Pulp Fiction

Pulp Fiction (1994) hollywood : Quentin Tarantino ♥♥♥♥

หนังรางวัล Palme d’Or เรื่องนี้คือนิตยสารรวมเรื่องสั้นบ้าบอคอแตกไร้สาระ ตีพิมพ์ด้วยกระดาษคุณภาพต่ำราคาถูก ต้นเล่มมักมีพาดหัวและใส่เนื้อเรื่องย่อหน้าแรกที่โคตรน่าสนใจ ก่อนตบท้ายว่า ‘อ่านต่อหน้า 7’ เห้ย! ภาพยนตร์มันทำแบบนั้นได้ที่ไหน

ภาพยนตร์ เป็นสื่อที่ถ้าเปรียบเหมือนหนังสือก็คือการอ่านไล่เรียงจากหน้า 1 ไป 2 ไป 3 ตามลำดับ ถึงเรื่องราวจะมีการกระโดดข้ามไปมาบ้าง แต่มันคือเนื้อหาในหนังสือไม่ใช่การเปิดข้ามหน้า ดังนั้นการที่เรื่องราวหนึ่งเริ่มต้นจากหน้าแรก แล้วบอกว่าให้ไปตามอ่านต่อหน้า 7 มันจึงทำไม่ได้ในโลกภาพยนตร์ ผู้ชมย่อมเกิดเกิดอารมณ์ค้างชะงัก บัดซบชะมัด!

อย่าง Prologue ต้นเรื่อง ตัวละครของ Tim Roth กับ Amanda Plummer สองคู่รัก Pumpkin กับ Honey Bunny ขณะนั่งพูดคุยสนทนาในร้านอาหาร Family แห่งหนึ่ง อยู่ดีๆพวกเขาก็หยิบปืนลุกขึ้นประกาศ ‘นี่คือการปล้น’ จากนั้นเพลง Misirlou ดังขึ้น ตัดไปปรากฎต้นเรื่องเครดิตต้น จบแล้วไงต่อว่ะ! ทุกสิ่งอย่างค้างคา หนังเปลี่ยนไปเล่าเรื่องอื่นเลย wtf?

แค่ฉากแรกนี้ผ่านไปคนส่วนใหญ่คงเกาหัวด่าพ่อล่อแม่เสียๆหายๆ นี่มันหนังบ้าบัดซบอะไรกันเนี่ย! พูดคุยน้ำไหลไฟดับยืดยาวจนตามไม่ทัน -คนดูหนังนี่เอาใจยากจริง ตอนหนังไม่มีบทพูดก็ว่าดูไม่รู้เรื่อง พอมีแต่บทพูดก็ดันฟังไม่รู้เรื่องอีก- แต่ถ้าคุณอดทนได้ รับชมต่อไปเรื่อยๆ กว่าจะมารู้ตัวอีกทีก็ตอน Epilogue ท้ายเรื่องใกล้จบ ร้านอาหารนี้ดูคุ้นๆนะ ราวกับ Déjà Vu แล้วอยู่ดีๆทั้งสองตัวละครนั้นก็ปรากฎตัวกลับมาอีกรอบ ขณะกำลังลุกขึ้นมาปล้น เห้ย! มันเหมือนตอนต่อจากต้นเรื่องนิหว่า … นี่แหละครับที่มาของ ‘มีต่อหน้า 7’ ใครที่ไหนจะไปรู้ว่า สามารถดู Prologue จบแล้ว Fast Forward/กระโดดข้ามไปหน้า 7 ได้เลย ภาพยนตร์มันทำแบบนั้นได้เสียที่ไหนกัน

แต่การกระทำเช่นนี้ของผู้กำกับ Quentin Tarantino ตอนนั้นถือว่าสร้างความแปลกใหม่ ช็อกโลกให้กับวงการภาพยนตร์ ถึงขนาด Clint Eastwood ประธานกรรมการ Jury ปีนั้นของเทศกาลหนังเมือง Cannes ยังต้องมอบรางวัล Palme d’Or น่าจะไม่มีมีอีกแล้วหนังเรื่องที่ร้อนแรงสุด Hottest และ Coolest เก๋าเจ๋งสุด สองอย่างพร้อมกันได้

 “a thermodynamic miracle, that is both the hottest and coolest film of the year”.

– นักวิจารณ์ Janet Maslin แห่ง The New York Times

ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาบทความนี้ จะบอกว่าเป็นความเข้าใจผิดของผมมานมนาน เพราะเคยฟังเพลง Pump It (2006) ของ The Black Eyed Peas มาก่อนรับชม Pulp Fiction ก็หลงคิดว่าตอน Opening Credit ของหนังคงเป็นการดัดแปลงมาจากเพลงนี้ ปรากฎว่าไม่ใช่เลยนะครับ เป็น The Black Eyed Peas ต่างหากที่ Cover เพลงนี้

จุดเริ่มต้นมาจาก Misirlou เพลงพื้นบ้าน (Traditional Song) ทางฝั่ง Eastern Mediterranean ฉบับเก่าแก่สุดที่มีการบันทึกเสียงคือปี 1927 โดยคีตกวีในตำนานของอิยิปต์ Sayyed Darwish ชื่อเพลง Bint Misr หรือ El-Masreya (แปลว่า Egyptian girl), บังเอิญหาคลิปเจอใน Youtube ลองฟังดูนะครับ ผมได้ยินแล้วขนลุกเลยละ ทำนองมาเปะๆเลย

สำหรับในอเมริกา ได้ยินครั้งแรกเมื่อปี 1946 ผลงาน Solo ของ Jan August นักเปียโน/xylophonist ชื่อดังแห่งยุค ได้รับฉายาว่า ‘the one man piano duet.’, นำมาให้ฟังเทียบกัน

ผมรู้สึกว่าพอ Solo เปียโนแล้ว ให้สัมผัสของหญิงสาวจากอิยิปต์ นึกถึงหน้า Cleopatra (ของ Elizabeth Tayloy) ขึ้นมาเลยละ

และฉบับที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด กระหึ่มโลก ในสไตล์ Surf Rock บรรเลงโดย Dick Dale เมื่อปี 1962 ตั้งชื่อเพลงว่า Miserlou นี่คือฉบับที่ Pulp Fiction นำมาใช้เปิดประกอบ Opening Credit

ฟังสองเพลงด้านบนแล้วมาฟังเพลงนี้ มันคนละอารมณ์เลยนะ เพลงนี้ราวกับไปทะเลเล่น Surf โต้คลื่น เปิดขวดเป็ปซี่ (โฆษณา Pepsi ก็เคยนำเพลงนี้ไปใช้นะ) ยกขึ้นซด ซ่าสะใจ

บังเอิญหาเจอ นำมาหวนระลึกให้ชมกัน นี่เป็นโฆษณาของ Pepsi ที่เจ๋งมากๆตัวหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าปีไหน คุ้นๆว่าเคยได้ฉายในโรงภาพยนตร์ด้วยนะครับ ตั้งแต่สมัย Thierry Henry, David Beckham, Ronaldinho ยังเป็นนักเตะอยู่เลย

ถ้าจะนิยามหนังเรื่อง Pulp Fiction ด้วยบทเพลงหนึ่ง ผมคิดว่า Miserlou นี้แหละใช่ ตรงตัวที่สุดแล้ว, เป็นบทเพลงที่จะทำให้ผู้ฟังหัวใจเต้นแรง เส้นเลือดสูบฉีด อะดรีนาลีนพลุกพร่าน สมองที่อาจพร่ามึนเมา พอได้ยินแล้วก็จะตาสว่างลุกโพลงขึ้นมาทันที

Quentin Jerome Tarantino (เกิดปี 1963) ผู้กำกับ/นักเขียน/นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Knoxville, Tennessee ตั้งแต่เด็กจนโตแม่ Connie McHugh แต่งงานใหม่ 3 ครั้ง
– Tony Tarantino พ่อแท้ๆมีเชื้อสายสัญชาติ Italian เลิกกับแม่ตอน Quentin อายุได้ 3 ขวบ เห็นว่าไม่เคยพบกับพ่อแท้ๆของตัวเองเลย
– Curtis Zastoupil พ่อคนที่สอง เป็นนักดนตรีแนวๆอาศัยอยู่ Los Angeles ชอบพา Quentin ไปดูหนังผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็ก อาทิ The Wild Bunch (1969), Carnal Knowledge (1971), Deliverance (1972) ฯ เป็นเหตุให้เขาคลั่งความรุนแรงมาก
– Jan Buhusch อยู่กินกันถึง 8 ปีจนกระทั่ง Quentin อายุ 15-16 ตัดสินใจออกจากโรงเรียน Narbonne High School, Los Angeles ได้งานทำเป็นพนักงานฉายหนังโป๊ในโรงภาพยนตร์ Pussycat Theatre (ด้วยการอ้างว่าตัวเองอายุ 18)

ตอนอายุ 22 ได้งานทำที่ Manhattan Beach Video Archives ร้านเช่าวิดีโอที่ Manhattan Beach, California สถานที่ซึ่งวันๆแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เอาแต่ดูหนัง พูดคุยวิจารณ์ และแนะนำหนังกับลูกค้า, ซึ่งที่นี่เอง Tarantino ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก (แต่ไม่สำเร็จ เพราะไฟไหม้ฟีล์มหมดสิ้น) ชื่อ My Best Friend’s Birthday (1986) และพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องแรก True Romance ที่ต่อมาได้รับการสร้างโดยผู้กำกับ Tony Scott เมื่อปี 1993

เข้าสู่วงการภาพยนตร์ครั้งแรก จากการพัฒนาบทภาพยนตร์ร่วมกับ Robert Kurtzman เรื่อง From Dusk Till Dawn (1996) กำกับโดย Robert Rodriguez ซึ่ง Tarantino ร่วมแสดงในหนังด้วยนะครับ, นี่คือหนังเรื่องหนึ่งที่ชาตินี้ผมไม่มีวันลืม ครึ่งแรกกับครึ่งหลังมัน …wtf… บ้าคลั่ง เพี้ยน สติแตก คาดไม่ถึง คุ้นๆว่ามีทั้งหมด 3 ภาค ถ้าใครเป็นแฟนคลั่ง Tarantino ไม่ควรพลาดเฉพาะภาคแรกนะครับ

กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Reservoir Dogs (1992) หนังแนว Neo-Noir, Crime, Thriller ที่ตลอดชั่วโมงครึ่งเอาแต่พูดๆๆ แล้วยิงกันเลือดสาดไม่เกิน 5 นาที ฉายในเทศกาลหนังเมือง Sundance Film Festival ได้รับความนิยมโดยทันที เป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์ ไม่ทำเงินเท่าไหร่แต่น่าจะไม่ขาดทุน

สำหรับผลงานถัดมา เห็นว่าเตรียมการกันตั้งแต่ปี 1990 ร่วมกับ Roger Avary วางแผนเขียนเรื่องสั้นคนละเรื่องโดยมโนไปว่า หนังสั้นจะหาทุนสร้างได้ง่ายกว่าหนังยาว แต่ก็พบว่ายุคนั้นไม่มีสตูดิโอไหนให้ทุนทำหนังสั้นอีกต่อไปแล้ว เลยเปลี่ยนแผนรวบเรื่องสั้นทั้งหลายเป็นเรื่องยาวเดียว ประกอบด้วย หนึ่งโดย Tarantino สองโดย Avary และสามโดยใครก็ได้ที่สนใจ ตั้งชื่อโปรเจคว่า Black Mask (เป็นชื่อนิตยสาร pulp สมัยก่อน)

พักโปรเจคไปเพื่อกำกับ Reservoir Dogs งานเสร็จแล้ว Tarantino ได้เกิดแนวคิดรูปแบบใหม่ขึ้นมา ทำไมเราไม่นำแนวทางของหนังสือ/นิยาย/นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ มาปรับใช้ในการนำเสนอสร้างภาพยนตร์ เล่าเรื่องราวสามเรื่องแยกจากกัน แต่ตัวละครลอยไปลอยมาอยู่ในโลกเดียวกัน

“I got the idea of doing something that novelists get a chance to do but filmmakers don’t: telling three separate stories, having characters float in and out with different weights depending on the story.”

พัฒนาบทภาพยนตร์ต่อ คราวนี้นำเรื่องราวของ Avary ที่คิดขึ้น มาสร้างความสัมพันธ์ร่วมให้อยู่ในโลก/จักรวาลเดียวกัน (แค่คนละมุมมอง) โดยเรื่องราวยังคงมี 3 เรื่องสั่นเช่นเดิม ประกอบด้วย
– เรื่องราวของนักฆ่าที่เพิ่งกลับจากอัมสเตอร์ดัม Vincent Vega (รับบทโดย John Travolta)
– เรื่องราวของนักมวยชกชิงแชมป์ Butch Coolidge (รับบทโดย Bruce Willis)
– เรื่องราวของนักฆ่าที่ตัดสินใจจะเลิกทำงานนี้แล้ว Jules Winnfield (รับบทโดย Samuel L. Jackson)

โดยทั้งสามจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อเนื่องอย่างคาดไม่ถึง โดยสถานที่พื้นหลังเกิดขึ้นที่ Los Angeles, California

เกร็ด: หนังสั้น 3 เรื่องรวมอยู่ในเรื่องเดียว ได้แรงบันดาลใจมาจาก Black Sabbath (1963) หนังอิตาเลี่ยนของผู้กำกับ Mario Bava

เกร็ด2: ทั้งๆที่ Roger Avary ร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์ด้วยกัน แต่ Tarantino เกลี้ยกล่อมขอให้ขึ้นเครดิตแค่ Story By เพราะตัวเองต้องการขึ้นเครดิต Written and Directed by Quentin Tarantino มีความเท่ห์กว่า

หนังได้ทุนสร้างจากสตูดิโอ Miramax ที่ก่อตั้งโดยสองพี่น้อง Weinstein ตั้งแต่ปี 1979 แต่ส่วนใหญ่เป็นแค่ผู้จัดจำหน่ายหนัง เพิ่งถูกควบกิจการโดย Walt Disney Company เมื่อ 30 มิถุนายน 1993 ซึ่งหนังเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องแรกที่ได้รับทุนสร้างจากสตูดิโอ เป็นเงินถึง $8.5 ล้านเหรียญ

สำหรับนักแสดงค่าตัวสูงสุดของหนังขณะนั้นคือ Bruce Willis ที่โด่งดังจาก Die Hard Trilogy แต่เหมือนกำลังอยู่ในช่วงขาลง เพราะหนังเรื่องหลังๆทำเงินไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ซึ่งการแสดงหนังเรื่องนี้ลดค่าตัวลงเล็กน้อย ฉุดกระชากให้กลับไปเป็นดาราดังในกระแสหลักอีกครั้งได้สำเร็จ

รับบท Butch Coolidge นักมวย Prizefighter ที่ตอนต้นเรื่องถูกซื้อให้ล้มมวย แต่ตัดสินใจเอาเงินนั้นไปทุ่มพนันให้เข้าข้างตนเอง แล้วชกแบบสุดแรงเกิดเอาชนะคู่ต่อสู้ตั้งแต่ยกแรก จากนั้นก็พยายามหนีเอาตัวรอดให้พ้นเจ้าพ่อมาเฟียที่กำลังตามล่า เรื่องราวความบัดซบวุ่นๆก็เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

ผมชื่นชอบ Bruce Willis มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ใช่กับบทบาทนักบู๊ Action แต่คือดราม่าส่วนแสดงพลังที่มีความเข้มข้นสมจริงจัง, ก่อนหน้าที่พี่แกจะกลายเป็นนักแสดงภาพยนตร์ Willis คือนักแสดงละครโทรทัศน์ยอดฝีมือ เคยคว้า Emmy Award: Best Actor และ Golden Globe: Best Actor in TV-Series มาแล้ว แต่พอมาเป็นนักแสดงภาพยนตร์ กลายเป็น Typecast เพราะไม่มีใครคิดว่าพี่แกจะเล่นหนังแนวอื่นได้ดี แต่แค่นี้คงเกินพอสำหรับ Willis แล้วละ

John Joseph Travolta (เกิดปี 1954) นักแสดง/นักร้อง/นักเต้น สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Englewood, New Jersey เริ่มต้นจากเป็นนักร้องนักเต้น Broadways เรื่อง Grease ต่อมาได้เล่นละครโทรทัศน์ สำหรับภาพยนตร์ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุค 70s อาทิ Saturday Night Fever (1977), Grease (1978) แต่ทศวรรษถัดมาค่อยๆเงียบหายถดถอย จนกระทั่งเล่นหนังเรื่องนี้ได้ทำให้ Travolta กลับมามีชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้ง ถึงขนาดเข้าชิง Oscar: Best Actor เป็นครั้งที่สอง มีโอกาสเล่นหนังอย่าง Face/Off (1997), Swordfish (2001), Wild Hogs (2007), Hairspray (2007) ฯ แต่ปัจจุบันก็เงียบหายไปจริงๆแล้วละ

รับบท Vincent Vega นักฆ่าที่ไม่เชื่อเรื่องโชคชะตาปาฏิหารย์ เพิ่งกลับจากอัมสเตอร์ดัมประกบคู่ Jules Winnfield เพื่อทำภารกิจบางอย่าง เกิดปาฏิหารย์ขึ้นครั้งแรก…ไม่สนใจ, คืนนั้นจำต้องพาแฟนสาวของเจ้านาย Mia Wallace ไปท่องราตรี แล้วปาฏิหารย์ครั้งที่สองก็เกิดขึ้น ตัดสินใจลืมเลือนทุกสิ่งที่เกิดขึ้น, แต่ความโชคดีมักไม่เข้าออกใครถึง 3 ครั้ง วัดถัดมาก็ถึงครา…

เดิมนั้น Tarantino ต้องการ Michael Madsen ที่เคยรับบท Vic Vega ใน Reservoir Dogs แต่เจ้าตัวกลับไปหนีรับเล่น Wyatt Earp (1994) ของ Kevin Costner แทน, ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ไม่เลว เพราะ Travolta ก็ถือเป็นนักแสดงมีฝีมือ แต่ไม่ค่อยได้รับโอกาสเท่าไหร่ (คงเพราะความเอาแต่ใจของพี่แกเอง) ไฮไลท์การแสดง ผมถือว่าคือฉากเต้นคู่กับ Thurman ลีลาแบบว่า … นี่เป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นจาก Travolta นานนับทศวรรษเลยนะ

Samuel Leroy Jackson (เกิดปี 1948) นักแสดงผิวสีสัญชาติอเมริกา ที่น่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในยุคสมัยนี้, เกิดที่ Washington, D.C. โตขึ้นมีความสนใจชีววิทยาทางทะเล เข้าเรียนที่ Morehouse College ก่อนเป็นเปลี่ยนสถาปนิก แต่ยังไม่ใช่ที่ถูกใจ ตัดสินใจเป็นนักแสดงละครเวที ได้เป็นลูกศิษย์ของ Morgan Freeman แล้วมีบทบาทเล็กๆในภาพยนตร์เรื่อง School Daze (1988), Do the Right Thing (1989) ของผู้กำกับ Spike Lee และ Goodfellas (1990) ของผู้กำกับ Martin Scorsese, ความสำเร็จเริ่มต้นในทศวรรษ 90s จาก Jungle Fever (1991), Patriot Games (1992), Amos & Andrew (1993), True Romance (1993), Jurassic Park (1993) ฯ ร่วมงานกับ Tarantino ครั้งแรกเรื่อง Pulp Fiction (1994) และอีกหลายๆเรื่องถัดมาจนเป็นขาประจำ, นอกจากนี้ Star Wars Prequel Trilogy และ Nick Fury แห่ง Marvel Universe

รับบท Jules Winnfield สหายนักฆ่า Vincent Vega ที่เมื่อพบเจอปาฏิหารย์ครั้งที่ 1 ตระหนักได้รู้ตัวทันที ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหยุดอาชีพฆ่าคนนี้ ใช้เวลาทั้งวันที่เหลือครุ่นคิด (เรียกว่าช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน) ไม่มีความต้องการฆ่าใครอีก แค่หวังทำภารกิจสุดท้ายให้สำเร็จลุล่วง แต่หนทางแห่งการเป็น Shepherd ไม่ง่ายอย่างที่คิด

Tarantino เขียนบทตัวละครนี้โดยมี Jackson อยู่ในใจ แต่เกือบแล้วที่จะไม่ได้รับบท เพราะถูก Paul Calderón ที่มาออดิชั่นทำได้ดีกว่า เป็น Harvey Weinstein ร้องขอให้ Jackson มาทดสอบหน้ากล้องอีกรอบ ถึงสามารถเอาชนะใจ Tarantino ในที่สุด, การแสดงของ Jackson ผมว่าน่าจะยอดเยี่ยมที่สุดของพี่แกแล้วละ ไม่ใช่แค่ตอนสาธยายอ้างถึงข้อความในไบเบิล แต่คือความโคตรเท่ห์ขณะการรับมือกับสองโจรปล้นร้านอาหาร สงบนิ่ง สุขุม เยือกเย็น มีสไตล์ ถ้าไม่เพราะปีนั้นมี Martin Landau จาก Ed Wood (1994) รางวัล Oscar: Best Supporting Actor ต้องได้แน่ๆ

เกร็ด: เดิมนั้นตัวละคร Jules ต้องไว้ Afro ขนาดใหญ่ แต่ Jackson เลือกที่จะใส่แค่วิก Jheri-curled ที่ความยาวกำลังพอดีไม่มากน้อยเกินไป

Uma Karuna Thurman (เกิดปี 1970) นักแสดง โมเดลสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Boston, Massachusetts พ่อของเธอเป็นอาจารย์สอน Indo-Tibetan Buddhist ทำให้ตั้งชื่อเป็นภาษาสันสกฤต อูมา=งดงาม, กรุณา = เห็นอกเห็นใจ ซึ่ง Thurman ก็นับถือศาสนาพุทธด้วยนะครับ, ตอนอายุ 15 เริ่มต้นจากเป็นโมเดล ขึ้นปกนิตยสาร Glamour,  British Vogue เข้าสู่วงการภาพยนตร์ปี 1988 เป็นที่รู้จักกับ Dangerous Liaisons (1988), การรับบทใน Pulp Fiction ทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก แต่แทนที่จะไขว่คว้าความสำเร็จไว้ เธอเลือกฉลองโดยไม่แสดงหนังทุนสูงถึง 3 ปีติด ครบแล้วถึงมีผลงานอย่าง Batman & Robin (1997), Gattaca (1997) ฯ ซึ่งผลงานโด่งดังสุดของ Thurman น่าจะคือ Kill Bill ก็ของผู้กำกับ Tarantino

รับบท Mia Wallace ภรรยาคนสวยของเจ้าพ่อมาเฟีย Marsellus Wallace ไว้ผมทรงบ็อบ ถือบุหรี่แบบแนวๆ (ได้แรงบันดาลใจจาก Anna Karina เรื่อง Vivre sa vie) นิสัยรักสนุก เอาแต่ใจ คิดหน้าไม่ถึงหลัง เป็นราชินีในโลกมืดจนกระทั่งได้พานพบประสบการณ์เฉียดตาย เลยคงรู้จักเจียมตน ระวังตัวเองมากขึ้น

สตูดิโอ Miramax มีความสนใจว่าจ้าง Holly Hunter หรือ Meg Ryan, Alfre Woodard, Meg Tilly แต่ Tarantino เลือก Thurman ตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน คงเพราะภาพลักษณ์เมื่อใส่ทรงผมบ็อบ มีความคล้ายกับ Anna Karina แรงบันดาลใจของตัวละครนี้อย่างยิ่ง

สำหรับนักแสดงสมทบอื่น
– Harvey Keitel หนึ่งนักแสดงคนโปรดของ Tarantino รับบท ‘นักเก็บกวาด’ Winston Wolfe ที่สามารถแก้ไขทุกปัญหาความผิดพลาด, Keitel ได้ร่วมงานกับ Tarantino ตั้งแต่ Reservoir Dogs (เห็นว่าควักเงินส่วนตัวช่วยสร้างหนังด้วย) และเคยรับบทตัวละครคล้ายๆกันนี้ (ชื่อว่า Cleaner) จากหนังเรื่อง Point of No Return (1993)

– Ving Rhames นักแสดงผิวสีร่างใหญ่ รับบท Marsellus Wallace เจ้าพ่อมาเฟียที่ใช้เงินซื้อทุกสิ่ง แม้จะมีความคับแค้นสาหัสกับ Butch แต่เมื่อได้พบเจอเหตุการณ์ที่ชั่วร้ายกว่า อย่างอื่นก็ไม่สำคัญสำหรับเขาแล้ว, การแสดงของ Rhames ถือว่าเป็นใบเบิกทางสู่หนังทุนสูงอย่าง Mission Impossible (1996), Con Air (1997),  Out of Sight (1998) ฯ

– Christopher Walken รับบท Captain Koons ทหารผ่านศึกจากสงครามเวียดนาม (เป็นภาพลักษณ์ของ Walken ที่ติดมาจาก The Deer Hunter) ที่ถึงจะออกแค่ฉากเดียว แต่บทพูดของตัวละครนี้น่าจะขำหนักสุดในหนังแล้ว

ถ่ายภาพโดย Andrzej Sekuła ตากล้องสัญชาติ Polish เคยร่วมงานกับ Tarantino ตอน Reservoir Dogs (1992), หนังใช้ฟีล์ม 50 ASA ด้วยเหตุผลไม่ต้องการให้มี film grain เห็นเป็นจุดหยาบๆเหมือนกระดาษทราย แต่ต้องการภาพที่มีความมันเงา (lustrous) คล้ายๆกับปกหนังสือ Pulp มีความ Epic ทั้งๆที่คุณภาพสุด Cheap

งานภาพส่วนใหญ่ของหนังเป็น Long-Take ปล่อยให้นักแสดงพูดคุยสนทนากันยาวเหยียด ทั้งที่เหมือนจะไร้สาระ แต่ถ้าคิดวิเคราะห์ฟังทัน (ดูหนังหลายๆรอบคงตามได้) ก็จะรู้ว่ามีการวางแผนเลือกหัวข้อสนทนาได้อย่างเหมาะสมรัดกุม ไม่มีไร้สาระนอกประเด็น เข้ากับสถานการณ์ในช่วงจังหวะต่างๆอย่างลงตัว, ซึ่งจะมีหลายครั้งหนังจะมีการพูดวนซ้ำประเด็นเดิม (recurring speech) กับบุคคลที่ต่างออกไป เช่น การอ้างข้อความจากไบเบิล Ezekiel 25:17 ของ Jules ผู้ชมจะได้ยินทั้งหมด 3 ครั้งในหนัง (แต่ตัวละครถือว่าพูดเพียง 2 ครั้งใน 1 วันเท่านั้น)

กับฉากที่ผมฮาสุดในหนัง เป็นช็อตเดียว Long-Take ฉายเดี่ยวซีนเดียวของ Christopher Walken อธิบายความสำคัญของนาฬิกาเรือนนี้ (โคตรเพ้อเจ้อ)

หนังเต็มไปด้วย Homages คารวะทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต, อย่างฉากในร้าน Jack Rabbit Slim ก็มีหลายอย่างที่ได้อิทธิพลแรงบันดาลใจมา
– การเต้นของ Travolta กับ Thurman จาก Bande à part (1964)
– พนักงานเสริฟ อาทิ Marilyn Monroe, Mamie Van Doren, Buddy Holly, James Dean ฯ

อาวุธที่ Butch หยิบขึ้นมา
– ค้อน จากหนังเรื่อง The Toolbox Murders
– ไม้เบสบอล จากหนังเรื่อง Walking Tall (1973), The Untouchables
– เลื่อย จากหนังเรื่อง The Texas Chain Saw Massacre (1974), Evil Dead II (1987)
– ดาบ Katana จากหนังซามูไรทั้งหลายของญี่ปุ่น อาทิ Seven Samurai (1954), The Yakuza (1975), Shogun Assassin (1980) ฯ

รายการโทรทัศน์ที่ปรากฎ อาทิ Speed Racer, Clutch Cargo, The Brady Bunch, The Partridge Family, The Avengers, The Three Stooges, The Flintstones, I Spy, Green Acres, Kung Fu, Happy Days, Fox Force Five ฯ

สำหรับกระเป๋าเอกสารรหัส 666 (ตัวเลขซาตาน) หนังไม่มีการเปิดเผยว่าข้างในมีอะไร แต่เห็นว่าความตั้งใจแรกของผู้กำกับคือเพชรหลายกะรัต (ของมีค่าต่อเจ้านาย ที่เด็กพวกนี้ขโมยไป) แต่สุดท้ายตัดสินใจทำเป็น MacGuffin ไปเสียดีกว่า คือไม่เปิดเผยว่าคืออะไร เพราะไม่ได้มีสาระสลักสำคัญอะไรต่อหนัง, กับคนที่เคยดู Grindhouse (2007) ผลงานหนังควบกับ Robert Rodriguez จะมีฉากหนึ่งที่เป็นการเปิดกระเป๋าเอกสาร เห็นว่า Tarantino ถ่ายสิ่งที่อยู่ในกระเป๋าเอกสารไว้ด้วยนะครับ แต่ในหนังจะพอดีเป็นช่วงฟีล์มขาด

ช็อตที่ Vincent เปิดกระเป๋าเห็นสิ่งที่อยู่ภายใน เห็นว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่ง Homages คารวะหนังเรื่อง Kiss Me Deadly (1955) ตัวละครของ Gaby Rodgers มองเห็นสิ่งที่อยู๋ในกระเป๋าเอกสารแล้วอ้าปากหวอ

ตัดต่อโดย Sally Menke ขาประจำของ Tarantino ที่ด่วนเสียชีวิตเร็วไปหน่อยเมื่อปี 2010, นักวิจารณ์ Todd McCarthy แห่ง Variety ยกย่อง Sally Menke ว่าเป็นผู้ทำให้ นิยามการตัดต่อมีความแม่นยำมากขึ้น ‘Sally Menke’s editing reps the definition of precision.’

ด้วยความที่การลำดับเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ ไม่มีจุดหมุนจุดสังเกตอะไรทั้งนั้น เรียกว่า ‘out of chronological order’ แต่เราสามารถแบ่งเรื่องราวออกได้ 7 ตอน (ตาม Title Card ที่ปรากฎคั่นขึ้นมาระหว่างเรื่อง)

  1. Prologue – The Diner (Part 1)
  2. Prelude to ‘Vincent Vega กับภรรยาของ Marsellus Wallace’
  3. Vincent Vega กับภรรยาของ Marsellus Wallace
  4. Prelude to ‘The Gold Watch’
  5. The Gold Watch
  6. The Bonnie Situation
  7. Epilogue – The Diner (Part 2)

ทั้ง 7 ตอนนี้ ถ้าเรียงลำดับตามเวลาการเกิด จะได้ว่า 4 –> 2 –> 6 –> 1 –> 7 –> 3 –> 5 โดยตอนที่ 1 กับ 7 และ ตอนที่ 2 กับ 6 จะมีความเหลื่อมล้ำกันเล็กน้อย แต่ใช้การนำเสนอคนละมุมมองตัวละคร

การอธิบายลักษณะนี้ จะทำให้ไขข้อสงสัยตัวละครหนึ่งที่เสียชีวิตในตอนที่ 5 แต่ไฉนกลับยังมีชีวิตอยู่ต่อในตอนที่ 6 กับ 7 นั่นเพราะเรื่องราวในตอนที่ 5 เมื่อเรียงตามลำดับเวลาจะพบว่าอยู่หลังสุดเลย กล่าวคือ ในระหว่างช่วงเวลาส่วนที่ 6 กับ 7 ตัวละครนั้นยังมีชีวิตอยู่

ปกติแล้วหนังของ Tarantino ถือว่าไม่มีเครดิตเพลงประกอบ (แต่ได้ข้อยกเว้นแล้วกับ The Hateful Eight) เป็นการเลือกบทเพลงในรสนิยมของผู้กำกับ ที่มีความหลากหลาย อาทิ surf music, rock and roll, soul, pop songs

บทเพลง You Never Can Tell ขับร้องโดย Chuck Berry ในฉากที่ Travolta เต้นคู่กับ Thurman, เพราะ Travolta เป็นนักเต้นยอดฝีมืออยู่แล้ว แต่คงไม่ได้เต้นมาเป็นทศวรรษ ลีลาต้องบอกว่ากวนประสาทได้ใจจริงๆ

การที่ตัวละครอยู่ดีๆก็ลุกขึ้นมาเต้นแบบไม่มีปี่ขลุ่ยนี้ เริ่มต้นได้แรงบันดาลใจจากหนังของ Jean-Luc Godard เรื่อง Bande à part (1964) ท่าเต้นก็กึ่งๆได้แรงบันดาลใจมาเช่นกัน

บทเพลง Girl You’ll Be a Woman Soon ต้นฉบับแต่งโดย Neil Diamond เมื่อปี 1967 ได้รับการ Cover ใหม่โดยวงดนตรีร็อค Urge Overkill ที่ทำให้กลายเป็นวงมีชื่อขึ้นมาทันที, ผมเชื่อว่า ฉากนี้ Mia คงกำลังคิดหาทางยั่วยวน Vincent เหนี่ยวรั้งกายใจ ไม่ใช่แค่นวดฝ่าเท้าแน่ๆ (ชื่อเพลงมันส่อเหลือเกินว่ากำลังจะเสียตัว) แต่กลับมีเหตุการณ์ WTF คาดไม่ถึงเกิดขึ้นมาก่อน

สำหรับบทเพลงปิดท้ายของไหน คงไม่มีอะไรเหมาะไปกว่า Surf Rider ของวง The Lively Ones แต่เพลงอย่างเดียวก็กระไรอยู่ จะบอกว่าท่าเดินของ Jules and Jim ไม่ใช่แล้ว Jules กับ Vincent เหมือน …dorks… จากสูทเท่ห์ๆ กลายเป็นเสื้อยืดกางเกงขาสั้น หมดกันมาดนักฆ่าเลือดเย็น

เกร็ด: dorks คือคำแสลงที่คล้ายๆ geeks/nerd ภาพลักษณ์ของผู้ใหญ่ที่ทำตัว/แต่งตัวเหมือนเด็กวัยรุ่น ไม่ได้มีความเข้ากับตนเองแม้แต่น้อย

Pulp Fiction มีเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความรุนแรงทุกขนาด อาทิ ยาเสพติด, ข่มขืน, เป็นชู้, ฆ่าคน, สินบน, การพนัน ฯลฯ เหล่านี่คือความชั่วร้ายนานับประการที่เกิดขึ้นบนโลก แต่มันจะมีหนทางออกจากวังวนพวกนี้ไหม?

กับ 3 เรื่องราวของหนัง พวกเขาทั้งหลายได้พบเจอเหตุการณ์เฉียดตายสุดบ้าคลั่งเข้ากับตัวเอง แล้วยังสามารถมีชีวิตเอาตัวรอดกลับออกมาได้, คนส่วนใหญ่เมื่อเจอเรื่องแบบนี้ ก็จะเกิดสำนึกในสิ่งที่ทำ บางคนจะพอแล้วเลิกทุกสิ่งอย่าง ไม่เอาชีวิตมาเสี่ยงอะไรโง่ๆแบบนี้อีก แต่ก็มีบางคนที่ไม่เชื่อ ไม่สนใจลางสังหรณ์/คำเตือน แห่งชีวิตนี้

มันน่าทึ่งนะครับ กับมนุษย์ที่ทั้งชีวิตไม่เคยยี่หร่าต่ออะไรเลย ฆ่าคนเป็นผักปลา แต่เมื่อได้พบปาฏิหารย์ รอดชีวิตจากเหตุการณ์เฉียดตายที่บ้าคลั่ง กลับเริ่มตระหนักคิดได้ ถึงขนาดยินยอมให้อภัยโทษกับผู้อื่นที่เคยเคียดแค้นแทบจะฆ่ากันตาย แต่พอพบผ่านเจอเรื่องร้ายๆ เอาตัวรอดมาด้วยกัน ปัญหาระหว่างเราสองคนแค่นี้ เรื่องขี้ประติ๋วไปเลย

จะมีตัวละครหลักๆเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ต่อให้ปาฏิหารย์ เหตุการณ์เฉียดตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ก็ดื้อด้านไม่ยอมเชื่อหัวชนฝา หลายคนน่าจะคาดเดาได้ว่าคือพระเอกของหนัง นั่นทำให้ผลลัพท์ชะตากรรมของเขา ต้องจบสิ้นดับดิ้นลงอย่างไร้ค่าคาห้องส้วม (สถานที่เราจะเห็นแทบทุกตัวละครในหนัง ต้องเข้าส้วมเป็นชีวิตจิตใจ)

เกร็ด: ห้องส้วม Tarantino ให้นิยามว่าเป็นสถานที่ชะล่าใจของมนุษย์ มักคิดว่าคงไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปลอดภัยที่สุด เลยสามารถกระทำการปลดปล่อยภาระของตนเองออกมาได้

ในบรรดา 3 เรื่องของหนัง ผมชอบเหตุการณ์เฉียดตายของ Butch กับ Marsellus ที่สุดแล้ว ฉากห้องเชือดเป็นอะไรที่บ้าคลั่งรุนแรงถึงขีดสุด ไม่เคยหัวใจเต้นแรง สั่นสะท้าน ร่างกายร้อนผ่าว จากการดูหนังเรื่องหนึ่งได้แรงขนาดนี้ ‘เxยเอ้ย’ เป็นคำอุทานเดียวที่ผมพึมพัมออกมาได้ ผู้ชายเห็นยังขนาดนี้ แล้วคุณผู้หญิงละ? จินตนาการไม่ออกเลย

The path of the righteous man is beset on all sides by the inequities of the selfish and the tyranny of evil men. Blessed is he who in the name of charity and goodwill shepherds the weak through the valley of darkness, for he is truly his brother’s keeper and the finder of lost children. And I will strike down upon thee with great vengeance and furious anger those who attempt to poison and destroy my brothers. And you will know my name is the Lord when I lay my vengeance upon thee.

– Ezekiel 25:17

ไม่ใช่ว่า Tarantino เป็นคนเคร่งศาสนาเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์หรือยังไง ถึงได้รู้จักข้อความนี้จากไบเบิ้ลนี้นะครับ, ศาสนาของ Tarantino คือภาพยนตร์ เขาเคยได้ยินประโยคนี้จากหนังเรื่อง The Bodyguard (1976) มันเท่ห์ดีก็เลยเอามาใช้

แซว: บทสนทนาในหนังของ Tarantino มีความเวิ่นเว้อยืดยาว ราวกับคำร้องของบทเพลง Musical ซึ่งข้อความจากไบเบิ้ลประโยคนี้ เป็นหนึ่งใน Track อัลบัมเพลงประกอบหนังด้วย

มีนักวิเคราะห์เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจของ Jules (ตัวละครของ Jackson) และตอนที่ Butch (ตัวละครของ Willis) ตัดสินใจหันกลับมาช่วย Wallace (พี่ดำใหญ่ Rhames) ทั้งๆที่ก็เป็นศัตรู สามารถหนีออกจากเหตุการณ์นั้นไปได้ทันที นี่เรียกว่า ‘spiritual awakening’ ในทางศาสนาก็คือการค้นพบหนทางออก/หลุดพ้น หรือในหนังแนวกำลังภายใน ถือเป็นการบรรลุขั้นหนึ่งของการฝึกวิชา, เราจะเห็นใจความลักษณะนี้ คล้ายๆกันในหนังของ Tarantino หลายๆเรื่อง

มีนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ให้คำนิยามหนังเรื่องนี้ว่าคือจุดเริ่มต้นของ Post-Modernism หรือแนวคิดหลังยุคนวนิยม, สาเหตุเพราะส่วนผสมต่างๆที่คลุกเคล้าจนกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ แทบทั้งหมดได้ถูกอ้างอิง (หรือ Homage) จากสื่อ’ภาพยนตร์’ในอดีตแทบทั้งหมด (แม้บางอย่าง อาทิ ข้อความในคำภีร์ไบเบิ้ล แต่นั่นก็มาจากหนังเรื่องหนึ่งเช่นกัน)

คงต้องกล่าวถึงยุคนวนิยม (Modernism) เสียก่อน หมายถึง ‘ยุคสมัยใหม่’ ที่ให้ความสนใจในเรื่องศิลปะ, วรรณคดี, วิทยาการ, สถาบัน, เหตุผล, การศึกษา, เศรษฐกิจ, การเมือง, เทคโนโลยี, วิทยาศาสตร์, รูปแบบของชีวิต, ความจริงของชีวิตบนฐานของความเจริญเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก กล่าวคือเป็น ช่วงเวลาแห่งความเจริญทางวัตถุ, ความมั่นคงทางสังคม และความรู้เข้าใจตนเอง

เพราะโลกได้มีวิวัฒนาการ พัฒนาการทางความคิด องค์ความรู้ เป็นเหตุให้มนุษย์มีความเฉลียวฉลาดมากขึ้น รับรู้จักความจริง (Truth), เหตุผล (Rationality) ด้วยวิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), การเกิดขึ้นของทุนนิยม (Emergence of capitalism), การแผ่อำนาจทางตะวันตก (Western imperialism), การแพร่กระจายความรู้/อำนาจทางการเมือง (Spread of literature and political power), การขับเคลื่อนทางสังคม (Social mobility) ฯ เหล่านี้ทำให้เกิด ‘ความทันสมัย’ ขึ้นบนโลก

สำหรับยุคหลังยุคนวนิยม (Post-Modernism) คือแนวความคิดที่มาหลังจากยุค Modernism เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนปฏิเสธสิ่งเดิมๆที่เกิดขึ้นในยุคนวนิยม มีความต้องการโหยหาเสรีภาพ อิสระของบุคคล, ไม่เชื่อในโลกของความจริง, ไม่เชื่อเรื่องความเป็นสากล เพราะคิดว่าแต่ละคนแต่ละวัฒนธรรมนั้นมีเหตุผลของตัวเอง ไม่ควรจะให้ใครมาตัดสินว่าอันไหนสิ่งใดดีที่สุด แล้วคิดว่าสิ่งนั้นต้องดีสำหรับคนอื่นด้วย

Post-Modernism จึงทำให้เกิดการถวิลหา หวนระลึกถึงความคลาสสิก เป็นยุคที่นำเอาความแข็งกร้าวตรงไปตรงมา สัจจะแห่งเนื้อแท้มารวมกับความนุ่มนวลอ่อนช้อย, สรุปก็คือ Post-Modernism คือการสร้างรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ทั้ง Modern และ Classic ดั้งเดิม แต่กลับเป็นการสร้างลูกผสมระหว่างทั้งสองขึ้นมา

Pulp Fiction ถือเป็นภาพยนตร์ที่มีส่วนผสมของทั้งความ Modern และ Classic ด้วยรูปแบบวิธีการใหม่ที่ไม่เคยได้รับการนำเสนอมาก่อน ขณะเดียวกันก็มีกลิ่นอายความเก่าคลาสสิก นี่เองจึงทำให้หนังถูกจัดพวกใหม่ว่า Post-Modernism

วงการภาพยนตร์ยุค Modernism เริ่มนับจาก Breathless (1960) ของผู้กำกับ Jean-Luc Godard ส่วน Post-Modernism เริ่มต้นจาก Pulp Fiction (1994) เรื่องนี้นี่แหละ

ด้วยทุนสร้างประมาณ $8 – 8.5 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ในอเมริกา $107.93 ล้านเหรียญ (เป็นหนัง Indy เรื่องแรกที่สามารถทำเงินเกิน $100 ล้านเหรียญในอเมริกา) รวมทั่วโลก $213.9 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จล้นหลาม

นับตั้งแต่คว้ารางวัล Palme d’Or ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes ตลอดทั้งปีผู้กำกับและนักแสดงก็เดินทางไปรับรางวัลทั่วยุโรป แต่กับ Oscar เข้าชิง 7 สาขา ได้มาเพียง 1 รางวัลเท่านั้น
– Best Picture พ่ายให้กับ Forrest Gump
– Best Director
– Best Actor (John Travolta)
– Best Supporting Actor (Samuel L. Jackson)
– Best Supporting Actress (Uma Thurman)
– Best Original Screenplay ** ได้รางวัล
– Best Film Editing

คณะกรรมการ Academy สมัยนั้นคงภูมิใจกับ Forrest Gump มากๆ ผมไม่มีอคติใดๆกับหนังเรื่องนี้นะ แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยคู่ควรกับรางวัลใหญ่เท่าไหร่ แต่เพราะ Pulp Fiction ไม่ใช่หนังในสไตล์ปกติของ Hollywood เลยเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วที่จะคว้ารางวัลใหญ่

เกร็ด: ปีนี้ยังมี The Shawshank Redemption อีกเรื่องที่ได้เข้าชิง Best Picture ซึ่งผมว่ายังดูมีภาษีดีกว่า Forrest Gump เป็นไหนๆ

ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ ผมไม่ได้หลงใหลคลั่งไคล้อะไรกับหนังของ Tarantino มากนัก เพราะล้วนเต็มไปด้วยความรุนแรง-เพ้อเจ้อ-บ้าคลั่ง-ไร้สาระ ชื่นชมในรสนิยมความเป็นส่วนตัวที่ชัด-เจ๋ง-แจ๋วของผู้กำกับ แต่ใช่ว่าจะถูกโฉลกกับทุกคน

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะถือว่า Pulp Fiction คือ Masterpiece ของ Tarantino ผมก็คิดว่าใช่นะครับ รับชมหนังของพี่แกมาก็น่าเกือบครบทุกเรื่อง ไม่มีเรื่องไหนยอดเยี่ยม บ้าคลั่ง ทำได้ดีกว่านี้อีกแล้ว

แนะนำกับคอหนัง Neo-Noir ตลกเครียด อาชญากรรม ชื่นชอบความรุนแรง, คอหนัง Art/Indy แนวๆดูยาก, แฟนคลั่งผู้กำกับ Quentin Tarantino และนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง John Travolta, Samuel L. Jackson, Uma Thurman, Tim Roth, Bruce Willis ฯ

จัดเรต 18+ ไม่เหมาะกับคนโลกสวย ไม่นิยมความรุนแรง Drug, Rape, อาชญากรรม, คำพูดหยาบคายส่อเสียด

TAGLINE | “Pulp Fiction คือตั๋วหนังราคาถูกของ Quentin Tarantino แต่คุณภาพความบันเทิงกลับล้นคลั่ง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: