Peter the Great (1937-1938) : Vladimir Petrov ♥♥♥♡
หนึ่งในหนังชวนเชื่อ (Propaganda) ของสหภาพโซเวียต ได้รางวัล Stalin Prize ปี 1941 (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี) จากความพ่ายแพ้ย่อยยับในการสงครามกับ Sweden จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 (Peter the Great) เริ่มต้นใหม่จากศูนย์ ฟื้นฟูประเทศ นำพารัสเซียเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ก่อตั้งเมือง Saint Petersburg และกลายเป็นมหาอำนาจแห่งยุโรปทั้งทางบกและทางน้ำ
สหภาพโซเวียตในช่วงกลางยุค 30s เป็นช่วงที่ Joseph Stalin ไม่ค่อยได้รับความนิยมเสียเท่าไหร่, เขาเป็นผู้จัดตั้งและกลายเป็นผู้นำกลุ่ม การกวาดล้างครั้งยิ่งใหญ่ (Great Purge, 1936-1938) เพื่อคิดบัญชี จัดการ(ฆ่า)ผู้ต่อต้านแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ให้หมดสิ้นไปจากรัสเซีย และยังได้ทำการยกระดับ เปลี่ยนแปลงอาชีพพื้นฐานของประชาชน จากการเกษตรสู่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ นี่ทำให้เกิดความขัดแย้ง สงครามภายใน (Civil Wars) อย่างต่อเนื่องยาวนาน
สื่อภาพยนตร์ ศิลปะที่เกิดขึ้นในรัสเซียยุคนั้น จึงมักมีใจความนำเสนอประวัติศาสตร์ การเมือง ที่สนับสนุนแนวคิดก้าวหน้าของผู้นำ Starlin อาทิ Alexander Nevsky (1938), Ivan the Terrible (1944, 1958) ของ Sergei Eisenstein และ Peter the Great ของ Nikolay Simonov, ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถมองว่า Peter the Great ถือเป็นหนัง ‘ชวนเชื่อ’ ของสหภาพโซเวียต ที่มีจุดประสงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการยอมรับ เสียสละ และทำตามแนวคิดของผู้นำประเทศ
ดัดแปลงจากบทละครของ Alexei Tolstoy เป็นบทภาพยนตร์โดย Vladimir Petrov และ Nikolay Leshchenko แบ่งเรื่องราวออกเป็น 2 ภาค ฉายแยกปี, ทั้งสองเรื่องใช้ชื่อรัสเซียว่า Pyotr Pervyy I/II ส่วนชื่อภาษาอังกฤษจะใช้ว่า
– Peter the First (1937) ตั้งแต่แพ้สงคราม สูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง ซาร์ปีเตอร์กลับกรุงมอสโคว์, รัสเซีย เพื่อเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างใหม่ วางแผน สร้างรากฐาน ส่งลูกหลานไปเรียนการช่าง การสงครามในยุโรป เพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศ จนเมื่อทุกอย่างพร้อม รัสเซียก็ประกาศความเกรียงไกร เอาชนะทุกศึกสงคราม สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วยุโรป
– Conquest of Peter the Great (1938) แม้จะสามารถเอาชนะศัตรูภายนอกได้ แต่ปัญหาหนึ่งที่แก้ไม่ตกคือ ศัตรูภายใน ซึ่งคนที่เป็นตัวการสำคัญในการต่อต้านแนวคิดก้าวหน้าของซาร์ปีเตอร์ ก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล คือลูกชายแท้ๆของพระองค์เอง Tsarevich Alexei Petrovich
จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Peter Alexeyevich) หรือ ปีเตอร์มหาราช (1672-1725) แห่งราชวงศ์ Romanov ขึ้นครองราชย์เมื่อปี 1682 เป็นซาร์แห่งรัสเซียทั้งหมด (Tsar of All Russia) จากนั้นยกตนขึ้นเป็น จักรพรรดิแห่งรัสเซียทั้งหมด (Emperor of All Russia) ในปี 1721 จนกระทั่งสวรรคตในปี 1725
ในช่วงรัชสมัยซาร์ปีเตอร์ที่ 1 พระองค์ได้ทรงสร้างประเทศให้กลายเป็น ‘จักรวรรดิ’ (Empire) ที่น่าเกรงขาม ทั้งด้านการทหาร มีกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุดในทะเล Baltic, ด้านการทูต เปิดประเทศให้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศอื่นในยุโรป, อีกทั้งยังรับเอาความเจริญ อารยธรรมทุกๆด้าน วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เข้ามาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาประเทศ จนทันสมัยตามแบบอย่างอารยประเทศทางยุโรปตะวันตก
พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ได้การสร้างกรุง Saint Petersburg หลังจากที่รัสเซียสามารถยึด Poltava คืนได้จาก Sweden ในปี 1703 โดยว่าจ้างให้ Domenico Trezzini ชาว Swiss Italian และต่อมา Jean-Baptiste Alexandre Le Blond ชาวฝรั่งเศสเป็นสถาปนิกออกแบบพระราชวังใหม่ พระเจ้าซาร์ทรงชื่นชมศิลปะและสถาปัตยกรรมยุโรปตะวันตกเป็นอันมากและเห็นว่ามีความเหมาะสมกับรัสเซียมากกว่าศิลปะแบบดั้งเดิม, เมื่อสร้างเสร็จ พระองค์และพระราชวงศ์ทรงย้ายมาประทับ ณ เมือง Saint Petersburg ในปี 1710 ก่อนที่จะประกาศให้เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นนครหลวงแห่งใหม่ในปี 1721 และเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า ‘หน้าต่างแลยุโรป’
นำแสดงโดย Nikolai Simonov (1901-1973) รับบทจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย, พระเจ้าซาร์ เวลาสุขพึงพอใจ จะหัวเราะปากกว้างเต็มที่ที่สุด เวลาเสียใจก็จะซึมเศร้าคิ้วขมวด เสียใจเป็นที่สุดเช่นกัน, หนังรัสเซียยุคนี้ เน้นการคัดเลือกนักแสดงที่ใบหน้าเหมือนตัวจริง หรือสามารถแสดงอารมณ์ออกมาผ่านสีหน้าได้ตรงๆ, การแสดงของ Simonov ผมถือว่าเป็น Expressionist ที่คุณสามารถเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ของตัวละครนี้ได้ (ผ่านหน้าตา) แม้จะไม่รู้ว่าเขาพูดอะไร!
Simonov เป็นนักแสดงคนเดียวของรัสเซีย ที่สามารถคว้า Stalin Prizes ได้ถึง 3 ครั้ง นี่ถือว่าไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นหนึ่งในนักแสดงคนสำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัสเซีย, นอกจาก Peter the Great อีกสองครั้งที่ได้รางวัลนี้ มาจากหนังเรื่อง The Battle of Stalingrad (1949) และละครเวทีเรื่อง Winners (1946) ของ B. F. Chirskova
Nikolai Cherkasov รับบท Tsarevich Alexei Petrovich พระราชโอรสหัวแก้วหัวแหวนของซาร์ปีเตอร์ แต่เป็นคนหัวโบราณ นี่อาจเพราะปมโอดิปุสเรื่องพ่อที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกร ทำให้ลูกรู้สึกอิจฉา หวาดกลัว หวาดระแวงในความสำเร็จ ทั้งๆที่บัลลังก์ก็เป็นของตนอยู่แล้ว แต่กลับปล่อยให้ขุนนางชี้ชักนำ ไม่มีความคิดของตนเอง จนกลายเป็นคนทรยศต่อชาติ ต่อแผ่นดิน
นี่ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่ผมเห็นปมโอดิปุสจากลูก ที่มีพ่อเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร Mughal-E-Azam (1960) ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ที่ถึงขนาดทำสงครามกลางเมืองเพื่อล้มบัลลังก์พ่อเลย, นี่กลายเป็นสิ่งที่น่าพิศวงอย่างมาก เหมือนว่า ถ้ารัชสมัยหนึ่งมีกษัตริย์ผู้มีความสามารถยิ่งใหญ่เกรียงไกร ก็มีแนวโน้มว่าพระราชโอรส หรือรุ่นลูกหลานต่อมา จักมิอาจเทียบเท่าความยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษได้ เมื่อเกิดปมนี้ เขาจึงพยายามทำบางสิ่ง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ตัวเองไม่ต้องพึ่งบุญญาบารมีพ่อ ก็สามารถยิ่งใหญ่ได้
สำหรับ Cherkasov ถ้าคุณดูหนังของประเทศรัสเซียมาเยอะอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตา เขาคือนักแสดงผู้รับบทนำใน Alexander Nevsky (1938) และ Ivan the Terrible (1944, 1958) ถือว่าเป็นนักแสดงรัสเซียที่มีชื่อเสียงสุดยิ่งใหญ่เคียงข้างกับ Simonov (อาจโด่งดังเป็นที่รู้จักกว่าด้วยซ้ำในระดับนานาชาติ)
ถ่ายภาพโดย Vyacheslav Gordanov และ Vladimir Yakovlev, ฉบับที่ผมดูใน Youtube มีคุณภาพค่อนข้างแย่ แต่รู้สึกได้ถึงความยอดเยี่ยมในการจัดแสงและเงา ที่สะท้อนบรรยากาศ อารมณ์ความรู้สึกของเรื่องราวในฉากนั้น, งานภาพส่วนใหญ่เป็น Mid-Shot ถ่ายให้เห็นลำตัวและใบหน้าของนักแสดง ถือว่าเป็นระยะกลาง ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป, สำหรับฉากสงคราม มีความอลังการที่สัมผัสได้ แม้ส่วนใหญ่จะเห็นแต่ฝุ่น ควัน และกล้องไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร แต่ก็ถือเป็น Cinematic รูปแบบหนึ่ง (ให้รู้ว่ามีสงครามและผลแพ้ชนะเท่านั้น) ขณะสู้รบเวลาภาพตัดมาที่ซาร์ปีเตอร์ออกคำสั่ง จะใช้มุมเงยขึ้นเห็นครึ่งตัว ด้านหลังเป็นท้องฟ้า หรือไม่ก็ธงชาติโบกสะพัด ราวกับเป็นพระเจ้าสั่งการมาจากเบื้องบน
การตัดต่อ… น่าจะ Vladimir Petrov หนังใช้มุมมองของซาร์ปีเตอร์เป็นหลัก แต่หลายครั้งจะเปลี่ยนไปใช้มุมมองของพระราชโอรส Tsarevich Alexei ที่มักชอบวางแผน ทำอะไรบางอย่างที่ขัดประสงค์ของพระบิดา, การดำเนินเรื่องช่วงแรกๆจะค่อนข้างช้าและเนิบนาบ ใช้ความอดทนสักหน่อย ถึงจะเห็นความสวยงามที่บรรจงปราณีต พอผ่านไปแล้ว เมื่อถึงฉากสงคราม งานเลี้ยง การตัดต่อก็จะรวดเร็วฉับไว สนุกสนาน ครื้นเครง มีชีวิตชีวาขึ้นอย่างน่าสนเท่ห์
สิ่งหนึ่งของหนังที่ค่อนข้างน่าจดจำคือ เพลงประกอบโดย Vladimir Shcherbachov ที่มีความหลากหลาย แสดงถึงอารมณ์ของซาร์ปีเตอร์ในฉากต่างๆ มีทั้งที่เจ็บปวด น่าสงสาร, ฉากสงคราม ตื่นเต้นยิ่งใหญ่อลังการ, งานเลี้ยง สนุกสนานครึกครื้น, หนังใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านรัสเซียผสมผสานดนตรีคลาสสิกได้อย่างลงตัว
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ประทับใจภาคแรกมากกว่าภาคสอง, ภาคแรกนำเสนอวิสัยทัศน์ แนวคิด วิธีการของซาร์ปีเตอร์ จากประเทศที่ไม่หลงเหลืออะไรอีกแล้ว เริ่มจากใหม่ วางรากฐานให้เข็มแข็ง มองการณ์ถึงอนาคต ให้เวลาค่อยๆฟูมฟัก จนเมื่อถึงเวลาก็จักเห็นผลที่ยิ่งใหญ่, ส่วนภาคสองนำเสนอปัญหาภายใน ประเทศชาติกำลังไปได้ดี แต่กลับยังมีคนโง่ที่พยายามถ่วงดุลอำนาจ และพยายามนำพาประเทศกลับไปสู่หายนะ
เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่คนในยุคสมัยนั้นย่อมมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ซาร์ปีเตอร์คิดทำ กาลเวลาจะเป็นสิ่งพิสูจน์คุณค่าความยิ่งใหญ่นั้นเอง เมื่อคนรุ่นใหม่มองย้อนกลับไป จะรู้สึกทึ่งในวิสัยทัศน์อันกว้างไกล, ก็เหมือนกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรานี้ ผมค่อนข้างเชื่อว่าเมื่อ 60-70 ปีก่อน ตอนครองราชย์ใหม่ๆ คงไม่มีใครคิดหรอก ว่ายุวกษัตริย์พระองค์นี้จะสามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ เพื่อประชาชนได้ ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์แล้ว คงไม่ต้องพูดอะไรอีก
อีกสิ่งที่ประทับใจมากๆจากหนัก คือการแสดงของทั้ง Nikolay Simonov และ Nikolay Cherkasov รับบทพ่อลูก รักกัน เกลียดกัน ได้น่าประทับใจอย่างยิ่ง (ทั้งสองไม่ใช่ พ่อลูก พี่น้อง ญาติกันเลยนะครับ คนละนามสกุล แค่ดันชื่อเดียวกันเท่านั้น) จิตใจของซาร์ปีเตอร์ ไม่ว่าลูกจะทำอะไรเลวมา ก็พร้อมให้อภัยได้เสมอ แต่ถ้าทรยศแผ่นดิน แม้แต่พระองค์ก็ไม่สามารถตัดสินได้ ผลลัพท์จึงต้องล้อมวงให้เป็นหน้าที่ของตัวแทนประชาชดจัดการ
สำหรับประเด็น ภาพยนตร์ชวนเชื่อของสหภาพโซเวียต จริงอยู่เมื่อตอนหนังสร้างสมัยนั้น ย่อมมีความตั้งใจลักษณะนี้อยู่แล้ว ผมเคยพูดไว้แล้วใน The Great King (1942) ที่ก็เป็นหนังชวนเชื่อของ Nazi แต่เมื่อเวลาผ่านไป จักรวรรดิ, สหภาพ ฯ ที่เป็นต้นเหตุของสิ่งชวนเชื่อได้ล่มสลายไปแล้ว หนังเรื่องนี้เลยกลายเป็นแค่ ‘ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์’, ดูหนังในสมัยปัจจุบัน คงไม่มีใครรู้สึกถึงความชวนเชื่อที่แฝงอยู่ในหนังแม้แต่น้อย กาลเวลาทำให้ผู้ชมมองเห็นความตั้งใจในการสร้างหนังเปลี่ยนไป แต่ขอให้อย่าลืมจุดประสงค์แรกสุดของหนังที่สร้างนะครับ ตระหนักไว้เฉยๆก็ได้
ตอนหนังฉายถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งสองภาค และเมื่อ Petrov นำหนังไปฉายในยุโรป ฝรั่งเศสและอเมริกา ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี ทั้งแนวทางการกำกับและนักแสดงนำ ‘เปรียบหนังดั่งภาพวาดงานศิลปะ ที่เต็มไปด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี และเป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วย passion’ (It is a great historical fresco, which does honor to the Soviet cinema. The film is full of passion.)
แนะนำกับนักประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจักรวรรดิรัสเซียในสมัย จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 มหาราช, คอหนังคลาสสิกเก่าๆ นี่ถือเป็นหนังคุณภาพดีเรื่องหนึ่ง
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศของหนังที่ค่อนข้างเครียด แฝงแนวคิดที่รุนแรง
Leave a Reply