Polyester

Polyester (1981) hollywood : John Waters ♥♥♥♥

มีคำเรียก Odorama เมื่อซื้อตั๋วหนังจะได้รับแผ่นกระดาษ (Scratch-and-Sniff Card) ที่มีหมายเลข 1-10 ระหว่างรับชมพบเห็นตัวเลขอะไร ก็ให้เอาเหรียญขูดๆ สูดดมกลิ่น สดชื่นบ้าง เหม็นหึ่งบ้าง สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ในการรับชมภาพยนตร์

ทีแรกผมตั้งใจจะข้ามไปเขียนถึง Hairspray (1988) ภาพยนตร์กระแสหลัก (mainstream) ประสบความสำเร็จสูงสุดของผกก. John Waters, แต่บังเอิญไปพบเห็น Polyester (1981) ในคอลเลคชั่น Criterion เพิ่งได้รับการบูรณะ 4K และมีกล่าวถึงลูกเล่น (Gimmick) ทดลองเกี่ยวกับกลิ่น Odors+Rama = Odorama เลยเกิดความอยากรู้อยากเห็นขึ้นมา

เกร็ด: Polyester (1981) ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำการทดลองเกี่ยวกับกลิ่น ช่วงทศวรรษ 50s มีการแข่งขันกันระหว่าง Behind the Great Wall (1958) [AromaRama] กับ Scent of Mystery (1960) [Smell-O-Vision] ด้วยการเอาน้ำหอมใส่เครื่องปรับอากาศระหว่างฉายภาพยนตร์

วิธีการของ Polyester (1981) ด้วยการใช้เหรียญขูดๆแล้วสูดดม ถือว่ามีความคิดสร้างสรรค์ เสียงตอบรับดีเยี่ยม ประสบความสำเร็จอย่างมากๆ ขนาดว่าในปัจจุบันโปรแกรมระลึกความหลัง (Retrospect) ก็มักนำแผ่นกระดาษ Scratch-and-Sniff ผลิตขึ้นใหม่ มาใช้เสริมสร้างประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ … ผมลองค้นหาแผ่นกระดาษกลิ่นขนาด 5″ x 11″ ใน e-bay พบว่าราคาพุ่งทะยานสูงกว่า $30-$100 ดอลลาร์ (เกินพันบาท)

ตัวอย่างแผ่นกระดาษ Scratch-and-Sniff สำหรับ Odorama

ไม่ใช่แค่ลูกเล่นการทดลองเกี่ยวกับกลิ่น Polyester (1981) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของผกก. Waters ค่อยๆหันเข้าหากระแสหลัก (mainstream) ไม่นำเสนอสิ่งอัปลักษณ์ ภาพน่าขยะแขยงเกินไป (เป็นหนังเรื่องแรกได้รับเรตติ้ง R ก่อนหน้านี้มีแต่ X กับ NC-17) รับอิทธิพลจาก Douglas Sirk ตั้งแต่การถ่ายภาพ จัดแสง โทนสีสัน โดยเฉพาะเรื่องราว Melodrama ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘น้ำเน่า’ มีความรันทด หดหู่ ดูแล้วทุกข์ทรมานกาย-ใจ

นอกจากนี้ Polyester (1981) ยังจัดเป็น Woman’s Film (จริงๆควรเรียกว่า Trans’ Film น่าจะตรงกว่า) แนวหนังที่มีตัวละครเพศหญิงคือจุดศูนย์กลาง นำเสนอปัญหาชีวิต ส่วนตัว/ครอบครัว ความเป็นมารดา เสียสละเพื่อลูก เพ้อฝันถึงรักโรแมนติก คบชู้นอกใจสามี ฯ … เป็นแนวหนังเคยได้รับความนิยมช่วงทศวรรษ 30s-40s โดยผู้กำกับดังๆอย่าง George Cukor, Douglas Sirk, Max Ophüls, Josef von Sternberg ฯ


John Samuel Waters Jr. (เกิดปี 1946) ศิลปิน นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Baltimore, Maryland ได้รับการเลี้ยงดูแบบ Roman Catholic แต่ตั้งแต่รับชม Lili (1953) เกิดความหลงใหลหุ่นเชิดสไตล์ Punch and Judy (ที่ชอบใช้ความรุนแรง), วัยเด็กสนิทสนมกับ Glenn Milstead (หรือ Divine) หลังได้รับของขวัญวันเกิด กล้อง 8mm จากคุณยาย ร่วมกันถ่ายทำหนังสั้น Hag in a Black Leather Jacket (1964), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Mondo Trasho (1969), ตามด้วย Multiple Maniacs (1970)

Waters (และผองเพื่อน) ชื่นชอบการใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง เล่นยา มั่วกาม รสนิยมรักร่วมเพศ (เป็นเกย์เปิดเผย) กระทำสิ่งนอกรีตนอกรอย ไม่สนห่าเหวอะไรใคร หลงใหลวัฒนธรรม Counter-Cultural (ทำในสิ่งต่อต้านจารีตสังคม) กำไรจากภาพยนตร์หมดไปกับสิ่งอบายมุขทั้งหลาย

แซว: ผกก. Waters มีสองเอกลักษณ์ติดตัว คือชอบไว้หนวดดินสอ (เหมือนเอาดินสอมาขีดเป็นหนวด) และกิริยาท่าทางมีคำเรียกว่า ‘Camp Personality’ ไม่ต่างจากตัวละครในภาพยนตร์ ดูดัดจริต โอเว่อวังอลังการ

We are polar opposites when it comes to our politics, religious beliefs. But that’s what I loved about the whole trip. It was two people able to agree to disagree and still move on and have a great time. I think that’s what America’s all about.

John Waters

ความสนใจของ Waters ต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่นำเสนอด้านมืดของมนุษย์ มีความสกปรกโสมม ต่ำตม อาจม ท้าทายขนบกฎกรอบสังคม โดยรับอิทธิพลจากผู้กำกับหนังใต้ดินอย่าง Kenneth Anger, Andy Warhol, Mike & George Kuchar ฯ

To me, bad taste is what entertainment is all about. If someone vomits watching one of my films, it’s like getting a standing ovation. But one must remember that there is such a thing as good-bad taste and bad-bad taste. It’s easy to disgust someone; I could make a ninety-minute film of someone getting their limbs hacked off, but this would only be bad-bad taste and not very stylish or original. To understand bad taste, one must have very good taste. Good-bad taste can be creatively nauseating but must, at the same time, appeal to the especially twisted sense of humor, which is anything but universal.


หลังเสร็จจาก ‘Trash Trilogy’ ผกก. Waters เริ่มครุ่นคิดอยากทำอะไรที่แตกต่าง ไม่ต้องการให้ผู้ชมจดจำตนเองจากการกำกับหนังสกปรกโสมม รับประทานอาจมเพียงอย่างเดียว

I had done the shock-value thing, and it was becoming boring … I had this nightmare of myself at eighty, making movies about people eating colostomy bags.

จุดเริ่มต้นของ Polyester (1981) เกิดจากผกก. Waters ได้รับการติดต่อจากโปรดิวเซอร์ Robert Shaye ผู้ก่อตั้ง New Line Cinema แต่เดิมเคยเป็นแค่สตูดิโอจัดจำหน่ายหนัง (Film Distribution) เมื่อเริ่มทำกำไรได้มาก จึงครุ่นคิดขยับขยาย เพิ่มแผนกโปรดักชั่น … ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของค่าย New Line Cinema ต่อจาก Stunts (1977)

เกร็ด: New Line Cinema ได้สิทธิ์เป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ของผกก. Waters มาตั้งแต่ Multiple Maniacs (1970) รวมถึง ‘Trash Trilogy’

เรื่องราวของ Polyester (1981) มาจากความชื่นชอบผลงานภาพยนตร์ของ Douglas Sirk ตั้งแต่การถ่ายภาพ จัดแสง โทนสีสัน และโดยเฉพาะแนวหนัง Melodrama ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘น้ำเน่า’ ที่ดูจอมปลอม ปอกลอก สะดวกซื้อ เหมือนเส้นใยสังเคราะห์ Polyester กำลังได้รับความนิยมในทศวรรษ 70s-80s

ขณะที่ลูกเล่นกระดาษกลิ่น ได้แรงบันดาลใจจากเจ้าพ่อกิมมิค William Castle (1914-77) ที่ผกก. Waters ยกย่องให้เป็น “William Castle was God.” ยกตัวอย่าง

  • Macabre (1958) มีขึ้นข้อความบนใบปิดว่าทำประกันชีวิต $1,000 เหรียญ (ในกรณีเสียชีวิตระหว่างรับชมหนัง) ซึ่งระหว่างฉายมีการว่าจ้างนางพยาบาล รถขนศพ บางโรงภาพยนตร์ยังตั้งโลงศพ เพื่อให้ใครบางคนลุกขึ้นมา
  • House on Haunted Hill (1959) มีการนำโครงกระดูกติดไฟสีแดงในดวงตา เวลาถึงฉากหลอนๆจะห้อยโหนโครงกระดูกลงมาจากเชือกเบื้องบน
  • The Tingler (1959) ตอนจบของหนังเมื่อนักแสดงบนจอบอกให้ “Scream-Scream for your lives!” ตัวจริงของนักแสดงก็ปรากฎออกมาไล่ล่าผู้ชม ส่งเสียงกรีดร้องลั่น วิ่งหนีออกจากโรงภาพยนตร์
  • Homicidal (1961) ฉากที่พระเอกกำลังเข้าไปในบ้านฆาตกรโรคจิต ผู้ชมมีเวลา 45 วินาทีในการออกจากโรงหนังเพื่อไปขอคืนค่าตั๋วเต็มจำนวน (แต่เห็นว่ามีผู้ชมแค่ประมาณ 1% ที่ออกไปขอเงินคืน)
  • Mr. Sardonicus (1961) เมื่อถึงไคลน์แม็กซ์ ผกก. Castle จะปรากฎตัวในหนังให้ผู้ชมโหวตตัดสินโชคชะตาของผู้ร้าย ลงโทษหรือให้อภัย ก็จะฉายตอนจบเช่นนั้น (แต่ปรากฎว่าไม่มีครั้งไหนที่ผู้ชมเลือกให้อภัย เลยไม่เคยฉาย Alternate Ending)
  • I Saw What You Did (1965) มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในเก้าอี้โรงหนัง เมื่อผู้ชมขวัญผวาจะได้ไม่สามารถลุกขึ้นจากเก้าอี้
    ฯลฯ

ผกก. Waters เมื่อครั้งยังเป็นเด็กมีโอกาสรับชม The Tingler (1959) แล้วได้รับประสบการณ์จดจำไม่รู้ลืม นั่นคือเหตุผลที่เขาครุ่นคิดลูกเล่น (Gimmick) เกี่ยวกับกลิ่นสำหรับภาพยนตร์ Polyester (1981)


พื้นหลังต้นทศวรรษ 1980s เรื่องราวของแม่บ้านผู้อาภัพ Francine Fishpaw (รับบทโดย Divine) อาศัยอยู่บ้านหรูชานเมือง Baltimore, Maryland ตามวิถีชนชั้นกลาง (Upper-Middle Class) กำลังเผชิญหน้าวิกฤตครอบครัว ดังต่อไปนี้

  • สามี Elmer (รับบทโดย David Samson) เจ้าของโรงภาพยนตร์ผู้ใหญ่ (Adult Movie Theater) สนใจเพียงชื่อเสียง ความสำเร็จ แอบคบชู้กับเลขาวสาว Sandra Sullivan (รับบทโดย Mink Stole)
  • มารดา La Rue (รับบทโดย Joni Ruth White) แสร้งทำเป็นคนสูง เย่อหยิ่งทะนงตน แต่มาเยี่ยมเยียนบุตรสาวเพราะต้องการเงินนำไปเสพติดโคเคน
  • บุตรสาว Lu-Lu (รับบทโดย Mary Garlington) ได้รับการเลี้ยงดูอย่างตามใจ จึงมีความระริกระรี้แรดร่าน ตกหลุมรักแฟนหนุ่ม Bo-Bo Belsinger (รับบทโดย Stiv Bators) จนพลั้งพลาดตั้งครรภ์ ครุ่นคิดจะนำบุตรออก/ทำแท้ง แต่กลับสูญเสียลูกโดยไม่ทันตั้งตัว
  • บุตรชาย Dexter (รับบทโดย Ken King) ท่าทางมึนๆ ตาลอยๆ จากการดมกาว แล้วเกิดความพึงพอใจเมื่อได้ย่ำเท้าผู้อื่น จนกระทั่งถูกตำรวจจับกุม ควบคุมขังในสถานพินิจ

เรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อ Francine ร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท/อดีตแม่บ้านกลายเป็นเศรษฐินี Cuddles Kovinsky (รับบทโดย Edith Massey) ให้แอบติดตามสามี Elmer พบเจอว่าเขาคบชู้เลขาสาว เป็นเหตุเธอตัดสินใจยื่นฟ้องหย่าร้าง แต่กลับถูกอีกฝ่ายติดตามมาระรังควาญ กลายเป็นคนติดเหล้า ขี้เมา (Alcoholic) มีปัญหาทางจิต ค่อยๆอาการดีขึ้นระหว่างลุ่มหลงเสน่ห์หนุ่มใหญ่ Todd Tomorrow (รับบทโดย Tab Hunter) โดยไม่รับรู้ว่าอีกฝ่ายเต็มไปด้วยลับเล่ห์ลมคมใน


Divine ชื่อจริง Harris Glenn Milstead (1945-88) นักร้อง/นักแสดงชาย สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Baltimore, Maryland ในครอบครัวชนชั้นกลาง (Upper Middle-class) ได้รับการเลี้ยงดูอย่างตามใจจนร่างกายอวบอ้วน เลยมักถูกเพื่อนๆกลั่นแกล้ง ล้อเลียน (Body Shaming) ทำให้สูญเสียความมั่นใจในตนเอง, พออายุ 15 ระหว่างทำงานพาร์ทไทม์ร้านดอกไม้ ค้นพบรสนิยมชื่นชอบแต่งหญิง (Drag) โปรดปรานนักแสดง Elizabeth Taylor, ด้วยความสนิทสนม John Waters มาตั้งแต่เด็ก ได้รับการชักนำพาเขาสู่แวดวง Counter-Cultural รวมถึงตั้งชื่อ Divine (นำจากตัวละครในหนังสือ Our Lady of the Flowers (1943))

รับบทแม่บ้านสุดอาภัพ Francine Fishpaw ทั้งรักทั้งปรนิบัติสามีเป็นอย่างดี กลับถูกทรยศหักหลัง คบชู้นอกใจ บุตรชาย-สาวก็พึ่งพาอะไรไม่ได้ จึงหันมาดื่มเหล้ามึนเมามาย กลายเป็นคนขี้เมา (Alcoholic) จากจดตกต่ำสุดของชีวิต อะไรๆจึงเริ่มพัฒนาในทางที่ดีขึ้น แอบชื่นชอบหลงใหลหนุ่มใหญ่ Todd Tomorrow ถึงอย่างนั้นทุกสิ่งอย่างกลับไม่ต่างจากเส้นใยสังเคราะห์ Polyester

แซว: นามสกุล Fishpaw ปลาที่ไหนมันมีอุ้งมือ อุ้งเท้า แค่ชื่อก็บ่งบอกถึงจินตนาการเพ้อฝัน สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง (แต่คนนามสกุลนี้มีอยู่จริงๆ)

ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญ อีกไฮไลท์การแสดงของ Divine ก่อนหน้านี้มักรับบทสาวใหญ่ ไม่ยี่หร่าอะไรใคร โหยหาอิสรภาพ ระบายอารณ์เกรี้ยวกราด (มีนักวิจารณ์ให้คำนิยาม ‘goddess of destruction’) เหมือนคนมึนเมาเสพยา ของขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ตัวละคร Francine มีแต่เรื่องเลวร้ายถาโถมเข้าใส่ ไม่สามารถระบายอารมณ์อัดอั้น ตกอยู่ในความสิ้นหวัง ‘Desperate Housewife’ จึงหันมาพึ่งสุราเมามาย เกือบกลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง ทุกสิ่งอย่างล้วนขึ้นกับโชคชะตากรรม … ราวกับสิ่งที่เธอเคยทำไว้จากผลงานภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ ได้หวนย้อนกลับหา ‘กรรมสนองกรรม’

หลายคนอาจชื่นชอบพลังทำลายล้างของ Divine มากกว่าการเก็บกด อัดอั้น ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง แต่ผมมองว่ามันเหมือนหยิน-หยาง สองขั้วตรงกันข้ามที่สามารถเติมเต็มกันและกัน ก่อนที่เธอจะสามารถปล่อยพลังการแสดงรุนแรงขนาดนั้น ประสบการณ์วัยเด็กที่เคยถูกกลั่นแกล้ง บูลลี่ มิอาจโต้ตอบอะไรใคร นั่นทำให้บทบาท Francine มีมิติทางอารมณ์ที่ซับซ้อนแต่จับต้องได้ ทำให้ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจ ส่งกำลังใจให้เอาตัวรอดพ้นเหตุการณ์เลวร้ายทั้งหลาย


ถ่ายภาพโดย David Insley จากเคยเป็นผู้ช่วยตากล้อง Female Trouble (1974), Desperate Living (1977), ได้รับโอกาสจากผกก. John Waters ถ่ายทำภาพยนตร์ Polyester (1981), Hairspray (1988), Cry-Baby (1990) ฯ

ด้วยงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น บีบบังคับให้ผกก. Waters ต้องถ่ายทำด้วยกล้องมือถือ (Hand Held) Arriflex Cameras ฟีล์ม 35mm ซึ่งมีความคมชัด สีสันสดใส สามารถขยับเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ (ก่อนหน้านี้ด้วยทุนสร้างจำกัด เลยต้องใช้กล้องถูกๆ ฟีล์ม 16mm แล้วทำการ ‘blow up’ เป็น 35mm ได้คุณภาพต่ำๆ)

ด้วยเหตุนี้จึงรับอิทธิพลการถ่ายภาพจาก Douglas Sirk ทั้งการจัดแสง โทนสีสัน ออกแบบสร้างฉากให้มีความหรูหรา ทันสมัยใหม่ สอดคล้องเข้ากับวิถีชนชั้นกลาง (Upper-Middle Class) แต่ทุกสิ่งอย่างดูพลาสติก จอมปลอม ปอกลอก สะดวกซื้อ … เพื่อให้สอดคล้องชื่อหนัง(เส้นใยสังเคราะห์) Polyester

หนังใช้เวลาถ่ายทำเพียง 3 สัปดาห์ ช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1980 ยังบริเวณชานเมือง Baltimore, Maryland เต็มไปด้วยบ้านจัดสรร ถิ่นที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลาง (Upper-Middle Class) … ผิดกับผลงานก่อนหน้านี้ของผกก. Waters จะพบเห็นแต่ Baltimore ย่านสลัม ถิ่นฮิปปี้ โบฮีเมียน ที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงาน (Working Class)


ลูกเล่นกระดาษกลิ่น (Scratch-and-Sniff Card) อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าผกก. Waters ได้แรงบันดาลใจจากเจ้าพ่อกิมมิค William Castle และภาพยนตร์ Scent of Mystery (1960) ที่เคยทำการทดลอง Smell-O-Vision ใส่น้ำหอมลงในเครื่องปรับอากาศระหว่างฉายหนัง

I actually got the audience to pay to smell shit!

John Waters

ตอนต้นของหนังจะมีคลิปอธิบายวิธีการใช้กระดาษกลิ่น เมื่อปรากฎตัวเลขกระพริบขึ้นบนหน้าจอภาพยนตร์ ให้ใช้เหรียญหรือสิ่งแหลมคม ขูดๆขีดๆวงกลมตัวเลขแล้วสูดดม ทั้งสิบหมายเลข (พัฒนาโดยบริษัท 3M) ประกอบด้วย

  1. ดอกกุหลาบ (Roses)
  2. กลิ่นผายลม/ท้องอืด (Flatulence)
  3. กลิ่นกาว (Model airplane glue)
  4. พิซซา (Pizza)
  5. แก๊สโซลีน (Gasoline)
  6. สกังก์/ตัวเหม็น (Skunk)
  7. แก๊สธรรรมชาติ (Natural gas)
  8. กลิ่นรถใหม่ (New car smell)
  9. รองเท้าเหม็น (Dirty shoes)
  10. น้ำหอมปรับอากาศ (Air freshener)

เกร็ด: ลูกเล่นกระดาษกลิ่น (Scratch-and-Sniff Card) นอกจาก Polyester (1981) ยังมีภาพยนตร์อีกเรื่อง Spy Kids: All the Time in the World (2011) แต่เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Aromascope

บ้านของครอบครัว Fishpaw ตั้งอยู่ยัง 538 Wyman Way (ไม่มีอยู่จริง) ซึ่งชื่อถนน Wyman เป็นการอ้างอิงถึงนักแสดง Jane Wyman จากภาพยนตร์ All That Heaven Allows (1955) ของผู้กำกับ Douglas Sirk

เกร็ด: บ้านหลังดังกล่าวตั้งอยู่ 540 Heavitree Hill, Severna Park จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 2021) ก็ยังอยู่ตรงนั้น ด้วยราคาประมูล $900,000 เหรียญ

เมื่อตอนที่ Todd Tomorrow นำพา Francine Fishpaw ไปดูหนัง ‘drive-in’ พบเห็นข้อความ

Dusk To Dawn
3 Marguerite Duras Hits
The Truck – India Song – Destroy, She Said

ประกอบด้วยภาพยนตร์ของ Marguerite Duras จำนวนสามเรื่อง Le camion (1977), India Song (1975) และ Destroy, She Said (1969)

เกร็ด: โรงภาพยนตร์ Edmondson Drive-In Theater ตั้งอยู่ยัง 6000 Baltimore National Pike, Catonsville เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 ยุคเฟื่องฟูสามารถจอดรถได้ถึง 1,200 คัน ก่อนปิดกิจการเมื่อปี ค.ศ. 1991 ปัจจุบันเท่าที่ผมดูจาก Google Map ปรับเปลี่ยนเป็นห้างสรรพสินค้า The Home Depot ขายสิ่งข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับบ้าน

Francine กำลังอ่านนิตยสาร Cahiers du Cinéma ฉบับที่ 314 ฉบับเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ค.ศ. 1980 ภาพหน้าปกจากภาพยนตร์ Mon oncle d’Amérique (1980) แปลว่า My American Uncle กำกับโดย Alain Resnais, นำแสดงโดย Gérard Depardieu

ผมครุ่นคิดว่าผกก. Waters ต้องการอ้างอิงถึง Mon oncle d’Amérique (1980) ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำการผสมผสานงานศิลปะเข้ากับการทดลองวิทยาศาสตร์ … คล้ายแบบ Polyester (1981) ใช้การทดลองเกี่ยวกับกลิ่น เพื่อเพิ่มประสบการณ์รับชมภาพยนตร์

ตัดต่อโดย Charles Roggero, หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองแม่บ้านผู้อาภัพ Francine Fishpaw (รับบทโดย Divine) อาศัยอยู่บ้านหรูชานเมือง ตามวิถีชนชั้นกลาง (Upper-Middle Class) จากนั้นจะเริ่มร้อยเรียงสารพัดปัญหา กำลังเผชิญหน้าวิกฤตครอบครัว จับได้ว่าสามีคบชู้นอกใจ บุตรสาวพลั้งพลาดตั้งครรภ์ บุตรชายถูกจับกุมหลังก่ออาชญากรรม ทำให้เธอรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง กลายเป็นคนติดสุรา พยายามมองหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง

  • อารัมบท, คำแนะนำวิธีใช้กระดาษกลิ่น
  • ความผิดปกติของครอบครัว Fishpaw ในระยะเวลา 1 วัน (เริ่มจากยามเย็น ถึงบ่ายอีกวัน)
    • เริ่มต้นจากการชุมนุมประท้วงหน้าบ้านครอบครัว Fishpaw ไม่ยินยอมรับกิจการโรงภาพยนตร์ฉายหนังผู้ใหญ่
    • แต่สามี Elmer กลับมองเห็นเป็นโอกาส เรียกนักข่าวมาสัมภาษณ์
    • รับประทานอาหารมื้อเย็นพร้อมหน้า
    • บุตรสาว Lu-Lu หาข้ออ้างออกจากบ้าน ขับรถเล่นกับแฟนหนุ่ม
    • ค่ำคืนนั้น Francine ได้ยินเสียงกรน ค้นพบความลับของสามี
    • เช้าหลังรับประทานอาหาร มารดา La Rue แวะเวียนมาขอเงินไปช็อปปิ้ง
    • เพื่อนสนิท Cuddles เดินทางมาเยี่ยมเยียน Francine อาสาเป็นนักสืบติดตาม Elmer
    • โทรศัพท์จากครูใหญ่ แจ้งว่าบุตรชาย Dexter ไม่เคยไปโรงเรียน
    • บุตรสาว Lu-Lu สอบตกทุกวิชา ตั้งใจจะลาออกจากโรงเรียน แล้วปีนหน้าต่างหลบหนีไปขับรถเล่นกับแฟนหนุ่ม
  • วิกฤตครอบครัว Fishpawn
    • Cuddles แจ้งข่าวกับ Francine เดินทางมาม่านรูด จับสามีคบชู้ได้คาหนังคาเขา
    • Francine ดื่มเหล้ามึนเมามาย กลายเป็นคนติดสุรา
    • บุตรสาว Lu-Lu บอกกับมารดาว่าพลั้งพลาดตั้งครรภ์ ครุ่นคิดจะนำลูกออก/ทำแท้ง
    • บุตรชาย Dexter กระทืบเท้าหญิงสาวในห้างสรรพสินค้า ถูกจับกุมเข้าสถานพินิจ
  • ช่วงเวลาแห่งความรันทด ต้องอดรนทนต่อวิกฤตครอบครัว
    • Francine ต้องการบำบัดอาการติดสุรา แต่ก็เหมือนยังไม่ดีขึ้นสักเท่าไหร่
    • บุตรสาว Lu-Lu กำลังจะนำบุตรออกแต่ก็มีเหตุบางอย่างเกิดขึ้น เลยถูกส่งเข้าสถานบำบัด กลายเป็นแท้งอย่างไม่ได้ตั้งใจ
    • จินตนาการคลั่งรักของ Francine
    • ตำรวจบุกค้นบ้านหลังจับกุมบุตรชาย Dexter
    • Francine เดินทางไปปิกนิคกับ Cuddles 
    • ค่ำคืน Halloween, มารดา La Rue ถูกแฟนหนุ่มของ Lu-Lu กระทำร้ายร่างกาย ยิงโต้ตอบจนอีกฝ่ายเสียชีวิต, นั่นทำให้ Lu-Lu ครุ่นคิดจะฆ่าตัวตายตาม
  • ฟ้าหลังฝน และวิกฤตการณ์ครั้งสุดท้าย
    • เริ่มจากบุตรชาย Dexter ได้รับการปล่อยตัว ปลอดสารเสพติด และกลายเป็นศิลปิน
    • บุตรสาว Lu-Lu กลายเป็นสาวฮิปปี้ ค้นพบความสนใจการถัก Macramé
    • Francine พบรักครั้งใหม่กับ Todd Tomorrow
    • แต่แล้วความจริงก็เปิดเผยว่า Todd แอบมีความสัมพันธ์กับมารดา La Rue ในค่ำคืนที่อดีตสามี Elmer กำลังย่องเบาจะมาฆ่าปิดปาก Francine
    • สุดท้ายแล้วครอบครัวนี้จะลงเอยเช่นไร??

ฉบับบูรณะ 4K ของ Criterion มีการรวบรวมฉากที่ถูกตัดออก (Deleted Scene) รวมถึงซีนไม่ได้นำมาใช้ (Alternate Takes) ผมบังเอิญเห็นมีคนอัพโหลดไว้ เผื่อใครสนใจรับชม

เพราะเป็นหนังกระแสหลัก ทำให้ผกก. Waters ไม่สามารถลักลอบแอบใช้เพลงติดลิขสิทธิ์ได้อีกต่อไป แก้ไขง่ายๆด้วยการแต่งเพลงขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีทั้ง Soundtrack และบทเพลงคำร้อง (ที่มีเนื้อหาสอดคล้องเข้ากับเรื่องราวขณะนั้นๆ)

Title Song ท่วงทำนองมีสัมผัสล่องลอย น่าจะเป็นแนว New Wave ชื่อเดียวกับหนัง Polyester แต่งโดย Chris Stein & Debbie Harry (แห่งวง Blonde), ขับร้องโดย Tab Hunter (พร้อมเสียงคลอประกอบโดย Debbie Harry) เป็นบทเพลงที่ให้นิยามความหมาย Polyester (Queen) = Francine Fishpaw

เกร็ด: ดั้งเดิมนั้น Chris Stein ตั้งใจจะขับร้องเพลงนี้ด้วยตนเอง แต่ติดสัญญากับต้นสังกัด เลยจำต้องเปลี่ยนมาเป็นนักแสดง Tab Hunter (รับบท Todd Tomorrow)

See the houses
Look at the trees
Swaying
In the cool breeze, mm-hmm
Oh, what a lovely street
It’s a dead end
Hey, why don’t you come on in?

French provincial
They do their best
To stay neutral
Expressionless, ah-hah
Come on upstairs
Meet your polyester queen

(เสียงคลอประกอบพื้นหลัง)
Francine… Francine… Francine…

You know about abundant women
Well, this girl only aims to please
Outside there’s a load
Of noisy neighbors
Upstairs there’s a polyester squeeze

The Best Thing (Love Song) แต่งโดย Debbie Harry & Michael Kamen, ขับร้องโดย Bill Murray (ก่อนหน้าจะเป็นนักแสดงโด่งดัง เคยเป็นนักร้องนำมาก่อน) รำพันความรักครั้งใหม่ของ Francine Fishpaw กับ Elmer Fishpaw

แซว: แม้ว่าผกก. Waters จะติดต่อให้ Bill Murray มาขับร้องบทเพลงนี้ แต่เขาไม่ได้ชื่นชอบการแสดงของอีกฝ่ายสักเท่าไหร่ ตรงกันข้ามเคยให้สัมภาษณ์ว่า “I hated Bill Murray.” มีคนวิเคราะห์ไว้ว่า “John’s humor was not doofusy like Bill Murray’s. John was angry, gay, and shocking, and he didn’t want it diluted.”

ในขณะที่ Female Trouble (1974) ร้อยเรียงสารพัดปัญหาของหญิงสาว, Polyester (1981) มุ่งเน้นวิกฤตครอบครัว (Family Crisis) ถาโถมเข้าใส่แม่บ้านผู้อาภัพ ค้นพบสามีคบชู้นอกใจ บุตรสาวพลั้งพลาดตั้งครรภ์ บุตรชายถูกจับกุมหลังก่ออาชญากรรม ชีวิตสุดแสนรันทดทำให้เธอรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง กลายเป็นคนติดสุราเมามาย พยายามมองหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิงเคียงข้างกาย

สารพัดปัญหาของ Francine Fishpaw เกิดจากวิถีการใช้ชีวิต (ตามอุดมคติอเมริกัน) ทำตัวราวกับอยู่ในจินตนาการเพ้อฝัน ทุกสิ่งอย่างสวยเลิศหรู สุขสบายกาย ตอบสนองความพึงพอใจ แต่กลับไม่เคยระแวดระวังภัย สนสิ่งใดๆรอบข้าง ปล่อยปละละเลยสามี มารดา บุตรชาย-สาว แถมพอรับรู้เบื้องหลังความจริง ยังไร้ภูมิต้านทานปกป้องตนเองจากหายนะดังกล่าว

สไตล์ของผกก. Waters เมื่อครั้งยังอยู่วงการหนังใต้ดิน (Underground Film) มักนำเสนอสิ่งอัปลักษณ์ กระทำสิ่งสังคมไม่ให้การยินยอมรับ มีความน่ารังเกียจขยะแขยง พบเห็นแล้วเกิดความตื่นตระหนกตกใจ (ให้คำนิยามว่า ‘Shock Value’) ชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ต่อต้านขนบวิถีทางสังคม

พอผุดขึ้นมาสรรค์สร้างภาพยนตร์กระแสหลัก (mainstream) ผกก. Waters จึงจำต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด พัฒนาเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาชีวิต วิกฤตครอบครัว นำเสนอเหตุการณ์พบเจอในสังคมทั่วๆไป แต่ใช้การถ่ายภาพสวยๆ สีสันสดใส ‘Candy Color’ ซึ่งดูจอมปลอม ปอกลอก สะดวกซื้อ เหมือนเส้นใยสังเคราะห์ Polyester กำลังได้รับความนิยมในทศวรรษ 70s-80s

My favorite movie idea is to do a movie where everything’s fake — the trees, the grass, even the sun.

John Waters

เรื่องราวของ Polyester (1981) ไม่ใช่แค่นำเสนอร้อยเรียงสารพัดปัญหาครอบครัว ยังสะท้อนวิกฤตอุดมคติอเมริกัน คนส่วนใหญ่/ชนชั้นกลาง (Upper-Middle Class) ใช้ชีวิตราวกับอยู่ในจินตนาการเพ้อฝัน บ้านหรูหรา สวมใส่เสื้อผ้าโก้หรู โหยหาชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จ โดยไม่เคยสนใจใครรอบข้าง มองข้ามปัญหาใกล้ตัว เพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน

เกร็ด: Polyester คือเส้นใยสังเคราะห์ที่ใช้ในสิ่งทอและเสื้อผ้า เป็นนวัตกรรมที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมเครื่องทอทั้งหลาย ทำให้สามารถผลิตเสื้อผ้าได้รวดเร็ว ราคาถูก และปริมาณมาก

การเลือกใช้ชื่อหนัง Polyester นอกจากจะสื่อถึงตัวละคร Francine Fishpaw ที่ใช้ชีวิตราวกับอยู่ในจินตนาการเพ้อฝัน สร้างโลกสังเคราะห์ของตนเองขึ้นมา, ยังหมายถึงวิถีอเมริกันที่มีความจอมปลอม ปอกลอก ทุกสิ่งอย่างล้วนสำเร็จรูป ราคาถูก สะดวกซื้อ ไร้ซึ่งมูลค่าทางจิตใจ

สำหรับกลิ่นหอม-เหม็น เปรียบได้กับชีวิตที่มีขึ้นๆลงๆ สุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก เหมือนพยายามทำให้สอดคล้องเข้ากับเนื้อเรื่องราวขณะนั้นๆ เพื่อเพิ่มอรรถรส เสริมประสบการณ์รับชม แสดงแสนยานุภาพนวัตกรรมสมัยใหม่ (ที่สามารถสร้างกลิ่นได้จากการใช้เหรียญขูดๆ) ช่วยให้เข้าถึงกลิ่นอายชีวิต (ของ Francine Fishpaw) รวมถึงวิถีสำเร็จรูปของโลกปัจจุบัน(นั้น)


เมื่อตอนสรรค์สร้าง ‘Trash Trilogy’ ผกก. Waters ใช้งบประมาณเพียงหลักหมื่น ($10,000-$65,000 เหรียญ) แต่พอหันเข้าหากระแสหลัก Polyester (1981) หมดทุนสร้างสูงถึง $300,000 เหรียญ! โชคดีที่เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ออกมาดีเยี่ยม พร้อมลูกเล่นกระดาษกลิ่น เป็นสิ่งแปลกใหม่ ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จึงสามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $1.12 ล้านเหรียญ!

Ordinarily, Mr. Waters is not everyone’s cup of tea — but Polyester, which opens today at the National and other theaters, is not Mr. Waters’ ordinary movie. It’s a very funny one, with a hip, stylized humor that extends beyond the usual limitations of his outlook. This time, the comic vision is so controlled and steady that Mr. Waters need not rely so heavily on the grotesque touches that make his other films such perennial favorites on the weekend Midnight Movie circuit. Here’s one that can just as well be shown in the daytime.

นักวิจารณ์ Janet Maslin จากนิตยสาร The New York Times

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K ตรวจอนุมัติโดยผู้กำกับ John Waters แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2023 สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray และรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel (หน้าปกรูปคู่ Divine & Tab Hunter มีความสวยงามทีเดียว)

แม้ผมจะไม่มีกระดาษกลิ่น (จริงๆ Criterion ก็น่าจะแถมกระดาษกลิ่นใน DVD/Blu-Ray ด้วยนะ!) แต่ระหว่างรับชมพบเห็นตัวละครทำจมูกฟุดฟิด แสดงปฏิกิริยาสีหน้า คำพูดบรรยายออกมา ก็เพียงพอจินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล (แต่ก็ยังอยากได้ประสบการณ์ทางกลิ่นนั้นอยู่ดีนะ) แถมตัวหนังดูสนุก คลุกความบันเทิง ไม่ขยะแขยงเท่าผลงานเก่าๆ คุณภาพน้ำเน่า ตลบอบอวน หอมหวน … ผมว่าเนื้อเรื่องราวมีความกลมกล่อมกว่า Pink Flamingos (1972) เสียอีกนะ!

เอาจริงๆผมแอบเสียดายที่ผกก. Waters เลิกทำหนังสุดโต่งแบบ ‘Trash Trilogy’ แต่เราต้องเข้าใจว่ามันคือวิวัฒนาการของศิลปิน/ผู้สร้างภาพยนตร์ ปรับเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลยุคสมัย (คล้ายๆ Pablo Picasso ที่มีสารพัดยุคสมัย Blue Period, Rose Period, African Art, Cubism, Neoclassicism ฯ) ชวนให้นึกถึง Rainer Werner Fassbinder อยู่ไม่น้อยทีเดียว

จัดเรต 18+ กับสารพัดการกระทำขัดต่อหลักศีลธรรม

คำโปรย | Polyester สูดดมกลิ่น สดชื่นบ้าง เหม็นหึ่งบ้าง แต่มีความหอมหวน ตลบอบอวล สร้างความรัญจวน สามารถเข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง
คุณภาพ |
ส่วนตัว | ตลบอบอวล

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: