Pollock (2000)
: Ed Harris ♥♥♥◊
นักข่าวสัมภาษณ์ คุณรู้ตอนไหนว่าวาดภาพเสร็จ “How do you know when you’re finished with a painting?” Jackson Pollock ถามกลับ คุณรู้ตอนไหนว่าร่วมรักเสร็จ”How do you know when you’re finished making love?” จิตรกร Abstract ขี้เมาชื่อดังของอเมริกาที่โชคดีได้ศรีภรรยา แต่โชคร้ายเสียชีวิตเพราะเมาแล้วขับ ผลงานกำกับเรื่องแรกและนำแสดงโดย Ed Harris ที่เกิดมาเพื่อรับบทนี้โดยเฉพาะ
นี่เป็นหนังที่ทำออกมาดี แต่ไม่ใช่หนังที่ดี Jackson Pollock เป็นจิตรกรที่ผมรู้สึก เขาโชคดีเกินไป ได้เมียดี ค้นพบเทคนิคใหม่โดยบังเอิญ ภาพวาดก็ดันโด่งดัง ขายได้ กลายเป็นคนมีชื่อเสียง เงินทองไหลมาเทมา แต่เขากลับเลือกที่จะเป็นคนไม่ดี ติดเหล้า ติดหญิง นอกใจเมีย ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย, ผมรู้สึกหนังเรื่องนี้ได้สะท้อนภาพของอเมริกันชนออกมา ผ่านผลงานภาพวาด Abstract ของ Pollock คุณอาจจะดูไม่รู้เรื่องว่าภาพของเขาสื่อถึงอะไร แต่รูปลักษณะ ความวุ่นวาย มันหมายถึงตัวตน และสิ่งรอบข้างที่เป็นอิทธิพล, มีนักวิจารณ์เรียกผลงานของ Pollock ว่าเป็น American-Type Painting นั่นคือ ความเป็นอเมริกันชน สะท้อนออกมาในภาพวาด
Jackson Pollock (เกิด 28 มกราคม 1912 – เสียชีวิต 11 สิงหาคม 1956) เป็นจิตรกรคนสำคัญในลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (Abstract Expressionism) ก่อนที่เขาจะค้นพบเทคนิค Drip Painting (หยดสี) ภาพวาดของเขาได้อิทธิพลอย่างมากจากลัทธิ Surrealism และ Cubism ต่อมาเมื่อเขาติดเหล้าอย่างหนัก หมอแนะนำให้รักษาตัวโดยการวาดภาพที่แสดงความรู้สึก (Expression) ภายในของตนออกมา นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Pollock สามารถนำเสนอภาพวาดของสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเขา ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อความวุ่นวายที่อยู่ภายใน, ช่วงปลายทศวรรษที่ 40s เมื่องานศิลปะของเขาเต็มไปด้วยเทคนิค Drip Painting มันเลยเห็นชัดว่า ภาพวาดแสดงออกทั้งสิ่งที่อยู่ในใจ และสภาพของสังคม คนอเมริกา, ปี 1956 นิตยสาร TIME ให้ฉายาเขาว่า Jack the Dripper (ตามเทคนิคที่เขาใช้เป็นที่โด่งดัง) นิตยสาร Life ตั้งหัวข้อคำถามบทความว่า เขาคือจิตรกรเอกของอเมริกาหรือเปล่า? “Is he the greatest living painter in the United States?”
Hollywood Walk of Fame: Edward Allen “Ed” Harris ผมรู้จักเขาครั้งแรกตอนดูหนังเรื่อง The Rock (1996) ในเครดิตหนังดังๆของเขา มักจะเป็นตัวประกอบชั้นเลิศ อาทิ Apollo 13 (1995), The Truman Show (1998), The Hours (2002) สามเรื่องนี้ทำให้ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Supporting Actor มีเพียงครั้งเดียวจากหนังเรื่อง Pollock ที่ทำให้เขาได้เข้าชิงสาขา Best Actor, Harris กำกับหนังเรื่องแรกคือ Pollock ซึ่งดัดแปลงมาจาก Jackson Pollock: An American Saga เขียนโดย Steven Naifeh และ Gregory White Smith ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Barbara Turner และ Susan Emshwiller, Pollock ถือว่าเป็นโปรเจคในฝันของ Harris เพราะพ่อของเขาเอาหนังสือเล่มนี้มาให้เขาอ่าน (เพราะคิดว่า หน้าปกที่มีรูปของ Pollack หน้าคล้ายลูกชาย) นี่เลยทำให้ Harris เริ่มต้นสนใจโปรเจคนี้ ไม่รู้ 10 หรือ 15 ปีกว่าความฝันจะกลายเป็นรูปเป็นร่าง, Harris เป็นจิตรกรด้วยนะครับ ภาพวาดที่เราเห็นในหนังทั้งหมดเป็นฝีมือของเขา
พูดถึง Jackson Pollock แล้วต้องพูดถึงศรีภรรยา Lee Krasner นำแสดงโดย Marcia Gay Harden, ตัวละครนี้ ตั้งแต่ต้นเธอเป็นจิตรกรวาดภาพ Abstract เหมือนกับ Pollock แต่เมื่อได้เห็นผลงาน ความอัจฉริยะของเขาแล้ว ถึงกับทำให้เธอจึงตกหลุมรัก รู้ว่า Pollack นี่แหละที่จะกลายเป็นคนสำคัญ เธอจึงทุ่มเททั้งกายใจให้ ไม่ว่า Pollock จะดีเลวต่อเธอแค่ไหน ศรีภรรยาคนนี้ก็กัดไม่ปล่อย ยื้อรั้งไว้จนถึงที่สุด, ผมไม่รู้จะรู้สึกยังไงกับตัวละครนี้ดีนะครับ เธอมีจิตใจดี หรือเพราะใจหวังผลประโยชน์ เห็นแก่ได้ เธอรู้ความต้องการของตัวเองดี และไม่กัดไม่ปล่อย ครั้งหนึ่งที่พูดว่า ไม่ว่ายังไงเธอก็จะไม่หย่า มันอาจดูดื้อด้าน มองกลับกันคือผลประโยชน์ นี่เป็นตัวละครที่มองได้หลายมุมมองมากๆ ขึ้นอยู่กับคุณเห็นเธอในมุมไหนชัดกว่า, การแสดงของ Harden ทำให้เธอได้ Oscar สาขา Best Supporting Actress นะครับ นี่เป็นอะไรที่ผมข้องใจมาก เพราะ Krasner เธอมีบทนำพอๆกับ Harris เลย แต่ทำไมได้เข้าชิงแค่ตัวประกอบ Best Supporting Actress ไม่ใช่นำหญิง Best Actress, แคมเปญ Oscar แบบนี้เจอบ่อยนะครับ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่สูงในสาขานำหญิง การเลี่ยงมาสาขาประกอบหญิง ทำให้โอกาสได้รางวัลสูงกว่า ในปีนั้น Russell Crowe จาก Gladiator ได้นำชายและ Julia Roberts จาก Erin Brockovich ได้นำหญิง
ถ่ายภาพโดย Lisa Rinzler มีฉากหนึ่งที่เจ๋งมากๆ คือ kiss scene ครั้งแรกของ Pollock กับ Krasner ถ่ายในห้องมืดๆที่มีทางเดินแคบๆ เราจะเห็นเงาจางๆของทั้งสองที่เพิ่งเดินเข้าห้อง แสงจากโคมไฟอยู่ปลายสุดทางเดิน Krasner เดินเข้าไปในห้องของเธอที่อยู่ด้านหลัง Pollock เดินเข้าหากล้อง จากนั้น Krasner เริ่มถอดเสื้อผ้า Pollock หันไปมอง ไม่มีบทสนทนาใดๆ ในความเงียบนั้น Pollock ค่อยๆเดินเข้าไปหา จบลงด้วยการจุมพิต, ภาพจากหนังเรื่องนี้อาจไม่ถึงกับสวยมากนัก แต่เต็มไปด้วยเทคนิคหลายๆอย่างที่น่าสนใจ ใช้องค์ประกอบของฉากเล่าเรื่อง และหลายครั้งการเคลื่อนกล้องขึ้นอยู่กับอารมณ์ของตัวละคร โดยเฉพาะ Pollock ที่มีทั้งตอนสงบนิ่ง ลุกลี้ลุกลน และบางครั้งก็บ้าคลั่ง (ตามอารมณ์), มีฉากหนึ่ง ที่ Pollock เดินเลียบฉากขนาดใหญ่ ที่เตรียมไว้สำหรับจะวาดรูป เงาของเขาตกลงบนฉาก ฉากนี้ผมฉุกคิดได้ว่า ภาพวาดแสดงตัวตนของศิลปิน เปรียบเหมือนเงาของเขาเอง, เนื่องจาก Ed Harris วาดภาพ Abstract เหล่านี้ด้วยตนเองทั้งหมด การถ่ายภาพขณะศิลปินกำลังสร้างสรรค์ผลงาน จึงแทบไม่ต้องใช้มุมกล้องเลย เพราะทุกครั้งที่เทสี ลงสี สาดสี นั่นคือ Pollock ที่นำแสดงโดย Ed Harris ภาพเหล่านั้นกำลังจะกลายเป็นภาพจริงๆ มันมีอารมณ์ขณะกำลังสร้างสรรค์ผลงานด้วยนะครับ กล้องก็จะเคลื่อนไหวการเคลื่อนไหว อารมณ์ ความรู้สึกของ Pollock
ตัดต่อโดย Kathryn Himoff หนังมีการกระโดดข้ามไปมาอยู่ช่วงหนึ่งนะครับ เปิดเรื่องเป็นช่วงประมาณ 195x จากนั้นย้อนไป 10 ปีก่อนที่ Pollock จะเริ่มมีชื่อเสียง ก่อนแต่งงาน สักกลางเรื่อง เวลาดำเนินมาบรรจบกัน แล้วดำเนินต่อไปข้างหน้า แล้วกระโดดไปอีก 10 ปี (pattern นี้อีกแล้ว! ผมเจอรูปแบบการตัดต่อลักษณะนี้ในคอลเลคชั่น Painter & Artist มาหลายเรื่องเลย ฤามันกลายสูตรสำเร็จ), สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจกับการตัดต่อมากๆ คือ ความสมดุลระหว่าง เรื่องราว (ขณะที่ไม่ได้วาดรูป), ขณะสร้างสรรค์งานศิลปะ, การจัดแสดงและการวิพากย์งานศิลป์ หนังเรื่องนี้ให้เวลาทั้ง 3 ส่วนเท่าๆกัน ไม่เน้นส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป ไม่ทำให้ส่วนไหนสำคัญกว่ากัน นี่น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกเลยที่ผมสัมผัสได้ถึงความสมดุลของ 3 องค์ประกอบนี้ (หนังแนวนี้ส่วนใหญ่ มักจะมีส่วนใดส่วนหนึ่งล้นเกินไปเสมอ)
การสร้างความสมดุลในหนังเรื่องนี้ เหมือนเป็นการสร้างมุมมองของผู้ชมให้กว้างขึ้น ส่วนใหญ่เราจะเข้าใจแต่มุมของศิลปิน แต่ Pollock มีศรีภรรยา Krasner ที่คอยช่วยเติมเต็มชีวิต เป็นมุมมองที่จับต้องได้ นี่ทำให้ผมนึกถึง Vincent & Theo นะครับ แต่นั่นเป็นสองพี่น้อง Theo มีข้อจำกัดบางอย่างที่ให้กับ Vincent van Gogh ไม่ได้ ซึ่งผิดกับ Krasner ที่เข้าใจและทุ่มเทให้กับ Pollock ได้ทุกอย่าง, ชีวิตของ Pollock กับ Van Gogh ถือว่าใกล้กันมากๆ ถ้าเอามาเปรียบเทียบกันจะรู้สึกว่าตรงข้ามกันแทบทุกอย่าง แต่ชะตากรรมสุดท้ายของทั้งคู่ จบลงคล้ายๆกัน
ใน Pollock ผมแทบจะไม่ได้ยินเพลงประกอบเลย คงเพราะหนังต้องการเน้นความสมจริง Realist เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตัวละคร โดยไม่อาศัยเพลงประกอบเข้าช่วย ได้ยินเสียงเปียโนคลอเบาๆ เล่นโดย Jeff Beal ไม่ได้เพื่อเร่งอารมณ์ แต่เป็นการสร้างบรรยากาศ
ในยุคแรกๆของงานศิลปะประเภท Abstract มันจะมีความหมายบางอย่างแฝงอยู่ในรูปภาพเสมอ อาทิ Picasso ภาพวาดสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม เส้นโค้ง วงกลม สัตว์ต่างๆ ล้วนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์แฝงอยู่ กับคนที่ชอบการคิด ตีความ ภาพวาดพวกนี้จะสวยงามมากๆ เพราะถือว่ามีความหมายลึกซึ้ง มากกว่าที่ตาเห็น, ในยุคแรกๆของ Pollock ก็เป็นแบบนี้ เพราะเขาได้อิทธิพลมาจาก Picasso ค่อนข้างเยอะ (แม้ปากจะพูดว่าไม่ชอบก็เถอะ) ภายหลัง Pollock ตัดสินใจทำตามสัญชาติญาณของตน มืออยากจะขยับแบบไหน อะไรจะเกิดมันก็เกิด นี่เป็นผลจาก Ego ของเขาด้วย คนที่ขาดความมั่นใจในตัวเองหรือคนคิดมาก มือจะไม่ขยับตามสัญชาติญาณ แต่ Pollock มือเขาวาด ใจไม่คิด ใช้ความรู้สึกล้วนๆ ภาพวาด Abstract ของเขาจึงแทบหาความหมายอะไรไม่ได้ หรือคือไม่มีความหมายแฝงอยู่ มันเป็นความรู้สึกสัญชาติญาณล้วนๆ ที่เขาเรียกว่า “ธรรมชาติ” (I am nature.) นี่เป็น Abstract อีกประเภทหนึ่งนะครับ ความหมายของภาพอยู่ที่ผู้ชม ไม่ใช่อยู่ที่ศิลปิน เรามองเห็นภาพนั้นเป็นอะไร ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับที่ศิลปินเห็น, เราจะตีความภาพนั้นหมายความยังไง ก็ไม่จำเป็ต้องเหมือนกับเหตุผลศิลปินที่สร้างสรรค์ออกมา
กับคนที่ชื่นชอบงานศิลปะ หนังเรื่องนี้คือของหวานเลยนะครับ ส่วนคนที่ไม่รู้จัก Abstract ไม่เข้าใจภาพวาดว่าสื่ออะไร ก็ยังสามารถชื่นชมหนังเรื่องนี้ได้, วิธีทำความเข้าใจภาพ Abstract มี 2 วิธี คือ 1)คิดให้หัวแตก 2)ใช้ตาดูและใจสัมผัส ไม่ใช่ใช้สมองคิด, หนังเรื่อง Pollock สามารถทำได้ทั้งสองวิธี ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณเอง และที่สำคัญใจความของภาพที่ผมเล่าให้ฟังนั้น ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับที่คุณเห็นนะครับ คิดยังไง รู้สึกอย่างไร มันมีความเป็นไปได้ว่าภาพเดียวกัน คนสองคนจะเห็นไม่เหมือนกัน งานศิลปะในหนังเรื่องนี้ ทำให้หนังมีมิติมากขึ้น ทั้งๆที่ถ้าพูดกันเฉพาะตัวหนัง มันไม่ได้อะไรที่ลึกลับซับซ้อนเลย
นิสัยติดเหล้าของ Pollock น่าจะเกิดจากความกลัวของการอยู่คนเดียว ชีวิตวัยเด็กของ Pollock อาจเคยถูกทิ้งให้อยู่ลำพังคนเดียว หรือถูกขังในห้องมืด ทำให้เกิดเป็น Trauma ฝังใจ ที่ผมคิดแบบนี้ เพราะตอนที่พี่ชายกับภรรยาจะย้ายออกจากห้อง Pollock หัวเสียอย่างมาก มันชัดเลยว่าถ้าไม่มีคนอื่นอยู่เคียงข้างเขา เหมือนว่าจะไม่สามารถทำอะไรด้วยตนเองได้ สุราจึงกลายมิตรสหาย เป็นที่พึ่งทางใจ, อีกเหตุผลหนึ่ง อาจเพราะอิทธิพลต่อสังคมที่มีผลต่อจิตใจของ Pollock เขาเป็นคนหัวฉุนเฉียว โกรธง่าย เคืองคนง่าย แต่หายโกรธยาก เปิดหนังมาก็ฉากเมาแล้ว นี่คงเป็นค่านิยมของคนอเมริกา เกิดปัญหาขัดใจ ไม่ว่าเล็กน้อยใหญ่โต สุราเป็นเพื่อนยาก ให้หลงลืมปัญหาต่างๆได้ พ่อของพวกเขาอาจติดเหล้าหนักมาก เลยกลายเป็นแบบอย่างให้ Pollock สุรามันหนีโลกได้นะครับ, มันอาจจะเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง หรือทั้งสองเหตุผลนี้เลยที่ทำให้ Pollock เลิกเหล้าไม่ได้ แต่ถ้ามองในแง่ดี ถ้าเขาไม่ติดเหล้า ก็สร้างสรรค์ผลงานออกมาแบบนี้ไม่ได้เช่นกัน
มันเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่การตายของ Pollock จบลงเพราะสุรา อบายมุขที่คร่าชีวิตคนไปมากที่สุดในศตวรรษนี้ รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ดี ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย แต่ก็ไม่สามารถหักห้ามใจได้ เหมือนว่าขณะนั้นเขากำลังประชดชีวิตตัวเองอยู่ด้วย ทำไมถึงเป็นคนดีไม่ได้ ภรรยาก็มีแล้วแต่ยังหลงรักชู้ ชีวิตมีแต่ปัญหามองไม่เห็นทางออก สุราแทนที่จะทำให้ลืม กลับยิ่งจดจำ, ในบริบทตอนจบ หนังทำให้เรารู้สึกว่าไม่ใช่อุบัติเหตุ เป็นความตั้งใจจะตายของ Pollock จริงๆ ไม่รู้ชีวิตจริงเป็นอย่างไร เป็นการสูญเสียที่น่าเศร้าใจมาก
คติสอนใจของหนังเรื่องนี้ มีเมียดีเป็นศรีแก่ตัวเอง ขนาดตอนที่ Pollock อยู่กับชู้ เขายังรู้เลยว่า ตัวเองติดหนี้บุญคุณศรีภรรยาอย่างมาก จะให้อยู่ดีๆทิ้งเธอไปเขาก็ทำไม่ได้ ลึกๆแล้ว Pollock ก็ไม่ใช่คนเลวร้าย คนที่จิตสำนึกลึกๆยังเข้าใจได้ แบบนี้ยังพอให้อภัยได้นะครับ, การตายของ Pollock ทำให้ Krasner กลับมาวาดรูปอีกครั้ง (เธอหยุดไปตอน Pollock ดังสุดๆ เพื่อสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่) เธอจัดการดูแลทรัพย์สินและผลงานของสามีอย่างดี ผลงานยุคหลังของเธอล้วนได้อิทธิพลมาจาก Pollock ทั้งสิ้น และได้รับการยอมรับมากกว่าช่วงแรกๆ, ผมถือว่าสองคนนี้เป็นคู่บารมีที่ ถ้าไม่มี Krasner ก็ไม่มี Pollock นะครับ
มีสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นในหนัง อายุของงานศิลปะ ศตวรรษที่ผ่านมาความนิยมต่องานศิลปะประเภทหนึ่งๆสั้นลงมาก สมัยก่อนอาจจะอยู่เป็นหลายสิบ หรือเกือบๆร้อยปี แต่ยุคสมัยนี้ 1-2 ปีก็ถือว่านานมากๆแล้ว งาน abstract ของ Pollock ก็เช่นกัน อายุงานอยู่ที่ 10 ปี นั่นคือช่วงเวลาทศวรรษของเขา ช่วงท้ายของหนังตัดข้ามไป 10 ปี เมื่อผลงานเริ่มเสื่อมความนิยมลง แต่ไม่ใช่ว่ามันจะเลิกฮิตกันทีนะครับ แต่ผลงานใหม่ๆของศิลปินหน้าใหม่ๆ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น, ดูอย่าง Picasso เขาต้องปฏิวัติเปลี่ยนตนเองอยู่ไม่รู้กี่รอบ เพื่อให้ล้ำเทรนด์ของแฟชั่นนิยม (Rose Period, Cubism, Crystal Perios ฯ) ผลงานของ Pollock ถือว่ามีอายุยืนเพียง 1 ทศวรรษเท่านั้น ผมเชื่อนะครับ ถ้าเขาไม่มัวเมาไปกับสุรานารีมากเกินไป และไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร (อยู่ถึงแก่) เราอาจเห็นยุคสมัยถัดมา ผลงานของเขาคงจะก้าวล้ำไปอีกขั้นเป็นแน่
หนังเรื่องนี้ไม่ถือว่าดูยากนะครับ อย่ามัวไปมองแต่งานศิลปะที่ดูไม่เข้าใจเพียงอย่างเดียว ใจความของหนังก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ดูไม่เข้าใจก็ใช้ความรู้สึกดู แนะนำกับเด็กเรียนสายศิลป์ ศิลปิน วัยรุ่นยุคใหม่ใจอเมริกันนิยม, คนที่ชอบการคิด ท้าทาย วิเคราะห์ ตีความ คนเรียนปรัชญาควรศึกษางานศิลปะในหนังให้เข้าใจถึงแก่น จัดเรต 15+ กับภาพความรุนแรงและความพาลของคนขี้เมา
[…] Pollock (2000) : Ed Harris ♥♥♥◊ นักข่าวสัมภาษณ์ คุณรู้ตอนไหนว่าวาดภาพเสร็จ “How do you know when you’re finished with a painting?” Jackson Pollock ถามกลับ คุณรู้ตอนไหนว่าร่วมรักเสร็จ”How do you know when you’re finished making love?” จิตรกร Abstract ขี้เมาชื่อดังของอเมริกาที่โชคดีได้ศรีภรรยา แต่โชคร้ายเสียชีวิตเพราะเมาแล้วขับ ผลงานกำกับเรื่องแรกและนำแสดงโดย Ed Harris ที่เกิดมารับบทนี้โดยเฉพาะ […]