portrait of jennie

Portrait of Jennie (1948) hollywood : William Dieterle ♥♥♥♥

จากนิยายขายดีของ Robert Nathan กลายมาเป็นภาพยนตร์โรแมนติก แฟนตาซีสุดคลาสสิค โดยโปรดิวเซอร์ในตำนาน David O. Selznick นำแสดงโดย Jennifer Jones และ Joseph Cotten เรื่องราวของจิตรกรไส้แห้งที่ได้พบกับหญิงสาว Jennie และเธอกลายมาเป็นแบบให้กับภาพวาด masterpiece ของเขา

ใครเคยดูหนังเรื่อง The Time Traveler’s Wife (2009) จะพบว่า Portrait of Jennie มีลักษณะคล้ายๆกัน เรื่องราวความรัก โรแมนติก แฟนตาซีและท่องเวลา ผู้แต่งคนละคนกันแต่แนวคิดถือว่าเหมือนเคียงกันมาก (ไม่รู้นักเขียนลองผลงานกันมาหรือเปล่า) ต่างกันแค่สลับเพศ The Time Traveler’s Wife เป็นผู้ชายท่องเวลา ส่วน Portrait of Jennie เป็นผู้หญิงท่องเวลา

ผมชอบหนังเรื่อง The Time Traveler’s Wife นะครับ เป็นหนึ่งในหนังโรแมนติกไม่กี่เรื่องในยุค 2000s ที่ชอบ แต่พอได้มาดู Portrait of Jennie บอกเลยว่าคนละชั้นกันเลย ผมตกหลุมรัก Jennie มากกว่ามากๆ คงเพราะความคลาสสิคของหนัง เทคนิคลูกเล่น วิธีการนำเสนอที่มีชั้นเชิง โดดเด่นกว่า และเนื้อเรื่องยังแฝงแนวคิดบางอย่างที่ลึกซึ้งถูกใจผมมาก แม้จะไม่ถึงกลายเป็นเรื่องโปรด แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องแนะนำให้คนรักหนังหามาดูนะครับ

โดยโปรดิวเซอร์ในตำนาน David O. Selznick หลังจากได้อ่านนิยายเรื่องนี้ของ Robert Nathan วางขายเมื่อปี 1940 เกิดความชื่นชอบจึงได้ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ และให้นักแสดงหญิงรางวัล Oscar: Jennifer Jones รับบทนำ, การดัดแปลงบทภาพยนตร์เริ่มตั้งแต่ต้นปี 1947 แต่ Selznick ไม่พอใจกับบทหนัง จึงได้เปลี่ยนนักเขียนถึง 5 ชุด มาจบลงที่ใช้บทของ Paul Osborn, Peter Berneis และ Leonardo Bercovici ซึ่งบทเสร็จพร้อมหนังเมื่อเดือนตุลาคมปี 1948

William Dieterle ผู้กำกับสัญชาติเยอรมัน อพยพย้ายมาอยู่ hollywood ในช่วงทศวรรษ 30s ทั้งชีวิตไม่เคยได้ Oscar สาขา Best Director แต่หนังเรื่อง The Life of Emile Zola (1937) เข้าชิง 10 สาขา ได้มา 3 รวม Best Picture, หนังดังๆเรื่องอื่นเช่น The Story of Louis Pasteur (1936) และ The Hunchback of Notre Dame (1939), ในช่วงทศวรรษที่ 40s เขาเซ็นสัญญากับโปรดิวเซอร์ David O. Selznick, Dieterle ขึ้นชื่อเรื่องการเล่าเรื่องราวเหนือธรรมชาติ จนได้รับการพูดถึงว่าเป็นคนที่มี Sense เกี่ยวกับการเล่าเรื่องราวเหนือธรรมชาติ “sense of almost supernatural atmosphere”

Jennifer Jones ดาราหญิงสุดฮอตในขณะนั้น เพิ่งได้ Oscar สาขา Best Actress จากหนังเรื่อง The Song of Bernadette (1943) และเข้าชิง Oscar สาขาการแสดงถัดจากนั้น 3 ปีติดๆกัน (ผมว่าเธอโด่งดังพอๆกับ Jenifer Lawrence สมัยนี้เลยละ), ปี 1949 (หลังหนังเรื่องนี้ฉาย) เธอแต่งงานกับ David O. Selznick (แต่งครั้งที่ 2) อยู่ด้วยกันจน Selznick เสียชีวิตในปี 1965, หลังจากได้เริ่มร่วมงานกันในต้นทศวรรษที่ 40s เธอก็แสดงหนังที่สร้างโดย Selznick แทบทุกเรื่อง, สำหรับ Portrait of Jennie ผมรู้สึกบทบาทของเธอเด่นกว่าพระเอกอีก ทั้งๆที่ปรากฏตัวออกมาไม่กี่ฉากเท่านั้น ก็น่ะ ตัวละครของเธอชื่อ Jennie หนังก็ชื่อ Jennie จะไม่ให้เด่นได้ยังไง (ชื่อนี้ไม่ได้มาจากชื่อจริงของเธอนะครับ ในนิยายก็ใช้ชื่อ Jennie) การปรากฎตัวของเธอแต่ละครั้ง เหมือนดั่งลมพายุที่พัดพาความสดชื่นมาให้กับหนัง เป็นสีสัน (ทั้งๆที่หนังถ่ายด้วยภาพขาว-ดำ) ที่โดดเด่น ภาพสีตอนจบ ทำให้เราจดจำใบหน้าของเธอที่กลายเป็นภาพ portrait สุดอมตะ

Joseph Cotten รับบท Eben Adams ศิลปินไส้แห้ง ที่ชอบวาดภาพ Landscape แต่ยังไม่ค่อยมีชื่อเสียง ต้องอยู่แบบงอดๆอยากๆ วันหนึ่งได้พบกับเด็กสาว และเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาวาดภาพ Portrait, เขาเจอเธออีกครั้งวันถัดมา แต่เธอโตขึ้นมา เกิดอะไรขึ้น?, Joseph Cotton ชื่อนี้คอหนังเก่าๆน่าจะคุ้นหน้าบ้างนะครับ เคยเล่นหนังอย่าง Citizen Kane (1941), The Magnificent Ambersons (1942), The Third Man (1949) ทั้งๆที่เป็นสุดยอดนักแสดง แต่ไม่เคยเข้าชิง Oscar สักครั้ง รางวัลเดียวในชีวิตมาจากการแสดงหนังเรื่องนี้ Portrait of Jennie เขาได้รางวัล Volpi Cup สาขา Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Venice

อีกหนึ่งนักแสดงที่ต้องพูดถึง Ethel Barrymore ถึงเธอจะเล่นเป็นสาวแก่ในหนัง Miss Spinney แต่เธอนั้นถือว่าเป็นสุดยอดนักแสดงตั้งแต่ยุคหนังเงียบมาจนถึง Talkie Era ได้รับฉายาว่า “First Lady of the American Theater” เคยขึ้นปกนิตยสาร TIME ด้วย (ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 1924) เธอเป็นอีกหนึ่งนักแสดงที่เราควรรู้จักไว้นะครับ

ถ่ายภาพโดย Joseph H. August ถือว่าโดดเด่นมากๆ, เขาเอาผ้าใบ (Canvas) ที่สามารถมองทะลุได้คลอบเลนส์กล้องขณะถ่าย ทำให้ภาพที่ออกมาเห็นลายเป็น pattern คล้ายกับภาพวาด, ไม่ใช่แค่นั้น การเล่นกับแสงเงา หมอกควัน มืดสว่างก็โดดเด่น ขณะ Jennie เดินหายไปในเงามืด ถ่ายภาพได้สวยมากๆ หรือแสงไฟที่ส่องผ่านหมอกควัน ช่วงท้ายๆฉากที่ท่าเรือ สร้างบรรยากาศที่น่าพิศวง, ช่วงท้ายมีการเล่นสีกับภาพหนัง ผมเห็นสีเขียวกับสีน้ำตาล นี่คงเพื่อแสดงอารมณ์ของ Eben และตอนจบภาพ Portrait ของ Jennie เป็นภาพสี (ทำแบบเดียวกับหนังเรื่อง Andrei Rublev), การถ่ายภาพที่โดดเด่น แน่นอนว่าต้องได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Cinematography: Black-and-White น่าเสียดายไม่ได้รางวัล (แพ้ให้กับ The Naked City), August เสียชีวิตหลังถ่ายหนังเสร็จไม่นานจากโรคหัวใจวาย (Heart Attack) เขาถือเป็นบุคคลสำคัญในวงการถ่ายภาพของอเมริกาเลยนะครับ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง American Society of Cinematographers (ASC)

สถานที่ถ่ายทำหลักคือ Massachusetts และ New York ทั้งๆที่หนังเป็นเรื่องราว Fantasy แต่ Salznick ยืนกรานที่จะใช้สถานที่จริงในการถ่าย, นี่ถือว่าผิดธรรมเนียมหนังในยุคนั้น เพราะถ้าเป็นแฟนตาซี มักจะต้องการสร้างฉาก ถ่ายในสตูดิโอ การไปถ่ายยังสถานที่จริงทำให้หนังใช้งบประมาณเกินไปพอสมควร รวมกับความล่าช้าในบท หนังใช้งบ $4 ล้านดอลลาร์ แต่ทำเงินได้แค่ $1.5 ล้าน ขาดทุนย่อยยับ ทำให้ Salznick ต้องขายสัญญาของผู้กำกับ William Dieterle ให้กับ Paramount Picture ในปี 1949 เพื่อไม่ให้บริษัทล้มละลาย

ตัดต่อโดย William Morgan วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ ผมรู้สึกคล้ายๆ Citizen Kane (1941) และ The Third Man (1949) ความพิศวงของเรื่องราวที่ค่อยๆเปิดเผยออกมาอย่างไม่รีบร้อน ภาพวาดของ Jennie หรือตัว Jennie เองสามารถมองเป็น MacGuffin ก็ได้ (คล้ายๆกับ Rosebud ใน Citizen Kane และตัวละคร Harry Lime ใน The Third Man), สมัยก่อน หนัง hollywood มันจะมีเครดิตขึ้นที่ต้นเรื่องเสมอ แต่ Portrait of Jennie เอาไว้หลังสุด โดยต้นเรื่องขึ้นแค่ Logo ของ The Selznick Studio เท่านั้น นี่น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกๆที่ทำแบบนี้นะครับ

ส่วนที่เป็นแฟนตาซีของหนัง เมื่อคนดูเริ่มคิดได้ว่า Jennie อาจเป็นวิญญาณ หรือคนที่ท่องเวลามาจากในอดีต มันจะคล้ายๆกับหนังเรื่อง Ugetsu Monogatari (1953),จริงๆ Kenji Mizoguchi ได้แรงบันดาลใจในการสร้าง Ugetsu มาจากหนังเรื่องนี้นะครับ คือทำแบบคนดูที่ถ้าไม่รู้ข้อมูลของหนังมาก่อน พอเห็นแล้วก็จะอึ้งไปเลย

เพลงประกอบโดย Dimitri Tiomkin คอมโพเซอร์ชาวรัสเซียในตำนาน เข้าชิง Oscar 22 ครั้ง ได้มา 4 รางวัล, กับ Portrait of Jennie เดิมที Selznick เลือกใช้บริการของ Bernard Herrmann ซึ่งเขาได้แต่ง Jennie’s Theme ไว้แล้ว แต่เพราะการถ่ายทำที่ยาวนานและมีการเปลี่ยนแปลงบทหลายครั้ง Herrmann จึงเริ่มรำคาญและไม่ทำยอมทำให้ต่อ (และคงงบหมดด้วย) ทำให้ไปจ้าง Dimitri Tiomkin โดยเลือกเอาเลือกเพลงของ Claude Debussy มาดัดแปลง ปรับให้เข้ากับหนัง อาทิ Prélude à l’après-midi d’un faune (Prelude to the Afternoon of a Faun), “Nuages” และ “Sirènes” จาก Nocturnes Suite, สำหรับ Jennie’s Theme ก็เอามาที่ Herrman แต่งเอาไว้มาใช้เลย เพลงที่ร้อง “Where I came from, nobody knows, and where I am going everyone goes”

เรื่องราวของหนังคือเล่าถึงการค้นหาแรงบันดาลใจในการวาดภาพของศิลปินคนหนึ่ง กระนั้นมันก็แปลกที่เปิดเรื่องมาหนังพูดถึงการตาย การมีชีวิตและการกำเนิดจักรวาล ตอนผมดูจบย้อนกลับมาทำความเข้าใจฉากเปิดเรื่องอีกรอบ ทำให้เข้าใจเหตุผลที่เกริ่นขึ้นมาแบบนี้เลยนะครับ นี่เป็นหนังที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีชีวิต และเวลา ที่ถือเป็นความพิศวงของจักรวาล ผมไปเจออีกมุมหนึ่งของหนังจากนักวิจารณ์คนหนึ่ง ทีแรกผมก็ไม่สังเกต นางเอกชื่อ Jennie นามสกุล Appleton ส่วนพระเอกชื่อ Eben (น่าจะ Eden นะ ให้มันชัดไปเลย) นามสกุล Adams, เห็นแบบนี้ผมมองหา EVE แต่ไม่เห็นมีใครชื่ออีฟสักคนในหนัง ชื่อตัวละครอื่นๆ อาทิ Mother Mary of Mercy, Matthews ฯ นี่แสดงว่าหนังมีใจความแฝงเกี่ยวกับพระเจ้า สรวงสวรรค์ ความอมตะ (Eternity) แอบซ่อนอยู่

หนังเข้าชิง 2 Oscar ได้มา 1 รางวัลจาก Best Effects, Special Effects นี่ไม่ใช่หนังที่มี Effect อลังการอะไร ผมเห็นมีแค่ฉากฟ้าแลบ และเมฆบนท้องฟ้าที่กำลังรวมตัวกลายเป็นพายุ (ต้นเรื่องกับท้ายเรื่อง), การใส่ Special Effect เหล่านี้เข้าไป เป็นการสื่อถึงพลังอำนาจที่เหนือธรรมชาติ หนังไม่มีคำอธิบายว่า Jennie ย้อนเวลาได้ยังไง (หนังเรื่อง The Time Traveler’s Wife ก็ไม่มีคำตอบนะครับ) นั่นหมายถึงต้องมีอะไรบางอย่างที่เหนือความเข้าใจของมนุษย์ ที่ทำให้ทั้งสองได้เจอกัน ทำไมต้องเป็น Jennie Appleton ทำไมต้องเป็น Eben Adams

ผมไม่เชิงมองว่า Adams เด็ด Apple มากินนะครับ เราสามารถมองได้ว่า Jennie คือ Passion ที่ทำให้ Adams วาดรูป Portrait ของเธอออกมา มันมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจกว่า ผมสังเกตเจอในช่วงท้าย ขณะที่ Eben กำลังจะเดินทางไปที่ Land’s End Light, เขาพบกับชายแก่สองคน คนหนึ่งกำลังต่อเรือ (เหมือนเพื่อเตรียมตัวเดินทางสู่…) การเดินทางของ Eben ไปที่จุดสุดท้ายของชีวิต (End Light) คลื่นลมที่รุนแรงกระแทกเรือชนโขดหินพังทลาย เดินเข้าไปในภัตราคารที่มีบันไดวน (ชีวิตที่วนเวียนเหมือนวัฎจักร) ขึ้นไปบนยอด พอเห็นเรือของ Jennie ก็วิ่งกลับลงมา (ถึงจุดสูงสุดก็ลงมาต่ำสุด), Great Wave (Tsunami) ได้พัดพาทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิต ทรัพย์สิน ตัวตน (จุดสิ้นสุดและจุดเริ่มต้น=การตายและเกิดใหม่), Adams ตื่นขึ้นบนเตียง ด้วยความท้อแท้สิ้นหวัง แต่พอเห็นผ้าพันขอของ Jennie เขาก็เข้าใจความพิศวงของจักรวาลทันที

ภาพวาดของ Jennie วาดโดย Robert Brackman กลายเป็นสมบัติส่วนตัวของโปรดิวเซอร์ Selznick หลังถ่ายหนังเสร็จ, ก็แน่ละ รูปของภรรยา Jennifer Jones จะไม่เก็บอยู่ที่บ้านของเขาได้ยังไง, เห็นว่า Brackman วาดให้ 2 รูป ภาพแรกมีใจความว่า “lush, opulent” ได้จากแนวคิดจากนักเขียนบทชุดแรกๆ (ก่อนที่ Selznick จะเปลี่ยนคนเขียนบทนับครั้งไม่ถ้วน) ภาพนั้นเลยใช้ไม่ได้, Jones เป็นแบบนั่งเฉยๆให้ Brackman วาดภาพถึง 15 วัน ภาพที่ปรากฎเห็นในหนังมี 2 ครั้ง, ครั้งแรกตอนที่ยังวาดไม่เสร็จ ขาดแขนของ Jennie ผมว่าตัวละคร Adams สามารถวาดให้เสร็จได้ แต่เขาจงใจวาดไม่เสร็จ เพราะเหมือนว่าถ้าเขาวาดเสร็จ Jennie จะหายไปไม่กลับมาอีก (ตอนนั้นเขารู้แล้วว่า Jennie อาจเป็นวิญญาณหรือคนที่มาจากอดีต), เห็นอีกครั้งก็ตอนจบเลยนะครับ เป็นภาพสีสันสวยสดใส

หลังจากขาดทุนย่อยยับใน Boxoffice ปี 1948 หนังเรื่องนี้ได้ถูกนำกลับมาฉายใหม่ (re-release) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Tidal Wave ฉายปี 1950 เพื่อต้องการจับกลุ่มเป้าหมายต่างกัน เผื่อจะทำกำไรได้บ้าง แต่เวอร์ชั้นนี้ก็ Flop ดับสนิทเช่นกัน (ก็แน่หละ ไปหรอกคนดูแบบนั้นคงจะขายได้)

ถึง Boxoffice จะเจ้งสนิท แต่ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ underrated มากๆ การแสดงของ Joseph Cotten การันตีด้วย Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Venice บอกได้ว่า หนังต้องมีอะไรไม่ธรรมดาแน่ๆ, ผมหลงรักหนังเรื่องนี้เพราะใจความของหนัง ที่อิงกับวัฎจักรชีวิต การเวียนว่ายตายเกิด การพบเจอและแยกจาก บทสรุปตอนจบ เมื่อ Adams ตื่นขึ้นมาเขารู้ว่า Jennie ได้ตายจากไปนานแล้ว แต่พอเห็นผ้าพันคอของเธอจากตักของ Miss Spinney ทำให้เขาคิดว่า จักรวาลแห่งนี้ช่างพิศวงนัก เขาเจอกับ Jennie ได้ยังไง นี่ไม่ใช่หมายความว่า วิญญาณของเธอยังอยู่ที่ไหนสักที่ เช่น ในภาพวาดของเขา อะไรๆก็อาจเกิดขึ้นได้ ไม่แน่สักวันเขาและเธออาจได้พบกันอีก, นี่เชื่อกับความเข้าใจทางพุทธได้เลยนะครับ เราสามารถมองว่า Adams ได้มองเห็นวัฎจักรชีวิต การเวียนว่ายตายเกิด จักรวาลแห่งนี้มีอะไรอีกเยอะที่เขาไม่ และอย่างที่บอก ไม่แน่สักวันเขาอาจได้พบเจอกับเธออีก

แนะนำหนังกับคอหนังโรแมนติก แฟนตาซี คลาสสิค, นักดูหนังสมัยใหม่ก็น่าจะดูได้นะครับ ภาพขาว-ดำ อาจจะดูยากช่วงแรกๆ แต่ไม่นานก็น่าจะปรับตัวได้ ไม่มีช่วงน่าเบื่อเลย หนังแฝงปรัชญาบางอย่างไว้ด้วย จัดเรต G เด็กๆดูได้ มีพายุ Special Effect ช่วงท้ายนิดหน่อยที่อาจทำให้เด็กตกใจกลัว แต่ก็ไม่น่าวิตกมากนัก

TAGLINE | “Portrait of Jennie คือหนังที่สะท้อนภาพความต้องการ ตัวตนความเข้าใจของมนุษย์ ต่อโลก เวลาและจักรวาล”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE 

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Best of Painter & Artist Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…]  Portrait of Jennie (1948)  : William Dieterle ♥♥♥♥ จากนิยายขายดีของ Robert Nathan กลายมาเป็นภาพยนตร์โรแมนติก แฟนตาซีสุดคลาสสิค โดยโปรดิวเซอร์ในตำนาน David O. Selznick นำแสดงโดย Jennifer Jones และ Joseph Cotten เรื่องราวของจิตรกรไส้แห้งที่ได้พบกับหญิงสาว Jennie และเธอกลายมาเป็นแบบให้กับภาพวาด masterpiece ของเขา […]

%d bloggers like this: