Paris Texas

Paris, Texas (1984) German : Wim Wenders ♥♥♥♥♡

หนังรางวัล Palme d’Or โดยเอกฉันท์, ล่องลอยเรื่อยเปื่อยไปกับการค้นหาเป้าหมายชีวิตที่ก็ไม่รู้มีหรือเปล่า กับชายคนหนึ่งที่ทิ้งลูกทิ้งเมีย ออกเดินตรงดิ่ง ไม่กิน ไม่นอน ไม่เหน็ดเหนื่อย ท่ามกลางทะเลทรายร้อนระอุของ Texas เพื่อค้นหาสถานที่ชื่อ Paris

ตัวเอกของเรื่อง Travis กำลังเดินไปไหน? คำตอบหน้าหนังคือ สู่ดินแดนที่เรียกว่า Paris สถานที่ที่พ่อ-แม่ ของเขามี Sex กันครั้งแรก, การเดินทางคือการค้นหา สู่เป้าหมายคือจุดกำเนิดของชีวิต ทั้งๆที่ก็ไม่รู้หรอกว่าดินแดนแห่งนั้นมันอยู่ตรงไหน พกติดตัวแค่รูปภาพใบเดียว แต่มีความเชื่อคาดหวังว่า ถ้าเอาแต่เดิน เดิน เดิน ไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งย่อมถึงจุดหมายได้

น่าเศร้าที่หนังทำให้ Travis จนสุดท้ายค้นหาเป้าหมายชีวิตไม่พบ (คือไปไม่ถึงดินแดน Paris, Texas) ได้ข้อสรุปว่าสิ่งที่ค้นหาก็แค่ภาพลวงตา ซึ่งสิ่งที่เข้ามาขัดขวาง -ดั่งกิเลสฉุดรั้งหนทางนิพพานของมนุษย์- ได้ทำให้เขาค้นพบอีกหนทางหนึ่งของชีวิต กลายเป็นเหมือนพระเจ้าผู้มาไถ่ ที่ได้ชี้ชักนำพาบุตรของตน ให้พบเจอกับผู้ให้กำเนิด (แม่)

ในมุมของการวิเคราะห์ หนังเรื่องนี้คือปรัชญาของชาวตะวันตกที่ไม่เชื่อเรื่องการหลุดพ้น แม้เริ่มต้นด้วยการค้นหาเป้าหมายของชีวิตเหมือนกัน แต่เมื่อใช้ระยะเวลานาน (4 ปี=ครึ่งชีวิตของเด็กชาย) ค้นไม่พบเจอสักที ก็ถอดใจยอมแพ้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ ให้เรียนรู้เริ่มต้นใช้ชีวิตมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน ค้นหาเป้าหมายใหม่ที่มองเห็นจับต้องได้ใกล้ตัว

ผมพอเข้าใจเห็นผลที่นักปรัชญาตะวันตกมักเป็นคนใจร้อนนะครับ เพราะพวกเขาไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด คิดว่าชีวิตนี้เกิดขึ้นครั้งเดียว ตายแล้วดับสิ้นสูญ หรือไม่ก็กลายเป็นเทวดาประทับบนสรวงสวรรค์เคียงคู่พระเจ้าผู้สร้างตลอดกาล การคิดแบบนี้เป็นการจำกัดมุมมองทัศนคติของตนเองต่อโลก ทั้งๆที่ก็ไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง แต่คิดว่าตัวเองเข้าใจทุกอย่าง … ช่างโง่เขลายิ่งนัก

นักวิจารณ์และผู้ชมส่วนใหญ่จะมองหนังเรื่องนี้ในมุมของน้องชาย Walt คิดว่าการกระทำของพี่ Travis ไร้สาระ เหมือนคนบ้าเสียสติ แต่นับจากนาทีแรกๆที่ผมเห็นภาพล่องลอยในมุมมองของนกอินทรี ก็ได้มองหนังเรื่องนี้ในมุมของ Travis มาโดยตลอด รู้สึกว่าโลกเรามันไร้สาระว่ะ การกระทำชี้ชักนำพาของ Walt เหมือนเป็นความพยายามขัดขวางไม่ให้ Travis ค้นหาเป้าหมายที่สุดของตนเองพบ (ฉุดรั้ง Travis ให้กลับมามีชีวิตบนโลก), บทความนี้ผมเลยตัดสินใจเขียนแบบ Texas, Paris ในมุมกลับกัน หรือมุมมองที่ Travis บุตรของพระเจ้าผู้ไถ่มองลงมายังโลก ส่วนตัวรู้สึกน่าสนใจกว่าเรามอง Travis อีกนะครับ

ไม่รู้สาเหตุที่ผมมองหนังแบบนี้ เพราะครั้งหนึ่งก็เคยเป็นคล้ายๆแบบ Travis คือตอนบวช เข้าป่า ธุดงค์ หลุดจากวงโครจรของโลกไปเลย จริงๆก็ไม่ได้อยากสึกกลับออกนะครับ แค่กิเลสตัณหาราคะบางอย่างมันเหนี่ยวฉุดรั้งไว้ พอกลับเข้ามาแล้วก็มองเห็นโลกในมุมกลับตารปัตรไปเลย

Ernst Wilhelm ‘Wim’ Wenders ผู้สร้างภาพยนตร์ นักเขียนสัญชาติเยอรมัน ถือเป็นแกนหลักสำคัญในยุค New German Cinema, เกิดที่ Düsseldorf ในครอบครัวเคร่งคาทอลิก พ่อเป็นศัลยแพทย์ทำให้โตขึ้นเลือกเรียนหมอ ตามด้วยปรัชญา แต่ไม่ชอบทั้งคู่ ออกมาเป็นจิตรกร ครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาสรับชมภาพยนตร์ เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ติดงอมแงมอย่างบ้าคลั่ง กลายเป็นนักวิจารณ์ สมัครเข้าเรียน Hochschule für Fernsehen und Film München (University of Television and Film Munich) สาขาภาพยนตร์ เป็นครั้งแรกที่เรียนจบได้

ผมรับชมหนังของ Wim Wenders นี่เป็นเรื่องที่สามถัดจาก Wings of Desire (1987) และ Faraway, So Close! (1993) มี 3 สิ่งที่ผมจับสไตล์ของผู้กำกับได้
1. สไตล์งานภาพที่สามารถจับจ้อง มองเห็นจิตวิญญาณของสถานที่ถ่ายทำ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างออกมา
2. สัมผัสที่นุ่มนวลอ่อนไหว ใจเย็นไม่รีบร้อน ยกตัวอย่างถ้าเลือกวิธีไปโรงหนัง ขับรถไปเอง นั่งรถเมล์ โบกแท็กซี่ หนังของ Wim จะประมาณว่าเดินชมวิวไปเรื่อยๆ แบบไม่แคร์รถติด
3. เรื่องราวที่สนใจ เป็นการค้นหา ตั้งคำถาม หาคำตอบของปรัชญาชีวิต การมีตัวตน และพระเจ้า

Paris, Texas เป็นผลงาน… ลำดับที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ของผู้กำกับ แต่เป็นการร่วมงานครั้งแรกกับนักเขียนบทละครเวทีสัญชาติอเมริกัน Sam Shepard เจ้าของรางวัล Pulitzer Prize for Drama และได้รับฉายาว่า ‘the greatest American playwright of his generation’, เห็นว่า Wenders มีความต้องการร่วมงานกับ Shepard มานานพอสมควร ทั้งสองถือว่ามีความสนใจ สไตล์คล้ายๆกัน ชื่นชอบการสร้างตัวละครที่มีความแปลกแยก (alienation) และเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด (rage) เป้าหมายคือการค้นหาคำตอบบางอย่างของชีวิต

วิธีการทำงานของ Sam Shepard ที่ตั้งใจไว้คือ เขียนบทหนังเสร็จก่อนครึ่งหนึ่ง แล้วครึ่งหลังจะเริ่มเขียนเมื่อเปิดกล้องถ่ายทำ เพื่อให้นักแสดงที่รับทได้มาร่วมคิดตีความหาคำตอบ ผ่านมุมมองของพวกเขาด้วย, แต่ในความเป็นจริง Shepard เขียนเสร็จครึ่งหนึ่งแล้วหายหัวไปเลย เพราะได้รับงานโปรเจคใหม่ทำให้ไม่มีเวลามาพัฒนาบทภาพยนตร์ต่อ ครึ่งหลัง(น่าจะตั้งแต่ตอนพ่อลูกออกตามหาแม่) เป็น Wenders ร่วมกับ L. M. Kit Carson นักแสดงนักเขียนบทสัญชาติอเมริกัน ไม่รู้ได้ผลลัพท์ออกมาตรงใจกับที่ Shepard คาดหวังไว้หรือเปล่า (ถ้าใครช่างสังเกต น่าจะรู้สึกได้ว่าครึ่งแรกกับครึ่งหลังราวกับคนละเรื่องเดียวกัน) แต่ผลลัพท์ที่ออกมานี้ ถือได้ว่าไม่ธรรมดาเลยละ

Travis Henderson (รับบทโดย Harry Dean Stanton) หายตัวไป 4 ปี พบเจอตัวกำลังเดินเหมือนไร้เป้าหมายอยู่กลางทะเลทรายที่ Texas พี่ชาย Walt Henderson (รับบทโดย Dean Stockwell) รับตัวมาอยู่ด้วยที่ Los Angeles ได้หวนพบเจอกับลูกชาย Hunter (รับบทโดย Hunter Carson) และทั้งสองออกเดินทางตามหาแม่ Jane Henderson (รับบทโดย Nastassja Kinski) ที่น่าจะอาศัยอยู่แถวๆ Houston, Texas

Harry Dean Stanton นักแสดง นักร้องสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Irvine, Kentucky ปี 1926 อดีตทหารเรือในสงครามโลกครั้งที่ 2 ร่วมในยุทธการ Battle of Okinawa, Stanton มักได้รับบทตัวประกอบในหนัง Indy, Cult ดังๆหลายเรื่อง อาทื Cool Hand Luke (1967), The Godfather Part II (1974), Alien (1979), Escape from New York (1981), The Last Temptation of Christ (1988), The Green Mile (1999) ฯ

สำหรับบทบาททำให้ Stanton มีเป็นที่รู้จักก็คือ Paris, Texas (1984) ได้บังเอิญพบเจอ Sam Shepard ในบาร์ที่ Santa Fe, New Mexico ปี 1983 ขณะเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ที่นั่น ทั้งสองสนทนากันถูกคอ จึงได้รับการชักชวนให้มารับบทนำในหนังเรื่องใหม่

“I told him I wanted to play something of some beauty or sensitivity. I had no inkling he was considering me for the lead in his movie.”

Travis เป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมด้วยความลุ่มหลงใหล (ในกิเลส) รักภรรยา Jane ปานจะกลืนกิน แต่เมื่อพบว่าทุกสิ่งเป็นเพียงภาพลวงตา เขาแสดงความเกรี้ยวกราดดั่งเพลิงลุกไหม้ จากนั้นท้อแท้หมดสิ้นอาลัยในตัวเองและมนุษย์ชาติ ตัดสินใจออกเดินเหมือนจะไร้เป้าหมาย แต่ลึกๆแล้วเป็นการค้นหาคำตอบของชีวิต ‘ฉันเกิดมาทำไม?’

การถูกบังคับจับให้กลับมา ทำให้ Travis มีโอกาสครุ่นคิดทนทวนตนเองอย่างจริงจัง (ตอนเดินอยู่คงไม่สามารถคิดอะไรได้เลยนะครับ ราวกับซอมบี้ก็ไม่ปาน) เมื่อพบเจอกับลูกชายที่เติบใหญ่รู้ประสีสา ทำให้ความสัมพันธ์ต่อติดขึ้นอีกครั้ง เกิดความเข้าใจที่ว่า สิ่งที่ตนออกค้นหามันอาจจะไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงภาพลวงตาล่องลอย นี่ต่างหาก’ความจริง’จับต้องได้

ออกเดินทางอีกครั้งพร้อมลูกชายตามเป้าหมายใหม่ เพื่อค้นตามหาภรรยาที่ก็หายตัวไป ได้พบเจอเห็นเธอและงานที่ทำ ในครั้งแรกไม่เชิงที่จะยอมรับได้ กินเหล้าย้อมใจ ครั้งที่สองเหมือนการสารภาพบาป พูดคุยเล่าความผิดพลาดในมุมของตนเอง ไม่ได้มีความตั้งใจให้เธอขอโทษ แต่เพื่อ Jane จะได้ให้อภัยตนเอง รับรู้เป้าหมายใหม่ของเขา ยินยอมพบเจอกับลูกชายที่กำลังต้องการแม่เป็นที่สุด

ขณะที่ Travis เห็น Jane กับ Hunter กอดกันกลม เหมือนเป้าหมายสุดท้ายในชีวิตของเขาสำเร็จสิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีอะไรต้องเป็นภาระ ถึงเวลาออกเดินทางอีกครั้ง ซึ่งวิเคราะห์ตามนัยยะของชาวตะวันตก คือการเดินทางครั้งนี้เพื่อรอวัน’ตาย’สถานเดียว

ใบหน้าของ Stanton ผมคุ้นเคยกับหนังหลายๆเรื่อง เคยเห็นผ่านตามาก็หลายครั้ง แย่งซีนบ้างแต่ไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงเท่าไหร่, กับการรับบทชายพูดน้อย คิดมาก ต่อยหนัก แบบหนังเรื่องนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกครั้งเดียว ก็ไม่รู้ตัวจริงเป็นแบบนั้นไหม แต่บุคคลิกหน้าตาใช่ ถือเป็นบทบาทอันยอดเยี่ยม สมบูรณ์แบบ ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

Stanton เป็นนักแสดงที่นักวิจารณ์ชื่อดัง Roger Ebert ให้คำชมว่า ‘หนังที่ Stanton รับเล่นบทสมทบ แทบไม่มีเรื่องไหนคุณภาพย่ำแย่ทนดูไม่ได้เลย’ (แต่ก็มีเรื่องนึงนะครับ ที่ Ebert ละไว้ในฐานเข้าใจ) สำหรับหนังเรื่องนี้ เริ่มต้นให้คำอธิบายว่า ‘ชายคนหนึ่งเดินออกมาจากทะเลทราย ราวกับบุคคลในคำภีร์ไบเบิล สละแล้วทุกสิ่งอย่าง สวมกางเกงยีน ใส่หมวกเบสบอล นี่คือชุดสากลของชาวอเมริกา แต่ไว้หนวดยาว ตาลึกโบ๊ เดินไม่มีท่าทีเหน็ดเหนื่อย ราวกับเป็นกำลังเดินหลงอยู่ในบ้านป่าเมืองเถื่อน เขามองหาอะไร จดจำอะไรได้บ้างรึเปล่า?’

“The man comes walking out of the desert like a Biblical figure, a penitent who has renounced the world. He wears jeans and a baseball cap, the universal costume of America, but the scraggly beard, the deep eye sockets and the tireless lope of his walk tell a story of wandering in the wilderness. What is he looking for? Does he remember?”

Robert Dean Stockwell นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดปี 1936 ถือเป็นนักแสดงยอดฝีมือที่ประสบความสำเร็จปานกลาง มีผลงานตั้งแต่เด็กเซ็นสัญญากับ MGM อาทิ Anchors Aweigh (1945), The Green Years (1946), Gentleman’s Agreement (1947) โด่งดังสุดจากการคว้า  Best Actor เทศกาลหนังเมือง Cannes ถึง 2 ครั้งจาก Compulsion (1959) กับ Long Day’s Journey Into Night (1962), และเคยเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor จากหนังเรื่อง Married to the Mob (1988)

Walt Henderson เป็นนักออกแบบป้ายโฆษณา (ออกแบบชีวิตด้วยตัวเอง) น่าจะเป็น Creative Designer มีชีวิตลุ่มหลงใหลอยู่ในวงจรวิถีของโลกมนุษย์ แต่กลับซื้อบ้านอยู่บนเนินเขาของ Los Angeles (ราวกับพระเจ้า) มองเห็นทุกสิ่งอย่างดำเนินไปข้างล่าง

ออกตามหาพี่ชาย Travis ตั้งแต่ตอนที่หายไป เพราะเขาและภรรยา Ann (รับบทโดย Aurore Clément) ต้องรับภาระเลี้ยงดู Hunter เป็นเวลากว่า 4 ปี เกิดความผูกพันธ์ฉันท์พ่อแม่-ลูก แต่เมื่อพ่อตัวจริงของ Hunter ได้กลับมา มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ Walt จะคิดปกปิดบังความจริง, ผิดกับ Ann ที่ทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง เธอเก็บหลายเรื่องราวไว้ในใจผู้เดียว คงเพราะหัวอกแม่ เธอคงไม่สามารถมีลูกได้ แต่การได้มี Hunter ทำให้เธอเกิดความรักหึงหวงดั่งแม่ ไม่ต้องการที่จะพลัดพรากเสียเขาไป

การแสดงของ Stockwell เพิ่มมิติให้ตัวละครมีความว้าวุ่นใจ ด้วยสายตาที่วอกแวกรี้รน ถึงปากจะพูดด้วยถ้อยคำที่เย็นใจ แต่ภายในคงรุ่มร้อนเป็นกังวล กับคำถาม ‘เกิดอะไรขึ้นกับนาย Travis’ ถึงตัวเขาในหนังจะไม่ได้คำตอบ (และดูแล้วคงไม่ได้รับรู้จากปากของ Travis เป็นแน่) แต่ก็ยินยอมเข้าใจ อดทน ยอมรับ เพราะความสัมพันธ์ของพี่น้อง แนบแน่นไม่ต่างจากพ่อลูก เสียเท่าไหร่

สำหรับนักแสดงหญิงขอพูดถึงเพียง Nastassja Aglaia Kinski ลูกสาวคนโตของนักแสดงสัญชาติเยอรมันชื่อดัง Klaus Kinski กับภรรยาคนแรก Ruth Brigitte Tocki, Kinski เริ่มต้นจากการเป็นโมเดลลิ่งตั้งแต่ยังวัยรุ่นสาว ตอนอายุ 12 แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Wrong Move (1975) ของผู้กำกับ Wim Wenders ทำให้ได้ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง ได้ร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังมากมาย อาทิ Roman Polanski [เห็นว่าเขา flirt กับเธอด้วยนะครับ], Wolfgang Petersen, Francis Ford Coppola, David Lynch ฯ

Jane Henderson หญิงสาววัยรุ่นเต็มเปี่ยมด้วยความต้องการ ตัณหา ราคะ แต่เมื่อคลอดลูกตัวน้อยออกมา เหมือนว่าฮอร์โมนเหล่านั้นได้ถูกส่งต่อเจือจางหายไป ความคิด ความต้องการ ความรู้สึก เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กลายเป็นปัญหาขัดแย้งกับสามี Travis, หญิงสาวจำเป็นต้องทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง (แบบเดียวกับ Travis) รับไม่ได้กับตนเองที่มีจิตใจโลเล ไร้ซึ่งฐานความมั่นคง แบบนี้จะสามารถเป็นที่พึ่งพิงกับลูกที่เพิ่งเกิดมาได้อย่างไร ‘สันชาติญาณเพศแม่’ ทำให้เธอฝากฝัง Hunter ไว้กับ Walt และ Ann เพื่อนสนิทญาติพี่น้องใกล้ตัวที่สุด โดยคงยังแอบหวังลึกๆ ว่าสักวันเมื่อจิตใจของตนพร้อมแล้ว จะสามารถมีโอกาสกลับไปพบเจอลูกรักของตน

แม่ต้องการพบเจอ แสดงความรักต่อลูกแทบขาดใจ แต่การจะทำเช่นนั้นเธอต้องยินยอมรับเข้าใจตนเอง ที่สำคัญคือให้อภัย เพราะตอนนั้นฉันเป็นคนทำลายทุกสิ่งอย่าง (น่าจะเป็นคน)เผาบ้าน ทำให้ครอบครัวแตกแยก ขัดแย้งสามี ทอดทิ้งลูกมา, การงานของเธอคือ รับฟังคำสนทนา ยินยอมให้ผู้อื่นเห็นเรือนร่างใบหน้าตา แต่ตัวเองจะไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย ฟังดูตลกนะครับแต่อาชีพนี้เปรียบเสมือนแม่พระ ที่มีแต่ให้ (แต่คงรับเงินมาด้วยละ)

ช่วงท้ายกับการได้พบเจอ Travis กั้นขวางด้วยกระจกกั้นที่มองไม่เห็นหน้า แต่รับรู้ว่ามีตัวตน การสารภาพบาปของทั้งคู่คือการยินยอมรับความผิดพลาดของตนเอง พูดออกมาเป็นการระบายความรู้สึก เมื่อต่างได้เข้าใจกันและกันแล้ว ก็ไม่มีอะไรเจ็บแค้นค้างคาอยู่ในใจ Jane พร้อมแล้วที่จะพบเจอกับลูกชาย แต่บาดแผลตราบาปครั้งนั้นไม่มีทางเจือจางหายไปได้กับ Travis

ลูกชายเดินช้าๆตรงมากอด แม่ค่อยๆทรุดตัวลงมองหน้าหอมแก้มกอดรัด จากนั้นอุ้มขึ้นหมุนดีใจอยู่หลายรอบ, ผมเห็นฉากนี้คือ การกลับสู่วังวนของ ‘วัฏจักรชีวิต’ จากคนที่เคยหลุดออกจากวงโคจรโลกใบเดิมไปแล้ว ตัดสินใจวกกลับเข้ามาใหม่ ก็เท่ากับต้องเริ่มต้นเวียนวนวัฏจักรหมุนใหม่ [กระนั้นนี่เป็นหนึ่งในฉากกินใจที่สุดในโลกภาพยนตร์]

Nastassja Kinski ด้วยความที่ตัดขาดญาติดีกับพ่อตั้งแต่เด็ก (ข่าวลือว่า พ่อพยายามข่มขืนเธอ ‘sex abused’) น้ำตาของเธอในหนัง คงมาจากการหวนระลึกถึงประสบการณ์ชีวิตตัวเองเป็นแน่ เห็นแล้วสั่นสะท้าน เจ็บปวดรวดร้าวทั้งทรวง

มีฉากหนึ่งที่ตัวละครนี้สวมชุดขนสีแดง ต้องถือว่าเป็นภาพที่ตราตรึงมาก ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน

สำหรับเด็กชาย Hunter รับบทโดย Hunter Carson เห็นว่าเป็นลูกของนักเขียน L. M. Kit Carson (นี่ได้ทั้งพ่อลูกเลยนะเนี่ย), การแสดงของเด็กชาย ดวงตายังใสซื่อบริสุทธิ์ อายุ 8 ขวบสมัยก่อนยังถือว่าไร้เดียงสาอยู่มาก พูดจายังติดๆขัดๆ แต่มีความอยากรู้อยากเห็น คงกำลังเริ่มรู้เดียงสาแล้วสินะะ

ถ่ายภาพโดย Robby Müller ตากล้องสัญชาติ Dutch ขาประจำของผู้กำกับ Wim Wender, ฉากแรกเริ่มต้นที่ Bird Eye View ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ เห็นภาพท้องทะเลทรายอันกว้างใหญ่ไพศาลของ Texas เคลื่อนไปเรื่อยๆเห็นชายคนหนึ่งกำลังเดินอยู่ท่ามกลาง นกอินทรีบินลงมาเกาะพื้นหยุดยืนดู เขากำลังเดินไปไหน มีเป้าหมายอะไร?

ผมรู้สึกงานภาพของหนังชวนให้เกิดคำถามนี้คล้ายๆกัน ทำไมต้องถ่ายช้าๆ? ทำไมต้องเน้นให้เห็นธรรมชาติสวยงามเลื่อนลอย?, คำอธิบายงานภาพตรงตัวที่สุดคือ ‘การพรรณา’ หรืออารัมภบทก่อนเข้าสู่เรื่องราว (คล้ายๆกับบทกวี) ที่ต้องทำให้เคลื่อนช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ก็เพื่อให้ผู้ชมซึมซับรับรู้ความรู้สึก สัมผัสอารมณ์ของธรรมชาติ พื้นหลังที่มีต่อเรื่องราวและตัวละคร

– องก์แรกของหนัง งานภาพล่องลอยเรื่อยเปื่อยช้าๆเนิบนาบ ทะเลทรายมีความแห้งแล้ง อดอยาก จืดชืด ไร้จิตวิญญาณ ดั่งตัวละคร Travis ที่เหมือนจะไร้เป้าหมาย ไร้จิตวิญญาณ ออกเดินทางอย่างไม่รู้จุดจบ
– องก์สอง มุมมองคล้ายพระเจ้ามองลงมา เห็นผู้คน ชุมชนเมืองในมุมสูง เส้นทางการจราจรที่คับคั่ง เครื่องบินขึ้นลงลานบิน เมืองแห่งนี้เต็มไปด้วยรถและผู้คนมากหน้าหลายตา
– องก์สาม มุ่งสู่ Houston สถานที่แห่งนี้มีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท ทุกอย่างแบ่งออกเป็นสองส่วน (มีบางสิ่งอย่างคั่นกลางขวาง) รวมถึงฉากไคลน์แม็กซ์ที่ใช้แค่สองมุมมองของสองตัวละครเล่าสลับกัน

หนังใช้เวลาถ่ายทำเพียง 4-5 สัปดาห์ เพราะกองถ่ายมีขนาดเล็ก และใช้สถานที่ถ่ายทำหลักๆแค่ 3 ที่ คือ Texas, Los Angeles และ Huston

ตัดต่อโดย Peter Przygodda ขาประจำของผู้กำกับเช่นกัน แต่ต้องบอกว่าเพราะงานภาพมีความสวยงามโดดเด่นกว่า การตัดต่อจึงไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงเท่าไหร่

– องก์แรกของหนัง เริ่มต้นจากสายตาของนกอินทรี หรือมุมมองของธรรมชาติ ที่จะเล่าเรื่องราวของ Travis, การพบเจอกับพี่ชาย และการเดินทางสู่ Los Angeles
– องก์สอง เหมือนว่าจะเปิดอิสระให้ผู้ชมสามารถเลือกมุมได้เอง ว่าจะมองเรื่องราวด้วยสายตาของตัวละครใด อาทิ Travis, Walt, Ann หรือ Hunter
– องก์สามของหนังจะเหลือเพียงมุมมองของ Travis เท่านั้น เพราะนี่เป็นสิ่งที่เขาต้องคิด เห็น ตัดสินใจ กระทำด้วยตนเอง (ใช้ใครอื่นคิดทำแทนไม่ได้แล้ว)

เพลงประกอบโดย Ry Cooder นักดนตรีกีตาร์สัญชาติอเมริกา ผู้มีลีลาสไลด์/ขยี้สายกีตาร์ ได้เร้าใจที่สุดในโลก (ติดอันดับ 8 นิตยสาร Rolling Stone จัดอันดับ The 100 Greatest Guitarists of All Time เมื่อปี 2003), กลิ่นอายของเสียงกีตาร์ ให้สัมผัสคล้ายๆกับงานภาพของหนัง ล่องลอย เรื่อยเปื่อย โดดเดี่ยว เชื่องช้า เนิบนาบ เป็นเพลงลักษณะได้ยินบ่อยในหนังแนว Western เชื่อว่าคงฟังแล้วคงจะติดหูแน่ๆ

ซึ่งบทเพลงที่ Cooder ได้แรงบันดาลใจขยี้สายกีตาร์นี้ มาจากทำนอง Dark Was the Night (1927) โดยนักกีตาร์บลูชื่อดัง Blind Willie Johnson, นำมาให้ฟังกันด้วยนะครับ ลองเทียบดูว่าใครจะมีลีลาเร้าใจกว่ากัน

สำหรับคนทั่วไปคงมองหนังเรื่องนี้ คือการค้นหาคำตอบของเป้าหมายชีวิต แต่ผมมองว่า คือบทสรุปของคนที่ค้นหาเป้าหมายชีวิตไม่เจอ แล้วได้พบเป้าหมายอื่นในชีวิต, สองแนวคิดนี้ต่างกันนะครับ เพราะแบบแรกมันเหมือนว่า Travis จะได้พบเจอเป้าหมายชีวิตที่แท้จริง แต่แบบหลังคือล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ใช่ครับ ผมมองการเดินทางของ Travis ครั้งนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่ไม่ใช่หนังที่ล้มเหลวนะ เป็นเรื่องราวของตัวละคร เพราะสุดท้ายแล้วเขาไม่สามารถไปถึงยังจุดที่เป็นเป้าหมายปลายทางความตั้งใจที่สุดในชีวิตของตัวเองได้ [แต่นี่ไม่ได้แปลว่า การใส่ฉากที่ Travis เดินทางไปถึง Paris, Texas จะทำให้หนังสมบูรณ์ขึ้นนะครับ เพราะหนังเรื่องนี้คือปรัชญาตะวันตก แทรกฉากนั้นมาก็ยังไม่ใช่ปรัชญาตะวันออกอยู่ดี ไปถึงปลายทางแล้วยังไงต่อ นั่นใช่นิพพานเสียที่ไหน] ซึ่งเรื่องราวการพบเจอลูกชายและค้นหาแม่ เป็นเพียง Sideline ในชีวิต สองเป้าหมายใหม่นี้สำเร็จแล้วยังไงต่อ? ค้นหาเป้าหมายต่อไป? คนส่วนใหญ่น่าจะบอกได้นะครับว่า นั่นไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดท้ายของชีวิต

ขอพูดถึงเรื่องพระเจ้าบ้างดีกว่า คือผมติดใจประเด็นนี้มาตั้งแต่ Wings of Desire (1987) พระเจ้าในมุมมองของ Wim Wenders เรื่องนั้นเขาสร้างพระเจ้าในภาพลักษณ์ของมนุษย์ ที่คอยสอดส่องแอบมองดูแลอย่างใกล้ชิด ในโลกที่แสนจืดชืดน่าเบื่อ, กับหนังเรื่องนี้ Wenders ได้ใช้ตัวละครเป็นสัญลักษณ์แทนมนุษย์ และพระเจ้า
– Travis คือพระผู้มาไถ่ ได้เรียนรู้ พบเจอ ค้นหาเป้าหมาย ทางออกของชีวิต
– Walt และ Ann คือสหายของพระเจ้า ที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุน และเป็นผู้ดูแลบุตรของพระเจ้าก่อนการมาถึง
– Hunter คือบุตรของพระเจ้า
– Jane เปรียบได้กับพระแม่ผู้แสวงหาความบริสุทธิ์ของชีวิต

นี่ผมก็ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์นะครับ เลยไม่อยากเขียนต่อ เผื่อมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่ควรเป็นไปมันจะไม่เหมาะสมเอา ถ้าใครอยากคิดก็ลองประมวลผลต่อเองเลย ขอชี้แนะวิเคราะห์ให้เห็นเพียงเท่านี้ก็คงพอได้แล้วละ

หนังเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับการพูดถึงเปรียบเทียบกับ The Searchers (1956) ของผู้กำกับ John Ford ซึ่งเป็นเรื่องราวการออกตามหาหญิงสาวคนหนึ่ง ที่ถูกอินเดียแดงจับตัวไป ในท้องทะเลทรายของ Taxas, และอีกเรื่องหนึ่งคือ Taxi Driver (1976) ของผู้กำกับ Martin Scorsese ที่พระเอก (ชื่อว่า Travis) ล่องลอยไปเรื่อยเปื่อยในสังคมเมืองสุดโสโครก และได้ช่วยเหลือเด็กหญิงสาวคนหนึ่งไว้

ทั้งสองเรื่องนี้ พระเอก John Wayne และ Robert De Niro ต่างก็เป็นคนเรื่อยเปื่อยล่องลอยในโลกของตน มีเรื่องราวชวนให้ออกนอกจากเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น สุดท้ายก็สามารถพบเจอ หวนคืน ให้การช่วยเหลือ เป็นฮีโร่ประเภทปิดทองหลังพระ สำเร็จแล้วไม่ได้อะไรตอบแทน (แต่ได้ความอิ่มเอมสุขใจ)

เกร็ด: Paris, Texas เป็นเมืองที่มีอยู่จริงนะครับ อยู่ที่ Lamar County ทางตะวันออกเฉียงเหนือของ Texas เมื่อปี 2010 มีประชากร 25,171 คน เห็นว่ามีหอไอเฟลจำลองตั้งตระหง่านอยู่ด้วย (เพื่อให้สมชื่อ Paris)

ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับผลโหวตจากคณะกรรมการปีนั้นอย่างท่วมท้นเป็นเอกฉันท์ (น่าจะแปลว่าทุกคนลงคะแนนเลือกให้) คว้ารางวัล
– Palme d’Or
– FIPRESCI Prize (ร่วมกับ Voyage to Cythera)
– Prize of the Ecumenical Jury

ถึงหนังจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ใช่ว่าจะขายดีในอเมริกา ด้วยทุนสร้าง $1.8 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกาเพียง $2.2 ล้านเหรียญ [ไม่มีตัวเลขรายรับทั่วโลก], หนังเข้าชิง Golden Globe Award สาขา Best Foreign Language Film แต่เพราะเป็นหนังร่วมทุนสร้าง ฝรั่งเศส/เยอรมัน ทำให้ไม่มีประเทศไหนส่งชื่อเข้าชิง Oscar ทำให้พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

กระนั้นหนังได้เข้าชิง BAFTA Award 3 สาขา ได้มา 4 รางวัล
– Best Film
– Best Direction ** ได้รางวัล
– Best Screenplay – Adapted
– Best Score

ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มเห็น Travis กำลังออกเดินอย่างเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย ผมฉุกคิดขึ้นมาโดยทันทีเลยนะว่า มันต้องเป็นหนังเกี่ยวกับการค้นหาเป้าหมายชีวิตแน่ แม้จะไม่เชิงเป็นแบบนั้นเปะๆแต่ถือว่าใกล้เคียง ทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอิบอมยิ้มตลอดเรื่อง นี่แสดงถึงวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ Wim Wenders ที่มีความลึกล้ำเป็นสากล นี่แหละที่เรียกว่า Masterpiece

แนะนำกับคอหนังที่ชื่นชอบบรรยากาศ Western (แต่นี่ไม่ใช่หนัง Western นะครับ) แค่บรรยากาศใกล้เคียงกัน, นักปรัชญา นักคิดวิเคราะห์ คิดค้นหาเป้าหมายของหนัง, แฟนหนัง Wim Wenders และนักแสดง Harry Dean Stanton, Dean Stockwell และ Nastassja Kinski ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความล่องลอยไร้จุดหมาย

TAGLINE | “Texas, Paris ของผู้กำกับ Wim Wenders ล่องลอยเรื่อยเปื่อยสู่เป้าหมายที่อาจเดินไม่พบคำตอบ แต่มีความสวยงามราวกับบทกวี”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: