Parasite

Parasite (2019) Korean : Bong Joon-ho ♥♥♥♥

จริงๆแล้วไม่ใช่แค่คนจนหรือรวยที่เปรียบได้กับชนชั้นปรสิต แต่คือมนุษย์ทุกคนในระบอบทุนนิยม ต่างพยายามกอบโกยกิน แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เต็มไปด้วยความโลภละโมบเห็นแก่ตัว สร้างความ’เหม็น’ฉาวโฉ่ไปทั่วทั้งโลกา รวมถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เช่นกัน, คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes อย่างเป็นเอกฉันท์

“The film is such a unique experience, it’s an unexpected film. It took all of us. There’s an unexpected way that the film takes us through different genres, and spoke in a funny way about something so relevant and urgent and global in such a local film with efficiency”.

– Alejandro González Iñárritu ประธานคณะกรรมการสายการประกวด เทศกาลหนังเมือง Cannes

กลิ่น มันไม่มีหรอกนะครับ หอม-เหม็น เพราะจมูกคนเรารับสัมผัสได้แตกต่างกัน บางคนว่าสิ่งนี้หอมแต่อีกคนกลับดอมแล้วบอกเหม็น มาตรฐานที่ไม่เท่ากันนี้เองคือชนวนสร้างอคติ ความขัดแย้งระหว่างสองบุคคล กลุ่มมนุษย์ ชนชั้นฐานะ บานปลายถึงระดับประเทศชาติ และกลายเป็นปัญหาสากลระดับโลก

โลกยุคสมัยทุนนิยม เงินทอง อำนาจ ความสุขสบาย ถือเป็นสิ่งล่อตาล่อใจ ทำให้มนุษย์จมปลักอยู่กับความเพ้อใฝ่ฝัน หลอกตนเองไปวันๆ ปฏิเสธยินยอมรับความจริงแห่งโลก
– คนรวย เพราะมีชีวิตหรูหราสุขสบาย เลยครุ่นคิดว่าเงินทองสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง สร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี อ้างว่ามีมาตรฐานโน่นนี่นั่น แต่ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจอะไรใคร เย่อหยิ่งทะนงในเกียรติเข้าไว้ ชื่นชอบดูถูกเหยียดหยามชนชั้นต่ำต้อยกว่า ไม่นับว่าเป็นมนุษย์เหมือนกันเสียด้วยซ้ำ
– คนจน เพราะมีชีวิตทุกข์ยากลำบากแสนเข็น เลยพยายามกอบโกยกินทุกสิ่งอย่าง ฉกฉวยไขว่คว้าทุกโอกาส ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรมจรรยา มักมากด้วยความเห็นแก่ตัว สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน ไร้เกียรติศักดิ์ศรี แต่มีภูมิต้านทานต่อการดูถูกเหยียดหยามย่ำยี เพราะเฝ้ารอคอยสักวันที่จักสามารถโต้ตอบกลับทุกสิ่งอย่าง

‘Hell Joseon’ คือทัศนะ/คำเรียกจากปากคนรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้ ต่อความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในยุคสมัยปัจจุบัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากยุคสมัยราชวงศ์ Joseon (1392-1897) แบ่งแยกชนชั้นออกเป็น 4 วรรณะ (ก็คล้ายๆอินเดีย) คนที่มีฐานะ เงินทอง ชื่อเสียง และอำนาจในสังคม มักครุ่นคิดว่าตนเองสามารถกระทำได้ทุกสิ่งอย่างไม่มีถูกผิด ค่านิยมดังกล่าวยังคงได้รับการถ่ายทอดส่งต่อแม้ระบบจะล่มสลายไปนานแล้ว แต่ชนชั้นคนสูงก็ยังคงแสดงออกไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่

Parasite คือภาพยนตร์ Tragi-Comedy ที่ชักชวนผู้ชมให้เกิดความตระหนัก รับรู้ถึงความแตกต่างทางชนชั้น ฐานะ สังคมในโลกยุคสมัยทุนนิยม ครุ่นคิดค้นหาสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? ปัจจุบันมันถึงเกิดความเหลื่อมล้ำได้ขนาดนี้ และจะมีวิธีการไหนไหมสามารถลดช่องว่างระหว่าง

แต่ต่อให้คิดจนฟ้าถล่มดินทลาย คงไม่มีใครไหนสามารถขบไขปัญหาดังกล่าวออกได้ เพราะนี่คือวิวัฒนาการ/วัฏจักรแห่งโลก สหัสวรรษที่มนุษย์ผันแปรเปลี่ยนความเชื่อศรัทธา มาเป็นเทิดบูชาลัทธิวัตถุนิยม ทอดทิ้งความดีงาม คุณธรรมมโนธรรมทางจิตใจ ถ้าคุณเผลอปล่อยตัวให้ล่องลอยไปตามวิถีดังกล่าวเมื่อไหร่ ชีวิตหลังความตายตระหนักได้ก็สายเกินแก้ไข

สิ่งที่คงจะทำให้ Parasite ได้รับการจดจำอย่างยาวนานต่อไปในอนาคต คือการหักมุมที่มากมายหลายตลบ จนผู้ชมส่วนใหญ่ครุ่นคิดตามไม่ทัน แต่จะบอกว่าถ้าคุณรับชมภาพยนตร์มามากๆปริมาณหนึ่ง เข้าใจโครงสร้างการเขียนบท ช่างสังเกตเงื่อนงำรายละเอียดเล็กๆน้อย จักสามารถครุ่นคิดติดตาม และคาดเดาได้เกือบทั้งหมดว่าจะมีอะไรบังเกิดขึ้นบ้าง

บทความนี้มีสปอยแน่นอนนะครับ พยายามหลีกเลี่ยงถ้าไม่อยากเสียอรรถรสในการรับชม


Bong Joon-ho (เกิดปี 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Daegu ปู่ทวดคือนักเขียนชื่อดัง บิดาประกอบอาชีพ Graphic Designer ตัวเขาลูกคนกลาง ต้องการจะเป็นผู้กำกับสร้างภาพยนตร์แต่ครอบครัวไม่อนุญาต เข้าเรียน Yonsei University คณะสังคมวิทยา แต่ก็เอาเวลาไปรับชมภาพยนตร์ ชื่นชอบโปรดปรานผลงานของผู้กำกับ Edward Yang, Hou Hsiao-hsien และ Shohei Imamura

เมื่อเรียนจบมหาลัยก็ไม่จำเป็นต้องง้อใครอีก ทำงานหาเงินเป็นติวเตอร์เพื่อเข้าศึกษาต่อ Korean Academy of Film Arts จากนั้นช่วงงานเบื้องหลัง จนกระทั่งได้เครดิตเขียนบท Seven Reasons Why Beer is Better Than a Lover (1996), ผู้ช่วยผู้กำกับ Motel Cactus (1997), Phantom: The Submarine (1999), และผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Barking Dogs Never Bite (2000) ออกฉายตามเทศกาลหนัง ค่อยๆสะสมชื่อเสียง กระแสปากต่อปาก ใช้เวลากว่าสองปีถึงสามารถคืนทุนสร้าง

ผลงานลำดับที่สอง Memories of Murder (2003) ครั้งแรกร่วมงานกับ Song Kang-ho ประสบความสำเร็จล้นหลาม, ติดตามมาด้วย The Host (2016) ทุบสถิติยอดจำหน่ายตั๋วสูงสุดตลอดกาลในเกาหลีใต้, Mother (2009), โกอินเตอร์กับ Snowpiercer (2013), Okja (2017)

สำหรับ Parasite ความสนใจแรกของ Bong Joon-ho ต้องการพัฒนาบทสำหรับละครเวที โดยมีสองครอบครัวแตกต่างตรงกันข้าม หนึ่งโคตรรวย สองโคตรจน นำเสนอเรื่องราวชวนหัวของความขัดแย้ง ดำเนินเรื่องในบ้านของพวกเขา (ถ้าได้เป็นละครเวทีก็จักสร้างเพียงสองฉาก บ้านคนรวย, บ้านคนจน) จากนั้นครุ่นคิดต่อยอดว่า อะไรคือสิ่งที่จะทำให้ทั้งสองครอบครัวมีโอกาสพานพบเจอ พูดคุย เกิดปฏิสัมพันธ์ ก็นึกถึงเมื่อครั้นตนเองเคยรับงานติวเตอร์สอนลูกคนรวย

“From the start, it was going to be about two opposing families – one rich, one poor. But the plot is derived from my personal experience of tutoring. When I was in college, like Ki-woo in the story, I had experience tutoring a ninth grader, and I remember the first time I entered his home … It was a luxurious villa, and the first thing I saw when I entered the gate was the well-maintained garden. I also remember how quiet the neighborhood was, and meeting his mother, so there are moments in the film that are derived from my personal experience”.

– Bong Joon-ho

เกร็ด: Working Title แรกสุดของหนังคือ The Décalcomanie ได้แรงบันดาลใจจากเทคนิคงานศิลปะหนึ่ง Decalcomania (ย่อๆว่า Decal) ภาษาไทยมีคำเรียก ‘ภาพทาบสี’ โดยการนำเอากระดาษหรือผ้าใบที่ระบายสีไว้มาประกบกันแล้วดึงออก ผลลัพท์ย่อมคือสิ่งไม่มีใครคาดคิดถึง ซึ่งสะท้อนเข้ากับเรื่องราวของคนรวย vs. คนจน แยกกันอยู่ก็ทางใครทางมัน แต่เมื่อจับพลัดจับพลูมาอยู่ร่วมกัน เรื่องวุ่นๆมิอาจคาดเดาจึงได้บังเกิดขึ้น

เรื่องราววุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Kim Ki-woo ได้รับการไหว้วานจากเพื่อนสนิท ให้ไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษลูกคนรวย Da-hye ซึ่งเขาก็ได้วางแผนให้สมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว ได้มีโอกาสถูกว่าจ้างเข้าทำงาน
– น้องสาว Ki-jung ปลอมตัวเป็นครูสอนศิลปะชื่อ Jessica ใช้วิธีการอะไรไม่รู้ อ้างจิตวิทยาบำบัด สยบศิโรราบ Da-song ได้อย่างอยู่หมัด
– จากนั้น Ki-jung ใช้มารยาหญิง ทอดทิ้งบางสิ่งสกปรกไว้บนรถ ทำให้พ่อ Ki-taek ได้งานเป็นคนขับรถ Mr. Park
– หาวิธีขับไล่แม่บ้านคนเก่า ด้วยการนำเอาข้ออ้างใส่ซอสพริก จนทำให้แม่ Choong-sook ได้รับการติดต่อมาทำงานใหม่

เมื่อทั้งสี่ได้ทำงานในบ้านสุดหรูไฮโซหลังนี้ พวกเขาก็มีความดื่มด่ำสุขสำราญ ปล่อยตัวกายใจเมื่อ Mr. Park พาภรรยาและลูกๆออกไปท่องเที่ยว ตั้งแคมป์ พักค้างแรมต่างจังหวัด แต่แล้วบางสิ่งอย่างก็เกิดขึ้นในระยะเวลา 1 วัน 1 คืน อย่างไม่มีใครสามารถคาดคิดถึง!


ครอบครัว Kim อาศัยอยู่บ้านชั้นล่าง สภาพโกโรโกโสไม่ต่างจากรังหนู ชักโครกอยู่สูงเหนือศีรษะ วันๆสนแต่มองหาไวไฟฟรี ชีวิตเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย
– Song Kang-ho นักแสดงขาประจำคนโปรดของผู้กำกับ Bong Joon-ho ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Memories of Murder รับบทพ่อ Kim Ki-taek ดูเป็นคนพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่ฝีมือขับรถยอดเยี่ยมใช้ได้ และเก่งกาจเรื่องการแสดง ปั้นสีหน้า เก็บกดทางอารมณ์ ถึงกระนั้นถ้าถูกบีบคั้นกดดันขีดสุดก็มิอาจอดรนทนไหวอีกต่อไป
– Jang Hye-jin รับบทแม่ Choong-sook เป็นนักขว้างค้อน ที่สะท้อนถึงความพยายามปัดสวะออกจากตัว ทั้งชีวิตสนเพียงความสุขครอบครัว และฝีมือการทำอาหารใช้ได้ (แต่ไม่รู้เพราะเปิดอ่านจากเน็ตหรือเปล่านะ)
– Choi Woo-shik นักแสดงหนุ่มหน้าใส แจ้งเกิดกับ Set Me Free (2014) ติดตามมาด้วย Train to Busan (2016) และเพิ่งร่วมงานผู้กำกับ Bong Joon-ho เรื่อง Okja (2017) รับบท Kim Ki-woo ลูกชายคนโตที่แม้เฉลียวฉลาดหลักแหลม แต่กลับสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยสักที ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนสนิทให้เป็นครู Kelvin สอนภาษาอังกฤษ ความรู้คงพอมีจึงสามารถซื้อใจคุณนาย Yeon-kyo ได้โดยทันที ซึ่งหลังจากคาบแรก Da-hye ก็แสดงธาตุแท้ออกมาว่าตกหลุมรัก แต่พยายามยับยั้งยังไม่โตพอให้เกินเลยเถิดไปกว่านั้น และช่วงท้ายจิตใจมัวหมกมุ่นอยู่กับบางสิ่งอย่าง จนไม่สามารถควบคุมสติเลยโดนดีย้อนแย้งเข้ากับตัว
– Park So-dam หลังเรียนจบจาก Korea National University of Arts เข้าตาผู้สร้างภาพยนตร์ โด่งดังคว้ารางวัลกับ The Silenced (2015) มีผลงานติดตามมาเรื่อยๆจนกระทั่ง Parasite (2019) รับบทน้องสาวซึนเดเระ Ki-jung อัจฉริยะด้านศิลปะ เก่งกาจเรื่อง Graphic Design แต่เลือกไม่เรียนต่อ(เพราะไม่มีเงิน) ปลอมตัวเป็นอาจารย์ Jessica จบจาก Illinois ใช้วิธีการอะไรไม่รู้สยบ Da-song จนอยู่หมัด ทำให้คุณนาย Yeon-kyo ติดกับ และใช้มารยาเสน่ห์ดักคนขับรถ ส่งต่อพ่อกลายเป็นโชเฟอร์ Mr. Park

ครอบครัว Park อาศัยอยู่บ้านสุดหรูบนเนินเขา ออกแบบโดยสถาปิกชื่อดัง ช่างมีความโอ่โถง โมเดิร์น สะอาดสะอ้าน แม้แสงสว่างช่างอบอุ่น แต่ช่างเงียบเหงาอ้างว้าง
– Lee Sun-kyun นักแสดงหนุ่มสุดหล่อจากซีรีย์ Coffee Prince (2007) ปัจจุบันก้าวย่างสู่วัยกลางคนก็ยังดูดีไม่เสื่อมคลาย รับบท Mr. Park เจ้าของบริษัททำเกม VR จมปลักอยู่ในโลกมายา ใช้ชีวิตอย่างเลิศหรูหรา จับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือยแค่ไหนคงไม่หมดลงง่ายๆ เลือกแต่งงานกับผู้หญิงทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง (อาจจะนอกจากเรื่องบนเตียง) มีทัศนคติดูถูกเหยียดหยามคนชนชั้นกลาง-ล่าง เย่อหยิ่งทะนงตน ยกยอปอปั้นตนเองอย่างสูงส่ง
– Cho Yeo-jeong แม้จะเข้าวงการมาตั้งแต่ปี 1999 แต่เพิ่งมาเริ่มมีชื่อเสียงจาก The Servant (2010), ตามด้วยซีรีย์ I Need Romance (2011), ภาพยนตร์ The Concubine (2012) และ Parasite (2019) รับบท Yeon-kyo ภรรยาที่พยายามทำตัวเฉลียวฉลาด แต่แท้จริงแล้วใสซื่อบริสุทธิ์ อ่อนเยาว์วัยต่อโลก ทำอะไรเองไม่เป็นสับปะรดสักอย่าง เลยมักถูกโน้มน้าวจูงจมูก ให้เข้าใจอะไรผิดๆถูกๆ ง่ายต่อการต้มตุ๋นหลอกลวงเสียจริง
– Hyun Seung-min อดีตนักสเกตลีลา กลายมาเป็นนักแสดงเด็กซีรีย์ May Queen (2012) มีผลงานติดตามมาหลายๆเรื่อง กระทั่งภาพยนตร์ Parasite (2019) รับบท Da-hye เด็กหญิงเกรด 9 เพราะถูกเลี้ยงดูอย่างนกในกรง จึงพยายามดิ้นรน เรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น เมื่อแรกพบเจอตกหลุมรัก Ki-woo แต่ก็ได้แค่กอดจูบ ยังไม่กล้าทำอะไรไปมากกว่านั้น (แต่ดูแล้วเธอคงอยากร่านราคะน่าดู)
– Jung Hyun-joon รับบท Park Da-song เด็กชายผู้มีความลุ่มหลงใหลในชนเผ่าอินเดียแดง ชื่นชอบการผจญภัยไขปริศนา แต่มีปมบางอย่างเป็น Trauma ยังมิอาจลบลืมเลือน ฝังจิตฝังใจจนถึงปัจจุบัน ได้รับการค้นพบโดย Ki-jung สังเกตเห็นจากภาพวาด Abstract สุดแปลกประหลาด

อีกคนหนึ่งที่แอบมาแย่งซีน Lee Jung-eun รับบท Gook Moon-gwang แม่บ้านครอบครัว Mr. Park เธอได้ทำงานนี้มาตั้งแต่เจ้าของบ้านคนก่อน แล้วเก็บซ่อนความลับบางอย่างไว้ เรื่องฝีมือการจัดการถือว่าสมบูรณ์แบบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีจุดอ่อนบางอย่าง เลยถูกกลั่นแกล้งและโดนผลักไสออกจากบ้าน ซึ่งเมื่อถึงตอนหวนกลับมาเอาคืน …

สำหรับนักแสดงที่ผมถือว่าเป็นไฮไลท์ของหนังเลยก็คือ Cho Yeo-jeong ลุ่มหลงใหลในความอ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสา แต่เห็นใสซื่อบริสุทธิ์อย่างนั้น ภายในคงเต็มไปด้วยความเร่าร้อนรุนแรง ปากพยายามบอกปัดปฏิเสธ แต่มือกลับล้วงเข้าไปไวกว่าเสียงเสียอีกนะ ก็ว่าละทำไมสามี Mr. Park ถึงตกหลุมรักเมียคนนี้หัวปลักหัวปลำ (คนรวยแล้วไม่นอกใจมีน้อยมากๆ)


ถ่ายภาพโดย Hong Kyung-pyo ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติเกาหลี ก่อนหน้านี้ร่วมงานผู้กำกับ Bong Joon-ho เรื่อง Mother (2009) กับ Snowpiercer (2013) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Il Mare (2000), Tae Guk Gi: The Brotherhood of War (2004), Burning (2018) ฯ

ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes ใครๆต่างสอบถาม Bong Joon-ho ว่าไปสรรหาสถานที่ถ่ายทำจากไหน? ยังไง? ในเกาหลีใต้มีบ้านแบบนั้นจริงๆหรือเปล่า? คำตอบของเขาสร้างความอึ่งทึ่งคาดไม่ถึง บอกว่าแทบทั้งหมดเป็นการเซ็ตฉากถ่ายทำในสตูดิโอ Goyang Aqua Studio (นอกจากฉากถ่ายตามท้องถนน และโรงยิมเมื่อตอนหลบภัย)

งานภาพของหนังถือว่าไม่โดดเด่นนัก เมื่อเทียบกับการออกแบบและตัดต่อ แต่หลายๆช็อตสามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างออกมา ซึ่งสไตล์ของ Bong Joon-ho ไม่จำกัดตนเองอยู่แนวทางใดหนึ่ง ปรับเปลี่ยนแปลงผันไดเรคชั่นไปตามสถานการณ์เรื่องราว (มีคำเรียกว่า no-genre)

ช็อตแรกของหนัง หน้าต่างในห้องเช่าใต้ถุนบ้าน ช่างมีขนาดเล็กกระจิด (เมื่อเทียบกับบ้านของ Mr. Park) เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก แถมด้วยห้อยถุงเท้าไว้เหนือศีรษะ ของต่ำแบบนี้กลับอยู่สูง สะท้อนอะไรหลายๆอย่างมากมาย

ตรงกันข้ามกับบ้านของ Mr. Park ช่างดูหรูหรา สะอาด โมเดิร์น สัมผัสได้ถึงความราคาแพง และแทบจะไม่ได้ยินเสียงโหวกเหวกอะไรจากภายนอก ซึ่งส่วนหนึ่งทำการผสม CGI เข้าไป เพื่อให้ดูงดงามชวนฝันสักหน่อย

จะว่าไปการจัดแสงที่บ้านทั้งสองหลังมีลักษณะแตกต่างกันด้วยนะ
– ห้องเช่าใต้ถุน เพราะแสงจากด้านนอกสาดส่องมาแทบไม่ถึง จึงจำเป็นต้องใช้การจัดแสงไฟอย่างมากทีเดียว
– ขณะที่บ้านสุดหรูของ Mr. Park สามารถใช้แสงธรรมชาติล้วนๆสาดส่องเข้ามา

งานพับกล่องพิซซ่าของครอบครัว Kim นัยยะถึงการประกอบชีวิตให้เป็นรูปเป็นร่าง แต่เพราะความเร่งรีบร้อน ต้องการปริมาณ แถมพยายามลอกเลียนแบบตามคลิป โดยไม่ดูความเข้ากัน (อาจเพราะโดนรมควันด้วยกระมัง) สุดท้ายก็เละเทะไม่เป็นสับปะรด ใช้งานได้จริงแค่หนึ่งในสาม(หรือสี่)ของทั้งหมด แล้วจะไป Blackmail เจ้าของอีกนะ!

แซว: กล่องพิซซาเคลือบยาฆ่าแมลง เห้ย! แล้วมันไม่มีสารตกค้างหรือไร รู้แบบนี้ใครจะไปกล้าสั่งกลับบ้านอีก

ชีวิตคุณนายของ Yeon-kyo ช่างมีความสุขสบายผ่อนคลายเสียเหลือเกิน ภาพช็อตแรกของเธอกำลังนอนหลับฝันหวานอยู่ในสวน ตะโกนเรียกก็ไม่ยอมตื่น จนแม่บ้านต้องปรบมือเสียงดังค่อยสะดุ้งขึ้น (สะท้อนว่า ถ้าไม่ใช่เกิดเรื่องเลวร้ายรุนแรงขึ้นจริง ชนชั้นคนเหล่านี้ย่อมไม่ยี่หร่าถึงอะไรทั้งนั้น) สังเกตว่าช็อตนี้ Ki-woo จับมองจากข้างใน พบเห็นร่องกระจกแบ่งแยกโลกของเขาและแม่บ้าน ออกจากจักรวาลคนรวยโดยสิ้นเชิง

หนังมีสองงานศิลปะ Abstract
– หิน Abstract หรือ Landscape ก็ไม่รู้ละ! ในเกาหลีใต้มีคำเรียกว่า Suseok (มาจากภาษาจีน Gongshi) เป็นหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ด้วยรูปร่างน่าสนใจ เหมือนจะมีพลังงานบางอย่างซ่อนเร้น เลยนำมาใช้ประดับตกแต่งภายใน ฮวยจุ้ยชั้นดี ซึ่งตัวละครเชื่อว่าคือเครื่องมงคลแห่งความมั่งมี เงินทองไหลมาเทมา (เหมาะมือสำหรับไปขว้างใส่หัวคนมากกว่า)
– ภาพวาดของ Da-song ส่วนใหญ่ใครๆมองว่าเขาวาดตนเองออกมา แต่ผมครุ่นคิดว่าน่าจะเป็นผีที่เด็กชายเคยเห็นเสียมากกว่า ส่วนพื้นหลังพอมองออกว่าเป็นท้องฟ้า ทุ่งหญ้า พระอาทิตย์ และเต็นท์ (ที่เด็กชายโหยหา)

บ้านคนจน เพราะความไม่มีอะไรเลยไม่รู้จะหลบซ่อนอะไร (นอกจากเงินที่ Ki-jung ซ่อนไว้บนเพดาน เทิดทูนเหนือเกล้ากระหม่อม) แต่สำหรับคนรวย เพราะต้องสร้างภาพให้ดูดี เลยมักมีบางสิ่งอย่างปกปิดซ่อนเร้นไว้ภายใต้

นักวิจารณ์ฝั่งเกาหลีใต้ พบเห็น Sequence นี้ที่เมื่อเปิดเผยออกมา มักเปรียบเปรยบ้านหลังนี้กับเกาหลีเหนือ (หนังจะมีฉากล้อเลียนท่านผู้นำ คิม จ็อง-อึน อยู่ด้วยนะ) เพราะภายนอกแสดงออกให้นานาชาติประจักษ์เห็นอย่างเลิศหรูหรา แท้จริงเป็นอย่างไรกลับถูกปกปิดบังซ่อนเร้น

หนึ่งใน Sequence ที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง หลังจากที่ครอบครัว Kim ได้พบเจอกับเรื่องราวไม่คาดคิดถึง จนสามารถหลบหนีออกจากบ้าน Mr. Park พวกเขาออกวิ่งลงบันได ร้อยเรียงปรับเปลี่ยนทิศทางมุมมองไปมาในลักษณะ Montage ไม่รู้จักถึงกาลสิ้นสุดเมื่อไหร่ … คือจะลงต่ำให้ถึงขุมนรกเลยหรือยังไง

ที่น่าทึ่งสุดของฉากนี้คือน้ำท่วมบ้าน มันช่างเต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน Sound Effect เสียงสายน้ำไหล และไฮไลท์คือน้ำในชักโครก ‘Shit Altars’ ที่พยายามพุ่งขึ้นมา Ki-jung นั่งทับไว้ด้วยความหมดอาลัย ทำไมเรื่องร้ายๆถึงได้ถาโถมเข้ามารุนแรงพร้อมกันขนาดนี้

จริงๆมีอีกฉากหนึ่งที่ผมชื่นชอบพอๆกัน คือตอนที่ Ki-jung อยู่ในห้องอาบน้ำบ้าน Mr. Park มันคือมุมกล้องและการจัดแสงที่ให้สัมผัสถึงความอบอุ่น ใบหน้าอิ่มเอิบเบิกบาน ซึ่งมันจะสะท้อนย้อนแย้งกับตอนเธอนั่งปิดฝาส้วมที่บ้านจริงๆอย่างหมดสิ้นหวัง

การหลบซ่อนใต้โต๊ะแล้วไม่มีใครสังเกตเห็น (เหมือนแมลงสาปเลยนะ) สะท้อนสิ่งที่อยู่ใต้ชายคาบ้านหลังนี้ แต่เจ้าของกลับไม่เคยรับรู้สึกตัว หรือเทียบกับสิ่งที่ประชาชน ประเทศชาติ ไม่เคยรับรู้เอาใจใส่ว่ามีบางสิ่งอย่างซ่อนเร้นไว้

อินเดียแดง ผมรู้สึกเล็กๆว่าผู้กำกับ Bong Joon-ho อาจได้แรงบันดาลใจจาก The Shining (1980) ของผู้กำกับ Stanley Kubrick ที่ทำการสอดไส้จุดเริ่มต้นชาติอเมริกัน มาจากการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองให้หมดสิ้นไป แล้วชาวผิวขาวก็เข้ามายึดครอบครองผืนแผ่นดินแดนแทนที่ทั้งหมด ยกยอปอปั้นตนเองสูงส่งเหนือใคร

ในบริบทของหนัง เมื่อพ่อสวมหมวกกลายเป็นอินเดียแดง สายตาของเขาเต็มไปด้วยความอึดอัด คับข้อง ขุ่นเคือง จับจ้องมอง Mr. Park ด้วยสายตาหยามเหยียด ต้องการกระทำบางสิ่งอย่างแต่ช่วงแรกๆยังสามารถหยุดยับยั้งชั่งใจ จนกระทั่งเมื่อพบเห็นบางสิ่งอย่างบาดตาบาดใจ ยินยอมรับไม่ได้ แสดงออกด้วยความคลุ้มคลั่งแค้น ราวกับสูญเสียสติสัมปชัญญะไป

ซึ่งหลังจากพ่อได้กระทำบางสิ่งอย่างนั้น กล้องถ่ายจากมุมสูง Bird Eye View ราวกับพระเจ้าเบื้องบนจับจ้องมองลงมา (สะท้อนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่เขาควบคุมตนเองไม่ได้ ฟ้าบันดาล โชคชะตาชี้นำทาง คนเขียนบทจรดไว้) จากนั้นค่อยๆเดินอย่างสโลโมชั่น หลบหนีออกจากสถานที่ก่อเหตุ หายเร้นไปกับ…

ตัดต่อโดย Yang Jin-mo ผลงานเด่นๆ อาทิ Train to Busan (2016), Okja (2017) ฯ

ถ้าพิจารณาจากระยะเวลาดำเนินเรื่อง จะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน
– ครึ่งแรกจะดำเนินเรื่องแบบกระโดดไปข้างหน้า ไล่เรียงจากแนะนำตัวละคร, Ki-woo ก้าวสู่รั้วบ้าน Mr. Park ติดตามมาด้วยน้องสาว Ki-jung, พ่อ Ki-taek และแม่ Choong-sook
– ครึ่งหลังจะในระยะเวลา 1 วัน 1 คืน เริ่มตั้งแต่ครอบครัว Mr. Park ออกเดินทางไปแคมปิ้ง ทำให้ครอบครัว Kim อพยพเข้ามาพักอาศัย ผจญเรื่องวุ่นๆมากมายให้ต้องหลบหนีออกมา จากนั้นอีกวันหนึ่งต้องหวนกลับไปเผชิญหน้ากับบางสิ่งอย่าง
– และปัจฉิมบท ดำเนินเรื่องในมุมมอง Ki-woo ภายหลังเหตุการณ์ทั้งหมด เริ่มจากลืมตาขึ้น ค้นพบความจริง และจินตนาการถึงอนาคต

ผู้กำกับ Bong Joon-ho เก่งกาจทีเดียวในการสร้างสถานการณ์ จัดวางเงื่อนไขให้ผู้ชมค้างคาบางอย่างไว้ในใจ จากนั้นเมื่อเรื่องราวดำเนินไป เจ้าสิ่งนี้จักก่อให้เกิดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ตัวละครจะสามารถเอาตัวรอดผ่านพ้นไปได้หรือเปล่า, ขอยกตัวอย่างแยกออกมาเป็นเหตุการณ์เลยแล้วกันนะครับ
– เหตุการณ์ลูกโซ่ของช่วงครึ่งแรก ผมเชื่อว่าใครๆน่าจะเริ่มประติดประต่อเรื่องราวได้ตั้งแต่ Ki-woo นำพาน้องสาว Ki-jung เข้ามาสมัครงานครูสอนศิลปะที่บ้าน Mr. Park แค่ว่าพ่อกับแม่จะเข้ามาทำงานอะไร ชวนให้ครุ่นคิดติดตามอยู่ไม่น้อย
– ปาร์ตี้ของครอบครัว Kim ในบ้านของ Mr. Park จะมีขณะหนึ่งที่ใครสักคนพูดเป็นลางสังหรณ์ไว้ (น่าจะเป็นแม่ มั้งนะ) สมมติว่าเจ้านายกลับบ้านมา ทุกคนจะวิ่งวุ่นหาทางหลบซ่อนราวกับแมลงสาป … ก็ได้เป็นจริงสมปรารถนา
– ผู้ชมตระหนักรับรู้ว่า ค่ำคืนก่อนของครอบครัว Kim เพิ่งพานผ่านเหตุการณ์เลวร้ายอะไรมา (น้ำท่วมบ้าน พังเสียหายย่อยยับเยิน) แต่ทุกคนกลับถูกเรียกตัวมาร่วมงานเลี้ยงวันเกิด Da-song ด้วยเหตุนี้เลยรับรู้สึกเข้าใจถึงอารมณ์ พบเห็นสีหน้าสายตาเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น รวดร้าวทุกข์ทรมาน พยายามปั้นใบหน้ากลบเกลื่อนข้อเท็จจริง
ฯลฯ

Parasite เป็นหนังแห่งการต้มตุ๋น ซึ่งปัจจิมบทช่วงท้ายจะมีขณะหนึ่งที่ทำการหลอกผู้ชม ให้ครุ่นคิดว่าคงลงเอยด้วยความสุขสมหวัง Happy Ending แต่ที่ไหนได้กลับกลายเป็นจินตนาการอนาคตของตัวละคร เรียกว่าหักมุมเพื่อสร้างรอยยิ้มเล็กๆ อนาคตที่พอจะคาดหวังได้ของครอบครัวนี้


เพลงประกอบโดย Jung Jae-il เคยร่วมงานผู้กำกับ Bong Joon-ho เรื่อง Okja (2017)

ช่วงต้นของหนังระหว่างขึ้นโลโก้บริษัท จะได้ยินเสียงกระดิ่งล่องลอยไปมารอบทิศทาง ผู้กำกับ Bong Joon-ho ให้เหตุผลของการทำเช่นนี้ตั้งแต่ Okja (2017) ว่าคือการ Sound Check ในโรงภาพยนตร์ ไม่รู้เพราะประเทศเกาหลีไม่ได้มีโฆษณา Hilux Vigo เหมือนบ้านเรา (หรือถ้าโรง SF ใช้เสียงเทโค้กใส่น้ำแข็ง) นี่จึงเป็นการตรวจสอบคุณภาพเครื่องเสียงไปในตัว ไม่ได้มีนัยยะอะไรอื่นใด

ผมสังเกตว่าหนังมีวิวัฒนาการของทางดนตรีพอสมควร กล่าวคือช่วงแรกๆเริ่มต้นด้วยบรรเลงเปียโน (เครื่องดนตรีเดียว) จากนั้นค่อยๆพัฒนาขึ้นเป็นชุดเครื่องสาย ตามด้วย Orchestra และที่สุดพร้อมเสียงร้องคอรัสตอนไปแคมปิ้ง (พร้อมเสียงหลอนๆของ Theremin) ซึ่งถือเป็นการไล่ระดับ สะท้อนไต่เต้าของครอบครัว Kim ทีละคนค่อยๆได้ทำงานยังบ้าน Mr. Park

Bong Joon-ho ชื่นชอบที่จะผสมผสาน Genre ของหนังเข้าด้วยกัน เช่นกันกับเพลงประกอบซึ่งมีหลากหลายมาก อย่างบทเพลง Belt of Faith เลือกใช้ท่วงทำนองดนตรี Baroque (กลิ่นอาย Vivaldi) สะท้อนความเลิศหรูหราอลังการของบ้าน Mr. Park ดูราวกับภาพวาดงานศิลปะสุดไฮโซในยุคสมัย Renaissance

เมื่อบ้าน Mr. Park ได้ถูกพิชิต ดังขึ้นคือบทเพลง/จากภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน In Ginocchio Da Te (1964) [แปลว่า Kneeling by you] ขับร้องโดย Gianni Morandi ศิลปินป๊อปชื่อดัง สัญชาติอิตาเลี่ยน

หรือตอนเหตุการณ์น้ำท่วม ก็ใส่เสียงฝนตก น้ำไหล ผสมผสานเข้าไปใน Soundtrack ให้ออกมาเป็นเสียงธรรมชาติ ซึ่งก็มีสัมผัสของ Minimalist อยู่เล็กๆ

บทเพลง Blood and Sword เสียงกรีดกรายของเครื่องสาย พบเห็นทั่วไปกับหนัง Horror ซึ่งอิทธิพลเริ่มแรกสุดมาจาก Krzysztof Penderecki คีตกวีสัญชาติ Polish ได้ยินจากทั้ง The Shining (1980) และ The Exorcist (1973)

(ผมหาคลิปใน Youtube ไม่ได้ แต่ใครสนใน Spotify มีทั้งอัลบัมนะครับ)

สุดท้ายกับบทเพลง A glass of Soju ขับร้องโดย Choi Woo-shik ได้ยินตอนต้นและช่วงท้ายของหนัง เนื้อคำร้องเป็นการรำพันคิดถึงคนรักของหนุ่มขี้เมา ท่อนแรกประมาณว่า ‘ในค่ำคืนที่ฉันครุ่นคิดว่ากำลังจะดื่มด่ำ Soju ราวกับผมได้อยู่เคียงค้างคุณ นึกถึงช่วงเวลาแสนสุขเคยอยู่ร่วมกันมา’

นัยยะของหนัง คนรักน่าจะสื่อถึงพ่อมากกว่า เพราะเขาจำต้องสุญหายตัวไปเนื่องจากกระทำบางสิ่งอย่างชั่วร้ายไว้ สักวันในอนาคตถ้าจินตนาการสามารถสำเร็จลุผลขึ้นได้ ครอบครัวที่แสนสุขก็อาจหวนกลับคืนมา

การจะมีชีวิตอยู่รอดในยุคสมัยทุนนิยม เงินทองเท่านั้นคือปัจจัย ใช้ซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน มีมากเท่าไหร่ย่อมทำให้ชีวิตสุขสบาย สามารถครุ่นคิดทำอะไรก็ได้ตามใจ ตรงกันข้ามกับคนผู้ยากไร้ มักถูกสังคมตีตราหน้าราวกับเหม็นสาปควาย ว่าเป็นพวกคอยเกาะกิน จับจ้องแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่น ปฏิเสธการดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง

ผู้ชมส่วนใหญ่ อาจจะรวมไปถึงผู้กำกับ Bong Joon-ho พยายามชี้ชักนำ จำแนกออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในหนังว่า ครอบครัว Kim ทำตัวราวกับเป็นปรสิต พยายามเข้าไปเกาะแก่งกิน สูบเลือดเนื้อเงินทองจากบ้านของ Mr. Park แถมยังไปสร้างความเดือดร้อน ยุ่งยากวุ่นวาย ไม่ผิดกับแมลงสาปสมควรถูกกำจัดทำลายล้างให้สิ้นซาก (ตั้งแต่ต้นเรื่อง)

แต่ผมมองหนังเรื่องนี้ต่างออกไปพอสมควรเลยนะ เพราะปรสิตคือสิ่งมีชีวิตที่คอยเกาะกิน กอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน โดยไม่สนว่าจะสร้างความเดือดร้อนอะไรต่อใคร … ซึ่งจากแนวคิดนี้ มนุษย์ทั้งโลกนะแหละครับไม่ต่างจากปรสิต โดยสิ่งที่เกาะกิน และพยายามกอบโกยคือเงินทอง ของมีค่า ความสุขอันได้จากวัตถุ พึงพอใจส่วนตน และยังบ่อนทำลายโลกใบนี้ ด้วยการสร้างมลพิษมากมาย

พวกคนรวยทั้งหลาย ก็ถือเป็นปรสิตจำพวกที่ตรงกันข้ามกับคนจน
– อย่างหนังเรื่องนี้ ครอบครัว Kim พยายามเกาะแก่งกิน สูบเลือดเนื้อเงินทองจากบ้านของ Mr. Park จนเกิดความอิ่มหนำพึงพอใจ
– Mr. Park ร่ำรวยเงินทองจากไหน? หนังทิ้งคำใบ้เล็กๆว่าทำงานบริษัท IT เห็นเล่นกับเครื่อง VR นั่นก็แปลว่าเขาได้กำไรจากการขายภาพลวงตาให้กับผู้คนมากมาย สูบเลือดสูบเนื้อลูกค้านับพันหมื่นแสนล้าน

ผมเองก็ยอมรับว่าเป็นปรสิตตัวหนึ่ง ใช้ชีวิตกอบโกยกินสังคม แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน แถมยังสร้างมลภาวะให้โลกมากมาย แต่เพราะนั่นเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือแห่งหนทางเดียวจะสามารถเอาตัวรอดในยุคสมัยทุนนิยมนี้

แล้วมันจะมีวิธีการอันใดที่สามารถลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น? ตรงกันข้ามโลกเสรีก็คือเผด็จการ แนวความคิด Marxist คอมมิวนิสต์ดั้งเดิมเท่านั้นกระมัง ที่พยายามสร้างค่านิยมให้ใครๆครุ่นคิดเห็นผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก คนรวยต้องเสียสละตนเองเพื่อส่วนรวม ใช้ชีวิตด้วยวิถีพอเพียง ลดละความโลภละโมบเห็นแก่ตัว … แต่มันเป็นไปได้ในโลกความจริงเสียที่ไหนกัน ดูอย่างประเทศจีนปัจจุบัน แปรสภาพกลายเป็นทุนนิยม-คอมมิวนิสต์ ช่างไม่ต่างกับแนวคิด เผด็จการ-ประชาธิปไตย ที่ใครสักคนในสภาไทยวันก่อนพูดเอ่ยถึง

อย่าหลอกตัวเองเลยนะครับว่าจะมีใครสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังมีความโลภละโมบ มากด้วยกิเลสราคะ แถมบุญกรรมก็ทำมาไม่เท่ากัน ย่อมไม่มีทางที่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นจะลดต่ำลง รังแต่จะกว้าง-สูงขึ้นเรื่อยๆแบบ Tower of Babel เมื่อถึงจุดๆหนึ่งไม่พระเจ้าก็มนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละ จักทำให้ทุกสิ่งอย่างถล่มพังทลายลงมาเอง

สำหรับคนที่รับชมผลงานของ Bong Joon-ho มาปริมาณหนึ่ง น่าจะสังเกตเห็นความชื่นชอบสนใจ มักนำเสนอภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาสังคม ความขัดแย้งทางชนชั้น จุลภาคเล็กๆสะท้อนมหภาคใหญ่ๆ ก็ไม่ใช่แค่สะท้อนเกาหลีใต้บ้านเกิดเท่านั้น แต่มีความสากลระดับโลกเลยละ เพราะแทบทุกประเทศยุคสมัยนี้ต่างประสบพบเคราะห์ไม่ต่างกัน ถูกครอบงำดำเนินไปด้วยแนวคิดทุนนิยม กลืนกินจนแทบไม่หลงเหลือวิถีชีวิตดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว

“As a film-maker or an artist, we have no choice but to reflect about the times we live in, so we are inspired by what’s happening in the world,”

– Bong Joon-ho

ขณะที่เนื้อหาสาระมักเกี่ยวเนื่องกับครอบครัว มักอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ขัดแย้ง แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนก็ยังรักและปฏิเสธทอดทิ้งกัน

“My films are family films. In my real life I have lots of anxieties regarding society and the system. You become more obsessed with your family because of the incompetence of the system you are in, so my films are always about people who don’t really fit in the system and who don’t feel happy in the environment that the nation provides”.

ผู้กำกับ Bong Joon-ho เป็นตัวแทนชนชั้นกลางของเกาหลีใต้ พานพบเห็นการกระทำ ‘Gapjil’ ของคนรวย-จน ทำให้เขาตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้พูดบอกแสดงความรู้สึกอะไร หรือทำอย่างไรจึงสามารถปรับเปลี่ยนแปลงวิถีดังกล่าว ก็ได้แค่สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อสะท้อนความจริงออกมา คาดหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้มีใครสักคนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาดังกล่าว

เกร็ด: Gapjil เป็นคำเรียกวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในความคิดของคนเกาหลีฯ ชนชั้นผู้นำในสังคม คนรวยมากๆ หรือมีชื่อเสียงโด่งดัง จะเชื่อว่าตนเองมีอภิสิทธิ์ชน ทำอะไรไม่มีวันผิด

แทบทุกๆบทความวิจารณ์ทั้งไทยเทศ มักเอ่ยถึง Parasite (2019) เปรียบเทียบกับปีก่อน Burning (2018) [และ Shoplifters ด้วยนะ] ต่างนำเสนอภาพสังคม ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ช่องว่างที่เพิ่มมากขึ้นจนก่อเกิดปัญหา นี่ไม่ใช่แค่ความบังเอิญแน่ๆนะครับ เป็นการสะท้อนสภาพความจริงในปัจจุบัน(นี้จริงๆ) แสดงว่าระบอบทุนนิยมได้ครอบงำ กลืนกิน กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปหมดสิ้นแล้ว


หนังเข้าฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับการยืนปรบมือนานกว่า 8 นาที (บางสำนักก็ว่า 5-6-7-9 นาที เอาเฉลี่ยเท่านี้ไปแล้วกันนะ) ซึ่งพอๆกับ Once Upon a Time in Hollywood (2019) ที่ออกฉายก่อนหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ถึงอย่างนั้นกลับถูกใจนักวิจารณ์ล้นหลาม คณะกรรมการปีนั้นนำโดย Alejandro González Iñárritu ประกาศชัยชนะ Palme d’Or อย่างเป็นเอกฉันท์ และยังถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศเกาหลีใต้คว้ารางวัลนี้ได้สำเร็จ

ด้วยทุนสร้าง ₩13.5 พันล้านวอน (=$11-12 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทำเงินในเกาหลีใต้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมกว่า $70+ ล้านเหรียญ แม้จะไม่ทุบสถิติหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาล (ในเกาหลี) แต่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทีเดียว

เชื่อว่าช่วงปลายปี Parasite มีแนวโน้มสูงมากๆจะติด 5 เรื่องสุดท้ายเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film แต่จักสามารถคว้ารางวัลได้หรือไม่คงต้องดูกันยาวๆ ยังอีกหลายเดือน

ส่วนตัวแค่ชื่นชอบประทับใจหนัง เพราะผมดันฉลาดเกินไปที่สามารถคาดเดาอะไรถูกหมด ซึ่งพอครุ่นคิดต่อยอดไปเรื่อยๆก็ค้นพบทางตัน เลยตระหนักว่าผู้กำกับ Bong Joon-ho ไม่ได้สร้างออกมาให้ลึกซึ้งปานนั้น หลายๆอย่างไม่สมเหตุสมผล แค่พลังของภาพยนตร์สามารถกลบเกลื่อนจุดบกพร่องได้หมดสิ้น

Parasite เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนสังคม ชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ตระหนักถึง แต่ก็เท่านั้นละครับ เพราะมุมมองชนชั้นกลางของผู้สร้างและเราๆ ไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ได้แค่ปล่อยวางมันไป ให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินตามครรลอง วิถีชีวิต วิวัฒนาการ วัฎจักรแห่งโลกสืบไป … เช่นกันกับภาพยนตร์เรื่องนี้ สุดท้ายแล้วก็แค่ความบันเทิงชั้นสูง ‘High Art’ ไม่ต่างจากปรสิตตนหนึ่งก็เท่านั้น

จัดเรต 18+ กับการต้มตุ๋น หลอกลวง ใช้ความรุนแรง และเข่นฆาตกรรม

คำโปรย | Parasite ของ Bong Joon-ho คือปรสิตที่ชอนไชเข้าไปเกาะกินจิตวิญญาณผู้ชม
คุณภาพ | 
ส่วนตัว | แค่ชอบ

3
Leave a Reply

avatar
3 Comment threads
0 Thread replies
105 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
Oazsarujร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

จากลิสต์หนังโปรดของ Bong Joon Ho นี่แทบจะเห็นอิทธิพลความเชื่อมโยงกับผลงานของเค้าได้ชัดเจนเลย

A City of Sadness (1989, Hou Hsiao-hsien)
Cure (1997, Kiyoshi Kurosawa)
The Housemaid (1960, Kim Ki-young)
Fargo (1996, the Coen Brothers)
Psycho (1960, Alfred Hitchcock)
Raging Bull (1980, Martin Scorsese)
Touch of Evil (1958, Orson Welles)
Vengeance Is Mine (1973, Shohei Imamura)
The Wages of Fear (1953, Henri-Georges Clouzot)
Zodiac (2007, David Fincher)

เท่าที่ดู แกชอบหนังลึกลับ ธริลเลอร์ สืบสวน จิตวิทยา ตลกร้าย ชีวิต ครอบครัว สะท้อนสังคม เรื่องของคนกลุ่มหนึ่ง (ที่มักเป็นคนนอกหรือ underdogs) แต่แฝงนัยยะทางประวัติศาสตร์-สังคม-การบ้านการเมืองเอาไว้
มีการประดิษฐ์คิดค้นลีลาเทคนิคทางภาพยนตร์โดดเด่นแพรวพราว
และมักมีหลากหลายอารมณ์/โทนหนังรวมอยู่ในเรื่องเดียว รวมทั้งบรรยากาศเฉพาะตัวทั้งนั้น

Oazsaruj
Guest
Oazsaruj

เป็น The Rules of the Game แห่งยุคสมัยใหม่ ฝั่งตะวันตกส่วนใหญ่น่าจะมองว่าเรื่องนี้ คือ หนังเกาหลีใต้ที่ดีที่สุดจากการเข้า top 100 ของ S&S มาแบบไม่น่าเชื่อ แต่ส่วนตัว Spring,Summer,Fall,Winter…and Spring ทรงพลังกว่ามากมาย

%d bloggers like this: