Paris Is Burning

Paris Is Burning (1990) hollywood : Jennie Livingston ♥♥♥♥

นี่ไม่ใช่หนังการเมือง ก่อการร้าย หรือกรุง Paris กำลังถูกเผาทำลาย แต่คือคำเรียกจิตวิญญาณชาย-ผิวสี-รักร่วมเพศใน Halem, New York City ต้องการมีชีวิตในสังคมที่โหดร้าย เข้าร่วมงานบอล (Ball Culture) ก้าวเดินอย่างมุ่งมั่น เต็มเปี่ยมด้วย ‘passion’ รันเวย์แทบลุกเป็นไฟ พื้นที่สำหรับแสดงออกในความเป็นตัวตนเอง

สารคดีที่จะนำพาผู้ชมไปรู้จักกับวัฒนธรรมย่อย (Sub-Cultural) ของชาว African-American, Latino, Gay และ Transgender อาศัยอยู่ย่าน Halem, New York City พวกเขาเป็นแค่พลเมืองชั้นสามในสหรัฐอเมริกา ที่แทบไม่ได้รับโอกาสใดๆในสังคม แต่ด้วยอิทธิพล ‘American Dream’ ทำให้คนหนุ่มสาวมีความเพ้อใฝ่ฝัน อยากเป็นโน่นนี่นั่น ดาวดารา ตำนานค้างฟ้า, งานบอล (Ball Culture) คือพื้นที่สำหรับปลดปล่อยความต้องการ แสดงออกในความเป็นตัวตนเอง ช่วงเวลาเล็กๆที่จะได้เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน

เกร็ด: งานบอล (Ball Culture) มีลักษณะเหมือนการเดินแฟชั่น ผู้เข้าร่วมต้องแต่งองค์ทรงเครื่อง สวมบทบาท(ตามชุดที่สวมใส่) แสดงความสามารถด้านต่างๆ Reading, Shade, Voguing เน้นความสวยงาม และดูสมจริง (realness) เพื่อถ้วยรางวัลที่แทบไม่ได้มีคุณค่าอะไร นอกจากความพึงพอใจส่วนตน

ผมได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ Paris Is Burning (1990) มาตั้งแต่ตอนเขียนถึงภาพยนตร์ Is Paris Burning? (1966) ของผกก. René Clément ทั้งสองเรื่องไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ แต่เพราะความละม้ายคล้ายคลึงกันของชื่อ สร้างความสับสน มึนงงยิ่งนัก

ระหว่างกำลังค้นหาภาพยนตร์เกี่ยวกับ ‘drag queen’ ก็พบเจอ Paris Is Burning (1990) สารคดีได้รับยกย่องกล่าวขวัญ ทรงอิทธิพลต่อ LGBTQIAN+ (ล่าสุดติดอันดับ 196 (ร่วม) ชาร์ท Sight & Sound: Critic’s Poll 2022) และยังช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมย่อย งานบอล และโดยเฉพาะการเต้น Voguing ให้เป็นที่รู้จักระดับโลก!


Jennie Livingston (เกิดปี 1962) ผู้กำกับสารคดี สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Dallas, Texas ในครอบครัวเชื้อสาย Jewish แล้วมาเติบโตขึ้นที่ Los Angeles ชื่นชอบศิลปะ ทั้งการวาดรูป ถ่ายภาพ โตขึ้นเข้าศึกษาต่อ Yale University แล้วมีโอกาสเรียนซัมเมอร์คอร์สภาพยนตร์ New York University, ก่อนย้ายมาปักหลัก New York City ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 ทำงานช่างภาพหนังสือพิมพ์ Staten Island Advance, ต่อมาเข้าร่วมกลุ่มเคลื่อนไหว ACT UP รณรงค์ป้องกันโรค AIDS (ค้นพบว่าตนเองเป็นเลสเบี้ยน), และได้เคยทำงานแผนกศิลป์ภาพยนตร์ Orphans (1987) กำกับโดย Alan J. Pakula

ช่วงระหว่างที่ Livingston ทำงานหนังสือพิมพ์ Staten Island Advance เดินถ่ายภาพเรื่อยเปื่อยในย่าน Washington Square Park ได้พบเห็นสองคนหนุ่มกำลังทำท่าทางแปลกๆ พูดคุยศัพท์แสลงฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เลยเข้าไปสอบถาม จึงได้รับรู้จักว่านั่นคือการ Shade ส่วนท่าเต้นเรียกว่า Voguing

ต่อมาจึงได้รับการชักชวนเข้าร่วมงานบอล (ชื่อทางการคือ The Ballroom Scene หรือเรียกว่า Ballroom Community, Ballroom Culture, Ball Culture, หรือจะแค่ Ballroom ก็ได้เช่นกัน) ณ Gay Community Center ในย่าน 13th Street แรกพบเจอกับ Venus Xtravaganza พูดคุยสนิทสนม เลยมีโอกาสเดินทางไปร่วมอีกหลายงานบอล รับรู้จักสมาชิกบ้านต่างๆ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ครุ่นคิดอยากบันทึกภาพ ถ่ายทำสารคดี เผยแพร่วัฒนธรรมย่อยนี้ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง

Livingston เริ่มต้นด้วยการใช้เงินทุนส่วนตัว ถ่ายทำด้วยกล้อง 16mm บันทึกภาพงานบอล สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วม แล้วนำไปตัดต่อกับ Jonathan Oppenheim ทำออกมาเป็นตัวอย่างหนัง (Trailer) สำหรับยื่นของบประมาณจาก National Endowment for the Arts, New York State Council on the Arts, Paul Robeson Fund, Jerome Foundation, รวมถึงสถานีโทรทัศน์ WNYC มอบทุนก้อนโต $125,000 เหรียญ … แต่รวมๆแล้วก็ยังไม่เพียงพอสักเท่าไหร่

แม้หนังใช้กล้อง 16mm ขนาดเล็ก ฟีล์มราคาถูก แต่เหตุผลที่งบประมาณสูงลิบลิ่ว ก็เพราะผกก. Livingston พยายามจะบันทึกภาพทุกสิ่งอย่าง ทั้งงานบอล (ไม่น้อยกว่า 2-3 งาน) บทสัมภาษณ์สมาชิกบ้านต่างๆ แล้วยังมีออกไปถ่ายทำตามท้องถนน ในระยะเวลา 6-7 ปี รวมๆแล้วได้ฟุตเทจความยาวกว่า 75 ชั่วโมง ตัดต่อเหลือแค่ 78 นาทีเท่านั้น!


เรื่องราวของสารคดี เริ่มจากหม่อมแม่ Pepper LaBeija (ราชินีคนที่สองแห่ง House of LaBeija) ก้าวเข้าสู่งานบอล ให้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้น อธิบายที่มาที่ไป พื้นที่ของชาว LGBTQIAN+ สำหรับปลดปล่อย แสดงออกความต้องการ สวมจิตวิญญาณ เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน

จากนั้นจะเริ่มสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมงาน แนะนำหมวดหมู่แข่งขัน องค์กรที่เรียกว่าบ้าน มารดาผู้ดูแลลูกๆ อธิบายความหมายศัพท์แสลง (Gay Slang) อาทิ Reading, Shade, Walking, Mopping, Vouging, Old Way, New Way, Realness, Legendary ฯ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นวิถีชีวิต แนวคิด ประสบการณ์ที่พวกเขา/เธอพานผ่านมา สะท้อนปัญหาครอบครัว ความรุนแรง ความยากจน อคติต่อเพศที่สาม รังเกียจเหยียดหยาม รวมถึงโรคติดต่อ AIDS

ไฮไลท์คือเรื่องราวของ Venus Xtravaganza แห่ง House of Xtravaganza บันทึกบทสัมภาษณ์ แต่งองค์ทรงเครื่อง เข้าร่วมงานบอล รวมถึงกิจวัตรประจำวัน รับฟังประสบการณ์ขายบริการ และสองปีถัดมาเมื่อผกก. Livingston พยายามออกติดตามหาเขา/เธออีกครั้ง กลับพบเจอว่าถูกเข่นฆาตกรรม พบเจอศพในโรงแรม ไม่เคยรับรู้ใครคือฆาตกร


ถ่ายภาพโดย Paul Gibson,

การใช้กล้อง 16mm ไม่เพียงลดค่าใช้จ่ายฟีล์มถ่ายทำ แต่ด้วยขนาดเล็ก กระทัดรัด ทำให้สามารถขยับเคลื่อนย้ายได้สะดวก เหมาะสำหรับบันทึกภาพงานบอล เดินไปเดินมา หันซ้ายหันขวา สร้างความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียด ราวกับได้นั่งชมอยู่อย่างใกล้ชิด เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดังกล่าว

สำหรับการสัมภาษณ์ ผมสังเกตว่าจะมีการเลือกตำแหน่ง ทิศทาง วางองค์ประกอบ รวมถึงจัดแสงสีสัน ทำออกมาให้ดูสวยเลิศเลอ บางครั้งอาจมีมุมกล้องแปลกๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจ ไม่ให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อหน่ายกับการตั้งกล้องทิ้งไว้เฉยๆ … โดยเฉพาะการสัมภาษณ์ Dorian Corey (ระหว่างกำลังแต่งหน้าตา) เมื่อไหร่พูดคำคมๆ มักทำการโฉบกล้องไปมาบ่อยครั้งทีเดียว


หม่อมแม่ Pepper LaBeija (1948-2003) เกิดที่ The Bronx เป็นนักออกแบบแฟชั่น เจ้าของฉายา “Queen of the Harlem drag balls” มารดารุ่นที่สองของ House of LaBeija สืบทอดต่อจาก Crystal LaBeija ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 โด่งดังจากสไตล์การแต่งตัว Egyptian หรูหราอลังการ เริดเชิดเย่อหยิ่ง ว่ากันว่าได้รับชัยชนะในงานบอลมากกว่า 250 ถ้วยรางวัล!

การเริ่มต้นสารคดีด้วยการเดิน/สัมภาษณ์หม่อมแม่ Pepper LaBeija ถือว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง นั่นเพราะ House of LeBeija ไม่ใช่แค่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด(ในยุคสมัยนั้น) แต่คือองค์กรริเริ่มต้นระบบบ้านหลังแรก (House System) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 … เป็นบ้านเก่าแก่ที่สุดในแวดวง LGBTQIAN+

เกร็ด: ก่อนหน้า Paris Is Burning (1990) เมื่อครั้นยังเป็นวัยรุ่น Crystal และ Pepper ยังเคยปรากฎตัวในสารคดี The Queen (1968) บันทึกภาพงานประกวด 1967 Miss All-America Camp Beauty Contest แต่กิจกรรมนี้เกิดขึ้นก่อนการมาถึงของระบบบ้าน

อีกคนที่ต้องกล่าวถึง William Roscoe Leake (1961-2006) หรือ Willi Ninja นักออกแบบท่าเต้น และก่อตั้ง House of Ninja เมื่อปี ค.ศ. 1982 เกิดที่ New Hyde Park, New York ในครอบครัว Mix Race (มารดาผิวดำ-บิดาชาว Irish)

ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเต้น ไม่ได้มีครูสอนจากไหน ล้วนเกิดการฝึกฝน ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง (Self-Taught) เป็นผู้พัฒนาการเต้น Voguing ให้มีความสมบูรณ์แบบ จนได้รับฉายา “Godfather of Voguing” ไม่ใช่ว่าเขาคือคนครุ่นคิดรูปแบบการเต้นนี้นะครับ แต่เป็นผู้ปรับปรุงพัฒนาลีลาการเต้น ให้มีความกระชับ ลื่นไหล รับอิทธิพลจาก Michael Jackson, Fred Astaire, เลียนแบบนักยิมนาสติก และโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของนินจา

เกร็ด: Willi Ninja เคยปรากฎตัวเป็น Google Doodle วันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2023
LINK: https://www.youtube.com/watch?v=SCN8iYJdfGU

ไม่รู้เพราะความบังเอิญหรือตั้งใจ เมื่อครั้ง Pepper LaBeija กล่าวว่าตนเองไม่เคยแนะนำใครให้ผ่าตัดแปลงเพศ (ถ่ายทำในห้องพัก ปกคลุมด้วยความมืดมิด) ซีนถัดมา Carmen Xtravaganza กำลังพูดโอ้อวดถึงความสุขสำราญ เบิกบาน อิสรภาพหลังการผ่าตัดแปลงเพศ (ถ่ายทำยังชายหาด ท้องฟ้าสว่างสดใส) … เป็นสองซีนที่มีความแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง!

แซว: เหตุผลที่ Pepper Labeija ไม่คิดจะแปลงเพศ เพราะเขามีคู่ขา/ภรรยา Pamela Jackson และบุตรสาวร่วมกัน

โศกนาฎกรรมของ Venus Xtravaganza นำเสนอด้วยวิธีการไม่มีใครคาดคิดถึง! เริ่มจากร้อยเรียงภาพยามเย็น ดวงอาทิตย์ใกล้ลาลับขอบฟ้า กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหา Venus (ฟุตเทจถ่ายทำไว้ก่อนหน้านั้น) แล้วได้ยินเสียงสัมภาษณ์ Angie Xtravaganza (มารดาแห่งบ้าน House of Xtravaganza) เริ่มจากตะล่อมค่อม พูดแบบอ้อมๆ จนกระทั่งเล่าว่าพบศพ ถูกเข่นฆาตกรรม วินาทีนั้นสร้างความตกตะลึง คาดไม่ถึง ใจหายวูบวาป มาแบบไม่ทันตั้งตัว

ช็อตที่อาจทำให้หลายคนสะอื้นไห้ขึ้นมาโดยพลัน คือการตัดต่อคำพูดของ Venus ดังขึ้นหลังจบคำอธิบายการตาย “Actually, they found her dead after four days, strangled under a bed in a sleazy hotel in New York City.” แล้วต่อด้วย “I’m hungry.” เพื่อจะสื่อว่านั่นคือเหตุผลการเสียชีวิต เธอไปอยู่ยังสถานที่แห่งนั้นได้อย่างไรกัน (ตอนถ่ายทำคำพูดของเธออาจคือหิวอาหาร แต่การขึ้นรถไปโรงแรม มันแฝงนัยยะหิวกระหายทางใจ)

เหตุการณ์ดังกล่าวคงทำให้หลายคนระลึกถึงเรื่องเล่าของ Venus ก่อนหน้านั้น ว่าเคยพานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย หลังชายคนหนึ่งรับรู้ว่าเธอมีอวัยวะเพศชาย ถึงขนาดพูดขู่ฆ่า กระทำร้ายร่างกาย ใครจะไปคาดคิดว่านั่นคือการปักธง ‘Death Flag’ นำไปสู่การเสียชีวิต … นั่นทำให้สารคดีเรื่องนี้มีความโคตรๆทรงพลัง สะท้อนปัญหา Homophobia และ Transphobic ให้จับต้องได้ขึ้นมาโดยทันที

เป็นความบังเอิญมากๆที่ผมพบเห็นผกก. Livingston หลบซ่อนตัวอยู่ในช็อตนี้ ระหว่างกำลังสัมภาษณ์ Dorian Corey … หากันพบเจอรึเปล่า?

เหตุผลที่ผกก. Livingston พยายามหลบซ่อนตัวหลังกล้อง ไม่ได้เหมือนพวกศิลปิน ‘auteur’ ที่ต้องหาช็อตแทรกภาพตัวตนเอง น่าจะเพราะเธอเป็นคนขาว เข้ามาในโลกชาวผิวสี มันจึงดูไม่ค่อยเหมาะสมสักเท่าไหร่ … กระมังนะ!

ตัดต่อโดย Jonathan Oppenheim (1952-2020) สัญชาติอเมริกัน บุตรของนักร้อง/นักแสดง Judy Holliday และโปรดิวเซอร์ David Oppenheim, ผลงานส่วนใหญ่จะเป็นการตัดต่อสารคดี ไม่ก็ซีรีย์โทรทัศน์ อาทิ Streetwise (1984), Paris is Burning (1990), The Oath (2010) ฯ

การดำเนินเรื่องของสารคดีเรื่องนี้ จะมีความลื่นไหล ติดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่เราสามารถแบ่งแยกแยะออกเป็นหัวข้อ/ประเด็นความสนใจ รวมถึงช่วงเวลา ‘Time Skip’ สองปีให้หลัง

  • แนะนำงานบอล พื้นที่สำหรับเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝันของชาว LGBTQIAN+
    • เริ่มจากหม่อมแม่ Pepper LaBeija ก้าวเข้าสู่งานบอล อธิบายจุดเริ่มต้น ที่มาที่ไป เป้าหมายของกิจกรรมดังกล่าว
    • ร้อยเรียงบทสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมงาน การแข่งขัน จัดหมวดหมู่
    • ให้คำอธิบายคำศัพท์แสลง (Gay Slang) อาทิ House, Mother, Reading, Shade, Vouging ฯ
  • วิถีชีวิต การเดินทาง โลกความเป็นจริงของชาว LGBTQIAN+
    • ร้อยเรียงบทสัมภาษณ์ของสมาชิกบ้านต่างๆ
    • เรื่องราวหลักก็คือ Venus Xtravaganza แห่ง House of Xtravaganza บันทึกบทสัมภาษณ์ แต่งองค์ทรงเครื่อง เข้าร่วมงานบอล รวมถึงกิจวัตรประจำวัน รับฟังประสบการณ์ขายบริการ
  • สองปีให้หลัง ค.ศ. 1989
    • ชีวิตที่ผันแปรเปลี่ยนของ Willi Ninja กลายเป็นดาวดารา นำพาการเต้น Vouging เข้าสู่กระแสหลัก
    • จุดจบของ Venus Xtravaganza ถูกเข่นฆาตกรรม พบเจอศพในโรงแรม ไม่เคยรับรู้ใครคือฆาตกร

ลีลาการตัดต่อถือว่ามีความรวดเร็ว กระชับ ฉับไว ทันยุคทันสมัย(นั้น) แทบไม่มีความน่าเบื่อหน่ายเลยสักนิด ใช้ประโยชน์จากการแทรกข้อความ Title Card และเวลาสัมภาษณ์มักพบเห็นผู้ให้สัมภาษณ์แค่เพียงช่วงเริ่มต้น หรือกำลังจะพูดประโยคคมๆ นอกนั้นทำออกมาในลักษณะคำบรรยาย (Voiceover) คลอประกอบภาพกิจกรรม หรือฟุตเทจที่มีความเกี่ยวข้องขณะนั้น

อีกไฮไลท์คือการนำเสนอเหตุการณ์คู่ขนาน บทสัมภาษณ์สองบุคคลที่มีความแตกต่างขั้วตรงข้าม (บางครั้งก็ร้อยเรียงความคิดเห็นของหลายบุคคลที่แตกต่างกัน) ยกตัวอย่าง ความคิดเห็นเรื่องการแปลงเพศระหว่าง Pepper LaBeija (ไม่เห็นด้วย) vs. Carmen Xtravaganza (แปลงเสร็จเรียบร้อย) และโดยเฉพาะสองปีให้หลัง ความสำเร็จของ Will Ninja vs. จุดจบชีวิต Venus Xtravaganza


ในส่วนของเพลงประกอบจะมีลักษณะ ‘diegetic music’ บันทึกเสียงระหว่างการถ่ายทำ ดังจากเครื่องเล่น วิทยุ ส่วนใหญ่ได้ยินในงานบอล แค่ท่อนสั้นๆไม่กี่วินาที เน้นจังหวะสนุกสนาน ครึกครื้นเครง คลอประกอบการเดิน-โยกเต้น บางครั้งยังพากย์เสียงเป็นคำๆ “Pump, Dip, Spin, Vouge, Dip, Go Turn It Out” เพื่อให้เวลาออกท่วงท่า Voguing ดูตื่นเต้นเร้าใจยิ่งขึ้น

หนึ่งในบทเพลงที่ทำให้การเต้น Vogue เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลกก็คือ Deep in Vogue (1989) แต่ง/ขับร้องโดย Malcolm McLaren, ออกแบบท่าเต้นโดย Willie Ninja ร่วมกับ Lourdes Maria Morales, ในหนังมีฉายคลิป Music Video อยู่แวบๆ (ช่วงสองปีให้หลัง) นำมาให้รับชมกันแบบเต็มๆ

กิจกรรมงานบอล (Ball Culture) ของชาว African-American, Latino, Gay และ Transgender เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 ในยุคสมัยที่การสวมใส่เสื้อผ้าสลับเพศ (Cross-Dressing) ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ที่ New York City กลับมีการบันทึกไว้ว่าเคยจัดงาน Cross Dressing Balls อย่างเป็นทางการครั้งแรก ณ Hamilton Lodge Ball เมื่อปี ค.ศ. 1869

ต่อมา William Dorsey Swann (1860-1925) เชื้อสาย African-American เกิดเป็นลูกทาสยัง Hancock, Maryland ก่อนได้รับการปลดแอกหลังสงครามกลางเมือง American Civil War (1861-65) พอเติบใหญ่ค้นพบรสนิยมของตนเอง รวบรวมอดีตลูกทาสที่ชื่นชอบการแต่งสวยแต่งหล่อ จัดงานบอลเรียกว่า ‘drag balls’ ขึ้นที่กรุง Wasington D.C. ในช่วงทศวรรษ 1880s-90s มีกิจกรรมร้องรำทำเพลง แสดงโชว์เลียนแบบการเดินแฟชั่น และต่อมาเขา/เธอเรียกตนเองว่า ‘queen of drag’ … ถือเป็น ‘drag queen’ คนแรกของโลก

งานบอลของชาว LGBTQIAN+ ค่อยๆวิวัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งหม่อมแม่/มารดา Crystal LaBeija (และ Lottie LaBeija) ก่อตั้ง House of Labeija เมื่อปี ค.ศ. 1968 ถือเป็นจุดเริ่มต้นระบบบ้าน (House System) อนุเคราะห์ลูกหลาน (Children) ที่มีทักษะ ความสามารถ ให้การช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุน กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันงานบอล รวมถึงพัฒนาลีลาการเต้น Reading, Shade มาจนถึง Vouging เป็นที่รู้จักแพร่หลาย


หลายคนมีความเข้าใจผิดๆ ครุ่นคิดว่า Paris Is Burning (1990) เป็นเพียงสารคดีเกี่ยวกับการเต้นรำ Vouging ของชาว LGBTQIAN+ แต่จริงๆแล้วเนื้อหาสาระมีมากกว่านั้น ผกก. Livingston ให้คำอธิบายว่าคือ ‘survival film’ สำรวจสารพัดปัญหา นำเสนอวิธีการเอาตัวรอดของชาย-ผิวสี-รักร่วมเพศ สามสิ่งที่ทำให้พวกเขากลายเป็นพลเมืองชั้นต่ำสุดในสหรัฐอเมริกา

This is a film that is important for anyone to see, whether they’re gay or not. It’s about how we’re all influenced by the media; how we strive to meet the demands of the media by trying to look like Vogue models or by owning a big car. And it’s about survival. It’s about people who have a lot of prejudices against them and who have learned to survive with wit, dignity and energy.

Jennie Livingston

กลุ่มคนเหล่านี้เมื่อไม่ได้รับโอกาสจากครอบครัว/สังคม ย่อมหันหน้าพึ่งพายาเสพติด ขายตัว ไม่ก็ก่ออาชญากรรม ทำให้เกิดปัญหา(สังคม)มากมายติดตามมา, งานบอล (Ball Culture) คือพื้นที่สำหรับพวกเขา ปลดปล่อยความต้องการ แสดงออกความเป็นตัวตนเอง ทำในสิ่งที่ชีวิตจริงมิอาจเอื้อมไขว่คว้า ช่วงเวลาเล็กๆสามารถเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน ‘American Dream’

ชัยชนะถ้วยรางวัลจึงมีมูลค่ามากล้นทางใจ เพราะหมายถึงการมีตัวตน พิสูจน์ตนเอง ได้รับการยินยอมรับ ฝากรอยเท้าเอาไว้บนโลกใบนี้ นั่นแรงผลักดันให้สามารถอดรนทน ต่อสู้ดิ้นรน มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ที่เหี้ยมโหดร้าย ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งอาจได้รับโอกาส มีชื่อเสียง ร่ำรวยเงินทอง ประสบความสำเร็จขึ้นมาจริงๆก็เป็นได้

ยุคสมัยนั้นคงไม่มีใครคาดคิดถึงหรอกว่า งานบอล การเต้น Voguing วัฒนธรรมย่อยนี้จะสามารถพัฒนาต่อยอด แพร่หลายวงกว้าง กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเหมือนอย่างปัจจุบัน รวมถึงระบบบ้านยังแตกแยกสาขาอีกมากมายนับไม่ถ้วน … นักวิจารณ์(สมัยนั้น)เคยมองว่าสารคดีเรื่องนี้ บันทึกช่วงเวลาจุดสิ้นสุดยุคทอง “Golden Age” ของงานบอลใน Harlem, New York City แต่กลับกลายเป็นว่ามันคือจุดเริ่มต้น กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคสมัย Modern Era เสียมากกว่า!

ชื่อหนัง Paris Is Burning ไม่ใช่กรุง Paris กำลังมอดไหม้ แต่มาจากคำเปรียบเปรยของ Paris Dupree กล่าวไว้ว่า

I want to take voguing not to just Paris is Burning, but I want to take it to the real Paris … and make the real Paris burn.

Paris Dupree

หลายคนน่าจะรับรู้กันดีว่ากรุง Paris คือดินแดนแห่งแฟชั่น (แต่นิตยสาร Vogue ถือกำเนิดที่สหรัฐอเมริกานะครับ) ซึ่งแรงบันดาลใจของ Voguing มาจากการเดินแบบแฟชั่น คำกล่าวของ Paris Dupree จึงสะท้อนความเพ้อฝัน อยากมีโอกาสจะนำวัฒนธรรมย่อยนี้ ไปอวดอ้าง จัดแสดงโชว์ เผยแพร่ทั่วโลกให้เป็นที่ประจักษ์ ราวกับกรุง Paris ลุกเป็นไฟ!

ผมตีความคำว่า Paris is Burning คือศัพท์แสลงของชาว LGBTQIAN+ หมายถึงการปลดปล่อยตัวตนเองในงานบอล พื้นที่สำแดงความสามารถ แสดงออกความต้องการ แข่งขันกันก้าวเดินอย่างมุ่งมั่น เอ่อล้นด้วย ‘passion’ รันเวย์แทบลุกเป็นไฟ หรือกรุง Pairs กำลังมอดไหม้


ผกก. Livingston ค่อยๆเก็บหอมรอมริด ในระยะเวลา 6-7 ปีถ่ายทำ Paris is Burning (1990) ใช้งบประมาณรวมๆแล้ว $500,000 เหรียญ (หมดไปกับค่าฟีล์ม 16mm ได้ฟุตเทจกว่า 75 ชั่วโมง!) ตระเวนเข้าฉายตามเทศกาลหนัง ด้วยเสียงตอบรับดีล้นหลาม กวาดรางวัลมากมาย และสามารถทำเงินได้ $3.8 ล้านเหรียญ

  • Sundance Film Festival คว้ารางวัล Grand Jury Prize: Documentary เคียงคู่กับ American Dream (1990)
  • Berlin International Film Festival คว้ารางวัล Teddy: Best Documentary Film

การที่หนังหลุดโผลไม่ได้เข้าชิง Oscar: Best Documentary Feature ทำให้คณะกรรมการของ Academy of Motion Picture Arts and Sciences ถูกโจมตีอย่างนักว่าเป็นพวก Homophobic และ Transphobic (ทั้งๆก่อนเพิ่งมอบรางวัลให้ The Times of Harvey Milk (1984) และ Common Threads: Stories from the Quilt (1989)) แต่ปัญหาแท้จริงเกิดจากปริมาณภาพยนตร์สารคดีที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี แถมกระจัดกระจายเข้าฉายตามเทศกาลหนัง ซึ่งมีความยุ่งยากลำบากต่อคณะกรรมการเป็นอย่างมาก … ด้วยเหตุนี้กฎใหม่เพิ่มเติมเข้ามาเมื่อปี ค.ศ. 1997 สารคดีที่ต้องการเข้าชิง Oscar: Best Documentary Feature จำเป็นต้องเข้าฉายตามหัวเมืองใหญ่ๆ Los Angeles หรือ New York City อย่างน้อยระยะเวลา 7 วัน

ปัจจุบัน Paris is Burning (1990) ได้รับการบูรณะ คุณภาพ 2K (จากฟีล์ม 16mm) ได้รับการตรวจอนุมัติโดยผกก. Jennie Livingston สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

นอกจากได้เป็นโลกทัศน์เกี่ยวกับวัฒนธรรมย่อย, งานบอล, Reading, Shade, Voguing, วิถีชาวรักร่วมเพศในย่าน Halem, New York City ไฮไลท์คือจุดจบของ Venus Xtravaganza สร้างความเจ็บปวด จุกแน่นอก หวนกลับสู่โลกความจริงที่เหี้ยมโหดร้าย

และเมื่อตอนเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับสารคดี ความหดหู่ก็ถาโถมเข้าใส่ผมอีกระลอก จากการค้นพบว่าหลายๆคนได้เสียชีวิตจากโรค AIDS เพียงไม่กี่ปีหลังหนังฉาย อาทิ Dorian Corey (1937-93), Angie Xtravaganza (1964-93), Willi Ninja (1961-2006), Octavia St. Laurent (1964-2009) ฯลฯ ถึงอย่างนั้นมาจนถึงปัจจุบันก็ยังมีเรื่องน่ายินดีอยู่บ้าง House of LaBeija, House of Xtravaganza รวมถึงอีกหลายๆบ้านได้กลายเป็นตำนาน องค์กรมีชื่อเสียงระดับโลกจนถึงปัจจุบัน

ใครสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมย่อย, งานบอล, การเต้น Voguing แนะนำรายการเรียลลิตี้โชว์ อาทิ Pose (2018-21), Legendary (2020-) ฯ

จัดเรต R กับวิถีชาวรักร่วมเพศ ความรุนแรง ถ้อยคำหยาบคาย ขายตัว ถูกเข่นฆาตกรรม

คำโปรย | แม้วิถีชาวรักร่วมเพศในย่าน Halem, New York City กำลังใกล้มอดดับ แต่สารคดี Paris Is Burning ได้จุดประกายไฟดวงใหม่ ให้ลุกโชติช่วงชัชวาลย์
คุณภาพ | ตำ
ส่วนตัว | น่าประทับใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: