pk (2014) Indian : Rajkumar Hirani ♥♥♥♥♥

(22/3/2020) ความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา ในปัจจุบันแทบไม่ต่างอะไรจากอาการมึนเมา (pee-kay ภาษาฮินดี แปลว่า คนเมา) หลับหูหลับตาก้มกราบไหว้ อธิษฐานขอพร อ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิริมงคล จนขาดสติหยุดยั้งคิดอะไรถูกผิดเหมาะสมควร เห็นคนหมู่มากแห่ไปเราก็ใคร่แห่ตาม ตื่นเช้าฟื้นคืนสติเมื่อไหร่ อาการแฮงค์เมาค้างคงไม่สร่างโดยง่ายดาย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

pk คือภาพยนตร์ Bollywood ร้อง-เล่น-เต้น แนว Comedy Satire ที่สามารถทุบทำลายสถิติรายได้สูงสุดตลอดกาลขณะนั้น(ในประเทศอินเดีย) ด้วยเรื่องราวสะท้อนเสียดสี ‘ความเชื่อ’ ‘ศรัทธา’ อันมีมากเกินของชาวภารตะ ในระดับเรียกได้ว่า ‘โง่งมงาย’ มันกลายเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? มองจากมุมคนนอก/เอเลี่ยนต่างดาวเข้าไป มันช่างน่าตลกขบขันจัญไร

ในส่วนของเนื้อเรื่องราว โปรดักชั่น และความบันเทิงรมณ์ หวนกลับมารับชมยังต้องชื่นชมเลยว่า pk เป็นภาพยนตร์เปี่ยมล้นด้วยคุณค่า สะท้อนราคาสังคมที่ว่ากันตามตรงไม่ใช่แค่คนอินเดีย แต่สามารถเหมารวมทั้งทวีปเอเชีย (โดยเฉพาะประเทศไทย) นิกายสมมติในหนัง บ้านเราเราก็มีไม่แตกต่างกัน … ไม่ต้องบอกก็น่าจะรู้ได้

แต่จะเรียกหนังว่ามาสเตอร์พีซ/สมบูรณ์แบบคงไม่ใช่ กระนั้นที่ให้คะแนนเต็มเพราะผมคิดว่า pk คือภาพยนตร์ที่มีความงดงาม ทรงคุณค่า น่าพึงพอใจ และจักกลายเป็นตำนาน หนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของ Bollywood

ผมเลือกรับชมและ revisit ภาพยนตร์เรื่อง pk ในการหวนกลับมาเขียนบทความวิจารณ์อีกครั้ง เพื่อมองหาเป้าหมายใหม่ในการทำบล็อคนี้ เพราะส่วนตัวคงไม่บ้าคลั่งวันละบทความเหมือนแต่กาลก่อน ต้องการให้เวลากับชีวิตและตนเองมากขึ้น ปลายทางจะพบเจอ-หรือไม่ กาลเวลาเท่านั้นคงบอกได้


Rajkumar Hirani (เกิดปี 1962) ผู้กำกับ สร้างภาพยนตร์สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Nagpur, Maharashtra, ชาติพันธุ์ Sindhi บรรพบุรุษมีต้นกำเนิดจาก Pakistan, หลังเรียนจบการพาณิชย์ St. Francis De’Sales High School ครอบครัวอยากให้เป็นนักบัญชี แต่ส่วนตัวชื่นชอบภาพยนตร์ ทีแรกต้องการเป็นนักแสดงแต่สอบผ่านสาขาตัดต่อ Film and Television Institute of India จบออกมาได้ทำงานโฆษณา จนได้มีโอกาสตัดต่อตัวอย่างหนัง (Trailer) ให้ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ Vidhu Vinod Chopra และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Mission Kashmir (2000)

ประทับใจในความสามารถ Vidhu Vinod Chopra เลยชักชวน ผลักดัน ให้โอกาส Hirani เขียนบท/กำกับ/ตัดต่อภาพยนตร์เรื่องแรก Munna Bhai M.B.B.S. (2003) แจ้งเกิดประสบความสำเร็จ แถมคว้ารางวัล National Film Award: Best Popular Film จนมีโอกาสสร้างภาคต่อ Lage Raho Munna Bhai (2006) ยอดเยี่ยมทรงคุณค่าไม่แพ้กัน

ผลงานลำดับที่สาม 3 Idiots (2009) ครั้งแรกได้ร่วมงานซุปเปอร์สตาร์ Aamir Khan ความสำเร็จล้นหลามในครานี้ ทุบทำลายสถิติภาพยนตร์รายรับสูงสุดตลอดกาลในประเทศ(อินเดีย) นั่นทำให้ชื่อเสียงของ Rajkumar Hirani กลายเป็น ‘King of Bollywood’ เทียบเท่า ‘James Cameron แห่งอินเดีย’

ความสนใจ/สไตล์ของ Hirani คือภาพยนตร์สะท้อนเสียดสีสังคม Comedy Satire เด็กๆวัยรุ่นดูได้ตลกขบขัน ผู้ใหญ่จักขบคิด วิเคราะห์ พบเห็นมุมมอง/แนวคิดอันแตกต่าง
– Munna Bhai M.B.B.S. (2003) มุมมองเกี่ยวกับหมอ-คนไข้
– Lage Raho Munna Bhai (2006) ความเข้าใจต่อ Gandhism
– 3 Idiots (2009) สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย

หลังเสร็จจาก 3 Idiots ผู้กำกับ Hirani รวมหัวกับเพื่อนสนิท/นักเขียนขาประจำ Abhijat Joshi ร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์เกี่ยวกับตัวละครหนึ่ง มีความสามารถเข้าไปในหัวสมอง/ความคิดของอีกตัวละครหนึ่ง ปรับเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ จากเคยชั่วช้าให้กลายเป็นดี เสียเวลาไปกว่าขวนปี กระทั่งมีโอกาสรับชมภาพยนตร์ Inception (2010) ของผู้กำกับ Christopher Nolan ถึงขั้นสติแตกเพราะพล็อตเรื่องราวแนวคิดใกล้เคียงกันมากๆ เลยต้องล้มโต๊ะโยนบททิ้งลงถังขยะ แล้วเริ่มต้นนับสูญกันใหม่

จากบทเรียนดังกล่าวทำให้ Hirani และ Joshi ต้องการคิดอะไรนอกกรอบ หรือออกนอกโลกไปเลย (ตรงกันข้ามกับ Inception ที่เรื่องราวเกิดขึ้นภายในความครุ่นคิดจิตใจมนุษย์) นั่นคือจุดเริ่มต้นการมาถึงของมนุษย์ต่างดาว มุมมองพระเจ้า ที่สามารถสะท้อนความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา สิ่งละเอียดอ่อนไหวในวิถีวัฒนธรรมของชนชาวอินเดีย

เรื่องราวของมนุษย์ต่างดาวตนหนึ่ง เดินทางมาถึงยังดาวเคราะห์โลก จุดประสงค์เพื่อศึกษาหาข้อมูล เรียนรู้จัก ปฏิบัติภารกิจบางอย่าง แต่เมื่อเท้าสัมผัสย่างเมือง Rajasthan ถูกใครคนหนึ่งลักขโมยรีโมทส่งสัญญาณ ทำให้ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับยานแม่ จำต้องดิ้นรนปรับเอาตัวรอด และหาหนทางเพื่อหวนกลับโลกบ้านเกิด

Jaggu (รับบทโดย Anushka Sharma) นักข่าวสาวชาวอินเดีย เพิ่งอกหักจากแฟนหนุ่ม Sarfaraz (รับบทโดย Sushant Singh Rajput) เพราะครอบครัวไม่ยินยอมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา จับพลัดจับพลูพบเจอ PK (รับบทโดย Aamir Khan) หนุ่มนิรนามพฤติกรรมเมาๆ เดินแจกใบปลิวเพื่อค้นหาพระเจ้า ต้องการพูดคุยสื่อสารด้วย ทีแรกเธอมองเขาดั่งตัวตลก/คนบ้า สบโอกาสต้องการนำเรื่องราวมาทำสกู๊ปข่าวฉาย แต่ไปๆมาๆค่อยๆยินยอมรับในความคิด ทัศนคติ เปิดมุมมองโลกใหม่ให้ตนเอง จนได้ติดต่อสื่อสาร Sarfaraz ทำเข้าใจในวิถีแตกต่าง เลิกขลาดหวาดกลัว และกล้าตัดสินใจครุ่นคิดทำอะไรด้วยตนเอง

เกร็ด: Working Title แรกสุดของหนังคือ Talli (แปลว่า คนเมา) ตามด้วย Ek Tha Talli แต่เพราะดันไปคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ที่เพิ่งออกฉาย Ek Tha Tiger (2012) สุดท้ายเลยเลือก pk คำพ้องเสียง pee-kay ได้ยินบ่อยครั้งในหนัง ความหมายเดียวกับ Talli


Aamir Khan ชื่อเต็ม Mohammed Aamir Hussain Khan (เกิดปี 1965) นักแสดง/ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Bombay, บิดาเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ เลยไม่อยากลูกๆโตขึ้นทำงานในวงการ แต่เพราะความคุ้นเคย คลุกคลี วิ่งเล่นในกองถ่ายตั้งแต่เล็ก แถมเรียนไม่ค่อยเก่งอีกต่างหาก พอจบมัธยมปลายเลยตัดสินใจเข้าร่วมคณะการแสดง Avantar, ทำงานผู้ช่วยผู้กำกับ, จนได้รับเลือกแสดงนำแจ้งเกิด Qayamat Se Qayamat Tak (1988) คว้ารางวัล Filmfare Award: Best Male Debut

ในวงการภาพยนตร์ Bollywood มีสามนักแสดงชายที่ประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับยกย่องฉายา ‘King of Bollywood’ หรือ ‘Khan of Bollywood’ ประกอบด้วย Shah Rukh Khan, Salman Khan และ Aamir Khan (พวกเขาไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใดๆ)
– Shah Rukh Khan เปรียบดั่งลูกแมวน้อย ดวงตาบ้องแบ้ว สุภาพบุรุษ ชื่นชอบเล่นหนังรอม-คอม ‘King of Romance’ รับชมหนังพี่แกทีไร ชวนให้ครุ่นคิดถึง Cary Grant ขึ้นมาทุกที
– Salman Khan ชายร่างกำยำบึกบึน กล้ามใหญ่ บ้าพลัง ‘Tiger of Bollywood’ ชอบเล่นหนังบู๊ Action เทียบได้กับ Dwayne Johnson หรือ Vin Diesel
– สำหรับ Aamir Khan นักแสดงร่างเล็กผู้ชื่นชอบความสมบูรณ์แบบ ‘Perfectionist’ ทุ่มเทจริงจัง เล่นได้ทุกบทบาท ครบเครื่องหลากหลาย มีความละม้ายคล้ายๆคลีง Leonardo DiCaprio

Aamir เป็นนักแสดงมากความสามารถ เล่นบทจริงจังโคตรๆ (อย่าง Raakh, Sarfarosh, Ghajini), โรแมนติกโคตรๆ (Raja Hindustani), หรือแม้แต่ตลกโคตรๆ (Andaz Apna Apna, 3 Idiots) ฯลฯ มักกลายร่าง สวมวิญญาณตัวละครนั้นๆได้อย่างกลมกลืน, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Lagaan (2001), Rang De Basanti (2006), Taare Zameen Par (2007), 3 Idiots (2010), Dangal (2016), Secret Superstar (2017) ฯ

รับบทมนุษย์ต่างดาวนิรนาม pk ผู้ถูกลักขโมยรีโมทสื่อสาร เลยจำต้องดิ้นรน ปรับเอาตัวรอด พยายามหาหนทางติดต่อยานแม่เพื่อจักได้สามารถกลับบ้าน แต่ระหว่างใช้ชีวิตอยู่บนโลกนั้น ได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมอันแปลกประหลาด ความเชื่อศรัทธาลวงหลอกผู้คน พิสูจน์จับต้องไม่ได้ แต่กลับมีใครๆมากมายเห็นผิดเป็นชอบ กงจักรเป็นดอกบัว

การได้มีโอกาสพบเจอรู้จัก Jaggu ทำให้ pk ราวกับได้พบเห็นสิ่งสวยงามทรงคุณค่าของโลกใบนี้ มิตรไมตรีจากคนแปลกหน้า ค่อยๆแปรสภาพเป็นใคร่เสน่ห์หา แม้สูญเสียดายเล็กๆที่เธอมีคนรักครองคู่แล้ว ก็อำนวยอวยพรส่งเสริมสนับสนุน ประทับจิตประทับใจไม่รู้ลืมเลือน

แม้มีตัวเลือกนักแสดงหลายคนที่โปรดิวเซอร์/ค่ายหนังให้ความสนใจ แต่ผู้กำกับ Hirani ล็อกตัว Aamir Khan ที่เคยร่วมงานเมื่อครั้น 3 Idiots (2010) เมื่อเจ้าตัวอ่านบทรับรู้เลยว่าต้องกลายเป็นภาพยนตร์ทรงคุณค่าแน่ๆ เสียสละไม่ขอรับค่าตัว(แลกเปอร์เซ็นต์จากกำไร)ลดทุนสร้างเพื่อหนังจะได้รับการอนุมัติโดยง่าย … ผลลัพท์จากความสำเร็จของ pk ทำรายได้ให้ Aamir มากกว่าค่าตัวปกติของพี่แกอีกนะ

ตัวละคร pk น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Chalie Chaplin ผสมกับ Raj Kapoor (นักแสดงชาวอินเดียที่ได้รับฉายา Chalie Chaplin แห่ง Bollywood) ใบหน้าเต็มไปด้วยความใสซื่อ ดวงตาเบิกโพลงไร้เดียงสา ท่าทางอ่อนเยาว์วัยต่อโลก รวมไปถึงความครุ่นคิดอ่านที่สุดแสนเรียบง่าย ซื่อตรง แต่กลับสะท้อนมุมมองตรงกันข้ามใครคนอื่น ไม่ลวงหลอกปอกลอก ทรยศหักหลังใคร ตกหลุมรักหญิงสาวผู้ชมยังสามารถจับต้องได้

เท่าที่ผมเคยรับชมผลงานการแสดงของ Aamir บทบาท pk ถือว่าเกินความคาดหมายอย่างมาก คือพี่แกโคตรจริงจังกับความใสซื่อไร้เดียงสา แสดงออกผ่านภาษากาย คำพูด ท่าทาง โดยเฉพาะดวงตา ใส่กิริยาเคี้ยวหมาก หูกาง (สวมหูปลอมให้ดูใหญ่ๆเกินตัว) เล่นกล้าม และกล้าเดินเปลือยโทงเทง … ทศวรรษนั้น ไม่มีนักแสดงชายคนไหนในอินเดีย กล้า! แบบนี้แน่ๆ


Anushka Sharma (เกิดปี 1988) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Ayodhya, Uttar Pradesh บิดาเป็นนายพล วัยเด็กได้รับการเลี้ยงดูแบบลูกทหาร เลยเข้าโรงเรียน Army School ตามด้วยสาขาศิลปะจาก Mount Carmel College ทีแรกอยากเป็นนักข่าว แต่พอเรียนจบย้ายมา Mumbai ได้ทำงานโมเดลลิ่ง สมัครคัดเลือกนักแสดงได้รับบทนำแจ้งเกิด Rab Ne Bana Di Jodi (2008) ประกบ Shah Rukh Khan ตามด้วย Band Baaja Baaraat (2010), Jab Tak Hai Jaan (2012) ฯ

รับบท Jagat ‘Jaggu’ Janini นักข่าวสาวหน้าใหม่ในวงการ ยังเต็มไปด้วยความร่าเริงสดใส ตั้งใจทุ่มเททำงาน นิสัยขี้เล่นซุกซน เอ่อล้นด้วยน้ำใจไมตรี จับพลัดจับพลูพบเจอ pk เริ่มต้นด้วยความฉงนสงสัย ต้องการให้มาออกรายการทำสกู๊ปข่าว หลังจากค่อยๆเรียนรู้จักตัวตน โดยไม่รู้ตัวค่อยๆซึมซับอะไรหลายๆอย่าง กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจ กล้าครุ่นคิดตัดสินอะไรๆด้วยตัวตนเอง

ก่อนหน้าการมาถึงของ pk ชื่อของ Anushka Sharma คือนักแสดงดาวรุ่งหน้าใหม่ในวงการ อยู่ในช่วงกำลังพิสูจน์ตนเองว่าจะสามารถดิ้นรนเอาตัวรอดได้หรือเปล่า (ก็เหมือน Jaggu ในช่วงแรกๆ), ความสำเร็จอันล้นหลามของ pk แม้เครดิตส่วนใหญ่จะถูกยกให้ Aamir Khan และผู้กำกับ Rajkumar Hirani แต่ความน่ารักน่าชัง สดใสซื่อไร้เดียงสาของ Sharma กลายเป็นภาพลักษณ์ติดตาผู้ชมไม่รู้ลืม หนุ่มๆเคลิบเคลิ้ม สาวๆหลงใหล จิตใจสั่นระริกรัว คาเรคเตอร์ ‘โมเอะ’ ไม่ค่อยพบเจอในวงการภาพยนตร์ Bollywood สักเท่าไหร่

เอาจริงๆผมรู้สึกว่า Sharma ไม่ใช่นักแสดงที่น่าประทับใจในการแสดงสักเท่าไหร่ (นอกจากความน่ารักสดใส) ดูเธอเล่นเป็นตนเองมากกว่าสวมบทบาทตัวละคร ถูกปรับแต่งด้วยเสื้อผ้าหน้าผมให้ดูอินเทรนด์ ตะวันตก ซื่อบริสุทธิ์ เซ็กซี่เล็กๆ แลดูคล้ายบทบาทของ Holly Hunter ภาพยนตร์เรื่อง Broadcast News (1987) แต่ความยอดเยี่ยมห่างชั้นกันไกลโข

หลังจาก pk ชื่อเสียง/ความสำเร็จของ Sharma ก็ขึ้นๆลงๆ เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้เหมือนเดิม ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสรับชมผลงานหลังๆของเธอนัก ถ้าทักษะการแสดงยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ มีแนวโน้มกลายเป็นดาวดับตกดินมากกว่าเจิดจรัสค้างฟ้าแน่ๆ


ถ่ายภาพโดย C. K. Muraleedharan ขาประจำผู้กำกับ Hirani ร่วมงานกันตั้งแต่ Lage Raho Munna Bhai (2006), 3 Idiots (2009) ฯ งานภาพเน้นเฉดสีสันสวยสดใส โฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียนด้วยสไตล์โมเดิร์น สร้างความสนุกสนาน เพลิดเพลินตา บรรยากาศพักผ่อนคลายให้ผู้ชม เคลื่อนคล้อยตามอารมณ์ของภาษาภาพยนตร์

หลายๆฉากของหนังได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ Hollywood ยกตัวอย่างการมาถีงของยานอวกาศ/มนุษย์ต่างดาว ดูคล้ายๆ Close Encounters of the Third Kind (1977), ล่องเรือในลำธารา Before Sunrise (1999), การทำข่าวของ Jaggu ชวนให้ระลีกถีง Broadcast News (1987) ฯ

ตัดต่อโดย Rajkumar Hirani (ก็แน่ละ Hirani ร่ำเรียนสาขาตัดต่อ ก่อนหน้ากำกับภาพยนตร์ก็เป็นนักตัดต่อ), นอกจากอารัมบทการมาถึงของยานอวกาศ และตัวละคร pk ถูกลักขโมยรีโมทสื่อสาร หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง/คำบรรยายของ Jaggu
– ตกหลุม-พรอดรัก-เลิกราแฟนหนุ่ม
– พานพบเจอ pk จนได้เล่าเรื่องย้อนอดีต (นับตั้งแต่หลังถูกขโมยรีโมทสื่อสารจนถึงปัจจุบัน)
– ดำเนินไปข้างหน้าด้วยการใช้ชีวิตร่วมกันของ Jaggu กับ pk ร่วมกันค้นหารีโมทสื่อสาร เผชิญหน้าองค์กรศาสนาลีกลับ

เพลงประกอบ Soundtrack โดย Sanjay Wandrekar และ Atul Raninga, แทบทุกบทเพลงจะมีกลิ่นอายของ Main Theme และแฝงความเย้ายียวนกวนประสาท เพื่อกระตุ้นสัมผัส Comedy ไม่ให้ผู้ชมรู้สึกตงเครียดจนเกินไป

บทเพลงแรกของหนัง Chaar Kadam (แปลว่า Four Steps) แต่งโดย Shantanu Moitra, คำร้องโดย Swanand Kirkire, ขับร้องโดย Shaan และ Shreya Ghoshal, ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลง Waltz for a night ขับร้องโดย Julie Delpy ประกอบภาพยนตร์ Before Sunset (2004)

เมื่อ Jaggu รับรู้ว่า Sarfaraz เป็นชาว Pakistan อคติอันเกิดจากครอบครัว ความเชื่อ ศาสนา ผุดขึ้นมาต่อต้านความสัมพันธ์ของพวกเขาทั้งสอง แต่ระหว่างกำลังจะเดินจากไป หญิงสาวครุ่นคิดทบทวน เรื่องของความรัก มันเกี่ยวอะไรกับเชื้อชาติพันธุ์ของอีกฝ่าย สี่ก้าวของ Chaar Kadam ทะลายกำแพงที่ขวางกั้นเราสอง

เกร็ด: ด้วยแรงบันดาลใจจาก Before Sunrise (1999) เห็นว่าทีแรกเล็กสถานที่ถ่ายทำไว้ Paris, Venice, Prague แต่สุดท้ายลงเอยที่ Bruges, Belgium

Tharki Chokro แต่งโดย Ajay-Atul, คำร้องโดย Swanand Kirkire, ขับร้องโดย Swaroop Khan, เต้นนำโดย Sanjay Dutt กับ Aamir Khan, ฉูดฉาดด้วยสีสัน นักเต้นเรียงเป็นแถว/กำแพง กีดกันไม่ให้ pk กระทำสิ่งไม่เหมาะสมควรในวัฒนธรรมอินเดีย

หนังให้ความสำคัญอย่างมากกับประเด็น ‘การสื่อสาร’ แรกเริ่มลงจากยานอวกาศมา pk คุยกับใครไม่ได้ เลยไม่เข้าใจวัฒนธรรม ถูกลักขโมยรีโมทคอนโทรล เหลือเพียงวิทยุห้อยโตงเตงปกปิดอวัยวะเพศไว้ (วิทยุก็ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสาร ‘ทางเดียว’) ถ้าคนเราพูดคุยกันไม่ได้ ก็มิอาจเรียนรู้จัก ทำความเข้าใจ หรือแม้แต่ตกหลุมรัก (Jaggu เลิกรากับ Sarfaraz เพราะสื่อสารไม่เข้าใจกัน)

เกร็ด: ชื่อเพลง Tharki Chokro แปลว่า Lewd Boy, เป็นการประชดตัวละคร pk ที่มีพฤติกรรมแปลกๆ ไล่จับมือคนอื่น หญิงสาวไม่ใช่ภรรยาตนเอง

PK Dance Theme แต่งทำนองโดย Shantanu Moitra, ท่วงทำนองและท่าเต้นที่กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำหนัง เมื่อใดเกิดความทุกข์เศร้าหมอง ลองลุกขึ้นมาส่ายสะโพกโยกเอว กวัดแกว่งมือเท้าไปมา แค่นั้นละหนารอยยิ้มร่าจักบังเกิดขึ้นภายใน

Love Is a Waste of Time แต่งโดย Shantanu Moitra, คำร้องโดย Amitabh Varma, ขับร้องโดย Sonu Nigam, Shreya Ghoshal

สำหรับ pk นี่เป็นช่วงเวลาที่เขาพบเห็นสิ่งสวยงามที่สุดของโลกใบนี้ นั่นคือ ‘ความรัก’ มันเป็นความไม่รู้ตัวเองของตัวละคร แต่หลังจากได้เรียนรู้จัก สนิทสนมชิดเชื้อ อดไม่ได้เกิดความชื่นชอบพอ มองเห็นอะไรเป็นเธอ … แต่ลึกๆเขาก็อาจรับรู้อยู่แล้วว่า ความรู้สึกดังกล่าวคงไม่ได้รับการตอบสนอง (เพราะ Jaggu มีคนรักของตนเองอยู่แล้ว คงไม่หันมาเหลียวแลหลังมนุษย์ต่างดาวอย่างเขาแน่นอน)

บทเพลงตอนจบของหนัง Nanga Punga Dost (แปลว่า Naked friend) แต่งโดย Shantanu Moitra, คำร้องโดย Swanand Kirkire, ขับร้องโดย Shreya Ghoshal,

ถึงไม่เข้าใจเนื้อคำร้อง แต่จังหวะท่วงทำนองสนุกสนาน ครึกครื้นเครง กลายเป็นบทเพลงทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม รำพันถึงเพื่อนผู้ไม่รู้จะมีโอกาสหวนกลับมาพบเจอไหม แต่อนาคตจะเป็นเช่นไร คงไม่มีใครตอบได้ (จะมีภาคต่อ pk ไหม? ก็ไม่รู้เหมือนกัน)

pk คือเรื่องราวอันสุดแสนมึนเมาว่าด้วยความเชื่อ ศรัทธา การสื่อสารที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน ไม่เข้าใจกัน ทำให้ผู้ฟังเข้าถึงสาสน์สาระผิดไป แต่แทนที่ผู้พูดจะแก้ไขปรับเปลี่ยนความเข้าใจ กลับฉกฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์กำไร บิดเบือนสัจธรรมข้อเท็จจริง ใครโง่งมงายจักกลายเป็นอาหารอันโอชาของราชสีห์มา

เพราะมนุษย์ไม่เข้าใจธรรมชาติของชีวิต ‘ความเชื่อ’ จึงถือกำเนิดขี้น ด้วยจุดประสงค์ให้ผู้คนหมู่มากเห็นพ้องคล้อยตาม ร่วมไปกับอุดมการณ์ โลกทัศนคติ ความเข้าใจส่วนตน หรือเพื่อสร้างอิทธิพลของผู้มีอำนาจ ไม่จำเป็นว่าต้องคือสิ่งที่ถูกแค่สรรหาข้ออ้างสมเหตุสมผล ก็สามารถบิดเบือนข้อเท็จจริงได้ทุกประการ

‘งมงาย’ เป็นอาการมากล้นต่อความเชื่อ ศรัทธา มุ่งมั่นว่าสิ่งๆนั้นถูกต้องเหมาะสมควร ไม่มีทางจะผิดพลาดพลั้ง บิดเบือนไปจากสัจธรรมความจริง ส่วนใหญ่มักเกิดจากการคล้อยตามฝูงชนคนหมู่มาก ไร้ซี่งสติปัญญาครุ่นคิดด้วยวิจารณญาณตนเอง และปฏิเสธว่ายทวนกระแสธารน้ำ เพราะทำเช่นนั้นใครจักคบค้าสมาคมอยู่ร่วมด้วย

ผมเคยเขียนถึงคำสอนพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับ ‘กาลามสูตร ๑๐’ มาหลายครั้งแล้วนะครับ สิบประการที่ทรงแสดงธรรมไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆอย่างงมงายโดยมิได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ

  1. มา อนุสฺสวเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
  2. มา ปรมฺปราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
  3. มา อิติกิราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
  4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
  5. มา ตกฺกเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง)
  6. มา นยเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดคะเน)
  7. มา อาการปริวิตกฺเกน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
  8. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา – อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
  9. มา ภพฺพรูปตา – อย่าปลงใจเชื่อมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
  10. มา สมโณ โน ครูติ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา

ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เช่นกัน แม้ผู้กำกับ Hirani ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา แต่ก็ใช้มุมมองคนนอก/เอเลี่ยนต่างดาว ส่องเข้าไปในวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อศรัทธาของผู้คนชาวอินเดีย ข้อสรุปของเขาไม่แตกต่างจากสัจธรรมข้อเท็จจริง คำสอนพระพุทธเจ้าทรงว่าไว้เมื่อหลายพันปีก่อนแม้แต่น้อย

“ความจริงเท่านั้นคือสิ่งไม่ตาย” อะไรที่เป็นความเชื่องมงาย คำลวงโป้ปด เมื่อไหร่ได้รับการเปิดเผยแพร่ข้อเท็จจริง ลองครุ่นคิดดูว่ามันจะทำให้จิตวิญญาณของบุคคลเหล่านั้น สั่นคลอนสิ้นหวังสักเพียงใด คงไม่ต่างอะไรกับการตายทั้งเป็น พลัดตกลงเหวขุมนรก กว่าจะล้มแล้วลุกขึ้นยืนใหม่ได้ อะไรๆก็ไม่มีวันหวนกลับไปเหมือนดังเดิม


ด้วยทุนสร้าง ₹85 crore ทำเงินในอินเดีย ₹489 crore (US$69 ล้านเหรียญ) รวมทั่วโลก ₹854 crore (=$140 ล้านเหรียญ) ทุบสถิติเดิมของ Dhoom 3 (2013) เพิ่งทำไว้รวมทั่วโลก ₹556 crore (=$101 ล้านเหรียญ)

เมื่อตอนออกฉาย หนังโดนโจมตีสองประเด็นใหญ่ๆ
– โปสเตอร์ที่ Aamir Khan ล่อนจ้อนเปลือยกาย มีเพียงวิทยุทรานซิสเตอร์ห้อยปกปิดอวัยวะเพศชายไว้ ถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมต่อภาพลักษณ์/วัฒนธรรมอินเดีย แต่ทั้ง Central Board of Film Certification (คล้ายๆ MPAA จัดเรตติ้งสำหรับภาพยนตร์ของ Hollywood) และศาลชั้นสูง ตัดสินว่าไม่ได้เสื่อมเสียผิดกฎหมายอันใด
– สององค์กรศาสนา Vishwa Hindu Parishad และ Bajrang Dal ที่ถือว่าเป็นกลุ่ม pro-Hindu วิพากย์วิจารณ์เรื่องราวของหนังว่าเป็นการดูถูก ล้อเลียน บ่อนทำลายความเชื่อศรัทธาชาวฮินดู ถึงขนาดมีการเดินขบวน ขว้างปาสิ่งของ เรียกร้องให้มีการแบนห้ามฉายหนังทั่วประเทศ … แต่ไปๆมาๆ รัฐบาลกลางกลับยกเว้นภาษีสิ่งบันเทิงให้หนังโดยเฉพาะ เพื่อคาดหวังว่าจะได้เข้าถึงผู้ชมหมู่มากในวงกว้าง ซะงั้น!

สิ่งที่โดยส่วนตัวโปรดปรานสุดของหนังเรื่องนี้ คือความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ฮาตกเก้าอี้ของตัวละคร pk ผ่านการแสดงอันสมบูรณ์แบบของ Aamir Khan, ความน่ารักจับจิตจับใจของ Anushka Sharma, และข้อคิดดีๆเกี่ยวกับความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา ค้นพบว่าวิถีชาวอินเดียใกล้เคียงคนไทยมากๆทีเดียว

ผมมาหวนระลีกนีกย้อน ทำไมถีงเริ่มต้น pk (2014) เป็นบทความแรกของ raremeat.blog? หนังเรื่องนี้ถือว่าเปิดโลกทัศน์ของผมเองต่อวงการภาพยนตร์ (อินเดียและทั่วโลก) จากความจับพลัดจับพลูพบเจอในเว็บพันทิป คลิกคลิปบทเพลง Love is a waste of time เห้ย! เจ๋งว่ะ โลกมันก้าวหน้าไปขนาดนี้แล้วหรือ เร่งรีบหาโหลดมาชมดู จบแล้ว ‘overwhelming’ ไปกับความรู้สีกต้องการทำอะไรสักอย่าง แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มทันทีนะครับ สรรหาหนัง Bollywood นับสิบๆเรื่องเพื่อค้นหาความชื่นชอบโปรดปราน และเมื่อถีงจุดๆหนี่งต้องการระบายอารมณ์ความรู้สีกภายในออกมา กลายเป็นตัวอักษร บทความวิจารณ์ ดั่งที่ท่านทั้งหลายกำลังอ่านอยู่นี้เอง

ลองถามตนเองว่ากำลังมีความเชื่อ ศรัทธา ‘งมงาย’ ในอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า? (ไม่จำเพาะต้องเรื่องศาสนาเท่านั้นนะครับ) แต่จะว่าไป คนเหล่านี้มักไม่ค่อยรู้ตนเองนะครับ ถ้าเรา/บุคคลรอบข้างตระหนักรับรู้ได้ ควรอย่างยิ่งจะหาภาพยนตร์เรื่องนี้มารับชมและบอกต่อ คุณจะตระหนักได้เองเลยว่าทำไม “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

จัดเรต 13+ จากการล้อเลียน/พาดพิง ความเชื่อศรัทธาในบางศาสนา

คำโปรย | ความมึนเมาของ Aamir Khan ในบทบาท pk จักกลายเป็นตำนานลือเล่าขาน หนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของ Bollywood
คุณภาพ | จักกลายเป็น
ส่วนตัว |


 

pk (2014) – bollywood film

(15/11/2015) หนังเรื่องแรกที่ผมจะขอรีวิว เป็นหนังเรื่องแรกของหนัง bollywood film ที่ผมได้มีโอกาสดู และเป็นหนึ่งในหนังที่ผมชอบที่สุดด้วย

ที่ผมเลือกรีวิวหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก มีอีกเหตุผลหนึ่งนะครับ เพราะหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่พูดถึงแนวคิดทางศาสนาที่หลากหลายในอินเดีย ไม่ว่าจะ พุทธ(มีนิดนึง) อิสลาม คริสต์ ฮินดู ฯ มีทั้งเสียดสี จิกกัด นำเสนอความเหมือนในความแตกต่าง ความหลากหลายในหนังเป็นสิ่งที่ผมจะนำเสนอใน blog นี้ด้วยนะครับ จะมีหนังหายากมากมายจากประเทศต่างๆ เพลง เกม อนิเมะ รีวิวแบบเมามันเอาทุกอย่าง ตามใจตัวเองสุดๆ

ตอนหนังเรื่องนี้ฉาย มีคนหลายกลุ่ม (ซึ่งใครๆก็น่าจะพอเดาได้ว่ากลุ่มไหน) ออกมาชุมนุม ประท้วงไม่ให้หนังเรื่องนี้ฉาย ถึงขั้นว่ามีเผาโปสเตอร์ ยืนขวางหน้าโรงหนังไม่ให้คนเข้าไปดู แต่ยิ่งฉาวยิ่งดัง ไม่ใช่มีแต่เมืองไทย (เช่น กรณีอาปัติ) เรื่องนี้ที่อินเดีย กลายเป็นหนังที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอินเดียได้สำเร็จ (โค่น Dhoom3 ที่เพิ่งสร้างสถิติไปเมื่อปี 2013) แถมยังทำเงินนอก bollywood ได้สูงที่สุดด้วย

Aamir Khan เป็นนักแสดง bollywood คนแรกที่ผมรู้จัก ก็แน่ละพระเอกหนังเรื่องนี้ เท่าที่ค้นประวัติดู ใน bollywood จะมีดารานำชายระดับซุปเปอร์สตาร์ 3 คนในยุคปัจจุบันที่เรียกว่า 3 Khan อันประกอบด้วย Aamir Khan, Shahruk Khan และ Salman Khan ถามว่าใครดังสุด ใน bollywood คงบอก Shahruk Khan ดังสุด ผมก็ได้ดูหนังของ Shahruk หลายเรื่องแล้วนะ แต่ผมกลับยังชอบ Mr. Perfectionist Aamir Khan มากกว่ามากๆ คงเพราะผมเป็นพวกชอบดูหนังที่เด่นในการนำเสนอ เนื้อเรื่อง มิติของตัวละคร หนังของ Aamir Khan จะนำเสนอแนวคิดบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนแนวคิดของคนดูได้ แถมพี่แกเล่นหนังหลากหลายมากๆ ไม่ซ้ำซากจำเจ แต่ละบทก็ท้าทายความสามารถในการแสดงมากๆ ผมจะทยอยนำหนังของ Aamir Khan มารีวิวอยู่เรื่อยๆนะครับ

สำหรับเรื่องนี้ pk นอกจากโปสเตอร์ภาพนู๊ด ที่เห็นบนเว็บแล้ว ผมเคยเห็นมีคนไปสัมภาษณ์ Shahrunk Khan ว่ากล้าถ่ายนู้ดแบบ Aamir Khan รึเปล่า (ผมฟังฮินดีไม่ออกหรอก) แต่ดูจากท่าทางแล้ว พี่ SHK ส่ายหน้า ไม่น่าจะกล้าแน่ (กลัวเสียลุคสุดๆ) จะมีแต่คนที่ Idealist กับ Perfectionist เท่านั้นที่จะสามารถทำอะไรที่สุดโต่งๆแบบนี้ได้ ผมเรื่องนี้ได้ยินว่า Aamir ไม่รับค่าตัวด้วย เพราะพี่แกเป็นนักแสดงระดับแนวหน้าของ bollywood ค่าตัวแพงสุดๆ ตอนที่ได้อ่านบทชอบมากๆ เพื่อให้หนังได้ถ่ายทำในงบที่ถูกลง เลยเลือกที่จะไม่รับค่าตัว โดยจะขอส่วนแบ่งเมื่อหนังทำกำไร … ไม่รู้เหมือนกันสุดท้ายแล้วพี่แกได้เงินไปเท่าไหร่ แต่คิดว่าอาจจะเยอะกว่าค่าตัวปกติอีก ผมคิดว่าเหตุผลแท้จริงที่ Aamir ที่ไม่รับค่าตัว เพราะพี่แกรู้ว่าหนังเรื่องนี้ต้องสร้างประเด็นให้กับสังคมอย่างแน่ๆ และอาจไม่ทำเงิน แต่เพราะมีเนื้อเรื่องที่ดีมากๆ Aamir เลยทุ่มสุดตัว เพื่อให้ได้หนังออกฉาย … โชคดีที่ ตอนหนังฉาย กระแสแรงมากๆ หวังว่าสิ่งที่ Aamir คาดหวังจะส่งถึงคนดูนะ

อีกสักย่อหน้าแล้วกันสำหรับนักแสดงนำ Aamir Khan จัดว่าเป็นนักแสดงมากฝีมือ แม้ว่าพี่แกจะอายุเกือบ 50 แล้ว ยังดูหนุ่มมากๆ ยากจะเชื่อว่า สามารถมีเคมีเข้ากับนางเอก Anushka Sharma ที่อายุ 26-27 ได้ สำหรับ Anushka ใน look ผมสั้น ผมว่าเธอดูดีมากๆ (ผมชอบ look ของ Anushka ผมสั้นนะ ผมยาวไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่) ทั้งสองเข้าขากันมากๆ แรกๆเหมือนจะเป็นคู่กัดกัน แต่พอเริ่มเข้าใจกัน พัฒนาการตัวละครทำให้เรารู้สึกอินมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่ขาดไม่ได้กับหนัง Bollywood คือ ร้อง เล่น เต้น จะเรียกว่าหนังเรื่องไหน ภาษาฮินดี แล้วไม่ร้อง เล่น เต้น ไม่ใช่หนัง Bollywood สำหรับ pk แนวหนังคือ comedy/sci-fi ที่ออกแนว comedy ผสม romance เพลงมีทั้งจังหวะที่สนุกสนาน และเศร้าปะปนกันไป เพลงที่ติดหูที่สุด คงหนีไม่พ้น love is a waste of time เพลงนี้ไม่ได้มีดีแค่ที่เพลง แต่ทำนองกลายเป็นท่าเต้นก็เข้ากันมากๆ แถมช่วงโหมโรงก่อนเพลงนี้จะเริ่ม เป็นจังหวะที่เยี่ยมมากๆ ทำให้คนดูมีความรู้สึกร่วมไปกับเพลงด้วย (เพลง…ไม่ว่าจะภาษาไหน ฟังไม่เข้าใจ มีคำร้องไม่มีคำร้อง ถ้าเราสามารถรับรู้อารมณ์ร่วมไปกับเพลงได้ นั่นคือสุดยอดเพลง)

เหตุผลหนึ่งที่ผมดูหนังเรื่องนี้ เพราะได้เห็นกระทู้หนึ่งในพันทิป และค่อนข้างสนใจทีเดียว เปิดหาตัวอย่างหนังแล้วก็เฉยๆ แต่พอได้เห็น mv เพลงนี้เท่านั้นแหละครับ ลองกด play ดูนะครับ

ผมไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนประพันธ์เพลงประกอบเรื่องนี้ เพราะมันมีทั้งเพลงที่เป็น theme และเป็นดนตรีที่มีคนร้อง เห็นว่ามีคนแต่งเนื้อร้อง กับทำนองจะเป็นคนละคนกัน ผมก็อยากให้เครดิตกับเขานะ แต่บอกตามตรงผมยังไม่ค่อยรู้จักคนเบื้องหลังของ bollywood สักเท่าไหร่

งานภาพ ต้องบอกว่า สวยงามมากๆ C. K. Muraleedharan เขาคือใคร ผมก็ไม่รู้จักนะ แต่งงานภาพของเขาทำให้ผมนึกถึง Roger Deakins ที่มักทำงานกำกับภาพให้กับ 2พี่น้องโคเฮน งานภาพที่ผมชอบที่สุดของ Roger Deakins คือจากเรื่อง No Country for Old men กับ True Grit สวยมากๆๆ โดยเฉพาะภาพวิวมุมกว้าง Scenery มันทำให้เรารู้สึกเหมือนไปอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ

งานออกแบบ Art Direction งามในระดับปกติ หนัง Bollywood ขึ้นชื่อในเรื่องสีสันอยู่แล้ว ชุดที่มีสีสันหลากหลาย อาหารที่มีรสชาติจัดจ้าน ผู้คนที่หลากหลาย วัฒนธรรมที่แตกต่าง ผมชอบสีสันของเรื่องนี้นะ ดูไม่จัดจ้านเกินไป รู้สึกจะไปถ่ายที่ Belgium ด้วย เป็นการเลือกโลเกชั่นที่น่าสนใจทีเดียว ถ้าเปรียบสถาปัตยกรรม อินเดียจะออกแนวกลมๆ โค้งๆ แต่ยุโรป จะเหลี่ยมๆ แข็งๆ ตีความได้หลายแบบ

งานตัดต่อ เป็นอะไรที่น่าสนใจดีนะ ผมเพิ่งเคยดูหนัง bollywood ยังไม่รู้ธรรมเนียมของหนังเท่าไหร่ เห็นหนังเกือบ 3 ชั่วโมง ตอนแรกช็อคเลย เห้ย อะไรมันจะยาวจัง … เอาน่าคงแค่ไม่กี่เรื่อง แต่ไปๆมาๆ ดูไปหลายสิบเรื่อง มันก็ 2 ชั่วโมงครึ่ง ขึ้นเท่านั้น แถมมี Intermission ให้ด้วยแทบทุกเรื่อง ผมก็พูดไม่ออกเลยละครับ นึกถึงหนังไทยช่วงหนึ่งที่เคยมีผู้กำกับออกมาบ่นเรื่องความยาวของหนัง ตอนยุคที่ยังฉายด้วยฟิล์มอยู่ แบบว่าฟีล์มม้วนหนึ่งมันจะเล่นได้ประมาณ 15-20 นาที ดังนั้นหนังเรื่องหนึ่งมันต้องลงตัวที่ 1 ชั่วโมง40 แบบว่าถ้าหนังมันดัน 1 ชั่วโมง 42 นาที ก็จะโดนไล่ให้ไปตัดออก 2 นาที จะได้ไม่ต้องเปลืองค่าฟีล์มอีกม้วน … พอคิดแบบนี้ก็ตลกอ่ะครับ หนังไทยที่หาเกิน 2 ชั่วโมงนี่ยากมาก ถ้าเป็น hollywood ไม่ใช่หนังฟอร์มใหญ่ๆ ผู้กำกับดังๆ หรือเรื่องที่ใครๆก็รู้กันว่าต้องยาว ก็ไม่มีทางเกิน 2 ชั่วโมงหรอก จะได้รอบฉายเพิ่มขึ้นด้วยถ้าเวลาหนังไม่ยาวมาก แต่กับหนัง bollywood ไม่มีเรื่องเวลาเลยครับ ทุกเรื่องจัดเต็ม จะ 3 ชั่วโมงก็ไม่มีใครว่า เอาเลยจัดเต็ม ให้คุ้มค่าตั๋ว ดูจนตูดเมื่อย พักให้เข้าห้องน้ำด้วย ดูให้คุ้ม สะใจ ยกนิ้วให้ครับ สวนผมคนดูยุคหลังๆ ตาแฉะครับ หนัง 3 ชั่วโมง บอกเลยว่าดูเหนื่อยมาก ถ้าหนังสนุกมันก็ไม่มีปัญหาอะไรนะ แต่ถ้าไม่สนุกนี่สิ T_T

สำหรับ pk งานตัดต่อ ค่อนข้างน่าสนใจ ช่วงแรกๆหนังแยกเล่าระหว่างพระเอกกับนางเอก ตอนดูผมก็คิดนะ มันจะไปประจบกันได้ยังไง พอถึงจุดนั้นก็ อืม เล่าแบบนี้ก็แปลกดีนะ คือไม่มีจุด point of view ในช่วงแรก (หรือผมหาไม่เจอหว่า) อยากเล่าตรงไหนก็เล่า แล้วอยู่ดีๆ Time Skip 3 ปีผ่านไป เอะ ยังไง? ไปว่าให้พระเอกเจอกับนางเอกก่อน แล้วไปเล่าย้อนเวลาช่วง Time Skip อีกที อืม… เป็นความรู้สึกที่ “น่าสนใจ” ตอนถึง intermission ผมก็อยากดูต่อทันทีเลย การตัดต่อช่วงที่ผมชอบที่สุด เป็นช่วงตัดเพลงนะ คิดว่าใครๆคงเดาได้ เพลง love is a waste of time นี่แหละ ในหนังเป็นเวอร์ชั่นที่เงียบเสียงอื่นหมด มีแต่เสียงเพลงแล้วให้ภาพเล่าเรื่อง ผมว่าเป็นการตัดสินใจที่เยี่ยมมากๆ ให้อารมณ์ first love ของ pk จริงๆ แถมเพลงมันยังทำให้เกิดคำถามว่า first love ของ pk มัน waste of time จริงๆเหรอ

ความสุดยอดของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงไหน บทหนัง ครับ ผมว่าคนยุโรป อเมริกัน ดูเรื่องนี้อาจจะไม่เท่าไหร่ แต่กับคนไทยหรือฝั่งเอเชีย ดูแล้วสะท้อนอะไรหลายๆอย่างแน่นอน เพราะวัฒนธรรมเรากับอินเดียมีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกันอยู่ โดยเฉพาะความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ หนังเรื่องนี้เลือกที่จะเสียดสีแต่ละศาสนา แต่ละความเชื่อได้น่าสนใจมากๆ และที่สำคัญคือไม่ลบหลู่ศาสนาใดเลย โดยในหนังสร้างศาสนาและศาสดาสมมติปลอมๆขึ้นมา ให้พระเอกเราต่อสู้กับมันในระดับเอาให้ตายไปข้างนึงเลย

ไคลน์แม็กซ์ของเรื่องนี้เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มากๆ ทางแยกตอนต้นเรื่อง มาบรรจบกับทางสายหนึ่งตอนกลางเรื่อง ทำให้เส้นทางนี้กลับไปสู่หาทางแยกตอนต้นเรื่องได้ บอกตามตรงว่าผมก็คิดไม่ถึงเหมือนกัน กว่าครึ่งเรื่องที่ดูมา หนังเรื่องนี้เกือบจะไม่ใช่หนังโปรดผมแล้ว เพราะไม่เข้าใจว่าฉากนางเอกกับพระรองตอนต้นเรื่องที่ค่อนข้างยาว จะมีความสำคัญอะไร ถ้ามันแค่แนะนำนางเอก ผมคงผิดหวังมากๆ แต่พอถึงไคลน์แม็กซ์ มันก็ทำเอาผมน้ำตาคลอเลย โอ้ที่เวิ่นเว้อมาตอนต้น ก็เพื่อฉากนี้เอง แถมยังลากไปถึงฉากก่อนจบที่เฉลยว่าเทปมันเอาไว้ทำอะไร pk พกวิทยุติดตัวทำไม โอ้คิดได้แหะ เฉลยตรงนี้นี่ซึมเลย เป็นการสร้างบรรยากาศให้คนดูรู้สึกอิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าเลย เป็นบทที่สวยงามมากๆ

ทั้งหมดที่เล่ามา คงให้เครดิตใครไม่ได้นอกจากผู้กำกับ Rajkumar Hirani ชื่อนี้ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ วันหลังผมจะมารีวิว 3 Idiots ให้นะครับ ผู้กำกับคนนี้น่าสนใจทีเดียว กำกับมาไม่กี่เรื่อง แต่ชอบเล่นกับแนวคิดที่เป็นขบถของสังคม นี่เป็นแนวที่ผมชอบที่สุดนะครับ เพราะมันทำให้เราคิดเยอะหลังจากดูหนังจบ ต่อจากนี้ฉันจะทำยังไง เชื่อว่าใครที่ดู pk ออกมาคงคิดอะไรบางอย่างได้ มีความระมัดระวังในความเชื่อมากขึ้น (กระมัง)

มาให้คะแนนเรื่องแรกกัน รีวิวเรื่องแรก ยาวไปหน่อย เกริ่นโน่นเกริ่นนี่เยอะไปหมด เรื่องหน้าผมจะพยายามเบาๆมือหน่อยแล้วกัน สำหรับ pk เพิ่งฉายเมื่อปี 2014 จึงจะยังไม่เห็นติด Chart หนังยอดเยี่ยมนัก ยังไงหนังเรื่องนี้ติดชาร์ทพวก Best of Bollywood แน่ๆ หนังมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ตลกทุกมุขเลยละครับ เป็น dark comedy ที่คนไทยดูรู้เรื่อง สำหรับผมเรื่องนี้เป็นหนังที่ผมชอบมากๆ เป็นหนังทำให้ชาร์ทหนังโปรดขยับครั้งแรกในรอบหลายปีเลย ใครยังไม่ได้ดูเรื่องนี้ ถือว่าพลาดแล้วนะครับ

คำโปรย : “pk หนังที่สะท้อนความเชื่อของมนุษย์ได้อย่างเจ็บแสบ ผ่านการแสดงระดับสุดยอดของ Aamir Khan และ Anushka Sharma”
คุณภาพLEGENDARY
ความชอบFAVORI

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: