Pyaasa

Pyaasa (1957) Indian : Guru Dutt ♥♥♥♥♥

(28/8/2020) มนุษย์มีความ’กระหาย’ที่จะมีชีวิต ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่เมื่อ Guru Dutt พานพบเห็นความละโมบโลภ มักมาก เห็นแก่ตัว หญิงสาวขายเรือนร่างและจิตวิญญาณเพื่อเงินทอง ความสุขสบาย อิ่มกาย เลยค้นพบว่านั่นไม่ใช่โลกที่ตนเองปรารถนาอาศัยอยู่ หดหู่สิ้นหวัง หมดสิ้นเรี่ยวแรงกำลังใจ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

“possibly one of the most remarkable transpositions of poetry on screen”.

ผู้กำกับ Olivier Assayas

ในบรรดาภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับกวี มีรำพันบทกลอน ขับขานทำนองเสนาะ ผมครุ่นคิดว่า Pyaasa (1957) น่าจะมีความไพเราะเพราะพริ้งที่สุดแล้ว! ต่อให้ฟังภาษาฮินดีไม่รู้เรื่อง แต่ความงดงามสามารถพบเห็นได้จากนัยยะความหมายซ่อนเร้น ถึงขนาดว่าอาจทำให้มุมมอง ทัศนคติ เป้าหมายชีวิตของคุณเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่รู้ตัว

ซี่งวิธีการที่ Guru Dutt ใช้รำพันบทกวี ไม่ใช่แค่การอ่านสดๆด้วยทำนองเสนาะ แต่ใส่ดนตรีประกอบท่วงทำนอง และมีการร้อง-เล่น-เต้นรำ ให้สอดคล้องเข้ากับเนื้อหาสาระ เทคนิคดังกล่าวได้กลายเป็นรากฐานให้ภาพยนตร์แนว Muscial ของวงการ Bollywood มาจนถีงปัจจุบัน

Pyaasa (1957) เป็นภาพยนตร์ที่มีบรรยากาศค่อนข้างตีงเครียด ซีเรียส อึดอัดอั้น แม้มีการแทรกใส่มุกตลกเข้ามามากมาย แต่ส่วนใหญ่เฉิ่มเฉยตกยุคสมัยไม่ขำสักเท่าไหร่ ถีงอย่างนั้นเนื้อหาสาระกลับยังคงทรงคุณค่า อมตะเหนือกาลเวลา แฝงข้อคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์/เป้าหมายชีวิต สะท้อนสภาพสังคมที่ถูกครอบงำโดยระบอบทุนนิยม ส่งผลกระทบให้จิตใจคนแปรเปลี่ยนไป กาลปัจจุบันกลับย่ำแย่เลวร้ายลงยิ่งกว่าอดีตเสียอีก


Guru Dutt ชื่อจริง Vasanth Kumar Shivashankar Padukone (1925 – 1964) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Indian เกิดที่ Padukone, British India (ปัจจุบันคือ Udupi District) ในครอบครัว Konkani Hindu ใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ Bhowanipore, Kolkata สามารถพูดภาษา Bengali ได้อย่างคล่องแคล่ว, พออายุ 19 ปี ออกเดินทางสู่ Bombay เซ็นสัญญากับ Prabhat Film Company เริ่มจากนักแสดงสมทบ, ผู้ช่วยผู้กำกับ Vishram Bedekar, ออกแบบท่าเต้น, ได้รับชักชวนจากเพื่อนสนิท Dev Anand กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Baazi (1951) ได้แรงบันดาลใจจากหนังนัวร์ Gilda (1946), ผลงานเด่นๆ อาทิ Aar Paar (1954), Mr. & Mrs. ’55 (1955), Pyaasa (1957), แต่ความล้มเหลวไม่ทำเงินของ Kaagaz Ke Phool (1959) ตัดสินใจเลิกกำกับแล้วเป็นนักแสดงเพียงอย่างเดียว Chaudhvin Ka Chand (1960), Sahib Bibi Aur Ghulam (1962) ฯ

ได้รับฉายา ‘Orson Welles แห่ง Bollywood’ สไตล์ของ Dutt เลื่องลือชาด้านการจัดแสง-เงา (กลิ่นอายหนังนัวร์), กล้องขยับเคลื่อนไหลอย่างมีชีวิตชีวา สะท้อนอารมณ์ความรู้สีก/สภาพจิตวิทยาตัวละคร, ขณะที่เนื้อเรื่องราวมักสะท้อนด้านมืดของสังคมและจิตใจคน

สำหรับ Pyaasa ได้แรงบันดาลใจจากคำคม/บทกวีกรีกโบราณ (old Greek epigram)

“Seven wealthy towns contend for Homer dead / Through which the living Homer begged his bread”.

Homer คือนักกวีชาวกรีกในตำนาน เชื่อกันว่าเป็นผู้ประพันธ์มหากาพย์ Iliad และ Odyssey ตลอดทั้งชีวิตขอทานแลกเศษขนมปัง แต่หลังจากหมดสิ้นอายุขัยกลับมีชื่อเสียงโด่งดัง ถีงขนาด 7 เมืองใหญ่สมัยนั้น ต่างสรรหาวิธีกอบโกยผลประโยชน์โดยใช้นามของเขาเป็นข้ออ้าง

เกร็ด: 7 เมืองร่ำรวย ประกอบด้วย Chios, Athens, Rhodes, Colophon, Argos, Smyrna และ Salamis

ร่วมงานกับ Abrar Alvi (1927 – 2009) นักเขียนสัญชาติอินเดีย เพื่อนสนิทขาประจำของ Guru Dutt ซี่งก็ได้นำประสบการณ์ชีวิตเมื่อครั้นวัยรุ่น เคยเที่ยวเตร่ซ่องโสเภณี มาแทรกใส่ลงไปในเนื้อเรื่องราว

เรื่องราวของ Vijay (รับบทโดย Guru Dutt) นักกวีตกอับเพราะผลงานไม่ได้รับการตีพิมพ์ ถูกพี่น้องขับไล่ผลักไสส่งไม่ให้อยู่บ้าน นำผลงานไปชั่งกิโลขาย, แฟนสาว Meena (รับบทโดย Mala Sinha) บอกเลิกราแล้วไปคบหาเจ้าของสำนักพิมพ์ Mr. Ghosh (รับบทโดย Rehman) มีชีวิตร่ำรวยสุขสบาย, วันหนี่งมีโอกาสพบเจอโสเภณีสาว Gulabo (รับบทโดย Waheeda Rehman) แม้มิได้รังเกียจแต่พยายามปิดกั้นตนเอง เพราะครุ่นคิดว่าคงไม่สามารถมอบชีวิตที่เป็นสุขให้เธอได้

เรื่องวุ่นๆเกิดขี้นเมื่อ Vijay บริจาคเสื้อคลุมให้ขอทานคนหนี่ง ซี่งบังเอิญถูกรถไฟทับเสียชีวิต แล้วเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเขาที่ฆ่าตัวตาย ผลงานทั้งหมดจีงได้รับการตีพิมพ์ประสบความสำเร็จล้นหลาม ขณะที่ชายหนุ่มค่อยๆได้สติกลับคืนมา แต่ดันไม่มีใครอยากเชื่อว่าหมอนี่คือนักกวีชื่อ Vijay


เดิมนั้น Guru Dutt ต้องการมอบบทนำให้ Dilip Kumar เจ้าของฉายา ‘Tragedy King’ แต่ถูกบอกปัดปฏิเสธโดยไม่ทราบสาเหตุ เลยทำให้เขาต้องตัดสินใจเล่นเป็น Vijay ด้วยตนเอง

Vijay เป็นนักกวีผู้เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน ‘idealist’ ชอบขับขาน/ประพันธ์บทกลอนที่สะท้อนห้วงอารมณ์รู้สึก ความประทับใจต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้นขณะนั้น แม้เป็นคนมีความสามารถแต่กลับไม่ค่อยได้รับโอกาสจากสำนักพิมพ์ แถมเจ้าตัวยังปฏิเสธประณีประณอมอ่อนข้อต่อสิ่งขัดย้อนแย้งอุดมการณ์ตนเอง

อุดมการณ์ของ Vijay โหยหาโลกที่มีความบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์ จริงใจ ไม่ใช่ลวงหลอก กลับกลอก โป้ปดหลอกลวง เอื้อยถ้อยคำหวานแต่หิวโหยความสุขสำราญ ปากว่าตาขยิบ สนเพียงธุรกิจ เงินๆทองๆ ชื่อเสียงความสำเร็จ มีชีวิตเลิศหรูสุขสบาย แต่ภายในบิดเบี้ยวคอรัปชั่น

ด้วยเหตุนี้การแสดงออกของ Dutt สีหน้าอมทุกข์ทรมาน เพียงอดีตวันวานหวนระลึกความทรงจำอันแสนหวาน ลึกๆยังคงวาดฝันถึงโอกาส ความสำเร็จ อาจจะมีสักแห่งหนก็ได้ที่เห็นคุณค่าความสำคัญของตนเอง … แต่สุดท้ายเขาก็รับรู้สำนึก เพราะขนาดตัวตายกลับไม่วายพบเห็นความคดโกง คอรัปชั่น ทำกันได้ไม่ว่างเว้นเพื่อชื่อเสียง ผลประโยชน์ เงินทอง สำหรับเขาสิ่งเหล่านี้ไม่มีความอันใด ปฏิเสธทุกสิ่งอย่างแล้วเดินจากไป


Waheeda Rehman (เกิดปี 1938) นักแสดงหญิง สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Chengalpet, British India (ปัจจุบันคือ Tamil Nadu, India) ในครอบครัว Dakhini Muslim วัยเด็กวาดฝันอยากเป็นหมอ แต่ด้วยฐานะยากไร้เลยต้องทำงานช่วยเหลือที่บ้าน มีความสามารถด้านการเต้นเลยมีโอกาสขึ้นเวทีการแสดง บังเอิญไปเข้าตาแมวมองชักนำพามาแสดงภาพยนตร์ภาษา Telugu เรื่องแรก Rojulu Maraayi (1955), ไม่นานเท่าไหร่ก็กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ถูกผู้กำกับ Guru Dutt ลากพาตัวมายัง Bombay ผลงานเด่นๆ อาทิ Pyaasa (1957), Kaagaz Ke Phool (1959), Chaudhvin Ka Chand (1960), Sahib Bibi Aur Ghulam (1962), Guide (1965) ฯ

รับบท Gulabo โสเภณีสาว ดอกกุหลาบริมทาง วันๆมักถูกกลั่นแกล้งดูถูกเหยียดหยาม ไม่ได้รับการยินยอมรับจากสังคม แต่ถึงร่างกายสกปรกโสมม จิตใจเธอนั้นยังคงสดใสบริสุทธิ์ โหยหาความสุขที่อยู่ภายใน ตกหลุมรักบทกวีของ Vijay เมื่อมีโอกาสพบเจอเสนอตนให้ความช่วยเหลือ อยากให้ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ ไม่ได้ต้องการชื่อเสียง เงินทอง แค่ตอบแทนความเป็นสุภาพบุรุษที่เคยมอบให้

แม้แรกเริ่มต้นตัวละครนี้จะใช้มารยาเสน่ห์ ชักจูง ลวงล่อหลอกชายหนุ่มให้ซื้อบริการ แต่หลังจากได้รับคำปฏิเสธและค้นพบว่าเขาคือบุคคลที่ตนเพ้อใฝ่ฝัน แสดงอาการตกหลุมรัก ต้องการให้ความช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุน พร้อมอุทิศชีวิตทุกสิ่งอย่างโดยไม่หวังผลอะไรตอบแทน

ผมไม่ค่อยรับรู้สึกสักเท่าไหร่ว่า Rehman มีความเซ็กซี่ ยั่วเย้ายวน สำหรับภาพลักษณ์โสเภณี เพราะเธอดูบริสุทธิ์ใสไร้เดียง อ่อนเยาว์วัยต่อโลกเสียมากกว่า ถึงอย่างนั้นการแสดงในส่วนอุทิศตนเองให้กับความรัก ต้องชมเลยว่ามีความหนักแน่น สายตาแน่วแน่ คำพูดมั่นคง ไม่มีอะไรสามารถแปรเปลี่ยนแปลงความประสงค์ได้อย่างแน่นอน


Mala Sinha ชื่อจริง Alda Sinha (เกิดปั 1936) นักแสดงหญิง สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, British India ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการร้องเพลง เต้นรำ ได้รับโอกาสเข้าสู่วงการตั้งแต่ยังเด็ก มีผลงานภาพยนตร์ภาษา Bengali พอเติบโตขึ้นพบเจอ Geeta Bali แนะนำเธอให้รู้จักผู้กำกับ Kidar Sharma ได้รับเลือกรับบทนำ Rangin Raaten (1956), แจ้งเกิดโด่งดังจาก Pyaasa (1957), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Phir Subah Hogi (1958), Dhool Ka Phool (1959), Bahurani (1963), Jahan Ara (1965), Himalay Ki God Mein (1966) ฯ

รับบท Meena เพื่อนร่วมชั้นเรียนของ Vijay เคยลุ่มหลงในคารมบทกวี เกินเลยเถิดไปถึงไหนไม่มีใครรู้ แต่จู่ๆเมื่อเรียนจบกลับเป็นฝ่ายบอกเลิกร้างรา แล้วไปคบหา Mr. Ghosh ผู้มีความร่ำรวย ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อทั้งสองหวนกลับมาพานพบเจอ อดีตอันแสนหวานค่อยๆหวนกลับมาระลึกความหลัง อยากจะย้อนเวลากลับไปแต่ทุกอย่างล้วนสายเกินแก้ไข

ผู้หญิงอย่าง Meena ปลิ้นปล้อนกะล่อนเหมือนปลา(มีนา)แหวกว่ายในน้ำขุ่นๆ ขายจิตวิญญาณให้กับความร่ำรวย ต้องการชีวิตสุขสบาย ไม่มีทางแต่งงานครองคู่อยู่กับนักกวีจนๆ วันๆต้องทนทุกข์ทรมานอย่าง Vijay แต่บทกลอนที่เขาประพันธ์ล้วนเสียดแทงตรงใจดำ จนเกิดความโล้เล้ลังเลทุกครั้งเมื่อได้รับฟัง สีหน้าปฏิกิริยาอันผิดปกติได้รับการสังเกตพบโดยสามี Mr. Ghosh ครุ่นคิดวางแผนบางอย่างเพื่อต้องเป็นการพิสูจน์ธาตุแท้จริงของเธอ

ทั้งภาพลักษณ์ การเล่นหูเล่นตา ลีลาการแสดงของ Sinha สมจริงยิ่งกว่าโสเภณี! มีนิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ สนเพียงความสุข/พึงพอใจส่วนตน ใช้มารยาคำพูด (และอาจจะท่วงท่า) สามารถลวงล่อหลอก ชักแม่น้ำทั้งห้า ไร้ซึ่งความจริงใจ สุดท้ายไม่หลงเหลือใครให้เหลียวหลังแล

เกร็ด: เดิมนั้นผู้กำกับ Guru Dutt อยากได้ Nargis Dutt และ Madhubala ให้มารับบทสองนักแสดงนำหญิง แต่พวกเธอเกี่ยงกันเองไม่รู้จะเล่นเป็นใครดี สุดท้ายเพื่อแก้ปัญหาเลยคัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่ทั้งสองคน ซึ่งต่างสามารถแจ้งเกิดโด่งดังได้โดยทันที


Rehman ชื่อจริง Said Rehman Khan (1921 – 1984) นักแสดงสัญชาติ Indian เกิดที่ Lahore, British India (ปัจจุบันคือประเทศ Pakistan) ในครอบครัวชนชั้นสูง Pashtun ระหว่างร่ำเรียน Robertson College, Jabalpur อาสาสมัครเข้าร่วม Royal Indian Air Force ฝึกฝนการบินอยู่ที่เมือง Poona แต่ไปๆมาๆหมดความสนใจด้านนี้เลยลาออกมาเป็นนักแสดงภาพยนตร์ รู้จักสนิทสนมกลายเป็นนักแสดงขาประจำของ Guru Dutt ผลงานเด่นๆ อาทิ Chand (1944), Pyaasa (1957), Chaudhvin Ka Chand (1960), Sahib Bibi Aur Ghulam (1962), Taj Mahal (1963), Waqt (1965) ฯ

รับบท Mr. Ghosh สามีของ Meena เป็นเจ้าของโรงพิมพ์/สำนักพิมพ์ มีฐานะร่ำรวย ในแวดวงชนชั้นสูง วันหนึ่งที่งานเลี้ยงรวมรุ่น พบเห็นภรรยาจับจ้องมองไม่คาดสายตานักกวี Vijay เกิดความใคร่ฉงนสงสัยเลยเข้าไปติดต่อให้มาเป็นผู้ช่วยงาน ค่อยสืบความจนรับรู้เบื้องหลังข้อเท็จ และหลังจากการเสียชีวิตของชายหนุ่ม พยายามทำทุกอย่างเพื่อกอบโกย ทำกำไร ใครจะเป็นจะตายช่างหัวมัน

แรกเริ่มดูเป็นความหึงหวง อิจฉาริษยา ต้องการหาคำตอบจากสิ่งผิดปกติที่บังเกิดขึ้นกับภรรยา แต่ช่วงหลังแสดงให้เห็นจิตใจอันชั่วช้าสามาลย์ สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยไม่สนถูกผิดดีชั่ว ใช้เงินซื้อทุกสิ่งอย่าง (เว้นเพียงความจริงมิอาจซื้อได้)

ปกติแล้ว Rehman มักรับบทพระเอกที่แสดงบทโรแมนติกโคตรๆ แต่เพื่อนสนิท Guru Dutt มองเห็นใบหน้าเหลี่ยมแหลม นัยยะถึงความเจ้าเล่ห์เพทุบาย สามารถเล่นบทตัวร้ายที่โคตรโฉดชั่วคอรัปชั่นในมาดชนชั้นสูง/ผู้ดีมีสกุล เอาจริงๆผมว่าตราตรึงยิ่งกว่าบทบาทอื่นๆของพี่แกเป็นไหนๆ


ถ่ายภาพโดย Venkatarama Pandit Krishnamurthy (1923 – 2014) ตากล้องขาประจำผู้กำกับ Guru Dutt เลื่องลือชาในด้านการจัดแสง-เงา ความมืดมิด และการขยับเคลื่อนไหวกล้อง ซึ่งสะท้อนอารมณ์/ความรู้สึก สภาพจิตใจตัวละครออกมา

หนังสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอแทบทั้งหมด นั่นเพราะตอนแรกวางแผนถ่ายทำยังซ่องโสเภณีย่าน Kolkata แต่ทีมงานถูกอันธพาลเจ้าถิ่นบุกเข้ามาทำร้ายร่างกาย (สงสัยจะปฏิเสธจ่ายค่าคุ้มครอง) เลยมิอาจหลีกเลี่ยงสิ้นเปลืองงบประมาณก่อสร้างฉากทั้งหมด โดยอ้างอิงจากภาพถ่ายสถานที่จริง

สังเกตว่าหนังไม่มี Establishing shot (ภาพแรกที่นำเข้าสู่ฉากนั้นๆ โดยปกติมักถ่ายระยะไกลเพื่อให้เห็นสถานที่พื้นหลังทั้งหมด) เริ่มต้นมาก็มักเข้าสู่เนื้อเรื่องราวโดยทันที ซึ่งภาพมุมกว้างของสถานที่บางครั้งค่อยจะพบเห็นหลังเหตุการณ์ดำเนินผ่านไปสักพักแล้ว กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง ไม่ก็พุ่งตรงเข้าหาตัวละคร

หลังจาก Vijay พบเห็นใครคนหนึ่งย่ำเหยียดผีเสื้อ (นัยยะถึงการทำลายธรรมชาติแห่งชีวิต) สีหน้าอารมณ์ของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปโดยพลัน ช็อตนี้ถ่ายภาพย้อนแสง ราวกับโลกทั้งใบกำลังถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด จิตใจมนุษย์ตกต่ำทรามลงทุกวี่วัน

ลีลาการเคลื่อนเลื่อนกล้องแบบ Long Take อย่างซีนนี้ยาวนานเกือบๆนาที แถมเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เข้าๆ-ออกๆ ถ่ายทอดออกมาพร้อมๆตัวละคร, ไม่รู้ผู้กำกับ Dutt ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ของของ Max Ophüls หรือเปล่านะ ให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างคล้ายคลึงอยู่ไม่น้อย

ฉากแนะนำตัวละคร Gulabo เริ่มต้นได้ยินเสียงขับร้องเพลง Jaane Kya Tune Kahi (แปลว่า Did you say a word or two) จากนั้น Vijay มองเห็นด้านหลัง แล้วเธอถึงค่อยหันมาสบสายตาส่งรอยยิ้มยั่วสวาท พื้นหลังคือแสงไฟหลุดโฟกัส (แต่เหมือนจะซ้ออภาพด้วยรูปวาดวงกลม ซึ่งมีลักษณะคล้ายตอน Vijay ดื่มสุรามึนเมามาย เห็นภาพเบลอๆของโสเภณีบำเรอกามคุณ)

ผู้ชมอาจรับรู้สึกแปลกๆที่หนังนำเสนอภาพซ้ำๆ Gulabo หันมาส่งสายตาอันยั่วเย้าอยู่หลายครั้ง หรือขณะกำลังเดินขึ้นบันได เวียนวนไปชั้นสองสาม … นี่เป็นการสะท้อนถึงลักษณะของบทกวี/บทเพลง ท่อนฮุคมักได้ยินซ้ำๆหลายรอบ แล้วทำไม’ภาพ’จะวนซ้ำๆหลายครั้งไม่ได้เล่า!

อีกหนึ่งลีลาเคลื่อนกล้องที่งดงามมากๆ, Gulabo เมื่อตระหนักถึงตัวตนแท้จริงของ Vijay รีบวิ่งลงมาติดตามหา แต่เขาได้จากหายตัวไปแล้ว กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลังอย่างช้าๆแสดงถึงความผิดหวังในตนเอง และเมื่อเพื่อนสาวเข้าพูดปลอบประโลม กล้องจะค่อยๆเลื่อนกลับเข้ามาทีละนิด (ช้ากว่าตอนถอยออก)

การเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) มีการใช้เทคนิค Cross-Cutting ให้ภาพค่อยๆเฟดจากปัจจุบัน หวนรำลึกความหลัง ซึ่งขณะนี้มีความยียวนกวนเล็กๆของผู้กำกับ Dutt นั่นคือสาวๆพร้อมใจกันยื่นหน้า และเพื่อนเก่าคนหนึ่งกำลังกลิ้งถอยหลัง

การเกี้ยวพาราสีระหว่าง Vijay และ Meena ในช่วงขณะเล่าเรื่องย้อนอดีต ล้วนเต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญลักษณ์ อาทิ เหลียวหันหลังมาแอบมองในห้องเรียน, ตีโต้ตอบเล่นแบดมินตัน, บทเพลงร้องคู่ Ham Aapki Aankhon Me (แปลว่า What if I settle this heart) แล้วจู่ๆทั้งสองขี่จักรยานแยกออกมาจากกลุ่มเพื่อนๆ เพื่อมุ่งสู่ดินแดนของเราสอง (แล้วตัดกลับมาปัจจุบัน)

หลังการขับกวีในงานเลี้ยงรุ่น Mr. Ghosh จู่ๆเข้ามายื่นข้อเสนอมอบงานให้ Vijay ผ่านมุมกล้องที่เต็มไปด้วยเลศนัยนี้ ไม่ถ่ายให้เห็นใบหน้า(ของ Mr. Ghosh) สองฟากฝั่งซ้าย-ขวาถูกบดบังด้วยเสา ปกคลุมด้วยความมืดมิด ซึ่งถ้าใครสังเกตซีนก่อนๆหน้า ชายคนนี้ส่งสายตาจับจ้องมอง Meena ตาแทบไม่กระพริบ มันต้องมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นแน่!

Vijay เดินทางมาหา Mr. Ghosh ด้วยความคาดหวังจะได้รับการตีพิมพ์บทกวี แต่กลับถูกซักไซร้ไล่เรียง ประวัติความเป็นมา จนค่อยๆรับรู้ว่านั่นหาใช่เหตุผลของการได้รับเชิญมาครั้งนี้, งานภาพ Sequence นี้ค่อนข้างมีเลศนัยไม่น้อยทีเดียว ตั้งกล้องสูงระดับสายตา Mr.Ghosh แล้วขยับเคลื่อนเพียงซ้าย-ขวา ไม่มีขึ้น-ลง สูง-ต่ำ แม้ตัวละครจะลุก-นั่ง ยืน-เดิน ซึ่งน่าจะสื่อถึงมุมมองสายตาของชายคนนี้ผู้กุมความลับบางอย่างไว้ในกำมือ กำลังวางแผนอะไรบางอย่างที่ชั่วร้าย

ระหว่างทางกลับของ Vijay ลงลิฟท์สวนกับ Meena มองภาพสะท้อนอันขมุกขมัวบนพื้นผนัง แล้วหวนระลึกความทรงจำอันเลือนลาง (Flashback) ขณะกำลังเข้าร่วมงานเลี้ยงเต้นรำ แต่เหมือนว่าเขาจะไม่ได้มีความสามารถเข้าสังคมชนชั้นสูง จึงได้แต่ครุ่นคิดจินตนาการ ซึ่งหนังก็ทำการซ้อนฝันเข้าไปอีกชั้นขณะกำลังนั่งเคียงข้างอยู่กับเธอ (ความฝันซ้อน Flashback)

ในความเพ้อฝันของ Vijay จินตนาการ Meena ราวกับเทพธิดาลงมาจุติจากสรวงสวรรค์ (ช็อตนี้ไม่ถือเป็น Establishing shot เพราะไม่ได้เห็นรายละเอียดอื่นๆนอกจากหญิงสาวเดินลงจากบันได) เริงระบำสนุกสนานด้วยกัน แต่เมื่อจบบทเพลงคู่ Ham Aapki Aankhon Me (แปลว่า What if I settle this heart) [เพลงเดียวกับฉากปั่นจักรยานก่อนหน้านี้] เธอก็หวนกลับสู่ดินแดนอันเหมาะสมของตนเอง (สื่อถึงการเลิกร้างรา มิอาจครองคู่อยู่ร่วม)

หลังจากบทเพลงจบลง หนังจะค่อยๆถอยหลังกลับมายังฉากย้อนอดีต และสู่ปัจจุบันพบเห็นใบหน้าอันขมุกขมัว(ของ Meena)บนพื้นผนังลิฟท์

ในงานเลี้ยงรวมเหล่านักกวีชื่อดังจัดโดย Mr. Ghosh ว่าจ้าง Vijay ให้เป็นเด็กเสิร์ฟ/คนรับใช้ ซึ่งเข้าใช้โอกาสนี้ในการขับกวี Jaane Woh Kaise Log (แปลว่า I wonder what kind of people) สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกตนเองขณะนั้น เจ้าตัวหลังพิงตำราหนังสือ (สะท้อนถึงการเป็นบุคคลผู้มากด้วยอุดมการณ์/องค์ความรู้) ตรงกันข้ามกับ Meena หลบอยู่หลังฝูงชนตำแหน่งห่างไกลสุดเกือบลับตา แสดงสีหน้าอารมณ์ร่ำไห้ สูญเสียใจที่บอกเลิกร้างราอดีตคนรัก

Meena อยากที่จะหวนกลับมาคืนดีกับ Vijay แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ ขณะเปิดประตูห้องเดินออกมา พอดิบพอดีสวนทางกับ Mr. Ghosh (สามีของ Meena) ภาพช็อตนี้ชายทั้งสองหันหน้าทิศทางตรงกันข้ามแต่ต่างปกคลุมด้วยความมืดมิด ขณะที่หญิงสาวอยู่ระหว่างกลางท่ามกลางแสงสว่างภายในห้อง และเมื่อพวกเขาก้าวเดินสวน ประตูปิดลง คงเหลือเพียงเสียงพูดดังออกมาด้วยอารมณ์ ไม่ยากจะจินตนาการคาดเดาสิ่งบังเกิดขึ้นในนั้น

นี่เป็นช็อตสวยงามลำดับต้นๆของหนัง การให้แสงสว่าง Meena สะท้อนถึงเธอคือบุคคลเป็นที่ต้องการของใครๆ แต่สำหรับสองชายสะท้อนสภาพจิตใจกำลังปกคลุมด้วยความมืดมิด ต่างรับไม่ได้กับพฤติกรรมของหญิงสาว ปิดประตูเพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ขณะเดียวก็ไม่ใช่สิ่งอยู่ในความใคร่สนใจของ Vijay (ยังสื่อถึงการปิดประตูุอดีต หลังจากนี้จะมีมีการหวนระลึกนึกย้อนอีกต่อไป)

คงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ทุกวันจะมีผู้คนนับล้านคนเดินทางมาเพื่ออาบน้ำ ดื่มกิน รวมถึงเผาศพคนตายที่ริมฝังแล้วโปรยขี้เถ้าให้ลอยล่องไป ซึ่งการพบเห็นญาติพี่น้องของ Vijay จู่ๆมาชำระล้างร่างกายยังแม่น้ำคงคา นั่นอาจหมายถึงว่ามีใครเพิ่งหมดสิ้นลมหายใจ สอบถามถึงค่อยรับรู้ว่าคือมารดาของตนเอง

ความตายของมารดา ทำให้ Vijay จมปลักอยู่กับความเศร้าโศกโดยทันที! ในตอนแรกเขาพยายามบ่ายเบี่ยง แต่ถูกคารมหญิงสาวโน้มน้าวให้ดื่มด่ำไปกับความมึนเมา ภาพเบลอๆหลุดโฟกัส ฟองอากาศกลมๆล่องลอย (ใช้เทคนิคซ้อนภาพ) หยดน้ำตาไหลพรากๆ และที่เลวร้ายสุดคือเสียงร้องไห้ทารก บุตรของโสเภณีคนนั้น สีหน้าเธอช่างทุกข์ทรมาน อยากจะเข้าไปปลอบประโลมแต่ถูกลูกค้า/เพื่อนขาพิการ(ของ Vijay) ร้องเรียกให้บริการตนเองเสียก่อน นั่นทำให้เขามิอาจอดรนทนรับไหว รีบหลบหนีออกมาจากสถานที่แห่งนั้นโดยไว

ความสิ้นหวังของ Vijay เลยตัดสินใจมอบเสื้อคลุมให้ขอทานที่กำลังหนาวเหน็บสั่นสะท้าน ไม่รู้ชายคนนี้ต้องการพูดขอบคุณ หรือเกิดความฉงนสงสัยว่าอาจมีเลศนัยบางอย่าง จึงออกติดตามมาจนขาติดอยู่ตรงรางรถไฟ ไม่สามารถก้าวเดินต่อหลบหนีได้ทันท่วงที

ในตอนแรกหนังพยายามชี้ชักนำทาง ให้ผู้ชมครุ่นคิดถึงสาเหตุผลการมอบเสื้อคลุมให้ขอทาน Vijay อาจกำลังจะครุ่นคิดสั้นฆ่าตัวตาย แถมยังออกเดินมาถึงยังชุมทางรางรถไฟย่อมมีความเป็นไปได้สูงมากๆ แต่สุดท้ายเหตุการณ์กลับตารปัตรแบบไม่มีใครคาดคิดถึง

รถไฟ คือสัญลักษณ์ของโลกยุคสมัยใหม่ที่ดำเนินไปด้วยความรวดเร็วไว ขณะที่ Vijay ต้องถือว่าเป็นพวก ‘จระเข้ขวางคลอง’ ปฏิเสธที่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลง ยึดถือมั่นในอุดมการณ์/ทัศนคติ/ครุ่นคิดเห็นส่วนตัว เลยถูกบดทับ(แม้เป็นการตายหลอกๆก็เถอะ)ไม่หลงเหลือให้สามารถจดจำ

เมื่อ Meena รับรู้ข่าวการเสียชีวิตของ Vijay ภาพช็อตนี้น่าจะถ่ายด้านหลังกระจก พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกบดบังปกคลุมด้วยความมืด เพียงช่องว่างเล็กๆพบเห็นเธอแต้มผงสีชาด แตะเบาๆบนร่องผม ไม่แน่ใจว่าเป็นสัญลักษณ์การไว้ทุกข์หรือเปล่านะ (คนละอย่างกับ Bindi/Tika นะครับ)

ผมไม่ได้ทำ gif ภาพนี้ ซึ่งคือสายลมพัดพากระดาษ/ผลงานของ Vijay ปลิดปลิวไปทั่วห้องของ Gulabo, ผมมองช็อตนี้มีลักษณะ Expressionist สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครหลังรับรู้ความสูญเสีย ทำให้จิตใจตกอยูในสภาพปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง(ดั่งลมพายุพัดรุนแรง)

Gulabo ปฏิเสธคำขอของ Meena ไม่ยินยอมขายบทกวีของ Vijay ให้กับเธอ แต่นั่นอาจเป็นการตัดสินใจผิดพลาดอย่างรุนแรง เพราะเมื่อมอบให้ Mr. Ghosh กลับนำไปกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่สนอะไรอื่น

หนังใช้เทคนิคซ้อนภาพใบหน้าของ Gulabo กับโรงงานกำลังตีพิมพ์หนังสือของ Vijay นำเสนอในลักษณะ ‘Transition’ รวบรัดตัดตอนแบบที่ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขี้นบ้าง

สภาพของ Vijay เกือบๆที่จะเป็นผัก (Vegetative State) น่าจะเพราะความตกตะลึง พบเห็นความตาย(ของขอทาน)ถูกรถไฟทับต่อหน้า มิอาจพูดบอก ขยับเคลื่อนไหว จนกระทั่งได้ยินพยาบาลอ่านบทกวีของตนเอง ปลุกตื่นขึ้นจากความฝัน มันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกันแน่

ใครกันที่เป็นคนบ้า? Vijay ถูกรายล้อมด้วยผู้ป่วยจิตเวทที่แสดงออกอย่างเสียสติ นัยยะของฉากนี้ไม่ได้จะสื่อถึงโรงพยาบาลบ้าเท่านั้นนะครับ แต่สะท้อนถึงโลกความเป็นจริงที่คนปกติแทบจะหาไม่ได้อีกต่อไป

เงามืดที่อาบ Mr. Ghosh และเพื่อนขาพิการของ Vijay มอบสัมผัสอันหลอกหลอน ราวกับว่าพวกเขากำลังครุ่นคิดวางแผนกระทำบางสิ่งอย่างชั่วร้าย ซึ่งเมื่อพวกเขาพบเห็น Vijay อยู่ท่ามกลางคนบ้า กระซิบกระซาบตกลงกันว่า นั่นไม่ใช่นักกวีตัวจริง!

หลังหลบหนีออกจากโรงพยาบาลบ้าได้สำเร็จ สิ่งที่ Vijay ได้พานพบเจอระหว่างทาง มาจนถึงหอประชุมที่กำลังจัดพิธีรำลึกครบรอบปีที่จากไป งานภาพช็อตนี้ราวกับว่าชายหนุ่มกำลังเดินลงมาจากสรวงสวรรค์ (ออกมาจากด้านหลังฝั่งผู้ชม)

ซึ่งการกลับมามีชีวิตฉากนี้ ยังสามารถเปรียบเปรยกับการฟื้นคืนชีพของพระเยซูคริสต์ (ส่วน Gulabo เทียบได้กับพระแม่มารีย์)

ใบหน้าครึ่งหนึ่งปกคลุมด้วยความมืดมิด สะท้อนสภาพจิตใจอันมืดหม่นหมองมัว นี่มันเกิดเหตุการณ์บ้าบอคอแตก ห่าเหวอะไร ทำไมทุกสิ่งอย่างบานปลายไปถึงขนาดนี้ นี่นะหรือโลกในปัจจุบัน ช่างเต็มไปด้วยความบิดเบี้ยว คอรัปชั่น แม้ความตายก็ไม่วายว่างเว้น

ฉันคือ Vijay แต่กลับไม่มีใครเชื่อว่าฉันคือ Vijay นี่มันสถานการณ์บ้าบอคอแตกอะไร เขาถูกฉุดเหนี่ยวรั้งโดยใครบางคน กล้องบนเครนค่อยๆถอยหลังออกห่าง กลายเป็นภาพมุมกว้างของฝูงชนกรูเข้ามาเต็มไปด้วยความสับสน

การร่ำลาของ Vijay ต่อ Meena ภาพช็อตแรกมอบสัมผัสเหมือนหนังของ Alfred Hitchcock (เรื่อง The Lodger) นักแสดงยืนตรงประตู เงาสาดส่องเข้ามาในห้อง ทับเรือนร่างกายหญิงสาวที่กำลังเดินเข้าหา (ที่ภาพสอง) เป็นการสะท้อนถึงเรื่องราวในวันนี้ จักกลายเป็นอดีต/ความทรงจำอันเลือนลาง สายลมพัดผ่าน ไม่หลงเหลือคุณค่าความสำคัญ เธอเองก็เฉกเช่นกัน หาได้คู่ควรค่ากับเขาไม่

สายลมที่ปลิดปลิวเข้ามาในห้อง พัดพาเอาเศษกระดาษ (สามารถแทนได้ถึงผลงาน/หนังสือของ Vijay) มีลักษณะ Expressionist แบบเดียวกับที่ Gulabo เคยประสบพานผ่านมา แสดงถึงสภาพภายในของ Meena จิตวิญญาณกำลังดับสูญสิ้นสูญ ตายจากไป (หรือเรียกว่า ตายทั้งเป็น)

(Meena เป็นตัวแทนของหญิงสาวผู้ขายจิตวิญญาณให้กับความสุขสบาย จึงถูก Vijay ทอดทิ้งขว้างไม่เหลือเยื่อใย)

แต่สายลมดังกล่าวเมื่อพัดย้อนมาหา Gulabo ทำให้สามารถฟื้นคืนสติ ได้ยินเสียงเพรียกเรียกหา การนำเสนอ Sequence นี้ราวกับว่า เธอหมดสิ้นลมตายจากไปแล้ว (ถูกฝูงชนเหยียบย่ำทับเรือนร่างกาย) และสิ่งเกิดขึ้นเสมือนอยู่บนโลกแห่งจินตนาการ/วิญญาณหลังความตาย

(ที่ผมมองเช่นนั้นเพราะ Gulabo เป็นตัวแทนของหญิงสาวผู้ขายเรือนร่างกาย แต่ยังคงไว้ด้วยจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์สดใส)

ตอนจบของหนังมีทั้งหมด 3 ฉบับ

  • ความตั้งใจดั้งเดิมของ Guru Dutt (เห็นว่าถ่ายทำไว้แล้วด้วยนะ) ต้องการให้ Vijay หลังร่ำลา Gulabo ออกเดินทางจากไปอย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง
  • เพื่อนสนิทนักเขียนบท Abrar Alvi อยากให้ตัวละครยินยอมรับ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเองเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่
  • ผู้จัดจำหน่ายหลังรับชมตอนจบของ Dutt เรียกร้องขอให้ทำการเปลี่ยนแปลง กลายมาเป็น Vijay ออกเดินทางร่วมไปกับ Gulabo สู่อนาคตที่แม้เต็มไปด้วยเมฆหมอกควัน แต่ข้างกายยังคงมีความหวังเคียงคู่กันไป

ตัดต่อโดย Y. G. Chawhan ขาประจำผู้กำกับ Guru Dutt เช่นกัน, ดำเนินเรื่องราวโดยมี Vijay เป็นจุดศูนย์กลาง พานพบเจอบุคคลประเภทต่างๆที่ส่วนใหญ่สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตัว สามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 องก์

  • แนะนำนักกวี
    • เริ่มต้นที่ Vijay รำพันบทกวีถึงธรรมชาติแสนงาม แต่กลับถูกมนุษย์เหยียบย่ำยี
    • กลับไปบ้านมีเพียงมารดาที่ยังรักเอ็นดู ผิดกับผองพี่น้องพยายามผลักไสไล่ส่ง
    • พานพบเจอโสเภณี Gulabo
    • บังเอิญพบเจอ Meena หวนระลึกอดีตที่แสนหวาน (Flashback)
  • อดีตที่แสนขมขื่น
    • พบเจอเพื่อนเก่าชักชวนไปงานเลี้ยงรุ่น ขึ้นขับร้องเพลงรำพันความรู้สึกต่อ Meena
    • ได้รับการว่าจ้างจาก Mr. Ghosh อย่างมีลับลมคมใน
    • พบเจอ Meena หวนระลึกถึงอดีต (Flashback) และซ้อนความฝันเต้นรำอีกชั้นหนึ่ง (ความฝันซ้อนใน Flashback)
    • งานเลี้ยงพบปะนักกวีจัดโดย Mr. Ghosh
    • เผชิญหน้ากับ Meena อดีตพานผ่านไปแล้วไม่อยากให้มันหวนกลับมาอีก
  • ความตายของนักกวี
    • เริ่มจากการเสียชีวิตของมารดา
    • ดื่มด่ำไปกับความเมามาย และรำพันถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศอินเดีย
    • มอบเสื้อคลุมให้ขอทาน ประสบอุบัติเหตุรถไฟทับเสียชีวิต
    • ข่าวคราวแพร่สะพัด บทกวีของ Vijay ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
  • และการฟื้นคืนชีพ
    • Vijay ตื่นขึ้นมาในโรงพยาบาลจิตเวท แต่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนบ้าเสียสติ
    • Mr. Ghosh พยายามปิดปากไม่ให้ใครชี้ตัว Vijay
    • หลบหนีออกจากโรงพยาบาลบ้าได้สำเร็จ
    • เผชิญหน้ากับฝูงชน ปฏิเสธจะยินยอมรับสิ่งบังเกิดขึ้น
    • ร่ำลาจาก Meena และออกเดินทางร่วมกับ Gulabo

เนื่องเพราะหนังไม่มี Establishing shot การดำเนินเรื่องจึงค่อนข้างลื่นไหล ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายครั้งที่มีการย้อนอดีต (Flashback) ผู้ชมต้องช่างสังเกตสักนิด และครั้งหนึ่งกับการซ้อนอดีต (ความฝันซ้อน Flashback) อาจสร้างความสับสนสักเล็กน้อย

ไฮไลท์อันโดดเด่นของการตัดต่อ คือเทคนิค Montage ร้อยเรียงชุดภาพเข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างบทเพลงแรกของหนัง Ye Hanste Huye Phool (แปลว่า These smiling flower) ตัดสลับใบหน้าของ Vijay กับภาพดอกไม้ ท้องฟ้า นกโผบิน ธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งสอดคล้องรับบทกวี/คำร้องเพลง

These smiling flowers, this fragrant garden
These paths dipped in colour and light
These swaying bees intoxicated by nectar
What can I give you, O splendid nature
All I have is few tears, few sighs

อีกฉากหนึ่งที่เด่นๆคือขณะการปรากฎตัวของ Vijay ยังสถานที่รำลึกถึงความตายของเขา หนังมีการร้อยเรียงภาพบุคคลต่างๆที่เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิต แต่ละคนแสดงออกด้วยปฏิกิริยาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

เพลงประกอบโดย Sachin Dev Burman (1906 – 1975) หนึ่งในนักแต่งเพลงผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในอินเดีย ผลงานเด่นๆ อาทิ Baazi (1951), Devdas (1955), Pyaasa (1957), Paying Guest (1957), Kaagaz Ke Phool (1959), Guide (1965), Aradhana (1969), Zindagi Zindagi (1972), Prem Nagar (1974) ฯ

เนื้อคำร้องประพันธ์โดย Sahir Ludhianvi หรือ Abdul Hayee (1921 – 1980) นักกวี/แต่งเพลงชาวอินเดีย ผลงานเด่นๆ อาทิ Baazi (1951), Pyaasa (1957), Dhool Ka Phool (1959), Taj Mahal (1963), Kabhie Kabhie (1976) ฯ

สำหรับนักร้อง (Playback Singer) ประกอบด้วย

  • Geeta Dutt (1930 – 1972) ภรรยาของผู้กำกับ Guru Dutt ซึ่งยังมาร่วมรับเชิญขับร้องบทเพลง Aaj Sajan Mohe Ang Lagalo (แปลว่า Embrace me today, beloved)
  • Mohammed Rafi (1924 – 1980) หนึ่งในนักร้องผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในอินเดีย ขาประจำในหนังของ Guru Dutt
  • และ Hemanta Mukherjee (1920 – 1986) ขับร้องเพียงบทเพลงเดียว Jaane Woh Kaise Log (แปลว่า I wonder what kind of people)

แทนที่จะให้ตัวละครขับขานบทกวี เอื้อยเสียงทำนองเสนาะ ก็ใส่ดนตรีประกอบแบบหนังเพลง Musical เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชม/ไม่ให้บรรยากาศตึงเครียดเกินไป น่าเสียดายผู้ชมที่ไม่ใช่ชาวอินเดียหรือฟังภาษาฮินดีเข้าใจ อาจไม่รับรู้สึกถึงความไพเราะเสนาะหูสักเท่าไหร่

Jaane Kya Tune Kahi (แปลว่า Did you say a word or two) ขับร้องโดย Geeta Dutt เป็นบทเพลงเปิดตัว Gulabo ซึ่งมีใจความสองแง่สองง่าม เกี่ยวกับอะไรสองสิ่งแล้วโยงกลับมาถาม นายกำลังจะพูดถึงอะไร? ซึ่งนั่นชักชวนให้ผู้ฟังใคร่ฉงนสงสัย ยินยอมถูกลากพาตัวไป โดยไม่รู้ตัวขึ้นห้องหอนางโลม กระทำการ …

เพลงคู่ Ham Aapki Aankhon Me (แปลว่า What if I settle this heart) ขับร้องโดย Geeta Dutt และ Mohammad Rafi ได้ยินถึงสองครั้งในหนัง ล้วนระหว่างการหวนระลึกความทรงจำของ Vijay ถึง Meena แม้เต็มไปด้วยความรักหวานฉ่ำ แต่ก็หลงเหลืออยู่เพียงความเพ้อฝัน

Jaane Woh Kaise Log (แปลว่า I wonder what kind of people) ขับร้องโดย Hemant Kumar เป็นบทกวี/เพลงที่ Vijay ขับร้องในงานเลี้ยงรวมเหล่านักกวีชื่อดัง ซึ่งได้รำพันในเชิงตั้งคำถาม ความรัก(ของผู้อื่น)มีลักษณะเฉกเช่นไร ทำไมฉันถึงพบเจอแต่หนามแหลม ความเจ็บปวด ทนทุกข์ทรมาน (พาดพิงเต็มๆถึง Meena ทำเอาเธอน้ำตาร่วงเล็ดไหล)

Aaj Sajan Mohe Ang Lagalo (แปลว่า Embrace me today, beloved) ขับร้องโดย Geeta Dutt ซึ่งเธอมารับเชิญเป็นนักร้องแสดงสด (แต่คงไม่ได้บันทึกเสียงสด) ซึ่งถือเป็นลูกเล่นหนึ่งในหนังเพื่อสร้างสัมผัสในจินตนาการ (หรือจะมองเป็น Diegetic Music ก็ยังได้) เพราะทั้งหมดราวกับเกิดขึ้นในห้วงความครุ่นคิดของ Gulabo ต้องการสัมผัสโอบกอด Vijay แต่สุดท้ายก็มิอาจแสดงออกไป (ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมนะ)

Jinhen Naaz Hai Hind Par (แปลว่า Those who’re pround of the orient, where are they?) ขับร้องโดย Mohammad Rafi รำพันถึงสภาพสังคม/ประเทศอินเดียยุคสมัยนั้น ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มองทางไหนล้วนพบเห็นผู้คนมีความเห็นแก่ตัว สนเพียงเงินทอง ความสุขสบายกาย เพราะสถานที่ที่ Vijay เดินทองน่องอยู่นี้คือซอยซ่องโสเภณี

บทเพลงทรงพลังตราตรึงสุดในหนัง Ye Duniya Agar Mil Bhi Jaye (แปลว่า Even if one gains this world, so what!) ขับร้องโดย Mohammad Rafi คือคำรำพันของ Vijay ต่อสิ่งบังเกิดขึ้นหลังความตายของตนเอง เงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ สำหรับเขาแล้วไม่หลงเหลือความหมายใดๆ เพราะโลกใบนี้ได้บิดเบี้ยว คดเคี้ยว คอรัปชั่น แทบไม่หลงเหลือความงดงามให้เชยชมอีกต่อไป

เพลงนี้ดังขึ้นสองครั้งเหมือนกับ Ham Aapki Aankhon Me แต่เฉพาะครั้งแรกครั้งเดียวที่ Vijay ร่ำร้องออกมา ครั้งหลังถือเป็นเสียงกีกก้องในศีรษะของตัวละคร (ดังขึ้นขณะฝูงชนรุมทึ้ง ฉีกกระชาก บุกเข้ามาจะทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง)

นักกวี Vijay ประพันธ์บทกลอนด้วยการกลั่นออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกภายใน เฉกเช่นเดียว Guru Dutt กำกับภาพยนตร์เพื่อนำเสนอมุมมองคิดเห็นส่วนตน พวกเขาต่างเป็น ‘ศิลปิน’ ที่มีความเห็นแก่ตัว แต่นั่นคืออุดมคติในการสรรค์สร้างผลงาน ไม่มีอะไรบนโลกที่น่าสนใจไปกว่าตัวตนเอง

Pyaasa แปลตรงตัวว่า กระหาย (Thirsty) หรือถ้าแปลอย่างสำบัดสำนวนจะหมายถึง โหยหาอาลัย (Wistful) คือคำรำพันของผู้กำกับ Dutt ต่อผู้คน สังคม ประเทศอินเดียยุคสมัยนั้น แม้ได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร (15 สิงหาคม ค.ศ. 1947) แต่กลับค่อยๆถูกควบคุมครอบงำโดยระบอบทุนนิยม (จากเคยเป็นทาสอาณานิคม กลายมาเป็นทาสนิยมเงินตรา)

ผู้กำกับ Dutt มองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสิ่งเลวร้าย ขัดย้อนแย้ง/ตรงกันข้ามกับอุดมคติที่ตนเองครุ่นคิดไว้ เพราะสังคมลักษณะดังกล่าวทำให้จิตใจมนุษย์ค่อยๆตกต่ำทรามลง ผู้คนแสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว แสวงหาเงินทองเพื่อตอบสนองความสุขทางกาย เพราะความสุขทางใจมันทำให้ท้องอิ่มไม่ได้ แม้ต้องเสียสละแลกด้วยจิตวิญญาณ ก็ยังดีกว่าต้องต่อสู้ดิ้นรนทนทุกข์ทรมาน หลับนอนข้างถนนไม่มีใครเหลียวแล

สำหรับ Vijay เพราะไม่สามารถแสวงหาโลกแห่งอุดมคตินั้นได้ เขาจึงเลือกใช้ชีวิตโดยไม่คิดพึ่งพักพิงใคร ยินยอมอดอยากปากแห้งยังดีกว่าขายจิตวิญญาณให้ปีศาจตนใด เพราะถ้าทำเช่นนั้นคงไม่ต่างอะไรจากการตกตายทั้งเป็น

ผมพยายามค้นหาสาเหตุผล ทำไมผู้กำกับ Guru Dutt ถึงชื่นชอบสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนด้านมืดจิตใจมนุษย์? จากบทสัมภาษณ์ของเพื่อนสนิท/นักแสดงชื่อดัง Dev Anand ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม

“I think he was very melancholic. He was a young man he should not have made depressing pictures…Guru Dutt always made depressing pictures. I don’t know why because he was a brilliant man. He was a good thinker. He had that dogged perseverance to go on and on but he used to shoot a lot but when he found success he was wonderful, on top of the world and the moment failure hit him hard he could not take it. He was melancholic by temperament which is sad. He was a withdrawn man. He never came in the forefront but a good person”.

Dev Anand

ส่วนตัวครุ่นคิดว่า การเป็นนักคิดของ Guru Dutt ทำให้เขามองเห็น/ค้นพบสัจธรรม ‘ความจริง’ ของโลกยุคสมัยนั้นที่บิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนไปจากวิถีความเชื่อ หลักคำสอนศาสนา และอุดมการณ์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้จิตใจของเขาจึงเต็มไปด้วยความอมทุกข์ โศกเศร้า ผิดหวัง ต้องการสรรค์สร้างภาพยนตร์เพื่อสื่อสาร ส่งต่อ ชี้ชักนำผู้ชมให้สามารถรับรู้เข้าใจ เห็นพ้องคล้อยตาม และเกิดการปรับเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายปลายทางที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างแท้จริง!


หนังไม่ได้ประสบความสำเร็จทันทีในสัปดาห์แรกออกฉาย กระแสปากต่อปากทำให้ค่อยๆได้รับความนิยมเพิ่มขี้นเรื่อยๆ จนสามารถทำเงินได้ ₹29 ล้าน Crore สูงสุดอันดับ 3 ของปีถัดจาก Mother India และ Naya Daur

แม้ว่าหนังจะเข้าฉายฝรั่งเศสและเยอรมัน ล่าช้าไปเป็นทศวรรษๆ เมื่อปี 1984 แต่ปรากฎว่าได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม และประสบความสำเร็จทำเงินมหาศาล (ว่ากันว่าอาจมากกว่ารายรับตอนออกฉายในอินเดียเสียอีกนะ!)

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเองทำให้ Pyaasa (1957) กลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ติดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม(ระดับโลก)หลากหลายแหล่ง (ชื่อของผู้กำกับ Guru Dutt ก็เฉกเช่นกัน) นั่นเองทำให้ Ultra Media & Entertainment สตูดิโอหนังของอินเดีย ตัดสินใจบูรณะซ่อมแซมฟีล์มส่วนสูญเสียหาย นำออกฉายอีกครั้งยังเทศกาลหนังเมือง Venice สาย Restored Classic เมื่อปี 2015

ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะยังคงโปรดปรานภาพยนตร์เรื่องนี้ในการหวนกลับมารับชมรอบสอง แต่บอกเลยว่าผิดคาดไม่ถึง อึ้งทึ่งไปกับความงดงามของการรำพันบทกวี (แม้สดับฟังไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ก็เถอะ) ช่างมีนัยยะความหมายซ่อนเร้นลุ่มลีกล้ำ ตรงต่ออุดมการณ์/ทัศนคติส่วนตัวแบบเปะๆ ความชื่นชอบเลยยังคงคลุ้มคลั่งไคล้ ดูจบน้ำลายฟูมปาก บังเกิดความพึงพอใจในระดับสูงสุด

แม้ไดเรคชั่นของ Guru Dutt อาจดูปรุงปั้นแต่ง เก้งก้างกระด้าง ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งเน้นขายแนวคิด ปรัชญา ความงดงามทางภาษา และแฝงข้อคิดอันทรงคุณค่า เลยได้รับการยกย่องกลายเป็น Cult Film ติดตามมา

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ชักชวนให้ผู้ชมได้ครุ่นคิดถึงชีวิตและเป้าหมาย สิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่นั้นมันคุ้มควรค่า เป็นสาระประโยชน์ ขัดย้อนแย้งอุดมการณ์ความเชื่อของตนเองหรือเปล่า ถ้ามันบิดเบนออกนอกเส้นทาง ลองทบทวนหาสาเหตุผล (ทำไมถีงออกนอกลู่นอกทาง) และวิธีหวนกลับสู่ปลายทางที่ฝันใฝ่ (บางทีเป้าหมายอาจเปลี่ยนแปลงไป แต่เส้นชัยมักยังคงอยู่ตำแหน่งเดิม)

เกร็ด: Pyaasa (1957) คือภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Aamir Khan, Shraddha Kapoor

จัดเรต 13+ กับความละโมบโลภ มักมาก เห็นแก่ตัว จิตใจมนุษย์เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น

คำโปรย | Pyaasa คือความกระหายที่ได้รับการเติมเต็มจนอิ่มหนำของผู้กำกับ Guru Dutt
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว |


Pyaasa

Pyaasa (1957)

(8/12/2015) จริงๆวันนี้ผมตั้งใจจะรีวิวเรื่องอื่นนะครับ แต่เมื่อวานได้ดูหนัง bollywood เรื่องนี้ก็อดใจไม่ได้ นี่เป็นหนังที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์กับศิลป์ได้ลงตัวมากๆ น่าเสียดายมากๆที่ subtitle เรื่องนี้มันขาดๆหายๆ ทำให้ผมไม่สามารถเข้าใจบทกวีที่พระเอกในเรื่องรำพันได้ แต่ก็ยังรู้ว่า นี่เป็นหนังที่คอหนังห้ามพลาดทีเดียว

Guru Dutt เขาคือผู้กำกับและเป็นนักแสดงด้วย ได้ฉายาว่า Orson Welles แห่ง bollywood คงด้วยเหตุผลเดียวกัน เพราะเขาสามารถเล่นและกำกับหนังได้ ตอนหนังเรื่องนี้ฉาย ยังไม่มีงานประกาศรางวัลใดๆ ซึ่งถ้ามีก็เชื่อว่า เครดิตทั้ง Actor และ Director คงไม่พลาดแน่ๆ สไตล์ของเขาจะชอบแนว Thriller กับ Comedy แต่ก็สามารถเล่น Drama หนักๆได้ ความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้ ได้รับการจัดอันดับ 160 ใน Sight & Sound และ 100 best films ของ Time Magazine และติด Top 25 Must see Bollywood Films เท่านี้น่าจะการันตีความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ได้

ได้ยินว่าตอนแรกแคส Dilip Kumar เป็นพระเอก ว่าไป Dilip ก็ถือว่าดังมากๆช่วงนั้น แต่การที่ Dilip ปฏิเสธ ทำให้เขาต้องเล่นบทนี้เอง ผมกลับรู้สึกว่าลงตัวมากๆกลายเป็น masterpiece ไปเลย แสดงถึงความเป็นอัจฉริยะของ Guru Dutt เพราะเขาสามารถถ่ายทอดการแสดง ทั้งอารมณ์ สีหน้าออกมาได้ตรงตามที่ต้องการ

Pyaasa หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร เป็นเรื่องราวของกวีตกอัพ … ว่าไปก็คล้ายๆสุนทรภู่… ช่วงแรกๆงานของเขาไม่ได้รับการยอมรับ พี่น้องไม่คบหา แต่พระเอกเป็นคนที่ฉลาดและมีแนวคิดในการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ หนังเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ว่า “กวีที่ไพเราะไม่สามารถทำให้คนอิ่มท้องได้” หญิงที่เขาหลงรักและเธอหลงรักในกวีของเขา แต่เลือกแต่งกับชายคนที่ทำให้เธออิ่มท้อง เมื่อทั้งสองกลับมาเจอกัน เธอกลับหลงคร่ำครวญถึงกวีของชายคนรักเก่า (ในหนังมีฉาก Flashback ส่วนนี้คล้ายๆกับ Casablanca เลย) พล็อตฟังดูเชยๆนะ แต่ผมกลับรู้สึกว่านี่เป็นพล็อตที่มีความคลาสสิคมากๆ กวีที่พระเอกร่ายออกมาแต่ละบท ต่างแสดงถึงเหตุการณ์และอารมณ์ขณะนั้น ตอนขับกวีก็ขับออกมาได้ไพเราะมากๆ เหตุการณ์จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ผมคงไม่สปอยนะครับ แต่จะบอกว่าหลังจากนี้คือ เหตุการณ์ที่ผมชอบมากๆ

ผมเชื่อว่าตอนจบของ Pyaasa นั้นอาจขัดใจหลายๆคน แต่ผมกลับชอบมาก ชอบคำตอบของพระเอกและวิธีการคิดของเขา ผมไม่คิดว่าจะมีคนสมัยนี้ที่กล้าคิด กล้าทำแบบเขา อาจจะคิดแต่ทำไม่ได้ เป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญมาก ต้องชม Guru Dutt ด้วยที่กล้าทำตอนจบแบบนี้ เพราะตั้งแต่ที่ผมดูหนัง bollywood มา ไม่มีหนังเรื่องไหนที่กล้าจบแบบนี้เลย เป็นการจบที่ตบหน้าทุกตัวละครในเรื่อง และเป็นการตบที่กระเทือนทั้งโลกเลยก็ว่าได้ (มันทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง Peepli Life) “นี่ไม่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการ” ฟังดูพระเอกอาจเห็นแก่ตัว แต่ผมว่านี่เป็นคำตอบที่ถูกต้องมากๆ ถือเป็นประโยค(quote) ที่ได้รับการจดจำอย่างมากทีเดียว “.I’m not that Vijay”

นักเขียนบทคู่ใจของ Guru Dutt คือ Abrar Alvi ก็ถือว่าไม่ธรรมดามาก แม้ทั้งสองเหมือนจะมีปัญหากันช่วงหลังๆก่อนที่ Guru Dutt จะเสียชีวิต แต่ในเครดิตของ Guru Dutt จะขาดซึ่ง Abrar Alvi ไปไม่ได้

เรื่องการออกแบบในหนังเรื่องนี้ผมคงต้องไม่สามารถบรรยายได้ เพราะคุณภาพหนังที่ผมดูนั้นมันห่วยมาก แต่กระนั้นงานถ่ายภาพยังออกมาดูดีเลย ผมสังเกตเทคนิคการถ่ายหนังเรื่องนี้ จะเน้นที่โฟกัสหน้าของตัวละคร มากกว่าที่จะถ่ายฉากรอบๆ นี่ก็ใช่เลยครับ เพราะหนังเน้นขับอารมณ์ของตัวละครมากกว่าการบรรยายเหตุการณ์ เราจะเห็นหน้าตัวละครเต็มซีนบ่อยครั้ง ให้นักแสดงเค้นอารมณ์ออกมาเต็มที่ เพราะเหตุนี้กระมัง ถึงจะฟังไม่เข้าใจแต่ยังเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครได้ V. K. Murthy เป็นตากล้องขาประจำของ Guru Dutt คนนี้ก็ฝีมือไม่ธรรมดา ได้ Best Cinematographer จาก Filmfare Award 2 ครั้ง เป็นหนังของ Guru Dutt ทั้งสองเรื่อง ถ้าเริ่มมีการประกาศรางวัลมาก่อนหน้านี้ คงจะได้เห็นรางวัลจาก Pyaasa แน่นอน

เพลงประกอบหนังเรื่องนี้จัดว่าเพราะมากครับ ไม่ใช่แค่ดนตรี แต่ยังคำร้อง และคำกวี เอาว่า subtitle ที่ขาดหายไปบ่อยๆในช่วงนี้ ก็ไม่ทำให้อารมณ์ของหนังเปลี่ยนไปแม้แต่น้อย อารมณ์ของการขับกวี มันถึงใจ รู้เลยว่านี่เป็นเพลงเกี่ยวกับอะไร แสดงอารมณ์อะไร คิดอะไร ผมเพิ่งจะดูหนังเรื่อง Fanna มาด้วย ที่พระเอกใช้การแต่งกลอนจีบสาว แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับนักกวีตัวจริงใน Pyaasa โดยเฉพาะความหมายที่แฝงในแต่ละเพลงที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ ณ ขณะนั้นๆ สุดยอดครับ S. D. Burman เป็นนักประพันธ์เพลงชื่อดัง คนสำคัญคนหนึ่งใน bollywood เลยครับ ผลงานของเขาได้รับการยอมรับอย่างมาก พร้อมยังกวาดรางวัลจำนวนมากทีเดียว โดยเฉพาะ National Film Award ได้มาถึง 2 ครั้ง ถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว

Pyaasa แปลว่า Thirsty (กระหาย) ผมจะวิเคราะห์ความหมายนี้ในความคิดของผมนะครับ อาการกระหาย คือความอยากที่จะทำอะไรอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แค่ความหมายตรงๆว่ากระหายน้ำ แต่ยังหมายถึงความกระหายในการยอมรับ กระหายในความมีชื่อเสียง กระหายในความอยากมีความสุข เฉกเช่นพระเอกในเรื่อง ที่กระหายอยากให้กวีของตนได้รับการตีพิมพ์ ตัวละครอื่นๆก็มีความกระหายบางอย่างในตัวเอง จนกระทั่งตอนจบ เมื่อความต้องการของพระเอกได้รับความตอบสนองทำให้เขาได้รับรู้ถึง ความกระหายที่แท้จริงของมนุษย์ เมื่อถึงจุดนั้นความกระหายของเขาได้หายไป … อ่านแล้วอาจจะงงๆ ถ้าลองเปลี่ยนคำว่า “กระหาย” เป็นคำว่า “ต้องการ” น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากนะครับ

หนังเรื่องนี้สุดยอดครับ ด้วยปัจจัยต่างๆมากมายในสมัยนั้น นี่เป็นหนังที่สวยงามมากๆ ผมละอยากดูเวอร์ชั่นที่มันดีกว่านี้จริงๆ เห็นว่าปีที่ผ่านมาก็ได้ทำการ remaster แล้ว นี่เป็นหนังที่มีคุณค่ามากๆ ความรู้สึกตอนผมดูหนังเรื่องนี้ นี่มันเกือบจะ Citizen Kane เลย คือหนังแฝงแนวคิดคล้ายๆกัน แม้ลูกเล่นการนำเสนอจะสู้ Citizen Kane ไม่ได้ แต่ผมกลับชอบ Pyaasa มากกว่า Citizen Kane มากๆ คงเพราะอารมณ์ของตัวละครในหนังมันเข้าถึงเราชาวเอเชียมากกว่า

สมแล้วกับฉายา Orson Welles แห่ง Bollywood ต้องหามาดูให้ได้นะครับ

คำโปรย : “พบกับ Orsen Welles แห่ง bollywood Guru Dutt นี่คือหนังที่ไพเราะมากๆ แฝงความหมายที่ลึกซึ้ง พร้อมตอนจบที่ดับความกระหายได้ถึงใจ”
คุณภาพLEGENDARY
ความชอบFAVORI

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: