The Parson's Widow

Prästänkan (1920) Swedish : Carl Theodor Dreyer ♥♥♥♡

เรื่องราวชวนหัวของชายหนุ่มผู้ต้องการเป็นนักเทศน์ แต่ขนบธรรมเนียมของที่นี่คือต้องแต่งงานกับภรรยาหม้าย(ของบาทหลวงคนก่อนหน้า) ทั้งๆตัวเขามีคู่หมั้นอยู่แล้ว แช่งให้ตายโดยไว แต่ยายแกมียาวิเศษจะอยู่ให้ครบร้อยปี!

ใครที่เคยรับชมผลงานของ Carl Theodor Dreyer อาจเกิดความใคร่ฉงนสงสัย ผู้กำกับทำหนังเครียดๆอย่าง The Passion of Joan of Arc (1928), Day of Wrath (1943), Ordet (1955) เนี่ยนะ! จะมาทำหนังตลก

“Once we have seen The Parson’s Widow, is it easier to find a comic element in even the most serious Dreyer films, stemming from Dreyer’s humanism, his acceptance of man for what he is, with all his weaknesses and strengths.”

– นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ Eileen Bowser

The Parson’s Widow ผลงานลำดับสองของผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer แต่คือเรื่องแรกที่ฉายแวว ‘ศิลปิน’ ด้วยไดเรคชั่นที่จะกลายเป็นสไตล์ ลายเซ็นต์ เอกลักษณ์เฉพาะตัว ชวนขำ … แต่หลายครั้งก็หัวเราะไม่ออกสักเท่าไหร่


Carl Theodor Dreyer (1889 – 1968) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Danish เกิดที่ Copenhagen, Denmark มารดาเป็นคนรับใช้ตั้งครรภ์กับเจ้านายคลอดเขาออกมา แต่แล้วเมื่อกำลังจะมีคนที่สองพยายามทำแท้งแต่เลือดตกในเสียชีวิต สองปีแรกอาศัยอยู่ยังสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า กระทั่งว่าได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อแม่บุญธรรม กระนั้นพวกเขาก็ไม่ใคร่สนใจใยดี เสี้ยมสอนสั่งให้รู้จักสำเหนียกระลึกบุญคุณต่ออาหารและหลังคาคลุมกะลาหัว ด้วยเหตุนี้พออายุ 16 จึงหลบหนีออกจากบ้าน ด้วยความเฉลียวฉลาดเรียนเก่งเลยได้ทำงานเป็นนักข่าว ตามด้วยเข้าสู่วงการภาพยนตร์ช่วงหนังเงียบ เป็นนักออกแบบ Title Card ต่อมาพัฒนาบทหนัง  กระทั่งได้รับโอกาสสร้าง The President (1919), The Parson’s Widow (1920), Master of the House (1925), แม้เสียงตอบรับดีเยี่ยมแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทำเงิน เลยออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสสร้าง The Passion of Joan of Arc (1928) กลายเป็นตำนานโดยทันที!

หลังเสร็จจาก The President (1919) โปรเจคในความสนใจของ Dreyer คือ Leaves from Satan’s Book แต่หลังจากนำไปพูดคุยกับ Nordisk Film (ที่ออกทุนสร้างให้ The President) เรียกร้องโน่นนี่นั่นจนโปรดิวเซอร์เกิดความรำคาญ เลยถูกนำขึ้นหิ้งยังไม่ได้รับอนุญาตให้สร้าง [แต่ก็ได้สร้างหลังเสร็จจาก The Parson’s Window]

ความผิดหวังจาก Nordisk Film ทำให้ Dreyer หันเข้าหา Svensk Filmindustri สตูดิโอสัญชาติสวีเดน ที่เจ้าตัวลุ่มหลงใหลอยากร่วมงานด้วยตั้งแต่เมื่อครั้นยังเป็นนักข่าว เพราะให้กำเนิดผู้กำกับดังแห่งยุคอย่าง Mauritz Stiller และ Victor Sjöstrom

ซึ่งระหว่างเข้าไปพูดคุย มีโปรเจคหนึ่งในความครอบครองของ Svensk Filmindustri ที่อยู่ในความสนใจผู้กำกับ Dreyer คือเรื่องสั้น Prestekonen (1879) แต่งโดย Kristofer Janson (1841 – 1917) นักกวี/นักเขียน สัญชาติ Norwegian ที่ได้รับการยกย่องเทียบเคียง/รุ่นเดียวกับ Henrik Ibsen (1828 – 1906) แถมเป็นชาวนอร์เวย์เหมือนกัน

พื้นหลังประมาณศตวรรษ 16-17, เรื่องราวของ Söfren (รับบทโดย Einar Rød) ชายหนุ่มเพิ่งสำเร็จการศึกษา ร่วมออกเดินทางกับคู่หมั้น Mari (รับบทโดย Greta Almroth) ค้นหาโบสถ์ที่กำลังต้องการนักเทศน์คนใหม่ หลังได้รับการคัดเลือก เรียนรู้จักประเพณีที่ขาดไม่ได้ ต้องแต่งงานภรรยาหม้ายของบาทหลวงคนก่อน Margarete Pedersdotter (รับบทโดย Hildur Carlberg) อายุน่าจะหลักร้อยแล้วกระมัง

เกร็ด: ตำนาน Parson’s Wife ว่ากันว่ามีอยู่จริงๆในประวัติศาตร์ Nordic


Einar Rød (1897 – 1931) นักแสดงสัญชาติ Norwegian เป็นนักแสดงละครเวทีประจำ National Theater ผลงานภาพยนตร์ประปรายในยุคหนังเงียบ, รับบท Söfren นักเทศน์หนุ่มหน้าตาใสซื่อ เฉลียวฉลาดรอบรู้ สามารถเทศน์สั่งสอนในโบสถ์ได้อย่างน่าสนใจ ถึงกระนั้นกลับไม่สามารถเอาชนะหญิงชรามากประสบการณ์ ตกหลุมพรางเป็นเหตุให้ต้องแต่งงานครองคู่แม้ไม่ได้ตกหลุมรัก

Greta Almroth (1888 – 1981) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Stockholm โด่งดังในยุคหนังเงียบ, รับบท Mari แฟนสาวของ Söfren อุทิศความรักให้ แต่เพราะขนบประเพณีทำให้ยังมิอาจครองคู่ ปลอมตัวเป็นน้องสาวทำงานรับใช้ คอยอยู่ชิดใกล้ไม่ไกลห่าง

Hildur Carlberg ชื่อจริง Hilda Christina Charlotta Geissner (1843 – 1920) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Stockholm เป็นนักแสดงละครเวทีมากประสบการณ์ ก่อนผันตัวสู่วงการภาพยนตร์ยุคหนังเงียบ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Outlaw and His Wife (1918), Ingmarssönerna (1919), รับบทหญิงชราหม้าย Margarete Pedersdotter แต่งงานมาแล้ว … หลายรอบ ก็ไม่ได้ใคร่พิศวาสชายหนุ่ม แต่ต้องยึดถือมั่นปฏิบัติทำตามขนบประเพณี ซึ่งหลังจากแต่งงานก็ให้อิสรภาพ Söfren อย่างเต็มที่ และด้วยประสบการณ์ทำให้สามารถติดตามทันทุกความต้องการของเขา

เกร็ด: Hildur Carlberg แม้มีสภาพอิดๆออดๆ ป่วยหนัก แต่เธอยืนกรานผู้กำกับ Dreyer

“Don’t be alarmed. I promise you I’ll not die until we have finished the shooting”.

ซึ่งเธอก็ถ่ายทำหนังเสร็จจริงๆ และเสียชีวิตไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ไร้โอกาสรับชมภาพยนตร์ ซึ่งอาจจะเป็นผลงานยอดเยี่ยมสุดของตนเองเลยก็ว่าได้


ถ่ายภาพโดย George Schnéevoigt (1893 – 1961) ผู้กำกับ/นักแสดง/ตากล้อง สัญชาติ Danish,

Dreyer ค้นพบสถานที่ถ่ายทำคือ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของ Anders Sandvig ตั้งอยู่ Lillehammer, Norway มีทั้งบ้าน ฟาร์ม โบสถ์ ทุกสิ่งอย่างรวบรวมจากศตวรรษที่ 17 เป็นของสะสมชื่นชอบส่วนตัว

แม้ส่วนใหญ่กล้องจะตั้งแน่นิ่งอยู่กับที่ แต่หลายครั้งพบเห็นลูกเล่น Iris Shot เพื่อให้ผู้ชมจับจ้องมองเห็นแค่ตัวละครเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็สร้างความขบขัน เรียกเสียงหัวเราะ ลีลาเย้ายวนกวนประสาทอยู่ไม่น้อย

แต่ความโดดเด่นของงานภาพ ไม่ใช่แค่ Irish Shot เท่านั้น การเลือกมุมกล้อง จัดวางองค์ประกอบ สิ่งข้าวของ แถมส่วนใหญ่ล้วนเป็นฉากภายในซึ่งต้องใช้แสงสว่าง แต่ยุคสมัยนั้นไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึง … เห็นว่ามีการลากสายเคเบิลจากโรงไฟฟ้าแถวนั้น เพื่อใช้ถ่ายทำหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ!

การขยับเคลื่อนกล้องในยุคสมัยนั้นเป็นสิ่งยุ่งยาก วุ่นวาย ซึ่งผู้กำกับ Dreyer ชื่นชอบความท้าทายนั้น พบเห็นสามสี่ครั้งในหนังซึ่งมีความขบขัน/นัยยะซ่อนเร้นอยู่ อาทิ
– สามผู้สมัครนักเทศน์ กล้องเคลื่อนไหลให้พบเห็นสภาพของแต่ละคน ผอมแห้งแว่นหนาเตอะ – อ้วนท้วนกักฬระ – Söfren รูปร่างเพียงพอดีที่สุดแล้ว
– กล้องเคลื่อนจาก Söfren เป่าขลุ่ยเพื่อหยอกล้อเล่นกับ Mari แต่พอกล้องเคลื่อนไถลให้พบเห็นด้านในบ้าน ปรากฎว่าเป็นหญิงรับใช้คนอื่นที่ได้ยิน

ตัดต่อไม่มีเครดิต แต่น่าจะโดย Carl Theodor Dreyer,

ดำเนินเรื่องราวผ่านมุมมองของ Söfren โดยมีลักษณะแบ่งเป็นตอนๆต่อเนื่องกันไป ซึ่งจะสอดคล้องเข้าสูตร “ครุ่นคิดแผน -> กระทำการ -> ส่วนใหญ่ล้มเหลว” และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งพระเอกเลยยินยอมพ่ายแพ้ พูดบอกความจริงกับ Margarete Pedersdotter นั่นทำให้เธอไม่เพียงเข้าใจทุกอย่าง แต่ยังซาบซึ้งและผ่อนคลายกายใจ ลาจากโลกนี้ไปอย่างสงบสันติสุข


การที่ต้องกระทำตามวิถีความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณดั้งเดิม บางทีมันก็ไม่ใช่สิ่งน่าอภิรมณ์เริงใจสักเท่าไหร่ อย่างการแต่งงานกับหญิงหม้ายของบาทหลวงคนก่อน ทำลายความหวังครองคู่หญิงสาวคนรัก ถึงจะแช่งชักให้ยายแก่ตายโดยไว แต่เธอนั้นไซร์มักอยู่ยืน อายุเกินร้อยๆปี

ยินยอมรับความจริงอาจคือหนทางออก ฉันไม่ได้รัก ไม่ได้อยากแต่งงานด้วย ถ้าพูดบอกไปตั้งแต่ครั้งแรก เรื่องวุ่นวายไร้สาระทั้งหลายเหล่านี้คงไม่บังเกิดขึ้น … แต่กรณีดังกล่าว ถ้าเขาไม่ยินยอมแต่งงานหญิงชราหม้าย ย่อมหมดสิทธิ์ที่จะเป็นนักเทศน์ประจำโบสถ์แห่งนี้

สรุปแล้วสิ่งที่ถือว่าผิดปกติที่สุดในหนัง ก็คือวิถีความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ใครมันครุ่นคิดก่อร่างสร้างวัฒนธรรมนี้ขึ้นมา และบรรดาชาวชุมชนที่ยึดถือมั่นศรัทธา ทั้งๆอาจรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องถูกต้องเหมาะสมสักเท่าไหร่ แต่ปฏิเสธที่จะต่อต้านผู้ใหญ่/คนโบราณ ปลูกฝังเสี้ยมสั่งสอนมายึดถือมั่นกันมา

พระโคตมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมต่อชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล ถึงกาลามสูตร ๑๐ หลักแห่งความเชื่อที่ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน อันประกอบด้วย

  1. มา อนุสฺสวเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
  2. มา ปรมฺปราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา
  3. มา อิติกิราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
  4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
  5. มา ตกฺกเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง)
  6. มา นยเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดคะเน)
  7. มา อาการปริวิตกฺเกน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
  8. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา – อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
  9. มา ภพฺพรูปตา – อย่าปลงใจเชื่อมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
  10. มา สมโณ โน ครูติ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา

ความเชื่อผิดๆสามารถเอาชนะด้วยการครุ่นคิดด้วยสติปัญญา เราต้องเป็นผู้กล้าที่จะเผชิญหน้ายินยอมรับสิ่งถูกต้อง ไม่ใช่โอนอ่อนผ่อนตามกระแสสังคม ขนบประเพณี หรือคำที่ผู้ใหญ่ว่ากล่าวมา ต่อให้ถูกตราหน้า ‘ศิษย์ล้างครู’ แต่การหลงผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว รังจะทำให้ดวงตามืดบอด ชีวิตตกต่ำต้อยลงเรื่อยๆ

สำหรับผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer เติบโตขึ้นในครอบครัวบุญธรรมที่พยายามเสี้ยมสั่งสอน ปลูกฝังความเชื่อผิดๆให้ตน แต่ด้วยความเฉลียวฉลาดจึงสามารถรับรู้เข้าใจ อดรนทนจนกระทั่งล่วงถึงวัย สามารถหลบหนีออกจากบ้าน ดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อสะท้อนค่านิยมผิดๆ มันช่างตลกขบขัน แต่ร้ายนักเพราะคือเหตุการณ์จริงเคยเกิดขึ้น

แต่ถึงจะมีความเข้าใจในวิถีทางถูกต้อง แต่ Dreyer ก็ซึมซับเอาพฤติกรรมของพ่อบุญธรรม กำกับภาพยนตร์ตั้งแต่เรื่องนี้ด้วยความเข้มงวด เคร่งครัด เรื่องมาก ต้องให้ได้เปะๆแบบไม่ประณีประณอมอ่อนข้อใคร … ฟังดูช่างย้อนแย้งขัดกันโดยสิ้นเชิง ไม่ชื่นชอบเผด็จการแต่กลับแสดงออกอย่างเห็นแก่ตัว!


เสียงตอบรับของ The Parson’s Wife เมื่อตอนออกฉายค่อนข้างผสมกัน ฝั่งชื่นชมยกย่องว่าคือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี! ขณะที่คนไม่ชอบบอกขาดความน่าสนใจ ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นเลยสักอย่าง!

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนัง แม้เรื่องราวคาดเดาง่ายไปหน่อย แต่ถือเป็นความบันเทิงสไตล์หนังเงียบ โดดเด่นในไดเรคชั่นผู้กำกับ Dreyer นักแสดงน่ารักน่าชัง ท่าเดินยังชวนให้ขบขัน

จัดเรต PG กับประเพณีแปลกๆ เสียงหัวเราะในความโชคร้ายตัวละคร

คำโปรย | Prästänkan เรื่องชวนหัวของผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer ขำบ้างไม่ขำบ้าง รวมเรียกว่าบันเทิงสไตล์หนังเงียบ
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: