Ponyo (2008)
: Hayao Miyazaki ♥♥♥♥♡
โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย ภาพยนตร์อนิเมชั่นของปรมาจารย์ผู้กำกับ Hayao Miyazaki จะพาเราไปสู่โลกการผจญภัยเพื่อพิสูจน์ตนเอง ภาพวาดใต้น้ำที่สวยตระการ สึนามิที่สุดอลังการ และเพลงประกอบของ Joe Hisaishi ที่จะพาคุณไปสวรรค์ให้จงได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เข้าช่วงเทศกาลลอยกระทงทีไร ผมจะนึกถึงอนิเมะเรื่องนี้ก่อนเลย แม้ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับการลอยกระทง แต่คือเทศกาลที่ทำให้เราระลึกถึงบุญคุณของสายน้ำและท้องทะเล, อนิเมะเรื่องนี้นำเสนอภาพของวิถีชีวิต ผู้คน สัตว์น้ำและสัตว์บก (มนุษย์) เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่ไม่ค่อยที่จะสนใจกันและกัน เมืองไทยเรามีวันที่ระลึกถึงคุณาประการของสายน้ำ แต่กลับลอยกระทงที่ดันไปสร้างขยะให้กับแม่น้ำลำคลอง … ผมว่าเราน่าจะทำอะไรที่มีสาระมากกว่านี้ในเทศกาลนี้นะครับ เช่นว่า ช่วยกันทำความสะอาดขุดลอกคูคลอง เก็บขยะในแม่น้ำ ฯ มันยังดูมีประโยชน์กว่าเอาขยะไปทิ้งลอยน้ำ แล้ววันรุ่งขึ้นต้องจ้างคนไปเก็บกวาดสูญเงินเป็นแสนๆล้านๆ
พูดถึงอนิเมะที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นใต้ผิวน้ำ ท้องทะเลเลสวยๆ สร้างขึ้นก่อนหน้า Ponyo อาทิ
– Hans Christian Andersen’s The Little Mermaid (1975) สร้างโดย Toei Animation
– The Little Mermaid (1989) สร้างโดย Walt Disney Pictures
– Nadia: Secrets of the Blue Water (1990-1991) อนิเมะซีรีย์ความยาว 39 ตอน สร้างโดย Hideaki Anno และ Shinji Higuchi
นับตั้งแต่ Pinocchio (1940) ของ Walt Disney ที่คืออนิเมชั่นเรื่องแรกของโลกที่มีฉากใต้น้ำ เกือบ 70 ปีที่แทบจะไม่มีอะไรใหม่ รูปแบบเดิมๆ งานภาพเดิมๆ ไม่ได้อนิเมะเรื่องไหนที่มีการทดลอง หรือก้าวผ่านความสวยงามของฉากใต้น้ำนั้นใน Pinocchio ไปได้เลย, นี่อาจเพราะการวาดภาพอนิเมชั่นใต้น้ำให้มีความสวยสดงดงามสมจริงๆนั้น มีความยุ่งยาก วุ่นวาย สิ้นเปลือง และสลับซับซ้อนมากที่สุด (ไม่เหมือนท้องฟ้าหรืออวกาศ ที่ไม่แค่วาดฉากหลังได้ก็จบแล้ว แต่ใต้ทะเลมันมีมากกว่านั้น) ได้ยินว่าเรื่องราวใต้น้ำเป็นของต้องห้ามที่ไม่ค่อยมีใครกล้าแตะกล้าสร้าง แม้แต่ Tezuka Osamu (พระเจ้าแห่งวงการมังงะ/อนิเมชั่น) ยังต้องขอผ่าน (เขาเคยวาดมังงะเรื่อง Angel’s Hill แต่ไม่เคยนำมาดัดแปลงเป็นอนิเมชั่น เพราะมันยุ่งยากเกินไป)
คงจะมีแต่ Hayao Miyazaki เท่านั้นกระมังที่เมื่อวัย 65 ไร้ซึ่งความหวาดกลัว กล้าที่จะท้าทายตัวเอง สร้างอนิเมชั่นที่นำเสนอเรื่องราวใต้ท้องทะเล วาดภาพการเคลื่อนไหวของคลื่นทั้งภายใต้และบนผิวน้ำด้วยมือทั้งหมด, แรงบันดาลใจการสร้างอนิเมะเรื่องนี้ Miyazaki บอกว่าได้จาก The Little Mermaid ที่เขียนโดย Hans Christian Andersen แต่… เดี๋ยวนะ มันไม่ได้ดูใกล้เคียงกันสักเท่าไหร่ คอนเซ็ปนั้นอาจใช่ (Ponyo = Little Mermaid) นำแนวคิดมาแล้วพัฒนาสร้างเรื่องราวประกอบขึ้นใหม่หมด ในสไตล์รูปแบบของตนเอง
ร่วมกับ Animation Director: Katsuya Kondo และ Art Director: Noboru Yoshida, Miyazaki ตั้งเป้าหมายให้กับอนิเมะเรื่องนี้ ต้องใช้การวาดด้วยมือทั้งหมด (Traditional Animation) เพื่อที่จะค้นหาความเป็นไปได้ที่สุดในการสร้างอนิเมชั่น ไม่ต้องคำนึงว่างานจะเสร็จตอนไหน เมื่อใดเมื่อนั้น จนกว่าจะหมดแรงหรือตายกันไปข้างหนึ่ง, โปรดักชั่นเริ่มต้นเดือนพฤษภาคม 2006 ทีมอนิเมชั่นเริ่มทำงานเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เสร็จสิ้นออกฉายในญี่ปุ่นวันที่ 19 กรกฎาคม 2008 รวมๆแล้วใช้เวลาเกือบ 2 ปี ความยาว 103 นาที มีภาพวาดด้วยมือทั้งหมด 170,000 ภาพ
เมืองที่เป็นพื้นหลังของเรื่องราว ได้แรงบันดาลใจมาจากหมู่บ้านริมทะเล Tomonoura ใน Setonaikai National Park ที่เกาะ Seto Inland Sea เป็นสถานที่ที่ Miyazaki เคยอาศัยอยู่เมื่อปี 2005, นอกจากนี้ เรื่องราวยังได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากโอเปร่าของ Richard Wagner เรื่อง Die Walküre อย่างชื่อเดิมของ Ponyo ก็มาจากตัวละครหลักในเรื่อง เป็นเทพเจ้าที่หลงรักมนุษย์ (แบบเดียวกับ Ponyo หลงรัก Sōsuke) ฉากขณะสึนามิ ถาโถมเข้าใส่หมู่บ้าน เพลงประกอบนี่อารมณ์เดียวกับขณะกองทัพสวรรค์กำลังบุกมาจะโจมตี (แล้วเปิดเพลง Ride Of The Valkyries แทนได้เลย)
Ponyo (พากย์เสียงโดย Yuria Nara) ชื่อเดิมคือ Brünnhilde ปลาทองน้อยอายุ 5 ขวบ มีนิสัยอยากรู้อยากเห็นอยากเป็นอยากลอง สายตาของเธอบ้องแบ้วมาก แม้จะมีแค่จุดดำๆในวงกลมขาวๆ แต่ระยะห่างระหว่างตาสองข้าง ทำให้เกิดความรู้สึกพิศวง หลงใหล เหมือนสายตาเล็กๆของเด็กน้อยวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็น ขี้เล่นซุกซนดื้อรั้น, เสียงพากย์ Ponyo มีความน่ารักสดใสสมวัย แฝงความขบถ และใคร่รู้ใคร่เห็น ให้เสียงโดยนักพากย์รุ่นเยาว์ Yuria Nara ขณะนั้นเป็นเด็กหญิงอายุ 7-8 ขวบ (ปัจจุบันโตเป็นสาวแล้วนะ)
ชื่อ Ponyo เป็นคำที่ Miyazaki นำมาจากการผสมคำ หาเสียงที่ฟังแล้วรู้สึกนุ่มนวลอ่อนโยน (soft, squishy softness) เลือก Ponyo เพราะฟังแล้ว สะดุ้งเหมือนถูกสัมผัส
เกร็ด: คงมีคนสงสัย Ponyo ได้ยิน/อ่านว่า ปอนโย ไม่ใช่เหรอ ทำไมภาษาไทยถึงใช้คำว่า โปเนียว, จริงๆออกเสียงว่า โปเนียว ถูกต้องแล้วนะครับ แต่ที่เราได้ยิน ปอนโย เพราะเราหูเราจำแนกเสียงไม่ออกเหมือนคนญี่ปุ่น และคำภาษาอังกฤษมันมีรูปศัพท์เช่นนั้น, ผู้เชี่ยวชาญภาษาบอกว่า จากตัวคาตาคานะจะเป็นคำว่า Po + ni + yo (ni+yo = nyo = เนียว) เลยออกมาเป็น โปเนียว ไม่ใช่ Po + n + yo ของภาษาอังกฤษ
Sōsuke (พากย์เสียงโดย Hiroki Doi) เด็กชายวัย 5 ขวบ ผู้มีความชื่นชอบในท้องทะเล เมื่อได้พบกับ Ponyo ก็เกิดความรัก หลงใหล ต้องการทะนุทะนองเสมือนเป็นของรักของหวง, ตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก Gorō Miyazaki ลูกชายของ Miyazaki ตอน 5 ขวบ (ปัจจุบันโตเป็นหนุ่มใหญ่ ได้กำกับอนิเมะแล้วถึง 2 เรื่องคือ Tales from Earthsea-2006 และ From Up on Poppy Hill-2011), ส่วนชื่อ Sōsuke นำมาจากตัวเอกในนิยายเรื่อง The Gate เขียนโดย Natsume Sōseki
การผจญภัยของ Sōsuke กับ Ponyo ด้วยวัยที่ยังเล็กนัก แสดงถึงความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ยังไม่รู้ประสีประสาอะไร เห็นอะไรเป็นสุขก็ดีใจตื่นเต้น เสียใจก็ร้องไห้, ถ้าเปรียบ Sōsuke คือตัวแทนของมนุษย์ และ Ponyo เป็นตัวแทนของธรรมชาติ ความรักความห่วงใย เข้าใจกันของทั้งคู่ จักคือ มนุษย์ที่รักและเข้าใจธรรมชาติ นี่ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าตอนเด็กพวกเขาได้ทำความเรียนรู้จักซึ่งกันและกัน ก็มีแนวโน้มว่าเมื่อโตขึ้นจักได้เข้าใจ ยอมรับ รักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน
ช่วงต้นเรื่อง ขณะการผจญภัยของ Ponyo ในท้องอ่าวหมู่บ้านริมทะเล เราจะเห็นความสกปรกโสโครก ขยะมากมายเกลื่อนกลาดที่มนุษย์โยนทิ้งไว้ในท้องทะเล สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติโดยทันที มีแต่สะสมหมักหมม เกิดเป็นมลพิษต่อระบบนิเวศ ทำลายทัศนยภาพความสวยงามจนหมดสิ้น, นี่เป็นใจความที่ Miyazaki สอดใส่เข้ามาคล้ายๆกับ Princess Mononoke ที่เป็นเรื่องธรรมชาติของป่า ซึ่ง Ponyo นำเสนอธรรมชาติของน้ำ ท้องทะเล ที่ถึงโลกของเราจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก 2 ใน 3 ไม่มีวันหมดลงง่ายๆ แต่ใช่ว่านิสัยทิ้งๆขว้างๆไม่สนใจของมนุษย์จะไม่มีผลกระทบใดๆ
ตอนที่ Ponyo หัวติดในขวดดึงออกมาเองไม่ได้ (เป็นภัยที่อาจเกิดจากความไม่ตั้งใจของมนุษย์) นี่แสดงถึงธรรมชาติไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ให้รอดพ้นจากเงื้อมือของมนุษย์ได้ Sōsuke ได้มาพบเจอ พยายามช่วยดึงแต่ก็ไม่ออก (แก้ปัญหาไม่ถูกจุด) ต้องทุบให้แตก (คือทำลาย) จนเกิดบาดแผลเลือดออก (เสียสละตนเอง) ซึ่งเมื่อธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูกลับคืน Ponyo ได้สติกลับมาก็จักกลายเป็นผู้ประสาน เลียแผลความเจ็บปวดนี้ให้หายไปเอง
Risa แม่ของ Sōsuke พากย์เสียงญี่ปุ่นโดย Tomoko Yamaguchi ฉบับภาษาอังกฤษโดย Tina Fey มีบ้านอยู่บนเกาะที่เป็นเนินเขา เวลาเกิดคลื่นลมพายุแรง จะสามารถใช้เป็นประภาคารสื่อสาร นำทางเรือให้กลับเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย, Risa เป็นผู้หญิงที่มีความรัก ความทุ่มเทให้กับครอบครัว และเสียสละเพื่ออาชีพการงาน รับหน้าที่เป็นคนดูแลสถาบันผู้สูงอายุ
ผมมองสถาบันผู้สูงอายุ เปรียบกับธรรมชาติที่ใกล้ล่มสลาย (คนแก่=ใกล้ตาย=ธรรมชาติที่ใกล้จบสิ้น) พวกยายๆทั้งหลายได้แต่นั่งอยู่บนเก้าอี้รถเข็น พูดพร่ำรำลึกถึงอดีตวันวาน และฝันอยากลุกขึ้นเดินได้อีกครั้ง (นี่เหมือนธรรมชาติที่ก็คง อยากกลับคืนความอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต) ตอนท้ายที่พวกเธอสามารถลุกขึ้นเดิน วิ่งเล่นได้อีกครั้งอย่างมีความสุข มันอาจเพราะพลังเวทย์มนต์เรื่องเหนือธรรมชาติ แต่นัยยะคือการค้นพบคำตอบของความสัมพันธ์ระหว่าง Ponyo และ Sōsuke ที่เมื่อมนุษย์ได้เข้าใจและยอมรับรักษ์ธรรมชาติ เมื่อนั้นมันก็เหมือนปาฏิหารย์ ธรรมชาติย่อมได้รับการฟื้นฟูคืนกลับมา แม้แต่คนแก่เดินไม่ได้ยังสามารถวิ่งเล่นดีใจได้อย่างเหลือเชื่อ
Fujimoto พ่อของ Ponyo พากย์เสียงญี่ปุ่นโดย George Tokoro ฉบับภาษาอังกฤษโดย Liam Neeson นักเวทย์ผู้มีอคติต่อมนุษย์ (Xenophobic รังเกียจเชื้อชาติ) ด้วยท่าทางอันน่าสงสัย และความคิดอ่านที่ป้องกันตัวเองมากเกินไป (Over Protective) ทำให้เขาดูเหมือนเป็นคนร้าย ทั้งที่ความต้องการของ Fujimoto คือให้ธรรมชาติกลับคืนสู่วิถีธรรมชาติเดิม จะเรียกว่า ‘นักอนุรักษ์ธรรมชาตินิยม’ ก็ได้ ตัวละครนี้ผมคิดว่าเป็นตัวแทนตัวตน Miyazaki เองด้วย ที่ถือว่ามีความคิดสุดโต่งในเรื่องความเชื่อ แต่เขาก็รู้ตนเองดีว่าไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่า การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว
Miyazaki ชื่นชอบการทดลองวาดภาพใต้น้ำเป็นอย่างมาก เห็นว่าภาพคลื่นและท้องทะเลจะวาดด้วยตนเองทั้งหมด กับฉากที่ควรจะเรียกว่าเป็นตำนานได้เลยคือ สึนามิ, อนิเมะเรื่องอื่นๆ ที่เคยนำเสนอภาพ สึนามิ มักมีความพยายามที่จะทำให้มีความสมจริง ใกล้เคียงความถูกต้องมากที่สุด แต่นั่นมักจะได้รับการติเตียนจากผู้ชม เพราะมักจะทำให้เกิด trauma ขึ้นในจิตใจผู้ชมญี่ปุ่นบางส่วน ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์สึนามิถล่ม, แต่สิ่งที่ Miyazaki สร้างขึ้นในอนิเมะเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่แตกต่างคาดไม่ถึง เขาเอาความเชื่อปรัมปราของชาวญี่ปุ่น มาปรับเข้ากับแนวทางการนำเสนอ ให้สายน้ำที่กลายเป็นสึนามิ มีลักษณะเหมือนปลาขนาดยักษ์ (ปลาดุก?) หลายร้อยหลายพันตัว ว่ายเบียดเสียดแข่งกันแล้วดูเหมือนสึนามิ นี่เป็นอะไรที่ผู้ชมทำได้อย่างเดียวคืออ้าปากค้าง และพอใส่ Ponyo วิ่งอยู่บนตัวปลา บนผิวน้ำมันเหมือนขณะ Ride Of The Valkyries มากๆ (ลองไปหาฟังดูเองนะครับ ในบทความเพลง ของผมก็มีเขียนรีวิวเพลงนี้อยู่), นี่คือหนึ่งในวินาทีของภาพอนิเมชั่นสองมิติที่สวยงามที่สุดในโลก
สิ่งหนึ่งที่จะลืมไม่ได้เด็ดขาด คือเพลงประกอบโดย Joe Hisaishi ในฉากสึนามิขณะที่ออเครสต้าเริ่มบรรเลงขณะเห็น Ponyo ออกวิ่ง เสียงเครื่องเป่าจะเด่น ไวโอลินประสานประกอบ ตบด้วยฉาบใหญ่ ให้ความรู้สึกเหมือนสิ่งมหัศจรรย์อันพิศวงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต (น่าเสียดายผมหาเพลงนี้มาให้ฟังไม่ได้ ลองไปเปิดหาในอนิเมะเอาเองนะครับ)
สำหรับ Hisaishi ก็ไม่รู้ครั้งที่เท่าไหร่แล้วที่ร่วมงานกับ Miyazaki ซึ่งครานี้ก็เหมือนพี่แกของขึ้น งบไม่อั้น จัดเต็มทั้ง Orchestra, Soprano เอากันแบบว่าไม่ให้ผู้ฟังขึ้นสวรรค์ก็ให้รู้กันไป เพลงแรกขออัญเชิญ Soprano ชื่อ Deep Sea Pastures – Mother of the Sea ขับร้องโดย Hayashi Masako ผมเลือกฉบับที่เธอร้องในงาน Studio Ghibli 25th Anniversary Concert มาให้ฟังนะครับ ลองหลับตาตั้งสมาธิ ปล่อยจิตใจให้ล่องลอยไปกับบทเพลง ได้ยินเธอร้องท่อนแรกแล้วจะขนลุกซู่ (เสียยิ่งกว่าตอนเพลงเปิดในอนิเมะเสียอีก)
แต่เพลงนี้มัน High เสียงสูงเกินไปสักนิด คงมีไม่กี่คนในโลกที่สามารถร้องตามเธอได้ Hisaishi จึงได้แต่งอีกเพลงหนึ่ง (จริงๆแต่งเพลงนี้ไว้ก่อนแรกสุดเลย ตั้งแต่เห็น Storyboard แต่สองจิตสองใจไม่อยากใช้เท่าไหร่) ชื่อ Gake no Ue no Ponyo เป็นเพลงง่ายๆ ร้องคู่โดย Fujioka Fujimaki และเด็กหญิงวัย 8 ขวบ Nozomi Ōhashi, ที่ Hisaishi ไม่อยากใช้เพราะมันเรียบง่ายเกินไป แต่พอโปรดิวเซอร์และ Miyazaki ได้ยินกลับรู้สึกชอบ เพราะเข้ากับบรรยากาศและความเรียบง่ายที่แสนธรรมดาเนี่ยและ ฮุคแรงสุดแล้ว
นี่กลายเป็นเพลงฮิต เด็กๆในญี่ปุ่นจะร้อง Ponyo Ponyo ตามได้แทบทุกคน เคยขึ้น Billboard Japan สูงสุดถึงอันดับ 4 ถือว่าไม่ธรรมดาเลยกับเพลงที่เด็กตัวเล็กขนาดนี้ร้อง, ผมนำคลิปมาจาก Studio Ghibli 25th Anniversary Concert มาให้ชมเช่นกัน จะได้เห็นความน่ารักน่าชังของ Nozomi Ōhashi ที่น่าเข้าไปหยิกแก้มเล่นอย่างยิ่ง (อารมณ์แบบ Arararagi อยากเข้าไปจิ้ม Mayoi)
เพลง Gake no Ue no Ponyo ผมยังไม่แน่ใจเท่าไหร่ ว่าจักกลายเป็นอมตะได้แบบเพลง Tonari no Totoro (My Neighbor Totoro) หรือเปล่า เพลงนั้นเข้าทำเนียบกลายเป็นคลาสสิกไปเรียบร้อยแล้ว
ถ้าไม่มี Hisaishi อนิเมะของ Miyazaki จะสนุกน้อยลงครึ่งหนึ่ง นี่เป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงเลย, เหมือน Steven Spielberg/John Williams, Tim Burton/Danny Elfman, Maurice Jarre/David Lean, Federico Fellini/Nino Rota, Alfred Hitchcock/Bernard Herrmann จากการได้ร่วมงานกันบ่อยๆ กลายเป็นเพื่อน คนสนิท คนรู้ใจ, ผู้กำกับ-คอมโพเซอร์ คู่ไหนที่สามารถเข้าใจกันได้ดี มักทำหนังหนัง/อนิเมะ ออกมาให้ดูดี ยอดเยี่ยมขึ้นนับร้อยพันเท่า
ใจความของ Ponyo ค่อนข้างเรียบง่าย ถ้าเป็นเด็กดูน่าจะสามารถซึมซับความสวยงาม หลงรักในธรรมชาติที่มีความมหัศจรรย์ล้ำค่า เหนือสิ่งอื่นใด, สำหรับผู้ใหญ่ ใจความคือการแนะนำ เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่ามนุษย์กับธรรมชาติ มันต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ ปลูกฝังให้เขาเข้าใจ ว่าธรรมชาติคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร เราควรที่จะใช้ชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกัน ไม่ใช่เอารัดเอาเปรียบ เอาแต่ได้ แสวงหาผลประโยชน์อยู่ฝั่งเดียว, ธรรมชาติอาจไม่สามารถพูดจาตอบโต้อะไรกับเรา (ได้เหมือนในอนิเมะ) แต่เมื่อใดที่เขาสวนกลับมันจักรุนแรง แบบสึนามิ ที่ทำให้ราวกับโลกถึงการสูญสลายจบสิ้น (จมอยู่ใต้น้ำ) เพิ่งมาคิดได้ตอนนั้นทุกอย่างก็สายเกินไปแล้ว
ทางทฤษฎีพูดง่าย แล้วทางปฏิบัติเราจะทำยังไงละ? เริ่มต้นเราสามารถสร้างจิตสำนึกให้กับตนเองง่ายๆ อย่างเช่น ทิ้งขยะให้ลงถัง ไม่โยนลงแม่น้ำลำธารหรือข้างทาง, กินอาหารให้หมดจานอย่าเหลือทิ้ง, ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก, ใครขับรถก็ตรวจเช็คท่อไอเสียอยู่เรื่อยๆ, อากาศดีก็ไม่ต้องเปิดแอร์ ฯ ที่ผมยกมานี้ ใครๆย่อมเคยได้ยินว่ามีคนพูดแบบนี้ แต่จะมีสักกี่คนที่สนใจปฏิบัติตาม ลองเริ่มต้นดูนะครับ ถ้าดูอนิเมะเรื่องนี้แล้วชื่นชอบหลงรัก คุณก็ควรที่จะรับเอาคำแนะนำที่ผู้กำกับฝากไว้ เริ่มแรกทำสักวันละอย่าง ถ้าไม่ได้ก็เดือนละอย่าง เลวร้ายก็ปีละอย่าง เช่นว่า ปีนี้ฉันจะปลูกต้นไม้ให้ได้สักต้น มันคงไม่ยากเกินไปใช่ไหม
ด้วยทุนสร้าง ¥3.4 พันล้านเยน ($34 ล้านเหรียญ) ทำเงินในญี่ปุ่น ¥15.5 พันล้านเย็น ฉายในอเมริกาทำเงินได้ $15 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลกรวมแล้ว $201.8 ล้านเหรียญ
สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายมากๆคือ Ponyo ไม่ได้เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature แต่ในญี่ปุ่นก็แน่นอนอยู่แล้ว ว่าต้องได้ Japan Prize Award สาขา Animation of the Year และ Outstanding Achievement in Music (Joe Hisaishi)
เห็นว่า Miyazaki อยากที่จะทำ Ponyo 2 ต่อด้วยนะครับ (ก็ไม่รู้มีอะไรอยากเล่าอีกนะ) แต่โปรดิวเซอร์ Toshio Suzuki โน้มน้าวให้เขาทำ The Wind Rises อีกหนึ่งความฝันที่อยากทำมานานของ Miyazaki แทน
ส่วนตัวหลงรักอนิเมะเรื่องนี้มากๆ นี่อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีที่สุดของ Miyazaki แต่ถือเป็นเรื่องที่สวยที่สุด, ชื่นชมในงานภาพที่ลึกล้ำเหนือจินตนาการ และอนิเมชั่นที่สุดแสนแสนตระการตา ทำให้อึ้งทึ่งอ้าปากค้างนับครั้งไม่ถ้วน, เช่นกันกับงานเพลงของ Joe Hisaishi ก็มีความไพเราะงดงาม ให้ความรู้สึกล่องลอยขึ้นสู่สวงสวรรค์ งดงามที่สุดเทียบเท่า Princess Mononoke
ผมขอยกคำของ Roger Ebert นักวิจารณ์ชื่อดังของอเมริกา ที่พูดยกย่องอนิเมะเรื่องนี้ว่า
This is more than “artistry.” It is art.
แนะนำกับคออนิเมชั่นทั้งหลาย คนทำงานสายศิลปะ นักวาดรูป ออกแบบ จิตรกร, ศิลปิน นักแต่งเพลง เพลงคลาสสิกสุดไพเราะ, นักสิ่งแวดล้อม ชีววิทยา สัตว์วิทยา, ผู้ชื่นชอบการดำน้ำชมปะการัง สัตว์นั้นสวยๆ
แนะนำอย่างยิ่งกับทุกคน “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ในความสวยงามที่เกินคำบรรยาย และเรื่องราวที่ปลูกฝังให้เกิดความสนใจ รักในธรรมชาติ
จัดเรตทั่วไป เด็กๆดูได้รักมาก ผู้ใหญ่จะอึ้งทึ่ง เสียดสีเจ็บปวด
Leave a Reply