Port of Shadows

Port of Shadows (1938) French : Marcel Carné ♥♥♥♥

หนังแนว Poetic Realism บทกวีที่พรรณาความสวยงามของธรรมชาติ -แต่ไม่ใช่ป่าเขาลำเนาไพร- ภายในจิตใจของมนุษย์ การมีตัวตน (Existentialist) และด้านมืดของสังคม ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิจารณ์บางคนมองว่า นี่คือหนึ่งใน film noir เรื่องแรกๆของโลก, นำแสดงโดย Jean Gabin และแจ้งเกิด Michèle Morgan

คำว่า film noir เริ่มใช้ครั้งแรกโดยนักวิจารณ์ฝรั่งเศส Nino Frank (ลูกครึ่งอิตาเลี่ยน) และ Jean-Pierre Chartier เมื่อประมาณปี 1946 เพื่ออธิบายหนังประเภทอาชญากรรม (Crime) ของ Hollywood ที่เปลี่ยนไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มต้นกับหนังเรื่อง The Maltese Falcon ที่ออกฉายในอเมริกาปี 1941 แต่กว่าจะมาถึงฝรั่งเศสก็ล่าช้าไปปี 1946 (เพราะติดสงครามโลก)

มีนักวิจารณ์คนหนึ่ง Charles O’Brien เกิดข้อสงสัย ถ้าเราเอานิยามของหนังนัวร์นี้ไปค้นหาภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นก่อนหน้านั้น มันมีความเป็นไปได้หรือเปล่าที่จะค้นพบเจอรูปแบบลักษณะนี้อีก ปรากฎว่าอย่างเยอะเลยละครับ แค่กับหนังสัญชาติฝรั่งเศสก็ปาเข้าไปถึง 9 เรื่องแล้ว ซึ่งกับแนวหนังยอดนิยมในยุคก่อนหน้านั้นคือ Poetic Realism (ชื่อเรียกยุคสมัยหนึ่งของฝรั่งเศส คล้ายๆ Italian Neorealist, French New Wave ฯ)

ทั้ง 9 เรื่องนั้นประกอบด้วย Crime and Punishment (1935), The Lower Depths (1936), Pépé le Moko (1937), The Puritan (1938), Port of Shadows (1938)**, La Bête Humaine (1938), Hôtel du Nord (1938)**, Le Jour se lève (1939)** และ Le Dernier Tournant (1939) โดยมีถึง 3 เรื่องที่สร้างขึ้นโดยผู้กำกับ Marcel Carné (เรื่องที่ **)

Marcel Carné (1906 – 1996) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในยุค Poetic Realism เคียงคู่กับ Jean Renoir และ Jean Vigo, เกิดที่ Paris เป็นลูกของช่างทำตู้เตียงเฟอร์นิเจอร์ไม้ โตขึ้นเริ่มต้นทำงานเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ของนิตยสารรายสัปดาห์ Hebdo-Films ย้ายไป Cinémagazine และ Cinémonde ขณะเดียวกันได้ทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้องผู้กำกับ Jacques Feyder และ René Clair กำกับหนังสั้นเรื่องแรกเป็นแนวสารคดี Nogent, Eldorado du dimanche (1929) และหนังยาวเรื่องแรก Jenny (1936)

สำหรับผลงานที่คุณควรรู้จักไว้ ได้รับการยกย่องสูงสุดของ Carné คือ Children of Paradise (1945) ด้วยคำเรียก ‘Gone With The Wind ของฝรั่งเศส’ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และ Port of Shadows (1938) ผมให้คำเรียกว่า ‘Casablanca ของฝรั่งเศส’

จะมีขาประจำคนหนึ่ง เป็นนักเขียนบท กวี Surrealist ชื่อ Jacques Prévert ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ถือเป็นตำนานคู่บารมี ผู้กำกับ-นักเขียนบท ที่ผลงานเกือบทุกเรื่องที่ร่วมมือกัน จะต้องประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่เป็นที่สุด

กับหนังเรื่องนี้ Le Quai des brumes ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Quai des Brumes (1927) เขียนโดย Pierre Dumarchey (1882-1970) ใช้นามปากกา Pierre Mac Orlan ซึ่ง Prévert รับหน้าที่เป็นผู้ดัดแปลง Scenario และคำพูดเท่ๆ, เรื่องราวของ Jean (รับบทโดย Jean Gabin) ชายผู้หนีทหารจาก Paris โบกรถเพื่อเดินทางสู่เมืองท่า Le Havre ตั้งใจจะหลบลี้หนีออกนอกประเทศ จับพลัดพลูได้พบกับ Nelly (รับบทโดย Michèle Morgan) เด็กหญิงสาวอายุ 17 ที่หนีออกจากบ้านของพ่อทูนหัว Zabel (รับบทโดย Michel Simon) ทั้งสองตกหลุมรักซึ่งกันและกัน แต่วันถัดมา Jean กำลังต้องขึ้นเรือเพื่อหลบหนีไปยัง Venezuela จะเกิดเรื่องราวอะไรขึ้นต่อไป…

Jean Gabin (1904 – 1976) นักแสดงในตำนานผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดประเทศฝรั่งเศส เทียบกับฝั่งอเมริกาใกล้เคียงสุดก็ Humphrey Bogart มีผลงานอมตะ อาทิ Pépé le Moko (1937), Le Quai des brumes (1938), Le jour se lève (1939), Le plaisir (1952), Touchez pas au grisbi (1954) ฯ ก่อนนี้เคยร่วมงานกับ Jean Renoir เรื่อง La grande illusion (1937), La bête humaine (1938) ฯ

ถึง Gabin จะไม่เคยเข้าชิง Oscar แต่ได้สร้างตำนานเบิ้ลสองรางวัล Best Actor จากสองเทศกาลหนังเมือง Venice และ Berlin
– Silver Bear: Best Actor จาก Archimède, le clochard (1959), Le chat (1971)
– Volpi Cup: Best Actor จาก La nuit est mon royaume (1951), L’air de Paris (1954) กับ Touchez pas au grisbi (1954) [ฉายสองเรื่องในเทศกาล]

รับบท Jean ความล่องลอยเรื่อยเปื่อยของตัวละคร แสดงว่าเขาได้กระทำอะไรบางอย่าง เช่นขัดขืนคำสั่งหัวหน้า หรือฆ่าใครตายสักคน (อาจด้วยอาวุธปืน) ด้วยความหวาดระแวงว่าถูกคุมขังตัดสินโทษ(ประหารชีวิต) ตัดสินใจหนีทหาร ตั้งใจจะหลบลี้หนีไปให้ไกล, การได้พบเจอกับ Nelly ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิดของเขา แต่ทำให้เกิดความชะล่า และใคร่ครวญครุ่นคิดถึงจิตสำนึกตนเอง ความรักนั้นมีอิทธิพลสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจคนได้

สาเหตุที่ Gabin ได้รับการเปรียบเทียบกับ Bogart ก็เพราะความเก๋า แกร่ง และถึก กับหนังเรื่องนี้ถือว่าเห็นได้ชัดเลยละ เพราะตัวละคร Jean ไม่หวั่นเกรงกลัวต่อสิ่งใดทั้งนั้น ใครเก๊าเจ้งมาขอให้แน่จริงเถอะ สามรุมหนึ่งข้าก็ไม่กลัว นี่คือภาพลักษณ์’ลูกผู้ชายตัวจริง(กระทิงแดง)’ โคตรเท่ห์ หนุ่มๆสมัยนั้นต้องเลียนแบบตาม (ก็ไม่รู้ใครลอกเลียนใครหรือเปล่านะครับ หรือเป็นสไตล์ของทั้งคู่อยู่แล้วก็ไม่ทราบได้ แต่ส่วนตัวหลังๆมานี่ ผมรู้สึกแอบทึ่งใน Gabin มากกว่า Bogart เสียแล้วสิ)

Michèle Morgan หรือชื่อจริง Simone Renée Roussel (1920 – 2016) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในทศวรรษ 20, เกิดที่ Neuilly-sur-Seine, Hauts-de-Seine ในครอบครัวฐานะค่อนข้างดี หนีออกจากบ้านตอนอายุ 15 ตั้งใจให้ได้ว่าจะต้องเป็นนักแสดง เข้าเรียนในคลาสของ René Simon ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Marc Allégret ที่ชักชวนให้รับบทนำในหนังเรื่อง Gribouille (1937) ตามมาด้วย Le Quai des brumes (1938) ที่ได้แจ้งเกิดให้กับเธอโด่งดังแบบสุดๆ

เป็นเจ้าของรางวัล Best Actress คนแรกจากเทศกาลหนังเมื่อ Cannes เรื่อง La Symphonie pastorale (1946) และได้เป็นประธานกรรมการ (Jury) สายการประกวดหลักของ Cannes เมื่อปี 1971 ซึ่งหนังที่ได้ Palme d’Or ปีนั้นคือ The Go-Between (1971)

รับบท Nelly เด็กหญิงสาวอายุ 17 (Morgan ตอนรับบทอายุ 17 จริงๆนะครับ แต่เหมือนเธอจะดูแก่กว่าวัยพอสมควร คงเพราะโบ๊ะหน้าขาวมาก) ภาพลักษณ์สวมใส่เสื้อโค้ทกันฝนยืนอยู่ข้างหน้าต่าง ตราตะลึงในความงามมาก ใครเห็นคงต้องตกหลุมรัก แม้การสนทนาขณะนั้นจะทีเล่นทีจริง แต่เธอก็ประทับใจใน Jean อย่างมาก … ก็แน่ละ ผู้ชายแมนๆแบบนี้หญิงที่ไหนจะไม่หลงเสน่ห์, ปมที่ทำให้เธอต้องหนีออกจากบ้าน ก็เพราะพ่อเลี้ยงทูนหัวที่เคร่งครัดหัวโบราณเสียเหลือเกิน เลี้ยงดูทำนุบำรุงยังกับไข่ในหิน ทั้งๆที่ก็โตเป็นสาวปีกกล้าขาแข็งพร้อมโบกโบยบิน แต่ก็ยังไม่สามารถหลุดออกจากกรงที่ขังเธอไปได้

เดิมนั้น Nelly ตกหลุมรักกับชายคนหนึ่งที่ชื่อ Marcel แต่อยู่ดีๆเขาก็หายตัวไป กลายเป็น MacGuffin ที่ใครต่อใครต่างตามหา, การพบเจอกับ Jean ถือได้ว่าเป็นตัวตายตัวแทน ที่ทำให้เธอเรียนรู้เข้าใจตนเอง มีความกล้าหาญจะเผชิญหน้าต่อสู้กับสิ่งที่ตนเองต้องการและคิดว่าจะทำ นั่นคือพูดคุยสนทนาต่อรองกับพ่อทูนหัว แต่เหมือนมันจะมีอะไรมากกว่านั้น

การแสดงของ Morgan เต็มไปด้วย passion ความลุ่มหลงใหล ในบทรักกับ Gabin ทำออกมาได้นุ่มนวลคลั่งไคล้ โดยเฉพาะเมื่อ Close-Up มองเห็นดวงตา จะมีแสงไฟดวงเล็กๆ เป็นประกายของความสุขสมหวัง นี่สร้างความปวดร้าวให้กับผู้ชมอย่างมากทีเดียวเมื่อทั้งสองต้องแยกจากกัน (ช็อตนั้นดวงตาของหญิงสาว แสงไฟจะหายไปแล้ว)

Michel Simon (1895 – 1975) นักแสดงสัญชาติ Swiss เกิดที่ Geneva ในปีที่ภาพยนตร์บังเกิดขึ้น ชอบพูดเสมอๆว่า ‘as misfortune never comes singly, cinema was born the same year.’ ชีวิตของ Simon ต้องถือว่าดิ้นรนมากกว่าจะเริ่มประสบความสำเร็จ เคยเป็นนักมายากล, นักกายกรรม, ตัวตลก ฯ โชคเข้าข้างเมื่อเดินทางมาฝรั่งเศส ได้กลายเป็นนักแสดงละครเวทีประจำ Comédie des Champs-Élysées มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Feu Mathias Pascal (1925) ปรากฎตัวใน The Passion of Joan of Arc (1928) บทเด่นๆอาทิ La Chienne (1931), Boudu Saved from Drowning (1932), L’Atalante (1934), Port of Shadows (1938), The Head (1959), The Train (1964) ฯ

รับบท Zabel พ่อทูนหัวของ Nelly ที่โคตรมีลับลมคมใน ปากบอกว่าเป็นเคร่งศาสนาแต่เบื้องลึกแล้ว … Jean แทบจะรับรู้ตัวตนของชายคนนี้ได้ตั้งแต่พบเจอกันครั้งแรก ซึ่งเหตุผลที่ Zabel ดูแลทะนุถนอมหลาน Nelly ดั่งไข่ในหินก็เพราะ …

แถมให้อีกคนกับ Pierre Brasseur (1905 – 1972) อีกหนึ่งนักแสดงยอดฝีมือสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris นอกจากหนังเรื่องนี้แล้ว มีผลงานเด่นกับ Children of Paradise (1945) และ Eyes Without a Face (1960)

รับบท Lucien มาดนักเลงจิ๊กโก๋เก๋าเจ๋ง แต่ข้างในจิตใจกลับเป็นเพียงลูกคุณหนูที่อ่อนแอชอบเรียกร้องความสนใจ ผมว่าใครๆน่าจะเข้าใจได้นะ เหตุผลที่ Nelly ปฏิเสธชายคนหนึ่ง เพราะเขาไม่เหมือนลูกผู้ชายสักนิด แค่โดนตบหน้าก็กลายเป็นลูกแหง่แล้ว ผมฮามากตอนตอนขับรถบั๊ม รีบเดินหนีแต่ไม่ทัน ผลสุดท้ายต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นลูกผู้ชาย กระทำในสิ่งที่ …

ผมมีความประทับใจใน 4 นักแสดงหลักของหนังมาก แต่ละคนมีความลึกลับที่หลบซ่อนอยู่ข้างใน ซึ่งสะท้อนกับสถานที่ บรรยากาศและชื่อหนัง Port of Shadows นี่แหละคือลักษณะของหนังนัวร์ ตีแผ่ความมืดดำที่อยู่ในจิตใจมนุษย์

บทสนทนา หลายครั้งมีความคมคายทีเดียว ตัวละครมักมีสายตาเหม่อลอยก่อนพูดประโยคพิศวง อย่างชายคนหนึ่งรำพันพรรณาถึงชีวิต ใครจะไปคิดว่าเขาฆ่าตัวตายจริงๆ ประโยคที่ผมชอบมากคือตอนที่ Jean บรรยายถึงสไตล์การวาดภาพของตนเอง คือเขาไม่รู้ตัวว่าคนที่บริจาคเสื้อผ้ากับ passport ให้ ได้ลงไปว่ายน้ำในมหาสมุทรแล้ว

When I paint one, it sets everyone on edge. It’s because there’s someone or something hidden behind that tree. I can’t help painting what’s hidden behind things. To me a swimmer is already a drowned man.

ถ่ายภาพโดย Eugen Schüfftan ตากล้องสัญชาติเยอรมัน ที่มีผลงานอมตะอย่าง Metropolis (1927), Napoléon (1927), Eyes Without a Face (1960) ฯ ช่วงแรกๆคุณอาจจะรู้สึกขัดๆฝืนๆ เพราะหนังนิยมถ่ายหน้าตรง ทำให้เห็นตัวละครมีความเก้งก้าง วางตัวเองไม่ค่อยถูกสักเท่าไหร่ แต่สักพักจะเริ่มชินและเข้าใจเหตุผลว่าทำไมถึงต้องถ่ายทำเช่นนั้น ซึ่งหนังจุดเด่นมีอยู่สองประการ

อย่างแรกคือแสง-เงา-ความมืด และหมอกควัน ที่ได้สร้างบรรยากาศอันทะมึน อึมครึม เคร่งเครียด เป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของตัวละครทั้งหลายออกมา, แม้จะมีหลายช็อตที่ชวนให้ขัดใจกับการจัดแสงที่ไม่สมจริงเอาเสียเลย แต่ก็ยินยอมให้อภัยเพราะมีนัยยะสำคัญสื่อแทนความรู้สึกของตัวละครในช็อตนั้นๆ

อย่างสองช็อตนี้ เป็นฉากเดียวกัน ตัดต่อสลับแค่เปลี่ยนทิศทางมุมกล้อง
– ภาพแรกสังเกตใบหน้าฝ่ายชายสว่าง ส่วนฝ่ายหญิงมีเงามืดบดบัง
– ภาพสองแสงส่องใบหน้าฝ่ายหญิงมาจากไหน? ส่วนฝ่ายชายกลับมืดมิดเสียอย่างนั้น

ผมมองความไม่สมจริงนี้เป็น Poetic ลักษณะหนึ่ง เพราะข้อจำกัดของการถ่ายทำจัดแสงสมัยก่อน ทำให้แต่ละช็อตมีความเฉพาะตัวไม่ต่อเนื่อง คล้ายกับบทกวีที่แบ่งออกเป็นท่อนๆ ซึ่งแต่ละช็อต/แต่ละท่อน ก็มักจะมีใจความเรื่องราวของตนเอง และสัมผัสแค่บางส่วน/บางคำ ต่อวรรคก่อนวรรคหน้าและสัมผัสภายใน

ความโดดเด่นอย่างที่สองของการถ่ายภาพ การเลือกใช้ระดับของกล้อง เรียกว่ามีทุกระยะตั้งแต่ไกลสุด Long Shot จนถึงใกล้สุด Close-Up มีนัยยะถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครแต่ละตัว, โดดเด่นสุดคือความใกล้ชิดตัวละครระดับ Close-Up และ Medium Shot ซึ่งจะทำให้ผู้ชมมองเห็นทะลุเข้าไปในรอยแป้งแต่งหน้า ตีนกา สายตา อารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ข้างในจิตใจของตัวละคร

สัมผัสของมือที่นุ่มนวล การเคลื่อนไหวใกล้ชิด ในอ้อมอกอ้อมแขน แสดงถึงความรัก หัวใจที่ใกล้กันมากของทั้งสอง

ช็อตที่สวยสุดในหนัง กล้องจะเคลื่อนจากประตูหน้า เข้ามาหยุดตรงที่หนุ่มสาวเหม่อมองออกนอกหน้าต่าง เห็นพระอาทิตย์กำลังขึ้น (ไม่ใช่ช็อตพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยนะครับ เป็นการเคลื่อนกล้องมาจบที่หน้าต่างนี้ต่างหากที่สวยมาก)

ตัดต่อโดย René Le Hénaff ขาประจำของ Marcel Carné และ René Clair, ด้วยธรรมเนียมของหนังนัวร์แล้ว ตัวละครหลัก (พระเอก) จะต้องปรากฎอยู่ทุกฉากของหนัง … ก็ถือว่าน่าจะครบนะครับ อย่างตอนต้นในร้านบาร์แห่งหนึ่ง แม้เขาจะไม่ได้อยู่ภายในแต่ช็อตต่อๆมาเราจะเห็นเขาเดินผ่านหน้าร้านไป นี่ก็พอนับได้ว่าพระเอกอยู่ในทุกฉากของหนัง

รวมๆแล้วหนังใช้เวลาการดำเนินเรื่อง 2 วัน 2 คืน ให้เวลาครึ่งชั่วโมงแรกกับคืนแรกที่เป็นการแนะนำตัวละครทั้งหมด ช่วงนี้จะค่อนข้างเชื่องช้าและมีความเรื่อยเปื่อยล่องลอย เพราะตัวละครทั้งหลายต่างไร้ซึ่งจุดหมายของชีวิต พอถึงค่ำคืนที่สองจะเป็นช่วงเวลาของการสร้างความสัมพันธ์ (อันยุ่งเหยิงของเหล่าตัวละคร) เพื่อให้ประมาณ 10 นาทีสุดท้าย ของวันสุดท้าย พวกเขาต่างมีเป้าหมายที่ต้องการทำและต้องให้สำเร็จลุล่วงไปด้วย

เพลงประกอบโดย Maurice Jaubert ครึ่งชั่วโมงแรงผ่านไป ผมนึกว่าจะไม่มีเพลงประกอบ เพราะใช้เสียงของดนตรีที่มีอยู่ในฉาก แต่พอพระอาทิตย์ขึ้นบทเพลงเริ่มบรรเลง จะมานุ่มๆแบบโหยหวนล่องลอย สอดคล้องเข้ากับบรรยากาศของหนังอย่างมาก (แต่ต้องตั้งใจฟังหน่อยนะ เพราะเสียงเบาเหลือเกิน)

ผมค่อนข้างชอบตัวเลือกช่วงท้าย เป็นเสียงจากวิทยุเพลงบทสวดประสานเสียง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ราวกับเป็นการตัดสินจากพระเจ้า ขอไม่อธิบายแล้วกันว่าอะไรเกิดขึ้น เพราะถือว่าเป็นการหักมุมของหนังที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง (ผมคนหนึ่งที่คาดไม่ถึง) ไปรู้ในหนังเองดีกว่าจะได้ลุ้นสนุกขึ้น

หนังนัวร์ มีลักษณะเป็น Expressionist เน้นใช้บรรยากาศสร้างเรื่องราว นำเสนอตีแผ่ด้านมืดที่อยู่ในใจของมนุษย์/ตัวละคร และมักแฝงข้อคิดประมาณว่า ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง’, นอกจากบรรยากาศแล้ว หนังนัวร์ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ไม่ใช่แค่รักโรแมนติกชายหญิงเท่านั้น แต่ตัวเอกกับอาชญากร ฆาตกร หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี เป็นการสืบสวนสอบสวน ค้นหาสาเหตุต้นตอ ผู้กระทำความผิด ซึ่งก็มักสะท้อนสิ่งที่ติดอยู่ข้างในจิตใจของพระเอกอีกด้วย

ความตั้งใจของพระเอกต้องการหนีไปให้ไกลสุดขอบฟ้า แต่กลับมาสุดได้แค่ท่าเรือยังไม่ทันได้ออกไปไหน มีบางสิ่ง(ความรัก)เหนี่ยวรั้งกายใจไว้ คือถ้าเขาเป็นคนไร้ซึ่งคุณธรรมศีลธรรมจรรยา ก็คงไม่เสียเวลาหันย้อนมองกลับมาเกิดความชะล่ารั้งรีรอ แต่เพราะแท้จริงตัวตนของชายหนุ่มเป็นผู้มีสติคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง รู้สำนึกในการกระทำของตนเอง ซึ่งกลายเป็นว่าวินาทีที่เขาเหลียวหลังกลับมา ผลกรรมที่เคยทำไว้ได้ติดตามมาคืนสนอง สุดท้ายจึงคือโศกนาฎกรรม

ว่าไปหนังเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกับ Casablanca (1942) อยู่พอสมควร พระเอกนางเอก Humphrey Bogart กับ Ingrid Bergman จะเรียกร่างอวตารของ Jean Gabin กับ Michèle Morgan เลยก็ยังได้คือ หนังใช้สถานที่หนึ่งเป็นที่ตั้ง ทั้งสองตกหลุมรักกับแบบโงหัวไม่ขึ้น คนหนึ่งต้องการออกเดินทางไปไกลแสนไกล, รู้สึกว่ามีงานภาพหลายช็อตที่ Casablanca ได้อิทธิพลไปแบบชัดๆเลย

Poetic Realism คือแนวหนังประเภทในยุคสมัยหนึ่งของฝรั่งเศส (ช่วงทศวรรษ 30s) แทนที่จะบันทึกภาพ นำเสนอความจริงในสังคมของคนชนชั้นกลาง/ล่าง (แบบสารคดี) ที่มีชีวิตทุกข์ยากลำบากแสนเข็น ตกต่ำถึงขนาดตกงาน กลายเป็นอาชญากร ผู้กำกับจึงได้สร้างสรรค์ปรุงแต่งเขียนเรื่องราวขึ้นเอง (recreated realism) แล้วใส่สัมผัสความสวยงาม ด้วยภาษาภาพยนตร์แบบบทกวีเข้าไป แค่นี้ก็กลายเป็น Poetic Realism แล้ว

ผมคิดว่าหนังแนวนี้ไม่มีความต่างกับ Italian Neorealist สักเท่าไหร่ เพียงแค่พื้นหลัง สถานที่ตั้งเปลี่ยนเป็นประเทศฝรั่งเศส ยุคสมัย วิธีการ เทคนิคลีลา และการสร้างภาพยนตร์ที่แตกต่างออกไปเท่านั้น, กล่าวคือ Poetic Realism มักมีการทุ่มทุนสร้างฉากเพื่อความสมจริงของคนชนชั้นล่าง แต่ Neorealist มักจะถ่ายทอดความจริง จากสิ่งที่เป็นอยู่เสมอ

Port of Shadows ถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน Masterpiece ของหนังแนว Poetic Realism (ส่วนตัวคิดว่าไม่ถึงระดับนั้น) เป็นตัวแทนหน้าตาที่ถ้าใครพูดถึงแนวนี้ จะต้องพูดถึงหนังเรื่องนี้เสมอ

ส่วนตัวช่วงแรกๆค่อนข้างเฉยกับหนังมากๆ แต่เมื่อเริ่มเข้าใจก็จะค่อยๆชื่นชอบหนังขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจุดหักมุมถือว่าน่าประทับใจมากๆ แต่ไม่ถึงขั้นตกหลุมรักเท่าไหร่เพราะบรรยากาศหนังเครียดเกินไปสักนิด ก็นะหนังนัวร์ถ้ารับชมแล้วไม่เครียดให้รู้ไปสิ

เกร็ด: นี่เป็นหนึ่งในหนังโปรดของผู้กำกับ Ingmar Bergman

แนะนำกับคอหนังนัวร์ สัญชาติฝรั่งเศส ชื่นชอบบรรยากาศเครียดๆ, คอหนังอาชญากร (Crime) ค้นหาผู้กระทำความผิด ก็ไม่เชิงสืบสวนสอบสวนนะครับ ผสมรักโรแมนติกมากกว่า, รู้จักผู้กำกับ Marcel Carné แฟนๆนักแสดง Jean Gabin, Michèle Morgan ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศและความเครียดของหนัง

TAGLINE | “Port of Shadows ของ Marcel Carné เต็มไปด้วยบรรยากาศอันเข้มข้น ลุ่มลึกด้วยการแสดงของ Jean Gabin และ Michèle Morgan ที่มองยังไงก็คือหนังนัวร์”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Top 11 Ingmar Bergman Favorite Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] Port of Shadows (1938)  : Marcel Carné […]

%d bloggers like this: