Psycho

Psycho (1960) hollywood : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥♡

(12/7/2024) เลขาสาว Janet Leigh ลักขโมยเงินบริษัท $40,000 เหรียญ ตั้งใจหลบหนีไปให้ไกลเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ระหว่างทางเข้าพักยัง Bates Motel พูดคุยกับเจ้าของหนุ่ม Anthony Perkins ทำให้เกิดความรู้สำนึกผิด ครุ่นคิดหวนกลับไปเผชิญหน้าความจริง แต่ทว่า … แนะนำให้ลองหามารับชมก่อนตาย

ผู้กำกับ Alfred Hitchcock ให้สองคำแนะนำสำหรับคนที่ต้องการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่างแรกคือต้องตรงต่อเวลา ดูหนังตั้งแต่เริ่มฉาย ไม่อนุญาตให้ซื้อตั๋วเข้าโรงกลางคัน “no late admission” เพราะคุณอาจเกิดความฉงนสงสัย Janet Leigh สูญหายไปไหน ไม่เห็นปรากฎตัวสักที?

คำแนะนำอย่างที่สองคืออย่าสปอยหนัง! นี่ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะถ้าคุณรับรู้เหตุการณ์บังเกิดขึ้น มันจะสูญเสีย “Shock Value” ดูไม่สนุก ไม่ได้รับประสบการณ์ภาพยนตร์อย่างที่ผู้สร้างตั้งใจเอาไว้

เกร็ด: ยุคก่อนหน้านี้เป็นเรื่องปกติที่ผู้ชมนิยมซื้อตั๋วหนัง เข้าดูตอนกลางคัน เพราะมันไม่ได้มีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับอะไรใดๆ Les Diaboliques (1955) ของผกก. Henri-Georges Clouzot ก็เคยพยายามใช้วิธีการนี้ แต่ยังไม่ก่อให้เกิดกระแสสักเท่าไหร่ จนกระทั่ง Psycho (1960) ถือเป็นจุดเปลี่ยนค่านิยม ธรรมเนียมปฏิบัติการรับชมภาพยนตร์ไปโดยสิ้นเชิง!

ผกก. Hitchcock ได้ปล่อยตัวอย่างหนัง (Trailer) ออกมาหลากหลายฉบับ แต่สามารถแบ่งออกเป็นสามแบบ โดยไม่มีการสปอย หรือใช้ฟุตเทจจากหนังจริงๆ

  1. ผกก. Hitchcock พูดถึงกฎการรับชม ให้เดินทางมาถึงโรงภาพยนตร์ตรงตามเวลา ไม่มีขายตั๋วระหว่างการฉาย
  2. ผกก. Hitchcock ให้คำแนะนำผู้ชมห้ามสปอยหนัง เปิดเผยเรื่องราวกับผู้อื่น
  3. ผกก. Hitchcock นำพาเยี่ยมชมสถานที่ถ่ายทำ Bates Motel พร้อมคำอธิบายที่เหมือนจะสปอย แต่ไม่อะไรหลุดสักสิ่งอย่าง

น่าเสียดายที่ผมหาพบเจอแค่ตัวอย่างหนังแบบที่ #3 ความยาวหกนาทีครึ่ง โดยผกก. Hitchcock นำพาผู้ชมแวะเยี่ยมชมสถานที่ถ่ายทำ Bates Motel ก่อนตบท้ายด้วยภาพยืนเปลือย และเสียงกรีดร้องของ Vera Miles (ไม่ใช่ Janet Leigh) ในอ่างอาบน้ำ

เกร็ด: เหตุผลที่ตอบจบของตัวอย่างหนังปรากฎภาพของ Vera Miles นั่นเพราะต้องการล่อหลอกให้ผู้ชมให้เกิดความเข้าใจผิดๆ เฝ้ารอคอยซีนนี้ที่ไม่รู้ซุกซ่อนอยู่ตรงไหน … เอาจริงๆคือ Janet Leigh คิวไม่ว่างสำหรับถ่ายทำ เลยต้องให้ Miles สวมใส่วิกเข้าฉากแทน

หลายวันก่อนตอนผมเขียนถึง Rear Window (1954) พบเจอบทสัมภาษณ์ของ Grace Kelly เกี่ยวกับการถ่ายทำ Love Scene และ Murder Scene ลองค้นหาเล่นๆก็พบว่าผกก. Hitchcock เคยพูดประโยคดังกล่าวจริงๆ

Film your murders like love scenes, and film your love scenes like murders.

Alfred Hitchcock

นั่นคือวินาทียูเรก้า! ที่ทำให้ผมปรับเปลี่ยนมุมมองต่อภาพยนตร์ Psycho (1960) ถ่ายทำฉากฆาตกรรมราวกับ Love Scene เช่นนั้นแล้ว มันจึงเป็นการทิ่มแทงที่สุดแสนโรแมนติก อีโรติก งดงามวิจิตรศิลป์ เกิดความระริกระรี้อยากหวนกลับมา Revisit เขียนบทความนี้โดยทันที!

ด้วยความที่ผมเคยรับชม Psycho (1960) มานับครั้งไม่ถ้วน มันเลยไม่หลงเหลือความรู้สึก “Shock Value” แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ Value หลังการ Shock เราตกอกตกใจกับฉากนั้นทำไม? มันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นถึงนำไปสู่ช่วงเวลานั้น? เหล่านี้ต่างหากคือคุณค่าทางจิตวิญญาณของหนัง เหนือกว่าความหมกมุ่น หรืออาการหวาดกลัวที่จักค่อยๆเลือนลางจางหายตามกาลเวลา

ปล. ถ้าคุณยังไม่เคยรับชมหนัง หลังจากนี้จะเข้าสู่การสปอยเต็มตัว เตือนแล้วนะครับ อย่ามาเสียใจเอาภายหลัง


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Robert Albert Bloch (1917-94) นักเขียนเรื่องสั้น/นวนิยาย สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois ในครอบครัว German Jewish ตั้งแต่เด็กมีความลุ่มหลงใหลภาพยนตร์ The Phantom of the Opera (1925) วินาทีที่ตัวละครของ Lon Chaney ถอดหน้ากาก สร้างความหวาดสะพรึงกลัว นอนฝันร้ายไปหลายวัน นั่นคือจุดเริ่มต้นความชื่นชอบแนว Horror ทั้งยังลุ่มหลงใหลผลงานเขียนของ H. P. Lovecraft เคยแลกเปลี่ยนจดหมาย ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือผลักดันให้ Bloch เอาจริงเอาจังกับอาชีพนักเขียน ตีพิมพ์เรื่องสั้นกว่าร้อยเรื่องลงนิตยสาร Weird Tales และนวนิยายเล่มแรก The Scarf (1947) แนว Psychological Horror

สำหรับนวนิยายชิ้นเอก Psycho (1959) มีจุดเริ่มต้นจากเรื่องสั้น The Real Bad Friend ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Mike Shayne Mystery Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1957, เรื่องราวของ George Foster Pendleton เซลล์แมนแต่งงานกับแฟนสาว Ella เพราะเธอทำให้เขานึกถึงมารดาผู้ล่วงลับ ขณะเดียวกันสนิทสนมกับเพื่อนอีกคน Roderick เป็นบุคคลลึกลับ เดี๋ยวมาเดี๋ยวไป โดยไม่มีใครอื่นรับรู้เรื่องราว (นั่นเพราะชายคนนี้คือเพื่อนในจินตนาการ หรือก็คือ George ล้มป่วยโรคหลายบุคลิก Dissociative Identity Disorder (DID) ที่หลายๆคนรู้จักในชื่อ Multiple Personality Disorder (MPD)) อยู่มาวันหนึ่งภรรยาได้รับเงินมรดก $85,000 เหรียญ ทำให้ Roderick ครุ่นคิดแผนการชั่วร้ายบางอย่าง

แต่ก็ไม่เชิงว่า Bloch ทำการสานต่อเรื่องราวของ The Real Bad Friend เขาเริ่มเขียนนวนิยาย Psycho จากแนวคิดเพื่อนข้างบ้านที่ดูธรรมดาสามัญ อาจเป็นบุคคลอันตราย ปีศาจร้าย ฆาตกรโรคจิต

I decided to write a novel based on the notion that the man next door may be a monster, unsuspected even in the gossip-ridden microcosm of small-town life.

Robert Bloch

นำแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้นที่ Plainfield, Wisconsin (ห่างจากบ้านพักอาศัยของ Bloch ที่ Weyauwega แค่ประมาณ 35 ไมล์/56 กิโลเมตร) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1957 ตำรวจจับกุมฆาตกร Ed Gein (1906-84) ฆ่าหญิงสาวสองคน พอตรวจค้นบ้านพักพบเจอเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า สิ่งข้าวของเครื่องใช้ ล้วนทำจากหนังมนุษย์ จิตแพทย์ให้ข้อสรุปว่าชายคนนี้พยายามจะสร้าง ‘Woman Suit’ สวมใส่แล้วกลายเป็นมารดาผู้ล่วงลับ

เมื่อตอนเขียนนวนิยาย Bloch เพียงรับรู้เหตุการณ์ดังกล่าวคร่าวๆ ไม่ได้ศึกษาคดีฆาตกรรมอย่างจริงจัง แต่คาดไม่ถึงว่าหลายสิ่งอย่างกลับมีความละม้ายคล้ายคลึงอย่างน่าตกใจ

I have recounted the story of the grim case which shocked Wisconsin in 1957 and led me, the following year, to write a novel in which a seemingly normal and ordinary rural resident led a dual life as a psychotic murderer, unsuspected by his neighbors. I based my story on the situation rather than on any person, living or dead, or involved in the Gein affair: indeed, I knew very little of the details concerning that case and virtually nothing about Gein himself at the time. It was only some years later, when doing my essay on Gein for The Quality of Murder, that I discovered how closely the imaginary character I’d created resembled the real Ed Gein both in overt act and apparent motivation.

สำหรับชื่อนวนิยาย Psycho คือคำย่อของ Psychotic (โรคทางจิต) หรือ Psychology (จิตวิทยา) หรือ Psychoanalysis (จิตวิเคราห์) หรือจะหมายถึง Psychopath (โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม) ก็ได้เหมือนกัน

My title derives, of course, from psychotic and also from psychology and psychoanalysis. It was from the latter sources that I sought a rationale for my protagonist—or, more precisely, an irrationale.

เมื่อตอนวางจำหน่าย เนื่องจากชื่อเสียงของ Bloch มาจากนิตยสารแนว Pulp (ที่เลื่องชื่อถึงผลงานคุณภาพต่ำ) จึงถูกมองข้ามเป็นส่วนใหญ่ แต่เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ค่อนข้างดี มีกล่าวถึงในหนังสือพิมพ์ The New York Times (ส่วนของ Book Review) และ The Times Herald

แล้ววันหนึ่งบรรณาธิการของ Bloch ได้รับการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์แบบ “Blind Bid” คือไม่มีระบุตัวตนผู้ประมูล ด้วยความที่ตนเอง(รวมถึงสำนึกพิมพ์)ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน เริ่มต้นราคา $7,500 เหรียญ สิ้นสุดแค่ $9,500 เหรียญ หักค่านายหน้า 10% สำนักพิมพ์เอาไปอีก 15% เหลือมาถึงกระเป๋าผู้เขียนแค่ $6,750 เหรียญ (ยังไม่รวมหักภาษี) และไม่ว่าภาพยนตร์จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มใดๆ


Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang

ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938), จากนั้นเซ็นสัญญา(ทาส)โปรดิวเซอร์ David O. Selznick ออกเดินทางสู่ Hollywood สรรค์สร้างผลงานเด่นๆ Rebecca (1940), Spellbound (1945), Notorious (1946), Stranger on a Train (1951) ฯ

ผกก. Hitchcock เซ็นสัญญาสตูดิโอ Paramount Pictures ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 สรรค์สร้างผลงานโลกตะลึงอย่าง Rear Window (1954), To Catch a Thief (1955), The Trouble with Harry (1955), The Man Who Knew Too Much (1956), Vertigo (1958), North by Northwest (1959), จริงๆก็ถือว่าไปด้วยกันได้ดี ไม่เคยมีปัญหาขัดใจอะไร จนกระทั่งนำเสนอโปรเจคดัดแปลงนวนิยาย Psycho กลับได้รับคำตอบปฏิเสธทันควัน!

ถึงอย่างนั้นผกก. Hitchcock ก็พยายามต่อรองด้วยการไม่รับค่าตัว (แลกกับ 60% กำไรหนัง) ใช้ทีมงานจากโปรดักชั่นรายการโทรทัศน์ Alfred Hitchcock Presents (1955-65) รวมถึงถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ เพื่อควบคุมงบประมาณไม่ให้เกิน $1 ล้านเหรียญ สตูดิโอ Paramount จึงยินยอมตอบตกลง … ภายหลังความสำเร็จอย่างล้นหลาม ผกก. Hitchcock จึงขอซื้อต่อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ย้ายไป Universal Studios

เกร็ด: เหตุผลที่ Paramount ยื้อๆยักๆ ไม่อยากตอบตกลง Psycho (1959) เพราะก่อนหน้านี้ผกก. Hitchcock พยายามผลักดันโปรเจค No Bail for the Judge จากนวนิยายของ Henry Cecil สูญงบเปล่าๆไปกว่า $200,000 เหรียญ โดยไม่มีความคืบหน้าหลังจากนักแสดงนำ Audrey Hepburn ถอนตัวเพราะกำลังตั้งครรภ์


ผกก. Hitchcock รับรู้จักนวนิยาย Psycho (1959) จากผู้ช่วยส่วนตัว Peggy Robertson พบเจอบทความวิจารณ์ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ The New York Times เลยลองซื้อมาอ่านแล้วเกิดความชื่นชอบประทับใจ ส่งต่อให้ผกก. Hitchcock ใช้เล่ห์เหลี่ยมประมูลลิขสิทธิ์ดัดแปลงมาแค่ $9,500 เหรียญ แต่ก็ยังมอบหมายให้ Robertson กวาดซื้อนวนิยายเล่มนี้ เพื่อไม่ให้เรื่องราวรั่วไหล

ในส่วนของบทหนัง เริ่มต้นมอบหมายให้ James P. Cavanagh นักเขียนจากรายการ Alfred Hitchcock Presents แต่ทว่าบทร่างยังไม่น่าพึงพอใจ เลยเปลี่ยนมาใช้บริการนักเขียนหน้าใหม่ Joseph Stefano (1922-2006) ที่เพิ่งมีผลงานบทภาพยนตร์เรื่องแรก The Black Orchid (1959) แม้ยังอ่อนด้อยประสบการณ์ แต่พอพบเจอ พูดคุยถูกคอ เลยได้รับโอกาสครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต

บทหนังของ Stefano มีเนื้อหาค่อนข้างซื่อตรงต่อต้นฉบับ โดยการเปลี่ยนแปลงหลักๆคือเริ่มต้นเรื่องราวที่ Marion Crane (แทนที่จะเป็น Norman Bates) และแก้ไขรายละเอียดตัวละคร Norman Bates ในนวนิยายไม่ได้มีความน่าสงสารเห็นใจสักเท่าไหร่ ชายวัยกลางคน รูปร่างอวบอ้วน ชื่นชอบการดื่ม (กลายเป็นมารดาระหว่างมึนเมา) หลงใหลภาพโป๊เปลือย เชื่อในเรื่องลึกลับ (Occult) และศรัทธาลัทธิจิตวิญญาณ (Spiritualism) … ผกก. Hitchcock บอกให้ Stefano ปรับเปลี่ยนตัวละครโดยอ้างอิงต้นแบบ Anthony Perkins

รายละเอียดอื่นๆที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถือว่าไม่ได้มีความสำคัญมากนัก ยกตัวอย่าง

  • ความสัมพันธ์ชู้สาวระหว่าง Sam กับ Lila หมอนี่เอาหมดทั้งพี่ทั้งน้อง
  • ความตายของ Marion จากเคยถูกโดนตัดหัว ลดความรุนแรงเหลือเพียงมีดทิ่มแทง
    • หลงเหลือหลักฐานต่างหู มาเป็นเศษกระดาษในชักโครก
  • สถานที่ถูกฆาตกรรมของ Arbogast จากโถงทางเข้า (Foyer) มาเป็นตรงบันได
  • ตอนจบที่ Sam เป็นคนอธิบายอาการผิดปกติของ Norman ก็เปลี่ยนมาเป็นจิตแพทย์ ฟังดูน่าเชื่อถือกว่า

เกร็ด: เพื่อปกปิดรายละเอียดเกี่ยวกับหนัง ระหว่างถ่ายทำจึงมีการใช้ชื่อปลอม Production 9401 และ Wimpy ไม่มีใครรู้ว่าดัดแปลงจากนวนิยายหรืออะไร


เรื่องราวเริ่มต้นที่ Marion Crane (รับบทโดย Janet Leigh) เลขานุการบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ Phoenix, Arizona ทำการลักขโมยเงินฝาก $40,000 เหรียญ ตั้งใจจะออกเดินทางมุ่งสู่เมือง (สมมติ) Fairvale, California เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กับแฟนหนุ่ม Sam Loomis (รับบทโดย John Gavin) แต่ระหว่างทางฝนตกหนัก เลี้ยวเข้าพักโรงแรม Bates Motel ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าของหนุ่ม Norman Bates (รับบทโดย Anthony Perkins) แล้วจู่ๆกลับเกิดเหตุการณ์ …

สัปดาห์ถัดมา Lila Crane (รับบทโดย Vera Miles) เดินทางมายัง Phoenix เพื่อติดตามหาพี่สาวสูญหายตัวไป ครุ่นคิดว่าคงอยู่กับแฟนหนุ่ม Sam แต่รับรู้จากนักสืบเอกชน Milton Arbogast (รับบทโดย Martin Balsam) ว่า Marion ทำการลักขโมยเงิน $40,000 เหรียญ แล้วหลบหนีไป

Arbogast พยายามออกติดตามหามาถึงยัง Bates Motel สังเกตเห็นพฤติกรรมลับๆล่อๆของเจ้าของ จึงโทรศัพท์นัดหมายกับ Lila และ Sam แต่จู่ๆเขาก็สูญหายตัวไปอย่างลึกลับ ไม่ติดต่อกลับมา นั่นทำให้ทั้งสองบังเกิดความเคลือบแคลง ฉงนสงสัย มันอาจมีอะไรบางอย่างบังเกิดขึ้น ณ โรงแรมแห่งนี้


Janet Leigh ชื่อเกิด Jeanette Helen Morrison (1927-2004) นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Merced, California แล้วมาเติบโตยัง Stockton ครอบครัวฐานะค่อนข้างยากจน บิดาทำงานโรงงาน แล้วยังต้องรับจ้างทั่วไปเพื่อให้มีเงินพอใช้จ่าย, ด้วยความที่เป็นเด็กเฉลียวฉลาด เรียนจบมัธยมตั้งแต่อายุสิบห้า เข้าศึกษาดนตรีและจิตวิทยา University of the Pacific, ตอนอายุสิบแปดได้รับการค้นพบโดย Norma Shearer ระหว่างมาพักผ่อนที่รีสอร์ทสกี Sugar Bowl บนเทือกเขา Sierra Nevada (สถานที่ทำงานของบิดา-มารดาของ Leigh)

that smile made it the most fascinating face I had seen in years. I felt I had to show that face to somebody at the studio.

Norma Shearer

แม้ไม่มีประสบการด้านการแสดง แต่ยินยอมมาทดสอบหน้ากล้องแล้วได้เซ็นสัญญาสตูดิโอ M-G-M ภาพยนตร์เรื่องแรก The Romance of Rosy Ridge (1947), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Act of Violence (1948), Little Women (1949), Angels in the Outfield (1951), Scaramouche (1952), The Naked Spur (1953), โด่งดังกับ Touch of Evil (1958), กลายเป็นตำนานกับ Psycho (1960) และ The Manchurian Candidate (1962)

รับบท Marion Crane (ในนิยายใช้ชื่อ Mary Crane) หญิงสาวผู้มีความระริกระรี้ อยากแต่งงานกับ Sam Loomis แต่อีกฝ่ายเพราะยังติดหนี้ภรรยาเก่า จึงพยายามยื้อยั้ง เล่นตัว แสร้งทำเป็นพ่อคนดี บ่ายวันนั้นเมื่อกลับมาทำงาน Marion ตัดสินใจลักขโมยเงินบริษัท $40,000 เหรียญ ตั้งใจจะออกเดินทางสู่ (เมืองสมมติ) Fairvale, California เพื่อให้หนี้ให้แฟนหนุ่ม จะได้แต่งงาน หนีตามกันไป

ระหว่างการเดินทาง Marion ดูหน้าดำคร่ำเครียด เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ถูกสอดแนมจากตำรวจ พอฝนตกหนักแวะเข้าพัก Bates Motel มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของหนุ่ม Norman Bates ทำให้ฟื้นคืนสติ ตระหนักว่าการกระทำของตนเองไม่ถูกต้อง ตั้งใจจะหวนกลับไปเผชิญหน้ารับผิด แต่ค่ำคืนนั้นเธอกลับถูกตัดสินโชคชะตาชีวิต

มีนักแสดงมากมายที่อยู่ในความสนใจ Eva Marie Saint, Piper Laurie, Martha Hyer, Hope Lange, Shirley Jones, Lana Turner แต่เพราะผกก. Hitchcock มีความประทับใจ Janet Leigh จาก Touch of Evil (1958) เลยไม่เคยติดต่อใครอื่น ยินยอมรับค่าจ้างเพียง $25,000 เหรียญ (หนึ่งในสี่ของค่าตัวปกติ) เพื่อให้ได้ร่วมงานผู้กำกับคนโปรด

I’ve been in a great many films, but I suppose if an actor can be remembered for one role then they’re very fortunate. And in that sense I’m fortunate.

Janet Leigh

ผมรู้สึกว่าผู้ชมส่วนใหญ่จดจำ Leigh ได้เพียงตอนถูกฆาตกรรม เพราะมันเป็นสิ่งติดตา ฝังใจ ยากจะลบเลือนหาย แต่การแสดงโดยรวมของเธอก็ถือว่าน่าประทับใจ โดยเฉพาะช่วงระหว่างขับรถหลบหนี สามารถสัมผัสได้ถึงอาการหวาดระแวง วิตกจริต พยายามทำตัวให้ปกติ แต่ไม่แนบเนียนเอาเสียเลย ท่าทางลับๆล่อๆ เร่งรีบร้อนรน ดวงตาเบิกพองโต เต็มไปด้วยอาการพิรุธ เลยถูกตำรวจแอบติดตาม

การสนทนา(ดั้นสด)ในโรงแรมกับเจ้าของก็น่าสนใจ ช่วงแรกๆยังเต็มไปด้วยความเคลือบแคลง หวาดระแวง แต่ระหว่างพูดคุยทำให้เธอค่อยๆสงบสติอารมณ์ เกิดความสงสาร เห็นอกเห็นใจ เรียนรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ตระหนักถึงความผิดของตนเอง ยินยอมพร้อมหวนกลับไปชดใช้กรรมที่ก่อ

เกร็ด: ด้วยความที่ Leigh ต้องแช่น้ำ(อุ่น)ถ่ายทำฉากนั้นนานถึง 7 วัน ทำให้ผิวพรรณเหี่ยวย่น พอได้รับชมหนังก็ปฏิเสธอาบน้ำด้วยฝักบัวตลอดชีวิต และความโด่งดังของฉากนี้ทำให้เธอเกิดความเครียด ดื่มหนัก ติดเหล้า นำไปสู่การเลิกราสามี Tony Curtis

It’s actually, honestly true. And not because of the shooting of it. It was the seeing of it. It never dawned on me how truly vulnerable we are. But that’s what [Alfred Hitchcock] did. A shower. A bird. All these things that are absolutely ordinary, he made extraordinary.


Anthony Perkins (1932-92) นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City, บิดาคือนักแสดงหนังเงียบ Osgood Perkins (Scarface (1932)) พลันด่วนเสียชีวิตขณะบุตรชายอายุได้เพียง 3 ขวบ อาศัยอยู่กับมารดาสานสัมพันธ์เลสเบี้ยนกับเพื่อนสาว นั่นทำให้เด็กชาย Perkins เหมือนจะไม่ค่อยชื่นชอบผู้หญิงนัก! ตัดสินใจดำเนินตามรอยเท้าบิดา ช่วงวันหยุดฤดูร้อนระหว่าง ค.ศ. 1947-50 เข้าร่วมคณะการแสดงละคอนเวที (มีคำเรียกว่า Summer Stock Company) ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย Columbia University, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Actress (1953), แจ้งเกิดกับ Friendly Persuasion (1956) กลายเป็น Sex Symbol/Matinee Idol พร้อมเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor, Fear Strikes Out (1957), โด่งดังพลุแตกกับ Psycho (1960) แต่กลับกลายเป็น ‘typecast’ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Tin Star (1957), Goodbye Again (1961), The Trial (1962), Catch-22 (1970), Murder on the Orient Express (1974) ฯ

รับบท Norman Bates ตั้งแต่เด็กได้รับการเสี้ยมสอนด้วยความรุนแรงจากมารดา (Emotional Abuse) ปลูกฝังว่าการมีอารมณ์ทางเพศ รวมถึงเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งชั่วร้าย หญิงสาวทุกคน(ยกเว้นมารดา)ไม่ต่างจากโสเภณี (บางคนอาจตีความสัมพันธ์ถึง Incest) นั่นทำให้หลังจากบิดาเสียชีวิต มารดาแต่งงานใหม่ เขาเลยตัดสินใจฆาตกรรมทั้งสอง ปลอมแปลงหลักฐานว่าเธอฆ่าตัวตายพร้อมสามี จากนั้นยังสร้างบุคลิกภาพมารดา (Split Personality) ทำเหมือนว่าเธอยังมีชีวิตอยู่ แต่จริงๆแล้วขุดศพขึ้นมาแต่งองค์ทรงเครื่อง เมื่อไหร่บังเกิดอารมณ์ทางเพศจะสลับเปลี่ยนบุคลิกภาพ สวมใส่เสื้อผ้า/วิกผมมารดา ลงมือเข่นฆาตกรรมหญิงสาว

การมาถึงของหญิงสาวสวย Marion Crane เข้าพักในโรงแรม Bates Motel ทำให้เขามิอาจอดกลั้นฝืนทน ค่ำคืนนั้นแอบถ้ำมองผ่านกำแพงห้อง บังเกิดอารมณ์ทางเพศ บุคลิกภาพมารดาจึงถูกปลุกตื่นขึ้นมา สวมใส่เสื้อผ้า/วิกผม ลงมือฆาตกรรมหญิงสาว แล้วพอ Norman หวนกลับมาเป็นปกติ เร่งรีบจัดแจง ทำลายหลักฐาน แสร้งว่าไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถปกปิดบังนักสืบเอกชน Milton Arbogast เป็นเหตุให้มารดาต้องลงมืออีกครั้ง … และการมาถึงของ Lila กับ Sam ทั้งสองแบ่งแยกหน้าที่ คนหนึ่งพูดคุย ถ่วงเวลา อีกคนเข้าไปสำรวจบ้านของ Norman มาจนถึงห้องใต้ดิน ค้นพบความจริงที่คาดไม่ถึง!

Perkins คือตัวเลือกแรก ตัวเลือกเดียวของผกก. Hitchcock ประทับใจมาตั้งแต่ Friendly Persuasion (1956) มองว่าอีกฝ่ายบุคลิกภาพเหมือนเด็ก “boy next door” ขี้เล่นแต่จริงจัง ชวนให้นึกถึงสมัยหนุ่มๆของ James Stewart ตอบรับด้วยค่าจ้าง $40,000 เหรียญ (เท่ากับเงินที่ Marion Crain ลักขโมยมา)

ผู้ชมส่วนใหญ่คงมีภาพจำ Perkins คือฆาตกรป่วยจิต Oedipus Complex เหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย (ชีวิตจริงพี่แกยังมีรสนิยมรักร่วมเพศ) แต่ลีลาการแสดงต้องถือว่าลุ่มลึกล้ำ ระดับซุปเปอร์สตาร์! เริ่มต้นด้วยภาพลักษณ์ “boy next door” ชายหนุ่มน้อย ร่าเริงสดใส ดูไร้พิษภัย ทั้งยังกตัญญูรู้คุณมารดา ถึงอย่างนั้นรสนิยมแปลกๆ (อย่างการชอบสตัฟฟ์สัตว์) ท่าทางวอกแวก ลุกรี้ร้อนรน สังเกตไม่ยากว่าเหมือนมีลับลมคมใน อะไรบางอย่างปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้

  • ระหว่างพูดคุยกับ Marion เพราะผู้ชมยังไม่รับรู้เรื่องราวอะไร กิริยาท่าทางของ Norman จึงดูเป็นธรรมชาติ เคลือบแฝงความลุ่มหลงใหล แอบถ้ำมองสนองความใคร่ (ตามประสาคนหนุ่ม)
  • แต่หลังเหตุการณ์ฆาตกรรม การสนทนากับนักสืบเอกชน Milton Arbogast เต็มไปด้วยท่าทางลับๆล่อๆ พูดผิดพูดถูก ลิ้นพันกัน (ย้อนรอยอาการหวาดระแวงของ Marion) จนตกเป็นบุคคลต้องสงสัย
  • และการมาถึงของ Lila กับ Sam เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้วกับ Arbogast เลยสามารถทำตัวแนบเนียน ราวกับผู้เชี่ยวชาญ ไร้อาการผิดสังเกต จนกระทั่งได้ยินเสียงกรีดร้องดังจากภายในบ้าน

แม้ว่า Perkins (รวมถึง Janet Leigh) เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าไม่หวาดกลัวที่จะกลายเป็น ‘typecast’ เพราะอย่างน้อยแสดงว่ามีบทบาท/ภาพยนตร์ได้รับการจดจำเหนือกาลเวลา ถึงอย่างนั้นมันก็ส่งผลกระทบต่ออาชีพการงานพอสมควร หลังเสร็จจาก Psycho (1960) ตัดสินใจเดินทางสู่ยุโรป Goodbye Again (1961) คว้ารางวัล Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, ร่วมงานผกก. Orson Welles เรื่อง The Trial (1962) ฯ พิสูจน์ตนเองว่าคือนักแสดงคุณภาพ ก่อนหวนกลับ Hollywood เมื่อปี ค.ศ. 1968


Vera June Miles (เกิดปี ค.ศ. 1929) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Boise City, Oklahoma แล้วมาเติบโตยัง Pratt, Kansas ก่อนปักหลังอยู่ Wichita ระหว่างเรียนมัธยมทำงานกะดึก Western Union กระทั่งสมัครประกวดนางงามเมื่อปี ค.ศ. 1948 กลายเป็น Miss Kansas และรองชนะเลิศอันดับสาม Miss America, อพยพย้ายสู่ Los Angeles ได้เป็นตัวประกอบโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เซ็นสัญญาสตูดิโอ Warner Bros. แจ้งเกิดกับ The Searchers (1956), The Wrong Man (1956), Psycho (1960), The Man Who Shot Liberty Valance (1962) ฯ

รับบท Lila Crane น้องสาวของ Marion ทั้งสองเหมือนจะมีความสนิทสนมชิดเชื้อ ไปมาหาสู่ ติดต่อกันอยู่เป็นประจำ แต่สัปดาห์นี้กลับเงียบหายอย่างไร้ร่อยรอย จึงออกเดินทางสู่ Phonix มาพบเจอคนรักของพี่ Sam Loomis ที่ไม่รับรู้เรื่องอะไร ก่อนนักสืบเอกชน Milton Arbogast เข้ามาชี้แจงแถลงไข คาดไม่ถึงว่าอีกฝ่ายจะกล้ากระทำสิ่งชั่วร้าย

Miles เป็นนักแสดงในสังกัดของผกก. Hitchcock เคยคาดหวังจะปลุกปั้นให้ขึ้นมาแทนที่ Grace Kelly แต่โชคชะตาทำให้พลาดโอกาสรับบทนำ Vertigo (1960) ขณะที่ Psycho (1960) แม้ขึ้นเครดิตอันดับสอง กลับก็ถูกขโมยซีนไปโดย Janet Leigh

แม้ว่า Lila จะคือนางเอกตัวจริง! แต่ทว่าผู้ชมกลับไม่ค่อยมีความกระตือรือล้น สนอกสนใจตัวละครนี้สักเท่าไหร่ เพราะยังตกตะลึง จดจำฝังใจว่า Marion คือนางเอก ปรากฎตัวมาเกือบครึ่งเรื่อง แล้วพลันด่วนจากไปอย่างคาดไม่ถึง! เลยต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ๆกว่าจะสามารถปรับตัว ฟื้นฟูสภาพจิตใจ อีกทั้งการแสดงของของ Miles ก็ไม่ได้มีความโดดเด่น น่าจดจำเมื่อเทียบกับ Leigh

นั่นอาจเพราะตัวละครของ Leigh ได้กระทำสิ่งชั่วร้าย ลักขโมยเงิน $40,000 เหรียญ จึงมีการแสดงออกที่ขัดต่อสามัญสำนึก ฝืนธรรมชาติ เต็มไปด้วยความพิรุธ ผิดกับตัวละครของ Miles ต้องการออกติดตามหาพี่สาว ไม่ได้มีลับลมคมในเคลือบแอบแฝง เพียงแรงกระตุ้นโดยธรรมชาติ ความสัมพันธ์พี่-น้อง เป็นห่วงเป็นใย รักเอ็นดู … กล่าวคือการแสดงของ Miles มีความกลมกลืน ดูเป็นธรรมชาติ มันเลยไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับ Leigh ที่ต้องปั้นแต่ง แสร้งเป็น ปกปิดความชั่วร้ายของตนเอง


ถ่ายภาพโดย John Lowell Russell Jr. (1905-67) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York เป็นบุตรชายของนักแสดง John Lowell และมารดานักเขียนบทในยุคหนังเงียบ Lillian Case Russell เข้าสู่วงการจากเป็นผู้ช่วยตากล้อง โด่งดังจากการร่วมงานผกก. Orson Welles เริ่มจากเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) The Stranger (1946), Touch of Evil (1958), เครดิตถ่ายภาพ Macbeth (1948), จากนั้นร่วมงานขาประจำรายการโทรทัศน์ Alfred Hitchcock Presents, และภาพยนตร์ได้รับการจดจำสูงสุดก็คือ Psycho (1960)

เกร็ด: ผกก. Welles สรรเสริญ John L. Russell ว่าเป็น “Greatest Camera Operator in Hollywood’s History.”

แม้จุดประสงค์หลักๆของการเลือกใช้ฟีล์มขาว-ดำ จะคือเพื่อลดต้นทุน! แต่มันก็เป็นความตั้งใจอยู่แล้วของผกก. Hitchcock ต้องการให้งานภาพออกมาราคาถูก (Cheap) คุณภาพต่ำ (Low Quality) เหมือนหนังเกรดบี (Grade B) ซึ่งยังช่วยลดความรุนแรงจากสีของเลือดที่อาจดึงดูดความสนใจผู้ชมมากเกินไป

ทีมงานทั้งหมดนำจากโปรดักชั่นรายการโทรทัศน์ Alfred Hitchcock Presents งานภาพของหนังจึงไม่เน้นความหวือหวามากนัก (ไม่ค่อยมีงบด้วยไง หมดเงินส่วนใหญ่ไปกับโปรดักชั่นงานสร้าง) เพียงละเล่นกับทิศทาง มุมกล้อง รายละเอียด องค์ประกอบ ฯ แต่ยังมีหนึ่งการทดลองที่น่าสนใจ ระหว่างฆาตกรรมพลัดตกบันไดของนักสืบเอกชน Milton Arbogast ยุ่งยากวุ่นวายแค่ไหนเดี๋ยวค่อยว่ากัน

ด้วยความสตูดิโอ Paramount ไม่มีความเชื่อมั่นในโปรเจค จึงใช้ข้ออ้างโรงถ่ายเต็ม (จริงๆก็อาจมีว่างอยู่ แต่ไม่ต้องการสิ้นเปลืองพื้นที่+แรงงานกับโปรเจคที่ไม่น่าประสบความสำเร็จ) ผกก. Hitchcock เลยต้องบากหน้าไปขอใช้สถานที่ Backlot Universal Studios ณ โรงถ่าย 18 กับ 28 สำหรับก่อสร้าง Bates Motel & Bates Mansion แถมการเบิกจ่ายงบก็มีความล่าช้า จำต้องควักเนื้อไปก่อนแทบทั้งหมด เหมือนจงใจให้พบเห็นฟุตเทจ ถ่ายทำเกือบเสร็จสิ้น ถึงค่อยยินยอมจ่ายเงิน … นี่ถือเป็นจุดแตกหักระหว่างผกก. Hitchcock กับสตูดิโอ Paramount เลยก็ว่าได้!

เกร็ด: ก่อนที่ Christopher Nolan และค่ายหนัง Disney/Marvel จะบีบบังคับให้นักแสดงลงนามห้ามเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์ถ่ายทำ, Alfred Hitchcock น่าจะคือผู้กำกับคนแรกๆที่ขอให้ทีมงาน+นักแสดง ยกมือขวาสาบานตน ว่าจะไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆของหนัง เก็บงำความลับ ห้ามออกงาน ห้ามให้สัมภาษณ์กับสื่อ และไม่มีใครล่วงรู้ตอนจบว่าจะลงเอยเช่นไร


เริ่มต้นด้วย Title Sequence สร้างโดย Saul Bass ร่วมงานผกก. Hitchcock มาตั้งแต่ Vertigo (1958) และ North by Northwest (1959) แต่โดยส่วนตัวรู้สึกน่าผิดหวัง เพราะมันไม่ได้มีอะไรที่สร้างความประทับใจสักเท่าไหร่ เพียงอนิเมชั่นเส้นๆ เร่งความเร็วให้สอดคล้องท่วงทำนองบทเพลงของ Bernard Herrmann เท่านั้นเอง … เส้นๆเลื่อนไปเลื่อนมา แลดูราวกับกรงขัง สัญลักษณ์ต้องห้าม เตือนภัยอันตราย ความตาย จิตวิญญาณถูกกักขัง

เกร็ด: นอกจากออกแบบ Title Sequence เห็นว่า Saul Bass ยังเป็นคนวาด Storyboard และช่วยถ่ายทำฉากที่ Arbogast ถูกผลักตกบันไดเสียชีวิต (แต่ก็ไม่ได้นำมาใช้ในหนัง เพราะผลลัพท์ยังไม่เป็นที่พึงพอใจผกก. Hitchcock) แต่น่าแปลกใจที่เขาไม่ได้ทำโปสเตอร์ คือผลงานของ Macario Gómez Quibus (1926-2018) กราฟฟิกดีไซเนอร์ สัญชาติ Spanish

ความตั้งใจแรกเริ่มของผกก. Hitchcock ต้องการใช้ Helicopter Shot เก็บภาพทิวทัศน์เมือง Phoenix, Arizona แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และภาพออกมาส่ายๆสั่นๆเกินไป เลยเปลี่ยนมาใช้การแพนกล้อง Panorama รอบๆเมือง จากนั้นค่อยๆซูมเข้าหาโรงแรมแห่งหนึ่ง ‘Cross-Cutting’ อย่างแนบเนียนสู่ฉากในสตูดิโอ และยังสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเคลื่อนจากภายนอก(หน้าต่าง)เข้าสู่ภายในห้องพัก

ด้วยข้อจำกัดยุคสมัย มันจึงไม่มีทางที่กล้องจะสามารถเคลื่อนผ่านเข้าช่องว่างเล็กๆตรงหน้าต่าง (ต่อให้เปิดหน้าทั้งบานก็ยังเข้าไม่ได้ กล้องสมัยนั้นขนาดใหญ่เทอะทะ น้ำหนักเกือบครึ่งตัน ต้องใช้เครน/ลางเลื่อนเท่านั้น!) แต่เพราะฉากนี้สร้างขึ้นในสตูดิโอ จึงออกแบบให้ผนังกำแพงสามารถประกอบ-แยกชิ้นส่วน ซึ่งถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่าวินาทีที่กล้องเคลื่อนเข้าไปเห็นภายใน ความเร็วในการเลื่อนไหละช้าลง นั่นเพราะเวลาถ่ายทำจริงจะมีการหยุดกล้องชั่วขณะเพื่อขนย้ายกำแพงออก (กล้องจักสามารถเคลื่อนเข้าไปถ่ายภายใน)

ยังมีอีกสิ่งหนึ่งน่าสนใจก็คือ ระหว่างถ่ายจากภายนอกจะมีการปิดไฟภายในห้อง ทำให้มองเข้าไปเห็นเพียงความมืดมิด แต่พอเคลื่อนผ่านผนังกำแพง แสงไฟจะค่อยๆส่องสว่าง มองเห็นรายละเอียดภายใน ก่อนหันเข้าหาหญิงสาวนอนอยู่บนเตียง ใครๆก็จินตนาการได้ว่าเพิ่งเสร็จสิ้นกามกิจ … คล้ายๆแบบ Rope (1948) เริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพทิวทัศน์ภายนอกอพาร์ทเม้นท์ พอตัดเข้ามาภายในพบเห็นเพียงวินาทีเสียชีวิตโดยการฆ่ารัดคอ

ผมเห็นหลายคนชอบตีความฉากแรกนี้ เคลื่อนเลื่อนกล้องเข้าไปในโรงแรม = การสำรวจเข้าไปในสภาพจิตใจตัวละคร ซึ่งเรื่องราวทั้งสามตอนของหนัง ล้วนเป็นการออกเดินทางมุ่งสู่ Bates Motel ราวกับว่าสถานที่แห่งนี้คือจิตใต้สำนึก เพื่อพบเจอ เผชิญหน้า ต่อสู้กับบางสิ่งอย่างซุกซ่อนอยู่ภายในตัวเรา

แซว: ด้วยความที่ Hays Code ไม่อนุญาตให้ชาย-หญิง ที่ไม่ใช่สามี-ภรรยา นอนร่วมเตียงเดียวกัน! วิธีการก็คือให้คนหนึ่งนอน คนหนึ่งยืน แค่อยู่ในห้องพักเดียวกัน … นี่คือลีลาท้าทายขีดจำกัดของผกก. Hitchcock มันผิดกฎตรงไหนละ?

เอาจริงๆผมไม่ค่อยอยากเขียนถึงรายละเอียด ‘mise en scène’ เพราะมันจะกลายเป็นวิเคราะห์ช็อตต่อช็อต ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่ เอาเป็นว่าผมจะเลือกเฉพาะช็อตน่าสนใจที่การกระทำสอดคล้องกับคำพูด

  • Sam พร่ำบ่นว่า Marion ไม่ยอมรับประทานอาหารกลางวัน ก็ตัดมาภาพอาหารกลางวัน
  • Sam พร่ำบ่นถึงอดีตภรรยาที่ไม่รู้อาศัยอยู่แห่งหนไหน วินาทีนั้นเขาเดินเข้าไปเปิดผ้าม่าน/บานเกล็ด มองออกไปข้างนอก จับจ้องมองหา
  • ใครเคยรับชม Suspicion (1941) น่าจะมักคุ้นประโยค “I’ll lick the stamps.”
  • แม้เป็นคำพูดเล่นๆ แต่ท่าทางของ Sam ดูจริงจัง วินาทีแนะนำให้ Marion มองหาคนใหม่ ตัดขาดความสัมพันธ์ กล้องถ่ายเห็นขณะยืนอยู่ตรงหน้าต่าง เพื่อสื่อว่านั่นคือหนทางออก โบยบินสู่อิสรภาพ แต่ขณะเดียวกันมันเหมือนว่าถ้าทำเธอเช่นนั้น เขาอาจกระโดดตึกฆ่าตัวตาย (นั่นก็สื่อถึงอิสรภาพเช่นเดียวกัน)

ผกก. Hitchcock สวมหมวกคาวบอยสีขาว Stetson ยืนอยู่ด้านนอก/ตรงทางเข้าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ Marion ทำงานอยู่ เหตุผลที่รีบปรากฎตัว เพื่อผู้ชมจะไม่ต้องเสียเวลาจับจ้องมองหา ให้ความสนใจกับเรื่องราวของหนังมากกว่า

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผกก. Hitchcock เลือกปรากฎตัวซีนนี้ เพราะจะได้ร่วมเล่นกับบุตรสาว Pat Hitchcock รับบทเพื่อนร่วมงานของ Marion

ในบทหนังเห็นว่ามีการสลับลำดับการสนทนาอยู่เล็กน้อย อาจเพราะมันมีความล่อแหลม นอนบนเตียง? หรือทำอะไรอยู่บนเตียง?

Marion: I’m going to spend the weekend in bed.
Tom Cassidy: Bed? Only playground that beats Las Vegas.

มันอาจฟังดูเป็นการหยอกล้อ เกี้ยวพาราสี (Flirting) แต่ทั้งน้ำเสียง ท่าทางจริงจังของนักธุรกิจน้ำมัน Tom Cassidy ผมสัมผัสถึงการคุกคามทางเพศ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ Marion

ภาพวาดใบหน้าห้าคนบนผนัง น่าเสียดายที่ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าผลงานศิลปินใด (แต่ไม่น่าจะใช่ Picasso) ดูราวกับวิวัฒนาการบุคคลที่เป็นเจ้าของผืนแผ่นดินอเมริกัน เริ่มจากชนเผ่าอินเดียแดง มาจนถึงชาวยุโรปที่เข้ามาบุกเบิกทวีปแห่งใหม่ … สอดคล้องเข้ากับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ค้าขายที่ดินแห่งนี้ และท่าทีของนักธุรกิจน้ำมันที่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ Marion

แซว: Hays Code มีการออกกฎว่า “(Don’t) Deliberate seduction of girls” ผลลัพท์ก็อย่างที่เห็น เต็มไปด้วยความสองแง่สองง่าม ขึ้นอยู่กับความสามารถผู้ชมจะสังเกตกิริยาท่าทาง เข้าใจภาษากายของตัวละคร

กระทรวงการคลังแห่งสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 30s เคยมีคำสั่งห้ามปรากฎภาพธนบัตรหรือเหรียญ U.S. Curreny ในภาพยนตร์ (นอกเสียจากมีการขออนุญาต) แต่ก่อนหน้านี้ Strangers on a Train (1951) เคยแหกกฎดังกล่าวด้วยการปรากฎภาพธนบัตร $10 ดอลลาร์ มาคราวนี้พบเห็นแบงค์ $100 ดอลลาร์ ไม่มีใครรู้ว่าผ่านกองเซนเซอร์มาได้ยังไง?

เหตุผลของการห้ามใช้ธนบัตรจริง เพราะกลัวการถูกปลอมแปลง ปัจจุบันจึงมีการพิมพ์ธนบัตรสำหรับใช้ในภาพยนตร์โดยเฉพาะ รูปร่างหน้าตาประมาณนี้ …

จากเคยสวมชุดสีขาวนอก-ขาวใน (ชุดชั้นในสีขาว) หลังจากตัดสินใจลักขโมยเงิน $40,000 เหรียญ สังเกตว่า Marion เปลี่ยนมาสวมใส่ชุดชั้นในสีดำ และเสื้อนอกเข้มๆ (ดูไม่ออกเหมือนกันว่าสีอะไร) สามารถสื่อตรงๆถึงการกระทำสิ่งชั่วร้าย จิตใจไม่ขาวบริสุทธิ์อีกต่อไป

ผมจับจ้องภาพนี้อยู่นาน นอกจากริ้วรอยขีดๆข่วนๆ ยังคือการจัดแสงยามเย็นที่ดูแปลกๆ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ ก่อนได้ข้อสรุปว่าภาพนี้อาจคือโมเดลจำลอง (Miniatures) ซ้อนเข้ากับท้องฟ้า ก้อนเมฆครึ้ม เพื่อสร้างสัมผัสอึมครึม จิตใจมืดดำ สิ่งชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา Marion กำลังออกเดินทางสู่เมือง (สมมติ) Fairvale, California

ยามค่ำคืน แสงไฟจากรถที่สวนมาอาบฉาบใบหน้า Marion เดี๋ยวมืด-เดี๋ยวสว่าง สามารถสะท้อนความรู้สึกร้อนรน กระวนกระวาย เร่งรีบอยากไปให้ถึงเป้าหมาย ไม่ต้องการถูกใครจับได้ ค้นพบว่ากำลังหลบหนี

อาการร้อนรน กระวนกระวาย ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกาย เหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า รวมถึงไม่สามารถขบครุ่นคิดได้อย่างรอบคอบ Marion จึงเลี้ยวจอด หลับนอนข้างทาง ก่อนถูกปลุกตื่นโดยสายตรวจ ระหว่างการสนทนาจะมีการถ่ายภาพระยะประชิดใกล้ (Close-Up) เพื่อให้ผู้ชมสังเกตเห็นปฏิกิริยาสีหน้า ดวงตา สามารถทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ภายใน ผมละขำกลิ้งกับตอนหญิงสาวบอกว่า “I couldn’t keep my eyes open.” แต่ดูดวงตาเธอนั่นสิ เบิกพองโต แทบจะไม่กระพริบ ใครๆย่อมบอกได้ว่าต้องมีความผิดปกติ ลับลมคมในอะไรบางอย่าง

หลังจากซื้อรถคันใหม่ Marion ก็เริ่มออกเดินทางอีกครั้ง แม้มีการตัดต่อสลับไปมาระหว่างภาพเส้นทาง กับใบหน้าเธอขณะขับรถ แต่ผู้ชมจะยินเสียงความครุ่นคิด (หรือจะมองว่าคือเสียงจากเหตุการณ์จริงก็ได้เช่นกัน) ติดตามมาหลอกหลอน ช่วยแรกๆปฏิกิริยาสีหน้ายังดูเคร่งเครียด กดดัน กัดริมฝีปาก แต่พอท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้ม มีการปรับระยะภาพให้ใกล้(ใบหน้า)มากขึ้น พบเห็นรอยยิ้มกริ่ม ภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ สมน้ำหน้านักธุรกิจน้ำมัน อวดร่ำอวดรวย พยายามเกี้ยวพาราสีฉันดีนัก คงได้รับบทเรียนอย่างสาสม

ปล. WordPress มีการลำดับภาพโดยอัตโนมัติ ผมไม่สามารถปรับแก้ไขอะไรใดๆ เผื่อใครฉงนสงสัย ลำดับของภาพเป็นดังต่อไปนี้
1 → 2
3 → 4
5 → 6

Bates Motel และ Bates Mansion ตามที่อยู่คือ 4019 Highway 88, White Pine Bay, Oregon แต่ทำการก่อสร้างขึ้นที่ Universal Studios Backlot ออกแบบสร้างโดย George Milo (1909-84) ขาประจำจากรายการโทรทัศน์ Alfred Hitchcock Presents เคยได้เข้าชิง Oscar: Best Art Direction สามครั้งจาก Psycho (1960), Judgment at Nuremberg (1961) และ That Touch of Mink (1962)

ผมจงใจเลือกภาพที่ถ่ายติดด้านหลัง Bates Motel & Mansion เพื่อให้พบเห็นว่าแท้จริงแล้วก็แค่ฉากหน้า ล่อหลอกสายตาผู้ชม ไม่ได้สร้างบ้านหรือโรงแรมทั้งหลังขึ้นมา ส่วนฉากภายในก็ย้ายไปถ่ายทำในโรงถ่าย เพราะสามารถควบคุมสภาพแวดล้อม แสงสว่าง-ความมืดได้ดีกว่า

เกร็ด: ความสำเร็จอันล้นหลามของหนังทำให้ Bates Motel และ Bates Mansion กลายเป็นจุดเช็คอิน สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของสตูดิโอ Universal มีการซ่อมแซมปรับปรุงถ่ายซีรีย์ ทำภาคต่อ แต่ความที่เป็นอาคารไม้ ผุผังตามกาลเวลา โรงแรมถูกทุบปี ค.ศ. 1995 ส่วนแมนชั่นก็อีกสามปีถัดมา ค.ศ. 1998

แรงบันดาลใจ Bates Mansion คือภาพวาด House by the Railroad (1925) ของจิตรกรสัญชาติอเมริกัน Edward Hopper (1882-1967) ผู้มีความหลงใหลภาพ Realist ในสไตล์ American Art

ภาพวาดของ Hopper ได้แรงบันดาลใจจากบ้านติดรางรถไฟตั้งอยู่ 18 Conger Avenue ณ Haverstraw, New York สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1885 อ้างอิงจากสถาปัตยกรรม Second Empire ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายศตวรรษ 19th (ตรงกับยุคสมัย Victorian)

ผกก. Hitchcock ดูจะชื่นชอบภาพสะท้อนกระจกเสียเหลือเกิน เพราะในบริบทของหนังสามารถสื่อถึงอีกตัวตนที่พยายามปกปิด ซุกซ่อนเร้น

  • สำหรับ Marion พยายามปกปิดสิ่งชั่วร้ายเคยกระทำมา หรือก็คือเงินที่ลักขโมย
  • ส่วน Norman ซุกซ่อนอีกบุคลิกภาพมารดา
    • ภาพเงาของ Norman ดูเลือนลางกว่า Marion เพราะตัวตนของเขาใกล้จะถูกกลืนกิน สูญสลายหายไป

มีคำเรียกซีเควนซ์นี้ว่า “Parlor Scene” หลังจาก Norman นำอาหารเย็น(ที่มีแต่แซนวิช)มาเสิร์ฟกับ Marion ชักชวนเธอเข้ามาในห้องนั่งเล่น (ดูราวกับการล่อเหยื่อให้หลงติดกับดัก นกถูกกักขังในกรง) สองช็อตนี้แม้ถ่ายระดับต่ำกว่าสาย แต่มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม

  • ฟากฝั่ง Marion นั่งบนโซฟานุ่มๆ โคมไฟส่องสว่าง ทำให้เธอดูเปร่งกาย เจิดจรัสในสายตา Norman
    • ในสายตาของ Norman มีความสนอกสนใจ Marion ไม่ใช่แค่เพราะเป็นคือผู้หญิง (บังเกิดอารมณ์ทางเพศ) ยังเปรียบเทียบเหมือนนก ขณะเดียวกันสามารถเหมารวมถึงมารดา (Mother Figure) ได้ด้วยกระมัง
  • ตรงกันข้ามกับ Norman นั่งเก้าอี้ไม้ ไม่ได้จุดเทียน หลบมุมอยู่ตรงข้ามกับแสงไฟ พบเห็นเงาเลือนลางด้านหลัง และนกสตัฟฟ์วางอยู่บนตู้เก็บของ

การสนทนาดำเนินไปเรื่อยๆ ตัดสลับกลับไปกลับมา (Reverse Shot) จนกระทั่ง Marion พูดพาดพิงถึงมารดาของ Norman ทิศทางมุมกล้องจะมีการปรับเปลี่ยนแปลงโดยทันที

  • Marion ไม่ชอบให้ใครมาพูดจาดูถูก เหยียดหยาม (อย่างที่นักธุรกิจน้ำมันเคยทำกับเธอไว้) วินาทีนั้นกล้องถ่ายมุมเงยติดนกสตัฟฟ์ด้านหลัง แสดงถึงอิทธิพลมารดาต่อ Norman อธิบายว่าตนเองก็ไม่ได้ชอบแต่จะให้ทำยังไง ถ้าไม่มีฉันแล้วเธอจะอยู่กับใคร เพราะรักจึงยอมอดกลั้นฝืนทน ตกเป็นเหยื่อของนักล่า
  • Marion เลยพูดประมาณว่า ทำไมไม่ส่งเธอไปโรงพยาบาล นั่นสร้างความไม่พึงพอใจต่อ Norman ยื่นหน้าเข้ามาหากล้อง ขึ้นเสียงสูง จะให้ฉันทำเช่นนั้นได้อย่างไร

มันมีประโยคหนึ่งของ Norman ที่สามารถใช้เป็นบทสรุป คำพูดเตือนสติ “We all go a little mad sometimes.” น่าจะทำให้ Marion ตระหนักถึงความผิดพลาด สิ่งชั่วร้ายที่ตนเองได้กระทำ เลยตัดสินใจจะหวนกลับไปเผชิญหน้าความจริง

และเมื่อ Marion ลุกขึ้นจากโซฟาพูดบอกว่า “I stepped into a private trap” ตำแหน่งที่ยืนขึ้นพอดิบพอดีกับนกสตัฟฟ์ด้านข้าง นี่ไม่ใช่แค่เปรียบเทียบหญิงสาว = นกสตัฟฟ์ แต่สื่อถึงการติดกับดักของ Norman ไม่สามารถดิ้นหลบหนี กำลังจะกลายเป็นสัตว์สตัฟฟ์ในอีกไม่ช้า

ภาพวาดที่ Norman ขยับเคลื่อนเพื่อแอบถ้ำมอง Marion คืองานศิลปะในคอลเลคชั่นสะสมของผกก. Hitchcock ชื่อว่า Susannah and the Elders (1691) วาดโดย Willem van Mieris (1662-1747) จิตกรสัญชาติ Dutch แห่งยุคสมัย Dutch Golden Age (1648-1702) และ Baroque Art (1600-1750)

อ้างอิงจากพระคัมภีร์เก่า (Old Testament) เรื่องราวของหญิงสาว Susannah ถูกกล่าวหาว่ากระทำการคบชู้นอกใจ หลังปฏิเสธชายสองคนที่พบเจอกันระหว่างแอบถ้ำมองเธอกำลังอาบน้ำ จึงร่วมกันข่มขู่ แบล็กเมล์ ต้องการร่วมเพศสัมพันธ์

มีผลงานศิลปะมากมาย (น่าจะหลักสิบถึงร้อย) ที่รังสรรค์จากเรื่องราว Susannah and the Elders ซึ่งต้องเป็นคือจุดเริ่มต้นของการถ้ำมอง (Voyeurism) และแทบทั้งนั้นล้วนคือ “Male Gaze” รังสรรค์ผลงานโดยจิตรกรเพศชาย มองหญิงสาวราวกับวัตถุทางเพศ (Object of Desire)

ฟังดูเป็นเรื่องตลกขบขัน ทั้งๆไม่เคยมีกฎข้อห้าม แต่กลับไม่เคยมีภาพยนตร์เรื่องไหนใน Hollywood ถ่ายภาพชักโครก รวมถึงขณะกำลังกดน้ำ จนกระทั่ง Psycho (1960) … คงเพราะกลัวการพบเห็นสสาร เคมีภัณฑ์

เกร็ด: ต้นฉบับนวนิยาย สิ่งที่ Lila & Sam ค้นพบหลักฐานการเข้าพักของ Marion คือต่างหูร่วงหล่นในห้องน้ำ แต่มันคงเป็นภาพรุนแรงเกินไป เลยเปลี่ยนมาใช้เศษกระดาษฉีกใส่โถชักโครกแล้วกดไม่ลง … ยุคสมัยนั้นไม่รู้ชาวอเมริกันพบเห็นสิ่งไหนแล้วเกิดความตื่นตระหนกยิ่งกว่ากัน

ซีเควนซ์ที่มีความเลื่องชื่อลือกัญชา หนึ่งในฉากโด่งดังที่สุด รู้จักมากที่สุดแห่งวงการณ์ภาพยนตร์ก็คือ “Shower Scene” ถ่ายทำระหว่าง 17-23 ธันวาคม ค.ศ. 1959 ตามคำกล่าวอ้างของผกก. Hitchcock มีการตั้งกล้องทั้งหมด 70 มุมกล้อง (อีกบทสัมภาษณ์บอก 78 มุมกล้อง) ในระยะเวลา 45 วินาที แต่เพราะมันมีบางช็อตที่โดนตัดออก หลงเหลือพบเห็นในหนังทั้งหมด 78 Shots & 52 Cuts (มีการตัดต่อ 78 ครั้งจาก 52 มุมกล้อง) … หลายคนอาจพยายามลองนับแล้วไม่ตรง นั่นเพราะฉบับฉายต่างประเทศมีการตัดบางช็อตทิ้งไป ต้องหาต้นฉบับดั้งเดิม Uncut ความยาว 109.04 นาที ใครว่างก็ลองนับดูเองนะครับ

It took us seven days to shoot that scene, and there were seventy camera setups for forty-five seconds of footage. We had a torso specially made up for that scene, with the blood that was supposed to spurt away from the knife, but I didn’t use it. I used a live girl instead, a naked model who stood in for Janet Leigh. We only showed Miss Leigh’s hands, shoulders, and head. All the rest was the stand-in. Naturally, the knife never touched the body; it was all done in the montage. I shot some of it in slow motion so as to cover the breasts. The slow shots were not accelerated later on because they were in­ serted in the montage so as to give an impres­sion of normal speed.

Alfred Hitchcock ให้สัมภาษณ์กับ François Truffaut

เกร็ด: มีสารคดีชื่อ 78/52: Hitchcock’s Shower Scene (2017) กำกับโดย Alexandre O. Philippe พร้อมคำโปรย “78 Shots & 52 Cuts That Changed Cinema Forever” ใครสนใจลองไปหารับชมเอาเองนะครับ

ผมขอไม่ลงรายละเอียดอะไรมากมาย มันเป็นเรื่องของนักเรียนภาพยนตร์ที่ต้องทำการบ้านส่งอาจารย์ เอาแค่ว่าคือลีลาการตัดต่อ ‘Montage’ ใช้ความเร็ว ล่อหลอกด้วยมุมกล้อง ทำให้มองแทบไม่ทัน (พร้อมเพลงประกอบที่มีเสียงแหลมสูง เหมือนคนกำลังกรีดกราย) เพื่อสร้างความกลัว อกสั่นขวัญแขวน สันชาติญาณจะครุ่นคิดว่าเกิดการใช้มีดทิ่มแทง (แต่มีแค่มีดสัมผัสเนื้อหนัง ไม่พบเห็นขณะทิ่มแทงแล้วเลือดไหลหลั่ง)

หนึ่งในความน่าสนใจของซีนนี้ก็คือวินาทีฆาตกรเปิดม่านห้องน้ำ สังเกตว่าเงามืดอาบฉาบใบหน้า ดูจากทรงผม เครื่องแต่งกาย และรายละเอียดแวดล้อมรอบข้าง ผู้ชมส่วนใหญ่(ที่เพิ่งดูหนังครั้งแรก)จักคาดเดาว่าคนร้ายคือมารดาของ Norman Bates แต่นี่คือการ ‘mis-direction’ ล่อหลอกให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อว่าเมื่อถึงไคลน์แม็กซ์จะเกิดอาการตกตะลึง จุดหักมุมที่คาดไม่ถึงอีกละลอก

ช่วงเวลาโปรโมทสินค้า! ผมลองค้นหาเล่นๆเพราะในเกร็ดหนังเขียนว่าเลือดปลอมที่ใช้คือน้ำเชื่อมช็อคโกแลตยี่ห้อ Bosco Chocolate Syrup ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1928 (ไม่มีระบุชื่อคนประดิษฐ์) ก่อนถูกซื้อสูตรโดยบริษัทของ William S. Scull เมื่อปี ค.ศ. 1931 โดยผลิตภัณฑ์ชื่อดังของบริษัทนี้คือ Boscul Coffee ก็เลยใช้ชื่อ Boscul Chocolate

เกร็ด: Boscul เป็นคำภาษากรีก βόσκω (bóskō) แปลว่า I nourish

แซว: มีภาพยนตร์แค่สองเรื่องที่เอาน้ำเชื่อมช็อกโกแลต Bosco มาใช้แทนเลือดปลอม Psycho (1960) และ Night of the Living Dead (1968) เพราะเป็นหนังขาว-ดำ มันเลยแยกแยะสีไม่ออก

ภาพสุดท้ายของ Shower Scene มีความยุ่งยากในการถ่ายทำไม่น้อย นั่นเพราะต้องเปิดฝักบัวให้น้ำไหล ทำให้กระเด็นกระดอนเข้าตาของ Janet Leigh มันจึงไม่ง่ายที่จะเบิกตาโพลงตลอดเวลา อีกทั้งกล้องยังต้องค่อยๆเคลื่อนหมุน พร้อมๆปรับโฟกัสระหว่างถอยห่าง ผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็ต้องถ่ายทำซ้ำใหม่อยู่หลายเทค น่าจะเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ

ผมตึความว่าเป็นการใช้น้ำไหลลงสะดือ/ท่อน้ำทิ้ง เปรียบเทียบกับวิญญาณหญิงสาวล่องลอยออกจากร่าง ชำระล้างสิ่งสกปรกจากจิตวิญญาณ หรือจะมองว่าเป็นความตายที่ไร้ค่า สูญเสียเปล่า กำจัดสิ่งปฏิกูลท่อ จมลงในโคลนตม

เกร็ด: หลังหนังออกฉาย ผกก. Hitchcock ได้รับจดหมายจากบิดาคนหนึ่งเขียนถึงด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด เพราะบุตรสาวตั้งแต่รับชม Les Diaboliques (1955) ปฏิเสธอาบน้ำในอ่าง, แล้วพอมา Psycho (1960) ก็ไม่กล้าใช้ฝักบัว! เขียนตอบกลับในจดหมาย “Send her to the dry cleaners.”

กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลจากใบหน้า Marion มาถึงยังหนังสือพิมพ์ที่ซุกซ่อนเงิน $40,000 – $700 = $39,000 เหรียญ (เหมือนยังไม่ได้จ่ายค่าห้องพัก) ก่อนเลื่อนต่อไปยังหน้าต่าง พบเห็น Bates Mansion ปกคลุมด้วยความมืดมิด ดูราวกับบ้านผีสิง ที่อยู่อาศัยของมารดา/ฆาตกรป่วยจิต

Norman รีบวิ่งลงมายังห้องพักของ Marion พอพบเห็นเธอเสียชีวิตในอ่างอาบน้ำ เกิดอาการตกตะลึง กระแทกรูปนกตัวหนึ่งตกลงบนพื้น (สัญลักษณ์ความตายของหญิงสาว) จากนั้นจึงเก็บกวาด ทำความสะอาด กำจัดหลักฐาน ราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น

ความตลกร้ายของผกก. Hitchcock หลังรถและศพของ Marion จมลงในหนองบึง ตัดมายังร้านวัสดุก่อสร้างของที่ Sam Loomis ทำงานอยู่ ได้ยินเสียงพร่ำบ่นของหญิงสูงวัย ยาฆ่าแมลงมันสามารถฆ่าแมลงโดยที่พวกมันไม่ทุกข์ทรมานใช่ไหม?

การมาถึงของนักสืบเอกชน Milton Arbogast เริ่มต้นยืนแอบมองอยู่นอกร้าน (ระหว่างที่ Lila สอบถามการสูญหายไปตัวของพี่สาวจาก Sam) จากนั้นเปิดประตูเข้ามา ใบหน้าล้นจอภาพ แถมยังเหมือนจับจ้องมองตาผู้ชม “Breaking the Fourth Wall” นี่เป็นการสร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน บ่งบอกอุปนิสัย/ตัวตนของชายคนนี้ มีความสอดรู้สอดเห็น เสือกเรื่องชาวบ้าน ไม่แยแสอะไรใครเท่านั้น

หลังจากนักสืบเอกชน Arbogast ออกติดตามหา Marion ไปทั่วทุกหนแห่ง ก็เดินทางมาถึง Bates Motel พูดคุยกับเจ้าของ Norman ช่วงแรกๆถ่ายภาพระยะกลาง (Meduim Shot) พูดคุยสอบถามทั่วๆไป แต่ตั้งแต่ตรวจสอบค้นพบลายมือชื่อปลอมของ Marion นับแต่นั้นการโต้ตอบสนทนาจะเปลี่ยนเป็นระยะภาพประชิดใกล้ (Close-Up) ผู้ชมสามารถสังเกตเห็นอากัปกิริยา ท่าทาง ความผิดปกติของ Norman ตอบผิดตอบถูก ลุกลี้ร้อนรน เต็มไปด้วยความวอกแวก กระวนกระวาย จนสร้างความเคลือบแคลงสงสัย มันต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้

ต้นฉบับนวนิยาย Arbogast ถูกฆาตกรรมในห้องโถงด้วยมีดโกนหนวด แต่ทว่าผกก. Hitchcock มองว่ามันขาดลูกเล่น สิ่งสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ เลยเปลี่ยนมาเป็นผลักตกบันได แต่ทว่าวันถ่ายทำไข้ขึ้นสูง ไม่สบาย ผู้ช่วยผู้กำกับ Hilton A. Green จึงขอถ่ายทำซีเควนซ์นี้แทน (จากภาพวาด Storyboard ของ Saul Bass) แต่ผลลัพท์ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ เลยจำต้องเริ่มต้นใหม่หมด

When I looked at the rushes of the scene, I found it was no good, and that was an interesting revelation for me, be­cause as that sequence was cut, it wasn’t an in­nocent person but a sinister man who was going up those stairs. 

Alfred Hitchcock

วิธีการที่ผกก. Hitchcock ถ่ายทำฉากตกบันได คือสร้างรางเลื่อนตามแนวบันได ติดตั้งลูกรอกสำหรับดึงดอลลี่ เอาเก้าอี้วางไว้หน้ากล้อง แล้วให้นักแสดงนั่งทำท่าเหมือนกำลังพลัดตกหล่น พร้อมๆกับกล้องเคลื่อนไหลลงเบื้องล่าง … เห็นว่าใช้เวลาก่อสร้าง ทดสอบการทำงานนานนับสัปดาห์ จึงสามารถถ่ายทำเพียงไม่กี่นาที

A camera track constructed on pulleys alongside the stairway together with a chair-like device had to be constructed and thoroughly tested over a period of weeks

แม้ซีเควนซ์นี้อาจไม่ได้น่าจดจำเทียบเท่า Shower Scene แต่ถือว่ามีความยุ่งยาก ท้าทาย วุ่นๆวายๆอันดับสองของหนัง ให้สมกับเหตุการณ์ฆาตกรรมครั้งที่สอง นักสืบเอกชนเกือบค้นพบเห็นใครคือฆาตกร แต่ถูกทิ่มแทง ผลักตกบันได ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เชื่อมั่นในตนเองสูงเกินไป เลยตกลงมาตายหยังเขียด

ผมอ่านเจอว่าเหตุผลที่ผกก. Hitchcock เลือกถ่ายภาพจากเบื้องบนเพดาน (God’s Eye View) เพราะมุมกล้องอื่นอาจพบเห็นใบหน้าฆาตกรชัดเจนเกินไป (มันไม่เหมือนตอน Shower Scene ที่สามารถละเล่นกับความมืดปกคลุมใบหน้า) มุมกล้องนี้มองแทบไม่เห็นอะไร แต่ช่วยตอกย้ำความเข้าใจผู้ชมจากเสื้อผ้าหน้าผม

เกร็ด: ผกก. Hitchcock เคยล่อหลอกกับสื่อมวลชนว่าได้คัดเลือก Dame Judith Anderson ที่เคยรับบท Mrs. Danvers จากภาพยนตร์ Rebecca (1940) มารับบทมารดา Mrs. Bates แต่จริงๆแล้วมีแค่ Virginia Gregg คือคนให้เสียงตัวละคร

“No! I will not hide in fruit cellar.” คำพูดประโยคนี้ของ Mrs. Bates มีความสองแง่สองง่ามอยู่เล็กๆ แทนที่จะใช้คำว่า Basement ที่แปลว่าห้องใต้ดิน คำว่า Fruit คือศัพท์แสลงของสติไม่ค่อยดี (Nutty หรือ Unbalanced Personalities) ซึ่งยังสามารถสื่อถึงการเก็บรักษา (preserved) สตัฟฟ์บางสิ่งอย่างให้อยู่เหนือกาลเวลา

เมื่อตอนที่ Lila ตัดสินใจบุกเข้าไปใน Bates Mansion เต็มไปด้วยลีลาตัดต่อสลับไปมาระหว่างภาพพบเห็น (Action Shot) และปฏิกิริยา/ใบหน้าหญิงสาว (Reaction Shot) เวียนวนไปวนมาตลอดทั้งซีเควนซ์

  • เริ่มต้นกว่าจะเดินเข้าไปเปิดประตูบ้านได้ มีการตัดสลับไปสลับมาบ่อยครั้ง จนเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต
  • พอเข้ามาในบ้าน ออกสำรวจตามห้อมต่างๆ พบเห็นโน่นนี่นั่น สายตาเต็มไปด้วยอยากรู้อยากเห็น
  • จนกระทั่งมาถึงห้องใต้ดิน พบเจอใครบางคนนั่งอยู่ เข้าไปเอื้อมแตะบ่า หมุนตัวเข้าหา เกิดอาการตกอกตกใจ ส่งเสียงกรีดร้องลั่น ขว้างมือกระทบหลอดไฟ แสงสว่างส่ายไปส่ายมา สภาพจิตใจตัวละคร/ผู้ชมก็เฉกเช่นเดียวกัน

มีรายละเอียดหนึ่งที่ผมอยากให้สังเกต ขณะที่ Sam เข้ามายื้อแย่งอาวุธมีด พอวิกผมและเสื้อคลุม(ของมารดา)ถูกกระชากหลุดออก วินาทีนั่น Norman ดูหมดเรี่ยวแรง ไม่สามารถต่อต้านขัดขืน ราวกับความพ่ายแพ้ จุดจบ ความตายของบุคลิกภาพตนเอง เพราะไม่สามารถปกปิดบังความลับอีกต่อไป เป็นเหตุให้กำลังจะสูญเสียทุกสิ่งอย่าง

ปล. มาถึงจุดนี้ผู้ชมก็น่าจะสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมารดา = สัตว์สตัฟฟ์ (Taxidermy) ได้แล้วกระมัง

มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ซีเควนซ์คำอธิบายอาการป่วยของ Norman Bates มีความจำเป็นหรือไม่? ผมว่ายุคสมัยนั้นโคตรๆจำเป็น เพราะจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย นี่ถือเป็นการช่วยสร้างความเข้าใจแก่ผู้ชม รับรู้จักผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มมากขึ้น

If I were bold enough to reedit Hitchcock’s film, I would include only the doctor’s first explanation of Norman’s dual personality: “Norman Bates no longer exists. He only half existed to begin with. And now, the other half has taken over, probably for all time.” Then I would cut out everything else the psychiatrist says, and cut to the shots of Norman wrapped in the blanket while his mother’s voice speaks (“It’s sad when a mother has to speak the words that condemn her own son…”). Those edits, I submit, would have made Psycho very nearly perfect. I have never encountered a single convincing defense of the psychiatric blather; Truffaut tactfully avoids it in his famous interview.

ความคิดเห็นของนักวิจารณ์ Roger Ebert ที่อยากให้ตัดซีเควนซ์นี้ออกบางส่วน

แต่สำหรับผู้ชมสมัยใหม่ จิตวิทยาแทบจะคือส่วนหนึ่งของวิชาการศึกษา คำอธิบายเหล่านี้จึงไม่ค่อยมีความจำเป็น เพราะตัวหนังเองก็แทรกใส่รายละเอียด เบื้องหลัง ที่มาที่ไป เราสามารถขบครุ่นคิด แปะติดปะต่อจิ๊กซอว์เหล่านั้น ทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้ด้วยตนเอง … แต่ระดับความยากในการรับชมอาจเพิ่มขึ้นพอสมควรเลยละ

แซว: ผมเรียกซีเควนซ์นี้ว่า “ขอคำปรึกษาจากมืออาชีพ” มีความทรงอิทธิพลอย่างมากๆต่อบรรดาผู้กำกับรุ่น French New Wave นิยมชมชอบแทรกใส่ฉากที่มีการพูดคุยกับศาสตราจารย์ ผู้มีความรู้ความสามารถ เชื้อเชิญมาอธิบายบางสิ่งอย่าง Vivre sa vie (1962), Two or Three Things I Know About Her (1967) ฯ

ไฮไลท์การแสดงของ Perkins คือภาพสุดท้ายของหนัง กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหา ได้ยินเสียงพูดมารดา ใบหน้ามีการปรับเปลี่ยนอารมณ์ไปมา และวินาทีพบเห็นแมลงวัน ตัดกลับมาใบหน้า จากก้มศีรษะ ค่อยๆเหลือบตามอง พร้อมรอยยิ้มเลศนัย สร้างความขนลุกขนพอง สั่นสยอง หลอกหลอนชิบหาย!

นี่คือจุดเริ่มต้นของ Kubrick Stare จริงๆมันควรเรียก Hitchcock Stare หรือ Perkins Stare หรือ Norman Bates Stare ก็ยังได้ แต่เพราะผกก. Stanley Kubrick นำการก้มหน้าเหลือบตานี้ไปใช้บ่อยครั้ง เลยถูกเหมาเรียก Kubrick Stare ซะงั้น! เมื่อตอนสรรค์สร้าง A Clockwork Orange (1971) อยากจะได้ Perkins รับบทนำก็เพราะวินาทีนี้แหละ!

และวินาทีสุดท้ายระหว่างการ ‘Cross-Cutting’ กู้รถขึ้นจากหนองบึง ใบหน้าของ Norman Bates มีการซ้อนทับโครงกระดูกของมารดา เพื่อจะสื่อถึงตัวเขาขณะนี้ได้ถูกบุคลิกภาพมารดาเข้าควบคุมครอบงำ ไม่หลงเหลือชายหนุ่มที่ชื่อ Norman อีกต่อไป (รถถูกลากขึ้น = ฟื้นตื่นจากขุมนรก/คืนชีพความตาย)

ตัดต่อโดย George Tomasini (1909-64) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Springfield, Massachusetts ทำงานในสังกัด Paramount Picture เริ่มมีชื่อเสียงจาก Stalag 17 (1953), โด่งดังจากการร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Alfred Hitchcock ตั้งแต่ Rear Window (1954) จนถึง Marnie (1964)

เราสามารถแบ่งหนังออกเป็น 3 ตอนใหญ่ๆ (Episode/Chapter) มีเหตุบางอย่างให้ต้องออกเดินทางสู่ Bates Motel และประสบพบเจอเรื่องราว/เหตุการณ์คาดไม่ถึง

  • เรื่องราวของ Marion Crane
    • ความสัมพันธ์ระหว่าง Marion และแฟนหนุ่ม Sam
    • Marion กลับไปทำงานที่บริษัท ได้รับมอบหมายฝากเงิน $40,000 เหรียญ
    • แต่เธอตัดสินใจเดินทางกลับห้องพัก เก็บข้าวของ ขับรถออกเดินทาง
    • ระหว่างทางง่วงหงาวหาวนอน เลยแวะพักผ่อนข้างตา เช้าขึ้นมาถูกตำรวจเข้ามาปลุก
    • Marion ตัดสินใจขายรถเพื่อซื้อคันใหม่
    • ระหว่างทางฝนตกหนัก แวะเข้าพัก Bates Motel ได้รับการต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดีจากเจ้าของ Norman Bates
    • Norman นำอาหารมื้อเย็นมาแบ่งปัน ชวนคุยเรื่อยเปื่อย
    • และระหว่างกลับห้อง กำลังอาบน้ำ เกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึง
  • นักสืบเอกชน (Private Investigator) Milton Arbogast
    • สัปดาห์ถัดมา Lila เดินทางมาหา Sam เพื่อสอบถามการสูญหายตัวไปของพี่สาว Marion ก่อนได้รับการแถลงไขโดยนักสืบเอกชน Arbogast
    • นักสืบเอกชน Arbogast แวะเวียนไปยังสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งมาถึง Bates Motel
    • พูดคุยกับเจ้าของ สังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่าง
    • โทรศัพท์แจ้งข่าวคราวกับ Lila และ Sam ก่อนหวนกลับไปโรงแรมแห่งนั้นอีกครั้ง
    • แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงกับ Arbogast
  • Lila Crane และ Sam Loomis
    • Lila และ Sam เฝ้ารอคอยการมาถึง Arbogast แต่อีกฝ่ายกลับผิดนัด แถมสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ
    • Lila และ Sam เดินทางไปขอความช่วยเหลือจากรองนายอำเภอ Al Chambers แต่ก็ไม่เป็นผลใดๆ
    • Lila และ Sam จึงตัดสินใจเดินทางสู่ Bates Motel ติดต่อขอเข้าพัก
    • Sam เข้าไปพูดคุยกับ Norman ขณะที่ Lila แอบเข้าไปในบ้านพัก
    • Lila พบเจอบางสิ่งอย่าง ทำให้ตัวตนแท้จริงของ Norman ถูกเปิดโปงออกมา
    • ณ โรงพัก จิตแพทย์ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับอาการป่วยจิต โรคหลายบุคลิกภาพ

การแบ่งเรื่องราวออกเป็นสามตอนนี้ คงทำให้หลายๆคนทำความเข้าใจหนังได้มากขึ้น แต่สำหรับคนเพิ่งรับชมครั้งแรกมันจะไม่มีคำบอกใบ้เหล่านี้ ไม่มีอะไรคั่นแบ่ง ผู้ชมย่อมถูกล่อหลอก ‘mis-direction’ หลงครุ่นคิดว่า Marion คือตัวละครหลัก จึงไม่น่าจะมีเหตุการณ์เลวร้ายใดๆบังเกิดขึ้น แล้วจู่ๆความคาดหวัง/เชื่อมั่นดังกล่าวได้ถูกพังทลาย หัวใจสลาย ใครกันจักสามารถคาดคิดถึง!

เกร็ด: เรื่องราวของ Marion (หรือ Mary Crane) ในนวนิยายปรากฎตัวแค่ 2 บท จากทั้งหมด 17 บท แต่ภาพยนตร์ขยับขยายเนื้อหาจนมีปริมาณเกือบครึ่ง หนึ่งในสาม จุดประสงค์เพื่อสร้าง “Shock Value” ที่ไม่มีใครคาดคิดถึง

เรื่องราวทั้งสามตอนมีความสอดคล้องแนวคิดโครงสร้างสามองก์ (Three Act Structure) ปูพื้น (Setup) เผชิญหน้า (Confrontation) แก้ปัญหา (Resolution) แต่แทนที่จะนำเสนอผ่านมุมมองตัวละครหนึ่งใด กลับมีทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม ใช้การเล่าเรื่องจากตัวละครชุดใหม่เดินทางมายัง Bates Motel … กล่าวถึงถ้าเป็นโครงสร้างสามองก์แบบทั่วๆไป มันควรจะดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Norman Bates (ในนวนิยายก็เหมือนจะนำเสนอรูปแบบนี้) องก์แรกเริ่มจากการมาถึงของ Marion, องก์สองเผชิญหน้านักสืบเอกชน Arbogast และองก์สามถูกเปิดโปงเบื้องหลังความจริงโดย Lila & Sam

ในบรรดาผลงานของผกก. Hitchcock เรื่องที่มีลีลาการตัดต่อหลากหลายที่สุดน่าจะคือ Psycho (1960) ไม่ใช่แค่ Shower Scene อันเลื่องชื่อ แต่ผมยังชื่นชอบพวก Reverse Shot การสนทนาระหว่าง Arbogast กับ Norman หรือช่วงท้ายที่ Lila บุกค้น Bates Mansion ใช้ทิศทาง ระยะห่าง ความเร็ว ช่วยสร้างสัมผัสทางอารมณ์(ระหว่างการตัดต่อ)ที่แตกต่างกันไป

Montage, you can call it that. But there are many kinds of montage. For example, there was a lot of it, more of it in Psycho than many pictures I’ve ever made. Psycho is probably one of the most cinematic pictures I’ve ever made. Because there you had montage in the bathtub killing where the whole thing is purely an illusion. No knife ever touched any woman’s body in that scene. Ever. But the rapidity of the shots, it took a week to shoot. The little pieces of film were probably not more than four or five inches long. They were on the screen for a fraction of a second.

Alfred Hitchcock

เพลงประกอบโดย Bernard Herrmann ชื่อเกิด Maximillian Herman (1911-75) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ในครอบครัว Russian Jewish บิดาผลักดันบุตรชายให้ร่ำเรียนไวโอลินตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 13 แต่งเพลงชนะรางวัล จึงมุ่งมั่นเอาจริงจังด้านนี้ โตขึ้นเข้าศึกษา New York University ต่อด้วย Juilliard School จบออกมาก่อตั้งวง New Chamber Orchestra of New York, ก่อนเข้าร่วม Columbia Broadcasting System (CBS) กลายเป็นวาทยากร CBS Symphony Orchestra ระหว่างนั้นมีโอกาสร่วมงาน Orson Welles ทำเพลงประกอบรายการวิทยุ, Radio Drama, ภาพยนตร์เรื่องแรก Citizen Kane (1941), The Devil and Daniel Webster (1941)**คว้ารางวัล Oscar: Best Music, Scoring of a Dramatic Picture, The Magnificent Ambersons (1942), Jane Eyre (1943), Anna and the King of Siam (1946), The Day the Earth Stood Still (1951), Cape Fear (1962), Taxi Driver (1976) ฯ

Herrmann ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Alfred Hitchcock ทั้งหมด 7 ครั้ง ประกอบด้วย The Trouble with Harry (1955), The Man Who Knew Too Much (1956), The Wrong Man (1956), Vertigo (1958), North by Northwest (1959), Psycho (1960) และ Marnie (1964)

perhaps Herrmann’s most spectacular Hitchcock achievement.

Christopher Palmer จากหนังสือ The Composer in Hollywood (1990)

แม้ใครต่อใครในโปรเจคนี้ต่างยินยอมลดค่าตัว แต่ไม่ใช่สำหรับ Herrmann เพราะต้องแบ่งจ่ายให้กับนักดนตรี ถึงอย่างนั้นงบประมาณที่ได้รับก็ยังไม่เพียงพอว่าจ้างออร์เคสตราเต็มวง (ทีแรกผกก. Hitchcock เรียกร้องอยากได้สไตล์เพลง Jazz) เลยปรับเปลี่ยนมาแต่งเพลงสำหรับวงเครื่องสาย (String Orchestra) ทำให้ประหยัดเงิน และโทนเสียงเดียว(ของเครื่องสาย)น่าจะเข้ากับบรรยากาศหนังขาว-ดำ (มีนักวิจารณ์เรียกว่า Black and White music)

ตามสไตล์ของ Herrmann งานเพลงมักเต็มไปด้วยท่วงทำนองที่มีลักษณะเวียนวงกลม บรรเลงตัวโน๊ตชุดเดิมแบบเน้นๆย้ำๆ ซ้ำไปซ้ำซ้ำมา ‘Obsession Style’ ซึ่งการมีแต่เสียงเครื่องสาย โทนเสียงเดียว ช่วยสร้างสัมผัสตึงเครียด กดดัน อัดอั้น ราวกับลมพายุถาโถมเข้าใส่ … การสร้างข้อจำกัดให้กับตนเอง (ด้วยการเลือกใช้เพียงวงเครื่องสาย) โดยไม่รู้ตัวทำให้งานเพลงเต็มไปด้วยลูกเล่นที่หลากหลาย ท้าทายขีดจำกัดของเครื่องดนตรี

String instruments gave Herrmann access to a wider range in tone, dynamics, and instrumental special effects than any other single instrumental group would have.

Fred Steiner นักแต่งเพลง/ทฤษฎีดนตรี

หลังจากท่วงทำนองที่ดูเร่งรีบ กดดัน สัมผัสถึงความรุนแรงของ Title Sequence บทเพลงถัดจากนั้นกลับเงียบๆเหงาๆ เพียงบรรเลงคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ ไร้ความตื่นเต้น รุกเร้าใจอยู่สักพักใหญ่ๆ แต่ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ชมจะเกิดอาการพะว้าพะวัง เต็มไปด้วยความคาดหวัง เฝ้ารอคอยเหตุการณ์น่าตื่นเต้น อกสั่นขวัญหาย เมื่อไหร่จักมาถึงเสียที

พอเริ่มมีเหตุการณ์น่าตื่นเต้น ลุ้นระทึกขวัญ (แต่ยังไม่มีเหตุการณ์เลวร้าย อันตรายใดๆบังเกิดขึ้น) ท่วงทำนอง Prologue จึงหวนกลับมาดังขึ้นอีกหลายครั้งครา อาทิ Marion กำลังขับรถออกเดินทาง (Flight) เผชิญหน้าสายตรวจ (Patrol Car) หรือขณะฝนตกหนัก (The Rainstorm)

และเมื่อวินาทีนั้นมาถึง The Murder ในฉาก Shower Scene ทำการบรรเลงโน๊ตเสียงสูง ซึ่งมีความแหลมคม ราวกับเสียงกรีดร้อง กรีดกราย ดิ้นทุรนทุราย ดังขึ้นท่อนสั้นๆ เน้นๆย้ำๆ ไล่เรียงทั้งหมด 8 ตัวโน๊ต ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 Movement

  1. ก่อนการฆาตกรรม เสียงโน๊ตตัวเดิมดังขึ้นซ้ำๆ ย้ำๆ สร้างสัมผัสถึงสิ่งชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา
    • การใช้โน๊ตตัวเดิมบรรเลงซ้ำๆ ย้ำๆ คือแรงบันดาลใจ John William แต่งสองตัวโน๊ต Jaws (1975)
  2. ระหว่างฆาตกรรม เริ่มต้นเมื่อมีเสียงโน๊ตตัวอื่นดังแทรกเข้ามา เหมือนพยายามทำให้สอดคล้องจังหวะทิ่มแทง (มากกว่าเข้ากับจังหวะตัดต่อ)
  3. หลังการฆาตกรรมเสร็จสิ้น เปลี่ยนมาบรรเลงเชลโลและดับเบิลเบส เครื่องสายขนาดใหญ่แต่มีเสียงทุ่มต่ำ ค่อยๆเบาลง ลมหายใจเฮือกสุดท้าย

เกร็ด: ดั้งเดิมนั้นผกก. Hitchcock ไม่ต้องการใช้บทเพลงใดๆประกอบฉาก Shower Scene แต่หลังจาก Herrmann เล่นท่อนนี้ให้ฟัง จึงยินยอมตอบตกลง และโดยไม่รู้ตัว The Murder น่าจะคือบทเพลงประกอบภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุด และถูกลอกเลียนแบบมากครั้งที่สุด “probably the most famous (and most imitated) cue in film music”

อีกบทเพลงที่อาจไม่ได้มีชื่อเสียงนัก แต่เหมาะเข้ากับไคลน์แม็กซ์ของหนังอย่างมากๆ คือระหว่างการเปิดเผยเบื้องหลัง ตัวตนแท้จริงของ Norman Bates ชื่อว่า Discovery ทำการโหมบรรเลงเครื่องสายน่าจะครบทุกเครื่องดนตรี ราวกับพายุคลุ้มคลั่ง มรสุมซัดพา ทำลายล้างทุกสรรพสิ่งอย่าง

เกร็ด: ด้วยความประทับใจงานเพลงของ Herrmann อย่างล้นหลาม ผกก. Hitchcock ยินยอมจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นเท่าตัว $34,501 เหรียญ และเคยกล่าวชื่นชม “33% of the effect of Psycho was due to the music.”

สำหรับคนไม่ครุ่นคิดอะไรมาก Psycho (1960) นำเสนอเรื่องราวของฆาตกรโรคจิต (Psychopath) หน้าตาธรรมดาๆ ดูไร้พิษภัย เหมือนเด็กข้างบ้าน (Boy Next Door) แต่กลับมีความโฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย ลงมือเข่นฆาตกรรมหญิงสาว Marion และนักสืบเอกชน Arbogast อย่างเลือดเย็น!

จากนั้นหนังให้คำอธิบายอาการป่วยจิตของ Norman Bates มีคำเรียก Dissociative Identity Disorder (DID) หรือที่คนส่วนใหญ่รับรู้จักในชื่อโรคหลายบุคลิก (Multiple Personality Disorder, BPD) ตั้งแต่เด็กเคยถูกมารดากระทำร้ายทั้งร่างกาย-จิตใจ (Abuse) ปลูกฝังว่าการมีอารมณ์ทางเพศ รวมถึงเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งชั่วร้าย แต่ทว่าหลังบิดาเสียชีวิตเธอกลับระริกระรี้แต่งงานใหม่ ทำให้บุตรชายรู้สึกขัดแย้งภายใน ลงมือฆาตกรรมทั้งสอง แล้วสร้างบุคลิกภาพมารดา ทำราวกับว่าเธอยังมีชีวิต เมื่อไหร่อารมณ์ทางเพศพลุกพล่าน จะเกิดการสลับเปลี่ยนบุคลิกภาพ ลงมือฆาตกรรมอย่างเลือดเย็น

แม้การกระทำของ Norman จะดูโฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย สมควรต้องลงโทษประหารให้ตกตาย แต่ถ้าเราทำความเข้าใจอาการป่วย Oedipus Complex ตระหนักถึงแรงผลักดันที่ทำให้เขาไม่สามารถควบคุมตนเอง ยิ่งช่วงท้ายพ่ายแพ้ให้กับบุคลิกภาพมารดา ก็อาจเกิดความสงสารเห็นใจขึ้นมาเล็กๆ … นั่นน่าจะคือสิ่งที่ผกก. Hitchcock อยากเสี้ยมสอนให้ผู้ชมเรียนรู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ไม่ใช่เหมารวมฆาตกรทุกคนจะโฉดชั่วร้าย ต้องกำจัดให้พ้นภัยสังคม

ผู้ชมส่วนใหญ่อาจมัวแต่สนใจตัวละคร Norman แต่สามเรื่องราวของหนังล้วนแฝงสาระข้อคิดที่น่าสนใจ

  • Marion Crane ด้วยความรักคลั่งแฟนหนุ่ม Sam Loomis จึงตัดสินใจลักขโมยเงิน $40,000 เหรียญ เพื่อให้เขาใช้หนี้ภรรยาเก่า แล้วเราจักได้แต่งงานกัน แต่นั่นคือการกระทำที่เห็นแก่ตัว เลวร้าย ผิดกฎหมาย ระหว่างการเดินทางหลบหนีจึงเต็มไปด้วยความหวาดระแวง วิตกจริต กลัวถูกจับได้ พอมาถึง Bates Motel ถึงสามารถสงบสติอารมณ์ ทบทวนตนเอง ตระหนักถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ตั้งใจจะหวนกลับไปเผชิญหน้ารับผิด แต่ค่ำคืนนั้นเธอกลับถูกตัดสินโชคชะตาชีวิต
    • เงินร้อน $40,000 เหรียญ มันอาจมีมูลค่าที่สามารถเปลี่ยนชีวิตคน แต่เมื่อเทียบกับความเป็นความตาย มันจึงหมดสูญสิ้นความหมาย
  • นักสืบเอกชน Milton Arbogast แม้จะด้วยอาชีพการงาน แต่พฤติการณ์ของเขาเต็มไปด้วยความสอดรู้สอดเห็น เสือกเรื่องชาวบ้าน อีกทั้งยังมีความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตนเอง เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่าฉันสามารถขบไขปริศนา ทำทุกสิ่งอย่างได้ด้วยตนเอง ผลลัพท์เลยถูกฆ่าปิดปากอย่างเลือดเย็น
    • ตรงกันข้ามกับ Marion แรงผลักดันของ Arbogast ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คืออาชีพการงาน ชื่อเสียง ความสำเร็จ ทำให้กลายเป็นคนเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตนเอง จนสูญเสียความรอบคอบ ระแวดระวัง เลยพลั้งพลาดถูกผลักตกบันได
  • Lila Crane และ Sam Loomis ต่างมีความเป็นห่วงเป็นใจ Marion จึงพยายามทำทุกวิถีทาง พูดคุยกับรองนายอำเภอ แต่เมื่อไม่มีใครช่วยได้ พวกเขาจึงตัดสินใจเสี่ยงอันตราย เผชิญหน้าความตาย เข้าพักอาศัย Bates Motel เพื่อขุดคุ้ยค้นหาความจริงด้วยตนเอง
    • ผมมองตัวละครทั้งสองมีความสัมพันธ์กาย-ใจกับ Marion กล่าวคือ Lila เป็นน้องสาว (ความสัมพันธ์ทางกาย) Sam คือชายคนรัก (ความสัมพันธ์ทางใจ) พวกเขาต้องเตรียมตัว-เตรียมใจ เพื่อเผชิญหน้าความจริง

Psycho (1960) เป็นภาพยนตร์ที่สามารถนำไปต่อยอด ครุ่นคิดวิเคราะห์ได้ร้อยแปดพันอย่าง หนึ่งในการตีความที่ผมชื่นชอบมากสุดคือปมจากอดีต สิ่งชั่วร้ายเคยกระทำ เสี้ยมสอนให้ทบทวนตนเอง ยินยอมรับความผิดพลาด เรียนรู้จักการเผชิญหน้า (Confrontation) นั่นคือวิธีแก้ปัญหา (Resolution) … สอดคล้องเข้ากับแนวคิดโครงสร้างสามองก์ (Three Act Structure)

  • การกระทำของ Marion ลักขโมยเงินหลบหนี แล้วสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ คือการเปิดเรื่อง ปูพื้น สร้างปมปัญหา (Setup) และพอเธอตระหนักถึงสิ่งชั่วร้ายเคยกระทำ ต้องการหวนกลับไปเผชิญหน้าความจริง ยินยอมรับความผิดพลาด แต่กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
  • นักสืบเอกชน Arbogast เกิดการเผชิญหน้าที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหา (Confrontation) แต่ปูทางให้ Lila & Sam ค้นพบเบื้องหลังความจริง
  • และ Lila & Sam ทั้งสองเตรียมพร้อมทั้งกาย-ใจ จึงสามารถเผชิญหน้า แก้ปัญหา (Resolution) ค้นพบความจริง ทั้งยังสามารถเอารอดกลับมาได้สำเร็จ

ตรงกันข้ามกับ Norman Bates คือบทเรียนอันสุดโต่งของคนไม่ยินยอมรับความจริง! ในอดีตพอถูกมารดาทรยศหักหลัง (ด้วยการแต่งงานใหม่) จึงลงมือเข่นฆาตกรรม จากนั้นสร้างบุคลิกภาพมารดาขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ปฏิเสธการเผชิญหน้า หลบหนีปัญหา จนเมื่อถูกจับกุม เปิดโปงเบื้องหลังความจริง ยังทำการหลบซ่อนตัวเอง สูญหายไปในจิตใต้สำนึก … หรือจะมองว่าคือความตายของบุคลิกภาพ Norman


The content was, I felt, rather amusing and it was a big joke. I was horrified to find some people took it seriously.

Psycho was intended to make people scream and yell and so forth. But no more than screaming and yelling on a switchback railway … so you mustn’t go too far because you want them to get off the railway giggling with pleasure.

Alfred Hitchcock

ผมพบเจอบทสัมภาษณ์หนึ่งที่ผกก. Hitchcock เล่าให้ฟังถึงเมื่อครั้นยังเป็นเด็ก อยู่ในอ้อมอกมารดา แล้วจู่ๆถูกเธอกลั่นแกล้งส่งเสียง “Boo!” วินาทีนั้นเกิดอาการหวาดกลัว “scared the s*** out of me” และเมื่อตอน 4-5 ขวบจดจำไม่ได้ว่าเคยกระทำความผิดอะไร แต่บิดาขอให้ตำรวจพาไปนอนในห้องขังหนึ่งคืน ประสบการณ์เช่นนี้ใครกันจะสามารถหลงลืม

นั่นคงคือจุดเริ่มต้นนิสัยขี้แกล้ง ชอบปั่นหัวคนอื่น (แล้วตีหน้าเซ่อ ทำตัวเอ๋อเหรอ) เฉกเช่นเดียวกับการสรรค์สร้างภาพยนตร์ อยากให้ผู้ชมได้ประสบการณ์ ตกอกตกใจ ใจหายใจคว่ำ คาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้น ดูจบก็ไม่ต้องครุ่นคิดอะไรบาง แค่เรื่องตลกขบขันเท่านั้น

ความสัมพันธ์กับมารดาของผกก. Hitchcock ก็เฉกเช่นกัน! ตั้งแต่เด็กชอบปลูกฝังความคิดโน่นนี่นั่น พอเติบใหญ่ก็ยังทำตนเองให้มีอิทธิพล จนกระทั่งเธอจากไปเมื่อปี ค.ศ. 1942 ทำให้เขาเกิดความหาญกล้า เริ่มแทรกใส่ตัวละครมารดาจอมบงการตั้งแต่ Notorious (1946), North by Northwest (1959), The Birds (1963), Marnie (1964), โดยเฉพาะ Psycho (1960) แฝงนัยยะลึกล้ำที่สุด แม้ตัวตาย แต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณ … แม้ตัวละครมารดาในหนังของผกก. Hitchcock มักมีความโฉดชั่วร้าย พยายามควบคุมครอบงำบุตรชาย แต่ถ้าเรามองในทิศทางกลับตารปัตร ถือเป็นการแสดงความรัก ความคิดถึง ถ้าเกลียดกันคงไม่พบเห็นบ่อยครั้งเพียงนี้

Film your murders like love scenes, and film your love scenes like murders.

ในบรรดา Quote ทั้งหมดของผกก. Hitchcock คำกล่าว “ถ่ายฉากฆาตกรรมให้เหมือนเลิฟซีน” ถือเป็นประโยคที่ผมโปรดปรานที่สุดแล้วละ ไม่ว่าจะความตายของ Marion ที่ต้องถ่ายทำถึงเจ็ดวันเพื่อ 78 ช็อต 52 คัท, หรือนักสืบเอกชน Arbogast ถูกผลักตกบันได ล้วนมีความละเมียด เต็มไปด้วยรายละเอียด แสดงถึงความใส่ใจ ต้องรักกันจริงถึงให้เวลาขนาดนี้!

สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามค้นหา ผกก. Hitchcock สนใจอะไรในนวนิยาย/เรื่องราวของ Psycho พบเจอคำตอบในบทสัมภาษณ์กับ François Truffaut สั้นๆง่ายๆ

I think the murder in the bathtub, coming out of the blue, that was about all.

แซว: มีคำถามหนึ่งในบทสัมภาษณ์ Hitchcock/Truffaut ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนัง แต่มีการพาดพิงถึงประเทศสารขัณฑ์ ผมอ่านแล้วขำๆเลยนำมาให้อ่านกัน

François Truffaut: That reminds me that Psycho is partic­ularly universal because it’s a half-silent movie; there are at least two reels with no dialogue at all. And that also simplified all the problems of subtitling and dubbing.

Alfred Hitchcock: Do you know that in Thailand they use no subtitles or dubbing? They shut off the sound and a man stands somewhere near the screen and interprets all the roles, using differ­ent voices.


สำหรับผกก. Hitchcock ที่เพิ่งพานผ่านจุดสูงสุดในอาชีพการงานอย่าง Vertigo (1958) และ North by Northwest (1959) มันไม่ใช่ว่า Psycho (1960) คือขาลง แต่ผมขอเรียกว่าสูงสุดกลับสู่สามัญ อันเนื่องจากโปรดักชั่นที่ไม่ซับซ้อน นำทีมงานจากรายการโทรทัศน์ Alfred Hitchcock Presents ลดแลกแจกแถมสุดๆด้วยงบประมาณไม่ถึงล้าน [Vertigo งบ $2.5 ล้าน, North by Northwest งบ $4.3 ล้าน] ทุกสิ่งอย่างดูราคาถูก คุณภาพต่ำ ไม่ต่างจากหนังเกรดบี แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

แซว: เป็นผมคงแอบสติแตก เพราะโปรเจคที่โคตรมุ่งมั่น ตั้งใจทำ ใส่ประสบการณ์ ขายวิสัยทัศน์ ทุ่มทุนสร้างอย่าง Vertigo (1958) ปรากฎว่าเจ๊งระเนระนาด แต่ทว่า Psycho (1960) โปรดักชั่นถูกๆ คุณภาพต่ำๆ ตั้งใจทำเรื่องตลกขบขัน กลับทำเงินถล่มทลาย

ความสำเร็จของ Psycho (1960) คือภาพสะท้อนค่านิยมยุคสมัยนั้นได้ด้วยกระมัง การมาถึงของศิลปะประชานิยม (Pop Art) ที่เชื่อว่าศิลปะต้องสร้างความตื่นเต้นอย่างฉับพลันทันใด! เป็นที่นิยม (Popular), ชั่วครู่ (Transient), พอใช้ได้ (Expendable), ราคาถูก (Low Cost), ผลิตจำนวนมาก (Mass Produced), เป้าหมายวัยรุ่น (Young), หลักแหลม (Witty), เซ็กซี่ (Sexy), มีลูกเล่น (Gimmicky), งดงาม (Glamorous) และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (Big Business)

สิ่งน่าตลกขบขันก็คือ Psycho (1960) สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ชมเกิดอาการตกตะลึง อึ้งทึ่ง คาดไม่ถึง เพียงความบันเทิงชั่วครู่ ดูจบแล้วก็จบเลย การหวนกลับมารับชมรอบสอง-สาม มันจะไม่เกิดความประหลาดใจ ‘Shock Value’ ใดๆขึ้นอีก แต่อาจเพราะนี่คือครั้งแรกที่สามารถสร้างกระแสสังคม ผู้คนยังคงติดตราฝังใจ ผลลัพท์จึงทำให้หนังได้รับการกล่าวขวัญเหนือกาลเวลา

อีกสิ่งหนึ่งที่ Psycho (1960) สะท้อนสภาพสังคมสมัยนั้น คือมันผ่านกองเซนเซอร์ Hays Code มาได้ยังไง? ตั้งแต่ที่ท่านประธาน Joseph Breen ลงจากตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ. 1954 ความน่าเชื่อถือองค์กร รวมถึงค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีภาพยนตร์มากมาย (โดยเฉพาะของ Otto Preminger) กล้าเผชิญหน้า ท้าต่อยตี นำออกฉายโดยไม่ผ่านการอนุญาต แต่กลับประสบความสำเร็จทำเงินอย่างล้มหลาม … แง่มุมหนึ่งอาจมองว่าศีลธรรมทางสังคมเสื่อมทรามลง ตรงกันข้ามคืออิสรภาพในการสรรค์สร้างงานผลงาน

ใครที่ติดตามผลงานของผกก. Hitchcock น่าจะรับรู้ว่าเป็นคนประณีประณอม ไม่ชอบแหกกฎ เพียงท้าทายขีดจำกัด เฉกเช่นเดียวกับ Psycho (1960) ทั้งๆเต็มไปด้วยความหมิ่นเหม่ ล่อแหลม ประเด็นต้องห้าม กลับได้รับอนุญาต ผ่านกองเซนเซอร์ … น่าจะถือเป็นจุดตกต่ำที่สุดของ Hays Code แล้วกระมัง!


โดยปกติแล้วภาพยนตร์ยุคสมัยนั้นจะต้องมีรอบฉายปฐมทัศน์ หรือสำหรับนักวิจารณ์เพื่อให้ช่วยโปรโมทหนัง แต่ทว่าผกก. Hitchcock ไม่ต้องการให้ใครมาสปอยเรื่องราวจึงไม่มีจัดฉายรอบพิเศษใดๆ เพียงโหมโปรโมทผ่านสารพัดสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ แล้วพบเจอกันวันเข้าฉายจริง

ผลลัพท์สัปดาห์แรกเข้าฉายเพียง 5 โรงหนัง สามารถทำรายได้สูงถึง $143,000 เหรียญ จากทุนสร้าง $806,947 เหรียญ ไม่นานก็คืนทุน ทำกำไร ปิดการฉายครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา $9.1 ล้านเหรียญ (อันดับสองแห่งปีรองจาก Spartacus (1960)) รวมทั่วโลกกว่า $32 ล้านเหรียญ กลายเป็นภาพยนตร์ประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพการงานของผกก. Hitchcock

แม้เสียงตอบรับหลังการฉายจะค่อนข้างแตกแยก (Mixed) ส่วนใหญ่รับไม่ได้กับความรุนแรง โป๊เปลือย เต็มไปด้วยประเด็นต้องห้าม (Taboo) แต่ก็ยังได้เข้าชิง Oscar จำนวนสี่สาขา ถึงอย่างนั้นกลับถูกมองข้าม (SNUB) มากมายไปหมด ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำชาย (Anthony Perkins) ตัดต่อ เพลงประกอบ ฯ

  • Best Director
  • Best Supporting Actress (Janet Leigh)
  • Best Art Direction – Black & White
  • Best Cinematography – Black & White

เกร็ด: ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Psycho (1960) ทำให้สามารถขายลิขสิทธิ์ฉายโทรทัศน์สูงถึง $15 ล้านเหรียญ แต่แทนที่จะรับเงินสด ขอเปลี่ยนมาเป็นหุ้นของ MCA Inc. (บริษัทแม่ของ Universal) จำนวน 150,000 หุ้น กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสาม หรือก็คือ Hitchcock กลายเป็นเจ้านายตนเอง! ผลงานยุคหลังๆจึงปักหลักอยู่กับ Universal ไม่โยกย้ายไปไหนแล้ว

กาลเวลาทำให้เสียงตอบรับที่เคยย่ำแย่ กลายมาเป็นจักรวาลสรรเสริญแซ่ซ้อง หนึ่งในตำรับภาพยนตร์ที่ทุกสถาบันต้องทำการศึกษา และได้รับการโหวตติดอันดับ “Greatest Film of All-Time” จากหลากหลายสำนัก

  • AFI’s 100 Years…100 Movies (1998) ติดอันดับ #18
  • AFI’s 100 Years…100 Thrills (2001) ติดอันดับ #1
  • AFI’s 100 Years…100 Heroes & Villains (2003)
    • ตัวละคร Norman Bates ติดอันดับ #2 ฟากฝั่งผู้ร้าย (Villain)
  • AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes (2005)
    • “A boy’s best friend is his mother.” ติดอันดับ #56
  • AFI’s 100 Years of Film Scores (2005) ติดอันดับ #4
  • AFI’s 100 Years…100 Movies (10th Anniversary Edition) (2007) ติดอันดับ #14
  • Sight & Sound: Critic’s Poll (2002) ติดอันดับ #35 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Director’s Poll (2002) ติดอันดับ #19 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Critic’s Poll (2012) ติดอันดับ #34 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Director’s Poll (2012) ติดอันดับ #48 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Critic’s Poll (2022) ติดอันดับ #31 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Director’s Poll (2022) ติดอันดับ #46 (ร่วม)
  • Time Out: Top 100 Films (1998) ติดอันดับ #29
  • The Village Voice: Best Films of the Century (1999) ติดอันดับ #19
  • Entertainment Weekly: Greatest film of all time (1999) ติดอันดับ #11
  • National Society of Film Critics: Top 100 Essential Films of All Time (2002) ติดอันดับ #72
  • TIME: All-Time 100 best movies (2005) ไม่มีอันดับ
  • Total Film: Greatest horror film of all time (2005) ติดอันดับ #6
  • Empire: The 500 Greatest Movies of All Time (2008) ติดอันดับ #45
  • The Guardian: Best horror film of all time (2010) ติดอันดับ #1
  • Motion Picture Editors Guild: The 75 Best Edited Films (2012) ติดอันดับ #12
  • Rolling Stone: Best horror movie of all time (2014) ติดอันดับ #3
  • BBC: 100 greatest American films (2015) ติดอันดับ #8
  • Empire: The 100 Greatest Movies (2017) ติดอันดับ #53
  • Time Out: The 100 best horror movies (2021) ติดอันดับ #5
  • Variety: The 100 Greatest Movies of All Time (2022) ติดอันดับ #1

Psycho is a film you can watch again and again and again. It’s a movie that speaks to us now more than ever, because it shows us, in every teasingly sinister moment, how life itself came to feel like a fun house poised over an abyss.

นักวิจารณ์จาก Variety โหวตอันดับ #1 The 100 Greatest Movies of All Time (2022)

อิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Psycho (1960) คือการได้รับยกย่องกล่าวขวัญ “Mother of all modern Horror Suspense films” โดยเฉพาะแนวหนัง Slasher และ Giallo เต็มไปด้วยเลือด ความรุนแรง เหตุการณ์สร้างความตกตะลึง (Shock Value) ยกตัวอย่าง Peeping Tom (1960), The Texas Chainsaw Massacre (1974), Suspiria (1977), Halloween (1978), Dressed to Kill (1980), Scream (1996) ฯ

หลังจากผกก. Hitchcock เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1980 สตูดิโอ Universal จึงรีบเข็นภาคต่อออกมาทันที Psycho II (1983), Psycho III (1986), Bates Motel (1987) [ฉายโทรทัศน์], Psycho IV: The Beginning (1990), และโดยเฉพาะสร้างใหม่ช็อตต่อช็อต Psycho (1998) กำกับโดย Gus Van Sant นำแสดงโดย Vince Vaughn, Julianne Moore, Anne Heche ผลลัพท์คือบทเรียนที่ไม่มีใครอยากจดจำ

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าหนังได้รับการบูรณะ 4K ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่พบเห็นจัดจำหน่าย Blu-Ray คุณภาพ 4K Ultra HD ของค่าย Universal Studios ในโอกาสครบรอบ 60 ปี (60th Anniversary Edition) เมื่อปี ค.ศ. 2020 หรือใครสนใจคอลเลคชั่น The Alfred Hitchcock Classics Collection 4K Blu-ray ประกอบด้วย Rear Window (1954), Vertigo (1958), Psycho (1960) และ The Bird (1963) … แนะนำให้สังเกตด้วยว่า มันจะมีฉบับดั้งเดิม Uncut ความยาว 109.04 นาที และฉบับทั่วไปความยาว 108.51 นาที (มีการตัดต่อซีนหมิ่นเหม่ออกไปเพื่อให้ได้ฉายต่างประเทศ)


หวนกลับมารับชมครานี้ แม้ไม่ได้มีความตื่นตาตื่นใจอะไร แต่หลังจากเข้าใจคีย์เวิร์ด “Film your murders like love scenes” ก็ทำให้มุมมองของผมต่อหนังปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง! สิ่งชื่นชอบสุดไม่ใช่การ “Shock Value” แต่คือ Value หลังการ Shock สาระข้อคิด บทเรียนสอนใจ อะไรคือสิ่งทำให้ Marion Crane เกิดความรู้สำนึกผิด ครุ่นคิดหวนกลับไปเผชิญหน้าความจริง

จริงอยู่ว่าในแง่คุณภาพหนัง ผมคงไม่เถียงแล้วว่า Vertigo (1958) มีความลุ่มลึกล้ำ เต็มไปด้วยนัยยะสัญญะ วิจิตรตระการตา เหนือชั้นกว่า Psycho (1960) แต่ทว่าเนื้อหาสาระ คุณค่าเกี่ยวกับใช้ชีวิต Psycho >>> Vertigo เพราะไม่ได้แค่จมปลักอยู่กับความหมกมุ่น ยังเสนอแนะหนทางออก สร้างจิตสำนึกให้กับผู้ชมได้มากกว่า

เหตุผลที่ผมเลือกหนังเข้าอยู่ในรายการ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ไม่ใช่เรื่องคุณภาพ ความวิจิตรศิลป์ ได้รับยกย่องสรรเสริญ จักรวาลแซ่ซ้องโดยนักวิจารณ์ แต่คือเนื้อหาสาระแฝงข้อคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอันทรงคุณค่า Psycho (1960) เป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวของผกก. Hitchcock ที่สามารถสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ชม ยินยอมรับความผิดพลาด เรียนรู้จักเผชิญหน้ากับตัวตนเอง ไม่ใช่หมกมุ่นยึดติดจนกลายเป็นแบบ Norman Bates

ปีที่หนังออกฉายยังไม่มีการจัดเรตติ้ง แต่พอออกฉายซ้ำ (Re-Release) ก็ได้รับความเหมาะสมตั้งแต่ M (Mature), PG, PG-13 และ PG-15 เรียกว่าเกือบจะครบทุกเรต … ถ้าเข้าฉายเมืองไทยสงสัยได้เรต G เหมาะสำหรับผู้ชมทั่วไป

แต่ผมขอจัดเรต 13+ จากบรรยากาศหลอนๆ ฆาตกรป่วยจิต และภาพความตายที่อาจติดตาฝังใจ

คำโปรย | Psycho แม้เรื่องราวเกี่ยวกับฆาตกรป่วยจิต แต่ทว่าผู้กำกับ Alfried Hitchcock นำเสนอราวกับหนังโรแมนติก
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | โรแมนติก


Psycho

Psycho (1960) hollywood : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥♡

(25/9/2016) สิ่งที่ทำให้ Psycho เป็นอมตะ คือ ความกลัวของมนุษย์ที่ปรากฎอยู่ในหนัง กลัวที่จะกระทำความผิด, กลัวที่ใครอื่นจะล่วงรู้, กลัวจะถูกฆ่า และกลัวจะทำให้คนอื่นผิดหวัง ฯ เมื่อมนุษย์เกิดความกลัวต่ออะไรสักอย่าง จะจดจำสิ่งนั้นฝังลึกในใจไม่ลืมเลือน เช่นกันกับหนังเรื่องนี้ ใครกันจะกล้าลืม Psycho ผลงาน Masterpiece ของ Alfred Hitchcock, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

คำเตือน: บทความนี้มีการสปอยใจความสำคัญของหนังอย่างมาก ถ้าท่านยังไม่ได้ดู ควรที่จะหลีกเลี่ยง เพราะทำให้อรรถรสในการชมเสียไปแน่นอน

สำหรับคอหนังไม่ว่ายุคสมัยไหน คงไม่มีใครไม่รู้จัก Psycho หนังที่ได้รับการกล่าวขาน กล่าวขวัญ พูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก, ผมรู้จักหนังเรื่องนี้ว่าไปก่อนหน้าชื่อ Alfred Hitchcock เสียอีก ดูไปกี่รอบไม่เคยนับ แต่ก็ไม่มีรอบไหนที่ดูแล้วจะชอบหนังเรื่องนี้เลย เหตุผลก็คือ ความรุนแรงและไม่เข้าใจว่ามันยอดเยี่ยมยังไง, นี่ไม่น่าแปลกใจนัก ยุคสมัยนี้มากมายเต็มไปหมด กับหนังที่มีเรื่องราวเชิงจิตวิทยา นำเสนอความผิดปกติของจิตมนุษย์ หรือหนังแนวฆาตกรรมที่แฝงความรุนแรง เห็นมีดแทงเข้าเนื้อเลือดไหลเป็นทาง ความเคยชินกลายเป็นชินชาจนเพิกเฉยไม่รู้สึกอะไร และแทบทั้งนั้น ทุกผู้ทุกคนจะดูหนังลักษณะพวกนี้มาก่อน Psycho เสมอ, มันเลยเป็นไปไม่ได้ ที่ใครจะเข้าใจความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ของหนัง ณ ขณะที่ฉาย เพราะ Psycho คือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่างที่ผมเล่ามา มันสมบูรณ์แบบ ณ ขณะที่ฉาย ปัจจุบันอาจดูเชย ล้าสมัย แต่นี่คือความคลาสสิกและอมตะ ที่มีค่าขนาด “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

กับคนที่อยากดูหนังเรื่องนี้ให้เข้าใจว่าหนังยิ่งใหญ่ยังไง คุณต้องสามารถเข้าใจความรู้สึกหนึ่งได้ก่อน นั่นคือ ‘คุณค่าของสิ่งที่สร้างขึ้นครั้งแรกของโลก’ ผมยกตัวอย่าง ให้ลองสมมติตัวเองเป็น โทมัส เอดิสันขณะสร้างหลอดไฟดวงแรกสำเร็จ, ไอน์สไตล์ขณะค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ, หรือขณะอาร์คิมิดีส ร้อง ยูเรก้า แล้ววิ่งแก้ผ้าไปหาพระราชา ฯ ลองสมมติตัวเองเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ในปี 1960 ไม่เคยดูหนังที่มีเรื่องราวเชิงจิตวิทยา หรือแนวฆาตกรรมเลือดสาดมาก่อน อะไรที่เคยจดจำได้ ลืมมันเสียให้หมด สวมหัวโขนเป็นเด็กเกิดใหม่ ไม่รู้ไม่คิดอะไร เชื่อว่าถ้าคุณทำได้ ขณะดูหนังเรื่องนี้จะอึ้ง ทึ่ง ช็อค อ้าปากค้าง มือสั่น ปากสั่น สะท้านด้วยความกลัว เมื่อนั้นแหละคุณจะเข้าใจ ว่าทำไมหนังเรื่องนี้กลายเป็นอมตะ

ผมไม่ได้สร้างสถานการณ์นี้ให้กับตัวเองขณะดูหนังนะครับ แต่ผมสามารถจินตนาการตาม และเข้าใจความรู้สึกของคนยุคนั้นได้ (นี่จะเป็นกับคนที่ดูหนังมาเยอะๆ และเข้าใจเทคนิคกระบวนการสร้างของภาพยนตร์) นี่ไม่ใช่ทางลัดที่จะทำให้คุณเข้าใจหนังเรื่องนี้ เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ ระยะเวลา รักหนังมากๆ บ้าหนังสุดๆ และการคิดวิเคราะห์อย่างหนัก, ก็คิดดูว่า ผมดูหนังเรื่องนี้มาน่าจะเกิน 10 รอบ ไม่เคยชอบหรือมีอะไรประทับใจ จดจำไว้เลย กลับมาดูครั้งนี้ ค่าประสบการณ์เต็มหลอด เห้ย! ชอบว่ะ เห็นและเข้าใจความสวยงาม ความยอดเยี่ยม และหนังมี impact ที่สร้างความตะลึง ตะงันอย่างคาดไม่ถึง เป็นไปได้ยังไงกัน! ดูมาก็หลายรอบแล้วแต่ไฉนไม่เคยเห็นมาก่อน ก็สมกับที่ใครๆว่ากัน นี่เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ Alfred Hitchcock

Psycho ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Robert Bloch ตีพิมพ์ปี 1959 เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากฆาตกรต่อเนื่องโรคจิต Ed Gein ที่อาศัยอยู่ในเมือง Wisconsin, ลักษณะของนิยาย จะแบ่งออกเป็นบทๆ เริ่มต้นสร้างตัวละครขึ้นมา เน้นผู้หญิง ให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกหลงรัก ชื่นชอบ แล้วพวกเธอจะถูกฆ่าทิ้งอย่างไร้เยื่อใย เห็นว่านิยายทั้งเล่มก็เป็นแบบนี้ หญิงสาวกี่คนก็ไม่รู้ที่ถูกฆ่า จนฆาตกรถูกจับได้และค้นพบว่าแท้จริงเขาเป็นอะไร

คนที่แนะนำ Hitchcock ให้รู้จักกับนิยายเล่มนี้คือ Peggy Robertson ผู้ช่วยส่วนตัวของเขา ที่ได้เห็นบทวิจารณ์ของหนังสือเป็นไปในทางบวก เลยแนะนำให้กับ Hitchcoock ได้อ่านและตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงมาในราคา $9,500 เหรียญ, ก่อนหน้านี้ Hitchcock ทำหนังใหญ่ทุนสูงมา 2 เรื่องติดคือ Vertigo (1958) และ North by Northwest (1959) ซึ่งครานี้ยื่นขอเสนอให้ Paramount Picture แต่ด้วยความที่พล็อตหนังไม่เป็นที่ต้องการของสตูดิโออย่างยิ่ง Hitchcock จึงต่อรองยอมลดค่าตัวลง ไม่คัดเลือกนักแสดงดังๆ ถ่ายด้วยภาพขาวดำ ตัดงบไปมาจนเหลือทุนสร้างเพียง $800,000 กว่าเหรียญ ทำให้ Paramount ยอมออกทุนและเป็นผู้จัดจำหน่าย

สำหรับการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ นักเขียนคนแรกคือ James P.Cavanagh ที่พอร่างบทหนังเสร็จ ส่งไปพิจารณาก็ถูกปฏิเสธ เพราะ Hitchcock รู้สึกเหมือนกำลังอ่านนิยายสยองขวัญขนาดสั้นหลายๆเรื่องอยู่, ภายหลังได้พบกับ Joseph Stefano ที่แม้เพิ่งจะเริ่มเข้าวงการ ได้พัฒนาบทหนังมาแค่เรื่องเดียว แต่ทั้งสองคุยกันถูกคอ จึงได้รับการว่าจ้างให้ดัดแปลงทันที, แทนที่จะเล่าทุกเรื่องราว ทุกตัวละคร ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิยาย Stefano เลือกนำเอาเรื่องราวของหญิงสาวคนเดียวที่ชื่อ Mary (ในหนังเปลี่ยนเป็น Marion) ที่มีบทบาทเพียง 2 บท มาขยายให้กลายเป็นหนังครึ่งเรื่อง และแทนที่จะเล่าให้เป็นเหมือนสารคดีของฆาตกรโรคจิต ก็เปลี่ยนเป็นให้ผู้ชมรู้สึกลุ้นระทึก เหมือนกำลังดูเรื่องราวลึกลับ ไขปริศนา และกำลังมองหาคำตอบ

ในวันแรกของกองถ่าย Hitchcock ให้ทีมงานทุกคนยกมือขึ้นทำสัญญา (เหมือนสาบาน) ว่าจะไม่เปิดเผยเรื่องราวของหนังให้คนนอกได้รับรู้, เห็นว่าตอน Hitchcock ได้สิทธิ์ในการดัดแปลงนิยาย ก็กวาดซื้อหนังสือที่วางขายทั้งหมดมาเก็บตุนไว้ ให้ผู้คนรู้ได้ตอนจบน้อยที่สุด, และตอนหนังออกฉาย ก็มีโฆษณาตัวหนึ่งที่บอกว่า ‘อย่าสปอยหนังเรื่องนี้ให้คนอื่นฟัง’ (Do not reveal the surprises!) เอาว่าผมคงไม่ต้องเตือนกันอีกนะครับ

นำแสดงโดย Janet Leigh, นี่เป็นหนังเรื่องสุดท้ายของเธอในสัญญาทาส 7 ปีกับ Paramount Picture หลังจากอ่านนิยายจบ เธอก็รับเล่นหนังทันทีโดยไม่เกี่ยงเรื่องค่าตัว (ได้ $25,000 เหรียญ), Marion Crane ถือเป็นตัวละครดำเนินเรื่องในครึ่งแรกของหนัง การแสดงของเธอถือว่าสามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกมาทางสีหน้า แววตา การกระทำได้อย่างชัดเจน, ชอบที่สุดคือตอนเธอถูกตำรวจปลุก ด้วยความตกใจ หวาดกลัว ดวงตาของเธอกลมโตผิดปกติ ท่าทีลุกลี้ลุกลนเร่งรีบ เหมือนเด็กที่ทำความผิดแล้วกลัวพ่อแม่จับได้ กับคนที่ดูหนังเป็น ผมเชื่อว่าน่าจะเห็นและเข้าใจกันได้ การแสดงช่วงนี้อาจจะแจ่มแจ้ง ตรงไปตรงมาสักหน่อย แต่นี่แหละที่ทำให้หนังมีความน่าพิศวงมาก, หลังจากเล่นหนังเรื่องนี้ Janet Leigh ได้รับจดหมายจากแฟนๆโรคจิตมากมาย ซึ่งล้วนบรรยายสรรพคุณ สิ่งที่พวกเขาคิดอยากจะกับตัวละคร Marion Crane จนมีครั้งหนึ่งมันน่าขยะแขยงมาก เลยส่งให้ FBI เพื่อตามหาเจ้าของจดหมายดังกล่าวมาดำเนินคดี

กับคนที่ชอบสังเกต ตอนต้นเรื่อง Marion ใส่เสื้อในสีขาว (บริสุทธิ์ผุดผ่อง) แต่พอเธอขโมยเงิน เสื้อในเปลี่ยนเป็นสีดำ (ชั่วร้าย) เช่นกันกับกระเป๋า ตอนแรกกระเป๋าเงินสีขาว ขโมยเงินแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ

เกร็ด: เงินที่ Marion ขโมย $40,000 เมื่อปี 1960 เทียบกับปัจจุบัน (2016) คงประมาณ $321,000 เหรียญ ส่วนค่ารถที่จ่ายไป $700 เทียบเท่ากับ $5,600 เหรียญ

สำหรับ Anthony Perkins ขณะนั้นกำลังเป็นนักแสดงดาวรุ่งมาแรง ได้เคยเข้าชิง Golden Globe และแสดงละครเวที ได้เข้าชิง Tony Award กับหนังเรื่องนี้ได้ค่าตัว $40,000 เหรียญ และแสดง 2 บทบาท, Norman Bates ชายหนุ่มเจ้าของโรงแรม ที่หลังจากก่อเหตุการณ์บางอย่างในครึ่งแรก เขากลายเป็นคนดำเนินเรื่องในครึ่งหลัง มีคำพูดหนึ่งของตัวละคร ที่แทนตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดี

‘I think that we’re all in our private traps, clamped in them, and none of us can ever get out. We scratch and we claw, but only at the air, only at each other, and for all of it, we never budge an inch.’

ปมของ Norman ตอนจบของหนัง Hitchcock ใส่คำอธิบายมาละเอียดมากแล้วนะครับ ผมไม่ขอวิเคราะห์เพิ่มแล้วกัน แต่จะชี้ให้เห็นว่า ปมนี้มันไม่ใช่แค่ตัวละคร Norman แต่ยังรวมถึง…

กับคนที่เคยอ่านชีวประวัติของ Alfred Hitchcock จะรู้ว่า เขามีปมกับแม่ ที่เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ชอบสั่งโน่นนี่ (พ่อเสียไปตอน Hitchcock อายุ 15 แม่จึงคือผู้ปกครองลูกๆทั้งหลาย) ดูไปก็คล้ายๆกับ Mrs. Bates, กับหนังของ Hitchcock ในยุคแรกๆ เขาพยายามเลี่ยงไม่ใส่ตัวละคร แม่ ที่อาจจะสะท้อนความคิด ความรู้สึกของตนออกมา แต่พอแม่เสียชีวิตในปี 1942 ก็ไม่มีอะไรยั้ง Hitchcock อีกแล้ว เป็นเหมือนการระบาย เราก็จะได้เห็น แม่ ในหนังหลายๆเรื่องที่ชอบ ‘domineering’ วางตัวเองเหนือกว่าลูก อาทิ Notorious (1946), Strangers on a Train (1951), North by Northwest (1959) ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Psycho ไม่เพียงแต่ Norman Bates พูดว่า ‘เพื่อนที่ดีที่สุดของผู้ชายคือ แม่’ (a boy’s best friend is his mother.) แต่เขายังแสดงออก ท่าทาง บุคคลิก การแต่งตัว ที่ล้วนได้อิทธิพลมาแบบเต็มๆ แม้มันจะ delusion of reality ก็ตามทีเถอะ, Hitchcock เล่าให้ฟังว่า ตอนเขาเป็นเด็ก แม่เคยสั่งทำโทษด้วยการให้ยืนปลายเตียง แล้วเล่าความผิดที่ตนกระทำออกมา นี่คงเป็นอะไรที่จำฝังใจเขาไม่น้อย

ผมได้มีโอกาสดู Hitchcock สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์หนึ่ง พิธีกรแซวว่า ‘You look like such a pussy cat.’ Hitchcock ตอบว่า ‘ตอนผมอายุ 3 เดือน แม่ทำให้เขากลัว เธอส่งเสียง BOO ให้ตกใจ ผมสะอึก ร้องไห้ แต่เหมือนเธอจะรู้สึกพึงพอใจเป็นพิเศษ’ (I think my mother scared me when I was 3 months old. You see, she said BOO. It gave me the hiccups. And she apparently was very satisfied.) ถ้าเปรียบนั่นคือความกลัวครั้งแรกของเขา (ก็ไม่รู้อายุเท่านั้นจำได้ยังไงนะ คงจะมีคนเล่าให้ฟัง) และแม่ที่เป็นอิทธิพลของ Hitchcock จะพบว่าหนังเรื่องนี้มีความ ส่วนตัว มากๆของผู้กำกับเลยละ

สำหรับ Anthony Perkins หลังจากหนังเรื่องนี้เขาก็กลายเป็น Typecasted คือไม่มีใครจ้างให้เล่นบทอื่นได้อีกเลย เพราะการแสดงของเขาในหนังเรื่องนี้ กลายเป็นภาพติดตาผู้ชมอย่างมาก เห็นจากหนังเรื่องอื่นก็ คนจะคิดว่าเขาเป็นฆาตกรโรคจิต, กระนั้น Perkins ก็ไม่เสียใจที่รับบทนี้นะครับ บอกว่า ต่อให้รู้ว่าเส้นทางในวงการจะจบสิ้นลงเลยก็ตาม แต่การได้อยู่ในหนังระดับตำนานเรื่องนี้ ครั้งเดียวในชีวิตก็มีค่าจริงๆ

สำหรับทีมงานอื่นๆของหนัง ด้วยทุนสร้างที่จำกัด Hitchcock ต้องการคนที่มีประสบการณ์สูง คุยง่าย คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และต่อรองลดค่าจ้างได้ จึงยกทีมงานแทบทั้งชุดมาจากที่ทำ TV Series: Alfred Hitchcock Presents ประกอบด้วย คนออกแบบฉาก, ผู้ช่วยผู้กำกับ, ตากล้อง John L. Russell, นักตัดต่อ George Tomasini, ออกแบบ Title Saul Bass และ เพลงประกอบ Bernard Herrmann ทีมงานชุดนี้ หมดเงินไปเพียง $62,000 เหรียญ

ถ่ายภาพโดย John L. Russell คนนี้มาจากฝั่งภาพยนตร์โทรทัศน์ แทบไม่มีเครดิตถ่ายหนังฉายโรงเลย เว้นไว้แต่ Psycho นี่แหละที่ถือเป็น Masterpiece ที่สุดแล้ว, มีฉากเยอะแยะที่ผมอยากพูดถึง แต่ขอแค่ 3 ฉากแล้วกัน

กับฉากที่ผมชอบที่สุด นี่เป็นขณะที่ Norman หลังจากถกเถียงกับแม่เพื่อเชิญ Marion ไปกินข้าวเย็นที่บ้านด้วยกัน แต่แม่ไม่อนุญาติ เขาเลยยกถาดน้ำและขนมปังมาให้, ขณะที่ทั้งสองคุยกัน ‘No…mother…my mother…what is the phrase? She isn’t quite herself today.’ เสียงพูดของ Norman ตะกุกตะกัก ถ้าสังเกตให้ดีเราจะเห็นภาพใบหน้าของเขาสะท้อนกับกระจกจางๆ นี่แสดงถึง การมี 2 ตัวตนในคนๆเดียว, ฉากลักษณะนี้มีเยอะมากในหนังนะครับ กระจกที่สะท้อนตัวตนของตัวละคร แต่ที่ผมชื่นชอบช็อตนี้ที่สุด เพราะ คำพูด mother ที่ซ้ำ 2 รอบ มันสื่อถึง Marion ได้ด้วย, กับมุมมองการดำเนินเรื่อง ที่ครึ่งแรกเป็น Marion ครึ่งหลังเป็น Norman นี่แสดงถึง 2 เรื่องราว 2 ตัวละครหลักในหนัง 1 เรื่อง ซึ่งก็คือ 2 ตัวตนใน Norman ครึ่งหนึ่งคือแม่ อีกครึ่งหนึ่งคือเขา มีคนหนึ่งต้องตาย เช่นกันกับในจิตใจของ Norman ที่ตอนจบเหลือเพียงคนเดียว

กับฉากคลาสสิกที่สุดของหนัง ที่ใครๆก็ต้องพูดถึงกัน มีชื่อเรียกว่า Shower Scene ใช้เวลาถ่ายทำ 7 วัน (ระหว่างวันที่ 17-23 ธันวาคม ปี 1959) ประกอบด้วยมุมกล้อง 77 ทิศทาง ส่วนใหญ่เป็น Extreme Close-Up ใช้การตัดต่อ 50 คัท ความยาวตลอดทั้งฉากประมาณ 3 นาที, ไม่มีฉากที่ถ่ายให้เห็นมีดแทงเข้าไปในเนื้อหนังของมนุษย์ (แต่มีฉากที่มีดโดนผิวหนัง) ไม่มีบาดแผล ไม่เห็นเลือดไหลออกจากแผล (แต่มีเลือดไหลเป็นทาง) มีแต่เสียงกรีดร้อง ดึงผ้าม่านห้องน้ำ ค่อยๆล้มลง ฯ ก่อนฉากจบเคลื่อนภาพออกจากดวงตาที่เบิกโพลง, ผู้ชมสมัยก่อนจินตนาการสูงส่งมาก เห็นแค่นี้พวกเขากรี๊ดลั่น สลบคาโรงหนังเลยก็มี ผู้ชมสมัยนี้ ไรว่ะ! ไม่เห็นสมจริงเลย, นี่คือหนึ่งในฉากที่โคตร Artistic ที่สุดแห่งโลกภาพยนตร์แล้วนะครับ (ถ้ารู้สึกไม่ได้ก็บังคับตัวเองให้เข้าใจเลยนะครับ ว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นศิลปะที่โคตรวิจิตรในสื่อภาพยนตร์)

ครั้งแรกของความรุนแรงระดับนี้ ที่ถึงจะไม่มีฉากที่ถ่ายให้เห็นมีดแทงโดนร่างกายของมนุษย์ เลือดไหลออกจากผิวหนัง แต่นี่คือเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นบิดาแห่งหนังแนว Slasher Film ฆ่าๆ แทงๆ เลือดสาดอย่าง The Texas Chainsaw Massacre (1974), Halloween (1978), Friday the 13th (1980) ฯ

การจับมีดของ Norman นี่น่าสนใจนะครับ ถ้าใครเคยดู 12 Angry Men มา มีประเด็นถกเถียงเรื่องการจับมีดที่เป็นข้อกังขาอยู่ กับคนจิตปกติ ไม่มีใครจับมีดแบบนี้แน่ๆ ซึ่งผมคิดว่า การจับมีดแบบ Norman แสดงถึงความผิดปกติของจิตใจ และหนังทุกเรื่องที่มีการจับมีดแบบนี้ ก็แสดงถึงได้เลยว่าหมอนั่นจิตไม่ปกติแน่นอน

เกร็ดไร้สาระ: นี่เป็นหนัง Hollywood เรื่องแรกที่ถ่ายให้เห็น โถส้วมขณะกดชักโครก

สำหรับอีกฉากที่ผมสนเท่ห์ เซอร์ไพรส์มากๆ คือการถ่ายภาพขณะการตายของอีกตัวละครหนึ่ง เริ่มต้นจากกล้องค่อยๆถอย เคลื่อนขึ้นบันไดแล้วไปหยุดถ่ายลงมาเห็น Bird Eye View จากนั้นฆาตกรก็เดินออกมาจากห้อง ตรงเข้าไปแทงชายคนนั้นตกบันได ขณะตกบันได หนังใช้การ Close-Up ใบหน้า แล้วติดตาม (Tracking) ไถลลงสู่พื้นชั้นล่าง นี่ไม่ใช้ Blue Screen แน่นอนนะครับ น่าจะใช้รถเลื่อนหรือเครน ค่อยๆลากลงชั้นล่าง, นี่เป็นฉากที่ผมทึ่งในความสร้างสรรค์ของ Hitchcock เลย ถ้าไม่เพราะ Shower Scene ที่โด่งดังสะท้านฟ้า ผมว่าฉากนี้คือ Number 2 ของหนัง น่าทึ่งมาก คิดแล้วถ่ายออกมาได้ยังไง!

ยังมีอีกหลายฉากที่เจ๋งๆเลย อาทิ ขณะรถค่อยๆจมลงสู่หนอง ผมเชื่อว่าฉากนี้ใครๆคงลุ้นให้รถมันจมมิด แต่เคยคิดไหมละครับ ทำไมถึงรู้สึกเช่นนั้น?, ฉากตอน Mrs.Bates หันมา ปรากฎว่าเธอกลายเป็นซากศพไปแล้ว คงมีคนกรี๊ดลั่นแน่, และตอนจบที่ Norman ยิ้มกริ่ม พร้อมเสียงบรรยาย คำพูดสุดท้าย ‘she wouldn’t even harm a fly.’ ฯ แต่ขอเว้นไว้ก่อนนะครับ

สำหรับเหตุผลที่หนังถ่ายเป็นภาพขาว-ดำ มี 2 ประเด็น คือ 1) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย (ถ้าฟีล์มสี จะต้องเสียค่าล้างที่แพงกว่าขาวดำ) 2) และเพื่อไม่ให้หนังมีความรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะฉากในห้องอาบน้ำ, กับเหตุผลหลัง Hitchcock ได้อิทธิพลมาจากหนังเรื่อง Les Diabolique (1955) ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Henri-Georges Clouzot (เห็นว่าเรื่องนี้ Hitchcock และ Clouzot แย่งลิขสิทธิ์กันด้วย ซึ่งเป็น Hitchcock แพ้ แล้ว Clouzot ได้สิทธิ์ดัดแปลงไป) หนังถ่ายด้วยภาพขาวดำ เพื่อลดความรุนแรงลง และหนังเรื่องนี้ Robert Bloch ผู้แต่งนิยาย Psycho บอกว่าเป็นหนัง Horror เรื่องที่เขาชอบที่สุดด้วย

บ้านของ Norman Bates ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดสีน้ำมันของ Edward Hopper ชื่อ ‘House by the Railroad’ วาดขึ้นในปี 1925 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Museum of Modern Art ในเมือง New York

House by the Railroad

Hitchcock สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นด้านหลัง Universal Studio ปัจจุบันก็ยังตั้งตระหง่านอยู่ตรงนั้นนะครับ ไม่ได้ถูกทำลายทิ้ง และกลายเป็น Landmark ที่ท่องเที่ยวสำคัญ สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมสตูดิโอ มักจะมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเสมอ

เกร็ด: บ้าน 3 ชั้นของ Norman มีการวิเคราะห์แทนด้วย Id, Ego และ SuperEgo มองกันออกหรือเปล่า ชั้นไหนเป็นอะไร?

ตัดต่อโดย George Tomasini ขาประจำของ Hitchcock, กับหนังเรื่องนี้ ยังคงเป็นความสุดยอดของการใช้เทคนิค Montage ตัดสลับระหว่างภาพ 2 ภาพ อาจเป็น ใบหน้าตัวละคร กับสิ่งที่เขาเห็น, กับฉากรถไหลลงหนองบึง มีสิ่งน่าสนเท่ห์ว่า ทำไมผู้ชมส่วนใหญ่ถึงลุ้น เชียร์ให้รถมันจมลงมิด ให้ Norman ปกปิดหลักฐานสำเร็จ นี่เพราะการตัดต่อ เล่าเรื่องที่หยอกล้อกับผู้ชมมาตั้งแต่ต้น, นี่เป็นหนังที่ตัวละครหลักคือคนประเภท Antihero (การกระทำขัดแย้งกับความถูกต้องเหมาะสมสมควร) เหตุที่หนังต้องเปลี่ยนมุมมองตัวละครดำเนินเรื่อง เพราะ Marion จากที่เคยเป็นคนนิสัยไม่ดี ขโมยเงิน หลบหนี ผู้ชมให้กำลังใจเชียร์ ลุ้นว่าเธอจะหนีพ้นเอาตัวรอดหรือเปล่า กลางเรื่องอยู่ดีๆเธอก็เปลี่ยนใจ ต้องการกลับไปเป็นคนดีใหม่ นี่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถูกทรยศหักหลัง ซึ่งหนังได้ส่งไม้ต่อให้กับ Antihero อีกคนคือ Norman ที่จัดการบดขยี้ความรู้สึกของผู้ชมให้รู้สึกสะใจกับการกระทำ เมื่อ Antihero คนแรกจากไป คนใหม่เข้ามาสานต่อ เมื่อเห็นว่า เขาได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่สนองความต้องการของผู้ชม ก็เกิดการลุ้นระทึก หวังให้เขาทำสำเร็จ

หนังมีการใช้คำบรรยาย (Narrator) ประกอบหนัง ขณะที่ Marion ขับรถหนีไปเรื่อยๆ เราจะได้ยินเสียงของหญิงสาวเพื่อนร่วมงาน, เจ้านาย และคนที่เธอขโมยเงิน พูดพาดพึงถึงการกระทำของเธอ นี่เหมือนเสียงจินตนาการที่ดังขึ้นในหัวของเธอ แต่ผมว่ามันคือเหตุการณ์จริงๆนะแหละ แบบว่าแทนที่จะเสียเวลาตัดต่อให้ผู้ชมเห็นภาพ ก็ทำเป็นเชิงใช้คำพูดสนทนาซ้อนกันไปเลย จะได้ไม่เสียเวลาหนังมาก, นี่ทำให้ความพิศวงของหนังเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะเราจะเห็นสีหน้าของ Marion แสดงออกซึ่งความรู้สึกของเธอแบบเต็มๆ นี่แหละครับที่เรียกว่า Antihero

เพลงประกอบโดย Bernard Herrman เดิมทีนั้นทั้ง Hitchcock และ Stefano วาดภาพเพลงประกอบหนังในสไตล์ Jazz แต่ Herrman เมื่อเผชิญหน้ากับค่าตัวที่แสนน้อยคิด เขาเลยคิดใช้เครื่องสายเดียวตลอดทั้งเรื่อง (ประหยัดที่จะไม่ต้องไปจ้าง Orchestra มาบรรเลง) ผลลัพท์ออกมาเหนือกว่าที่ใครๆคาดคิดไว้ ถึงขนาด Hitchcock ต้องเพิ่มค่าตัวให้ และบอกว่า ‘33% ของหนังเรื่องนี้ที่ประสบความสำเร็จ มาจากเพลงประกอบของ Herrman’, เปิดเรื่องมา เพลงประกอบก็ให้ความรู้สึกที่ตื่นเต้น ลุ้นระทึก สุดฉงนสงสัย เสียงเชลโล่นำสร้างบรรยากาศอึมครึม เสียงไวโอลินตามขึ้นมาสร้างความพิศวง นี่ยังกะบ้านผีสิง มีคนตายที่คอยหลอกหลอน, อย่าเปิดเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ก่อนนอนนะครับ เชื่อว่า หลับไม่ลงแน่ๆ

ความยอดเยี่ยมของเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ ติดอันดับ 4 จากการจัดอันดับ AFI’s 100 Years of Film Scores (เพลงประกอบภาพยนตร์อเมริกันยอดเยี่ยมในรอบ 100 ปี)

เกร็ด: แผ่นเสียงของ Norman Bates เขียนไว้ว่าเป็นของ Ludwig van Beethoven: Symphony No. 3 (Eroica)

สิ่งที่ Hitchcock สร้างขึ้นกับหนังเรื่องนี้ คือการ ‘กำกับอารมณ์ของผู้ชม’ ให้มีความรู้สึก ‘ร่วม’ ไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, Hitchcock เปรียบว่า ‘ฉันกำลังเล่นกับอารมณ์อยู่ เหมือนออร์แกน’ (You might say I was playing them, like an organ.) นี่อาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในปัจจุบัน แต่ยุคสมัยนั้นนี่คือสิ่งที่กำลังทดลองกันอยู่ กับการตั้งโจทย์ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหนังสามารถชี้นำ ชักนำอารมณ์ของผู้ชม ให้เป็นตามสิ่งที่ผู้สร้างคาดหวังได้ เป้าหมายคือ ผู้ชมจะรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ สุขใจ ตกใจ หวาดกลัว ถ้าทำสำเร็จสักอารมณ์หนึ่ง ก็จะสามารถชี้นำอารมณ์อื่นให้เกิดขึ้นตามต่อมาได้

การมาของหนังเรื่องนี้ ต้องถือพอดีเหมาะเจาะ เพราะขณะนั้น Method Acting กำลังเบิกบาน ด้วยการที่นักแสดงสามารถถ่ายทอด inner สวมบทบาท เข้าถึงความรู้สึกข้างในจิตใจตัวละคร ให้เกิดความสมจริง เทียบเท่าความรู้สึกของผู้ชม เมื่อผสมกับการกำกับ ดำเนินเรื่องที่มุ่งเน้นให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วม สองสิ่งนี้ถือว่าเมื่อได้ผสมเข้าด้วยกัน เกิดความลงตัวอย่างประจวบเหมาะ นั่นจะทำให้ความตั้งใจของผู้สร้าง ถ่ายทอดส่งไปถึงผู้ชม ได้รับสัมผัส รู้สึกและเข้าใจอย่างไม่ผิดเพี้ยน

อาจมีคนสงสัย ประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ก็มีมาตั้งนาน ทำไมเพิ่งมาเริ่มที่ Psycho? คือก่อนหน้านี้มันไม่ใช่แบบนี้นะครับ คนที่ดูหนังมาไม่เยอะจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างเท่าไหร่ แต่ในยุค Classic Era บทหนังเรื่องราวก็เรื่องหนึ่ง นักแสดงแค่เล่นตามบท ผู้กำกับก็สร้างสรรค์ในมุม Artistic ของตนเอง, เหตุที่ชื่อว่า Classic เพราะความเป็นโดดเด่นเป็นเอกเทศน์ของงานศิลปะ ที่ผู้ชมจักต้องเข้าหา ทำความเข้าใจผลงานด้วยตนเอง คือไม่สามารถจับต้องได้ เราต้องเอาอารมณ์ ความรู้สึกไปสัมผัส เข้าหาด้วยตนเอง, หลังจากยุค Classic หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป้าหมายของสื่อภาพยนตร์เปลี่ยนไป หนังเริ่มเข้าหาผู้ชมมากขึ้น เริ่มที่จะชักจูง ชี้นำ เราอยู่เฉยๆ ก็สามารถรับสาสน์ที่ป้อนเข้ามาแล้วเข้าใจ สัมผัสอารมณ์ ความรู้สึกได้ (นี่ทำให้ความงดงามเชิง Artistic ของสื่อภาพยนตร์ลดลง แต่เข้าถึงคนได้ง่าย) ช่วงเวลาเริ่มต้นของยุคนี้คือ 50s นะครับ Psycho ถือว่าไม่นานเลยในยุคนี้ ที่สามารถทำสำเร็จ เป็น Milestone เรื่องสำคัญ ที่ทำให้ช่องว่างระหว่าง ภาพยนตร์กับผู้ชม ลดลงอย่างมาก กลายใกล้ชิดกัน แนบสนิทกันเลยละ

ใจความอารมณ์ของหนังเรื่องนี้ก็คือ ‘ความกลัว’ ที่ Hitchcock เลือกความรู้สึกนี้ เพราะเป็นสิ่งที่เขาใกล้ชิด เข้าใจมันมากที่สุด และคงมีความเชื่อว่า กับความกลัว เมื่อมนุษย์ได้พบเห็นสัมผัส ก็จะจดจำไม่มีลืมเลือน กลัวที่จะกระทำความผิด, กลัวที่ใครอื่นจะล่วงรู้, กลัวจะถูกฆ่า และกลัวจะทำให้คนอื่นผิดหวัง, ซึ่งมนุษย์มีการจัดการ แสดงออกกับความกลัวนี้ต่างออกไป เช่น Marion ขณะเธอเห็นตำรวจ ดวงตากลมโต (แสดงความกลัว) กลัวว่าเขาจะสงสัยอะไร (วิตกกังวล) เธอจึงขายรถแล้วซื้อใหม่ (วิธีจัดการกับความกลัว), Norman กลัวว่าแม่จะผิดหวัง เขาสร้างแม่ในจินตนาการขึ้นมา และกลายเป็นเธอ นี่ก็ถือเป็นการจัดการกับความกลัวประเภทหนึ่ง

ผมสังเกตจุดต่างระหว่างครึ่งแรกกับครึ่งหลัง, Marion ในตอนท้ายของครึ่งแรก เธอตัดสินใจที่จะยอมรับผิด คืนเงิน นี่เป็นวิธีการจัดการกับความกลัว โดยการเผชิญหน้า, ส่วน Norman ในตอนท้ายของครึ่งหลัง เขาเลือกที่จะหลบซ่อนตัวเอง เก็บอยู่ในจิตใต้สำนึกไม่ออกมาเผชิญหน้ายอมรับความจริง นี่คือวิธีจัดการกับความกลัว โดยการหลบหนี

Hitchcock ให้สัมภาษณ์ ถึงวิธีที่เขาใช้เอาชนะความกลัวต่างๆ ที่เกิดขึ้นข้างในจิตใจของตนเอง คือ ‘สร้างหนังเกี่ยวกับมัน’ (the way to get rid of my fears is to make films about them) อย่างที่ผมวิเคราะห์ไป เขามีปมเรื่องแม่ที่เข้มงวด ก็สร้างหนังแล้วทำให้แม่เข้มงวดกับตัวเอกของเรื่อง นี่ถือเป็นวิธีการระบาย หรือบำบัดทางจิตทางหนึ่งนะครับ ให้ความเครียดมันผ่อนคลายออกไปบ้าง จะไม่ช่วยให้เราเสียสติหรือหมกมุ่นอยู่กับมันมากเกินไปจนกลายเป็นบ้า (ที่ผมเคยวิเคราะห์ Luis Buñuel กับสิ่งที่เขาระบายออกมาในหนังเรื่อง Viridiana-1961 ความรู้สึก ความทรงจำอะไรที่เลวร้ายบางอย่าง เก็บสะสมไว้นาน เมื่อถึงเวลาก็ต้องระเบิดออก)

ชื่อหนัง Psycho มาจาก Psychoanalysis หรือจิตวิเคราะห์ นี่เป็นหนังแนวจิตวิทยาที่มีการวิเคราะห์ลงลึกเข้าไปในจิตใจของมนุษย์ ตีแผ่สิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง นำเสนอออกมาเป็นครั้งแรกของโลก! แม้ส่วนใหญ่จะเป็นด้านมืดที่ไม่มีใครอยากให้ใครเห็น แต่การมีใครสักคนพูด นำเสนอออกมา นี่จะทำให้ใครๆก็จะได้ขบคิด ทบทวน ทำความเข้าใจ สนใจกับมันอย่างจริงจัง, มนุษย์ทุกคนมีด้านมืดในตัว แต่เราเลือกที่จะแสดงมันออกมา ปกปิดมันไว้ หรือระบายออกในวิธีอื่น นี่คืออีกหนึ่งใจความของหนังนะครับ

รู้สึกบทความนี้จะยาวไปแล้ว ผมคงขอยกเรื่อง ความกลัว กับ นก ข้ามไปตอนเขียนบทความหนังเรื่อง The Bird นะครับ สัญลักษณ์นกทั้งหลายในหนังเรื่องนี้ มีใจความแฝงเกี่ยวกับความหวาดกลัวที่จิกกัด กัดกร่อน มีผู้ล่ากับเหยื่อ ตัวละครอย่างนางเอกนามสกุล Crane มาจาก Phoenix หรืออย่าง Norman ที่มีงานอดิเรกสต๊าฟสัตว์ โดยเฉพาะนก เหล่านี้มีความหมายอะไร Hitchcock ได้อธิบาย สานต่อแนวคิดนี้ในหนังเรื่อง The Bird นะครับ

สมัยก่อนโรงภาพยนตร์มีไม่เยอะ รอบหนังมีน้อย คนที่ไปถึงโรงหนัง อยากดูเรื่องไหนก็ดู บางเรื่องฉายไปเกินครึ่งเรื่องแล้วก็เข้าไปดูได้, Psycho (1960) เป็นหนังเรื่องแรกในสมัยนั้น ที่ Hitchcock พยายามสร้างค่านิยมว่า ‘ถ้าคุณจะดูหนังเรื่องนี้ ต้องเข้าโรงหนังให้ตรงเวลาฉาย และเริ่มดูจากต้นเรื่องเท่านั้น ถึงจะได้อรรถรสอย่างเต็มอิ่ม’, ถึงขนาดไปต่อรองกับผู้จัดการโรงหนัง ว่าต้องไม่อนุญาติให้ใครเข้าชมหนังตอนกลางเรื่อง ใช้กำลังเข้าห้ามได้เลย

psycho

และเพื่อเป็นการให้แน่ใจว่า จะมีผู้ชมนั่งรอหนังฉาย (แทนที่จะเดินเล่นฆ่าเวลา) เป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน ที่โรงหนังได้นำอัลบัมเพลงประกอบ Soundtrack ของหนังเปิดรอ แล้วมีเสียงพูดบอกว่า ‘อีก 10 นาที Psycho จะฉาย’ (Ten minutes to Psycho time), ‘อีก 5 นาที Psycho จะฉาย’ (Five minutes to Psycho time) ฯ

เกร็ด: เหตุผลที่ Hitchcock รีบโผล่มาในหนังตั้งแต่ต้นเรื่อง (แอบอยู่นอกบริษัทที่นางเอกทำงาน) นั่นเพราะเขารู้ว่า ผู้ชมคงเฝ้าค้นหาเขาอยู่ตลอด ว่าจะโผล่มาเมื่อไหร่ เขาจึงรีบปรากฎตัวเสียตั้งแต่ต้นเรื่อง เพื่อผู้ชมจะได้เอาเวลาไปดูหนังมากกว่าตามหาเขา

ด้วยทุนสร้าง $800,000 เหรียญ ทำเงินกว่า $50 ล้านเหรียญ เป็นหนังของ Hitchcock ที่ทำรายได้สูงที่สุด และเขาได้กำไรกว่า $15 ล้านเหรียญ (เทียบกับเงินปัจจุบันก็เกือบๆ $150 ล้านเหรียญ)

เข้าชิง Oscar 4 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Director
– Best Actress in a Supporting Role (Janet Leigh)
– Best Cinematography, Black-and-White
– Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White

แต่ Janet Leigh ได้ Golden Globe Award สาขา Best Supporting Actress นะครับ ถือเป็นรางวัลปลอบใจเดียวสำหรับหนังเรื่องนี้

มีความพยายามสร้างภาคต่อ Psycho ถึง 4 ภาค Psycho II (1983), Psycho III (1986), Psycho IV: The Beginning (1990), และมีการ remake โดยผู้กำกับ Gus Van Sant เมื่อปี 1998 (ได้รับการโหวตให้เป็นภาพยนตร์ยอดแย่แห่งปี) แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนที่คุณภาพยอดเยี่ยมได้เท่าต้นฉบับนี้อีกแล้ว, Stephen King เจ้าพ่อแห่งนิยายสยองขวัญ ให้ความเห็นว่า ‘ผู้คนจดจำประสบการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับ Janet Leigh ได้เป็นอย่างดี จะไม่มีหนังสร้างใหม่หรือภาคต่อใด ที่สามารถสร้างความรู้สึกขณะเธอดึงผ้าม่านตอนถูกแทงครั้งนั้นได้ยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว’ (people remember the first time they experienced Janet Leigh, and no remake or sequel can top that moment when the curtain is pulled back and the knife starts to do its work.)

นี่เป็นหนังเรื่องสุดท้ายของ Alfred Hitchcock กับ Paramount Picture ซึ่งหลังจากหนังฉายหลายปี ด้วยความที่ Paramount ไม่มีแผนที่จะทำอะไรต่อกับหนัง Hitchcock ได้กวาดซื้อลิขสิทธิ์หนังที่เขาสร้างทั้งหมด มาไว้ในครอบครองกับ Universal จนถึงปัจจุบัน (จะเห็นว่าโลโก้ Paramount ยังติดอยู่ในหนังไม่ได้หายไปนะครับ)

Psycho เป็นหนังที่ใครๆก็อาจดูได้ แต่ถ้าจะให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งต้องอาศัยประสบการณ์ และความเข้าใจสูงมาก ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าใจได้ทันที, หลังจากผมดู Psycho รอบนี้ ก็ถึงสัจธรรมเลยละครับ เข้าใจโดยสมบูรณ์ว่าทำไม Psycho ถึงได้รับการกล่าวขวัญ ยกย่องว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดของ Alfred Hitchcock กับหนังเรื่องอื่น ทุกองค์ประกอบอาจสมบูรณ์แบบ แต่ยังขาดสิ่งที่กระชากใจผู้ชม
– Rebecca ที่มีพล็อตโคตรหักมุม แต่สู้กับจุดหักมุมแบบช็อคคนดู ถึงขั้นเป็นตายใน Psycho ไม่ได้
– Vertigo แม้จะมี Visual Effect สวยงามตระกานตา แต่ก็สู้การตัดต่อ 50 กว่าช็อตในนาทีกว่าๆไม่ได้
– Rear Windows ถึงตัวเอกจะชอบแอบดูคนอื่น แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้ ส่วน Psycho แอบจริง จิตจริง ทำจริง เห็นคนตาย
– และ North by Northwest ยิ่งใหญ่อลังการสุดมัน แต่สู้ความหลอนติดตาของ Psycho ไม่ได้

ในบรรดาหนังของ Hitchcock ผมแนะนำให้ดู Psycho เรื่องท้ายๆเลยนะครับ คือควรที่จะชม Rebecca (1940), Rear Windows (1954), North by Northwest (1959), The Bird (1963) มาเสียก่อน ถึงค่อยมาดูหนังเรื่องนี้ จะสามารถเข้าใจอะไรๆหลายอย่างได้เพิ่มขึ้นมาก กระนั้นเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เมื่อจะเริ่มต้นดูหนังของ Hitchcock มักจะหยิบ Psycho มาดูเรื่องแรกๆเสมอ เพราะนี่เป็นหนังดังที่สุด มีชื่อเสียงที่สุดของเขา คนเรามักจะเริ่มต้นจากอะไรดีที่สุดก่อนเสมอ

แนะนำอย่างยิ่งกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์ พบกับผู้ป่วยในหนังเรื่องนี้ ศึกษาทำความเข้าใจ ได้ประโยชน์แน่

แนะนำอย่างยิ่งอีกเช่นกันกับนักเรียน คนทำงานสายภาพยนตร์ นี่เป็นหนังเรื่องบังคับเสมือนตำราเรียน มีอะไรให้ศึกษา ค้นคว้า เป็นแบบอย่างเยอะเลย

กับคนที่ชอบวิเคราะห์หนัง, ชื่นชอบแนวหักมุม, Thriller, Psychological, Suspense, แฟนหนัง Anthony Perkins, Janet Leigh และเพลงสุดแนวของ Bernard Herrmann

แถมท้ายสำหรับตัวอย่างหนัง Teaser Trailer ผู้กำกับ Alfred Hitchcock จะนำพาคุณไปเยี่ยมชมสถานที่ที่เกิดเหตุ (เป็นฉากในสตูดิโอ) ถ้าคุณเห็นแบบนี้ก่อนจะยังมีความรู้สึกหวาดสะพรึงกลัวอยู่ไหม ลองถามตัวเองดูนะครับ

ตอนขณะฉายหนังไม่มีเรตติ้งนะครับ แต่พอได้ฉายซ้ำ ก็ได้รับเรตตั้งแต่ M (Mature), PG, PG-13 และ PG-15 เรียกว่าได้เกือบครบทุกเรตเลย (ถ้าฉายเมืองไทยสงสัยได้เรต G)

ผมจัดเรต 13+ ก็น่าจะพอนะครับ กับฉากความรุนแรงที่มีเห็นแค่เลือด และบรรยากาศที่อึมครึมน่ากลัว

TAGLINE | “สิ่งที่ทำให้ Psycho เป็นผลงาน Masterpiece ของ Alfred Hitchcock และเป็นอมตะ คือ ความกลัวของมนุษย์ที่ปรากฎอยู่ในหนัง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
Oazkun Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazkun
Guest
Oazkun

Vertigo เหนือกว่านะ

%d bloggers like this: