Princess Iron Fan

Princess Iron Fan (1941) Chinese : Wan Guchan, Wan Laiming ♥♥♡

หลายคนคงคิดว่า อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของเอเชียคงจะสร้างโดยญี่ปุ่น แต่ความจริงกลับเป็นประเทศจีนที่สำเร็จเสร็จก่อน, องค์หญิงพัดเหล็ก (Tiě shàn gōngzhǔ) จากนวนิยายคลาสสิกจีนเรื่องไซอิ๋ว ขณะพระถังซัมจั๋งเดินทางมาถึงเทือกเขาแห่งหนึ่งที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงชัชวาลย์ การจะผ่านเส้นทางนี้ได้จำเป็นต้องหยิบยืมขอใช้พัดเหล็กนางมาดับไปบนเทือกเขานี้

‘สี่สุดยอดวรรณกรรมจีน’ ที่ได้รับการยกย่องยินยอมรับ มีความอันยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลต่อนวนิยายเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย
– สามก๊ก (Romance of the Three Kingdoms) เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1330
– ซ้องกั๋ง (Water Margin) ค.ศ. 1573
– ไซอิ๋ว (Journey to the West) ค.ศ. 1590
– ความฝันในหอแดง (Dream of the Red Chamber) ค.ศ. 1792

สมัยก่อนจะนับ บุปผาในกุณฑีทอง (The Plum in the Golden Vase) เป็นวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องที่ห้าด้วย แต่เพราะเนื้อหามีล่อแหลมทางเพศมากเกินไป จึงถูกรัฐบาลจีนสั่งแบนและตัดชื่อออกจาก

ไซอิ๋ว (Journey to the West แปลตรงตัวว่า บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก) เป็นนวนิยายคลาสสิกของจีน แต่งขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1590 ช่วงราชวงศ์หมิง ประพันธ์โดย อู๋เฉิงเอิน (Wu Cheng’en) เรื่องราวการเดินทางไปยังชมพูทวีป (อินเดีย) เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฏกของหลวงจีนชื่อ พระถังซำจั๋ง (อ้างอิงจากผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ มีนามว่าพระเสวียนจั้ง) โดยมีสัตว์ 3 ตนเป็นเพื่อนร่วมทาง ประกอบด้วย เห้งเจีย (ลิง) ตือโป๊ยก่าย (หมู) และซัวเจ๋ง (ปีศาจปลา) ระหว่างการเดินทางต้องพบกับการขัดขวางของเหล่าปิศาจมากมาย ด้วยเนื้อหาที่เป็นการผจญภัย และมีสัตว์เป็นตัวเอก ทำให้ไซอิ๋วได้รับความนิยมจากหมู่เยาวชนมากที่สุดในวรรณกรรมเอกทั้ง 4 เรื่อง

การเลือกไซอิ๋ว มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศจีน ต้องถือว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากๆ เพราะคือหนึ่งในวรรณกรรมมีความยิ่งใหญ่ที่สุด (ของจีน) ผู้คนรู้จักมากมาย และความแฟนตาซี (เหนือจินตนาการ) ที่สมัยนั้นถ้าจะดัดแปลงวรรณกรรมเรื่องนี้ให้เป็นภาพยนตร์คนแสดง (Live-Action) แทบไม่มีความเป็นไปได้เลย เปรียบเสมือนขุมทรัพย์มูลค่ามหาศาล แต่ยังไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ ต้องรอคอยช่วงเวลาเมื่อทุกอย่างเพรียบพร้อมและเหมาะสม

ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามสร้างไซอิ๋วมาแล้วครั้งหนึ่ง หนังเงียบเรื่อง The Cave of the Silken Web (1927) ชื่อตอนปราบปีศาจแมงมุม แต่น่าเสียดายฟีล์มต้นฉบับสูญหายไปแล้ว ไม่แน่ใจว่าถูกทำลายช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนหรือเปล่า

องค์หญิงพัดเหล็ก (Tiě shàn gōngzhǔ) ชื่อภาษาอังกฤษ Princess Iron Fan บางทีก็เรียกว่า นางรากษส (Luó shā nǚ) จีนกลางจะเรียกว่า หลัวชา จีนฮกเกี้ยเรียกว่า ล่อซั่ว เป็นหนึ่งในตัวละครจากไซอิ๋ว, นางเป็นภริยาของราชาปีศาจกระทิง และเป็นมารดาของเด็กแดง โดยปกติจะปรากฏกายเทพธิดารูปโฉมงดงาม แต่ที่จริงแล้วคือรากษสี (รากษสตัวเมีย) อาศัยอยู่ในถ้ำใต้ดินร่วมกับครอบครัว มักเฝ้ารอคอยสามีกลับบ้าน มีความเกรี้ยวกราดเมื่อทราบว่าคนรักแอบไปคบชู้อยู่กับนางจิ้งจอก

นางเป็นเจ้าของพัดที่เรียกว่า พัดเหล็ก แท้จริงแล้วทำจากใบตอง ในโอกาสทั่วไปพัดนี้จะมีขนาดเล็ก และเธอจะอมเก็บไว้ในปาก แต่เมื่อจะใช้สามารถขยายรูปได้มหาศาล และคุณวิเศษเมื่อโบกสะบัดจะบันดาลลมสลาตัน ปัดเป่าความลุ่มร้อน นำพาสายลมฝน ก่อเกิดความชุ่มฉ่ำไปถ้วนทั่ว

ในเรื่องไซอิ๋ว คณะจาริกของพระถังซัมจั๋งได้เดินทางมาถึงเทือกเขาแห่งหนึ่ง ที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงชัชวาลย์ การจะผ่านเส้นทางนี้ได้นั้น จำต้องใช้พัดเหล็กขององค์หญิงพัดเหล็กมาดับไฟบนเทือกเขาแห่งนี้ แต่นางไม่ยินยอมมอบพัดให้ง่ายๆ เรื่องราววุ่นๆจึงเกิดขึ้น

อนิเมชั่นเรื่องนี้สร้างโดย Wan Guchan และ Wan Laiming (หรือเรียกว่า Wan brothers) ในช่วงระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่น Second Sino-Japanese War (1937-45) หลังจากมีโอกาสรับชมภาพยนตร์อนิเมชั่นขาดยาวเรื่องแรกของโลก Snow White and the Seven Dwarfs (1939) ที่ได้เข้าฉายในประเทศจีนด้วย (สาเหตุเพราะเซี่ยงไฮ้ขณะนั้น ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น จึงมีการนำเข้าฉายภาพยนตร์จากต่างประเทศ)

ตระกูล Wan มีพี่น้อง 4 คน (อีก 2 คนคือ Wan Chaochen และ Wan Dihuan) ทั้งหมดเป็นนักอนิเมเตอร์กลุ่มแรกๆของประเทศจีน เริ่มต้นจากพี่คนโต Wan Laiming (1900 – 1997) เกิดที่ Nanjing, วัยเด็กมีโอกาสรับชมภาพยนตร์การ์ตูนนำเข้าจากต่างประเทศ เกิดความลุ่มหลงใหลคลั่งไคล้ พอโตขึ้นเข้าทำงานแผนกออกแบบศิลป์ Shanghai Commercial Press จนเกิดความเข้าใจในวิธีการสร้างสรรค์อนิเมชั่น ใช้ห้องใต้หลังคาร่วมกับน้องๆ วาดภาพแมวไล่จับหนูในหนังสือเล่มหนาๆ ทดลองทำโน่นนี่นั่นจนกระทั่งสามารถสร้างโฆษณาอนิเมชั่นชิ้นแรกของประเทศจีนได้สำเร็จ Shuzhendong Chinese Typewriter (1922)

ปี 1924, Laiming และ Guchan ได้รับคำชักชวนจาก Great Wall Film Company ให้มาทดลองทำภาพยนตร์อนิเมชั่น เสร็จสำเร็จเรื่องแรกคือ Uproar in the Studio (1926) [สูญหายไปแล้ว], ต่อด้วยอนิเมชั่นเสียงเรืื่องแรก The Camel’s Dance (1935) [สูญหายไปแล้วเช่นกัน]

แม้เป็นความตั้งใจจะสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 30s แต่การมาถึงของสงคราม Second Sino-Japanese War ทำให้สูญเสียเวลาและโอกาสไปมาก กระทั่งพี่น้อง Wan ได้รับชม Snow White and the Seven Dwarfs (1939) iuรอช้าอยู่ไม่ได้แล้ว เพื่อเกียรติประวัติของชาติให้เทียบเท่าสากล จึงเร่งรีบร้องขอทุนจาก Xinhua Film Company แม้ทีแรกจะถูกมองว่าคงไม่คุ้มทุนสร้างแน่ แต่เมื่อถูกรบเร้าซี้เซ้ามากๆ เอาก็เอา!

หนังใช้เวลาการสร้างเกือบๆ 3 ปี ศิลปิน 237 คน ปักหลักอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ทุนสร้าง 350,000 หยวน เน้นใช้เทคนิค Rotoscoping (วาดภาพเคลื่อนไหวตามแบบคนแสดง แบบเฟรมต่อเฟรม) นี่ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้เยอะ เพราะไม่ต้องออกแบบอะไรมาก ศิลปินแค่วาดภาพอนิเมชั่นตามการเคลื่อนไหวของมนุษย์ (และสัตว์) เท่านั้นเอง, จำนวนภาพประมาณ 20,000 เฟรม ได้ฟีล์มความยาว 18,500 ฟุต (5,500 เมตร) ตัดเหลือ 7,600 ฟุต (2,300 เมตร) รวมความยาว 80 นาที

ฉบับที่ผมรับชมใน Youtube ต้องบอกว่าคุณภาพของภาพอนิเมชั่นแปลงจากฟีล์มมาเป็นดิจิตอลทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ Noise เยอะมาก ทำให้ปวดตามึนศีรษะพอสมควร และความลื่นไหลสมจริง ก็อย่าไปคาดหวังอะไรเท่าไหร่ สร้างได้เท่านี้ยุคสมัยนั้นก็ถือว่าน่าทึ่งมากๆแล้ว

ในส่วนของอนิเมชั่น โดยส่วนตัวบอกเลยว่าไม่ประทับใจเท่าไหร่ เพราะมันพิลึกพิลั่น ผิดธรรมชาติมากเกินไป จนรู้เหมือนกำลังรับชมสโลวโมชั่นอยู่ตลอดเวลา (นี่เป็นผลพวงจากเทคนิค Rotoscoping ล้วนๆ) และทุกช็อตฉากต้องมีบางสิ่งเคลื่อนไหว ทำให้ขาดจังหวะ โมเมนตัม มีอารมณ์เดียวตลอดทั้งเรื่อง!

ไฮไลท์ของหนังคือฉากต่อสู้ ระหว่างลูกศิษย์พระถังซัมจั๋งทั้งสาม ซุนหงอคง ตือโป๊ยก่าย และซัวเจ๋ง สู้กับราชาปีศาจกระทิง ที่ถือว่าเหนืออลังการมากๆ เหาะไปสู้บนสวรรค์ มีฉากแปลงร่าง-ย่อขยายตัว ต้องใช้ทั้งเล่ห์เหลี่ยม ความสามัคคี กว่าจะสามารถเอาชนะมาได้

เสียงพากย์ เพลงประกอบ และ Sound Effect จะได้ยินคลอประกอบตลอดทั้งเรื่อง ไม่มีช่วงไหนเงียบสงัดลงเลย ผมพยายามลองฟังเสียงร้อง เพลงประกอบ ก็พบว่าไม่เลวนะ ไพเราะดี เน้นดนตรีจีนพื้นบ้าน ประกอบสร้างบรรยากาศ แต่เพราะคุณภาพเสียงไม่ดีเท่าไหร่ ทำให้ค่อนข้างหนวกหูรำคาญใจ

ไม่รู้อาจเป็นเฉพาะผมหรือเปล่านะ Comedy ในหนังมันไม่ตลกเลย คือเหมือนมันใส่มาแบบไม่มีกาลเทศะ อยากใส่ก็ใส่ ไม่สนว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม สงสัยคงได้อิทธิพลมาจาก Snow White ที่ต้องการสร้างบรรยากาศสนุกสนาน ผ่อนคลาย แต่ความสามารถในการนำเสนอ เทคนิค ลูกเล่นต่างกันมากๆ มันเลยเทียบกันไม่ติด (เห็นเป็นแค่การเลียนแบบ)

ในส่วนเนื้อเรื่องราว รับชมยุคสมัยนี้น้อยคนคงตระหนักว่า ใจความอนิเมชั่นแท้จริงแล้วแฝงสาระชักชวนเชื่อ ซึ่งเป็นค่านิยมภาพยนตร์ยุคสมัยนั้นของประเทศจีน, พระถังซัมจั๋งและคณะ พานพบเจออุปสรรคคือเปลวไฟลุกโชติช่วงชัชวาลย์ นั่นสามารถสื่อถึงสงครามความขัดแย้ง การจะสามารถดำเนินเดินทางต่อ จำต้องหยิบยืมขอพัดเหล็ก สัญลักษณ์ของการปัดเป่าความลุ่มร้อน ทุกข์ภัย นำพาความสุขสงบสดชื่นร่มเย็นให้หวนกลับคืนมาสู่ดินแดน(จีน)

มารยาขององค์หญิงพัดเล็ก และพละกำลังของราชาปีศาจกระทิง สามารถเปรียบได้กับกองทัพญี่ปุ่น เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมกลโกงอันชั่วร้าย ถือความได้เปรียบกว่าในทุกๆด้าน กระนั้นชัยชนะของเห้งเจียและผองพวก คือการประสานความร่วมมือลงแรง ชักนำพาให้มาติดกับดักดิ้นไม่หลุด และน้ำพระทัยจากพระถังซัมจั๋ง ไม่ได้ต้องการเข่นฆ่าทำแกง ขอแค่ความสงบสุขแผ่ปกคลุมทั่วของผืนแผ่นดิน(จีน)

สำหรับฉากจบ รู้สึกว่ามันคล้ายๆกับ Snow White ที่เป็นปราสาทของเจ้าชาย (ซึ่งอาจมีความหมายแฝงถึงสวรรค์ โลกหน้า) สำหรับอนิเมะ สถานที่นั้นคือชมพูทวีป เป้าหมายปลายทางของพระถังซัมจั๋ง หรือนัยยะแฝงคือความสงบสุขของผืนแผ่นดินจีน

ถ้านับลำดับการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวทั่วโลก Princess Iron-Fan จะคือเรื่องที่ 12 (สูญหายไป 3 เรื่อง), อิทธิพลของอนิเมชั่นเรื่องนี้ ได้ถูกส่งออกไปญี่ปุ่น (ในปี 1942) กลายเป็นแรงบันดาลให้ Tezuka Osamu ชายผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระเจ้าของวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น ตัดสินใจเป็นนักวาดการ์ตูน Momotaro’s Sea Eagles (1942) และ Momotaro’s Divine Sea Warriors (1945)**เรื่องหลังคือภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของญี่ปุ่น

หลังเสร็จจากเรื่องนี้ พี่น้อง Wan วางแผนทำอนิเมชั่นภาพสีขนาดยาวเรื่องถัดไปทันที Havoc in Heaven แต่โปรเจคถูกขึ้นหิ้งไว้ เพราะทหารญี่ปุ่นในเซี่ยงไฮ้เริ่มมีความเข้มงวดกวดขัน แถมนายทุนถอนตัวหลบลี้หนีเอาตัวรอด ซึ่งกว่าจะได้เริ่มต้นสานต่อก็หลังสงครามสิ้นสุด ก่อตั้งสตูดิโอใหม่ Shanghai Animation Film Studio สำเร็จอนิเมชั่นสีขนาดสั้นก่อน Why is the Crow Black-Coated (1956) และติดตามมาด้วย Havoc in Heaven (1964)

แนะนำอย่างยิ่งกับคอหนังอนิเมชั่น ที่ต้องการเห็น อนิเมะเอเชียขนาดยาวเรื่องแรก และถ้าคุณชื่นชอบวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องไซอิ๋ว พระถังซัมจั๋ง, เห้งเจีย, ตือโป๊ยก่าย, ซัวเจ๋ง และเรื่องราวช่วงองค์หญิงพัดเหล็ก ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรตทั่วไป แต่ภาพอนิเมชั่นอาจดูแล้วมึนๆ ปวดหัวนิดหน่อย ก็ทำใจนะครับ คุณภาพไม่ได้ดีมาก

TAGLINE | “Princess Iron Fan แม้คุณภาพอนิเมชั่นจะไม่ค่อยดีนัก แต่ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการอนิเมชั่นเอเชียที่ไม่ควรพลาด”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
2 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] Princess Iron Fan (1941)  Anime Film : Wan Guchan, Wan Laiming ♥♥♡ […]

%d bloggers like this: