Playtime

Playtime (1967) French : Jacques Tati ♥♥♥♥♥

สงสัย Monsieur Hulot นั่งเครื่องบินไปลงดาวเคราะห์อีกดวง (ที่ไม่ใช่โลก) สิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นจากผลงาน Masterpiece เรื่องนี้ อารมณ์ประมาณนั่งจิบกาแฟอยู่ในห้าง เหม่อมองดูผู้คนเดินไปมา ไม่ได้มีสาระประโยชน์อะไร แต่เพลิดเพลินใจชะมัด, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

คำนำที่ผมยกมานี้ อ้างอิงจากคำพูดของ François Truffaut อธิบายโดยย่อถึงหนังเรื่องนี้

“Playtime was a film that comes from another planet, where they make films differently”.

มีภาพยนตร์สายพันธุ์หนึ่ง จะเรียกว่าผ่าเหล่า/กลายพันธุ์ก็ได้ คือเกิดขึ้นมาครั้งเดียวแล้วสิ้นสูญพันธุ์ไปเลย ไม่สามารถสืบสานลักษณะสายพันธุ์นั้นได้ต่อ หรือเกิดซ้ำขึ้นใหม่ได้, Playtime เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ผ่าเหล่านั้น คือเกิดขึ้นได้ครั้งเดียว อาจโดยความบังเอิญของผู้กำกับ Jacques Tati มีความเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น สมบูรณ์แบบ ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครอื่นสามารถสร้างขึ้นทำซ้ำได้อีก แม้กระทั้งตัว Tati เองก็ยังทำไม่ได้ ครั้งแรกครั้งเดียวของโลกและทั้งจักรวาล ไม่สามารถหาภาพยนตร์ลักษณะนี้รับชมได้อีกแล้ว

รับชมประมาณสัก 10 นาทีแรกผ่านไป ผมเกิดอาการขนลุกซู่ รับสัมผัสได้ทันทีว่านี่คือผลงานที่มีความยิ่งใหญ่อลังการสมบูรณ์แบบมากๆ ทั้งๆยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหนังเกี่ยวกับอะไร แต่ได้อ้าปากค้างไม่น่าต่ำกว่า 3-4 ครั้ง เห้ย! หนังสร้างขึ้นเมื่อไหร่เนี่ย ล้ำยุคพอๆกับ 2001: A Space Odyssey (1968) แถมมีความสมจริงจับต้องได้ยิ่งกว่าหนัง Visual Effect สมัยนี้เสียอีก

ก็ใช่นะสิครับ เหตุที่หนังเรื่องนี้มีความโคตรสมจริง จับต้องได้ เพราะไม่มีสักฉากที่เป็น Visual Effect แต่เป็นการสร้างขึ้นทั้งหมด! ทุกฉาก แทบทุกอย่างในหนังสร้างขึ้นด้วยเทคนิค เทคโนโลยีของยุคสมัยนั้น ด้วยจินตนาการวาดภาพถึงโลกอนาคต (Futuristic) แบบนี้ไม่ให้ขนลุกอ้าปากค้างได้ยังไงละ ตึกสูงเท่าไหร่ก็ไม่รู้สร้างขึ้นจริงๆ ถนนหนทาง รถยนต์ล้ำๆ ออกแบบมาเพื่อใช้กับหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ และพอถ่ายทำใช้งานเสร็จทุกสิ่งอย่างได้ถูกทำลายทุบทิ้ง

ผมเกิดคำถามขึ้นในใจแบบเดียวกับหนังของผู้กำกับ Roy Andersson มันคุ้มค่าแล้วหรือที่จะทำหนังแบบนี้? สร้างฉากโคตรอลังการยิ่งใหญ่ บางครั้งปรากฎแค่ไม่กี่วินาที หมดเงินไปเป็นล้านๆ สิ้นเปลือง ไร้สาระ, ขอยกคำของนักวิจารณ์ชื่อดัง Roger Ebert มาตอบคำถามนี้นะครับ ‘ฤา Tati คิดอะไรถึงได้ยอมเสี่ยงทุกสิ่งอย่างในผลงานเรื่องนี้ บ้าบิ่น ตามอำเภอใจ … แน่นอนสำหรับคุณ สำหรับผม แต่ไม่สำหรับนักฝัน’

“Was Tati reckless to risk everything on such a delicate, whimsical work? Reckless for you, reckless for me, not reckless for a dreamer.”

ในช่วงทศวรรษ 60s หลังจาก Charles de Gaulle รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ประกาศจะแปรสภาพกรุง Paris ให้กลายเป็น Modern City ทำการทุบบ้านเก่าชานเมือง วางระบบเครือข่ายโครงสร้าง สาธารณูปโภคต่างๆเสียใหม่ อนุญาติให้สร้างตึกสูง (High-rise) ในเมืองหลวงได้เป็นครั้งแรก แต่ผลลัพท์ที่ออกมากลับเป็นตึกทรงสี่เหลี่ยมทรงแข็งทื่อ ได้อิทธิพลลอกเลียนแบบมาจากอเมริกาแทบทั้งนั้น นี่ทำให้กลิ่นอายดั้งเดิมของกรุง Paris ค่อยๆเลือนลางจางหาย สร้างความผิดหวังให้กับคนที่อาศัยอยู่มายาวนานอย่าง Jacques Tati เป็นอย่างยิ่ง

