Donkey Skin (1970) : Jacques Demy ♥♥♥♡
พระราชาให้คำมั่นสัญญาต่อราชินีผู้ล่วงลับ จะอภิเสกสมรสใหม่เฉพาะกับหญิงสาวเลิศเลอโฉมกว่า แต่ทั่วหล้ากลับมีเพียงพระธิดาของพระองค์เอง เจ้าหญิงจึงต้องปรึกษานางฟ้าแม่ทูนหัว แนะนำให้ปลอมตัวสวมหนังลา (Donkey Skin) แล้วหาหนทางหลบหนีออกจากพระราชวัง
ภาพยนตร์แฟนตาซี Fairy Tail Tale ที่มีเนื้อเรื่องราวสร้างความกระอักกระอ่วนให้ผู้ใหญ่ แต่เด็กๆกลับสามารถเพลิดเพลิน บันเทิงใจ ได้ข้อคิด (มั้งนะ) เกี่ยวกับทำไมเจ้าหญิงไม่ควรแต่งงานกับพระบิดา? … เพราะสักวันจะได้มีโอกาสพบเจอเจ้าชายที่หล่อกว่า
ใครเคยอ่านเทพนิยายของ Charles Perrault, Grim Brothers หรือ Hans Christian Andersen ฉบับดั้งเดิมแท้ๆ น่าจะตระหนักว่าเรื่องราว Fairy Tale มักซ่อนเร้นความเหี้ยมโหดร้ายที่สามารถเป็นบทเรียนตราฝังในความทรงจำ! เช่นว่า หนูน้อยหมวกแดงระบำเปลือยให้หมาป่า ก่อนถูกข่มขืนแล้วจับกิน, ฮันเทลกับเกรเทล โดนหญิงแก่จับขังเพราะไปล้วงความลับสูตรขนมปัง ฯลฯ
แต่เอาจริงๆประเด็น incest ในภาพยนตร์ Donkey Skin (1970) เป็นความพยายามท้าทายขนบต้องห้าม ‘sexual taboo’ ซี่งความสนใจของผู้กำกับ Jacques Demy มีเพียงรักสีรุ้ง (Homo/Bisexual) มันต่างอะไรจากการแต่งงานของคนในครอบครัวเดียวกัน? (incest=Homosexual)
ผมไปอ่านเจอบทความของนักวิจารณ์ต่างประเทศ กล่าวถีงความหมกมุ่นในประเด็น Incest ของผู้กำกับ Demy ไม่ได้จบลงแค่ภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ยังผลงานเรื่องสุดท้าย Three Seats for the 26th (1988) ก็นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างบิดา-บุตรสาว ที่ได้กระทำสำเร็จ เติมเต็มความต้องการของกันและกัน (น่าเสียดายที่ผมหาหนังเรื่องนั้นมารับชมไม่ได้ T_T)
Jacques Demy (1931-90) ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Pontchâteau, Loire-Atlantique เมืองท่าทางตะวันตกของฝรั่งเศส ครอบครัวเปิดกิจการร้านซ่อมรถ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ดินแดนแห่งนี้ถูกใช้เป็นจุดจอดท่าเรือรบ มีทหารพันธมิตรขึ้นฝั่งมากมาย ตกเป็นเป้าหมายถูกโจมตีทิ้งระเบิด แล้วทุกสิ่งอย่างก็ราบเรียบหน้ากลอง, ช่วงหลังสงคราม Demy ถูกส่งไปโรงเรียนมัธยมยังเมือง Nantes ค้นพบความหลงใหลในภาพยนตร์ พออายุ 18 ออกเดินทางสู่กรุง Paris ได้เป็นลูกศิษย์ของ Georges Rouquier (ผู้กำกับสารคดี) และ Paul Grimault (นักทำอนิเมเตอร์ชื่อดัง), สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Dead Horizons (1951), ตามด้วยสารคดีขนาดสั้น The clog maker of the Loire Valley (1956)
ตั้งแต่วัยเด็ก Demy มีความหลงใหลในเทพนิยายแฟนตาซี คลั่งไคล้วรรณกรรมของ Charles Perrault และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ Beauty and the Beast (1946) ของผู้กำกับคนโปรด Jean Cocteau ซึ่งหลังจากเดินทางมาร่ำเรียนภาพยนตร์ยังกรุง Paris ช่วงกลางทศวรรษ 50s เคยพัฒนาดัดแปลงบท The Sleeping Beauty แต่หลังจาก Walt Diseny สรรค์สร้างอนิเมชั่น Sleeping Beauty (1959) ก็ล้มละเลิกความตั้งใจดังกล่าว
หลังเสร็จจากกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Lola (1961) ระหว่างกำลังมองหาโปรเจคถัดไป หนึ่งในนั้นคือดัดแปลงวรรณกรรม Donkey Skin โดยมีภาพของนักแสดง Brigitte Bardot และ Anthony Perkins แต่ขณะนั้นยังขาดประสบการณ์ และต้นทุนความสำเร็จ เลยเก็บขึ้นหิ้งเอาไว้ก่อน
In the past, before, when I was a child, I particularly liked Donkey Skin. I tried to make the film in this perspective, through my eyes, like that, when I was seven or eight years old.
Jacques Demy
หลังความสำเร็จของ The Young Girls of Rochefort (1967) ผู้กำกับ Demy ก็ได้โอกาสเดินทางสู่ Hollywood สรรค์สร้างภาพยนตร์ Model Shop (1969) ที่ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ นั่นทำให้เขาสองจิตสองใจ จะยังอยู่สหรัฐอเมริกาต่อไปดีไหม หรือกลับฝรั่งเศสดีกว่า? ระหว่างสร้างหนังตามใบสั่งสตูดิโอ หรืออิสรภาพในการเลือกโปรเจคที่อยากทำ?
I especially wanted to return to France to make Peau d’ânethat I had in mind for a while. Mag Bodard came to see me in Hollywood to tell me that she had the funding, that Catherine [Deneuve] wanted to do it. I hesitated a bit and told myself that if I continued on this path, it was not the one I had chosen since I prefer to write the subjects that I produce. If I entered the Hollywood system, it might suit me, but I wasn’t sure.
เกร็ด: โปรเจคที่ Columbia Pictures ยื่นข้อเสนอให้ Jacques Demy คือกำกับภาพยนตร์ A Walk in the Spring Rain (1970) นำแสดงโดย Ingrid Berman และ Anthony Quinn ซึ่งหลังจากเจ้าตัวบอกปัดปฏิเสธ ส้มหล่นใส่ผู้กำกับ Guy Green แต่ก็ไม่สามารถทำออกมาให้น่าสนใจ
การตัดสินใจกลับฝรั่งเศสของ Demy เพื่อสรรค์สร้าง Donkey Skin (1970) ทำให้ Columbia Pictures บอกปัดที่จะให้ทุนภาพยนตร์เรื่องใหม่ (คงเพราะความล่อแหลมของเนื้อหาด้วยกระมัง) แต่โปรดิวเซอร์ Mag Bodard ก็สามารถระดมทุน หางบประมาณให้ได้สูงถึง 5 ล้านฟรังก์ ยุคสมัยนั้นถือว่าไม่น้อยเลยละ
Peau d’Âne (1695) หรือ Donkey Skin ประพันธ์โดย Charles Perrault (1628-1703) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ที่มีผลงานเทพนิยายดังๆอย่าง Le Petit Chaperon Rouge (หนูน้อยหมวกแดง), Cendrillon (Cinderella), Le Maître chat ou le Chat botté (Puss in Boots), La Belle au bois dormant (Sleeping Beauty) ฯ
ขอกล่าวถึง Charles Perrault สักเล็กน้อย, เกิดที่กรุง Paris ครอบครัวชนชั้นกลาง ฐานะมั่งคั่ง ร่ำเรียนกฎหมาย ทำงานเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อมาได้เข้าร่วม Academy of Inscriptions and Belles-Lettres กลายเป็นเลขานุการ Jean Baptiste Colbert (รัฐมนตรีการคลังของ King Louis XIV), ไต่เต้าจนกลายเป็นสมาชิกบัณฑิตยสถาน Académie française, พออายุมากขึ้นหลังจากเกษียณจากการทำงาน หันมาเขียนวรรณกรรมเยาวชน ตีพิมพ์ผลงานเรื่องแรกปี 1965 (ขณะอายุ 67 ปี)
แนวความคิดของ Perrault ต้องการพัฒนานิทานพื้นบ้าน (folk tales) ให้มีรูปแบบที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน ตั้งคำถามศีลธรรม ให้ผู้อ่านตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์นั้นๆ สามารถใช้เป็นข้อคิด ย้ำเตือนสติให้ผู้อ่าน เกิดการระแวดระภัย ไม่ปล่อยตัวให้ผิดพลาดพลั้งแบบเรื่องราวดังกล่าว
ขณะที่ผลงานเรื่องอื่นๆของ Perrault ถูกสตูดิโอ Walt Disney นำไปสรรค์สร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นจนแทบหมดเกลี้ยง แต่ Donkey Skin กลับไม่เคยได้รับการพัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนหน้านี้มีเพียงผู้กำกับ Albert Capellani เคยสร้างหนังเงียบเมื่อปี 1908 แต่เห็นว่าตัดประเด็น Incest พระราชาต้องการอภิเสกสมรสกับพระธิดา เปลี่ยนไปอย่างอื่นโดยสิ้นเชิง
ฉบับดัดแปลงของผู้กำกับ Demy พยายามซื่อตรงต่อต้นฉบับของ Perrault ด้วยการนำเสนอประเด็น Incest ออกมาตรงๆแบบไม่อ้อมค้อม เพิ่มเติมให้เจ้าหญิงแสดงออกปม Electra Complex ตกหลุมรัก อยากแต่งงานกับพระบิดา (ไม่ได้ปฏิเสธหัวชนฝาเพียงอย่างเดียว) แต่ถูกห้ามปรามโดยนางฟ้าแม่ทูนหัว ซึ่งมีแผนการบางอย่างเคลื่อบแอบแฝง (ดั้งเดิมนั้น พระราชาจะอภิเสกสมรสพระชายาองค์ใหม่ ไม่ใช่ตอนจบลงเอยแบบในหนัง)
พระราชา (รับบทโดย Jean Marais) ให้คำมั่นสัญญากับพระราชาผู้ล่วงลับ ว่าจะอภิเสกสมรสครั้งใหม่เฉพาะกับพระชายาที่มีสิริรูปโฉมงดงามกว่าเท่านั้น แต่หลังจากสืบเสาะออกค้นหาก็ไม่พบเจอหญิงสาวคนใด จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีนำภาพพระธิดา (รับบทโดย Catherine Deneuve) จึงตัดสินใจขอเธอแต่งงาน
ด้วยความหวาดกลัวที่จะอภิเสกสมรสกับพระบิดา เจ้าหญิงเลยขอความช่วยเหลือจากนางฟ้าแม่ทูนหัว (รับบทโดย Delphine Seyrig) แนะนำให้ร้องขอสิ่งเป็นไปไม่ได้ อาทิ ชุดสภาพอากาศ, ชุดพระจันทร์, ชุดพระอาทิตย์ แม้แต่ชุดหนังลา ซึ่งเป็นทรัพย์สินมีค่าที่สุดในแผ่นดิน พระบิดาก็กลับสรรหามามอบให้ สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจหลบหนีออกจากพระราชวัง ปลอมตัวเป็น Donkey Skin ทำงานแม่ครัว/คนเลี้ยงหมู อาศัยอยู่ในกระท่อมหลังเล็กๆ ณ ประเทศเพื่อนบ้าน
วันหนึ่งเจ้าชายจากประเทศเพื่อนบ้าน (รับบทโดย Jacques Perrin) เดินทางมาท่องเที่ยวในป่าใหญ่ แอบพบเห็นความงดงามของหญิงสาวในกระท่อมหลังหนึ่ง ล้มป่วยเพราะอาการตกหลุมรัก (Love-Struck) ไม่เป็นอันกินอันนอน ร่ำร้องขออยากรับประทานเค้กของ Donkey Skin ซึ่งเธอก็บังเอิญจงใจทำแหวนตกหล่น เมื่อเจ้าชายพบเห็นจึงป่าวประกาศจะแต่งงานกับหญิงสาว สามารถสวมใส่แหวนดังกล่าวได้พอดี
Catherine Deneuve ชื่อจริง Catherine Fabienne Dorléac (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, เป็นบุตรของนักแสดงละครเวทีชื่อดัง Maurice Dorléac และ Renée Simonot เลยไม่แปลกที่เธอจะมีความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็ก เริ่มจากตัวประกอบเล็กๆ Les Collégiennes (1957), ซึ่งการแสดงของเธอใน L’Homme à femmes (1960) ไปเข้าตาผู้กำกับ Jacques Demy เรียกตัวมาทดสอบหน้ากล้อง เลือกให้รับบทนำ The Umbrellas of Cherbourg (1964) แจ้งเกิดโด่งดังในทันที!
รับบทอดีตพระชายา ขณะลมหายใจเฮือกสุดท้าย โน้มน้าวให้พระราชาสัญญาว่าจะอภิเสกสมรสใหม่ เฉพาะกับพระชายาผู้มีสิริรูปโฉมงามกว่าตนเอง!
รับบทเจ้าหญิง ด้วยความยังสวยสาว ผิวพรรณเปร่งประกาย ถอดแบบพิมพ์เดียวกับพระมารดา จึงเป็นหญิงเพียงคนเดียวมีสิริรูปโฉมงดงามกว่า เมื่อจู่ๆถูกพระบิดาสั่งให้อภิเสกสมรสกับพระองค์ บังเกิดความสับสน ไม่เข้าใจ จึงไปปรึกษานางฟ้าแม่ทูนหัว แนะนำให้เรียกร้องขอชุดที่ดูไม่น่าสรรหามาได้ แต่แม้แต่เจ้าลานำโชคของอาณาจักร ยังพร้อมถลกหนังนำมามอบให้ นั่นทำให้เธอรู้สึกมีใจ ยินยอมพร้อมแต่งงาน … แต่ก็ถูกนางฟ้าแม่ทูนหัวคัดค้านหัวชนฝา บีบบังคับให้หลบหนีออกจากพระราชวัง ปลอมตัวกลายเป็น Donkey Skin อาศัยอยู่ยังกระท่อมหลังเล็กๆ ณ ประเทศเพื่อนบ้าน
ครานี้เมื่อไม่มีนางฟ้าแม่ทูนหัวอยู่เคียงชิดใกล้ ทำให้เจ้าหญิงได้รับอิสรภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจ วันหนึ่งได้ยินข่าวเจ้าชายจากประเทศเพื่อนบ้าน เดินทางมาท่องเที่ยวในป่าใหญ่ ก็ไม่รู้ใช้เวทมนตร์อะไรให้เขาพลัดหลงเข้ามา แอบพบเห็นความงดงามของเธอในกระท่อม ล้มป่วยเพราะอาการตกหลุมรัก มีเพียงได้แต่งงานกันเธอเท่านั้นถึงสามารถรักษาหาย
แม้ว่าผู้กำกับ Demy จะเคยมีภาพของ Brigitte Bardot ในบทบาทเจ้าหญิง แต่หลังจากได้ร่วมงานกับ Deneuve ตั้งแต่ The Umbrellas of Cherbourg (1964) และ The Young Girls of Rochefort (1967) ก็เลยมีโอกาสพูดคุย ชักชวน นำบทให้อ่าน ซึ่งเธอก็ตอบตกลงด้วยความเชื่อมั่นแบบไม่ต้องเสียเวลาครุ่นคิดตัดสินใจ
Like the other girls, I liked stories of fairies and witches, kings and princesses, pearls and toads. When I read the script for Peau d’Âne, I rediscovered the emotions of my childhood reading, the same simplicity, the same humour, and, why not say it, a certain cruelty which generally wells up under the quiet snow from the most magical tales.
Catherine Deneuve
ไดเรคชั่นการแสดงของหนังเรื่องนี้ จะมีความแตกต่างจากผลงานอื่นๆ (ของผู้กำกับ Demy) ทุกท่วงท่า การขยับเคลื่อนไหว ล้วนปรุงปั้นแต่งให้ดูเว่อวังอลังการ (แลดูคล้ายๆ Beauty and the Beast (1946)) เพื่อสร้างสัมผัสเหนือจริง (Surreal) หลุดเข้าไปในโลกแฟนตาซี แห่งความเพ้อฝันจินตนาการ
Jacques [Demy] asked us to exaggerate everything: our gazes at the ceiling, our gestures overplaying despondency or emotion, as in a pious image. This earned us giggles whose traces can be detected in a few scenes of the film. But it was mostly covertly, an injunction to surreality in the aesthetic and literary sense.
ความเว่อๆในการแสดงนั้นเอง ทำให้ผมมองไม่ค่อยออกว่า Deneuve เล่นดี/แย่ประการใด ครึ่งแรกยังมีความสาว สวยใส ไร้เดียงสา ความรักที่แสดงออกต่อพระราชา มันช่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง (สัมผัสไม่ได้ถึงตัณหาราคะแม้แต่น้อย), ส่วนครึ่งหลังจากได้รับอิสรภาพ ตัวละครมีความแรดร่าน ระริกระรี้ โดยเฉพาะวินาทีใส่แหวนเข้าไปในแป้งขนมเค้ก พร้อมคำอธิษฐานเจ้าชายต้องกลายเป็นของฉัน นี่มันภาพยนตร์เรื่องเดียวกันหรือเปล่าเนี่ย!
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้จากการแสดงของ Deneuve คือดูเธอสนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับบทบาทนี้ อาจเพราะสภาพแวดล้อม การร่วมงานกับ Jacques Demy แม้ว่าในกองถ่ายจะเต็มไปด้วยปัญหามากมาย แต่เขาก็ราวกับนางฟ้าแม่ทูนหัวของเธอ … เอิ่ม
If Donkey Skin is a fairy tale, Jacques Demy has the patience of an angel
Jean-Alfred Villain-Marais (1913 – 1988) นักแสดง ศิลปินสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Cherbourg ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Marcel L’Herbier จากการเป็นลูกค้าซื้อภาพวาด เลือกมาแสดงหนังสองเรื่อง L’Épervier (1933), L’Aventurier (1934) ต่อมามีโอกาสรู้จัก กลายเป็นเพื่อนสนิทและคู่ขาของ Jean Cocteau (Marais เป็น BiSexual แต่งงานกับผู้หญิงและมีคู่ขาเป็นผู้ชาย) ในผลงานเด่น Beauty and the Beast (1946), Orphée (1949) ฯ
รับบทพระราชา หลังจากพระชายาพลันด่วนเสียชีวิต แม้ไม่ได้ครุ่นคิดอยากแต่งงานกับใคร แต่ถูกเร่งเร้าโดยข้าราชบริพาร นำภาพวาดหญิงสาวมาให้คัดเลือกสรรมากมาย แต่ก็ไม่มีใครสวยบาดใจจนสุดท้ายภาพเจ้าหญิง พระธิดาของพระองค์เอง ไม่ได้สนความถูกต้องเหมาะสม ศีลธรรม มโนธรรม ตัดสินใจของเธอแต่งงาน ยินยอมรับข้อแม้ทุกสรรพสิ่งอย่าง แต่สุดท้าย…
ผู้กำกับ Demy เจาะจงเลือก Marais เพราะความประทับใจในบทบาท The Beast จากภาพยนตร์ Beauty and the Beast (1946) เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึง Charisma ใบหน้าอันเหี้ยมโหด การแสดงออกที่ดุร้าย ไม่ต่างจากเผด็จการเอ่อล้นด้วยอำนาจ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างสนองความพึงพอใจ … และเพื่อเป็นการเคารพคารวะผลงานของผู้กำกับคนโปรด Jean Cocteau
นอกจากภาพลักษณ์และ Charisma ผมรู้สึกว่าหนังใช้งาน Marais ไม่ค่อยคุ้มค่าสักเท่าไหร่ เพียงอิทธิพลที่สามารถควบคุมครอบงำ และแสดงอาการหมกมุ่นในเรื่องแต่งงาน ก็แค่นั่นแหละ! … เอาจริงๆน่าจะนำเสนอความขัดแย้งในใจตัวละครออกมาบ้าง ทำเหมือนการแต่งงานกับพระธิดา เป็นเรื่องปกติธรรมดาๆทั่วไป (นี่อาจสะท้อนทัศนคติของผู้กำกับ Demy ด้วยนะครับว่า Incest มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร)
Jacques Perrin ชื่อจริง Jacques André Simonet (เกิดปี 1941) นักแสดง/โปรดิวเซอร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บิดาทำงานผู้จัดการโรงละคร ส่วนมารดาก็เป็นนักแสดง(ประจำโรงละคร) แน่นอนว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เข้าฝีกฝนการแสดงยัง Conservatoire National Supérieur d’Art Dramatique, จากนั้นขี้นแสดงละครเวที, สมทบภาพยนตร์ Girl with a Suitcase (1960), โด่งดังกับ La busca (1966), Un uomo a metà (1966), The Young Girls of Rochefort (1967), แต่หลังจากนั้นก็เปิดสตูดิโอ กลายเป็นโปรดิวเซอร์หนังรางวัลอย่าง Z (1969), Home Sweet Home (1973), Black and White in Color (1976), Himalaya (1996) ฯ
รับบทเจ้าชาย หลังจากได้แอบถ้ำมองกระท่อมกลางป่า ล้มป่วยจากอาการตกหลุมรักแรกพบ ไม่เป็นอันกินอันนอน จนกว่าจะได้รับประทานขนมเค้ก และแต่งงานกับหญิงสาวคนนั้น แต่เธอหลบซ่อนตัวอยู่แห่งหนไหนกัน?
ภาพลักษณ์ baby face ของ Perrin ถือว่าเหมาะสมกับบทบาท เจ้าชายมีความใสซื่อบริสุทธิ์ ขี้เหงาเอาแต่ใจ พร้อมแต่งงานกับใครที่สามารถทำตามเงื่อนไข(สวมแหวนได้พอดิบดี) มุมหนี่งเหมือนตัวละครมองความงดงามผู้อื่นจากภายใน แต่ขณะเดียวกันชายคนนี้หมกมุ่น ระริกระรี้ สนเพียงการแต่งงาน ต่อให้อัปลักษณ์แค่ไหนถ้าสวมแหวนวงนี้ได้ก็พร้อมเอาหมด … ฟังดูพิลีกพิลั่นยิ่งกว่าการ Incest เสียอีกน่ะ!
จะว่าไปบทบาทของ Perrin แทบไม่แตกต่างจาก The Young Girls of Rochefort (1967) ตัวละครมีความโหยหารักแท้จนไม่เป็นอันกินอันนอน สายตาเหม่อล่องลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จนกว่าจะได้รับการตอบสนอง แต่แค่เพียงรับประทานเค้ก เกือบจะกลืนกินแหวนวงนั้น ก็สามารถลุกขึ้นจากเตียง ดูมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง
Delphine Claire Beltiane Seyrig (1932-90) นักแสดงสัญชาติ Lebanese เกิดที่ Beirut, Greater Lebanon บิดาเป็นชาวฝรั่งเศส มารดาเชื้อสาย Swiss, ตั้งแต่เด็กมีโอกาสฝึกฝนการแสดงยัง Comédie de Saint-Étienne จากนั้นเดินทางสู่ New York เข้าร่วม Actors Studio ตั้งแต่ปี 1956, ภาพยนตร์เรื่องแรก Pull My Daisy (1958) แล้วได้พบเจอผู้กำกับ Alain Resnais ชักชวนมาเล่น Last Year at Marienbad (1961) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Muriel ou Le temps d’un retour (1963), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), The Day of the Jackal (1973), India Song (1975), Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) ฯ
รับบทนางฟ้าแม่ทูนหัว (Lilac Fairy) คอยให้คำปรีกษาแก่เจ้าหญิง แนะนำข้อเรียกร้องที่ไม่น่าเป็นไปได้ คาดหวังให้พระราชาล้มเลิกพระทัย แต่จนแล้วจนรอดกลับไม่สำเร็จผลเลยสักครั้ง จนต้องชี้นำเจ้าหญิงให้หลบหนีจากพระราชวัง เพื่อตนเองจะได้เสนอตัวเข้ามา และอภิเสกสมรสกับพระราชา
นี่เป็นตัวละครสุดคลาสสิกที่มักพบเห็นประจำในวรรณกรรมเทพนิยาย จุดประสงค์เพื่อเสี้ยมสอนแนวคิดบางอย่างให้ผู้อ่าน/ผู้ชม แต่บางครั้งก็อาจไม่ได้อธิบายเหตุผล ทำไมเจ้าหญิงไม่ควรแต่งงานกับพระบิดา ถีงอย่างนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้มอบคำตอบที่ สุดตรีนจริงๆ (สะท้อนความสนใจของผู้กำกับ Demy อย่างตรงไปตรงมา)
ซึ่งรูปลักษณะของตัวละคร ดูเหมือนว่าเธอหลุดจากโลกปัจจุบันเข้าไปในในหนัง ทั้งแนวความคิด เสื้อผ้าหน้าผม (ดูเหมือน Hollywood Glamor ที่นิยมกันช่วงทศวรรษ 20s-40s) รวมไปถึงของเล่นไฮเทค โทรศัพท์ เฮลิคอปเตอร์ ฯ เหล่านี้อาจดูแปลกๆ ไม่เข้าพวก แต่เวทย์มนต์ในเทพนิยาย ส่วนใหญ่สามารถกลายเป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน
แม้อายุยังไม่ถีง 40 ปี แต่ Seyrig มีภาพลักษณ์ของหญิงวัยกลางคน เหมือนนางฟ้า และมารดาเอ็นดูบุตร สามารถให้คำแนะนำ (ที่บางครั้งก็รู้สึกแปลกๆ) ฟังแล้วมีความน่าเชื่อถือ แต่ตัวละครปกปิดซ่อนวัตถุประสงค์แท้จริง ซึ่งก็ซุกไว้อย่างมิดชิด ตีหน้าเซ่อ รักษาภาพลักษณ์แนบเนียนสุดๆ
ถ่ายภาพโดย Ghislain Cloquet (1924-81) สัญชาติ Belgian เกิดที่ Antwerp, Belgium ย้ายมาเรียนต่อ Paris แล้วได้สัญชาติเมื่อปี 1940, เริ่มต้นถ่ายทำหนังสั้น มีชื่อเสียงจาก Le Trou (1960), Classe Tous Risques (1960), The Fire Within (1963), Au hasard Balthazar (1966), The Young Girls of Rochefort (1967), Mouchette (1967), Love and Death (1975), Tess (1979) ** คว้า Oscar: Best Cinematography
ผู้กำกับ Demy ต้องการอุทิศภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ Jean Cocteau ผู้ล่วงลับ ซึ่งหลายๆสิ่งอย่างล้วนเคารพคารวะ Beauty and the Beast (1946) ตั้งแต่เจาะจงนักแสดง Jean Marais เสื้อผ้าหน้าผม การออกแบบฉาก (ที่ใช้มนุษย์เป็นเฟอร์นิเจอร์) รวมไปถึงการถ่ายภาพ Trick Shot อาทิ Slow-Motion, Reverse Shot ฯ เพื่อสร้างสัมผัสราวกับเวทย์มนต์ ในดินแดนแฟนตาซี เหนือจินตนาการ
แต่ความแตกต่างระหว่าง Donkey Skin และ Beauty and the Beast คือการถ่ายทำด้วย Eastmancolor ซึ่งสามารถละเลงสีสัน ใส่ความระยิบระยับ ให้มีความตื่นตระการตา และใช้ปราสาทจริงๆเป็นพื้นหลัง หนังจึงมอบความรู้สึกจับต้องได้มากกว่า
ขอเริ่มจากสถานที่ถ่ายทำก่อนแล้วกัน ปราสาทพบเห็นในหนังประกอบด้วย
- Château de Chambord ตั้งอยู่ที่ Chambord, Centre-Val de Loire เริ่มต้นก่อสร้าง ค.ศ. 1519 ในรัชสมัย King Francis I (ครองราชย์ 1515-47) แล้วเสร็จสิ้น ค.ศ. 1954, ออกแบบโดย Domenico da Cortona ด้วยสถาปัตยกรรม French Renaissance
- พระราชวังของประเทศสีแดง
- Château du Plessis-Bourré ตั้งอยู่ที่ Loire Valley, Maine-et-Loire เริ่มต้นก่อสร้าง ค.ศ. 1468 แล้วเสร็จสิ้น ค.ศ. 1472 ด้วยสถาปัตยกรรม Renaissance
- พระราชวังของประเทศสีน้ำเงิน
- Château de Neuville ตั้งอยู่ Gambais, Yvelines ก่อสร้างขึ้นช่วงศตวรรษที่ 16 ออกแบบโดยสถาปนิก Jacques I Androuet du Cerceau
- ใช้เป็นหมู่บ้านที่ Donkey Skin หลบหนีออกจากพระราชวัง
- Château de Pierrefonds ตั้งอยู่ Pierrefonds, Oise ก่อสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1393-1407 ในลักษณะ Medieval Castle
- ฉากสุดท้ายที่พระราชาจากประเทศสีน้ำเงิน เดินทางมาร่วมงานแต่งงานของพระธิดายังประเทศสีแดง
ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Gitt Magrini (1914–77) สัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Bernardo Bertolucci แต่ก็มักร่วมงานผู้กำกับยุค French New Wave อาทิ The Fire Within (1963), The Nun (1966), Two English Girls (1971), La Grande Bouffe (1973) ฯ
สำหรับแฟชั่นการออกแบบ จะแตกต่างออกไปตามแต่ตัวละคร อาทิ
- พระราชาประเทศสีน้ำเงิน อ้างอิงจากภาพยนตร์ Beauty and the Beast (1946)
- พระราชาประเทศสีแดง ได้แรงบันดาลใจจักรพรรดิโรมัน Charlemagne (ครองราชย์ ค.ศ. 800-814) โดยเฉพาะหนวดประดับด้วยดอกไม้
- ชุดเจ้าหญิงได้แรงบันดาลใจจากแฟชั้นในรัชสมัยของ King Louis XV (ครองราชย์ 1715-74)
- ชุดนางฟ้าแม่ทูนหัว คือส่วนผสมของ Hollywood Glamor ที่นิยมกันช่วงทศวรรษ 1920s-40s
สำหรับสี่ชุดนางเอกของหนัง แฝงนัยยะซ่อนเร้นบางอย่างเกี่ยวกับตัวตนของเจ้าหญิงไว้ด้วยเช่นกัน
- ชุดสภาพอากาศ ออกแบบจากเนื้อผ้าที่ใช้ทำเป็นฉากฉายโปรเจคเตอร์ (projection screen fabric) ส่วนก้อนเมฆถ่ายทำไว้ล่วงหน้าด้วยฟีล์ม 16mm โดยทีมงานคนหนึ่งจะเดินติดตามนักแสดงฉายภาพลงชุดดังกล่าว
- “technician walked around with a 16 mm projector, following Catherine Deneuve so that the cloud was still on her dress, even if sometimes it overflowed a little”.
- นัยยะถึงความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของเจ้าหญิง เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวชอบ-เดี๋ยวเกลียด การเรียกร้องของเธอเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
- ชุดพระจันทร์
- นัยยะถึงความงดงามดั่งพระจันทร์ แม้ยามค่ำคืนมืดก็สามารถสาดส่องสว่าง กลายเป็นแสงแห่งความหวังให้สรรพชีวิต
- ชุดพระอาทิตย์
- นัยยะถึงความงดงามดั่งพระอาทิตย์ ยังคงเจิดจรัสแม้รายล้อมรอบด้วยความสว่างจร้า สามารถเปร่งประกายโดดเด่นยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
- ชุดหนังลา ก็มาจากลาจริงๆนะแหละ นำจากโรงฆ่าสัตว์ แล้วต้องทำความสะอาดจนหมดกลิ่น (มีเพียง Deneuve สวมใส่โดยไม่รู้ว่ามาจากหนังลาจริงๆ/เพราะถ้าเธอรู้ อาจไม่ยินยอมสวมใส่ก็ได้)
- ภายนอกดูอัปลักษณ์ น่ารังเกียจขยะแขยง แต่ซุกซ่อนเร้นภายในด้วยความงดงามของเจ้าหญิง … นัยยะเดียวกับ Beauty and the Beast
ในส่วนของ Production Design เพราะขาประจำ Bernard Evein และ (ออกแบบฉาก) Agostino Pace ต่างติดพันโปรเจคอื่น ทำให้ผู้กำกับ Demy ต้องมองหาสมาชิกใหม่ Jim Leon แต่หลังร่วมงานไปได้สักพัก หมอนี่ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลยสักอย่าง จำต้องเปลี่ยนตัวกลางคันมาเป็น Jacques Dugied แล้วหาทางแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ แต่ก็สิ้นเปลืองงบประมาณกว่าเท่าตัว (ในส่วนของ Production Design จากเตรียมงบไว้ 350,000 ฟรังก์ เพิ่มมาเป็น 770,000 ฟรังก์)
At seven o’clock in the evening, the decorator comes to tell me: ‘It’s a disaster. The Princess’s bed is completely ruined; we didn’t have it done where it should have been. It was a very large, very pretty flower, in pink flocked velvet, which opened when the Princess approached and closed when she was lying in it. I went to see the machine in question and it was a terrible mechanism, which worked in jerks; the flocking had not been done; they had glued a fabric on it and you could see the glue. It was horrible, unusable. We fired that and spent the night trying to come up with a set. I had seen two stags, downstairs, in the entrance to Chambord, we brought them up and made the bed with that, improvising the rest.
Jacques Demy
กลุ่มเป้าหมายของหนังเรื่องนี้คือเด็กๆ ผู้กำกับ Demy จึงครุ่นคิดจุดสังเกตที่สร้างความแตกต่าง ผู้ชมพบเห็นแล้วสามารถแยกแยะได้โดยทันที ตั้งแต่สถาปัตยกรรม การตกแต่งปราสาท ภายนอก-ใน เสื้อผ้าหน้าผมตัวละคร และชัดเจนมากๆก็คือสีสัน ประเทศแดง vs. ประเทศน้ำเงิน
- ประเทศสีน้ำเงิน ใช้ปราสาท Château du Plessis-Bourré ดูมึความเรียบง่าย สถาปัตยกรรมไม่ได้ดูซับซ้อนอะไร ส่วนการตกแต่งภายในทำออกมาละม้ายคล้าย Beauty and the Beast (1946) เต็มไปด้วยดอกไม้ เถาวัลย์ เฟอร์นิเจอร์สิ่งมีชีวิต (มนุษย์และสัตว์)
- ประเทศสีแดง ใช้ปราสาท Château de Chambord ภายนอกมีความหรูหรา วิจิตรตระการตา ภายในก็ดูโอ่งโถง รโหฐาน ทำจากอิฐปูน มีความมั่นคง สะอาดสะอ้าน ไม่รกหูรกตา
เริ่มต้นหนังนำเสนอว่า เจ้าลาคือสัตว์นำโชคที่สามารถถ่ายออกมาเป็นแก้วแหวนเงินทอง แต่เราสามารถตีความเจ้าลาโง่ (Fools) ก็คือประชาชน คนทั่วไปๆ พวกเขาต้องทำงานหนักด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย แล้วถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้เจ้าขุนมูลนาย ข้าราชบริพาร และพระราชาได้จับจ่ายใช้สอยอย่างสุรุ่ยสุร่าย สุขสบาย แทบไม่ต้องลำบากยากเข็นอันใด
ซึ่งการถลกหนังเจ้าลาเพื่อมอบเป็นของขวัญต่อเจ้าหญิง สะท้อนว่าพระราชาไม่ได้ใคร่สนความเป็นอยู่ของราษฎร พร้อมกำจัด ทำลายล้าง เพื่อสนองผลประโยชน์ ความต้องการส่วนตน
ส่วนการที่เจ้าหญิงหลบซ่อน/ปลอมตัวสวมใส่หนังลา (Donkey Skin) สามารถตีความถึงการละทอดทิ้งยศ ศักดินา วิทยฐานะ แล้วกลายส่วนหนึ่งของปวงประชา สามัญชน โดยเป้าหมายใหม่คือครองใจเจ้าชายหนุ่ม สอนให้เขารู้จักความเสมอภาคเท่าเทียม (ใครก็ตามสวมใส่แหวนวงนี้ ไม่ว่าจะสวย-รวย-จน-อัปลักษณ์ ล้วนจักได้รับความรัก และการแต่งงาน)
หนังใช้เวลาเตรียมงานสร้าง (pre-production) ประมาณ 6-8 เดือน แล้วถ่ายทำจริงช่วงฤดูร้อน (มิถุนายน-กรกฎาคม 1970) ในระยะเวลาเพียง 8 สัปดาห์ เช่นนั้นแล้วไปบันทึกภาพหิมะตกตอนไหน?? คำตอบคือใช้เทคนิค matte painting ถ่ายภาพผ่านกระจกที่วาดหิมะปกคลุมปราสาท แล้วหลงเหลือพื้นที่ว่างด้านหน้าสักนิดหน่อย สำหรับโปรยเศษหิมะปลอมผ่านหน้ากล้อง (ส่วนฉากที่นักแสดงเดินฝ่าหิมะ นั่นก็จะหิมะปลอมล้วนๆนะครับ)
นอกจากนี้หนังยังเต็มไปด้วยทริก เทคนิค ลูกเล่น เพื่อสร้างสัมผัสเวทย์มนต์ให้กับหนัง อาทิ
- Reverse Shot ถ่ายทำแบบปกติ แต่ฉายแบบย้อนกลับหลังมาหน้า นิยมใช้ขณะย้อนเวลา ต้องการทำให้สิ่งของตกแตก หวนกลับมาเป็นปกติ ราวกับไม่มีอะไรเคยบังเกิดขึ้น
- ตัดภาพ (Cut) หรือค่อยๆคมชัดขึ้นมา (Fade-In) สำหรับเสกสิ่งของ ปรากฎ-หายตัว เป็นเทคนิคง่ายๆที่แค่วางกล้องไว้ตำแหน่งทิศทางเดิม แล้วสลับสับเปลี่ยนคน-สัตว์-สิ่งของที่อยู่หน้ากล้อง แล้วไปตัดต่อ หรือใส่เทคนิคหลังการถ่ายทำ
- Slow Motion นำเข้าสู่ปราสาท Château de Neuville สถานที่อยู่ใหม่ของเจ้าหญิง ซึ่งการต้องใช้ชีวิตแบบสามัญชน ราวกับโลกแฟนตาซี สิ่งที่อยู่เหนือจินตนาการของเธอ (แต่ฉากนี้ทุกคนยืนหยุดนิ่ง ปล่อยให้เจ้าหญิงวิ่งอยู่ตัวคนเดียว)
- ซ้อนภาพ (Double Exposure) ให้วิญญาณของเจ้าชายล่องลอยออกจากร่าง เพื่อท่องเที่ยว สนุกสนานไปกับจินตนาการ (ที่ได้พานพบตกหลุมรักเจ้าหญิง)
- Iris Shot (ถือเป็น Signature Shot ของผู้กำกับ Demy) สำหรับจับจ้องสังเกตมองใครบางคน อะไรบางอย่าง
ฯลฯ
ในวรรณกรรมต้นฉบับ เจ้าชายประเทศเพื่อนบ้านจะแค่จับพลัดจับพลูมาถึงกระท่อมกลางป่า แอบถ้ำมองแล้วพบเห็นมืออันงดงามของเจ้าหญิง จึงเก็บไปเพ้อคลั่ง ป่วยอาการตกหลุมรัก แต่หนังปรับเปลี่ยนฉากนี้ให้ดูเหมือนเจ้าหญิงใช้เวทย์มนต์ชี้นำทางเจ้าชาย มาถึงกระท่อมหลังนี้ก็เข้าไม่ได้ (ติดกำแพงอะไรสักอย่าง) เพียงแค่ถ้ำมองจากหน้าต่าง พบเห็นเธอสวมใส่ชุดพระอาทิตย์ แล้วเกิดอาการรักคลั่ง
ไดเรคชั่นดังกล่าวทำให้ผมรู้สึกว่า เจ้าหญิงมีความระริกระรี้ แรดร่าน อยากได้เจ้าชายใจจะขาด แต่จำต้องครุ่นคิดวางแผนการให้เขาตกหลุมรัก ป่วยหนักอาการเพ้อคลั่ง ใจจะขาดถ้าขาดตนไม่ได้
ฉากที่ผมรู้สึกว่ามีความ Charming น่าหลงใหลมากๆ คือขณะเจ้าหญิงทำขนมเค้กให้เจ้าชาย ไม่ใช่แค่บทเพลง Recipe for a Love Cake ที่เต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะตอกไข่ได้ลูกไก่ (เอาลูกไก่ใส่ไข่ไว้ก่อน แล้วแสร้งทำเป็นตอกออกมา) ช่างมีความน่ารักน่าชังยิ่งนัก
แต่บอกตามตรงฉากนี้แฝงนัยยะที่โคตรจะระริกระรี้ เหมือนปรุงยาเสน่ห์ … เริ่มต้นจากใช้คฑาถอดร่างกาย-จิตใจ พบเห็น Donkey Skin นั่งอยู่เฉยๆด้านหลัง ขณะที่เจ้าหญิงสวมชุดพระอาทิตย์กำลังเตรียมทำขนมปัง (สื่อนัยยะว่าเป็นการ(ตั้งใจ)ทำจากใจ) ซึ่งสูตรประกอบด้วยเทแป้ง ตอกไข่ ใส่แหวน และโน่นนี่นั่น จากนั้นนำมาคลุกเคล้า แล้วเอาเข้าเตาอบ สำเร็จแผนการไปอีกขั้น
ฉากติดตามหาเจ้าหญิง สวมรองเท้าแก้วแหวน ผมพยายามมองให้เป็นความบันเทิง ตลกขบขัน ไร้เดียงสาแบบเด็กๆ แต่บอกตามตรงว่าทำไม่ได้! เพราะแต่ละตัวละครที่ผู้กำกับ Demy จงใจนำใส่เข้ามา สาวแก่ แม่หม้าย โดยเฉพาะเด็กหญิงตัวกระเปี๊ยก แสดงอาการระริกระรี้อยากสวมแหวน แต่งงาน กลายเป็นเจ้าหญิง มันช่างแฝงแนวคิดที่ไม่สนศีลธรรม มโนธรรม ห่าเหวอะไรทั้งนั้น!
รุ้งกินน้ำ เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความรักไร้พรมแดน การแต่งงานระหว่างเจ้าชายประเทศสีแดง กับเจ้าหญิงประเทศสีน้ำเงิน ทำให้ทั้งสองประเทศกลายเป็นพันธมิตร บังเกิดความสงบสันติสุข … แต่ผู้ชมสมัยนี้เห็นรุ้งกินน้ำ จะครุ่นคิดเช่นนั้นจริงๆนะหรือ
และที่น่าสนใจมากๆของฉากนี้คือสีหน้าเจ้าหญิง เมื่อได้พบเห็นพระบิดาแต่งงานกับนางฟ้าแม่ทูนหัว มันเหมือนการถูกทรยศหักหลังจากบุคคลที่ตนเคยเชื่อใจ ยินยอมปฏิบัติตามคำแนะนำ ถึงขนาดละทอดทิ้งชีวิตสุขสบาย แม้จะได้แต่งงานกับเจ้าชายหนุ่ม แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ทั้งหมดล้วนคือแผนการอันโฉดชั่วร้าย(ของนางฟ้าแม่ทูนหัว)ใช่หรือไม่?
ตัดต่อโดย Anne-Marie Cotret (เกิดปี 1930) ขาประจำผู้กำกับ Jacques Demy ตั้งแต่ Lola (1961),
หนังดำเนินไปโดยมีเจ้าหญิง/Donkey Skin คือศูนย์กลางเรื่องราว แต่ไม่จำเป็นว่าต้องนำเสนอผ่านมุมมองของเธอโดยเฉพาะ สามารถแบ่งแยกออกเป็นครี่งแรก-ครี่งหลัง
- เจ้าหญิง-พระราชา (เมืองสีน้ำเงิน)
- เริ่มต้นด้วยการจากไปของพระมารดา
- พระราชามองหาหญิงสาวสำหรับอภิเสกสมรส จนตัดสินใจเลือกเจ้าหญิง
- เจ้าหญิงขอคำปรีกษาจากนางฟ้าแม่ทูนหัว
- เรียกร้องขอชุดสภาพอากาศ
- ชุดพระจันทร์
- ชุดพระอาทิตย์
- และชุดหนังลา
- การหลบหนีของเจ้าหญิง ปลอมตัวเป็น Donkey Skin
- Donkey Skin-เจ้าชายประเทศเพื่อนบ้าน (เมืองสีแดง)
- Donkey Skin ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่
- เจ้าชายประเทศเพื่อนบ้าน บังเอิญผ่านไปกระท่อมกลางป่า ตกหลุมรักใครบางคนที่อาศัยอยู่ในนั้น
- เจ้าชายล้มป่วยจากความรัก อาการจะขี้นเมื่อได้รับประทานเค้กจาก Donkey Skin
- การติดตามหาเจ้าของแหวน ที่ทำตกหล่นในก้อนเค้ก
- เปิดเผยตัวตนแท้จริงของ Donkey Skin แต่งงานกับเจ้าชาย และได้พบเจอพระบิดา (แต่งงานใหม่กับนางฟ้าแม่ทูนหัว)
ครี่งแรกของหนังมีการลำดับเรื่องราวที่พอใช้ได้ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของเจ้าหญิงทั้ง 3-4 ครั้ง นำเสนอรายละเอียดที่แทบไม่ซ้ำกัน แต่ครี่งหลังกลับดูเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้าลง เรื่องราวก็ขาดความน่าสนใจ แถมตอนจบรวบรัดตัดสอนไปนิด ทำให้ภาพรวมของหนังยังไม่น่าพีงพอใจสักเท่าไหร่
เพลงประกอบโดย Michel Jean Legrand (1932-2019) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นบุตรของนักแต่งเพลง/วาทยากรชื่อดัง Raymond Legrand มีอัจฉริยภาพด้านเปียโนตั้งแต่เด็ก พออายุ 10-11 ขวบ เข้าศึกษา Conservatoire de Paris ค้นพบความสนใจดนตรีแจ๊สและการประพันธ์เพลง จบออกร่วมทัวร์การแสดงของ Maurice Chevalier (เป็นนักเปียโน) จากนั้นออกอัลบัมแรก I Love Paris (1954) ได้รับความนิยมอย่างคาดไม่ถึง, สำหรับภาพยนตร์เริ่มต้นจาก Les Amants Du Tage (1954), โด่งดังกับ L’Amérique insolite (1958), A Woman Is a Woman (1960), ร่วมงานกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Jacques Demy ตั้งแต่ Lola (1961), The Umbrellas of Cherbourg (1964), The Young Girls of Rochefort (1966), กระทั่งคว้า Oscar: Best Score จาก Summer of ’42 (1971), The Thomas Crown Affair (1968) และ Yentl (1983)
Legrand คงมองภาพยนตร์เรื่องนี้คือความท้าทายที่จะได้ทดลองสรรค์สร้างแนวเพลงใหม่ๆ ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับ Demy คือการผสมผสานดนตรี Baroque เข้ากับ Jazz และ Pop เพื่อสร้างสัมผัสยุคกลาง (Medieval) คลุกเคล้าโลกแฟนตาซี (Fantasy) ให้มีกลิ่นอายราวกับเวทย์มนต์ขลัง
แนวทางของ Legrand ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Les Visiteurs du Soir (1942) ของผู้กำกับ Marcel Carné ประพันธ์เพลงด้วยวิธีการ Fugue ที่เคยได้รับความนิยมในยุค Baroque (ค.ศ. 1600-1725) เริ่มจากเขียนท่วงทำนองหลัก (subject) บรรเลงต่อเนื่องไปเรื่อยๆตั้งแต่ต้นจนจบ จากนั้นพัฒนาท่วงทำนองรอง (imitation) ให้สอดประสาน มีความคล้องจอง ลื่นไหลไปเหมือนธารน้ำแต่ละสายค่อยๆเคลื่อนมาบรรจบ
From the outset, I give Peau d’Âne a kind of symmetry, framing it with two great fugues, one opening, the other closing: the first on the theme of the search for love (Amour, Amour), the second on that of found love (Rêves secrets)
Michel Legrand
วิธีการดังกล่าวดูเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ผมมานั่งฟังทีละบทเพลงในอัลบัมก็รู้สึกว่ามีความไพเราะ เคลิบเคลิ้มหลงใหล แต่พอนำไปประกอบภาพยนตร์กลับไม่ค่อยน่าจดจำสักเท่าไหร่ มันดูกลมกลืน ลื่นไหล ธรรมดาเกินไป ผิดความคาดหวังผู้ชม เพราะนึกว่าจะได้ยินดนตรีที่เต็มไปด้วยสีสัน ฉูดฉาดจัดจ้าน แบบที่เคยทำกับ The Umbrellas of Cherbourg (1964) และ The Young Girls of Rochefort (1966)
Générique (แปลว่า Generic) น่าจะถือเป็น Main Theme ของหนัง เต็มไปด้วยกลิ่นอายสไตล์ Baroque มอบสัมผัสทะมึนๆ พยากรณ์ความมืดมิดที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามาปกคลุม ให้เจ้าหญิงผู้มีความน่ารักสดใส จำต้องซุกซ่อนตัวตน กลายสภาพเป็นบางสิ่งอย่างที่ดูอัปลักษณ์ น่ารังเกียจ หลบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
Amour… Amour แปลว่า Love…Love ขับร้องโดย Anne Germain (ผู้ให้เสียงพากย์ Catherine Deneuve), ดังขึ้นขณะเจ้าหญิงกำลังบรรเลงออร์แกน (แต่จะได้ยินเสียงเครื่องดนตรีอื่นคลอประกอบ) และรำพันถึงความรัก มันช่างรุนแรงดังพายุ ทำให้จิตใจคลุ้มคลั่ง ร่างกายล้มป่วย ตลอดทั้งวันฉันคิดถึงเธอ
Fugue du Prince เป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นโดยใช้วิธีการ Fugue เริ่มต้นด้วยเสียงเชลโล่บรรเลงท่วงทำนองซ้ำไปซ้ำมาตั้งแต่ต้นจนจบ จากนั้นจะตามด้วยเสียงไวโอลินสอดประสานเข้ามา แล้วช่วงท้ายก็จะมีเครื่องสายอื่นๆร่วมด้วยช่วยกัน
นี่เป็นบทเพลงแนะนำเจ้าชาย ซึ่งมีกลิ่นอาย Baroque (แต่จะเรียกว่าเจ้าชายในสไตล์คลาสสิก ก็ไม่ต่างกันมาก) รูปหล่อ นิสัยดี ขี้เหงาเอาใจ อยากได้อะไรต้องได้ ตกหลุมรักหญิงสาวไม่ได้จากรูปลักษณ์ภายนอก แต่ความงดงามของจิตใจ
นำบทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดของหนังมาเลยก็แล้วกัน Recette pour un cake d’amour (แปลว่า Recipe for a Love Cake) ผมเรียกว่า ‘เค้กเจ้าหญิง’ ต่อให้ฟังภาษาฝรั่งเศสไม่รู้เรื่อง แค่ได้ยินเสียง Anne Germain (ขับร้องแทน Catherine Deneuve) เพียงท่อนแรกก็ชวนให้อมยิ้มหวาน เต็มไปด้วยลูกเล่น หยอกล้อกับผู้ฟัง เข้าจังหวะขณะเจ้าหญิงกำลังคลุกเคล้าส่วนผสมขนมเค้ก ตอกไข่ ใส่น้ำตาล มีความน่ารัก หวานแหวว รู้สึกเพลิดเพลิน อิ่มเอิบหัวใจ
Donkey Skin นำเสนอเรื่องราวความรักในสองรูปแบบ
- ความรักของพระราชาต่อพระธิดา ที่สนเพียงสิริรูปโฉมงดงามกว่าอดีตพระชายา พยายามตอบสนองมอบสิ่งของโน่นนี่นั่น แต่กลับไม่เคยครุ่นคิดถึงความต้องการแท้จริงของเธอเลยสักครั้ง
- ความรักของเจ้าชายต่อ Donkey Skin ไม่สนรูปโฉมที่มีความอัปลักษณ์ แต่หลงใหลในขนมเค้กที่รับประทาน … เอาว่าสนในความงดงามที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจของหญิงสาว
หลายคนน่าจะรู้สึกมักคุ้นเคยเรื่องราว ที่มีความละม้ายคล้าย Beauty and the Beast คลุกเคล้า Cinderella แฝงข้อคิดเกี่ยวกับความรักควรเกิดจากความรู้สึกภายใน ไม่ใช่ลุ่มหลงใหลรูปร่างหน้าตา แม้เปลือกภายนอกอัปลักษณ์พิศดาร แต่จิตใจอาจซุกซ่อนเร้นความงดงาม หรือเจ้าหญิงปลอมตัวมา
ความพยายามของนางฟ้าแม่ทูนหัว มองผิวเผินเหมือนต้องการเสี้ยมสอนข้อคิดอะไรบางสิ่งอย่างต่อผู้ชม/เจ้าหญิง (ว่าบุตรสาวไม่ควรแต่งงานกับบิดา) แต่กลับซุกซ่อนเร้นตัณหาของตนเอง โดยไม่สนศีลธรรม มโนธรรม ผิดชอบชั่วดี เพียงต้องการครองคู่แต่งงานพระราชา แบบนี้ผมรู้สึกว่าแม้งโคตร Ugly Ending เลยนะ!
คำแนะนำของนางฟ้าแม่ทูนหัว ยังสะท้อนถึงอิทธิพลของผู้ใหญ่ที่มีต่อคนรุ่นหลัง ครอบครัวต่อลูกหลาน รัฐบาลต่อประชาชน ที่พยายามควบคุมครอบงำ ชี้ชักนำทาง (ว่าไปก็คล้ายๆตัวละครของแม่ใน The Umbrellas of Cherbourg (1964)) ซึ่งคนหนุ่ม-สาว ยังไม่เติบโตพอจะครุ่นคิด เรียนรู้การโต้ตอบ ขัดขืนกลับ จึงจำเป็นต้องน้อมรับ ปฏิบัติตามคำสั่ง แม้ขัดต่อความต้องการของหัวใจ
หลังจากเจ้าหญิงได้กลายเป็น Donkey Skin ราวกับเธอได้อิสรภาพของชีวิต สามารถครุ่นคิด ตัดสินใจ ทำอะไรๆได้ด้วยตนเอง ไม่ถูกควบคุมครอบงำจากใคร ซึ่งหนังจงใจทำเหมือนเธอเป็นผู้บงการ วางแผนทุกสิ่งอย่าง (เหมือนที่นางฟ้าแม่ทูนหัว เคยกระทำต่อตน) ตั้งแต่ล่อลวงให้เจ้าชายมายังกระท่อมกลางป่า พบเห็นความงดงามของตน หรือจงใจใส่แหวนลงก้อนเค้ก จุดประสงค์เพื่อให้เขาตกหลุมรัก ป่าวประกาศแต่งงานกับหญิงสาวเจ้าของแหวนวงนั้น … ไดเรคชั่นดังกล่าวอาจต้องการสื่อว่า หญิงสาวควรมีสิทธิ์เท่าเทียมในการตกหลุมรัก เลือกคู่ครองของตนเอง ไม่ใช่เหมือนพระบิดาที่พยายามบีบบังคับให้เธอต้องแต่งงาน (กับพระองค์เอง)
กลับมาที่ประเด็น Incest จากผลลัพท์สุดท้ายของหนัง (ที่นางฟ้าแม่ทูนหัวได้ครอบครองพระราชา) สะท้อนทัศนคติของผู้กำกับ Demy มองว่า ‘sexual taboo’ หาใช่ข้ออ้างทางศีลธรรม มโนธรรม แค่เป็นเพียงคำกล่าวอ้าง (ของนางฟ้าแม่ทูนหัว) เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น (เมื่อไม่สามารถแต่งงานกับเจ้าหญิง ตนเองก็จะได้สวมรอยเข้าแทนที่)
แต่ผู้กำกับ Demy ก็ไม่เห็นด้วยกับ Incest ในเชิงรูปธรรมนะครับ เพราะเขาเข้าใจเหตุผลทางพันธุกรรม มีโอกาสทำให้ลูกหลานผิดปกติทางร่างกาย/จิตใจ … ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่เคยเกินเลยเถิดกับลูกๆของตนเองเลยนะ!
ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ผู้กำกับ Demy ให้ความสนใจคืออีก ‘sexual taboo’ ในประเด็นรักร่วมเพศ ชาย-ชาย หญิง-หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคม(สมัยนั้น)ก็ยังยินยอมรับไม่ได้ ด้วยคำถามเดียวกันมันผิดอะไร? นั่นเพราะคำกล่าวอ้างของบุคคลผู้มีอิทธิพล สังคม ศาสนา ขัดแย้งต่อสามัญสำนักของมนุษย์ เท่านั้นเองหรือ?
ความรักสีรุ้งของผู้กำกับ Demy ชัดเจนมากๆกับฉากสุดท้าย แม้เจ้าหญิงจะได้อภิเสกสมรสกับเจ้าชาย แต่ก็ยังส่งสายตาแสดงความผิดหวังต่อนางฟ้าแม่ทูนหัวที่ได้ครองรักกับพระราชา เพราะเธอกลายเป็นยัยร่านที่พร้อมเอาหมด ทั้งเจ้าชายและพระราชา (จะมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของ Bisexual ก็ไม่ผิดอะไร)
หนังเข้าฉายในฝรั่งเศสช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปลายปี 1970 มีเด็กๆพร้อมผู้ปกครองออกมารับชมมากมาย แม้เสียงตอบรับจะกลางๆ แต่ยอดจำหน่ายตั๋วพุ่งสูงกว่า 2 ล้านใบ! (สูงสุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของผู้กำกับ Demy นับเฉพาะในฝรั่งเศส) แต่เมื่อส่งออกต่างประเทศกลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่
ปล. แม้ว่า The Umbrellas of Cherbourg (1964) จะได้รับความนิยมในฝรั่งเศสน้อยกว่า Donkey Skin (1970) แต่รายรับทั่วโลกเหมือนจะมากกว่า/สูงที่สุดของผู้กำกับ Jacques Demy
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (digital restoration) คุณภาพ 2K พร้อมเสียง 5.1ch surround จัดจำหน่าย DVD โดย Koch-Lorber Films และสามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel
ปล. Donkey Skin (1970) เคยได้เข้าฉายเมืองไทยระหว่าง 22 ม.ค. – 7 ก.พ. 2564 ณ Bangkok Screening Room
โดยส่วนตัวชื่นชอบครี่งแรกของหนังมากๆ สร้างความกระอักกระอ่วน กระวนกระวาย เปิดประเด็นต้องห้าม นำเสนอผ่านตัวละครได้อย่างสนใจ แต่ครี่งหลังราวกับภาพยนตร์คนละเรื่อง เอื่อยเฉื่อย น่าเบื่อหน่าย ถ้าไม่เพราะบทเพลงทำขนมเค้กที่ทำให้ผมตื่นขี้นมาอมยิ้ม แล้วก็เซ็งเป็ด หน้าบูดเล็กๆ(แบบเจ้าหญิง) เพราะรวบรัดตัดตอนจบ ซะงั้น!
บอกตามตรง ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าหนังเรื่องนี้เหมาะกับเด็กเล็กหรือไม่ แต่สำหรับผู้ใหญ่น่าจะมีสาระประโยชน์อยู่บ้าง ให้รู้จักการควบคุม’ตัณหา’ของตนเอง ตั้งคำถามถีงความถูกต้องเหมาะสม ศีลธรรม มโนธรรม เสมอภาคเท่าเทียมของคนในสังคม และการแสดงออกความรักที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร
จัดเรต 15+ จากความพยายาม Incest ของพระราชา ต้องการอภิเสพสมรสกับเจ้าหญิง
Leave a Reply