
Portrait of a Lady on Fire (2019)
: Céline Sciamma ♥♥♥♥♡
ความรักของผู้กำกับ Céline Sciamma ต่ออดีตแฟนสาว Adèle Haenel (ที่ยินยอมมาเล่นเป็นตนเอง) แม้หลงเหลือเพียงภาพวาดแห่งความทรงจำ แต่ยังคงลุกไหม้คุกรุ่นแม้กาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน นั่นคือความโหยหาอาลัยที่จักคงอยู่ภายในจิตใจชั่วกัลปาวสาน
หลายๆผลงานก่อนของ Céline Sciamma ล้วนเป็นสิ่งที่เธอประสบพบเห็น แล้วบังเกิดความใคร่สนใจ แค่เพียงบางส่วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับตนเอง แต่พอตัดสินใจเพียงพอแล้วในการสรรค์สร้างแนว Coming-of-Age และพอดิบพอดีเพิ่งเลิกราแฟนสาว Adèle Haenel เลยครุ่นคิดพัฒนาบทหนังเรื่องนี้ ที่สามารถถือเป็นอัตชีวประวัติ ร้อยเรียงความรู้สึกของตัวฉัน มันเลยกลายเป็นโคตรผลงานที่น่าจดจำ ทำมันออกมาอย่างประณีตบรรจง ละเมียดวิจิตร มาสเตอร์พีซ
Portrait of a Lady on Fire (2019) อาจไม่ได้ทำให้จิตใจผู้ชมมอดไหม้เทียบเท่า Burning (2018) ของ Lee Chang-dong แต่จักคงความคุกรุ่น ลุ่มเร่าร้อนอยู่ภายใน แม้กาลเวลาเคลื่อนผ่านไป หวนระลึกถึงทีไรก็จะอมยิ้มอิ่มสุข และคลุกคละเคล้าด้วยคราบน้ำตาแห่งความโหยหาอาลัย (แต่ลึกๆผมยังรู้สึกว่า Burning >> Portrait of a Lady on Fire)
ไม่น่าแปลกใจเลยว่า เมื่อตอน Portrait of a Lady on Fire (2019) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ทำให้บรรดานักวิจารณ์ต่างลุ่มร้อนลุกเป็นไฟ ถูกยกให้เป็นเต็งหนึ่งเคียงคู่ Parasite (2019) ลุ้นรางวัล Palme d’Or แม้สุดท้ายได้แค่เพียง Best Screenplay ก็ยังคงติดชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีอันดับต้นๆ จากหลายๆสำนักใหญ่ (แต่ในฝรั่งเศส เหมือนว่านักวิจารณ์จะชื่นชอบ Les Misérables ของ Ladj Ly มากกว่า)
โดยส่วนตัวรู้สึกว่า Portrait of a Lady on Fire (2019) คือผลงานที่การันตีความอมตะของ Céline Sciamma กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับ/ศิลปินคนสำคัญของโลก ด้วยการเปิดมุมมอง ปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ผู้ชม (ด้วย ‘female gaze’ แตกต่างจากวิสัยทัศน์ภาพยนตร์สร้างโดยผู้กำกับชาย) และมีความเป็นตัวตนเองมากที่สุด (ขณะนี้) … ต้องดูกันยาวๆว่า เธอจะยังสามารถพัฒนาก้าวไปไกลกว่านี้ได้ไกลเท่าไหร่
Céline Sciamma (เกิดปี 1978) ผู้กำกับ/นักเขียนบทภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Pontoise, Val-d’Oise วัยเด็กชื่นชอบการอ่าน-เขียน หลงใหลในภาพยนตร์เพราะคุณย่ามักเปิดหนัง Hollywood ยุคเก่าๆให้รับชม, พอช่วงวัยรุ่นก็แวะเวียนเข้าโรงหนัง Art House สัปดาห์ละสามวัน, คลั่งไคล้ผลงานของ Chantal Akerman และ David Lynch, ศึกษาต่อยัง École Nationale Supérieure des Métiers de l’Image et du Son (เรียกสั้นๆว่า La Fémis) พัฒนาบทโปรเจคจบ Naissance des Pieuvres ไม่เคยคาดหวังจะเป็นผู้กำกับ แต่หลังจากนำบทดัวกล่าวไปพูดคุยโปรดิวเซอร์ ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่จนได้แจ้งเกิดกลายมาเป็น Water Lilies (2007)
หลังเสร็จจาก Girlhood (2014) ผู้กำกับ Sciamma ก็ตระหนักว่าถึงเวลาจะต้องเปลี่ยนแนวทางสรรค์สร้างภาพยนตร์สักที (เธอไม่ได้แค่กำกับหนัง Coming-of-Age มาแล้วสามเรื่องนะครับ แต่ยังพัฒนาบทแนวนี้อีกมากมายทีเดียว) มองหาความสนใจใหม่ๆ พัฒนาตนเองให้ก้าวต่อไป
โดยความสนใจใหม่ของ Sciamma ต้องการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก (ก็จากประสบการณ์ตนเองนะแหละ) กำหนดสองทิศทางหลักๆ คือพัฒนาการความสัมพันธ์ ปฏิกิริยา/ความรู้สึกของคนสอง และอิทธิพล/ผลกระทบต่อสิ่งต่างๆรอบข้าง วิถีชีวิต และความเป็นไปหลังจากนั้น
It was my initial desire to shoot a love story. With two apparently contradictory wishes underlying the writing. Firstly, to show, step by step, what it is like to fall in love, the pure present and pleasure of it. There, the direction focuses on confusion, hesitation and the romantic exchange. Secondly, to write the story of the echo of a love affair, of how it lives on within us in all its scope. There, the direction focuses on remembrance, with the film as a memory of that love.
Céline Sciamma
ส่วนการเลือกพื้นหลังศตวรรษที่ 18th มาจากความสนใจในการมองหาช่วงเวลาที่ผู้หญิงเริ่มสามารถสรรค์สร้างผลงานศิลปะ (เพื่อสะท้อนเข้ากับการสรรค์สร้างภาพยนตร์ของตนเอง) หลังจากค้นคว้าหาข้อมูลอยู่เป็นปีๆ ก็ได้ค้นพบยุคสมัยดังกล่าวที่ศิลปินหญิงมีความเฟื่องฟูอย่างยิ่ง
I chose this moment of art history because there were hundreds of women painters at the time that had flourishing careers. We’re always being told about women’s progress and women’s opportunity — that we’re ‘getting there.’ But it’s not true. It’s cycles. And we can see it today that we experience backlash also. And they did also, at the time.
แต่ผู้กำกับ Sciamma เลือกที่จะไม่นำใครคนหนึ่งมาพัฒนาเรื่องราว แต่ใช้การเหมารวม/เทียบแทนศิลปินหญิงทั้งหมด ใส่ลงมาในตัวละครเดียว (เหตุผลจริงๆน่าจะเพราะ ต้องการสร้างเรื่องราวให้สอดคล้องกับตนเอง/ความสัมพันธ์กับอดีตแฟนสาว คือถ้าอ้างอิงใครคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ก็ต้องดัดแปลงตามอัตชีวประวัติบุคคลนั้น)
First, there was the decision to invent a painter rather than choose a great inspiring figure. It seemed right to me, in relation to the careers of these women who only knew the present: inventing one was a way of thinking of them all.
เรื่องราวเริ่มต้นปลายศตวรรษที่ 18th, จิตรกรหญิง Marianne (รับบทโดย Noémie Merlant) กำลังสอนนักเรียนวาดรูป บังเอิญหันไปเห็นภาพวาดเก่า Portrait de la jeune fille en feu เลยหวนระลึกความหลังเมื่อครั้นวันวาน
หลายปีก่อนหน้านั้น Marianne เดินทางโดยเรือมาถึงยังเกาะแห่งหนึ่งใน Brittany ได้รับการว่าจ้างให้วาดภาพหญิงสาว Héloïse (รับบทโดย Adèle Haenel) ที่กำลังจะแต่งงานกับผู้ดีชาวมิลาน แต่เจ้าตัวปฏิเสธเป็นนางแบบ (เพราะถ้ายินยอมให้วาดภาพ ก็จะหมายความว่ายินยอมรับการแต่งงาน) นั่นทำให้เธอต้องแอบๆ แสร้งทำเป็นเพื่อนเล่น คอยติดตาม และสังเกตการใช้ชีวิตประจำวัน
ไม่นานนัก Marianne ก็วาดภาพดังกล่าวเสร็จสิ้น แต่เมื่อตัดสินใจนำมาเปิดเผยให้เจ้าตัวพบเห็น กลับสร้างความไม่พึงพอใจ นั่นไม่ใช่ตัวตนของฉัน! เลยทำให้เธอลบใบหน้า(บนภาพวาด) แล้วขอโอกาสวาดใหม่อีกครั้ง ซึ่งครานี้ Héloïse กลับยินยอมพร้อมใจเป็นนางแบบให้ นั่นเพราะลึกๆภายในจิตใจตระหนักถึงความรู้สึกบางอย่างที่ค่อยๆก่อตัวขึ้น กำลังจะลุกลามกลายเป็นเปลวเพลิง(แห่งความรัก)มอดไหม้ ถ้าไม่ตัดสินใจเปิดเผยมันออกมา
สองสาวและคนรับใช้ Sophie (รับบทโดย Luàna Bajrami) ต่างใช้เวลาอันน้อยนิดที่หลงเหลืออยู่ร่วมกัน เต็มไปด้วยความสุขกระสันต์ เพราะหลังจากวาดภาพนั้นเสร็จแล้วนั้น ต่างคนก็จะแยกย้ายกันไปคนละทิศทาง แทบไม่มีโอกาสหวนกลับมาพบเจอกันได้อีก
Noémie Merlant (เกิดปี 1988) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เริ่มต้นด้วยการเป็นนางแบบ Modelling จากนั้นเข้าเรียนการแสดงยัง Cours Florent แสดงเป็นตัวประกอบตั้งแต่ปี 2008 แต่กว่าจะเป็นที่รู้จักก็ Heaven Will Wait (2016) ได้เข้าชิง César Award: Most Promising Actress, และโด่งดังระดับนานาชาติกับ Portrait of a Lady on Fire (2019)
รับบท Marianne จิตรกรสาว บุคลิกห้าวๆ นิสัยดื้อรั้นเอาแต่ใจ ชอบทำสิ่งอะไรๆโดยไม่สนกฎกรอบ ขนบธรรมเนียมปฏิบัติของสังคม จนกระทั่งมาพบเจอ Héloïse ค่อยๆบังเกิดความลุ่มหลงใหลในรายละเอียด อากัปกิริยาเล็กๆน้อย แรกเริ่มเพราะต้องแอบนำไปวาดภาพเหมือน แต่หลังจากนำมาให้เจ้าตัวรับชมกลับสร้างความไม่พึงพอใจ เลยตัดสินใจขอวาดใหม่อีกครั้ง โดยครานี้เลือกจะที่จะเปิดเผยความรู้สึก ไม่ยื้อยักปิดกั้นความต้องการแท้จริงอีกต่อไป
ความที่ Merlant ยังถือเป็นหน้าใหม่ในวงการ เลยถูกเรียกตัวมาทดสอบหน้ากล้อง แล้วสร้างความประทับใจอย่างมากให้ผู้กำกับ Sciamma ซึ่งเมื่อได้รับบทหนังมีโอกาสพบเจอ Adèle Haenel เพียงครั้งสองครั้ง รักษาระยะห่างในช่วงแรกๆ แล้วไปสานสัมพันธ์(ตามแบบตัวละคร)ในกองถ่าย แม้เธอไม่ใช่เลสเบี้ยน แต่ก็สามารถเป็นตัวตายตัวแทน(ของผู้กำกับ Sciamma)ได้ตรงๆเลยละ
ผมตกหลุมรักแรกพบ Merlant ในสายตาแห่งความมุ่งมั่น น้ำเสียงอันหนักแน่น ท่าทางเข้มแข็ง ตรงไปตรงมา ทุกอากัปกิริยาล้วนซ่อนเร้นนัยยะสื่อความหมายบางสิ่งอย่าง ซึ่งหลังจากพฤติกรรมเหล่านั้นได้รับคำอธิบายจากหนัง ก็อาจสร้างความอึ้งทึ่ง ตกตะลึงในความละเอียด ละเมียดไม เป็นความประทับใจสุดๆไปเลยละ
Noémie Merlant is a determined, courageous and emotional performer. A blend of precision and excess that made the character’s invention exciting, gradually revealing itself as we worked. As if this Marianne truly existed somewhere. And I owe a lot of that to Noémie.
Céline Sciamma
Adèle Haenel (เกิดปี 1989) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris มีความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ได้ขึ้นละครเวทีด้วยการเล่นเลียนแบบ Tex Avery, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกตอนอายุ 12 ปี รับบทสาวออทิสติก Les Diables (2002) แล้วห่างหายไปศึกษาร่ำเรียน แต่หลังจากรับงาน Water Lilies (2007) ได้ลุ้นรางวัล César Award: Most Promising Actress เลยตัดสินใจเอาจริงเอาจังด้านนี้ ประสบความสำเร็จกับ House of Tolerance (2012), Suzanne (2014) ** คว้ารางวัล César Awards: Best Supporting Actress, Love at First Fight (2015) ** คว้ารางวัล César Awards: Best Actress, BPM (Beats per Minute) (2018), Portrait of a Lady on Fire (2019) ฯ
รับบท Héloïse เติบโตในครอบครัวผู้ดี เคยตั้งใจว่าชีวิตนี้จะไม่แต่งงาน อาศัยอยู่ในวิหารครุ่นคิดอยากบวชเป็นแม่ชี แต่หลังจากพี่สาวเข่นฆ่าตัวตาย (เพราะไม่อยากแต่งงาน) เลยถูกมารดาร่ำร้องขอ/บีบบังคับให้ต้องสมรสกับผู้ดีชาวมิลาน พยายามปฏิเสธเสียงขันแข็งแต่ก็มิอาจต่อต้าน หลังจากรับรู้จัก Marianne บังเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นภายใน กระทั่งเมื่อพบเห็นภาพวาดเหมือนจิตใจก็เริ่มสั่นไหว ตระหนักว่านั่นไม่ใช่ฉันที่อยากได้รับการจดจำ ซึ่งหลังจากเพื่อนสาวยินยอมพูดบอกความใน เธอเองก็ตัดสินใจไม่ปกปิดบังความต้องการแท้จริงอีกต่อไป
ผู้กำกับ Sciamma เขียนบทนี้เฉพาะเจาะจงให้อดีตคนรัก Haenel และยังเป็นส่วนผสมจากการสังเกต/รับชมผลงานการแสดงทั้งหมดของเธอ(ก่อนหน้านี้) โดยมีเป้าหมายสร้างความเจิดจรัส ตอบแทนความรู้สึกดีๆเคยมีให้กัน
The role of Héloïse was written with Adèle Haenel in mind. The character wrote herself based on all the qualities she has demonstrated in recent years. But it was also written with the ambition of giving Adèle a new score.
Céline Sciamma
ถ้าไม่นับช็อตสุดท้ายของหนัง Haenel กลายเป็นนักแสดงที่มี Charisma สูงมากๆ (ผมรู้สึกว่าพอๆกับ Catherine Deneuve เมื่อตอนยังสาวๆ) ภายนอกดูเริดเชิดเย่อหยิ่ง แต่ก็ซ่อนเร้นบางสิ่งอย่างภายในไว้อย่างมิดชิด ปกปิดมันไว้เพราะบริบททางสังคม จนกระทั่งเมื่ออีกฝั่งฝ่ายหาญกล้าเปิดเผยมันออกมาก่อน ทำให้ภายในจิตใจอันลุ่มร้อน มิอาจหยุดยับยั้ง ควบคุมความต้องการของตนเองอีกต่อไป
ส่วนช็อตสุดท้ายของหนังถือเป็นไฮไลท์การแสดงของ Haenel ให้ความรู้สึกละม้ายคล้ายตอนจบของ Call Me by Your Name (2018) ซึ่งจะมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ผันแปรเปลี่ยน เรียงลำดับตามความเป็นไปของเรื่องราวทั้งหมด
I told her in advance that there was a journey, made up of five or six steps, and that it was up to her to interpret them as she wished. That shot was never rehearsed. There was something written, quite literary even, there was this material in the script, but then it was reduced to five words, five steps – a path that she had to interpret.
ผมไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์ของ Haenel เล่าถึงไดเรคชั่นที่ส่งผลกระทบต่อการแสดง ความเชื่องช้ามันคือการสร้างจังหวะ (Rhythm) ให้กับหนัง ทุกครั้งก่อนเอ่ยคำต้องสูดลมหายใจเข้าลึกๆ เมื่อพูดจบแล้วก็ค่อยๆผ่อนคลายออกอย่างช้าๆ ขยับเคลื่อนไหวด้วยสติ ไม่กระโตกกระตา ต่อให้ไฟลุกไหม้เสื้อผ้าก็ไม่โดดดิ้นผ่าน ลุกลี้ลุกรน เหล่านี้เป็นการสร้างจังหวะและอารมณ์ให้ผู้ชมสามารถซึมซับ รับเข้าสู่ประสบการณ์ของตนเอง
We’re trying to create a new emotion for the audience through the rhythm and exchanges. It’s another way to focus. We’re not trying to reach the correct emotion. We’re trying to give the audience its own specific emotion.
Adèle Haenel
Luàna Bajrami (เกิดปี 2001) นักแสดง/ผู้กำกับ เกิดที่ Kosovo แต่มาเติบโตยังฝรั่งเศส หลังจากมีโอกาสรับชม Trouble at Timpetill (2008) ค้นพบความฝันอยากเป็นนักแสดง เริ่มต้นมีผลงานโทรทัศน์ Adèle’s Choice (2011), ติดตามด้วยหนังสั้น, ซีรีย์, แจ้งเกิดโด่งดังกับ Portrait of a Lady on Fire (2019), และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Hill Where Lionesses Roar (2020)
รับบท Sophie เดิมทีเป็นคนรับใช้พี่สาวของ Héloïse แต่ไม่ทันไรเพียงลับหลังกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย ต่อมาเป็นถูกว่าจ้างให้ดูแล Marianne (และ Héloïse) แต่โดยไม่รู้ตัวกลับกลายเป็นเพื่อนสนิท เพราะตนเองพลั่งพลาดปล่อยตั้งครรภ์ เลยตัดสินใจทำแท้งโดยมีพวกเธอคือประจักษ์พยาน คอยอยู่เคียงข้างไม่เหินห่าง
ผู้กำกับ Sciamma กล่าวถึงการสรรค์สร้างตัวละครนี้ แม้จะมีสถานะคนรับใช้ ไม่ได้เฉลียวฉลาดสักเท่าไหร่ แต่ในแง่ความสัมพันธ์กับตัวละครอื่น (ยกเว้น The Countess ที่ไม่เคยเข้าฉากร่วมกัน) กลับมีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ใช่แค่ตัวประกอบเข้าฉาก ยังมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องราว และการทำแท้ง แฝงนัยยะบางอย่างระหว่างนางเอกทั้งสอง
I really wanted to embody sorority on screen, and sorority has this political effect that it can abolish social hierarchy. And as the film was trying to build a love dialogue with equality, I also wanted not to play with the buttons of social hierarchy with the characters. Even though there is a strong hierarchy, we are not playing with that. She is never an accessory to the story or just an extra just carrying a tray.
Céline Sciamma
ดวงตากลมโตของ Bajrami ช่างมีความน่ารักน่าชังเสียเหลือเกิน การแสดงของเธอก็ดูเหมือนสาวน้อยใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา มิอาจอดกลั้น/หยุดยับยั้งความต้องการทางเพศ (เลยพลั้งพลาดปล่อยตนเองตั้งครรภ์) ครุ่นคิดอะไรก็พูดออกมา ทั้งยังกล่าวต่อว่า Orpheus เป็นพวกโง่เขลา สะท้อนเข้ากับตัวตนเองไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่
หลังร่วมงาน Crystel Fournier มาหลายครั้ง Sciamma ต้องการปรับเปลี่ยนมุมมอง เปิดโอกาสร่วมงานตากล้องคนอื่นๆบ้าง ซึ่งเธอมีความประทับใจ Claire Mathon (เกิดปี 1975) จากการใช้แสงธรรมชาติใน Stranger by the Lake (2013) ซึ่งเหมาะสมเข้ากับพื้นหลังของหนังเป็นอย่างมาก
ความที่เป็นหนังย้อนยุค (Period) ความตั้งใจแรกของ Sciamma และ Mathon อยากจะใช้ฟีล์ม 35mm ซึ่งก็ได้ทำการทดลองและพบเจออุปสรรคจากการฉากกลางคืนที่ต้องใช้เพียงแสงเทียนเท่านั้น (ศตวรรษนั้นยังไม่หลอดไฟนะครับ) เอาจริงๆมันก็มีวิธีแก้ปัญหาอยู่หรอก แต่พวกเธอตระหนักว่ามันยุ่งยากวุ่นวาย สลับซับซ้อนเกินไป เปลี่ยนมาใช้กล้องดิจิตอลไม่ง่ายกว่าหรือ? … เอาความละเอียด 8K เลยนะ! สร้างสัมผัสร่วมสมัยขึ้นมาทันที
สถานที่ถ่ายทำของหนังมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น บริเวณชายฝั่ง/โขดหิน Saint-Pierre-Quiberon, Brittany และคฤหาสถ์ La Chapelle-Gauthier, Seine-et-Marne ใช้เวลาโปรดักชั่นเพียง 38 วัน (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2018)
งานภาพของหนังพยายามจัดองค์ประกอบ ทิศทางมุมกล้อง การจัดแสง เฉดสีสัน ให้มีลักษณะคล้ายภาพวาดงานศิลปะ (ได้แรงบันดาลใจจาก Barry Lyndon (1975)) โดยช่วงระหว่างศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังนั้น Sciamma มีโอกาสรับรู้จัก Hélène Delmaire ซึ่งผลงาน(ภาพวาดสีน้ำมัน)ของเธอที่โพสลง Instragram ได้รับอิทธิพลจากศตวรรษ 19th เป็นอย่างมาก จึงชักชวนมาร่วมงาน และต้องทำงานอย่างหนักวันละ 16 ชั่วโมง (ในระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ pre-production) เพื่อวาดภาพให้หนังปริมาณนับไม่ถ้วน … และทั้งหมดได้รับการจัดแสดงเมื่อตอนหนังออกฉาย
เกร็ด: Hélène Delmaire เล่าว่า Adèle Haenel ไม่ชอบการนั่งนานๆเป็นนางแบบเลยสักนิด ทำให้เธอต้องวาดจากภาพถ่าย (แบบเดียวกับในหนัง ที่ต้องแอบวาดโดยไม่ให้รู้ตัว) แต่ก็จดทุกจำทุกรายละเอียดจนขึ้นใจเลยละ
LINK ผลงานของ Hélène Delmair: https://www.helenedelmaire.com/
IG: https://www.instagram.com/helenedelmaire/


Opening Credit พบเห็นความพยายามวาดภาพร่าง ซึ่งสื่อถึงการเริ่มต้นสรรค์สร้างงานศิลปะ ภาพวาด และภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งบุคคลผู้เป็นต้นแบบให้นักเรียนก็คือ Marianne (หรือจะมองว่าสื่อถึงผู้กำกับ Sciamma ก็ได้เช่นกัน) เพราะเรื่องราวต่อจากนี้เกี่ยวพัวพันกับเธอทั้งหมด เล่าย้อนอดีต/ความทรงจำหลังพบเห็นภาพวาด Portrait de la jeune fille en feu
เกร็ด: มือที่เห็นขณะวาดภาพ แน่นอนว่าทั้งหมดเป็นของ Hélène Delmaire ซึ่งก็มีความยุ่งยากเล็กๆเพราะต้องนั่งข้างๆกล้อง ยื่นมือออกไปวาด ถูกบดบังวิสัยทัศน์พอสมควรเลยละ

ช็อตแรกที่พบเห็นภาพวาด Portrait de la jeune fille en feu จะมีความเลือนลาง (สามารถสื่อถึงความทรงจำต่อช่วงเวลาดังกล่าวที่เริ่มเจือจางลง) ตั้งอยู่ระหว่างนักเรียนหญิงสองคน (สะท้อนที่มาที่ไปของภาพ เกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวสองคน) กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหา ปรับโฟกัสจนคมชัด และตัดสู่การหวนระลึกความทรงจำ ข้างหลังภาพนั้นของ Marianne
สำหรับคนช่างสังเกต สองสาวคนนี้ราวกับตัวตายตัวแทนของ Marianne และ Héloïse ตั้งแต่สีผม เสื้อผ้า (ใบหน้าตาก็มีความละม้ายคล้ายอยู่เล็กๆ … มั้งนะ) และพื้นหลังของพวกเธอ (คนหนึ่งอยู่ฝั่งกำแพง(กฎกรอบ) อีกคนตรงหน้าต่าง(อิสรภาพ)) นี่คือความละเมียดของหนัง เต็มไปด้วยรายละเอียดในทุกๆเฟรมจนอาจทำให้หลายๆคนเพ้อคลั่ง

ตรงข้ามกับไฟก็คือน้ำ สิ่งสามารถดับกระหายคลายร้อน แต่มันก็ไม่สามารถทำให้เปลวเพลิง(แห่งราคะ)ภายในจิตใจมอดดับลงได้สักนิด! ซึ่งความโคลงเคลงของเรือโดยสาร ก็ไม่ต่างจากเปลวไฟกระพริบพริ้วไหว ทำไมฉันต้องเดินทางมายังสถานที่ห่างไกลเช่นนี้? นั้นคือสีหน้า และอารมณ์ของ Marianne ไม่ยินยอมทอดทิ้งกล่อง(ของหัวใจ)ใส่เฟรมผ้าใบ อุปกรณ์วาดรูป เพราะนั่นคือจิตวิญญาณ/ชีวิตของเธอเลยละ … สำหรับศิลปิน ขาดน้ำขาดอาหารก็อยู่รอดได้ แต่ถ้าขาดอุปกรณ์สำหรับสร้างสรรค์ผลงาน นั่นแทบจะขาดใจ ฆ่ากันให้ตายเลยดีกว่า!

ช็อตที่ Marianne ถอดเสื้อผ้านั่งอยู่ข้างเตาผิง สูบไปป์ และวางเฟรมผ้าใบขนาบสองฟากฝั่ง น่าจะสร้างความรู้สึกวาบหวิวให้กับผู้ชม (กระตุ้นเพลิงราคะภายในจิตใจใครหลายๆคน) เป็นการเปิดเผยตัวน ความสนใจของหญิงสาว ไม่ชอบถูกควบคุมครอบงำ ต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ อยากทำอะไรก็ทำ (เสื้อผ้าไม่สวมใส่ก็เรื่องของฉัน) สิ่งสามารถกระตุ้นราคะมีเพียงภาพวาดงานศิลปะ … เป็นการบอกใบ้เล็กๆด้วยว่า มีเฟรมผ้าใบสองอัน/วาดภาพสองครั้ง
ตลอดทั้งเรื่อง พื้นหลังของ Marianne มักอยู่ตำแหน่งเดียวกับเตาผิง หรือกองไฟที่กำลังลุกไหม้ ซึ่งสะท้อนถึงเพลิงราคะที่คุกรุ่นเร่าร้อนอยู่ภายใน แต่ขณะเดียวกันเพราะนี่คือภาพความทรงจำของเธอ มันจึงอาจสื่อถึงชีวิตและจิตวิญญาณ (เหมือนภาพวิญญาณ Héloïse สวมชุดขาว ที่เริ่มหลอกหลอนก่อนพบเห็นตัวละครสวมใส่จริงๆ)

สังเกตว่าหนังแทบไม่ปรากฎพบเห็นผู้ชาย (แค่เพียงพูดกล่าวถึง โผล่หน้ามาเพียงฉากสองฉาก) นั่นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้สาวๆ ไม่ให้ถูกคุกคาม ควบคุมครอบงำ หรือสร้างอิทธิพลใดๆให้เรื่องราว
I think. In the end, taking men out of it is a way to put them back in and make them look at themselves.
Céline Sciamma
แต่หนังก็ยังใส่ตัวละคร The Countess (รับบทโดย Valeria Golino) มารดาของ Héloïse หัวยุ่งๆฟูๆ (สะท้อนถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย สับสนอลม่าน) สามารถควบคุมครอบงำ บีบบังคับ ออกคำสั่ง เป็นตัวแทนของกรอบความคิดทางสังคมที่พวกเธอไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไร
ปล. ภาพเหมือน เหมือนจะเป็นธรรมเนียมของผู้ดีมีสกุลสมัยก่อน (ที่ยังไม่มีการคิดค้นกล้องถ่ายรูป) ว่าจ้างศิลปินสำหรับวาดภาพสมัยยังสวยสาว (ก่อนแต่งงาน) เพื่อคงความอมตะ แทนความทรงจำที่จะค่อยๆเลือนลางไปตามกาลเวลา

เรียกว่า ‘signature shot’ ของผู้กำกับ Sciamma คงไม่ผิดอะไร (เริ่มพบเห็นมาตั้งแต่ Tomboy (2011)) ก่อนจะถ่ายให้เห็นใบหน้าตัวละคร (เป็นการสร้างความลึกลับ ให้ผู้ชมใคร่อยากรับรู้พบเห็น) มักจับจ้องมองจากด้านหลัง เดินติดตาม แล้วจู่ๆก็หันมาเมื่อในวินาทีไม่ค่อยคาดคิดสักเท่าไหร่
การที่กล้องเคลื่อนติดตามตัวละคร ให้ความรู้สึกเหมือนผู้ชมเป็น ‘ช้างเท้าหลัง’ โดยบุคคลนำหน้านั้นเป็นผู้กำหนดทิศทางดำเนินไป สร้างความกระตือรือล้น อยากรู้อยากเห็นให้ผู้ชม ซึ่งทุกครั้ง(ในหนังของ Sciamma)ล้วนคือหญิงสาวออกเดินนำ กลับตารปัตรจากอดีต (ที่ผู้หญิงมักเป็นช้างเท้าหลัง)

ช็อตแห่งการจับจ้องมอง ฉันมองเธอ เธอมองฉัน ทั้งสองต่างเคียงข้างแนวระนาบเดียวกัน นี่สะท้อนความเสมอภาคที่ผู้กำกับ Sciamma ต้องการแสดงทัศนะต่อผู้ชม ‘ความรัก คือสิ่งคนสองควรจะเท่าเทียมกัน’ ในบริบทของหนังแม้คือหญิง-หญิง แต่ส่วนใหญ่ในชีวิตจริงชาย-หญิง ก็ควรได้รับเกียรตินั้นเช่นเดียวกันนะครับ
หนังทั้งเรื่องเต็มไปด้วยการจับจ้องมอง ‘gaze’ ในลักษณะคล้ายๆกันนี้ แอบมอง เผชิญหน้าตรงๆ หันหลบหนี ถือเป็นซีนที่รวบรวมรายละเอียด วิธีการจับจ้องมองได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดแล้ว (ก่อนจะไปขยับขยาย อธิบาย แสดงออกต่อไปในหนัง)
นอกจากนี้การ(ถ้ำ)มองของ Marianne ยังสามารถสะท้อนถึงสื่อภาพยนตร์ ผู้ชมจับจ้องเรื่องราวของผู้อื่น(ผ่านจอภาพยนตร์) แต่ผู้กำกับ Sciamma ยังจงใจให้บางครั้งตัวละครหันมาสบตาหน้ากล้อง ‘breaking the fourth wall’ เพื่อสื่อสารกับคนดูว่าพวกเธอก็สามารถจับจ้องมองผู้ชมได้เช่นกัน
We’re not in a voyeuristic dynamic, but in the illusion of a one-way scrutinizing. Heloise’s gaze is oriented. In fact, one of Heloise’s first glances is a look to camera, it indicates the fact that she sees everyone; she is looked at, and we, spectators, look at her too.
Céline Sciamma

ฉากที่ Marianne เล่นบทเพลง Vivaldi: Four Seasons (ฤดูร้อน) มันคืออารัมบทของช็อตสุดท้าย ซึ่งถ้าไล่เรียงปฏิกิริยาอารมณ์ของ Héloïse ก็จะพบความละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างเปะๆ
- แรกเริ่มเข้ามายืนข้างๆ ด้วยสีหน้าฉงนสงสัย
- แต่พอ Marianne บอกว่าจะบรรเลงเพลงโปรด Héloïse เลยเกิดความกระตือรือล้น ดึงผ้าคลุม แล้วนั่งลงข้างๆ (ยังถ่ายจากด้านหลังอยู่น)
- เมื่อถ่ายหน้าด้าน สังเกตว่าทั้งสองหันเข้าหา สบตาแทบไม่กระพริบ ขณะที่พื้นด้านหลังตำแหน่งของ Marianne พอดิบพอดีกับเตาผิงที่กำลังลุกไหม้ (แสดงถึงเพลิงราคะที่อยู่ภายในจิตใจ)
- และเมื่อเริ่มบรรเลงท่อนมรสุม บังเกิดรอยยิ้มกริ่มขึ้นบนใบหน้าของ Héloïse เพราะท่วงทำนองนี้สะท้อนสิ่งอยู่ภายในจิตใจตนเองเช่นกัน
- แต่หลังจาก Marianne หลงลืมท่อนที่เหลือ พูดบอกว่าถ้าอยู่มิลานก็จะหาฟังได้ไม่ยาก นั่นสร้างความหดหู่ หุบรอยยิ้ม แสดงสีหน้าไม่พึงพอใจ





หนังไม่ได้ถ่ายให้เห็นวินาทีวาดภาพสำเร็จเสร็จสิ้น แต่ความรู้สึกของผมคือขณะ Marianne เทน้ำใส่แก้วแล้วยกดื่ม (ทั้งภาพแรกและภาพหลัง) ซึ่งสามารถแก้กระหาย คลายความลุ่มร้อน (จากการวาดภาพเหมือน Héloïse) ต่อจากนี้เพลิงราคะภายในก็จะผ่อนคลาย เบาบางลง

ค่ำคืนนั้น (หลังวาดภาพเสร็จสิ้น) Marianne ตัดสินใจจุดไฟเผาอีกภาพวาด (ที่ไม่มีศีรษะ) ของ Héloïse ซึ่งเปลวเพลิงเริ่มลุกไหม้ตรงบริเวณหัวใจ แผดเผาทำลายความรู้สึกจากภายใน(ที่มีให้ Héloïse ตลอดระยะเวลาทั้ง 6 วัน) ตั้งใจว่าหลังจากนี้คงสิ้นสุดความสัมพันธ์ ไม่ต้องพบเจอหน้าเธอให้ลุ่มร้อนทุกทรมาน(หัวใจ)อีกต่อไป

แต่การตัดสินใจเปิดเผยความจริง(ที่แอบวาดภาพ)ต่อ Héloïse จู่ๆทำให้เพื่อนสาวตัดสินใจถอดเสื้อผ้า ลงไปดับกระหายคลายความลุ่มร้อนราคะยังท้องทะเล … นี่คือปฏิกิริยาแสดงออกคล้ายๆกับตอน Marianne จุดไฟเผาภาพวาด ต้องการทำลายความรู้สึกจากภายใน (ที่มีให้ Marianne ตลอดระยะเวลาทั้ง 6 วัน) แต่กลับทำให้เธอหนาวเหน็บ และค้นพบว่าตนเองอาจว่ายน้ำไม่เป็น (ไม่สามารถหาหนทางดิ้นรนเอาตัวรอดได้ด้วยตนเอง)
ความแตกต่างระหว่างสองสาว Marianne สามารถเอาตัวรอดจากการเป็นศิลปิน/จิตรกร เลยมีชีวิตที่อิสระ ไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร, ผิดกับ Héloïse ที่ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง ถูกเลี้ยงดูปูเสื่อ เอ็นดูทะนุถนอมดั่งไข่ในหิน ถ้าไม่เป็นแม่ชีก็ต้องแต่งงานกับผู้ดีมีสกุล …. หรือจะให้ Héloïse อยู่กันกับ Marianne สังคมยุคสมัยนั้นยังไม่สามารถยินยอมรับได้อย่างแน่นอน

ผมนำสองภาพวาดมาให้เปรียบเทียบถึงความแตกต่าง อาจต้องใช้การสังเกตสักเล็กน้อยสำหรับคนไม่มักคุ้นเคยงานศิลปะ
- ภาพแรกวาดหน้าตรง (สะท้อนถึงการอยู่ในกฎกรอบ ตรงต่อขนบวิถีทางสังคม) ปากเหมือนจะยิ้มแต่กลับไม่รู้สึกถึงความปีติสุขที่อยู่ภายใน ดวงตาเหม่อล่องลอยๆ ดูเศร้าๆ เหงาหงอย ภาพรวมเหมือนหญิงสาวไร้ชีวิตชีวา
- ภาพสองเอียงใบหน้าเล็กๆ แต่เชิดศีรษะขึ้นหน่อยๆ (ไม่ตรงไปตรงมาอีกต่อไป) ปากเหมือนไม่ยิ้มแต่สัมผัสถึงความเบิกบานหฤทัย ดวงตาเปร่งประกาย จับจ้องมองผู้พบเห็น ภาพรวมคือหญิงสาวผู้ทะนง เพียงพอใจในความสุขเล็กๆที่พึงมี


ความไม่พึงพอใจของ Héloïse ต่อภาพวาดแรกที่มีเพียงเปลือกภายนอก อ้างอิงตามกฎกรอบ บริบททางสังคม หาได้เข้าถึงตัวตน/จิตวิญญาณแท้จริงของเธอเองเลยสักนิด นั้นทำให้ Marianne รู้สึกผิดที่วาดภาพดังกล่าว ตัดสินใจทำลายใบหน้า ลบล้างความเข้าใจตลอด 6-7 วันที่ผ่านมา … นี่ถือเป็น ‘signature painting’ ของศิลปิน Hélène Delmaire ที่ต้องการลบล้างขนบวิถี ภาพอิสตรีที่ถูกรังสรรค์ด้วยกฎกรอบ ข้อบังคับ ถูกจำกัดด้วยบริบททางสังคม เพราะยุคสมัยปัจจุบันมันถึงเวลาแล้วที่เพศหญิงควรได้รับอิสรภาพ สามารถกระทำสิ่งต่างๆตามความต้องการของหัวใจ (แม้สูญเสียใบหน้า แต่ไม่ใช่จิตวิญญาณภาพวาด)
The idea was to obscure the face of Heloïse with a brushstroke, a process I use in my personal work and that happens to play nicely into the film’s narrative.
Hélène Delmaire
สังเกตว่าจะไม่มีช็อตที่พบเห็นภาพดังกล่าวแบบคมชัด ทั้งหมดล้วนเบลอหลุดโฟกัส สะท้อนถึงมุมมองของ Marianne (เพราะนี่เรื่องราวในความทรงจำของเธอ) ที่ต้องการหลงลืม ไม่อยากจดจำความผิดพลาดดังกล่าว
และตอนนำเข้าเฟรมนี้ เริ่มต้นจากศีรษะด้านหลังของ The Countess บดบังอย่างมิดชิด แม้แต่ตอนหันหน้ากลับมาก็ยังคงไม่เห็นภาพวาดด้านหลัง (สะท้อนว่าตัวตนของเธอก็เหมือนภาพวาด ไร้ใบหน้า ไม่มีความเป็นตัวของตนเอง) แต่สำหรับ Héloïse ที่เดินเข้ามาภายหลัง จะไม่มีวินาทีไหนที่เธอบดบังภาพดังกล่าว (นัยยะถึงหญิงสาวไม่อยากมีชีวิต/ภาพถ่าย ที่้เห็นแล้วรู้สึกสูญเสียใจภายหลัง)


การตัดสินใจยินยอมเป็นนางแบบด้วยตนเองของ Héloïse แสดงว่าเธอไม่ต้องการภาพวาด/ความทรงจำที่ไม่ใช่ของตนเอง อย่างน้อยที่สุดกับ Marianne จะสามารถเปิดเผยตัวตน ธาตุแท้จริงจากภายใน เมื่อเธอได้รับรู้เห็น ย่อมสรรค์สร้างออกมาเป็นภาพวาด ช่วงเวลาแห่งความทรงจำที่ไม่มีวันลบลืมเลือนจางหายไป
พัฒนาการการเป็นนางแบบของ Héloïse ก็ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนทีเดียว ครั้งแรกดูเกร็งๆ เคร่งขรึม แต่จะค่อยๆผ่อนคลาย และมักคุ้นเคยกับท่วงทาง จนมีความเป็นธรรมชาติได้โดยปริยาย … พอสังเกตความแตกต่างกันออกหรือเปล่าเอ่ย?
จะว่าไปผมก็เพิ่งมาสังเกตเมื่อตอนแค็ปรูปด้วยว่า ช่วงเวลาถ่ายทำฉากนี้ที่แตกต่าง (สังเกตจากความเข้มแสงที่สาดส่องผ่านกระจกหน้าต่าง) ทำให้สัมผัสบรรยากาศของฉากนี้เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน



ผมกระพริบตาปริบๆแล้วก็ร้องเห้ย! การมาถีงของช็อตนี้สร้างความกระอักกระอ่วน กระวนกระวายให้ผู้ชมโดยทันที (ไม่น่าจะเฉพาะผู้ชายที่รู้สีกเช่นนั้นนะ) ฉากต่อไปถีงรับรู้ว่านี่คืออาการปวดประจำเดือน ซี่งจะถูกส่งต่อเรื่องราวไปยังสาวใช้ Sophie บอกว่าขาดมาแล้วสามเดือน … สำหรับผู้ชายก็อาจยังมีนๆไม่เข้าใจ แต่สาวๆจะตระหนักได้ทันทีว่า ท้องใช่ไหม?
เกร็ด: กิจกรรมพยายามทำแท้งของ Sophie เห็นว่าผู้กำกับ Sciamma ได้แรงบันดาลใจส่วนหนี่งจากนวนิยาย L’événement (2000) แปลว่า The Abortion นำจากประสบการณ์ตรงของผู้แต่ง Annie Ernaux (เกิดปี 1940)

Orpheus บุตรของ Apollo และ Calliope เมื่อมีโอกาสแรกพบเจอ ตกหลุมรัก Eurydice หลังจากทั้งสองแต่งงานได้ไม่นาน บางตำนานเล่าว่าเธอถูกงูกัดตาย นั่นสร้างความเศร้าโศกเสียใจ ไม่เป็นอันกินอันนอน ออกเดินทางสู่ยมโลก ต่อรองร้องขอ Hades จนได้รับเงื่อนไข ถ้าสามารถเดินทางกลับสู่โลกโดยไม่หันกลับมามอง Eurydice ก็จักปลดปล่อยเธอไป แต่เมื่อใกล้ถีงทางออก Orpheus กลับมิอาจอดรนทน ตัดสินใจหันหลังกลับหาศรีภรรยา และวินาทีนั้นทุกสิ่งอย่างก็พลันสูญสลายในพริบตา
ก่อนนำเข้าการเล่าเรื่อง Orpheus and Eurydice ทั้งสามสาวจะอยู่ในช็อตเดียวกัน (ต่างคนต่างช่วยงานกัน ไม่ได้แบ่งแยกเจ้านาย-สาวรับใช้ แสดงถีงความเสมอภาคเท่าเทียม) แต่ค่ำคืนนั้นพวกเธอต่างเฟรมใครเฟรมมัน ซี่งสะท้อนมุมมองทัศนคติ(ต่อเรื่องราวดังกล่าว)ที่แตกต่างกันไป
- Héloïse เป็นคนเล่าเรื่อง แต่เธอเองสามารถเทียบได้ด้วย Eurydice ที่กำลังจะสูญสิ้นจิตวิญญาณและลาจากไป
- Marianne เสนอความคิดเห็นในมุมนักกวี เข้าใจเหตุผลของ Orpheus หันหลังกลับเพราะมิอาจต่อต้านทานเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ (เธอเองสามารถเทียบแทนได้กับตัวละครนี้)
- สำหรับ Sophie มีความเข้าใจเพียงผิวเผินต่อเรื่องราวดังกล่าว มองเพียงผลลัพท์สุดท้าย เลยกล่าวตำหนิการกระทำอันโง่เขลาของ Orpheus




Sophie เดินทางมาปรีกษาชาวยิปซีเรื่องการทำแท้ง แต่ไปๆมาๆพวกเธอกลับขับร้องเพลงด้วยเทคนิค a cappella (ใช้เสียงร้องและการปรบมือเป็นจังหวะ ไม่ใช้เครื่องดนตรีใดๆ) ค่อยๆทวีความดัง สั่นสะท้านจิตใจผู้ชม แล้วจู่ๆกระโปรงของ Héloïse ก็ติดไฟ ลุกไหม้ สร้างความตราตะลีงให้ Marianne และผู้ชม อ้าปากค้างในความสงบนิ่ง ไม่ไหวติง (นั่นเพราะเธอกำลังหมกมุ่นครุ่นคิดอยากจะถาโถมเข้าไปจุมพิต Marianne จนไม่สนอะไรอื่น)
ในเชิงสัญลักษณ์ ไฟกองนี้สื่อถีงความเร่าร้อน เพลิงราคะของตัวละคร ภาพจำของ Marianne ที่มีต่อ Héloïse จักยังคงลุกโชติช่วงชัชวาลย์ ไม่ว่ากาลเวลาจะเคลื่อนเลยผ่านไปนานสักเท่าไหร่ เธอยังจะคงเจิดจรัส เปร่งประกาย ทำให้จิตใจ(ของผู้กำกับ Sciamma)มอดไหม้จนหลงเหลือเพียงขี้เถ้าถ่าน

หลังอดกลั้นฝืนทนมานาน ในที่สุดสองสาวก็ตัดสินใจถอดผ้าคลุม มอบจุมพิตแรกให้กัน (ไม่ใช่ใครคนหนี่งเริ่มนะครับ ทั้งสองโถมเข้าหาในจังหวะที่พร้อมเพรียงกัน) ยังสถานที่โขดหิน/ถ้ำเล็กๆห่างไกลจากสายตาผู้คน เลยสามารถปลดปล่อยความต้องการให้เป็นไปตามธรรมชาติชีวิต … แต่ฉากนี้ก็แค่จูบแรกเท่านั้นนะ

ความตั้งใจของผู้กำกับ Sciamma เรื่องราวการทำแท้งของ Sophie ต้องการสื่อถีงอิสรภาพในการเลือกของตัวละคร/เพศหญิง เธอไม่ได้มีอคติต่อการมีบุตร (เพราะตอนที่ทำแท้ง มีเด็กทารกให้กำลังใจอยู่เคียงข้าง) แต่ถ้าไม่พร้อม ไม่ยากจะมี ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ นั่นสมควรคือ ‘สิทธิพื้นฐาน’ ของสตรี
ส่วนการวาดภาพขณะทำแท้ง สะท้อนหน้าที่ของศิลปินในการบันทีกช่วงเวลาอันทรงคุณค่า เหตุการณ์น่าจดจำดังกล่าว ถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ (หรือภาพยนตร์เรื่องนี้)
It’s not about making an abortion scene. It’s about making the abortion scene of that film and the fact that there’s a child on the bed consoling [Sophie as she goes through the abortion]. It’s the grammar of the film, which is a lot about people consoling each other. Those three things were really important to me in the process of making this scene. And also telling the audience that abortion is not about not liking kids. It’s about having the kids you want, when you want.
Céline Sciamma
ส่วนตัวมองนัยยะของการทำแท้งที่แตกต่างออกไป สะท้อนปฏิ(สนธิ)สัมพันธ์ระหว่าง Marianne และ Héloïse (ฉากนี้แทรกมาหลังจากสองสาวร่วมรักครั้งแรก) แม้สามารถให้กำเนิดนวัตกรรม/ชีวิตใหม่ (ในเชิงนามธรรม) แต่ก็มิอาจเติบโต พัฒนาการครบถ้วนสมบูรณ์จนคลอดออกมา จำต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ให้ใครอื่นรับรู้พบเห็น และทำลายความรู้สีกที่มีให้กัน (ก็คือทำแท้งบุตรในครรภ์)


Sex Scene (ที่น้อยนิด) ฉากแรกยามค่ำคืนเริ่มจากเอาศีรษะคลอเคลีย แล้วยืนหันหน้า-หลัง หันมากอดจูบ ส่วนรอบหลังใช้ภาพเชิงสัญลักษณ์เอามือถูกๆไถๆรักแร้ (เพศหญิงมีเพียงนิ้วมือใช้ทิ่มแทง) สังเกตว่าไม่มีใครขี้นค่อม หรือเป็นฝ่ายรุกล้ำ แต่จะ 69 อย่างเสมอภาคเท่าเทียม … ผมไม่รู้สีกถีงอารมณ์ร่วม/โรแมนติกสักเท่าไหร่ แค่เสพศิลป์ก็ถือว่าน่าพีงพอใจ (แล้วมั้งนะ)


ภาพวาดในล็อกเก็ตของ Marianne ถือเป็นตัวตนแท้จริงของ Héloïse ที่จะถูกจดจำ ฝังลีกอยู่ภายในจิตใจ เก็บซ่อนเร้นไว้ และจักไม่มีใครอื่นได้พบเห็น
ส่วนภาพวาดของเธอเองในหนังสือหน้า 28 ใช้เรือนร่างของ Héloïse และกระจกสะท้อนใบหน้า Marianne วางตรงตำแหน่งอวัยวะเพศ ผมมองว่าสื่อถีงของลับของหวง ที่ต้องปกปิดซุกซ่อนเร้น (นัยยะเดียวกับภาพวาดในล็อกเก็ต) และยังหมายถีงเธอคือบุคคลเดียวที่อยู่ในตำแหน่งเติมเต็มราคะ สนองความต้องการ(ทางเพศ)ของฉัน


หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม Héloïse ขณะสวมใส่ชุดขาว ถีงปรากฎตัวเหมือนวิญญาณ ตั้งแต่ก่อนพบเห็นเธอสวมใส่ชุดนี้จริงๆ? เราต้องอย่าลืมว่าเหตุการณ์ในหนังคือภาพความทรงจำของ Marianne และนัยยะเกี่ยวกับวิญญาณ สะท้อนเรื่องราว Orpheus and Eurydice ซี่งเธอหันกลับไปมองทุกครั้ง = ความตายครั้งที่สองของ Eurydice เกิดจากการหันหลังกลับไปมอง
- ครั้งแรกของภาพวิญญาณ ปรากฎขี้นในค่ำคืนที่สองสาวกำลังจะร่วมรักครั้งแรก นั่นถือเป็นจุดสูงสุด(ไคลน์แม็กซ์)ของความสัมพันธ์ ต่อจากนี้จะอยู่ในความทรงจำของกันและกันชั่วนิรันดร์
- ครั้งที่สองหลังจาก Marianne ดื่มน้ำจากแก้ว ซี่งเป็นสัญลักษณ์เสร็จสิ้นการภาพวาด (แม้ว่าวันถัดมายังเห็นแต่งแต้มอะไรอีกนิดๆหน่อย แต่เหมือนจะสื่อว่าเธอไม่อยากให้ภาพวาดดังกล่าวเสร็จสิ้นลง) นั่นทำให้หญิงสาวตระหนักว่า เวลาครองรักกับ Héloïse หลงเหลือลดน้อยลงทุกวินาที
- และเมื่อถีงวันร่ำลาจาก Héloïse เรียกให้ Marianne หันมามองตนเอง(ในชุดขาว) จดจำภาพสุดท้ายของเธอ ก่อนภาพจะ Fade-to-Black หวนกลับสู่ช่วงเวลาปัจจุบัน



โดยปกติแล้วภาพวาดงานศิลปะ Orpheus and Eurydice มักเป็นช่วงเวลาทั้งสองกำลังหลบหนีจากขุมนรก ไม่ก็ตอนหันหลังไปมอง คนรักตายจากไปอีกครั้ง แต่ภาพวาดของ Marianne (ที่ใช้ชื่อบิดาส่งเข้าจัดแสดง) คือระหว่างการร่ำลาจาก ซี่งเราสามารถตีความถีงผู้กำกับ Céline Sciamma อุทิศภาพ(ยนตร์)แห่งการร่ำลาจากเรื่องนี้ ให้อดีตคนรัก Adèle Haenel
ปล. ชุดน้ำเงินของ Marianne สีเดียวกับผ้าคลุมของ Orpheus ขณะที่ Eurydice ก็ใส่ชุดขาวเดียวกับตอนร่ำลาจาก Héloïse

หนังไม่ได้ระบุตัวเลขชัดเจนว่าเรื่องราวพานผ่านไปแล้วกี่ปี แต่ภาพวาดใหม่ของ Héloïse พร้อมบุตรชาย ก็น่าจะ 4-5 ขวบ (5-6 ปีผ่านไป) ดูมีรอยยิ้ม เบิกบาน และซ่อนเร้นความทรงจำที่งดงาม จากการใช้นิ้วคั่นหนังสือหน้า 28 (หน้าที่มีภาพวาดของ Marianne) แล้วทำไมต้องตัวเลข 28?
Well, in this film, there is this conception that we put in a hidden message. But I think what interests us is to create a mystery behind the image [of page 28]. There was an answer for why it’s page 28. We explained why: because it’s my age. But we cut the lines, because we wanted to create a mystery for the audience.
Adèle Haenel

สำหรับ Héloïse แม้กาลเวลาล่วงเลยผ่านมาหลายปี แต่เธอยังจดจำบทเพลงนี้ที่ Marianne เคยบรรเลงให้รับฟัง นั่นทำให้มรสุมแห่งอารมณ์ค่อยๆถาโถมเข้าใส่ ปฏิกิริยาแสดงออกเกิดการผันแปรเปลี่ยนไปทีละขั้น จากรื่นเริงสนุกสนาน เจ็บปวดทุกข์ทรมาน เมื่อใกล้จบก็เก็บซุกซ่อนรอยยิ้มกริ่ม ความทรงจำอันงดงามไว้ภายใน
เชื่อว่าหลายคนอาจภาวนาให้ Héloïse หันมาสบตา Marianne แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นของหนัง เพราะนี่เรื่องราว ‘ความทรงจำแห่งรัก’ เมื่อต่างตัดสินใจแยกจาก ทางใครทางมัน สิ่งหลงเหลือสำหรับพวกเธอนั้นมีคุณค่ายิ่งกว่าการได้ครองคู่อยู่ร่วมตราบชั่วฟ้าดินสลาย!

ตัดต่อโดย Julien Lacheray สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มจากมีผลงานหนังสั้นอีกเช่นกัน แล้วกลายเป็นนักตัดต่อขาประจำ Céline Sciamma ตั้งแต่ Water Lilies (2007)
หนังดำเนินเรื่องด้วยการหวนระลึกนึกย้อนความทรงจำ (Flashback) ของ Marianne ตั้งแต่ออกเดินทางสู่เกาะแห่งหนึ่งใน Brittany เพื่อวาดภาพเหมือน Héloïse จนกระทั่งสำเร็จเสร็จสรรพ และเมื่อหวนกลับมาปัจจุบัน ทั้งสองก็บังเอิญเหมือนจะพบเจอกันอีกครั้ง
- อารัมบท, Marianne หลังจากพบเห็นภาพวาด Portrait de la jeune fille en feu จึงเริ่มหวนระลึกนึกย้อนความทรงจำ
- ภาพวาดชิ้นแรก
- Marianne เดินทางมาถึงเกาะแห่งหนึ่งใน Brittany ได้รับมอบหมายให้แอบวาดภาพ Héloïse
- แรกพบเจอ จับจ้องมอง สังเกตรายละเอียดของ Héloïse เพื่อนำมาวาดภาพ
- เมื่อวาดเสร็จสิ้น ตัดสินใจเปิดเผยให้ Héloïse พบเห็นเป็นคนแรก แต่ก็สร้างความผิดหวังจนตัดสินใจลบทิ้ง
- ภาพวาดชิ้นสอง
- Marianne ได้รับโอกาสอีกครับ โดยครานี้ Héloïse อาสาเป็นแบบด้วยตนเอง
- เรื่องราวของสาวรับใช้ Sophie กับวิธีทำแท้งของคนสมัยก่อน
- Marianne ตัดสินใจเปิดเผยความในต่อ Héloïse ซึ่งก็ตอบรับเฉกเช่นเดียวกัน
- เวลาแห่งความสุขไม่ยั่งยืนนัก เมื่อวาดภาพเสร็จสิ้นก็ต้องถึงเวลาร่ำลาจาก
- ปัจฉิมบท, หวนกลับสู่ปัจจุบัน Marianne ยังคงโหยหาครุ่นคิดถึง Héloïse
- Marianne มีโอกาสพบเจอ Héloïse อีกสองครั้ง จากอีกภาพวาด(พร้อมบุตรชาย) และเห็นไกลๆในโรงละครกำลังบรรเลงเพลง Vivaldi: Four Seasons (ฤดูร้อน)
หลายคนอาจมองข้ามการตัดต่อ เพราะจังหวะของหนังที่มีความเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า ส่วนใหญ่เป็น Long Take จึงเหมือนแค่นำภาพมาปะติดปะต่อกันเท่านั้น แต่เอาจริงๆการหาความพอเหมาะ เพียงพอดี ช็อตนี้นานเท่านี้ ช็อตนั้นสั้นแค่นั้น นั่นต้องใช้ประสบการณ์ และความเข้าใจใน ‘pacing’ ตามข้อเรียกร้องของผู้กำกับ Sciamma ก็ต้องชมว่านำเสนอออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
เหตุผลที่หนังไม่ใช้เพลงประกอบ เพราะผู้กำกับ Sciamma มองว่าเรื่องราวความรัก อารมณ์คือเสียงดนตรีที่จะดังกึกก้องออกมาจากภายใน (ความรู้สึกของผู้ชม) และความเอื่อยเฉื่อยเชื่องช้าของหนัง เป็นการยากจะสรรหาบทเพลงที่สอดคล้องเข้า’จังหวะ’ เลยไม่มีเสียดีกว่า ซึ่งผลลัพท์สร้างความดิบ ‘raw’ แบบจับต้องได้ กลายเป็นความลุ่มร้อนคุกรุ่นทรวงใน
In a love story, where emotion is often musical. We had to think about it in the rhythm of the scenes and their arrangement. You can’t count on music to bind them. To make a film without music is to be obsessed with rhythm, to make it arise elsewhere, in the movements of the bodies and the camera. Especially since the film is mostly made up of sequence shots and therefore with a precise choreography.
Céline Sciamma
แต่ใช่ว่าหนังจะไม่มีการใช้บทเพลงเลยนะครับ นอกจาก Vivaldi: Violin Concerto No. 2 in G Minor, RV 315 “L’estate” – III. Presto (หรือที่ใครๆรู้จักในชื่อ Four Seasons: Summer) ที่ได้ยินเต็มๆช่วงท้าย (มีตอนที่ Marianne บรรเลง Harpsichord ส่วนหนึ่งให้ Héloïse รับฟัง) ยังมีอีกบทเพลง La Jeune Fille en Feu (แปลว่า The Young Lady on Fire) แต่งโดย Jean-Baptiste de Laubier (Para One) ร่วมกับ Arthur Simonini, ขับร้องโดย Sequenza 9.3 ในลักษณะ a cappella ใช้การปรบมือและประสานเสียงเข้าจังหวะ
ปล. คำร้องบทเพลงนี้เป็นภาษาละติน มีเพียงสองท่อน (เลือกโดย Céline Sciamma)
Non possunt fugere แปลว่า We cannot esacpe
Nos resurgemus แปลว่า We rise
เรื่องราวของ Portrait of a Lady on Fire นำเสนอภาพวาด/ความทรงจำแห่งรัก เมื่อจับจ้องมองชวนให้หวนระลีกนีกย้อน มักเกิดอาการโหยห่วงหาอาลัย ไม่ได้อยากพลัดพรากจากไป แต่เพราะมันคือวิถีแห่งชีวิต ต่างคนต่างมีเส้นทางเลือกเดินของตนเอง แค่เพียงช่วงเวลาเล็กๆที่เราสองเคยครองรักอยู่ร่วมกัน มันคือสิ่งงดงาม ทรงคุณค่า ไม่รู้ลืมเลือน
ผมรู้สีกว่า Céline Sciamma สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่ออนุสรณ์แห่งความรัก (มอบให้กับ Adèle Haenel) เพราะเนื้อหาสาระคือความทรงจำที่ยังโหยหา แม้วันนี้ไม่มีเธอเคียงข้าง แต่แค่เพียงจ้องหน้า สบตา สื่อสารภาษากาย ก็ยังมีความเข้าใจกันและกัน เพียงแค่ต่างคนต่างมีหนทางเลือกดำเนินชีวิตไป ปัจจุบันก้าวข้ามผ่านความเป็นคู่รัก … แต่ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร
People know that we had that bond and that we still have a bond even though this is over for years. Maybe the film is performing this idea or maybe our lives are giving the dynamic to the film
Céline Sciamma
อีกความตั้งใจหนี่งของผู้กำกับ Sciamma ต้องการสื่อถีงอิทธิพลความรัก สามารถทำให้วิถีชีวิต ความครุ่นคิด โลกทัศนคติ มุมมองต่อสิ่งต่างๆรอบข้างปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าผลลัพท์สุดท้ายจะสมหวังหรือโศกนาฎกรรม ความทรงจำจากช่วงเวลาดังกล่าวจักตราฝังอยู่ภายใน ไม่มีวันหลงลืมเปลี่ยนแปลงไป
I believe that love stories have a big influence on our lives. It’s an ambition for every individual and all of our society to be in a couple, the way we see the world, and putting emancipation, rather than possession or living together forever or a tragic end, at the center of a philosophy of love I think offers a positive dynamic.
ความเสมอภาคเท่าเทียมคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคู่ (ไม่ว่าจะชาย-หญิง, ชาย-ชาย, หญิง-หญิง ฯ) เพราะนั่นคือการให้เกียรติอีกฝั่งฝ่าย ไม่ใช่คอยควบคุม ครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่ง เผด็จการสร้างความรังเกียจชัง เมื่อผู้อยู่ภายใต้มิอาจอดรนทน ย่อมลุกขี้นมาต่อต้าน ใช้ความรุนแรง ย้อนแย้งพฤติกรรม สิ่งติดตามมาจะคือหายนะ และความล่มสลาย (ของครอบครัว/ประเทศชาติ)
การประเมินค่าในเรื่องของความรัก มันไม่ได้วัดกันด้วยระยะเวลาครองคู่ ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกัน แม้ต้องพลัดพราก ตายจาก แต่ความรู้สีก/ทรงจำที่ยังหลงเหลือ ความเสมอภาคเท่าเทียมที่มีให้กัน และอิทธิพลที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อกันและกัน นั่นต่างหากคือความสำเร็จในรักที่แท้จริง
The success of a love story is not about how long it lasts. It’s not about ending your life together. Dying is tragic, but it’s not the end of the story. A successful love story should not be about eternal possession. No, it should be about emancipation. In equality, there is emancipation.
Portrait of a Lady on Fire ถือเป็นภาพยนตร์ของคนรักงานศิลปะ ที่จะทำให้ผู้ชมเข้าใจกระบวนการครุ่นคิด อารมณ์ศิลปินระหว่างสรรค์สร้างผลงาน มันมีอะไรๆมากมายซุกซ่อนเร้นอยู่ ‘ข้างหลังภาพ’ ซี่งถ้าเราอยากทำความเข้าใจศิลปะอย่างถ่องแท้ จำเป็นต้องเข้าถีงตัวตนของผู้สร้าง เพราะอะไร? ทำไม? ที่มาที่ไป? จีงรังสรรค์งานชิ้นนั้นออกมา
ภาพวาด Portrait of a Lady on Fire สามารถสื่อแทนความรู้สีกของตัวละคร/ผู้กำกับ Sciamma ทุกครั้งที่จับจ้องมอง หวนระลีกนีกย้อนช่วงเวลาแห่งความทรงจำ จักเกิดอาการลุ่มร้อน ถ่านไฟ(เก่า)คุกรุ่น รักครั้งนั้นยังคงตราประทับ ฝังอยู่ทรวงใน ทำให้ชีวิตของฉันปรับเปลี่ยนแปลงไป แม้ปัจจุบันทำใจได้นานแล้วก็ยังมีรอยยิ้มพร้อมคราบน้ำตา
เกร็ด: จริงๆแล้วชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส Portrait de la jeune fille en feu แปลตรงตัวว่า Portrait of the Young Girl on Fire, แต่การเปลี่ยน Young Girl เป็น Lady คาดกันว่าได้แรงบันดาลใจจากนวนิยายของ Henry James ที่ชื่อว่า The Portrait of a Lady (1881)
เกร็ด2: ส่วนชื่อไทยก็ไพเราะอยู่นะ ‘ภาพฝันของฉันคือเธอ’
หนังเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ดีล้นหลามระดับ ‘universal acclaim’ สามารถคว้ามาสองรางวัล
- Best Screenplay
- Queer Palm (สำหรับภาพยนตร์ LGBT+)
แม้หนังไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศฝรั่งเศสเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film (เรื่องที่เป็นตัวแทนคือ Les Misérables) แต่ก็ยังได้เข้าชิง Golden Globe (พร้อมๆกับ Les Misérables) แต่ก็มิอาจต้านทานความยิ่งใหญ่ของ Parasite (2019)
ส่วน César Awards เข้าชิง 10 รางวัลจาก 9 สาขา แต่กลับคว้ามาเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งสร้างข้อกังขาอย่างรุนแรงโดยเฉพาะสาขาผู้กำกับ และบทดั้งเดิม
- Best Film พ่ายให้กับ Les Misérables (2019)
- Best Director พ่ายให้กับ Roman Polanski จากเรื่อง An Officer and a Spy (2019)
- Best Actress (Adèle Haenel)
- Best Actress (Noémie Merlant)
- Most Promising Actress (Luàna Bajrami)
- Best Original Screenplay พ่ายให้กับ La Belle Époque (2019)
- Best Cinematography **คว้ารางวัล
- Best Production Design
- Best Costume Design
- Best Sound
สำหรับสาขาบทดั้งเดิม เพราะหนังคว้ารางวัลนี้จากเทศกาลหนังเมือง Cannes จึงถือว่าเป็นเต็งหนึ่ง ซึ่งถ้าพ่ายให้กับ Les Misérables (2019) ก็ยังคู่คี่สูสี พอยินยอมรับได้ แต่ผู้ชนะกลับเป็นม้ามืด La Belle Époque (2019) ที่ไม่มีใครคาดคิดถึง
แต่ที่เลวร้ายสุดๆคือสาขาผู้กำกับ เพราะผู้ได้รับรางวัลนี้คือ Roman Polanski ที่ข่าวเสียๆหายๆของพี่แกยังไม่ถูกสังคมตั้งข้อครหา แถมเสียงตอบรับภาพยนตร์ An Officer and a Spy (2019) ก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ (แม้ไปคว้ารางวัล Grand Prize จากเทศกาลหนังเมือง Venice ก็ตามเถอะ) ซึ่งพอจู่ๆประกาศเป็นผู้ชนะ สร้างความไม่พึงพอใจให้ผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก Adèle Haenel ถึงขนาดเดินออก (walk out) ไม่ยินยอมรับผลการตัดสินดังกล่าว (ทั้งตัว Polanski และทีมผู้สร้าง An Officer and a Spy ต่างไม่มีใครเข้าร่วมงาน และเมื่อได้รางวัลก็ไร้ผู้รับแทนบนเวที)
มีนักข่าวสัมภาษณ์ถามผู้กำกับ Sciamma ทำไมเสียงตอบรับของหนังในฝรั่งเศสไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่
The critics that didn’t like the film would say that it lacked flesh. They don’t find it erotic. Language tells a lot about a culture, and we don’t have the same culture of critics in France. We are a very center-right country, so the critics are politicized that way. It’s been radically different to the reception here, and kind of everywhere—the film is doing really well throughout Europe. In France we have a very bourgeois industry because we are so privileged. There’s a good side to that, but it’s also conservative and very male-driven, including the critics. They are not all one thing, but generally.
Céline Sciamma
สิ่งที่โดยส่วนตัวหลงใหลคลั่งไคล้สุดของหนัง คือไดเรคชั่นผู้กำกับ Céline Sciamma (และตัวตายตัวแทน Noémie Merlant) ทั้งเรื่องราวที่สะท้อนความโหยหาอาลัย สัมพันธภาพหลังเลิกรา Adèle Haenel โดยเฉพาะความเชื่องช้าที่สร้างความลุ่มร้อน ค่อยๆมอดไหม้ทรวงใน (slow burn)
และฉากสร้างความตราตรีงให้ผมมากสุด คือขณะชุดของ Adèle Haenel จู่ๆติดไฟ ลุกไหม้ ‘Lady on Fire’ แต่กลับไม่ยี่หร่ากับมันสักเท่าไหร่ นั่นเพราะความสนใจของตัวละครกำลังจับจ้องมองบุคคลที่เธอตกหลุมรัก ครุ่นคิดอยากเข้าไปจุมพิต จิตใจเต็มไปด้วยความเร่าร้อนรน จนลุกลามออกสู่ภายนอก … เป็นนัยยะที่ไม่ได้เข้าใจยาก แต่นำเสนอออกมาน่าประทับใจสุดๆเลยละ
แนะนำหนังกับคนชื่นชอบงานศิลปะทุกแขนง (ไม่จำเป็นว่าต้องหลงใหลในภาพวาดเพียงอย่างเดียว), คอหนังรัก เลสเบี้ยน ผู้ชายก็ดูได้ โดยเฉพาะคนเพิ่งอกหัก น่าจะทำให้ความโศกเศร้าผ่อนคลายลงสักเล็กน้อย
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศความโหยหาอาลัย ที่เต็มไปด้วยเพลิงราคะคุกรุ่น มอดไหม้ถึงทรวงใน
Leave a Reply