ไม่รู้จะเรียก’อัจฉริยะ’หรือ’บ้า’ดี ด้วยความไม่พึงพอใจนี้ ทำให้ Tati มีความต้องการสร้างเมืองของตนเองขึ้นมา จะว่าเพื่อเสียดสี-ล้อเลียน-ประชดประชัน การเปลี่ยนไปของกรุง Paris ก็ว่าได้, โดยวาดฝันว่าเมืองแห่งนี้เขาสามารถที่จะออกแบบ ควบคุม ทำทุกสิ่งอย่างได้อิสระ (Absolute Control) ตั้งชื่อเมืองว่า Tativille (มาจาก Tati + Village) และเรียกโปรเจคภาพยนตร์ Working Title ขณะนั้นว่า Recréation

ช่วงระหว่าง pre-production ผู้กำกับ Tati ได้ออกเดินทางไปทั่วโลก เยี่ยมชมสถานที่ต่างๆที่มีความล้ำยุคในสมัยนั้น อาทิ สนามบิน Stockholm Arlanda Airport [แรงบันดาลใจฉากในสนามบิน], โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ Siemens, AFG [แรงบันดาลใจฉากห้องทำงานในสำนักงาน] ฯ ณ จุดๆหนึ่งพวกเขาได้ข้อสรุปว่า โลกอนาคตจำเป็นต้องมี ‘ตึกสูง’ เดินทางไป New York City ตามรอย Fritz Lang ผู้กำกับดังสัญชาติเยอรมัน ที่เมื่อหลายทศวรรษก่อนเดินทางไปเมืองนี้แล้วได้แรงบันดาลใจสร้าง Metropolis (1927)

“If you want to shoot scenes of reflected clouds moving across the glass panes of a skyscraper, you will have to have the skyscraper all to yourself”

– Jean Badal ตากล้องของหนัง

งานก่อสร้างเริ่มต้นเดือนกันยายน 1964 บนพื้นที่ว่าง 15,000 ตารางเมตร ของ Saint-Maurice ตอนใต้ของกรุง Paris ใช้ช่างก่อสร้างประมาณ 100 คน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เริ่มถ่ายทำได้เดือนเมษายน 1965 แผนเดิมคือ 178 วัน แต่ล่าช้าไปเป็นปีๆ เพราะปัญหาเรื่องเทคนิค สภาพดินฟ้าอากาศ (มีครั้งหนึ่งพายุเข้า ค่าซ่อมแซมฉากสูญเงินเป็นล้านๆฟรังก์) โดยเฉพาะทุนสร้าง เห็นว่า Tati ไปกู้หนี้ยืมสินจากรัฐบาล ธนาคาร ญาติพี่น้อง นอกระบบ ขายสมบัติ จำนองบ้าน ฯ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องขายลิขสิทธิ์ถือครองผลงานภาพยนตร์ก่อนหน้า, ไม่มีรายงานตัวเลขทุนสร้างที่แน่นอน แต่ประมาณการณ์ 17-20 ล้านฟรังก์ ถือเป็นภาพยนตร์ทุนสร้างสูงสุดของฝรั่งเศสในขนาดนั้น

“that the cost of building the set was no greater than what it would have cost to have hired Elizabeth Taylor or Sophia Loren for the leading role ”

–  Jacques Tati พูดแซวงบประมาณของหนัง

แซว: แต่ถ้า Tati เอาเงินไปจ้าง Taylor หรือ Loren เขาอาจไม่ต้องติดหนี้ท่วมหัวจนวันตาย เพราะหนังได้ฉายวงกว้างในอเมริกาเป็นแน่

ถึงผมจะบอกว่าตึกที่เราเห็นในหนังเป็นตึกจริงๆ แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งตึกนะครับ เป็นแค่ส่วนหนึ่งหรือฉากหน้า แล้วใช้มุมกล้องบดบังด้านหลัง, กระนั้นเห็นจากรูปนี้แล้วก็ยังต้องบอกว่า โคตรอลังการอยู่ดี

อีกหนึ่งความสิ้นเปลืองของงบประมาณ คือการถ่ายทำด้วยกล้อง High-Resolution ฟีล์ม 70mm เพื่อเก็บทุกรายละเอียดของภาพ ในขนาดอภิมหาอลังการใหญ่โตสมบูรณ์แบบที่สุด(ในสมัยนั้น) และบันทึกเสียงด้วยระบบ Stereophonic (นี่ก็คือระบบเสียงดีที่สุดของสมัยนั้นเช่นกัน) เรียกว่าเพื่อถ่ายทอดจินตนาการเมืองในความฝันของตนออกมา จำเป็นต้องให้ทุกอย่างมีความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ เลอเลิศอลังการที่สุด

“probably the smallest script ever to be made in 70 mm film.”

– Jacques Tati พูดแซวหนังของตนเอง

วิธีประหยัดงบก็มีเหมือนกัน กับบางอย่างที่ถ้าสร้างคงสิ้นเปลืองมากๆ เลยใช้การถ่ายรูปแล้วพิมพ์ภาพขนาดใหญ่ทำเป็น Cutout อาทิ หอไอเฟล (Eiffel Tower), Church of the Sacred Heart, รถคันที่อยู่ไกลๆ, คนที่อยู่ไกลๆ ฯ

“Film making is a pen, paper, and hours of watching people and the world around you. Nothing more.”

– Jacques Tati พูดถึง direction ของตนเอง

ความยอดเยี่ยมของ Playtime ไม่ใช่แค่ฉากงานสร้างที่อลังการสมจริงจับต้องได้ แต่ยังการเล่าเรื่องที่แตกต่างไม่เหมือนใคร นำเสนอผู้คนและ’วิถีชีวิต’ประจำวัน 24 ชั่วโมงใน Tativille ของ Monsieur Hulot ตัวละครที่สร้างขึ้นของ Jacques Tati เป็นผลงานลำดับที่ 3 จากทั้งหมด 4 เรื่อง ประกอบด้วย Les Vacances de Monsieur Hulot (1953), Mon Oncle (1958), Playtime (1967) และ Trafic (1971) แต่เรื่องนี้ไม่ถือว่า Hulot เป็นพระเอกเสียทีเดียว เขาคือมนุษย์สามัญชนหนึ่งที่จับพลัดจับพลู โลดแล่น ท่องเที่ยว ลัลล้า เรื่อยเปื่อยไปในเมืองแห่งนี้ ทั้งกลางวันกลางคืน พบเจอผู้คนมากมาย ทั้งหน้าเก่าใหม่ วนเวียนวนอยู่แบบนั้นราวกับวัฏจักรชีวิต

ลักษณะการนำเสนอ จะไม่จำเพาะเจาะจงโฟกัสเรื่องราวที่ตัวละครหนึ่งใด นำเสนอภาพรวมๆของทุกเหตุการณ์ หลายเรื่องราวจะเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ผู้ชมสามารถจับสังเกตเรื่องราวตรงไหนก็ได้ที่อยู่ในภาพ อยากมองอะไรก็มองไม่มีข้อบังคับจำกัดใดๆ, นี่คือสิ่งที่ผมเปรียบกับการนั่งจิบกาแฟอยู่ในห้างชั้นสอง มองลงไปชั้นล่างเห็นผู้คนมากมายเดินขวักไขว่ มันก็แล้วแต่ถ้าคุณเลือกสนใจใครสักคน สายตาตามติดเรื่องราวของคนนั้น เดินไปไหนกำลังทำอะไร ซื้ออะไรกิน หนังเรื่องนี้ใช้คอนเซ็ปนี้แหละ

ไม่มีช็อต Close-Up มีเพียง Medium และ Long Shot นี่คือเทคนิคที่จะทำให้ผู้ชมเห็น’ภาพรวม’ ของทุกสิ่งอย่างในหนัง อยากตามติดเรื่องราวของใครตัวละครไหนก็แล้วแต่ความชื่นชอบเลย เพียงแต่อาจต้องใช้การสังเกตต่อสักเล็กน้อย เพราะหนังมีการตัดต่อเปลี่ยนทิศทางมุมมองบ่อยครั้ง ซึ่งเรื่องราวตัวละครเดิมที่คุณสนใจมันอาจไม่จบในช็อตก่อนหน้า เมื่อเปลี่ยนมาช็อตถัดไป บางครั้งจะแอบซ่อนอยู่เป็นพื้นหลัง ถ้าสังเกตหาพบก็จะได้อมยิ้มตามติดเรื่องราวของตัวละครนั้นต่อ

โทนสีของหนัง สังเกตให้ดีจะพบว่ามีไม่มาก อาทิ ขาว, ดำ, เทา, น้ำเงิน ฯ เป็นสีเข้มๆที่ให้ความรู้สึกเหมือนโทนหนังขาว-ดำ แต่ก็จะมีบางครั้งที่ต้องการความโดดเด่นแตกต่าง ก็จะใส่สีเขียวกับสีแดง เช่น ชุดของ Babara ที่ไนท์คลับเป็นสีเขียวมรกต, ส่วนสีแดงว่ากันว่า Tati แอบใส่ในทุกช็อตของหนัง (ใครว่างๆลองสังเกตดูเองนะครับ)

หนังมีทั้งหมด 6 Sequence ใหญ่ๆ แม้จะบอกว่าไม่ได้จำเพาะเจาะจงโฟกัสตัวละครไหนเล่าเรื่อง แต่จะมี 2 ตัวละครหลักที่โผล่มาให้เห็นบ่อยๆ หนึ่งคือ Monseiur Hulot (นำแสดงโดย Jacques Tati) และ Babara (นำแสดงโดย Barbara Dennek) นักท่องเที่ยวสาวสัญชาติอเมริกันที่มาพร้อมกับกลุ่มทัวร์มนุษย์ป้า (มนุษย์ป้าคือ กลุ่มผู้หญิงวัยกลางคนที่ทำตัวไม่ค่อยสนมารยาทสังคมเสียเท่าไหร่)

เริ่มต้นจากสนามบิน: สถานที่แห่งการมาถึง พบเจอ และพรากจาก, ด้วยสถาปัตยกรรมภายในมีความล้ำยุค (Ultra-Modern) เราสามารถเปรียบสถานที่นี้ได้คือ ‘โลกอนาคต’ หรือสถานีแห่งความฝัน ซึ่งต้องใช้เวลาและจินตนาการ ถึงจะสามารถไปถึงได้

กับคนที่รู้จัก Monseiur Hulot ย่อมต้องคอยชะเง้อมองหาเขาแน่ คอยสังเกตคนใส่เสื้อคลุมโคล่งๆเดินโย่งๆโน้มตัวไปข้างหน้าให้ดีนะครับ ผมเห็นอยู่แวบๆเดินผ่านหน้ากล้องอยู่หลายช็อตทีเดียว

แซว: หลังจบจาก Opening Credit ฉากแรกของหนังหญิงสาวสองคนสวมหมวกแฟชั่นที่ขยับกระพือปีกเหมือนนกโบยบิน … พวกเธอเป็นนางฟ้าหล่นมาจากสวรรค์ชั้นไหนกัน

เมื่อออกจากสนามบิน ท่องเที่ยวชมวิวข้างทาง มาถึงที่สำนักงาน (Office): ตัวละครหลักของฉากนี้จะคือ Monseiur Hulot ที่ก็ไม่รู้เขามีธุระอะไรกับ Mr. Giffard (รับบทโดย Georges Montant ที่รับบทเป็นหัวหน้าพนักงานเสริฟด้วย) จับพลัดจับพลูได้พบเห็นความวิถีการทำงานของพนักงานในระดับต่างๆ ตั้งแต่ ผู้บริหารที่นั่งประชุมอยู่ (ผมเคยนะครับบ่อยด้วยสมัยทำงานบริษัท ไปประชุมสายเปิดประตูเข้าห้องผิด อายม้วนออกมาเลย), ระดับพนักงานที่อยู่แบ่งล็อกๆ รูปทรงสี่เหลี่ยม (Cubicle) นี่น่าจะเป็นภาพที่ผู้กำกับเห็นจากการเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานต่างๆทั่วยุโรป คือพนักงานจะทำงาน’ตัวใครตัวมัน’ ไม่สนใจใคร เวลามีเรื่องราวปัญหาก็ใช้การโทรสั่งแทนการเผชิญหน้า ฯ

ผมเชื่อว่าหลายๆบริษัทในโลก การทำงานของพนักงานบริษัทระดับล่างยังคงเป็นลักษณะคล้ายๆแบบนี้อยู่ กั้นคอกด้วยกำแพงทางความคิด นี่คืออุปสรรคขนาดใหญ่ที่ทำให้มนุษย์เห็นแก่ตัวไม่สนคนอื่น ลองไปศึกษาการออกแบบสำนักงานของ Facebook, Google ดูนะครับ เขาพัฒนากันไปถึงไหนแล้ว ในเมืองไทยเองผมมีโอกาสไปดูงาน SCG นะครับ บริษัทนี้มีความ innovate สูงมาก สถานที่ทำงานไม่ใช่โต๊ะทำงาน แต่ยังกะร้านกาแฟ คงมีแต่เก้าอี้ล้อเลื่อนที่ประจำตัว อยากคุยกับหัวหน้าก็ไถลไป กำแพงกั้นอะไรพวกนี้ถูกพังทลายสูญสิ้นไปตั้งแต่สมัยเยอรมันตะวันออกรวมกับตะวันตกแล้วนะครับ

ข้างๆสำนักงานมีการจัดนิทรรศการ Trade Exhibition: Monseiur Hulot จับพลัดจับพลู สับสนคนในกระจก (กระจกเป็นสิ่งสัญลักษณ์ ที่สะท้อนภาพลักษณ์ภายนอกกับตัวตนของมนุษย์) เดินหลงเข้าไปในงานจัดแสดงสินค้า มีของเล่นนวัตกรรมใหม่หลายชิ้นทีเดียวที่น่าสนใจ อาทิ
– เก้าอี้คืนสภาพ, นัยยะคงหมายถึง ทุกสิ่งอย่างที่เกิดความผิดพลาด สามารถแก้ไขคืนสภาพให้เหมือนได้ (นี่มีนัยยะประชดประชันนะครับ)
– แว่นตาอเนกประสงค์ สำหรับคุณผู้หญิง คือถ้าขี้เกียจถอดแว่นก็ยกแว่นขึ้น เอาที่ปัดขนตากรีดกราย มีนัยยะประชดประชันความขี้เกียจของมนุษย์ และวิสัยทัศน์ที่ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงได้
– ไม้กวาดพร้อมกับไฟฉาย, นัยยะคงเป็นความร่วมสมัย สิ่งของใช้งานได้อย่างเดียวถือว่าไร้ค่าไปแล้ว อย่างโทรศัพท์มือถือ เดี๋ยวนี้ต้องถ่ายรูป เล่นเน็ต ฯ ทำได้หลายอย่างในตัว
– ถังขยะที่มีรูปลักษณ์แบบสถาปัตยกรรมของกรีก (thro.out greek style) นี่เรียกได้ว่า ‘วินเทจ’ เมื่อผู้คนเริ่มเบื่อความล้ำของอนาคต ก็จะเริ่มหวนหาของเก่ารำลึกที่มีความร่วมสมัย, อีกนัยยะหนึ่ง ตรงกันข้ามกับเลยนะครับ นั่นคือ ของเก่าทั้งหลายมันคือขยะไร้ค่า (เสียดสีแรงมากๆ)
– ประตูไร้เสียง (Slam Your Doors in Golden Silence.) คือการกระทำอะไรที่ไร้ค่า เช่น ปิดประตูรุนแรง ฯ จะไม่สามารถเรียกร้องความสนใจ ส่งเสียงกึกก้องได้อีกต่อไป

ความน่ารักของฉากนี้คือ Barbara พยายามถ่ายรูปหญิงชราขายดอกไม้ แต่จนแล้วจนรอดจนจบฉากนี้ก็ไม่สามารถถ่ายได้สักที, เหตุผลที่เธอต้องการถ่ายให้ได้ คงเพราะดอกไม้เป็นสิ่งสวยงามที่เป็น’ธรรมชาติ’ สิ่งอื่นๆในหนังมนุษย์สร้างขึ้นทั้งนั้น ไม่ค่อยมีอะไรน่าถ่ายรูปเก็บไว้เลย

จับพลัดพลู เจอคนรู้จัก เลยแวะไปอพาร์ทเม้นท์ของเขา (Apartment): ในโลกอนาคต มนุษย์จะไร้ซึ่งความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป ทุกอย่างจะเป็นสาธารณะแบบในหนัง แทนที่บ้านจะเป็นสถานที่พักผ่อนคลายส่วนตัว กลับเป็นที่ที่ใครก็ตามเดินผ่านจะพบเห็นได้ (แต่จะไม่ได้ยินเสียง)

ที่ผมพูดย่อหน้าที่แล้วคือเหตุการณ์ในหนังนะครับ ซึ่งมันสะท้อนกับโลกยุค Social ในสมัยปัจจุบันมาก คนมีอายุผู้ใหญ่หน่อยอาจไม่เข้าใจเห็นภาพเท่าไหร่ แต่กับวัยรุ่นสมัยนี้แทบทุกอย่างจะต้องออนไลน์ Facebook, Instagram, Live Cam ฯ อะไรก็ไม่รู้ต้องถ่ายทอดสดให้ชาวบ้านได้รู้จักได้สนใจ ทั้งๆที่ชีวิตจริงก็ไม่เคยพบเจอรู้จักกันหรอก แต่กลับชอบขายความเป็นส่วนตัวให้ผู้อื่นรับรู้ เรียกร้องความสนใจ … เห้อ! ถอนหายใจแรง ผมไม่เข้าใจไฉนโลกถึงกลายเป็นแบบนี้ไปได้!

ฉากนี้มากสุดที่ผมเจอคือ 4 ห้อง (หัวใจ) พวกเขาเป็นเพื่อนบ้านแต่ดูแล้วคงไม่เคยรู้จักกันแน่ (ก็เหมือนสังคมเมืองสมัยนี้) ขนาดว่าเปิดโทรทัศน์ดูรายการเดียวกันหมด ยังตัวใครตัวมันแบบไม่สนใจ

ไนท์คลับเปิดใหม่ The Royal Garden: ฉากนี้คือไฮไลท์ไคลน์แม็กซ์ของหนังด้วยความยาวกว่า 45 นาที เริ่มตั้งแต่หัวค่ำตอนเปิดร้าน ทั้งๆที่หลายอย่างไม่เสร็จสมบูรณ์ดี (แต่ก็ยังฝืนเปิด) ค่อยๆมีคนเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนล้น ความวุ่นวายเกิดขึ้นต่างๆนานา แล้วทุกสิ่งอย่างก็พังครืนถล่มลงเละไม่เป็นท่า แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคความสนุกสนานของผู้คน กระทั่งมาถึงรุ่งเช้า ถึงทะยอยเดินทางกลับบ้าน ได้เวลาหลับนอนพักผ่อนเสียที

ไนท์คลับถือเป็นสัญลักษณ์ของรัตติกาลยามค่ำคืน ผู้คนเดินทางมาเพื่อสุขสนุกสนานอิ่มท้อง เพลิดเพลินผ่อนคลาย แต่ผมมองนัยยะเป็นตัวแทนของ’โลกอนาคต’กล่าวคือ เปรียบ Royal Garden คือสวนแห่งจินตนาการ เริ่มต้นเปิดร้านดั่งความฝันที่กลายเป็นจริง ความสำเร็จในการสร้างโลกแห่งอนาคตให้เกิดขึ้น ความวุ่นวายเกิดจากความคาดหวังที่เลิศหรูหรามากเกินไป ต่อมาทำให้เกิดการสิ้นสภาพพังทลายของสิ่งที่มี นั่นเพราะความไม่พร้อม ขาดประสบการณ์วางแผนเตรียมตัวที่ดีของผู้สร้าง แต่ใช่ว่ามนุษย์เราจะไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เพราะในสวนที่กลายเป็นเศษซากนั้น ยังคงมีส่วนที่ธำรงอยู่ได้ มีเท่าไหร่แค่ไหนก็หาความสุขสนุกได้ ไม่จำเป็นต้องเครียดลงแดงตายสักคน (คงยกเว้นเจ้าไนท์คลับ ที่คงเส้นเลือดในสมองแตกเป็นแน่)

สำหรับคนที่จดจำใบหน้านักแสดงได้ดี จะพบว่าแทบทั้งนั้นในไนท์คลับ เคยปรากฎตัวโผล่หน้ามาแล้วในฉากกลางวัน ก็ไม่รู้จับพลัดจับพลูอะไร เกิดความสนใจพร้อมเพียงในการเปิดให้บริการกลางคืนวันแรกของสวนอาหารแห่งนี้, ถ้าเปรียบกลางวันคือภายนอกของ Tativille หรือหน้ากากของมนุษย์ กลางคืนในไนท์คลับจะคือจิตวิญญาณภายในของเมืองนี้ และตัวของแท้จริงของมนุษย์

ผมมีความเพลิดเพลินอย่างมากในการรับชมฉากนี้ เพราะตอนกลางวันพวกเขาทั้งหลายเดินผ่านกันแบบไม่สนใจอะไร แต่พอกลางคืนเมื่อเหล้าเข้าปาก จากคนไม่รู้จักกลายเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย แบบว่าเคยโกรธเกลียดอะไรกันมาก สุราเคลียร์ได้ทุกอย่าง นี่เป็นปรัชญาของเด็กมหาลัยที่หลายคนคงรู้จักดี

ความวุ่นวายทั้งหลาย มีนัยยะสำคัญสื่อถึงบางสิ่งอย่าง
– พื้นกระเบื้องที่ติดเท้าพนักงานเสริฟ นั่นคือ รากฐานที่ยังไม่มั่นคง, เช่นกันกับสีเก้าอี้ที่ยังไม่แห้ง ใครเผลอนั่งพิงก็จะติดหลัง เรียกได้ว่าเป็นตราประทับของผู้ถูกหักหลัง
– ประตูกระจกแตก, เราสามารถมองว่ากระจกคือสิ่งกั้นระหว่างภายนอกกับภายใน(ของมนุษย์) การแตกสลายของกระจก ทำให้สิ่งที่กั้นขวางนั้นจางหายไป แต่ไนท์คลับจำต้องใช้คนเปิดปิดประตูตลอดเวลา เพื่อคัดกรองคน แต่จะมีครั้งหนึ่งถึงจะปิดไว้ ก็ยังมีคนเมาถลำเข้ามา เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ได้แค่ช่างมัน ปิดกั้นอะไรไม่ได้แล้ว
– อาหารจานปลาที่ไม่ได้เสริฟสักที, เรื่องนี้มีอยู่ว่า ลูกค้ารายแรกสั่งอาหารมา พนักงานนำมาวางไว้แต่ยังไม่เสริฟเพราะต้องแต่งปรุงให้พร้อมทานก่อน แต่จนแล้วจนรอดรอบสองรอบสามก็ยังไม่ได้เสริฟสักที จนลูกค้าย้ายโต๊ะหนี พนักงานคนใหม่มาพร้อมเสริฟแล้วแต่ผิดโต๊ะ ต่อจากนี้ดันฝากบ๋อยที่โคตรมึน พี่แกหาโต๊ะไม่เจอครับว่าผู้สั่งเมนูนี้อยู่ไหน เขาจะเดินไปเดินมาหาไม่เจอ สุดท้ายสะดุดไฟที่ดับอยู่ล้ม อดแดกกันพอดี! (นัยยะของฉากนี้คือ จะทำอะไรพิถีพิถันจนมากเกินพอดี สุดท้ายก็ล้มเหลวจบเห่)
– อากาศเร่าร้อนทำให้จิตใจของคนรุ่มร้อน, พนักงานจะปรับแอร์แต่ดันอ่านภาษาอังกฤษไม่ออกต้องเรียกช่างมาช่วย เค้กละลาย เครื่องบินก็ละลาย เมื่อแอร์ใช้ได้ เครื่องบินกับคืนสภาพเดิม (อยากรู้มากมันทำด้วยอะไร) นัยยะเจ้าสิ่งนี้คล้ายเก้าอี้คืนสภาพ สิ่งที่ทำผิดพลาด ในอนาคตสามารถแก้ไขกลับคืนให้เหมือนได้
– บ๋อยที่กางเกงขาด เขากลายเป็นตัวสำรองทดแทนคนที่ต้องเปลี่ยนผ้าเช็ดมือ เสื้อคลุม รองเท้า ฯ, โลกเราจำเป็นต้องมีบุคคลผู้เสียสละ ปิดทองหลังพระ ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง คนจะสนใจก็ต่อเมื่อทำอะไรผิดพลาด แล้วต้องการของเก่า/สำรองทดแทน
– นักธุรกิจชาวอเมริกัน ในไนท์คลับเขาดูเป็นคนรวยใจกว้างเสียเหลือเกิน จับจ่ายใช้สอยเงินเป็นว่าเล่น แต่พอไนท์คลับปิด รุ่งเช้าถึงเวลาทำงานก็กลับสู่โหมดเคร่งเครียดจริงจัง พอเห็นรถมารับก็รีบเดินดุ่มๆไปขึ้นรถด้านหน้าร้านขายยา (ผมชอบคนแบบนี้น่ะ เวลาสนุกก็เต็มที่ เวลางานก็จริงจังเกินร้อย ใช้ชีวิตสุดโต่งคุ้มค่า)
– ขี้เมาที่ถามหาเส้นทาง เริ่มต้นเดินเข้าร้านเพราะแสงไฟหมุนโค้งชี้บอกให้เดินเข้ามา พบกับ Monsieur Hulot ที่ได้กางแผนบอกให้ แต่คนเมาที่ไหนจะรู้เรื่อง ร้านปิดแล้วช็อตสุดท้ายยืนโดดเดี่ยวเดียวดายอยู่หน้าร้าน ฉันจะไปถูกไหมเนี่ย!, นี่เป็นตัวแทนของคนที่หลงทางที่มัวเมามาย ไม่สามารถหาเป้าหมายของตนเองในอนาคตได้

บทเพลงในฉากนี้มีความหลากหลายพอสมควร สังเกตจากวงดนตรีที่เริ่มแสดง เริ่มต้นแนว Hawaii, Caribbean บทเพลงรองท้องครึกครื้นเบาๆ ต่อจากนั้นก็เป็น Jazz ร่วมสมัย (นักดนตรีผิวสี) ตื่นเต้นสนุกสนานเร้าใจ ผู้คนออกลีลาเต้นกันสุดเหวี่ยง ช่วงท้ายๆก็รัวกลองเอามันส์อย่างเดียวเลย พอเลิกเล่นช่วงใกล้ปิดร้าน Babara ขึ้นเป็นเดี่ยวเปียโนนุ่มๆบทเพลง Paris d’Autrefois ผ่อนคลายเบาสบาย

หลังไนท์คลับปิด แวะร้านขายยาและห้างสรรพสินค้า: สถานที่สุดท้ายของหนัง Hulot ซื้อของฝากให้กับ Barbara ตอบแทนที่เธอเป็นเพื่อนของเขาผ่านรัตติกาลยามค่ำคืน ภาพตัดให้เห็นความวุ่นวายบนท้องถนน ผู้คนมักจะเงยหน้ามองท้องฟ้า และคณะทัวร์เดินทางกลับสู่สนามบิน

Monsieur Hulot จำเป็นต้องฝากของฝากให้กับชายคนหนึ่งที่สวมโค้ด ใส่หมวก สูบไปป์ รูปลักษณ์ภายนอกแบบเดียวกับเขาแค่หนุ่มกว่า นำไปให้กับ Barbara ที่กำลังจะขึ้นรสบัสกลับ, นัยยะฉากนี้คือการส่งต่อเรื่องราวให้กับคนรุ่นต่อไป (เพราะ Hulot ในหนังอายุน่าจะ 50-60 แล้ว จะไปอินเลิฟกับหญิงสาวอายุ 20-30 ก็กระไรอยู่) ส่วนตัวเขาติดกับอยู่ในวังวนของอดีต ยังไม่สามารถหาทางออกได้

ในที่สุด Babara ก็ได้ถ่ายรูปหญิงชราที่ขายดอกไม้ เพราะได้ Monsieur Hulot ช่วยไว้ นี่แปลว่าเธอได้พบความสวยงามของกรุง Paris แล้วละ!

เมื่อหนังถึงจุดที่ไม่มีคำพูดใดๆ บทเพลงหนึ่งดังขึ้น L’opéra des jours heureux ประพันธ์โดย Francis Lemarque ราวกับกำลังเดินเที่ยวเล่นอยู่ในสวนสนุก ที่เต็มไปด้วยเครื่องเล่นสนุกสนานต่างๆนานา เด็กๆกำลังครื้นเครง ผู้ใหญ่กำลังหน้าบาน ได้ยินเพลงลักษณะนี้มักมีเรื่องให้อมยิ้มเสมอ

ตั้งแต่ Opening Credit ต้นเรื่อง พื้นหลังคือท้องฟ้า นี่น่าจะคือสัญลักษณ์แทน ‘อนาคต’ ที่มนุษย์ชอบเหม่อมองเพ้อฝันจินตนาการ ก็ไม่รู้มีอะไรอยู่บนนั้นแต่ขอให้ได้มองเพ้อฝันไว้ก่อน, การที่ตัวละครทั้งหลายเงยหน้ามองท้องฟ้าในช่วงท้าย (และกระจกที่สะท้อนก้อนเมฆ) เปรียบได้กับการค้นหา คาดหวังอนาคตที่สดใส (จะเห็นว่าท้องฟ้าวันนั้น ช่างสดใสเสียเหลือเกิน) แม้ตามท้องถนนจะเต็มไปด้วยรถในวงเวียนที่เวียนวนเป็นวัฏจักร แต่หลายคนก็พยายามที่จะหาทางออก ให้หลุดจาก Rat Race ที่เหนี่ยวฉุดรั้งไว้

การเปิดประตูที่จะสะท้อนภาพของ หอไอเฟล (Eiffel Tower), ประตูชัยฝรั่งเศส (Arc de triomphe), Church of the Sacred Heart และท้องฟ้าเห็นก้อนเมฆลายคราม นี่ทำให้หวนระลึกถึงหนังเรื่อง Mon Oncle (1958) ฉากที่ Monsieur Hulot ปรับกระจกส่องแสงไปที่กรงนก นี่คือการปรับทัศนะความคิดมุมมองของผู้คน, ตอนที่ Babara เปิดประตูแล้วเห็นภาพสะท้อนหอไอเฟล เธอหยุดหันไปมองแล้วอมยิ้ม นี่แปลว่าต่อให้เมือง Tativille เจริญล้ำแค่ไหน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังคงความเป็นฝรั่งเศส นั่นคือมองจากมุมไหนต้องเห็นหอไอเฟลตั้งตระหง่านอยู่

ผมชอบมากๆกับช็อตสุดท้ายของหนัง อยู่ดีๆก็ตัดเปลี่ยนจากภาพกลางวันเป็นกลางคืน ทุกอย่างในช็อตสีดำสนิทยกเว้นแสงจากหลอดไฟหลากสี นี่มีนัยยะถึงการแปรสภาพ จากปัจจุบันสู่โลกอนาคต ที่เรามักไม่สามารถจินตนากมองเห็นอะไรได้นอกจากแสงไฟนำทาง หรือดวงวิญญาณแห่งความฝัน ซึ่งการจะมุ่งสู่อนาคตได้นั้น จำเป็นต้องรวบรวมให้มนุษย์ทุกคนทุกแสงสว่าง เดินหน้าไปพร้อมกันอย่างพร้อมเพรียงกัน ไม่มีทางที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถไปถึงด้วยตัวคนเดียว (ถึงถ้าไปถึงได้ ชีวิตจะมีค่าอะไรกัน!)

Playtime เป็นหนังที่เปรียบเสมือน Playground สวนสนุกของผู้กำกับ ที่เล่าเรื่องในช่วงเวลาหนึ่ง (Time), เราสามารถเปรียบ Jacques Tati คือพระเจ้าผู้ดลบันดาลทุกสิ่งอย่างของหนัง สร้างเมือง สร้างโลก สร้างจักรวาล วันที่ 7 ก็สร้างมนุษย์ และเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติ แต่แท้จริงเกิดจากการครุ่นคิดคำนวณกำกับของพระเจ้า Tati ทั้งหมด

สำหรับผู้ชมอย่างเราๆ ก็มีสถานะเปรียบดั่งพระเจ้าเช่นกัน ที่ล่องลอยเรื่อยไปในเมือง Tativille พบเห็นเหตุการณ์สิ่งต่างๆมากมาย สนใจก็ติดตาม ดูซ้ำหลายรอบก็จะเห็นความหลากหลายของทุกสิ่งอย่าง ทุกความเป็นไปในโลกใบนี้

มีหลากหลายเหตุผลที่ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ทั้งๆที่เป็นหนังดูยากมากๆ (จัดความยากที่ Veteran) แต่สิ่งสำคัญสุดที่ผมอยากให้ทุกคนได้เห็นคือ ‘อิสรภาพ’ ของหนังเรื่องนี้ คุณสามารถที่จะคิด-รู้สึก-มอง-เลือก-ทำความเข้าใจอะไรก็ได้ของหนัง นี่คือชีวิตมนุษย์เลยนะครับ เราสามารถคิด-รู้สึก-มอง-เลือก-ทำความเข้าใจ อะไรก็ได้ ถ้าเข้าใจเช่นนี้รับชมหนัง ก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นกรงกะลาครอบตัวคุณไว้อีกแล้ว

ถึงหนังจะได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ล้นหลาม แต่กลับไม่ทำเงิน ขาดทุนย่อยยับ สาเหตุเกิดจากความเรื่องมากของผู้กำกับ ที่ต้องการฉายหนังเฉพาะในโรงที่มีเครื่องฉายฟีล์ม 70 mm เท่านั้น ซึ่งสมัยนั้นมีจำนวนจำกัดมาก แถมไม่ยินยอมแปลงหนังให้สามารถฉาย 35 mm ในโรงภาพยนตร์ปกติได้ ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าใจจริงๆ (นี่ก็อีกเช่นกัน ถ้า Tati ไม่เรื่องมากเอาแต่ใจ หนังอาจประสบความสำเร็จถึงขั้นไม่ติดหนี้ท่วมหัวจนตัวตาย)

กระนั้นความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้ การันตีด้วย
– อันดับ 43 ของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2012
– อันดับ 37 ของนิตยสาร Sight & Sound: Director’s Poll 2012
– อันดับ 71 ของนิตยสาร Cahiers du cinéma: Top 100 of all time
– อันดับ 6 ของนิตยสาร TIMEOUT: The 100 Best French Films

ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้จนกลายเป็นเรื่องโปรดเลยละ เพราะบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งจิบกาแฟ, ทอดกายอาบแดดริมทะเล, หรือยืนชมวิวหลังพิชิตยอดเขา ฯ สิ่งที่ผมเหม่อมองออกไป มันไม่ได้มีสาระอะไรกับชีวิตเท่าไหร่ แต่คือความ’ผ่อนคลาย’ ในการได้ซึมซับสิ่งรอบตัว วิถีชีวิต ธรรมชาติ ผู้คน มันมักมีเรื่องราวต่างๆเกิดเสมอ ถ้าอยากรู้ว่ามีอะไร ต้องใช้ความสามารถ สังเกตมองค้นหา รับรู้เข้าใจด้วยตนเอง ถึงจะเห็นความสวยงามของมัน

ผมดูหนังเรื่องนี้ 2 รอบ 2 วันติดนะครับ เลยสามารถค้นพบเจอ เก็บตกรายละเอียดต่างๆได้เยอะขนาดนี้ รู้สึกว่าสามารถรับชมได้อีกหลายรอบไม่เบื่อเลย เพราะยังมีหลายสิ่งอย่างน่าจะแอบซ่อนอยู่ไม่ได้รับการค้นพบ ถือเป็นความพิศวงอันลึกล้ำ อย่างยิ่งจะพบเห็นหนังเรื่องอื่นใดสามารถทำแบบนี้ได้อีก

แนะนำกับนักคิด นักปรัชญา ครุ่นคิดค้นหาเป้าหมาย เรื่องราว ชีวิต วิถีของหนัง, นักออกแบบ ศิลปิน สถาปนิก ที่สนใจศิลปะ Futuristic, คอหนัง Slapstick Comedy ชื่นชอบ Charlie Chaplin, Buster Keaton ย่อมต้องไม่ควรพลาดหนังของ Jacques Tati

จัดเรต 13+ กับความเมามายที่ดูเหมือนหยาบคาย

TAGLINE | “Playtime คือสวนสนุกที่ใช้พักผ่อนคลายเครียดของ Jacques Tati มีแห่งเดียวเท่านั้นในจักรวาล”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: