Pigs and Battleships (1961) : Shohei Imamura ♥♥♥♥
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกาส่งกองกำลังทหารเข้ามาควบคุมจัดการประเทศพ่ายสงครามญี่ปุ่น นำเอาแนวคิดระบอบทุนนิยมเข้ามาปลูกฝังเผยแพร่ ความเจริญทางวัตถุก้าวกระโดด แต่จิตใจผู้คนตามทันเสียที่ไหน, นี่คือโคตรภาพยนตร์ Black Comedy สะท้อนเสียดสีค่านิยมทางสังคมในยุคสมัยนั้น ชีวิตเต็มไปด้วยความโกลาหล ดั่งฝูงหมูนับพันไล่บดทับ Chimpira (ลูกกระจ๊อกของ Yakuza) หาผัวอเมริกันร่ำรวยสุขสบายกว่า แต่ศักดิ์ศรีความเป็นลูกผู้หญิงอยู่ตรงไหน?
ถือเป็นครั้งแรกของผู้กำกับ Shohei Imamura ได้พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ของตนเองให้แตกต่างจากอาจารย์ Yasujirō Ozu หลังเคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับอยู่นานหลายปี รับอิทธิพลมาก็มาก แต่หลายๆอย่างไม่เห็นพ้องด้วยสักเท่าไหร่ ด้วยความหัวขบถต้องการทำอะไรแตกต่างขัดแย้งจากขนบวิถี หลายๆผลงานของเขาเลยถูกตีตราว่าอยู่ในยุคสมัย Japanese New Wave
Pigs and Battleships เป็นภาพยนตร์ที่ต้องชมเลยว่าแม้งโคตรบ้าพลัง! เรื่องราวเต็มไปด้วยรายละเอียดซับซ้อน นำเสนอด้วยความโกลาหลแต่ไม่มั่วซั่ว คงเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสเข้าถึงบรรยากาศยุคสมัยนั้น ใครเติบโตเอาตัวรอดผ่านมาได้ จิตใจย่อมต้องเข้มแข็งแกร่งอย่างมากทีเดียว
และสิ่งที่เป็นใจความสะท้อนยุคสมัย คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘เกียรติและศักดิ์ศรี’ ก่อนหน้านี้ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องชาตินิยม ต้องยิ่งใหญ่เกรียงไกรเหนือผู้อื่นใดใต้หล้า แต่เมื่อพ่ายแพ้สงครามย่อยยับเยินถูกต่างชาติแทรกซึมเข้ามา อ้างว่าควบคุมดูแลพัฒนาแต่แท้จริงคือบ่อนทำลายค่านิยมทัศนคติเดิม คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นกลายเป็นพวกมักง่ายเห็นแก่ตัว ชายหนุ่มโง่เหมือนหมูเข้าร่วม Chimpira วาดฝันไต่เต้าขึ้นเป็น Yakuza ขณะที่หญิงสาวมองหาชาวอเมริกันร่ำรวย ชีวิตจะได้สุขสบาย
จริงๆทั้งสองแนวคิดนี้ก็ไม่ได้ดีเลวอะไรทั้งนั้นนะ คนสนับสนุนเห็นด้วยต่างเพราะความปรารถนาดี ปฏิเสธต่อต้านทั้งนั้นอ้างเรื่องศักดิ์ศรี อย่างเมืองไทยเราก็มีเยอะแยะ ผู้หญิงจับจ้องหาผัวฝรั่งร่ำรวยค–ใหญ่ เพื่อสนองตัณหาและแก้ปัญหาความยากจนข้นแค้นของตนเอง ล้วนอยู่ที่มุมมองโลกทัศนคติของตัวคุณเอง
Shohei Imamura (1926 – 2006) ปรมาจารย์ผู้กำกับในตำนานของญี่ปุ่น เป็นคนเดียวของเอเชียที่คว้า Palme d’Or ถึงสองครั้งจาก The Ballad of Narayama (1983) และ The Eel (1997), เกิดที่ Tokyo ในครอบครัวระดับกลาง พ่อเป็นหมอ เอาตัวรอดผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างลำบากแสนเข็น ทำงานในตลาดมืดรู้จักเส้นสาย Chimpira, Yakuza เป็นอย่างดี, เข้าเรียน Waseda University สาขาประวัติศาสตร์ตะวันตก แต่เอาเวลาส่วนใหญ่สนใจการเมืองและดูหนัง หลงใหลใน Rashômon (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa คือแรงบันดาลใจให้กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
หลังเรียนจบได้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yasujirō Ozu ที่สตูดิโอ Shochiku Studios อาทิ Early Summer (1951), The Flavor of Green Tea over Rice (1952), Tokyo Story (1953) แต่เพราะความไม่ประทับใจในแนวทางของ Ozu ต่อการนำเสนอภาพลักษณ์ของสังคมญี่ปุ่น ลาออกไปสตูดิโอ Nikkatsu เป็นผู้ช่วย Yuzo Kawashima สร้าง Sun in the Last Days of the Shogunate (1957) ต่อมาได้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Stolen Desire (1958) เรื่องราวของนักแสดงพเนจรที่ได้พบเจอเรื่องราวต่างๆ สะท้อนเข้ากับชีวิตของ Imamura ที่ได้พบเจออะไรต่างๆมากมาย
สไตล์ของ Imamura มีความสนใจอย่างมากเรื่องสังคมชนชั้นต่ำกว่าสะดือของประเทศญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนล่างของมนุษย์กับโครงสร้างของสังคม (ชนชั้นล่าง) สันชาติญาณความต้องการ โดยเฉพาะเรื่อง Sex ด้วยการตั้งคำถาม ‘มนุษย์คืออะไร? แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นอย่างไร?’ (หนังของ Imamura จะต้องมีภาพของสรรพสัตว์สอดแทรกใส่อยู่เสมอ)
“I like to make messy films, and I am interested in the relationship of the lower part of the human body and the lower part of the social structure… I ask myself what differentiates humans from other animals. What is a human being? I look for the answer by continuing to make films”.
หลังจากสร้างภาพยนตร์มาแล้ว 4 เรื่อง เก็บสะสมประสบการณ์ฝีมือเต็มเปี่ยม ผลงานลำดับที่ห้าจึงได้ค้นพบสไตล์ความสนใจ และไดเรคชั่นของตนเอง ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกัน Buta to gunkan ของ Kazu Otsuka (1915 – 1990) กลายเป็นบทภาพยนตร์โดย Hisashi Yamauchi
พื้นหลังเมือง Yokosuka หนึ่งในฐานที่ตั้งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง, เรื่องราวของ Kinta (รับบทโดย Hiroyuki Nagato) สมาชิกใหม่ของกลุ่มยากูซ่า Himori เป็นคนเขลาๆหัวไม่ฉลาดทันคนอื่นเสียเท่าไหร่ ได้รับมอบหมายให้ควบคุมดูแลธุรกิจเลี้ยงหมู ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลืองานสกปรกของแก๊งค์หลายๆอย่าง ถึงขนาดอาสาถ้ามีเหตุให้ถูกจับจะเป็นแพะรับบาปให้เจ้านาย
Kinta ตกหลุมรัก Haruko (รับบทโดย Jitsuko Yoshimura) สาวเสิร์ฟประจำบาร์แห่งหนึ่ง แม่และพี่สาวของเธอพยายามเกลี้ยกล่อมให้แต่งงานกับหนุ่มทหารอเมริกันที่มาชอบพอ จะได้สุขสบายร่ำรวย แต่เพราะความรักใน Kinta พยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาเลิกเป็นอันธพาลหางานสุจริตทำ แต่ก็ไม่เคยฟังคำร้องขอ จนสุดท้ายเมื่ออะไรๆเกิดความผิดพลาด ฟาร์มหมูถูกฉ้อโกง เกิดการทรยศหักหลัง มารู้สึกนึกตัวตอนนั้นทุกอย่างก็สายเกินไปแล้ว
Hiroyuki Nagato (1934 – 2011) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kyoto ในครอบครัวที่ทุกคนไม่เป็นผู้กำกับก็นักแสดง เข้าสู่วงการตั้งแต่เด็ก Hisshôka (1945), โตขึ้นเริ่มมีชื่อเสียงจาก Season of the Sun (1956), กลายเป็นขาประจำของ Imamura ตั้งแต่ Endless Desire (1958), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Nianchan (1959), Kyoto (1963) ฯ
รับบท Kinta ภาษาวัยรุ่นสมัยก่อนเรียกว่า ‘ไอ้กร๊วก’ เป็นคนว๊อกแว๊กเหมือนลิง หยุดอยู่กับที่ไม่ค่อยได้ สมาธิค่อนข้างต่ำ สติปัญญาน้อยนิด ทำให้ถูกโน้มน้าวชักจูงจมูกหลอกลวงได้โดยง่าย สวมหมวกแก๊ป แว่นนักบิน แจ็กเก็ตลายมังกร คงคิดว่าเท่ห์ระเบิด นิสัยซื่อสัตย์จงรักภักดี ทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง วาดฝันสักวันจะได้เป็นเจ้าคนนายคน (ดูไม่เจียมตัวเลยนะ) เบื้องต้นตอนนี้ขอทำงานใช้หนี้ ซื้อบ้านซื้อเตียงนอน แต่งงานอยู่กินกับ Haruko แต่ชีวิตก็มักไม่เป็นไปตามทิศทางนั้นเสียเท่าไหร่
คนที่เคยรับชมผลงานอื่นๆของ Nagato จะรับรู้ว่านั่นไม่ใช่ตัวตนของเขาเลย ซึ่งก็ต้องชมในพลังการแสดงอย่างมาก ทุกฉากที่ปรากฎตัวต้องมีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอด ขยับสายตาว๊อกแวก ปั้นแต่งสีหน้า ทำตัวเอ๋อเหรอ เห็นแล้วเหนื่อยแทน มิน่าละเลยถูกใจจนกลายเป็นขาประจำของผู้กำกับ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นคู่บารมี Nagato-Imamura
Jitsuko Yoshimura (เกิดปี 1943) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น ได้รับการพบเจอโดยผู้กำกับ Imamura แจ้งเกิดกับ Pigs and Battleships (1961) ตามด้วย The Insect Woman (1963) กลายเป็นตำนานกับ Onibaba (1964)
รับบท Haruko สาวเสิร์ฟที่มากด้วยศักดิ์ศรีความทะนงตน ไม่ต้องการให้แฟนหนุ่มทำงานเสี่ยงตายเป็นยากูซ่า ขณะที่ตนเองก็พยายามปฏิเสธไม่รับรักหนุ่มอเมริกัน [นี่มองได้สองเหตุผล 1) เพราะรัก Kinta มากกว่า 2) เย่อหยิ่งในความเป็นคนญี่ปุ่น] จนวินาทีสุดท้าย ขอเลือกทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจเท่านั้น
ผมเคยรับชม Onibaba มาก่อน คลั่งรักในตัว Yoshimura เป็นอย่างยิ่ง ใบหน้าบ้านๆแต่การแสดงเจิดจรัสระดับดาวดารา, กับบทบาทแรกแจ้งเกิดนี้ แววตาเต็มไปด้วยความหวัง เพ้อฝันต้องการออกเดินทางหนีจากสถานที่แห่งนี้ แต่เพราะคนรักยังจมปลักอยู่กับโลกมายา ฉุดเหนี่ยวเกี่ยวดึงเท่าไหร่เขาก็ไม่หันมาสนใจ สุดท้ายได้รับความผิดหวัง แต่ก็สามารถเรียนรู้ที่จะเดินต่อด้วยก้าวย่างของตนเอง
เกร็ด: เหมือนว่าหนังจะไม่ใช่ Sound-on-Film แต่เป็นการพากย์ทับ เพราะปากขยับไม่ตรงเสียงพูดเอาเสียเลย
ถ่ายภาพโดย Shinsaku Himeda ขาประจำของ Imamura และยังเป็นตากล้องสัญชาติญี่ปุ่นคนแรกที่เข้าชิง Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง Tora! Tora! Tora! (1970)
ความหัวขบถของ Imamura ต่อไดเรคชั่นของอาจารย์ Yasujirō Ozu ยกตัวอย่างเช่น
– หนังของ Ozu กล้องจะหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหวติง ใช้การตัดต่อเปลี่ยนมุมมองทิศทางไปมา ตรงกันข้ามกับ Imamura เต็มไปด้วยความโฉบเฉี่ยวรวดเร็วระดับโกลาหล หลายครั้งเป็น Long-Take ครอบคลุมทุกสิ่งอย่างในฉาก
– นักแสดงมักจะพูดช้าเนิบ มีความเรียบง่ายเป็นกันเอง และมักถ่ายช็อตหน้าตรงเวลาสนทนา ตรงกันข้ามกับเรื่องนี้คุยกันน้ำไหลไฟดับ ถ้าจะ Close-Up ใบหน้านักแสดงต้องติดไหล่คู่สนทนา
– เรื่องราวมักแฝงข้อคิด คำตอบ และหนทางออกให้กับประเด็นปัญหาของเรื่องราว, มักมีเหตุการณ์โศกนาฎกรรม คั่งค้างคาตอนจบไว้ไร้ซึ่งชี้แนะคำตอบของปัญหา
ฯลฯ
ถึงกระนั้นก็ยังมีหลายไดเรคชั่นของ Imamura ที่รับอิทธิพลแนวคิดของ Ozu
– การจัดวางตำแหน่ง/องค์ประกอบ สิ่งของและนักแสดงไม่มีการซ้อนทับ พร้อมเรียงลำดับจัดความสำคัญ
– เพลงประกอบมักดังขึ้นระหว่างฉาก ในขณะที่ไม่มีการพูดคุยสนทนา เว้นเสียแต่ถ้าเปิดจากจากวิทยุ หรืออยู่ในผับบาร์เท่านั้น
ฯลฯ
Prologue ของหนัง จะมีขณะที่ Kinta ขโมยหมวกทหารอเมริกันนายหนึ่งนำมาสลับสวมใส่กับของตนเอง แล้วนำพาเข้าตรอกซอกซอยเลี้ยวลดมาจนถึงซ่องโสเภณี นัยยะของการสวมหมวกคือการแปรสภาพกลายเป็นผู้อื่น (ใครเคยเรียนจิตวิทยา น่าจะคุ้นเคยกับทฤษฎีการสวมหมวก) ขณะที่การนำทางเข้ามาคือมุ่งสู่จุดตกต่ำสุดของวิถีความเป็นมนุษย์
มีสองสิ่งของช็อตนี้ที่น่าสนใจ
– Kinta ทำลีลาเหมือนกำลังจะต่อยมวย นี่คงอ้างอิงถึง On the Waterfront (1954) ตัวละครของ Marlon Brando อย่างแน่แท้ ที่ก็ได้กลายเป็นอันธพาล ดีแค่พูด มิอาจทำความฝันสำเร็จได้ดั่งใจ
– มันจะมีขณะ Kinta ทำท่าเลียนแบบ ส่งเสียงอู๊ดๆ บอกใบ้ว่ากำลังจะได้กลายเป็นคนเลี้ยงหมู … นี่ก็สื่อถึงตรงๆนะแหละ หมอนี่ไม่ต่างอะไรจากหมู
ผมว่าพื้นหลังช็อตนี้สื่อความถึงชื่อหนัง Battleships ได้ตรงสุดแล้วละ เพราะทั้งเรื่องเราจะไม่พบเรือรบจริงๆสักลำ *-*
การที่ต้องทำให้ภาพพื้นหลังขนาดใหญ่โต ก็เพื่อจะสื่อถึงชายคนนี้ Sakiyama ผู้เป็น Big-Big-Boss นายทุนของธุรกิจหมูๆ (ที่ไม่หมู) ผู้มีอำนาจพลานุภาพใหญ่โตคับฟ้า (ตัวแทนของอเมริกัน) สามารถกระทำอะไรได้ทุกสิ่งอย่างแบบไม่แคร์สื่อ พอล้มละลายถูกลูกน้องคนหนึ่งเชิดเงิน ก็ตัดสินใจหนีกลับ Hawaii ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างรวมถึงพี่สาวของ Haruko
เลิฟซีนที่เหมือนจะไม่มีอะไรฉากนี้ แต่วินาทีที่ Kinta ดึงเสื้อของ Haruko แล้วก้มลงดูดหัวนม นี่ทำให้ผมนึกถึงปม Oedipus ขึ้นมาเลยนะ เพราะความที่เขาเติบโตมากับพ่อ ขาดความรักความอบอุ่นจากแม่ แต่ก็ยังดีหนังไม่ลามไปถึงการฆ่าพ่อ (แต่ก็มีลงไม้ลงมือใช้ความรุนแรง ปฏิเสธเขาอย่างขันแข็ง)
มาสังเกตอุปกรณ์ประกอบฉากนี้กัน
– เรือใบ คงสื่อถึงชื่อหนัง Battleships
– แก้วน้ำสองใบวางตำแหน่งสูงต่ำ คาดว่าแก้วบนคือตัวแทนของ Kinta (เพราะตัวเขาค่อมอยู่ด้านบนหญิงสาว) น้ำเกือบเต็มแก้ว ยังพอรับอะไรๆได้อีกนิดหน่อย ขณะที่ Haruko แก้วใบล่างคว่ำอยู่ ไม่แน่ใจว่าจะสื่อถึงการปิดกั้นไม่ยอมรับฟัง หรือแก้วเปล่าๆที่สามารถรับอะไรๆได้ทุกสิ่งอย่าง
เรือลำนี้กำลังมุ่งสู่การนำศพไปทิ้งน้ำ ซึ่งเป็นช่วงขณะรุ่นพี่ทั้งสามพูดจาเกลี้ยกล่อมโน้มน้าว Kinta ให้กลายเป็นแพะรับบาปแทนเจ้านายถ้ามีความผิดพลาดอะไรเกิดขึ้น นี่เป็นการสื่อถึงตรงๆเลยว่า การตอบตกลงของ Kinta ในครานี้ จะนำพาเขาไปสู่หายนะ!
ผมนำช็อตนี้มานำเสนอ เพราะอยากให้เห็นลักษณะการจัดวางตำแหน่งนักแสดงที่รับอิทธิพลจากอาจารย์ Ozu มาเต็มๆเลยละ (ลองนึกภาพตามจากเรื่อง Tokyo Story) ใบหน้าของพวกเขาจะไม่ซ้อนทับกัน บุคคลสำคัญสุดนั่งอยู่กึ่งกลาง รองลงมานั่งข้างๆ ลูกกระจ๊อกรออยู่ด้านนอก
อุตส่าห์เอาศพไปลอยกลางทะเล แต่ความตายดันหวนคืนกลับมาหา เลยต้องนำหลบซ่อนชั่วคราวยังใต้ท้องเรือลำหนึ่ง สถานที่ที่คนทั่วไปมองข้ามหรือจุดใต้ตำตอ นี่สะท้อนเข้ากับกิจการของกลุ่มยากูซ่า ลักลอบกระทำสิ่งผิดใต้จมูกของกฎหมายบ้านเมือง
Haruko ดึงเอา Kinta ออกจากวงยากูซ่า เพื่อมาพูดคุยสนทนาถึงเป้าหมายอนาคต ความต้องการแท้จริงในชีวิต ยังเบื้องบนเนินเขาจุดสูงสุดของเมือง Yokosuka พบเห็นวิวทิวทัศนียภาพโดยรอบ
มันจะมีขณะที่ Haruko อยู่ตำแหน่งสูงกว่าบนเนิน ขณะที่ Kinta กระโดดลงมาตรงเนินชั้นต่ำกว่า นั่นสะท้อนถึงสถานะของพวกเขาขณะนี้ คนหนึ่งมีความคิดอ่านสติปัญญาทัศนวิสัยสูงกว่าอีกคนหนึ่ง
ตอนจบของฉากนี้ พบเห็น Kinta กำลังเดินลงจากภูเขาแล้วสะดุดล้ม (นี่มัน Death Flag เลยนะ!) ขณะที่ Haruko จะแค่ตัดไปไม่เห็นขณะเดินลง (แปลว่าถึงตอนจบ เธอก็ยังอยู่จุดสูงสุด ดำเนินตามเป้าหมายชีวิตที่วาดฝันไว้)
แซว: คำพูดตอนจบฉากนี้ของ Haruko คือ ‘Baka Chimpira’ แปลว่าไอ้โง่โจรกระจอก ซึ่งมันดันเป็นคำคล้ายๆตอนที่เธอตะโกนช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์
ฉากนี้แอบประชดประชัน Tatami Shot ของ Ozu อยู่นะ เพราะมุมกล้องอยู่ตำแหน่งสูงกว่าระดับสายตาก้มลงมา ทั้งยังเป็น Long-Take ช็อตเดียวเห็นครอบคลุมทุกสิ่งอย่าง ดำเนินไปจนจบฉาก
ไฮไลท์ของช็อตนี้คือหลังจากสาวๆตบตีกันหลายไปจากฉาก กล้องเคลื่อนไปยังโต๊ะด้านขวาของน้องชายที่ปลีกตัวไปอ่านหนังสือ ‘Chapter III: Japan and the world.’ ซึ่งย่อหน้าที่อ่านออกเสียงดัง ถือว่าคือใจความของหนังเลยนะ
ฉากหมูกินคนทำให้ผมหัวเราะหนักมากเลยนะ นัยยะสื่อถึงลักษณะของระบอบทุนนิยมที่มักชอบกลืนกินพรรคพวกเดียวกันเอง (โกงกันกันเป็นทอดๆ) เฉพาะผู้มีเงินหนากว่าเท่านั้นถึงสามารถเอาตัวรอดอยู่ได้ในสังคม
สังเกตการเลือกมุมกล้องช็อตนี้ ก็พยายามให้เห็นใบหน้าของทุกๆคน (รวมถึงเจ้าหมูที่ถูกกินอยู่ด้วย)
ภรรยากับน้องชายของบอส โต้เถียงกันในแนวคิดที่ว่า เงินทองความสุขสบาย-ศักดิ์ศรีความเป็นคน แบบไหนถูกต้องเหมาะสมควรกว่า ซึ่งนี่สะท้อนเข้ากับ Kinta-Haruko แทบจะไม่ผิดเพี้ยนเลยนะ
บอส Himori เพราะแม่ป่วยตายจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เลยเพ้อครุ่นคิดว่าตัวเองน่าจะสืบทอดพันธุกรรมมาแน่ แต่แค่อดอาหารไดเอทหลายมื้อจนเริ่มปวดท้อง แสดงออกด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส, อาการปวดท้อง สื่อความถึงของการบริโภคของเสีย/ไร้ประโยชน์/เป็นอันตรายเข้าไปเยอะ จนร่างกายมิอาจทนรับไหวเลยแสดงความเจ็บปวดออกมา แต่เพราะมันแค่การคิดไปเองแปลว่าไม่ใช่ถาวร จนกว่าจะเรียนรู้จักอะไรเหมาะสมควรกินให้ถูกหลัก จักมีโอกาสหายขาดจากโรคดังกล่าว
การทะเลาะกันของ Kinta กับ Haruko ไดเรคชั่นฉากนี้จะมีระยะการถ่ายภาพเข้าใกล้กันขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนถึงความรุนแรงในการโต้เถียงขัดแย้ง ซึ่งมันจะมีวินาทีตาต่อตา-ฟันต่อฟัน Close-Up ผ่านไหล่กันและกัน สื่อถึงความไม่พึงพอใจระดับสูงสุดของพวกเขา
แซว: ปลาทองในโถแก้ว คงจะสื่อถึง Kinta-Haruto ต่างจมอยู่ในโลกใบเล็กๆของตนเอง ไร้ซึ่งอิสรภาพเสรีในโลกกว้าง (คล้ายๆสำนวน กบในกะลาครอบ)
ความคิดไปไกลของบอส Himori ขอให้ Kinta นำเอาผล X-Ray ไปให้หมอที่อื่นตรวจสอบ ซึ่งสถานที่ที่เขารับรู้ผลจากคำบอกเล่าคือ สุสาน แถมฝนตกฟ้าคำรามอีกต่างหาก แต่ความที่มันเป็น Death Flag เด่นชัดเกินไป จึงคือการล้อเลียนที่ไม่เป็นความจริงสักกะนิด!
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ตำแหน่งของสุสานอยู่บนที่สูง พบเห็นพื้นหลังคือ Yokosuka เช่นกัน นี่อาจสื่อสะท้อนถึงจุดสิ้นสุดใกล้ตายของเมืองนี้ด้วยก็เป็นได้
นี่เป็นเทคนิคการ Fast-Forward ที่เจ๋งมากๆ เพราะ Haruko ได้คิดทำอะไรบ้าๆอย่างหนึ่งประชดประชันคนรัก Kinto แต่เมื่อมาถึงห้องคิดได้ต้องการหนีเอาตัวรอด แต่สามลุมหนึ่งหรือจะไหว เธอถึงต้อนให้จนมุม จากนั้นกล้องเคลื่อนมาเป็นภาพมุมสูง Bird Eye View จากนั้นหมุนติ้ว 360 องศา (เหมือนเธอตกอยู่ในสภาพมึนเมา ไม่รับรู้เรื่องอะไรทั้งนั้น) ลงเอยภาพช็อตนี้ ในสภาพย่อยยับเยินหลังจากถูกข่มขืนแบบไม่สมยอม
ฉากที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากสุดของหนัง ผมเรียกว่าคือความบ้าคลั่งเสียสติแตก ซึ่งนัยยะของการปลดปล่อยหมูให้เป็นอิสระ เป็นการสื่อถึงช่วงขณะการเซ็นสัญญา US-Japan Security Treaty เมื่อปี 1960 อเมริกายินยอมถอนกำลังทหารส่วนใหญ่ออกจากญี่ปุ่น และมอบคืนประชาธิปไตยหลังควบคุมจัดการอยู่เป็นทศวรรษตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
ความน่าพิศวงของฉากนี้ ฝูงหมูต่างเคลื่อนพลพุ่งกรูเข้าไปหาพวกยากูซ่า คือก็ไม่รู้จากแรงผลักจากธรรมชาติ (ที่หมูมันดันๆกันเดินเข้าไป) หรือเพราะความเคียดแค้นที่จดจำฝังในใจ ถ้าเป็นกรณีหลังราวกับจะสื่อถึงว่า ถึงพวกฉันจะเป็นหมูก็คือสิ่งมีชีวิตจิตใจของตนเอง (มองเป็นเชิงสัญลักษณ์ หมู=ชาวญี่ปุ่น จะสื่อความได้เข้าใจกว่า)
ความตั้งใจของ Imamura ต้องการหมูทั้งหมด 1,500 ตัว แต่ด้วยงบประมาณจำกัดเเลยได้เพียง 400 ตัว แล้วใช้มุมกล้องเล่นหลอกตา เป้าหมายให้ผู้ชมเข้าใจว่าพวกยากูซ่าทั้งหลายถูกบี้บดทับแบนแต๊ดแต๋, นัยยะของการโดนลงทัณฑ์เช่นนี้ คือการโต้ตอบเอาคืนอย่างสาสมจากบุคคล/สัตว์ ที่ถูกมองว่าต้อยต่ำกว่า ผลกรรมเลยเหยียบย่ำลงดิน
แซว: ความเก๋ากวนของช็อตนี้ เห็นป้ายทั้งหลายไหมละครับ Welcome, (Pigs) Club, Export Souvenir
ก่อนมาถึงช็อตจบนี้ของหนัง Haruko ได้เดินฝ่าฝูงกระหังสาว ที่จับจ้องทหารอเมริกันหนุ่มหล่อกำลังล่องเรือเข้ามา เป็นการสื่อถึงความแน่วแน่เด็ดเดี่ยวของเธอ ไม่อีกแล้วที่จะเดินตามธารกระแสของสังคม เลือกเป็นตัวของตนเองขึ้นรถไฟหนีออกจากเมืองแห่งนี้
ความน่าสนใจของช็อตนี้ คือทิศทางของรถไฟที่เคลื่อนออกจากชานชาลา (คงต้องสมมติว่า Haruko ได้ขึ้นขบวนนั้น แม้มันจะออกเร็วเกินไปหน่อยก็เถอะ) มุ่งสู่เทือกเขาสูง ถึงจะบอกว่าเดี๋ยวคงลอดใต้อุโมงค์ แต่ก็สามารถสื่อความหมายได้ถึงการมีชีวิตเริ่มต้นใหม่ยังสถานที่ใหม่ๆ ย่อมไม่มีอะไรง่ายๆเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ตัดต่อโดย Mutsuo Tanji อีกหนึ่งขาประจำของ Imamura ร่วมงานตั้งแต่ Endless Desire (1958), เรื่องราวเริ่มต้นในมุมมองของ Kinta ดำเนินสลับไปมาหลายครั้งกับ Haruko ก่อนเธอจะคือบทสรุปส่งท้าย
ความ Comedy ของหนัง มักมีลักษณะของการตบมุก อาทิ
– ตอนสมาชิกกลุ่ม Himori ไปทวงหนี้จากเจ้าของรถแท็กซี่รายหนึ่ง ไม่ยินยอมเลยใช้กำลังซ้อมจนน่วมได้ไปหลายแผล ขากลับออกมาบอสบอกไม่ไหวแล้วขอกลับก่อน ลูกน้องทั้งหลายโบกแท็กซี่ให้ไปส่งบ้าน
– ฉากกินหมูก็ไดเรคชั่นเดียวกัน เริ่มจากล้อมวงเล่นไพ่นกกระจอก เมื่อหมูลงก็ชักชวนกันกินจนครบทุกคน เสร็จแล้วค้นพบเจอบางอย่างติดฟัน รับรู้ข้อเท็จจริง จากนั้นก็กระจัดกระจายอ๊วกแตกอ๊วกแตนกันถ้วนหน้า
– น้องชายของ Himori เถียงกับภรรยาของพี่อย่างเมามันเรื่องไม่แนะนำให้รับเงินจากพวกไอ้กัน แต่พอ Haruko วิ่งหนีออกไปข้างนอก ตัวเขาอาสาช่วยเหลือจะควักตังให้อีกต่างหาก มันยังไง??
ความซับซ้อนโกลาหลของหนังเกิดจาก Sub-Plot ที่มีมากมายหลายเรื่องผสมปนเปกันอยู่ ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับ Kinta และ Haruko ราวกับพวกเขาคือจุดหมุน รายล้อมด้วยทุกสิ่งอย่าง โดยเฉพาะฉากไคลน์แม็กซ์ปล่อยหมู ที่แทบทุกตัวละครต้องเวียนวนไปอยู่บริเวณนั้น ขนาดว่าบอส Himori เหมือนจะหลุดโลกไปแล้ว พอรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฟีล์ม X-Ray พบเจอนักฆ่าที่ตนจ้างวาน ถึงกับวิ่งหนีหางจุกตูด (คือมันล้อกันอยู่นะ แทนที่จะวิ่งหนีหมู กลายมาเป็นวิ่งหนีคนจะตามมาเอาชีวิตแทน)
เพลงประกอบโดย Toshiro Mayuzumi คีตกวีแนว Avant-Garde สัญชาติญี่ปุ่น ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Street of Shame (1956), Enjo (1958), Stolen Desire (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Tokyo Olympiad (1965), The Bible… in the Beginning (1966) ฯ
เพราะเรื่องราวของหนังมีความสัมพันธ์กับอเมริกาอย่างมาก ตามผับบาร์จะได้ยินดนตรีแจ๊สลอยตามลมมา ขณะที่ Opening/Ending Song ทำนองดนตรีให้สัมผัสคล้ายเพลงมาร์ช แนวรักชาติ(อเมริกัน) คงเป็นการเสียดสีประชดประชัน จงใจให้เกิดความกวนบาทาก็ว่าได้
มันจะมีบทเพลงแห่งความเด็ดเดี่ยวตั้งมั่นดังขึ้นหลายครั้งในหนัง แต่เด็ดสุดคือตอนจบที่ Haruko ตัดสินใจอย่างแน่แน่วแล้วว่าจะออกเดินทางลาจากเมืองนี้ กล้องเคลื่อนติดตามเธอขณะกำลังตรงดิ่งสู่สะานีรถไฟ ทำนองดนตรีค่อยๆเร่งเร้าขึ้นเรื่อยๆ ขณะเผชิญหน้ากับฝูงสาวๆกำลังกรี๊ดทหารอเมริกันชุดใหม่ เดินแทรกตัวสวนทางแบบไม่สนใจ วินาทีนั้นผมรู้สึกอยากลุกขึ้นปรบมือให้โดยทันที
Pigs and Battleships แปลกันตรงๆแบบไม่สนสัญลักษณ์ก็คือ Japanese and American (หมูไร้เขี้ยวเล็บที่ถูกจูงจมูก vs. กองทัพเรือรบมากด้วยแสนยานุภาพ) เพราะความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง และการมาถึงของยุคสมัยภายใต้การควบคุมจัดการของอเมริกัน ได้แปรสภาพให้ชาวญี่ปุ่นเป็นเหมือนดั่งหมู ซื้อถูกๆ-จูงจมูก-ขุนให้อ้วน-แล้วนำไปขายราคาแพงหูฉีก กลายเป็นทาสของระบอบทุนนิยม เงินทองเท่านั้นคือความสุขเอ่อล้น ช่างมันเถอะเกียรติและศักดิ์ศรี ซื้อหากินอิ่มท้องสบายตัวไม่ได้สักหน่อย
ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่าง Kinta กับ Haruko ก็ได้เดินทางมาถึงทางแยก ต่างก็มีแนวคิดทัศนคติต่ออนาคตที่แตกต่าง
– Kinta เชื่อว่าตนเองจะมีโอกาสไต่เต้าขึ้นเป็นใหญ่ จาก Chimpira กลายเป็น Yakuza ประสบความสำเร็จร่ำรวยเงินทอง เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม
– Haruko ต้องการออกจากเมืองแห่งนี้สู่ดินแดนที่มีความสงบสุข หาการงานที่มั่นคงทำ จะมีอนาคตสดใสกว่า
สาเหตุผลที่พวกเขาทั้งสองครุ่นคิดเช่นนี้
– Kinta โตมามีแต่พ่ออดีตทหารเรือ ปัจจุบันพึ่งพาอะไรแทบไม่ได้ เมาหัวราน้ำซมซ่อ ตัวเขาเลยต้องการพิสูจน์ตนเองเอาชนะ เกิดความมักใหญ่ใฝ่สูง หาวิธีทำอะไรก็ได้ให้ประสบความสำเร็จรวดเร็วที่สุด
– Haruko รอบข้างมีแต่แม่ พี่สาวและน้องๆอีกหลายคน เสี้ยมสั่งสอนกรอกหูให้แต่งงานอยู่กันกับหนุ่มทหารอเมริกัน ชีวิตจะได้พบเจอความสะดวกสบาย มีอนาคตอันสดใส ยิ่งพูดเยินยอเทิดทูนมากๆ วัยรุ่นเริ่มคิดเห็นต่างขัดแย้ง ไม่เอาไม่อยากได้แบบนี้ ขอตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตด้วยตนฉันเอง
การสร้างให้ Kinta เป็นคนสมองทึบไอคิวต่ำ ถือว่าเป็นการสะท้อนบอกแบบตรงไปตรงมา บุคคลที่วาดเพ้อฝันอยากประสบความสำเร็จเร็วๆ แต่กลับเลือกเส้นทางโจรผิดกฎหมาย หาใช่พวกมีสติปัญญาสูงส่งแม้แต่น้อยไม่ ขนาดมีหญิงสาวทั้งรักทุ่มเทใจอยู่ข้างกาย ยังดื้อด้านปฏิเสธไม่รับฟัง นี่ถือว่าหมดสิ้นหวังในอนาคต ชะตากรรมตอนจบเลยเป็นสิ่งพอจะคาดเดาได้
ขณะที่ Haruko ถือเป็นตัวละครหนึ่งเดียวคือ ‘ความหวัง’ เพราะเธอเป็นตัวแทนความคิดเห็นของผู้กำกับ Imamura วิธีจะสามารถหลุดพ้นการถูกครอบงำจากชาติตะวันตก (Westernization) คือเลิกที่จะให้ความสนใจ เดินไปข้างหน้าด้วยก้าวย่างของตนเองเท่านั้นเป็นพอ
หนังเรื่องนี้เป็นการแสดงทัศนะของ Shohei Imamura ที่ค่อนข้างเด่นชัดทีเดียว เพื่อบอกให้ชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย สมควรแก่เวลาแล้วไม่ใช่หรือที่จะเริ่มต้นทำทุกสิ่งอย่างอะไรด้วยตนเอง สงครามก็จบสิ้นสุดมาเกินกว่าทศวรรษ US-Japan Security Treaty ก็เพิ่งเซ็นสัญญาตกลงกันเมื่อปี 1960 นับจากนี้หมดยุคสมัยของการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ถึงเวลาต้องก้าวเดินต่อ ห้ามถอยหลังกลับเป็นหมูรอให้ผู้อื่นมาเลี้ยงดูแล้วนำไปเชือดกินอย่างเด็ดขาด!
ตอนหนังออกฉายในญี่ปุ่นแม้ได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลาม คว้ารางวัล Blue Ribbon Award: Best Film แต่ด้วยกระแสขัดแย้งโกรธเคืองของการเปรียบเทียบชาวญี่ปุ่นกับหมู ทำให้สตูดิโอ Nikkatsu แบน Imamura ห้ามสร้างภาพยนตร์ถึงสองปี ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ขัดขืนอะไร ใช้เวลานั้นพักผ่อนและซุ่มพัฒนาบทหนังเรื่องถัดไป The Insect Woman (1963) ที่ว่ากันตามตรงเนื้อหาเลวร้ายยิ่งกว่าเสียอีก
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบความบ้าระห่ำ คับคลั่งของหนังเรื่องนี้เสียเหลือเกิน ทีแรกผมเพ้อไปว่าพระเอกแม้งคงต้องกราดยิงฝูงหมูแน่ๆ แต่ถ้าทำเช่นนั้นมันคงหลุดโลกเกินไปหน่อย แค่นี้ผู้ชมน่าจะยังพอยินยอมรับไหวอยู่
ถ้าหนังไม่มีความเป็นญี่ปุ่นเยอะไปเสียหน่อย ผมก็คงจัดต้องดูให้ได้ก่อนตาย เพราะประเด็นคำถามเกี่ยวกับเกียรติ ศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ ค่อนข้างสำคัญต่อการใช้ชีวิตอย่างมากทีเดียวละ
แนะนำคอหนังอาชญากรรม Chimpira, Yakuza, สนใจประวัติศาสตร์ การเมือง ของประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง, แฟนๆผู้กำกับ Shohei Imamura ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับอาชญากรรม และการโต้เถียงทางทัศนคติ
Leave a Reply