The Noose

The Noose (1958) Polish : Wojciech Has ♥♥♥♥

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ Wojciech Has นำเสนอ 24 ชั่วโมงของคนอยากเลิกเหล้า แต่กาลเวลากลับเคลื่อนพานผ่านไปอย่างเชื่องชักช้า จนเกิดความตระหนักว่าไม่มีทางดิ้นหลุดพ้น ‘บ่วงรัดคอ’ ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์

เกร็ด: Noose แปลว่า บ่วง ห่วง บาศ เส้นเชือกทำเป็นวงสำหรับคล้อง จับมัด ดักสัตว์ หรือผูกรัดคอ (สำหรับแขวนคอ)

มีคนเรียกร้องอยากให้ผมเขียนถึงผลงานของผกก. Has มาสักพักใหญ่ๆ แต่ก็มีเหตุเป็นไปจนแคล้วคลาดมานาน กว่าจะหาเวลาได้สักที ถึงอย่างนั้นถ้าเริ่มต้นที่สองผลงานชิ้นเอกก็กลัวจะขาดตกบกพร่องอะไรไป เลยเลือกมาสองสามผลงานก่อนหน้า เพื่อเรียนรู้จัก สร้างความมักคุ้น สไตล์ลายเซ็นต์ ความสนใจ ไม่แน่ว่าอาจจะเจอเพชรเม็ดงาม

และก็โดยทันที The Noose (1958) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างความประทับใจให้ผมอย่างมากๆ ชื่นชอบไม่น้อยไปกว่า The Lost Weekend (1945) หนังขี้เมาของผู้กำกับ Billy Wilder แต่ส่วนตัวรู้สึกว่า Has ทำได้ลุ่มลึกล้ำ น่าสนใจ เพราะแฝงนัยยะที่ชาวโปแลนด์รับชมแล้วอาจเกิดความเจ็บปวด รวดรันทด ระทมทุกข์ทรมาน

นั่นเพราะแทนที่ขี้เมาจะเลิกเหล้าได้สำเร็จ เขากลับมิอาจอดรนฝืนทน ครึ่งหลังของหนังคือเรื่องราวการจมปลัก รับรู้ว่าชีวิตไม่มีหนทางดิ้นหลบหนีจาก Alcoholic/รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ ก็เลยปล่อยตัวปล่อยใจ ดื่มด่ำมึนเมามาย ไม่สนห่าเหวอะไรอีกต่อไป ก่อนจบลงด้วย … The Noose


Wojciech Jerzy Has (1925-2000) ผู้กำกับสัญชาติ Polish เกิดที่ Kraków ค้นพบความชื่นชอบด้านการวาดรูปตั้งแต่เด็ก ช่วงระหว่าง Nazi Germany ยึดครอง Poland ในสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าศึกษายัง Szkoła Handlowa w Krakowie แล้วต่อด้วยสาขาภาพยนตร์ Academia de Arte Frumoase Jan Matejko ระหว่างนั้นมีโอกาสเป็นผู้ช่วยตากล้อง ผู้ช่วยผู้กำกับ Two Hours (1946), แล้วเข้าร่วม Warsaw Documentary Film Studio กำกับสารคดี/หนังสั้น Harmonia (1948), และเมื่อกลายเป็นสมาชิกกลุ่ม Polish Film School สรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Noose (1958)

If Wojciech Has had become a painter, he would surely have been a Surrealist. He would have redrawn antique objects with all their real accoutrements and juxtaposed them in unexpected ways.

นักวิจารณ์ Aleksander Jackiewicz ให้คำนิยามผู้กำกับ Wojciech Has

ผลงานของ Has อาจดูเหมือนพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นการเมือง มุ่งเน้นสร้างโลกส่วนตัว บรรยากาศเหนือจริง สะท้อนจิตวิทยา แต่ลึกๆแล้วตัวเขามีความสนใจในสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงซุกซ่อนเร้นทุกสิ่งอย่างไว้ในวัตถุ สิ่งข้าวของเชิงสัญลักษณ์ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในระบอบการปกครองพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์

I reject matters, ideas, themes only significant to the present day. Art film dies in an atmosphere of fascination with the present.

Wojciech Has

สำหรับ Pętla ต้นฉบับคือเรื่องสั้นแต่งโดย Marek Hłasko (1934-69) นักเขียนชาว Polish รวบรวมอยู่ในหนังสือ Pierwszy krok w chmurach (1956) แปลว่า A First Step into the Clouds ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากทั้งผู้อ่านและนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกขายหมดเกลี้ยงแผงโดยทันที ถึงขนาดทำให้ Hłasko ได้รับรางวัล(อะไรสักอย่าง)จากสมาคมนักเขียน Polskie Towarzystwo Wydawców Książek

แรงบันดาลใจเรื่องสั้น Pętla ของ Hłasko มาจากเพื่อนนักเขียน นักกวีขี้เมา Władysław Broniewski (1897-1962) วันหนึ่งประกาศกร้าวว่าจะเลิกดื่มเหล้า เพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการเขียนกวีบทใหม่ เพิ่งเริ่มต้นไม่ทันไรก็มีโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบ พอได้ยิน Broniewski กล่าวว่าต้องการจะเลิกดื่ม วางสายไม่ถึงสิบห้านาทีก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เพื่อนอีกคนกล่าวแสดงความยินดีที่อีกฝ่ายมีความมุ่งมั่นตั้งใจ อีกสิบนาทีต่อมา ห้านาทีต่อมา พอถึงสายที่แปดก็หมดสูญสิ้นอารมณ์ “Idź po wódkę!” แปลว่า “I’m going to get a vodka!”

Has ใช้เรื่องสั้นของ Pętla เป็นเพียงจุดตั้งต้น แล้วต่อยอดเรื่องราวให้มีลักษณะเวียนวงกลม เหมือนบ่วงคล้องคอ เริ่มต้นจากเหตุการณ์วุ่นๆในห้องพัก จากนั้นออกเดินไปรอบๆกรุง Wrocław, Dolnośląskie แล้วหวนกลับมาตายรัง (กลับมายังอพาร์ทเมนท์) รวมระยะเวลา 24 ชั่วโมง


Kuba Kowalski (รับบทโดย Gustaw Holoubek) คือชายขี้เมาที่วันนี้ตัดสินใจลางาน เฝ้ารอคอยเวลา 8 โมงตรง การมาถึงของแฟนสาว Krystyna (รับบทโดย Aleksandra Śląska) ตกลงนัดหมายกันว่า 5-6 โมงเย็น จะพาไปพบหมอเพื่อรับประทานยาเลิกเหล้า Antabus® สำหรับลดแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด

แต่ยังไม่ทันไรเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นไม่หยุดหย่อนของผองเพื่อน พูดคุยแสดงความยินดียินร้าย สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ เลยออกจากห้องพักร่อนเร่ไปตามท้องถนนกรุง Wrocław, Dolnośląskie ที่ยังมีสภาพปรักหักพัง พบเจอเพื่อนฝูง อดีตแฟนสาว มีเรื่องชกต่อย ถูกควบคุมตัวมาถึงโรงพัก ก่อนจบลงยังบาร์แห่งหนึ่ง มิอาจอดกลั้นฝืนทนได้อีกต่อไป


Gustaw Teofil Holoubek (1923-2008) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ Polish เกิดที่ Kraków โตขึ้นเข้าร่วมสงครามโลกในแคมเปญ September Campaign แล้วถูกจับเป็นเชลยสงครามยัง Altengrabow หลังถูกปล่อยตัวเข้าร่วมกลุ่มนักแสดงใต้ดิน ต่อมาสามารถสอบเข้าศึกษา The Juliusz Słowacki Theatre มีผลงานละครเวที สำหรับภาพยนตร์โด่งดังจากร่วมงานขาประจำผกก. Wojciech Has ตั้งแต่ The Noose (1958), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Law and the Fist (1964), Jezioro Bodeńskie (1986) ฯลฯ

รับบท Kuba Kowalski (ชื่อภาษาอังกฤษมักใช้ว่า Jacob Kowalski) ชายหนุ่มล้มป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) แม้มีความตั้งใจจะเลิกดื่มวอดก้า แต่หลังจากถูกกดดันจากผองเพื่อน สภาพแวดล้อมรอบข้าง แถมวันเวลาก็เคลื่อนพานผ่านไปอย่างเชื่องช้า ท้ายสุดก็มิอาจอดรนฝืนทน แวะเข้าบาร์ ดื่มสุราเมามาย พร้อมได้เพื่อนใหม่ พูดคุยกันอย่างถูกคอจนกระทั่งดึกดื่น พอกลับถึงห้องพักพบแฟนสาวมาเฝ้ารอคอย เช้าตื่นขึ้นมารู้สึกสาสำนึกผิด ตระหนักว่าตนเองคงไม่มีวันหวนกลับมาเป็นปกติ

[Holoubek] belongs to that species of actor who always plays only himself, yet one can never get enough of him.

การแสดงของ Holoubek ช่วงแรกๆมักมีสายตาล่องลอย เหม่อมองอะไรก็ไม่รู้ ดูวอกแวก รุกรี้รุกรน เต็มไปด้วยความกระวนกระวาย แต่หลังจากเหล้าเข้าปาก ทุกสิ่งอย่างก็ค่อยๆลื่นไหล วิวัฒนา(อา)การมึนเมาได้อย่างโคตรๆแนบเนียน โดยที่ผู้ชมอาจไม่ทันรับรู้ตัว … มารู้ตัวอีกทีก็เห็นในสภาพขี้เมา ตาลอยๆ คอยหาเรื่องชาวบ้าน พูดอย่างเชื่องชา เดินตุปัดตุเป๋ ล้มลงนอนขวางทางกลางถนน

อดไม่ได้ที่จะต้องเปรียบเทียบ Gustaw Holoubek กับ Ray Milland จากภาพยนตร์ The Lost Weekend (1945) แต่ผมก็ไม่สามารถเลือกว่าใครโดดเด่นกว่าใคร เพราะต่างคนต่างสไตล์

  • Milland คุ้นๆว่ามีความหงุดหงิดเกรี้ยวกราด ทำให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจ ระบายความรู้สึกดังกล่าวออกมาเป็นนวนิยาย
  • ขณะที่ Holoubek ดูโดดเดี่ยวอ้างว้าง เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า จนไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไร สุดท้ายหมดสิ้นหวังอาลัย เลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต

ผมพยายามหาข้อมูลว่า Kuba ทำอาชีพอะไร? แต่ก็ไม่พบเจอรายละเอียดใดๆ (ต้นฉบับเรื่องสั้นคืออาชีพนักเขียน แบบเดียวกับ Władysław Broniewski ที่เป็นแรงบันดาลใจ) ถ้าใครช่างสังเกตในหนังอาจคาดเดาว่าเป็นศิลปิน สรรค์สร้างผลงานศิลปะเหนือจริง (Surrealist) ถึงอย่างนั้นการไม่ระบุอาชีพตัวละคร สามารถเหมารวมถึงใครก็ได้ ทำงานอะไรก็ได้ และน่าจะเปรียบเทียบชาวโปแลนด์ มีสภาพ(ทางจิตวิทยา)ไม่แตกต่างจากชายคนนี้สักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดย Mieczysław Jahoda (1924-2009) ตากล้องสัญชาติ Polish ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าเรียนคอร์สภาพยนตร์ Warsztatu Filmowego Młodych แล้วมาย้ายมาศึกษาต่อยัง Instytut Filmowy w Krakowie ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ถ่ายทำสารคดีให้สตูดิโอ Wytwórnia Filmów Oświatowych จากนั้นเปลี่ยนมาเรียนการถ่ายภาพ ณ Łódź Film School กลายเป็นผู้ช่วยตากล้อง, เครดิตถ่ายภาพเรื่องแรก Zimowy zmierzch (1957), โด่งดังจากร่วมงานขาประจำผกก. Wojciech Has ตั้งแต่ The Noose (1958)

สไตล์ของผู้กำกับ Has จัดเต็มด้วยลูกเล่นภาษาภาพยนตร์ ‘mise-en-scène’ ตั้งแต่ทิศทางมุมกล้อง ตำแหน่งตัวละคร การขยับเคลื่อนไหว รายละเอียดที่สร้างความน่าฉงนสงสัย ชักชวนให้ขบครุ่นคิดว่ามีนัยยะแฝงอะไร (เรียกว่ามีความเป็น Surrealist ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกนี้เลยนะ) และโดยเฉพาะการอาบฉาบใบหน้าตัวละครด้วยแสง-เงา เพื่อสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตวิทยาตัวละครขณะนั้นๆออกมา

ผมรู้สึกว่างานภาพของหนัง รับอิทธิพลจากโทรทัศน์/ละครเวทีค่อนข้างมาก มักให้นักแสดงหันหน้าเข้าหากล้อง ระยะ Medium Shot แม้สายตาเหม่อล่องลอยไปทางอื่น (เพื่อไม่ให้มีลักษณะ “Breaking the Fourth Wall”) แต่ก็เหมือนกำลังพูดคุยสนทนากับผู้ชม วิธีดังกล่าวมอบสัมผัสเหนือจริง (Surrealist) อยู่ไม่น้อยเลยละ!

แม้ช่วงปีที่สร้างจะพานผ่านสงครามโลกมานับทศวรรษ แต่กรุง Wrocław, Dolnośląskie กลับยังไม่ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นผกก. Has ไม่ได้ต้องการใช้ประโยชน์จาก Neorealist สภาพปรักหักพังที่พบเห็น เพียงสะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละครเท่านั้นเอง


ผลงานยุคแรกๆของผกก. Has ช่วงระหว่าง Title Sequence จะทำการเบลอภาพพื้นหลัง นำเสนอสิ่งที่เป็นไฮไลท์ วัตถุแฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ จนกว่าจะสิ้นสุดเครดิตถึงค่อยปรับโฟกัสให้กลับมาคมชัด

ซึ่งสำหรับ The Noose (1957) ก็คือ(สาย)โทรศัพท์ อุปกรณ์สำหรับติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก ซึ่งตอนจบจะถูกใช้แทนเส้นเชือกผูกมัดรัดคอ เวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น

ผมมีความเพลิดเพลินในการอ่าน ‘mise-en-scène’ ระหว่างตัวละครพูดคุยสนทนา เดินไปเดินมา ตำแหน่ง ทิศทาง มุมกล้อง ระยะภาพ แสง-เงา แต่ความแปลกประหลาดที่สุดในห้องพ้กของ Kuba ก็คือเฟอร์นิเจอร์ประกอบฉาก ชวนให้ครุ่นคิดว่าอาชีพของชายคนนี้ก็คือศิลปิน จิตรกร ออกแบบโมเดลสามมิติ

  • ช่วงต้นเรื่องจะพบเห็นภาพเหมือนใครบางคน (ตัวแทนของบรรพบุรุษกระมัง) เพื่อสื่อถึงการยังเป็นบุคคลมีตัวตน
  • แต่ภายหลังหลงเหลือกรอบรูปว่างเปล่า สื่อถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน ชีวิตไม่หลงเหลืออะไรอีกต่อไป
  • โมเดลสามมิติ มีลักษณะเค้าโครงร่างสิ่งมีชีวิต หรือก็คือตัวละครที่แทบไม่หลงเหลืออะไรติดตัว

มุมกล้องเงยขึ้นเห็นเพดาน ชวนให้ครุ่นคิดว่าการสนทนาทางโทรศัพท์ ราวกับคำพูดจากเบื้องบน สรวงสวรรค์ แม้เป็นการแสดงความยินดี(ที่กำลังจะเลิกเหล้า)แต่กลับสร้างความรู้สึกกดดัน บีบบังคับ และพอคุยไปคุยมาสักพัก ใบหน้าของ Kuba ก็ถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด เมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นครั้งต่อไป ก็มิอาจอดรนทนไหว เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจอย่างรุนแรง

กรอบรูปภาพที่แตกร้าว สามารถเปรียบเทียบถึงสภาพจิตใจของตัวละคร ตอนต้นเรื่องทำการปัดกวาด ทำความสะอาด แล้วเปลี่ยนกระจกบานใหม่ แต่ช่วงท้ายของหนังระหว่างมึนเมา ก็มีเหตุให้เขาย่ำเหยียบ แตกละเอียด แทนความหมดสิ้นหวังอาลัย ไม่มีกระจิตกระใจทำอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อไป

ผมพยายามสังเกตรูปภาพหลังการเช็ดถู พอมองออกคร่าวๆว่าคือหญิงสาวสองคนกำลังนั่งรอคอยอะไรบางอย่าง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบตรงๆถึง Kuba ที่ก็กำลังรอคอยช่วงเวลานัดหมายกับแฟนสาว

อุตส่าห์หลบฝนให้เด็กขัดรองเท้า (อาชีพที่สื่อถึงจุดต่ำสุดของชีวิต) หนึ่งในเพื่อนสนิทของ Kuba หลังจากเดินข้ามร่องถนนแห่งความเป็น-ตาย รอดชีวิตจากการถูกรถเฉี่ยวชน ก็ตรงเข้ามาจับมือ พูดคุยโน่นนี่นั่น พร่ำอะไรก็ไม่รู้ซ้ำๆซากๆ แล้วจู่ๆกล้องเคลื่อนตามสายตามาพบเห็นโลงศพ(ไม่หลั่งน้ำตา) บอกใบ้ถึง ‘Death Flag’ ของหมอนั่น (และรวมถึงอนาคตของ Kuba เองด้วย)

จะว่าไปการพร่ำพูดของบรรดาเพื่อนฝูง (ทั้งที่โทรศัพท์มาสนทนา และพบเจอหน้าครานี้) ต่างมีลักษณะเหมือนการโฆษณาชวนเชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ พยายามเกลี้ยกล่อม ล้างสมอง ให้ประชาชนกระทำตามที่บอกกล่าว บรรยายสรรพคุณลดละเลิกสุรา แล้วทุกสิ่งอย่างย่อมดำเนินในทิศทางดีขึ้น … จริงๆนะเหรอ?

อุบัติเหตุ ความตายไม่ทันตั้งตัวของเพื่อนคนนั้น ทำให้ Kuba ก้าวเดินสวนทางกับทุกสรรพสิ่งอย่าง ด้วยความโดดเดี่ยวลำพัง บนทิวทัศน์ท้องถนนแห่งความเวิ้งว่างเปล่า (นี่ถือเป็นช็อต Abstract ที่สะท้อนเข้ากับสภาพจิตวิทยาตัวละคร และบังกล่าวถึงอนาคต ผกก. Has สรรค์สร้างภาพยนตร์โดยไม่ดำเนินตามครรลอง ‘Polish Film School’ ยุคสมัยนั้น)

แม้หนังจะอธิบายอุบัติเหตุเกิดจากความมึนเมาของคนขับ เพื่อล้อกับเหตุผลการเลิกเหล้าของ Kuba แต่แท้จริงแล้วแฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของบุคคลผู้มึนเมาในอำนาจหน้าที่ (รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์) ย่อมนำพาผู้โดยสารมุ่งสู่หายนะ (คล้ายๆ รปภ. ในประเทศสารขัณฑ์)

การพบเจอ หวนรำลึกความหลังกับอดีตแฟนสาว นัยยะสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่เด่นชัดนัก แต่ผลงานลำดับถัดไปของผกก. Has เรื่อง Pożegnania (1958) ทำการเปรียบเทียบแฟนเก่า = อดีตประเทศโปแลนด์ (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) คือบุคคลที่พระเอกยังคงครุ่นคิดถึง คำนึง โหยหา แต่ก็มิอาจหวนกลับคืนมาครอบครองรัก … น่าจะสื่อนัยยะเดียวกันนะครับ

Kuba มีเรื่องชกต่อยกับชายคนหนึ่ง แม้เพียงผิดใจกันเล็กๆ แต่ก็ถูกควบคุมตัวมาโรงพัก ทำให้ได้พบกับสารวัตร และขี้เมาขาประจำ ก่อเรื่องอาละวาดเพื่อตนเองจักได้เข้าไปซุกหัวนอกในห้องขัง แล้วจู่ๆก็ส่งเสียงกรีดกราย เจ็บปวดทุกข์ทรมาน สร้างความหลอกหลอนสั่นสะท้าน ใครกันจะอยากเข้าไปสุงสิง

แม้ฉากนี้ไม่พบเห็นการใช้ความรุนแรงใดๆ แต่ในความเป็นจริงยุคสมัยนั้น ตำรวจคือของแสลงของประชาชน(ชาวโปแลนด์) เพราะมักทำการล่าแม่มด จับกุมบุคคลครุ่นคิดเห็นต่าง นำมาทัณฑ์ทรมาน ความเจ็บปวดทำให้ส่งเสียงกรีดร้องลั่น แล้วเข่นฆาตกรรมปิดปาก … สำหรับภาพยนตร์ที่ออกทุนสร้างโดยรัฐบาล ย่อมไม่อาจนำเสนอภาพความรุนแรงเหล่านั้น แต่เราสามารถมองทั้งซีเควนซ์นี้เปรียบเทียบกับสิ่งที่ผมอธิบายไปได้อย่างชัดเจนมากๆ

นอกจากกาลเวลาเคลื่อนพานผ่านอย่างเชื่องชักช้า Kuba ยังพบเห็นสิ่งต่างๆที่ทำให้สภาพจิตใจมีความบอบชอกช้ำ มิอาจอดรนทนต่อวิถีชีวิต สภาพสังคม ผู้คนรอบข้าง จนตัดสินใจเดินตรงเข้าบาร์ยามสามโมงกว่าๆ ดื่มด่ำร่ำวอดก้า ล้มเลิกความตั้งใจเลิกเหล้าในที่สุด

  • ถูกกดดันจากผองเพื่อนทั้งหลาย แม้พวกเขาพูดแสดงความยินดี แต่มีลักษณะเหมือนการชวนเชื่อล้างสมองของคอมมิวนิสต์
  • พบเห็นอุบัติเหตุ ความตายของเพื่อนคนหนึ่ง สะท้อนความมึนเมาในอำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์
  • พบเจอแฟนเก่า หวนรำลึกความหลัง แต่มันก็คืออดีต(ของโปแลนด์)ที่ไม่ทางหวนกลับคืนมา
  • มีเรื่องชกต่อยเพียงเล็กน้อย ถึงขนาดถูกพาตัวขึ้นโรงพัก ได้ยินเสียงกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด สะท้อนถึงการใช้อำนาจในทางมิชอบของตำรวจ/หน่วยงานรัฐ

ระหว่างกำลังดื่มด่ำร่ำสุรา Kuba ได้พบเจอกับชายแปลกหน้า เพียงมองตาก็รู้ใจ เหมือนคนเคยพานผ่านอะไรๆมาด้วยกันมา แต่หลังจากเริ่มมึนมา พวกเขาก็เกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เนื่องเพราะ Kuba ไม่สามารถยินยอมรับสภาพความจริง เกิดอาการหวาดกลัวต่อเรื่องเล่าสถานบำบัดคนติดเหล้า

Then… houses without doorknobs, white room … which you can’t leave. 4 walls and you. Your memories, your hangovers. You can cry, swear, pray, hit your head against the wall, but you’ll never be given a doorknob.

เดี๋ยวนะ นั่นมันสถานบำบัดคนติดเหล้าหรือคุกกันแน่? คำบอกกล่าวของเพื่อนขี้เมาคนนี้ สื่อนัยยะเชิงสัญลักษณ์ถึงการถูกปิดตาย ไม่มีทางที่ชาวโปแลนด์จะสามารถดิ้นหลบหนีจากเงื้อมมือเผด็จการคอมมิวนิสต์

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเคอร์ฟิวของโปแลนด์สมัยนั้น กำหนดไว้ตอนกี่โมงยาม แต่น่าจะประมาณ 3-4 ทุ่ม (ถึง 6 โมงเช้า) สังเกตจากเริ่มพบเห็นทหารหาญเดินสวนสนามผ่านไป นี่คือช่วงเวลาที่ทั้งประเทศเงียบสงัด บนท้องถนนไร้ผู้คน สร้างความเงียบเหงา วังเวง Kuba เดินตุปัดตุเป๋ ล้มกลิ้งลงนอนกลางถนน (ล้อกับช่วงวันเวลานัดหมายที่ตัวละครไม่สามารถเฝ้ารอคอย ดื่มสุราตั้งแต่ประมาณบ่ายสาม) โชคยังดีมีคนรู้จักพากลับห้องพักได้ทันท่วงที

Krystyna เฝ้ารอคอย Kuba คงตั้งแต่เวลานัดหมาย (5-6 โมงเย็น) แต่เขาเพิ่งกลับมาถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม ในสภาพมึนเมา พบเห็นเงาสลัวๆอาบฉาบใบหน้าทั้งสองขณะกำลังเปิดประตูเข้าห้องพัก แสดงถึงความขุ่นมัวที่อยู่ภายในจิตใจของพวกเขา

  • สำหรับ Krystyna คือความผิดหวังที่มีต่อ Kuba
  • แต่สำหรับ Kuba มันคือความผิดหวังต่อตัวตนเอง ที่ผิดคำมั่นสัญญาเคยให้ไว้กับ Krystyna

ค่ำคืนดึกดื่นไม่รู้เวลา (ผมคาดว่าช่วงประมาณตี 3-4 เพื่อล้อกับตอนประมาณบ่าย 3-4 ที่ Kuba เริ่มดื่มด่ำร่ำสุรา) Kuba ฟื้นตื่นขึ้นมา เดินวนไปวนมารอบห้อง (ไม่สามารถออกไปไหนเพราะอยู่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว) ตระหนักถึงชีวิตอันเวิ้งว่างเปล่า โดดเดี่ยวลำพัง ไร้เป้าหมาย เพียงว่ายเวียนวน จนกระทั่งโทรศัพท์ดัง แต่เขาก็วางลงแล้วพูดพร่ำกับตนเอง

Drunkards can’t be trusted!

ความหมายแท้จริงของประโยคนี้ก็คือ บุคคลผู้มึนเมาในอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ เป็นพวกไม่มีความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง!

ช็อตสุดท้ายของหนัง กล้องถ่ายภาพออกไปนอกหน้าต่างที่ยังปิดอยู่ โดยปกติแล้วคือสัญลักษณ์ของการโหยหาเสรีภาพ (จะมองว่าหญิงสาว=สัญลักษณ์ของ(เทพี)เสรีภาพ ก็ได้เช่นกัน) แต่เมื่อหน้าต่างยังปิดอยู่ สามารถสื่อถึงตัวละคร/ชาวโปแลนด์ขณะนั้น ยังไม่มีโอกาสได้รับ(เสรีภาพ)

ส่วนภาพวาดหญิงสาว ช่างมีความละม้ายคล้ายแฟนเก่าของ Kuba สามารถสื่อถึงความโหยหาโปแลนด์ในอดีต (ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง), แต่สำหรับคนไม่ทันสังเกตเห็น จะตีความว่าเธอเป็นตัวแทนโปแลนด์ในอุดมคติก็ได้เช่นกัน (ที่ไม่ใช่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์)

ตัดต่อโดย Zofia Dwornik ขาประจำผู้กำกับ Wojciech Has ตั้งแต่ The Noose (1958),

ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาตัวละคร Kuba Kowalski ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ตั้งแต่แปดโมงเช้าเปะๆ เฝ้ารอคอยการนัดหมายแฟนสาว 5-6 โมงเย็น แม้เวลาจะมีการก้าวกระโดด ‘Time Jump’ อยู่เรื่อยๆ แต่ตัวละครกลับมิอาจอดรนทน จนต้องออกมาเตร็ดเตร่นอกห้องพัก พอประมาณสัก 3 โมงก็ตรงเข้าบาร์ สั่งวอดก้า จอกแล้วจอกเล่า รับรู้ตัวอีกทีก็ตอนตื่นขึ้นเช้าวันใหม่ ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังในตนเอง

โครงสร้างของหนังมีลักษณะแบ่งเป็นตอนๆละโดยเฉลี่ยชั่วโมง (ซึ่งจะมีการดูนาฬิกา สอบถามเวลาอยู่บ่อยๆครั้ง) โดยผมจะขมวดหมวดหมู่แค่ก่อน-หลัง Kuba ยกซดวอดก้า

  • ครึ่งแรก: ช่วงเวลาแห่งความหวัง พยายามจะเลิกเหล้า
    • 8 โมงเช้า อยู่ในอพาร์ทเม้นท์ เฝ้ารอคอยการมาถึงของแฟนสาว Krystyna
    • 9 โมงเช้า ได้ยินเสียงโทรศัพท์ไม่หยุดหย่อน
    • 10 โมงเช้า ตัดสินใจลงมาจากห้องพัก หยุดทักทายร้านขายของชั้นล่าง
    • 11 โมงเช้า อุตส่าห์หลบให้เด็กขัดรองเท้า แต่เพื่อนคนนั้นก็ยังตรงเข้ามาพูดคุย
    • เที่ยงตรง แวะดื่มกาแฟ พบเจอแฟนเก่า
    • บ่ายสองครึ่ง ถูกควบคุมตัวมาโรงพัก พบเจอกับขี้เมาขาประจำในคุก
    • 15:25 ออกเดินทางไปบาร์
  • ครึ่งหลัง: ช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง หวนกลับมาดื่มด่ำร่ำสุรา
    • มาถึงตอน 15:30 เลยสั่งวอดก้ามาดื่ม ผ่านไปสองสามแก้วพบเจอชายแปลกหน้า
    • เบียร์มาส่งตอน 5 โมงเย็น แต่ Kuba ก็ไม่สนใจอะไรแล้ว ดื่มด่ำพูดคุยสนุกสนานกับชายแปลกหน้า
    • จากนั้นประมาณสักสองทุ่ม มีเรื่องชกต่อยจึงถูกลากพาตัวออกไปนอกร้าน
    • ช่วงเวลาเคอร์ฟิว (น่าจะ 3-4 ทุ่มกระมัง) ระหว่างกำลังเตร็ดเตร่หาทางกลับห้องพัก Kuba ก็ทิ้งตัวลงนอนกลางถนน พบเจอเพื่อนอีกคนอาสาขับรถพาไปส่ง
    • มาถึงหน้าห้องพัก พบเจอกับ Krystyna น่าจะตอนประมาณ 4-5 ทุ่ม
    • ตื่นขึ้นมากลางดึก คงประมาณตี 3-4 เดินวนไปวนมาหาขวดเหล้ามาดื่ม
    • จากนั้นตอนกำลังจะ 8 โมงเช้าของอีกวัน ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต

ผมประทับใจการนำเสนอ ‘Time Jump’ อย่างมากๆ มีความลื่นไหลอย่างแนบเนียน ช่วงแรกๆผู้ชมอาจครุ่นคิดว่าประเดี๋ยวมันก็คงผ่านไป แต่การรับรู้เวลาซ้ำๆซากๆบ่อยครั้ง 9 โมง, 10 โมง, 11 โมง, เที่ยง, บ่ายหนึ่ง, บ่ายสอง ฯลฯ สักพักก็จักเริ่มเกิดความรำคาญ และโดยไม่รู้ตัวรู้สึกว่ามันเชื่องช้าชิบหาย! เมื่อไหร่ 5-6 โมงเย็นจะมาถึงสักที

และพอหลังจากเริ่มดื่มวอดก้า เวลามันก็หมดสูญสิ้น ไร้ความสลักสำคัญอีกต่อไป ครึ่งหลังของหนังจึงแทบไม่พบเห็นนาฬิกาบอกเวลา แต่เราก็สามารถคาดเดาได้ไม่ยากนะครับ (อย่างที่ผมประมาณไว้)


เพลงประกอบโดย Tadeusz Baird (1928-81) คีตกวีสัญชาติ Polish ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกจับมาใช้แรงงานหนัก อาศัยอยู่ในค่ายกักกัน หลังจากนั้นค้นพบความสนใจดนตรี โดยเฉพาะการแต่งเพลง ก่อตั้งกลุ่ม Group 49 เพื่อทำเพลงสะท้อนแนวคิด Socialist Realism แต่หลังการเสียชีวิตของ Joseph Stalin ก็เปลี่ยนมาเป็นแนว Serialism มีผลงานทั้งออร์เคสตรา, Concerto, Chamber Music, ประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Noose (1958), Night Train (1961), Samson (1961), The Passenger (1963) ฯลฯ

งานเพลงของ The Noose (1958) ต้องชมเลยว่ามีวิธีการนำเสนออันน่าทึ่ง ด้วยความคิดสร้างสรรค์โคตรบรรเจิด ซึ่งสามารถแบ่งแยกออกเป็น …

  • ช่วงแรกๆที่ยังอยู่ในห้องพักของ Kuba จะได้ยินเสียงไวโอลินล่องลอยมาจากภายนอก ก่อนพบเห็นใครบางคนกำลังซักซ้อมอยู่อีกห้องหับ
  • Sound Effect ระหว่างฝนตกพรำ พอรถชนก็ได้ยินเสียงอื้ออึงของผู้คน และเสียงหวอรถพยาบาล
  • ในร้านอาหารกลางวัน เริ่มจากเสียงซักซ้อมเปียโน พออดีตแฟนสาวมาถึงก็เพิ่มเติมคำร้อง ท่วงทำนองโรแมนติก
  • ที่โรงพัก จะได้ยินเสียงร้องเพลงของชายขี้เมาในห้องขัง
  • มาถึงบาร์ ช่วงแรกๆจะยังเงียบสงัด พอเริ่มมึนเมาจักได้ยินวงดนตรีบรรเลง เต็มไปด้วยความครึกครื้นเครง
  • ช่วงเวลาใกล้เคอร์ฟิว ได้ยินเสียงขับร้องประสานเสียงของกลุ่มทหารหาญ
  • Soundtrack บรรเลงระหว่างกำลังตุปัดตุเป๋ เดินทางกลับห้องพัก
  • ตื่นขึ้นมายามดึกดื่น ได้ยิน Soundtrack เสียงเครื่องเป่าที่สร้างความหลอกหลอน ราวกับลมหายใจเฮือกสุดท้าย

ลักษณะของเพลงประกอบ จะมีการผันแปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและสถานที่ มีทั้ง diegetic และ non-digestic music ไม่ได้มุ่งเน้นความไพเราะหรือน่าจดจำ แต่สามารถสะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละครขณะนั้นๆ คลอประกอบพื้นหลัง ให้ความรู้สึกเหนือจริง (Surrealist) มากกว่าสร้างบรรยากาศสมจริง (Realist)

ในส่วนของ non-digestic ที่เป็น Soundtrack ดังระหว่างเดินทางกลับห้องพัก และตื่นขึ้นมายามค่ำคืนดึกดื่น เอาจริงๆสามารถมองว่าเป็น diegetic music ก็ยังได้! เพราะคือช่วงเวลาที่ตัวละครกำลังมึนเมา ขาดสติ อาจหูแว่ว ครุ่นคิดจินตนาการไปเอง หรือเสียงจากวิทยุ เครื่องส่งสัญญาณกระจายเสียง ฯลฯ


มองอย่างผิวเผิน The Noose (1957) นำเสนอความตั้งใจที่ล้มเหลวของชายขี้เมา ต้องการเลิกเหล้าเข้าพรรษา แต่มิอาจสามารถอดรนทนต่อผู้คน สภาพแวดล้อมรอบข้าง ค่อยๆสูญเสียความเชื่อมั่น ในที่สุดก็เลยยินยอมรับความพ่ายแพ้ ดื่มด่ำร่ำสุราจนมึนเมามาย พอตื่นเช้าฟื้นคืนสติเลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต มิอาจยินยอมรับสภาพตนเองได้อีกต่อไป

การดื่มของ Kuba ไม่ใช่เพราะต้องการหลงลืม หรือสร้างความสนุกสนานครึกครื้นเข้าสังคม แต่เหตุผลก็คือ ‘ฆ่าเวลา’ ที่ดำเนินไปอย่างเชื่องชักช้า เต็มไปด้วยความน่าเบื่อหน่าย ช่วงเวลานัดหมายมันช่างเยิ่นยาวนาน ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ พอถึงจุดๆหนึ่งก็มิอาจอดรนทน และเลิกสนว่าเวลานั้นจะมาถึงหรือไม่

There’s no such bad luck, no loneliness, no woman, for whom it’s worth to drink. But only those who lost all to drinking know it. Those who have to drink. Those who start drinking have no idea. Vodka is a truth one always understands when it’s too late.

Kuba Kowalski

โดยปกติแล้วภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับที่เป็นศิลปิน ‘auteur’ มักต้องมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ กึ่งๆอัตชีวประวัติ แต่ผู้กำกับ Has ไม่ใช่ทั้งขี้เมาหัวราน้ำ เคยติดยา หรือจังซี่มันต้องถอนอะไรสักสิ่งอย่าง

นัยยะจริงๆของ The Noose (1957) สะท้อนความรู้สึกของผกก. Has ต่อสภาพแวดล้อมรอบข้าง สถานการณ์การเมืองประเทศโปแลนด์ ภายใต้การปกครองพรรคคอมมิวนิสต์ เปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ไม่แตกต่างจากการถูกผูดมัดรัดคอ ลูกไก่ในกำมือ บีบก็ตาย คลายก็รอด ไม่สามารถดิ้นหลบหนี เอาตัวหลุดรอดพ้น จมปลักอยู่ในวังวน อนาคตไม่เคยมี ความสุขีบังเกิดขึ้นแต่ในแก้วสุรา

สำหรับชาวโปแลนด์ (และผู้กำกับ Has) ปัจจุบันเป็นสิ่งเยิ่นยาวนาน กาลเวลาเคลื่อนพานผ่านไปอย่างเชื่องช้า แถมยังถูกสภาพแวดล้อม/ใครต่อใครกดดันรอบด้าน (ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์) สร้างความอึดอัดทุกข์ทรมาน แถมไม่สามารถลุกขึ้นมาทำอะไร เดินไปทางไหนก็พบเจอแต่สภาพปรักหักพัง หนทางตัน ได้เพียงแต่เฝ้ารอคอยอนาคต (อิสรภาพของโปแลนด์) ที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่? หรือเวลานั้นจะมาถึงไหม?

แต่คนส่วนใหญ่ย่อมมิอาจเฝ้ารอคอยชาติหน้าตอนบ่ายๆ (กว่าโปแลนด์จะสามารถปลดแอกจากคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต ก็ย่างเข้าทศวรรษ 90s โน่นเลยนะครับ) เลยจำต้องปล่อยตัวปล่อยกาย ดื่มสุราย้อมใจ ไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไรนอกจากแสวงหาความสุขใส่ตน อดรนทนไม่ไหวก็ปลิดชีพตัวเอง … นั่นคือเหตุผลที่ผกก. Has ละทอดทิ้งโลกความจริง (Realist) และหันหน้าสู่ความเหนือจริง (Surrealist)

แซว: อัตราการบริโภคสุราในประเทศโปแลนด์ มีรายงานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 (4 ลิตรต่อคนต่อปี) เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อถึง ค.ศ. 1980 (8 ลิตรต่อคนต่อปี)

ผมครุ่นคิดว่านัยยะเชิงสัญลักษณ์ของโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) น่าจะสื่อถึงอาการมึนเมาในอำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ บริหารประเทศอย่างขาดสติ ไร้เหตุไร้ผล ใครจะเป็นจะตายไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น เพียงกระดกเหล้าเข้าปาก กระทำสิ่งตอบสนองใจอยาก ให้ได้รับความพึงพอใจส่วนตน


ความที่หนังมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับขี้เมาและจบลงด้วยความหมดสิ้นหวัง แม้ไม่โดนแบนในประเทศโปแลนด์ แต่กลับก็ถูกสั่งห้ามนำออกฉายนอกประเทศ เพื่ออะไรกัน?

ซึ่งกว่าที่หนังจะเริ่มแพร่หลายในระดับนานาชาติ ก็เมื่อครั้นจัดทำเป็น DVD คุณภาพถือว่าพอใช้ได้ สามารถหารับชมบนเว็บไซด์ archive.org มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ

ผมมีความเพลิดเพลินในการอ่านภาษาภาพยนตร์ เต็มไปด้วย ‘mise-en-scène’ ที่น่าหลงใหล สิ่งต่างๆให้ขบครุ่นคิดตามมากมาย หรือจะปล่อยตัวปล่อยใจ สัมผัสบรรยากาศความโดดเดี่ยวอ้างว้าง วันเวลาเคลื่อนพานผ่านอย่างเชื่องชักช้า และเมื่อตัวละครตัดสินใจเข้าบาร์ ใครต่อใครย่อมค้นพบว่านี่ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับการเลิกเหล้า แต่คือความพยายามเล่าให้ฟังว่ามันเกิดห่าเหวอะไรขึ้นในประเทศโปแลนด์

โดยปกติแล้วหนังเกี่ยวขี้เมา มักพยายามสอดแทรกข้อคิด สอนให้รู้จักพิษภัย และวิธีการเลิกเหล้า! แต่สำหรับ The Noose (1958) นำพาตัวละครจมลงสู่ก้นแก้ว ดื่มมันเข้าไปจอกต่อจอก เอาจนผู้ชมรู้สึกว่าท้องไส้ปั่นป่วน ผมว่านั่นสร้างจิตสำนึกให้คนชอบดื่มได้มากกว่า The Lost Weekend (1945) หรื Days of Wine and Roses (1962) เสียอีกนะ!

จัดเรต 18+ จากความมึนเมา จนหมดสิ้นหวัง

คำโปรย | The Noose คือบ่วงรัดคอ Wojciech Has และชาวโปแลนด์ ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นจากวังวนของรัฐบาลคอมมิวนิสต์
คุณภาพ | บ่รั
ส่วนตัว | มึนเมา

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: