queen

Queen (2014) Bollywood : Vikas Bahl ♥♥♥♥

Rani (ภาษา Hindi แปลว่า Queen) หญิงสาวถูกแฟนหนุ่มบอกเลิก วันที่ทั้งสองกำลังจะแต่งงานกัน, เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ๆ เธอตัดสินใจเดินทางไปทริป Honeymoon ที่เคยวางแผนไว้ ได้เรียนรู้จักโลกอันกว้างใหญ่ ที่ไม่ได้มีแค่เขาและเธอ, นำแสดงโดย Kangana Ranaut นักแสดงหญิงค่าตัวสูงที่สุดใน Bollywood “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ช่วงแรกๆตอนที่ผมยังไม่ค่อยรู้จักหนัง Bollywood เท่าไหร่ วิธีที่ใช้คือ เลือกหนังรางวัลปีใกล้ๆปัจจุบัน เพราะหาดูง่าย อินเทรนด์ และอย่างน้อยถ้าถึงขนาดได้รางวัล แสดงว่าต้องมีดีบางอย่าง, สำหรับ Queen เป็นหนังที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Best Film จากทั้ง Filmfare Award และ National Film Award (สาขา Best Feature Film in Hindi) สำหรับนักแสดงนำหญิงก็กวาด Best Actress มาทุกสถาบัน นี่ถือว่าเป็นหนังเครดิตดีน่าสนใจ ผมเลยลองเสี่ยงดู

ก่อนหน้าที่ผมจะดู Queen ก็ได้ดูหนัง Bollywood มาพอสมควร ทำให้เริ่มเข้าใจพื้นฐานวัฒนธรรม ประเพณีของชาวอินเดีย การแต่งงานถือเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญที่สุดในชีวิต พ่อแม่มักจะเป็นคนเลือกคู่ให้กับลูก และเมื่อแต่งงานกันแล้ว ฝ่ายหญิงจะย้ายไปอยู่กับฝ่ายชาย ใช้ชีวิตอยู่ใต้ชายคาเดียวด้วยกัน, ในวัฒนธรรมครอบครัวของอินเดีย สามีคือผู้นำครอบครัว ภรรยาจะเป็นผู้ตามเสมอ ไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียงอะไรนอกจากเรื่องภายในบ้าน ต่อให้สามีไม่ดี ภรรยาก็ไม่มีสิทธิ์ขัดขืน เพราะคนที่แต่งงานกัน จะต้องอยู่กินกันไปจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ

นี่อาจขัดกับความเชื่อของคนสมัยนี้นะครับ ที่ว่าถ้าสามี/ภรรยา ทำตัวไม่ดี หรืออยู่ด้วยกันไม่ได้ เรื่องอะไรที่จะต้องทนให้มันลำบากทรมาน เลิกรากันไป คบหาคนใหม่ ง่ายจะตาย, นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในอินเดียนะครับ เพราะพื้นฐานวัฒนธรรม ประเพณีของพวกเขาถูกอบรมสั่งสอน ประพฤติปฏิบัติ เชื่อถือกันมาอย่างนี้นมนานแล้ว คือถ้าชาย-หญิงเลิกกัน สังคมก็จะต่อต้าน ไม่มีใครคบ ไม่มีใครคุยด้วย มองเป็นเหมือนเดียรเถียน จัณฑาล กลายเป็นแกะดำในสังคมทันที, นี่เป็นสิ่งที่คุณเข้าใจได้จากการดูหนัง bollywood หลายๆเรื่อง แต่ถ้ายังไม่เคยดูมาก่อน นี่เป็นสิ่งที่ต้องจดจำระลึกไว้เลยนะครับ เพราะหนัง Hindi หลายๆเรื่อง แทบทั้งนั้น หนังที่เกี่ยวกับความรัก ครอบครัว การแต่งงาน นี่ถือเป็น ตัวแปรประเภท Global ที่ต้องเข้าใจได้โดยทันที

สำหรับ Queen ผู้กำกับ Vikas Bahl พัฒนาบทหนังขึ้นจากการสังเกตผู้คนในกรุง Delhi โดยเฉพาะหญิงสาวสมัยปัจจุบัน ยังมีอีกมากที่ชีวิตถูกกำหนดโดยพ่อแม่ สักวันแต่งงาน ย้ายออก อยู่กินสามี ไม่มีเป้าหมายอื่นชีวิตของตนเอง, เรื่องราวของหนังคือ Rani หญิงสาวที่เพิ่งจะอายุ 20 ปี ไม่เคยมีเป้าหมายใดๆในชีวิต กำลังวุ่นวายกับการเตรียมงานแต่งงาน แต่คนที่จะมาเป็นสามีของเธอกลับอยู่ดีๆตัดสินใจไม่แต่ง ขอเลิกกับเธอ ทำให้แผนการชีวิตพังทลายหมดสิ้น ‘ครึ่งแรก หญิงสาวจะต้องทำใจกับการถูกบอกเลิก ครึ่งหลังเธอจะต้องค้นหาความต้องการของตนเอง’ (first half, Rani gets over the guy, and in the second, she gets over herself.)

Vikas Bahl เขียนบทตัวละคร Rani Mehra โดยมี Kangana Ranaut ตั้งอยู่ในใจ พอติดต่อเธอได้ ก็ได้รับการตกลงโดยทันที, Ranaut เริ่มเข้าวงการตั้งแต่ปี 2006 แม้การแสดงของเธอจะถือว่ายอดเยี่ยมเลย ในปีแรกได้รางวัล Best Female Debut จาก Filmfare Awards กับเรื่อง Gangster (2007) และยังเคยได้ Best Supporting Actress จาก National Film Award กับหนังเรื่อง Fashion (2008) แต่ยังไม่มีหนังเรื่องไหนที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอเป็นที่รู้จักวงกว้าง ระดับดังพลุแตก จนกระทั้งได้รับบทสมทบตัวร้ายใน Krrish 3 (2013) และเล่นหนังเรื่อง Queen (2014) ที่ทำให้เธอขึ้นแท่น กลายเป็นนักแสดงหญิงแนวหน้าของ bollywood โดยทันที, กับบทนี้ Ranaut แสดงออกมาได้เป็นธรรมชาติมากๆ และทุกนาทีที่หนังดำเนินไป เราจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆของตัวละครที่เปลี่ยนแปลง แตกต่างไปจากเดิมทีละเล็กน้อย จนในที่สุดตอนจบ กลายมาเป็นว่า ตัวละคร Rani กลายเป็น Ranaut โดยสิ้นเชิง

เห็นว่าสไตล์ของผู้กำกับ Vikas Bahl คือเปิดโอกาสให้นักแสดงได้ปรับเปลี่ยนบทพูด หรือเพิ่มเติมบทได้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มความสมจริงให้กับหนัง เราจึงสามารถมองว่าการแสดงของ Ranaut ในหนังเรื่องนี้ มาจากตัวเธอเองเป็นส่วนมาก, อย่างฉาก kiss กับเชฟอิตาเลี่ยน เธอเป็นคนขอผู้กำกับให้เพิ่มเข้ามา ซึ่งช่วยพัฒนาการตัวละครให้ค้นพบตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้นทีเดียว

การจัดอันดับนักแสดงหญิงที่มีค่าตัวสูงที่สุดใน Bollywood ปี 2015, Kangana Ranaut กับหนังเรื่องหนึ่ง อ้างว่าเธอได้ค่าตัวสูงถึง 11 crore ถือว่าสูงที่สุดในอินเดียขณะนั้น แต่ปี 2016 (ยังไม่คอนเฟิร์ม) ได้ยินว่า Deepika Padukone ขึ้นค่าตัวที่ 12 crore แซงหน้าไปแล้ว

กระนั้นเมื่อเทียบกับซุปเปอร์สตาร์ชายดังๆอย่าง Shah Rukh Khan หรือ Salman Khan ค่าตัวสูงสุดของพวกเขาระดับ 50-60 crore ห่างกับผู้หญิง 5-6 เท่า นี่ดูแล้วไม่มีทางแคบลงง่ายๆแน่

สำหรับนักแสดงอื่นๆ ก็มีทั้งที่คัดไปจากอินเดีย และไปเลือกเอาดาบหน้า มีคนหนึ่งแบบว่าผู้กำกับไปเจอกำลังร้องเพลง เล่นดนตรีอยู่ข้างถนน เลยชักชวนมาให้เล่นหนัง ทั้งที่คนๆนั้นพูดอังกฤษไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่สื่อสารภาษามือเข้าใจกันและกลายเป็นเพื่อนกันหลังจากนั้นด้วย, การนำนักแสดงสมัครเล่นมาเล่นหนัง อาจมีหวั่นๆหน้ากล้องบ้าง แต่ผู้กำกับจะให้พวกเขาแสดงความเป็นธรรมชาติ ของตนเองออกมา ไม่ต้องการปั้นแต่งอะไร, นี่สร้าง impact ให้กับหนังได้มากทีเดียวนะครับ เพราะความธรรมดาที่ดูไม่มีอะไร แปรสภาพกลายเป็นความสมจริง พวกเขาเปรียบก็คือใครไม่รู้ที่เรามีโอกาสพบเจออยู่ทุกวันในชีวิตประจำวัน ซึ่งการที่ใครคนหนึ่งจะสามารถเปิดโลกทัศน์ ค้นพบตัวเอง ก็เกิดขึ้นจากการได้พบเพื่อนที่สุดแสนธรรมดาสามัญลักษณะนี้แหละ

หนังใช้เวลาถ่ายทำ 45 วัน 145 โลเกชั่น เริ่มจาก Paris, Amsterdam และกลับมาที่ Delhi, ถึงหนังจะไปถ่ายต่างประเทศ แต่งบประมาณก็ไม่ได้มีมากมาย และมีระยะเวลาจำกัด แต่ละวันต้องถ่ายให้ได้วันละ 3-4 โลเกชั่น เรียกว่าลากเลือดเลยละ (หนังลักษณะนี้มองว่าเป็น Road Movie ได้นะครับ)

ขณะที่หนังถ่ายทำได้ประมาณ 90% ตากล้อง Bobby Singh เสียชีวิตด้วยโรคหอบหืบในวันที่ 25 ธันวาคม ปี 2012 ขณะนั้นกองถ่ายกลับอินเดีย เริ่มถ่ายทำที่ Delhi แล้ว เป็น Siddharth Diwan ที่มาสานต่องานถ่ายภาพจนเสร็จ, ความโดดเด่นของงานภาพอยู่ที่สีสันของฉาก มีความสวยสดใส โดยเฉพาะฉากแต่งงาน การเคลื่อนกล้องที่ไหลลื่น มีชีวิตชีวา (ราวกับกล้องเต้นไปด้วย) แต่พอหลังจากงานแต่งล่ม งานภาพจะนิ่งสนิทอยู่พักใหญ่ ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวมากนัก จนเข้าช่วงครึ่งหลังของหนังจะค่อยๆกลับมาเคลื่อนไหวแบบมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ตัดต่อโดย Abhijit Kokate และ Anurag Kashyap, นี่ก็มีลักษณะคล้ายงานถ่ายภาพ คือตัดต่อได้รวดเร็วมีชีวิตชีวามากในฉากเตรียมงานแต่งตอนแรก พองานล่ม ก็จะช้าลงแล้วค่อยๆเร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆในช่วงท้ายๆ, หนังแบ่งออกได้เป็น 2 องก์ที่ชัด ครึ่งแรกคือการทำใจของนางเอก และครึ่งหลังคือการปลดปล่อยตัวเอง, หนังใช้มุมมองของ Rani ทั้งเรื่อง สิ่งที่เธอประสบพบเจอ อะไรเป็นเหตุให้ทัศนคติ แนวคิดของเธอเปลี่ยนไป ยังไง มากแค่ไหน นี่เราจะเห็นแล้วเข้าใจได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมเธอถึงตัดสินใจแบบนั้นตอนจบ

เพลงประกอบแต่งทำนองโดย Amit Trivedi เนื้อร้องโดย Anvita Dutt เห็นว่า Trivedi เดินทางไปถึงยุโรปเพื่อหาแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงประกอบหนัง ผลลัพท์เลยออกมาค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว ถึงเครื่องดนตรีจะยังพื้นบ้านอินเดียเป็นส่วนใหญ่ แต่ทำนอง สไตล์ บรรยากาศเพลงมีความ Modern มากๆ ผมเลือกเพลงแรก London Thumakda ร้องโดย Labh Janjua, Sonu Kakkar, Neha Kakkar ในฉากเตรียมแต่งงานต้นเรื่อง เห็นว่าเพลงนี้ฮิตมากขนาด ใช้เปิดในผับบาร์ที่อินเดีย เต้นกันมันระเบิด

อีกเพลงหนึ่งชื่อ Ranjha แต่งเนื้อร้องโดย Raghu Nath ขับร้องโดย Rupesh Kumar Ram เพลงนี้ขณะ Rani ถูกบอกเลิกตอนต้นเรื่อง อารมณ์เธอไม่รู้จะทำอะไรต่อไปดี ผมรู้สึกเพลงนี้เพราะที่สุดในหนังแล้วนะครับ บรรยากาศคนอกหัก มันจะโหยหวน ล่องลอย ไร้จุดหมาย ความหมายเนื้อร้องดีมากด้วย (แต่หาคลิปที่มีแปลให้ไม่ได้ ไปหาดูในหนังเองนะครับ)

ใจความหนึ่งของหนัง นำเสนอประเด็น Feminist ผู้หญิงที่กล้าพูด กล้าทำตามใจ ในสิ่งที่แตกต่างจากพื้นฐานจารีต วัฒนธรรม ประเพณี, ถ้าหนังเรื่องนี้ฉายในอินเดียสัก 20-30 ปีก่อน มีแนวโน้มอาจถูกแบนไม่ให้ฉาย เพราะสังคมอินเดียต่อต้านเรื่องการทำตัวนอกรีต ผิดประเพณีอย่างมาก แต่เพราะปัจจุบันวัฒนธรรมตะวันตกได้แพร่เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ทำให้แนวคิดอะไรหลายๆเปลี่ยนไป ผู้หญิงเริ่มเรียกร้องสิทธิ ผลประโยชน์ของตนเองมากขึ้น ผู้ชายหรือวรรณะผู้นำ ก็เปิดโอกาสให้มีการยอมรับมากขึ้น, การมาของ Queen ในอินเดีย ถือว่า Ranaut เป็นฮีโร่ของสาวๆเลยนะครับ เธอกลายเป็นต้นแบบให้กับคนรุ่นใหม่ ทั้งความสวยเด่นแบบอินเดียแท้ และแนวคิด ความเชื่อ ความต้องการของผู้หญิงยุคนี้ที่ไม่ยึดติดกับพื้นฐาน จารีต วัฒนธรรม ประเพณีเดิม, อาจมีคงสงสัย นี่อินเดียเพิ่งจะมีหนังลักษณะนี้เหรอ ทั้งๆที่ยุโรป อเมริกา เขามีหนัง Feminist มาหลายทศวรรษแล้ว? จริงๆอินเดียก็มีหนัง Feminist อยู่เรื่อยๆนะครับ นับตั้งแต่ Mother India (1957) แต่นั่นคือ ผู้หญิงในพื้นฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่ง Queen คือตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่โดยสิ้นเชิง, เชื่อว่า ผู้หญิงอินเดียหลังจากนี้ เราคงเห็นพวกเธอมีสิทธิ เสรีภาพ อิสระมากขึ้น แต่ยังคงอีกนาน หรืออาจไม่มีทางเป็นไปได้เลย ที่อินเดียจะกลายเป็นประเทศเปิดเรื่องวัฒนธรรมแบบยุโรปหรืออเมริกา

การที่หนังชื่อ Queen นอกจากหมายถึงชื่อของนางเอกแล้ว ยังแสดงถึงนิสัย ทัศนคติ ตัวตนของเธอ ที่ทั้งเรื่องทำตัวเหมือน Queen เอาแต่ใจเสียเหลือเกิน

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบในหนังลักษณะนี้ คือ Culture Shock แบบว่าฉันเคยเป็นกบในกะลาแบบนี้มา พอได้เห็นโลกที่ปฏิบัติต่อเราแตกต่างโดยสิ้นเชิง ทำให้ไก่ตาแตก เกิดอะไรขึ้นกับฉันนี่!, ความสนุกถัดมาคือได้เห็นการปรับตัวและการสื่อสาร เพราะตัวละครอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่บ้านของพวกเขา เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม เราฟังเขาไม่รู้เรื่อง เขาก็ฟังเราไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจก็ทำได้แต่ยิ้ม, แม้ใครๆก็คาดเดาได้อยู่แล้ว ว่าสุดท้ายตัวละครต้องปรับตัวเข้ากับโลกใบใหม่ได้ แต่แนวคิด วิธีการ ทัศนคติ มันพัฒนาไปในจุดยอมรับได้เช่นไร นี่คือความสนุกที่เห็นต่างออกไปในหนังของแต่ละประเทศนะครับ

การแสดงของ Ranaut ต้องถือว่าโดดเด่นเกินหน้าเกินตาหนังมาก ล้ำลึกและมีเสน่ห์น่าหลงใหล เธอเข้าใจจิตใจตัวละครอย่างถ่องแท้ สามารถถ่ายทอดพัฒนาการความรู้สึก ให้ผู้ชมเกิดสัมผัส ความเข้าใจร่วมด้วยได้, เมื่อเราเห็น Rani ทุกข์ก็จะทุกข์ด้วย เห็นยิ้มมีความสุขก็จะอิ่มเอิบใจ และตอนจบเมื่อเธอสดใส เราก็จะเบ่งบาน

ด้วยทุนสร้าง ₹12.5 crore ($1.9 ล้าน) หนังทำเงินรวมทั้งโลก ₹1,08 crore (US$16 ล้าน) ถือว่าระดับ Super Hit (นี่ไม่คอนเฟิร์มนะครับ แต่มีแหล่งข่าวเขียนว่าเป็นหนัง Feminist มีผู้หญิงเป็นตัวเอก ที่ทำเงินสูงสุดในอินเดีย)

หนังได้ 2 รางวัล National Film Award
– Best Feature Film in Hindi
– Best Actress (Kangana Ranaut)

เข้าชิง 8 สาขา Filmfare Award ได้มา 6 รางวัล
– Best Film
– Best Director
– Best Actress (Kangana Ranaut)
– Best Background Score
– Best Editing
– Best Cinematography

พลาดไป 2 คือ
– Best Supporting Actress (Lisa Haydon) เพื่อนนางเอก
– Best Music Director

ผมค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้นะ ทีแรกชั่งใจนานเหมือนกันว่าจะดูดีไหม ตอนเห็นตัวอย่างหนัง เกิดอคติพอสมควร เพราะผมไม่ชอบหนังรักประเภท นางเอกอกหักแล้วร้องไห้ฟูมฟายจะเป็นจะตาย เวิ่นเว้อเกินตัว แต่ที่ผมตัดสินใจดูเพราะ Kangana Ranaut ที่ในตัวอย่างรัศมีเปร่งประกายมาก มุมหนึ่งก็สวยดูดี แต่อีกมุมหนึ่งก็บ้านๆอินเดีย ดึงดูดล่อลวงใจผมสุดเลยๆ สุดท้ายก็เอาว่ะ นี่หนังรางวัลมันต้องมีอะไรดีบ้างแหละ, พอดูจบแล้วก็เซอร์ไพรส์ประทับใจมาก โดยเฉพาะการแสดง Ranaut ที่ทำเอาผมประทับใจมากๆ มันต้องแบบนี้แหละกับหนังประเภท ‘เปิดโลกทัศน์’ ของตัวเอง และเธอทำให้ผมระลึกได้ ว่าความสวยภายในของผู้หญิง ก็ต้องพัฒนาขึ้นลักษณะนี้แหละ

หนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ภาพรวมของหนังอาจจะดูธรรมดาทั่วไปเสียหน่อย กับผู้ใหญ่ที่โตที่มีอายุ คงไม่คิดหรือรู้สึกอะไรกับหนังมากเท่าไหร่ แต่ผมรู้สึกว่า นี่เป็นหนังสอนหญิงที่มีข้อคิดดีมากๆ ผู้ชายไม่ได้มีคนเดียวในโลก ไม่มีเขาเราก็อยู่ได้ โลกใบนี้มันกว้างใหญ่ ผู้ชายมีมากมายยิ่งกว่าฝูงปลา เชื่อว่าสาวๆที่ดูติ๋มๆ ใส่แว่นเตอะๆ ขาดความมั่นใจในตัวเอง ดูหนังเรื่องนี้แล้ว เธอจะสะบัดช่อ เบิกบาน สวยสะพรั่งเหมือนดั่ง Kangana Ranaut ณ ตอนจบแน่ๆ

สำหรับผู้ชาย ผมก็มองว่านี่เป็นหนังสอนชายเหมือนกันนะ แต่จะอ้อมๆโลกเสียหน่อย จะเห็นชัดถ้าคุณเป็นพวกขี้ลังเล ปากอย่างใจอย่าง ขาดความมั่นใจในตัวเอง คือลักษณะแบบนี้ผู้หญิงไม่ชอบนะครับ และยิ่งถ้าเป็นคนที่พยายามทำตัวเหนือกว่า เจ้ากี้เจ้าการ ต้องการบงการ ครอบงำชีวิตคนอื่น โลกสมัยนี้มัน ชาย-หญิง เท่าเทียมนะ ถ้าคุณคิดและแสดงออกไม่ได้ ก็ไม่มีวันเจอผู้หญิงดีๆ สวยๆ น่ารักๆ แบบ Kangana Ranaut หรอก

แนะนำกับคอหนัง Bollywood ผู้ชื่นชอบแนว Romantic, Comedy, กึ่งๆ Road Movie แบบแฝงข้อคิดการใช้ชีวิตดีๆ, แฟนหนัง Kangana Ranaut นี่น่าจะคือหนังที่ดีที่สุดของเธอเลยละ

แนะนำอย่างยิ่งกับคนที่อยู่ในสภาวะอกหัก แฟนทิ้ง สิ้นหวังในชีวิต หยิบหนังเรื่องนี้ขึ้นมาดู แล้วคุณจะอยากออกไปทำอะไรบางอย่าง

จัดเรต PG กับ Culture Shock

TAGLINE | “Queen หนัง bollywood แนวสอนหญิงที่ดีมากๆ และเป็นสุดยอดการแสดงของ Kangana Ranaut”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: