Storm Over Asia

Potomok Chingiskhana (1928) USSR : Vsevolod Pudovkin ♥♥♡

เจงกีสข่าน แม้จะล่วงลับไปหลายศตวรรษ แต่แค่ชื่อก็ยังทรงอิทธิพลต่อชาวมองโกล เป็นเหตุให้ผู้นำกองทัพแห่งสหราชอาณาจักร นำชายผู้หนึ่งซึ่งเกิดความเข้าใจ(ผิดๆ)ว่าสืบเชื้อสาย ทายาทรุ่นปัจจุบัน มาปลุกปั้น ขยับเขยื้อน กลายเป็นหุ่นเชิดชัก เพื่อหวังครอบครองผืนแผ่นดินอันเวิ้งว้างว่างเปล่านี้

เรื่องราวเกี่ยวกับทายาทเจงกีสข่าน (1162 – 1227, ครองราชย์ 1206 – 1227) นอกจากโอรสสี่คนจากมเหสีหลวง ยังมีเรื่องเล่ากล่าวขวัญ เมื่อเตมูจินยกทัพไปพิชิตดินแดนไหน จะสรรหาผู้หญิงต่างชาติมาเป็นภริยาน้อย จนกว่าจะตั้งครรภ์ แล้วคาดหวังให้เป็นผู้สืบทอดปกครองดินแดนนั้นๆต่อไป … ว่ากันว่าจนถึงปัจจุบันเกือบๆ 16 ล้านคน หรือหนึ่งในทุกๆ 200 คนบนโลก จะมีเชื้อสายโดยตรงจากเจงกิสข่านปะปนอยู่

แต่เนื้อหาส่วนกองทัพแห่งสหราชอาณาจักร บุกยึดครอบครองดินแดนมองโกเลีย มีนักประวัติศาสตร์ได้ให้คำอธิบายกระจ่างแจ้ง จริงอยู่เมื่อประมาณศตวรรษ 16 กองทัพอังกฤษเคยรุกรานเข้ามาถึงไซบีเรีย แต่พอถึงช่วงศตวรรษ 20 ได้ถูกขับไล่ออกไปจนหมดสิ้นแล้ว … เป็นชาวรัสเซียเองต่างหากละ ที่แสดงออกแบบทหารอังกฤษในภาพยนตร์เรื่องนี้! นำโดย Baron R.F. von Ungern-Sternberg ผู้พ่ายแพ้สงครามกลางเมืองไซบีเรีย ตัดสินใจบุกรุกรานดินแดนชาว Buryat ที่ขณะนั้นถูกยึดครอบครองโดยกำลังทหารจีน ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1920-21 เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นใหม่สำหรับต่อต้าน Bolshevik ด้วยเหตุนี้ชาวมองโกเลียท้องถิ่นเลยร่วมมือ ร่วมใจ เข้าร่วมสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต จนสามารถขับไล่บารอนนอกรีตออกจากดินแดนแห่งนี้ได้สำเร็จ กันยายน ค.ศ. 1921

ผมครุ่นคิดว่าความจงใจเปลี่ยน Baron R.F. von Ungern-Sternberg ซึ่งเป็นชาวรัสเซียแท้ๆ โยนขี้ให้ทหารอังกฤษกลายเป็นแพะ เพราะไม่ต้องการให้ความเห็นต่าง/ขัดแย้งจากชนชาติเดียวกัน มาบั่นทอนทำลายเชื่อมั่นต่อพรรคคอมมิวนิสต์/ระบอบสังคมนิยม ที่กำลังเบ่งบานสะพรั่งหลังครบรอบสิบปีการปฏิวัติมาหมาดๆ

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ! การโยนขี้ใส่สหราชอาณาจักร ทั้งๆคนในประเทศตนเองนะแหละที่ถ่ายเรี่ยราด มันก็เป็นสิ่งอัปลักษณ์ชั่วร้าย บิดเบือน’ชวนเชื่อ’แบบผิดๆ ถึงผลลัพท์จะออกมายอดเยี่ยม ทรงคุณค่าทางศิลปะเพียงไหน โดยเฉพาะไคลน์แม็กซ์ 5 นาทีสุดท้าย แต่ภาพรวมก็ไม่ต่างอะไรจาก ‘Junk Food’ อาหารขยะราคาถูก รสชาดอร่อย แต่ไม่ค่อยมีสารประโยชน์ต่อร่างกาย


Vsevolod Illarionovich Pudovkin (1893 – 1953) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Penza, Russian Empire โตขึ้นเข้าเรียนวิศวกรรม ณ Moscow University แต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถูกจับกุมโดยทหารเยอรมัน ระหว่างอาศัยในค่ายกักกันมีโอกาสอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศ หลังสงครามไม่เอาแล้ววิศวกร มุ่งหน้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มต้นจากนักเขียน นักแสดง ออกแบบศิลป์ ได้เป็นลูกศิษย์/ผู้ช่วย Lev Kulehov สร้างหนังสั้น Chess Fever (1925), จากนั้นพัฒนาทฤษฎีตัดต่อ และสร้าง Mother (1926) เพื่อทดสอบแนวคิดดังกล่าว

ทฤษฎีของ Pudovkin ให้ความเห็นว่า การตัดต่อคือพลังพื้นฐานแห่งการสร้างสรรค์ ร้อยเรียงเอาภาพถ่ายไร้วิญญาณ มากระทำการทางวิศวกรรมให้เหมือนมีชีวิต ในรูปลักษณะที่เรียกว่าภาพยนตร์

“Editing is the basic creative force, by power of which the soulless photographs (the separate shots) are engineered into living, cinematographic form”.

หลังเสร็จจากโปรเจคชาติต้องการ The End of St. Petersburg (1927) ผลงานถัดมาต้องการเปิดโลกทัศน์ ทดลองอะไรใหม่ๆ เลือกดัดแปลงนวนิยาย The Descendant of Genghis Khan แต่งโดย Ivan Novokshonov (1896 – 1943) นักเขียนชาวรัสเซีย เกิดเติบโตยังจังหวัด Tomsk หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 สมัครเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำการอยู่ Irkutsk พานผ่านสงครามกลางเมือง Russian Civil War (1917 – 1923) สู้รบที่ Transbaikalia

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Osip Brik (1888 – 1945) นักวิจารณ์/นักเขียนแนว Avant-Garde เรียกตนเองว่า Futurists แต่หลังจาก Joseph Stalin ขึ้นมามีอำนาจ อนาคตของเขากลับมืดมนไร้หนทางออก

พื้นหลังปี ค.ศ. 1918 ณ ทุ่งกว้างใหญ่ Buriat-Mongolian, Bair (รับบทโดย Valéry Inkijinoff) ชายชาวมองโกล เป็นเจ้าของขนสัตว์แสนสวย ระหว่างนำเข้าไปขายใน Trading Post เตะตาพ่อค้าชาวอังกฤษ Henry Hughes (รับบทโดย Viktor Tsoppi) จงใจรับซื้อแบบกดราคา สร้างความไม่พึงพอใจจนเกิดเหตุปะทะ ได้รับบาดเจ็บเลือดหลั่งไหล กองทัพทหารแห่งอังกฤษประกาศกร้าว ต้องการล้างแค้นเอาคืนให้สาสม

เป็นเหตุให้ Bair ต้องหลบลี้หนีภัยไปอยู่ท่ามกลางขุนเขา เข้าเป็นส่วนหนึ่งกองทัพแห่งสหภาพโซเวียต ระหว่างสู้รบถูกทหารอังกฤษจับกุมตัว ได้รับการตัดสินโทษประหารชีวิต แต่ระหว่างนั้นค้นพบสร้อยมีข้อความภาษาโบราณ ระบุว่าชายคนนี้คือทายาท Genghis Khan ผู้บังคับบัญชาการเลยครุ่นคิดแผนการอันชั่วร้าย


นำแสดงโดย Valéry Inkijinoff ชื่อจริง Walerian Iwanowitsch Inkischinow (1895 – 1973) นักแสดงสัญชาติรัสเซีย เชื้อสาย Buryat (มองโกล) เกิดที่ Irkutsk, Russian Empire โตขึ้นเข้าเรียนที่ Polytechnical Institute, Saint Petersburg แต่เปลี่ยนใจผันตัวสู่วงการแสดง กลายเป็นเพื่อนร่วมรุ่น Vsevolod Pudovkin เลยได้รับชักชวนแสดงนำ Storm Over Asia (1928) แต่หลังจากนี้อพยพย้ายสู่เยอรมันตามด้วยฝรั่งเศส ผลงานพอมีชื่อ อาทิ Le drame de Shanghai (1938), Der Tiger von Eschnapur (1959), Les tribulations d’un Chinois en Chine (1965) ฯ

รับบท Bair ชายหนุ่มผู้ครอบครองขนสัตว์(สุนัขจิ้งจอก) ขณะกำลังออกเดินทางไปขายของ ได้รับสร้อยคอติดตัวจากแม่ (จากพระลามะรูปหนึ่ง) ตั้งราคาคาดหวังไว้สูงลิบ ทำให้พอถูกโกงปฏิเสธยินยอมรับ เป็นเหตุให้ต้องพลัดพรากจากทุกคน จับพลัดพลูกลายเป็นทหารรัสเซีย ถูกจับโดยกองทัพอังกฤษสั่งประหารชีวิต รอดตายหวุดหวิดเพราะสร้อยคอนั้น ระบุว่าเขาสืบทายาทเจงกีสข่าน แต่อาการสาหัสจนขยับตัวไม่ได้ กลายเป็นหุ่นเชิดชักยอมให้ทุกสิ่งอย่าง กระทั่งพบเห็นขนสัตว์ของตนเองที่ถูกลักขโมยไป เลยเกิดความตระหนักและต้องการกระทำบางสิ่งอย่างให้จงได้

นอกจากภาพลักษณ์ของ Inkijinoff ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือว่าเป็นชาวมองโกลจริงๆ การแสดงออกถือว่ามีความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ถูกพาไปฆ่ายังยิ้มร่า (เพราะไม่รู้ตนเองว่ากำลังจะโดนยิง) ขณะเดียวกันก็เก็บกด จดจำ แม้ร่างกายขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่ถ่ายทอดอารมณ์ เคียดแค้น ผ่านสีหน้าดวงตาได้อย่างรวดร้าวทรงพลัง

เกร็ด: พ่อของ Inkijinoff มารับเชิญเป็นพ่อของตัวละครในหนังด้วยนะครับ


ถ่ายภาพโดย Anatoli Golovnya (1900 – 1982) สัญชาติ Soviet ขาประจำของ Pudovkin, สถานที่ถ่ายทำคือ Buryat-Mongolia ดินแดนติดกับประเทศมองโกเลีย ใกล้ทะเลสาป Lake Baikal (ทะเลสาบน้ำจืด ที่ลึกที่สุดในโลก) ซึ่งปัจจุบันบริเวณนั้นยังคงเต็มไปด้วยท้องทุ่งกว้างไกล ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึงสักเท่าไหร่

การตัดต่อไม่มีเครดิต แต่ก็น่าจะเป็น Vsevolod Pudovkin เองนะแหละ! ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Bair หนุ่มชาวมองโกล เริ่มจากออกเดินทางไปขายขนสัตว์ ขัดแย้งพ่อค้า เดินทางหลบหนี กลายเป็นทหารโซเวียต ถูกจับโดยกองทัพอังกฤษ และได้รับแต่งตั้งสู่ผู้นำ(หุ่นเชิด) … เรียกว่าจากดินกลายเป็นดาว

เทคนิคที่ Pudovkin ใช้ในการนำเสนอดินแดนอันเวิ้งว้างว่างเปล่า ท้องทุ่งกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา คือการร้อยเรียงด้วยระยะ จากไกลโคตรๆ(Extreme Extreme Long Sog) -> ใกล้เข้ามา (Extreme Long Shot) -> ใกล้เข้ามาอีกนิด (Long Shot) บางทีก็ 4-5 ระยะ ทำให้ผู้ชมซึมซับถึงธรรมชาติอันงดงาม (แม้คุณภาพของกล้องสมัยก่อน จะหาความงดงามตาไม่ได้สักเท่าไหร่)

ไดเรคชั่นการนำเสนอลามะ มีความน่าสนใจทีเดียว สำหรับผู้ชมที่ไม่เคยรับล่วงรู้ ‘ความเชื่อ’ เรื่องการกลับชาติมาเกิด ย่อมตกอยู่ในอาการตื่นตกตะลึง คาดไม่ถึง ซึ่งหลังจากภาพลามะองค์น้อยปรากฎขึ้น ตัดไปใบหน้าของบรรดานายพล ผู้นำทหารอังกฤษ ตกอยู่ในสภาพอ้ำอึ้ง คาดไม่ถึง บอกไม่ถูก (จริงๆสีหน้าก็ปกติทั่วไปละครับ แต่ไดเรคชั่นการตัดต่อ มอบสัมผัสที่สามารถชวนให้ครุ่นคิดไปไกลเลยเถิด)

หนังจงใจให้การถูกยิงของ Bair เต็มไปด้วยความเชื่องช้า ลังเลใจ เพื่อให้สามารถดำเนินคู่ขนานกับการพิสูจน์เอกสาร ว่าเขาคือทายาทเจงกิสข่าน
– นายทหารที่ถูกสั่ง ยอมเสียเวลาสวมใช่ชุดเต็มยศ เพื่อแสดงออกว่าคือหน้าที่ ไม่ใช่ความที่ตนเองต้องการ
– ระหว่างทางเดินพบเห็นโคลนตม บ่อน้ำ นายทหารเลือกเดินหลบๆ ไม่อยากให้ชุดเปลอะเปลื้อน (แต่ขากลับเขากลับย่ำเละ เพราะถือว่าได้ทำสิ่งสกปรกโสโครกในการฆ่าคนตาย) ผิดกับ Bair เพราะไม่มีอะไรหวาดหวั่นสั่นสะท้าน บุกน้ำลุยไฟย่อมสามารถกระทำได้ทุกสิ่ง
– จุดบุหรี่ที่สามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด แต่สำหรับ Bair เขามีชีวิตอย่างซื่อสัตย์สุจริต เลยไม่มีอะไรต้องค้างคาสมอง
– การเลือกสถานที่คือริมหน้าผา ก็เพื่อให้ Bair ตกลงมาจากที่สูง … แต่กลับกลายเป็นจิตใจของนายทหาร ที่ตกต่ำลงหุบเหว

ช็อตที่ทำให้ผมขำกลิ้งสุดในหนัง เมื่อชายขายขนสัตว์ ต้องการเรียกร้อง ‘White Man Honor’ จากการกระทำของ Bair แต่รอบหลังเมื่อเขากลายเป็นหุ่นเชิดชักเจงกิสข่าน กลับถูกท่านนายพล ยืนโชว์พุงตระหง่าน และอยู่ดีๆมีเปลวควันไฟลุกพรึบด้านหลัง “You will be punish!” เป็น Expressionism ที่ทรงพลังมากๆ

คงไม่มีฉากไหนในหนังตื่นตระการตาเท่า 5 นาทีสุดท้าย เมื่อหุ่นเชิด Bair สามารถขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้ด้วยตนเอง ตัดสินใจกลายเป็นผู้นำชาวมองโกลจริงๆ ขี่ควบม้า รุกไล่ล่า ผลักไสส่งทหารอังกฤษให้ออกจากผืนแผ่นดินมองโกลเลีย

ซึ่งหนังทำการร้อยเรียงภาพของพายุ ซึ่งคือสัญลักษณ์ของการต่อสู้ สงคราม เต็มไปด้วยลมแรง พัดโหมกระหน่ำ นำพาความปั่นป่วน พลุกพร่าน สามารถเติมเต็มอารมณ์ขัดแย้งได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

ผมครุ่นคิดว่าความตั้งใจของ Vsevolod Pudovkin สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อให้เข้าถึงผู้ชมชาวรัสเซีย ในวงกว้างขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ชนชาวเมือง ประกอบอาชีพกรรมกรแรงงาน หรือคนงานอุตสาหรรม แต่ยังชนบทต่างจังหวัด ดินแดนทุรกันดารห่างไกล ถ้ามีจิตใจขวักไขว่ใน Bolshevik พรรคคอมมิวนิสต์ และสหภาพโซเวียต พวกเราจะไม่มีวันทอดทิ้งขว้างให้พวกเขาโดดเดี่ยวเดียวดายอย่างแน่นอน!

ใจความชักชวนเชื่อของหนัง คือการเสี้ยมสอนไม่ให้ประชาชนต้องการเป็น ‘หุ่นชักเชิด’ ของใคร กล้าที่จะลุกขึ้นต่อต้าน เห็นต่าง หรือร่วมมือร่วมใจปฏิวัติ เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคมจักบังเกิดขึ้น … ตามแนวคิดระบอบสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์

การชวนเชื่อ แทบทั้งนั้นนำเสนอโลกมุมมองเดียว ปรากฎพระเอก-ผู้ร้าย ใส่อุดมการณ์สุดโต่งของอีกฝ่าย และให้ตัวละครครุ่นคิดกระทำตามระบอบวิถี/อุดมการณ์ ทำให้ผู้ชมเกิดความหึกเหิมมีกำลังใจ อยากที่จะลุกขึ้นมากระทำอะไรบางอย่าง เพื่อผืนแผ่นดิน ประเทศชาติ มุ่งสู่ความเจริญมั่งคั่ง ยิ่งใหญ่โต เป็นปึกแผ่น

Storm Over Asia คือภาพยนตร์แนวชวนเชื่อ ที่สามารถชวนเชื่อผู้ชมชาวรัสเซียสมัยนั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่กาลเวลาและในสายตาชาวต่างชาติ/ประเทศโลกที่สาม ปัจจุบันนี้มักโหยหาเบื้องหลังข้อเท็จจริง กระชากหน้ากากตัวตน เฉกเช่นนั้นแล้วจึงมองเรื่องนี้เต็มไปด้วยความโกหก สร้างภาพ หลอกลวง ปลูกฝังค่านิยมคอมมิวนิสต์ ยิ่งใหญ่กว่าอื่นใดใต้หล้า

ผมพยายามมองหนังคือเรื่องแต่ง (Fiction) แต่บอกเลยไม่สามารถทำได้ เพราะความเข้าใจตัวตนของ Pudovkin รับรู้จุดประสงค์การสร้าง เบื้องหลังข้อเท็จจริง และค่านิยมยุคสมัยนั้นแห่งสหภาพโซเวียต พบเห็นสายตาผู้คนที่มืดบอด มองเห็นเพียงมุม/โลกทัศน์ตนเอง ฉันเท่านั้นครุ่นคิดถูกที่สุด! … ก็อยากรับรู้เหมือนกันว่า Pudovkin, Eisenstein, Vertov ถ้าพวกเขาอายุยืนยาวถึงปัจจุบัน หวนกลับไปรับชมผลงานตนเอง จักสามารถตระหนักบางสิ่งอย่างขึ้นได้หรือเปล่า


ไม่รู้ว่าเป็น Pudovkin เองเลย หรือนักวิจารณ์ที่จัดหมวดหมู่ Revolutionary Trilogy ให้สามผลงานติดต่อเนื่อง
– Mother (1926)
– The End of St. Petersburg (1927)
– Storm Over Asia หรือ The Heir to Genghis Khan (1928)

ไล่เรียงความชื่นชอบก็ตามลำดับหนังเลยนะครับ Mother (1926) > The End of St. Petersburg (1927) >= Storm Over Asia (1928)

ถึงส่วนตัวจะคลั่งไคล้ ประทับใจในไดเรคชั่นผู้กำกับ Vsevolod Pudovkin แต่เพราะเนื้อเรื่องราวที่ลวงหลอกโลก แฝงเร้นใจความชักชวนเชื่อ นำพาผู้ชมสมัยนั้นให้เกิดความเข้าใจผิด (ผู้ชมสมัยนี้ที่ไม่รับรู้ความจริงก็เฉกเช่นกัน!) นี่ถือเป็นสิ่งอัปลักษณ์เหลือทน เหมือนคนเต็มไปด้วยความสับสน กลิ้งกลอก หลอกตัวเองไปวันๆ

แนะนำหนังกับ นักเรียน/คนทำงานวงการภาพยนตร์ มีหลายๆไดเรคชั่นน่าสนใจ สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการทำงาน, นักรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สนใจประวัติศาสตร์สหภาพโซเวียต, ชื่นชอบเจงกีสข่าน และผู้หลงใหลในทิวทัศนียภาพสวยๆประเทศมองโกเลย ห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด!

จัดเรต 15+ กับใจความชักชวนเชื่อจากเนื้อเรื่องราวที่อุปโหลกขึ้นมา

คำโปรย | Vsevolod Pudovkin พยายามหลอกตนเองกับ Potomok Chingiskhana แม้จะประสบความสำเร็จ แต่มันก็อัปลักษณ์เหลือทน
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | อคติ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: