Pirosmani

Pirosmani (1969) USSR : Giorgi Shengelaia ♥♥♥♥♥

อัจฉริยะจิตรกรแห่งสหภาพโซเวียต Niko Pirosmani นักวาดภาพ Primitivist เชื้อสาย Georgian เขาไม่มีอาจารย์สอน วาดภาพสีน้ำมันเป็นด้วยตัวเอง น้อยคนอาจจะรู้จักเขา และน้อยยิ่งกว่าจะรู้จักหนังเรื่องนี้ และผมจัดให้ Pirosmani เป็นหนังที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมคิดมาสักพักแล้ว จะมีหนังเรื่องไหนเกี่ยวกับ Painter & Artist ที่ศิลปินไม่บ้า อัจฉริยะแต่ถ่อมตัว ไม่เย่อหยิ่งจองหอง ทำงานไม่หวังชื่อเสียงเงินทอง และไม่ได้เป็นศิลปินเพราะต้องการเป็นที่หนึ่ง … หนังเรื่องนี้แหละครับที่ผมเจอ ยังแปลกใจอยู่เลยว่าไปเจอเข้าได้ยังไง นี่ไม่ใช่หนังที่ใครๆจะรู้จักได้ ไม่มีในชาร์ทหนังยอดเยี่ยมใดๆ แค่มันอยู่ในลิส Painter & Artist ของใครสักคนที่ผมค้นเจอในอินเตอร์เน็ต แล้วลองเสี่ยงหามาดู ถือว่าเกินความคาดหมายมากๆ หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เพชรในตม แต่เป็นช้างเผือกในป่าลึก

คงต้องมองหนังเรื่องนี้ว่าเป็นสัญชาติ Soviet หรือ USSR นะครับ เพราะปีที่ฉายนั้นก่อนที่ Soviet Union จะล่มสลาย ปัจจุบันกลายเป็นประเทศ Georgia ไปแล้ว หนังพูดภาษา Georgian ผมฟังไม่รู้เรื่องหรอก แต่รู้ว่าไม่ใช่ภาษา Russia นักแสดงบางคนใส่ผ้าคลุมหัว คงเป็นมุสลิม นี่ทำให้ผมสับสนพอสมควร สรุปว่า Georgia ที่อยู่ใน Middle East เป็น Asia หรือเป็น Europe กันแน่ (ผมโยนใส่โซน European นะครับ) และหนังเรื่องนี้ไม่มีรายละเอียดใน Wikipedia ด้วยนะครับ (เป็นไปได้ยังไง!) ข้อมูลของหนังอ้างอิงจาก IMDB

Niko Pirosmani หรือ Nikoloz Aslanis Dze Pirosmanashvili เรียกย่อๆว่า Nikala เกิดใน Kakheti (ปัจจุบันอยู่ในประเทศ Georgia) เขาเริ่มจากการเป็นนักเขียนป้ายชื่อ ป้ายร้านค้า (signboards) เคยทำงานเป็นคนก่อสร้างรางรถไฟ (railroad conductor) ภายหลังเก็บเงินได้ส่วนหนึ่ง ร่วมกับเพื่อนจึงมาเปิดร้านชำขายเครื่องปรุง (dairy farm) ภายหลังปิดกิจการและออกมารับจ้างทั่วไป ถูกบ้าน ทาสีบ้าน รวมถึงวาดภาพ ออกแบบป้ายร้านค้า ฯ ดูยังไงชายคนนี้ก็ไม่น่ากลายเป็นศิลปินได้เลย ชีวิตเขาโคตรจน ไม่คิดจะรวย พอมีเงินก็จะแบ่งปันให้คนอื่น จนกระทั่งวันหนึ่งมีศิลปินจิตรกรจากเมืองใหญ่ได้เห็นผลงานของเขาที่ติดอยู่ตามร้านค้าต่างๆเข้า เกิดความชื่นชอบ จึงได้ติดตามหาตัวจนพบ และเชิญเขาเข้าไปในเมือง ประกาศให้เป็นที่รู้จัก

สไตล์ของ Pirosmani คือ Primitivist ภาพวาดธรรมชาติ สัตว์ป่า ยีราฟ, กวาง, วัว, เสือ ฯ บ้างก็เรียกสไตล์นี้ว่า Naïve art ในบรรดาร้านค้า สถานที่ต่างๆที่มีภาพวาดของ Pirosmani ส่วนใหญ่จะเป็นภาพวิถีชีวิต ครอบครัว หรือไม่ก็สรรพสัตว์ ภาพวาดธรรมชาติ จะไม่มีภาพไหนที่เป็นเมือง ถนนหนทาง ฯ คงเพราะภาพเมืองเป็นสิ่งที่ผู้คนมองเห็นเป็นประจำในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ภาพชนบท ธรรมชาตินี้ต่างหากที่คนในเมืองไม่ค่อยจักเห็น ความสวยงามที่ดูแล้วจะผ่อนคลายสบายใจ, เมื่องานของ Pirosmani ได้ถูกจัดแสดง ก็มีนักวิจารณ์ที่ต่อว่าเขา บอกว่า หมอนี่วาดยังกับคนวาดภาพไม่เป็น ใช่ครับ เขาไม่ได้เรียนวาดภาพกับใคร เทคนิคต่างๆก็ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง Pirosmani ไม่ได้โกรธเคืองนักวิจารณ์ พวกนั้นเป็นใครเขาไม่เห็นรู้จัก จะไปต่อว่าโกรธเคืองมันก็ใช่เรื่องอยู่ กระนั้นบทวิจารณ์เสียๆหายๆแบบนี้ ทำให้ผู้คน ร้านค้าต่างๆ มอง Pirosmani เปลี่ยนไป ภาพวาดที่เขาเคยวาดให้ทั้งหมดถูกขายหรือไม่ก็ถูกทำลาย เขาผิดอะไรกัน? ทำให้ชาวเมืองอับอายขายหน้าเช่นนั้นเหรอ

Niko Pirosmani เสียชีวิตจากโรคขาดสารอาหาร น่าเศร้านะครับ โลกสมัยก่อนมันอยู่ยากจริงๆ, ถ้าใครไปเที่ยว Georgian แบงค์ 1 Iari จะมีรูปของเขาปรากฏอยู่ หมายความว่ายังไงก็น่าจะคิดกันเองได้นะครับ ศิลปินไส้แห้งคนธรรมดาๆคนหนึ่ง กลับมีรูปปรากฏในธนบัตรของชาติ ไม่สำคัญโคตรๆก็ไม่รู้ยังไงแล้ว

ผู้กำกับ Giorgi Shengelaia ใช้ชื่อในเครดิตว่า Giorgi Shengelaya เกิดใน Moscow มีหนังดังๆในกำกับอยู่ 2-3 เรื่อง เคยได้ Silver Bear รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังเมือง Berlin จากหนังเรื่อง The Journey of a Young Composer (1985) สำหรับ Pirosmani รางวัลใหญ่สุดที่เคยได้จาก British Film Institute รางวัล Sutherland Trophy เมื่อปี 1973 และได้ Gold Hugo จาก Chicago International Film Festival ในปี 1974, Shengelaia เคยเป็นกรรมการ (Jury) ในเทศกาลหนังเมือง Berlin 2 ครั้ง เมื่อปี 1992 และ 1994

นำแสดงโดย Avtandil Varazi หรือ Avto Varazi เขาเป็นนักวาดภาพชื่อดังสัญชาติ Georgian ถือว่าเป็นคนที่เข้ากับบท Nico Pirosmani มาก, บทนี้ด้วยวิธีการกำกับของ Shengelaia ไม่ได้ต้องอาศัยการแสดงอะไรมากนัก และไม่ได้มีการประทะทางอารมณ์ที่รุนแรง แค่เล่นเป็นธรรมชาติ ไม่ตื่นหน้ากล้อง ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ผมไม่แน่ใจ Varazi รับการแสดงอื่นหรือเปล่านะครับ (น่าจะไม่) นี่น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกและเรื่องเดียว, เขาเป็นคนวาดภาพของ Pirosmani ทั้งหมดในหนังด้วย

การถ่ายภาพที่โคตรโดดเด่น โดย Konstantin Apryatin, Dudar Margievi และ Aleksandre Rekhviashvili ผมไม่รู้จักสักคนเลยนะครับ หนังเรื่องนี้มีการถ่ายภาพที่โดดเด่นมากๆ 3 อย่าง
1. ตั้งกล้องไว้เฉยๆ ถ่ายภาพ mid-shot นักแสดงเล่นไปตามบท ประเด็นคือมันไม่ได้มี 1 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฉากที่เราเห็นนะครับ ตอนฉากงานแต่งงาน ผมนับดูมี 3-4 เหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ยัดเข้าไปในช็อตเดียว ทำไปได้ยังไง!
2. การเคลื่อนกล้อง เดินตามตัวละคร (tracking shot) ดูธรรมดาๆอาจจะไม่เห็นอะไรเด่น แต่สังเกตดีๆจะพบว่า ตัวละครจะอยู่กลางเฟรมตลอด การทำแบบนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกล้องหรือคนไม่ได้เคลื่อนไหว แต่เป็นฉากที่เคลื่อนไหว
3. ถ่ายภายใน มืดมากๆ เหมือนว่าทีมงานจะใช้ spotlight ส่อง ถ้ามองขอบภาพ จะเห็นว่ามืดสนิท ราวกับว่าต้องการให้จุดสนใจเกิดขึ้นภายในแสง spotlight นี้เท่านั้น, หรือมองอีกมุมหนึ่งคือ เมืองที่หนังไปถ่าย ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลยนะครับ ผมเห็นแค่ตะเกียง แต่ไม่มีสายไฟปรากฏในหนังเลย บ้านที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ไฟฟ้าจะมาจากไหน ผมเห็นพระเอกนอนดูดาวนอกบ้านสบายใจเฉิบ

สามอย่างที่ผมบอกมา ทำให้ผมทึ่งไปเลยละ คิดว่า เห้ยปี 1969 ทศวรรษ 60s ฤาว่า Georgia ยังคงเป็นชนบทห่างไกล ทุรกันดารขนาดนี้เลยเหรอ ถ้าถ่ายจากสถานที่จริงๆ แสดงว่าหนังเรื่องนี้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากๆ, แต่เดี๋ยวนะ… ช่วงเวลาในหนัง Niko Pirosmani เกิดในช่วง 1862–1918 มีความเป็นไปได้ว่าผู้กำกับอาจสร้างฉากทั้งหมดขึ้นมา เพราะทุกฉากเราจะเห็นมุมกล้องแค่ด้านเดียว เหมือนถ่ายในสตูดิโอ แบบนี้สามารถควบคุมได้ทุกอย่าง ไม่มีสายไฟ ไม่มีไฟฟ้า, กระนั้นไม่ว่าจะถ่ายสถานที่จริงหรือสร้างฉากขึ้นมาก็ต้องชื่นทีมนักออกแบบฉาก Art Direction อย่างมากนะครับ ว่าทำมาได้สมจริงมากๆ เสื้อผ้า หน้าผม สถาปัตยกรรม เมือง ผมไม่ถนัดประวัติศาสตร์ของ Georgia นัก แต่รู้สึกได้ว่ามันควรเป็นแบบในหนังนี่แหละ

ตัดต่อ นี่ก็โคตรแรง ผมหาเครดิตให้ไม่ได้ ใครเคยดูหนังอย่าง No Country for Old Man (2008) ที่ตอนท้ายตัดต่อแบบบ้าคลั่ง ไม่แคร์คนดูเข้าใจ ยากจะเข้าใจ หนังเรื่อง Pirosmani ผมรู้สึกแบบเดียวกันเลย อาจจะโหดกว่าอีก แบบว่าซีนหนึ่ง พระเอกกำลังพูดกับตัวละครหนึ่ง ไล่ให้เขาออกไปจากบ้าน พูดจบตัดควับ พระเอกมายืนอยู่ในตำแหน่งคนที่ถูกไล่ นี่ถ้าไม่ใช่เพราะหนวดเครา ทรงผม ผมคงไม่เอะใจ คิดว่าเป็นการตัดไปให้เห็นหน้าคนที่ถูกไล่ เปล่าเลย จบซีนเมื่อกี้แล้ว นี่ขึ้นซีนใหม่ หนังเล่นตัดต่อแบบ ห้ามกระพริบตา ไม่งั้นจะดูไม่ทัน (แอบเว่อ แต่คือการตัดต่อหนังเรื่องนี้ คมมากๆ แบบที่ผมไม่เคยเจอมาก่อน)

การเล่าเรื่องช่วงแรกจะมีการตัดสลับระหว่างปัจจุบันกับอดีต ต้องสังเกตดีๆถึงจะรู้ว่า ฉากไหนปัจจุบัน ฉากไหนอดีต (ถ้ายังจดจำหน้าตาของตัวละครไม่ได้ ก็จำหนวด ทรงผมและเสื้อผ้าไปแล้วกันนะครับ ผมก็ใช้วิธีนี้ หน้าคน Georgia นี่เหมือนกันไปหมดเลย) พอสักครึ่งเรื่อง อดีตกับปัจจุบันมาบรรจบกัน เรื่องราวก็จะดำเนินต่อไปข้างหน้า สู่อนาคต และตอนแก่

เพลงประกอบโดย Nodar Gabunia และ  Vakhtang Kukhianidze เพลงไม่คุ้นหูเลยครับ คาดว่าเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของ Georgia ผมไม่รู้จักเลยสักชิ้น มีเสียงเครื่องเป่าที่คล้ายๆปี่, กลองหนังอะไรสักอย่าง, Accordion ขนาดเล็ก ไม่รู้ชื่ออะไร ฯ เพลงบรรเลงในงานแต่ง ก็พื้นบ้านมากๆ ไม่รู้ปัจจุบันจะยังเหลือแบบนั้นให้เห็นหรือเปล่า, เพลงประกอบในหนังส่วนใหญ่จะมาจากการบรรเลงของวงดนตรี หรือเครื่องดนตรีในฉากนั้นๆ และมักจะไม่ overlap เกินฉากของตัวเอง

ผมมองหาแรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้ รู้สึกเหมือนได้อิทธิพลมาจากหนังฝั่งเอเชียมากกว่ายุโรปหรืออเมริกานะครับ (ปกติหนังโซเวียต ถ้าได้อิทธิพลจากอเมริกา มักจะเป็นหนังที่ตรงกันข้าม เช่น 2001: A Space Odyssey ของอเมริกา พอโซเวียตตอบโต้ด้วย Solaris ที่ใจความตรงข้ามกันสิ้นเชิง) หนังของผู้กำกับฝั่งเอเชียที่น่าจะมองได้ว่ามีอิทธิพลมา อาทิ Yasujirō Ozu (การตั้งกล้องถ่าย), Kenji Mizoguchi (การเคลื่อนกล้อง) และ Satyajit Ray (ในเรื่องราว ผู้คนและสังคม) ถ้ามองกับผู้กำกับหนังสมัยใหม่จะคล้ายๆกับ Chen Kaige และ Zhang Yimou โดยเฉพาะ Yellow Earth ที่ผมเคยเขียนรีวิวไป กลิ่นอายมันคล้ายกัน สะท้อนมุมมองของบุคคลต่อสังคม ประเพณี

หนังแนวชีวประวัติของศิลปิน มันเหมือน hollywood ได้สร้างกรอบแนวคิด เรื่องราวที่ว่า ศิลปินมักต้องมีความขัดแย้งทางอารมณ์ สติไม่สมประดี มีปมด้อยบางอย่าง เกิดการประทะทางอารมณ์ที่รุนแรง, อย่างหนังทุกเรื่องที่ผมรีวิวมาใน Painter & Artist ล้วนมีองค์ประกอบแบบนี้แทรกอยู่ไม่มากก็น้อย นี่เป็นสิ่งที่ Pirosmani ไม่มีเลยครับ หลายคนอาจสงสัย มันเป็นไปได้ยังไง แล้วหนังจะสนุกได้ยังไง… นั่นเพราะคุณถูกล้างสมองมานะครับ กรอบความคิดอะไรหลายๆอย่างมันถูกปลูกฝังมาจากประสบการณ์ เราเคยเจอแต่หนังแบบนี้ ก็คิดว่ามันควรเป็นแบบนี้ ที่ผมบอกไปโซเวียต ถ้าเห็นอเมริกาดีเด่นอะไรพวกเขาจะไม่ทำ ทำในสิ่งตรงข้าม หนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน ถือว่าไม่ยึดติดกับกรอบใดๆที่เราเคยเข้าใจมา, หนังดีมันไม่จำเป็นต้องดราม่าแหลกราน แค่มีแนวคิดที่ใช่ก็ดีได้ ความพอเพียง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร นี่เป็นหนังที่เหมาะกับชาวพุทธ คนไทยมากๆ แบบนี้ไม่ให้ผมจัดหนัง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ได้ยังไงละ

เพราะความที่นิสัยของ Pirosmani เป็นคนที่ง่ายๆ เขาไม่มีความทะเยอทะยาน จะเรียกว่า Slow-Life ก็ได้ เขาไม่ได้ต้องการเป็นที่หนึ่งเหนือใคร ขอแค่เป็นคนธรรมดาทั่วไป ไม่ชอบมีปัญหาขัดแย้งกับใคร ใช้ชีวิตแบบพอเพียง, คนประเภทนี้เมื่อปัญหาตกมาถึงตัวเอง เขาก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่ไม่แคร์อะไร แต่เข้าใจ คนอื่นต่อว่าเขา แต่หมอนั่นเป็นใครไม่เห็นรู้จัก จะไปรู้สึกทำไมต่อคำพูดของคนพวกนั้น … นี่เป็นแนวคิดที่ใครหลายคนที่เคยถูกวิจารณ์หนักๆแรงๆมาแล้ว คงคิดได้ นานแล้วด้วย ผมเองก็คิดได้ แต่พอมาได้ยิน ได้เห็น มันก็ทำให้ผมเข้าใจตัวละครนี้นะครับ ไม่ใช่คนที่จะเห็นบ่อยในหนัง, ถึง Pirosmani จะรับได้ แต่คนอื่นๆนี่สิ ใช่ว่าทุกคนจะรับได้ พวกเขามอง Pirosmani เปลี่ยนไป … เป็นผมคงไม่อยู่แล้วเมืองนี้ พวกคนสองจิตสองใจ เห็นแก่ตัว เจอปัญหาอะไรก็ผลักไสออกจากตัว ทีสมัยก่อนเคยชื่นชอบชื่นชม แต่พอได้ยินว่าเสียงติฉินนินทา พวกเขาก็กลายเป็นนกสองหัว เป็นเป็ดเป็นเปรตคอยาว ปากว่าตาขยิบ ไม่ยอมรับ Pirosmani อีกต่อไป นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Pirosmani หมดอาลัยในชีวิต เขาทำทุกอย่างเพื่อคนอื่น แต่กลับได้รับการตอบแทนแบบนั้น การตายของเขาก็น่าเศร้า มันอาจดูเหมือนเขาทำตัวเอง แต่ผมคิดว่าเป็น สังคมที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้น โลกที่เต็มไปด้วยความหลอกลวง ผู้คนใส่หน้ากาก มองเห็นแค่สิ่งที่อยู่ภายนอก ไม่ใช่ภายใน

บทเรียนของหนังเรื่องนี้อาจจะคือการเข้าใจชีวิต วิถึการใช้ชีวิตแบบพอเพียง แต่มันก็สอนเราด้วยว่า สังคมของมนุษย์กำลังมีปัญหา พวกเขาไม่ได้มองคนที่จิตใจหรือการกระทำ แต่มองสิ่งภาพฉาบหน้า ที่ส่งผลต่อชีวิตพวกเขา อะไรที่ดีก็รับไว้ อะไรที่เสียผลประโยชน์ก็ต้องขจัดทิ้งไป ฟังดูมันก็สมเหตุสมผลดี แต่การทำแบบนี้มันไม่ถูกเสมอไปนะครับ, Pirosmani เป็นคนดีที่ตกเป็นเหยื่อของสังคม ถูกขจัดทิ้งเพราะเสียผลประโยชน์ ในหนังเราอาจเห็นใจเขา แต่ในชีวิตจริงเป็นคุณจะเห็นค่าของ Pirosmani หรือเปล่า, โลกปัจจุบันเลวร้ายกว่าในหนังมากๆนะครับ แต่ผู้คนมีภูมิคุ้มกันต้านทานที่มากขึ้น ใครด่ามาก็ด่ากลับ โลกร้อนขึ้น จิตใจคนก็ร้อนขึ้น การจะหาน้ำเย็นแบบ Pirosmani แทบจะไม่มีอีกแล้ว ถ้าคุณมีเพื่อนแบบ Pirosmani อย่าหันหลังให้เขาเด็ดขาด และอย่างฉวยโอกาส เพราะเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานในโลกใบนี้ ถ้าคุณไม่ช่วยเหลือเขา

แนะนำหนังเรื่องนี้กับทุกคนเลย โดยเฉพาะคนที่มองหาหนังแนวสอนชีวิต มีข้อคิดดีๆแฝงใจ ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิง หนังอาจไม่เหมาะกับนักดูหนังสมัยใหม่นัก จัดเรต PG

TAGLINE | “Pirosmani ศิลปินอาภัพผู้พ่ายแพ้ต่อสังคม หนังแฝงแนวคิดดีมากๆ ถ่ายภาพแนวๆ ตัดต่อคมกริบ หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เพชรในตม แต่คือช้างเผือกในป่าลึก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORI 

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Best of Painter & Artist Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…]  Pirosmani (1969)  : Giorgi Shengelaia ♥♥♥♥♥ อัจฉริยะจิตรกรแห่งสหภาพโซเวียต Niko Pirosmani นักวาดภาพ Primitivist เชื้อสาย Georgian เขาไม่มีอาจารย์สอน วาดภาพสีน้ำมันเป็นด้วยตัวเอง น้อยคนอาจจะรู้จักเขา และน้อยยิ่งกว่าจะรู้จักหนังเรื่องนี้, รูปของ Pirosmani ปรากฏในธนบัตร 1 Iari ของประเทศ Georgia นะครับ, หนังเรื่องนี้สอนแนวทางการใช้ชีวิตแบบพอเพียงที่ดีมากๆ จนผมต้องจัดหนัง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” […]

%d bloggers like this: