Piccadilly

Piccadilly (1929) British : E. A. Dupont ♥♥♡

ชาวเอเชียในมุมมองชาติตะวันตกช่วงต้นศตวรรษ 20 คือชนต่ำต้อยด้อยค่า แต่เหมือนอสรพิษร้ายพร้อมแว้งฉกกัด ไร้ซึ่งสามัญสำนึกมโนธรรม ด้วยเหตุนี้จึงมีการปลูกฝังค่านิยม Yellow Peril/Yellow Terror กลายเป็น Stereotype นักแสดงผิวเหลืองปรากฎบนภาพยนตร์เมื่อไหร่ ต้องมาร้าย โหดโฉดชั่ว ตัวอันตราย

ประวัติศาสตร์ผ่านมานานแล้วก็จริง แต่ความเชื่อที่เคยถูกปลูกฝังหยั่งรากลึกในจิตใจคน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถลบเลือนลางจางหาย เลวร้ายยิ่งกว่าเดิมเพราะยุคสมัยนี้ใครๆต่างสร้างภาพลวงหลอกตา จับมือกอดคอถ่ายรูป แต่ลับหลังด่าพ่อล่อแม่ สรรหาช่องโหว่เพื่อฉ้อฉลกอบโกย ตักตวงเพียงผลประโยชน์ใส่ตน

Piccadilly เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สุดอัปลักษณ์ ที่พยายามเสี้ยมสั่งสอน ปลูกฝังโลกทัศนคติ แถมยังสร้างค่านิยมผิดๆเกี่ยวกับชนผิวเหลือง ชาวเอเชีย ว่าแม้มีความสวยเซ็กซี่ มีความน่าลุ่มหลงใหล แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยความโฉดชั่วร้าย ถ้ายังไม่อยากตายก่อนวัย สมควรต้องหลบลี้หนีให้ห่างไกล

Anna May Wong ถึงเธอจะคือ Superstar นักแสดงหญิงคนแรกของเอเชีย (สำหรับ Superstar นักแสดงชายคนแรกของเอเชีย คือ Sessue Hayakawa) ที่ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์ตะวันตก เงินทองไหลมาเทมา แต่ล้วนจากบทบาท Stereotype เล่นเป็นผู้ร้าย อาชญากร ชื่นชอบทรยศหักหลัง กระทำสิ่งผิดหลักศีลธรรมมากมาย! นี่ทำให้ชนชาวเอเชีย/จีนแท้ๆ ยินยอมรับไม่ค่อยได้ ถึงขนาดมีคำเรียกหยาบๆ ‘Banana’ ภายนอกแม้เปลือกสีเหลือง แต่ปอกออกมาข้างในกลับขาวโพน

แต่เราก็อย่ามอง Anna May Wong ในแง่มุมร้ายๆเพราะบทบาทการแสดงเพียงอย่างเดียวเลยนะ คือถ้าไม่มีเธอเป็นผู้เปิดประตูบานแรก ยินยอมก้มหัวคล้อยตามวิถีชาวตะวันตก โอกาสแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมในปัจจุบันอาจไม่เปิดกว้างได้ขนาดนี้


Ewald André Dupont (1891 – 1956) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ German เกิดที่ Zeitz, German Empire โตขึ้นเริ่มจากเป็นคอลัมนิสต์ นักวิจารณ์ หันมาเขียนเรื่องสั้น บทหนัง กำกับภาพยนตร์ Variety (1925) ประสบความสำเร็จใช้ได้ มุ่งสู่สหรัฐอเมริกาเซ็นสัญญากับ Universal แต่เหมือนจะปรับตัวไม่ได้เลยย้ายกลับยุโรป ข้ามมาประเทศอังกฤษ สร้างสามผลงานได้รับจดจำสูงสุดคือ Moulin Rouge (1928), Piccadilly (1929) และหนังพูด Atlantic (1929)

ความสำเร็จอันล้นหลามของ Moulin Rouge (1928) ซึ่งถือเป็นผลงาน Show-Off ของ Dupont จัดเต็มด้านโปรดักชั่นอลังการ เสื้อผ้าหน้าผมระยิบระยับ ตื่นตระการตา (สะท้อนเข้ากับยุคสมัย Prohibition แบบ The Great Gatsby ได้อย่างลงตัว) สตูดิโอ British National Pictures เลยเรียกร้องให้ภาพยนตร์เรื่องถัดไปมีลักษณะคล้ายคลึงติดตามมา

พัฒนาบทภาพยนตร์โดย Enoch Arnold Bennett (1867 – 1931) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ที่มีผลงานทั้งนวนิยาย บทละครเวที บทโอเปร่า และภาพยนตร์

Piccadilly Circus คือชื่อร้านอาหารและไนท์คลับ เจ้าของกิจการคือ Valentine Wilmot (รับบทโดย Jameson Thomas) แม้ลูกค้าแน่นขนัดร้าน แต่เขากลับไม่ค่อยพึงพอใจชุดการแสดงเต้นของ Mabel Greenfield (รับบทโดย Gilda Gray) วันหนึ่งพานพบเห็นพนักงานล้างจานชาวจีน Shosho (รับบทโดย Anna May Wong) มีความลึกลับ ดึงดูด น่าลุ่มหลงใหล เลยยินยอมให้โอกาสเธอขึ้นเวที ปรากฎว่าได้เสียงตอบรับดีล้นหลามอย่างไม่มีใครคาดคิดถึง

โดยไม่รู้ตัว Valentine Wilmot ค่อยๆเคลิบเคลิ้มตกหลุมรัก Shosho ที่พยายามใช้มารยาเสน่ห์ อ่อยเหยื่อสุดแรงเกิด เพื่อให้ตนเองได้ไต่เต้า ประสบความสำเร็จ สุขสบายสมหวัง จนสร้างความไม่พึงพอใจจากอดีตคนรัก Mabel Greenfield ถึงขนาดลักขโมยปืนเพื่อที่จะ…


Anna May Wong ชื่อจริง Wong Liu Tsong (1905 – 1961) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน ทายาทรุ่นที่สองจากบรรพบุรุษเชื้อสายจีน เกิดยัง Los Angeles มีพี่น้องเจ็ดคน แถวบ้านไม่มีชาวจีนอยู่สักคน ทำให้ค่อยๆซึมซับรับอิทธิพลวัฒนธรรมอเมริกันเข้ามาในชีวิต แต่ทุกวันเสาร์ก็ถูกส่งไปร่ำเรียนภาษาจีนเพื่อไม่ให้หลงลืมรากเหง้า,

เมื่อวงการภาพยนตร์เริ่มต้นเข้ามาปักหลักตั้งถิ่นฐานใน Los Angeles สร้างความลุ่มหลงใหลให้กับ Wong โดดเรียนเข้าโรงหนังจนสร้างความไม่พึงพอใจกับครอบครัว แต่เจ้าตัวมุ่งมั่นต้องการเข้าสู่วงการแสดง เริ่มตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ไปอ้อนวอนร้องของผู้สร้าง จนได้ชื่อ C.C.C. (Curious Chinese Child) กระทั่งอายุ 11 ถึงได้ชื่อ Anna May Wong, รับบทนำครั้งแรก The Toll of the Sea (1922), โด่งดังกับบทสมทบ The Thief of Bagdad (1924), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Piccadilly (1929), Daughter of the Dragon (1931), Shanghai Express (1932) ฯ

รับบท Shosho พนักงานล้างจานชาวจีน มีลีลาในการโยกเต้นได้อย่างยั่วเย้าย้วน กลายเป็นที่สนใจต่อเจ้าของไนท์คลับ Valentine Wilmot ต่อรองร้องขอเพื่อให้สิ่งที่ตนปรารถนา ซึ่งเมื่อขึ้นเวทีแสดงความสามารถ สร้างความแปลกใหม่ตื่นตระการตาให้ผู้ชม แต่เธอยังไม่ยอมเพียงพอเท่านั้น เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่ง ยังมีอีกหนึ่งที่ต้องลักขโมยมาให้จงได้

ความ Stereotype ของตัวละครนี้, Shosho เป็นสาวชนชั้นต่ำในสังคม พยายามตะเกียกตะกาย ไต่เต้าสู่ความสำเร็จ โดยไม่สนความถูกผิดศีลธรรม และยังพยายามแก่งแยกฉกชิงชายผิวขาวสุดหล่อ ให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ

ท่าเต้นของ Wong เป็นส่วนผสมที่คงไม่มีใครบอกได้ว่าอะไร แต่ลีลาอันยั่วเย้ายวน เรียนแขนยาวและผอมเพียว แลดูคล้ายอสรพิษพร้อมฉกกัด ซึ่งสิ่งน่าลึกลับสุดคงคือชฎา สวมลงบนศีรษะเพื่อให้สามารถครอบงำจิตใจทุกผู้ชม

แซว: ทรงผมบ๊อบ นำเทรนด์ Flapper และยังเป็น Sex Symbol เอาจริงๆเธอมาก่อน Louis Brooks เสียอีกนะ! แต่เพราะใบหน้าหมวยจีน เลยถูกมองข้ามไม่ค่อยมีใครพาดพิงถึงสักเท่าไหร่

ในบรรดาผลงานการแสดงทั้งหมดของ Wong เรื่องนี้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ น่าจะยอดเยี่ยมที่สุดของเธอ เพราะดูแล้วสะท้อนตัวตน รสนิยม และเหมือนเปะกับชีวิตจริงที่พยายามตะเกียกตะกาย ทำทุกสิ่งอย่างให้ประสบความสำเร็จดั่งใจหมาย … นี่คืออุดมคติของ American Dream แต่เพราะภาพลักษณ์หน้าตาหมวยจีน กลับไม่มีใครมองเห็นว่าเธอคืออเมริกัน!

Jameson Thomas ชื่อเดิม Thomas Roland Jameson (1888 – 1939) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ St George Hanover Square, London โตขึ้นมุ่งสู่ละคร ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Chu-Chin-Chow (1923), โด่งดังกับ Piccadilly (1929) จนมีโอกาสมุ่งสู่ Hollywood, รับบทสมทบ It Happened One Night (1934) ฯ

รับบท Valentine Wilmot เจ้าของร้านอาหารและไนท์คลับ Piccadilly Circus มักมีใบหน้าขมึงตึงเครียด สนแค่เพียงชื่อเสียงความสำเร็จของตนเองเท่านั้น ครั้นพบเห็นลูกค้ารายหนึ่งสร้างความวุ่นวาย (รับเชิญโดย Charles Laughton) ครุ่นคิดว่าการแสดงของ Mabel Greenfield คงขาดเสน่ห์น่าสนใจ และเมื่อได้พานพบเห็นลีลาท่าเต้น Shosho เกิดความหมกมุ่นลุ่มหลงใหล ต้องการทำอะไรสักอย่างกับความรู้สึกนี้

หนวดอันทรงเสน่ห์ ใบหน้าหล่อเข้ม คือภาพลักษณ์ Martinee Idol ของ Thomas ชักชวนให้สาวๆลุ่มหลงตกหลุมรัก วางมาดตัวละครอย่างผู้ดี เย่อหยิ่งด้วยเกียรติศักดิ์ศรี ชื่อเสียงความสำเร็จ การได้พานพบเห็นสาวชาวจีน เก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิดถึง แต่ยังต้องแอบซ่อนเร้นความต้องการแท้จริงไว้ภายใน มิอาจเร่งรีบร้อนเปิดเผยออกมาได้จนกว่าจะถึงเวลาเหมาะสม

เอาจริงๆผมว่าตัวละคร Valentine Wilmot มีลักษณะ Stereotype ยิ่งกว่า Anna May Wong เสียอีกนะ! ชายผู้โหยหาความสำเร็จ ตกหลุมรักการแสดงของหญิงสาว ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเรือนร่างกายเธอด้วย ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไป หมดความเยื่อใยหลงใหล สุดท้ายก็มักทอดทิ้งขว้างจากลา (แบบเดียวกับตัวละคร Mabel Greenfield ไม่ผิดเพี้ยน)


Gilda Gray ชื่อจริง Marianna Michalska (1901 – 1959) นักเต้น/นักแสดงหญิง เกิดที่ Kraków ขณะนั้นคือ Austria-Hungary วัยเด็กถูกพ่อแม่ทอดทิ้งขว้าง เลยถูกส่งไปครอบครัวบุญธรรมยังสหรัฐอเมริกา ใช้ชีวิตเติบโตอยู่ที่ Milwaukee พออายุ 14-15 คลุมถุงแต่งงานกับนักไวโอลิน John Gorecki แม้ไม่นานก็อย่าร้าง แต่ทำให้เธอเกิดความสนใจในบทเพลง การเต้นรำ โด่งดังกับท่า The Shimmy ต่อมาเซ็นสัญญากับ Famous Players-Lasky แจ้งเกิดโด่งดัง Aloma of the South Seas (1926) ติดตามมาด้วย Cabaret (1927), The Devil Dancer (1927), Piccadilly (1929) ฯ

รับบท Mabel Greenfield นักเต้นสาว ลีลาความสามารถพอใช้ได้ แต่เพราะไม่มีอะไรใหม่ ใครๆจึงเกิดความเบื่อหน่าย ถึงพยายามครุ่นคิดทดลองหา แต่มิอาจเทียบความแปลกพิศดารของ Shosho พบเห็นถึงขนาดเป็นลมล้มพับ ค่อยๆแปรสภาพสู่ความอิจฉาริษยา ลักลอบขโมยปืนของ Valentine Wilmot เพื่อที่จะ…

ผมไม่รู้สึกว่า Gilda Gray เป็นผู้หญิงที่สวย ทรงเสน่ห์ เซ็กซี่นั้นอาจใช่ แต่ก็หาความโดดเด่น เอกลักษณ์ เร้าใจ เมื่อเทียบกับ Anna May Wong เรียกว่านางอิจฉาก็ยังได้ เมื่อมิอาจตอบโต้ต่อกร ก็จำต้องใช้ไม้ตาย แต่ที่ไหนได้ … ล้มปากอ่าว!


ถ่ายภาพโดย Werner Brandes สัญชาติ German ที่อพยพย้ายมาทำงานยังประเทศอังกฤษต่อด้วยสหรัฐอเมริกา ผลงานเด่นๆ อาทิ Moulin Rouge (1928), Piccadilly (1929), The Informer (1929) ฯ

หนังสร้างฉากขึ้นอย่างเลิศหรูหรา อลังการใหญ่โต ยังสตูโอ British International Pictures ตั้งอยู่ Borehamwood, ประเทศอังกฤษ แต่ไม่ใช่แค่ภายในร้าน Piccadilly Circus รวมถึงตรอกซอกซอย ถนนหนทาง รถรา รถโดยสารสามารถขับผ่าน พาคนขึ้นลง ดูแล้วตัวประกอบคงไม่น้อยกว่าหลักพัน

ฟีล์มบางฉบับจะมีการย้อมสี เพื่อเป็นการแบ่งแยกบางสิ่งอย่าง
– สีเหลือง/น้ำตาลอ่อน ฉากภายนอกตอนกลางวัน มอบสัมผัสอันอบอุ่นผ่อนคลาย
– สีน้ำเงิน ฉากภายนอกหรือตอนกลางคืน มอบสัมผัสหนาวเหน็บเย็นยะเยือก
– ฉากการเต้นของ Shosho เลือกใช้สีม่วง มอบสัมผัสอันพิศวง ชวนเพ้อฝัน (ถ้าสมัยนี้คือสีของ LGBT)
– และอีกครั้งหนึ่งขาว-ดำ (ไม่ได้ย้อมอะไร) เพื่อนำเสนอเรื่องเล่าย้อนอดีต เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับ Shosho

เพราะทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอ จึงพบเห็นการขยับเคลื่อนกล้องอย่างมีชีวิตชีวา บางครั้งเคลื่อนติดตามตัวละคร หมุนวนโดยรอบ หรือแม้แต่ Whip-pan (เคลื่อนอย่างเร็วโดยมองไม่ทัน พบเห็นเพียงต้นทาง-ปลายทางเท่านั้น) ช่วยเพิ่มความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ แปลกหูแปลกตา ทำให้ฉากการเต้นนั้นดูมีสีสันขึ้นเป็นกองๆ

Opening Credit เป็นอะไรที่เจ๋งมากๆ รถโดยสารแล่นมาหยุดตรงกึ่งกลางภาพ พบเห็นข้อความ ชื่อหนัง เครดิตนักแสดง ผู้สร้าง ติดอยู่ด้านข้างรถ และหลายวินาทีถัดมาก็ขยับเคลื่อนสู่คันต่อไป … นัยยะถึง ชีวิตก็เหมือนการเดินทาง Opening Credit ก็เฉกเช่นกัน!

ผมแอบสงสัยเล็กๆว่า ผู้สร้างต้องการระบายโทนสีแดงในฉากนี้หรือเปล่า เพื่อมอบสัมผัสถึงภยันตราย ความชั่วร้าย แต่กาลเวลาทำให้ฟีล์มเสื่อมสภาพ ผลลัพท์ปัจจุบันเลยออกม่วงจืดๆ แต่ก็สื่อถึงความลึกลับพิศวง ชวนให้ลุ่มหลงใหล เพ้อใฝ่ฝัน โดยเฉพาะท่วงท่าทางอันสุดเซ็กซี่นั้น ไม่ใช่แค่ชายหญิงแต่ยังเก้งก้าง สามารถเพ้อคลั่งจินตนาการแสนไกล

จะว่าไปหนังมีกลิ่นอายนัวร์อยู่เล็กๆ โทนสีต่างๆเทียบแทนอารมณ์เรื่องราว เงามืดยามค่ำคืนสัมผัสได้ถึงภยันตรายคืบคลานเข้ามา โดยเฉพาะห้องพักของ Shosho พบเห็นเงาบานเกล็ดบนผนัง มีลักษณะเหมือนซี่กรงขัง (ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า อะไรที่คุมขังเธออยู่ภายใน)

ขณะที่ Mabel Greenfield ลักลอบแอบติดตามแฟนหนุ่ม พบเห็นเพียงเงาลางๆท่ามกลางความมืดมิด, ฉากในอพาร์ทเม้นท์ของ Shosho ยืนตรงกระจกที่มีลวดลายเหมือนภูเขา ใบหน้าของเธออยู่ตำแหน่งยอดสูงสุด! … เรียกได้ว่าสาวชาวจีนผู้นี้ ได้ไต่เต้ามาถึงจุดสูงสุดแห่งชีวิตแล้วละ (ต่อจากนี้ก็จะเริ่มกลิ้งตกเขา)

อดไม่ได้ที่จะนำความยียวนกวนบาทาของผู้กำกับ ใส่เข้ามาในช็อตรองสุดท้ายของหนังกับป้าย “Life Goes On” จริงๆถ้าจะให้เก๋ากว่านี้ ใช้ภาพนี้แทน The End ไปเลยเสียยังดีกว่า!

ตัดต่อโดย J.W. McConaughty, ดำเนินเรื่องในมุมมองสายตาเจ้าของร้าน Valentine Wilmot นำเสนอสิ่งที่เขาพานพบเห็นกับตัวเท่านั้น ซึ่งช่วงท้ายมีการกระโดดข้ามไปที่ศาล ข้อเท็จจริงต่างๆได้รับการเปิดเผยจากเรื่องเล่าคนอื่น และภาพย้อนอดีตข้อเท็จจริงที่บังเกิดขึ้น!

ผมรู้สึกว่าหนังห้วนไปมากๆ พบเห็นฉากการเต้นเพียง 2 ครั้งใหญ่ๆ (ของ Gilda Gray และ Anna May Wong) ซึ่งยังไม่รู้สึกเต็มอิ่มหนำสักเท่าไหร่่ และความสัมพันธ์ระหว่าง Valentine Wilmot กับ Shosho ยังไม่ทันถึงจุดให้ฟิน จิกกัดหมอน ไคลน์แม็กซ์ก็รีบร้อนมาถึงเสียแล้ว

Sequence ฉากในศาลถือว่าอัปยศมากๆ ไม่ใช่แค่ขัดจังหวะการดำเนินเรื่องที่ผิดรูปแบบแผน แต่ยังชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตัดสินการกระทำของ Shosho สมควรหรือไม่จะได้รับสนองกรรมเช่นนี้ ซึ่งบทสรุปแห่งความอิจฉาริษยา เดี๋ยวคนชั่วมันก็เข่นฆ่ากันเองนะแหละ ไม่ต้องไปแปดเปื้อนเลือดด้วยน้ำมือตนเอง!

แถมท้ายกับ Title Card ซึ่งจะขึ้นแต่บทสนทนาระหว่างตัวละคร ออกแบบมามีลักษณะคล้าย Cubism ดูเลิศหรูหราไฮโซเหมือนเพชรเจียระไน สะท้อนเข้ากับความฟู่ฟ่าฟุ่มเฟือยของหนังได้เป็นอย่างดี

Piccadilly ภาษาละตินแปลว่า Circle, วงกลม ซึ่งใช้เป็นชื่อถนนและวงเวียนหนึ่งใน West End, London บริเวณที่ถือว่ามีความพลุกพล่านที่สุดของประเทศอังกฤษ (นอกจากสนามฟุตบอล เวลามีการแข่งขันนัดสำคัญๆ)

สำหรับ Piccadilly Circus จริงๆแล้วก็คือชื่อวงเวียน ซึ่งแถวนั้นก็จะมีร้านอาหาร, ช็อปปิ้งมอลล์, โรงละคร, Music Hall, รถไฟใต้ดินก็มี ก็ไม่รู้สามารถเปรียบเทียบ สยามสแควร์ ได้เลยหรือเปล่า

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ Piccadilly ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อร้านซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ Moulin Rouge ของฝรั่งเศส สถานที่ดื่มกิน รับชมการแสดง พบปะผู้คน จุดเริ่มต้นแจ้งเกิดของผู้มีความใฝ่ฝันต้องการเป็นนักแสดง ประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดัง

เรื่องราวของ Piccadilly นำเสนอหญิงสาวผู้มีความเพ้อฝันทะเยอทะยาน และมีความสามารถที่โดดเด่นเฉพาะตัว ต้องการสร้างชื่อเสียง ไต่เต้าขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งความสำเร็จ … ประเด็นคือถ้าเธอเป็นคนขาวชาวตะวันตก คงได้รับการยกย่องส่งเสริมสนับสนุน แถมยังลุ้นให้ฉกแย่งชิงครองรักพระเอกสำเร็จ แต่เมื่อผิวสีเหลืองใบหน้าหมวยเชื้อชาติจีน ทำให้ถูกตีตราหน้าว่าเป็นคนอันตราย ดั่งอสรพิษร้าย สามารถแว้งฉกกัด ไร้ซึ่งจิตสำนึกมโนธรรมดีงามใดๆ

ยุคสมัยนั้นในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายที่เรียกว่า Anti-Miscegenation ห้ามแต่งงาน สมสู่ กับบุคคลต่างเชื้อชาติ สีผิว … ไม่แน่ใจว่าประเทศอังกฤษมีไหม (ผมหาข้อมูลไม่พบ เลยเข้าใจว่าอาจไม่มี) แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าสะท้อนแนวคิดดังกล่าวออกมาตรงๆ เมื่อ Shosho เสพสมกับ Valentine Wilmot เธอจึงได้รับผลกรรมตอบสนองอย่างรวดเร็วโดยพลัน

ผู้กำกับ Ewald André Dupont เป็นชาวเยอรมัน แม้ไม่มีรายละเอียดว่าสนับสนุนนาซีหรือเปล่า แต่เขาก็ออกตะลอนไปเรื่อยๆไม่หวนกลับประเทศบ้านเกิดอีก แต่ถึงอย่างนั้นประเด็นการเหยียดเชื้อชาติพันธุ์ ชัดเจนเลยว่าแฝงซ่อนลึกอยู่ในจิตวิญญาณ คล้อยตามความคิดเห็นของคนหมู่มาก ชาวเอเชียคือผู้ร้าย โหดโฉดชั่ว ตัวอันตราย

ขอพูดถึง Anna May Wong อีกสักนิด เธอรับรู้ตัวดีว่าทุกบทบาทได้รับ ล้วนคือมุมมองชาติตะวันตกต่อชาวเอเชีย ถูกตีตราหน้าว่าต้องเป็นผู้ชั่วร้าย แต่จะให้ทำยังไงได้!

ชาวเอเชียที่อพยพสู่ยุโรป/สหรัฐอเมริกา แม้ได้แต่งงานครองคู่คนผิวขาว บุตรหลานก็มักมีลักษณะลูกครึ่ง มองโกลอยด์ก็ไม่ใช่ คอเคซอยด์ก็ไม่เชิง ภาพลักษณ์ไม่ได้รับการยอมรับจากคนท้องถิ่น หรือหากจะหวนกลับสู่รากเหง้าก็ไม่มีใครล่วงรู้จัก

Wong เคยออกเดินทางไปแสวงโชค หางานทำยังประเทศจีนอยู่ปีหนึ่ง แต่ก็ซมซานกลับมา ให้สัมภาษณ์บอกว่า

“… for a year, I shall study the land of my fathers. Perhaps upon my arrival, I shall feel like an outsider. Perhaps instead, I shall find my past life assuming a dreamlike quality of unreality”.

– Anna May Wong

นี่คือปัญหาของบรรดาผู้อพยพ ที่พอให้กำเนิดบุตรหลานรุ่นสอง-สาม-สี่ ก่อเกิดสภาวะสุญญากาศในการปรับตัวใช้ชีวิต เพราะความแตกต่างด้านภาพลักษณ์ เชื้อชาติพันธุ์ ทำให้มนุษย์สร้างอคติขึ้นมาในใจโดยไม่รู้ตัว นั่นเป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์ที่เคยปลูกฝังแนวคิด Yellow Peril/Yellow Terror และยังความเย่อหยิ่งทะนง หลงตนเอง ไม่รู้จักความเพียงพอดี เสมอภาคเท่าเทียม โหยหาความสำเร็จ แต่ก็ครุ่นคิดถึงแค่ตนเอง สุดท้ายก็ … ปล่อยพวกเขาไปดีกว่า “Life Goes On”


ถึงการแสดงของ Anne May Wong จะมีความน่าลุ่มหลงใหล โปรดักชั่นอลังการงานสร้าง ไดเรคชั่นนำเข้าสู่เรื่องราวถือว่ายอดเยี่ยมใช้ได้ แต่กาลเวลาทำให้ชาวเอเชียอย่างเราๆเมื่อมองย้อนกลับไป พบเห็นความอัปลักษณ์ชั่วร้ายของหนังเกินกว่าจะยินยอมรับได้

แต่ก็แนะนำให้รับชมไว้เพื่อเป็นบทเรียน การศึกษา ทำความเข้าใจมุมมองชาติตะวันตกต่อชนชาวเอเชีย จักได้สำเนียกตัวเสียบ้างว่า อย่ามัวไปเทิดทูนฝรั่งมังค่าจนหน้ามืดตามัว ปัจจุบันก็ยังไม่ได้แตกต่างจากอดีตสักเท่าไหร่หรอกนะ มิเช่นนั้นสงครามการค้ามันจะปะทุขึ้นได้อย่างไร!

จัดเรต 15+ กับความเหยียดหยาม ‘Racism’ การเต้นสะบัดช่อ และอาชญากรรม

คำโปรย | Piccadilly สะท้อนความอัปลักษณ์ของชาวตะวันตก ด้วยการนำเสนอภาพอสรพิษที่กลายเป็นตำนานของ Anne May Wong
คุณภาพ | พอใช้
ส่วนตัว | ไม่ชอบเท่าไหร่

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: