Parade จะแปลกมากๆ ผมก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่ายังไง คือมันดูโย้เย้ เบี้ยวไปเบี้ยวมา ขนาดตู้เย็นยังเดินได้ คิดมาได้ยังไง

ฉาก Parade ในหนัง เกิดขึ้นจากการแชร์ฝันร่วมกัน เปรียบเหมือนการเดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายบางอย่าง ผมคิดว่าในใจของมนุษย์มีสิ่งหนึ่งที่คิดเหมือนๆกัน คือ ชีวิตมันต้องมีจุดหมายปลายทางบางอย่าง Parade นี้คือการร่วมทาง แต่เราจะเห็นว่าคนที่เดินใน Parade ความเป็นตัวของตนจะหายไป มีแต่ร่างกายเปล่าๆ จิตใจมันหายไปไหน ผมวิเคราะห์ว่ามันคล้ายๆกับการทำงานที่เมื่อเราทำไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มเคยชินกับงาน ถ้าเราไม่ชอบงานนั้นแต่ทำมันก็จะเหมือนหุ่นยนต์ที่ไร้จิตใจ มีแต่ตัวตนแต่ไร้จิตวิญญาณ เป้าหมายของ Parade ในหนังคือเพื่อเดินออกไปสู่โลกจริงๆ ซึ่งขบวน Parade นี้ก็ได้ออกมาในโลกจริงด้วย ผมเปรียบเหมือนกับโรคระบาดที่แพร่กระจายออกมา จากเดิมที่มันอยู่แค่ในใจของคนกลุ่มหนึ่ง มันติดออกมาสู่โลกภายนอก จากที่เคยมีผลกระทบแค่คนส่วนน้อยกลายเป็นมีผลกระทบต่อคนทั้งโลก การแก้ปัญหาในตอนจบ คือ การจะเอาชนะโรคนี้ คือเราต้องเข้าใจตัวเอง รู้จักด้านดีด้านชั่วของตัวเอง เปรียบเหมือน ถ้าผู้ร้ายคือผู้ชาย คนที่จะเอาชนะเขาก็คือผู้หญิง สิ่งที่ต่างกันสุดขั้ว ที่ผมมองว่านี่เป็นตอนจบที่ง่ายไปหน่อย เพราะหนังนำเสนอจุดนี้ไม่ชัดเลย อยู่ดีๆก็คิดได้แล้วก็ทำเลย ไม่ให้เวลาให้คนดูพิจารณาว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น แล้วเป็นแบบนั้นทำไมถึงเอาชนะอีกฝ่ายได้ ผมก็มึนครับว่าทำไม แต่มาวิเคราะห์ดูก็เป็นแบบที่ผมอธิบายไปนะแหละ

ทีมนักพากย์ Paprika โดย Megumi Hayashibara เธอคือเจ้าของเสียง Faye Valentine (Cowboy Bebop), Rei Ayanami (Neon Genesis Evangelion) เธอเป็นนักพากย์ที่ดังมากๆคนหนึ่ง พากย์ Atsuko จะกดเสียงใช้เสียงต่ำๆ ส่วนพากย์ Paprika จะเสียงสูงแหลมๆ บ่งบอกถึงนิสัยของตัวละครได้ชัดเจนมากๆ, Tōru Furuya พากย์ Tokita พี่แกทำเสียงเหมือนคนอ้วนได้แหะ (ทำยังไงหว่า!) ผลงานเด่นๆของเขาคือ Yamcha (Dragon Ball), Tuxedo Mask (Sailor Moon) ล่าสุดก็ Sabo (One Piece)

สิ่งที่ผมชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้คือ เพลงประกอบโดย Susumu Hirasawa ผมเคยพูดถึงเขาแล้วใน Millanium Actress ซึ่งพอมาทำ Paprika งานของเขาเหนือชั้นอีกระดับเลย เห็นว่ามันคือเสียง Vocaloid: Lola เสียงสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์ Lola คือเสียงของผู้หญิง นี่คือหนังเรื่องแรกของโลกที่ใช้เสียง Vocaloid มันให้ความรู้สึกอลม่าน วุ่นวาย สับสน พลุกพล่าน เข้ากับหนังโคตรๆ ฟังแรกๆอาจจะรู้สึกแปลกๆ แต่ฟังไปเรื่อยๆ เห้ย! ใช่เลย หนังเรื่องนี้มันต้องแบบนี้แหละ เพลงที่ผมชอบที่สุด The Girl In Byakkoya ลองคลิกฟังดูนะครับ

ก่อนที่คุณจะเข้าใจหนังเรื่องนี้ ต้องแยกให้ออกก่อนว่า ฉากไหนคือความฝัน ฉากไหนคือโลกจริง ครึ่งแรกคุณต้องแยกให้ออกก่อนให้ได้ เพราะครึ่งหลังมันยิ่งสับสนกว่า จุดสังเกตมีมากเลยนะครับ ถ้าเรื่องราวตอนนั้นดูโทนมืดๆ ตัวละครมีนิสัยจริงจัง ไม่มีภาพแฟนตาซี นั่นคือโลกจริง ส่วนเรื่องราวที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆ ภาพสวยมีสีสัน เคลื่อนไหวแปลกๆ ตัวละครมีนิสัยแปลกๆ นั่นคือฉากความฝัน หนังใช้การตัดสลับไปมาบ่อยครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก่อนที่จะเข้าสู่ความฝัน มันก็จะมีจุดที่บอกว่านี่กำลังเข้าสู่ฝันนะ ตัวละคร Paprika คือตัวละครที่เป็นร่างอวตารในฝันของนางเอก Atsuko Chiba นะครับ เธอไม่มีตัวตนในโลกจริงๆ ครึ่งแรกให้เข้าใจแค่นี้ก่อน

ครึ่งหลัง มันมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้ ความฝันกับโลกความเป็นจริงผนวกเข้าหากัน ทำให้ตัวละครในความฝันสามารถโผล่มาในโลกความจริงได้ ฟังดูมันตลกนะที่เราเห็น Paprika กับ Atsuko ร่วมฉากกัน ทั้งๆที่ทั้งคู่คือคนๆเดียวกัน แถมทำคนละอย่างกันด้วย เอานะครับ มันคือหนัง ดูแล้วอาจจะไม่มีเหตุผลรองรับมาก ผมคิดว่ามันคงประมาณ ตัวตนกับจิตสำนึกที่แยกออกจากกัน (ถ้าทางพุทธเรา ถ้ากายแยกกับจิต แล้วกายมันจะอยู่ได้ยังไง คำตอบคือ จิตของมนุษย์มันมีมากกว่า 1 จิตนะครับ) ให้ลองทำความเข้าใจดูว่าถ้าโลกจริงกับความฝันผนวกเข้าหากัน มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คิดไม่ได้ก็ดูในหนัง ความฝันมันจะเข้าครอบงำมนุษย์ในโลกจริง(take over) ทำให้โลกจริงกลายเป็นโลกของความฝัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ความฝันมีอิทธิพลต่อมนุษย์มากกว่าโลกความจริง (แนวคิดนี้คือจุดที่คล้ายๆกับ Inception ที่ผมบอก คือพระเอกเข้าไปในความฝัน เพื่อปลูกแนวคิดบางอย่าง ถ้าปลูกสำเร็จ คนที่ฝันก็จะยึดมั่นในแนวคิดนั้นตลอดไปเลย) ในขณะที่โลกความฝันกำลังกลืนโลกจริง กลุ่มตัวเอกเราก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อสู้กับมัน

อ่านแล้วเข้าใจกันบ้างไหมเอ่ย หรือยิ่งอ่านยิ่งสับสนขึ้น ผมแนะนำให้กลับไปดูอีกสัก 2-3 รอบสำหรับคนที่ดูไม่เข้าใจนะครับ เชื่อว่ารอบ 2 คุณอาจจะเห็นอะไรบางอย่างที่ทำให้เข้าใจหนังมากขึ้นก็เป็นได้

นี่เป็นหนังที่มีการออกแบบสวยงามมากๆ เพลงประกอบถ้าฟังจนติดหูแล้วจะหยุดฟังไม่ได้เลย คออนิเมะ ยังไงก็ห้ามพลาดนะครับ แนะนำสำหรับคนที่ชอบดูหนังที่เข้าใจยากๆ คิดเยอะๆ ต้องตั้งใจดูมากๆ ใครชอบ Inception ให้ลองดูหนังเรื่องนี้ ก็จะพบว่ามันคนละระดับกันเลย ผมให้เรตหนัง 13+ นะครับ เด็กกว่านี้ดูไปคงไม่เข้าใจ

คำโปรย : “Paprika หนังเรื่องสุดท้ายของ Satoshi Kon กับเรื่องราวความฝันที่ซ้อนทับกับโลกจริง เพลงประกอบโดย Sasamu Hirasawa ใครชอบดูหนังที่เข้าใจยากๆ มีความซับซ้อน ต้องดูหนังเรื่องนี้”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบLOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: