Paths of Glory (1957)
: Stanley Kubrick ♥♥♥♥
ผู้กำกับ Stanley Kubrick ได้สร้างเส้นทางเกียรติยศผลงาน Masterpiece เรื่องแรก เป็นหนังต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) ที่มี Kirk Douglas รับบทเป็นพันเอกชาวฝรั่งเศส (พูดภาษาอังกฤษ), ชัยชนะคือเกียรติที่ยิ่งใหญ่ แต่หนทางกว่าได้มา มักต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆอย่างเสมอ
Paths of Glory สังเกตว่า Path เติม s นี่แปลว่ามีคงหลายเส้นทาง ทางง่าย ทางยาก ทางสบาย ทางลัด, เส้นทางที่ Kubrick เลือกเดินทาง คือ เส้นที่ตรงที่สุด โหดที่สุด ยากที่สุด ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่หลังจากที่เขาเดินผ่าน กุหลาบบานตามทางที่เขาเดิน
นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ Stanley Kubrick กำกับ ก่อนหน้านี้มี 3 เรื่องที่ถือเป็น Feature Length ประกอบด้วย Fear and Desire (1953), Killer’s Kiss (1955), The Killing (1956) บอกตามตรงผมยังไม่เคยได้ดูสักเรื่อง, Paths of Glory เป็นหนังเก่าที่สุดของ Kubrick ที่ผมเคยดู เพราะชื่อเสียงความยิ่งใหญ่ ที่ว่ากันว่าเป็น Masterpiece เรื่องแรกของ Stanley Kubrick อีกทั้งเป็นหนึ่งในหนังต่อต้านสงครามที่ดีที่สุดในโลก คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงแม้แต่น้อย
ก่อนหน้าหนังเรื่องนี้ Kubrick กำกับ The Killing (1956) แม้จะล้มเหลวใน Boxoffice แต่เข้าตานักวิจารณ์หลายคน ติด 1 ใน 10 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี (เรื่องนี้น่าดูนะครับ เห็นนักวิจารณ์ Roger Ebert จัดเป็น Great Movie เสียด้วย), โปรดิวเซอร์คนหนึ่งของ MGM ได้เห็นหนัง ชื่นชอบ จึงว่าจ้าง Kubrick ให้ทุนทำหนังเรื่องใหม่ โดยขอให้เลือกบทหนังจากบรรดาลิขสิทธิ์ที่ MGM เคยกวาดซื้อมา กระนั้นก็ไม่มีเรื่องไหนที่ Kubrick ถูกใจเลย แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่าเคยอ่านนิยายเรื่องหนึ่งของ Humphrey Cobb จึงนำไปยื่นข้อเสนอ แต่โปรดิวเซอร์เกิดความลังเล ว่าเรื่องราวลักษณะนี้ทำแล้วโอกาสประสบความสำเร็จทำเงินมีน้อย จึงปฏิเสธที่จะให้ทุน, ด้วยความที่เชื่อมั่นในสันชาติญาณของตนเอง Kubrick นำนิยายเรื่องนี้ไปเสนอ United Artist และได้สร้างในที่สุด
ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Paths of Glory เขียนโดย Humphrey Cobb ตีพิมพ์เมื่อปี 1935 ยอดขายประสบความสำเร็จเล็กน้อย, จากเรื่องจริงของนายทหารฝรั่งเศส 4 คนที่ถูกประหารชีวิตในข้อหา ‘ขี้ขลาดตาขาว’ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับกองทัพ, นิยายเคยได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวทีในปีเดียวกันโดย Sidney Howard แต่เสียงตอบรับล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะสาสน์ที่ต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) ทำให้ผู้ชมสมัยนั้นเกิดอคติ ไม่เห็นด้วย (ทัศนคติของคนสมัยก่อน สงครามเป็นสิ่งที่เหมาะสม ถูกต้อง), Howard เชื่อว่า เรื่องราวจากนิยายเล่มนี้ เหมาะที่จะทำเป็นสื่อภาพยนตร์มากกว่า เพราะกาลเวลาจะทำให้ความเข้าใจ ทัศนคติของมนุษย์เปลี่ยนไป, Kubrick เมื่อได้ยินเช่นนี้ ก็ต้องการเติมเต็มฝันของ Howard ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ จากภรรยาของ Cobb (สามีเสียชีวิตปี 1944) ด้วยราคา $10,000 เหรียญ
ตอนที่ Humphrey Cobb เขียนนิยายเสร็จ ยังคิดชื่อหนังสือไม่ได้ ผู้จัดจำหน่ายจึงได้จัดประกวดตั้งชื่อนิยาย ผู้ชนะได้นำชื่อมาจากบทกวีของ Thomas Gray เขียนเมื่อปี 1751 ชื่อ Elegy Written in a Country Churchyard
The boast of heraldry, the pomp of pow’r,
And all that beauty, all that wealth e’er gave,
Awaits alike th’inevitable hour.
The paths of glory lead but to the grave.
เส้นทางสู่เกียรติยศ นำพาเราไปไม่ไกลกว่าหลุมฝังศพ
ก่อนอื่นขอลำดับยศของตัวละครสักหน่อยนะครับ มีทั้งหมด 5 ตำแหน่งที่ผมจับทางได้ในหนัง
– Major General Georges Broulard รับบทโดย Adolphe Menjou พลตรี ผู้บัญชาการกองพล
– Brigadier General Paul Mireau รับบทโดย George Macready พลจัตวา ผู้บัญชาการกองพล
– Colonel Dax รับบทโดย Kirk Douglas พันเอก ผู้การสังกัดทหารราบที่ 701
– Lieutenant Roget รับบทโดย Wayne Morris ร้อยโท สังกัดทหารราบที่ 701
– Corporal Philippe Paris รับบทโดย Ralph Meeker สิบโท สังกัดทหารราบที่ 701
ผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในยศทหารเท่าไหร่นะครับ เห็นว่ายังมียศสูงกว่านี้ อาทิ พลเอก, พลโท ฯ และต่ำกว่านี้ นายทหาร ฯ และก็มียศยิบย่อยอย่าง พันโท พันตรี พันจัตวา, ร้อยเอก ร้อยตรี ร้อยจัตวา, สิบเอก, สิบตรี ฯ แต่ในหนังแค่ 5 ตำแหน่งนี้ก็ปวดกบาลแย่แล้ว ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับหนังมากที่สุด
การที่ต้องมีลำดับยศของทหาร ก็เพื่อแบ่งภาระหน้าที่การทำงาน/ความรับผิดชอบ/เงินเดือน/ประสบการณ์, คนยศสูงๆจะเป็นฝ่ายบริหาร วางแผนจัดการ ควบคุมกำหนดทิศทาง และออกคำสั่งให้คนยศต่ำกว่าทำตาม (มักเป็นผู้มีอายุ ผ่านประสบการณ์ทางทหารมาอย่างโชกโชน), ในขณะที่คนยศต่ำๆ มีหน้าที่ต้องฟังคำสั่งจากคนยศสูงกว่าแล้วปฏิบัติตามโดยไม่มีสิทธิ์ขัดขืน (มักเป็นคนหนุ่ม รุ่นใหม่ที่เพิ่งสมัครเข้าเป็นทหารหรือถูกจับฉลาก คัดเลือก)
กับหนังเรื่องนี้ เริ่มต้นดำเนินเรื่องโดยนำแนวคิดจากย่อหน้าที่แล้ว คนยศพลตรีสั่งพลจัตวา พลจัตวาสั่งพันเอก พันเอกสั่งร้อยโทและสิบโท, วิธีการ พลตรีเกลี้ยกล่อมเชิงท้าทายพลจัตวาให้ยอมรับ พลจัตวาท้าทายพันเอก พันเอกออกคำสั่งร้อยโท และร้อยโทสั่งสิบโท, คำสั่งจากเบื้องบนคือเพื่อยึดชัยภูมิหนึ่ง สั่งลงมาถึงพันเอกที่เป็นคนคิดวางแผนการ แล้วสั่งให้นายทหารร้อยโทสิบโทปฏิบัติตาม
ปัญหาของระบบนี้ คือคำสั่งที่เป็นแบบทิศทางเดียว จากบนสุดสู่ล่างสุด เป็นไปไม่ได้เลยที่คนอยู่ชั้นล่าง จะสามารถแสดงความคิดเห็น ตอบโต้กับคำสั่งที่ได้รับมา ถึงมันจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือไม่สามารถทำได้ ก็ไม่มีสิทธิ์โต้เถียงใดๆ, ผมมองว่า ทหาร คือระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ กับคนที่เป็นทหาร คุณต้องปิดตาปิดปาก หน้าที่ของคุณคือเปิดหูรับฟังคำสั่งและปฏิบัติตามเท่านั้น ไม่ว่านั่นจะเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด เหมาะสมไม่เหมาะสม สมควรไม่สมควร ถ้าคุณไม่สามารถยอมรับ ทำตาม ปฏิบัติตามคำสั่งแบบ 100% ได้ ระบบนี้จะล้มเหลวสิ้นเชิงโดยทันที
กับหนังเรื่องนี้ ได้นำเสนอความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของระบบ เมื่อนายทหารระดับล่าง ปฏิเสธที่จะทำตามคำสิ่งทหารระดับสูง ส่งผลให้สงครามสนามนี้พ่ายแพ้หมดรูปไม่เป็นท่า, ช่วงเวลาที่เหลือของหนัง คือการค้นหาผู้ผิด สงครามแพ้ย่อมต้องมีใครรับผิดชอบ แต่คนที่รับโทษจะคือผู้ผิดจริงๆไหม หรือเป็นแค่แพะรับบาป หนังเป็นการตีแผ่ความชั่วร้ายของระบบนี้ ด้วยอำนาจที่ล้นมือของคนยศสูงกว่า ย่อมสามารถทำอะไรกับคนยศต่ำกว่าได้เสมอ
กับทุกคนที่ดูหนังเรื่องนี้ ผมค่อนข้างเชื่อว่าน่าจะตอบคำถามได้ ใครกันแน่ที่ผิด? ต้นตอสาเหตุความผิดพลาด ไม่ต้องหาที่ไหนไกล พบเจอได้ตั้งแต่ฉากแรกสุดเลย ขณะพลตรีสั่งพลจัตวา นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่างในหนัง กับสนามรบที่รู้ทั้งรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางทำสำเร็จ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร คำสั่งที่ออกไปจากคนยศสูงสุด จำต้องมีความรับผิดชอบสูงสุดด้วย (แต่หนังเรื่องนี้ คนยศสูงสุดมีอำนาจสูงสุด แต่มีความรับผิดชอบน้อยที่สุด)
สิ่งที่ผมโกรธแค้นมากๆ คือต้นตอของปัญหานี้จริงๆ กลับไม่ได้รับโทษใดๆ หลายคนอาจรู้สึกสะใจกับพลจัตวา ที่แม้ไม่รู้ผลลัพท์คืออะไรแต่น่าจะไม่ออกมาดีแน่ ผิดกับคนออกคำสั่งแรกสุด ผู้วางแผนก่อให้เกิดปัญหานี้คือ Major General (พลตรี) กลับลอยนวล ทำหน้าตาเฉยแบบไม่มีใครเอาผิดกับเขาได้ มีแต่คำด่าของ Colonel Dax เท่านั้นที่ไปถึง กระนั้นก็หาระคายเคืองหนังหน้าของท่านไม่ นี่น่าเศร้าจริง!, โลกมันก็เป็นแบบนี้นะครับ เรามักจะไม่สามารถเอาผิดกับคนที่ตำแหน่งใหญ่ที่สุดในองค์กร/สถาบันได้ มีวิธีเดียวคือล้มล้างอำนาจ ประท้วง ขับไล่ ฯ อะไรแบบนั้น คือถ้าผู้นำคอรัปชั่น ระบบ องค์กร หรือประเทศก็รอวันล่มจมล่มสลายได้เลย
ใจความของหนังเรื่องนี้ จัดว่ามีลักษณะ ‘การต่อต้าน’ กับเรื่องราวที่เกี่ยวกับสงคราม จะคือ ‘ต่อต้านสงคราม’ ทำให้ผู้ชมเกิดอคติ เกรงกลัว หวาดหวั่น วิตก หรือนำเสนอความชั่วร้ายบางอย่าง ให้เห็นผลลัพท์บางอย่าง เหล่านี้เป็นการแสดงทัศนคติ ไม่เห็นด้วยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น กำลังจะเกิด หรือเกิดขึ้นมาแล้ว, เราสามารถวิเคราะห์บริบทจากหนังเรื่องนี้ แสดงเป็นทัศนะได้เลยว่า Stanley Kubrick เป็นคนที่โคตรเกลียดสงคราม ไม่ใช่แค่นั้น เขายังโคตรเกลียดระบอบทหาร ความเผด็จการ คอรัปชั่น และเกลียดคนเป็นทหาร นัยยะจากหนังบอกว่า คนที่เป็นทหารว่า ‘เหมือนเป็นคนโง่’ ตอนต้นเรื่องพลจัตวาเดินตรวจกองทัพ ถามนายทหารว่า ‘พร้อมจะฆ่า German หรือยัง’ จริงๆแล้วคนที่เป็นทหาร ไม่ได้มาเพื่อฆ่าศัตรูนะครับ แต่เพื่อ ‘ฆ่าตัวตาย’
เกร็ด: Shell Shock เป็นอาการทางจิต ที่เกิดจากประสบการณ์เลวร้ายของสงคราม คิดว่าตัวเองต้องตายแน่ แต่กลับดันรอดชีวิตมา จิตเลยไม่อยู่กับเนื้อกับตัว กลายเป็นคนจิตหลุดเสียสติ, โรคนี้ถือว่าเกิดขึ้นครั้งแรกตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 กับทหารอังกฤษและฝรั่งเศส ในหนังอ้างว่าไม่มี แต่มีจริงนะครับ ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนชื่อเป็น Combat Stress Reaction ลักษณะอาการเดียวกัน
Kirk Douglas ตอนเล่นหนังเรื่องนี้ เขารู้สึกเลยว่า นี่จะต้องเป็นหนังที่คลาสสิกอมตะแน่ๆ ไม่ต้องรอ 20-30 ปีเพื่อพิสูจน์ ขณะนั้นก็รู้สึกได้ และภูมิใจมากที่ได้เล่นหนังเรื่องนี้, การแสดงของเขาในหนังเรื่องนี้ โกรธคือโกรธจริง แสดงออกมาทางสีหน้า คำพูด ท่าทาง สัมผัสได้เลยว่าออกมาจากข้างใน, Colonel Dax ในลำดับของยศ ถือว่าเขาอยู่ตรงกลาง เป็นทั้งผู้รับคำสั่งและออกคำสั่ง นี่ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเข้าใจทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี, พลตรี พลจัตวา ผู้ออกคำสั่ง ที่ต่างก็อ้างประโยชน์ส่วนร่วม แต่สนแค่ประโยชน์ส่วนตัว, ร้อยโท สิบโท ผู้รับคำสั่ง ที่ต้องปฏิบัติตาม มีชีวิตเป็นเดิมพัน คนอื่นอาจไม่เห็นค่าในชีวิตพวกเขา แต่ตนเองย่อมเห็นความสำคัญเป็นที่สุด, กระนั้นยศของ Colonel Dax ก็ไม่ได้มีตำแหน่งสูงพอที่จะตัดสิน ทำอะไรได้ หรือต่ำพอที่จะรับผิดชอบอะไรได้ ลักษณะตัวละครนี้เหมาะสมที่สุดแล้วที่จะเป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งตอนท้ายเขาแสดงทัศนคติของตนออกมา ไม่พอใจคนยศสูงกว่าและเข้าใจ เห็นใจคนยศต่ำกว่า
ถ่ายภาพโดย Georg Krause, สไตล์ของ Kubrick ขึ้นชื่อในเรื่อง long-take คือการถ่ายภาพแบบไม่ตัด แต่ไม่ใช่ว่าจะยาวนานเป็นนาทีแบบ Godard นะครับ มีคำเรียกช็อตของ Kubrick ว่า Extended Shots คือรู้สึกยาวกว่าปกติเล็กน้อย, กับฉากในสนามรบแล้วใช้ Extended Shots แบบ Tracking ด้วย นี่ถือเป็นอะไรที่บ้ามาก เพราะทั้ง Special Effect ที่เป็นระเบิด บนเนินดินที่มีสภาพทุลักทุเล นักแสดงต้องใช้แรงกายล้วนๆ กว่าจะฝ่าฟันเดินผ่านไปถ่ายเสร็จได้ และต้องจดจำว่าจุดไหนมีระเบิดฝังอยู่บ้าง ถือว่าลำบากเสี่ยงตายมากๆ กว่าผู้กำกับจะสั่งคัท ก็ไม่รู้ต้องเดินไปไกลเท่าไหร่, ฉากถ่ายภายในก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน ให้ความรู้สึกโอ่งโถง หรูหรา วิจิตร (ความสวยงามตรงข้ามกับฉากภายนอกโดยสิ้นเชิง) ในห้องโถงที่ทำเป็นศาลทหาร ก็กว้างใหญ่ขนาดได้ยินเสียงสะท้อน (Kubrick จงใจให้เกิดเสียงก้องเวลาตัวละครพูดด้วยนะครับ ให้ความรู้สึกเหมือนว่า พูดดังแค่ไหนก็ไม่มีใครสนใจ) ทุกช็อตในหนังถ่ายแบบ Deep Focus ทั้งหมด ไม่ใช่ให้เห็นเฉพาะแค่ความสวยงาม แต่มีความหมายแฝงอยู่ทุกภาพ ทุกมุมกล้อง ทุกการเคลื่อนไหว
ตัดต่อโดย Eva Kroll การลำดับภาพของหนังถือว่าโดดเด่นมากๆ โดยเฉพาะการลำดับเรื่องราว จากพลตรีคุยกับพลจัตวา ตามด้วยพลจัตวาคุยกับพันเอก จนถึงร้อยโทสั่งสิบโท ทำให้เราสามารถลำดับความสำคัญและหน้าที่ของตัวละครในหนังได้, นอกจากนี้ลูกล่อลูกชนของ Kubrick ยังถือว่าไม่ธรรมดา (แม้จะยังไม่อลังการเท่า Dr.Stangelove แต่ก็ถือว่าเห็นลายเซ็นต์ สไตล์อยู่นิดๆ) ในฉากศาลทหาร การตัดต่อใช่ว่าจะนำเสนอภาพแบบตรงไปตรงมา มีการตัดไปโน่นไปนี่ ถ่ายให้เห็นใบหน้าคนโน้นคนนี้ มุมโน้นมุมนี้ ตัดต่อแบบแทบจะไม่ให้เห็นภาพมุมเดียวกันซ้ำเลย
เพลงประกอบ Gerald Fried, เปิดหนังมาด้วย La Marseillaise เพลงชาติฝรั่งเศส ขณะที่พลจัตวาเดินสำรวจทหาร จะได้ยินเสียงกลองแต๊ก ตีรัวๆ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินสวนสนาม เตรียมพร้อมรบ, กลางเรื่องได้ยิน Johann Strauss II: Künstlerleben (Artist’s Life) Op.316 เหมือนว่า Kubrick จะชอบเพลงคลาสสิกมากๆ หลากหลายคีตนิพนธ์ด้วย คือเราจะได้ยินเพลงคลาสสิกดังๆอย่างน้อย 1 เพลง ในหนังของเขาแทบทุกเรื่อง, ไฮไลท์อยู่ตอนจบ เป็น German Folk Song ชื่อเพลง Der Treue Husar ถึงจะไม่รู้ความหมาย แต่ทหารฝรั่งเศสทั้งหลายต่างสามารถฮัมตามร้องตามได้
กับฉากตอนจบและเพลงตอนจบ ร้องโดยนักแสดงหญิงสาวชื่อ Christiane Harlan ที่ซึ่งต่อมาเธอแต่งงานกับผู้กำกับ Stanley Kubrick ครองรักด้วยกันจนเสียชีวิต, นี่เป็นฉากที่สวยงาม ทรงพลังมาก แม้จะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหนังทั้งเรื่องเลย แต่ถือเป็น Happy Ending ในสไตล์ของ Kubrick ที่มีนัยยะว่า ถึงเราจะต่างชาติ ต่างภาษา เป็นศัตรูกัน แต่ก็มีบางสิ่งอย่างที่สัมผัสเข้าใจได้เหมือนกัน นั่นคืออารมณ์ความรู้สึก ดีใจ เสียใจ สูญเสีย, Der Treue Husar แปลว่า The Faithful Hussar ใจความของเพลงพูดถึง นายทหารคนหนึ่ง (Hussar) ที่ไปสงครามนานหลายปี แต่ยังรักและอุทิศตนให้ภรรยาสาว พอได้กลับบ้าน พบว่าภรรยาของตนได้เสียชีวิตไปแล้ว เขาจึงเกิดอาการโศกเศร้าถึงที่สุด, เพลงนี้ฟังแล้วจะร้องไห้ตาม อารมณ์นี้ทำเอาผมนึกถึงตอนจบ Nights of Cabiria (1957) ของ Federico Fellini ฉายปีเดียวกันด้วยนะ แถมนักแสดงที่เล่นเป็น Cabiria คือ Giulietta Masina ภรรยาของ Fellini เช่นกัน!
โดยปกติแล้วหนังลักษณะนี้ เมื่อมีทางออกที่ทำให้แพะเอาตัวรอด ก็มักจะทำให้พวกเขารอดชีวิตไม่ถูกประหาร แต่ Kubrick ไม่แคร์ เขาเลือกที่จะคงไว้แบบเดียวกับนิยาย คือให้แพะทั้งหลายถูกประหาร ให้คนดูอึ้งทึ่งพูดไม่ออก แล้วใช้การตบหัวลูบหลัง แก้แค้นคืนอีกรูปแบบหนึ่ง นี่ทำให้หนังมีพลังและมิติลึกขึ้นอย่างมาก แตกต่างจากหนังแนวนี้เรื่องอื่นโดยสิ้นเชิง
มีคำพูดประโยคหนึ่งที่ผมชอบที่สุด และถือว่าแรงที่สุดในหนังแล้ว ‘เห็นแมงสาบนั่นไหม’ (Do you see that cockroach?) ‘พรุ่งนี้เช้า ฉันจะตาย แต่มันยังมีชีวิต (Tomorrow morning I’ll be dead, and it will be alive.)
หนังออกฉายวันคริสมาสปี 1957 ด้วยทุนสร้างประมาณ $935,000 เหรียญ ไม่มีรายงานว่าทำเงินไปเท่าไหร่ แต่ได้ยินว่าประสบความสำเร็จปานกลาง กระนั้นหนังถูกห้ามฉายในหลายๆประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส, เยอรมัน, สเปน และยุโรปหลายๆประเทศ ในอเมริกาเองก็ถูกห้ามฉายในค่ายทหาร เพราะมีเนื้อหาต่อต้านสงครามรุนแรง
Kubrick สร้างหนังสงครามอีกเรื่องคือ Full Metal Jacket (1987) ผมเคยได้ดูนานมากแล้ว แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้เท่าไหร่ คุ้นๆว่าไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ ไว้ถ้ามีโอกาสได้ดูจะมาเล่าให้ฟังนะครับ
ผมชอบหนังเรื่องนี้นะ แต่ไม่หลงใหลมักสักเท่าไหร่ ชอบแนวคิด วิธีการนำเสนอ ที่คล้ายการส่งไม้ต่อเป็นทอดๆ จากบนสุดลงมาล่างสุด แล้วไต่กลับขึ้นไปใหม่ ด้วยเทคนิค วิธีการเล่าเรื่อง งานภาพสุดตระการตา เสียง Sound Effect, Special Effect และเพลงประกอบ ที่เห็นได้เป็นสไตล์ลายเซ็นต์ของ Kubrick อย่างชัดเจน, แต่ที่ผมไม่ชอบในหนังเรื่องนี้ คือความรู้สึกขณะที่ดู มันเป็นการตอกย้ำความเลวร้าย ไร้สาระ คอรัปชั่นของสงคราม กับศัตรูก็เรื่องหนึ่ง (มันจะเกิดความอยากแก้แค้น) แต่พวกเดียวกันเองทำแบบนี้ เห็นแล้วสะเทือนใจ เจ็บปวดรวดร้าวกว่ามาก เป็นความรู้สึกที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่
แนะนำกับคนชอบหนังแนวสงคราม ต่อต้านสงคราม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1, คนทำงานสายภาพยนตร์ หนังเรื่องนี้มีเทคนิคให้ศึกษาเยอะมากทีเดียว, แฟนหนัง Stanley Kubrick และ Kirk Douglas ไม่ควรพลาด
ถ้าคุณชอบดูหนังแนวต่อต้านสงคราม โดยเฉพาะ WWI แนะนำ The Big Parade (1925), The End of St. Petersburg (1927), All Quiet on the Western Front (1930), La Grande Illusion (1937) ฯ
จัดเรต 18+ กับความรุนแรงของหนัง
[…] ← Paths of Glory (1957) […]