Blind Chance (1981) Polish : Krzysztof Kieślowski ♥♥♥♡

ชีวิตก็เหมือนทอยลูกเต๋า มีความเป็นไปได้เกิดขึ้นไม่รู้จบ! ผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ทดลองนำเสนอสามสถานการณ์แห่งโชคชะตา เมื่อตัวละครสามารถวิ่งขึ้นรถไฟ, พุ่งชนเจ้าหน้าที่สถานี และหยุดยอมรับความพ่ายแพ้ แต่ไม่ว่าชีวิตจะดำเนินไปไทม์ไลน์ไหน ล้วนประสบผลลัพท์ไม่น่าอภิรมณ์ทั้งนั้น

ความเกรี้ยวกราดต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ Poland ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ทำให้ผู้กำกับ Kieślowski มองหาแนวความคิดใหม่ๆ ต้องการทดลองภาษาภาพยนตร์ที่สามารถปลุกระดม บีบเค้นขั้นอารมณ์ผู้ชม กลายมาเป็น Blind Chance (1981) นำเสนอความเป็นไปได้จากสามสถานการณ์การเมือง What If…

  • ตัวละครสามารถวิ่งทันรถไฟ จับพลัดจับพลูกลายเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ พบเจออดีตรักแรกพบ แต่เธอกลับเป็นสมาชิกกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์
  • พุ่งชนเจ้าหน้าที่สถานี ทำให้มีการต่อสู้ขัดขืน เลยถูกจับติดคุกติดตาราง เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ หันหน้าหาพึ่งพาคริสต์ศาสนา แล้วพบเจอเพื่อนเก่าสมัยเด็ก ตกหลุมรักพี่สาว(เพื่อน) โดยไม่สนว่าเธอแต่งงานมีคู่ครองอยู่แล้ว
  • วิ่งไม่ทันรถไฟเลยหยุดยอมพ่ายแพ้ ทำให้พบเจอแฟนสาวคนปัจจุบัน ตัดสินใจหวนกลับไปร่ำเรียนแพทย์จนสำเร็จการศึกษา แต่งงานมีบุตร ปฏิเสธเลือกข้างคอมมิวนิสต์หรือกลุ่มต่อต้าน แต่ระหว่างเดินทางไปสัมมนาต่างประเทศ บังเกิดเหตุไม่คาดฝัน!

การแบ่งเรื่องราวออกเป็นไตรภาคี (Tripartite หรือ Triptych) ให้ความรู้สึกละม้ายคล้าย Rashōmon (1950) เวียนวนอยู่ในเหตุการณ์ตั้งต้นเดียวกัน แต่หนังไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองตัวละคร แค่โชคชะตานำพาให้เขาประสบพบเจอ ‘Blind Chance’ แล้วบังเกิดทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างออกไป ซึ่งผลลัพท์ไม่ว่าเข้าข้างฝั่งฝ่ายไหน ประเทศ Poland ยุคสมัยนั้น ล้วนมีทิศทางมุ่งสูงหายนะ นั่นน่าจะสร้างความหมดสิ้นหวังอาลัย นี่ฉันต้องอดรนทนอยู่ในสถานที่ไร้อนาคตแห่งนี้ไปอีกนานเท่าไหร่

แม้ผู้กำกับ Kieślowski พยายามวางตัวเป็นกลางโดยไม่เข้าข้างฝั่งฝ่ายไหน แต่ในช่วงที่อำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์กำลังสั่นคลอน สั่งแบนห้ามฉายในช่วงประกาศกฎอัยการศึก ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 1981 ถึง 22 กรกฎาคม 1983 แล้วหมักดองต่อไปจนถึงต้นปี 1987 ที่ความตึงเครียดเริ่มผ่อนคลาย แต่สถานการณ์ทางการเมืองได้ปรับเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้ Blind Chance (1981) ดูเฉิ่มเฉยล้าหลังโดยทันที!

หนังค่อนข้างดูยากในช่วงแรกๆ เพราะต้องทำความเข้าใจสถานการณ์การเมืองของประเทศ Poland ช่วงทศวรรษ 80s แต่พอเข้าสู่ไทม์ไลน์สองและสามก็น่าจะเริ่มสามารถปรับตัว รับรู้แนวคิด ตระหนักถึงความลุ่มลึกล้ำ อัจฉริยภาพผู้กำกับ Kieślowski ที่ได้พัฒนาภาษาภาพยนตร์รูปแบบใหม่ กลายเป็นแรงบันดาลใจ Run Lola Run (1998), Sliding Doors (1998), Mr. Nobody (2009) ฯลฯ

เกร็ด: ศิลปินผู้ออกแบบโปสเตอร์หนังคือ Andrzej Pagowski ซึ่งถือเป็นขาประจำผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ตั้งแต่ Camera Buff (1979), No End (1985) ฯ ส่วนความหมายของภาพนี้ค่อนข้างจะตรงไปตรงมา ชีวิตก็เหมือนทอยลูกเต๋า มีความเป็นไปได้เกิดขึ้นไม่รู้จบ!


Krzysztof Kieślowski (1941-96) ผู้กำกับชาว Polish เกิดที่ Warsaw ในช่วงที่ Nazi Germany เข้ายึดครอบครอง Poland ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาทำงานวิศวกรโยธา เลี้ยงดูบุตรชายตามแบบ Roman Catholic, พออายุ 16 ถูกส่งไปฝึกฝนอาชีพนักผจญเพลิง เพียงสามเดือนก็ตัดสินใจลาออก จากนั้นเข้าเรียน College for Theatre Technicians จบออกมาต้องการเป็นผู้กำกับละครเวที แต่เพราะไม่มีวุฒิปริญญาเลยไม่ได้รับการจ้างงาน เพื่อหลบหนีเกณฑ์ทหารจึงยื่นใบสมัครถึงสามรอบกว่าจะได้เข้าศึกษาต่อภาพยนตร์ยัง Łódź Film School

เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Krzysztof Kieślowski คือ Kes (1969) กำกับโดย Ken Loach

เริ่มต้นยุคแรก Early Work (1966-75), ด้วยการสรรค์สร้างสารคดี บันทึกภาพวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วๆไป The Office (1966), Tramway (1966), From the City of Łódź (1968), Factory (1970), จนกระทั่ง Workers ’71: Nothing About Us Without Us (1971) นำเสนอภาพการชุมนุมประท้วงหยุดงานเมื่อปี 1970 โดยไม่รู้ตัวเริ่มถูกทางการสั่งเซนเซอร์, Curriculum Vitae (1975) เลยแทรกใส่แนวคิดต่อต้านหน่วยงานรัฐ (Anti-Authoritarian) ทำให้โดนเพื่อนร่วมอาชีพตำหนิต่อว่า ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรง

Polish Film Carrier (1975-88), ช่วงที่ Kieślowski เริ่มสรรค์สร้างผลงานที่ไม่ใช่สารคดี ภาพยนตร์เรื่องแรก Personnel (1975) ** คว้ารางวัล Grand Prize จากเทศกาลหนัง Mannheim International Filmfestival (ที่ประเทศ Germany), ติดตามด้วย The Scar (1976), Camera Buff (1979), Blind Chance (1981), No End (1984) และผลงานชิ้นเอก Dekalog (1988) ซีรีย์ฉายโทรทัศน์ความยาวสิบตอน ได้แรงบันดาลใจจากพระบัญญัติ 10 ประการ

International Film Carrier (1991-94), แม้ช่วงสุดท้ายในชีวิตและอาชีพการงานของ Kieślowski จะมีผลงานเพียง 4 เรื่อง แต่ล้วนประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ การันตีความเป็นตำนานผู้กำกับภาพยนตร์ The Double Life of Veronique (1991), Blue (1993), White (1994), Red (1994)


หลังเสร็จจากภาพยนตร์ The Calm (1980) ผู้กำกับ Kieślowski ตระหนักว่าแนวคิดของ Cinema of moral anxiety (1976-81) กำลังใกล้มาถึงหนทางตัน ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บังเกิดขึ้น เลยเริ่มมองหาวิถีทางใหม่ๆ ตีพิมพ์ทฤษฎี Głęboko zamiast szeroko (1980) แปลว่า Deeply Rather Than Broadly ลงนิตยสาร Dialog โดยให้คำอธิบายว่า

I’m looking for a way that would impart to the audience of my films emotions similar to mine … more dramatic situations, conclusions that went beyond everyday experience, more universal and wiser diagnoses.

Krzysztof Kieślowski

สิ่งที่ Kieślowski ค้นพบก็คือ อัตถิภาวนิยม (Existentialism) แนวคิดทางปรัชญาที่ให้ความสนใจในตัวบุคคล เพราะโลกสมัยนี้มีหนทางเลือกมากมายเกินกว่ามนุษย์จะสามารถศึกษาเรียนรู้ ฉะนั้นเราควรมีสิทธิ์หรือโอกาสที่จะเลือกสรรพสิ่งต่างๆด้วยตัวของตัวเองมากกว่าให้ใครมามอบให้

ปรัชญานี้มีรากฐานมาจากสภาพความวุ่นวายในสังคม โดยเฉพาะการสงคราม หรือความขัดแย้งภายใน ทำให้อนาคตเต็มไปด้วยความมืดหม่น คนที่เชื่อในปรัชญานี้เน้นการมีชีวิตอยู่เพื่อปัจจุบัน คนเราจะอยู่ในสภาพสังคมเหล่านั้นจักต้องสามารถปรับตัวอยู่รอด มีความสุข สามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ กล้าครุ่นคิดตัดสินใจเลือกทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด และยินยอมรับผิดชอบในสิ่งที่ตนทำ

ผู้กำกับ Kieślowski พัฒนาบทหนัง Przypadek ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Dialog เมื่อปี 1981 นอกจากเพื่อมองหานายทุน ยังให้ผู้อ่านได้แสดงมุมมองความคิดเห็น และกองเซนเซอร์ที่ปฏิเสธพิจารณาอ่านบท (เพราะถูกตีตราว่า Anti-State, Anto Socialist) จำต้องรับฟังเสียงตอบรับจากกระแสสังคม


Bogusław Linda (เกิดปี 1952) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Toruń โขึ้นเข้าศึกษาต่อด้านการแสดงยัง Krakow Academy of Dramatic Arts ระหว่างนั้นเข้าร่วมโรงละคร Kraków’s Stary Teatr, ภาพยนตร์เรื่องแรก Fever (1980), ติดตามด้วย A Lonely Woman (1981), Man of Iron (1981), Blind Chance (1981), The Mother of Kings (1982), Psy (1992) ฯ

รับบท Witek นักศึกษาแพทย์ที่หลังจากสูญเสียบิดา ขอพักการศึกษาเพื่อค้นหาเป้าหมายชีวิต ระหว่างกำลังออกวิ่งขึ้นรถไฟมุ่งสู่ Warsaw มีสามความเป็นไปได้บังเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถวิ่งขึ้นรถไฟ, พุ่งชนเจ้าหน้าที่สถานี และหยุดยอมรับความพ่ายแพ้

ทั้งสามสถานการณ์ทำให้วิถีชีวิตของ Witek ปรับเปลี่ยนแปลงไป แต่เขายังเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ เชื่อมั่นในองค์กร(ที่เข้าร่วม) พร้อมอุทิศตนเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง แต่โชคชะตาล้วนนำพาให้เกิดความเข้าใจผิด ถูกทรยศหักหลัง ไม่ก็ประสบโศกนาฎกรรม ล้วนพบเจอหายนะที่มิอาจหลบลี้หนีพ้น

Linda พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ตัวละครมีความน่าเชื่อถือในแต่ละไทม์ไลน์ มองผิวเผินอาจไม่พบเห็นความแตกต่าง แต่ต้องชมว่าสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์เหล่านั้นได้อย่างแนบเนียน (เหมือนแสดงเป็นสามตัวละครที่มีพื้นหลังแตกต่างกัน)

  • ตอนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ดูมีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ภาคภูมิในตนเอง แต่หลังจากถูกทรยศหักหลัง ก็แสดงความเกรี้ยวกราดไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง
  • เมื่อเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ดูเป็นกันเอง เข้าหาได้ทุกผู้คน แต่หลังจากถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนทรยศ ทำให้ตกอยู่ในความซึมเศร้า รู้สึกผิดหวังในตนเอง
  • และตอนวางตัวเป็นกลาง แสดงความเพิกเฉยเย็นชา ไม่ยี่หร่าต่อฝั่งฝ่ายใด สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ สุดท้ายเลยได้รับความโชคร้าย โศกนาฎกรรม

ถ่ายภาพโดย Krzysztof Pakulski (เกิดปี 1948) ตากล้องสัญชาติ Polish เข้าศึกษาสาขาถ่ายภาพจาก Łódź Film School สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 1978 จากนั้นเริ่มมีผลงานสารคดี, ร่วมงานผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski อาทิ Blind Chance (1981), Dekalog (1988) ฯ

สไตล์ของ Kieślowski ได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ถ่ายทำสารคดี นิยมใช้กล้อง Hand-Held เคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละคร (หลายครั้งแทนมุมมองบุคคลที่หนึ่ง) มุ่งเน้นบันทึกภาพความจริง จากสถานที่จริง ด้วยแสงธรรมชาติ แต่ฉากส่วนใหญ่จะอยู่ภายในอพาร์ทเม้นท์ ห้องใต้ดิน เลยมีการจัดแสงไฟเพื่อสร้างบรรยากาศประกอบเรื่องราวขณะนั้นๆ

สถานที่ถ่ายทำหลักๆของหนังคือ Łódź, Łódzkie ยังสถานีรถไฟ Łódź Fabryczna Station (ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงจนแทบไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิมอีกต่อไป), นอกจากนี้ก็ Warsaw, Mazowieckie

คนที่รับชมจนจบจักมีความเข้าใจช็อตแรกของหนัง ว่าต้องการสื่อถึงขณะเครื่องบินกำลังระเบิด ทำให้ Witek กรีดร้องลั่นด้วยความหวาดสะพรึงกลัว! แต่เราสามารถตีความภาพนี้เหมารวมปฏิกิริยาทั้งสามไทม์ไลน์ หรือเป็นตัวแทนชาว Polish ที่ต้องอดรนทนอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ (หรือคือผู้กำกับ Kieślowski ต้องการจะกรีดร้องลั่นถึงหายนะของประเทศ Poland)

วันเกิดของ Witek พอดิบพอดีกับเหตุการณ์ Polski październik หรือ Polish October 1956 (ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 1956) คือช่วงเวลาที่ Polish People’s Republic แยกตัวออกจากร่มเงา Soviet Union เริ่มตั้งแต่การเสียชีวิตของ Joseph Stalin (1878-1953) ติดตามด้วยอดีตผู้นำคอมมิวนิสต์โปแลนด์ Bolesław Bierut (1892-1956) การขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของ Władysław Gomułka ประกาศแยกตัวจากสหภาพโซเวียต ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วง ใช้ความรุนแรงต่อต้าน ท้ายสุดประชาชนก็ได้รับชัยชนะ ถือเป็นจุดจบยุคสมัย Stalinism ในประเทศ Poland … แต่ก็ยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เหมือนเดิมนะครับ

การเกิดของ Witek สามารถเปรียบเทียบถึงการกำเนิดใหม่ของประเทศ Poland ได้รับอิสรภาพ/แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ไม่ต้องถูกควบคุมครอบงำจาก Stalinism อีกต่อไป! แต่ก็แลกมาด้วยการสูญเสียมารดาและน้องชาย เลือดไหลนองท่วมพื้นโรงพยาบาล

การเขียนเลข 8 โดยใช้การวาดวงกลมสองวง (แทนที่จะลากเส้นเพียงครั้งเดียว) สามารถเปรียบเทียบถึงวิธีการดำเนินเรื่องของหนังที่แบ่งออกเป็นแต่ละไทม์ไลน์ ก็เหมือนการวาดวงกลมเริ่มต้น-สิ้นสุด แล้วถึงค่อยเริ่มวาดอีกวงถัดไป (กลับสู่จุดตั้งต้นเพื่อเริ่มสถานการณ์ใหม่)

นี่เป็นฉากที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มงวดกวดขันของบิดาต่อบุตรชาย (เหมือนรัฐบาลคอมมิวนิสต์ปกครองประชาชน) พยายามควบคุมครอบงำ สั่งให้ทำโน่นนี่นั่น บีบบังคับต้องร่ำเรียนหมอ บลา บลา บลา

เมื่อปี 1968 หลังจากตำรวจเริ่มใช้ความรุนแรงต่อบรรดานักศึกษาที่มาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล Marzec 1968 หรือ Students’ March ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ได้ทำการตีตรากลุ่มคนเหล่านี้ว่า Zionist หรือพวก anti-Polish แล้วเหมารวมคนเชื้อสาย Jews ว่าคือต้นตอของปัญหา จึงเริ่มกระบวนขับไล่ (anti-Semitic) ช่วงระหว่างปี 1968-72 จำนวนกว่า 13,000+ คน (บางแหล่งข่าวคาดการณ์ว่าอาจถึง 20,000+ คน) ต้องอพยพหลบหนีภัยออกนอกประเทศ! … Daniel เพื่อนสนิทวัยเด็กของ Witek ต้องอพยพสู่ประเทศ Denmark ก็ด้วยเหตุผลประการนี้

เกร็ด: ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง Poland มีประชากรชาว Jews กว่า 3.5 ล้านคน! แต่กว่า 90% ถูกกวาดล้างโดย Nazi Germany และยังไม่วายพบเจอเหตุการณ์นี้อีก

Czuszka แฟนสาวคนแรกของ Witek ราวกับนางฟ้าจากสรวงสวรรค์ … เริ่มต้นมุมกล้องเงยขึ้นเห็นท้องฟ้า จากนั้นเอื้อมมือไปรับ ฉุดคร่าลงมาบนสู่ภาคพื้นดิน โอบกอดจูบ แต่แล้วพรรคเพื่อนของ Witek ก็ตะโกนพูดแซวทำให้เขารีบร้อนออกไล่ตาม (ล้อกับการวิ่งกวดขบวนรถไฟ) นั่นอาจคือเหตุผลที่ทั้งสองไม่ได้ร่วมรักหลับนอน พลัดพลาดโอกาสมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งต่อกัน (แต่ Witek ก็สามารถเติมเต็มความต้องการดังกล่าวในไทม์ไลน์แรก)

สำหรับแฟนสาวคนปัจจุบัน Olga พบเจอระหว่างร่ำเรียนวิชาแพทย์ ขณะกำลังผ่าศพ มิอาจอดรนทนเพราะอาจารย์ใหญ่คือคนที่เธอเคยโกรธรังเกลียด เต็มไปด้วยอคติ เลยไม่อยากพบเห็นตับไตไส้พุง รับรู้จัก’ภายใน’ของอีกฝั่งฝ่าย

ความสัมพันธ์ระหว่าง Witek กับ Olga ก็เช่นเดียวกัน! จะไม่ล้วงลึกระดับเดียวกับแฟนคนแรก Czuszka หรือไม่รับรู้อะไรเลยเหมือนการคบชู้ Werka เพียงตอบสนองความต้องการของกันและกัน ตอบตกลงแต่งงานเพียงเพราะอีกฝั่งฝ่ายตั้งครรภ์ กระทำสิ่งต่างๆโดยสนเพียงความพึงพอใจส่วนบุคคลเท่านั้น! (ต่อให้ Olga พยายามทักท้วงหักห้าม Witek ไม่ให้ออกเดินทางต่างประเทศ แต่เขาย่อมบอกปัดปฏิเสธเพราะมันคือการตัดสินใจของตนเอง)

การที่บุตรชาย Witek พบเห็นบิดา(ที่มีความเข้มงวดกวดขัน)สานสัมพันธ์ชู้สาวกับหญิงอื่น แม้ว่าเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ย่อมสร้างอคติ โกรธรังเกียจ ไม่ชอบใจสักเท่าไหร่ … ถ้าเราเปรียบบิดา=รัฐบาลคอมมิวนิสต์ การแสดงออกลักษณะนี้สามารถสื่อถึงความคอรัปชั่นที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน

ภาพดังกล่าวทำให้ Witek บังเกิดปม oedipus complex (ท่าทางของบิดาก็เหมือนต้องการซุกหัวกลับเข้าไปในครรภ์หญิงสาว) เต็มไปด้วยอคติ โกรธรังเกียจ ถึงอย่างนั้นหลังการเสียชีวิตของบิดา ทำให้เขาล่องลอยเคว้งคว้าง ขาดบุคคลสำหรับพึ่งพักพิง ไม่รู้จะดำเนินชีวิตทิศทางไหน

ทุกครั้งก่อนนำเข้าไทม์ไลน์ต่างๆ จะร้อยเรียงชุดภาพตั้งแต่ที่ Witek วิ่งเข้ามายังสถานีรถไฟ Łódź Fabryczna Station บังเกิดเหตุการณ์โดมิโน่ ติดต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่

  • พุ่งชนหญิงสูงวัยคนหนึ่ง ทำให้เศษเหรียญตกหล่นเต็มพื้น
  • เหรียญหนึ่งกลิ้งมายังขอทาน เหยียบแล้วหยิบขึ้นมาจ่ายค่าเบียร์
  • Witek แซงคิวซื้อตั๋วโดยสารสู่ Warsaw
  • ออกวิ่งผ่านป้ายประท้วง ไล่กวดขบวนรถไฟที่กำลังเคลื่อนออกจากชานชาลา

สถานีรถไฟ คือสถานที่สำหรับการเดินทาง สลับสับเปลี่ยนเส้นทางดำเนินไปของชีวิต ขณะที่ขบวนรถไฟสามารถมองเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ Poland กำลังมุ่งสู่เมืองหลวง Warsaw แต่ขณะนั้นถูกยึดครอบครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แถมได้รับการปกป้องจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐอีกต่างหาก

ขบวนรถไฟสู่ Warsaw คันนี้ อย่างที่อธิบายไปว่าคือสัญลักษณ์ของประเทศ Poland ที่ขณะนั้นถูกยึดครอบครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้สูงวัย พร้อมใช้อำนาจบาดใหญ่ อย่างฮิปปี้คนนี้ที่เพียงนั่งชันเข่า ก็ถูกสั่งให้เอาลงพื้น (ฮิปปี้คนนี้คือสมาชิกกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์) จากนั้นขอตัวไปเล่นยาในห้องน้ำ มีโอกาสที่จะหลบหนี/กระโดดลงจากขบวนรถไฟ แต่กลับยังดื้อรั้น ดึงดัน (=กลุ่มต่อต้านต้องการโค่นล้มรัฐบาล จึงพร้อมเผชิญหน้าต่อสู้ ไม่ยินยอมทอดทิ้งประเทศบ้านเกิด/รถไฟขบวนนี้)

ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง Witek จับพลัดจับพลูพบเจอกับแฟนคนแรก Czuszka (ที่ขณะนั้นเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์) แต่ตัวเขากำลังจะเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ สังเกต mise-en-scène ที่จะมีการแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่งฝ่าย

  • Witek กำลังทักทายครอบครัวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ สังเกตว่าเด็กน้อยโอบอุ้มตุ๊กตา นั่นคือสัญลักษณ์ของหุ่นเชิด ดำเนินชีวิตไปตามกฎกรอบข้อบังคับของสังคม
  • Czuszka อยู่ทางฝั่งนักศึกษา/กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ โอบอุ้มหนังสือ/ตำรา แต่เลือกใช้ชีวิตตอบสนองอารมณ์ ความพึงพอใจของตนเอง

Sex Scene ระหว่าง Witek กับ Czuszka คือการเติมเต็มรักครั้งแรกของพวกเขา (เพราะเมื่อตอนแรกคบหา ยังไม่เคยร่วมรักหลับนอนกัน) ด้วยเหตุนี้ฝ่ายชายจึงต้องการรับล่วงรู้อดีตทุกสิ่งอย่างของหญิงสาว (สังเกตภาพแรกกับภาพสอง หญิงสาวค่อยๆกลืนหายไปในความมืด สื่อถึงสิ่งเลวร้ายต่างๆที่เคยพานผ่านมา) แต่ไม่ว่าเธอเคยพานผ่านอะไรมา ต่อจากนี้ฉันจะหันมาเผชิญหน้า (ลิงอุ้มแตง) ยินยอมรับได้ทุกสิ่งอย่าง

Poland พานผ่านสิ่งเลวร้าย หายนะ โศกนาฎกรรมนับครั้งไม่ถ้วน แต่ถ้าเราสามารถยินยอมรับความผิดพลาดในอดีต ยกโทษให้อภัย หันหน้าเข้าหากัน ประเทศชาติย่อมสามารถรวมเป็นอันหนึ่ง … นี่คือมุมมองที่ Kieślowski อยากให้บรรดาพวกผู้นำคอมมิวนิสต์ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ถ้าสามารถครุ่นคิดแบบนี้ประเทศชาติคงไม่มุ่งสู่หายนะ

หลังจาก Witek ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการอะไรสักอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์ มีสองของเล่นที่ปรากฎขึ้นในฉากนี้ประกอบด้วย

  • เครื่องคิดเลขอเนกประสงค์ สามารถคำนวณ บอกเวลา ตั้งนาฬิกาปลุก พร้อมเสียงเพลง (สะท้อนการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่พยายามควบคุมครอบงำทุกสิ่งอย่าง)
  • และสปริงม้วน ที่เมื่อนำปล่อยตรงบันได มันจะค่อยๆเคลื่อนหล่นลงมาทีละขั้น (=ลำดับขั้นของอำนาจ วิธีการปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์จากบนลงล่าง)

หลังจากแฟนสาว Czuszka ถูกทางการควบคุมตัวต่อหน้าต่อตา Witek ทำให้มิอาจอดรนทนต่อความคอรัปชั่น ถูกทรยศหักหลังโดยผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์ (มันอาจเป็นความเข้าใจผิดก็ได้นะ!) ซึ่งระหว่างขนข้าวของย้ายออกจากอพาร์ทเม้นท์ หยิบเอาลูกโลก (น่าจะเป็นสัญลักษณ์การครองโลกของพรรคคอมมิวนิสต์) เพื่อบอกว่านั่นเป็นสิ่งที่(พรรคคอมมิวนิสต์)ไม่มีวันได้ครอบครองด้วยทัศนคติโลกแคบแบบนี้!

หลังถูกแฟนสาวบอกเลิก (เพราะครุ่นคิดว่าเขาคือคนทรยศหักหลัง) Witek เลยตัดสินใจจะออกเดินทางไปฝรั่งเศส แต่กลับโดนยกเลิกพาสปอร์ตเพราะกำลังมีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นทั่วประเทศ (พรรคคอมมิวนิสต์จึงสั่งให้สมาชิกไปจัดการความวุ่นวายดังกล่าว) นั่นทำให้เขาเกิดความหงุดหงิด เกรี้ยวกราด แสดงอาการไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ถึงขนาดเขวี้ยงขว้างของที่ระลึกซึ่งเป็นชามแก้วอะไรสักอย่าง จากนั้นแช่ภาพ Freeze-Frame แทนโลกที่หยุดนิ่ง จุดจบสิ้น จิตใจแตกละเอียด มิอาจอดรนทนมีชีวิตได้อีกต่อไป

ไทม์แคปซูล จดหมายถึงอนาคตที่บันทึกอดีต ความเพ้อฝัน คาดการณ์สิ่งน่าจะบังเกิดขึ้น แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดขึ้นจริงเสมอไป … ก็เหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สร้างขึ้นโดยการบันทึกสภาพปัจจุบัน(นั้น) เพื่อให้อนาคต/คนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสรับเรียนรู้สิ่งต่างๆเคยบังเกิดขึ้นในประเทศ Poland

เรื่องราวในไทม์ไลน์สอง ไม่ใช่แค่ Witek เป็นสมาชิกกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่เขายังค้นพบความเชื่อศรัทธาศาสนา (นี่ถือเป็นครั้งแรกของผู้กำกับ Kieślowski ที่นำศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงสัญลักษณ์) ต้องการเข้าพิธีแบ๊บติสต์ สัญลักษณ์ของการถือกำเนิดใหม่ ซึ่งสะท้อนเข้ากับอุดมการณ์(ของกลุ่มต่อต้าน) ต้องการโค่นล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แล้วเริ่มต้น(ให้กำเนิด)ระบอบประชาธิปไตย

เกร็ด: แม้ว่า Krzysztof Kieślowski จะได้รับการเลี้ยงดูแบบคาทอลิก ชื่นชอบอ่านคัมภีร์ไบเบิล นำมาเป็นหลักปฏิบัติในการใช้ชีวิต และสรรค์สร้าง Dekalog (1988) อ้างอิงบัญญัติสิบประการ (The Ten Commandments) แต่เขาไม่มีความศรัทธาในคริสตจักรแม้แต่น้อย (ฟังดูคล้ายๆ Luis Buñuel เลยนะ)

Werka คือตัวแทนของหญิงสาวต้องห้าม (ตามหลักศาสนาคริสต์) เพราะเธอแต่งงานมีคู่ครองอยู่แล้ว กลับยังสานสัมพันธ์กับ Witek ถือเป็นการคบชู้นอกใจสามี ทำให้ต้องปกปิดซ่อนเร้น คล้ายๆกลุ่มต่อต้านที่ต้องหลบซุกซ่อนจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ (สามารเปรียบเทียบ สามีของWerka=พรรคคอมมิวนิสต์) ไม่สามารถเปิดเผยออกสู่สาธารณะ

Sex Scene ระหว่าง Witek กับ Werka กลับตารปัตรจากไทม์ไลน์แรกที่ Czuszka เริ่มต้นเล่าประสบการณ์ทางเพศของตนเอง, ครานี้ Witek เป็นผู้เล่าเหตุการณ์ต่างๆ (แต่ไม่ใช่ Sexual Experience นะครับ) ทั้งยังพาไปขุด Time Capsule ที่หลงเหลือเพียงขวดเปล่า (สามารถสื่อถึงการที่ทั้งสองไม่เคยมีอดีตร่วมกัน) และท้ายสุดเมื่อพวกเขากำลังเล้าโลม กอดจูบลูบไล้ ก็ถูกขัดจังหวะด้วยบางสิ่งอย่าง … ทำให้จนตอนจบ พวกเขาไม่มีโอกาสได้ร่วมรักหลับนอน (หรือคือประชาธิปไตยที่ยังมาไม่ถึง)

ช่วงระหว่างที่ทั้งสองกำลังเล้าโลม กอดจูบลูบไล้ มีขณะหนึ่งที่ Witek โอบกอดท้องของ Werka ชวนให้นึกถึงช็อตที่บิดามีความสัมพันธ์ชู้สาว ต้องการเข้าไปหลบซ่อนตัวในครรภ์(มารดา) … ถือเป็นภาพสะท้อนปม oedipus complex หวนย้อนกลับมาเกิดขึ้นกับ Witek (เหมือนเขามอง Werka คือมารดามากกว่าแฟนสาว/ภรรยา)

ภาพสุดท้ายของไทม์ไลน์สอง หลังจาก Witek คลาดจาก Werka (รอคอย 4 ชั่วโมง บังเอิ้ญเทียบได้กับ 4 ทศวรรษที่พรรคคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศ Poland) เข้ามาเยี่ยมเยียนเจ้าของห้องพัก รับฟังข่าวสารจากวิทยุ Radio Free Europe กำลังเกิดเหตุจราจลขึ้นทั่วประเทศ Poland … นี่เป็นไทม์ไลน์ที่จบลงด้วยความหวัง แต่ก็ไม่มีใคร(ขณะนั้น)รับล่วงรู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นติดตามมา ผลลัพท์โค่นล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์สำเร็จหรือไม่ ปล่อยให้ผู้ชมเคว้งคว้างล่องลอย ชีวิตดำเนินต่อไป

เริ่มต้นไทม์ไลน์สาม หลังเสร็จจากอารัมบทติดตามด้วย Sex Scene ระหว่าง Witek กับ Olga ในท่วงท่า Man-On-Top สัญลักษณ์ของบุรุษเป็นใหญ่ กำหนดทุกสิ่งอย่างด้วยตัวตนเอง นั่นคืออิสรภาพในการเลือกเส้นทางสายกลาง ไม่เข้าข้างฝั่งฝ่ายหนึ่งใด ดำเนินไปตามครรลองของชีวิต แฟนสาวตั้งครรภ์ก็แต่งงาน คลอดบุตรคนแรกแล้วก็สองสาม ไม่จำต้องปกปิดซุกซ่อนเร้นประการใด

เอาจริงๆผมรู้สึกว่าวินาทีที่ Olga บอกกับ Witek ว่าตนเองตั้งครรภ์ เขาเดินถอยหลัง ก้มศีรษะ นั่งยองๆลงกับพื้น เหล่านี้เป็นอาการของคนกระทำผิดพลาด นี่ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองอยากได้รับ ลงหลักปักฐานกับใคร (คนที่ไม่เข้าข้างพรรคคอมมิวนิสต์ หรือกลุ่มต่อต้าน จะอยากลงเอยกับใครไหนกันเล่า?) แต่โชคชะตานำพาให้เขาต้องยินยอมรับ ตอบตกลง ดำเนินไปตามครรลองของชีวิต … พื้นพรมแดง/สีของเลือด ยังมอบสัมผัสถึงหายนะ พยากรณ์จุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์คู่รัก

พิธีแต่งงานระหว่าง Witek กับ Olga สังเกตว่าหนังนำเสนอเพียงฝั่งของฝ่ายชาย กล่าวคำยินยอมหญิงสาวเป็นภรรยา นัยยะเดียวกับ Sex Scene ท่วงท่า Man-On-Top สะท้อนความสนใจของตนเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ซึ่งเหมือนว่างานแต่งงานจะพอดิบพอดีกับวันสำเร็จการศึกษารุ่น Dyplom’ 79 (แปลว่า Diploma) สามารถเปรียบเทียบถึงการเริ่มต้น ให้กำเนิดชีวิตใหม่ (คลอดบุตร) หลังจากนี้มุ่งมั่นตั้งใจเรียนให้จบปริญญาเอก ทำงานวิจัย จักได้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน โดยไม่สนเลือกข้างทางการเมืองฝั่งฝ่ายใด

นี่เป็นช็อตที่ผมชื่นชอบมากๆ (อย่าเอาแต่จับจ้องขนเพชรละ) ในอพาร์ทเม้นท์ปกคลุมด้วยความมืดมิด พบเห็นเรือนร่างอันเปลือยเปล่าของ Olga เดินออกจากห้องน้ำที่เปิดไฟทิ้งไว้ ก่อนเข้าไปโอบกอดจูบ เพศสัมพันธ์ เป็นสื่อว่าชีวิตในไทม์ไลน์นี้ของ Witek มีเพียงแต่เธอเท่านั้นคือความหวัง แสงสว่าง ทุกสิ่งอย่างในโลกใบนี้

ระหว่างที่ Witek มาดูแลอาการป่วยของหญิงสูงวัยคนหนึ่ง (จะตีความว่าเธอคือสภาพของประเทศ Poland ก็ได้เช่นกัน) พบเห็นคนสองคนกำลังโยนรับ-ส่งลูกบอล (Juggling) เหมือนต้องการทำลายสถิติโลกอะไรสักอย่าง … นี่ก็ชัดเจนว่าเป็นการเปรียบเทียบการเผชิญหน้าระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ vs. กลุ่มต่อต้าน (ทำลายสถิติโลกนี่น่าจะประชดอะไรสักอย่าง –“)

เมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไปอีกนิด Witek หยิบลูกแอปเปิ้ลขึ้นมาทดลองโยนทีละลูก สองลูกยังพอไหว แต่ถ้าสามลูกหล่นลงพื้นทันใด ผมรู้สึกแนวคิดฉากนี้คล้ายๆสำนวนไทยจับปลาสองมือ น่าจะสื่อถึงการเลือกข้าง (หนึ่งลูก) คอมมิวนิสต์หรือกลุ่มต่อต้าน (สองลูก) เอา-ไม่เอาทั้งสองฝั่ง (สามลูก) ล้มเหลวไม่เป็นสับปะรด … ท้ายสุดก็คือการเลือกลูกเดียวหยิบขึ้นมารับประทาน (เหมือนผู้กำกับ Kieślowski ต้องการสื่อว่าให้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ดีกว่าเอา-ไม่เอาทั้งสองฟากฝั่ง)

ทีแรกผมนึกว่า Witek จะถาดเหล็กบนโหนกนูนของแฟนสาว (แอบนึกถึง Portrait of a Lady on Fire (2019)) แต่แค่วางตรงสะดือ แล้วใช้ไฟแช็คจุดบุหรี่ ผลัดกันสูบ นั่นคือสัญลักษณ์ของ Sex และการตั้งครรภ์

ไฟแช็ค เป็นอุปกรณ์บอกใบ้หายนะ ‘Death Flag’ ได้เช่นกันนะ คุ้นๆว่านอกจากฉากนี้ ยังมีตอนไปเปลี่ยนตั๋วเครื่องบินแล้วหยิบไฟแช็คของพนักงานขึ้นมา … ไม่รู้เพราะไฟแช็คอันนั้นเลยหรือเปล่าที่คือต้นสาเหตุการระเบิดเครื่องบิน

ผมเคยอธิบายตอนต้นว่า สถานีรถไฟคือสถานที่สำหรับการเดินทาง สลับสับเปลี่ยนเส้นทางดำเนินไปของชีวิต ซึ่งในขณะนี้ Witek กำลังพูดคุยสนทนาถึงเรื่องการดูงาน/สัมมนาต่างประเทศ เขากำลังต้องตัดสินใจว่าจะไปหรือไม่ไป ซึ่งนั่นคือสิ่งกำหนดโชคชะตากรรมโดยทันที!

ทั้งๆสามครั้งก่อนหน้า Witek ต้องออกวิ่งไล่กวดขบวนรถไฟ ทัน-ไม่ทัน แต่หลังจากแต่งงานมีครอบครัว เขาก็ได้รับการปลุก-ตื่น มาถึงสถานีก่อนเวลาออกเดินทาง เยี่ยมจริงๆ … แต่เจ้ากรรมนายเวร ทารกน้อยกลับจั่วไพ่ตัวตลก Joker นี่มัน ‘Death Flag’ ชัดเจนมากๆ

การระเบิดเครื่องบิน แน่นอนว่ามันย่อมไม่ใช่เครื่องบินจริงๆ สมัยนั้น CGI ก็ยังไม่ได้รับความนิยม (จะเอางบประมาณที่ไหนไปว่าจ้าง) วิธีการคือการสร้างโมเดลขนาดเล็ก ใส่ Special Effect และใช้มุมกล้องลวงหลอกตาผู้ชม … ตาดีได้ตาร้ายเสีย

เครื่องบินก็เหมือนนก คือสัญลักษณ์ของอิสระ เสรีภาพ หนทางออกจากประเทศ Poland แต่ทั้งสามไทม์ไลน์ต่างมีเหตุให้ Witek ไม่สามารถโบกโบยบินออกจากดินแดนแห่งนี้

  • ไทม์ไลน์แรก ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กำลังจะส่งไปดูงาน แต่กลับเหตุการณ์จราจลในประเทศเสียก่อน สมาชิกทุกคนเลยถูกเรียกตัวกลับมาดูแลแก้ไขสถานการณ์
  • ไทม์ไลน์สอง เพราะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ ขนาดว่าเข้าร่วมองค์กรสอนศาสนายังถูกทางการปฏิเสธไม่ออกพาสปอร์ตให้
  • ไทม์ไลน์สาม ไม่โดนใครกีดกันใดๆ แต่เครื่องบินดันประสบอุบัติเหตุ หรือโดนลอบวางระเบิดก็ไม่รู้ ทำให้ตกหล่นจากฟากฟ้า ไม่สามารถออกเดินทางไหนได้อยู่ดี

ตัดต่อโดย Elżbieta Kurkowska (1940-2012) สัญชาติ Polish เคยร่วมงานผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski อาทิ From the City of Lodz (1969), Blind Chance (1981) ฯ

เรื่องราวนำเสนอผ่านมุมมองสายตาของ Witek ตั้งแต่คลอดเลยละ แล้วก้าวกระโดดมายังวัยเด็ก ร่ำลาจากเพื่อนสนิท ตกหลุมรักแรกพบ สานสัมพันธ์แฟนสาวในห้องผ่าศพ มาจนถึงวันที่บิดาเสียชีวิต ติดต่อขอลาพักการศึกษา เพื่อค้นหาเป้าหมายของชีวิตพานผ่านสามสถานการณ์เป็นไปได้

  • อารัมบท, ร้อยเรียงเรื่องราวของ Witek ตั้งแต่คลอด ก้าวกระโดดไปยังช่วงเวลาสำคัญๆ มาจนถึงวันที่บิดาเสียชีวิต
  • สถานการณ์ที่หนึ่ง, Witek กระโดดขึ้นรถไฟได้ทันท่วงที จึงมีโอกาสเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์
  • สถานการณ์ที่สอง, Witek พุ่งชนเจ้าหน้าที่สถานี ถูกจับติดคุก เลยเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์
  • สถานการณ์ที่สาม, Witek ยินยอมรับความพ่ายแพ้ เลยพบเจอกับแฟนสาวคนปัจจุบัน กลับไปร่ำเรียนแพทย์ พยายามวางตัวเป็นกลางในทุกสถานการณ์

การนำเสนอแบบก้าวกระโดดในช่วงอารัมบท เชื่อว่าคงทำให้หลายคนกุมขมับ แต่ทุกสิ่งอย่างจะค่อยๆได้รับการเปิดเผย คำอธิบายเมื่อเรื่องราวดำเนินไป และจะมีการแทรกภาพเหตุการณ์นั้นๆกลับเข้ามาด้วย เพื่อให้ผู้ชมระลึกนึกย้อนว่าก่อนหน้านี้เคยพบเห็นมาก่อน … ผมครุ่นคิดว่าเหตุผลที่หนังเริ่มต้นแบบนี้ นอกจากย่นย่อประวัติตัวละคร (นำเสนอเฉพาะส่วนที่มีความสำคัญ/ส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิต) ยังทำให้ผู้ชมบังเกิดความฉงนสงสัย ว่าแฝงนัยยะซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า? (แนะนำพอดูหนังจบให้ย้อนกลับมาวนอารัมบทอีกสักรอบ จะทำให้เข้าใจอะไรๆขึ้นอีกมาก)

ทุกครั้งก่อนนำเข้าไทม์ไลน์ใหม่ จะร้อยเรียงภาพชุดเดิมเป๊ะๆ ตั้งแต่ Witek วิ่งชนหญิงสูงวัยคนหนึ่ง เหรียญกลิ้งมายังขอทานหยิบซื้อเบียร์ ส่วนชายหนุ่มจ่ายค่าตั๋วโดยสารสู่ Warsaw จากนั้นออกวิ่งไล่ล่ารถไฟ เอื้อมมือกำลังจะไขว่คว้า แล้วจากนั้นถึงนำเข้าสู่ความแตกต่างของโชคชะตากรรม

และเรื่องราวในแต่ละไทม์ไลน์ มีหลายๆส่วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ตัวประกอบบางคนก็ปรากฎตัวซ้ำๆ (กลุ่มคนต่อต้านคอมมิวนิสต์ในตอนแรก กลายมาเป็นพวกพ้องตอนสอง, บาทหลวงตอนสองพบเห็นสวนทางในสนามบินตอนสาม ฯลฯ) ยกเว้นเพียงความสัมพันธ์กับหญิงสาว สามคนสามเรื่องราว ไม่เคยมีใครพบเจอสวนทาง (นั่นเพราะพวกเธอต่างคือตัวตายตัวแทน/สัญลักษณ์ของไทม์ไลน์นั้นๆ)

  • Czuszko รักแรกพบของ Witek ตัวแทนของอดีตที่ไม่เคยได้รับการเติมเต็ม (สมัยคบหาไม่เคยมีเพศสัมพันธ์) ปัจจุบันก็มิอาจครองคู่เพราะเธอเป็นสมาชิกกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์
    • สามารถสื่อถึง Witek ที่เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ไม่เคยได้รับการยินยอมรับจากสังคม/ประชาชนส่วนใหญ่
  • Werka พี่สาวของเพื่อนสมัยเด็ก Daniel แม้มีความชื่นชอบ ต้องการเพศสัมพันธ์ แต่เธอแต่งงานมีครอบครัวอยู่แล้ว พวกเขาจึงทำได้แอบคบชู้สู่ชาย ไม่สามารถเปิดเผยความสัมพันธ์
    • การเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้ Witek ต้องปกปิดซุกซ่อนเร้น ไม่สามารถเปิดเผยตนเองสู่สาธารณะ
  • Olga แฟนสาวคนปัจจุบันของ Witek เริ่มสานสัมพันธ์ระหว่างกำลังผ่าศพคนที่เธอเคยโกรธรังเกลียด เป็นคนชักนำให้เขากลับมาร่ำเรียนแพทย์จนจบ ตอบตกลงแต่งงานหลังตั้งครรภ์ ใช้ชีวิตอย่างสงบสันติสุข
    • Witek ที่ไม่เข้าร่วมฝั่งฝ่ายไหน ทำให้ชีวิตมีความสุขสงบ สบายหฤทัย สามารถกระทำสิ่งใดๆตามหัวใจปรารถนา

เพลงประกอบโดย Wojciech Kilar (1932-2013) คีตกวีสัญชาติ Polish เกิดที่ Lwów, บิดาเป็นสูตินารีแพทย์ ส่วนมารดาเป็นนักแสดงละครเวที ชื่นชอบการเล่นเปียโนตั้งแต่เด็ก ทำให้สามารถเข้าเรียนต่อ State College of Music, Katowice ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง, ด้วยความสนใจในกลุ่มเคลื่อนไหว Avant-Garde ร่วมก่อตั้งกลุ่ม New Polish School เพื่อมองหาสไตล์เพลงใหม่ๆ มีผลงานซิมโฟนี, ออร์เคสตรา, ภาพยนตร์ อาทิ A Woman’s Decision (1974), The Promised Land (1974), Camouflage (1977), The King and the Mockingbird (1980), The Constant Factor (1980), A Year of the Quiet Sun (1984), Bram Stoker’s Dracula (1992), The Pianist (2002) ฯ

เท่าที่ผมสังเกตจากหลายๆผลงานของผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski ไม่ค่อยนิยมชมใช้ Soundtrack สักเท่าไหร่! ส่วนใหญ่จะเป็น ‘diegetic music’ ดังจากเครื่องเล่น โทรทัศน์ หรือมีการขับร้อง-เล่น-เต้นประกอบฉาก

สำหรับ Blind Chance (1981) จะมีเพิ่มเติมคือบทเพลงขณะ Witek ออกวิ่งสู่สถานีรถไฟ อารัมบทรำเข้าสู่เรื่องราวแต่ละไทม์ไลน์ ซึ่งจะพบเห็นเวียนวนซ้ำๆถึงสามครั้ง มันจึงเต็มไปด้วยความพิศวง ช่วงเวลาน่ามหัศจรรย์ใจ (บทเพลงสร้างสัมผัสราวกับต้องมนต์ขลัง) โชคชะตากรรมเป็นสิ่งไม่อาจควบคุมได้!

นอกจากนี้ยังมีอีกสองบทเพลง ขับร้อง-เล่นกีตาร์โดยสมาชิกกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหารายละเอียดบทเพลงแรก ได้ยินเพียงท่วงทำนองสั้นๆ พรรณาจุดประสงค์ของกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์

We wander the world
In search of a new life
We never stop waiting
For new love to arrive

ส่วนอีกบทเพลงชื่อว่า Nie lubię (แปลว่า I don’t like) ขับร้อง-เล่นกีตาร์โดดย Jacek Kaczmarski ร้อยเรียงอคติ ความรังเกียจ ไม่ชื่นชอบต่อสิ่งที่พวกเขา (กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์) เคยได้รับจากพรรคคอมมิวนิสต์ ท่วงทำนองจึงเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ระบายความอึดอัดอั้นอย่างรุนแรง แทบไม่อยากอดลั้นฝืนทนอีกต่อไป

I hate it when they call me by my first name
And every other word is “pal” or “chum”

I hate it when they slap me on the back
And grin and shout “Long time no see! How come?”

I loathe it when they peer over my shoulder
And read my letters All that’s written there

I hate them when they think no answer’s better
Than a blow to a neck bowed and bared

I can’t stand the helpless, trembling sensation
Like gazing down the barrel of a gun

Can’t stand the foul and murky situations
By which it seems their goals are always won

I hate the reasons with no explanation
The losses that will never be made whole

The fruitless hopes abandoned in frustration
Till the kindly executioner plays his role

I hate it when my phone calls are disrupted
By the dry, metallic clatter of mistrust

Bullets to the back of people’s heads
And salvos in the air just cause disgust

I loathe myself for losing all my nerve
And making lame excuses for my part

For smiling all the while at those I serve
Though I hate them with all my heart!

For smiling all the while at those I serve
Though I hate them with all my heart!

Blind Chance (1981) นำเสนอสามความเป็นไปได้ของชาว Polish ในช่วงอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ Polish People’s Republic (1947-89)

  • ถ้าเป็นคนที่มีความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการชีวิตก้าวหน้า ให้เลือกเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แล้วแสดงศักยภาพ/ความสามารถในการแก้ปัญหาจัดการ พร้อมยินยอมกระทำทุกสิ่งอย่าง(โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว) ถ้าผลงานเป็นที่ถูกอกถูกใจเบื้องบน ก็จักได้รับการส่งเสริมสนับสนุนไปตามเส้นสายคนรู้จัก
  • ถ้าโหยหาสิทธิเสรีภาพในการครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงออก เชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย ก็เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ต้องพยายามปกปิดซุกซ่อนเร้น อย่าทำตัวโดดเด่นจนเกินไป เฝ้ารอคอยเวลาและโอกาส สักวันหนึ่งพวกเราต้องได้รับชัยชนะ
  • ถ้าต้องการชีวิตที่สุจริต มั่นคง ไม่ควรเลือกเข้าข้างฝ่ายหนึ่งใด พยายามวางตัวเป็นกลาง ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นทางการเมือง จักทำให้ไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง ไม่ต้องปกปิด-เปิดเผยอะไร ทุกสิ่งอย่างขึ้นกับศักยภาพ/ความสามารถส่วนบุคคลเท่านั้น

แต่สิ่งที่ทั้งสามทางเลือกขาดหายไปนั่นคือ ‘ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน’ สิ่งเลวร้ายสามารถบังเกิดขึ้นได้อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ (เอาจริงๆ ประชาธิปไตยก็ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่)

  • แม้ว่า Witek จะเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่กลับไม่สามารถปกป้องแฟนสาว Czuszka ที่เข้าร่วมกลุ่มต่อต้าน ถูกทรยศหักหลังจากพรรคพวกพ้องเดียวกัน
  • การเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านล้วนเต็มไปด้วยเสี่ยงที่จะถูกล่อจับกุม แต่ทั้งๆที่ Witek ไม่ได้ปากโป้งกระทำการสิ่งใด กลับถูกมองว่าเป็นคนทรยศหักหลังพวกพ้องเดียวกัน
  • ทั้งๆไม่ได้เข้าข้างฝั่งฝ่ายใด แต่ก็อาจโดนลูกหลง ประสบอุบัติเหตุ เครื่องบินระเบิดกลางอากาศ ไม่มีใครหลบหนีพ้นโชคชะตากรรม

ทั้งสามไทม์ไลน์ของหนังนำเสนอด้วยลักษณะไตรภาคี (Tripartite หรือ Triptych) ต่างมีความแตกต่างคนละขั้ว มองผิวเผินคือแนวทางให้ผู้ชมครุ่นคิด ตัดสินใจ ฉันจะเลือกดำเนินชีวิตเส้นทางไหน? แต่เมื่อมองภาพรวมทั้งหมด เหมือนว่าผู้กำกับ Kieślowski ต้องการแสดงทัศนะให้เห็นว่าประเทศ Poland ไม่ว่าจะไทม์ไลน์ใด ล้วนเต็มไปด้วยความหมดสิ้นหวัง

ผมมองว่านั่นคืออารมณ์’เกรี้ยวกราด’อย่างรุนแรงของผู้กำกับ Kieślowski มิอาจอดรนทนต่อสภาพสังคมยุคสมัยนั้นอีกต่อไป ต้องการปลุกระดมผู้ชม เพราะไม่ว่าใครจะเลือกดำเนินชีวิตเส้นทางไหน ล้วนไร้อนาคต ประสบแต่หายนะ ตราบเท่าที่ Poland ยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ สักวันหนึ่งประเทศชาติคงล่มสลาย

เอาจริงๆถ้าหนังได้ออกฉายตั้งแต่ตอนสร้างเสร็จ ผมเชื่อว่ามีแนวโน้มปลุกระดมฝูงชนได้แน่ๆ เพราะชาว Polish ยุคสมัยนั้นใกล้จุดถึงแตกหักกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์เต็มทน ความพยายามตัดไฟตั้งแต่ต้นลม (ด้วยการแบนห้ามฉายหนัง) เอาจริงๆก็ไม่ช่วยอะไรสักเท่าไหร่ เพราะอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้นมีประกาศกฎอัยการศึก (Martial Law) นั่นแสดงว่าประชาชนมิอาจอดรนทนต่อสภาพสังคมแบบนี้ได้อีกต่อไป (ถ้าหนังได้ออกฉาย กฎอัยการศึกคงถูกประกาศเร็วขึ้น 1-2 เดือนกระมัง)

การเชื่อมโยงสถานการณ์การเมืองขณะนั้นๆ ทำให้พื้นหลัง/เนื้อเรื่องราวของหนังดูตกยุค ล้าหลัง ‘out-dated’ อย่างรวดเร็วไวมากๆ เพราะตั้งแต่ประเทศ Poland ประกาศกฎอัยการศึก ก็ทำให้มุมมองทัศนคติของประชาชนปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยทันที … ผลงานถัดไปของ Kieślowski เรื่อง No End (1985) นำเสนอวิถีชีวิต สภาพสังคมภายใต้ช่วงเวลากฎอัยการศึก จะเห็นชัดเลยว่าประเทศ Poland อยู่ในสภาพสิ้นหวัง ‘No End’ ถึงขีดสุดจริงๆ

ค.ศ. 1989, Republic of Poland ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย Blind Chance (1981) กลายเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกประวัติศาสตร์ นำเสนอสภาพสังคม วิถีชีวิตผู้คน(แต่ละฝั่งฝ่าย) สภาวะทางอารมณ์ของประชาชนยุคสมัยนั้น เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียดแค้น ใกล้ถึงจุดแตกหักต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ … เก็บบันทึกช่วงเวลาดังกล่าวไว้เหมือน Time Capsule

สำหรับผู้ชมต่างชาติ Blind Chance (1981) คือภาพยนตร์แห่งการค้นหาอัตลักษณ์ตัวตน (Existentialism) สำรวจความเป็นไปได้ของชีวิต ซ้าย-กลาง-ขวา ทิศทางที่มนุษย์สามารถเลือกดำเนิน น่าเสียดายถ้าไม่ติดว่าเชื่อมโยงการเมืองประเทศ Poland ก็คงมีความเป็นสากลมากกว่านี้


หนังสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 1981 แต่เป็นช่วงที่สถานการณ์การเมืองในประเทศ Poland มีความตึงเครียดอย่างหนัก รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 1981 ถึง 22 กรกฎาคม 1983 ทำให้หนังที่มีเนื้อหาล่อแหลมลุ่มเสี่ยง(ต่อต้านรัฐบาล)ถูกแบบห้ามฉายโดยอัตโนมัติ

เมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย (แต่ยังคงความตึงเครียดที่สาหัสสากันขึ้นกว่าเก่า) ทางการจึงยินยอมให้ Blind Chance ออกฉายวันที่ 10 มกราคม 1987 เป็นฉบับเซนเซอร์ถูกตัดออกไปกว่า 9 นาที! รวมถึงนำออกฉาย Un Certain Regard ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ด้วยนะ!

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะโดย The Film Foundation ของผู้กำกับ Martin Scorsese (ในคอลเลคชั่น Martin Scorsese Presents: Masterpieces of Polish Cinema จำนวน 21 เรื่อง!) สแกนดิจิตอลคุณภาพ 4K จากต้นฉบับที่ไม่มีการเซนเซอร์ สูญหายเพียงฉากเจ้าหน้าที่สถานีใช้ความรุนแรงกับพระเอก, ผ่านการอนุมัติโดยตากล้อง Krzysztof Pakulski สามารถหารับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel

ส่วนตัวบอกเลยว่าไม่ค่อยชอบไทม์แรกของหนังสักเท่าไหร่ รู้สึกเยิ่นเย้อ ยืดยาว แถมต้องทำความเข้าใจสถานการณ์การเมืองประเทศ Poland มันช่างน่าปวดเศียรเวียนเกล้าเหลือทน! จนกระทั่งการมาถึงของไทม์ไลน์สองและสาม พบเห็นภาพซ้ำๆ จุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ เริ่มตระหนักว่า เจ๋งว่ะ! นี่อาจไม่ใช่เทคนิคแปลกใหม่ในปัจจุบัน แต่แนวคิดถือว่าลุ่มลึกล้ำ เห็นชัดเจนถึงอัจฉริยภาพผู้กำกับ Krzysztof Kieślowski

Blind Chance is really one of Krzysztof’s best films, perhaps even the best and the most original.

Agnieszka Holland

แนะนำคอหนังแนวทดลอง (Experimental Film), แฝงแนวคิดปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism), สนใจประเด็นการเมือง (Political Film) และประวัติศาสตร์ประเทศ Poland ช่วงทศวรรษ 80s ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์

จัดเรต 18+ กับทัศนคติขัดแย้งทางการเมือง ความรุนแรง เพศสัมพันธ์ และโศกนาฎกรรม

คำโปรย | Blind Chance โอกาสแห่งความสำเร็จของ Krzysztof Kieślowski ที่แม้ถูกแบน เสียงตอบรับย่ำแย่ แต่กาลเวลาทำให้กลายเป็นผู้ชนะ
คุณภาพ | ชัยชนะของประเทศโปแลนด์
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: