Peppermint Candy (1999) Korean : Lee Chang-dong ♥♥♥♥♡

(1/9/2024) หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับ Lee Chang-dong นำพาผู้ชมค่อยๆย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต (Reverse Chronology) เพื่อเปิดเผยประวัติความรุนแรง (History of Violence) บาดแผลทางใจของประเทศเกาหลีใต้

บางคนชอบพูดว่าอดีตคือสิ่งบังเกิดขึ้น พานผ่านไปแล้ว อย่างเสียเวลาครุ่นคิดให้มันมาก มองอนาคตวันข้างหน้าจะดีกว่า! แต่ก็มีบางคนบอกว่าอดีตคือประสบการณ์ เราควรหวนทบทวน ศึกษาเรียนรู้สำหรับพัฒนาตนเอง เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์(ผิดพลาด)ซ้ำรอยเดิม … ไม่มีใครตอบได้นะครับว่าแบบไหนถูกต้องดีกว่า ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ไม่จำเป็นที่เราต้องเห็นพ้องตรงกัน

Peppermint Candy was made in 1999, just before the new millennium. While everyone was talking about what the future held, I wished to make a film about going back to the past.

Lee Chang-dong

Peppermint Candy (1999) หนึ่งในผลงานมาสเตอร์พีซเรื่องสุดท้ายแห่งศตวรรษที่ 20 ตามคำบอกกล่าวของผกก. Lee Chang-dong แทนที่เราจะครุ่นคิดจินตนาการถึงอนาคตยังมาไม่ถึง นี่คือช่วงเวลาทบทวนตนเอง มองย้อนเหตุการณ์จากอดีต มีอะไรสามารถนำมาเป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นใหม่ในสหัสวรรษถัดไป

เอาจริงๆเราไม่จำเป็นต้องรับรู้อะไรเกี่ยวกับเกาหลีใต้มาก่อน ก็ยังสามารถทำความเข้าใจหนัง แต่ผมอยากแนะนำให้ศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1979-99 จักช่วยมองเห็นความสัมพันธ์อันลุ่มลึกล้ำระหว่างเรื่องราว-ตัวละคร ตระหนักถึงความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ ตราตรึงใจไม่ด้อยไปกว่า Burning (2018)

เกร็ด: มีภาพยนตร์อยู่ประมาณ 4 เรื่องที่ประสบความสำเร็จกับการดำเนินเรื่องแบบ ‘Reverse Chronology’ เปิดเผยเหตุการณ์ในปัจจุบัน แล้วค่อยๆย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต และสิ้นสุดลงตรงจุดเริ่มต้น Je t’aime, je t’aime (1968), Peppermint Candy (1999), Memento (2000) และ Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004)


ประวัติศาสตร์เกาหลียุคใหม่ เริ่มต้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่นล่าถอยกลับประเทศ ทำให้ดินแดนแถบคาบสมุทรเกาหลีได้รับเอกราช สามารถร่างรัฐธรรมนูญ จัดการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยประธานาธิบดีคนแรก Rhee Syngman ชนะการเลือกตั้งวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 แสดงวิสัยทัศน์ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ (จากจีน) ซึ่งไม่นานนักนำประเทศเข้าสู่สงคราม Korean War (1950-53) แบ่งแยกออกเป็นเหนือ-ใต้

แรกเริ่มนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้ 3 สมัย แต่หลังคว้าชัยการเลือกตั้งสมัยสุดท้าย ค.ศ. 1956 เพราะยังหลงระเริงในอำนาจ Rhee Syngman จึงแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต้องระบุครั้งในการเป็นปธน. ซึ่งการเลือกตั้งครั้งถัดมา ค.ศ. 1960 ก็ยังคงได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงนักศึกษา นำสู่การปฏิวัติเดือนเมษายน ค.ศ. 1960 และเหตุการณ์รัฐประหาร 16 พฤษภาคมในปีเดียวกัน

ต่อมา Yun Po-sun ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนที่สอง แต่ด้วยความกระหายในเผด็จการเช่นกัน เปลี่ยนรัฐมนตรีถึงสามครั้งในรอบห้าเดือน พลเอก Park Chung Hee จึงทำการรัฐประหารวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 แล้วแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่สามตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 ปกครองประเทศความเผด็จการ บังคับใช้กฎอันเข้มงวดจนถูกลอบสังหารวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1979

การเสียชีวิตของ Park Chung Hee ทำให้มีการเร่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่สี่ Choi Kyu-hah แต่ไม่ทันไรก็ถูกพลเอก Chun Doo-hwan ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจกองทัพในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1979 สร้างข่าวลือ ออกกฎอัยการศึก ทำให้เกิดการชุมนุมนักศึกษา ก่อนบังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ Gwangju Uprising ระหว่างวันที่ 18-27 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 เป็นเหตุให้ Choi Kyu-hah ต้องจำยอมลาออกจากตำแหน่ง และพลเอก Chun Doo-hwan ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ห้าในปีเดียวกัน

พลเอก Chun Doo-hwan ยังคงปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหาร บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พอหมดวาระก็ส่งไม้ต่อให้ทายาท/เพื่อนสนิท Roh Tae-woo แต่ทว่าอีกฝ่ายกลับมีแนวทางแตกต่าง ให้คำมั่นประชาชนว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ยกเลิกกฎอัยการศึก ปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเฉพาะมอบคืนสิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีกับประชาชน ผลลัพท์ทำให้ได้รับชัยชนะอย่างฉิวเฉียดวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1987 … นี่เลยถือเป็นจุดสิ้นสุดการปกครองเผด็จการทหารในเกาหลีใต้โดยพลัน

หมดจากยุคสมัย Roh Tae-woo (ดำรงตำแหน่ง 1988-93) ก็ก้าวสู่ Kim Young-sam (ดำรงตำแหน่ง 1993-98) ได้รับชัยชนะในฐานะประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกในรอบหลายสิบปี! มีความกระตือรือร้นรื้อฟื้นคดีความเหตุการณ์สังหารหมู่ Gwangju Uprising และจัดตั้งโครงการต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขุดคุ้ยเปิดโปงความคอรัปชั่นของอดีตปธน. Chun Doo-hwan และ Roh Tae-woo จนได้รับการตัดสินโทษทัณฑ์ตามกฎหมายบ้านเมือง

และปี ค.ศ. 1997 การมาถึงของวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย หรือที่คนไทยเรียกติดปาก “วิกฤตต้มยำ” เกาหลีใต้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะยังอยู่ในช่วงกำลังฟื้นฟูประเทศ นักธุรกิจนำเงินมาลงทุน แต่การจัดการ/เสถียรภาพรัฐบาลยังไม่มั่นคงสักเท่าไหร่ พบเห็นเด่นชัดกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อพาร์ทเม้นท์สูงใหญ่ ขยายตัวเกินกว่าความต้องการของประชาชน สัดส่วนหนี้สูงขึ้น ค่าเงินเลยตกต่ำลง บริษัทจำนวนมากต้องประกาศล้มละลาย เศรษฐกิจประเทศแทบจะล่มสลาย … พอดิบพอดีกับช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประธานาธิบดีคนใหม่ Kim Dae-jung (ดำรงตำแหน่ง 1998-2003) ต้องเข้ามาผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างแน่วแน่ จนสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่ง


Lee Chang-dong, 이창동 (เกิดปี ค.ศ. 1954) นักเขียนนวนิยาย/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Daegu, North Gyeongsang (เมืองที่ขึ้นชื่อในความขวาจัด/อนุรักษ์นิยม) ในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง (Lower-Middle Class) ตระกูลขุนนางเก่า (Ex-Nobel) แต่ทว่าบิดากลับฝักใฝ่การเมืองฝั่งซ้าย (Socialist) มากด้วยอุดมการณ์ (Idealist) ปฏิเสธทำการทำงาน บีบบังคับให้ภรรยาต้องทำงานหนักหาเลี้ยงครอบครัว

โตขึ้นเข้าศึกษาต่อวรรณกรรมเกาหลี Kyungpook National University จบออกมาทำงานละคอนเวที ครูสอนหนังสือโรงเรียนมัธยมปลาย ตีพิมพ์นวนิยายเล่มแรก 戰利, Chonri (1983) ได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ Park Kwang-su ชักชวนมาร่วมพัฒนาบทหนัง To the Starry Island (1993), A Single Spark (1995)

แม้ไม่เคยฝึกฝนร่ำเรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ แต่ประสบการณ์จากการกำกับ/เขียนบทละคอนเวที และตอนร่วมงานผกก. Park Kwang-su ยังขอติดตาม เรียนรู้งานในกองถ่าย เครดิตผู้ช่วยผู้กำกับ (First Assistant Director) จึงได้รับการผลักดันจนโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Green Fish (1997)

I have always believed in and wanted to create films that reflect the reality we are living in… The perpetual inquiry I hold as a filmmaker is how much a film can mirror and question the reality of our lives.

Lee Chang-dong

สำหรับ Peppermint Candy (1999) มีจุดเริ่มต้นจากวันธรรมดาๆหนึ่งของผกก. Lee Chang-dong ระหว่างกำลังโกนหนวดในห้องน้ำ จับจ้องมองหน้าที่เต็มไปด้วยริ้วรอยวัยกลางคน ครุ่นคิดอยากหวนย้อนเวลากลับไปเป็นหนุ่มเมื่อ 20 ปีก่อน แน่นอนว่าชีวิตจริงทำไม่ได้ แต่ภาพยนตร์คือสื่อแห่งความเป็นไปได้!

The idea came from a very small moment in my life. One day, I was looking at my middle-aged face in the bathroom mirror while shaving, and felt the desire to go back to my youth 20 years ago. Though it is impossible in reality, I felt that I could realize it through a film. Then, I had an image of a man standing in front of an oncoming train as if he was trying to stop it. I usually think of the narrative first, but some images come with the story itself. Those specific images are the power that takes the story to different places.

สิ่งแรกที่ผกก. Lee Chang-dong ครุ่นคิดขึ้นก็คือภาพชายคนหนึ่งยืนอยู่กลางรางรถไฟ กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหา ขบวนรถไฟเคลื่อนเข้ามา เหมือนเขาพยายามจะหยุดยับยั้ง แต่ก็เหมือนสายน้ำและกาลเวลาที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง … จากภาพดังกล่าว เรื่องราวจักเริ่มดำเนินถอยหลัง

Sol Kyung-gu, 설경구 (เกิดปี ค.ศ. 1967) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Seocheon, South Chungcheong Province ก่อนย้ายมา Mapo District, Seoul บิดาทำงานข้าราชการ คาดหวังให้บุตรชายเรียนต่อวิศวกรรม แต่กลับเลือกสาขาภาพยนตร์และการละคอน Hanyang University จบออกมามีโอกาสแสดง/กำกับละคอนเวทีหลายเรื่อง แล้วเริ่มรับงานโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก A Petal (1996), แจ้งเกิดกับ Peppermint Candy (1999), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ I Wish I Had a Wife (2001), Oasis (2002), Public Enemy (2002-08), Silmido (2003), Hope (2013), Memoir of a Murderer (2017), The Book of Fish (2021), Kingmaker (2022) ฯ

รับบท Kim Young-ho ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เป็นคนเงียบๆ เหนียงอาย หลงใหลการถ่ายภาพ ตกหลุมรัก Hong-ja แต่ระหว่างฝึกทหารในช่วงคาบเกี่ยว Gwangju Uprising พลั้งพลาดเข่นฆ่าคนตาย กลายเป็นตราบาปฝังใจ เลยพยายามดิ้นหลบหนี ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง สมัครเป็นตำรวจ มีชื่อเสียงจากการทรมานผู้ต้องสงสัย แต่งงานกับแฟนสาวคนใหม่ Yun Sun-im ถึงอย่างนั้นชีวิตครอบครัวกลับไม่ราบรื่นสักเท่าไหร่ ต่างฝ่ายต่างคบชู้นอกใจ เปลี่ยนมาทำงานบริษัท ช่วงวิกฤตการณ์การเงินทำให้บริษัทล้มละลาย หย่าร้างภรรยา ชีวิตไม่หลงเหลืออะไร จึงตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต

ตอนแรกเห็นว่า Sol Kyung-gu มาออดิชั่นไม่ผ่าน แต่ภรรยาของผกก. Lee Chang-dong จดจำอีกฝ่ายจากละคอนเวที Confession เลยบอกกับสามีว่าเป็นนักแสดงมีฝีมือ เลยมีโอกาสทดสอบหน้ากล้องอีกครั้ง

Unlike other actors, I rather liked that he hesitated and said that he had no confidence. He looked weak in charisma with an ordinary mask, but his face was different every time I saw him, and that seemed to enable him to express various colors as well as good and evil, so he was cast.

Lee Chang-dong กล่าวถึง Sol Kyung-gu

ตอนยังหนุ่มๆ โกนหนวด ตัดผมสั้น Sol Kyung-gu ดูเป็นคนแทบไม่มี Charisma ท่าทางทึ่มๆทื่อๆ ละอ่อนวัย ไร้เดียงสา หน้าตาธรรมดาๆ ไม่น่าจะมีโอกาสรับบทพระเอกเสียด้วยซ้ำ! แต่พอไว้หนวดเครา ปล่อยผมยาว ราวกับคนละคน หน้าตาเคร่งครึม จริงจัง เต็มไปด้วยความเก็บกดอัดอั้น พร้อมระเบิดอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่ง

ด้วยความที่หนังเต็มไปด้วย ‘Time Skip’ กระโดดถอยหลังไปตามช่วงเวลาต่างๆ ผู้ชมจึงพบเห็นวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของตัวละครอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทาง แต่ยังความครุ่นคิด สภาพจิตใจ ผันแปรเปลี่ยนตามอิทธิพลแวดล้อมรอบข้าง เหตุการณ์ความรุนแรงสร้างรอยบาดแผลภายใน และการตัดสินใจของแต่ละช่วงเวลาล้วนส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งอย่าง

แม้หน้าตาจะธรรมดาๆ แต่ทว่า Sol Kyung-gu เป็นนักแสดงที่มีความครบเครื่อง หลากหลาย ถ่ายทอดได้แทบทุกอารมณ์ (เรียกได้ว่า ‘jack-of-all-trade’) บทบาทนี้ถือว่าเปิดประตูสู่วงการภาพยนตร์ ซึ่งผมอยากแนะนำต่อกับ Oasis (2002) ผลงานที่ส่งให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า


ถ่ายภาพโดย Kim Hyung-koo, 김형구 (เกิดปี 1960) สัญชาติเกาหลี ผลงานเด่นๆ อาทิ Spring in My Hometown (1998), Peppermint Candy (1999), The Warrior (2001), Memories of Murder (2003), The Host (2006) ฯ

สำหรับคนที่ได้รับชมหนังฉบับบูรณะ น่าจะสังเกตเห็นการละเล่นกับแสงสีเขียว ละม้ายคล้าย Green Fish (1997) ช่วยสร้างสัมผัสหม่นๆ อิทธิพลจากเผด็จการทหาร (สีเขียวคือสีเครื่องแบบทหาร) ที่คอยปกคลุม ส่งผลกระทบจากอดีตถึงปัจจุบัน อาจจะมีแค่ปิกนิกริมแม่น้ำตอนสุดท้ายที่สว่างสดใส (เพราะตัวละครยังบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ไม่ได้พานผ่านเหตุการณ์เลวร้ายที่สร้างบาดแผลทางใจ)

ระหว่างที่ผมค้นหาข้อมูลสถานที่ถ่ายทำ ทีแรกก็ไม่คิดว่าจะมีแห่งหนไหนหลงเหลือสภาพเดิมถึงปัจจุบัน จนกระทั่งพบเจอบริเวณที่ใช้ปิกนิก ริมแม่น้ำ ใต้ทางรถไฟ ไม่รู้เป็นอุทยานหรืออย่างไรถึงมีการอนุรักษ์ไว้ แถมขึ้นป้ายระบุเคยใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ … ตั้งอยู่ยัง Jinso Village (진소마을), Baekun-myeon (백운면), นคร Jecheon, จังหวัด North Chungcheong

LINK: https://www.koreatriptips.com/tourist-attractions/2789672.html
LINK: https://blog.naver.com/kwpjulie/171898990

หนังอาจไม่ได้มีลูกเล่นด้านการถ่ายภาพมากนัก แต่ทุกครั้งที่มีการย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต (Reverse Chronology) ใช้รถไฟคือสัญลักษณ์แทนการเดินทาง(ย้อนอดีต) ใครช่างสังเกตย่อมพบเห็นเทคนิค ‘Reverse Motion’ ถ่ายจากด้านหลังขบวนรถไฟที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้า แล้วฉายแบบถอยหลัง (จากเฟรมสุดท้ายย้อนกลับไปเฟรมแรก) ทำให้ภาพพบเห็นเหมือน(รถไฟ)กำลังดำเนินไปข้างหน้า แต่ถ้ามองทิวทัศน์สองข้างทาง หรือรถยนต์/คนวิ่งกลับกำลังเคลื่อนถอยหลัง

การเดินทางของรางรถไฟ จะเริ่มจากลอดอุโมงค์ ผ่านชุมชนเมือง เส้นทางแยก ภูเขา แม่น้ำ มาจนถึงหมู่บ้านชนบท เพื่อสื่อถึงการหวนกลับหารากเหง้า (ก่อนหน้าจะเป็นสังคมเมือง ทุกแห่งหนล้วนเคยเป็นชนบทมาก่อน)

ด้วยความที่หนังเล่าเรื่องย้อนเวลา ถอยหลังหาอดีต ซึ่งเป็นลักษณะของการ ‘Time Skip’ เราจึงพบเห็นสถานที่ต่างๆผันแปรเปลี่ยนตามยุคสมัย หนึ่งในนั้นก็คือที่อยู่อาศัยของ Kim Yong-ho ซึ่งจะค่อยๆเพิ่มระดับความสูง (ตามสถานะทางการเงิน) เริ่มจากบ้านชั้นเดียว ถนนลูกรัง → ห้องแถวบนเนิน เดินขึ้นบันไดคอนกรีต → อพาร์ทเมนท์หรูในย่านเมืองใหม่ → และเมื่อต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่าง จากสูงสุดกลับสู่สามัญ กลายเป็นคนไร้บ้าน อาศัยหลับนอนอยู่ในโรงเรือนเพาะชำ

เปปเปอร์มินต์ (Peppermint) หนึ่งในสายพันธุ์ของมินต์ (Mint) ส่วนผสมระหว่างสองสายพันธ์ Mentha aquatica (หรือ Water Mint) และ Mentha spicata (หรือ Spearmint) จุดเด่นคือมีกลิ่นหอม เย็นซ่า นิยมนำมาทำน้ำมันหอมระเหยเมนทอล ลูกอม ยาดม ช่วยสร้างความสดชื่นให้ร่างกาย (แต่บางคนก็ว่ากลิ่นเหมือนยาสีฟัน)

สำหรับ Peppermint Candy เมื่อเริ่มอมจะรู้สึกหอม สดชื่น เย็นซาบซ่า ดับกลิ่นปาก ในบริบทของหนังคือสัญลักษณ์แทนความทรงจำของ Kim Yong-ho ต่อรักครั้งแรก Yun Sun-im แม้มันจะมีช่วงเวลาเหินห่าง ความสัมพันธ์แตกร้าว แต่เขาก็ยังคงจดจำช่วงเวลาแห่งความสุข โหยหา คร่ำครวญ อยากหวนกลับไปตอนนั้นอีกสักครั้ง … จะว่าไปนัยยะของชื่อหนัง ช่างมีความละม้ายคล้าย Green Fish (1997) สิ่งที่ตัวละครหวนระลึกถึงก่อนตาย

การดึงฟีล์มออกจากม้วนสุ่มสี่สุ่มห้าแบบนี้ เป็นการทำลายภาพถ่ายที่อยู่ภายใน (มันจึงต้องล้างฟีล์มในห้องมืด เพื่อไม่ให้โดยแสงสว่าง) สอดคล้องกับช่วงเวลาแห่งการสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่างของตัวละคร กระทั่งภาพถ่ายที่หลงเหลืออยู่ในม้วนฟีล์ม ก็ยังไม่สามารถรับชมได้ว่ามีอะไรบันทึกไว้

สำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องนี้ การดึงฟีล์ม(ที่ไม่ใช่ทำลายภาพถ่าย)สามารถสื่อถึงการเปิดเผยเรื่องราว ความทรงจำ สอดคล้องการดำเนินเรื่องที่กำลังจะค่อยๆย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต พบเห็นภาพเหตุการณ์ต่างๆเคยบังเกิดขึ้น … สัญลักษณ์ของการเปิดเผยอดีต กล้องถ่ายภาพสำหรับบันทึกความทรงจำ ส่วนภาพในม้วนฟีล์ม = เรื่องราวความทรงจำ

มันช่างเป็นความขัดย้อนแย้งที่น่าหัวร่อ แต่คงไม่มีใครคำออก เพราะมันคือบรรทัดฐานของสังคมชายเป็นใหญ่ ฉันสามารถคบชู้นอกใจ แต่ไม่ใช่สำหรับภรรยาต้องเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ แสดงออกด้วยความรุนแรง เกรี้ยวกราด ไม่ต่างจากพวกเผด็จการทหารสักเท่าไหร่

  • Hong-ja (รับบทโดย Kim Yeo-jin) แอบคบชู้กับคนสอนขับรถ (การขับรถ คือหญิงสาวสามารถกำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง) พบเห็นขณะกำลังซ้อมถอยหลังเข้าซอง (สอดคล้องเข้ากับลีลาดำเนินเรื่องที่ทำการย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต)
  • Kim Yong-ho คบชู้กับเลขาสาว ร่วมรักกันในรถ (Woman-on-Top ฝ่ายหญิงเป็นคนควบคุมท่วงท่า น่าจะเป็นผู้เข้าหาเพื่อเกาะกินฝ่ายชาย) หลังกินหมูกระทะ ขณะเดินทางกลับป้อนลูกอม Peppermint ดับกลิ่นปาก

ผมเลือกสองช็อตนี้เพราะมีความแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ภรรยาขับรถสีขาว (กับชู้รัก) ตอนกลางวัน กำลังเคลื่อนถอยหลัง, สามีขับรถสีดำ (กับชู้รัก) ตอนกลางคืน กำลังขับรถไปข้างหน้า

ระหว่าง Kim Yong-ho รับประทานสุกี้กับเลขาสาว มีเด็กคนหนึ่งมุดเล่นใต้โต๊ะ ก่อนพบว่าคือบุตรชายของอดีตนักศึกษาที่เคยจับทรมานเมื่อครั้นยังเป็นตำรวจ … พฤติกรรมของเด็กชายมุดเล่นใต้โต๊ะ มันช่างลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นกับบิดาที่เคยมีพฤติกรรมลับๆล่อๆ ก่อตั้งองค์กรลับใต้ดิน สำหรับต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อตอนสอบถาม “Do you think life’s beautiful?” ทั้งสองครั้งต่างถ่ายติดโถส้วม ในห้องน้ำ ซึ่งฟังดูขัดย้อนแย้ง (เพราะห้องน้ำคือสถานที่แห่งความสกปรกโสมม) มันจึงสะท้อนมุมมองของ Kim Yong-ho ไม่เห็นว่าโลกใบนี้สวยงามตรงไหน?

It doesn’t matter. I just came… she lives here. I can walk on the same street where she’s walked. And see the same ocean that she’s looked at. The rain I’m looking is the same rain she’s looking at.

Kim Yong-ho

เพราะไม่สามารถติดตามหารักครั้งแรก คำกล่าวของ Kim Yong-ho กับหญิงสาวนิรนามจึงฟังดูโรแมนติก ชวนเคลิบเคลิ้มหลงใหล อดใจไม่ได้จะร่วมรักหลับนอน “Call me Sun-im from now on. Think you’re with Sun-im.” ก่อนจำต้องทอดทิ้งจากลา (ก็เหมือนการต้องร่ำลาจาก Yun Sun-im ตัวจริง) นี่เป็นภาพยามเช้า(ช่วงเวลา Golden Hour)ที่สร้างความเจ็บปวดรวดร้าว หัวใจแตกสลาย ผู้คนมากมาย แต่ชายคนนั้นกลับสูญหายไปชั่วนิรันดร์

ยามเช้าตรู่ Hong-ja ร้องขอให้ Kim Yong-ho ช่วยสอนปั่นจักรยาน (มุมกล้องถ่ายเข้าหาร้านอาหาร) นี่ถือว่าล้อกับตอนเธอเรียนขับรถแล้วคบชู้กับครูสอน (จักรยาน รถยนต์ รถไฟ ต่างเป็นพาหนะสำหรับใช้ในการเดินทาง)

ช่วงท้ายของตอน Kim Yong-ho (มุมกล้องถ่ายจากร้านอาหารออกไปภายนอก) หลังปฏิเสธความสัมพันธ์กับอดีตคนรัก Yun Sun-im เกิดอาการว้าวุ่นวาย หัวใจแตกสลาย พยายามระบายออกมาด้วยการปั่นจักรยานเวียนวงกลม จากนั้นขับพุ่งเข้ามาในร้าน แล้วตะโกนออกคำสั่ง เรียกร้องให้ผองเพื่อนตำรวจที่กำลังดื่มเลี้ยงฉลองยามค่ำคืน ลุกขึ้นมาตั้งแถว แบบตอนฝึกทหาร … มันไม่ใช่ว่า Kim Yong-ho เกิดอาการมึนเมาแล้วคลุ้มคลั่ง แต่คืออาการเก็บกด อดกลั้น เหตุผลที่ต้องบอกเลิกราอดีตคนรัก เพราะปมทางใจจากเมื่อตอนฝึกทหาร สร้างความเจ็บปวดรวดร้าว อับอายขายขี้หน้า จนมิอาจพบเจอ เผชิญหน้า สานสัมพันธ์กับใครได้อีก (อาการ Shell Shock, PTSD: Post-traumatic Stress Disorder)

รอยแตกร้าวของกระจกบนหัวเตียง มันช่างพอดิบพอดีกับ Kim Yong-ho ซึ่งก็สื่อความหมายตรงไปตรงมาถึงสภาพจิตใจที่แตกสลาย สูญเสียตัวตน คนรัก จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ (loss innocence) และขณะนี้ยังอาจเหมารวมถึงพรหมจรรย์ของทั้งคู่ (เพศสัมพันธ์ครั้งแรก)

Hong-ja คือหญิงสาวที่มีความเชื่อศรัทธาศาสนา(คริสต์) พบเห็นอธิษฐานขอพรพระเจ้าในช่วงเวลาสุข-ทุกข์ นี่ถือเป็นร่องรอยความสนใจของผกก. Lee Chang-dong ก่อนได้รับการพัฒนาสู่ Secret Sunshine (2007) เพื่อเปิดโปงเบื้องหลัง-ความจริงต่อบางสิ่งอย่าง

เริ่มต้นด้วย Kim Yong-ho ถูกยิงเข้าที่เท้า (บาดแผลทางร่างกาย) เลือดไหลอาบเป็นสาย จากนั้นได้รับบาดแผลทางใจจากความพลั้งพลาดกระสุนลั่นโดนนักศึกษาสาวไม่รู้อิโน่อิเหน่เสียชีวิต ประเด็นคือระหว่างที่เธอกำลังเดินเข้ามา ชั่วแวบหนึ่งพบเห็นใบหน้า Yun Sun-im (สลับนักแสดงในเงามืด) … นี่เป็นการแสดงทัศนะของผกก. Lee Chang-dong ต่อเหตุการณ์สังหารหมู่ Gwangju Uprising เปรียบเทียบผู้เสียชีวิตที่เราไม่รู้จัก แต่บุคคลนั้นอาจคือคนที่เรารัก มันจึงเป็นความอัปยศอดสู ยินยอมรับไม่ได้ เลวร้ายรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ยุคสมัยใหม่

ปล. ในหนังบอกว่าถูกยิงได้รับบาดเจ็บ แต่ท่าทางเฟอะๆฟะๆของ Kim Yong-ho มันจึงมีแนวโน้มที่เขาจะพลั้งพลาดยิงเท้าตนเอง ซึ่งนั้นเคลือบแฝงนัยยะอันลุ่มลึกล้ำ ถึงความขัดแย้งภายใน/การทำร้ายตนเองของชาวเกาหลีใต้ (Gwangju Uprising คือเหตุการณ์ที่รัฐบาลสังหารหมู่ประชาชน ไม่ได้มีศัตรูภายนอกเข้ามารุกราน)

อีกสิ่งต้องกล่าวถึง สถานที่แห่งนี้คือที่หยุดจอดขบวนรถไฟ ตลอดทั้งเรื่องพบเห็นการเดินทางของรถไฟ (สัญลักษณ์ของการย้อนเวลา หวนกลับหาอดีต) แต่ขณะนี้กลับจอดแน่นิ่ง ซึ่งอาจสื่อถึงช่วงเวลาหยุดนิ่ง ชีวิตจบสิ้น บางสิ่งอย่างภายในจิตใจ Kim Yong-ho ได้ตกตายจากไป

ตอนต้นเรื่อง ภาพแรกของ Kim Yong-ho ถ่ายมุมกว้าง กล้องค่อยๆเคลื่อนลงมาจากสะพานรถไฟเบื้องบน (เคลื่อนแนวดิ่ง) พบเห็นนอนแผ่พังพาบ สภาพหมดสิ้นเรี่ยวแรงกายใจ ชีวิตไม่หลงเหลืออะไร เหม่อมองท้องฟ้าและขบวนรถไฟอย่างหมดอาลัยตายอยาก

ตรงกันข้ามกับภาพสุดท้ายของหนัง Kim Yong-ho เดินเข้ามานอนเท้าแขนอยู่เคียงข้างวัชพืชที่ดูเหมือนดอกทานตะวัน กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลเข้าใกล้ใบหน้า (เคลื่อนแนวนอน) เหม่อมองท้องฟ้าและขบวนรถไฟ (ได้ยินเพียงเสียงขบวนรถไฟวิ่งผ่าน) สายตาเปร่งประกายความหวัง พร่ำเพ้อฝันถึงอนาคตสดใส

ตัดต่อโดย Kim Hyeon, 김현 เข้าสู่งวงการตั้งแต่ทศวรรษ 70s ผลงานเด่นๆ อาทิ The Autumn After Love (1986), Black Republic (1990), Stairway to Heaven (1992), First Love (1993), Passage to Buddha (1993), To the Starry Island (1993), The Warrior (2001), Lover’s Concerto (2002), กลายเป็นขาประจำผกก. Lee Chang-dong ตั้งแต่ Green Fish (1997) จนถึง Burning (2019)

หนังแบ่งเรื่องราวออกเป็น 7 ส่วน (คั่นแบ่งด้วยชื่อตอนและช่วงเวลา) เกาะติดตามชีวิตของ Kim Young-ho เริ่มต้นตอนอายุประมาณ 40 ท่าทางคลุ้มคลั่ง แทบมิอาจอดกลั้น เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด พยายามกระทำอัตวินิบาต จากนั้นเกิดการย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต (Reverse Chronology) ประกอบภาพขบวนรถไฟแล่นถอยหลัง (Reverse Motion)

  • Outdoor Excursion, Spring 1999 ชายวัยกลางคน Kim Young-ho ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย จับพลัดจับพลูพบเจอเพื่อนเก่าในงานเลี้ยงรุ่น แต่เขากลับไม่สนใจอะไรใคร เพียงครุ่นคิดอยากจะฆ่าตัวตายให้ขบวนรถไฟพุ่งชน
  • The Camera, 3 days ago, Spring 1999 สามวันก่อน Kim Young-ho ขอซื้อปืนผิดกฎหมาย ตั้งใจล้างแค้นเพื่อนสนิทที่ทรยศหักหลัง บริษัทล้มละลาย ภรรยาฟ้องหย่า และโดยไม่รู้ตัวสามีของแฟนเก่า Yun Sun-im ร้องขอให้เขาเดินทางมาเยี่ยมเยียนที่โรงพยาบาลหลังประสบอุบัติเหตุ อาการโคม่า
    • อิทธิพลจากวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย ค.ศ. 1997 ทำให้บริษัทล้มละลาย เศรษฐกิจแทบล่มสลาย
  • Life is Beautiful, Summer 1994 มอบผิวเผิน Kim Young-ho เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่ภรรยา Hong-ja กลับแอบคนชู้นอกใจ จับได้คาหนังคาเขา แสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจ ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวก็ไม่ได้ดีเด่นกว่ากันนัก แอบสานสัมพันธ์กับผู้ช่วยสาวสวย, สิ้นสุดตอนนี้ด้วยงานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ แต่ความสัมพันธ์สามี-ภรรยากลับแตกละเอียด
    • ขึ้นบ้านใหม่ = เลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่, ทั้งสามี-ภรรยาต่างคบชู้นอกใจ = ปธน. Kim Young-sam ริเริ่มโครงการต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขุดคุ้ยเปิดโปงความคอรัปชั่นของอดีตปธน. Chun Doo-hwan และ Roh Tae-woo
  • Confession, Spring 1987 ระหว่างภรรยาใกล้จะคลอดบุตร Kim Young-ho หมกมุ่นอยู่กับการทรมานนักโทษ แล้วออกเดินทางสู่ Kunsan บ้านเกิดของแฟนเก่า Sun-im ระหว่างรอจับผู้ต้องสงสัย ได้พบเจอหญิงสาวคนหนึ่ง พูดคุยถูกคอ เรียกร้องขอให้ร่วมรักหลับนอน (One Night Stand)
    • การลงจากอำนาจของพลเอก Chun Doo-hwan กำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ Roh Tae-woo ประกาศจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตย
  • Prayer, Fall 1984 ตำรวจหน้าใหม่ Kim Young-ho ได้รับการท้าทายจากรุ่นพี่ให้ลงมือทรมานผู้ต้องสงสัย ขณะเดียวกันลูกสาวเจ้าของร้านอาหาร Yun Sun-im ขอให้ช่วยสอนปั่นจักรยาน และวันหนึ่ง Sun-im เดินทางมาพบเจอ แต่เขากลับปฏิเสธที่จะสานสัมพันธ์
    • ยุคสมัยของพลเอก Chun Doo-hwan ปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหาร ใช้ความรุนแรงกับบรรดานักศึกษาที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย
  • Military Visit, May 1980 ระหว่างการฝึกทหาร Sun-im พยายามจะเข้าเยี่ยม Kim Young-ho แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ เพราะมีการประกาศสภาวะฉุกเฉิน และเขาถูกมอบหมายให้โจมตีกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยระหว่าง Gwangju Uprising
    • ตรงกับเหตุการณ์สังหารหมู่ 1980 Gwangju Uprising
  • Picnic, Fall 1979 นักศึกษาหนุ่ม Kim Young-ho รวมกลุ่มกับเพื่อนนักศึกษา เดินทางมาปิกนิกริมแม่น้ำ ตกหลุมรัก Sun-im ได้รับของขวัญลูกอมเปปเปอร์มินต์
    • พลเอก Park Chung Hee ถูกลอบสังหาร ทำให้ประชาชนบังเกิดความหวังขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ นักการเมืองพยายามเร่งร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่

เพลงประกอบโดย Lee Jae-jin, 이재진 (เกิดปี 1971) เดินทางไปร่ำเรียนดนตรียัง Berklee College of Music กลับมาก่อตั้ง Studio FAME ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ Peppermint Candy (1999), Failan (2001), Oasis (2002) ฯ

ในส่วนของงานเพลง ทำการผสมผสานดนตรีป็อปร่วมสมัย (เสียงกลองชุดคลอประกอบพื้นหลัง) เข้ากับเครื่องดนตรีคลาสสิก (ไวโอลิน โอโบ บรรเลงเสียงหลัก) มันอาจฟังดูขัดแย้ง แต่สามารถคลุกเคล้าเข้ากันได้อย่างกลมกล่อม เหมือนอดีต-ปัจจุบัน หนังดำเนินไปข้างหน้า-แต่เล่าเรื่องราวแบบถอยหลัง

사진기 (แปลว่า Camera) เป็นบทเพลงที่มีทำนองเดียวกับ Main Theme แต่เปลี่ยนจากเครื่องสาย (ไวโอลิน/วิโอลา) มาเป็นเครื่องเป่า (โอโบ) สามารถสร้างสัมผัสแตกต่าง ฟังดูเจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ บางสิ่งอย่างอัดอั้นภายในอยากจะระเบิดระบายออกมา นั่นเพราะกล้องถ่ายรูปมันเคยเป็นความเพ้อใฝ่ฝัน (ความฝันของ Kim Yong-ho ที่อยากเป็นช่างภาพ) ก่อนแปรสภาพสู่ความทรงจำอันเจ็บปวด (Yun Sun-im เก็บเงินซื้อเป็นของขวัญ แต่ทว่า Kim Yong-ho กลับไม่ยินยอมรับ) และครั้งสุดท้ายกลายเป็นความคลุ้มบ้าคลั่ง (Kim Yong-ho ได้รับหลังจาก Yun Sun-im สภาพโคม่าใกล้ตาย)

과거로 가는 기차 (แปลว่า Train to the Past) มีบรรยากาศเศร้าๆ เหงาๆ โดยเฉพาะเสียง Oboe (บางครั้งก็ English Horn) มอบสัมผัสโหยหวน คร่ำครวญ พร่ำเพ้อถึงบางสิ่งอย่างในอดีต ต้องการย้อนเวลากลับไป ความผิดพลาดจากการตัดสินใจครั้งนั้น ถ้าฉันเลือกอีกอย่างหนึ่ง ทิศทางชีวิตคงแตกต่างจากปัจจุบันที่เป็นอยู่

อีกบทเพลงไฮไลท์ชื่อว่า 나어떡해 อ่านว่า Na Ottoke แปลว่า What Should I Do? แต่ง/ขับร้องโดย 산울림, Sanulrim หนึ่งในวงร็อคทรงอิทธิพลที่สุดในเกาหลีใต้! รวมอยู่ในอัลบัม Volume 2: Spread Silk on My Heart (내 마음에 주단을 깔고) วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 1978 ท่วงทำนองคละคลุ้งกลิ่นอาย Psychedelic Rock เนื้อคำร้องก็เต็มไปด้วยถ้อยคำพร่ำเพ้อรำพัน เธอทิ้งฉันไป แล้วจากนี้จะให้ทำยังไง?

ต้นฉบับเกาหลีคำแปลอังกฤษ
나 어떡해 너 갑자기 가버리면
나 어떡해 너를 잃고 살아갈까
나 어떡해 나를 두고 떠나가면
그건 안돼 정말 안돼 가지 마라

누구 몰래 다짐했던 비밀 있었나

다정했던 네가 상냥했던 네가
그럴 수 있나
못 믿겠어 떠난다는 그 말을
안 듣겠어 안녕이란 그 말을

다정했던 네가 상냥했던 네가
그럴 수 있나
못 믿겠어 떠난다는 그 말을
안 듣겠어 안녕이란 그 말을

나 어떡해 나 어떡해
나 어떡해 나 어떡해
나 어떡해 나 어떡해
나 어떡해 나 어떡해
나 어떡해 나 어떡해
나 어떡해 나 어떡해
나 어떡해
What should I do if you suddenly leave?
What should I do if I lose you and live?
What should I do if you leave me?
That can’t be, really, don’t go.

Was there a secret you promised to no one?

The affectionate you, the kind you
Can you do that?
I can’t believe those words, that you’re leaving
I won’t listen to those words, goodbye

The affectionate you, the kind you
Can you do that?
I can’t believe those words, that you’re leaving
I won’t listen to those words, goodbye

What should I do, what should I do
What should I do, what should I do
What should I do, what should I do
What should I do, what should I do
What should I do, what should I do
What should I do, what should I do
What should I do

ได้ยินครั้งแรกตอนต้นเรื่อง Kim Yong-ho แหกปากตะโกนร้องลั่น เต็มไปด้วยความอัดอั้น แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง ชีวิตฉันไร้หนทางออก หันไปไหนก็พบเจอแต่หนทางตัน แล้วจะให้ฉันทำยังไง? What Should I Do? อยู่ไปก็ไม่มีความหมายอะไร

ส่วนครั้งสุดท้ายได้ยิน กลุ่มนักศึกษาหน้าใส ร่วมกันขับร้องเพลงนี้ด้วยประกายแห่งความหวัง วาดฝันอนาคตสวยหรู แม้ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรยังไง What Should I Do? ถึงอย่างนั้นผู้ชม (รวมถึงผมเอง) กลับแทบมิอาจกลั้นหลั่งธารน้ำตา เพราะรับรู้ว่าอนาคตมันช่างมืดหม่น อับจน พบเจอเพียงความสิ้นหวัง

ผมนึกถึงภาพยนตร์ของผู้กำกับ Claude Chabrol ที่เพิ่งเขียนถึงเมื่อไม่นานนี้ มักเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ความรุนแรง สามารถคาดเดา/รับรู้ได้ว่าใครคือฆาตกร เพื่อว่าแทนที่ผู้ชมจะเสียเวลาครุ่นคิดค้นหา whodunit? ก็เปลี่ยนมาเป็นทำความใจสาเหตุผล ที่มาที่ไป เพราะเหตุใด? ทำไมถึงกระทำสิ่งเลวร้ายเหล่านั้น?

I want the audience to know who the murderer is, so that we can consider his personality.

Claude Chabrol

Peppermint Candy (1999) มีแนวคิดละม้ายคล้ายกัน เริ่มต้นที่ตอนจบ ปีปัจจุบัน(นั้น) แสดงให้เห็นผลลัพท์ สภาพสิ้นหวังของชายวัยกลางคน จากนั้นทำการย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต เพื่อขุดคุ้ยสาเหตุผล ค้นหาที่มาที่ไป เพราะเหตุใด? ทำไม? มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร?

We live making countless choices in our own time. And if you look back at the time in reverse order, that is, if you look back already knowing the result, you can see the terrifying meaning of the choices that led to that result. Not only personal history but also the history of a nation is the result of choices… I wanted audiences, especially young audiences, to feel the meaning of choices that we make at countless moments in our lives.

Lee Chang-dong

Kim Yong-ho เริ่มต้นจากเป็นนักศึกษา หน้าตาสดใส วาดฝันอยากเป็นช่างถ่ายภาพ ตกหลุมรักหญิงสาวสวย Yun Sun-im แต่ระหว่างการฝึกทหาร พลั้งพลาดกระสุนลั่น ความตายของหญิงสาวคนนั้น กลายเป็นภาพติดตา บาดแผลทางใจ (รวมถึงร่างกายถูกยิงเข้าที่ขา เดินตุปัดตุเป๋ ไม่เคยรักษาหาย) นั่นคือเหตุผลทำให้เขาพยายามหลบลี้หนีหน้า ไม่ต้องการพบเจอเพื่อนเก่าใดๆ สมัครเข้าทำงานตำรวจ ระบายอารมณ์อัดอั้นด้วยการทรมานผู้ต้องสงสัย แต่งงานแฟนสาวคนใหม่ที่ไม่เคยรัก แล้วแอบคบชู้นอกใจ สุดท้ายก็ต้องหย่าร้าง กอปรกับวิกฤตเศรษฐกิจบริษัทล้มละลาย ตกอยู่ในความสิ้นหวังอาลัย … ทุกเหตุการณ์ ทุกช่วงเวลา ล้วนส่งผลกระทบ มีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง ราวกับโดมิโน่ ลูกโซ่ วิวัฒนาการให้กลายมาเป็นตัวเราในปัจจุบัน

การค่อยๆย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต จักทำให้เราเกิดสารพัดความครุ่นคิด ถ้าฉันไม่เข้าร่วมฝึกทหาร? ถ้าฉันไม่พลั้งพลาดกระสุนลั่น? ถ้าฉันตอบตกลงเธอวันนั้น? หนทางเลือกที่แตกต่าง อาจทำให้ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงไป! … แต่ในโลกความจริงไม่มีทางที่เราจะสามารถย้อนเวลากลับไปทำอะไรแบบนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงสร้างความตระหนักถึงหนทางเลือกในปัจจุบัน (meaning of choices) บางครั้งเราอาจไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจอะไร แต่อย่าผิดหวังต่อทิศทางชีวิตดำเนินไป แล้วอนาคตจักไม่ตกอยู่ในความสิ้นหวัง

ไม่ใช่แค่อดีตของบุคคล (Personal History) เรื่องราวของ Peppermint Candy (1999) ยังสะท้อนอิทธิพลสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สภาพจิตใจประชาชน (History of a Nation) ซึ่งพื้นหลังของหนังคือประเทศเกาหลีใต้ พานผ่านช่วงเวลา 20 ปี (1979-99)

  • เอาจริงๆจะเริ่มนับตั้งแต่เกิดเลยได้ น่าจะแถวๆ ค.ศ. 1961-62 เมื่อพลเอก Park Chung Hee ทำการรัฐประหาร แล้วแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่สาม ถือเป็นจุดเริ่มต้นระบอบเผด็จการทหาร
  • ตั้งแต่พลเอก Park Chung Hee ถูกลอบสังหารวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1979 นั่นคือช่วงเวลาแห่งโอกาส วาดฝันหวานถึงอนาคตสดใส
    • ตรงกันการเดินทางไปปิกนิกของกลุ่มนักศึกษา Kim Yong-ho วาดฝันถึงอนาคตสวยหรู
  • แต่ไม่นานนักในยุคสมัยปธน. Choi Kyu-hah และพลเอก Chun Doo-hwan ยึดอำนาจกองทัพ นำสู่เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา 1980 Gwangju Uprising ถือเป็นตราบาป บาดแผลทางใจ ช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้
    • พอดิบพอดีกับการฝึกทหารของ Kim Yong-ho แล้วพลั้งพลาดกระสุนลั่นฆ่าคนตาย ได้รับบาดแผลทั้งร่างกาย(ขาเป๋)และจิตใจ
  • ในช่วงยุคสมัยของพลเอก Chun Doo-hwan มีการประกาศกฎอัยการศึก ใช้ความรุนแรงโต้ตอบกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย
    • Kim Yong-ho ตัดสินใจทอดทิ้งความฝัน ไม่ยินยอมรับของขวัญ(กล้องถ่ายรูป)ของ Yun Sun-im สมัครทำงานเป็นตำรวจ ระบายอารมณ์อัดอั้นผ่านการทรมานผู้ต้องหา และแต่งงานกับหญิงสาวที่ไม่ได้รักสักเท่าไหร่
  • แม้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่ Roh Tae-woo จะคือทายาททางการเมืองของพลเอก Chun Doo-hwan แต่ก็ยินยอมยกเลิกกฎอัยการศึกษา ปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ถือเป็นจุดสิ้นสุดยุคสมัยเผด็จการทหาร
    • แม้ว่าภรรยาใกล้คลอด แต่ทว่า Kim Yong-ho กลับไม่เคยสนใจใยดี ยังคงทำงานดึกๆดื่นๆ ไม่กลับบ้านช่อง แถมยังแอบคบชู้นอกใจ ร่วมรักหลับนอนหญิงอื่น ความผิดหวังที่ไม่ได้สานต่อ ONS (One Night Stand) กับเธอคนนั้น ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากตำรวจในเพลาถัดมา
  • การมาถึงของปธน. Kim Young-sam มีความกระตือรือร้นรื้อฟื้นคดีความเหตุการณ์สังหารหมู่ Gwangju Uprising และจัดตั้งโครงการต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขุดคุ้ยเปิดโปงความคอรัปชั่นของอดีตปธน. Chun Doo-hwan และ Roh Tae-woo จนได้รับการตัดสินโทษทัณฑ์ตามกฎหมายบ้านเมือง
    • Kim Yong-ho กลายเป็นนักธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่ชีวิตครอบครัวกลับประสบความล้มเหลว จับได้ว่าภรรยาคบชู้นอกใจ ถึงอย่างนั้นตัวเขาเองก็มิได้ดีเด่นกว่าสักเท่าไหร่
  • วิกฤตการณ์การเงินเอเชียในปี ค.ศ. 1997 ทำให้บริษัทมากมายต้องล้มละลาย ประเทศเกือบล่มสลาย
    • Kim Yong-ho ถูกโกงจนบริษัทล้มละลาย หย่าร้างภรรยา และอดีตคนรักประสบอุบัติเหตุ อาการโคม่า

ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร (Psychoanalysis) กับเรื่องราวประวัติศาสตร์ (Historiography) จริงอยู่ว่าหนังมีความจำเพาะเจาะจงต่อชาวเกาหลี(ใต้) แต่มันก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีชีวิตอยู๋ด้วยการพึ่งพาอาศัย ได้รับอิทธิพลจากสิ่งต่างๆรอบข้าง จุลภาค-มหภาค ครอบครัว-เพื่อนฝูง-สังคม-ประเทศชาติ

ประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ในช่วงครึ่งศตวรรษ 20th ถือว่าเต็มไปด้วยความรุนแรง บ้านป่าเมืองเถื่อน ชนชั้นผู้นำหลงระเริงในอำนาจ กดขี่ข่มเหงประชาชน โต้ตอบบุคคลครุ่นคิดเห็นต่าง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กระทั่งช่วงทศวรรษสุดท้ายถึงเริ่มเกิดการฟื้นฟู (Renaissance) จนกลายเป็นเสือแห่งเอเชีย แต่ยังไม่ทันที่เศรษฐกิจจะทรงตัว เคราะห์ซ้ำกรรมซัด กลับทรุดหนักเพราะวิกฤตการณ์ทางการเงิน … แต่หลังจากพานผ่านสหัสวรรษใหม่ (Millennium) เกาหลีใต้ก็พัฒนาสู่มังกรทางเศรษฐกิจอย่างเต็มตัว ถึงอย่างนั้นสันดานธาตุแท้ผู้คน กลับยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสักเท่าไหร่

เวลาผมนึกถึงภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ มักมีอัตลักษณ์/ภาพจำถึงความรุนแรง ฆ่าล้างแค้น คบชู้นอกใจ ยกตัวอย่าง Park Chan-wook (Sympathy for Mr. Vengeance (2002), Oldboy (2003)), Bong Joon-ho (Memories of Murder (2003), Parasite (2019)), Kim Ki-duk (3-Iron (2004), Pietà (2012)) ฯ นั่นแสดงถึงอิทธิพลจากประวัติความรุนแรง (History of Violence) ได้ถูกซึมซับมาหลายชั่วอายุคน … ถ้าคุณเคยรับชมผลงานของ Im Kwon-taek จักค้นพบว่าความรุนแรง พฤติกรรมคอรัปชั่นเหล่านี้ มันฝังรากลึกอยู่ใน DNA ชาวเกาหลีมาตั้งแต่ Joseon Dynasty (1392-1897)


ได้รับเลือกเข้าฉายในฐานะหนังเปิดงาน (Opening Film) เทศกาล Busan International Film Festival เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1999 เสียงตอบรับถือว่าดียอดเยี่ยม ก่อนออกฉายวงกว้างในเกาหลีใต้ วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 แล้วตระเวนออกเดินทางไปตามเทศกาลต่างๆทั่วโลก

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง เฉพาะในกรุง Seoul มีรายงานยอดจำหน่ายตั๋ว 311,000 ใบ สูงอันดับ 9 แห่งปี (นับปี ค.ศ. 2000) ถือว่าประสบความสำเร็จ และยังสามารถคว้ารางวัล Grand Bell Awards (ถือเป็น Oscar ของเกาหลีใต้) ได้มากถึง 5 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

  • Best Film **คว้ารางวัล
  • Best Director **คว้ารางวัล
  • Best Actor (Sol Kyung-gu)
  • Best New Actor (Sol Kyung-gu) **คว้ารางวัล
  • Best Supporting Actress (Kim Yeo-jin) **คว้ารางวัล
  • Best Screenplay **คว้ารางวัล

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2018 จัดจำหน่าย Blu-Ray โดยค่าย Film Movement ใครสนใจ Boxset รวบรวมสี่ผลงานยุคแรกๆ The Poetry of Lee Chang-Dong: Four Films ผ่านการบูรณะแล้วทั้งหมด Green Fish (1997), Peppermint Candy (1999), Oasis (2002) และ Poetry (2010)


ผมมีความหลงใหลคลั่งไคล้หนังตั้งแต่แรกรับชม แม้ตอนนั้นไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ แต่ยังสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องราวความรักของตัวละคร มันช่างเจ็บปวดรวดร้าว บดขยี้ทรวงใน หวนระลึกถึงรักครั้งแรก(ของตนเอง)หัวใจพลันแตกสลาย ครุ่นคิดถึงความเป็นไปได้ถ้าสามารถย้อนเวลากลับไป

กลับมารับชมคราวนี้ รสชาติเปปเปอร์มิ้นต์ยังคงติดลิ้น เพิ่มเติมคือได้กลิ่นความลุ่มลึกล้ำ สัมพันธภาพระหว่างตัวละครกับประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ อิทธิพลภายนอกส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ น่าเสียดายเรื่องราวในส่วนนี้เริ่มดูเฉิ่มเฉยล้าหลัง (เพราะอิทธิพลรัฐบาลเผด็จการต่อคนรุ่นหลัง Millennium แทบจะไม่หลงเหลืออะไรอีกแล้ว) กลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ เก็บฝังไว้ในไทม์แคปซูล

ถ้าคุณเกิดความฉงนสงสัย ทำไมหนังจากประเทศเกาหลีใต้ มักเป็นแนวทรยศหักหลัง คบชู้นอกใจ เกี่ยวกับการเข่นฆ่า ล้างแค้น เต็มไปด้วยความรุนแรง แนะนำให้ลองรับชม Peppermint Candy (1999) รสชาติของลูกอมเปปเปอร์มิ้นต์ จักอธิบายคำตอบทุกสิ่งอย่าง!

จัดเรต 18+ กับประวัติความรุนแรง บาดแผลทางใจ

คำโปรย | Peppermint Candy นำพาผู้ชมค่อยๆย้อนเวลา ถอยหลังกลับหาอดีต เพื่อเปิดเผยประวัติความรุนแรง บาดแผลทางใจของประเทศเกาหลีใต้
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | เปปเปอร์มิ้นต์


Peppermint Candy

Peppermint Candy (1999) : Korea – Lee Chang-dong

(24/3/2016) ถ้าคุณอยากเข้าใจว่า ทำไมหนังจากประเทศเกาหลีมักจะเป็นแนวชู้ รักสามเศร้า ล้างแค้น เรื่องราวมีความรุนแรง ผมแนะนำให้ดู Peppermint Candy นะครับ หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้โด่งดังในระดับโลก แต่คุณภาพนี้ในเอเชียนี่ถือไม่ธรรมดา กำกับโดย Lee Chang-dong นำแสดงโดย Sol Kyung-gu ใครชอบหนังที่มีการตัดต่อ เล่าเรื่องแบบย้อนกลับ (reverse แบบ Memento) ห้ามพลาดเลย

Peppermint Candy เป็นหนังปี 1999 ส่วน Memento เป็นหนังปี 2000 ทั้งสองฉายปีติดๆกันเลยและมีการตัดต่อ เล่าเรื่องแบบย้อนกลับ (Reverse chronology) ผมไปหาข้อมูลดู พบว่าหนังเรื่องแรกที่ใช้เทคนิคนี้ คือ La glace à trois faces (The Three Sided Mirror) หนังฝรั่งเศสของผู้กำกับ Jean Epstein ตั้งแต่ปี 1927  การจะหาเรื่องราวที่เหมาะกับวิธีการตัดต่อแบบนี้ไม่ง่ายนะครับ สำหรับ Peppermint Candy ถือว่ามีใช้เทคนิคนี้เพื่อการเรื่องราวที่น่าสนใจมากๆ เริ่มจากการให้คนดูตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วใช้การย้อนเวลา ค่อยๆเฉลยปริศนาไปเรื่อยๆ ใน Memento เรื่องราวในหนังใช้เวลาไม่กี่วันเท่านั้น แต่ Peppermint Candy ใช้การถอยไปเรื่อยๆ รวมเวลา 20 ปี หนังไม่ได้ย้อนไปทุกๆปีนะครับ แค่ย้อนไปในช่วงเวลาสำคัญๆเท่านั้น

ผู้กำกับ Lee Chang-dong เป็นผู้กำกับคนสำคัญของเกาหลีใต้ เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอยู่ช่วงหนึ่ง (Minister of Culture and Tourism) มีคนเปรียบเขาเป็นผู้กำกับ Korea New Wave (เหมือน French New Wave) ที่มีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์เกาหลีอย่างมาก สำหรับ Peppermint Candy เรื่องราวมีช่วงเวลาขณะหนึ่งของเหตุการณ์ Gwangju massacre เมื่อปี 1980 ผมไม่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เกาหลีเท่าไหร่นะครับ รู้สึกเหตุการณ์นั้นมันคล้ายๆ 14 ตุลา/พฤษภาทมิฬ บ้านเรานะแหละ ประชาชนนักศึกษาลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล ไม่รู้ประท้วงสำเร็จหรือเปล่า แต่มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไม่น้อย เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เนื้อหาหลักของหนังนะครับ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวของชายคนหนึ่ง ที่กลายเป็นบาดแผลลึกในหัวใจ ติดตัวไปจนวันตาย

เราสามารถเข้าใจการกระทำของพระเอกทั้งเรื่อง ด้วยการวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด เหตุการณ์ Gwangju massacre ถือเป็นปมแรกสุดที่ทำให้ตัวละครสะสมความรุนแรง และระเบิดออกมา เหตุที่ทำให้ผมพูดว่า ถ้าคุณต้องการเข้าใจว่าทำไมหนังเกาหลี ถึงมักเป็นแนวชู้ รักสามเศร้า ฆ่า ล้างแค้น หนังเรื่องนี้ไม่ได้ให้คำตอบเราเปะๆ แต่ให้แนวคิดกว้างๆ ว่ามีสาเหตุมาจากเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น Gwangju massacre รัฐบาลกลับตอบโต้ประชาชนนักศึกษาด้วยความรุนแรง นี่ทำให้เกิดความเคียดแค้นฝังลึกในจิตใจของชาวเกาหลี เวลาผ่านไป คนยุคนั้นกลายมาเป็นผู้กำกับก็เลยนำเสนอเรื่องราวที่มีความรุนแรง เพื่อตอบโต้และเป็นการระบายสิ่งที่อยู่ในใจลึกออกมา สำหรับเรื่องชู้และรักสามเศร้า ประเด็นนี้อาจไม่ชัด มันคือผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา เมื่อจิตใจของคนยังเต็มไปด้วยความแค้น เขาไม่สามารถที่จะให้ความรักใครได้ ความสุขในครอบครัวจึงลดลง กระนั้นยิ่งแค้นมันก็ยิ่งอยากนะครับ เมื่อคนที่เรารักตอบสนองไม่ได้ เขาจึงต้องหาที่พึ่งอื่น จริงๆผมว่าประเด็นนี้มันมีอีกเหตุผลหนึ่ง ไว้จะวิเคราะห์ให้ฟังวันหลังนะครับ

นำแสดงโดย Sol Kyung-gu หนังเรื่องนี้ทำให้เขาดังพลุแตกเลย แถมกวาดรางวัล Best Actor ได้นับไม่ถ้วน นี่เป็นตัวละครที่ต้นเรื่องกับท้ายเรื่อง ยังกับคนละคน นิสัยเปลี่ยนไปมาก เราจะค่อยๆเห็นพัฒนาการที่เปลี่ยนไป(แบบถอยหลัง) จากชายที่ไร้เดียงสา ไม่ทันโลก (มองโลกในแง่ดี) กลายมาเป็นคนที่เริ่มเข้าใจชีวิต ต่อสู้เพื่อมีชีวิตอยู่ เริ่มท้อแท้ เหนื่อยหน่าย และสุดท้ายกลายเป็นคนที่เกลียดโลก (มองโลกในแง่ร้าย) หนังเลือกเล่าเฉพาะช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนของแนวคิดที่สำคัญจริงๆเท่านั้น ทำให้การแสดงของเขาโดดเด่นมากๆ คุณอาจจะเกลียดตัวละครนี้ในช่วงแรกๆ แต่พอเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ก็จะรู้สึกเห็นใจ ชีวิตหมอนี่บัดซบจริงๆ

Kim Yeo-jin เล่นเป็นภรรยาของพระเอก เธอทุ่มเทให้กับการแสดงมากๆ มีหลายฉากที่มีการปะทะทางอารมณ์รุนแรง มันทำให้เราสงสารตัวละครนี้มากๆ ผมชอบตอนที่ตัวละครนี้ยังเป็นสาวสวยสดใส ไร้เดียงสา มากกว่า เธอเปลี่ยนไปเยอะทีเดียว กลายไปเป็นหญิงที่กร้านโลก คบชู้ นอกใจ หย่าร้าง ที่ชีวิตกลายเป็นแบบนี้ จะโทษฝ่ายชายอย่างเดียวคงไม่ได้ เป็นความผิดของเธอด้วย เพราะตั้งแต่แรกผมมองว่าเธอเป็นฝ่ายไปแย่งผู้ชายมา เขาอาจจะรักเธอแต่ไม่รักที่สุด ทำให้ชีวิตทั้งคู่ไปไม่รอด

Moon So-ri เล่นเป็นรักแรกของพระเอก เธอเล่นหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก การแสดงยังถือว่าไม่โดดเด่นเท่าไหร่ และเราจะเห็นตัวละครนี้แค่ด้านเดียวเท่านั้น คือภาพความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา เห็นอีกทีก็สภาพใกล้ตาย นอนใช้เครื่องหายใจอยู่ในโรงพยาบาล ผมเปรียบตัวละครนี้คือสิ่งที่พระเอกอยากเป็น แต่เขาไม่สามารถเป็นได้ คือจิตใจที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา (เปรียบเหมือน Angle) ตอนท้ายจริงๆไม่ต้องให้เราเห็นเธอสภาพนั้นก็ได้ แต่ที่ต้องใส่มาเพื่อบอกว่า ความบริสุทธิ์นั้นกำลังจะตายแล้ว นี่ดูเป็นตัวละครเชิงสัญลักษณ์มากกว่ามีตัวตนจริงๆนะครับ

ถ่ายภาพโดย Hyung-ku Kim เขาเป็นผู้กำกับภาพให้หนังอย่าง The Host (2006), Memories of Murder (2003) ถือว่าฝีมือไม่ธรรมดาทีเดียว สำหรับหนังเรื่องนี้ เราจะได้เห็นภาพสวยๆและการจัดวางองค์ประกอบภาพที่มีความหมายแฝงมากมาย โดยเฉพาะรถไฟเราจะเห็นอยู่บ่อยๆ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการมีชีวิต (ฉากรถไฟวิ่งที่คั่นระหว่างเรื่อง ถ้าสังเกตดีๆมันจะวิ่งถอยหลังนะครับ) ฉากที่เด่นๆ อาทิ ตอนงานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ ที่ผู้ใหญ่จะนั่งล้อมโต๊ะ แต่เด็กสาวนั่งทำอะไรสักอย่างอยู่ข้างนอก อีกฉากที่สวยๆ คือ ตอนเคลื่อนกล้องจากนอกบ้าน ผ่านหน้าต่างเห็นชายหนุ่มและหญิงสาวเปลือยกายนอนอยู่ ทั้งสองเริ่มต้นจากหันหลังให้กัน จากนั้นฝ่ายหญิงก็หันมาหา, ฉากตอนพระเอกเป็นทหาร ในเงามืดมีคนยืนอยู่และค่อยๆเดินออกมา ฉากนี้เล่นแสงกับเงาได้สวยมากๆ

การตัดต่อผมหาเครดิตไม่เจอว่าใครตัดต่อนะครับ อาจจะเป็นผู้กำกับที่ตัดเอง การตัดต่อแบบถอยกลับ เป็นเทคนิคที่ทำให้หนังดูยากมากๆ เพราะแทนที่จะทำให้เราลุ้นกับผลลัพท์สุดท้าย แต่กลับคนดูต้องมองหาเหตุผลของสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่า มันคล้ายๆกับ “นักสืบ” คือเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว หน้าที่นักสืบคือการหาสาเหตุ แรงจูงใจ และวิธีการ ถ้าเราดูหนังเรื่องนี้โดยการไม่มองหาสิ่งพวกนี้ ไม่ว่ายังไงก็ดูไม่เข้าใจนะครับ เพราะเป็นการค้นหาที่ผิดวิธี และคุณอาจจะเข้าใจประเด็นที่ผู้กำกับต้องการสื่อคลาดเคลื่อนไปเลย

เพลงประกอบโดย  Jae-jin Lee ผมไม่รู้เพลงที่ตัวละครร้อง เป็นเพลงดังของเกาหลีในยุคนั้นหรือเปล่า ก็มีเพราะๆอยู่นะครับ สำหรับเพลงประกอบหลัก จะใช้ไวโอลินนำ และใช้วงดนตรี pop อาทิ กีตาร์ กลอง คีย์บอร์ด เบส เป็นเสียงประกอบ เสียงดนตรียุค 80-90 ใครชอบฟังเพลงยุคนี้คงชอบหนังไม่น้อย ตัวเลือกไวโอลินนี่ใช้ได้เลย เพราะเสียงมันจะหวานๆ มีทั้งอารมณ์สุข ทุกข์ แต่พอเศร้า เสียงไวโอลินจะแหลมกรีดแทงหัวใจอย่างเจ็บปวด

มีอะไรเกิดขึ้น Gwangju massacre ผมก็ไม่รู้นะครับ ไว้ถ้ามีโอกาสได้ดูหนังที่เล่าถึงเหตุการณ์นี้จะมาเล่าให้ฟัง ที่ผมอยากพูดคือผลกระทบมากกว่า เหตุการณ์นี้ทหารฆ่าคนบริสุทธิ์จำนวนมาก หนังให้พระเอกเป็นหนึ่งในนั้น ชีวิตเขาบัดซบลงเรื่อยๆนับจากความผิดพลาดครั้งนั้น เหตุที่เขาไม่สามารถกลับไปหารักครั้งแรกได้ อาจเพราะภาพติดตาของหญิงสาวที่เขาฆ่า ดันมีหน้าเหมือนเธอ แต่เหตุผลจริงๆ คือเขามองว่ารักครั้งแรกคือความบริสุทธิ์ ตอนนั้นจิตใจเขาไม่บริสุทธิ์แล้ว มันเลว ต่ำช้า กลายเป็นคนไม่ดี ทำให้เขาต้องหนีไป ไม่สามารถให้ความรักเธอได้อีก (ทั้งๆที่เขายังรักเธอมากก็เถอะ) การทำงานเป็นตำรวจก็เพื่อชดใช้สิ่งที่เขาทำผิด แต่หน้าที่ของเขาเป็นตำรวจที่ทรมานนักโทษเพื่อรีดข้อมูลลับออกมา (บางสิ่งที่อยู่ในใจ ต้องเอามันออกมา) เวลาผ่านไปชีวิตเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้อีกแล้ว ความบ้าคลั่งที่อยู่ในใจเริ่มแสดงออกมา ลูกเมียเริ่มไม่สนใจ จุดนั้นเขาไม่เชื่อแล้วว่าพระเจ้ามีจริง กำแพงด่านสุดท้ายคือ เมื่อเขาพบว่าหญิงที่เป็นรักแรกกำลังจะจากไป จบแล้วชีวิต สิ้นหวัง ไม่มีอะไรเหลืออยู่อีก จุดจบคือ เขาอยากจะย้อนเวลากลับไป ณ จุดเริ่มต้น

Peppermint Candy คือลูกอมรสมิ้นท์ คนชอบกิน Mint คงพอจำรสชาติของมันได้ ตอนอมแรกๆกลิ่นมันจะหอม รสชาติจะหวาน แต่ถ้าอมไว้นานๆมันจะเริ่มขมและไม่อร่อย ชื่อหนังเป็นการเปรียบเทียบเรื่องราวได้คมคายมากๆ และลูกอม peppermint ยังเป็นของขวัญที่สำคัญของพระเอกและรักครั้งแรก จุดเริ่มต้นที่ทำไมต้องเป็น peppermint ที่เฉลยตอนจบ เป็นอะไรที่ผมแปลกใจมากๆ มันดูธรรมดา แต่มีความหมายมากๆ (เพราะฉันต้องห่อมันวันละเป็นพันๆชิ้น ก็พยายามหาทางที่จะชอบมันให้ได้)

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคอหนังเอเชียและเกาหลี นี่ไม่ใช่หนังโรแมนติกนะครับ ผมจัดให้เป็นดราม่า และโศกนาฎกรรม (Tragedy) ใครชอบดูหนังที่ใช้เทคนิคเจ๋งๆ การเล่าเรื่องน่าสนใจ ชอบแนวนักสืบ หรือชอบวิเคราะห์จิตวิทยาของตัวละคร ห้ามพลาดเลย หนังเรื่องถือว่าเป็นหนังเรื่องสำคัญของเกาหลีใต้ เพราะเรื่องราวที่เล่าถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง และมีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ด้วย จัดเรต 15+ เพราะภาพความรุนแรงและเทคนิคการเล่าเรื่องที่เด็กๆดูคงไม่เข้าใจ

คำโปรย : “Peppermint Candy หนังเรื่องสำคัญของเกาหลีใต้ กำกับโดย Lee Chang-dong นำแสดงโดย Sol Kyung-gu ใครอยากเข้าใจว่าทำไมหนังจากเกาหลีใต้มักแฝงความรุนแรง ให้ดูหนังเรื่องนี้”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบLOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: