Pink Floyd The Wall

Pink Floyd – The Wall (1982) British : Alan Parker ♥♥♡

มนุษย์สร้างบ้าน รั้วลวดหนาม ผนังกำแพง สำหรับปกป้องตนเองจากภยันตรายภายนอก แต่ขณะเดียวกันนั่นคือการแบ่งแยก กีดกัน กักขังตนเองอยู่ภายใน ค่อยๆก่อรากความเห็นแก่ตัว มองไม่เห็นสิ่งทรงคุณค่าทางจิตใจของผู้อื่นอีกต่อไป, ภาพยนตร์แนว Rock Opera เรต NC-17 นำเสนอรูปแบบ Surrealist รับชมปัจจุบันยังพบเห็นข้อเท็จจริงเหนือกาลเวลา

มันต้องใช้ความคลุ้มคลั่ง เครียดแค้น เก็บกดดันขนาดไหน ถึงมีใครสักคนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมา ซึ่งเครดิตนั้นไม่ใช่ผู้กำกับ Alan Parker แต่คือ Roger Waters นักกีตาร์เบส นักร้องนำ หัวหน้าวง Pink Floyd (ขณะนั้น) ไม่เพียงนำประสบการณ์วัยเด็กของตนเองใส่ลงไป ยังสะท้อนวิถีชีวิต ประเทศอังกฤษ และยุคสมัยนายกรัฐมนตรี Margaret Thatcher เอาแต่จะสร้างกำแพงคอยกีดกั้นขวาง ออกกฎระเบียบที่แบ่งแยกผู้คน ไม่ต่างอะไรกับเผด็จการ แถมยังพยายามเสี้ยมสอนสั่งปลูกฝังกันมาตั้งแต่ระบบการศึกษา

Pink Floyd – The Wall (1982) เป็นภาพยนตร์ที่มีความยาก ทรมานในการรับชมอย่างยิ่งยวด ผมคิดว่าระดับเดียวกับ Salò, or the 120 Days of Sodom (1975) และ Funny Game (1997) พยายามนำเสนอภาพเชิงสัญลักษณ์ ลัทธิเหนือความจริง ที่มีความรุนแรง เห็นแล้วขยะแขยง หวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว เพื่อให้ผู้ชมเกิดความตระหนักถึงขั้วหัวใจ ในสิ่งที่ผู้สร้างต้องการนำเสนอถ่ายทอดออกมา

ซึ่งถ้าคุณสามารถเข้าถึงหนังได้ในระดับนั้น เชื่อว่าน่าจะทำให้บางสิ่งอย่างภายในจิตใจปรับเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน! … แต่ถ้าไม่ก็คงด่าพ่อล่อแม่ เxยห่าเหวอะไรของมันว่ะ!

แซว: ภาพโปสเตอร์นำมานี้ ชวนให้ระลึกถึงภาพวาด The Scream (1893) ของจิตรกร Edvard Munch แนว Expressionist ที่ต้องการกรีดร้อง ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกบางสิ่งอย่างออกมา, ในบริบทของหนังจะเป็นซีนที่อยู่ดีๆปรากฎใบหน้าขึ้นมาจากผนังกำแพง ซึ่งถือเป็นลักษณะของ Surrealist สะท้อนความน่าหวาดสะพรึงกลัวของ ‘The Wall’ ดิ้นรนยังไงก็ไม่สามารถหาหนทางออกได้พ้น

ก่อนอื่นคงต้องพูดถึง Pink Floyd วงดนตรี Progressive Rock สัญชาติอังกฤษ, แรกเริ่มปี 1963 เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม London Polytechnic ประกอบด้วย Roger Waters, Nick Mason, Keith Noble, Sheilagh Nobel (น้องสาวของ Keith), Clive Metcalfe, ปีถัดมาได้ Richard Wright เข้าร่วมรวมเป็นหก ตั้งชื่อวงว่า Sigma 6

เพราะพวกเขายังเรียนหนังสือกันอยู่ เลยมีการปรับโน่นนี่ โยกย้าย เปลี่ยนชื่อวงบ่อยครั้ง จนกระทั่งปี 1966 หลงเหลือสมาชิกอยู่ 4 คน Syd Barrett (ผู้นำวง, ร้องนำ, เขียนเพลง มือกีตาร์), Roger Waters (มือเบส), Nick Mason (มือกลอง) และ Rick Wright (คีย์บอร์ด) ตั้งชื่อวง Pink Floyd ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในวงการใต้ดิน (London’s Underground) จนเข้าตาได้เซ็นสัญญาค่ายเพลง EMI ออกอัลบัมแรก The Piper at the Gates of Dawn (1967) ยอดขายในประเทศอังกฤษระดับ Gold Record เกินกว่า 100,000 ก็อปปี้

เดือนธันวาคม 1967, การมาถึงของสมาชิกคนที่ห้า David Gilmour (นักกีตาร์) ทำให้เกิดรอยร้าวฉานกับ Syd Barrett เพราะสมาชิกต้องการให้ Gilmour ก้าวขึ้นมาเป็นมือกีตาร์แทน Barrett แต่ด้วยศักดิ์ศรีการเป็นผู้ก่อตั้งเลยไม่ยินยอมพร้อมใจ สุดท้ายลาออกจากวงเดือนมีนาคม 1968 และได้ผู้นำวงคนใหม่คือ Roger Waters

George Roger Waters (เกิดปี 1943) นักร้อง นักแต่งเพลง เล่นเบส สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Great Bookham, Surrey บิดาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง เสียชีวิตไปตอนเขาอายุได้ 5 เดือน ความทรงจำแรกไม่รู้ลืมคือเข้าร่วมพิธีศพยัง Cassino War Cemetery ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการเลี้ยงดูจากแม่อย่างทะนุถนอมเอาอกเอาใจ, ช่วงมัธยม Walters ได้เป็นประธานกลุ่ม Cambridge Youth ทำป้ายประกาศรณรงค์ให้มีการปลดระวางอาวุธนิวเคลียร์, เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่เข้าเรียน London Polytechnic ฝึกฝนจนเชี่ยวชำนาญ กระทั่งเมื่อได้เป็นหัวหน้าวง เขียนเพลง ขับร้อง เสนอความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ แต่ก็อยู่ได้ถึงแค่ปี 1985 แล้วออกมาฉายเดี่ยว

สไตล์เพลงของ Pink Floyd มีคำเรียกว่า Progressive Rock หรือ Art Rock หรือ Psychedelic Rock มุ่งเน้นการแต่งเนื้อคำร้องอ้างอิงปรัชญา แนวความคิดทางสังคม(ในยุคสมัยนั้น) ซึ่งมักจะมีความยาวกว่าบทเพลงปกติทั่วไป และเต็มไปด้วยเสียง Sound Effect ตื่นตระการหูตา … ซึ่งต่อมามีอีกคำเรียกว่า Rock Opera

เกร็ด: Rock Opera คือคำเรียกอัลบัมรวมบทเพลงแนว Rock ที่มีเนื้อเรื่องราว ใจความดำเนินต่อเนื่อง ตั้งแต่เพลงแรกจนสุดท้าย นี่ไม่ได้สื่อถึงอุปรากร (Opera) หรือหมายรวมการแสดงเข้าไปด้วย (แค่อัลบัมเพลงอย่างเดียวก็ถือเป็น Rock Opera ได้แล้ว) โดยครั้งแรกสุดเริ่มนับที่ The Story of Simon Simopath (1967) ของวง Nirvana

จุดเริ่มต้นของอัลบัม The Wall เกิดขึ้นระหว่างออกทัวร์คอนเสิร์ต In the Flesh Tour ของอัลบัมที่สิบ Animals (1977) ที่เกิดความวุ่นวายขึ้นในงานบ่อยครั้ง

“I disliked it intensely because it became a social event rather than a more controlled and ordinary relationship between musicians and an audience … The front sixty rows seemed to be screaming and shouting and rocking and swaying and not really listening to anything. And those further back could see bugger-all anyway”.

George Waters

เมื่อเดือนกรกฎาคม 1977 ณ Montreal Olympic Stadium แฟนๆที่อยู่ด้านหน้า พยายามยั่วยุสร้างความรำคาญให้ Walters จนเขาทนไม่ได้ต้องลงไปตบหน้าผู้ชม, David Gilmour ปฏิเสธการเล่นซ้ำ (Encore) ปล่อยให้นักกีตาร์แบ็คอัพขึ้นเวทีแทน, ค่ำคืนนั้น Waters พูดคุยกับโปรดิวเซอร์ถึงประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้เขาโหยหาที่จะแบ่งแยกตนเอง  อยากก่อร่างสร้าง ‘กำแพง’ แบ่งกั้นระหว่างตนเอง-ผู้ชม

“I kept saying to people on that tour, ‘I’m not really enjoying this … there is something very wrong with this’.”

หนึ่งปีถัดมา กรกฎาคม 1978, Waters นำเสนอแนวคิดอัลบัมถัดไป มีสองตัวเลือกคือ
– Bricks in the Wall มาพร้อมกับเดโม 90 นาที
– The Pros and Cons of Hitch Hiking ความเพ้อฝันของชายคนหนึ่ง เกี่ยวกับ Sex, การแต่งงาน, ข้อดี-ข้อเสียของการมีสามี-ภรรยาเดียว, ชีวิตครอบครัว vs. ความสำส่อนทางเพศ (เนื่องจากโปรเจคนี้ไม่ได้รับเลือก เมื่อ Waters ลาออกจากวง เลยนำเนื้อหามาทำอัลบัมเดี่ยวแรกของตนเอง)

หลังจากได้ข้อสรุปแนวคิดแรก Waters จึงเริ่มลงมือเขียนบท พัฒนาเนื้อเรื่องราวของอัลบัม ด้วยแนวคิดสำรวจพฤติกรรมการถูกทอดทิ้ง (Abandonment) และความแบ่งแยก/โดดเดี่ยว (Isolation) โดยใช้กำแพงเป็นสัญลักษณ์ ให้ตัวละครศูนย์กลางชื่อ Pink (ส่วนผสมของ Waters และอดีตเพื่อนร่วมวง Syd Barrett) พานผ่านวัยเด็กถูกพ่อทอดทิ้ง เติบโตขึ้นพบเห็นปัญหาสังคม ครอบครัว การศึกษา แก้ไขอะไรไม่ได้เลยกลายเป็นคนสำส่อน ติดยา เพ้ออยู่ในความใฝ่ฝัน ที่สุดเมื่อเริ่มครุ่นคิดได้ต้องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงตนเอง จนสามารถทำลายกำแพงขวางกั้น และหวนกลับคืนสู่สามัญในที่สุด

อัลบัมวางขายวันที่ 30 พฤศจิกายน 1979 ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม โดยเฉพาะบทเพลง Another Brick in the Wall (Part 2) ถึงขนาดต้องแยกออกมาขายซิงเกิ้ล ไต่ติดอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100 และ UK Singles ยอดขายทั่วโลกเกินกว่า 4 ล้านก็อปปี้ [แต่บทเพลงที่กลายเป็นอมตะของอัลบัมนี้คือ Comfortably Numb] ขณะที่ยอดขายรวมของอัลบัม ประมาณ 24 ล้านก็อปปี้ (สูงสุดอันดับสองของ Pink Floyd รองจาก The Dark Side of the Moon)

ความสำเร็จอันล้นหลามของอัลบัม ทำให้มีการว่าจ้าง Gerald Anthony Scarfe (1936-) นักเขียนการ์ตูนสัญชาติอังกฤษ ที่เคยร่วมงานกับ Pink Floyd ตั้งแต่อัลบัม In The Flesh มาทำอนิเมชั่น/Music Video ประกอบการแสดงทัวร์ รวมๆแล้วความยาว 15 นาที (ซึ่งถูกนำมาแทรกใสในฉบับภาพยนตร์ทั้งหมด)

และที่สุดของอัลบัมนี้ คือความต้องการดั้งเดิมของ Walters อยากให้ดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ต้นสังกัด EMI ไม่เห็นชอบด้วยเท่าไหร่ จนกระทั่งแฟนพันธุ์แท้ของวง Alan Parker เสนอตัวเข้ามา


Sir Alan William Parker (1944-) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Islington, London ในครอบครัวชนชั้นทำงาน วัยเด็กชื่นชอบการเรียนหนังสือ (ตรงกันข้ามกับหนังเรื่องนี้เลยนะ!) งานอดิเรกคือถ่ายภาพนิ่ง ไม่ได้มีความชื่นชอบหลงใหลใดๆในภาพยนตร์, โตขึ้นเข้าศึกษาต่อยัง Dame Alice Owen’s School พอเรียนจบอายุครบ 18 ปี เลือกทำงานสายโฆษณา เพราะครุ่นคิดว่าจะได้พบเจอสาวๆสวยๆมากมาย ต่อมาได้รับการผลักดันฝึกหัดพิมพ์ดีดจนเชี่ยวชำนาญ พานพบเจอโปรดิวเซอร์ David Puttnam และ Alan Marshall เริ่มจากพิมพ์บท ต่อมาเขียนบท กำกับโฆษณา ปรากฎว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม จนมีโอกาสพัฒนาบทหนัง Melody (1971), กำกับดราม่าโทรทัศน์ The Evacuees (1975)**คว้ารางวัล BAFTA Award: Best TV Drama, และสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Bugsy Malone (1976)

“Looking back, I came from a generation of filmmakers who couldn’t have really started anywhere but commercials, because we had no film industry in the United Kingdom at the time. People like Ridley Scott, Tony Scott, Adrian Lyne, Hugh Hudson, and myself. So commercials proved to be incredibly important”.

– Alan Parker

แม้จะมีความสนใจที่หลากหลาย แต่ผลงานเด่นๆส่วนใหญ่ของ Parker มักเป็นแนว Musical อาทิ Bugsy Malone (1976), Fame (1980), Pink Floyd – The Wall (1982), The Commitments (1991), Evita (1996), และเคยได้เข้าชิง Oscar: Best Director สองครั้งจาก Midnight Express (1978), Mississippi Burning (1988)

Parker คือแฟนตัวยงของ Pink Floyd หลังจากรับฟังอัลบัม The Wall แนะนำไปยังต้นสังกัด EMI ว่าเรื่องราวดังกล่าวสามารถดัดแปลงภาพยนตร์ได้ ซึ่งนั่นทำให้สตูดิโอหวนระลึกการนำเสนอของ Roger Waters เลยแนะนำให้พวกเขานัดพบเจอพูดคุยกัน ได้ข้อสรุปแรกสุดคือ Parker จะเป็นโปรดิวเซอร์, กำกับโดย Michael Seresin & Gerald Scarfe (ในส่วนอนิเมชั่น), พัฒนาบทและแสดงนำโดย Waters

แต่ความไม่ลงรอยอะไรหลายๆอย่าง ทำให้ Waters ตัดสินใจไม่รับบทแสดงนำ, Seresin ถอนตัวออกไป, เมื่อผู้กำกับว่างลง Parker เลยจำต้องเสนอตัวเข้ามาแทน

เรื่องราวของ Pink (รับบทโดย Bob Geldof) นักร้อง Rock Star แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้เขาตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า ไร้จิตวิญญาณ ปฏิเสธการขยับเคลื่อนไหว สงบอยู่นิ่งเฉยเช่นนั้นในห้องพัก ค่อยๆซูมเข้าไปในดวงตา หวนระลึกถึงช่วงวันเวลาวัยเด็ก พ่อจากไปสงครามแล้วถูกเข่นฆ่าตาย, แม่เลี้ยงดูอย่างเอาอกเอาใจ, ในโรงเรียนอาจารย์ก็วางอำนาจบาดใหญ่, หลังจากแต่งงานก็ถูกแฟนสาวบงการโน่นนี่นั่น แถมยังลักลอบเป็นชู้นอกใจ, เหล่านั้นคือสาเหตุให้เขาค่อยๆสร้างกำแพงขึ้นมาห้อมล้อมรอบตนเอง คบวัยรุ่นสำส่อน หันหน้าเข้าหายาเสพติด ใช้กำลังรุนแรงทำลายสิ่งข้าวของ โชคยังดีได้รับความช่วยเหลือจากผู้จัดการบุกพังทลายประตูเข้ามา ต่อจากนั้นเริ่มจินตนาการตนเองเป็นผู้นำเผด็จการ Neo-Nazi ต้องการทำลายล้างกำแพงที่กักขังเขาอยู่ภายใน ชีวิตจึงได้รับอิสรภาพโบยบินจากความทุกข์ยากลำบากนี้เสียที!


นำแสดงโดย Bob Geldof ชื่อจริง Robert Frederick Zenon Geldof (1951-) นักร้อง/แต่งเพลง นักเคลื่อนไหว บางครั้งนักแสดง สัญชาติ Irish เกิดที่ Dún Laoghaire, County Dublin ครอบครัวเชื้อสาย Jews โตขึ้นเข้าเรียน Blackrock College มักถูกกลั่นแกล้งเพราะเล่นรักบี้ไม่เก่ง ออกมาทำงานโรงฆ่าสัตว์ (Slaughterman), นักข่าวสายเพลง, จัดรายการเด็ก, ก่อตั้งวงดนตรี The Boomtown Rats แนว Punk บทเพลง Rat Trap ติดอันดับ 1 ชาร์ท UK Single

เมื่อตอนได้รับติดต่อไป Geldof รับรู้ตนเองว่าไม่ได้มีความสามารถดีเด่นด้านการแสดง ทั้งยังมิได้ชื่นชอบผลงานเพลงของ Pink Floyd เลยบอกปัดปฏิเสธ แต่ก็ได้รับการโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมเกลา ไม่รู้สาเหตุผลใดถึงยินยอมตบปากรับคำ

บทบาท Pink ของ Geldof มีลักษณะเหมือนหุ่นเชิด ไร้จิตวิญญาณ ขยับเคลื่อนไหวไปตามคำสั่งผู้กำกับเท่านั้น แม้แต่เสียงพูดก็นำจากบทเพลงในอัลบัม The Wall ขยับปากให้ตรงเท่านั้น … อย่างไรก็ดี ต้องชมในภาพลักษณ์ ใบหน้าซีดเซียว ร่างกายผอมแห้ง แลดูเหมือนคนติดยา แต่งชุด Neo-Nazi แล้วดูมีสง่าราศี แถมยังสามารถแสดงอาการคลุ้มคลั่ง ระบายความรู้สึกอัดอั้น ออกมาได้อย่างเสียสติแตก!

แซว: จริงๆ Geldof ได้พูดประโยคหนึ่งในหนัง “Take that, fuckers!”

ภาพแรกของตัวละคร Pink เป็นอะไรที่โคตรเจ๋งมากเลยนะ ค่อยๆเคลื่อนจากนาฬิกามิกกี้เมาส์(ที่ถูกลืม) เคลื่อนเลื่อนมาพบเห็นมวนบุหรี่คาอยู่ระหว่างนิ้ว ขี้เถ้ามอดไหม้จนเหือดแห้ง ชายหนุ่มนั่งขมวดคิ้วไม่ขยับไหวติง และกล้องซูมเข้าไปที่ดวงตา … ถือว่าสะท้อนสภาพความหมดสิ้นหวัง หดหู่ ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไรกับชีวิตอีกต่อไปทั้งนั้น

 

ถ่ายภาพโดย Peter Biziou ตากล้องสัญชาติ Walsh ขาประจำผู้กำกับ Parker ผลงานเด่นๆ อาทิ Bugsy Malone (1976), Monty Python’s Life of Brian (1979), Time Bandits (1981), Pink Floyd – The Wall (1982), Mississippi Burning (1988), The Truman Show (1998) ฯ

ระหว่างโปรดักชั่น ผู้กำกับ Parker มักขัดแย้งด้านความคิดสร้างสรรค์กับ Waters และ Scarfe บ่อยครั้ง จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งให้สัมภาษณ์อธิบายความรู้สึกตนเองต่อการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ว่า

“one of the most miserable experiences of my creative life”.

– Alan Parker

เช่นกันกับ Scarfe ทุกเช้าต้องแวะซื้อ Jack Daniel (เหล้ายี่ห้อหนึ่ง) ก่อนเข้าสตูดิโอทำงาน

“I had to have a slug before I went in the morning, because I knew what was coming up, and I knew I had to fortify myself in some way”.

– Gerald Scarfe

เพื่อสร้างความเหนือจริง (Surrealist) ทุกสิ่งจึงถูกนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะมุมกล้อง การเคลื่อนไหล ทิศทาง จัดแสง-สี-เงา รวมไปถึงอนิเมชั่นที่สะท้อนกับเนื้อเรื่องราว และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งผสมผสานคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน ความจริง-เพ้อฝัน ไม่สามารถแบ่งแยกแยะออกจากกัน

ภาพแรกของหนังผมเรียกว่า Rat’s Eye View กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไปจากระดับพื้น (เหมือนหนูวิ่ง) พบเห็นโถงทางเดินของโรงแรมที่มีสภาพอึมครึม มืดหมองหม่น มนุษย์พักอาศัยอยู่แบบตัวใครตัวมัน ห้องใครห้องมัน มีกำแพงแบ่งแยกรอบทิศทาง เพียงแม่บ้านทำความสะอาดเท่านั้นถึงมีกุญแจไขเข้าถึง

แซว: คำเรียกที่ถูกจริงๆคือ Ant’s Eye View แต่ผมชอบคำว่า Rat มากกว่า เพราะสามารถสะท้อนถึงตัวละคร Pink สภาพจิตใจของเขาถูกกัดแทะ แทบไม่หลงเหลือสภาพดูได้อีกต่อไป

หลัง Opening Credit ที่ขึ้นตัวอักษรสีแดงเลือดฉาด ภาพถัดมาน่าจะคือพ่อของ Pink ขณะเข้าร่วมสู้รบสงคราม ไดเรคชั่นฉากนี้จะได้ยินเพียงเสียงเครื่องบินรบที่โฉบเฉี่ยวไปมา ขณะที่ตัวเขาหยิบปืนขึ้นมาใส่กระสุน ซึ่งคือสัญลักษณะของการต่อสู้ ความรุนแรง จบซีนด้วยการค่อยๆซูมเข้าไปที่ไฟตรงตะเกียง มอดไหม้วอดวาย ชีวิตดับสิ้นสูญ

บ่อยครั้งที่หนังใช้เทคนิคตัดต่อ Match Cut ร้อยเรียงสองภาพที่มีนัยยะหรือบางสิ่งอย่างคล้ายคลึง ซึ่งสามารถสะท้อนความหมายในลักษณะเดียวกัน … นี่รวมไปถึงถ้อยคำเนื้อร้องเพลง พอดิบพอดีกับเนื้อเรื่องราวในภาพ ก็สามารถเรียกว่า Match Cut เช่นกัน

อย่างคู่นี้ แม่บ้านกำลังไขประตูห้อง Pink = ฝูงชนพยายามพังประตูเข้ามาเข้าร่วมคอนเสิร์ต

หรืออย่างคู่นี้ การจราจลในคอนเสิร์ต Pink Floyd == สนามรบสงครามโลกครั้งที่สอง, ต่างมีคนได้รับบาดเจ็บ ล้มตาย แทบไม่มีอะไรแตกต่างกัน

จินตนาการของ Pink เป็นผู้นำเผด็จการ Neo-Nazi ระหว่างขึ้นแสดงคอนเสิร์ต (บทเพลง In The Flesh?) ถือว่ามีลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามกับตัวตนแท้จริงของเขา ที่วันๆกกตัวอยู่แต่ในห้องในสภาพหดหู่หมดสิ้นหวังอาลัย (เรียกว่า Alter-Ego ก็ได้นะ)

ภาพถ่ายช็อตนี้ เปลวไฟลุกโชติช่วงในตำแหน่งที่ Pink เดินออกจากประตู/เวทีการแสดง สะท้อนถึงจิตใจที่มอดไหม้ เต็มไปด้วยความสับสน ลุ่มร้อนรน ต้องการให้บางสิ่งอย่างเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

และด้วยเนื้อคำร้องสุดยียวนกวนประสาท เป็นการบอกใบ้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้

If you wanna find out what’s behind these cold eyes.
You’ll just have to claw your way through this disguise.

ความตายของพ่อ ในขณะที่มือข้างหนึ่งค้างคาอยู่กับหูโทรศัพท์ สะท้อนถึงการไม่สามารถติดต่อสื่อสาร ทำให้ผู้อื่น (โดยเฉพาะ Pink) รับรู้เข้าใจสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? หลงเหลือเพียงการละทอดทิ้ง จากไปชั่วนิจนิรันดร์ … นั่นเองได้กลายเป็นปัญหาของเด็กชาย เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับใครได้รู้เรื่อง

การล่องลอยคอในสระน้ำของ Pink มีแนวความคิดคล้ายๆ The Graduate (1967) สะท้อนถึงชีวิตที่ไร้จุดมุ่งหมาย ไร้แก่นสาน ไร้ตัวตน ดำเนินไปอย่างเรื่อยเปื่อย ปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้าดินกำหนด

แซว: เห็นว่า Bob Geldof ว่ายน้ำไม่เป็น ฉากนี้จึงมีการใช้ทุ่นดันหลัง

ซึ่งการล่องลอยคอในสระน้ำนี้ จะมีการตัดสลับระหว่าง ความจริง-เพ้อฝัน (ภาพโทนสีปกติ-แหวกว่ายในทะเลเลือดสีแดง) แสดงถึงความคลุ้มคลั่ง ขัดแย้งกันเองระหว่าง ภายนอก-ภายใน, วินาทีที่จิตใจสงบเย็นลง จะพบเห็นการซ้อนทับภาพถ่ายเก่าๆของ Pink กับพ่อ หลงเหลือเพียงความทรงจำที่ละเลือนลาง กำลังค่อยๆเจือจางหาย

ระหว่างการหวนระลึกความทรงจำวัยเด็กของ Pink จะมีขณะหนึ่งที่เขาสวมเครื่องแบบทหารของพ่อแล้วยืนส่องหน้ากระจก นี่สะท้อนถึงการโหยหา คิดคำนึงถึง อยากจะได้รับความอบอุ่นแอบอิงชิดใกล้ แบบพ่อและเด็กอีกคนที่เขาพบเห็นในสวนสาธารณะ ซึ่งจะมีการตัดสลับกับภาพของพ่อที่กำลังขยับหมวก (แบบเดียวกันเปะ)

อนิเมชั่น มักเป็นส่วนที่คอยขยายเนื้อเรื่องราว นำเสนอในเชิงสัญลักษณ์เพื่อสะท้อนเปรียบเทียบความเป็นจริงที่บังเกิดขึ้น, จากนกพิราบ แปรสภาพเป็นนกเหล็ก ต่อด้วยเครื่องบินรบ และกางเขน … นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามแห่งความขัดแย้ง โกรธเกลียดชัง และธงชาติสหราชอาณาจักร พังทลายลงเหลือเพียงไม้กางเขนปักศพอาบเลือด นำมาเพียงความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่

รถไฟก็วิ่งของมันดีๆอยู่ในราง การกระทำของเด็กชาย Pink ก็เพื่อสร้างความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่าง ทำไมฉันต้องคอยปฏิบัติตามลู่ตามรอย ตามระบบ ขนบวิถี กฎกรอบทางสังคม … แม้แรงระเบิดจากกระสุนจะน้อยนิด ไม่เพียงพอให้รถไฟสามารถหลุดไถลออกจากราง แต่ก็สามารถเรียกร้องความสนใจใครๆได้ในระดับหนึ่ง

ระบบการศึกษา ในทัศนะของ Roger Waters ทำให้มนุษย์สูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน (สวมใส่หน้ากาก) ถูกควบคุมครอบงำ เสี้ยมสอนสั่งโดยครูอาจารย์ จนมีลักษณะไม่ต่างกับการเดินเข้าเครื่องบด แปรสภาพกลายเป็นเนื้อสำเร็จรูป ส่งออกขายตามท้องตลาดในราคาแสนถูก

ผมว่านี่เป็นซีนที่แฝงนัยยะรุนแรง เหี้ยมโหดร้าย เสียดแทงได้อย่างเจ็บแสบถึงทรวงที่สุดของหนัง

Pink จินตนาการถึงสาเหตุผล การแสดงออกเข้มงวดกวดขันของครู น่าจะเป็นผลพวงมาจากภรรยาจอมจ้ำจี้จ้ำไช แค่อาหารไม่ชอบยังไม่ยอมให้เขี่ยทิ้ง เลยมาระบายลงกับนักเรียนด้วยวิธีการคล้ายๆกัน … แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือภาพที่อยู่ด้านหลัง ผมไม่แน่ใจว่าคือ Queen Elizabeth หรือเปล่านะ แฝงนัยยะกลายๆถึงระบอบการปกครองกษัตริย์ ครอบงำทรงอิทธิพลต่อวิถีชีวิต/ทุกสิ่งอย่างของชาวอังกฤษ มาตั้งแต่โบราณกาล

สำหรับช็อตนี้จะมีการตัดสลับระหว่าง ภรรยาชี้นิ้วจ้ำจี้จำไช = ครูใช้ไม่เรียวหวดก้นเด็ก เป็นการสะท้อนว่ามีนัยยะคือสิ่งๆเดียวกัน

เมื่อความโกรธเกลียดเคียดแค้น อึดอัดอั้น สะสมจนถึงขีดสุด นี่คือสิ่งที่ Pink อยากปลุกระดมให้คนรุ่นใหม่แสดงออกต่อระบบการศึกษา ถ้ามันเลวร้ายพึ่งพาไม่ได้ ก็เผามอดไหม้ทำลายล้างมันเสีย!

เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็นึกว่าชีวิตคงไม่ถูกควบคุมครอบงำอะไรจากใคร แต่คือแฟนสาว ภรรยา ช็อตนี้ถอดเสื้อผ้าเปลือยเปล่า พยายามยั่วเย้าในเขามาสนใจ เงาของเธอพยายามเข้าควบคุม ครอบงำ แต่เขาก็พยายามเบี่ยงบ่ายหลบหนี

ซึ่งซีนนี้จะตัดสลับกับ Pink วัยเด็ก เมื่อครั้นป่วยไม่สบาย ได้รับการเอาอกเอาใจจากแม่ พาหมอมารักษาดูแล … มีลักษณะแทบไม่แตกต่างกัน

คล้ายๆกับตอนที่พ่อเสียชีวิต ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับใคร = ตอนที่ Pink จับได้ว่าภรรยาลักลอบนอกใจ เขาโทรศัพท์ไปหาถึงของชู้รัก เรียกเก็บเงินปลายสาย ทำให้รู้ตัวว่าถูกจับได้ ปฏิเสธพูดคุยสนทนา … เพราะคงไม่มีอะไรสามารถสื่อสารเข้าใจกันในสถานการณ์เช่นนี้

หนังใช้การเปรียบเทียบชีวิตคู่กับดอกไม้สองดอกนี้ ที่เริ่มจากการเกี้ยวพาราสี ยั่วหยอกเย้า จากนั้นทิ่มแทง และค่อยๆถูกกัดกลืนกิน จนหลงเหลือผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น … แค่อนิเมชั่นนี้เพียงฉากเดียว ทำให้หนังคู่ควรแก่การรับชมที่สุดแล้ว

เมื่อชีวิตไม่หลงเหลืออะไรให้พึ่งพักพิง สำหรับ Pink จึงคือการทำลายทุกสิ่งอย่าง ไม่มีอะไรในโลกนี้สมควรค่าให้ธำรงอยู่ นอกจากจิตใจอันเจ็บปวดรวดร้าว

เกร็ด: Bob Geldof เป็นคนเกลียดกลัวเลือดอย่างมาก ซึ่งเขาถูกมีดบาดในซีนนี้ แต่ปฏิเสธไม่ยอมปฐมพยาบาลจนกว่าการถ่ายทำจะเสร็จสิ้น (คงไม่ต้องการเจ็บซ้ำเจ็บซ้อน)

อีกหนึ่งซีนที่ถือว่าเจ๋งมากๆ เป็นส่วนผสมบนโลกความจริง+จินตนาการของ Pink ที่ได้ประสานเข้าร่วมกัน พบเห็นภาพเงาของแม่ แปรสภาพเป็นดอกไม้ ยมทูต ราวกับต้องการมาเข่นฆ่าเอาชีวิต … แต่จะมองว่าทั้งหมดนี้คือภาพหลอนจากการเสพยาก็ยังได้

อีกความเจ๋งของซีนนี้คือการออกแบบผนังกำแพง พอดูรู้ว่าเป็นภาพวาด ทำให้เหมือนลูกบากศ์สามด้าน สะท้อนถึงสามเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของ Pink ประกอบด้วย ปมวัยเด็กจากพ่อ, โรงเรียน และภรรยาเมื่อแต่งงานอยู่ร่วม

เมื่อถึงจุดๆหนึ่งของ Pink จินตนาการถึงกำแพง พยายามอย่างยิ่งจะตะเกียกตะกาย ปีนป่าย แต่ทำอย่างไรก็ไม่สำฤทธิ์ผล ชีวิตถูกกักขัง กีดกัน แบ่งแยก แทบจะไร้ตัวตนเมื่ออยู่ข้างในฝั่งนี้

เพราะมนุษย์ได้สูญเสียอัตลักษณ์ไปในวิถีโลกปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ Pink จึงทำการโกนคิ้ว โกนผม สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับตนเอง มีความเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ซึ่งวินาทีที่ภาพลักษณ์นั้นเปิดเผยออก เริ่มจากเงาตรงประตูช็อตนี้ พบเห็นเลือดที่มือฝั่งซ้ายภาพยังไหลเป็นทาง (มือข้างที่ได้รับบาดเจ็บจากแก้วแตก)

ถ้าผมจดจำไม่ผิด Christopher Nolan โปรดปราน Pink Floyd – The Wall (1982) เป็นอย่างมาก ซีนนี้มีแนวโน้มเป็นอิทธิพลให้โปสเตอร์ Why So Serious? ของ The Dark Knight (2008)

Pink ในภาพลักษณ์ใหม่ แต่ถือว่าจิตใจหวนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง จินตนาการถึงตนเองกำลังเดินออกค้นหาทุกสิ่งอย่าง ท่ามกลางสนามรบ ความตายของพ่อ และสุดท้ายคือหวนกลับมาเห็นตัวเอง ‘Old Self’ นั่งหมดสิ้นหวังอาลัยดูโทรทัศน์ ท่ามกลางพายุฝุ่นควันพัดโปรยปลิว

จินตนาการของ Pink สู่ผู้นำเผด็จการ Neo-Nazi เป็นการสะท้อนสภาวะทางจิตใจ เพราะไม่เคยมีอะไรตอบสนองความต้องการส่วนตนได้สักอย่าง นี่ถ้าฉันสามารถเป็นท่านผู้นำ ทำอะไรได้อย่างเบ็ดเสร็จ โลกใบนี้คงพานพบเจอความสงบสันติสุขอย่างแน่แท้

เกร็ด: หลายๆตัวประกอบในฉากนี้ นั้นเป็นสมาชิก Neo-Nazi จริงๆ

อีกอนิเมชั่นหนึ่งที่ถือว่าตราตรึงไม่น้อย ขบวนพาเรดค้อน ซึ่งคือสัญลักษณ์ของการทำลายล้าง (กำแพง) ความต้องการแท้จริงของ Pink ถ้าได้เป็นผู้นำเผด็จการ จะไม่ยินยอมให้ถูกห้อมล้อมด้วยผนังกำแพง กฎกรอบ ขนบวิถี ประเพณีสังคมอย่างเด็ดขาด

จะว่าไปอนิเมชั่นไคลน์แม็กซ์ของบทเพลง The Trial คือการประมวลทุกสิ่งอย่างของหนัง เปรียบเทียบ Pink กับหุ่นชักเชิดที่ไร้จิตวิญญาณ ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว ต่อกรทำอะไรใคร ค่อยๆถูกกำแพงเคลื่อนเข้ามาปกปิดหนทางออก แล้วโดนกลั่นแกล้งจากใครๆสารพัดเพ ทำได้แค่สมยินยอมรับความจริง คาดหวังว่าสักวันกำแพงนี้จะพังทลายหมดสิ้นสภาพ

และเมื่อกำแพงถูกทำลาย ทุกสิ่งอย่างจักถือว่าได้เริ่มต้นใหม่ เด็กๆเก็บอิฐใส่รถบรรทุก(เด็กเล่น) และขวดนม สัญลักษณ์ของความใสซื่อไร้เดียงสา (อิสรภาพบนโลกใบใหม่)

ตัดต่อโดย Gerry Hambling (1926 – 2013) สัญชาติอังกฤษ ขาประจำผู้กำกับ Parker ได้เข้าชิง Oscar ทั้งหมด 6 ครั้ง ไม่เคยได้สักรางวัล Midnight Express (1978), Fame (1980), Mississippi Burning (1988), The Commitments (1991), In the Name of the Father (1993), Evita (1996)

ดำเนินเรื่องโดยมีตัวละคร Pink คือจุดศูนย์กลางทุกสิ่งอย่าง ซึ่งในโลกความจริงเราจะพบเห็นเขานั่งเอื่อยเฉื่อยชา หมดสิ้นหวังอาลัยอยู่ในห้องพักโรงแรมเท่านั้น เรื่องราวที่เกิดขึ้นภายนอกทั้งหมด ล้วนสะท้อนสิ่งอยู่ภายในความครุ่นคิด จินตนาการ ความทรงจำวัยเด็กของเขาเท่านั้น

วิธีการที่น่าจะทำให้เข้าใจหนังง่ายสุด คือแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆละเพลง พยายามทำความเข้าใจเนื้อหาสาระทีละส่วน จากนั้นค่อยมาประติดประต่อทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน

ซึ่งถ้าไล่เรียงทั้งหมด จะประกอบด้วย
– เริ่มต้นหวนระลึกถึงพ่อ When the Tigers Broke Free, Part 1
– ตัดสลับภาพสงคราม-ผู้ชมคอนเสิร์ตก่อจราจล In the Flesh?
– หลังการสู้รบ The Thin Ice
– หลังพ่อจากไป แม่เลี้ยง Pink อย่างเอาอกเอาใจ Another Brick in the Wall, Part 1

  • เด็กชาย Pink สวมเครื่องแบบของพ่อ When the Tigers Broke Free, Part 2
  • อนิเมชั่นสงคราม ความตายที่ไร้ค่า Goodbye Blue Sky
  • ที่โรงเรียน เด็กชายถูกครูทำให้อับอายจากบทกวี Money (เพลงนี้จากอัลบัม The Dark Side of the Moon)
  • พฤติกรรมของครูสืบเนื่องจากการแต่งงานที่ไม่สุขสมหวัง The Happiest Days of our Lives
  • ภาพจินตนาการถึงนักเรียน เดินเข้าเครื่องบดเนื้อ Another Brick in The Wall, Part 2
  • ถึงแม้ Pink เติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ก็โหยหาแม่ Mother
  • เมื่อภรรยาลักลอบมีชู้ ภาพอนิเมชั่นดอกไม้ What Shall We Do Now?

  • Pink คบหากลุ่มเล่นยา Young Lust

  • พามาที่ห้อง แล้วระเบิดอารมณ์ใส่ One of my Turns
  • ตกอยู่ในสภาวะหดหู่ ซึมเศร้า ขังตนเองอยู่ในห้อง Don’t Leave me Now
  • อนิเมชั่นพยายามทำลายกำแพง Another Brick in The Wall, Part 3
  • หวนกลับสู่จุดเริ่มต้น ร่ำลาโลกที่โหดร้าย Goodbye Cruel World

– หลบซ่อนตัวอยู่ในกำแพง ไม่ยอมออกจากห้อง Is There Anybody Out There?
– Nobody Home เริ่มจินตนาการถึงหนอน รับชมราย The Dam Busters ในโทรทัศน์
– ภาพเด็กชาย Pink ออกตามหาบางสิ่งในสนามรบ Vera
– กลับค้นพบตัวเองที่เป็นผู้ใหญ่ วิ่งหนีมาจนพบเห็นทหารกำลังกลับบ้าน 
Bring the Boys Back Home
– หวนกลับมาที่ห้อง ผู้จัดการของ Pink พยายามพังประตูเข้ามา Comfortably Numb

– จินตนาการตนเองเป็นผู้นำเผด็จการ In the Fles
– ผู้ติดตามเดินขบวนทั้งหลาย Run Like Hell
– แสดงความบ้าคลั่งออกมา Waiting for the Worms
– ภาพอนิเมชั่นค้อนเดินพาเรด พร้อมเสียงร้องของ Pink ตะโกนให้หยุด Stop

– ฉากไคลน์แม็กซ์ Pink กลายเป็นหุ่นว่างเปล่า ขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ รอคอยการตัดสินใจ The Trial เพื่อทำลายกำแพงขวางกั้นน

– ปัจฉิมบท หลังหลงเหลือเพียงซากปรักหักพัก Outside the Wall


บทเพลง Another Brick in the Wall มีทั้งหมด 3 ตอน สะท้อนถึง 3 เหตุการณ์ที่ Pink พานพบเจอในชีวิต แล้วพบเจอกำแพง/หนทางตัว ไม่สามารถค้นหาหนทางออกได้
– ครั้งแรกคือปมวัยเด็ก การจากไปของพ่อ หลงเหลือเพียงแม่ที่คอยเอาอกเอาใจ
– ความผิดหวังเมื่อเข้าโรงเรียน ถูกครูใช้อำนาจบาดใหญ่ ทำให้พวกเขากลายเป็นเนื้อบดสำเร็จรูป
– เติบโตขึ้นแต่งงาน แต่ก็ถูกภรรยาลักลอกมีชู้นอกใจ

In the Flesh? เป็นบทเพลงที่อ้างอิงถึงชื่อทัวร์ In the Flesh Tour ที่ทำให้ Roger Waters เกิดแรงบันดาลใจอัลบัม The Wall ต้องการสร้างกำแพงที่คอยกีดกันตัวเขากับผู้ชม โดยเนื้อเพลงเป็นการนำเข้าคอนเสิร์ต/ภาพยนตร์ และช่วงท้ายแฝงนัยยะถึงสงคราม ได้ยิน Sound Effect เสียงเครื่องบิน ระเบิดตูมตาม เด็กทารกร่ำร้องไห้

ไฮไลท์ของอัลบัมนี้คือ Comfortably Numb แต่งโดย David Gilmour คำร้องโดย Roger Waters ความเฉื่อยชาที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงสภาพจิตใจที่หมดสิ้นหวังอาลัยต่อทุกสิ่งอย่าง ไม่หลงเหลืออะไรก่อให้เกิดความหวัง อนาคตช่างมืดมิดหนทาง ร่างกายไร้วิญญาณ ไม่ต่างอะไรกับความตายทั้งเป็น

เด็กชาย Pink สูญเสียพ่อไปในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้เขามีช่วงชีวิตวัยเด็กที่แสนทุกข์ทรมาน ขาดความอบอุ่น เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาผู้คนรอบข้าง จินตนาการคาดหวังว่าพอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อะไรๆคงจะดีขึ้นกว่าเดิม … แต่กลับกลายย่ำแย่เลวร้ายลงกว่าเดิม

สาเหตุผลหนึ่งเพราะระบบการศึกษา(ในอังกฤษ) พยายามที่จะควบคุม ครอบงำ เสี้ยมสอนสั่งให้นักเรียนต้องยึดถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม เพราะวิถีความคิดของคนรุ่นเก่าก่อน พบเห็นใครแสดงออกนอกคอกจักต้องทำให้สูญเสียหน้า ขาดความมั่นใจ นี่ไม่ต่างอะไรจากโรงงาน บีดอัดมนุษย์ให้กลายเป็นเนื้อบดสำเร็จรูป ส่งออกเป็นอาหารให้ใครต่อใครบริโภครับประทาน

เฉกเช่นเดียวกับชีวิตคู่ การผูกมัด แต่งงาน แรกเริ่มน้ำต้มผักย่อมหวาน แต่นานไปพานพบเพียงความขื่นขม ไม่มีใครรักเราไปมากกว่าแม่บังเกิดเกล้า แต่เมื่อเธอไม่อยู่แล้วฉันจะทำเช่นไรดี … นี่คือการย้อนแย้งกับที่ Pink จินตนาการถึงครูที่พยายามควบคุมครอบงำเขา ชีวิตตนเองกลับแทบไม่แตกต่างกัน

เรื่องราวของ Pink Floyd – The Wall ถือได้ว่าคือสัญลักษณ์การต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ที่พยายามทำให้ประชาชนถูกควบคุม ครอบงำ ดำเนินวิถีชีวิตไปตามเส้นทาง กฎกรอบที่พวกตนวางไว้ สร้างกำแพงแห่งการแบ่งแยก กีดกัด เฉพาะพวกของตนเท่านั้นได้รับอนุญาตเข้าไป ซึ่งใครก็ตามที่ถูกกักขังอย่ามัวก้มหัวร่ำไห้ เงยหน้าขึ้นมาหยิบค้อนทุบทำลาย อย่าปล่อยให้ประเทศชาติต้องล่มจมเพราะคนหลงอำนาจไม่กี่คน

Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งสหราชอาณาจักร แม้อาจได้รับการยกย่องจากนานาอารยะประเทศ แต่ยุคสมัยของเธอนั้นทำให้การเมืองและสังคมของประเทศอังกฤษ แบ่งขั้วออกเป็นฝั่งฝ่ายมากที่สุดนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แถมยังใช้นโยบายปฏิรูปที่ค่อนข้างรุนแรงแบบไม่สนหัวใคร สนับสนุนกิจการเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคที่รัฐบาลก่อนๆยึดเป็นของรัฐคืนเอกชน ลดบทบาทสหภาพแรงงาน ลดภาษีเงินได้ และพยายามจัดตั้งบริษัทขึ้นดูแลการศึกษาและสาธารณสุขที่เป็นหน้าที่ของรัฐ จนมีคำเรียกราวกับลัทธิ Thatcherite แน่นอนว่าย่อมไม่ทางถูกใจใครทุกคน

Waters เปรียบช่วงเวลาที่ Pink จินตนาการตนเองเป็นผู้นำเผด็จการ Neo-Nazi เปรียบได้กับ Margaret Thatcher ปกครองประเทศด้วยการทำทุกสิ่งอย่างตามใจฉัน จี้แทงใจดำสุดๆคือเหตุการณ์ประกาศสงคราม Falklands War เริ่มต้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 1982 เมื่อกองทัพ Argentina ส่งกำลังทหารเข้ายึดครอบครองหมู่เกาะ Falkland ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ “เราจะไม่ยึดติดกับปัญหาต่างๆ” นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก ส่งกำลังทหารเข้าจัดการอย่างเร่งด่วน เพียง 74 วันเท่านั้น ทุกอย่างก็สงบยุติราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น 

แซว: Falklands War เป็นสงครามที่แสดงความเป็น ‘มหาอำนาจ’ ของสหราชอาณาจักร แต่ความจริงแล้วการดูแลดินแดนอาณานิคมห่างไกลมีค่าใช้จ่ายสูงลิบลิ่ว ขณะที่รายได้จากการเลี้ยงแกะและประมงของหมู่เกาะนี้เพียงน้อยนิด … แล้วมันจะมีผลประโยชน์อันใดในการครอบครองหมู่เกาะดังกล่าว!

ในความครุ่นคิดของ Roger Waters ถ้าตนเองได้เป็นผู้นำเผด็จการ Neo-Nazi มีอำนาจมากล้นฟ้า สิ่งที่เขาจะทำก็คือทำลายกำแพงขวางกั้นนี้ ให้ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียม ตามด้วยลบล้างระบบการศึกษา การแต่งงานครองคู่ และขับไล่เข่นฆ่าคนคิดเห็นต่าง

วิธีการดังกล่าวในความครุ่นคิดเห็นของ Waters สะท้อนความเป็นคนหัวก้าวหน้า บ้าอำนาจ ซ้ายจัด สุดโต่ง ไม่พยายามประณีประณอม อ่อนข้อต่ออีกฝั่งฝ่าย เอาจริงๆไม่ต่างกับ Margaret Thatcher ที่เขาพยายามโต้ตอบกลับด้วยความครุ่นคิดเห็นต่าง เข้าสำนวน ‘ว่าแต่เขาเดี๋ยวอิเหนาก็เป็นเอง’ (นี่สะท้อนการเมืองไทยในหลายๆมุมมอง)

กำแพง คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อปกป้องตนเองจากภยันตรายภายนอก ถือว่ามีต้นกำเนิดจากวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคสมัยใหม่ ปริมาณประชากรเพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรเกิดการแก่งแย่งไม่เพียงพอ คนมีอำนาจ ฐานะ เงินทอง จึงพยายามกอบโกย กัดกัน แสดงความเห็นแก่ตัวออกมา นี่สะท้อนถึงความเสื่อมโทรมทรามของจิตใจ สวนทางกับความเจริญทางวัตถุนิยม

มุมมองความคิดเห็นส่วนตัว ยินยอมรับว่าคนยุคสมัยนี้มี ‘กำแพง’ เกิดขึ้นภายในมากมาย แต่ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปเรียกร้องให้ใครอื่นใด พรรคเพื่อนฝูง หรือชนชั้นผู้นำของประเทศ มาเป็นผู้ปลดแอกตัวตนเอง!

เพราะกำแพงที่อยู่ภายในนั้น มันจะพังทลายลงได้ก็ด้วยตัวเราเองเท่านั้น ด้วยมุมมองทัศนคติที่ปรับเปลี่ยนไป ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ยกตัวอย่างเช่น ฉันเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เวลาเห็นใครหน้าตาเหี้ยมๆหื่นๆ ก็ครุ่นคิดว่าเป็นขโมยกับโจรเสียหมด <-> ให้ลองเปิดใจตนเอง อย่ามองคนที่ภาพลักษณ์ภายนอกเพียงอย่างเดียว สังเกตสายตา คำพูด ท่าทางการกระทำ ถ้าจิตใจเขาเป็นคนดี จะไม่ชักนำพาเราไปที่อโคจรอย่างแน่นอน

เรื่องราวของหนังถือว่าไม่เก่าเลยนะ! คำประกาศกร้าวของ ปธน. Donald Trump ที่จะสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก ทำให้ Roger Waters ที่ยังมีชีวิตอยู่ ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านอย่างเต็มตัว ต้องการจัดคอนเสิร์ตยังตะเข็บชายแดนสองประเทศ แบบเดียวกับที่ตอนเฉลิมฉลองการล่ามสลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อปี 1990 (แต่ก็ไม่รู้ได้จัดไปหรือยังนะ)

“[The Wall is] very relevant now with Mr. Trump and all of this talk of building walls and creating as much enmity as possible between races and religions”.

– Roger Waters


หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes นอกสายการประกวด ‘Out of Competition’ รอบเที่ยงคืน ซึ่งหนึ่งในผู้ชมวันนั้นคือ Steven Spielberg นั่งอยู่ไม่ห่างจากผู้กำกับ Parker ซึ่งหลังหนังจบได้ทันอ่านปาก พึมพับว่า “What the fuck was that?”

ด้วยทุนสร้าง $12 ล้านเหรียญ สัปดาห์แรกเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ทำเงินสูงอันดับ 3 รองจาก E.T. the Extra-Terrestrial และ An Officer and a Gentleman ทำเงินได้ $22.2 ล้านเหรียญ ไม่มีรายงานรายรับทั่วโลก แต่คิดว่าน่าจะคืนทุน ทำกำไรได้ (เพราะยอดขายอัลบัมฮิตถล่มทลาย!)

ได้เข้าชิง คว้ามา 2 รางวัล BAFTA Award
– Best Sound
– Best Original Song บทเพลง Another Brick in the Wall

แม้เสียงตอบรับตอนออกฉายจะค่อนข้างผสม แต่กาลเวลาได้ทำให้เกิดกระแส Cult ติดตามมา ได้รับการยกย่องเป็นภาพยนตร์ดนตรี Rock ยอดเยี่ยมที่สุด (แต่แนวนี้ก็มีไม่กี่เรื่องหรอกนะ ผมเคยเขียนถึงแค่อีกเรื่องหนึ่ง Jesus Christ Superstar)

ส่วนตัวบอกเลยว่าไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ พบเห็นเต็มไปด้วยอคติ ความเกลียดชัง มองโลกในแง่ร้าย สุดโต่งเกินทนรับไหว แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยินยอมรับในคุณภาพ ความหาญกล้าของผู้สร้าง จิตใจพวกเขาคงอึดอัดอั้นเต็มทน นี่คือวิธีระบายออกของศิลปิน งานศิลป์ขั้นสูง ‘High Art’

จัดเรต NC-17 กับภาพงานศิลป์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง และทัศนคติสุดโต่งของผู้สร้าง ต้องใช้วิจารณญาณในการรับชมพอสมควรทีเดียว

คำโปรย | Pink Floyd – The Wall กลายเป็นกำแพงที่ไม่มีวันพังทะลาย คงอยู่ตราบชั่วฟ้าดินสลาย
คุณภาพ | คลุ้มคลั่งเกิ้น
ส่วนตัว | ไม่ชอบเท่าไหร่

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: