
Possession (1981)
: Andrzej Żuławski ♥♥♥
ผู้กำกับ Andrzej Żuławski ตกอยู่ในอาการคลุ้มบ้าคลั่งเมื่อถูกภรรยาเลิกราหย่าร้าง สรรค์สร้าง Possession (1981) ด้วยการทำให้ฝ่ายหญิงดูอัปลักษณ์ น่ารังเกียจ ขยะแขยงที่สุด ไม่ต่างจากถูกปีศาจร้ายเข้าสิง แต่ใครกันแน่ที่สูญสิ้นความเป็นมนุษย์
เวลาที่ผมรับชมภาพยนตร์ จะมองความตั้งใจของผู้สร้างเป็นหลัก
- ถ้าต้องการสะท้อนปัญหาการเมืองของประเทศ Poland ยุคสมัยนั้นภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่ต่างจากถูก ‘possession’ ควบคุมครอบงำจากสหภาพโซเวียต แล้วทำการเปรียบเทียบหญิงสาว/ภรรยา แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมาเพราะถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง … จากมหภาคสู่จุลภาค มีความน่าสนใจดี
- แต่ในทิศทางกลับตารปัตร ฉันยินยอมรับการเลิกราหย่าร้าภรรยาไม่ได้ จึงสรรค์สร้างงานศิลปะที่ทำให้เธอดูอัปลักษณ์ น่ารังเกียจ ขยะแขยง แล้วทำการเปรียบเทียบการเมืองระดับมหภาค … แบบนี้เรียกว่าเก๋าเจ้ง ชาติหมา ไม่ใช่ลูกผู้ชายนี่หว่า แสดงสันดานว่าเป็นพวก Misogyny (เกลียดชังผู้หญิง)
ผมอยากจะชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้นะ แพรวพราวด้วยเทคนิค ลูกเล่นลีลา อารมณ์บีบเค้นคั้น ทำเอาผู้ชมนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้ แต่เพราะความตั้งใจของผู้กำกับ Żuławski ก้าวล้ำขอบเขตสามัญสำนึกไปไกล งานศิลปะต่อให้เลิศเลอค่าสักเพียงไหน แต่ถ้าไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ มันก็แค่เศษขยะชิ้นหนึ่ง
ครึ่งแรกของ Possession (1981) ชวนให้ผมนึกถึงหลายๆผลงานของ John Cassavetes ขายดราม่าสองนักแสดงนำ Sam Neill และ Isabelle Adjani ใส่อารมณ์กันอย่างไม่ยั้ง สั่นเทือนระดับคลุ้มบ้าคลั่ง จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งหนังเปลี่ยนแปรสภาพมาเป็น (Body) Horror อย่าง(ตอนจบของ) Repulsion (1965), Eraserhead (1977), The Brood (1979) ที่น่าขยะแขยง สะอิดสะเอียด โดยผู้ออกแบบเอเลี่ยน E.T. the Extra-Terrestrial (1982)
Made with an international cast in still-divided Berlin, the movie starts as an unusually violent breakup film, takes an extremely yucky turn toward Repulsion-style psychological breakdown, escalates into the avant-garde splatterific body horror of the ’70s (Eraserhead or The Brood), and ends in the realm of pulp metaphysics as in I Married a Monster from Outer Space.
นักวิจารณ์ J. Hoberman
ปล. ทีแรกผมครุ่นคิดว่าโปสเตอร์หนังคือภาพเมดูซ่า (Medusa) มีงูพิษเป็นผม หากจ้องมองโดยตรงจะถูกสาปให้เป็นหิน (นิทานพื้นบ้านของเขมรมีคำเรียก งูเก็งกอง) แต่แท้จริงแล้วมันคือภาพหญิงสาวกำลังมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด (ตัวเดียวกับในหนังนะแหละ) หนวดสีแดงแลดูเหมือนลิ้น (กำลังเลียหัวนม) พบเห็นแล้วบังเกิดอารมณ์(เหี่ยวหดเสียมากกว่า)
Andrzej Żuławski (1940-2016) นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติ Polish เกิดที่ Lviv ในช่วงเวลาที่สหภาพโซเวียตยึดครอง Poland (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ Ukraine), หลังสงคราม บิดาได้รับแต่งตั้งเป็นทูตที่ฝรั่งเศส (ทำให้พูดฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว) ก่อนย้ายมาอยู่กับย่าที่ Czechoslovakia แนะนำให้รู้จักภาพยนตร์ เกิดความชื่นชอบหลงใหล พอเติบโตขึ้นเลยเดินทาง(กลับฝรั่งเศส)มาร่ำเรียน Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC) สนิทสนม Roman Polański เขียนจดหมายแนะนำ Andrzej Wajda จนมีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วย Samsom (1961), Love at Twenty (1962), The Ashes (1965) ระหว่างนั้นก็มีโอกาสเขียนบท/ทำหนังสั้นฉายโทรทัศน์ และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Third Part of the Night (1971)
ระหว่างสรรค์สร้าง The Third Part of the Night (1971) ผู้กำกับ Żuławski เกี้ยวพาราสีนักแสดงนำ Małgorzata Braunek จนตอบตกลงแต่งงาน มีบุตรชายร่วมกันหนึ่งคน แต่เพราะความเหิ่นห่าง ต่างคนต่างแยกย้ายกันทำงาน เมื่อไม่ค่อยมีโอกาสชิดใกล้ ทำให้เธอขอหย่าร้างเมื่อปี 1976 จบความสัมพันธ์สั้นๆ ระยะเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Żuławski ตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง (deep depression) กอปรกับโปรเจคที่กำลังสรรค์สร้างอยู่ขณะนั้น On the Silver Globe ถูกทางการบีบบังคับให้ยุติการถ่ายทำ แถมยังถูกตีตราขับไล่ ผลักไสออกจากประเทศ Poland ระหว่างกำลังลี้ภัยอยู่ฝรั่งเศสเคยคิดสั้น พยายามกระทำอัตวินิบาต แต่นั่นเองทำให้เขาบังเกิดความครุ่นคิดภาพยนตร์เรื่องใหม่
Żuławski recalled how he once returned home late in the evening and found his five-year-old son Xavier alone in the apartment, smeared with jam, after his wife left him alone for several hours – this scene was directly reflected in Possession.
Renata Kim ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติ Żuławski Ostatnie Słowo (2011) แปลว่า Żuławski’s Last Word
Żuławski ติดต่อหาเพื่อนผู้กำกับ Danièle Thompson เพื่อขอให้ช่วยพัฒนาบทร่างของ Possession ตามคำร้องขอ (คาดว่าคงไม่กล้าจรดปากกา เขียนบทหนังขึ้นด้วยตนเอง) พอได้ความยาว 20 หน้ากระดาษ เดินทางไป New York (ตามคำแนะนำของ Thompson) เพื่อพบเจอนักเขียนชาวอเมริกัน Frederic Tuten ร่วมกันพัฒนาบทจนแล้วเสร็จ
สำหรับงบประมาณของหนัง เป็นการร่วมทุนสร้างระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมันตะวันตก โดยมีสตูดิโอ Gaumont (ฝรั่งเศส) เป็นหัวเรี่ยวแรง เลือกสถานที่ถ่ายทำยังกรุง Berlin (ตรงบริเวณกำแพง Berlin ที่กั้นแบ่งระหว่าง East & West German) และใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร (ภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวของผกก. Żuławski ถ่ายทำเป็นภาษาอังกฤษ)
เรื่องราวของ Mark (รับบทโดย Sam Neill) สายลับเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจ เดินทางกลับบ้านที่ West Berlin แต่หลังพบเจอภรรยา Anna (รับบทโดย Isabelle Adjani) เธอกลับแสดงความต้องการเลิกราหย่าร้าง โดยไม่ให้เหตุผลคำอธิบายใดๆ นั่นสร้างความสับสน มึนงง เกิดปฏิกิริยาเกรี้ยวกราด ถึงขั้นเสพยาเกินขนาด ครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย โชคดีได้บุตรชายทำให้หวนคืนสติ จึงพยายามสืบเสาะค้นหาว่ามันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น
ในตอนแรก Mark ได้พบเจอชู้รัก Heinrich (รับบทโดย Heinz Bennent) เป็นบุคคลท่าทางตุ้งติ้ง รสนิยม(ทางเพศ)แปลกประหลาด แต่ก็ค้นพบว่า Anna ยังมีความลึกลับยิ่งไปกว่านั้น จึงว่าจ้างนักสืบเอกชนให้ออกติดตามหา และสิ่งที่ค้นพบคือสัตว์ประหลาดหน้าตาอัปลักษณ์ มันกำลังร่วมรัก มีเพศสัมพันธ์กับเธอ
Isabelle Yasmina Adjani (เกิดปี 1955) นักร้อง/นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส บิดามีเชื้อสาย Algerian ส่วนมารดาอพยพจาก German พบเจอกันช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เลยตัดสินใจลงหลักปักถิ่นฐานอยู่กรุงปารีส (ทั้งๆต่างก็พูดฝรั่งเศสไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่บุตรสาวพูดได้ทั้งฝรั่งเศส-เยอรมัน) วัยเด็กค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดง สามารถผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนต่อยัง University of Vincennes, มีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Le Petit Bougnat (1970), เริ่มมีชื่อเสียงระหว่างเข้าร่วมคณะการแสดงละครเวที Comédie-Française, แล้วมาแจ้งเกิดโด่งดังกับ The Story of Adèle H. (1975), ผลงานเด่นๆ อาทิ Nosferatu the Vampyre (1979), Possession (1981), Camille Claudel (1988), La journée de la jupe (2009) ฯลฯ
รับบทสองตัวละคร Anna/Helen ที่แม้มีใบหน้าเหมือนเปี๊ยบ (doppelgänger) แต่อุปนิสัยใจคอ พฤติกรรมแสดงออก กลับมีความแตกต่างตรงกันข้าม
- Anna คือภรรยาของ Mark เพราะความเหินห่างทำให้แอบคบชู้ Heinrich แม้แสดงความต้องการเลิกราสามี แต่ก็ยังห่วงโหยหาบุตรชาย จึงหวนกลับมาเยี่ยมเยือนบ่อยครั้ง และเมื่อพบเจอเขาก็ไม่สามารถควบคุมสติ อารมณ์ ‘hysteria’ แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมาบ่อยครั้ง แต่สาเหตุผลแท้จริงนั้นเกิดจากการเสพติดเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด มอบความสุขกระสันต์เหนือกว่ามนุษย์ผู้อื่นใด
- Helen ครูสอนหนังสือผู้มีความสุภาพอ่อนน้อม แสดงเป็นห่วงเป็นใย Mark และบุตรชาย คอยให้การช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาระยะห่างความสัมพันธ์ จนกระทั่ง…
ใครที่เคยรับชมผลงานการแสดงของ Adjani น่าจะมักคุ้นกับบทหญิงสาวหน้าตาสวยใส อ่อนวัยไร้เดียงสา แต่ภายในซุกซ่อนเร้นตัณหาราคะ ระริกระรี้แรดร่าน สวยสังหาร! แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีครั้งไหนแสดงอาการกรีดกราย คลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณไปมากยิ่งกว่า Possession (1981) ทั้งๆไม่ได้ถูกปีศาจร้ายตนใดเข้าสิง กลับสามารถสร้างความหลอกหลอน สั่นสะท้านทรวงใน ไปจนถึงจุดที่หมดสูญสิ้นความเป็นมนุษย์
a dervish of unrestrained emotion and pure sexual terror.
นักวิจารณ์ Tom Huddleston จาก TIMEOUT
นักวิจารณ์ตั้งชื่อฉากเริงระบำ(ในสถานีรถไฟ)ได้ไพเราะมากๆว่า “aria of hysteria” [Aria คือบทร้องเดี่ยว สำหรับให้ตัวละครเพียงหนึ่งเดียวร้องในการแสดงอุปรากร] เพื่อแสดงถึงการฉายเดี่ยว แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งเพียงตัวคนเดียว ได้อย่างโคตรๆๆเซอร์เรียล (Surreal) เหนือล้ำจินตนาการ … ว่ากันว่าฉากนี้สูบวิญญาณของ Adjani ถึงขนาดทำให้เธอคิดสั้นจะฆ่าตัวตายหลังถ่ายทำหนังเสร็จ (ได้รับการยืนยันจากผู้กำกับ Żuławski ว่าเป็นเรื่องจริง!)
There were two takes. This scene was filmed at five in the morning, when the subway was closed. I knew it was worth a lot of effort for [Adjani], both emotionally and physically, because it was cold there. It was unthinkable to repeat this scene endlessly. Most of what’s left on the screen is the first take. The second take was made as a safety net, as is customary when shooting difficult scenes, for example, in case the laboratory spoils the material.
Andrzej Żuławski
บทสัมภาษณ์ของ Adjani หลายปีให้หลัง บอกเล่าว่าไม่รับรู้ตนเองเหมือนกัน ตอนนั้นยินยอมตกลงแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างไร! มันเป็นประสบการณ์ยากจะลืมเลือน ติดค้างคาอยู่ในจิตวิญญาณอยู่นานหลายปี ปฏิเสธรับบทบาทลักษณะเดียวกันนี้อย่างเข็ดหลากจำ
‘Possession’ is only the type of film you can do when you are young. He [Żuławski] is a director that makes you sink into his world of darkness and his demons. It is okay when you are young, because you are excited to go there. His movies are very special, but they totally focus on women, as if they are lilies. It was quite an amazing film to do, but I got bruised, inside out. It was exciting to do. It was no bones broken, but it was like, ‘How or why did I do that?’ I don’t think any other actress ever did two films with him.
Isabelle Adjani
Nigel John Dermot Neill หรือ Sam Neill (เกิดปี 1947) นักแสดงสัญชาติ New Zealand เกิดที่ Omagh, Northern Ireland พออายุได้ 7 ขวบ ย้ายตามครอบครัวสู่ New Zealand โตขึ้นเข้าเรียนวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่ University of Canterbury จบโทที่ Victoria University, ต่อมาเกิดความสนใจในภาพยนตร์ ได้รับบทนำเรื่องแรก Sleeping Dogs (1977), กลายเป็นลูกศิษย์ของ James Mason มีผลงานระดับนานาชาติเรื่องแรก Omen III: The Final Conflict (1981), Possession (1981), Evil Angels (1988), Death in Brunswick (1990), The Hunt for Red October (1990), Jurassic Park (1993), The Piano (1993) ฯ
รับบท Mark สายลับทำภารกิจเสียสละเพื่อชาติมาหลายปี ถึงเวลาที่จะหวนกลับหาความสุขใส่ตัว ใช้เวลาเคียงคู่กับภรรยา แต่เธอกลับพยายามพูดบอกเลิกร้างรา นั่งสร้างความสับสน ว้าวุ่นวายใจ บังเกิดอาการเกรี้ยวกราดขึ้นภายใน ถึงขนาดเคยครุ่นคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่เพราะบุตรชายจึงสามารถเอาตัวรอดชีวิตมาได้ หลังจากนั้นจึงพยายามสืบเสาะหาความจริง ค่อยๆเรียนรู้จักสิ่งต่างๆรอบข้าง และเมื่อกำลังจะยินยอมโอบกอดรัดความสัมพันธ์ระหว่าง Anna กับปีศาจร้าย กลับกลายเป็นว่า …
ภาพจำของ Neill เป็นคนติ๋มๆ ดูอบอุ่น สุภาพอ่อนน้อม พร้อมยินยอมเสียสละตนเองเพื่อครอบครัว แต่เมื่อไหร่ถูกทรยศหักหลัง ก็สามารถแสดงบทบาทอันเกรี้ยวกราด คลุ้มบ้าคลั่ง พร้อมจะใช้กำลัง ความรุนแรง ปะทุระเบิดสิ่งชั่วร้ายภายในออกมา … มาครุ่นคิดดูตอน The Piano (1993) ก็เคยแสดงบทบาทคล้ายๆเดียวกันนี้ แต่เทียบไม่ติดกับ Possession (1981) อย่างแน่นอน!
I call it the most extreme film I’ve ever made, in every possible respect, and he asked of us things I wouldn’t and couldn’t go to now. And I think I only just escaped that film with my sanity barely intact.
Sam Neill ยกให้ Possession (1981) คือภาพยนตร์เรื่องโปรดที่มีโอกาสแสดงนำ
ตัวละครนี้ถือเป็นตัวตายตัวแทนของผู้กำกับ Żuławski ทุกสิ่งอย่างที่ประสบพบเจอ ล้วนสะท้อนเหตุการณ์จริง ประสบการณ์ตรง ทั้งเรื่องความรุนแรง เสพเล่นยา คิดสั้นฆ่าตัวตาย ฯลฯ ชีวิตช่างโชกโชน โชกเลือด กว่าจะสามารถยินยอมรับสภาพความจริง ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนั้น ก็แทบสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปแล้ว
ถ่ายภาพโดย Bruno Nuytten (เกิดปี 1945) ตากล้อง/ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส เข้าสู่วงการจากการเป็นผู้ช่วยตากล้อง Ghislain Cloquet, หนังสั้น, ภาพยนตร์ อาทิ India Song (1975), Possession (1981), Jean de Florette (1986) ฯลฯ
สไตล์ของ Żuławski จะมีงานภาพที่ขยับเคลื่อนไหวอยู่แทบตลอดเวลาด้วยกล้อง Steadicam ติดตามตัวละคร บางครั้งก็หมุนวนรอบ ซูมเข้า-ซูมออก ก้มๆเงยๆ บิดๆเบี้ยวๆ เน้นระยะ Medium Shot เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงอารมณ์/ความรู้สึก(ของตัวละคร)ที่ผันแปรเปลี่ยนไป … รับชมหนังของ Żuławski สร้างความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนเรี่ยวแรง เหตุผลหนึ่งก็เพราะลีลาการเคลื่อนกล้องที่แทบจะไม่เคยหยุดอยู่นิ่งนี่แหละ ทำให้รู้สึกเหมือนถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา
นอกจากความโดดเด่นด้านเทคนิคลีลา หนังยังถูกปรับให้มีโทนสีน้ำเงิน บางครั้งก็เขียวแก่ๆ ออกซีดๆ ดูหมองหม่น เพื่อมอบสัมผัสอันหนาวเหน็บ เหือดแห้งแล้ง แทนความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังของตัวละคร ไร้ความสดชื่น ไร้สีสัน ไร้ชีวิตชีวา
การถ่ายทำหนังยัง West Germany ในอพาร์ทเม้นท์ที่อยู่ติดกับกำแพง Berlin สร้างบรรยากาศ/ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเลยสักนิด! บางครั้งยังมีการแอบถ่ายทหารที่อยู่อีกฟากฝั่ง เพื่อบอกว่าอย่าริอาจทำอะไรแผลงๆ อย่างเช่นก้าวข้ามผ่านเส้นแบ่งแยกพรมแดน … แต่เอาจริงๆผู้กำกับ Żuławski สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก้าวข้ามสามัญสำนึกไปไกลโข
- 87 Sebastianstraße, Kreuzberg อพาร์ทเม้นท์ของสัตว์ประหลาด เห็นว่าปัจจุบันตึกหลังนั้นก็ยังคงตั้งตระหง่าน
- สถานีรถไฟใต้ดิน Platz der Luftbrücke ปัจจุบันก็ยังคงเปิดให้บริการ มีสภาพแทบไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่
Opening Credit เริ่มต้นร้อยเรียงภาพการเดินทางเลียบกำแพง Berlin มาจนถึงหน้าอพาร์ทเม้นท์ แต่สถานที่แห่งนี้มีลักษณะสองตึกตั้งฉาก แล้วกล้องค่อยๆเคลื่อนไหลจากฟากฝั่งหนึ่งไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง ล้วนสื่อถึงการแบ่งแยก แตกต่าง ความสัมพันธ์ที่เหินห่างระหว่าง Mark และ Anna แม้แต่บนเตียงภายหลังเพศสัมพันธ์ เหมือนมีบางสิ่งอย่าง(มองไม่เห็น)กีดกั้นขวางพวกเขาไว้ (กล้องเคลื่อนไหลจากฝั่งซ้ายของเตียง ไปฝั่งขวาของเตียง Anna → Mark)
ไม่ ใช่แค่ลีลาภาษาภาพยนตร์เท่านั้นนะครับ บทเพลงประกอบก็ร่วมด้วยช่วยสร้างบรรยากาศลึกลับ เหมือนมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นไว้ บอกใบ้ถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้พังทลาย จู่ๆทุกสิ่งอย่างก็ล่มสลายโดยไม่ทันรับรู้ตัว



ลีลาการถ่ายภาพของหนังคือให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่มากๆ อย่างฉากนี้ที่แม้มีเพียง Mark สนทนากับหัวหน้าสายลับอยู่ในมุมเล็กๆ แต่กล้องกลับเคลื่อนไหลไปรอบๆห้อง ราวกับพวกเขาคือศูนย์กลางจักรวาล สนเพียงจะครอบครองความยิ่งใหญ่ เหนือใคร ใต้หล้า
แต่ไม่รู้ทำไมฉากนี้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Mother Joan of the Angels (1961) จะมีฉากที่แม่อธิการ Mother Joan เมื่อ(แสร้งว่า)ถูกปีศาจร้ายเข้าสิง เธอเดินย่องย่าง ค่อยๆคืบคลาน ลัดเลาะเลียบผนังอารามชี ก่อนตรงรี่เข้ามาเผชิญหน้าบาทหลวง Józef Suryn ซึ่งสาเหตุที่ต้องอ้อมค้อมก็เพื่อสร้างบรรยากาศอันหลอกหลอน สิ่งชั่วร้ายมักอาศัยอยู่ปลายขอบ(ทางศีลธรรมของมนุษย์)

การอ้างอิงหนังสือแบบนี้นี่มันสไตล์ Godardian ชัดเจนมากๆๆ นอกจาก Holy Bible เล่มอื่นๆที่ตัวละหยิบขึ้นมา ล้วนเกี่ยวกับศาสนา การฝึกจิตใจให้สงบ ซึ่งตรงกันข้ามกับเรื่องราวในหนังที่เต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่ง … คงเป็นการแนะนำหนังสือสำหรับให้ปล่อยวางจากความหมกมุ่นยึดติด กระมัง
- Die Kultur Des Zen (1977) แปลว่า The Culture of Zen เขียนโดย Thomas
- Religious life of the Japanese people (1961) เขียนโดย Masaharu Die
- Welt des Tantra in Bild und Deutung แปลว่า The world of tantra in image and interpretation เขียนโดย Mookerjee Ajit และ Madhu Khanna

Taj Mahal อนุสรณ์แห่งความรักทัชมาฮาล สร้างขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดิชาห์ชะฮัน (Shah Jahan) อุทิศให้จักรพรรดินีผู้ล่วงลับ มุมตาซ มหัล (Mumtaz Mahal) … นี่เป็นการบอกใบ้ถึงความตาย คงเป็นบางสิ่งอย่างภายใน(ความรัก)ที่สูญสิ้นไป
I’ve seen half of God’s face here. The other half is you.
Heinrich
ทีแรกผมครุ่นคิดว่า Anna เขียนจดหมายนี้ส่งมาให้ Mark แต่กลับเป็นชู้รัก Heinrich พร่ำบอกรัก เธอคือนางฟ้าของฉัน … ในความเป็นจริงนั้นเหมือนจะกลับตารปัตรตรงกันข้ามเสียมากกว่า เพราะเมื่อหญิงสาวมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด นั่นน่าจะคือปีศาจ/ซาตาน (ไม่ใช่พระเจ้า)
อีกสิ่งน่าสนใจคือครึ่งใบหน้าด้านหลัง มันไม่ได้แบ่งซ้ายขวาอย่างที่ใครหลายคนคาดคิดกัน แต่กลับเป็นส่วนบน-ล่าง หน้าผากของ Mark น่าจะคือส่วนของพระเจ้ากระมัง

ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องอื่น การแบ่งแยกสองตัวละครออกจากกันมักต้องมีอะไรมาคั่นแบ่ง หรือใช้สองสิ่งแสง-สี การจัดองค์ประกอบภาพที่แตกต่างตรงกันข้าม แต่วิธีการของผู้กำกับ Żuławski ใช้แนวคิดของ ‘Isometric’ ในลักษณะของสามมิติ (ใครเรียนวิศวะหรือเคยเขียนแบบ น่าจะรับรู้จักเทคนิคดังกล่าวเป็นอย่างดี) หลายช็อตๆจึงมีลักษณะเอียงๆ 30-45 องศา สร้างความรู้สึกบิดๆเบี้ยวๆ แต่แท้จริงแล้วคืออัตราส่วนสมมาตรที่สุด
เกร็ด: คำว่า ISO มาจากภาษากรีกแปลว่า เท่ากันหรือเหมือนกัน, Metric หมายถึง หน่วยการวัด, เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันเป็น Isometric จึงหมายถึง ภาพสามมิติ ที่มีด้านเท่ากันทุกด้าน และมีขนาดเท่ากับของจริง
อย่างการเผชิญหน้าระหว่าง Mark และ Anna ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง จริงๆเรียกเผชิญหน้าคงไม่ถูกเพราะต่างฝ่ายต่างนั่งคนโต๊ะ หันคนละทิศทาง ปฏิเสธมองหน้าสบตา ต้องการแยกย้ายจากไป แต่เพราะยังมีบางสิ่งอย่างฉุดเหนี่ยวรั้งเอาไว้ จึงยังคงนั่งเก้าอี้/โซฟาเดียวกัน

วินาทีแห่งการเมายา/คิดสั้นฆ่าตัวตายของ Mark กลิ้งไปกลิ้งมาบนเตียง ตัวสั่นๆ ชักกะตุก ดิ้นแด่วๆ น่าจะทำให้ใครหลายคนตระหนักถึงชื่อหนัง Possession ในบริบทนี้ไม่จำเป็นว่าต้องสื่อถึงการถูกผีเข้า หรือปีศาจร้ายตนใดเข้าสิงสถิตย์ แต่คืออาการของบุคคลไม่สามารถควบคุมตนเอง ปล่อยอารมณ์/ความรู้สึกเข้าควบคุมครอบงำจนสูญเสียสติสัมปชัญญะ ไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ กระทำสิ่งต่างๆโดยไร้สามัญสำนึกความเป็นมนุษย์ สภาพไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน
แซว: มันจะมีท่าชักกะตุกหนึ่งที่ทำเอาผมขำกลิ้งจนตกเตียง เพราะท่วงท่ากำหมัดแล้วชักขึ้นชักลง มันท่วงท่าช่วยตนเอง (Masterbates) ซึ่งเหตุผลที่ Mark แสดงอาการเช่นนี้เพราะยังโหยหารสรักจากภรรยา กระมัง

สิ่งที่ทำให้ Mark (และผู้กำกับ Żuławski) สามารถหวนกลับคืนสติจากอาการผีเข้า นั่นคือการพบเห็นบุตรชาย ใบหน้าเปลอะเปลื้อนคราบสีแดง แวบแรกใครต่อใครคงหัวใจหล่นสู่ตาตุ่ม ครุ่นคิดว่านั่นคือเลือด ใครเป็นอะไรหรือเปล่า แต่แท้จริงแล้วก็แค่แยมสตรอเบอร์รี่ (และช็อกโกแล็ต) รับประทานอย่างมูมมามตามประสาเด็กยังเล็ก
แม้เป็นเพียงแค่ความเข้าใจผิด (สตรอเบอร์รี่ผู้โชคร้าย) แต่มันก็ทำให้ตัวละคร/ผู้กำกับ และผู้ชมหลายคนตระหนักถึงภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบของตนเองต่อบุตรหลาน ถ้าฉันเป็นอะไรไปแล้วใครจะเลี้ยงดูแล หลงลืมไปชั่วครู่ ก็ยังดีกว่าละทอดทิ้งให้กลายเป็นปัญหาสังคม

แม้ Mark จะล้มเลิกแผนการครุ่นคิดฆ่าตัวตาย (เพราะบุตรชายทำให้ตระหนักได้) แต่คราใดเมื่อต้องพบเจอ Anna เขายังโกรธเกลียดเคียดแค้น เต็มไปด้วยความว้าวุ่น กระวนกระวาย ผมชอบมากๆกับฉากนี้ที่เขานั่งโยกเก้าอี้ไปมาอย่างสุดแรง (แทนสภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร) ตรงกันข้ามกับภรรยายืนอยู่นิ่งๆ
แซว: ช่วงกลางเรื่องเมื่อ Mark ติดต่อว่าจ้างนักสืบเอกชน เก้าอี้ที่นั่งสามารถหมุนซ้าย-หมุนขวา ก็สามารถแทนความว้าวุ่น กระวนกระวายได้เช่นเดียวกัน
ต่อมาเมื่อ Anna พยายามจะดิ้นหลบหนี Mark ก็ลุกขึ้นเดินวนไปวนมารอบตัวเธอ พยายามพูดคำโน้มน้าว ปากบอกตนเองยกโทษให้อภัย แต่กลับพยายามชี้นิ้วออกคำสั่ง บีบบังคับให้อีกฝ่ายกระทำตาม เห็นเธอเป็นเพียงเงามืด สิ่งมีชีวิตที่เพียงรอคอยการถูกควบคุมโดยใครอื่น


ครูโรงเรียนอนุบาล Helen แทบจะถอดแบบพิมพ์เดียวมาจาก Anna พวกเธอเป็นพี่น้องกันหรือเปล่า? ทำไมหน้าตาเหมือนเปะกันขนาดนี้? (จริงๆแตกต่างตรงสีผม และสีของดวงตา) ลักษณะดังกล่าวนี้มีคำเรียกว่า doppelgänger ใครเคยรับชม The Third Part of the Night (1971) ผู้กำกับ Żuławski จักกล่าวว่านั่นคือ ‘ปาฏิหารย์’
แรกพบเจอ Helen สังเกตว่าเธอนั่งยองๆพูดคุยกับเด็กๆ นั่นถึงอุปนิสัยสุภาพอ่อนน้อม บริสุทธิ์ผุดผ่อง (เหมือนเด็กๆไร้เดียงสาเหล่านี้) ขณะเดียวกันเมื่อเทียบตำแหน่งของ Mark มันจะพอดิบพอดีตรงเป้ากางเกง เรียกว่ายินยอมศิโรราบ พร้อมทำตามทุกอย่าง จนมีนักวิจารณ์ให้คำเรียกตัวละครนี้ ‘Ideal Housewife’ อุดมคติจนเขาไม่กล้าสัมผัสแตะต้อง

Heinrich (รับบทโดย Heinz Bennent) เป็นตัวละครที่ต้องถือว่าแปลกประหลาด ตั้งแต่ถ้อยคำพูดมีความลึกล้ำสลับซับซ้อน (จนฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง) ท่าทางขยับเคลื่อนไหว ใช้มือพยายามสัมผัส/ลวนลามคู่สนทนา จนอาจสร้างความสับสนในอัตลักษณ์ทางเพศ หมอนี่ชายหรือหญิง หรือได้ทั้งชายและหญิง
ตัวละครนี้คือชู้รักของ Anna ที่ยังมีรูปร่างหน้าตาเป็นมนุษย์ แต่คารม ลีลา และบางครั้งก็เล่นยาเพื่อมอบประการณ์ทางเพศสูงสุดให้กับหญิงสาว … คงต้องถือว่า Heinrich เป็นชายสมบูรณ์แบบ ‘perfect male’ พระเอกของเราไม่มีทางต่อกรใดๆ
แซว: หลังจากผมขบครุ่นคิดมาสักพักก็ตระหนักว่า ลีลาการใช้มือของ Heinrich มีลักษณะคล้ายๆหนวดของสัตว์ประหลาด สัมผัส โอบกอด ลูบไล้ กล่าวคือพยายามควบคุมครอบงำ รุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล หรือใช้คำว่า ‘ลวนลาม’ คงไม่ผิดอะไร


การโต้ถกเถียงระหว่าง Mark กับ Anna ค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจากในอพาร์ทเมนท์ ก้าวออกมาบนท้องถนน (ยังบริเวณที่กำลังปิดปรับปรุงซ่อมแซม=รอยร้าวความสัมพันธ์) แต่ขณะที่เธอพยายามเดินหลบหนี เฉี่ยวชนรถบรรทุกจนรถเศษเหล็กที่อยู่ด้านหลังตกหล่นลงมา (รถเศษเหล็ก สะท้อนสภาพป่นปี้ภายในจิตใจของทั้งสองตัวละคร)
วินาทีเฉียดตายนั้นเองทำให้ Anna ถอดแว่นตาดำ หยุดอาการคลุ้มบ้าคลั่ง แล้วเดินกำหมัดไปทางด้านหลัง ดูราวกับการสยายปีก โบยบินจากไป (เหมือนตนเองได้รับอิสรภาพอะไรสักอย่าง) ตรงกันข้ามกับ Mark กำหมัดไว้เบื้องหน้า แสดงอาการอึดอัดอั้น แล้วหันกลับเข้าอพาร์ทเมนท์ พร้อมเสียงเด็กๆเฮลั่นหลังเลิกโรงเรียน (เหมือนประกาศชัยชนะอะไรสักอย่าง)



เพื่อล้อกับชายสมบูรณ์แบบ Heinrich/ชู้รักของ Anna หญิงสาวที่ Mark แอบไปมีความสัมพันธ์ด้วยนั้นคือ Sara เธอประสบอุบัติอะไรสักอย่างจึงต้องเข้าเฝือกขา ท่าเดินกระโผกกระเผก ตรงเข้าโอบกอด ยั่วเย้า จะถอดเสื้อผ้าเขาตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าตึก … ถือเป็นหญิงสาวที่ไม่สนอะไรไปมากกว่าเติมเต็มตัณหาราคะ ความต้องการทางเพศของตนเองและ Mark
หลายคนอาจเริ่มสับสนแล้วว่า Helen ควรเป็นขั้วตรงข้ามของ Heinrich ไม่ใช่หรือ?? แต่การแบ่งแยกแยะที่หนังพยายามนำเสนอน่าจะประมาณนี้นะครับ
- Mark แต่งงานกับ Anna
- (รูปธรรม) คบชู้กับ Sara หญิงขาพิการ แต่มีความต้องการทางเพศสูง ยั่วเย้ายวนเขาทุกครั้งเมื่อพบเจอกัน
- (นามธรรม) แอบชื่นชอบ Helen ใบหน้าเหมือนเปี๊ยบกับ Anna (doppelgänger) ถือเป็นหญิงสาวในอุดมคติ ‘ideal housewife’ จึงพยายามรักษาระยะห่างความสัมพันธ์ ให้ความเคารพรัก และไม่เคยเกินเลยเถิดจนมีเพศสัมพันธ์
- Anna แต่งงานกับ Mark
- (รูปธรรม) คบชู้กับ Heinrich ชายสมบูรณ์แบบ ที่สามารถเติมเต็มตัณหาราคะด้วยลีลาอันเล่าร้อนรุนแรง
- (นามธรรม) มีเพศสัมพันธ์อย่างเร่าร้อนรุนแรงกับสัตว์ประหลาด ‘sex machine’ โดยไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น แต่ถ้าใครเข้ามาบุกรุกราน ก็พร้อมเข่นฆาตกรรมให้ตกตาย และเจ้าสัตว์ประหลาดนี้เหมือนจะวิวัฒนาการกลายเป็น doppelgänger ของ Mark (ท้ายสุดอาจได้ครอบครองรักกับ Helen)


การทะเลาะเบาะแว้งในห้องครัว สร้างบรรยากาศที่อันตรายโคตรๆ เพราะเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ถึงเลือดถึงเนื้อ ทั้งคมมีด เครื่องบด เครื่องปั่น เตาแก๊สก็ไม่ปลอดภัยเท่าไหร่ ฯลฯ แถมตัวละครทั้งสองยังโยกไปโยกมา เถียงกันอย่างขาดสติสัมปชัญญะ เสียวสันหลังว่าใครบางคนอาจนำเครื่องครัวมาใช้เป็นอาวุธทำร้ายกัน
สำหรับเครื่องบดเนื้อที่กำลังไหลย้อยออกมานี้ สามารถสื่อถึงความขัดแย้งของทั้งสองที่ทำให้ภายใน/สภาพจิตใจเหมือนถูกบดขยี้ แหลกละเอียด ไม่เป็นชิ้นดี (ก็เหมือนรถเศษเหล็กที่ตกหล่นจากรถบรรทุกในฉากก่อนหน้า) และเมื่อเอามีดกรีดแขนไม่ช่วยอะไร (เพลงอกหัก, Bodyslam) เรียกว่าสูญเสียความรู้สึกใดๆที่เคยมีต่อกัน

ขณะที่อพาร์ทเม้นท์ของ Mark มีความเลิศหรู อยู่สบาย สไตล์ทันสมัย (Modern) เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ (= West Germany) ตรงกันข้ามกับห้องพักของ Anna มีสภาพราวกับโบราณสถาน เก่าแก่ ชำรุดทรุดโทรม ภายในเพียงห้องโล่งๆ ไม่มีอะไรนอกจากเตียงรกๆ ฝุ่นตลบอบอวล (= East Germany)
สภาพภายในอพาร์ทเม้นท์ สามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์/สภาพจิตใจตัวละครขณะนั้นๆ รวมถึงสมาชิกอยู่ร่วมอาศัย, สำหรับ Anna ที่แทบไม่อะไร เพียงเตียงนอน หมอน ผ้าห่ม และสัตว์ประหลาด (ไม่สนอะไรอื่นนอกจากประกอบกามกิจ) เมื่อใครพยายามบุกรุกเข้าไป ก็จักถูกเข่นฆาตกรรม จับแช่ตู้เย็น สำหรับบริโภคเป็นอาหาร



สถานภาพทางเพศของนักสืบทั้งสอง มีการพูดออกอย่างอ้อมๆว่าคือชายรักชาย (Homosexual) ผลลัพท์ทำให้เมื่อพวกเขารุกรานเข้ามายังอพาร์ทเม้นท์ของ Anna ต่างถูกเข่นฆาตกรรมให้ตกตาย
นี่แทบไม่ต้องครุ่นคิดตีความอะไร คือการแสดงทัศนะอย่างชัดเจนของผู้กำกับ Żuławski ว่ารังเกียจเดียดชังกลุ่มคนรักร่วมเพศ (Anti-Homosexual) และมันจะมีช็อตที่นักสืบและ Anna เดินเข้าประตูห้องสัตว์ประหลาดมาพร้อมกัน แสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเหล่านี้นั้นอัปลักษณ์ น่ารังเกียจขยะแขยง หมกมุ่นมักมากในกามคุณ ไม่แตกต่างจากปีศาจร้ายเข้าสิง


Mark ได้รับม้วนฟีล์มจาก Heinrich พอนำมาเปิดชม เริ่มต้นพบเห็นการบันทึกภาพตนเอง (=ภาพยนตร์เรื่องนี้คือกึ่งๆอัตชีวประวัติผู้กำกับ Żuławski) จากนั้นถ่ายทำ Anna กำลังทำการสอนสาวๆ ฝึกซ้อมเต้น ยืดแข้งยืดขา ซึ่งจะมีเด็กหญิงคนหนึ่งที่เธอพยายามพูดกดดัน บีบบังคับ เค้นคั้นให้แสดงศักยภาพออกมา แต่ผลลัพท์กลับทำให้เธอเจ็บปวดทั้งร่างกาย-จิตใจ มิอาจอดรนทน จนวิ่งหลบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้
เราสามารถเปรียบเทียบการกระทำของ Anna ไม่แตกต่างจากผู้กำกับ Żuławski พยายามบีบเค้นคั้นนักแสดงให้นำเอาศักยภาพ ความสามารถ (ด้านการแสดง) กลั่นออกมาจนถึงขีดสุด ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ!


ฉากถือเป็นไฮไลท์ ขีดที่สุดการแสดงของ Isabelle Adjani ย่อมหนีไม่พ้น “Aria of Hysteria” เริ่มต้นจาก Anna จับจ้องมองพระเยซูคริสต์ ไม่รู้กำลังครุ่นคิดอธิษฐานอะไร (หรือบังเกิดอารมณ์ทางเพศก็ไม่รู้นะ) แต่ระหว่างทางกลับอพาร์ทเม้นท์ ยังสถานีรถไฟใต้ดิน ราวกับถูกวิญญาณเข้าสิง ‘possession’ แต่ก็ไม่รู้ปีศาจหรือพระเป็นเจ้าที่พยายามขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากครรภ์ของเธอ (ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานแบบเดียวกับพระเยซูคริสต์)
I told Adjani to fuck the air.
Andrzej Żuławski
นี่เป็นฉากที่สูบทั้งร่างกายและจิตวิญญาณของ Adjani เพราะต้องถ่ายทำถึงสองเทค (เผื่อเอาไว้ถ้าเทคแรกมีปัญหา จะได้ใช้เทคสอง) ใส่อารมณ์ กรีดกราย เริงระบำอย่างสุดเหวี่ยง (ล้อกับที่ว่าตัวละครเป็นครูสอนเต้นบัลเล่ต์) เพื่อนำไปสู่ไคลน์แม็กซ์ของฉากนี้คือน้ำสีขาวๆไหลนองออกมาจากช่องคลอด … บางคนมองว่าคือการแท้งลูก (ที่มีกับสัตว์ประหลาด) แต่ส่วนใหญ่ครุ่นคิดว่าน้ำกามไหลหลั่ง


ภายในอพาร์ทเม้นท์ของ Mark จากเคยสะอาดเอี่ยมอ่อง จัดข้าวของเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่เมื่อภรรยาเลิกราหย่าร้าง สิ่งข้าวของก็เริ่มกระจัดกระจาย เรียงรายเกลื่อนกราด ไร้บุคคลคอยจัดเก็บ ทำความสะอาด ก็แทนที่จะว่าจ้างแม่บ้าน … นั่นเพราะผู้กำกับต้องการแสดงให้ถึงสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจของตัวละคร (=สภาพภายในอพาร์ทเม้นท์) รวมถึงอาการผิดๆแผกๆของ Anna เอามือบิดๆถูๆ แสดงท่าทางรังเกียจขยะแขยง ไม่ยินยอมให้เขาสัมผัสจับต้องอีกต่อไป
แซว: ขณะที่โทนสีในอพาร์ทเม้นท์คือน้ำเงิน อันแห้งแล้ง หนาวเหน็บ แต่เจ้าโทรศัพท์กลับเป็นสีแดงโดดเด่นขึ้นมา ถ้าใครช่างสังเกตก็จะพบว่ามันเป็นเครื่องมือสื่อสารโลกภายนอก ที่มักนำพาเรื่องร้ายๆ ข่าวสารไม่ค่อยอยากรับฟัง ค่อยๆทำให้ห้องพักมีสภาพอย่างที่พบเห็น


ความตายของสองชู้ (ชายสมบูรณ์แบบ vs. หญิงไม่สมประกอบ) ต่างมีลักษณะน่าสมเพศเหลือทน
- Heinrich ถูก Mark จับกดศีรษะลงในโถส้วมห้องน้ำ สถานที่สำหรับถ่ายสิ่งปฏิกูล ของเสีย แสดงถึงความต่ำตม สกปรกโสมม ตกตายโดยปราศจากลมหายใจ
- Sara ดูจากร่อยรองแผล น่าจะเกิดจากถูก Anna กรีดคอจนเลือดอาบ ยังลิฟท์ที่เคลื่อนลงมายังชั้นล่าง ไม่ต่างจากนางฟ้าตกจากสรวงสวรรค์ สูญเสียความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง


หลังจาก Mark เข่นฆ่าชายชู้ Heinrich, Anna เชือดคอหญิงชู้ Sara, ต่างฝ่ายต่างกลายเป็นปีศาจร้าย สูญสิ้นความเป็นมนุษย์ จึงสามารถมองตารู้ใจ หวนกลับมาคืนดี ยินยอมให้สัมผัสลูบไล้ และมีเพศสัมพันธ์ร่วมกันได้อีกครั้ง! สังเกตว่าเริ่มจากขณะยืน พอสำเร็จกามกิจก็นอนราบกับพื้น (ในห้องครัว สถานที่ปรุงรสความสัมพันธ์)
แต่แม้การร่วมรักครั้งนี้จะสร้างความพึงพอใจ แต่ก็ยังไม่เพียงพอให้ Anna ละเลิกจากการมี Sex กับสัตว์ประหลาด (ที่มอบประสบการณ์ทางเพศได้เหนือกว่า) นั่นสร้างความหมดสิ้นหวังโดยสิ้นเชิงให้กับ Mark


Carlo Rambaldi (1925-2012) นักออกแบบ Special Effects สัญชาติอิตาเลี่ยน เริ่มมาโด่งดังระดับนานาชาติจาก King Kong (1976), Alien (1979), E.T. the Extra-Terrestrial (1982), Dune (1984) ฯลฯ
แรงบันดาลใจของสัตว์ประหลาดตัวนี้ ออกแบบให้มีลักษณะเหมือนศิวลึงค์ (Phallic Monster) เต็มไปด้วยหนวดที่สามารถสอดใส่ กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ เพื่อเติมเต็มความต้องการทางเพศของหญิงสาว
Carlo Rambaldi: The producer told me it was a sort of sexual symbol.
Andrzej Żuławski: That’s not a symbol, it’s a penis.
นั่นแปลว่าเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้ไม่ได้มีนัยยะเชิงสัญลักษณ์อะไรเลย เพียงแค่สิ่งนามธรรมเหนือธรรมชาติที่สามารถควบคุม ครอบงำ เข้าสิง ‘possession’ (ใช้หนวด)บงการมนุษย์กระทำสิ่งชั่วร้าย สังคมไม่ให้การยินยอมรับ ผู้ชม/ผู้กำกับ Żuławski พบเห็นแล้วรู้สึกน่ารังเกียจขยะแขยง … นั่นก็คือพฤติกรรมของอดีตภรรยา Braunek คบชู้นอกใจตนเอง
แซว: โดยปกติแล้วการเตรียมงานของ Carlo Rambaldi ต้องใช้เวลาหลายวัน บางช็อตก็เป็นเดือนๆ แต่สำหรับ Possession (1981) ด้วยทุนสร้างน้อยนิดจึงมีแค่ 7 วันสร้างสัตว์ประหลาด และ 2 วันถ่ายทำ เท่านั้นเอง!


วินาทีที่มารดาของ Heinrich ลาจากโลกนี้ไป จู่ๆลมพัดแรง ทำให้หน้าต่างเปิดออกมา เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้สึกขนลุกขนพองขึ้นโดยทันที หนังจงใจสร้างสัมผัสเหนือธรรมชาตินี้ เพื่อล้อกับการมีตัวตนของสัตว์ประหลาด คือสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุและผล (แต่สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนความต้องการของผู้สร้างภาพยนตร์)
การเสียชีวิตของตัวละครนี้ ดูเหมือนไม่ได้มีความจำเป็นใดๆ แต่ผมครุ่นคิดว่าต้องการสื่อถึงบางสิ่งอย่างภายในจิตใจของ Mark ได้ตกตายจากไป หลังจากพบเห็น Anna ยังคงมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด ทั้งๆเพิ่งหวนกลับมาคืนดีก่อนหน้านี้! … สิ่งที่สูญหายไปของ Mark น่าจะคือ ‘ความเป็นมนุษย์’ เพราะมารดาของ Heinrich ดูปกติสุด(เป็นมนุษย์ที่สุด)ในหนังแล้วกระมัง

ใครเคยรับชมผลงานเรื่องแรก The Third Part of the Night (1971) ของผกก. Żuławski ย่อมรู้สึกมักคุ้นเคยกับหลายๆองค์ประกอบ โดยเฉพาะความตายยังบันไดวน แล้วจู่ๆบุคคลหน้าเหมือน ‘doppelgänger’ ก็ปรากฎตัวขึ้นมา ทำให้ทุกสิ่งอย่างเหมือนเวียนวนกลับสู่จุดเริ่มต้น
นัยยะเชิงสัญลักษณ์ของ doppelgänger ก็คือบุคคลเดียวกันนะแหละ (หลายคนตีความว่าตัวปลอมนี้คือวิวัฒนาการของสัตว์ประหลาด กลายร่างมาเป็น Mark) แต่อาจมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม หรือในบริบทนี้ต้องการสื่อถึงการถือกำเนิดใหม่ ตัวตนเก่ากำลังตกตายไป หรือบางสิ่งอย่างภายในจิตวิญญาณได้สูญสลาย
แซว: หลังจากถูกกราดยิง Anna ทรุดล้มลงนอนทับ Mark ตรงเป้ากางเกงพอดิบดี นั่นรวมถึงช็อตยิงตัวตายคู่(โดย Anna) มันต้องทำท่าพิศดารๆ ยิงจากข้างหลัง เพื่อให้ตำแหน่งพอดิบพอดีระหว่างมดลูกกับอวัยวะเพศชาย … ผมคงไม่ต้องอธิบายกระมังว่าหนังต้องการสื่อถึงอะไร


ไม่ใช่ว่า Mark สิ้นลมหายใจแล้วรึ? เหตุไฉนถึงสามารถผลักดันตนเองให้ตกลงมาเบื้องล่าง? แต่ผมมองฉากนี้ในเชิงสัญลักษณ์ เปรียบเทียบกับ doppelgänger ของ Mark ใช้หญิงสาวคนหนึ่งเป็นฐานปีนป่ายหลบหนีขึ้นบนหลังคา … กล่าวคือ การมีตัวตนของ Mark ตัวปลอม (กำลังปีนป่ายขึ้นจุดสูงสุด) ได้ทำให้ตัวจริงตกต่ำลงสู่ภาคพื้นดิน
ตัวประกอบสาวคนนี้ก็มีความน่าฉงนอย่างมากๆ แทนที่จะหวาดสะพรึงกลัวต่อคนตายหน้าห้อง กลับแสดงความลุ่มหลงใหลในกระบอกปืน (สัญลักษณ์ของลึงค์) ดูมีสีหน้าหื่นกระหาย ยินยอมศิโรราบต่อ doppelgänger ของ Mark ให้เขาเหยียบย่ำ ปีนป่าย (ใบหน้าของเธอตรงตำแหน่งเป้ากางเกงพอดิบดีอีกเช่นกัน) … ผมรู้สึกว่าฉากนี้เป็นการเหมารวมของผู้กำกับ Żuławski ไม่ใช่แค่อดีตภรรยา แต่ยังลามปามเหมารวมถึงสตรีคนอื่นๆ กล่าวหาว่ามีความหมกมุ่นมักมาก สนเพียงกามคุณ ทำตัวราวกับถูกปีศาจร้ายเข้าสิ่ง เพื่อตอบสนองตัณหาทางเพศไม่แตกต่างกัน


หนึ่งในหัวหน้าองค์กรสายลับ หลังกำจัดคนทรยศ Mark สิ่งที่เขาทำระหว่างเดินขึ้นบันได คือถอดรองเท้านำมาตรวจสภาพพื้น (ว่าไม่ได้เปลอะเปลื้อนเลือดของ Mark) เพื่อสื่อการไม่เห็นคุณค่าของชีวิตคน พยายามทำตัวขาวสะอาด แต่ภายในกลับสกปรกโสมม ขณะที่ถุงเท้าสีชมพู หลายคนอาจมองว่าชายคนนี้คือสัตว์ประหลาด รสนิยมรักร่วมเพศ (แบบเดียวกับสองทนาย) แต่ผมยังครุ่นคิดว่ามันคือสีฟอกแดง (เลือด) คราบเลือดที่พยายามทำความสะอาดให้ขาวบริสุทธิ์ แต่ก็เจือจางได้แค่นี้แหละ

เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัย ไม่ใช่ว่าต้องหลบซ่อนใต้โต๊ะหรอกหรือ? แต่เด็กชาย Bob กลับวิ่งขึ้นบันไดวน แล้วลงไปดำผุดดำว่ายในอ่างอาบน้ำ นี่ทำให้ผมครุ่นคิดถึงทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง หลบซ่อนตัวอยู่ภายใต้จิตสำนึก ไม่ต้องการลุกขึ้นมาเผชิญหน้าโลกความจริง ปฏิเสธยินยอมรับพฤติกรรมของทั้งบิดา-มารดา
บางคนอาจมองแค่ว่าเด็กชายเหมือนมีจิตสัมผัสบางอย่าง รับรู้ว่าบุคคลที่อยู่ภายนอกห้องไม่ใช่บิดา จึงส่งเสียงเตือน Helen ไม่ให้เปิดประตูรับสิ่งชั่วร้ายเข้ามา แต่เพราะเธอปฏิเสธรับฟัง เขาจึงเริ่มทำการปิดกั้นตัวเอง

แสงไฟวูบๆวาบๆ แม้หนังให้คำอธิบายว่าคือสัญญาณเตือนภัย สถานที่แห่งนี้ราวกับกำลังจะถูก (East German) โจมตีทางอากาศ แต่อาจเหมารวมถึง doppelgänger ของ Mark เห็นเพียงเงาลางๆยืนอยู่หน้าประตูห้อง เหมือนต้องการบุกเข้ามากระทำสิ่งชั่วร้ายอะไรสักอย่าง
แต่ถึงอย่างนั้นกล้องที่ค่อยๆเคลื่อนเข้าหาใบหน้าของ Helen หันมาสบตาหน้ากล้อง (Breaking the Fourth Wall) ดูอันตราย โฉดชั่วร้าย เต็มไปด้วยเลศนัยบางอย่าง … แสงวูบๆวาบๆ เดี๋ยวมืด-เดี๋ยวสว่าง ผมมองในเชิงสัญลักษณ์ของพฤติกรรมเดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ใครกันจะไปคาดคิดจินตนาการ หญิงสาวสวยคนนี้อาจมีสิ่งชั่วร้ายซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน
แซว: ดวงตาของ Helen จู่ๆทำให้ผมครุ่นคิดว่าเธออาจไม่ใช่มนุษย์ แบบเดียวกับ doppelgänger ของ Mark คือสัตว์ประหลาดที่วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ ก็ได้เช่นกัน!
หนังจงใจค้างคาตอนจบว่า Helen เปิดหรือไม่เปิดประตู? แต่เอาจริงๆมันคาดเดาไม่ยากเลยนะครับ สังเกตจากจากปฏิกิริยาสีหน้าตัวละคร ดูแล้วต้องเปิดออกอย่างแน่นอน … ซึ่งสามารถสะท้อนความ ‘Misogyny’ ที่เต็มไปด้วยอคติต่อภรรยาของผู้กำกับ Żuławski ได้อย่างชัดเจน!


ตัดต่อโดย Marie-Sophi Dubus และ Suzanne Lang-Willar,
เริ่มต้นหนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Mark ตั้งแต่เสร็จสิ้นภารกิจเพื่อชาติ แต่แทนที่จะได้รับความสงบสุข กลับต้องเผชิญหน้าช่วงเวลาแห่งความคลุ้มบ้าคลั่ง ถูกภรรยาขอเลิกราหย่าร้าง จับได้ว่าคบชู้ชายอื่น, ส่วนครึ่งหลังมุมมองของหนังจะสลับสับเปลี่ยนแปลงไป โดยมีจุดหมุนคือ Anna และ Helen (Doppelgänger ของกันและกัน)
- ครึ่งแรก นำเสนอผ่านมุมมองของ Mark
- Mark เดินทางกลับมาบ้าน สังเกตสภาพผิดปกติของภรรยา Anna
- Anna พยายามเลิกราหย่าร้าง Mark แต่เขาแสดงความเกรี้ยวกราด ใช้ความรุนแรง ตกอยู่ในสภาพคลุ้มบ้าคลั่ง เสพยา และครุ่นคิดจะฆ่าตัวตาย
- เมื่อฟื้นคืนสติก็เริ่มออกค้นหาสาเหตุผล ทำไมภรรยาถึงเปลี่ยนแปลงไป
- ครึ่งหลัง
- ผู้ช่วยนักสืบ ออกติดตาม Anna ไปจนถึงอพาร์ทเมนท์หลังหนึ่ง
- Mark เริ่มต้นสานสัมพันธ์กับ Helen
- นักสืบเอกชน ประสบโชคชะตาเดียวกับชายคนรัก (ผู้ช่วยนักสืบ)
- อาการคลุ้มบ้าคลั่งของ Anna จนน้ำกามไหลหลั่ง
- Heinrich ติดตามไปพบเจอ Anna ค่อยตระหนักถึงความคลุ้มบ้าคลั่ง ก่อนถูกฆ่าปิดปากโดย Mark
- Mark พยายามจะคืนดีกับ Anna แต่สิ่งเกิดขึ้นกลับคือ Helen ครองรักกับอีกตัวปลอมของตนเอง
ครึ่งแรก-ครึ่งหลังของหนัง แทบจะเป็นหนังคนละม้วน มีความแตกต่างตรงกันข้าม หรือจะว่าคือวิวัฒนาการของชีวิตก็ได้เช่นกัน
- ครึ่งแรกนำเสนอดราม่าเข้มข้น เรื่องราวจับต้องได้ในเชิงรูปธรรม ด้วยสไตล์ John Cassavetes ขายฝีไม้ลายมือด้านการแสดงของ Sam Neill และ Isabelle Adjani ใส่อารมณ์กันอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ตบกันเลือดอาบ สภาพปางตาย
- ครึ่งหลังแปรสภาพสู่หนังแนว Body Horror ผสมกับ Sci-Fi ตั้งคำถามอภิปรัชญาถึงพระเจ้า-ซาตาน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับปีศาจร้าย มีความเซอร์เรียล เหนือจริง อิ่มหนำด้วยภาษาภาพยนตร์ จนต้องขบครุ่นคิดในเชิงนามธรรม
แซว: ไม่รู้ทำไมรับชม Possession (1981) แล้วทำให้ผมนึกถึง From Dusk Till Dawn (1996) กำกับโดย Robert Rodriguez, เขียนบทโดย Quentin Tarantino แม้งก็อารมณ์คล้ายๆกันนี้เลยนะ ครึ่งแรกแนวโจรกรรมหลบหนี ส่วนครึ่งหลังกลายสภาพเป็นล่าแวมไพร์ซะงั้น!
เพลงประกอบโดย Andrzej Korzyński (1940-2022) นักแต่งเพลงชาว Polish สำเร็จการศึกษาจาก Fryderyk Chopin University of Music แล้วกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Andrzej Wajda และ Andrzej Żuławski มีผลงานเด่นๆ อาทิ The Birch Wood (1970), The Third Part of the Night (1971), Man of Marble (1977), Man of Iron (1981), Possession (1981) ฯลฯ
งานเพลงของ Korzyński มอบสัมผัสหลอกหลอน มีความสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยการทดลองทางดนตรีที่หลากหลาย แต่หลักๆสามารถเหมารวมสไตล์ Psychedelic Rock เพื่อสร้างความสับสน กระวนกระวาย กรีดกรายทรวงใน สะท้อนสภาวะทางอารมณ์ สภาพจิตใจตัวละคร สอดคล้องไดเรคชั่นผู้กำกับ Żuławski อย่างน่าอัศจรรย์ใจ … Żuławski และ Korzyński ถือเป็นอีกคู่ขวัญ ผู้กำกับ-นักทำเพลง ไม่สามารถแยกทั้งสองออกจากกัน
แค่เพียงเสียงแรกของบทเพลง The Night The Screaming Stops ก็สร้างความเสียวสันหลัง สั่นสะท้านทรวงใน สร้างบรรยากาศแห่งความลึกลับ สลับซับซ้อน มันต้องบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้น ภยันตรายอยู่รอบข้างกาย ใครกันจะถูกปีศาจร้ายเข้าสิง … เป็นบทเพลงที่สามารถสร้างความแรกประทับใจ ‘first impression’ ได้โดยทันที ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ของผู้กำกับ Dario Argento และนักทำเพลงคู่ขวัญ Goblin ขึ้นมาโดยพลัน!
ลองมาฟังท่วงทำนอง Main Theme ในแบบฉบับ Orchestra Theme ที่ต้องถือว่ามีความนุ่มนวล ลุ่มลึก สร้างความรู้สึกสั่นสะท้านทรวงใน แตกต่างจากสไตล์ Psychedelic Rock มุ่งเน้น(เสียงกลอง)ให้หัวใจโลดเต้นเป็นจังหวะ มอบสัมผัสภายนอก ขนลุกขนพอง ความเย็นสยองค่อยแทรกซึมซับเข้าสู่ภายใน
และอีกฉบับ Main Theme ที่หลงเหลือเพียงเสียงไวโอลินเป็นหลัก (บางครั้งบรรเลงเปียโน, เป่าขลุ่ย ฯลฯ) นี่ก็มอบสัมผัสที่แตกต่างจากทั้งสองฉบับ โดยจะมุ่งเน้นตัวบุคคล กำลังออกค้นหา พานพบเจอ หรือได้ทำบางสิ่งอย่างที่ชวนให้ผู้ชมบังเกิดความฉงนสงสัย กำลังจะมีอะไรบังเกิดขึ้นหรือเปล่า?
Possession (1981) นำเสนอเรื่องราวการเลิกราหย่าร้างของสามี-ภรรยา (หรือก็คือผู้กำกับ Andrzej Żuławski และภรรยา Małgorzata Braunek) ปฏิกิริยาแรกของฝ่ายชายคือสับสน งุนงง ฉันทำผิดอะไร? มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น? เมื่อพบเจอฝ่ายหญิงก็แสดงความเกรี้ยวกราดออกมาอย่างรุนแรง จากนั้นทำร้ายตนเองด้วยการใช้สารเสพติด ครุ่นคิดจะทำอัตวินิบาต แต่เพราะบุตรชายจึงทำให้สามารถฟื้นคืนสติ และครุ่นคิดเริ่มต้นสืบสวนสอบสวน ค้นหาข้อเท็จจริง เพราะเหตุใด? ทำไมเธอถึงตัดสินใจทอดทิ้งจากไป?
ครึ่งหลังของหนังนำเสนอการปรับตัวของ Mark/ผู้กำกับ Żuławski ในทางกายภาพคือให้สามารถดำรงชีวิต ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย เริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ ขณะเดียวกันทางจิตภาพกลับเต็มไปด้วยอคติต่ออดีตภรรยา Anna กลายเป็นบุคคลไม่สามารถควบคุมสติ อารมณ์ ความต้องการของตนเอง ไม่ใช่แค่คบหาชายชู้ แต่ยังเกินเลยเถิดไปถึงมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด ไม่ต่างจากถูกปีศาจร้ายเข้าสิง จนต้องถือว่าหมดสูญสิ้นความเป็นมนุษย์
ไม่ว่าผมจะมองจากทิศทางไหน Possession (1981) คือภาพยนตร์ที่แสดงความ Misogyny (เกลียดชังผู้หญิง) นำเสนออคติของผู้กำกับ Żuławski ต่ออดีตภรรยา Braunek ด้วยการระบายความอึดอัดอั้น คลุ้มบ้าคลั่ง ไม่ยินยอมรับสิ่งที่บังเกิดขึ้น นำมันประจานออกสู่สาธารณะ (revenge film) เรียกร้องหาความเห็นใจจากผู้อื่น ฉันทำผิดอะไรถึงต้องทนทุกข์ทรมานเพียงนี้?
ผู้ชมส่วนใหญ่คงรู้สึกสงสารเห็นใจ ผกก. Żuławski แต่ผมอยากให้สังเกตว่าภาพยนตร์เรื่องนี้แม้งโคตรๆ ‘manipulate’ ให้รู้สึกว่าฉันถูก ฉันไม่เคยทำสิ่งเลวร้าย ยัยนั่นต่างหากที่คบชู้นอกใจ ไม่อธิบายเหตุผลใดๆที่จับต้องได้ เพียงนำเสนอผ่านมุมมองของตนเอง แล้วใส่อารมณ์ ความเกรี้ยวกราด ชี้นำว่าทั้งหมดทั้งมวลคือความผิดของเธอที่ทำให้ฉันคลุ้มบ้าคลั่ง จึงสาปแช่ง(ด้วยภาษาภาพยนตร์)จงกลายเป็นปีศาจร้าย และได้มีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด
หรืออย่างสัตว์ประหลาดที่หญิงสาวมีเพศสัมพันธ์ด้วยนั้น ผมอธิบายไปแล้วว่าไม่ได้มีนัยยะเชิงสัญลักษณ์อะไรเลย เพียงแค่สิ่งเหนือธรรมชาติที่สามารถควบคุม ครอบงำ เข้าสิง ‘possession’ (ใช้หนวด)บงการมนุษย์กระทำสิ่งชั่วร้าย สังคมไม่ให้การยินยอมรับ ผู้ชม/ผู้กำกับ Żuławski พบเห็นแล้วรู้สึกน่ารังเกียจขยะแขยง … นั่นก็คือพฤติกรรมของอดีตภรรยา Braunek คบชู้นอกใจตนเอง
ใครกันแน่สมควรถูกเรียกว่าไร้ความเป็นมนุษย์? ระหว่าง…
- ภรรยาตัดสินใจเลิกราหย่าร้างสามี ไม่ให้เหตุผล คำอธิบายใดๆ เพียงตีตนจากไป
- สามีผู้ตกอยู่ในสภาพหดหู่ หมดสิ้นหวัง เคยคิดสั้นฆ่าตัวตาย แล้วนำเอาประสบการณ์ครั้งนั้นมาทำเป็นภาพยนตร์ สรรค์สร้างอวตารอดีตภรรยา ให้มีความอัปลักษณ์ พฤติกรรมน่ารังเกียจ และมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ประหลาด
เพื่อสำแดงความรังเกียจภรรยา ให้เป็นงานศิลปะชั้นสูง ผกก. Żuławski จึงนำเสนอพื้นหลังยังประเทศ Germany ที่ขณะนั้นถูกแบ่งแยกออกเป็น West Germany และ East Germany ถ่ายทำยังกำแพงตั้งตระหง่านกลางกรุง Berlin นั่นไม่แตกต่างจากสามี-ภรรยา ตัดสินใจเลิกราหย่าร้าง สร้างกำแพงที่มองไม่เห็นขึ้นมาขวางกั้นระหว่างกัน … เอาจริงๆนัยยะนี้เฉิ่มมากนะครับ เพราะผกก. Żuławski หน้ามืดตามัวอยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ถึงอนาคต ครุ่นคิดความเป็นไปได้ว่าสักวันหนึ่งกำแพง Berlin จักพังทลายลง
นอกจากนี้เรื่องราวของหนัง ยังสามารถสะท้อนถึงการที่ผกก. Żuławski ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้นบัญชีดำ ขับไล่ผลักไสออกนอกประเทศบ้านเกิด Poland ระหว่างสรรค์สร้างภาพยนตร์ On the Silver Globe (เริ่มโปรดักชั่นปี 1976 แต่กว่าจะถ่ายทำเสร็จ ได้นำออกฉายปี 1988) ไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่ากระทำความผิดอะไร? นี่ก็ไม่ต่างจากสามี-ภรรยา ตัดสินใจเลิกราหย่าร้างเช่นเดียวกัน!
ยังมีนักวิจารณ์บางคงมองหนังกว้างไปกว่านั้น สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง Eastern Bloc กับสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 80s ที่กำลังเริ่มเหินห่าง บังเกิดรอยร้าวขัดแย้ง ใกล้ถึงจุดแตกแยก/ล่มสลาย เพราะประชาชนในกลุ่มประเทศเหล่านั้นต่างเริ่มลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพ ต้องการปลดแอกจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย
รับชม Possession (1981) ทำให้ผมตระหนักถึงสันดานธาตุแท้ของผกก. Żuławski ไม่แตกต่างจาก Jean-Luc Godard คือจอมเผด็จการในครอบครัวที่ชอบบงการ ชี้นิ้วโน่นนี่นั่น หุบปากแล้วทำตามคำสั่ง เหมือนตัวละคร Helen ที่ถือเป็น ‘ideal housewife’ … จะว่าไปหญิงสาวรสนิยม’ชายเป็นใหญ่’ก็มีอยู่เยอะนะครับ แต่ในยุคสมัย Feminist ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็น Blacklist ที่โคตรอันตรายจริงๆ
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่การแสดงของ Isabelle Adjani เป็นที่ถูกอกถูกใจคณะกรรมการ เลยสามารถคว้ารางวัล Best Actress และยังส่งต่อให้ปลายปีเป็นผู้ชนะ César Awards: Best Actress (หนังไม่ได้เข้าชิง César Award รางวัลอื่นเลยนะครับ)
ด้วยทุนสร้าง $2.4 ล้านเหรียญ มียอดจำหน่ายตั๋วในฝรั่งเศสเพียง 541,120 ใบ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “Heaven’s Gate (1980) แห่งทวีปยุโรป” เพราะส่วนใหญ่ถูกแบนห้ามฉาย (ประเทศอังกฤษมีคำเรียกว่า ‘video nasties’) ไม่ก็ถูกหั่นฉากโน่นนี่นั่นออกจากต้นฉบับ 124 นาที หลงเหลือความยาวตั้งแต่ 80-97-119 นาที (เปลี่ยนแปลงไปตามกองเซนเซอร์ประเทศต่างๆ)
กาลเวลาทำให้ได้รับกระแสคัลท์ (Cult Following) จากยอดจำหน่าย VHS, CD/DVD, Blu-Ray และโรงฉายหนังรอบดึก (Midnight Screen) และนักวิจารณ์ได้ประเมินความคิดเห็นต่อหนังใหม่
one of the most enigmatic and uncompromising horror movies in the history of cinema.
นักวิชาการภาพยนตร์ Bartłomiej Paszylk
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะมาแล้วสองครั้ง ซึ่งได้ทำการฟื้นฟูจากฟีล์มต้นฉบับแท้ๆ (ไม่ใช่ฉบับที่ถูกหั่นออกเมื่อเข้าฉายหลายประเทศ) ครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2021 คุณภาพ 4K (ในโอกาสครบรอบ 40 ปี) เมื่อเข้าฉายสหรัฐอเมริกา นักวิจารณ์รุ่นใหม่ๆก็ยังคงยกย่องสรรเสริญ ทรงพลัง เหี้ยมโหดร้าย เหนือกาลเวลา
remains one of the most grueling, powerful, and overwhelmingly intense cinematic experiences that you are likely to have in your lifetime.
นักวิจารณ์ Peter Sobczynski
รับชม Possession (1981) เป็นประสบการณ์ยากยิ่งจะลืมลง หลอกหลอน สั่นสะท้านทรวงใน ทำเอาค่ำคืนนั้นผมนอนไม่หลับไปหลายชั่วโมง คุณภาพระดับมาสเตอร์พีซ แต่ส่วนตัวคงไม่มีวันหวนกลับมาดูซ้ำอย่างแน่นอน เพราะจริตของผู้กำกับ Żuławski น่าขยะแขยงยิ่งกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เสียอีก!
Possession (1981) เหมาะสำหรับคนที่ชอบหนังหลอนๆ (Horror) เชิงจิตวิทยา (Psychology) มีความอัปลักษณ์พิศดาร สัตว์ประหลาดน่าขยะแขยง, ทำงานด้านการแสดง รับชม Masterclass ของ Sam Neill และ Isabelle Adjani,
จัดเรต NC-17 กับความระห่ำ บ้าเลือด โป๊เปลือย ใช้ความรุนแรง ฆาตกรโรคจิต
Leave a Reply