Pather Panchali (1955)
: Satyajit Ray ♠♠♠♠♠
(16/8/2019) “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”, บางสิ่งอย่างในชีวิตไม่สามารถหยุดยับยั้ง รั้งรีรอ เพราะถ้ามัวแต่เชื่องชักช้า ประเดี๋ยวก่อน ก็คงได้แค่จับจ้องมอง แล้วปล่อยให้มันผ่านเลยไป สุดท้ายอาจสายเกินแก้ไข เผชิญหน้าการสูญเสีย โศกนาฎกรรมโดยไม่ทันรับรู้ตัว
เด็กชาย Apu อยากพบเห็นรถไฟ ได้ยินเสียงล่องลอยมาทุกเช้าค่ำ แต่เมื่อโอกาสมาถึงกลับทำเพียงวิ่งไล่ตาม เพราะหัวรถจักรใช่ว่าจักสามารถหยุดรั้งรอให้เชยชม
มุมมองหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการ ‘เฝ้ารอคอย’ บางคนมัวแต่คาดหวังโชคชะตา สักวันฟ้าคงตกหล่นใส่ ไม่ครุ่นคิดกระทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ปล่อยให้เวลาว่างล่วงผ่านเลย จนกระทั่งประสบความสูญเสีย เพลานั้นถึงค่อยตระหนักครุ่นคิดขึ้นได้เมื่อสาย
ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักการเริ่มต้นออกเดินทาง (Panther Panchali แปลว่า Song of the Road) ทำทุกสิ่งอย่างด้วยลำแข้ง ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ ย่อมไม่มีเทพเทวดาฟ้าดินองค์ไหน ดลบันดาลทุกสิ่งอย่างให้บังเกิดผลอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับ Satyajit Ray สรรค์สร้าง Panther Panchali (1955) ถือเป็นจุดเริ่มต้นการออกเดินทาง เพียงพอแล้วจะยืนมอง เฝ้ารอคอย คาดหวังโชคชะตาฟ้าหล่นใส่ ตัดสินใจลิขิตชีวิตด้วยลำแข้งตัวเอง สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นอมตะค้างฟ้า เจิดจรัสเหนือกาลเวลา
“Not to have seen the cinema of [Satyajit] Ray means existing in the world without seeing the sun or the moon. It is the kind of cinema that flows with the serenity and nobility of a big river. People are born, live out their lives, and then accept their deaths”.
– Akira Kurosawa
ความงดงามของ Pather Panchali ได้รับการเปรียบดั่งธาราแห่งชีวิต เหตุการณ์ต่างๆดำเนินเคลื่อนไหลไป Apu พานพบเจอสุข-ทุกข์ หัวเราะ-ร้องไห้ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ท้ายที่สุดผู้ชม/ตัวละครได้รับบทเรียนบางอย่าง เกิดแรงกระตุ้นผลักดันอยากก้าวออกเดินทาง มุ่งสู่วันข้างหน้า คาดหวังว่าอนาคตจักสว่างสดใส
ความยิ่งใหญ่ของ Pather Panchali ไม่ใช่แค่เปิดประตูวงการภาพยนตร์อินเดียสู่ยุคสมัยใหม่ แต่ยังได้รับการยกย่องระดับ ‘Global Landmark’ ด้วยเทคนิควิธีการนำเสนอสุดแสนเรียบง่ายแต่มีความเฉลียวฉลาด ลุ่มลึกล้ำ สร้างพลังความรู้สึกเอ่อล้นหลาม และมีความเป็นสากล สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทุกชาติภาษา
ถึงอย่างนั้นโดยส่วนตัวมองว่า Pather Panchali ไม่ใช่ผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของผู้กำกับ Ray แต่เพราะความเป็น ‘First Impression’ ครั้งแรกที่สุดแสนทรงพลัง สดใหม่ ตราตรึง ซึ้งซาบซ่าน มันจึงฝังอยู่ภายในจิตใจผู้ชม/นักวิจารณ์ ยืนยาวนานกว่าผลงานเรื่องอื่นใด
Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art)
จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่
เกร็ด: คงเป็นหนังสือหายากที่ไม่มีการตีพิมพ์ใหม่แล้ว ซึ่งสิ่งที่ Ray ได้สรรค์สร้างขึ้นก็คือ วาดภาพประกอบฉบับย่อ (Unabridged) เป็นหนังสือเด็ก ตีพิมพ์ปี 1944
Ray มีความลุ่มหลงใหลต่อนวนิยาย Pather Panchali มองเป็นวัตถุดิบทรงคุณค่าสำหรับภาพยนตร์ เลยเกิดความตั้งใจถ้าตนเองได้เป็นผู้กำกับเมื่อไหร่ จะเลือกมาดัดแปลงผลงานเรื่องแรก
เกร็ด: ไม่ใช่แค่ไตรภาค The World of Apu เท่านั้นที่ผู้กำกับ Ray ดัดแปลงจากนวนิยายของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay ยังมีภาพยนตร์อีกเรื่องชื่อ Ashani Sanket (1973) ** คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
ช่วงประมาณปี 1947, Ray ร่วมกับ Chidananda Dasgupta และผองเพื่อน ก่อตั้ง Calcutta Film Society เพื่อนำเข้า/จัดฉายหนังต่างประเทศ รวมไปถึงทำนิตยสารภาพยนตร์ ซึ่งตัวเขาก็ได้กลายเป็นนักเขียน นักวิจารณ์ หนึ่งในบทความเลื่องชื่อ ‘What Is Wrong with Indian Films?’ ทำไมวงการภาพยนตร์อินเดียถึงมีแต่ร้อง-เล่น-เต้น รักโรแมนติก เพ้อขายฝัน เต็มไปด้วยสูตรสำเร็จ ถูกควบคุมครอบงำโดยระบบสตูดิโอ
การมาถึงของผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส Jean Renoir เมื่อปลายปี 1949 เพื่อสร้างภาพยนตร์ The River (1951) ทำให้ Ray มีโอกาสรู้จักพบเจอ กลายเป็นไกด์นำพาค้นหาสถานที่สำหรับถ่ายทำ ได้รับแรงผลักดัน กำลังใจ (จาก Renoir) และอนุญาตให้เข้าสังเกตการถ่ายทำ
ช่วงปี 1950, Ray ได้รับโอกาสครั้งสำคัญ ถูกส่งตัวไปทำงานยังประเทศอังกฤษเป็นระยะเวลา 3 เดือน ใช้เวลาเกือบทุกวัน ตระเวนดูหนังทั้งหมด 99 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ Bicycle Thieves (1948) ของผู้กำกับ Vittorio De Sica ค้นพบความเป็นไปได้ที่ตนเองจะรังสรรค์สร้างภาพยนตร์
“All through my stay in London, the lessons of Bicycle Thieves and neo-realist cinema stayed with me”.
– Satyajit Ray
เมื่อเดินทางกลับมาอินเดียปลายปี 1950 สิ่งแรกที่เริ่มต้นคือ รวมรวมทีมงานสร้าง เริ่มจากฝ่ายเทคนิค ตากล้อง Subrata Mitra, ออกแบบงานศิลป์ Bansi Chandra Gupta ฯลฯ จากนั้นติดต่อภรรยาหม้ายของผู้แต่งนวนิยาย Pather Panchali ซึ่งมีความพึงพอใจนวนิยายฉบับเด็กของ Ray เป็นอย่างมาก จึงได้รับคำอนุญาตให้สร้างแต่ปฏิเสธมอบทุนสนับสนุนใดๆ
Ray ประเมินทุนสร้างไว้คร่าวๆ ₹70,000 รูปี (=$14,613 เหรียญ เมื่อปี 1955) ได้จากการหยิบกู้ยืม จำนำสิ่งข้าวของ ขายเครื่องเพชรแต่งงาน ทั้งยังรับงานออกแบบจากบริษัทเก่าควบคู่ไปด้วย แต่ถึงอย่างนั้นเงินกลับหมดลงครึ่งทางพอดิบดี ทำให้ต้องหยุดกองถ่ายเป็นปีๆ จนกระทั่งได้กู้ยืมเงินจากรัฐบาล West Bengal (โดยเส้นสายของเพื่อนแม่) การถ่ายทำถึงดำเนินต่อไปได้จนเสร็จสิ้น รวมระยะเวลาถึง 3 ปี
เพราะไม่เคยรับรู้กระบวนการสร้างภาพยนตร์มาก่อน (ว่าต้องมีบทหนัง) Ray ได้พัฒนา Storyboard วาดภาพ ขีดๆเขียนๆ จดความครุ่นคิดใส่สมุดบันทึก ระหว่างการเดินทางข้ามมหาสมุทร (ตอนไปทำงานยังประเทศอังกฤษ) ซึ่งภายหลังก็ได้บริจาคทั้งหมดให้กับ Cinémathèque Française
ณ Nischindipur ชนบทเมือง Bengal ช่วงประมาณทศวรรษ 1910s, เรื่องราวของพราหมณ์/พ่อ Harihar Roy (รับบท Kanu Banerjee) ผู้มีความเพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน/นักกวี แต่ยังคงใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆกับภรรยา/แม่ Sarbajaya (รับบทโดย Karuna Banerjee) ที่คอยเลี้ยงดูแลบุตรสองคน พี่สาว Durga (รับบทโดย Uma Dasgupta) และน้องชาย Apu (รับบทโดย Subir Banerjee) อาศัยอยู่บ้านโทรมๆของบรรพบุรุษ ซึ่งมียายแก่ๆเป็นญาติห่างๆ Indir Thakrun (รับบทโดย Chunibala Devi) เฝ้ารอคอยความตายอยู่บ้านหลังข้างๆ
หนังเวียนวนอยู่กับเรื่องราวของเด็กชาย Apu ตั้งแต่เกิด
– ลืมตาขึ้นมา เดินทางไปโรงเรียน
– วิ่งเที่ยวเล่นกับพี่สาว Durga นำพาไปดูรถไฟวิ่งผ่าน
– พบเห็นการเสียชีวิตของยาย Indir Thakrun
– รับชมการแสดงพื้นบ้าน (jatra) ทำให้อยากลอกเลียนแบบตาม
– พ่อออกเดินทางไปทำงานต่างเมือง ไม่เห็นกลับมาสักที
– พี่สาวป่วยหนัก ในค่ำคืนมรสุมโหมกระหนำ
ฯลฯ
Kanu Banerjee (1905 – 1983) นักแสดงภาพยนตร์/ละครเวที แม้ก่อนหน้านี้มีผลงานอยู่หลายเรื่อง แต่ได้รับการจดจำก็เพียงแค่ Pather Panchali (1955) และ Aparajito (1956), รับบทพ่อ Harihar Roy เป็นคนเฉลียวฉลาดแต่ช่างเพ้อฝัน เลยไม่เข้าใจความทุกข์ยากลำบากของครอบครัว ที่ต้องอดมื้อกินมื้อไปวันๆ จนกระทั่งการสูญเสียครั้งสำคัญ ถึงค่อยตระหนักได้ว่าชีวิตควรดำเนินไปข้างหน้า จะอดรนทนฝืนอยู่กับอดีตแบบนี้ต่อไปทำไม
Karuna Banerjee (1919 – 2001) นักแสดงภาพยนตร์/ละครเวที แจ้งเกิดกับ Pather Panchali (1955), Aparajito (1956) และยังได้ร่วมงานผู้กำกับ Ray เรื่อง Devi (1960), Kanchenjungha (1962), รับบทแม่ Sarbajaya Roy ผู้มีความฉุนเฉียว อารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย เพราะไม่พึงพอใจต่อสภาพครอบครัวที่เป็นอยู่ ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถทำอะไรนอกจากคล้อยตามสามี กลายเป็นคนขี้งก ปากจัด โกรธเกลียดชิงชัยยาย Indir Thakrun ผลักไสให้เธอไปตายนอกบ้าน กรรมเลยตอบสนองด้วยการสูญเสียลูกสาว
Chunibala Devi (1875 – 1955) อดีตนักแสดงละครเวทีชื่อดัง ก่อนหน้านี้เคยแสดงภาพยนตร์สองเรื่องแล้วรีไทร์ พักอาศัยรอวันตายอยู่ในซ่องโสเภณี ได้รับการพบเจอโดยผู้กำกับ Ray ลากพาตัวกลับมารับบทยาย Indir Thakrun ที่ก็กำลังรอวันตายเช่นกัน ไม่ชอบพอ Sarbajaya Roy แต่เพราะลูกๆของเธอ Durga และ Apu พยายามงอนง้อรอฟังนิทาน เสียงขับขานร้องเพลงยามดึกดื่น แต่ถึงอย่างนั้น…
เกร็ด: Chunibala Devi กลายเป็นนักแสดงคนแรกของอินเดีย ที่สามารถคว้ารางวัลการแสดงจากเทศกาลหนังนานาชาติ The Manila Film festival (แต่ก็ไม่ใช่เทศกาลดังสักเท่าไหร่นะ)
สำหรับนักแสดงเด็กๆ ใช้การประกาศรับสมัครทางหนังสือพิมพ์
– Runki Banerjee รับบท Durga วัยเด็ก มีความซุกซนไปตามประสา แต่เริ่มพัฒนาการลักเล็กขโมยน้อย
– Uma Dasgupta รับบท Durga วัยรุ่น ชื่นชอบการเที่ยวเล่นมากกว่าเรียนรู้การบ้านงานเรือน เกิดความอิจฉาริษยาเพื่อนจึงลักขโมยสร้อยมีราคา กลับมาถูกลงโทษรุนแรงจนเกือบโดนไล่ออกจากบ้าน จากนั้นก็พยายามเป็นพี่ที่ดี ให้ความช่วยเหลือปกป้องน้อง Apu และอธิษฐานขอพรเทพเทวดา เสียสละตนเองเพื่อความสุขของครอบครับ
สำหรับบทบาท Apu มีนักแสดงมาคัดเลือกมากมาย แต่กลับไม่เป็นที่พึงพอใจสักเท่าไหร่ กระทั่งวันหนึ่งภรรยาผู้กำกับ Bijoya Ray พบเห็นเด็กชาย Subir Banerjee กำลังวิ่งเล่นอยู่ระแวกบ้าน เข้าไปชักชวนมาทดสอบหน้ากล้อง กลายเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้กำกับ Ray อย่างมาก เพราะดวงตาอันใสซื่อบริสุทธิ์ สามารถถ่ายทอดความอ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสา ออกมาจากภายใน, หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ เด็กชายก็ห่างหายหน้าไปจากวงการ นิตยสาร India Today พยายามสืบเสาะแสวงหา จนพบเจอทำงานในโรงงานแห่งหนึ่งที่ Kolkata ต่อมากลายเป็นเสมียนให้หน่วยงานรัฐ ปัจจุบันรีไทร์อยู่กับบ้าน ไม่ยุ่งเกี่ยวข้องแว้งใดๆกับวงการภาพยนตร์อีกเลย
ผู้กำกับ Ray มีโอกาสรู้จักกับ Subrata Mitra (1930 – 2001) ในกองถ่ายภาพยนตร์ The River (1951) ขณะนั้นทำงานเป็นช่างภาพนิ่ง คอยสังเกต/จดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดแสง ไม่เคยมีประสบการณ์ถ่ายทำภาพเคลื่อนไหวมาก่อน จับพลัดจับพลูด้วยความเชื่อใจ ลองผิดลองถูกกับกล้อง 16mm ผลลัพท์ออกมาไม่มีใครคาดคิดถึงว่าจะงดงามตราตรึงขนาดนี้
“My experience in Pather Panchali were rather unusual, because before this I had never touched a movie camera or even worked as an assistant to a cameraman…Almost every shot of Pather Panchali posed a problem for me, innumerable problems, many sleepless nights spent on ruminating over the prospects of the next day’s shooting…Pather Panchali had many excellent shots–both technically and artistically, but it had many bad shots too”.
– Subrata Mitra
เอกลักษณ์ในงานภาพของ Mitra จะยังไม่ปรากฎเด่นชัดนักใน Pather Panchali [พบเห็นครั้งแรกเรื่อง Aparajito (1956) กับเทคนิค ‘bounce light’] แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งตราตรึงมากๆของหนัง คือความลื่นไหลของภาพ และแสงธรรมชาติที่สาดส่องเข้ามาในบ้าน พงไม้ กอหญ้า Deep-Focus ใกล้-ไกล ตำแหน่งสูง-ต่ำ มุมก้ม-เงย เรียกได้ว่าครบเครื่องทุกภาษาภาพยนตร์ (ขนาดว่าไม่มีประสบการณ์นะเนี่ย!)
Opening Credit สังเกตว่ากระดาษทุกแผ่นจะพบเห็นร่องรอยพับครึ่ง ไม่รู้เหมือนกันว่ามีนัยยะอะไรซ่อนเร้นหรือเปล่า
ผู้กำกับ Ray ท่าทางจะเคยได้รับชม Rashômon (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa เลยเลือกสถานที่ถ่ายทำในป่าดงพงไพรได้มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ซึ่งการฝีมือการถ่ายภาพธรรมชาติของ Mitra ก็ต้องชมว่าเลือกมุมได้สวย เด็กสาวกำลังกระโดดโลดวิ่งเล่นไปเรื่อยๆ และใช้การ Cross-Cutting ปรับเปลี่ยนมุมมอง ให้ความรู้สึกถึงความต่อเนื่องดำเนินไป
ไม่รู้เป็นความเชื่อของชาวฮินหรือเปล่านะ จะมีเสาต้นหนึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางบ้าน และมีการปลูกต้นไม้(ศักดิ์สิทธิ์)ไว้เบื้องบน ช่วงแรกจะพอพบเห็นกิ่งก้านใบไม้ แต่ช่วงท้ายๆก็ร่วงหล่นโรยราจนแทบไม่หลงเหลืออะไร สะท้อนสภาพบ้านหลังนี้ได้เป็นอย่างดีทีเดียว
ความน่ารักน่าชังของภาพยนตร์เรื่องนี้ จะรายล้อมไปด้วยสรรพสัตว์เลี้ยงมากมาย ปรากฎพบเห็นอยู่แทบทุกช็อตฉาก หมา แมว วัว ลิง เป็ด ห่าน กบ งู ฯลฯ ซึ่งมักมีลักษณะสะท้อน สอดคล้อง ล้อกับเรื่องราวและตัวละครขณะนั้น
อย่างฉากนี้ Durga หยิบลูกแมวออกจากไห สะท้อนถึงจุดเริ่มต้น การเกิด (ของ Apu) ยังเต็มไปด้วยความสดใสไร้เดียงสา
“I don’t want to see a movie of peasants eating with their hands”.
– ความคิดเห็นของผู้กำกับ François Truffaut
นักแสดงที่ถือว่าแย่งซีนสุดใน The Apu Trilogy ผมคิดว่าคือคุณยาย Chunibala Devi ดั่งเดิมฉบับนวนิยายจะเสียชีวิตจากไปตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่ผู้กำกับ Ray พยายามยึกยักตัวละครนี้ไว้ไม่ให้เร่งรีบร้อนตาย และถือว่าโชคดีมากๆที่หลังจากเว้นว่างการถ่ายทำไปกว่าปี คุณยายยังคงมีชีวิตอยู่ … แต่ไม่รู้ได้ทันรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้หรือเปล่านะ
ความลุ่มลึกของ Pather Panchali ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ Sound Effect แทนคำบรรยายอารมณ์/ความรู้สึก, อย่างฉากนี้ด้วยความงอนตุ๊บป่องของคุณยาย ตัดสินใจเก็บข้าวของเตรียมย้ายออกจากบ้าน ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงพูดคุยใดๆ แค่เพียงกระดิ่งวัวดังกริ้งๆ บ่งบองความอึดอึด ไม่พึงพอใจ ฉันไม่ใช่สัตว์ที่จะถูกใครล่ามไว้ … แต่เธอก็รีบร้อนกลับมาบ้าน เมื่อทราบข่าวคลอดทารกน้อย Apu
Durga หลับนอน น้องเหมียวนอนหลับ เป็นภาพที่น่ารักน่าชังเสียจริง!
เห็นว่าฉากกลางคืนถ่ายทำในสตูดิโอ เพราะที่หมู่บ้าน Boral, Calcutta ไม่มีแสงไฟเข้าถึง จึงไม่สามารถใช้การจัดแสงสว่าง หรือจะถ้าใช้เทียนไขอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอกำลังแสง
พ่อ อยู่ดีๆเดินไปเดินมา สูบบารากุพ่นควันฉุย สีหน้าเต็มไปด้วยความกระวนกระวาย แรกเริ่มผู้ชมจะไม่รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ฉากถัดๆมาเมื่อพบเห็นทารกน้อย Apu ก็จะสามารถเข้าใจทุกสิ่งอย่าง
นี่ผมก็ไม่รู้ว่าเทคนิค Deep-Focus เข้าไปถึงอินเดียตั้งแต่เมื่อไหร่ แม่-ลูกสาว นั่งฟังคำเพ้อใฝ่ฝันของพ่อ ขณะที่ด้านหลัง ยายกำลังไกวเปลให้ Apu หลับนอนสบาย (สะท้อนว่าพวกเขาทั้งสองที่อยู่ไกลๆ ยังไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆในชีวิตครอบครัวขณะนี้)
ช็อตแรกของ Apu กำลังหลับนอนสบาย ถูกพี่สาว Durga เลิศผ้าห่ม เบิกตา (แอบนึกถึง Un Chien Andalou ขึ้นมา!) สะท้อนถึงมุมมองชีวิตของเด็กชาย ต่อจากนี้จักได้เรียนรู้เข้าใจอะไรๆ เปิดโลกกว้างด้วยตนเอง
ซึ่งสิ่งแรกที่ Apu ประสบพบเห็นและคงจดจำไม่รู้เลือน คือที่ห้องเรียน อาจารย์คนนี้ไม่เพียงสอนหนังสือ ยังขายข้าวสาร อาหารการกินไปพร้อมกัน ใช้ตาชั่งแบบวัดด้วยมือ ดูยังไงน้ำหนักสองข้างก็ไม่มีทางเทียบเท่าเทียม … นี่เป็นการสะท้อนถึงชีวิต แค่ต้นกำเนิด/วรรณะ ก็ไม่มีใครเท่ากัน และภาพตราฝังตรึงแรกของเด็กชาย คือเพื่อนที่เล่น O-X ถูกเฆี่ยนตีอย่างไร้สาเหตุผลใดๆ
ช็อตนี้ก็ Deep-Focus อีกแล้วนะครับ เริ่มต้นจากพี่สาว Durga ได้ยินเสียงคนขายขนมมาแต่ไกล (Sound Effect โดดเด่นขึ้นมา) จากนั้นชักชวนน้องชายวิ่งออกมาดู แล้วสั่งให้ไปขอเงินพ่อ
แต่เพราะแม่กำลังงก พ่อจำเลยต้องบอกปัด ถึงอย่างนั้น Durga ก็มีแผนการบางอย่าง รีบออกวิ่งติดตาม และสุนัขตัวนี้โคตรน่ารักน่าชัง พอเห็นเด็กๆออกวิ่ง มันก็เลยติดตามไปด้วย … เจ๋งเป็นบ้า!
ภาพสะท้อนในสระน้ำ พบเห็นเด็กๆ(และเจ้าสุนัข)กำลังวิ่งติดตามคนขายขนม มันอาจมองไม่เห็นอะไร แต่สะท้อนความต้องการของพวกเขา หิวโหยอยากกินขนม แต่ก็ได้แค่เพียงความเพ้อฝัน
Durga ไม่ได้ทำตัวเป็นพี่ที่ดีสักเท่าไหร่ ปล่อยให้น้อง Apu ยืนรอคอยอยู่ด้านล่าง ส่วนตนเองแสร้งทำเป็นไปเล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆ แล้วได้รับการป้อนขนมเข้าปากอยู่เบื้องบน
เสียงปู้นรถไฟ ดังขึ้นทั้งหมด 4 ครั้งในหนัง (ไม่นับรวมตอนที่เจอรถไฟ) ครั้งแรกกล้องจะค่อยๆเคลื่อนเข้าหา Apu จากนั้นพูดสักถามพี่สาว เคยเห็นรถไฟจริงๆไหม เป็นการสะท้อนความเพ้อฝันของเด็กชาย อยากรู้ อยากเห็น จินตนาการไม่ออกว่าเป็นอย่างไร
Durga ได้ลักขโมยของบางอย่าง เพราะไม่มีหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันแม่เลยยังเข้าข้าง แต่เธอคงรู้อยู่แก่ใจ พอรับหลังโจกท์จากไป จึงทำการลงโทษกระชากผม ผลักไล่ไสส่งออกนอกบ้าน ไร้เสียงกรีดหวีดร้อง เพียงกลองรัว(เหมือนจังหวะเต้นของหัวใจ) และทั้งหมดถูกจับจ้องมองอยู่ในสายตาเด็กชาย Apu คงจดจำไม่รู้ลืมอีกเช่นกัน
แต่แม่ก็คือแม่ จะขับไล่ลูกวัยเยาว์ออกจากบ้านย่อมไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว เมื่อตกเย็นเลยสั่งให้ Apu ไปติดตามพี่สาวกลับมากินข้าว กระโดดโลดเต้นอย่างอารมณ์ดี ประกอบดนตรี Sitra จังหวะรุกเร้าใจ
เสียงหวูดรถไฟครั้งที่สองดังล่องลอยขึ้นมาขณะนั้น เด็กๆต่างหลับสนิท หลงเหลือเพียงผู้ใหญ่ พ่อเพิ่งได้เงินเดือนย้อนหลัง เพ้อรำพันถึงอนาคต ขณะที่แม่ถามถึงความมั่นคง และยายกำลังขับขานบทเพลงแห่งความวังเวง เมื่อไหร่ชีวิตฉันจะจบสิ้นลงสักที
นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ใหญ่ทั้งสามกำลังครุ่นคิดถึงอนาคตวันข้างหน้า เสียงหวูดรถไฟขณะนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความเพ้อใฝ่ฝัน (แบบเดียวตอนที่ Apu ได้ยินครั้งแรก)
ผมถึงกับผงะเมื่อพบเห็นช็อตนี้ ย่ากำลังขับร้องเพลงที่เต็มไปด้วยความโหยหวน แสงจันทราช่างมีความฟุ้งซ่านสาดส่องลงมา แสดงถึงความคลุมเคลือของชีวิต เพราะไม่มีใครบอกได้หรอกว่า ความตายจะมาเยี่ยมเยือนถามหาเมื่อไหร่ (แต่เหมือนยายแกจะรู้ตัวดีนะ)
Jatra (แปลว่า Journey, การเดินทาง) ละครเวทีพื้นบ้าน Bengali ที่ได้รับความนิยมสูงมากๆ มักนำปรัมปราของฮินดู เมื่อตอนพระกฤษณะ ลักพาตัวนางรุกมินี เพื่อมาเป็นภรรยาของตนเอง แต่ถูกขัดขวางโดยศิศุปาละ พูดจาหยามเหยียดดูถูก
ดูแล้ว Apu ต้องการแต่งตัวเลียนแบบพระกฤษณะ สวมมงกุฏ ใช้ธนูเป็นอาวุธ
เวรกรรมของคุณยาย ขอแค่น้ำ(ใจ) เธอคนนี้ก็ไม่คิดหยิบยื่นให้ อยากดื่มก็เดินมารินเอง นั่นทำให้สีหน้าจากรอยยิ้ม ค่อยๆหุบลงจนไม่หลงเหลืออะไร แล้วใช้น้ำที่เหลือก้นไหเทใส่ต้นไม้ มันอาจมีชีวิตได้ยืนยาวกว่าตนเอง
เปรียบเทียบคุณยายกับสุนัข เร่ร่อน ไร้ที่พึ่งพักพิงกะลาหัว
ฉากที่ถือว่าเป็นตำนานของหนัง เด็กชาย Apu พบเห็นรถไฟครั้งแรกในชีวิต เมื่อเขาได้ยินเสียงหวูดดังขึ้น รีบออกวิ่งติดตาม เต็มไปด้วยความตื่นเต้นรุกเร้าใจ แต่ทุกสิ่งอย่างกลับจบสิ้นอย่างรวดเร็วพลัน แทบไม่ทันมองเห็นอะไร
ความเจ๋งของฉากนี้มุมกล้องที่ยกสูงระดับเดียวกับยอดหญ้า ทำให้พบเห็นเด็กๆขณะกำลังวิ่ง พอดิบพอดีกับรถไฟกำลังเคลื่อนเข้ามา ก็ไม่รู้ต้องถ่ายทำกี่เทคกว่าจะได้จังหวะเปะๆอย่างนี้
นัยยะของฉากนี้ ถือว่า Apu ได้เติมเต็มความฝันแรกในชีวิต พบเห็นขบวนรถไฟที่สงสัยมานานว่าหน้าตาเป็นเช่นไร แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็แค่จับจ้องมองมันแล่นผ่านไป ยังไม่มีโอกาสขึ้นขบวน ออกเดินทาง โลดแล่นไปบนความเพ้อฝันนั้น
ทุกความใฝ่ฝันย่อมต้องแลกมาด้วยการสูญเสีย ช็อตนี้เริ่มต้นที่เด็กๆกำลังเดินเลียบป่าไผ่กลับบ้าน แล้วอยู่ดีๆกล้องค่อยๆเคลื่อนไหลไปให้พบเห็นย่ากำลังนั่งทอดถอนหายใจเฮือกสุดท้าย พบเห็นด้วยสายตาของเด็กๆ มันช่างน่าหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัวเสียจริง
ความสูญเสียย่า ทำให้ทุกสิ่งอย่างดูมืดมิดหมองหม่นขึ้นทันตา
พ่อเลยตัดสินใจออกเดินทางไปหางานทำยังเมืองใหญ่ เผื่อว่าอะไรๆจะดีขึ้นกว่าเก่า ซึ่งก่อนไปก็ได้ให้เงินลูกๆได้มีโอกาสรับชมเครื่องเล่น Bioscope ซึ่งมีภาพสถานที่สำคัญๆของอินเดียมากมาย (ทำยังกับว่า นั่นคือสถานที่ที่พ่อออกเดินทางไป)
แม่คือผู้เดียวที่ได้ยินเสียงหวูดรถไฟครั้งที่สาม ในช่วงเวลาที่ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก พ่อจากไปหลายเดือนไม่หวนกลับมาสักที นั่นทำให้เธอต้องครุ่นคิดถึงอนาคตลูกๆ ตัดสินใจขายข้าวของวันแต่งงาน แลกซื้อข้าวสารมาเติมให้เต็ม … แต่ประเดี๋ยวด๋าวมันก็หมดสิ้นลงอย่างรวดเร็ว
เสียงหวูดรถไฟครานี้ เป็นสัญลักษณ์ความจริงที่เคลื่อนเข้ามาถึง (เธอไม่อาจจมอยู่ในความเพ้อฝันได้อีกต่อไป)
เพื่อให้ครบองค์ประกอบชีวิต หนังจำต้องแทรกใส่ฉากงานแต่งงานเพื่อนของ Durga แต่ก็ไม่มีอะไรน่าจดจำสักเท่าไหร่ในความทรงจำของ Apu (ถ้าเป็นพี่สาวแต่งงานคงว่าไปอย่าง)
ข่าวคราวที่ว่าพ่อกำลังจะกลับบ้าน ได้สร้างความหวังเล็กๆให้กับครอบครัว ซึ่งหนังได้ร้อยเรียงภาพผืนน้ำ(ซ้อนใบหน้าแม่) ใบบัว จิ้งโจ้น้ำกระโดดโลดเต้น ราวกับชีวิตกำลังจะได้ลืมตาอ้าปากเสียที
แต่เพราะ Durga ไม่สามารถอดรนทนต่อความทุกข์ยากลำบากนี้อีกต่อไป เธอเลยสวดอธิษฐานภาวนา ต้องการเสียสละตนเองเพื่อครอบครัวและน้องชาย ซึ่งฉากนี้จะตัดสลับกับภาพของ Apu กำลังเดินทางกลับบ้าน และท้องฟ้าเมฆครึ้มฝน
ความเสียสละของ Durga เปียกฝนแทนน้องชาย ทำให้เธอป่วยไข้ ทีแรกไม่มีใครคิดว่าหนัก แต่ค่ำคืนมรสุมเต็มไปด้วยความคิดไม่ถึงนานับประการ
ฉากนี้เต็มไปด้วย Special Effect ที่สุดแสนธรรมดา ฟ้าแลบก็ใช้แสงไฟกระพริบ พัดลมพัดแรงๆ กล้องเคลื่อนเข้าเคลื่อนออก Sound Effect เสียงลมฝน และตัวละครแสดงสีหน้าตื่นตระหนก ง่ายๆแบบนี้แหละแต่ทรงพลังตราตรึง
ช็อตสุดท้ายของซีนมรสุม คือภาพรูปปั้นพระพิฆเนศ เทพแห่งความสำเร็จ ซึ่งคงสะท้อนถึงคำอธิษฐานของเด็กหญิงที่กำลังจะกลายเป็นจริง
สภาพบ้านหลังพายุมรสุม หลงเหลือเพียงปรักหักพัง และกบตายตัวนี้ สื่อถึงใครบางคนที่กำลังจะจากไป
หลังการจากไปของ Durga แม่และ Apu เหมือนว่ายังคงใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติ แต่ผู้ชมสามารถรู้สึกสัมผัสได้ พวกเขาราวกับร่างกายที่ว่างเปล่า เด็กชายกำลังหวีปัดทรงผม แต่จิตใจล่องลอยหายไปไกล
เมื่อพ่อกลับมาพร้อมของฝาก หยิบผ้าที่ตระเตรียมไว้ให้ Durga เมื่อแม่พบเห็นเข้า ความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวที่สะสมคั่งค้างอยู่ภายใน มันได้หลั่งไหลพรั่งพรูออกมาด้วยธารน้ำตา
สังเกตว่าตั้งแต่ที่ Durga เสียชีวิตจากไป จะยังไม่มีฉากที่แม่หรือ Apu รำพันร่ำร้องไห้ หนังจงใจเก็บสะสมความรู้สึกนั้นไว้ ให้ผู้ชมเกิดความอึดอัดร่วมไปด้วยกับตัวละคร รอจนพ่อกลับมาพร้อมหน้า และแม่เห็นผ้าวินาทีนี้ ระเบิดเวลาแห่งความเศร้าโศกก็ปะทุคลั่งออกมา พลังล้างผลาญมันจึงสั่นสะท้านไปถึงทรวงใน
ครั้งสุดท้ายของเสียงหวูดรถไฟ มีเพียงพ่อกำลังนอนครุ่นคิดถึงอนาคตที่ได้ยิน เขาตระหนักได้ว่า ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ยังคงจมปลักความฝันลมๆแล้งๆของตนเอง ย่อมไม่ใช่เรื่องดีต่อครอบครัวแน่ ตื่นเช้ามาเลยเริ่มเก็บข้าวของ ถึงเวลาตระเตรียมตัวออกเดินทางสู่โลกใบใหม่
เสียงรถไฟครั้งสุดท้ายนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์ของการออกเดินทางครั้งใหม่(ของทั้งครอบครัว)
ผมรู้สึกว่าฉากนี้เป็นความจงใจของผู้กำกับ Ray ใส่เข้ามาเพื่อวิพากวิจารย์ความคิดของชนชาวอินเดีย ที่ยังคงยึดถือมั่นในความเชื่อ วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมโบราณ ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านพยายามโน้มน้าวเหนี่ยวรั้งพ่อ ไม่ให้ทอดทิ้งบรรพบุรุษรากเหง้าของตนเอง … แต่มันจะมีประโยชน์อะไรจมปลักอยู่ในสถานที่รูหนูแห่งนี้ ก้าวออกจากกะลา มุ่งหน้าสู่โลกใบใหม่ เติมเต็มความต้องการ/เพ้อฝันของตนเอง อะไรๆมันก็น่าจะดีขึ้นกว่าเดิมได้ไม่ใช่หรือ
Apu ได้พบเห็นสร้อยข้อมือที่ Durga ลักขโมยมา แต่พี่สาวไม่มีชีวิตอยู่แล้วมันจึงเป็นของไร้ค่า เลยตัดสินใจโยนทิ้งน้ำ ปล่อยให้จอกแหนที่ลอยอยู่ปกคลุม ค่อยๆเคลื่อนเข้ามาปกปิดบดบัง … อดีตเป็นสิ่งเกิดขึ้นพานผ่านไปแล้ว ประเดี๋ยวด๋าวก็ถูกลบลืมเลือนไปตามกาลเวลา
ปิดท้ายด้วยช็อตนี้ สภาพปรักหักพังของบ้าน หลงเหลือเพียงสุนัข และงูตัวหนึ่งกำลังเลื้อยคลานเข้ามาอาศัยอยู่แทนเจ้าของเดิม (แมวน้อยสามสี่ตัวไม่รู้หายหัวไปไหน)
ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray,
หนังมีจุดหมุนคือครอบครัว Roy ประกอบด้วย พ่อ, แม่, ยาย, Durga และ Apu อาศัยอยู่ในบ้านสภาพชำรุดทรุดโทรม เรื่องราวสามารถแบ่งออกเป็นตอนๆ ซึ่งเริ่มต้น-สิ้นสุดจะมีการ Fade-into-Black ให้สังเกตออกโดยง่าย
ความลื่นไหลของงานภาพ มักเกิดจากการ Cross-Cutting ระหว่างสลับสับเปลี่ยนมุมมอง/เรื่องราว ทำให้เกิดความรู้สึกราวกับว่าสองภาพ/เหตุการณ์นั้นมีลำดับต่อเนื่องกัน
เพลงประกอบโดย Ravi Shankar (1920 – 2012) นักเล่น Sitra เครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดีย ก่อนหน้านี้มีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ในปริมาณหนึ่ง แต่หลังจาก Pather Panchali (1955) ทำให้โด่งดังไกลระดับโลก (สร้างความสนใจล้นหลามให้กับ George Harrison แห่งวง The Beatles บินมาร่ำเรียนดนตรีเป็นการส่วนตัวกับ Shankar)
ต้องถือว่า Sitra ได้กลายเป็นเครื่องดนตรีเอกลักษณ์ ที่ชาวตะวันตกจดจำกับประเทศอินเดียไปเรียบร้อยแล้ว ทุกการดีดบรรเลงจะมีความกึกก้องกังวาลย์ที่ทรงเสน่ห์ ลึกลับ ต้องมนต์ขลัง เต็มไปด้วยความพิศวง ราวกับทำให้จิตวิญญาณสามารถล่องลอยออกจากร่าง
งานเพลงของหนังมีคำเรียกว่า Ragas ส่วนใหญ่บรรเลงด้วย Sitra (โดย Shankar) ด้วยท่วงทำนองที่สามารถสะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึก สนุกสนานตื่นเต้น หรือเจ็บปวดรวดร้าว คลอประกอบด้วยเสียงขลุ่ยไม้ไผ่ ราวกับจิตวิญญาณแห่งชีวิต และบางครั้งเสียงระฆัง รัวกลอง บ่งบอกการกระทำที่ไม่มีใครคาดคิดถึง
เกร็ด: และเพราะไม่มีเงินว่าจ้างนักดนตรีอื่นมาเพิ่ม ผู้กำกับ Ray และตากล้อง Subrata Mitra จึงมาร่วมเล่นเครื่องดนตรีอื่นประกอบ รวมแล้วใช้เวลาการบันทึกเสียงเพียง 11 ชั่วโมงก็เสร็จสิ้น
หลังจากลืมตาขึ้น Apu พานพบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นครั้งแรกของเด็กชาย ได้เปิดโลกทัศน์ สร้างความเข้าใจอะไรใหม่ๆ ซึ่งก็มีทั้งรอยยิ้ม-ผิดหวัง ดีใจ-เศร้าโศก หัวเราะ-ร้องไห้ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ไม่มีอะไรสามารถคาดเดาได้ นั่นเองที่ใครๆเรียกว่า ‘ชีวิต’
ในมุมของเด็กชาย เพราะยังอ่อนเยาว์วัย บริสุทธิ์ไร้เดียงสา จึงไม่สามารถครุ่นคิดหรือมีปฏิกิริยาอันใด แค่เพียงพบเห็น เรียนรู้ จดจำ นำความรู้สึกนั้นไปเป็นบทเรียนตราฝังใจ ‘เฝ้ารอคอย’ ให้เติบโตเจริญวัย อนาคตเมื่อประสบเหตุการณ์ลักษณะคล้ายคลึงเมื่อไหร่ จักสามารถโต้ตอบแสดงออก ไม่ยินยอมให้โศกนาฎกรรมเกิดขึ้นอีกซ้ำสอง
ความ ‘แรกพบ’ ของ Apu สะท้อนอะไรหลายๆอย่างถึงผู้กำกับ Satyajit Ray สรรค์สร้าง Pather Panchali คือภาพยนตร์เรื่องแรก ทดลองผิดลองถูก ซึ่งก็ได้เรียนรู้ จดจำ และคงจะนำความผิดพลาดทั้งหลาย กลายมาเป็นบทเรียนสำหรับผลงานถัดๆไป (ถ้ายังได้สร้างภาพยนตร์อยู่)
Pather Panchali ได้รับการจัดเข้าพวก Neorealist ซึ่งผู้กำกับ Ray ถือว่ารับอิทธิพลเต็มๆจากยุคสมัย Italian Neorealism องค์ประกอบหลายๆอย่างที่โดดเด่นชัด อาทิ ถ่ายทำด้วยแสงธรรมชาติ ใช้บริการนักแสดงสมัครเล่น รายล้อมด้วยสภาพปรักหักพัง วิถีชีวิตยากจนค้นแค้น ฯ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ Neorealist เรื่องแรกของประเทศอินเดียนะครับ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดน่าจะคือ Do Bigha Zamin (1953) ของผู้กำกับ Bimal Roy
ความจนถือเป็นสิ่งสากลหนึ่งของโลก เพราะทุกประเทศล้วนมีคนจน (ไม่ว่าจะจนจริงจนปลอม) ผู้ชมภาพยนตร์ล้วนถือว่าเป็นคนมีเงินแทบทั้งนั้น จิตสำนึกอันดีที่ใครๆล้วนต้องมี เมื่อรับชมหนังเรื่องนี้จึงมักรู้สึกทุกข์ทรมาน สงสารเห็นใจ อยากจะทำบางอย่างเพื่อเป็นการช่วยเหลือ ฉุดดึงขึ้นจากขุมนรกบนพื้นโลกใบนี้
แต่ในความเป็นจริง เราจำเป็นต้องสงสารคนจนหรือเปล่า? ข้อสรุปของผมเองนั้น การสงสารเห็นใจเป็นความรู้สึกที่ไม่น่าอภิรมณ์สักเท่าไหร่ เพราะมันตรงกันข้ามกับการเรียกร้องความสนใจ … บุคคลมีนิสัยขี้สงสาร มักชอบทำทานโดยหวังผลตอบแทน บางครั้งเมื่อถูกลวงหลอก ชอบที่จะโวยวายบ้านแตก เรียกร้องอ้างสิทธิ ทวงคืนความยุติธรรมให้กับตนเอง ไร้ซึ่งความบริสุทธิ์จากใจ
ผมคงไม่ถึงขั้นถึงแนะนำว่า เราไม่ควรรู้สึกสงสารเห็นใจใคร แต่หลายๆครั้งอยากให้ลองวางตัวเป็นกลาง ยึดถือคติ ‘อุเบกขา’ เห็นคนจนข้างถนนควรรู้สึกยับยั้งชั่งใจ (เดี๋ยวนี้ขอทานข้างถนน บางคนมีคอนโดหรูหรา ร่ำรวยกว่าคนบริจาคเสียอีกนะ!) คนที่จนด้วยใจต่างหาก ผมว่าน่าสงสารยิ่งกว่าอีก!
พระพุทธเจ้า ไม่ได้สงสารเห็นใจสัตว์โลกถึงออกเผยแพร่พุทธศาสนานะครับ เพราะความรู้สึกดังกล่าวไม่บังเกิดขึ้นอีกแล้วเมื่อบรรลุอรหัตผล แต่หลังจากทรงพิจารณาคำทัดทานของท้าวสหัมบดีพรหม พบเห็นความแตกต่างระดับสติปัญญาของบุคคลในโลกนี้ เปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า ด้วยพระปรีชาญาณก็ทรงอธิษฐานว่า จะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานที่จะดำรงพระชนม์อยู่ จนกว่าจะได้อยู่ประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า
Pather Panchali ภาษา Bengali แปลว่า Song of the Road (Path แปลตรงตรงว่าเส้นทาง, Panchali คือชื่อแนวเพลงพื้นบ้านหนึ่งของชาว Bengal คล้ายๆกับละครเวที Jatra) บทเพลงแห่งการเดินทางของชีวิต หรือก็คือเรื่องราวของเด็กชาย Apu ตั้งแต่ลืมตาขึ้น พานพบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย แต่อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปนั้น ก็แล้วแต่ผู้ชมเองจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบสนองเฉกเช่นไร
แซว: จากคำแปลของ Pather Panchali ทำให้ผมหวนระลึกนึกถึงชื่อหนังเงียบ Sunrise: A Song of Two Humans (1927) ซึ่งใช้คำว่า Song, บทเพลง ไม่ได้สื่อถึงคำร้องหรือท่วงทำนอง (เพราะหนังเงียบมันจะมีบทเพลงดังขึ้นได้อย่างไร) แต่หมายถึงเรื่องราวของชีวิต พรรณาเปรียบได้กับบทเพลงแห่งการเดินทาง
วันแรกเมื่อออกฉายในอินเดีย ได้เสียงตอบรับค่อนข้างย่ำแย่ แต่แปลกที่กระแสปากต่อปากค่อยๆเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ต่อมา จนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และเป็นที่ถูกอกถูกใจนายกรัฐมนตรีอินเดียขณะนั้น Jawaharlal Nehru อนุญาตให้ส่งเข้าฉายสายการประกวดเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้พลาด Palme d’Or ให้กับสารคดี The Silent World (1956) ก็ยังคว้ามา 2 รางวัล
– Best Human Document
– OCIC Award – Special Mention
ในประเทศอินเดีย Pather Panchali เป็นภาพยนตร์ที่ถูกเรียกว่าหลักไมล์ของ ‘Parallel Cinema’ ตรงกันข้ามสายหลักของ Bollywood ไม่มีบทเพลง ร้องเล่นเต้น เรื่องราวรักโรแมนติกชวนเพ้อฝัน แต่สะท้อนสภาพชีวิต วิถีสังคม โลกความจริงในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่มักเป็นหนังอิสระทุนต่ำ (เพราะแทบไม่มีสตูดิโอไหนในอินเดีย สนคุณค่าศิลปะมากกว่าผลประโยชน์กำไร) ได้รับการยกย่องระดับนานาชาติมากกว่าประเทศตนเอง
หลังจากที่สมาพันธ์ Academy of Motion Picture Arts and Sciences นำรางวัล Honorary Award ประเคนมอบให้ Satyajit Ray ถึงประเทศอินเดียเมื่อปี 1992 จึงเริ่มครุ่นคิดบูรณะฟีล์มภาพยนตร์ แต่แล้วค้นพบต้นฉบับ Negative เก็บอยู่ห้องแลปกรุงลอนดอน มีสภาพเสียหายจากไฟไหม้อย่างรุนแรง ก็เลยช่างแม้งไปก่อน เก็บเฉพาะเท่าที่ยังกอบกู้ไว้ได้เพียงเท่านั้น
กระทั่งปี 2013 ตัวตั้งตัวตีโดย The Criterion Collection ร่วมกับ Academy Film Archive เริ่มต้นบูรณะ The Apu Trilogy ทั้งสามภาค เสร็จสิ้นออกฉาย 4 พฤษภาคม 2015 ณ Museum of Modern Art ผู้ชมจองคิวยาวเหยียดสองเดือนเต็มจนต้องนำออก (เพราะให้เรื่องอื่นได้ฉายบ้าง)
หวนกลับมารับชมรอบนี้ ทำให้ผมชื่นชอบ Pather Panchali ขึ้นกว่าเดิมมากๆ (แต่ไม่ถึงระดับคลุ้มคลั่งโปรดปรานเท่า Apur Sansar หรือผลงานยอดเยี่ยมที่สุดอย่าง Charulata) พบเห็นไดเรคชั่นที่ทำให้ผู้กำกับ Satyajit Ray กลายเป็นตำนาน รวมไปถึงความจัดจ้านของตากล้อง Subrata Mitra และเพลงประกอบโดย Ravi Shankar มากยิ่งกว่านิยามความไพเราะ
อย่ารั้งรีรอที่จะหาภาพยนตร์เรื่องนี้มารับเชยชม สัมผัสให้ได้ถึงความทุกข์ขืนข่มของตัวละคร แล้วด่าขรมทำไมถึงโง่งมจมปลักอยู่กับโลกใบนั้น เปรียบเทียบตนเองว่ายังอาศัยอยู่ในกะลาใบเดียวกันหรือเปล่า ถึงเวลาแล้วหรือยังจักก้าวออกเดินทาง เผชิญหน้าโลกกว้าง เริ่มต้นมองหาชีวิตใหม่ จับจ้องมองดวงตะวันกำลังค่อยๆสาดทอแสงยามอรุณรุ่ง
จัดเรต PG กับความยากจนข้นแค้น นิสัยเห็นแก่ตัว และการตายแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
คำโปรย | Satyajit Ray ได้ถ่ายทอดอรุณรุ่งของชีวิต บทเพลงแห่งการเดินทาง Pather Panchali งดงามทรงคุณค่าที่สุดให้กับวงการภาพยนตร์
คุณภาพ | ตะวันขึ้น
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ
Pather Panchali (1955)
(5/3/2016) ถ้าพูดถึงบรมครูผู้กำกับของ bollywood คอหนังควรที่จะรู้จัก Satyajit Ray ผมจัดให้เขาเป็นผู้กำกับอันดับ 3 ของเอเชีย รองจาก 1) Akira Kurosawa และ 2) Yasujirô Ozu ชื่อหนัง Pather Panchali แปลว่า Song of the Little Road เป็นภาคแรกของ The Apu Trilogy หนังแนว Drama, Coming-of-Age การันตีด้วยอันดับ 42 ของนิตยสาร Sight & Sound และเทศกาลหนัง Busan ปี 2015 ได้มอบอันดับ 4 Greatest Asian films of All-Time นี่เป็นหนังที่สวยงามมากๆ อาจจะหาดูยากหน่อยแต่การันตีว่าคุ้มค่าไม่เสียเวลาแน่นอน
ก่อนที่ Satyajit Ray จะมาเป็นผู้กำกับ เขาเป็น Graphic Designer ออกแบบ-วาดภาพให้กับบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง และรับงานออกแบบหน้าปกหนังสือด้วย ทำให้เขาได้ออกแบบปกให้กับนิยาย Pather Panchali เขียนด้วยภาษา Bengali โดย Bibhutibhushan Bandyopadhyay ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1929 ในปี 1947 Satyaji และเพื่อนๆได้ร่วมกันจัดตั้ง Calcutta Film Society ขึ้นที่เมือง Calcutta (บ้านเกิดของ Satyajit) นำหนังต่างประเทศเข้ามาฉาย ถือเป็นโอกาสดีที่ทำให้ Satyajit ได้รู้จัก เรียนรู้ และศึกษาวิธีการสร้างหนัง ปี 1949 ผู้กำกับ Jean Renoir เดินทางมาที่ Calcutta เพื่อถ่ายหนังเรื่อง The River ทำให้ Satyajit ได้มีโอกาสพบกับผู้กำกับชื่อดัง และช่วยเป็นไกด์พาไป scount สถานที่ต่างๆด้วย นี่จึงเป็นโอกาสให้เขาเห็นการทำงานเบื้องหลังภาพยนตร์เป็นครั้งแรก เขาเล่าให้ Renoir ฟังว่าอยากเป็นผู้กำกับหนัง และมีเรื่องที่อยากทำอยู่ในใจ Renoir ได้ให้คำแนะนำและให้กำลังใจกับ Satyajit ให้ทำได้ในสิ่งที่หวัง
อิทธิพลของหนังเรื่องนี้ มาจากการได้ชมหนังอิตาลีเรื่อง The Bicycle Thief ของ Vittorio De Sica ผลงานของเขาแทบทุกเรื่องจะมีความเป็น social realism นำเสนอความจริงของสังคม เรื่องเล่าเรื่องใกล้ตัว คนรอบข้าง ครอบครัว มีสไตล์การเล่าเรื่องคล้ายกับผู้กำกับ Yasujirô Ozu แต่สิ่งที่ต่างกัน คือวิธีการเล่าเรื่อง หนังของ Ozu มักจะมีแนวคิดแฝงบางอย่าง และคำตอบใส่มาตอนท้าย หนังของ Satyajit จะไม่มีคำตอบใดๆ เขาใช้หนังเพื่อเล่าเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้น มีผลลัพทธ์ยังไง แนวคิดแฝงกับการกระทำของตัวละคร ไม่บอกว่าถูกหรือผิดหรือคิดยังไง ถ้าพูดเรื่องการเล่าเรื่อง Satyajit จะเด่นกว่า แต่พูดถึงแนวคิด Ozu จะเด่นกว่ามาก
Satyajit ให้เหตุผลที่เลือกดัดแปลง Pather Panchali เพราะเป็นหนังสือที่ถ่ายทอดความเป็นมนุษย์กับความจริงของชีวิต ออกมาได้ยอดเยี่ยมที่สุด “it’s a great book: its humanism, its lyricism, and its ring of truth” เขาไม่ได้ดัดแปลงเรื่องราวมาเป็นบทหนังที่เป็นตัวอักษร แต่ใช้ภาพวาด (storyboard) และการจดบันทึกเล็กๆน้อยๆ เพื่อเตรียมสร้างหนังเรื่องนี้ (โดยเริ่มต้นดัดแปลงตั้งแต่ที่เขาได้พบกับหนังสือเล่มนี้) Satyajit ให้เหตุผลที่ใช้ภาพวาดแทนตัวอักษรว่า บทหนังที่เป็นตัวหนังสือมันจะมีข้อจำกัดบางอย่าง เพราะมันไม่ได้มีคุณภาพเทียบเท่าระดับนิยาย ซึ่งอาจจะมีภาพความคิดบางอย่างที่หายไป การใช้รูปวาด (ที่เกิดจากความคิดตอนที่เขาอ่าน) จึงมีความใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาจินตนาการในนิยายมากกว่า
ปัญหาสำคัญของหนังเรื่องนี้คือ ไม่มีใครที่จะให้ทุนสร้าง ไม่มีดาราดัง ไม่มีเพลงร้อง ไม่มีฉาก Action แล้ว Satyajit เป็นใครก็ไม่จัก จะมีก็โปรดิวเซอร์ Rana Dutta (คงรู้จักกันมาก่อน) ควักทุนส่วนตัวให้ถ่ายทำ แต่ก็ยังไม่พอ Satyajit เลยต้องทำงาน graphic designer ควบคู่ไปด้วย เขาเอาของใช้ส่วนตัวรวมถึงเอาเครื่องเพชรของแฟนที่ได้จากตอนแต่งงานไปจำนำ ดิ้นรนอยู่เกือบปี ในที่สุดก็ถ่ายเสร็จ ใช้ทุนสร้างทั้งหมด ₹70,000 (ประมาณ US$14,613 ในปี 1955)
ภาษาที่ใช้ในหนังคือภาษา Bengali เหตุผลง่ายๆก็คือ Satyajit พูดเป็นภาษาหลัก เหตุผลที่เขาไม่ทำหนังภาษาอื่นเลย เพราะเขากลัวความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการสื่อสารระหว่างถ่ายทำ หนัง Bengali ในปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าไหร่แล้ว แต่ก็มีนักแสดงหลายคนที่มีต้นกำเนิดมาจากอินเดียฝั่งที่พูด Bengali เป็นภาษาหลัก
นักแสดงเรื่องนี้ มีคนที่เป็นนักแสดงจริงๆอยู่เพียงคนเดียวคือ Kanu Banerjee (เล่นเป็นพ่อ Harihar) ส่วนคนอื่นๆถือว่าเป็นนักแสดงสมัครเล่นทั้งหมด Karuna Banerjee (เล่นเป็นแม่ Sarbajaya) ได้รับการคัดเลือกเพราะ Satyajit ชอบการแสดงของเธอ ที่เป็นธรรมชาติมากๆ (ราวกับว่าเธอเป็นเช่นนั้นในชีวิตจริง) ผมเชื่อว่าคนไทยคงจะรู้สึกคุ้นเคยกับตัวละครที่มีลักษณะแบบนี้ บทผู้หญิงขี้บ่น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ปากร้ายแต่ใจดี เห็นได้บ่อยในละครและสังคมชนบท สำหรับบท Apu นั้นหาไม่ง่าย ขนาดว่าประกาศรับสมัครนักแสดงลงหนังสือพิมพ์ มีมาทดสอบหน้ากล้องก็เยอะ แต่ไม่มีใครเข้าตา เห็นว่าภรรยาของ Satyajit ไปสะดุดตาเด็กที่อาศัยอยู่ใกล้บ้าน Subir Banergee เหตุผลที่ Satyajit เลือกเขาคงเพราะ สายตาของ Subir เหมือนกับ Apu มากๆ เด็กที่ดูภายนอกมีความร่าเริงแจ่มใสตามวัย แต่หลังจากได้พบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ ข้างในของเขามีความรู้สึกเจ็บปวด ที่ไม่สามารถพูดออกมาได้ … จะเห็นว่า 3 นักแสดงมีนามสกุลเดียวกัน แต่ไม่ได้รู้จักหรือญาติกันนะครับ
ตากล้อง Subrata Mitra เห็นว่าเขาไม่เคยใช้กล้องมาก่อนเลย (อารมณ์เหมือนถูกบังคับให้มาช่วย) คนที่มีประสบการณ์ในกองถ่ายคือ Bansi Chandragupta เป็น Art Direction ที่เคยช่วยงาน Jean Renoir ตอนมาถ่ายทำหนัง ทีมงานในกองถ่ายถือว่าเป็นมือใหม่ทั้งหมด มีการลองผิดลองถูกมากมาย มีอยู่ฉากหนึ่งที่เป็นที่กล่าวถึงกันมาก ณ ตอนนั้นไม่มีใครคิดหรอกว่าฉากนี้จะมาจากผู้กำกับภาพที่เพิ่งเคยสัมผัสกล้องครั้งแรกแน่ๆ นั่นคือฉากที่ Apu และ Durga วิ่งตามรถไฟ (ทั้งเรื่องเห็นรถไฟอยู่ฉากเดียว) ฉากนี้มันดูก็ไม่มีอะไรนะครับ แต่ทำไมถึงกลายเป็นที่กล่าวถึงกัน … ผมคิดว่าเพราะอารมณ์ของตัวละครขณะนั้น หลังจากที่ย่าเสียก็มีความโศกเศร้า เบื่อหน่าย ระหว่างที่เด็กทั่งสองกำลังหาอะไรทำเพื่อแก้เบื่อ พวกเขาได้ยินเสียงหวูดรถไฟ นั่นเป็นเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน รถไฟเป็นยังไง? การได้เห็นรถไฟครั้งแรกเป็นความรู้สึกที่ตื่นตาตื่นใจมาก (เหมือนเด็กได้ของเล่นใหม่, หญิงสาวที่ถูกขอแต่งงาน, พ่อที่เห็นหน้าลูกครั้งแรก) มันทำให้ความทุกข์ที่อยู่ในใจมลายหายไปสิ้น เด็กมันก็แบบนี้แหละครับ ถูกอะไรเบี่ยงเบนความสนใจหน่อย ก็ลืมของเก่าหมดสิ้น คนดูตอนนั้นเห็นฉากนี้ก็พูดอึ้งกันเป็นแถบๆ (ราวกับพวกเขาเพิ่งเคยเห็นรถไฟครั้งแรกเหมือนเด็กๆ) แบบนี้จะไม่เป็นที่กล่าวขวัญได้ยังไง
หลังจากถ่ายหนังเสร็จ Satyajit ได้เงินเพิ่มอีกก้อนหนึ่งในการทำ post-production จาก Chief Minister of West Bengal เขาเอา footage ของหนังไปเปิดให้ชม รัฐมนตรีเห็นแล้วรู้สึกประทับใจ (คิดว่าเป็นหนังแนวสารคดีอะไรสักอย่างหนึ่ง) เลยให้ทุนมาก้อนหนึ่ง ทำให้หนังเข้าสู่กระบวนการตัดต่อได้ คนที่ตัดต่อคือ Dulal Dutta ไม่แน่ใจว่านี่เป็นหนังเรื่องแรกของเขาหรือเปล่า
ขณะนั้น John Huston เดินทางมาหาสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง The Man Who Would Be King ที่ Calcutta พอดี (อะไรมันจะบังเอิญขนาดนั้น) Satyajit เอาหนังที่ยังตัดต่อไม่เสร็จไปฉายให้ผู้กำกับชมดู เมื่อ Huston กลับไปอเมริกาให้สัมภาษณ์กับนักข่าว บอกว่าเขาได้พบกับผู้กำกับที่น่าสนใจที่สุดขอบโลก “a major talent was on the horizon.”
เพลงประกอบโดย Ravi Shankar เขาเป็นนักเล่น sitar (เครื่องดนตรีคลาสสิคของอินเดีย) ตอนนั้น Ravi Shankar เข้าสู่วงการได้หลายปีแล้ว แต่ไม่ถึงกับดังมาก มีผลงาน debut เมื่อปี 1939 ไม่รู้ว่าทั้งสองรู้จักกันได้ยังไง แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของคีตกวีในตำนาน และผู้กำกับระดับตำนาน (ทั้งสองถือเป็นบุคคลระดับชาติ เทียบกับเมืองไทยคงประมาณ ศิลปินแห่งชาติ) Satyajit นำหนังที่ยังตัดต่อไม่เสร็จไปให้ Ravi Shankar ได้ชมและเริ่มแต่งเพลงจากจุดนั้น Ravi Shanka แต่งเพลงประกอบให้ 2 เพลง ใช้เวลาแต่งแค่คืนเดียว (11 ชั่วโมง) , Subrata Mitra (ที่เป็นตากล้อง) ก็มาร่วมแจมเล่น sitar ประกอบเพลงด้วย ลองไปฟังเพลงประกอบหนังดูนะครับ
sitar เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงคล้ายพิณ แต่เล่นเหมือนกีตาร์ ขนาดของ sitar ถือว่าใหญ่พอสมควร และจากการใช้ประกอบหนังเรื่องนี้ ทำให้เครื่องดนตรีนี้กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย Ravi Shankar ดังขนาดว่าได้ไปแสดงเมืองนอก วงดนตรีดังๆอย่าง The Beatles และ The Rolling Stones ก็นำไปใช้บรรเลงประกอบเพลงด้วย นิตยสาร The Guardian เมื่อปี 2007 จัดอันดับเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ เป็นหนึ่งใน 50 Greatest Film Soundtracks
ผมดูไตรภาคนี้จบแล้ว สิ่งหนึ่งที่บอกได้คือ The Apu Trilogy จัดเป็นหนังแนว Tragedy ที่มีคนตายทุกภาค …(ฮะฮา สปอยไปเรียบร้อย) ผมไม่ค่อยชอบนักที่จะต้องทนเห็นตัวละครสำคัญๆตาย แต่กับ The Apu Trilogy ผมพอทนได้นะ เพราะหนังไม่ได้ทำให้เราฟูมฟายอะไร มองว่าหนังมันเป็นแนว Coming-Of-Age ที่ตัวละครต้องเติบโตขึ้น มันก็พอจะให้รับได้อยู่ (กระนั้นการตายของตัวละครก็สร้าง impact ได้พอสมควรเลย)
สไตล์ของ Satyajit คือการเล่าเรื่อง เราเห็นว่าตัวละครทำอะไร รู้สึกยังไง เล่าแบบตรงไปตรงมา มีนักวิจารณ์ให้คำนิยามหนังเรื่องนี้ว่า “Pather Panchali is pure cinema” ผมเรียกว่าความตรงไปตรงมา คือนำเสนอโดยไม่มีการเจือปนทางความคิด เปรียบเหมือนความบริสุทธิ์ นักแสดงคิดอะไรก็พูดมาแบบนั้น อยากทำอะไรก็ทำแบบนั้น แสดงออกมาได้ธรรมชาติมากๆ ประสบการณ์หลังจากดูจบ เราจะรู้สึกอิ่มเอิบ มีความสุข การตายของตัวละครมันสร้างความรู้สึกบางอย่างที่ตราตรึง จดจำ แต่ไม่โหยหวน เพราะเราจะรู้สึกตามตัวละครว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
ถึงหนังจะใช้การเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา แต่ก็มีแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิต นำเสนอผ่านตัวละครต่างๆ ตัวละครพ่อจะเห็นว่าเขาเป็นคนอิสระ ไม่รีบร้อน ไม่ซีเรียสแม้ไม่มีเงิน (slow life) และเชื่อในคน เห็นคุณค่าของคนสำคัญที่สุด ผิดกับแม่ที่แทบจะตรงข้าม เธอมีชีวิตที่ดูเร่งรีบ คิดเล็กคิดน้อย ขี้บ่น มองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ เธอเห็นความสำคัญของปากท้องมากกว่าสิ่งอื่น เงินอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญแต่เป็นสิ่งจำเป็น กระนั้นความจนก็สามารถฆ่าคนตายให้ได้ ระหว่างคุณค่าความเป็นคนกับปากท้อง เชื่อว่าหลายคนมองว่า ปากท้องสำคัญกว่า แต่ผมมองว่าไม่มีอะไรสำคัญกว่ากันนะครับ เพราะระหว่าง ทำสิ่งที่ผิด(เช่น ขโมยของ)เพื่อสนองความต้องการของตน หรือ ยึดมั่นในอุดมการณ์แต่ไม่สามารถทำให้ครอบครัวมีความสุขได้ เป็นสิ่งที่ไม่น่าทำทั้งคู่ เป็นคุณถ้าตกอยู่ในสถานการณ์นั้นจะเลือกทำแบบไหน
ผมไม่ได้มองว่าพ่อเป็นคนเห็นแก่ตัวนะครับ แต่คิดว่าเขาไม่เหมาะกับชีวิตแต่งงานที่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่นเท่าไหร่ ส่วนแม่ เธอมีลักษณะของแม่ที่ดีคือทำทุกอย่างเพื่อลูก แต่เธอคาดหวังอะไรๆมากเกินไป บางทีชีวิตที่ไม่มีอะไรเลย มันอาจมีความสุขมากกว่าคนที่มีทุกสิ่งทุกอย่างก็ได้ หนังไม่ตัดสินว่าใครถูกใครผิด แต่ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นถือว่าสะเทือนใจไม่น้อย
หนังเรื่องนี้ถือว่าผิดธรรมเนียมของหนัง bollywood ที่ไม่มีฉากร้องเล่นเต้น จะจัดว่านี่เป็นหนัง art-house ก็ได้ ทุนสร้างต่ำ นักแสดงสมัครเล่น แต่กระนั้นหนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่อง เปรียบเทียบเป็นหนังต้นแบบฉบับของ bollywood เพราะอะไรกัน? … นี่เป็นหนังที่เล่าถึงชีวิต ครอบครัว ซึ่งถือเป็นแก่นหลักของหนัง bollywood ทุกๆเรื่อง เรื่องราวที่เข้าถึงจิตใจของผู้ชม คนในอินเดียส่วนมากก็มีชีวิตคล้ายๆกับพ่อ-แม่ Apu,Durga แบบในหนัง ดังนั้นการที่มีสิ่งบันเทิงที่สะท้อนภาพของพวกเขาออกมา มันเลยกินใจผู้คนในวงกว้าง เราจะเห็นหนัง bollywood มากมายในสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวอะไร แต่ทุกเรื่องจะแฝงเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว ความรัก การมีชีวิต และการแต่งงาน อยู่เสมอ
ผมแนะนำถ้ามีโอกาสให้หาหนังเรื่องนี้มาดู อาจจะหาดูยากหน่อย (หายากจริงๆแหละ) ดูแล้วต้องดูให้จบไตรภาค ในชาร์ทต่างประเทศ Pather Panchali มักจะอยู่อันดับสูงสุดในทั้ง 3 ภาค แต่เรื่องที่ผมชอบที่สุดกลับเป็นเรื่องสุดท้าย Apur Sansar (The World of Apu) เพราะอะไรให้รอตามอ่านเอานะครับ คนที่ชอบดูหนังของ Ozu ก็น่าจะชอบหนังของ Satyajit ด้วย จัดเรต … PG แล้วกัน ภาพขาวดำอาจจะรู้สึกดูยากสักหน่อย แต่ดูไปเรื่อยๆก็ชิน จนบางทีไม่อยากให้หนังจบเลย
คำโปรย : “Pather Panchali หนังเรื่องแรกของ The Apu Trilogy โดยบรมครูผู้กำกับหนังของอินเดีย Satyajit Ray ที่มีความสวยงาม โดยเฉพาะการเล่าเรื่องที่มีความซื่อตรง บริสุทธิ์ที่สุด”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบ : LIKE
Pather Panchali เหนือกว่า Charulata 100%