Piku (2015)
: Shoojit Sircar ♥♥♥♥
เรื่องวุ่นๆของพ่อขี้เหงา (รับบทโดย Amitabh Bachchan) กับลูกสาวสุดเฟี้ยว (รับบทโดย Deepika Padukone) แถมด้วยคนขับรถสุดมึน (รับบทโดย Irrfan Khan) ในภาพยนตร์ Road Movie การเดินทางเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกสุดเพี้ยนคู่นี้ ที่ไม่เหมือนหนังเรื่องไหนของ bollywood
นี่เป็นภาพยนตร์ bollywood ที่มีความแปลกประหลาดมากๆ กับคนที่เป็นแฟนๆหรือเคยรับชมหนังของประเทศนี้มาเยอะ น่าจะรับรู้ได้แทบจะทันที หลายๆองค์ประกอบของหนังผิดเพี้ยนจากรูปแบบปกติโดยสิ้นเชิง อาทิ ไร้ฉากร้องเล่นเต้น (แต่มีเพลงเสียงร้องประกอบนะ), ค่านิยม วัฒนธรรมที่พ่อ-แม่ มักหาคู่ครองให้ลูก (แต่เรื่องนี้พ่อหวงลูกสาวมาก ไม่ยอมให้ออกจากบ้านแต่งงาน), บทสนทนาที่ถ้าใครฟังภาษาอังกฤษออก แทบจะรู้เรื่องว่าคุยอะไรกัน (ปกติหนังประเทศนี้ชาตินิยมจะตาย!) ฯ นี่มีนัยยะถึงการเสียดสี ประชดประชัน (Satire) บางสิ่งอย่างที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งถ้านำไปคิดวิเคราะห์หาเหตุผลความตั้งใจ จะพบว่าผู้กำกับได้สะท้อนแนวคิดระดับมหภาคไว้ด้วยที่ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว
Shoojit Sircar ผู้กำกับโปรดิวเซอร์ชาวอินเดีย เกิดในครอบครัว Bengali-Hindu ที่ Barrackpore, Kolkata ฝั่งตะวันตกของประเทศอินเดีย โตขึ้นเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุง Delhi มีผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Yahaan (2005) แม้จะไม่ทำเงินเท่าไหร่แต่ได้เสียงตอบรับค่อนข้างดี ผลงานต่อมา Vicky Donor (2012) ด้วยทุนสร้าง ₹50 ล้าน ทำเงินถล่มทลายถึง ₹645.0 ล้าน จนได้รางวัล National Film Award สาขา Popular Film Providing Wholesome Entertainment ผลงานถัดมา Madras Cafe (2013) และ Piku (2015) ที่ได้ร่วมงานกับนักแสดงชื่อดังในตำนานหลายคน
ผมไม่เคยรับชมภาพยนตร์เรื่องอื่นของ Shoojit Sircar แต่กับ Piku ต้องถือว่าเป็นผู้กำกับที่มีความน่าสนใจทีเดียว มี direction แนวทางการนำเสนอที่ทันสมัย ไม่ยึดติดตัวเองเข้ากับรูปแบบวัฒนธรรมของหนัง bollywood ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่จะทำให้วงการภาพยนตร์ประเทศนี้พัฒนาขึ้นด้วยนะครับ เปลี่ยนถ่ายสายเลือดใหม่ ไม่ใช่เดินย่ำอยู่กับที่มาหลายทศวรรษแล้ว
หนึ่งในบุคคลมีความสำคัญที่สุดของหนังเรื่องนี้คือนักเขียนบท Juhi Chaturvedi ไม่รู้เธอเป็นแฟนสาว/ภรรยาของ Sircar หรือเปล่า แต่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Vicky Donor (2012), Madras Cafe (2013) และ Piku (2015) ซึ่งหนังเรื่องนี้ทำให้เธอได้ National Film Award ถึงสองรางวัลคือ Best Original Screenplay และ Best Dialogues ซึ่งถ้า Piku นำแนวคิดมาจากชีวิตของเธอเอง ดูแล้ว Sircar คงจะได้กินแห้วแน่นอน
Piku หญิงสาวอายุ 30 ปี อาศัยอยู่ที่กรุง Delhi ทำงานเป็นสถาปนิก สถานะโสด, เธอจำต้องเป็นคอยดูแลพ่อวัย 70 ที่ชอบเรียกร้องความสนใจ วิตกจริตคิดว่าตนเองป่วยเป็นโน่นเป็นนี่ (ทั้งที่ก็ไม่ได้เป็นอะไร) และมีความหวงลูกสาวอย่างมาก เสี้ยมสอนการใช้ชีวิตพึ่งพาตัวเองอยู่ตัวคนเดียว แถมยังกีดกันผู้ชายทุกคนที่ขายขนมจีบให้, พ่อมีบ้านหลังเก่าอยู่ที่ Kolkata ต้องการเดินทางไปเยี่ยมเยือน สร้างข้อบังคับว่าเดินทางด้วยรถเท่านั้น ระยะทาง 1,500 กิโลเมตร Piku จำต้องว่าจ้างบริษัทแท็กซี่ที่มีปัญหากันอยู่เรื่อยๆ ได้ Rana เจ้าของกิจการเป็นผู้ขับรถพาทั้งสองไปส่ง
Amitabh Bachchan รับบทเป็นพ่อ Bhashkor Banerjee ป่วยเป็นโรคท้องผูก อาหารไม่ย่อย ถ่ายท้องลำบาก ชีวิตมีความอึดอัดอั้น น่าจะเกิดจากความเครียด หวาดกลัวที่จะต้องอยู่คนเดียวตอนแก่ เลยชอบที่จะเรียกร้องความสนใจ แม้รู้ทั้งรู้ว่าลูกสาวตนเองโตพอที่จะแต่งงานออกจากบ้านได้แล้ว แต่ก็ฉุดดึงรั้งไว้เพราะภรรยาด่วนจากไปเร็วเหลือเกิน, ตรรกะของตัวละครนี้เป็นความคิดมโนขึ้นในความเชื่อของตนเอง ไม่สนว่าคนภายนอกมองคิดว่าอะไร ตัวเองถูกต้องที่สุด แต่เขาก็รับฟังผู้อื่นนะครับไม่ใช่ปิดกั้นตลอดเวลา ถ้ามันมีเหตุผลรองรับที่สมเหตุสมผล แถมยังทำการทดลองเผื่อว่าจะค้นพบข้อเท็จจริงใหม่
ผู้กำกับชื่อดัง François Truffaut เคยพูดถึงปู่ Big B ว่า ‘one-man industry.’ ปัจจุบันอายุปาเข้าไป 70 กว่าแล้วยังไม่หยุดดัง มีเรี่ยวแรงแสดงหนังเรื่องใหม่ๆออกมาเรื่อยๆทุกปี และเหมือนว่าจะไม่ยอมเลิกง่ายๆ ยิ่งทำยิ่งสนุกไปกับมัน คงเพราะตอนนี้ตัวปู่ถือว่าเป็นอิสระจากความสำเร็จ/ความคาดหวังของวงการแล้ว สามารถเลือกรับเล่นหนังอะไรก็ได้ตามใจ แสดงยังไงก็ได้ผู้กำกับรุ่นใหม่คงมิบังอาจชี้แนะนำอะไรมาก, ซึ่งกับหนังเรื่องนี้ เกือบที่จะเป็น ‘one-man show’ แล้วละ แต่เพราะได้นักแสดงระดับตำนานอีกสองคนเข้ามาร่วมก้วน ทำให้ปู่แกสามารถปล่อยของออกมาได้อย่างเต็มที่และบ้าคลั่งสุดเหนี่ยว
Deepika Padukone รับบท Piku Banerjee ลูกสาวที่ไม่สามารถโบยบินเป็นอิสระด้วยตนเองได้ กระนั้นถือว่าเธอได้พิมพ์เขียวมาจากพ่อเปะๆ ทั้งนิสัย แนวคิด คำพูด การกระทำ ไม่แปลกถ้าเธอจะไม่รู้ตนเอง เพราะความรักทำให้ทนอยู่ รู้บุญคุณจึงไม่สามารถทรยศได้, ประมาณ 80% ของหนัง Piku ต้องแสดงความหงุดหงิดไม่พอใจอะไรสักอย่างออกมา มันเริ่มจากพ่อพาลไปคนรอบข้าง อารมณ์เหวี่ยงๆมุมหนึ่งทำให้เธอดูน่ารัก แต่จะมีผู้ชายอินเดียบ้านๆคนไหนที่สามารถยอมรับเธอได้ … เชื่อว่าไม่มีแน่นอน ชายคนนั้นต้องเป็นแบบพ่อ ที่ทะเลาะกันทุกวัน (ยิ่งมีปากเสียงกันจะยิ่งรักมาก ความรักคงจะเร่าร้อนรุนแรงด้วย)
ผมไม่รู้เพราะอะไรทำไม Padukone มักได้รับบทลักษณะนี้นะครับ เธอกลายเป็นตัวแทนของนักแสดงอินเดียรุ่นใหม่ที่ขายเรือนร่าง เต็มไปด้วยความเซ็กซี่ กับหนังเรื่องนี้คุณอาจไม่ได้เห็นภาพอะไรที่หวือหวา แต่ลักษณะนิสัยตัวละครแบบนี้ คือมันแรงมากๆราวกับโป๊เปลือย(ทางจิตใจ), สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้จากประสบการณ์รับชมหนัง Bollywood คือบรรดาลูกๆทั้งหลาย มักไม่กล้าต่อปากต่อคำ โต้เถียงไม่ตกฝ้ากับพ่อแม่รุนแรงขนาดนี้ คืออาจมีทะเลาะขึ้นเสียงบ้าง แต่ไม่นานจะรู้สึกผิด สำนึก ขอโทษให้อภัย คือจะมองพระคุณพ่อแม่แบบคุณพระอย่างนั้นเลย ซึ่งกับตัวละครนี้ หญิงสาวเถียงคำไม่ตกฟ้า ด่าเสียดสีประชดพ่อรุนแรงมาก เธอคือลูกไม่รักดี แต่ในมุมของชาวโลกรวมทั้งผมเอง … นี่คือการแสดงออกความรักอย่างหนึ่ง (ถึงปากจะร้าย แต่ใจก็รักนะ!)
Irrfan Khan รับบท Rana Chaudhary เจ้าของอู่แท็กซี่ที่ Piku ต้องใช้บริการอยู่บ่อยๆ เรื่องมีอยู่ว่าพอเธอใช้บริการ มันต้องมีเรื่องอะไรสักอย่าง เร่งความเร็วเกินกำหนด, ขับรถชน ฯ จนไม่มีพนักงานคนไหนกล้าที่จะรับโดยสารเธอ ทั้งๆที่เป็นขาประจำมันทำให้ครั้งหนึ่งครั้งสำคัญ กับการเดินทาง 1,500 กิโลเมตร สู่ Kolkata ตัวละครนี้เลยตัดสินใจแบกรับภาระเป็นคนขับรถเสียเอง นั่นทำให้เขาค้นพบข้อเท็จจริงในความผิดเพี้ยนของพ่อลูกคู่นี้
ผมชอบ Irrfan นะ ตัวละครที่แสดง มักเป็นพวกปากร้ายหน้านิ่ง ถือตรรกะบางอย่างถูกต้องตามอุดมการณ์ของตนเอง (นี่จดจำภาพลักษณ์จากหนังเรื่อง Paan Singh Tomar) ความมึนๆกวนๆของพี่แก สังเกตจากเบ้าลึกของดวงตา เมื่อพบเจอกับคนที่ตรรกะเพี้ยนจากตนอย่างรุนแรงแบบพ่อของ Piku เบ้าตาจะถลนพองโต ออกอาการเป๋อเหรอ อึ้งทึ่ง สับสนแต่ไม่เคยไขว้เขว่ ยอมความได้แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง ถ้ามันคือสิ่งผิดก็จะไม่เกรงใจเด็ดขาด นี่คือความเท่ห์ของพี่แกเลยหละ ไม่หล่อแต่เก๋า โคตรเร้าใจ
ถ่ายภาพโดย Kamaljeet Negi
ตัดต่อโดย Chandrashekhar Prajapati
วิธีการเล่าเรื่อง ในช่วงแรกๆจะรู้สึกหนังดูยากเสียหน่อย เพราะยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคนิคการนำเสนอที่เต็มไปด้วยบทสนทนา และบางครั้งตัดต่อโดยเหมือนจะไม่สนคนที่พูด, ตัวละครในหนังจะพูดกันหูดับตับไหม้ ไม่ค่อยที่จะหยุดพูดแล้วกระทำเสียเท่าไหร่ ซึ่งบางครั้งหนังไม่ได้จับที่ใบหน้าของคู่สนทนา แต่ถ่ายให้เห็นปฏิกิริยาของผู้ฟัง ที่มักจะมีหลายๆคนวนไปรอบๆโต๊ะอาหาร, นี่ถือเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจในเนื้อหาคำพูดพอสมควร แต่เป็นการนำเสนอบรรยากาศรอบข้างควบคู่ขนานไปพร้อมๆกับเรื่องราว ทำให้หนังมีมิติการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนหลายชั้นมาก ฉากเดียวกันแต่มีอย่างน้อย 1-2 เรื่องราวเกิดขึ้น ต้องใช้สมาธิแบ่งแยกให้ดีๆเลยละ
เกร็ด: ไม่แน่ใจคำพูดในหนังที่ว่า ‘กำลังจะถึงครึ่งของการเดินทาง’ จะหมายถึงครึ่งทางเปะๆของหนังไหมนะครับ (เพราะมันมี Open Credit และ End Credit ที่ไม่รู้นับเวลาด้วยหรือเปล่า)
เพลงประกอบโดย Anupam Roy นักแต่งเพลง Bengali รุ่นใหม่ที่ถือว่าน่าจับตามองทีเดียว มีผลงานประกอบเพลงหนัง Hindi ครั้งแรกก็จากเรื่องนี้, นี่เป็นหนังที่ไม่มีฉากร้องเล่นเต้น (มีร้องเต้นนิดหน่อย เป็นประกอบฉากไม่ได้ประกอบเพลง) Soundtrack ของหนังถือว่าแนวคิดใช้ได้เลย เสียงผิวปากกวนๆ ได้ยินสองสามครั้งกำลังติดหู และภาพใบหน้าของ Amitabh Bachchan พุงย้วยๆ ปรากฎขึ้นมา ปู่แกตามหลอกหลอนผมได้กระทั่งเสียงเพลง
ส่วนเพลงเนื้อร้องที่ประกอบหนัง มักนำใส่ในฉากที่ตัวละครหยุดพูด คงเพื่อให้ผู้ชม’พัก’ เหนื่อย จากการจดจ่อครุ่นคิดวิเคราะห์ตรรกะเพี้ยนๆของมนุษย์ประหลาดสองสามคนนี้, เนื้อเพลงมีความหมายตรงตัวตามเหตุการณ์ในฉากนั้นๆ แต่ไม่มีบทเพลงไหนไพเราะให้น่าพูดถึงเท่าไหร่
ผมมีความเพลิดเพลินในการรับรู้ตรรกะหลายๆอย่างในหนัง บางสิ่งไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การนั่งส้วมซึมจะถ่ายท้องสะดวกกว่านั่งโถชักโครก ซึ่งผมก็แบบว่า เออว่ะท่าจะจริง! มันมีแนวคิดอะไรพวกนี้เยอะมาก บางอย่างเพี้ยนๆแต่อธิบายด้วยเหตุผลก็หลงเชื่อได้ ถ้าคุณเป็นพวกไม่คิดมากก็อาจเพลิดเพลินไปกับหนังได้อย่างสนุกสนาน, จริงๆผมเป็นพวกคิดมากนะครับ ช่วงแรกๆเลยยังปรับตัวไม่ทันเท่าไหร่ แต่พอสักพักพอจับแนวทางได้ก็รู้โดนสันชาติญาณว่าอย่าไปคิดหาเหตุผลอะไรให้หนัง ปล่อยตัวปล่อยใจให้ล่องลอยตามสิ่งที่นำเสนอ แล้วคุณจะหัวเราะสนุกสนานปล่อยก๊ากออกมาโดยไม่รู้ตัว
Piku เป็นเรื่องราวการเดินทางเพื่อทำความเข้าใจ เรียนรู้ซึมซับความคิดค่านิยมและตั้งคำถาม บทเรียนอะไรที่ได้จากการรับชมสองพ่อลูกคู่นี้!
ผู้ชมสามารถแทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งได้กับตัวละคร Rana ที่เป็นคนนอกแต่จับพลัดจับพลูเข้ามารวมอยู่ในการเดินทางครั้งนี้ สิ่งที่เขาได้ค้นพบก็คือพื้นหลังแนวคิดของตัวละคร อะไรยังไง ทำไมพ่อถึงกลายเป็นอย่างนี้ ทำไม Piku ถึงกลายเป็นอย่างนี้ ถ้าคุณสามารถรับรู้เข้าใจได้ ถือว่าเข้าใจเนื้อหาสำคัญของหนังแล้วนะครับ
เปรียบเทียบกับประเทศอินเดีย โลกยุคสมัยใหม่นี้เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากแต่ก่อนมาก อาการท้องอืดที่เกิดขึ้นกับพ่อ แทนได้ด้วยความอึดอัดอั้นตันใจของคนรุ่นก่อน (ที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน) เพราะเด็กสมัยนี้นิยมคิดทำออกแบบชีวิตด้วยตัวเอง (Piku ทำงานเป็นสถาปนิกออกแบบ) สมัยก่อนผู้เป็นพ่อแม่มักจะเลือกคู่ให้กับลูก แต่สมัยนี้เรื่องแบบนั้นเริ่มที่จะยอมรับไม่ได้แล้ว หนังเลยประชดด้วยการให้พ่อกึ่งๆบังคับไม่ให้ Piku แต่งงานออกจากบ้าน ทำสิ่งตรงกันข้ามเสียเลย (คือไม่ให้ลูกแต่งงานพบรักกับคนรุ่นใหม่)
การเดินทางของหนัง เสมือนการย้อนเวลาเพื่อทำความเข้าใจอดีต ระหว่างทางพบเจอเรื่องราวสิ่งต่างๆมากมาย เหมือนจะเรียนรู้ค้นพบอะไรใหม่ๆ กระนั้นในมุมของคนรุ่นก่อน สิ่งเหล่านี้ก็แค่เรื่องหูทวนลม รับฟังแต่ไม่เข้าสมอง บางทีปฏิบัติตามแต่ไม่เชื่อสนิทใจ นี่ล้วนแต่เป็นการแสดงออกที่ปฏิเสธต่อต้านคนรุ่นใหม่, กลับมาถึงบ้านเก่า สถานที่แห่งอดีต หวนระลึกถึงวันวาน ชีวิตที่เคยมีมา แต่สิ่งนั้นหาได้ยั่งยืนคงอยู่เพราะล้วนเกิดขึ้นผ่านไปแล้ว มีอะไรในชีวิตหลงเหลือให้คนแก่กระทำอีก สิ่งสุดท้ายที่ทำจึงแค่ตามใจอยากอีกครั้งก็เพียงพอแล้ว
สิ่งเป็นประโยชน์ที่ผมได้รับจากหนังเรื่องนี้ คือมุมมองของชีวิต กับคนที่ทะเลาะกันรุนแรงไม่จำเป็นว่าต้องเกลียดขี้หน้ากัน เพราะรักถึงโต้เถียง เพราะรักถึงต่อว่า แม้ปากจะร้ายแต่จิตใจนั้นหวังดี นี่เป็นสิ่งยากพอสมควรที่จะเข้าใจและยอมรับได้ ต้องเป็นคนมีภูมิคุ้มกันหนาจริงๆถึงมีชีวิตแบบนี้ได้, ผมทึ่งนะ กับตัวละครพ่อลูกคู่ พวกเขารักกันมากแม้สิ่งที่เราเห็นจะเหมือนไม่ใช่ พวกเขาไม่เคยพูดคำว่ารักออกมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้รักกันนะครับ ครอบครัวไหนที่สามารถทะเลาะอย่างนี้แล้วยังอยู่ด้วยกันได้ ขอยกย่องเลยว่าเป็นผู้เข้าใจ’ความรัก’อย่างจริงแท้
ด้วยทุนสร้าง ₹420 ล้าน (=$6.2 ล้านเหรียญ) ทำเงินในอินเดียประมาณ ₹800 ล้าน(=$12 ล้านเหรียญ) รวมทั่วโลก ₹1.41 พันล้าน (=$21 ล้านเหรียญ), คว้า 3 รางวัล National Film Award
– Best Actor (Amitabh Bachchan) เป็นครั้งที่ 4 ของปู่ ยึดครองสถิติสูงสุดตลอดกาลไปแล้ว
– Best Original Screenplay
– Best Dialogues
สำหรับ Filmfare Award เข้าชิง 9 รางวัล ได้มา 5 รางวัล (ส่วนใหญ่เป็นรางวัลจากนักวิจารณ์)
– Best Film
– Best Director
– Best Actor (Amitabh Bachchan)
– Best Actress (Deepika Padukone) ** ได้รางวัล
– Best Film – Critics ** ได้รางวัล
– Best Actor – Critics (Amitabh Bachchan) ** ได้รางวัล
– Best Screenplay ** ได้รางวัล
– Best Music Director
– Best Background Score ** ได้รางวัล
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้, ช่วงแรกๆยังไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ มึนๆใน direction ของหนัง และความวุ่นวายของตัวละคร แต่พอเมื่อเริ่มออกเดินทาง ปรับตัวเข้ากับแนวทางของหนังได้แล้ว แถมพ่วงกับ Irrfan Khan ที่มาเป็นตัวตบมุก ทำให้หนังดูสนุกขึ้นอย่างมาก, ประทับใจสุดๆกับการแสดงอันปลดปล่อยของ Amitabh Bachchan และ Deepika Padukone ได้ทำสิ่งที่ไม่มีผู้หญิงอินเดียคนไหนกล้าแสดงออกมาแน่
แนะนำกับคอหนัง bollywood แต่คุณอาจไม่คุ้นเคยรูปแบบการนำเสนอเท่าไหร่, ชื่นชอบเรื่องราวแนวเสียดสี ประชดประชัน (Satire), แฟนๆนักแสดงอย่าง Amitabh Bachchan, Deepika Padukone และ Irrfan Khan ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 13+ กับตรรกะเพี้ยนหลายๆอย่างของตัวละคร
Leave a Reply