Persoepolis

Persepolis (2007) French : Marjane Satrapi, Vincent Paronnaud ♥♥♥♡

‘ไม่มีชีวิตแสงสีใดๆในประเทศอิหร่าน’ นี่คือเหตุผลให้ Marjane Satrapi เขียนเรื่องราวชีวประวัติของตนเองเป็น Graphic Novel และดัดแปลงสร้างอนิเมชั่นสองมิติ มีเพียงสองสีขาว-ดำ คว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

มองมุมหนึ่งของอนิเมชั่นเรื่องนี้ ตีความได้ทั้งการต่อต้าน Anti-America, Anti-Iranian แถมยัง Anti-Islam ยิ่งเพราะความสำเร็จอันล้นหลาม เข้าชิง-กวาดรางวัลมากมาย ทำให้รัฐบาลอิหร่านถึงขนาดควันออกหู ได้ยินว่าตอน Bangkok Film Festival เมื่อปี 2007 ส่งจดหมายถึงสถานทูตฝรั่งเศส เรียกผู้จัดไปพูดคุยเพื่อให้ยกเลิกโปรแกรมฉาย โด่งดังไปทั่วโลกเพราะยินยอมทำตามคำร้องขอ ไม่ต้องการให้กระทบความสัมพันธ์ด้านอื่นต่อประเทศเรา

ส่วนตัวไม่คิดว่า Marjane Satrapi เป็นคนทรยศขายชาติ หรือบิดเบือนศาสนาที่ตนเองนับถือหรอกนะ เพราะเคารพรักมากต่างหากจึงต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองอย่างตรงไปตรงมา ให้ประจักษ์ต่อเพื่อนร่วมแผ่นดินบ้านเกิดและสายตาชาวโลก นี่ถือเป็นความปกติทั่วไปมากๆของงานศิลปะทางฝั่งโลกตะวันออก แต่ในมุมของชาวมุสลิมและชาตินิยมอิหร่าน ย่อมหัวเสียไม่พึงพอใจยอมรับได้แน่ๆ

ผมเองบอกตามตรงไม่ค่อยชื่นชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ถึงจะมีความงดงามตระการตาระดับวิจิตร ลูกเล่นลีลาลงสีขาว-ดำ ได้อย่างสร้างสรรค์ลึกล้ำ แต่นิสัยเสียของ Satrapi เป็นคนไม่น่าคบค้าสมาคมด้วยสักเท่าไหร่ เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ … แต่ว่าไปตัวตนของเธอสามารถสะท้อนสถานะของประเทศอิหร่าน ออกมาได้อย่างเด่นชัดเจน (Satrapi = ประเทศอิหร่าน)

Marjane Satrapi (เกิดปี 1969) นักเขียนการ์ตูน ผู้กำกับอนิเมชั่นสัญชาติ Iranian เกิดที่เมือง Rasht ในครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อ-แม่เป็นนักเคลื่อนไหวสนับสนุน Marxist ตั้งแต่โค่นล้มอำนาจกษัตริย์ซาร์ เริ่มจำความได้ตั้งแต่ปฏิวัติอิหร่าน (1978-79) พบเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง สงครามกลางเมือง สะสมเข้ามาสู่ตนเอง ซึ่งการสูญเสียลุงที่เธอรักยิ่งทำให้เกิดความก้าวร้าวหัวรุนแรง จนที่บ้านต้องส่งไปเรียนนอก Lycée Français de Vienne, Vienna ประเทศ Austria ใช้ชีวิตเที่ยวเตร่เสเพล เคยนอนข้างถนนถึง 3 เดือนจนป่วยหนักโรคหอบหืด ตัดสินใจกลับมาสอบเข้าเรียนสาขาการสื่อสาร Islamic Azad University, Tehran ระหว่างนั้นยังคงเที่ยวเตร่ปาร์ตี้ผิดกฎหมาย แต่งงานกับแฟนหนุ่ม Reza ตอนอายุ 21 หย่าขาดไม่กี่ปีถัดมาย้ายสู่ Strasbourg, France กลายเป็นนักเขียนนิยายภาพอัตชีวประวัติ Persepolis (2000) เสียงตอบรับค่อนข้างดี ยอดขายเกินกว่า 1.5 ล้านเล่ม ทำให้มีภาค 2-3-4 ตามมาครบจบพอดี

“I had learned that you should always shout louder than your aggressor”.

– Marjane Satrapi, Persepolis เล่ม 1: ตอน The Story of the Childhood

เกร็ด: Graphic Novels มันก็คือหนังสือการ์ตูน (Comic Books) แค่ว่ารวมเล่มหนาๆลงสี และมีเนื้อหาเหมาะกับผู้ใหญ่ ซึ่ง Satrapi ขอไม่เคยเรียกผลงานตัวเองว่า Comic เพราะจะทำให้ผู้ใหญ่มีอายุทั้งหลาย มองว่าเป็นสิ่งที่เหมาะกับเด็กมากกว่าตน

เกร็ด2: การปฏิวัติอิหร่าน หรือการปฏิวัติอิสลาม (1978-79) เหตุการณ์โค่นล้มพระเจ้าซาร์ Mohammad Reza Shah Pahlavi (ครองราชย์ 1941 – 79, มีชีวิต 1919-80) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาแลกกับหุ้นส่วนน้ำมันดิบ โดยถูกแทนที่ด้วยสาธารณรัฐอิสลามภายใต้ผู้นำ Grand Ayatollah Ruhollah Khomeini ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การฝ่ายซ้าย ศาสนาอิสลาม และขบวนการนักศึกษาอิหร่าน

ความสำเร็จของ Graphic Novel ทำให้ Satrapi ได้รับการติดต่อจากสองโปรดิวเซอร์สัญชาติฝรั่งเศส Xavier Rigault และ Marc-Antoine Robert สนใจที่จะดัดแปลงเป็นสื่ออื่น ในตอนแรกพูดคุยเรื่องคนแสดง Live-Action แต่ได้ข้อสรุปว่าคงไม่ดีแน่ เพราะผู้ชมสามารถแยกแยะนักแสดงยุโรป-เอเชีย ออกจากกันได้ชัด จะกลายเป็นเรื่องราวของความแตกต่างทางเชื้อชาติภาษาของบุคคลผู้อยู่ห่างไกล โลกที่สาม

“With live-action, it would have turned into a story of people living in a distant land who don’t look like us. At best, it would have been an exotic story, and at worst, a ‘third-world’ story”.

Satrapi เลยเสนอโปรดิวเซอร์ว่าทำเป็นอนิเมชั่นสองมิติขาว-ดำ แบบ Graphic Novel ที่ตนทำคงจะดีสุด ซึ่งเธอก็ได้ชักชวนเพื่อนร่วมอาชีพอีกคนให้มาร่วมแบ่งเบาภาระงานสร้าง Vincent Paronnaud (เกิดปี 1970) นักเขียนการ์ตูนสัญชาติฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้เคยกำกับอนิเมชั่นขนาดสั้นเรื่อง Raging Blues (2004) ถือว่ามีประสบการณ์ในสายงาน และทั้งสองยังได้ร่วมงานกันอีกเรื่อง Chicken with Plums (2011)

ผมลองค้นดูใน Youtube พบเจออนิเมชั่นขนาดสั้น Raging Blues (2004) ความยาวเพียง 6 นาที [จริงๆรวมอยู่ในแผ่น DVD/Blu-Ray ของ Persepolis] ที่ต้องบอกว่ารับชมแล้วสามารถเข้าใจเหตุผลได้เลยว่าทำไม Satrapi ถึงเลือกร่วมงานกับ Paronnaud ก็เพราะมีโทนบรรยากาศ ภาพขาว-ดำ คล้ายคลึงกันถึงขนาดนี้!

Satrapi เลือกที่จะใช้การวาดภาพด้วยมือ Tradition Animation ทั้งหมด ต้องการความธรรมดาเรียบง่าย หลีกเลี่ยงเทคนิคลูกเล่นอันซับซ้อน เพราะจะทำให้อนิเมะดูล้าหลังเก่าเร็ว ซึ่งบางฉากที่เป็นการเล่าเรื่องท้าวความ มันอาจดูเหมือนขยับเคลื่อนไหวด้วยลักษณะของ Cut-Out Animation แต่นั่นจากวาดมือไม่ใช่เทคนิคอื่น

“It was clear that a traditional animation technique was perfectly suited to Marjane’s and Vincent’s idea of the film”.

ในส่วนของการออกแบบศิลป์ แม้จะมีตัวอย่างจาก Graphic Novel แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทีมผู้สร้างที่จะคัทลอกทำตาม เพราะความที่มันมีเพียงขาว-ดำ กลับยุ่งยากวุ่นวายกว่าการใช้สี เพราะมันไม่ใช่แค่เทขาวเทดำลงไปเลย หลายครั้งต้องไล่ลำดับความเข้มสี (เทา) แค่ว่ามันไม่ต้องเปลี่ยนสีล้างพู่กันบ่อย แค่หมึกดำอย่างเดียวก็ละเลงลงไปเลยทั้งวันจนเบื่อ

“Using only black and white in an animation movie requires a great deal of discipline. From a technical point of view, you can’t make any mistakes…it shows up straight away on the large screen”.

– จากคำสัมภาษณ์ของนักอนิเมเตอร์ Marc Jousset

ไดเรคชั่นที่ทีมอนิเมเตอร์ ทำการเลียนแบบหลายๆเทคนิคศึกษาจากการเขียนการ์ตูน/มังงะของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการถมดำ มุ่งเน้นความเป็นธรรมชาติเรียงง่าย ดูลื่นไหลสมจริง ไม่ให้เว่อวังอลังการมากไปจนเกินตัว ฯ

“Marjane’s drawings looked very simple and graphic…they’re very difficult to work on because there are so few identifying marks. Realistic drawings require outstanding accuracy”.

เรื่องราวของ Persepolis แบ่งออกเป็น 3 ช่วง
– วัยเด็กของ Marjane Satrapi ผู้ยังไม่ประสีประสาอะไร แต่พบเห็นอะไรต่างๆมากมาย จบสิ้นที่ครอบครัวตัดสินใจส่งเธอไปเรียนต่างประเทศ
– ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน จากเด็กหญิง -> วัยรุ่นสาว เนื่องจากอยู่ต่างประเทศไม่มีใครคอยชี้แนะนำ เลยติดเพื่อนสำมะเรเทเมาเที่ยวเตร่ จนกระทั่งครุ่นคิดได้ตัดสินใจกลับบ้าน
– เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่งงาน (แล้วหย่า) สุดท้ายออกเดินทางสู่โลกกว้าง ถูกสั่งห้ามไม่ให้หวนกลับคืนบ้านเกิดอีก

การดำเนินเรื่องจะใช้วิธีเล่าย้อนอดีต ประกอบเสียงบรรยายของ Marjane Satrapi (พากย์เสียงโดย Chiara Mastroianni ลูกสาวของสองนักแสดงชื่อดัง Marcello Mastroianni และ Catherine Deneuve) เริ่มต้นจากปัจจุบัน ณ สนามบินในประเทศฝรั่งเศส ที่ช่วงนี้เป็นภาพสีเพราะต้องการสะท้อนถึงความมีสีสันของชีวิต หลังออกจากประเทศบ้านเกิดอิหร่าน ไม่ได้เคยย้อนกลับไปอีก

หลายคนอาจรู้สึกสับสนเล็กๆว่า Satrapi มาที่สนามบินทำไม? เธอจับจ้องมองเที่ยวบิน Tehran คงอยากกลับเต็มแก่ ถึงขนาดสวมผ้าคลุมฮิญาบ (Hajab) นั่งสูบบุหรี่อยู่ตรงล็อบบี้สนามบินไม่แคร์คนรอบข้าง หวนระลึกทบทวนความทรงจำตั้งแต่วัยเด็กไล่มาถึงปัจจุบัน ก่อนที่สุดท้ายตอนจบเธอตัดสินใจโบก Taxi กลับบ้าน เลือกจะไม่หวนคืนอิหร่านตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับคุณยายและพ่อ-แม่

ปี 1978 เริ่มต้นที่การเดินขบวนของประชาชนนักศึกษา ลุกฮือก่อการปฏิวัติยึดอำนาจกษัตริย์ซาร์ ในตอนแรกที่ Satrapi ร่ำเรียนจดจำมา พระองค์คือผู้ที่พระเป็นเจ้าเลือกสรรค์ จึงพูดให้การสนับสนุนแบบออกนอกหน้า จนกระทั่งพ่อของเธอเล่าความจริงให้ฟัง จินตนาการเป็นภาพที่มีความงดงามระดับวิจิตร เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆราวกับเทพนิยายเพ้อฝัน เคลื่อนไหวแบบหุ่นเชิดเก้ๆกังๆ (อย่างที่บอกไป หลายคนอาจคิดว่าฉากนี้สร้างโดย Cut-Out Animation แต่แท้จริงคือวาดมือทั้งหมด)

นี่มันบ้านผีสิงหรืออย่างไร เห็นแล้วมีความหลอกหลอนน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก, ถึงไม่ใช่แต่ก็ใกล้เคียงมากๆ นี่คือคุกที่คุมขังลุงของ Satrapi ขอให้เธอไปพบก่อนที่จะถูกประหารชีวิต

ภาพนี้เป็นการสะท้อนความทรงจำของ Satrapi เปรียบเทียบสิ่งที่เธอพบเห็นจริงๆ ออกแบบให้มีความหลอกหลอนน่าสะพรึงกลัว เด็กๆเห็นแล้วขวัญผวาอย่างแน่นอน (แต่อนิเมชั่นเรื่องนี้ ไม่เหมาะกับเด็กเลยนะครับ)

ในห้องคุมขังของลุง สังเกตพื้นหลังผนังกำแพง มีลักษณะของความหยาบกร้าน นี่เกิดจากการวาดมือล้วนๆไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วย แถมระดับความเข้มของแสงแต่ละตำแหน่งก็ไม่เท่ากัน เนื่องจากผมไม่ใช่นักวาดรูปเลยตอบไม่ได้ว่าทำอย่างไร แต่สัมผัสของฉากนี้มีความมืดหม่น โหดร้าย เย็นยะเยือก หาได้มีความน่าจดจำฝังใจแม้แต่น้อย

สังเกตว่าก็มีหลายๆฉากที่เลือกใช้ภาพพื้นหลังด้วยลักษณะหยาบกร้านเช่นนี้ คงต้องการสะท้อนถึงสิ่งชั่วร้ายเย็นชาไม่น่าจดจำ ความหมายลักษณะคล้ายๆกัน

เห็นช็อตนี้ผมละนึกถึง Spirited Away (2001) ตัวละคร Kaonashi/Faceless ขึ้นมาทันที แตกต่างแค่ว่าสิ่งที่หญิงสูงวัยสองคนนี้ต้องการ คือการให้เด็กหญิง Satrapi เรียนรู้จักทำตามกฎระเบียบข้อบังคับของสังคม ก้มหัวกลายเป็นส่วนหนึ่ง กลืนกินมิให้มีลำตัวแขนขา แค่ใบหน้ายื่นเสนอเข้ามาก็เท่านั้น

เมื่อมิอาจอดรนทนต่อความคลุ้มคลั่งที่สะสมอยู่ภายใน โชคดีของ Satrapi ได้พ่อ-แม่ ช่างสังเกต เข้าใจ และสามารถส่งเสียให้เธอไปเรียนต่อยังต่างประเทศได้ ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะดำเนินเดินตามวิถีทางที่ถูกต้อง

เพื่อนกลุ่มแรกของเธอคือ Nihilists ผู้ว่างเปล่า แต่กลับโยกเต้นไปกับวงดนตรีอินดัสเทรียล Einstürzende Neubauten ตะโกนแหกปากโชว์นิ้วกลาง กระหึ่มสิ่งที่อึดอัดอั้นคับข้องภายในให้ระบายออกมา

บ้านเช่าที่ Satrapi พักอาศัยอยู่ได้นานหน่อย มีหมาหื่นชื่อ Yuki ปกติควรจะแค่เลี้ยแข้งเลียขา แต่นี่ล่อตาล่อใจจะเอาให้ได้แบบไม่สนสายพันธุ์มนุษย์, บ้านหลังนี้ว่าไปก็ไม่ได้มีความน่าอยู่สักเท่าไหร่ สังเกตจากรูปภาพติดผนัง (รูปทางขวานี่มันภาพนู้ดใช่ไหม) และสัตว์สตาฟ ลึกๆแล้วเจ้าของเป็นพวกปลิ้นปล้อน หวาดระแวง ไม่ยอมที่จะสูญเสียปล่อยวางของรักของหวงของตนเอง (คนที่หลงใหลในสัตว์สตาฟนี่น่ากลัวมากๆ ถ้าไม่เป็นพวก Egoist สูงปี๊ด ก็มักชื่นชอบใช้ความรุนแรงสุดโต่ง)

จากเด็กหญิงเติบโตขึ้นเป็นสาว นี่ถือเป็น Sequence ที่ผมชื่นชอบสุดแล้ว ในชีวิตจริงสำหรับบางคงก็คงเปลี่ยนข้ามคืนแบบนี้แหละ (แค่ไม่เว่อวังอลังการเท่า) ถือเป็นวิธีเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของมนุษย์ได้อย่างเท่ห์ไม่เบา โดยเฉพาะตอนหน้าอกและบั้นท้ายขยาย ด้วยเหตุผลเพื่อให้สมดุลยืนตรงกับพื้นได้ นั่นฮาจริง!

สำหรับไฝว์เสน่ห์ มันคือริ้วรอยด่างดำหมองคล้ำเซลล์ผิวที่ตาย เปรียบได้กับเครื่องหมาย/จุดเปลี่ยนทางร่างกายของ Satrapi สะท้อนถึงความโชกโชน และประสบการณ์ชีวิตที่สะสมพัฒนากำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่

แฟนคนแรกเปิดซิงของ Satrapi มาในแนว Hippy พี้ยา ฟังเพลง Psychedelic และหลังจากเสพสมผ่านคืนแรก แหวกพงหญ้าข้างทางออกมา เปิดเผยความต้องการแท้จริงของตนเองว่าเป็นเกย์ชื่นชอบผู้ชาย (มันคงเป็น Sex ห่วยละสินะ)

แฟนคนที่สองทำให้ Satrapi เพ้อหนักกว่าเก่า หลงเข้าไปในโลกแห่งอาหรับราตรี ทุกสิ่งอย่างรอบข้างดูล้ำจินตนาการยิ่งนัก แต่เมื่อทุกอย่างพลันล่มสลายจับได้เพราะความเจ้าชู้ ย้อนภาพที่เธอคบกับชายคนนี้ ดั่งนิราศของสุนทรภู่

“เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแลฯ”

กลับบ้านมาต้องพึ่งพาจิตแพทย์ ทานยาแก้โรคซึมเศร้า วิญญาณโบยบินขึ้นสรวงสวรรค์พบเจอพระเจ้ากับ Karl Marx ขับไล่ไสใส่ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งบนโลก ร้องเพลง Eye of the Tiger แบบผิดคีย์ คือมันเรื่องของฉันไม่ใช่เรื่องของใคร ยังไม่ถึงคราตาย ฟ้าดินก็มีอาจหักห้าม

ผมรู้สึกว่าการออกแบบพระเจ้า มีเค้าของซานต้าครอส ที่มีขณะหนึ่งตัวละครพูดแซวอยู่ด้วย

จังหวะที่ Satrapi ถูกขอแต่งงาน พวกเขาทั้งสองอยู่ในห้องนอน ไม่ได้หันหน้าพูดคัยเข้าหากันเสียด้วยซ้ำ แล้วอยู่ดีๆพูดลอยๆ แล้วก็ตบปากรับคำขึ้นมาเลย นี่เป็นการพยากรณ์กลายๆว่าชีวิตคู่คงไม่น่ารอดแน่ แต่แค่ปีกว่าๆก็เลิกรัก มันคงบัดซบที่สุดเลยละ

เพลงประกอบโดย Olivier Bernet ที่เริ่มต้นมีผลงาน Raging Blues (2004) กลายเป็นขาประจำของทั้ง Satrapi และ Paronnaud, บทเพลงถือว่ามีความหลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องรา เหตุการณ์ ช่วงอารมณ์ตัวละครขณะนั้น เช่นว่าตอน Nihilists ฟังคอนเสิร์ต Industrial Rock กระหึ่มหูแทบแตก, เข้ากลุ่ม Hippy ก็ได้ยิน Psychedelic เปลี่ยนแปลงไปตามสถานภาพของทางจิตใจของ Marjane Satrapi

สำหรับ Main Theme ใช้เสียงกีตาร์ไฟฟ้าเป็นทำนองหลัก สะท้อนความมืดมัวหมอง สับสนหวาดสะพรึง บางสิ่งอย่างหนักอึ้งที่อยู่ภายในจิตใจของหญิงสาว/ผู้กำกับ Satrapi, ณ โลกที่เธอเคยอาศัยอยู่ (ประเทศอิหร่าน) มันช่างโหดเหี้ยมอันตรายชีวิตไร้สีสัน ย้ายมาอยู่ในโลกแห่งอิสรภาพเสรีสว่างสดใส ก็ใช่จะได้พบเจอความสุขี เพราะลึกๆแล้วมันมีเสียงเพรียกเรียกร้องให้หวนคืนกลับรัง

Eye of the Tiger (1982) ต้นฉบับขับร้องโดยวงร็อค Survivor แต่งโดย Frankie Sullivan และ Jim Peterik และยังถือเป็นเพลงประกอบ Theme Song ของหนัง Rocky III (1982) ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song และไต่ขึ้นอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100 ถึง 6 สัปดาห์ ยอดขายกว่า 2 ล้านก็อปปี้ ระดับ Platinum

Satrapi ยืนกรานให้ Chiara Mastroianni ขับร้องเพลง Eye of the Tiger แบบเพี้ยนๆผิดคีย์ เพื่อสะท้อนถึงความตั้งใจในเป้าหมายที่สุดท้ายแล้วก็คลาดเคลื่อนไปจาก Eye of the Tiger

Persepolis คือชื่อเมืองหลวงของ Achaemenid Empire (ประมาณ 550–330 B.C.) อยู่ทางตอนเหนือของเมือง Shiraz (เมืองบ้านเกิดของ Satrapi) อดีตเคยรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจ ปัจจุบันกลายเป็นดินแดนแห่งความรกร้างเสื่อมโทรม ผู้คนแก่งแย่งชิงดี มากด้วยความคอรัปชั่นคดโกงกิน ต่างชาติพยายามเข้ามาแทรกแซงหาผลประโยชน์ บริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยคนขายชาติเห็นแก่ตัว

อธิบายด้วยแนวคิดทางพุทธศาสนา ‘อะไรที่เคยรุ่งโรจน์ถึงสูงสุด สักวันหนึ่งย่อมค่อยๆตกต่ำทรามลงถึงขีดสุดเช่นกัน’ ดั่งวงเวียนวัฏจักรของทุกสรรพสิ่ง มนุษย์ สัตว์ สถานที่ โลก และจักรวาล

อนิเมชั่นเรื่องนี้ ไม่ได้นำเสนอถึงสิ่งที่เกิดเป็นไปในประเทศอิหร่านในช่วง Iranian Revolution เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องกับเด็กหญิง Marjane Satrapi เติบใหญ่ขึ้นกลายเป็นหญิงสาวที่มีลักษณะนิสัย พฤติกรรม ความคิดอ่าน สะท้อนออกมากลายเป็นตัวตนของเธอ
– อาศัยอยู่ในบ้านเช่าที่เจ้าของมีความปลิ้นปล้อนหวาดระแวง เจ้าหมาหื่นกระหายต้องการครอบครองเป็นเจ้าของไม่สนเผ่าพันธุ์, สะท้อนถึงความหวาดระแวงของคณะปฏิวัติอิหร่าน หลังจากยึดอำนาจกษัตริย์ซาร์ก็กำจัดฆ่าผู้คนหัวรุนแรงไปมากมาย
– แฟนหนุ่มคนแรกเปิดเผยว่าเป็นเกย์ชอบผู้ชาย นี่ไม่ได้สะท้อนว่าผู้นำประเทศเป็นเกย์นะครับ แต่แทบทั้งนั้นไม่ว่ากษัตริย์ซาร์หรือผู้นำการปฏิวัติ ล้วนสนแต่ผลประโยชน์ของพรรคพวกพ้องตนเองเป็นหลัก
– แฟนคนที่สองลักลอบเป็นชู้ ตัวตนแท้จริงอัปลักษณ์ยิ่งนัก, นี่ก็สะท้อนถึงกษัตริย์ซาร์/ผู้นำอิหร่าน ที่ชมชอบขายฝัน แต่แท้จริงแล้วลักลอบได้เสียกับคนนอก/อเมริกา เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนล้วนๆ
ฯลฯ

ความล้มเหลวในรักทำให้ Satrapi ซมซานกลับบ้านกลายเป็นคนซึมเศร้าหดหู่ (นี่สะท้อนช่วงขณะโรคระบาด Great Depression หลังสงครามใหญ่) หลังจากนั้นได้แต่งงาน ชีวิตคู่ก็ยังล้มเหลวเอาตัวไม่รอดอีก นี่สะท้อนถึงการที่เธอมิอาจใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ผู้ชาย/กฎหมายข้อบังคับของประเทศอิหร่าน หนทางออกดีสุดไม่ใช่การอดรนทนฝืน แต่คือร่ำลาจากบ้านเกิดแล้วเริ่มต้นใหม่ด้วยอิสรเสรีภาพยังต่างแดนไกลไม่หวนคืนกลับมา

เหตุผลที่ Marjane Satrapi เขียน Graphic Novel เรื่องนี้ แล้วพัฒนาต่อเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่น ก็เพื่อแสดงความสำนึกรักบ้านเกิด รู้ตัวว่ามิอาจหวนคืนย้อนกลับไป นี่จึงคือวิธีการเดียวที่ทำให้เธอไม่หลงลืมรากเหง้าแท้จริงของตนเอง ความเป็นอิหร่านที่ตราประทับบนใบหน้าตั้งแต่เกิดมิอาจเปลี่ยนแปลงได้

เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามาสองรางวัล
– Jury Prize (ที่ 3) ควบคู่กับ Silent Light (2007)
– Palm Dog มอบให้ Yuki สุนัขขาหื่นต่อ Marjane เห็นว่าเรียกเสียงหัวเราะได้มากตอนฉาย

ตอน Satrapi ขึ้นรับรางวัล คำกล่าวสุนทรพจน์ของเธอคือ

“Although this film is universal, I wish to dedicate the prize to all Iranians.”

ด้วยทุนสร้า $6 ล้านยูโร (=$7.3 ล้านดอลลาร์) ทำเงินรวมทั้งโลก $22.8 ล้านเหรียญ ได้กำไรคืนมาเกือบๆเท่าตัว, เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature พ่ายให้กับ Ratatouille (2007)

ถึงความสวยงามของการออกแบบ งานภาพขาว-ดำ และอนิเมชั่น จะมีความงดงามตระการตาวิจิตรล้ำ แต่ถ้าเนื้อหาไม่อยู่ในความชื่นชอบสนใจ ก็ยากนักจะเคลิบเคลิ้มหลงใหล นี่ถือเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวล้วนๆเลยนะ

แนะนำคออนิเมชั่นสองมิติ ภาพขาว-ดำสวยๆ, ศิลปินจิตรกร นักวาดภาพ ตากล้องถ่ายรูปขาว-ดำ, สนใจประวัติศาสตร์ช่วงปฏิวัติอิหร่าน, ชาวอาหรับหรือมุสลิม ก่อนจะตัดสินอะไรควรต้องรับชมและพิจารณาไตร่ตรองด้วยตนเองนะครับ

จัดเรต 18+ กับภาพความรุนแรงในลักษณะ Visual Graphic บรรยากาศอันตึงเครียด สังคมเสื่อมคุณธรรม และนิสัยเลวทรามของตัวละคร

TAGLINE | “’งานภาพขาว-ดำ สุดล้ำของ Persepolis งดงามระดับวิจิตร แต่บรรยากาศเรื่องราวชีวประวัติของผู้สร้าง Marjane Satrapi ไม่ค่อยน่าอภิรมย์เริงใจเสียเท่าไหร่”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: