Personal Best

Personal Best (1982) hollywood : Robert Towne ♥♥♥♥♡

หยาดเหงื่อ แรงกาย แรงใจของนักกีฬาที่ทุ่มเทสุดตัวเพื่อเตรียมไปแข่งขันโอลิมปิกได้ถูกทำลายลง จากการ boycott เข้าร่วมของอเมริกาเมื่อ 1980 Moscow Summer Olympics, นี่เป็นหนัง 18+ ที่เราจะได้เห็นลึกเข้าไป ไม่ใช่แค่เนื้อหนัง แต่ลึกถึงจิตใจของพวกเธอ มันเป็นไปได้หรือเปล่า กับคนที่เป็นศัตรูคู่แข่งกัน (แบบอเมริกากับโซเวียต) จะตกหลุมรัก แล้วให้อภัยกันได้

นี่เป็นหนังที่ผมสัมผัสได้ตั้งแต่สัก 5 นาทีแรก ว่ามีเทคนิคการเล่าเรื่องที่เจ๋งมากๆ และอาจมีความลึกซึ้งแอบซ่อนแฝงอยู่ กระนั้นพอดูจบก็คิดว่าหนังยังมีตำหนิอยู่พอสมควร ตั้งใจให้คะแนนคุณภาพแค่ SUPERB แต่ไปๆมาๆ หลังจากได้นั่งคิดวิเคราะห์หนังอยู่พักใหญ่ ก็ได้พบใจความสุดลึกซึ้งที่หนังแฝงไว้ ทำเอาผมอึ้งไปเลย แม้คะแนน IMDB ของหนังเรื่องนี้จะแค่ 6.3/10 แต่ผมให้คะแนนคุณภาพระดับ RARE-Gendary อยากรู้ทำไมอ่านต่อให้จบนะครับ

ผลงาน debut ของผู้กำกับ Robert Towne ที่ควบทั้งโปรดิวเซอร์และเขียนบท ความตั้งใจแรกสุด ต้องการนำเสนอการเตรียมตัวของนักกรีฑาวิ่งแข่ง (ไม่จำกัดเพศ) ก่อนไปแข่ง 1980 Moscow Olympics คลุกคลีอยู่กินใช้ชีวิตกับพวกเขา เพื่อเตรียมการสำหรับสร้างหนัง ซึ่งพออเมริกา boycott การแข่งขัน เขาจึงเปลี่ยนความตั้งใจ ด้วยความต้องการนำเสนอความเจ็บปวด ชอกช้ำใจ ของเหล่านักกีฬาที่อุตส่าห์ทุ่มเทแรงกาย แรงใจอย่างเต็มที่ แต่ได้เสียโอกาสสำคัญที่สุดในชีวิตนี้ไป

นำแสดงโดย Mariel Hemingway รับบท Chris Cahill เธอถือเป็นดาราดังในยุค 80s มีผลงานอย่าง Manhattan (1979), Star 80 (1983) ช่วงหลังๆเธอจะไปสาย TV-Series, หนังเรื่องนี้ Hemingway ถือว่าเสี่ยงมากๆ ในวงการตอนนั้น เธอถือเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามอง ซึ่งการมีฉากโป๊เปลือยในหนังเรื่องนี้ น่าจะส่งผลต่ออาชีพอย่างมาก ทั้งๆที่ควรจะโด่งดังกว่านี้ กลับไม่ได้รับความนิยมอีกเลย, เธอใช้เวลาเป็นปี เพื่อฟิตซ้อมร่างกาย ให้เห็นกล้ามเนื้อเป็นมัดๆทุกส่วนสัดซอกมุมจริงๆ

ช่วงต้นเรื่อง Chris จะถือว่าเป็นระเบิดเวลา (Time Bomb) เธอขาดความมั่นใจ และดูเป็นคนต่อต้านทุกสิ่งอย่าง (ปมพ่อที่เข้มงวดกับเธอ) ถึงร่างกายของเธอจะแข็งแกร่ง แต่จิตใจอ่อนแอ ความพ่ายแพ้จากรอบคัดตัว เธอบอกกับพ่ออ้างว่าปวดท้อง แต่จริงๆแล้วจิตใจเธอต่างหากที่คิดไปเอง, ซึ่งพอได้พบกับ Tory ที่เป็นห่วงเป็นใยเธอ จึงเหมือนได้ค้นพบคุณค่าของตนเอง

Patrice Donnelly รับบท Tory Skinner, Donnelly เคยเป็นนักกีฬา pentathlon ที่เคยถูกจัดอันดับโลก pentathlon สูงถึงอันดับ 3 แต่ไม่ได้ไปโอลิมปิก, การเตรียมตัวฟิตร่างกายของเธอคงไม่ยากลำบากนัก กระนั้นการแสดงถือว่ามือใหม่ นี่เป็นผลงาน debut แต่ไม่น่าเชื่อ ว่าเคมีระหว่างเธอกับ Hemingway จะเข้ากัน ราวกับจะกลืนกิน สวยงามมากๆ จนผมอดคิดไม่ได้ว่า Donnelly และ Hemingway เป็นเลสเบี้ยนกันจริงๆหรือเปล่า

หลัง Chris กับ Tory ตกหลุมรักกัน ก็ดูแลซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี เป็นความสัมพันธ์ที่ค่อยข้างเปิดเผย ไม่มีอะไรต้องปกปิด กระนั้นเพราะทั้งสองลงแข่งในกีฬาประเภทเดียวกัน มันจะเป็นไปได้หรือเปล่า ที่ความรักจะมีอานุภาพเหนือกว่าชัยชนะ

Scott Glenn รับบทโค้ช Terry Tinghoff ผมมองเขาเป็นตัวอิจฉา ตอนแรกก็ไม่ได้สนใจอะไร Chris แต่พอเห็นความสามารถของเธอแล้ว จึงต้องการครอบครองเธอ ทางกายไม่รู้ แต่ทางใจ ด้วยการปลุกปั่นหัวให้คิดว่า Tory จะทำทุกอย่างเพื่อเอาเปรียบเธอ นั่นเป็นเหตุให้ Chris กับ Tory เลิกกัน

Kenny Moore รับบท Denny นักกีฬาโปโลน้ำ ที่บังเอิญพบกับ Chris และได้สานสัมพันธ์ กลายเป็นผู้ชายคนรัก ทางใจไม่รู้ แต่ทางกายแน่นอน, นี่อาจดูเป็นความสัมพันธ์ที่ปกติ แต่ลึกๆแล้วผมรู้สึกเหมือน Denny จะเป็นคนตาม Chris นะครับ ผู้หญิงที่แข็งแรงกว่าผู้ชายมีไม่มาก (นักโปโลร่างกายต้องแข็งแรงอยู่แล้ว แต่หนังทำให้เห็นเหมือนว่า Chris แข็งแรงและรอบรู้กว่า Denny)

นักกีฬาคนอื่นๆที่เห็นในหนัง แทบทุกคนเป็นนักกีฬาจริงๆ หลายคนมีชื่อเสียง บางคนก็เคยไปแข่งโอลิมปิกมาแล้ว อาทิ Evelyn Ashford (ว่าที่เหรียญทองในโอลิมปิกครั้งถัดๆมา), Mitzi McMillin (แชมป์อเมริกา Pentathlon ปี 1974), Cindy Gilbert (แข่งกระโดดสูงโอลิมปิก 1972), Linda Waltman (1980 ทีมอเมริกา Pentathlon) ฯ

ถ่ายภาพโดย Michael Chapman ชื่อนี้คอหนังต้องจดจำไว้เลยนะครับ แม้จะไม่เคยได้ Oscar และปัจจุบันเกษียณไปแล้ว แต่เขาเป็นตากล้องยุค 70s-80s ที่สร้างรูปแบบ สไตล์ เทคนิคการถ่ายภาพของตนเองขึ้นมา ผลงานดังๆของเขา คือการเป็นขาประจำของ Martin Scorsese ในหนัง Taxi Driver (1976), Raging Bull (1980) ฯ สำหรับหนังเรื่องนี้ มีมุมกล้องประหลาดๆเยอะมาก ถ่ายเงย 90 องศา, ถ่าย Close-Up บางครั้งก็ระดับ Extreme ติดเรต 18+ ฯ

หนังมีภาพโป๊เปลือยเยอะมาก แรกๆอาจดูตื่นเต้น ไม่นานก็จะรู้สึกเป็นเรื่องปกติ มันไม่ได้ดูแล้วรู้สึก erotic มากนัก, สำหรับ love scene เป็น lesbian sex ที่มีความโจ๋งครึ่ม แต่ก็มีความสวยงามไม่น้อยทีเดียว, มันมีเหตุผลของหนังอยู่นะครับ เพื่อต้องการนำเสนอหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ (flesh-and-blood) เห็นกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ราวกับจะเห็นสิ่งที่อยู่ภายใต้ ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิด ทุกอย่างจริงแท้ จริงใจ, แม้กายภาพภายนอกของผู้หญิงจะต่างกับผู้ชายมาก แต่ข้างในระหว่างทั้งสองเพศไม่มีความต่างกัน ในเมื่อผู้ชายสามารถโชว์กล้ามเนื้อหนังมังสาได้ ทำไมผู้หญิงจะโชว์บ้างไม่ได้

เครดิตการตัดต่อมีถึง 5 คน Jacqueline Cambas, Jere Huggins, Ned Humphreys, Walt Mulconery และ Bud S. Smith แต่ผลงานกลับออกมาได้อย่างลงตัวต่อเนื่องมากๆ, ไฮไลท์อยู่ที่ ช่วงท้ายตอนแข่งขันคัดตัวไปโอลิมปิก ผมไม่รู้จะอธิบายยังไงดี หนังใช้การตัดสลับระหว่างนักกีฬา 5-6 คน ให้เห็นทุกคน ทุกขณะแข่งขัน ทุกถ้วงท่า ช้าบ้างเร็วบ้าง (slow-motion) พูดไปก็ไม่เห็นภาพ ต้องไปดูเอาเองนะครับ ถือเป็นการตัดต่อที่ครอบคลุม ครบครัน ละเอียดอ่อน ลงตัวมากๆ

เพลงประกอบโดย Jill Fraser, Jack Nitzsche นี่ถือว่าไม่โดดเด่นเท่าไหร่ ออกจะเชยๆไปสักนิด (ใช้เพลง pop ยุค 70s) ที่เด่นคือ Sound Effect จับเสียงลมหายใจเข้าออกผ่านทางจมูก ทางปาก, เสียงหัวใจเต้น, เสียงฝีเท้าขณะวิ่ง, เสียงปรบมือ เสียงเชียร์ ฯ ตอนภาพสโลโมชั่นแล้วสามารถยืดเสียง Sound Effect ให้เท่ากับความยาวของซีนได้ นี่ทำให้หนังเหมือน สร้างจังหวะที่เป็นโลกส่วนตัวของตัวละครขึ้น มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังหายใจร่วมไปกับพวกเธอขณะแข่งขัน (จริงๆคือกลั้นหายใจลุ้นการแข่งขัน)

เรื่องราวความรักของสองสาวในหนังเรื่องนี้ เราสามารถเปรียบได้เหมือนกับ อเมริกาvsโซเวียต ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสองประเทศจับมือร่วมกันสู้กับ Nazi, Germany และเอาชนะมาได้ แต่หลังจากนั้นอเมริกาเริ่มมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเมื่อโซเวียตเริ่มทำการรุกรานประเทศอื่น ขยายฐานอำนาจของตัวเอง นี่เป็นเหตุให้อเมริกากับโซเวียตที่เคยเป็นพันธมิตรกันแตกหักกลายเป็นสงครามเย็น, มันก็เหมือนสองสาวที่อยู่ดีๆตกหลุมรักกัน แต่เพราะต่างคนก็ถือว่าเป็นยอดฝีมือ เมื่อถูกยั่วยุจากภายนอกเกิดเป็นเหมือนสงครามเย็น ทำให้ต้องเลิกรากัน ทั้งๆที่ยังโหยหาซึ่งกันและกันอยู่

หนังได้แฝงประเด็นคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ? คือจะเป็นไปได้หรือเปล่าที่คนเราจะทำเพื่อคนอื่นแม้คนที่จะเป็นศัตรูกัน บทพิสูจน์ของ Chris คือเธอช่วยให้ Tory เข้าที่ 3 ส่วนตัวเองยอมที่จะไม่เป็นผู้ชนะอันดับ 1 แค่ขอได้ยืนเคียงข้างเธอ, แม่เจ้า! ถ้าอเมริกากับโซเวียตคิดได้แบบนี้นะ สงครามเย็นไม่เกิดขึ้นแน่ นี่น่าจะคือคำตอบที่ผู้กำกับแอบแฝงไว้ เพื่อตอบโต้การ boycott การแข่งขันของอเมริกา ถ้าเอาความขัดแย้งระหว่างสองชาติโยนไว้ข้างๆได้นะ มันก็ไม่มีอะไรที่จะยิ่งใหญ่สวยงามไปกว่า ‘มิตรภาพ’

เหมือนปีนี้ (2016) ที่นักกีฬาไทย แต้ว พิมศิริ ศิริแก้ว เลือกที่จะคว้าเหรียญเงิน แล้วให้รุ่นน้อง ฝ้าย สุกัญญา ศรีสุราชได้เหรียญทอง การแข่งขันยกน้ำหนักรุ่น 58 กก.หญิง, สรุปการแข่งขันฝ้ายยกได้ 240 กก.(110/130) ส่วนแต้วยก 232 กก.(102/130) แต่ขอสละสิทธิ์ยกคลีนครั้งที่ 3, แต้วเคยยกคลีนได้ถึง 143 กก. แต่ครั้งนี้ยกแค่ 130 กก. เหตุผลชัดมากนะครับ ถ้าเธออกมายกคลีนเพียงแค่ 139 กก. ก็จะได้เหรียญทองแล้ว แต่ขอสละสิทธิ์ ให้รุ่นน้องได้เหรียญทอง (อ้างว่าเรามากันเป็นทีม), เหตุการณ์ลักษณะนี้ถ้าไม่ใช่ในหนัง ผมไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะนักกีฬาไทย ‘ชัยชนะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่คือมิตรภาพที่ยั่งยืนตลอดกาล’ ผมถือว่านี่เป็นโมเมนต์ที่น่าประทับใจที่สุดในโอลิมปิกปีนี้ (ยิ่งกว่าการได้เหรียญทองเสียอีก) และถือว่ามีความยิ่งใหญ่เทียบเท่าพเยาว์ พูนธรัตน์ ได้เหรียญรางวัลแรกในโอลิมปิก และตอนสมรักษ์ คำสิงห์ได้เหรียญทองแรกของไทย

สำหรับโค้ช Terry ผมคิดว่าน่าจะเปรียบได้กับ สหภาพยุโรป ช่วงสงครามเย็นประเทศกลุ่มนี้ตัวแสบเลย คอยปั่นหัวทั้งอเมริกาและโซเวียต เพราะดินแดนประเทศของตน คือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตรงๆ การได้ถือหางข้างไหนมาเป็นพวก ย่อมได้รับประโยชน์มหาศาล (ทั้งที่จริงๆก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย), สำหรับ Denny ผมแทนด้วยประเทศโลกที่ 3 หรือประเทศมหาอำนาจอื่น ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ขอเลือกข้างเพราะจะได้ผลประโยชน์จากการพึ่งใบบุญมหาอำนาจ (เช่น ประเทศไทย)

ผมคิดว่า จริงๆถ้าจะเปรียบ อเมริกาvsโซเวียต ใช้ผู้ชายน่าจะตรงกว่า เพราะเป็นเพศที่เปรียบได้กับการเป็นมหาอำนาจ (แต่ประเด็น ชาย-ชาย อาจจะหนักเกินไปสำหรับยุคนั้น และยิ่งถ้ามีฉาก love scene คงกลายเป็นเรต X แบบ Midnight Cowboy-1969) กระนั้นการใช้ หญิง-หญิง มันเลยสามารถมองได้อีกอย่าง ออกไปทางเสียดสีด่าทอ, ภาษาอังกฤษคำว่า pussy อวัยวะเพศหญิง ที่บางครั้งใช้เป็นคำด่าผู้ชายที่เจ็บแสบ ซึ่งการเปรียบทั้งอเมริกาและโซเวียตเป็นเพศหญิง … ผู้กำกับคนนี้มีความ(ไฟ) ‘แรง’ สูง

การเปรียบเทียบความขัดแย้งระดับประเทศ (การเมือง) กับการแข่งขันกีฬาและความรัก มันทำให้ผมรู้สึก หนังเรื่องนี้สวยงามมากๆ (แม้คุณภาพหนังที่ผมได้ดูมันจะห่วยๆ) สำหรับผู้ชมมองไม่เห็นประเด็นเหล่านี้ เชื่อว่าก็ยังเห็นความสวยงามจากความรัก ความทุ่มเท, ความสดใส ความพยายามของเหล่านักกีฬา แม้สุดท้ายตนจะไม่ได้ไปแข่งโอลิมปิก แต่ก็ตั้งใจทำให้ดีที่สุดในชีวิต (Personal Best)

นี่เป็นหนังที่มีคุณภาพค่อนข้างเก่า ถึงเป็นภาพสีแต่ให้ความรู้สึกล้าสมัย นักดูหนังสมัยใหม่คงไม่ถูกใจเสียเท่าไหร่, หนังยุค 70s-80s ก็เป็นประมาณนี้นะครับ เชยๆ จืดๆ ชืดๆ ซึ่งถ้าคุณสามารถมองข้ามเรื่องยุคสมัย แฟชั่น แล้วไปสนใจองค์ประกอบอื่นๆของหนัง ก็จะเห็นความลึกล้ำ ซ้ำซ้อน สุดยอดในการนำเสนอ, เทคนิคอันเหนือชั้นในหนังเรื่องนี้ ยังถือว่ามีความสดใหม่มาก แม้ในปัจจุบัน และที่สำคัญคือความกล้าในการนำเสนอประเด็น LGBT สมัยนั้นเรื่องพรรค์นี้เปิดเผยนำเสนอออกมาได้ยาก ซ้ำซาก จำเจ นี่ถือเป็นอีกหนึ่งหนัง breakthrough ของ LGBT เลยนะครับ

แนะนำกับ LGBT และคนชมชอบหนังแนวรักโรแมนติก เลิฟซีนมีความสวยงามมากๆ, นักกีฬาทั้งหลาย ดูเพื่อศึกษาเรียนรู้เทคนิควิธีการ, คนทำงานสายภาพยนตร์และศิลปะ นี่เป็นหนังสุดเทคนิคที่น่าจะได้นำไปใช้ประโยชน์แน่ๆ

จัดเรต R กับภาพโป๊เปลือย, ลักษณะแอบถ่าย, love scene และการกระทำที่ล่อแหลม เป็นหนังที่ไม่เหมาะกับเด็กด้วยประการทั้งปวง

TAGLINE | “Personal Best เป็นหนังที่ best ทุกอย่าง ไม่ว่าโลกจะเกิดปัญหาความขัดแย้งอะไร แต่ฉันจักทำทุกวันให้ดีที่สุด”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] 5. Personal Best (1982)  : Robert Towne ♥♥♥♥♡ […]

%d bloggers like this: